หากป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีนก มีสัตว์ป่า: คนมีความสุข
Group Blog
 
All Blogs
 

นกขี้หมา ผมเป็นนกจริงๆ นะไม่ใช่ "ขี้หมา" หน้าตาผมเป็นอย่างไรกัน ลองเข้ามาดูซิครับ



หน้าตาผมเป็นอย่างงี้ ไงครับ ใครหนอว่าผมเหมือนขี้หมา ส่วนข้างล่างเป็นรูปหวานใจของผมครับ



มีแฟนตัวดำๆ โก้ไหมค่ะ


ชื่อไทย นกขี้หมา หรือ อีกชื่อหนึ่งเพราะกว่า ชื่อว่านกยอดหญ้าสีดำครับ

ชื่ออังกฤษ Pied Bushchat

ชื่อวิทยาศาสตร์ Saxicola caprata

ชนิดย่อย S.c. burmanica พบเพียงชนิดย่อยเดียวเท่านั้น

การแพร่กระจาย นกขี้หมา พบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นนกที่พบได้ตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และพื้นที่ที่เป็นไร่นา พบได้ตั้งแต่ที่ราบลุ่มขึ้นไปถึง 1600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตัวผู้สีดำ ตะโพกขาว เวลากาะบนพื้นหญ้าในสนาม คงเหมือนก้อนขี้หมา จึงได้ชื่อว่า "นกขี้หมา" ส่วนตัวเมียก็สีน้ำตาลคล้ำ ตะโพกสีน้ำตาลแดง คงเทียบได้กับ "ขี้หมาแห้ง"

อาหาร กินแมลงเป็นอาหารหลัก

เสียงร้อง ตัวผู้จะร้องเพลงไพเราะ โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ มันจะชอบเกาะบนยอดต้นไม้ หรือ ยอดหญ้า แล้วร้องเพลงประกาศอาณาเขต หากตัวผู้อื่นเข้ามาในอาณาเขตของมัน มันก็จะบินขับไล่ผู้บุกรุกให้หนีไป ลองฟังเสียงเพลงจากนกขี้หมาตัวผู้สักหน่อยนะครับ



นกตัวดำๆ อย่างนี้ แม้จะดูไม่สวย แต่ก็มีเสียงร้องไพเราะเสนาะโสต โดยเฉพาะตอนเราไปเที่ยวเดินในทุ่ง

ข้อควรระวัง เวลาไปเดินในทุ่งระวังจะเหยียบ "ขี้หมา" จริงๆ นะครับ

นกป่า อยู่คู่ป่า
นกทุ่ง อยู่คู่ทุ่ง
คนอย่ายุ่ง ดีที่สุด






 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 4 มกราคม 2549 11:36:14 น.
Counter : 5055 Pageviews.  

นกพญาปากกว้างสีดำ (Dusky Broadbill)



ดูสิ ปากของฉันกว้างไหม



ทึ่งหละสิ บอกแล้วว่าปากกว้างก็กว้างจริงๆ



ปากกว้าง แต่ใจไม่แคบนะ จะบอกให้



ชื่อไทย นกพญาปากกว้างสีดำ

ชื่ออังกฤษ Dusky Broadbill

ชื่อวิทยาศาสตร์ Corydon sumatranus

ชนิดย่อย C. s. laoensis (ดังในภาพ) พบได้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกและตะวันออก รวมถึงภาคใต้ส่วนที่เหนือคอคอดกระขึ้นมา ส่วนอีกชนิดย่อยหนึ่ง คือ C.s. sumatranus พบได้ตั้งแต่คอคอดกระ(ในจังหวัดระนอง) ลงไป

ถิ่นที่อยู่ นกพญาปากกว้างสีดำเป็นนกที่อาศัยอยู่ในป่าดงดิบ หรือ ในป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะป่าส่วนที่อยู่ติดริมลำน้ำ มีลำตัวสีดำ มีปากกว้างสีชมพูสมชื่อของมัน

ขนาด ลำตัวขนาด 28 เซ็นติเมตร นกทั้งตัวผู้และตัวเมียมีสีขนเหมือนกัน

อาหาร กินแมลง และสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร

พฤติกรรม มักพบอยู่รวมกันเป็นฝูง 3-4 ตัว ถึง 20 ตัว เป็นนกที่ชอบส่งเสียงร้องทั้งในเวลาเกาะ และในเวลาบิน สร้างรังขนาดใหญ่เป็นทรงรีๆบนต้นไม้สูง แขวนรังด้วยเชือกที่สรรหามาจากธรรมชาติ ระหว่างที่พ่อแม่นกเลี้ยงลูกจะมีสมาชิกในฝูง( อาจเป็น พี่ ป้า น้า อา ของลูกนก) ช่วยกันหาอาหารมาป้อนให้ลูกนกในรังด้วย นับเป็นสังคมที่อบอุ่นมาก

เสียงร้อง เสียงร้องเป็นเสียงแหลมสูง มีหลายพยางค์ติดต่อกัน และมักมีนกมากกว่า 1 ตัวร้องประสานเสียงกัน เสียงร้องไม่ไพเราะ(ตามมาตรฐานของหูคน) หากอยู่ใกล้ๆ จะค่อนข้างหนวกหู ลองฟังดูนะครับ



นกป่า อยู่คู่ป่า ทำให้ป่ามีชีวิตชีวา กรุณางดการเสี้ยงนกป่านะครับ




 

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 4 มกราคม 2549 11:38:45 น.
Counter : 2893 Pageviews.  

นกกะเต็นน้อยธรรมดา (Common Kingfisher)



ชื่อไทย นกกะเต็นน้อยธรรมดา

ชื่ออังกฤษ Commom Kingfisher

ชื่อวิทยาศาสตร์ Acedo atthis

ชนิดย่อย ในบ้านเราพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ bengalensis

นกกะเต็นน้อยธรรมดา เป็นนกกินปลาขนาดเล็ก ที่พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป

ขนาด 17 เซ็นติเมตร เวลาเขาวัดขนาดของนก เขาวัดจากปลายปากถึงปลายหาง นะครับ

นกกะเต็นน้อยธรรมดาที่พบในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นนกที่อพยพ(ย้ายถิ่น) เข้ามาหากินในบ้านเราเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม และจะเดินทางกลับถิ่นฐานเดิมซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย ในช่วงเดือนพฤษภาคม ประชากรบางส่วนมีการทำรัง วางไข่ในบ้านเรา มันทำรังตามตลิ่ง โดยเจาะเป็นรูเข้าไป ภายในเป็นโพรงสำหรับวางไข่

อาหาร ส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็กๆ นอกจากนี้ยังจับสัตว์น้ำขนาดเล็กๆ กินเป็นอาหารอีกด้วย เช่น กุ้ง เป็นต้น

เพศ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกันมาก โดยตัวผู้จะมีปากล่างสีดำ ส่วนตัวเมียมีปากล่างสีออกส้มๆ

การแพร่กระจาย พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป ในทุกภาคของประเทศ

เสียงร้อง ส่งเสียงร้องในขณะบินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เวลาเกาะ มักไม่ร้อง เสียงร้องเป็นเสียงสูงและแหลม ลองฟังดูนะครับ



เขียน "นกกะเต็น" สำหรับคนรุ่นเก่า ใช้คำนี้กันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด หรือ เขียน "นกกระเต็น" สำหรับคนที่ใช้ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี ๒๕๒๕ เป็นต้นมา




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 4 มกราคม 2549 11:41:18 น.
Counter : 2336 Pageviews.  

นกเค้าแคระ (Collared Owlet)



ชื่อไทย นกเค้าแคระ

ชื่ออังกฤษ Collared Owlet หรือชื่อเก่าเรียกว่า Pygmy Owlet

ชื่อวิทยาศาสตร์ Glaucidium brodiei

ขนาด เป็นนกเค้าขนาดเล็ก ขนาดเพียง 16 เซ็นติเมตร เรียกว่าเป็นนกเค้าขนาดเล็กที่สุดที่พบในบ้านเรา เดิมเรียกว่า Pygmy Owlet ผมก็ว่ามันถูกต้องดีแล้ว นกตัวเล็ก ตัวกลม หัวกลม หางสั้น น่ารักมาก เป็นนกที่ชอบร้องในเวลากลางวัน พบในป่าดงดิบ และป่าดิบเขา พบได้ทั่วไปทุกภาคที่มีภูเขาสูงเกิน 600 เมตรขึ้นไป

อาหาร กินด้วงและแมลงตัวโตๆ เป็นอาหารโปรด นกขนาดเล็กๆ ก็จับกินได้ ส่วนใหญ่หากินในเวลากลางวัน จึงตกเป็นเป้าโจมตีของนกเล็กๆ ด้วยประการนี้ ธรรมชาติจึงสร้างหน้ากากไว้ทางด้านท้ายทอย ประกอบด้วยเค้าหน้าและ ตาหลอก ให้มองดูเหมือนนกมี 2 หน้าเพื่อเอาไว้ช่วยป้องกันตัวในยามถูกนกเล็กๆ รุมจิกตี

เสียงร้อง ร้อง 4 พยางค์ ดัง โปก-โปกโปก-โปก สัก 3-4 ชุด แล้วเว้น 8-10 วินาที แล้วจึงร้องต่ออีก 3-4 ชุดไปเรื่อยๆ บางครั้งร้องติดๆ กันเป็นลูกระนาดไม่มีเว้นวรรคก็มี ร้องทั้งกลางวันและกลางคืน



เป็นนกเค้าที่มักได้ยินเสียงร้องบ่อยๆ ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แก่งกระจาน ดอยอินทนนท์ ดอยอ่างขาง หรือแม้แต่ใต้สุดที่ป่า ฮาลา-บาลาก็มีให้ได้ยิน แต่ มักได้ยินแต่เสียงร้อง หาดูตัวได้ค่อนข้างยาก บางครั้งนกเกาะบนต้นไม้สูง ก็ยิ่งหาดูได้ยากเข้าไปอีก

นับเป็นสีสันของป่า ทำให้ป่ามีชีวิตชีวามากขึ้น

รักนก รักสัตว์ป่า รักษ์ป่า อย่านำสัตว์ป่ามาเลี้ยงเลย นะครับ





ภาพด้านหลังของนกเค้าแคระ ที่มองเห็นตาเทียม จัดให้ตามคำขอครับ แต่ภาพที่มีอยู่ไม่ค่อยดีนัก ในโอกาสหน้าหากมีโอกาสพบอีก จะถ่ายรูปด้านหลังที่ดีกว่านี้มาฝากครับ




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 4 มกราคม 2549 11:45:05 น.
Counter : 2085 Pageviews.  

นกอีเสือหัวดำ (Long-tailed Shrike)



ชื่อไทย นกอีเสือหัวดำ

ชื่อภาษาอังกฤษ Long-tailed Shrike

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lanius schach

สถานภาพ นกประจำถิ่น

ขนาด มีขนาด 25 เซ็นติเมตร

ถิ่นที่อยู่ เป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ในที่โล่ง ทุ่งนา ป่าละเมาะ หรือ แม้แต่ตามสายไฟฟ้าข้างถนน พบได้จากที่ราบ ขึ้นไปถึงที่สูงระดับกว่า 2000 เมตร

เพศ ตัวผู้ กับ ตัวเมีย มีลักษณะคล้ายกัน

อาหาร คือ สัตว์ขนาดเล็ก เช่น กบ เขียด นกขนาดเล็ก และแมลง ต่างๆ

พฤติกรรม เป็นนกที่มีพฤติกรรมแปลก คือชอบจับเหยื่อเสียบไว้กับหนามแหลม แล้วจึงลงมือจิกกิน หรือ เสียบเหยื่อไว้กับหนามจนเหยื่อเริ่มเน่าแล้วจึงจิกกิน

เสียงร้อง: เป็นนกที่ร้องเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้ แต่เลียนเสียงได้ไม่ดี ส่วนมากมักส่งเสียงร้อง (call) เป็นเสียงแหบๆ 1 พยางค์ สั้นๆ ห้วนๆ จะนำเสียงร้องมาให้ฟังในโอกาสหน้าครับ

ชนิดย่อย ในประเทศไทย พบ 2 ชนิดย่อย คือ ชนิดย่อย tricolor พบทางภาคเหนือ (ดังภาพ: จากดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่) และชนิดย่อย longicaudatus พบได้ในภาคกลางและภาคตะวันออก



เพิ่มภาพครับ


นกอีเสือหัวดำ (Long-tailed Shrike) มักพบได้ข้างทาง โดยเฉพาะตามสายไฟฟ้า ตัวนี้ถ่ายมาจากสุโขทัย แต่ดูแตกต่างจากตัวข้างบน อาจเเป็นไปได้ว่าเป็นการแพร่กระจายของชนิดย่อย longicaudatus ซึ่งเป็นนกในที่ราบพบได้ในภาคกลางและภาคตะวันออก ขยายอาณาเขตขึ้นไปในภาคเหนือแล้ว หากมีโอกาสจะนำภาพที่ถ่ายจากภาคกลางแท้ๆ มาให้ดูกันนะครับ

"นกป่า ประดับป่า นกทุ่งอยู่คู่ทุ่ง คนอย่ายุ่ง ดีที่สุด"




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 4 มกราคม 2549 11:47:01 น.
Counter : 3120 Pageviews.  

1  2  

เปรี้ยวปิ๊ด
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add เปรี้ยวปิ๊ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.