ก่อร่างสร้างฝัน บ้านเล็กในฟาร์มเล็ก...เล็ก
Group Blog
 
All blogs
 

อาหารช้า

-1-


ปี 2553 มาเยือน เป็นปีเสือ ตรงกับปีเกิดของเราพอดี เขาว่ากันว่าเป็น “ปีชง” เชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่กล้าลบหลู่ เพราะเกิดเรื่องอกสั่นขวัญแขวนเกี่ยวกับอาหารแต่หัวปี ใครจะคิดว่าคนในชนบทมีความปลอดภัยทางอาหารต่ำไม่ต่างไปจากคนเมือง ก็อุตส่าห์มาอยู่ปลายเขตอีสานใต้ จังหวัดอุบลราชธานี มิหนำซ้ำยังอยู่อำเภอนาจะหลวย เขตชายแดนที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาพนมดงรัก ไกลจากเมืองหลวงของประเทศกว่า 800 กิโลเมตร

ต้นสายปลายเหตุเกิดจากความห่วงใยพ่อบ้านที่ต้องไปไร่แต่ไม่ทันแจ้ง บางทีทำอาหารให้ไม่ทัน หรือไม่มีอาหารติดบ้าน ก็ได้แต่กระติ๊บข้าวไป แม่บ้านพอกระเทินจึงคิดการใหญ่จะตำแจ่วบองไว้ให้เป็นเสบียง ทำงานมาเหนื่อยๆ เดินกลับมาเถียงไร่ สาวเอายอดกระถิน หรือลงไปล้างเนื้อล้างตัวในบึง ก็ดึงสายบัว กินแกล้มกับแจ่วบอง ข้าวขอดกระติ๊บไม่รู้ตัว อิ่มท้องมีเรี่ยวมีแรงทำงานต่อได้จนเย็น

จะตำแจ่วบองนอกจากพริกแห้ง หอม กระเทียม ข่าที่ต้องเผาให้หอมแล้ว ขาดไม่ได้เลยคือ ปลาร้าดี หรือไม่ก็ปลาแห้งหรือปลาย่างรมควันหอมๆ วันนี้ไม่ได้ตั้งใจมาแนะนำการทำแจ่วบอง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากหาปลาร้าดีๆ มาใช้ตำแจ่วไม่ได้ ปลาร้าที่คุณย่าทำไว้ก็หมดไหซะแล้ว ด้วยความมักง่าย ก็เลือกใช้ "ปลาทูหอม" จากรถตลาดพุ่มพวงยามเช้า สำหรับใช้เป็นส่วนผสม

ตกบ่ายลูกนอนกลางวัน ก็จัดการคั่วพริกแห้ง เผาหัวหอมแดง กระเทียมและข่าน้ำจนสุกหอม พักไว้ให้หายร้อน หันไปห่อปลาทูหอมเจ้ากรรมด้วยใบตองแล้วปิ้งไฟอ่อนๆ มันก็หอมฉุยดี ไม่มีอะไรผิดสังเกต
ระหว่างเวลาปิ้งปลาเค็ม ก็ตำพริกแห้ง ตามด้วยหอมกระเทียมเผา ซอยข่าเผาให้ละเอียดตำรวมกัน ใส่เกลือนิดหน่อย ใส่เนื้อมะขามเปียกพอประมาณ ปลาเค็มที่สุกแล้วแกะเนื้อใส่ลงไปตำจนเนื้อแจ่วละเอียดไม่ติดครก ก็เป็นอันเรียบร้อย

ที่มาของโศกนาฏกรรม คือก้างและหัวที่เหลือจากการตำแจ่ว เรายกให้ "เจ้าไหซอง" หมาประจำตระกูลผู้น่ารักและสัตย์ซื่อ ที่มาด้อมๆ มองๆ ตั้งแต่ยังปิ้งปลาอยู่ ปรากฏว่าสองชั่วโมงต่อมา เจ้าไหผู้น่าสงสาร นอนตายลิ้นจุกปาก จากพวกเราไปอย่างไม่คาดคิด แต่ก็ต้องคิดว่า หมาตายเพราะอะไร? และถ้าหมาไม่ตาย ใครจะตาย? แสนจะเสียดาย พริกหอมแดงกระเทียมและข่าที่บรรจงเผาอย่างดี แต่ก็ต้องตัดใจทิ้งไป ไม่งั้นคนอาจตายตามหมาไป

เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นหัวข้อในการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในครอบครัวและบ้านใกล้เรือนเคียง พากันตอกย้ำความไม่ปลอดภัยของอาหาร "ตลาด" เพราะปัจจุบันวัฒนธรรมอาหารชาวอีสานก้ำกึ่งตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป วัฒนธรรมหาอยู่หากินแบบเดิม ทำได้ลำบากขึ้น ต้นตอหลักมาจากการเปลี่ยนวิถีเกษตรดั้งเดิมเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์และที่สำคัญเป็นเกษตรอุดมสารเคมี เห็ดโคน ที่เคยขึ้นมากมายจนเตะเล่น เตะทิ้ง เดี๋ยวนี้กลับหาได้ยาก ใครเห็นดอกหนึ่ง ข่าวกระจายไปถึงหูเพื่อนบ้าน ไม่ช้าไม่นานป่าบริเวณนั้นก็จะราบเป็นหน้ากลอง ระดมขุดทั้งที่ยังเป็นหน่ออยู่ใต้ดิน

วัฒนธรรมอาหารช้าแบบดั้งเดิม จึงเปลี่ยนเป็นอาหารด่วนจากรถตลาด เพราะต้องรีบไปไร่ไปนา หรือหาอาหารจากธรรมชาติได้น้อย แต่เมื่อพบกับเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ต้องหันมาทบทวนวิถีชีวิต รวมไปถึงวิถีการเกษตรที่ทำร้ายธรรมชาติ ซึ่งสุดท้ายผลเสียวนกลับมาหาตัวเราเอง ที่สุขภาพย่ำแย่จากการฉีดพ่นสารเคมีและกินอาหารปนเปื้อนสารเคมี

ถ้าหาอยู่หากินยาก เราก็ต้องเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน คือ ผลิตในสิ่งที่ตัวเองกิน กินในสิ่งที่ตัวเองผลิต แน่นอนว่ามันช้าแน่ๆ กว่าจะได้แต่ละเมนู เพราะส่วนประกอบทุกอย่างเราต้อง ทำเอง
-ทำสวนปลูกผัก ปลูกพริกไว้กินและตากแห้งไว้ (พริกตลาดนั้นพ่อค้ากำหนดให้ต้องฉีดยาก่อนเก็บมาขาย เพื่อให้เก็บไว้ได้นาน เช่นเดียวกับพืชผักแทบทุกชนิด รวมไปถึงผลไม้ด้วย)
- ตั้งแต่กระแสพืชพลังงานเริ่มบูม ก็ไม่มีใครกล้าเก็บเห็ดปลวกที่ขึ้นในไร่มันสำปะหลังกินอีกเลย ชาวบ้านต้องเรียนรู้ที่จะเพาะเห็ดทั้งเห็ดถุง เห็ดกองเตี้ย หรือเห็ดในขอนไม้ และถึงที่สุดต้องเรียนรู้ที่จะกลับมาสู่วิถีเกษตรกรรมแบบยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์และแหล่งอาหารธรรมชาติ
- ทำปลาร้าเอง ถ้าครัวเรือนไหนมีพ่อแม่อยู่ด้วย ก็มักจะมีไหปลาร้าทำเอง เพราะพ่อแม่พาทำ แต่คนรุ่นใหม่ ที่แยกเรือนออกมา ไม่มีเวลารวมถึงไม่สนใจจะทำ ก็จะใช้วิธีซื้อปลาร้าถุงจากรถตลาด แต่สังเกตดีๆ ปลาร้าถุงถึงเปิดทิ้งไว้ ก็ไม่มีแมลงวันหน้าไหนมาตอมให้เคืองใจ ไม่เหมือนไหปลาร้าทำเอง เปิดแป๊บเดียวก็เต็มไปด้วยไข่แมลงวัน ชวนให้น่าสงสัยว่าเขาทำปลาร้ายังไง ไม่ให้แมลงวันตอม?

-2-


วันที่เราได้ลงมือทำเมนู "ป่นมะเขือ" เป็นวันที่ไม่มีเงินติดตัวและไม่มีอาหารอะไรติดก้นครัวเลย เดินไปด้อมๆ มองๆ สวนของคุณย่า นั่นไง มะเขือม่วง 2 ลูก มะเขือม่วงนี้ไม่ใช่มะเขือยาวพันธุ์ต่างประเทศที่มีสีม่วง แต่เป็นมะเขือพันธุ์พื้นบ้านที่มีรูปร่างกลม ลูกใหญ่กว่ามะเขือธรรมดา ผลโตเต็มที่มีขนาดประมาณฝรั่งผลใหญ่ เปลือกผลมีสีม่วง แต่เนื้อมะเขือมีลักษณะแบบมะเขือยาว

เมนู ป่น ธรรมดาจะประกอบด้วย ผักหลัก เช่น มะเขือ มะเขือยาว เนื้อปลาป่น พริกและผักหอม (หอมแดง ผักชีฝรั่ง สะระแหน่) ถ้าใส่งาคั่วไปด้วยก็จะเรียกว่าซุบ แต่ซุบนี่ผักที่ใช้ทำจะหลากหลายกว่า นอกจากมะเขือแล้ว ยังใช้หน่อไม้ เห็ด ขนุน ถั่วฝักยาว ฟักทองอ่อน ผักติ้วอ่อน หรือใบมะม่วงอ่อน ฯลฯ
แต่สำหรับเราวันนั้นไม่มีงบซื้องา และยังไม่ได้ปลูกไว้กินเอง ก็ต้องเลือกทำป่นไปโดยปริยาย
1. นำมะเขือ 2 ลูก ปิ้งเตาถ่านไฟปานกลางจนสุก ให้เปลือกไหม้พอลอกเปลือกออกได้
2. หั่นเนื้อมะเขือเผาเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าหรือน้ำปลา เกลือ พริกป่นหรือพริกสดตำ การปรุงรสต้องปรุงเผื่อผักหอมที่จะเติมลงไปทีหลังด้วย
3. ซอยผักหอมใส่ลงไป บีบมะนาวลงไปเล็กน้อย ดึงรสชาติให้มีชีวิตชีวาขึ้น คลุกเคล้าให้ทั่ว แค่นี้ก็พร้อมเสิร์ฟกับข้าวเหนียวร้อนๆ และผักแกล้ม นิยมใช้ผักสดอย่างยอดกระถิน ใบบัวบก หรือผักรสเปรี้ยวๆ มันๆ เช่นผักติ้ว หรือจะเป็นยอดมะม่วงหิมพานต์ก็เข้าท่า
มะเขือเผาจะมีรสหวานฉ่ำในตัว ไม่ต้องง้อผงชูรส น้ำปลาร้าทำเอง หรือน้ำปลาดี เสริมให้กลมกล่อม พริก เกลือและน้ำมะนาวเล็กน้อยช่วยให้รสชาติโดดเด่น จัดจ้านขึ้น มะเขือชนิดอื่นๆ ก็ใช้ปรุงเมนูนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเปราะ มะเขือยาว
ไม่น่าเชื่อ ว่าอาหารมื้อนั้น เราสามารถเอร็ดอร่อยได้โดยไม่เสียเงินสักบาท ขอบอกว่านี่ไม่ใช่เทรนด์อาหารช้าจากอิตาลี่ แต่เราจำเป็นต้องใช้ชีวิตช้าๆ เพื่อความอยู่รอดและปลอดภัยโดยแท้

หมายเหตุ
ป่น เป็นเครื่องจิ้มชนิดหนึ่ง ส่วนประกอบหลักได้แก่ พริกสดหรือพริกแห้ง หัวหอมแดง กระเทียม (คั่วหรือเผาให้สุก) โขลกผสมกับเนื้อปลาต้ม ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าน้ำปลาและเติมน้ำต้มสุกเล็กน้อย อาจเพิ่มรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาว แต่งกลิ่นด้วยต้นหอมซอย ลักษณะของป่นจะข้นเพื่อให้จิ้มกับผักได้ดี โดยเฉพาะผักดอง ผักสด และ ผักลวกชนิดต่างๆ ส่วนประกอบในการทำป่นนอกเหนือจากปลาอาจใช้เนื้อสัตว์อื่น หรือเห็ดชนิดต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน

ซุบ เป็นอาหารที่มีวิวัฒนาการมาจากการนำผักมาจิ้มแจ่ว คำว่า “ซุบ” มีผู้สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า “ชุบ” หมายถึง จุ่มหรือจิ้ม นั่นเอง ภาคอีสานออกเสียง ช เป็น ซ ชุบจึงออกเสียงว่า ซุบ การนำผักมาจิ้มแจ่ว ซึ่งแจ่วมีส่วนผสมหลักคือปลาร้าและพริก ผักที่นิยมนำมาทำซุบ เช่น หน่อไม้สดต้มขูดฝอย ขนุนอ่อน มะเขือต้ม ผักเม็ก ผักติ้ว ผักดังกล่าวปกติก็นิยมบริโภค โดย ใช้เป็นผักจิ้มแจ่วอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงพลิกแพลงด้วยการนำผักเหล่านั้นผสมลงในแจ่ว แล้วใส่ข้าวคั่ว งาคั่ว เพื่อให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น

เนียน (บางท้องถิ่นเรียกว่า เนียง) มีส่วนผสมและวิธีทำคล้ายซุบ แต่เรียกเฉพาะผักที่ใช้ ต้องเป็นมะเขือต้ม เรียกว่า เนียนมะเขือ วิธีทำก็ง่าย ๆ คือ นำมะเขือมาต้มให้สุกยีให้ละเอียดด้วย สาก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ใส่พริกป่นให้มีรสเผ็ดเล็กน้อย ไม่ใส่ข้าวคั่วและงาคั่ว อาจใช้หัวหอมซอย หรือต้นหอมหั่นฝอย สะระแหน่โรยหน้าแต่งกลิ่น และให้มีสีสันน่ารับประทานยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก “ของแซบอีสาน : ซุบ เนียน ต้ม ตำ ป่น” เว็บไซต์ ประตูสู่อีสาน
//www.isangate.com/local/food_02.html#pon
…………………………………………………………………………..




 

Create Date : 14 เมษายน 2553    
Last Update : 14 เมษายน 2553 23:08:27 น.
Counter : 437 Pageviews.  

หน่อไม้ส้ม

โน้ตบุคน้อย เจอไวรัสน็อค นำไปทิ้งไว้ร้านซ่อม ห่างหายกันไปเป็นอาทิตย์ถึงมีเวลาไปรับเธอกลับ คิดถึงแทบแย่
มิหนำซ้ำ ลืมแบ็คอัพไฟล์ที่ร่างเรื่องราวไว้ลงบล็อคสองเรื่อง เสียดายนิดๆ แต่ไม่เป็นไรเขียนเอาใหม่ได้
เรื่องราวมันก็อยู่ในสมองและหัวใจนี่เอง

แต่วันนี้กลับมาเริ่มเขียนด้วยกิจกรรมพึ่งตนเองที่เพิ่งทำไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อบ่ายวานนี้เอง (๑๑ กันยายน ๒๕๕๒)

ปีนี้แม่ไปอยู่บ้านพี่ชายที่กรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการไปหาหมอ อีกทั้งบ้านช่องก็โอ่โถง อาหารการกินก็เพียบพร้อม ถูกปากคนกรุงอย่างคุณยาย

ความเป็นอยู่ทุกวันนี้ เลยไม่ค่อยจะได้ซื้อของตลาดเท่าไหร่ เน้นใช้วัตถุดิบจากซุปเปอร์มาร์เก็ตธรรมชาติ อย่าง หน่อไม้ ผักพื้นบ้าน เห็ด ปลา

หน่อไม้ ยังมีหลายชนิด ไผ่ป่า ไผ่หวาน ไผ่น้อย ไผ่บ้าน ไผ่ไร่ ไผ่พุง ฯลฯ
แต่ที่เราบริโภคประจำ เพราะมีอยู่รอบบริเวณเถียงนา คือ ไผ่บ้าน และไผ่น้อย

ไผ่น้อยก็ลำน้อยอย่างใหญ่ก็รัศมีไม่เกินข้อมือเด็ก ลำตรงยาว สวยงาม นิยมเอาไว้ตัดใช้งานต่างๆ
เวลาจะเอาหน่อมากินต้องเลือกหน่อที่ขึ้นเบียดตรงกลางกอ ส่วนหน่อที่แตกออกด้านนอกเก็บไว้ให้โตเพื่อประโยชน์ใช้สอยต่างๆ
เมนูที่นำมาทำก็ได้แก่ แกงหน่อไม้ หมกหน่อไม้ หรือต้มกินกับแจ่ว

ส่วนไม้ไผ่ป่า จะมีลำใหญ่ ลำไม่ตรงนัก มีกิ่งแหนงยาวระเกะระกะ และมีหนามเยอะ
นิยมขุดหน่ออ่อนมาต้มใส่เกลือกินกับแจ่ว หรือแกงหน่อไม้ก็อร่อย
พอหน่อขึ้นสูง ก็หักมาถนอมอาหารไว้ได้โดยการทำหน่อไม้ส้ม หรือหน่อไม้ดองนั่นเอง

การทำหน่อไม้ดอง



๑. หักหน่อไม้ ปลายลำที่ขึ้นสูง



๒. ปอกเปลือกออก ตัดส่วนที่แก่ แข็งเกินไปทิ้งแล้วล้างฝุ่นผง สิ่งสกปรกออกด้วยน้ำสะอาด
๓. นำมาจักโดยใช้มีดบาง แล้วฝาน



๔. เคล้าเบาๆ ด้วยเกลือ ให้ทั่ว ทิ้งไว้สักพัก
๕. สังเกตเห็นน้ำเริ่มซึมออก หน่อไม้เริ่มอ่อนตัว ให้คั้นน้ำออกให้เด็ด เป็นปั้นๆ ทีละปั้นจนหมด



๖. นำใส่โหลบรรจุ ใส่น้ำสะอาดลงไปให้ท่วมหน่อไม้ ควรใช้น้ำฝน หรือน้ำประปาที่รองทิ้งไว้สักหนึ่งวัน
๗. ปิดฝา เก็บไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ นำมาปรุงอาหารได้ ง่ายจัง
ง่ายจริงๆ เลย จุลินทรีย์ธรรมชาติที่อยู่ในหน่อไม้ ทำงานกันเอง เราแค่จัดสภาพให้มันพร้อมทำงานเท่านั้นเอง
เข้าใจว่าเป็นจุลินทรีย์กลุ่ม acetobacter หมักแบบไร้อากาศ หรือต้องการอากาศน้อย ให้ผลผลิตเป็น acetic acid หรือน้ำส้ม
ทำให้หน่อไม้ "ส้ม" หรือ เปรี้ยว นั่นเองจ้า

เบื้องหลังการถ่ายทำ



เห็นในรูปอาจจะคิดว่าทำแป๊บเดียวเสร็จ แต่เบื้องหลังต้องหยุดเป็นระยะเพื่อไกวเปลเจ้าตัวยุ่ง
ทำไปก็ลุ้นไป อย่าเพิ่งตื่นนะลูก ก็สมใจแม่เพราะจักหน่อไม้จนเคล้าเกลือเสร็จเรียบร้อย ลูกถึงตื่น
ตื่นมาก็มีของฝากผลผลิตจากจุลินทรีย์เหมือนกัน คือ โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ของโปรด เลยไม่งอแง
แม่สามารถคั้นน้ำออกและบรรจุลงโหลใส่น้ำสำเร็จเรียบร้อย เย เย้




 

Create Date : 12 กันยายน 2552    
Last Update : 14 กันยายน 2552 16:23:14 น.
Counter : 1743 Pageviews.  

ว่าด้วย เมนูจากธรรมชาติ

เมนูจากธรรมชาติ

เป็นทีลังเลใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะตั้งชื่อ group นี้ว่ายังไงดี
เริ่มแรกคิดว่าจะใช้ชื่อ เมนูยามยาก เพราะเป็นสูตรอาหารที่มักจะทำในช่วงเวลาที่ไม่มีเงินติดกระเป๋าเลยแม้แต่บาทเดียว
แต่ในขณะเดียวกัน เมนูนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นอาหารสุขภาพ อาหารเป็นการพึ่งตนเอง
เพราะล้วนประกอบขึ้นจากพืชผักจากรั้ว จากสวน หรือไร่นา ปรุงด้วยเครื่องปรุงพื้นบ้าน


ผักที่ใช้บ่อยๆ แทบจะทุกมื้อ ได้แก่
๑. ผักอีตู่ (ใบแมงลัก) ใช้ใส่แกงแทบทุกสูตรของชาวอีสาน ไม่ว่าจะเป็น แกงเห็ด แกงหน่อไม้ แกงปลา หรืออาหารประเภทหมก เช่นหมกหน่อไม้
ต้นผักอีตู่จึงเป็นผักที่ทุกครัวเรือนควรปลูกไว้ในปริมาณที่พอกินทุกๆ วัน แต่ความเป็นจริง มักจะไปหาเด็ดเอาของเพื่อนบ้านหรือญาติพี่น้องที่ปลูกไว้ซะมากกว่า
ส่วนใบกะเพรา ทางอีสานนิยมน้อยกว่าภาคกลางมาก แต่ก็มีบางเมนูเฉพาะที่ใช้ใบกะเพราพันธุ์ใบเล็กๆ ซึ่งจะมีกลิ่นไม่เหมือนกะเพราะใบใหญ่ๆ ใช้ใส่เมนูหมกปลา หมกกบ ให้กลิ่นรสเฉพาะตัว
๒. ผักหอม ประกอบไปด้วย ต้นหอม อาจเป็นหอมแบ่ง หรือ หอมบัว(เอาหัวหอมแดงมาปลูก) และหอมที่ต้องมีอีกสองชนิดสำหรับทำลาบ ก้อยคือ หอมเป(ผักชีฝรั่ง) ขะแยะ(สะระแหน่)
๓. ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใช้ใส่ต้มเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ เพื่อดับคาว ไม่ว่าจะเป็น ต้มปลา ต้มไก่ ต้มเนื้อหรือหมู

นอกเหนือจากผักพวกนี้ไป ก็จะเป็นผักที่หาได้ตามรั้วตามสวน (ทั้งของตัวเองและเพื่อนบ้าน ไม่หวงกัน)
มะเขือพื้นบ้านหลายพันธุ์ ใบชะพลู หัวปลีและหยวกกล้วย ยอดผักกะทกรก(ภาคกลางเรียกเสาวรส) ผักส้มฮ่วม (ภาคกลางเรียกกะทกรก)
ใบมันสลาง ยอดและดอกแค ผักตำลึง ผักบุ้ง ผักหวานบ้าน แตงกวา แตงล้าน แตงไท มะละกอ ฯลฯ

ถ้าขยับออกไปทางไร่นา อาหารหลักๆ ที่หาได้นอกจาก กบ เขียด ปู ปลา
ก็จะมีผักจากท้องนา เช่น ผักอีฮีน ได้จากงานนายามฝน กินแกล้มป่นหรือคู่แกงหน่อไม้ ผักขะแยง งอกงามในยามเกี่ยวข้าวใช้ใส่แกงหน่อไม้
ประเภทผักยืนต้น นิยมกินยอดอ่อนที่ผลิใบใหม่ๆ ซึ่งจะออกเป็นช่วงๆ ก็มี สะเดา ผักเม็ก ผักถ่อน
หน่อไม้ มีหลากหลายพันธุ์ ทั้งไผ่บ้าน ไผ่ป่า ไผ่น้อย ไผ่ไร่ ไผ่หวาน ทำได้หลายเมนู ทั้งแกงหน่อไม้ หมกหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ หรือต้มกินกับแจ่ว
บางพันธุ์ก็ไม่นิยมเอามากิน แต่เก็บไว้เอาลำมาจักตอกสานกระติ๊บ เช่น ไม้พุง ซึ่งจะมีความห่างระหว่างข้อค่อนข้างยาว
ไผ่ป่าก็นิยมเอามาจากตอกสำหรับมัดกล้าข้าว หรือมัดฟ่อนข้าว

นอกจากนี้ก็ยังมีเห็ดสารพัดชนิดที่หาได้ตามหัวไร่ปลายนาบ้าง หรือตามป่าบุ่งป่าทาม เช่น เห็ดผึ้ง เห็ดน้ำหมาก เห็ดถ่าน เห็ดหำพาน ฯลฯ
ที่เป็นที่เสาะแสวงหากันก็ต้องเป็น เห็ดปลวก ซึ่งมีรสชาติเฉพาะตัว ที่หอม อร่อยยากที่จะหารสชาติใดเปรียบ หาได้ดอกสองดอกเอามาปิ้งและตำป่นกิน ก็อิ่มเอมได้ทั้งครอบครัว

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ธรรมชาติเสกสรรมาให้มนุษย์ได้ผสมผสาน สร้างสรรค์ออกมาเป็นเมนูเพื่อเลี้ยงชีวิตรอด และมากไปกว่านั้นคือวัฒนธรรมที่หลากหลายแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น
จึงขอรวบรวมประสบการณ์จากการมาเป็นลูกสะใภ้ในถิ่นอีสาน ถูกสอนผ่านการเข้าครัว และการไปไร่นา พบว่ามีสิ่งแตกต่างจากอาหารบ้านเรา(ภาคกลาง)มาก
และพบสิ่งอัศจรรย์ที่บรรพบุรุษชาวอีสานช่างสรรหาความเหมาะสมจากธรรมชาติมาผสมผสานกันได้
และขอตั้งกรุ๊ปบล็อกนี้ว่า เมนูจากธรรมชาติ ... ก็แล้วกัน...เฮ้อ...เหนื่อย จบ....




 

Create Date : 01 กันยายน 2552    
Last Update : 15 กันยายน 2552 14:55:19 น.
Counter : 296 Pageviews.  


familyfarm
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ครอบครัว ที่ก้าวเดินร่วมกัน
เพื่อเข้าใกล้ "การพึ่งตนเอง" ให้ได้มากที่สุด
ใฝ่ฝันจะสร้างสรรค์งานฝีมือจากวัสดุในท้องถิ่น
และก้าวสู่เกษตรกรรมยั่งยืน
Friends' blogs
[Add familyfarm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.