<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (7)

เสียงเงียบจากเมืองเชียงลาว…ถึงเมืองเชียงใหม่


ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าว่า เมื่อจุลศักราชได้ ๑ ตัว ตรงกับ ปีพุทธศักราช ๑๑๘๒ พระญาลาวจก คือว่า ลวจังกราชะ ปฐมราชวงศ์ลาว เกิดปีนั้นกินเมืองเชียงลาวก็ปีนั้น

“กิตติลือชาปรากฏไปทั่วทิศานุทิศว่า พระญาเทวราชะเจ้าลุก(เดินทาง)แต่ชั้นฟ้าลงมาเกิดเปนพระญาในชัยวรนคร คน(ชาวเมือง)ทังหลายชวนกันนำ(เอา)บรรณาการมากนักมาถวาย แล้วขออยู่เปนราชเสวกแห่งพระญาลวจังกราชะตนนั้นแล”


ตำนานตรงนี้บอกผู้ฟังเป็นนัยยะว่า ผู้คนในเครือข่ายกลุ่มบ้านเมืองที่ตำนานเรียกว่าเมืองในล้านนาไท (ในเวลานั้นคือ ปี จ.ศ. ๑) ต่างยอมรับในพระราชอำนาจของพระญาลวจังกราช (หรือลวจักราช, ปู่เจ้าลาวจก) คือ ความเป็นใหญ่ของพระญาเมืองเชียงลาวเหนือบ้านเมืองอื่น

ก่อนที่จะว่ากันเรื่องการสร้างบ้านแปลงเมือง และการสืบลำดับกษัตริย์ราชวงศ์ลาว ขอชวนท่านกำหนดความสนใจพิจารณาเรื่อง “เมืองเชียงลาว” “เมืองยางเงิน” หรือว่า “ชัยวรนคร” ไว้เป็นอารมณ์กันก่อนครับ


เมื่ออ่านตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แล้ว ผมมีข้อสังเกตอย่างนี้ครับ
(๑) ท่านผู้แต่งตำนานบอกเป็นนัย ๆ แก่เราว่าก่อนหน้าปี จ.ศ. ๑ เมืองล้านนาไท มีอยู่แล้ว
(๒) เมืองล้านนาไท เป็นชื่อกลุ่มเมือง หรือ กลุ่มเครือข่ายบ้านเมือง
(๓) มีท้าวพระญาทังหลายในเมืองล้านนาไท
(๔) ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๑๑๘๒ นั้น ไม่มีพระญามหากษัตริย์องค์ใดเป็นใหญ่แก่ท้าวพระญาทั้งหลายในเมืองล้านไท และ---
(๕) ในเมืองล้านนาไท มีเมืองชื่อ "เมืองเชียงลาว" ตั้งอยู่แล้ว


คราวนี้ผมขอเชิญท่านผู้อ่านลองพิจารณาความในตอนต้นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ว่า “ดูราสาธุชนสรรพบุรุษเจ้าทังหลาย อาจารย์เจ้าตนจักแปลงนิทานศุภกถาจารีตอดีตลำดับราชวงศาราชาท้าวพระญา อันเสวยสมบัติใน นพบุรีศรีพิงชัยเชียงใหม่ อันเป็นใหญ่ ในสัตตปัญญาสะล้านนา ๕๗ เมือง ตั้งแต่ลวจังกราชะเจ้า มาตราบเถิง เจ้ามังราย ด้วยลำดับต่อเท้าเถิงกาละบัดนี้”

เมื่อเดินเรื่องสอบย้อนหลังดูความกันแล้ว นั้นก็หมายความว่า---
(๖) ตำนานฉบับสำนวนนี้แต่งขึ้นเมื่อภายหลังปี หรือ ระหว่างปีที่ตำนานระบุว่า”เท้าเถิงกาละบัดนี้” ตรงกับเวลาตอนสุดท้ายในตำนานเล่าว่า “ปีนั้นเปนปีเมิงใค้ (ใค้ อ่าน ไก๊ ไทใต้ว่า ปีกุน) สกราช ๑๑๘๙ หั้นแล พื้นนครนิทานกถา ผูกถ้วนแปด ก็แล้วเท่านี้ก่อนแล” จ.ศ ๑๑๘๙ ตรงกับ (1181 + 1189 =) ปี พ.ศ. ๒๓๗๐

(๗) ตำนานฉบับนี้ ระบุว่า เมืองในล้านนาไท มี ๕๗ เมือง ย่อมเป็นการสร้าง ’วาทกรรมความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ จากฐานข้อมูลในช่วงปีที่แต่งตำนาน


ขอย้ำว่าเราสามารถใช้กรอบอ้าง… เมืองเชียงใหม่ อันเป็นใหญ่ ในเมืองล้านนาไท ๕๗ เมือง ได้ก็เมื่อตั้งเวลาไว้ที่ ปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ครอบคลุมช่วงปีก่อนหลังจากนี้ เท่านั้น, ส่วนท่านจะกำหนดเอาตัวเลขบวกลบเลขก่อนหลังปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ไว้นานเท่าใด ก็คงต้องบอกว่าต่างคนก็ต่างใจ จึงคิดว่าแต่ะละท่านก็กำหนดเอาตามข้อวินิจฉัยของตน ๆ เถิดครับ

ดังนั้นใครก็ย่อมไม่อาจอ้างอิงหลักฐานหรือแม้แต่โยงจินตนาการของผู้อ่าน(ในยุคหลัง ปี พ.ศ. ใด ๆ ก็ดี) ถึงความมีอยู่เป็นอยู่ของบ้านเมืองต่าง ๆ สลับข้ามไปมาในตำนานแต่ละยุคสมัยและรวมทั้งในปรากฏการณ์ร่วมยุคกับผู้อ่านแต่ละคนแต่ละกาลเทศะได้
ผู้เขียนหมายความว่า_____
ขอยกตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. ๑๑๘๒ นั้น ยังไม่มีเมืองที่ชื่อว่า “เมืองเชียงแสน” แต่เมืองที่ตั้งอยู่ ณ ที่นั้นในยุคที่ตำนานกล่าวถึง อาจเป็นเมืองที่เรียกชื่ออื่นก็ได้, และก็ ”เมืองเชียงแสน” ที่ปรากฏชื่อในตำนานอื่นเช่นในตำนานสีหลวัตินั้น ใครก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นเมืองเชียงแสนเมืองเดียวกับเมืองชื่อเดียวกันหรือคล้ายกันนี้ในตำนานอื่น ๆ อีกด้วย
เพราะหากคนเล่าคนฟังนิทานปักใจเชื่อว่าเมืองในตำนานหนึ่งเป็นเมืองเดียวกับเมืองในอีกตำนานหนึ่ง หรือว่าเป็นเมืองเดียวกับเมืองที่ตนเองรู้จักในปัจจุบันแล้วละก็ ย่อมยิ่งเพิ่มความสับสนด้านมิติเหตุการณ์ กาละ และเทศะมากขึ้นไปอีก

พูดกันให้เห็นได้ง่ายก็ว่า ในปีพ.ศ. ๑๑๘๒ นั้น พระญามังรายเจ้ายังไม่เกิดขึ้นในเมืองคน และเมืองเชียงใหม่อันพระยามังรายสร้างขึ้นก็จึงยังไม่มีปรากฏเป็น เมืองใหญ่ในล้านนาไท, ใช่หรือไม่?


ยิ่งแล้วในปี พ.ศ. นี้ (หากคุณอ่านตำนานนี้เมื่อเขียนลงบล็อกออนไลน์ คือ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙) ที่เราท่านอ่านตำนานกันอยู่นี้ เมืองเชียงแสนนั้นเป็นชื่ออำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดเชียงราย, ส่วนเชียงใหม่เป็นเทศบาลนคร - เป็นอำเภอเมือง – เป็นเมืองหลักเมืองหลวงของภาคเหนือตอนบน- เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับตลาดโลก – และเป็นจังหวัดใหญ่อันดับสอง(รองจากกรุงเทพมหานคร)ของประเทศไทย ดังนี้เป็นต้น

ในมิติด้าน 'การสร้างและการประกาศวาทกรรมเพื่ออ้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับที่เขียนขึ้นภายหลังเหตุการณ์ในตำนานช่วง ปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ดังกล่าวนี้ มีนัยยะสำคัญพึงพิจารณาดังนี้ ---

(๘) ท้าวพระญาผู้กินเมืองเชียงใหม่ ย่อมเป็นใหญ่เหนือเมืองในสัตตปัญญสะล้านนา ๕๗ เมือง ในช่วงเวลาที่อาจารย์ท่านแต่งตำนานนี้ขึ้น ดังกล่าวแล้วนั้น เพราะเหตุว่า –
(๙) ลำดับราชวงศาท้าวพระญาเหล่านั้นย่อมสืบเชื้อสายมาจากองค์ปฐมราชวงศาคือว่า พระญาลวจังกราชะ ผู้กินเมืองเชียงลาว เริ่มแรกเมื่อ ปี พ.ศ. ๑๑๘๒ มาตราบเถิง พระญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างแลเสวยสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ด้วยลำดับต่อเท้าเถิงกาละปี พ.ศ. ๒๓๗๐ บัดนี้ หั้นแล



นักเลงตำนานที่เคารพรักครับ
ใครจะเชื่อตามหรือไม่อย่างไรก็ดี
ก็สุดแล้วแต่พระเดชพระคุณเถิดขอรับ

กำลังนี้ผมจะบอกท่านว่า
หากมองตำนานว่าเป็นเรื่องเล่าที่สร้างขึ้นด้วยการปรุงแต่งผ่านรูปแบบของภาษาและการบรรยายแล้ว
ตำนานในระดับนี้จึงเป็นนิทานอันหมายถึงเรื่องโกหก
ไม่ควรคิดอะไรให้มากไปกว่าการเสพเพื่อความบันเทิง

แต่ทว่าหากยกระดับตำนานขึ้นสู่ระดับความจริงเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงด้วยคำพูดหรือถ้อยคำแล้ว
ความจริงเชิงสัญลักษณ์ที่ตำนานต้องการบอกนั้นก็คือ ---
“ความเงียบที่อยู่เบื้องหลังคำพูด”

ตำนานจึงต้องเป็นความจริงในปัจจุบัน ณ กาลเทศะที่เราเสพสื่อสารกับมันเสมอไป


ดังเช่นเวลานี้เรื่องราวและตัวตนของ พระญาลวจังกราช และเมืองเชียงลาว เมืองยางเงิน ชัยวรนคร อันเป็นใหญ่ ในเมืองล้านนาไท ย่อมเป็นความจริงในปัจจุบัน ที่ใครก็มิอาจปฏิเสธความมีอยู่เป็นอยู่ของเรื่องราวเล่านั้นได้

หาไม่เช่นนั้นแล้ว--- พระญามังรายเจ้า และเมืองนพบุรีศรีพิงชัยเชียงใหม่ ก็ย่อมไม่อาจเคยมีอยู่ในโลกความเป็นจริงเลย

เพราะ “นับราชวงศ์ตั้งแต่ลวจังกราชะ มาเถิง เจ้ามังราย ได้ ๒๕ ชั่วราชวงศ์แล” นั้น หากไม่เป็นความจริงตามตำนานในปัจจุบันแล้วละก็
ผลที่ตามหลังมา หรือเหตุการณ์-บุคคล-บ้านเมืองภายหลังที่ปรากฏในท้องเรื่องตำนานนิทานกถาต่อ ๆ มา ย่อมจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่จริงแผ่กว้างไกลไปอีกมหาศาล

แม้มาถึงกาลเทศะร่วมสมัยกับเรานี้
และย่อมส่งผลไปถึงสังคมชุมชนทุกระดับในอนาคต

สมมติว่า “วงสาท้าวพระญาผู้เสวยราชสมบัติใน นพบุรีศรีเชียงใหม่ อันตั้งปฐมะหัวทีนั้น หมายว่า พระญามังรายเสวย เมืองพิง เป็นปฐมะก่อนทังหลายแล เปนชั่ว ๑ แล” เป็นเรื่องราวในตำนานที่ไม่เคยมีอยู่จริงเลยแล้ว (พูดอีกอย่างคือ ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะไม่มีตำนานเป็นสิ่งยืนยันเล่าไว้ในยุคปัจจุบัน) และแล้วก็-----


three kings monument
ภาพถ่าย by fastbacker




"อนุสาวรีย์สามกษัตริย์" เหนือวัดสะดือเมือง เยื้องร้านข้าวมันไก่นั้น ก็จะพลันอันตรธานไป ใช่ไหมเล่าครับ พี่น้องหมู่เฮาทังหลาย







ซ้ำร้ายไปกว่านั้น---
ณ วันเวลาแห่งยุคทองแห่งตลาดธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยววันนี้


Chiang Mai - Sunday Market
photo by scorbette37 (on January 19, 2006)
ถนนคนเดิน เชียงใหม่


หากตำนานนิทานกถาไม่เป็นความจริงในปัจจุบันแล้วละก็
เรื่องที่น่าสยดสยองกว่าสงครามการก่อการร้าย ก็จะเกิดมีขึ้นอย่างแน่นอน
เชื่อผมเต๊อะ!?!



posted by a_somjai | 2006-09-13 | ตำนาน, เมือง, เหนือ, ล้านนา, เชียงลาว, เมืองยางเงิน, ลวจังกราช , ปู่เจ้าลาวจก, เชียงใหม่




 

Create Date : 13 กันยายน 2549    
Last Update : 19 มีนาคม 2550 11:38:46 น.
Counter : 1151 Pageviews.  

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (6)

ปฐมวงศาพระญาลาวมาจากไหน?



“พระญาอนุรุทธธัมมิกราชะ(แห่งอาณาจักรพุกาม)ตนนั้น ตั้งสกราชใหม่(จุลศักราช)ตัว ๑ ไปในวันนั้นแล้ว ในขณะยามนั้น (พระองค์) เรียกหายังมหากระสัตร (กษัตริย์) แลท้าวพระญาทั้งมวล หื้อ(ให้)เข้ามาพร้อมในราชสำนักแห่งตน”


ปรากฏว่าท้าวพระญามหากษัตริย์เมืองอื่นก็เข้าไปเฝ้าพร้อมเสี้ยง (หมดสิ้น) แต่ '’เมืองล้านนาไท’ นั้นหาใผเป็นตัวแทนท้าวพระญามหากษัตริย์จักไปพร้อมบ่ได้ เหตุว่าบ่มีมหากระสัตร นั้นแล

ถึงตรงนี้ ขอเรียนย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่า วัตถุประสงค์ของการแต่งเรื่องและเนื้อเรื่องในตำนานล้านนานั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง ‘เมืองอันเป็นที่ตั้งวรศาสนาและพระธรรมราชา’ ตำนานจึงบอกเราว่าเมื่อปีจุลศักราช ๑ ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช ๑๑๘๒ (= 1181 + 1) นั้น
(๑) มีกลุ่มเมืองล้านนาไทแล้วในปี พ.ศ. ๑๑๘๒ (ส่วนว่าจะมีมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ประการใดนั้น ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังนิทานตำนานจะลองวินิจฉัยกันดูนะครับ)
(๒) ยังไม่มีพระญาธัมมิกราช (พระยาธรรมิกราช) ผู้เป็นใหญ่กว่าท้าวพระญามหากษัตริย์ในเมืองทั้งหลายในล้านนาไท และ –
(๓) ยังไม่มีพระญาธัมมิกราชพระองค์ใด เป็นใหญ่เหนือกลุ่มเมืองที่ตำนานเรียกว่า ‘เมืองล้านนาไท’


แต่เมื่อกลับไปพิจารณาความในตำนานที่เล่าไว้ใน ตอนที่ ๑ ว่า "กล่าวสำหรับตำนานท้าวพระญาและเมืองในล้านนาตามที่เล่าไว้ใน ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่’ โดยลำดับนั้น เป็นเรื่องราวของปฐมกษัตริย์เมืองล้านนาไท เมื่อปีเริ่มนับจุลศักราช (ลวจักราช ลวจังกราช หรือ ลาวจก เกิด จ.ศ. ๑ ตาย จ.ศ. ๑๒๐ ตรงกับ พ.ศ. ๑๑๘๒ - ๑๓๐๑) ถึงบัดนี้คือ เรื่องสมัยพระเจ้าเชียงใหม่ เชื้อเจ้าเจ็ดตน จ.ศ. ๑๑๘๙ (ตรงกับปีพ.ศ. ๒๓๗๐ __เกณฑ์ตัวเลขสำหรับลบบวกจุลศักราชกับพุทธศักราชคือ 1181)" แล้วละก็อาจวินิจฉัยได้ว่า

(๔) ท่านผู้แต่งตำนานเมืองเขียงใหม่ สำนวนล้านนา ซึ่งเราอาจคิดเอาได้ว่าเป็นตัวแทนผู้นำและปัญญาชนล้านนาสมัยที่แต่งตำนานนี้ ไม่ได้ถือว่า ยุคสมัยของราชวงศ์จามเทวีครองเมืองละพูนหรือนครหิริปุญไชยรวมอยู่ในเมืองกลุ่มเดียวกันหรือกล่มอำนาจเดียวกันกับกล่มเมืองล้านนาไท เพราะแคว้นหริปุญไชยอยู่คนละเขตแคว้นกับอำนาจเมืองล้านนาไทภายใต้ปกครองราชวงศ์ลาวของลวจกราชแห่งเวียงเชียงลาวยางเงิน (?)



มาว่าเรื่องตำนานเมืองเชียงใหม่ต่อ
ด้วยเหตุนี้ พระญาอนุรุทธธัมมิกราชจึงต้องเข้าไปจัดการให้มีมหากษัตริย์ขึ้นในเมืองล้านนาไท โดยไปขอจากพระอินทร์ ดังตำนานเล่าว่า –
“ขออินทาธิราชะเจ้า เปนที่เอาใจใส่ เมืองล้านนาไทอันเป็นที่ตั้งวรพุทธสาสนาแล หากระสัตตราธิราชะตนเปนเจ้า เปนใหญ่บ่ได้แด่”


ข้อสังเกตที่ได้จากตำนานความนี้คือ
(๕) พระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่เหนือเมืองอื่นทั้งหลาย จะต้องตั้งเครือข่ายท้าวพระญามหากษัตริย์ไว้ตามเมืองในพระราชอำนาจ
(๖) การเป็นพระญามหากษัตริย์ของเมืองใด ๆ จะต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากพระญาผู้เป็นใหญ่จากอาณาจักรอื่นด้วย ซึ่งเราจะได้เห็นกันต่อไปในการแต่งตั้งและสืบทอดกันผ่านแบบแผนพิธีกรรมศักดิสิทธิ์ เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ อภิเษกรดสรงด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ และ –
(๗) ผู้ถูกแต่งตั้งเป็นพระญามหากษัตริย์นั้นจะเลือกเอาจากคนธรรมดาสามัญมิได้ ต้องขอประทานมาจากราชาแห่งเมืองสวรรค์ (คือพระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราช)

อีกนัยหนึ่งคือพระญาและเชื้อสายบริวารนั้นต้องผ่านการคัดสรรจากเบื้องบน ดังพื้นนครนิทานกถาเล่าว่า… ---
“อินทาธิราชะเจ้าก็รับเอาคำว่า ดีดีนัก เราก็หากจักเอาใจใส่ชะแล ว่าอั้น

“แล้วอินทาธิราชะก็พิจารณาหา ก็หันยังเทวบุตรตนหนึ่งชื่อ ‘ลวจังกรเทวบุตร’ อันมีบุญสมพารหากได้กัตตาธิการมามาก อยู่เสวยทิพยสัมบัติในชั้นฟ้าตาวตึงสา (ดาวดึงส์) มีอายุหากจักเสี้ยงดั่งอั้น”


นักเลงตำนานที่เคารพรักทั้งหลาย ความสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ -----
“พระญาอินท์…กล่าวว่า ดูราเจ้าตนหาทุกข์บ่ได้ ท่านจุ่งลงไปเกิดในมนุษยโลกเมืองคนที่เมืองเชียงลาว ที่นั้น แล้วกระทำราชภาวะเปนท้าวพระญามหากระสัตร เปนเจ้าเปนใหญ่แก่ท้าวพระญาทังหลายในเมืองล้านนาไท แลรักษายังวรพุทธสาสนาเทอะ ว่าฉันนั้น”


แล้วเราก็ได้ข้อสังเกตเพิ่มมาอีกว่า ------
(๘) พระญามหากษัตริย์ ต้องมีบุญสมภารได้มีบารมีอันยิ่งที่ได้ทำไว้แล้ว ดังคำในตำนานเรียกว่า --’กตาธิการ’ ผู้เขียนไปลองค้นหาความหมายดู จึ่งรู้ว่า ---
’กตาธิการ’ คือ อธิการที่ทำไว้ มีบารมีอันสั่งสมไว้แล้ว
และเมื่อวินิจฉัยด้วยความเห็นส่วนตัวแล้ว คติ ’กตาธิการ’ นี้ เป็นการผลิตซ้ำตำนานอีกครั้งจากความเมื่อเริ่มต้นเล่า(ตอนที่ ๒ หัวข้อ ปฐมราชวงศ์และลำดับแห่งผู้ปกครองบ้านเมืองชาวพุทธ ) ว่า ----
“หิ ด้วยมีแท้แล ในเมื่อ’พระพุทธเจ้ากัสสัปปะ’ปรินิพพานไปแล้ว ในละแวกหว่างนั้น ’พระพุทธโคตมะเจ้าแห่งเรา’ ยังสร้างโพธิสมพาร ‘ได้มาเปนพระญาเสวยราชสัมปัตติในเมืองพาราณสี’ ประกอบด้วยบุญ ปัญญา กายะ พละ รูปสัมปัตติ อิสริยปุริสลักขณะ ยิ่งกว่าฅนทังหลายฝูงอื่น ปรากฎชื่อว่า ’พระญามหาสมันตราชะ’ มีอายุยืนได้อสงขัยปี” (ดูคำอธิบายได้ ตามลิงค์ไปตอนที่อ้างอิง)

(๙) พระยามหากษัตริย์จะต้องเป็นเทวดาที่หมดอายุขัยบนโลกสวรรค์ จุติ(ตายแล้ว)ลงมาเกิดในมนุษยโลกเมืองคน

(๑๐) เมืองคนคือเมืองในล้านนาไท ซึ่งในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้เอ่ยถึงเป็นเมืองแรก หากไม่นับเมืองละพูน/เมืองหริภุญชัยแล้วก็คือ เมืองเชียงลาว

(๑๑) การเป็นพระญามหากษัตริย์นั้น ผู้นั้นเป็นได้ตามราชโองการของพระอินทร์คือพระราชาแห่งทวยเทพบนเมืองสวรรค์

(๑๒) โดยเฉพาะตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ประกาศอ้างอิงราชโองการแห่งองค์อินทราธิราชเลยว่า ให้ผู้นั้นมีหน้าที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ---
ก.) เปนเจ้าเปนใหญ่แก่ท้าวพระญาทังหลายในเมืองล้านนาไท
ข.) แลรักษายังวรพุทธสาสนา ในเมืองทั้งหลายในเมืองล้านนาไท



ไปฟังตำนานต่อจาก “ลวจังกรเทวบุตรก็รับเอาคำพระญาอินทาว่า สาธุ ดีดีแล ว่าอั้น” กันเลยครับ….
“แล้ว(ลวจังกรเทวบุตร)ก็จุติแต่ชั้นฟ้าลงมากับบริวารแห่งตนพันหนึ่ง (๑,๐๐๐)"
โดยวิธีการ “ก่ายเกินเงินทิพแต่ชั้นฟ้า” (ก่าย คือ พาด, เกิน อ่าน เกิ๋น หมายถึง บันได)

“นัยยะ ๑ ว่า ก่ายแต่ปลายดอยทุง (อ่าน ดอยตุง) ลงมาเอาปฏิสนธิ โอปปาติกา”


เล่าอย่างรวบรัดก็คือ เทวบุตรจุติแล้วก็เกิดมาเป็นตัวเป็นตนดั่งคนสามัญเราท่านทั้งหลาย แต่ทว่าเติบโต --- “เปนราชกุมารอันได้ ๑๖ ขวบ” เลย
ซ้ำยังแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างลูกกษัตริย์ พวกบริวารชายหญิงที่ไต่บันไดเงินทิพย์โโดยเสด็จลงมาจากเมืองฟ้าด้วยกันนั้น ก็พลันโตเป็นหนุ่มน้อยสาวน้อยได้ ๑๖ ขวบเท่ากันทั้งพันคน พากันแวดล้อมราชกุมารอยู่

เล่าถึงตรงนี้แล้วมีอะไรให้เราได้คิดอีกบ้างครับ ---
(๑๓) พระญาองค์ปฐมต้นราชวงศ์กับทั้งบริวาร ไม่ใช่คนพื้นเมืองในเมืองล้านนาไทเมืองใดเลย (และไม่มีพ่อแม่บรรพบุรุษเป็นคนเดินดิน/คนพื้นเมืองกลุ่มใด ๆ) จนคนพื้นเมืองล้านนาไทพากันประหลาดใจ ดังว่า “ฅนทังหลายมาหัน จิ่งจากันว่า ฅนทังหลายฝูงนี้ ลุก(เดินทางจาก)ที่ใดมาชา ว่าอั้น” เมื่อเรียกกันมาดูเห็นบันไดเงินลอยกลับไปในอากาศจึงรู้ว่าพวกคนแปลกหน้าเหล่านั้นถูกส่งลงมาจากชั้นฟ้า

ความในตำนานว่า ---
“ชาวเมืองทังหลายหันอัจฉริยะ(อัศจรรย์) จิ่งราธนา(อันเชิญเสด็จ)เอาเมือ(เดินทางไป)เสวยราชสมบัติเปนเจ้าเปนใหญ่ในเมืองชัยวรนคร (เมืองเชียงลาว / เมืองยางเงิน) ปรากฏชื่อว่า ‘ลวจังกรเอกราชะ’ ในปีจุฬสกราชได้ตัว ๑ ไป” ว่าตามตำนานแล้ว ลวจักรราช หรือ ปู่เจ้าลาวจก แรกตั้งราชวงศ์ลาวขึ้นมานั้น ตรงกับปีพุทธศักราช ๑๑๘๒ (= 1181 + 1)


หากย้อนไปพิจารณาตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ตอนที่ผ่านมาแล้ว (การเทียบศักราชโบราณ (2) ลำดับเวลาในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ) การตั้งเวลาเริ่มต้นตำนานเมืองในล้านไทนี้ ก็ยิ่งจะเห็นความชาญฉลาดของท่านโบราณอาจารย์ผู้แต่งได้ชัดเจนขึ้นไปอีก ดังว่า –
“เถิงพระญาอโสกธัมมราชะแลมหาโมคคัลลีเถรเจ้า กระทำสังคายนาเปนถ้วน ๓ สกราชได้ ๒๑๘ ตัว
“นางจามเทวีเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๔๑๘
“สกราชได้ ๔๕๖ ก่อเวียงละพูน
“สักราช ๔๕๘ ตัว นางจามเทวีลุกแต่เมืองละโว้ขึ้นมากินเมืองละพูน
“มหันตยสกินเมืองแทนด้วยลำดับมา (จนกระทั่งถึงปีพุทธ)สักราชได้ ๕๖๐ ปี ตัวพระญาพันธุมัตติธัมมิกราชะเมืองลังกาตัดสกราช ๕๖๐ นั้นเสีย แล้วตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป
“พันธุมัตติสกราช ลำดับมาได้ ๓๔๓ (ตัว) พระญาอาทิตย์เปนพระญากินเมืองหริภุญชัย
“(ต่อมาอีก)ได้ ๓ ปี ก่อเจติยะหลวงละพูน (พุทธ)สกราชได้ ๙๐๖ ตัว
“ลำดับพันธุสกราชมา ๖๒๒ พระญาตรีจักขุอนุรุทธธัมมิราชะเปนใหญ่ใน(พุกาม) ตัดสกราช ๖๒๒ นั้นเสีย แล้วตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป”

พูดจริง ๆ เท็จ ๆ แบบตำนานนิทานกถา ก็ต้องเล่าว่า--
(๑๔) “พระญาลวจังกราชะ เกิดปีนั้น ได้เสวยเมืองเชียงลาวยางเงินก็ปีนั้น”


ดังนั้นหากเราเชื่อว่า “ตำนานเป็นความจริงในปัจจุบันแล้วละก็” เราก็จึงพยามหาปีแรกตั้งราชวงศ์ลาวให้สัมพันธ์กับยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้

สำหรับคนไทยในปัจจุบันกำหนดนับปีด้วยพุทธศักราช วิธีการคำนวณจากปี จ.ศ. ๑ เป็นดังนี้ –

ต้องเพิ่มปีศักราชเก่าที่เคยถูกตั้งขึ้นมาใช้แล้ว ถูกยุบเลิกไปก่อนหน้าการก่อตั้งจุลศักราชที่ตำนานเมืองเชียงใหม่ใช้อ้างอิง กล่าวคือตั้งโจทย์ 560 + 622 จะได้เท่ากับปี พ.ศ. ๑๑๘๒,

ด้วยเหตุที่จุลศักราชซึ่งใช้มาจนในปัจจุบันนี้นั้นเป็น ’ศักราชโหรา’ จึงต้องลดกาลลงมา ๑ ปี เป็นเกณฑ์กหัมปายา ๑๑๘๑ ไว้สำหรับลบบวกจุลศักราชกับพุทธกาล

โดยการคำนวณแล้ว จึงเริ่มนับต้นราชวงศ์ลาวแห่งอาณาจักรล้านนา
นับแต่รัชสมัยพระญาลวจักราช ตามตำนานตั้งเวลาไว้ที่ปีจุลศักรราช ๑
และ ปี จ.ศ. ๑ นั้นก็จึงตรงกับ (1181+1=) ปี พ.ศ. ๑๑๘๒ ดังนี้แล.




แล้วเมืองเชียงลาวยางเงินนี้ ตั้งอยู่ที่ใดกัน?

โปรดติดตาม!



*อ้างอิง: ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ผูก 1, และพงศาวดารโยนก หน้า 112–114*

**posted by a_somjai | 2006-09-12 | ตำนาน, เมือง, เหนือ, ล้านนา, เมืองเชียงลาว, เมืองยางเงิน, จุลศักราช, พุทธศักราช, โหราศักราช, รัชศักราช, ราชวงศ์ลาว, ลวจักราช , ปู่เจ้าลาวจก **




 

Create Date : 12 กันยายน 2549    
Last Update : 13 กันยายน 2549 1:43:38 น.
Counter : 947 Pageviews.  

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (5)

การเทียบศักราชโบราณ (2)
ลำดับเวลาในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่


ตอนที่ผ่านมา ได้เล่านิทานเรื่องของราชาในศากยวงศ์รุ่นปู่ทวดของสิทธัตถโพธิสัตต์ ตั้งแต่พระญาไชยเสนะกับพระญาเทวหสักกะจนถึงราหุลกุมาร

เรื่องลำดับราชวงศ์ของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เกี่ยวข้องกับเวลาในตำนาน ดังนี้

(๑) พระญาสีตนุราชะได้เป็นใหญ่ในเมืองใหญ่กบิลพัสดุแทนพระญาไชยเสนะ ขณะเดียวกันกับพระญาอัญชนะสักกะได้เป็นใหญ่ในเมืองใหญ่เทวหนครแทนพระญาเทวหสักกะ ส่วนกาลเทวิละผู้น้องออกบวชเป็นฤษีและคาดได้ว่าคงเป็นใหญ่ในหมู่ฤษีด้วยเช่นกัน

(๒) อันว่าศักราชนั้นหมายถึงปีของพระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายและราชาผู้เป็นใหญ่กว่าท้าวพระญาทั้งหลายในเมืองทั้งหลาย คือกำหนดนับจำนวนปีที่พระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองใหญ่และกลุ่มเมืองในเครือข่ายพระราชอำนาจ ราชาผู้เป็นใหญ่ระดับมหาจักรพรรดิก็จึงมักลบการนับเวลาแบบเดิมแล้วตั้งการนับเวลาขึ้นมานับหนึ่งใหม่ ตามปีที่พระองค์มีอำนาจปกครองอยู่นั้น แล้วยังแผ่อิทธิพลการบังคับใช้ศักราชใหม่ของตนไปตามเมืองทั้งปวงในพระราชอำนาจ รวมทั้งการนับกำหนดระบุเลขนับปีควบคลุมไปทุกด้าน

(๓) เมื่อไปเปิดดูในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แล้ว โบราณาจารย์เล่าว่า “กาลเทวิลรสี แลพระญาอัญชนะ กับพระญาสีหตนะ ตัดสกราชโบราณอันชือ’กิงนวสันต์’นั้นเสีย แล้วตั้งสักราชใหม่ตัว ๑ ไป”
ศักราชโบราณเดิมชื่อ ’กิงนวสันตศักราช’ จะเป็น ’ศักราชสัปตฤกษ์ชื่อโลกกาล’ หรือว่าเป็น ‘ศักราชกาลียุค’ ดังกล่าวถึงในตอนที่แล้ว หรือประการใด ผู้เขียนบทความนี้ขอยอมรับซื่อ ๆ ว่า “ผู้ข้าบ่รู้ แท้ ๆ”ครับ
ส่วนศักราชใหม่ที่ตั้งขึ้นก็จะกลายเป็น’ สกราชโบราณ’ ตามท้องเรื่องลำดับต่อไป
‘อัญชนะสกราช’ นี้ผู้อ่านตำนานเมืองใหญ่ในล้านนาจะต้องรู้จักไว้เป็นพื้นฐานก่อน เพื่อก้าวไปสู่ความเข้าใจ’พุทธศักราช’และ’จุลศักราช’ที่ท่านผู้แต่งตำนานใช้กำกับลำดับเวลา




นักปราชญ์ท่านตั้งเทียบเวลาลำดับเหตุการณ์ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ไว้ดังนี้ครับ

(๑) สกราชตัวใหม่ (ก็คือที่ท่านเล่าว่า -- “กาลเทวิลรสี แลพระญาอัญชนะ กับพระญาสีหตนะ ตัดสกราชโบราณอันชือ’กิงนวสันต์’ นั้นเสีย แล้วตั้งสักราชใหม่ตัว ๑ ไป“) ลำดับมาได้ ๖๗ ตัว พระเจ้าเรา (สิทธัตถโพธิสัตต์) ลงมาเอาปฏิสนธิ

(๒) สักราช ๖๘ ตัว พระ(พุทธ)เจ้าเกิด

(๓) สกราชได้ ๑๔๘ ตัว พระพุทธเจ้าเรานิพพาน เดือน ๘ เพง(เพ็ญ) วันอังคาร

(๔) เถิงเดือน ๑๒ เพง มหาอานันทเถรเจ้า(พระอานนท์)ได้เถิงอรหันตา

(๕) แล้วสังคายนาธัมม์เปนปฐมะ (ภายในคือฝ่ายสงฆ์)มีอรหันตา ๕๐๐ ตน มีมหากัสกัปปเถรเจ้าเปนประธาน ภายนอก(ฝ่ายฆราวาสหรือฝ่ายบ้านเมือง)มีอชาตสัตตู(เป็นประธาน)แล

(๖) ตัด’อัญชนะสกราช’ ๑๔๘ ตัวนั้นเสีย ตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป (คือพุทธศักราช นับไปแต่ปีพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และ/หรือพบอีกในบางแห่งของตำนานล้านนาว่านับภายหลังปีพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๑ ปี หรือ ๒ ปี ก็มีอยู่ ดังที่พระยาประชากิจกรจักร์วินิจฉัย ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการกำหนดพุทธกาลหรือตั้งพุทธศักราชไม่เกี่ยวกับทางคำนวณในวิธีโหราศาสตร์ และคงจะพึ่งลงแบบ เมื่อภายหลังการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๓ แล้วมา)

(๗) สกราชใหม่ลำดับมาได้ ๑๐๐ ปี เถิงเช่นพระญากาลาโสกแลมหายัสสเถรเจ้า มีอรหันตา ๗๐๐ ตน สังคายนาธัมม์เปนถ้วน ๒

(และจากปี พ.ศ. ๑๐๐ นั้น)ลำดับมาได้(อีก) ๑๑๘ ปี (๘) เถิงพระญาอโสกธัมมราชะแลมหาโมคคัลลีเถรเจ้ากับอรหันตาพัน(๑,๐๐๐)ตน กระทำสังคายนาเปนถ้วน ๓ สกราชได้ ๒๑๘ ตัว

(จากปี พ.ศ ๒๑๘ นั้น)ลำดับมาได้ ๒๐๐ ปี (๙) สกราชได้ ๔๑๘ ตัว นางจามเทวีเกิด (ตอนนี้ท้องเรื่องลำดับท้าวพระญาราชามหากษัทตริย์ตามลำดับเวลาก็ย้ายมาอยู่ในเมืองใหญ่ในเขตแค้วนล้านนาแล้ว)


ผู้เขียนขอฝากข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า
ก.) เมื่อปราชญ์ล้านนาโบราณท่านบอกช่วงเวลาท่านใช้คำนามว่า ‘ปี’ เช่น ลำดับมาได้ ๑๐๐ ปี ๑๑๘ ปี ๒๐๐ ปี เป็นต้น, หากเมื่อเป็นการบอกบ่งกำหนดเวลาท่านจะระบุปีแห่งพระราชาด้วยคำนามว่า ‘ตัว’, ดังว่า สกราชได้ ๖๗ ตัว ๖๘ ตัว ๑๔๘ ตัว เป็นต้น และ –
ข.) ทางการคำนวณปีย้อนหลังของปราชญ์ล้านนานั้น ท่านวินิจฉัยประกอบกับบริบทแวดล้อมของท้องเรื่อง ดังแบบแผนที่ยกการเล่าที่ผ่าน ๆ มา และที่จะได้เห็นกันดังต่อไปนี้


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าว่า นางจามเทวีเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๔๑๘
(๑๐) สกราชได้ ๔๕๖ ก่อเวียงละพูน (เมืองลำพูน)

(๑๑) สักราช ๔๕๘ ตัว นางจามเทวีลุก(เดินทาง)แต่เมืองละโว้ขึ้นมากินเมืองละพูน
(ถึงตรงนี้ขอแทรกข้อสังเกตไว้อีกว่า นอกจากออกชื่อ ’เวียง/เมืองละพูน’ คือ ’เมืองหริภุญชัย’ แล้วตำนานยังเอ่ยชื่อ ’เมืองละโว้’ อีกด้วย)

(๑๒) มหันตยสแลอินทวรยส(ลูกชายฝาแฝดของนางจามเทวี)ทังสองพี่น้องเกิดปีนั้น (สักราช ๔๕๘ ตัว)

(๑๓) จามเทวีกินเมืองละพูนได้ ๕๓ ปี อายุ(พระนาง) ๙๒ ปี (ตรงกับปีพุทธ)สักราชได้ ๕๕๐
(๑๔) มหันตยสกินเมืองแทนด้วยลำดับมา (จนกระทั่งถึงปีพุทธ)สักราชได้ ๕๖๐ ปี

(๑๕) ตัวพระญาพันธุมัตติธัมมิกราชะเมืองลังกาตัดสกราช ๕๖๐ นั้นเสีย แล้วตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป


ตอนนี้ท้องเรื่องตามลำดับเวลาอ้างพาดพิงไปถึงตำนานลังกาวังสะแล้วครับ แต่เราก็ได้ข้อสังเกตเพิ่มเข้ามาอีกว่า ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บอกเราว่า
ก.) ลูกนางจามเทวีคือพระญามหันตยสกินเมืองละพูนในยุคสมัยเดียวกับพระญาพันธุมัตติธัมมิกราชะเป็นใหญกว่าราชาแห่งเมืองทั้งหลายในลังกาทวีป โดยเทียบจากเกณฑ์ปี พ.ศ. ๕๖๐
ข.) มีการลบศักราชเก่าแล้วตั้งศักราชขึ้นมานับ ๑ กันใหม่อีกมหาปางสมัยแล้ว และดังนั้น –
ค.) เมื่อเพิ่มจำนวนนับปีช่วงสมัยพุทธกาลเข้าไปอีก ๕๖๐ ปี รวมกับเวลาต่อด้วยจำนวนนับปีตามพันธุมัตติสกราช ก็จึงจะได้เป็นปีพุทธศักราช ดังจะแสดงให้เห็นต่อไป

(๑๖) พันธุมัตติสกราช ลำดับมาได้ ๓๔๓ (ตัว) พระญาอาทิตย์เปนพระญากินเมืองหริภุญชัย
(๑๗) (หลังจากพันธุมัตติสกราช ๓๔๓ ในรัชกาลพระญาอาทิตย์นั้น ต่อมาอีก)ได้ ๓ ปี ก่อเจติยะหลวงละพูน (ปีที่ก่อเจดีย์หลวงลำพูนนั้น ตรงกับพุทธ)สกราชได้ ๙๐๖ ตัว แต่พระ(พุทธ)เจ้านิพพานมาแล


ทางคำนวณของปราชญ์ผู้แต่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นดังนี้
ก.) พ.ศ. ๙๐๓ (560 + 343 = 903) พระญาอาทิตย์ขึ้นกินเมืองละพูน
ข.) พ.ศ. ๙๐๖ (560 + 343 + 3 = 906) ก่อพระเจดีย์หลวงละพูน


แล้วมหาปางใหญ่ของมหาจักรพรรดิราชะเจ้าผู้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย ได้ปราบดาภิเษกเป็นใหญ่ในเมืองใหญ่กว่าราชาทั้งหลายในเมืองทั้งหลาย ก็ได้เดินทางมาถึงอีกวาระหนึ่ง จึงจำต้องมีการลบศักราชเก่าแล้วตั้งศักราชขึ้นมานับ ๑ กันใหม่อีกมหาสมัย ดังตำนานว่า –

(๑๘) ลำดับพันธุสกราชมา ๖๒๒ พระญาตรีจักชุอนุรุทธธัมมิราชะเปนใหญ่ในชัมพูทวีป(พุกาม) ตัดสกราช ๖๒๒ นั้นเสียในปีเปิกเส็ด (จอ) แล้วตั้งสกราชใหม่ตัว ๑ ไป ในปีกัดใค้ (กุน) วันนั้นแล.


เมื่อมีการตัดสกราชเก่าตั้งสกราชใหม่ เราก็ต้องเพิ่มจำนวนนับปีช่วงสมัยพุทธกาลเข้าไปอีก ๕๖๐ ปี รวมกับจำนวนปีตามพันธุมัตติสกราชอีก ๖๒๒ ปี ดังนี้ 560 + 622 = พ.ศ 1182

อนึ่ง พระยาประชากิจกรจักร์ได้วินิจฉัยเรื่องสำคัญนี้ไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนก ตกไว้แก่คนรุ่นหลังว่า
“จุลศักราชซึ่งใช้มาจนในปัจจุบันนี้นั้นเป็น ’ศักราชโหรา’ ซึ่งตัดออกจาก ’ปีกาลียุค’ เมื่อล่วงได้ ๓๗๓๙ แล้ว (…) เรียกว่า ‘นวตึสันติ’ ศักราชนี้ตั้งขึ้นในประเทศภุกาม (…ตรงกับ) เมื่อพระพุทธศาสนากาลล่วงได้ ๑๑๘๒ วัสสา แต่ลด ๑ ปีเป็นเกณฑ์กหัมปายา ๑๑๘๑ ไว้สำหรับลบบวกจุลศักราชกับพุทธกาล

(…) ศักราชที่ใช้ในประเทศคงมีที่มาอยู่ ๔ อย่าง คือ
(๑) พุทธศักราชมากับพุทธศาสนา
(๒) มหาศักราชหรือสักกะรูปกาลมากับพราหมณ์ไสยศาสตร์ จึงใช้เกณฑ์ ๖๒๑ สำหรับลบบวกพุทธศักราชกับมหาศักราช
(๓) จุลศักราชมากับโหราศาสตร์มีเกณฑ์ ๕๖๐ สำหรับลบบวกกันกับมหาศักราช
(๔) รัชศักราชต่าง ๆ อันพระราชาบัญญัติเช่น ร.ศ. และปีราชสมบัติ เช่นศักราชจีนเป็นต้น
ถ้ารวมใจความก็เป็น ๓ ประเภท คือศักราชศาสนาหนึ่ง ศักราชโหราหนึ่ง ศักราชราชาหนึ่ง เท่านี้”


ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ การเทียบศักราชในงานเขียนตำนานเมืองเหนือชุดนี้ เมื่ออ้างอิงถึงกาลเวลาจากจุลศักราชกลับไปสู่พุทธศักราชที่คนไทยใช้คุ้นเคยกันอยู่ ผู้เขียนจึงขอใช้ตัวเลข ๑๑๘๑ ลบบวกครับ.

(ยกตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ คิดกลับไปเป็นปี จ.ศ ได้ด้วยการตั้งโจทย์ 2549-1181 จะได้เท่ากับ ปี จ.ศ. ๑๓๖๘, ในทำนองเดียวกัน ปี จ.ศ. ๑๓๖๘ คำนวนกลับไปด้วยการตั้งโจทย์ 1368+1181 จะได้เท่ากับปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ดังนี้แล)



*อ้างอิง: ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ผูก 1 หน้า 5, และพงศาวดารโยนก หน้า 112–114*

**posted by a_somjai | 2006-09-11 | ตำนาน, เมือง, เหนือ, ล้านนา, ศักราช, จุลศักราช, พุทธศักราช, มหาศักราช, โหราศักราช, รัชศักราช**




 

Create Date : 11 กันยายน 2549    
Last Update : 11 กันยายน 2549 22:39:45 น.
Counter : 1222 Pageviews.  

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (4)





โปรดเตรียมเทียบเวลาในตำนาน (1)



พระยาประชากิจกรจักร์-บรมครูผู้ศึกษาและแต่งหนังสือ พงศาวดารโยนก เขียนไว้ว่า—

“ข้อความทั้งหลายที่ได้กล่าวมาในคำบรรยายนี้ เป็นข้อความที่ได้สาธกมาจากตำราต่าง ๆ บ้าง เป็นส่วนความเห็นที่ได้เกิดจากการวินิจฉัยในเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้อ่านมานั้นบ้าง

“ข้อความส่วนใดที่เป็นส่วนความเห็นของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่ยืนยันว่าเป็นเที่ยงแท้แน่จริงทีเดียว เพราะความคิดเอกชน คาดคะเนไปตามเหตุผลซึ่งควรเห็นว่าน่าจะเป็นได้เช่นนั้นหรือไม่น่าจะเป็นได้เช่นนั้น

“การออกความเห็นของผู้แต่งเรื่องต่าง ๆ โดยมากมักกล่าวปนกับท้องเรื่อง แต่การทำเช่นนั้นมักจะพาให้เรื่องแปรไปได้

“เพราะฉะนั้น ในการเรียบเรียงเรื่องนี้ (พงศาวดารโยนก __ a_somjai) จึงทำเป็นคำบรรยายไว้เสียส่วนหนึ่ง กล่าวตามความรู้และความเห็นอันเกิดจากความดำริของผู้แต่งได้วินิจฉัยในเรื่องราวต่าง ๆ ตามที่ได้สาธกมานั้น เพื่อเป็นทางดำริแก่ท่านผู้ที่จะอ่านหนังสือสืบไป การจะผิดพลั้งหนักเบาไปบ้างประการใด ขอได้โปรดอภัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ”


ส่วนนักเลงตำนานด้วยกัน (อย่างข้าพเจ้าผู้เขียนบล็อก Blog aroung the Bog) ต่างรู้ดีในความจริง ๒ เรื่องครับ

ประการแรก เราต้องเชื่อว่าเรื่องราวในตำนานเป็นความจริงในปัจจุบัน(เพราะเรากำลังอ่าน ฟังเรื่องราวของมันอยู่) แต่อาจไม่ใข่เรื่องราวความจริงในอดีต


ดังนั้นเมื่อเราศึกษาตำนาน อ้างถึงตำนาน เล่าตำนาน ฟังตำนาน วิเคราะห์ ออกความเห็นที่เกี่ยวข้องกับตำนานแล้วละก็ เราจะต้องตั้งข้อสงสัยพร้อมกันไปด้วยว่าตำนานก็คือนิทานโกหกเราดี ๆ นี้เอง

และประการที่สองนั้น เรา(ต้อง)ตระหนัก(ไว้ให้)ดีว่า ใครก็ตามที่พยามยามอ้างอิงเหตุการณ์ในตำนานเพื่อสร้างความน่าเชื่ออถือได้ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา โดยผูกลำดับท้องเรื่องไว้กับความเที่ยงตรงของลำดับเวลาแล้วละก็ นักเลงตำนานผู้นั้นจะตกอยู่ในวังวนที่พระยาประชากิจกรจักร์ผู้แต่งหนังสือพงศาวดารโยนก พบมาก่อนหน้านี้แล้ว และท่านก็ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้

ดังความเห็นจากการวินิจฉัยของท่านที่ว่า “เรื่องศักราช ปี เดือน ในตำนานต่าง ๆ นั้น มักจะผิดคลาดกันโดยมาก เพราะว่าต้นฉบับตำนานทั้งหลายนั้นสังเกตเห็นว่า เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลัง(เรื่องราวเหตุการณ์ในตำนาน) แต่(ผู้แต่ง)คำนวณหาศักราชปีเดือนถอยหลังขึ้นไป วิธีคำนวณนับปีเดือน(ของผู้แต่งแต่ละท่านจึง)ไม่ตรงกัน”



ด้วยเหตุดังนี้ พระยาประชากิจกรจักร์จึงต้องเขียนอธิบายความรู้ “ว่าด้วยศักราชต่าง ๆ คลาดกัน” ไว้ถึง ๒๒ หน้า จากเนื้อหาในภาคคำบรรยายของหนังสือพงศาวดารโยนก เป็นภาคความเห็นถึง ๑๑๔ หน้า (ขอแนะนำให้นักเลงตำนานเมืองเหนือ หรือ ตำนานล้านนา ควรสนใจศึกษาลงลึกถึงรายละเอียด ก็จะเป็นประโยชน์อันใหญ่ครับ)

ท่านผู้แต่งหนังสือพงศาวดารโยนกเสนอไว้ว่า การนับศักราชและเทียบเวลาระหว่างกลุ่มคนต่างกาละเทศะในสมัยโบราณนั้นแตกต่างกันมาก ณ ที่นี้ขอหยิบใจความสำคัญมาเสนอไว้อีกทอดหนึ่งดังนี้

(๑) การนับปริวรรต(การหมุนเวียน)แห่งปีนั้น ไทยเหนือและไทยใหญ่ นับรวมปริวรรต ๖๐ ปี ตรงกับทางอินเดียเรียกว่าพฤหัสบดีจักร ท่านอธิบายไว้ว่า “คือกำหนดในปริวรรตหนึ่งเป็น ๕ รอบโคจรแห่งดาวพฤหัสบดีซึ่งเวียนรอบจักรราศี ในราศีละ ๑ ปี
บรรจบรอบ ๑๒ ราศีใน ๑๒ ปี จึงเป็นนามปี ๑๒ นักษัตร
ไทยใต้นับแต่ชวดเป็นต้นไป
ไทยเหนือนับแต่กุนเป็นต้นไป
ในพฤหัสบดีกาลนับแต่เถาะเป็นต้นไป”

“หากจะเทียบนามปีไทยใต้/นามปีไทยเหนือ เป็นดังนี้ ชวด/ไจ๊, ฉลู/เป๊า, ขาล/ ยี่, เถาะ/เม้า, มะโรง/สี, มะเส็ง/ไซ้, มะเมีย/ซะง้า, มะแม/เม็ด, วอก/สัน, ระกา/เล้า, จอ/เส็ด, และ กุน/ไก๊

“เมื่อบรรจบรอบ ๑๒ ปี ๕ รอบเป็น ๖๐ ปีเป็นพฤหัสบดีจักรปริวรรตหนึ่ง

“พฤหัสบดีจักรนี้เป็นวิธีนับกาลหรือศักราชเก่าแก่ ซึ่งใช้มาในประเทศอินเดีย ธิเบตและจีน

“กล่าวกันว่าศักราชพฤหัสบดีสัมวัตนี้ใช้ในชมพูทวีปก่อนพุทธกาลถึง ๒๕๘๕ ปี
และยังใช้ร่วมกับศักราชอื่น ๆ ต่อมา”



(๒) การนับศักราช ปี เดือน อื่น ๆ อย่างข้างฝ่ายดึกดำบรรพ์ของอินเดียนี้ ขอรับรองว่าสามารถสร้างความปวดเศียรเวียนศรีษะให้บังเกิดแก่สามัญชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่มิใช่หมอโหราหรือพราหมณ์ราชครูได้มากทีเดียวครับ

โดยเฉพาะเรื่อง ศักราชสัปตฤกษ์กาล หรือ ’ศักราชโลกกาล’ อันเกี่ยวข้องกับดาวพระเคราะห์ทั้ง ๗ นับรอบการหมุนเวียนแห่งปี
กำหนดระยะ ๑๐๐ ปี
๒๗ ระยะบรรจบรอบปริวรรตหนึ่ง
เท่ากับ ๒,๗๐๐ ปี

ท่านเชื่อหรือไม่ครับว่า “ปริวัติกาลอันเรียกว่าสัปตฤกษ์หรือโลกกาลนี้ กล่าวว่าได้แรกตั้งขึ้นเมื่ออายุกัลป์นี้ได้ ๔,๓๒๐ ล้านปี ก่อนพุทธกาล ๖,๒๓๔ ปี”

(อาจพูดอีกอย่างได้ว่า ปีแรกที่เริ่มต้นนับโลกกาลนั้น คือเมื่ออายุกัลป์ได้สี่พันสามร้อยล้านปี แล้วปีนั้นเองเป็นเวลาที่มีมาก่อนก่อนพุทธศักราชนับย้อนไปได้ไกลถึงหกพันสองร้อยสามสิบสี่ปี)

(๓) เมื่อก่อนพุทธกาล ๒,๕๕๙ ปี ยังมีการตั้งศักราชขึ้นมาอีก สำหรับคำนวณปฏิทิน ปี เดือน วัน เวลา โดยวิธีโคจรแห่งโลกกับสุริยคติ จันทรคติ อันโคจรพัวพันกันและกัน เรียกว่า ‘ศักราชกาลียุค’

สรุปสั้น ๆ ได้ว่า ในการคำนวณได้แบ่งกาลออกเป็นสี่ยุค ได้แก่ จัตยายุค ๔,๘๐๐ ปี, ไตรดายุค ๓,๖๐๐ ปี, ทวาปรายุค ๒,๔๐๐ ปี และ กาลียุค ๑,๒๐๐ ปี รวมกันสี่ยุคเป็น’มหายุค’เท่ากับ ๑๒,๐๐๐ ปี



มาถึงตรงนี้พวกเราทั้งคนเขียนคนอ่านตำนานมีเรื่องต้องให้ขบคิดกันใหม่อีก ๓ รอบครับ

รอบแรกนั้นต้องคิดเพราะว่ากันว่า ในจำนวนรอบหมื่นสองพันปีแห่งมหายุคนั้น มีเกณฑ์หมุนเวียนครบรอบจักรหนึ่งเท่ากับ ๕,๐๐๐ ปี

“เกณฑ์จักรนี้เองที่ปราชญ์ท่าน จึงเกี่ยวเอามาใช้เป็นกำหนดในพุทธศาสนยุกาลกำหนด ๕,๐๐๐ พระวัสสา นับแต่ปีพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา” (แปลไทยเป็นไทยอีกทีได้ว่า อายุพระพุทธศาสนาเท่ากับ ห้าพันปี)

ส่วนรอบที่สองต้องคิดเพราะว่าศักราชกาลียุคเกี่ยวกับ “กำหนดกาลสงกรานต์ อาทิตย์เถลิงศกหรือบรรจบรอบจักรราศีในปัจจุบันนี้ เมื่ออาทิตย์ถึงราศีเมษในราววันที่ ๑๓ หรือที่ ๑๔ เดือนเมษายนโดยประมาณ”

และรอบที่สามต้องคิด “เพราะเหตุด้วยทางคำนวณโหราศาสตร์เห็นว่า พิภพโลกเคลื่อนใกล้ต่ออาทิตย์เข้าไปทุกระยะ จึงได้กะคาดเห็นการพิบัติรัดเรียวต่าง ๆ (…) ในที่สุดโลกนี้จะมีไฟประลัยกัลป์ไหม้ได้ ด้วยอำนาจความร้อนเมื่อโลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์นั้น อาศัยมูลเหตุอันกล่าวมานี้เป็นปัจจัย ให้คนแต่งเรื่องอุบัติประวัติของโลกเบื้องหน้า โดยการทำทาย หมายคาดคะเนเห็นเป็นต่าง ๆ ด้วยประการฉะนี้”



หนังสือพงศาวดารโยนก บอกเราว่า ถัดจากศักราชกาลียุคมาแล้ว ยังมีศักราชปรสุรามสุรจักร ตั้งขึ้นเมื่อก่อนปีพุทธปรินิพพานกาล ๖๓๔ ปี ใช้ในประเทศอินเดียข้างตะวันตกเฉียงใต้ แต่ไม่ได้แผ่มาถึงสยามประเทศนี้ ดังนั้นเราจึงขอข้ามเรื่องนี้ไปเสีย


ย้อนกลับไปที่เวลาศํกราช ---เมื่อก่อนพุทธกาล ๒,๕๕๙ ปี ยังมีการตั้งศักราชขึ้นมาอีก สำหรับคำนวณปฏิทิน ปี เดือน วัน เวลา โดยวิธีโคจรแห่งโลกกับสุริยคติ จันทรคติ อันโคจรพัวพันกันและกัน เรียกว่า ‘ศักราชกาลียุค’
เราจึงต้องเริ่มตั้งเทียบเวลากันเมื่อกาลียุคล่วงแล้ว ๒๕๕๙ ปี นับแต่นี้ไปก็คือ –

(๔) พุทธศักราช สำหรับกำหนดนับการปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เกี่ยวกับทางคำนวณในวิธีโหราศาสตร์

ก็อีกนั้นแหละครับ การนับปีปรินิพพานนี้ต้องกันในประเทศลังกา พม่า มอญ ไทย แต่ใช้ผิดกับในประเทศอินเดียข้างเหนือเกือบร้อยปีเศษ





เมื่อตรวจสอบแล้วพระยาประชากิจกรจักร์เห็นว่าการกำหนดพุทธกาลหรือตั้งพุทธศักราชคงจะพึ่งลงแบบ เมื่อภายหลังการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๓ แล้วมา


ยังมีเรื่องชวนปวดศรีษะเกี่ยวกับการตั้งศักราชใหม่อีกมาก เช่น ศักราชมหาวีระ, ศักราชวิกรรมาทิตย์ และมหาศักราชของพระราชาสากยราชองค์หนึ่งที่เรียกชื่อว่าสักสลิวาหะบ้าง สักกะสัมวัติบ้าง สักกะรูปกาลบ้าง สักกะราชบ้าง

มาถึงตรงนี้แล้วผมจึงขอสรุปเข้าประเด็นเรื่องราชวังสะ นัคครราชวังสะ พื้นนัคคระ ตำนานเมือง และตำนานพื้นเมือง อันเป็นเรื่องราวที่สืบเนื่องกันมาเป็นลำดับในกาลเวลาดุจลำไผ่ ว่าด้วยลำดับ ราชวงศ์ ราชา ท้าวพระญา เชื้อเจ้าสายนายกลุ่มผู้ปกครองบ้านเมือง ว่า…

นอกจากศักราชจะแปลว่าราชาของชาวสักกะดังเล่าเรื่องสากยะวังสาไว้ในตอนที่ผ่านมาแล้ว

ศักราชยังหมายถึงปีของพระราชา
คือกำหนดนับจำนวนปีที่พระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองใหญ่และกลุ่มเมืองในเครือข่ายพระราชอำนาจ

อีกมิติหนึ่ง สักกะราชหมายถึงปีแห่งสักกะเทวราช (ท้าวสักกะ)คือพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวงในเมืองสวรรค์

ซึ่งเรื่องราวของสักกะเทวราชนี้ เป็นอุดมคติต้นแบบการปกครองในเมืองคนอีกทอดหนึ่ง

กล่าวคือมีราชาผู้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลาย

ราชาผู้เป็นใหญ่กว่าท้าวพระญาทั้งหลายในเมืองทั้งหลาย

และอีกมิติหนึ่งนั้น พุทธศักราชก็ตั้งขึ้นตามคติว่า…
พระพุทธเจ้าแห่งเรานี้ คือมหาจักรพรรดิธรรมราชา
ผู้เป็นใหญ่แก่สัตว์ทั้งหลายในสามโลก

ดังนี้แล.




<<คราวหน้าเราจะไปเทียบเวลาเบิกฟ้าเมืองใหญ่ในล้านนากัน>>


* อ้างอิง: พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์ พ.ศ. ๒๕๑๕ *
**ภาพประกอบ: (ลายเส้นของ) รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์**

***posted by a_somjai | 2006-09-09 | ตำนาน, เมือง, เหนือ, ล้านนา, พงศาวดาร, โยนก, ศักราช, กาลียุค, สักกราช, พุทธศักราช | ***




 

Create Date : 09 กันยายน 2549    
Last Update : 11 กันยายน 2549 22:01:24 น.
Counter : 1246 Pageviews.  

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับ บ้านเมือง (3)



จากสิทธัตถโพธิสัตว์ถึงอโศกธรรมิกราช


“ตั้งแต่เจ้าชาลี(โอรสพระเวสสันดร)ลำดับมาเถิงเจ้าสิทธัตถะ ได้ ๔ แสนปลาย ๓ ตนราชวงส์ทังเจ้าสิทธัตถะแล (มีพระญากินเมืองกบิลพัสดุ์รวมทั้งพระเจ้าสิทธัตถะด้วยได้สี่แสนกับสามชั่วคน/รัชกาล)

"นับแต่พระญาสมันตราชะ(พระชาติแรกที่พระพุทธโคตมะเจ้าแห่งเรายังสร้างโพธิสมพารเป็นพระญากินเมืองพาราณสี เมื่อปฐมราชวงส์) ลำดับมาเถิงเจ้าสิทธัตถะราชะ(กินเมืองกบิลพัสดุ์)ได้ ๖๗๖๒๘๐ ตนแล”


เราจะมาว่าต่อกันด้วยข้อสังเกต ที่เก็บความจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กันดังนี้

กลุ่มเจ้าเมืองและกลุ่มเมืองในชมพูทวีปเมื่อยุคก่อนพุทธกาลต่อมาจนถึงยุคพุทธกาล แบ่งตามช่วงเวลาได้เป็นสองรุ่น ดังนี้

(ก) รุ่นแรกนับแต่พระญาสมันตราชะ สืบเชื้อสายญาติวงศ์พระญาสายเลือดเดียวกันกินเมืองต่าง ๆ ได้แก่ พาราณสี ราชคหะ มิถิลา และกุสาวัตติ โดยมีเมืองพาราณสีเป็นใหญ่เหนือเมืองอื่น ๆ
(ข) ต่อมามีสายสากยราชะแยกตัวออกมาตั้งราชวงส์และตั้งเมืองใหม่เป็นศูนย์อำนาจใหม่ มีเมืองกบิลพัสดุ์เป็นใหญ่เหนือเมืองอื่น เมืองพี่เมืองน้องที่มีกล่าวถึงในตำนานนี้คือเทวทหนคร

ข้อสังเกตทั้งสองนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ตอกย้ำแบบแผนความชอบธรรมแห่งการสืบสายและลำดับ ”กลุ่มพระญาเจ้าเมืองเชื้อสายเดียวกัน ที่กินเมืองในกลุ่มวงศ์วานเดียวกัน” ทั้งสิ้น, หรือใครว่าไม่ใช่?


หากคำนวณตั้งแต่พระญาโอกากมุกขุผู้สถาปนา ’สากยวงส์’และ’เมืองกบิลพัสดุ์’ ขึ้นมา ถึงรัชกาลพระญาไชยเสนะผู้เป็นปู่ทวดของสิทธัตถกุมารแล้ว นับได้เท่ากับสี่หมื่นกับแปดชั่วรัชกาล (ตัวเลข 40,000+8)


แล้วก็อย่างที่เล่าไว้ในตอนที่แล้วว่า เชื้อเจ้าสายนายผู้กินเมืองต่าง ๆ ในกลุ่มที่มีเมืองกบิลพัสดุ์เป็นศูนย์กลางอำนาจนั้นยึดถือธรรมเนียนการแต่งงานในหมู่เครือญาติ

“เพื่อบ่หื้อกระกูลอันอื่นสูน จิ่งได้ชื่อว่าสากยราชะ” (เพื่อให้ให้ตระกูลอันอื่นเข้ามาเจือปน จึ่งได้ชื่อว่า ศากยราช”

ด้วยเหตุนี้เองผู้มีพื้นความรู้วรรณกรรมบาลี-สันสกฤตน้อยอย่างผู้เล่าคือเจ้าของบล็อกนี้ โดยเฉพาะเรื่องวงศ์กษัตริย์และบ้านเมืองในชมพูทวีปด้วยแล้ว ข้าพเจ้าขอยอมรับว่าอ่านตำนานตอนนี้แล้วปวดหัวครับ

สำหรับท่านที่ไม่สนใจในเรื่องรายละเอียด ก็ขอให้ข้ามไปอ่าน ที่ข้อ (ค) ได้เลยครับ.



ส่วนใครอยากปวดศรีษะด้วยกันก็ลองตามผู้เล่า เดินทางย้อนเวลาไปสมัยพระญาไชยเสนะผู้เป็นปู่ทวดของเจ้าชายสิทธัตถะกันเลย

(๑) พระญาไชยเสนะกินเมืองกบิลพัสดุ์ มีลูกชายชื่อ สีหตนะ, ผู้หญิงชื่อ ยโสธรา

๒) มีพระญาตน ๑ ชื่อเทวทหสักกะ หากเปนสากยราชกระกูลอันเดียวกัน เสวยเมืองเทวทหนคร มีลูก ๒ ชาย หญิง ๑; ผู้อ้ายชื่อว่าอันชนสักกะ, ผู้กลางชื่อกาลเทวิละ, หญิงปลายชื่อกัญจนากุมารี

(๓) กัญจนกุมารีเปนราชเทวีแก่ สีหตนุกุมาร, พระญาสีหตนุมีลูก ๗ ฅน; ผู้ชายผู้พี่ชื่อสุทโธทนกุมาร, ผู้ถ้วน ๒ ชื่อสุโกทนะ. ผู้ถ้วน ๓ ชื่อสโกทนะ, ผู้ถ้วน ๔ ชื่อโทโททนะ, ผู้ถ้วน ๕ ชื่ออมิโทนกุมาร, ผู้หญิง ๖ ชื่ออมิตตา, หญิง ๗ ชื่อปาลิตตากุมารี

(๔) ยโสธรา เปนราชเทวีแก่ อัญชนสักกะ, พระญาอัญชนสักกะมีลูก ๔ ฅน; หญิง ๒ ชาย ๒ พี่เค้าชื่อสุปปพุทธะ, ชายถ้วน ๒ ชื่อทันตปาณีกุมาร, หญิงผู้พี่ชื่อสรีมหามายา, หญิงผู้ถ้วน ๒ ชื่อ ปชาปัตติโคตมีกุมารี

(๕) กาลเทวิละ บ่ยินดีในฆราวาส ก็ออกไปบวชเปนรสีหั้นแล

ถึงตรงนี้ขอท่านผู้ฟังได้สังเกตชื่อคนทั้งสามคือ กาลเทวิลรสี, พระญาอัญชนะ และพระญาสีหตนุ ไว้บ้างก็คงจะช่วยเรื่องการนับลำดับเวลาในสกราชตำนานโบราณอันจะได้กล่าวถึงในตอนหน้าได้บ้างก็คงดีนะครับ ท่านผู้อ่าน/ผู้ฟังตำนานทังหลาย (ประโยคสุดท้ายนี้ ถ้าอ่านออกสำเนียงคำเมืองเหนือ ต้องอ่านว่า ท่านผู้อ่านผู้ฟังตำนานตังหลาย)

(๖) พระญาสุทโธทนะ ได้ลูกของพระญาอัญชนสักกะทั้ง ๒ กุมารีเปนราชเทวี, นางโคตมีผู้เปนน้องนั้นมีลูกก่อนพี่เอิ้ย ๒ ฅน; ชายผู้พี่นั้นชื่อนันทกุมาร, หญิงชื่อชนปทกลยาณี “

พั่นดั่งนางสรีมหามายาผู้พี่นั้น มีอายุได้ ๕๖ ปี ปลาย ๓ เดือน จิ่งมีเจ้าสิทธัตถกุมาร คือว่าพระเจ้าเราแล” ถึงตรงนี้ผู้เล่านิทานเองก็เพิ่งทราบว่าพระนางสิริมหามายานั้นทรงครรภ์แรกเมื่อพระชนมายุมากเลยวัยเจริญพันธุ์แล้ว เหตุนี้กระมังที่ทำให้พระพุทธมารดาเสด็จสวรรคตในวันที่มีประสูติการราชโอรส

(๗) สุปปพุทธะ ได้นางอมิตตา มีลูก ๒ ฅน; “ผู้พี่ชื่อนางพัททกัจจายนะ”, “น้องชายชื่อเทวทัตตกุมาร”, ทันตปาณีกุมาร ได้นางปาลิตตา มี ๒ ชาย; ผู้พี่ชื่อขัตติยเรวัตตะ, ผู้น้องชื่อสีวลีกุมาร แล

(๙) “สิทธัตถโพธิสัตต์เจ้า เอานางพัททกัจจายะ มาเปนราชเทวี, แล้วเอาชื่อแม่เถ้ามาเปลี่ยนพัททกัจจายนะออกเสีย แล้วเอาชื่อแม่เถ้านางยโสธราเข้าแทน จิ่งได้ชื่อว่านางยโสธราราชเทวี มีลูกชาย ๑ ชื่อเจ้าราหุลกุมารแล”

อายุสิทธัตถะได้ ๑๖ ปี ตระกูลทังหลายไปนำเอานางยโสธราลูกแห่งพระญาสุปปพุทธะมาเปนราชเทวี
แล้วหดหล่อน้ำมุทธาภิเสกหื้อ(เจ้าชายสิทธัตถะ)เปนพระญา (เจ้าเมือง, พระราชา)

(พระราชาสิทธัตถะ ปกครองบ้านเมือง) อยู่ได้ ๑๓ ปี, อายุเจ้า(ชายสิทธัตถะ)ได้ ๒๙ ปี พระเจ้า(สิทธัตถะ)ออกไปบวชวันจันทร์ ยามเที่ยงคืน เจ้าบวชที่เกาะทรายแม่น้ำเนรัญชรา

(พระองค์)กระทำเพียรได้ ๖ วัสสา จิ่งได้ตรัสประหญาสัพพัญญูตัญญาณ ในเดือน ๘ เพง(เพ็ญ) เมงวันพุธ ยามรุ่งแจ้งแล อายุพระเจ้าได้ ๓๕ ปี

พระ(พุทธ)เจ้าอยู่โปรดสัตตโลกได้ ๔๕ ปี อายุพระเจ้าได้ ๘๐ ปี เข้าสู่ปรินิพพาน ในเดือน ๘ เมงวันอังคาร ยามก่อนไก่แล"






(ค) นอกเหนือจากลำดับ “การสืบสายเลือดท้าวพระญากันทางลูกหลานโหลนหลีดหลี้, การเชื่อมการสืบสายโคตรวงส์เจ้านายโดยการแต่งงาน, และการสืบสายน้ำมุทธาภิเสกโดยขุนท้าวพระญาเมืองทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกันมาทำพิธียอมรับอย่างเป็นทางการหื้อเปนพระญาแล้ว"

ตำนานยังได้เพิ่มสายสัมพันธ์อันแนบสนิทระหว่างเชื้อสายผู้ปกครองบ้านเมืองเข้ามาอีก’ลำดับ’หนึ่ง กล่าวคือเมื่อนิทานเล่าถึงกลุ่มราชคหราชวังสาอันเป็นเพื่อนพระญาผู้กินเมืองใหญ่เสมอด้วยกัน

ดังว่า “สิทธัตถกุมาร(เกิด)ก่อนพระญาพิมพิสาร ๒ ปี ปุคละทังสองเปนสหายกัน เหตุว่าพระญาอันเปนพ่อปุคละทังสองหากเปนสหายกันแต่ก่อนมาแล”

สายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าและเมืองนี้อาจจะพูดให้โก้เก๋ตามยุคสมัยได้ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายของเมืองในยุคโบราณ

หากจะหาตัวอย่างความสัมพันธ์แบบวงค์ญาติและมิตรสหายต่างเมืองที่พอมองเห็นในยุคปัจจุบัน ยกมาหื้อหัน(ให้เห็น)กันแท้ ๆ แล้วละก็ คำตอบคือ’ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์’ ตั้งอยู่ที่ใกล้วัดสะดือเมือง กลางเวียงเชียงใหม่นั้นแหละครับ

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าเรื่องราชคหราชวังสาไว้เพียงสั้น ๆ แต่เป็นประโยคโศกนาฏกรรมต้นแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกของพระญานครราชคหะ

โครงสร้างประโยคนั้นมีอยู่ว่า 'ลูกพระญาฆ่าพ่อแล้วกินเมืองแทน’ (หากใครได้ดูหนัง อโศกมหาราช ก็คงพอเข้าใจได้บ้างล่ะเนอะ)

ดังความในตำนานว่า “พระญาพิมพิสารเสวยเมืองราชคหะได้ ๕๒ ปี มีลูกผู้ ๑ ชื่อว่าอชาตสัตตรู, (อชาตศัตรู)ฆ่าพ่อเสีย กินเมืองแทนได้ ๘ ปี, (ตำนานว่าตรงกับปีที่)พระ(พุทธ)เจ้านิพพาน, (อชาตศัตรู)กินเมืองได้ ๒๔ ปี

"(พระเจ้าอชาตศัตรู)มีลูกผู้ ๑ ชื่ออุปทยะ, (อุปทยะ)ฆ่าพ่อเสีย เปนพระญาแทนได้ ๑๖ ปี

"(ฯ) มีลูกผู้ ๑ ชื่อว่าอนุรุทธะ ฆ่าพ่อเสีย เปนพระญาแทน (…ฯลฯ) ลูกมุกขราชะชื่อนาคทาสกะ ฆ่าพ่อเสีย กินเมืองแทน ได้ ๒๔ ปี"

"ปิตุฆาตราชวงส์เถิงนี้ ชาวเมืองทังหลายเคียด(โกรธ, ไม่พ่อใจ) จิ่งขับพระญานาคทาสกะ(ไล่ให้)หนี(จากเมือง)เสีย แล้วอภิเสกอามาจจ์แห่งนาคทาสกะผู้ ๑ ชื่อสุสุนาคะเปนพระญาได้ ๑๘ ปี, ลูก(ของสุสุนาคุ)ชื่อกาลาโสก กินเมืองได้ ๒๘ ปี”



สมัยรัชกาลพระญากาลาโสกนี้เอง ได้มีเหตุการณ์สำคัญต่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น คือ…

“ตั้งแต่พระ(พุทธ)เจ้าเรานิพพานเถิง(ถึง)พระญากาลาโสกได้ ๑๐๐ ปี อรหันตาเจ้าทังหลายสังคายนาธัมม์ถ้วน ๒ แล”

จากนั้นมา ๒ ราชวงส์ จันทคุตตะก็ยึดอำนาจตั้งโมริยราชวงส์ขึ้น, มีพระญากินเมืองราชคหะสืบต่อกันมากันมาอีก ๒ รัชกาล ก็ถึงสมัยพระญาอโสกธัมมราชะผู้ได้เป็นจักรพรรดิปราบชมพูทวีป

"(พระเจ้าอโศกธรรมิกราช) พระองค์มีลูกชายผู้ ๑ เข้ามาบวชในวรพุทธสาสนา ปรากฏชื่อว่ามหินทเถร แล"

อนึ่งแม้เรื่องนี้ขึ้นต้นเป็นราชคหราชวังสา แต่เมื่อผลิดอกออกผลมาแล้วกลับกลายเป็นโมริยวังสาไป ปรากฎในทุกตำนาน(ที่เล่ากันไว้)

แต่เรื่องของพระเจ้าจักรพรรดิปราบชมพูวีปผู้ชื่อว่า ’อโสกธัมมราชะ’ ผู้เป็นต้นแบบคติล้านนาเรื่อง ”พระญาผู้เป็นใหญ่ในเมืองใหญ่อันเป็นที่ตั้งแห่งพระสาสนา” นี้น่าสนใจมาก ท่านใดใจร้อน ก็ไปหาไปดูหนังแผ่นเรื่อง ASOKA มาเสพมาศึกษากันไว้ก่อนก็คงช่วยได้มากครับ (นางเอกเรื่องนี้ งามแท้ ๆ จนเมื่อพระสงฆ์องค์เณรหลายตนที่ข้าพเจ้ารู้จักได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว …เป็นเหตุให้ท่านเหล่าน้นสึกหาลาเพศ ไปก็หลาย …เฮ้อ )

“(ตั้ง)แต่พระเจ้านิพพานมาเถิงอโสกธัมมิกราชะได้ ๒๑๘ ปี อรหันตาเจ้าทังหลายพันตน มีมหาโมคคัลลีปุตติสเถรเจ้าเปนประธาน กระทำสังคายนาธัมมเปนถ้วน(ครั้งที่) ๓ วันนั้นแล

"ราชคหราชวังสา(ขอยุติ)แล้ว(ไว้)เท่านี้ก่อนแล

"(ส่วน)กระกูลท้าวพระญาชาวสากยราชในเมืองกบิลพัสดุ์นั้น ลูกพระญาโกสละผู้ชื่อมิตตตุพภะ (คงเป็นศากยวงศ์ด้วยกัน) ฆ่าเสียเสี้ยง (ฆ่าตายหมด—เสี้ยง แปลว่า หมดสิ้น)

"ดัง(แม้แต่ตัวมิตตตุพภะ(เอง)ก็น้ำถ้วมตาย ลวดเสี้ยงสุดไปในวันนั้นแล”





ทานผู้ฟังที่เคารพ ขออย่าเพิ่งเบื่อหน่ายนิทานชุดนี้เสียนะครับ ---ที่บูราณาจารย์ท่านย้อนนิทาน/ตำนานไปเริ่มต้นอดีตด้วยการลำดับวงศ์ (วังสะ แปลว่า เป็นลำดับมาเหมือนลำไม้ไผ่) ถึงยุคก่อนพุทธกาลต่อเนื่องยุคพุทธกาลนั้น

ก็เพราะท่านมีเหตุผลของท่านครับ

คือว่าตำนานจะน่าเชื่อถือถ้าหากตั้งต้นไว้ดี น่าเชื่อถือ และสิ่งที่คนโบราณท่านเชื่อถือศรัทธาก็คือเรื่องของศาสนา เรื่องของพระศาสดานั้นเอง

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ก็จึงต้องจะตั้งเวลา…ไว้ให้มั่นคง

เพื่อเปิดเรื่อง เมื่อปีที่เบิกศักราชใหม่ให้แผ่นดินล้านนา

ได้เกิดมี เกิดเป็น เกิดสถาปนาขึ้นมาบนโลกนี้ นั้นเอง

โปรดติดตามต่อไป.





* อ้างอิง: ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ ๗๐๐ ปี ผูก ๑ หน้า ๒–๕ *
**ภาพประกอบ: (ลายเส้นของ) รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์**

***posted by a_somjai | 2006-09-07 | ตำนาน, เมือง, เหนือ, ล้านนา |***




 

Create Date : 07 กันยายน 2549    
Last Update : 9 กันยายน 2549 4:27:11 น.
Counter : 919 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.