<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

เล่นบล็อกอย่างมีจุดหมายปลายทาง: คุณต้องอ่านบล็อกก่อนเขียนบล็อก ? (03) / บล็อกวิทยา 101 / 016




ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร?
ในบันทึกโลกที่ผ่านมา,
อยู่ระหว่างบรรทัดบนบันทึกในโลกนี้,
หรือว่าเป็นบันทึกที่จะมีขึ้นในโลกข้างหน้าโพ้น


คุณจะเขียนทุกเรื่องลงไปในบล็อกของคุณไม่ได้
และคุณไม่อาจเขียนคอมเมนต์ลงไว้ในทุกบล็อกที่คุณเข้าไปอ่านได้,

ในทำนองเดียวกัน
คุณจะอ่านทุกบล็อกโพสต์...เพื่อรู้ทุกเรื่องราวไม่ได้
และคุณไม่อาจอ่านทุกคอมเมนต์ในบล็อกที่คุณเข้าไปเยี่ยมได้.

แล้วไง?

แน่นอน! ทางที่ดีคุณจงเลือกทำในสิ่งที่คุณหรือใครก็สามารถทำได้…. คงดีกว่าสุ่มเสี่ยงทำสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่งดังว่ามา ...ใช่หรือไม่?



ถ้าคำตอบของคุณคือ "ใช่" ...เรามาเริ่ม Blog หรือ blogging ในสิ่งที่คุณทำได้…อย่างมีเป้าหมายกันดีกว่า

วันนี้เราจะมาบอกเล่าวิธีการเล่นบล็อกอย่างมีจุดมุ่งหมาย ...ขยายสู่กันแบบกระชับฉบับกระเป๋าไว้...ดังนี้



ภาค ๑ การอ่านบล็อกอย่างมีจุดมุ่งหมาย :
  • อ่านเพื่อรู้จักตัวคุณเอง และ
  • อ่านเพื่อเก็บเกี่ยวสิ่งที่คนอื่นรู้ในเรื่องที่คุณสนใจ



1. ค้นหาสิ่งที่คุณทำได้ …หรือสิ่งที่คุณมีอยู่แล้วในโลกความเป็นจริง เอาล่ะแม้ว่าบางกรณีมันจะดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญอะไรเอาเสียเลย เมื่อเปรียบเทียบกับงานอาชีพที่ใช้วิชาความรู้และความชำนาญชั้นสูงก็ตามที ….แต่จงเชื่อไว้ก่อนว่ามันก็เป็นสิ่งมีคุณค่าสำหรับชีวิตคุณเหมือนกัน … แล้วคุณจะเห็นในภายหลังว่าสิ่งนั้นยังจะเป็นสิ่งมีคุณค่าสำหรับคนอ่านคนอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน เช่นเรื่องราวแสนจะธรรมดา ๆ อย่าง… การดูแลบ้านเรือน/งานบ้านการเรือน การเลี้ยงลูกหลาน การทำอาหาร การทำสวนหย่อม/ปลูกต้นไม้ในบ้าน …แม้แต่การจัดการขยะสิ่งปฏิกูลในเคหะสถานบ้านอยู่อาศัย

2. อ่าน ดู ชม ฟัง ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับ “สิ่งที่คุณทำได้ในข้อ 1. ” เท่าที่คุณสามารถอ่าน ดู ชม ฟัง จากหนังสือ โทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่ออื่น ๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่คุณจะเก็บสะสมเป็นทุนความรู้ในคลังข้อมูลได้

3. สำรวจ “เวปไซต์ / เวปบล็อก / บล็อก” ที่มีคนเขียนไว้แล้วถึงเรื่องราวหรือเกี่ยวข้องกับ “สิ่งที่คุณเลือกแล้วว่า คุณสนใจในสิ่งที่คุณทำได้ ดังกล่าวในข้อ 1. และข้อ 2. “ อย่างมีจุดมุ่งหมาย

4. เลือกอ่านมัน (“เวปไซต์ / เวปบล็อก / บล็อก” ตามข้อ 3.) อย่าง “ใฝ่รู้ใฝ่เรียน” ให้มากที่สุด กว้างขวางที่สุด ตามกำลังความสามารถและโอกาสที่คุณมี

5. ประเมินผลคุณค่าที่คุณได้จาก “การสำรวจอ่านเวปไซต์ / เวปบล็อก / บล็อก” อย่างมีจุดมุ่งหมายดังกล่าว จากนั้นให้ “เลือกบล็อกที่ควรเข้าไปอ่านเป็นประจำไว้จำนวนหนึ่ง” (การพิจารณาว่าควรเข้าไปอ่านเป็นประจำ นอกจากเรื่องคุณค่าด้านเนื้อหาในไซต์หรือบล็อกนั้นแล้ว, ควรหมายถึงคุณต้องมีเวลาและกำลังที่จะเข้าไปหยิบเอาคุณค่าจากเนื้อหาบนเวปนั้น มาใช้ได้จริง ๆ อีกด้วย)

6. ทำไซต์ เวป บล็อก ที่คุณเลือกแล้ว (และจะเพิ่มเติมมาอีกได้ในอนาคต) ให้เป็นห้องสมุดหรือแหล่งค้นคว้าของคุณไว้ในรูป “ลิงค์ของฉัน – My link”

7. เรียนรู้จักตัวคุณเองจากสิ่งที่คุณได้อ่านบล็อกดังกล่าวแล้ว อย่างต่อเนื่องสักช่วงเวลาหนึ่ง (แต่ละคนย่อมจะรู้จักตัวเองผ่านการลงมือปฏิบัติการ…ว่า…. “สักช่วงเวลาหนึ่ง” ของตนเองนั้น มันสั้นยาวเท่าใด)

8. “ตัดสินใจเลือกเป็นตัวของคุณเองบนบล็อก ผ่าน…สิ่งที่คุณเลือกแล้วว่า…คุณสนใจมันอย่างแท้จริง” (ตอนแรก ๆ หัวข้ออาจจะยาว เพราะประกอบด้วยกลุ่มของประเด็น/หัวข้อใหญ๋ - Topical หรือ เรื่องราวที่คุณสนใจหรือชอบอ่านอยู่รวมกันหลายเรื่อง เช่น หนังสือ. นิยาย, เรื่องสั้น, บทกวี, ภาพยนตร์, ดนตรี, เพลง, ความรัก, ความสมหวัง …ภาคภาษาไทย, ภาคภาษาต่างประเทศ…..เป็นต้น)

9. สำแดงตัวตนบนบล็อก, ลงมือเขียนบล็อก = blogger, blog, blogging = me-casting – the act and art of telling your story to the world – การเล่าเรื่องของฉัน (ตามแนว Topical ในข้อ 8. แบบเวอร์ชั่นของฉัน หรือ “ความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม ฉบับ/สำนวนของฉัน” / My own version of the truth.) สู่ชาวโลกอย่างมีศิลปะ


ข้อ 9. ของภาค ๑ การอ่านบล็อกอย่างมีจุดมุ่งหมาย = ข้อ 1. ของ “ภาค ๒ การเขียนบล็อกอย่างมีจุดมุ่งหมาย” นั้นเอง

เราจะกลับมาคุยกันในชั้นเรียนคราวต่อไป.





Posted by a_somjai | June 19, 2006
Tags: blogosphere, blogology, blogger, blog, blogging, Topical.




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2549    
Last Update : 19 มิถุนายน 2549 13:49:31 น.
Counter : 493 Pageviews.  

มือสมัครเล่นเริ่มต้นเขียนบล็อก : เขียนเกี่ยวกับอะไรดี? (02) / บล็อกวิทยา 101 / 015




คุณเขียนทุกเรื่องลงไปในบล็อกไม่ได้แน่
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร? รู้อะไร? เคยทำอะไร? เกี่ยวกับการเขียนหนังสือมามากหรือน้อยพียงใดก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

แต่เมื่อคุณก้าวเข้ามาในโลกของการเล่นบล็อก…คุณจะต้องเรียนรู้ และจะต้องยอมรับความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับโลกของ blog, blogging…เสียก่อน

1. “blogging เป็นกิจกรรมเล่าเรื่องและฟังเรื่องเล่า ควบคู่กันไปในขณะเดียวกัน” (ตามอ่านเรื่องราวได้ที่กลุ่มบล็อก Blogology: ตอนที่ 001, 002, 003, 004, 005, และ 006)

2. ในการเล่าเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเล่านิทาน ตำนาน เรื่องสั้น เรื่องยาว นิยาย โขน ละคร วิดีโอ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่งานเขียนแบบบันทึกไดอารี่ส่วนตัวและงานเขียนด้านการงานอาชีพ รวมทั้งรายงานข่าว งานเขียนคอลัมน์บนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่การเล่าเรื่องผ่านงานศิลปกรรมด้านอื่น เช่น บทเพลง ดนตรี ภาพเขียน… ก็ล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดเหมือนกันทั้งสิ้น กล่าวคือ “ในเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง หรือในการเล่าเรื่องคราวหนึ่ง …ใครก็ไม่อาจบรรจุเนื้อหาครอบคลุมทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท้องเรื่องเอาไว้ในเรื่องเล่านั้นได้หมดสิ้น” และการเขียนบล็อกก็ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเดียวกันนี้

3. ดังนั้นจงจำไว้ว่า… “คุณไม่อาจนำเสนอทุกเรื่องราว…บรรจุลงไปในการเขียนบล็อกครั้งใด ๆ ของคุณได้”

4. และ “คุณไม่อาจเขียนทุกเรื่องที่คุณรู้ คุณเชื่อ คุณรู้สึก และทุกเรื่องราวที่คุณสนใจ เล่า(โพสต์)ลงไปในบล็อกทั้งหมดของคุณได้ …แม้จะพยายามทำมันตลอดเวลาชั่วชีวิตของคุณก็ตาม”



คุณต้องเลือกและกำหนดแนวทาง “หัวเรื่อง” ที่จะเขียนบล็อก
เอาล่ะ ไม่ว่าคุณจะเป็น อยากจะเป็น หรือไม่อยากจะเป็น blogger ที่เขียนบล็อกแบบผู้รู้ระดับมืออาชีพในสาขาที่คุณเชี่ยวชาญหรือสนใจ หรือว่าเป็นพวกเล่นบล็อกยามวางไม่หวังผลประโยชน์เป็นลาภยศรายได้อะไร อย่าง amateur, หรือ Hobbyist ก็ตาม

แต่เมื่อพุ่งไปที่ประเด็นของ “เนื้อหา ของเรื่องเล่า ที่จะเขียนลงในบล็อกแล้ว” คุณมีทางเลือกเพียงสองทางได้แก่ (1) หากคุณไม่เขียนเนื้อหาลงบล็อกแบบผู้รู้ผู้สนใจเรื่องใด ๆ เรื่องหนึ่งอย่างจริง ๆ จัง ๆ ที่เรียกว่าทำงานอย่างมืออาชีพ - Professional แล้วละก็, (2) คุณก็ต้องเล่นเขียนบล็อกแบบงานส่วนตัว หรือ งานส่วนบุคคล - Personal

พูดแบบฟันธงลงไปเลยดีก่าาาา… โดยส่วนใหญ่แล้ว bloggers จำนวนมาก (ประมาณว่าอาจมากกว่า 90% หรือ 9 ใน 10 คน) จะเป็นเจ้าของบล็อกแบบ Personal เพราจะมีบล็อกไว้เขียนเล่าเรื่องแบบตามสบาย ๆ เป็นของส่วนบุคคล (คือไม่สนใจว่า สาธารณชน คนอื่น ๆ ในโลกออนไลน์เขาจะเข้ามาอ่านหรือว่าจะมาสนใจเรื่องราวที่เราเขียนอยู่หรือไม่) หลายคนถึงกับเขียนบล็อกไว้อ่านเอง หรือเขียน-อ่านบล็อกระหว่างกันในหมู่ญาติมิตรคนสนิทเท่านั้น ดังนั้นคนเขียนบล็อกจำนวนมากจึงนิยมเลือกเขียนบล็อกแบบบันทึกไดอารี่ - a personal diary-style เรื่องที่โพสต์ลงบล็อกแต่ละครั้งของบล็อกส่วนบุคคลจึงเป็นเรื่องส่วนตัวที่ฉันเห็น ที่ฉันคิด ที่ฉันเชื่อ ที่ฉันรู้สึก จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันแล้วเก็บเล็กผสมน้อยนำเอามาเล่าไว้บนบล็อกของฉัน

ลักษณะเนื้อหาบนบล็อกส่วนบุคคลในโลกเวลานี้ ส่วนใหญ่จึงมีความ “หลากหลาย ไม่มีทิศทางที่แน่นอน เป็นกลุ่มก้อน” เดี๋ยววันนี้เขียนเรื่องหนังสือเล่มที่ได้อ่านแล้วขอบมาก พรุ่งนี้เปลี่ยนไปเขียนเรื่องหนังยอดฮิตที่ได้ไปดูมา ทั้ง ๆ ที่เมื่อเดือนก่อนเพิ่งเขียนโพสต์แบบบ่นเบื่อเรื่องรถติด, เรื่องท้องเสียเพราะอาหารเป็นพิษ, เรื่องเลิกกับแฟนคนที่สามสิบเอ็ด...ฉันเข็ตแล้วจ้า, แล้วได้โพสต์ด่านักการเมืองเลว ๆ, แถมยังเล่าเรื่องทำสวนหย่อมหน้าบ้านตัวเองอีกด้วยแหละ ….และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นต้น

การเขียนแบบตามใจฉัน ..แบบไร้ทิศทาง… จึงดูเหมือนกับเจ้าของ personal blog "พยายามจับทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเองรู้เห็น ยัดลงไปในบล็อกของตนนั้นเอง” การทำเช่นนี้คล้าย ๆ กับว่าคนเขียนบล็อกได้มีเรื่องราวมากมายที่จะหยิบฉวยเขียนลงบล็อกได้อย่างง่ายดาย แต่ท่านหารู้ไม่ว่า..นั้นคือสัญญาณบ่งบอกว่า ท่านได้ลืมความจริงของข้อจำกัดในการเล่าเรื่องไปเสียแล้ว… “คุณไม่อาจนำเสนอทุกเรื่องราว…บรรจุลงไปในการเขียนบล็อกครั้งใด ๆ ของคุณได้” และ “คุณไม่อาจเขียนทุกเรื่องที่คุณรู้ คุณเชื่อ คุณรู้สึก และทุกเรื่องราวที่คุณสนใจ เล่า(โพสต์)ลงไปในบล็อกทั้งหมดของคุณได้ …แม้จะพยายามทำมันตลอดเวลาชั่วชีวิตของคุณก็ตาม”

ปัญหาใหญ่ของ personal blog กลุ่มใหญ่นี้ ไม่ว่าคนเริ่มต้นเขียนบล็อก และ คนที่เขียนบล็อกติดต่อยาวนานไปสักระยะหนึ่ง (อาจจะหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน ไปจนถึงหนึ่งปี) ก็ตาม จะต้องประสบ…หรือเกิดขึ้นกับตนเองก็คือ “ไม่รู้จะหาเรื่องอะไรมาเขียนลงบล็อก” …มันตีบ มันตัน มันตื้อ ไปหมด…. (เฮ้อกลุ้ม..เบื่อ…เซ็ง…หงุดหงิด…อารมณ์เสีย)

ดังนั้นการป้องกันปัญหา ”มันตีบ มันตัน มันตื้อ ไปหมด…ไม่รู้จะหาอะไรเขียนโพสต์ลงบล็อก” ที่จะเกิดขึ้นในการเล่นบล็อกในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ควรเตรียมการไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่เริ่มต้นเขียนบล็อกของตนเอง (บางคนอาจจะมีเวปบล็อกหรือไซต์ ที่เขียนประจำอยู่หลาย ๆ แห่ง ๆ ก็ยิ่งต้องกำหนดทิศทางการเขียนการเล่นบล็อกในแต่ละที่แต่ละแห่งไว้เสียให้ชัดเจน)


คำแนะนำสำหรับการเริ่มต้นของบล็อกเกอร์มือสมัครเล่น
ขอเสนอไว้ดังนี้.......
สิ่งที่คุณจะต้องกำหนดเลือก ให้บล็อกของคุณ “เป็น และ มี” เมื่อเริ่มต้นเขียนบล็อกของคุณเอง ก็คือ ….

1. บล็อกของคุณจะเป็น Professional ด้านใด? หรือว่า บล็อกของคุณจะเป็น Personal แบบไหน?

2. หากคุณยืนยันที่จะมีบล็อกในแบบเป็น Personal – บล็อกส่วนบุคคล แล้วละก็ สิ่งที่จะต้องคิดให้หนักและคิดให้ตกก็คือการเลือกแนวทางการเขียนเรื่องที่แตกต่างกันสองขั้ว ได้แก่ระหว่าง (1) แบบ Personal คือว่า “เขียนเนื้อเรื่องตามใจฉัน เรื่องของฉัน เรื่องตามแต่โลกมันจะพาไป” และ (2) แบบ Topical คือว่า “มีแนวทางการเขียนที่กำหนดไว้เฉพาะด้านที่ค่อนข้างแน่นอน มีหัวเรื่องใหญ่ครอบหมายไว้ชัดเจน เปิดพื้นที่สำหรับแตกประเด็นแยกย่อยสามารถขยายกิ่งก้านสาขาออกไปได้อีกรอบด้าน ตั้งเป็นกรอบไว้แต่แรกเริ่มแล้ว" แม้ว่าจะคาดหวังผลเชิงปฏิบัติเป็นเพียงการทำงานแบบ Nonprofessional ก็ตาม

ดูเหมือนจากประสบการณ์ส่วนตัวของ a_somjai ที่เคยลองทำมาทั้งสองอย่างสองแบบ ในช่วงแปด-เก้าเดือนที่ผ่านมาในชุมชนบล็อกแก๊งแห่งนี้ พบว่า การเขียนบล็อกแบบ Topical …แบบมีทิศทาง หรือ ประเด็นที่ชัดเจน นอกจากจะแก้ปัญหา ”มันตีบ มันตัน มันตื้อ ไปหมด…ไม่รู้จะหาอะไรเขียนโพสต์ลงบล็อก” ได้เป็นอย่างดีแล้ว

ยังทำให้เจ้าของบล็อกเกิดการตื่นตัว พัฒนาการและเพิ่มพูนความรู้ในสาขาที่เราสนใจจะเขียนโพสต์ลงบล็อกของเราอย่างสม่ำเสมอได้ดียิ่งอีกด้วย

(จนบางครั้งก็หลงตัวเองไปว่า ตนเองเป็น Professional ในเรื่องนั้นไปเสียอีกแน่ะ…อิอิ ….เก็บเอาประโยขน์ของการกำหนดเลือกทิศทางหรือประเด็นการเขียนลงบล็อกให้ชัดเจนดังว่านี้ไว้ก่อน….จะกลับมาว่าต่อในชั้นเรียนคราวหน้าละกัน)




Posted by a_somjai | June 6, 2006




 

Create Date : 06 มิถุนายน 2549    
Last Update : 7 มิถุนายน 2549 0:55:23 น.
Counter : 737 Pageviews.  

Hobbyist blogger: มือสมัครเล่นควรเริ่มต้นอย่างไร? (01) / บล็อกวิทยา 101 / 014


Posted by a_somjai
Tags: professional, .amateur, Hobbyist, bloggers, Teen, diary,Technology, Tech, Savy, content, community, ชุมชน, ไดอารี่, บันทึก, บล็อก, บล็อกเกอร์, เวปไซต์, เวปบล็อก, ไทย, ภาษา, คน, ชุมชน, มือสมัครเล่น, มืออาชีพ, วัยรุ่น,กลุ่มไวเทค, เนื้อหา

16 พ.ค. 2549 / 14.44 น.




บอกกล่าว

1.) เรื่องของ บล็อกเกอร์มืออาชีพ – Pro - Professional bloggers ดังที่ได้เริ่มคุยกันไว้เมื่อตอนที่แล้วนั้น เมื่อเริ่มต้นจับทาง จับเรื่อง จับราวเข้าจริง ๆ พบว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว “บล็อกเกอร์ชาวไทย” …อย่างพวกเราเกินไป ดังนั้นจึงตัดกรอบเอาให้…เดินลัดเข้าเรื่องเสียเลย

2.) เรื่องเกี่ยวกับบล็อกเกอร์ที่เขียนอย่างมืออาชีพ เต็ม ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาแสดงความรู้ ความสามารถ ความถนัดของเคนเขียนบล็อกนั้น ๆ ในด้านใด รูปแบบไหน และมีจุดมุ่งหมายทางธุรกิจ การเมือง การศึกษา การแพทย์ เทคโนโลยี ไอที สื่อสารมวลชน …ฯลฯ จริงจังเพียงใด… ก็ต้องเอาออกไปจากเนื้อหาชั้นเรียน บล็อกวิทยา / Blogology 101 นี้เสียก่อน (ค่อยไปว่ากันใหม่ข้างหน้า หากว่ายังจะเปิดชั้นเรียนชั้นสูงขึ้นไป เช่นสมมติว่าเป็นวิชา บล็อกวิทยาเชิงธุรกิจ 202 …เป็นต้น หรือเขียนแนะนำให้ไปค้นคว้าอ่านที่มีมืออาชีพเขียนไว้แล้วในเวปบล็อกอื่น ๆ ทั่วโลก)

3.) ขอสรุปเอาโดยไม่มีการอ้างข้อมูลที่ผ่านการศึกษา-สำรวจ-วิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว… แต่สำหรับคนเล่นบล็อกชาวไทยแล้ว คิดว่าคงยังเป็นสิ่งน่าเชื่อถือได้อยู่ เพราะทุกคนที่เล่นบล็อกโดยใช้ภาษาไทยเขียนบล็อกสื่อสารกันอยู่เวลานี้ ย่อมมองเห็นว่า “อาจจะมากกว่า 95% ของบล็อกเกอร์ในชุมชนอินเตอร์เน็ตเมืองไทย ไม่ว่าเป็นการโพสต์เขียนลงบล็อกแบบบันทึกไดอารี่หรือแบบนำเสนอผลงานเป็นความคิดเห็น ความรู้ ความรู้สึก ผ่านตัวหนังสือ ภาพ เสียง …. ล้วนแล้วเป็น “บล็อกเกอร์มือสมัครเล่น” หรือหากจะมีความจริงจังปรากฎในบล็อกอยู่บ้าง ก็ยังอยู่ในระดับ “กึ่งมืออาชีพ” ทั้งสิ้น

4.) ความรู้เบื้องต้นเรื่องจุดมุ่งหมายและวิธีการทำงานของ “มือสมัครเล่น กับ มืออาชีพ” ได้เขียนโพสต์ไว้คู่กันใน ที่นี้ หรือ นิทานชาวบล็อก: … (ชุดที่ว่าด้วย “มือสมัครเล่น…เขียนบล็อกเอาเพลิน …ทำเป็นงานอดิเรก” ขอแนะนำว่าหากสนใจใฝ่รู้จริง ๆ ก็ควรเข้าไปอ่านความก้าวหน้าของเรื่องอ้างถึงนี้ ควบคู่กันไป...คือเขียนต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ)

5.) บล็อกชั้นเรียนวิชาบล็อกวิทยาเบื้องต้น ควรจะโพสต์เนื้อหาที่เป็น “เนื้อหาสำคัญที่บล็อกเกอร์สมัครเล่น…ผู้เล่นบล็อกเป็นงานอดิเรก ควรรู้ไว้ หรือ ต้องการรู้เพื่อนำเอาไปประยุกต์ใช้ในการเล่นบล็อกได้จริง”

6.) หลายตอนต่อไปนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน (ไม่ใช่การมาสั่งสอนกัน..เพราะตัวข้าพเจ้าเองก็กำลังศึกษาโลกของบล็อกอยู่แบบวันต่อวัน...จึงรู้อะไรได้เท่าที่เขียนเล่าสู่กันอยู่นี้แหละ) ว่า “มือสมัครเล่น…ควรจะเขียนบล็อกอย่างไร?” เพราะคิดว่า เป็น ‘content สำคัญอันขาดมิได’ ที่คนเขียนและคนอ่านบล็อกต้องการตรงกันหรือมีความปราถนาใคร่รู้แล้วก็คาดหวังจะนำไปปฏิบัติได้จริงเหมือน ๆ กัน อันถือเป็น “คุณค่า…ที่ได้จากการเล่นบล็อก” นั้นเอง




เข้าเรื่อง

ก้าวแรกของบล็อกเกอร์สมัครเล่น…ที่เล่นบล็อกเป็นงานอดิเรก (ดังกล่าวแล้วว่าเรื่องของ ‘hobbyist blogger’ จะยกไปเล่าไว้ในหมวด นิทานชาวบล็อก) ....

ในที่นี้ ขอรวบรัดว่า แน่นอน…พวกเราคนเล่นบล็อกส่วนใหญ่เป็นมือสมัครเล่น แม้ว่าจะมีบางคนหรือบางครั้งของบางคนที่พยายามเขียนบล็อกอย่างจริงจังในระดับเดียวกับพวกมืออาชีพเขาทำกัน …แต่พวกเราก็ยังคงเป็นคนเล่นบล็อกเพื่อความเพลิดเพลิน และไม่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อหารายได้จาการเล่นบล็อก

‘Hobbyist blogger’ …พวกเราได้ก้าวผ่านอะไรมาบ้าง และมีอะไรที่ควรจะต้องทำบ้างในก้าวย่างต่อ ๆ ไปบ้าง ขอเชิญมาพิจารณาดู….

เรา—คนจะเล่นบล็อก...แรกสุดคงเคยได้ออกท่องอินเตอร์เน็ต โลกออนไลน์ เพื่อค้นหาและเลือกสรรเวปไซต์ ที่เปิดไว้ให้เราได้ใช้ "บริการสร้าง เขียน เป้นเจ้าของบล็อกส่วนตัวฟรี" มาแล้ว …ไซต์เหล่านั้นเป็นไซต์ที่มีส่วนให้บริการเวปบล็อกหรือส่วนที่เป็นชุมชนชาวเวปบล็อกประเภทให้สมาชิกเขียนบ็นทึกไดอารี่ส่วนตัวได้ หรือไม่ก็ประเภทให้โพสต์เรื่องอะไร ๆ ต่าง ๆ ตามความสนใจ/หรือตามความถนัดของแต่ละคน …แล้วเราก็ตัดสินใจเลือกชุมชนเวปบล็อกนั้น …สมัครเป็นสมาชิก…ได้เป็นสมาชิกชุมชนคนเล่นบล็อกนั้น ๆ ..แล้วก็เล่นบล็อกต่อเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ..

ตัวอย่างเวปไซต์ที่เปิดให้บริการเล่นบล็อกในลักษณะชุมชนชาวบล็อกของเมืองไทยเราเวลานี้ (ไม่รวมไซต์ประเภทเวปบล็อกส่วนบุคคล และไซต์ที่เปิดเวปบล็อกของหน่วยงาน/องค์กร/สถาบัน) ได้แก่
www.bloggang.com,
www.Exteen.com,
www.storythai.com,
www.diarycafe.com,
www.diaryclub.com,
www.blogdd.com,
www.whenifallinlove.net,
www.diaryhub.com,
www.monrak.net,
www.manager.co.th,
www.updiary.com,
www.glomblog.com,
www.diaryis.com,
www.diarylove.com, ฯ


ข้อสังเกตต่อชุมชนเวปบล็อกในบ้านเรา คือ วัตถุประสงค์ของเจ้าของไซต์ที่ให้บรืการสมาชิกเล่นบล็อกจะสัมพันธ์กับคุณสมบัติทางประชากรของกลุ่มสมาชิก ที่จัดเป็นวัยรุ่นที่รู้จักมี/รู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคดิจิตอล เรียกว่า Teen bloggers ที่จัดเป็น กลุ่มไวเทค - Technology Savy Group (คุณสมบัติของคนกลุ่มนี้จากผลการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ปี 2004 และ ปี 2005 อ่าน ที่นี่, ที่นี่ และ ที่นี่ ) …หากคิดเป็นสัดส่วนของบล็อกเกอร์ชาวไทย/ผู้ใช้การสื่อสารด้วยภาษาไทยเป็นหลักแล้ว คาด(เอาเอง)ว่าน่าจะมีมากกว่า 4 ใน 5 ของบล็อกเกอร์ชาวไทยทั้งหมด …และหากพิจารณาประเภทของเวปไซต์ที่เปิดให้บริการเล่นบล็อกส่วนใหญ่แล้ว จะพบว่าเป็นบริการประเภท “เวปไซต์…ไดอารี่ …บันทึกประจำวัน…ประสบการณ์ชีวิต” คิดเป็นสัดส่วนถึง 8-9 ใน 10 จากไซต์ให้บริการเวปบล็อกทั้งหมดเลยทีเดียว …แล้วเนื้อหาที่นิยมโพสต์บล็อกกันก็เป็น “ไดอารี่…บันทึกเรื่องราวส่วนตัวของวัยรุ่น..แบบว่าเรื่องเล่าหรือบทสนทนาสไตล์วัยรุ่น...เกือบทั่งหมด” ก็ว่าได้ (ก็คงจะมีวัยจ๊าบจำนวนหนึ่งที่อายุเลยยี่สิบสี่ขวบบ้างละ ก็ตีว่า 25 ปี ขึ้นไปไม่เกิน 40 ปี คงได้กระมัง?)

หากประมาณว่ามีคนเล่นบล็อกในเมืองไทยสัก…หนึ่งแสนคน…แล้วละก็จะเป็นวัยรุ่น(วุฒิภาวะแบบไทย ๆ)กลุ่มอายุ 12-17 ปี กับ กลุ่มอายุ 18-24 ปี รวมกันแล้วก็คงประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นคนเลยทีเดียว ….(ข้อมูลนี้…ยังใช้อ้างอิงไม่ได้นะครับ… คิดฝันลมลมแล้งแล้งว่าหน่วยงานด้าน IT, ด้านการศึกษา, หรือ ด้านการสื่อสาร ควรจะสำรวจศึกษาข้อมูลออกมา…คงเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในวงกว้างแน่ ๆ …แต่ก็อะนะ…. อาจจะเป็นว่า…กลุ่มคนทำรายการสารคดีประเภท “กบนอกกะลา” คงจะหวังพึ่งได้มากกว่า เพราะว่าดูจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่าหน่วยงานที่มีทรัพยากรและงบประมาณมาก ๆ เสียอีก…เฮ้อ…อย่าพูดดีก่าาาาาา…)

ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกสุดก็คือ… การพิจารณาเลือก “เข้าเป็นสมาชิกชุมชนคนเล่นบล็อกให้ถูกจริตกับตัวเราเอง” ให้ได้เสียก่อน, วิธีการง่าย ๆ ก็คือเราต้องประเมินทางเลือกจากความสอดคล้องของตัวตนของเราเอง กับ ตัวตนโดยรวมของพวกเขา ในด้าน….. วุฒิภาวะทางอารมณ์, เพศ, วัย, ความสนใจทั่วไป, ความสนใจพิเศษ, แบบแผน/รสนิยมการดำเนินขีวิตหรือไลฟ์สไตล์, ประสบการณ์ภูมิหลังทางสังคม/วัฒนธรรม, และประสบกาณ์ในชีวิตประจำวัน, ตลอดจนตัวสารหรือเนื้อหาเรื่องราวที่ชาวบล็อกชาวบ้านแถบนั้นเขานิยมสื่อสารกัน เช่น เล่นกันด้วยภาพ ด้วยเสียง คุยกันเรื่องหนังสือ หนัง ละคร ดนตรี กีฬา การท่องเที่ยว ช๊อบปิ้ง ไปจนถึงประเด็นเบาๆ เรื่องรักกุ๊กกิ๊ก ไปจนถึงเรื่องจริงจังต่อแนวทางในการใช้ชีวิตอย่างเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ศาสนา หรือว่าจะเป็นการถกเถียงอภิปรายกันในประเด็นหนัก ๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น,

นอกจากนี้แล้ว วีธีการสื่อสารทั้งการรับและส่งสารระหว่างกันในหมู่ชาวชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญมาก… พูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องภาษาที่เขาใช้โพสต์ลงบล็อกสื่อสารกันอยู่นั้นแหละ …เราต้องพูดและฟังระหว่างกันกับสมาชิกคนอื่น ๆ ได้รู้เรื่อง …ระดับพอใช้ขึ้นไป (จะพูดว่า “ถิ่นใคร ก็ถิ่นใคร” อย่างนั้นก็ได้)


สรุปก็คือ ประเภทของชุมชนชาวบล็อก .ภาษา.. ภูมิหลังคนเล่น….เพศ วัย การศึกษา .. กลุ่มย่อย.. จำนวน … กฎ กฏิกา มารยาท…ความน่าเชื่อถือได้ของไซต์ต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้ ต้องให้สอดคล้องกันกับตัวเรา… ต้องดูว่าตัวเราเองและสมาชิกกลุ่มใหญ่ของสมาชิกชุมชนชาวบล็อกนั้น ๆ ไปด้วยกันได้ไหม…. เพราะหากเราหลงเข้าไปอยู่ “ผิดกลุ่ม ผิดที่ ผิดทาง” แล้วก็คงยุ่งตายห่ะ… (เพราะบล็อกเราก็จะเงียบเหงา, เมื่อไปท่องบล๊อกเขาก็จะไม่รู้เรื่อง …เป็นต้น)

ท้ายที่สุด …การเล่นบล็อกก็เหมือนการใช้ชีวิตคู่…การมีชีวิตครอบครัว…การเลือกชุมชนที่อยู่อาศัย การเลือกชุมชนประกอบอาชีพ…. เลือกประชุมชนหมู่เพื่อนฝูง ...หากว่าเลือกผิดแล้ว อาจต้องคิดไปจนบล็อกตาย…(เตือนกันไว้ก่อน…จะได้…ไม่ต้องย้ายที่เล่น…บ่อย ๆ)



วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนละกัน…
ใครจะเพิ่มเติมอะไรก็ช่วยกันคอมเมนต์ลงไว้เป็นการแชร์ความรู้ได้นะครับ… ด้วยความยินดี
คราวต่อ ๆ ไป…จะมาว่าด้วยเรื่อง “การเริ่มต้นเขียนบล็อกของตนเองและการไปเยี่ยมบล็อกคนอื่น…ควรโพสต์อะไร…เพื่ออะไร และจะทำกันยังไง”




 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2549 21:45:11 น.
Counter : 871 Pageviews.  

Blogology 101: Bloggers: “professional vs. amateur", มืออาชีพ กับ มือสมัครเล่น / 013

Posted by a_somjai
Tags: professional, .amateur, amateurish, bloggers, network, connection, client, audience, reader, visitor, ประเภท, บล็อก, บล็อกเกอร์, มือ, อาชีพ, สมัครเล่น. เครือข่าย, การเขื่อมต่อ, ผู้ใช้บริการ, ผู้รับบริการ, ผู้อ่าน




8 พ.ค. 2549 / 13.00 น.
profesional bloggers – บล็อกเกอร์มืออาชีพ

เมื่อมองดูคนเล่นบล็อก - bloggers ในแง่ของการใช้แรงและการใช้เวลาให้กับโลกของบล็อกแล้ว สิ่งที่จะต้องพิจารณาเบื้องต้นแบบ I/O ได้แก่สิ่งที่ผู้เล่นทุ่มเทลงไปให้กับการเล่นบล็อก (Input))และสิ่งที่ผู้เล่นมุ่งหวังที่จะได้ผลพวงออกมาจากการเล่นบล็อก (Output) นั้นเอง สองสิ่งนี้เป็นองค์ประกอบที่กำหนดข้อแตกต่างของการทับซ้อนระหว่างถ้อยความ “การทำงาน กับ การเล่น” ในเวลางานและนอกเวลางานของคนเรา

คำว่า “การทำงาน” นั้น เป็นถ้อยความที่เข้าใจได้โดยทั่วไปว่าหมายถึง การทำกิจกรรมเลี้ยงชีวิต โดยผู้ทำงานนั้นต้องลงทุนอย่างจริงจัง ได้แก่ ทุนทรัพย์ ทุนแรงงาน ทุนปัญญา ทุนความรู้ ความสามารถ และรวมทั้งทุนเวลาในชีวิตประจำวัน ให้ลงไปใน “งาน” นั้น ๆ อย่างจริง ๆ จัง ๆ ต่อเนื่องสม่ำเสมอ กล่าวคือการทำกิจกรรมงานอาชีพต้องไม่หยุดไม่ขาดแบบถาวร (คือ ถ้าต้องหยุด ก็เป็นเพียงการพัก เว้นช่วง เว้นวรรค เพียงชั่วคราว ไม่ใช่การปิดอย่างถาวร) ซึ่งหากกล่าวเพื่อชี้ไปที่ปลายสุด(โต่ง)ของความหมายแล้ว “การทำงานเป็นเรื่องจริงจัง” จึงต่างโดยเด็ดขาดจาก “การเล่นเป็นเรื่องไม่จริงจัง”

ดังนั้น ความหมายอย่างเข้มข้นของ “การทำงาน” ก็คือ “การทำกิจกรรมอย่างจริงจังเพื่อเลี้ยงชีพอย่างมั่นคงถาวร”, ภาษาที่เราใช้กันอยู่ คือ “การทำมาหากิน, การทำงานเลี้ยงชีวิต, งานอาชีพ” ดังนั้นบุคคลที่ทำกิจกรรมอย่างจริงจังในงานอาชีพอย่างมั่นคงถาวร จึงจัดเป็น “มืออาชีพ” หรือ “ผู้ทำกิจกรรมแบบมืออาชีพ”

แต่เรื่อง "มืออาชีพ" ที่เราจะพูดถึงนี้ ..ไม่ใช่แต่เพียงการทำมาหาเลี้ยงชีพทั่ว ๆ ไป ใคร ๆ ก็ทำได้เลยหรือหากฝีกฝนเพียงเล็กน้อยก็ทำได้ แต่เป็นคำที่หมายถึงกลุ่มอาชีพพิเศษบางประเภท จึงต้องสร้างคำขึ้นมาใข้ให้มีความหมายเฉพาะ และความจริงแล้วที่มาของคำนี้เป็นศัพท์บัญญัติมาจากภาษาของชาวตะวันตก เพราะคำนี้เกิดขึ้นมาบนบริบททางสังคมของชาวตะวันตก ที่ใช้ว่า "Professional"

"Professional" หมายถึง "ความเป็นมืออาชีพ / อย่างมืออาชีพ" และหากหมายถึง คน/บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ก็คือ ..."ผู้ทำงานในวิชาชีพ...ที่ใช้ความสามารถ/ทักษะพิเศษเฉพาะด้าน ...ที่ต่างจากคนทำงานเลี้ยงชีพพื้น ๆ ทั่ว ๆ ไปเพราะหากว่าคนอื่น ๆ นอกกลุ่มมืออาชีพ จะมาทำกิจกรรมการงานอย่างมือาชีพบ้างก็ต้องได้รับการฝึกฝนอบรมมาอย่างดีเสียก่อน ...ดังนั้นในยุคแรก ๆ ที่เรารับเอาวัฒนธรรมด้านการศึกษาและวัฒนธรรมการทำงานของชาวตะวันตกเข้ามา จึงมีผู้ใช้ศัพท์คำนี้ในภาษาไทยว่า ...วิชาชีพ โดยเฉพาะเจาะจงถึง..."วิชาชีพชั้นสูง" ... ได้แก่ วิชาชีพครู/อาจารย์ วิชาชีพทางการแพทย์/พยาบาล วิชาชีพด้านกฎหมาย เป็นต้น ต่อ ๆ มาก็มีการยอมรับเอาวิชาชีพอื่น ๆ เข้าไปด้วย เช่น วิชาชีพวิศวกร วิชาชีพสื่อสารมวลชน และวิชาชีพด้านศิลปะการแสดง การดนตรี รวมทั้งการกีฬา เป็นต้น"

ความเป็นมืออาชีพ - Professional นั้น มีลักษณะพิเศษอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1) การติดต่อเชื่อมโยงกับงานการที่ทำนั้น ต้องการผู้ทำงานที่ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมเป็นอย่างดีหรือได้รับการศึกษาทางด้านที่เกี่ยวข้องในระดับสูงมาแล้ว

2) ผู้ทำงานต้องทำงานในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ทำงานมีทักษะ มีฝีมือ ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี หรือ เมื่อทำงานก็ทำงานได้ด้วยความรู้ ความสามารถ ความรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วนระมัดระวัง ในขีดขั้นสูง ซึ่งตรงข้ามกับ “การไม่เป็นมืออาชีพ – Unprofessional”

3) ทำงานแบบเป็นการงานอาชีพ คือผู้ทำงานต้องได้รับค่าจ้าง/ค่าตอบแทนคิดได้เป็นเงิน หรือมีผู้ว่าจ้าง อย่างเช่น Pro – Professional ผู้ทำงานในด้านกีฬา ดนตรี งานศิลปะ ฯ เป็นนักกีฬา/นักดนตรีผู้เล่นหรือผู้ฝึกสอน เป็นต้น



สรุปแล้ว มืออาชีพ จึงมีองค์ประกอบของการอยู่ในตำแหน่ง บทบาท หน้าที่ และการลงมือทำงานอาชีพ ดังนี้

(1) เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้มีทักษะ ฝีมือ “สูง” ในการทำกิจการงานอาชีพนั้น ๆ โดยมุ่งตอบสนองต่อความต้องการ/ความสนใจของผู้ใช้บริการ คือ ผู้มารับบริการ ลูกค้า ผู้ดู/ผู้ชม/ผู้อ่าน (รวมถึงในวงวิชาชีพชั้นสูงอย่างครู แพทย์ ทนายความ และวิชาการด้านอื่น เรียกผู้รับบริการจากมืออาชีพว่า client หรือ audience ในชื่อ… นักเรียน นักศึกษา ผู้ป่วย และลูกความ เป็นต้น)

(2) บุคคลมืออาชีพนั้นหรือกลุ่มบุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีความสามารถเต็มตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนในวงการงานอาชีพเดียวกัน, หรือ “จึงคาดหวังได้ว่า โปร - pro ทุกคนจะทำงานหรือเล่นตามตำแหน่ง/บทบาทหน้าที่ด้วยฝีมือ ได้ในระดับที่ควดหวังว่ามืออาชีพคนอื่น ๆ ก็จะต้องมีมาตรฐานการเล่นได้เช่นนั้น” อีกนัยหนึ่ง “โปร / มืออาชีพ สามารถทำงาน/เล่นด้วยฝีมือ ในตำแหน่ง หน้าที่ บทบาท ในระดับความสามารถแนวทางเดียวกันได้ …ลักษณะงาน คุณภาพงาน และผลงานของมืออาชีพ …ย่อมอยู่ในระดับมาตรฐาน…เหมือน ๆ กัน” และดังนั้น “มืออาชีพจึงควรได้รับเงิน (ค่าบริการ) และ/หรือ เสียค่าปรับ/ลดค่าจ้างจากการทำงาน (หากทำผิด หรือ ฝีมือลดลง) ตามความสามารถ และกิจกรรมที่ได้ทำ ด้วยกฎเกณฑ์เดียวกัน และผลประโยชน์พึงได้พึงเสียเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดกันไว้แล้ว”

(3) มืออาชีพมีสิทธิในการใช้-ได้-มี “สิทธิอันพึงมี-พึงได้-พึงใช้ของการเป็นมืออาชีพ” หรือ “พึงหาเอาประโยชน์จากผลสำเร็จจากกิจการในงานอาชีพแห่งตน"

(4) มืออาชีพต้องดำรงตนอยู่ใน “จรรยาบรรณของวิชาชีพ/มืออาชีพ” หรือ ต้องเครารพใน กฎ กติกา มารยาท และจริยธรรมของวงการงานอาชีพของตน

(5) มืออาชีพต้องมีผลงานในฐานะ “มืออาชีพ” ที่ “วัดผล/ประเมินผลได้” ทั้งด้านความรู้ และความสามารถในการปฏิบัติงาน/การเล่นตามบทบาทหน้าที่ด้วยฝีมือชั้นสูง และที่สำคัญ "ต้องมีผลงานได้มาตรฐานวิชาชีพ มีระดับ ปรากฏอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการ คือ client หรือ audience, ผู้คนในวงการเดียวกัน และสาธารณะ"



เมื่อนำคำว่า profesional มืออาชีพมาใช้กับ bloggers (คนเล่นบล็อกกลุ่มหนึ่ง) แล้ว คำถามที่พุ่งเข้าเป้าของเราที่สุด ดูเหมือนจะเป็นว่า …”ใครบ้างคือบล็อกเกอร์มืออาชีพ และพวกเขาเหล่านั้นเล่นบล็อกในลักษณะมืออาชีพทำไม เล่นอย่างไร และ เล่นบล็อกเพื่ออะไร” ?

คำตอบที่ฉันพอคิดได้ จากการพิจารณาสิ่งที่แสดงออกในด้าน เวลาและเนื้อหา บนบล็อกของพวกมืออาชีพ จากการสำรวจเวปไซต์ในอินเตอร์เน็ตเท่าที่ประสบการณ์ได้ผ่านพบ เป็นอย่างนี้

… blogs ของมืออาชีพ มักจะมีการจัดการเวปไซต์ที่มีการดูแลสูง ทั้งความถี่ในการอัพเด็ต/โพสต์/เขียนลงบล็อก, การดูแลจัดการนำเสนอเนื่อหาที่มีคุณภาพ, การจัดวางรูปแบบ-เนื้อหาได้ทันการ ,รวมทั้งจัดวางการเข้าถึงส่วนต่าง ๆ ไว้ในหน้าเวปบล็อกนั้น และเวปไซต์ต่าง ๆ ที่ลิงค์เชื่อมต่อเครือข่ายไปสู่กัน

หลายสิ่งที่มืออาชีพทำนั้นมันดูเหมือนเป็นไปโดยกระทันหัน เห็นอะไรก็เขียนลงนำเสนอได้เลย ไม่มีการเตรียมแผนมาก่อน บางครั้งบางวันในวันเดียวกันอาจมีการโพสต์/อัพเด็ตเรื่องต่อเนื่องกันหลาย ๆ เวลา เหมือนรายงานข่าว หรือ ทำลิงค์ไปหาเวปไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง "profesional วิชาชีพ" ที่ตนเองเชี่ยวชาญหรือสนใจอยู่ มีการขยายเนื้อหา/เนื้อเรื่องลงลึกในรายละเอียดในส่วนของ “บทสนทนากับผู้เข้ามาอ่านบล็อกในส่วนคอมเมนต์” เป็นต้น

เจ้าของเวปไซต์จะบอกบ่งระบุว่าเป็นเวปส่วนตัวของตนเอง ส่วนใหญ่จะบอกชื่อจริงและข้อมูลส่วนตัวไว้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะใช้นามแฝงอยู่ด้วยก็ตาม และจะบอกวัตถุประสงค์ ทิศทางของการสร้าง/เปิดเวปไซต์/เวปบล็อก/บล็อกนั้นขึ้นมา... เท่าที่สำรวจดูแล้ว จะเป็นการนำเสนอบนเวปบล็อกด้วยรูปแบบการสื่อสารผ่าน "สื่อ"... เนื้อหา/ข้อความ - text, วิดีโอ – video หรือ อูดิโอ - audio, ภาพถ่าย – photo / picture, ศิลปะ- art, ดินตรี – music และ อื่น ๆ

ที่สำคัญ blogs ของมืออาชีพ สร้าง/เปิดไว้สำหรับเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้อ่านผู้ใช้บล็อก “ที่เป็นมืออาชีพด้วยกัน / คนในวงการเดียวกัน” และ “ผู้ใช้บริการ - client หรือ audience ที่สนใจเรื่องเดียวกันนั้น” ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างทันการ มี updating "การให้บริการ – การรับบริการ” กันอย่างต่อเนื่องและเสร็จภารกิจไปเป็นขั้นตอนและตามช่วงเวลา โดยผ่าน “ช่องทาง/ชานชาลาบล็อก - the blog platform” .....ไม่ว่าจะเป็นการไปมาหาสู่กันบนอินเตอร์เน็ทกับเจ้าของไดอารี่ส่วนตัวบนเวปบล็อก, การสื่อสารติดต่อเชื่อมโยงเครื่อข่ายระหว่างบล็อกของคนทำงานกับผู้เชียวชาญหรือผู้บริหารในหน่ายงาน/องค์กร/ห้างร้านบริษัท, โครงการปฏิบัติงาน หรือ โครงการวิจัย, ไปจนถึงการจัดการแฟ้ม/ฐานข้อมูลสะสมผลงานของสมาชิกในกลุ่มมืออาชีพเดียวกัน,

นอกจากนี้ บล็อกของมืออาชีพ จะเป็นช่องทางสำหรับเครือข่ายความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ตั้งแต่ เพื่อนกับเพื่อน ไปจนถึงกลุ่มสนใจร่วมกัน สมาชิกแฟนคลับ หรือการสื่อสารเชื่อมต่อระหว่างบุคคลในกลุ่ม/องค์กร/หน่วยงาน/ห้างร้าน/บริษัท หรือ ระหว่างคนในกลุ่มทำงานหรือเกี่ยวข้องกับโครงการปฏิบัติงาน/ภารกิจเฉพาะด้านหรือโครงการวิจัย, รวมทั้งบล็อกของกลุ่มองค์กรที่มีวัตถุประสงเชิงธุรกิจ…การพัฒนางานบริหาร...งานบริการลูกค้า…การประชาสัมพันธ์…การตลาด…, การโปรโมตเพลง/ดนตรี, งานศิลป งานการถ่ายภาพ และการนำเสนอข่าวสารสินค้าบริการในรูปแบบต่าง ๆ , การปลูกฝังโฆษณาชื่อยี่ห้อสินค้า/แบรนด์เนมของบริษัทในหมู่ลูกค้าและนำสู่สังคมวงกว้าง, การสื่อสารในหมู่สมาชิกกิจกรรมสนใจหรือภารกิจแนวร่วมเดียวกัน, การประชาสัมพันธ์-รณรงค์ทางการเมืองโดยบุคคล/กลุ่ม/พรรคการเมือง หรือ ของหน่วยงานของรัฐ/ราชการ, และแม้แต่เวปข่าวสารของสื่อสารมวลชน--หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และสื่อออนไลน์ในรูปแบบเวปไซต์/เวปบล็อก ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะตัดสินชี้ขาด "ความเป็นมือาชีพของบล็อกเกอร์" ก็คือ ผลงานในฐานะบล็อกเกอร์มืออาชีพ ที่ วัดผล/ประเมินผลได้ ทั้งด้านความรู้และความสามารถในเรื่องที่เขียนลงบล็อกอย่างงานของมืออาชีพ คือ... มีผลงานแสดงออกถึง ความรู้ดี รู้จริง คิดจริง ทำจริง แสวงหาและพัฒนาความรู้ ความคิดใหม่ ๆ ให้งานได้ก้าวหน้าไป, มีการจัดการดูแลบล็อกของตนให้สนองต่อผู้เข้ามาติตต่อ อ่าน ชม แลกเปลี่ยนความรู้ หรือใช้บริการในงานอาชีพที่ตัวตนเจ้าของบล็อกถนัดอย่างมืออาชีพ

สรุปแล้ว

1) บล็อกของมืออาชีพ นั้น...ต้องมีผลงานปรากฎในบล็อกได้มาตรฐานวิชาชีพที่เจ้าของบล็อกเป็นอยู่ สารที่สื่อออกมาบนเวปบล็อกอยู่ในเกณฑ์ดีมีระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับบล็อกของมืออาชีพด้วยกัน และเป็นผลงานที่ก้าวหน้าปรากฏอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการเชื่อมต่อเครือข่ายในวงการผู้รู้ ผู้ชำนาญ ผู้เกี่ยวข้อง จนบล็อกเป็นที่ยอมรับจากผู้คนในวงการเดียวกัน

2) และเกณฑ์วัดประเมิน "blog, blogger" ที่สำคัญที่สุดคือ...คุณค่าของสารที่นำเสนอบนบล็อกที่ให้แก่ผู้อ่าน(และให้แก่ตัวคนเขียน/เจ้าของบล็อกเองด้วย) อีกนัยหนึ่งก็คือภาพสะท้อนตัวตนออนไลน์ของคุณ_เจ้าของบล็อก ....พูดกันให้ชัดเจนลงไปได้เลยว่า...เนื้อหาตัวตนบนบล็อกของมืออาชีพต้องเป็นที่ยอมรับจากผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านบล็อกก็คือผู้รับบริการ/ผู้ใช้บริการ - client หรือ audience = readers, visitors คือเราท่านชาวบล็อกเกอร์ผู้เล่นเขียนและอ่านบล็อกออนไลน์นั้นเอง





เรื่องนี้คงยังไม่จบง่าย ๆ
อีกหลายตอนกว่าจะถึงเรื่องใกล้ตัวพวกเราท่านชาวบล็อกแก๊ง….. amateurish bloggers





 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 10 พฤษภาคม 2549 8:23:44 น.
Counter : 1114 Pageviews.  

Blogology 101: ทำไม “bloggers” จึงเล่น blogs ? / 012

Posted by a_somjai
Tags: Blogology, blogers, blogosphere, comments, visitors, ประเภท, บล็อก, บล็อกเกอร์


วันที่ 26 เมษายน 2549 | 01. 29 น.|



มาเริ่มเรื่องกันต่อที่ การจัดประเภทของ บล็อกเกอร์ ด้วยการพิจารณาดูที่วัตถุประสงค์ของการเข้ามาเล่นบล็อกบนโลกออนไลน์ของเจ้าของบล็อกแต่ละคน

คำถาม: “คุณมาเล่นบล็อกทำไม? เพื่ออะไร?” (เล่นบล็อก, ท่องเว็ปไซต์/เยี่ยมชม/สำรวจบล็อก, อ่านบล็อกของคนอื่น, อ่านแล้วไม่คอมเมนต์, อ่านแล้วทิ้งร่องรอยตัวตน บทสนทนา ความคิดความเห็น ความรู้ ความรู้สึก ไว้ในส่วนคอมเมนต์, ติดต่อกับเจ้าของบล็อกทาง e-mail หรือ Messenger, มีบล็อก/เขียนบล็อกเป็นของตนเอง, เขียนลงบล็อกร่วมกับคนอื่น)

คำตอบ:

1. เล่นสนุก ๆ เล่นแก้เหงา เล่นเอาม่วน เล่นเอาเพลิน เล่นเอาบันเทิง เล่นฆ่าเวลา เล่นยามว่าง เล่นเป็นงานอดิเลก เล่นไปเรื่อย เล่นไม่มีจุดมุ่งหมายหรือมี…ก็ไม่แน่ชัด

2. เล่นจริงจัง เล่นเอางานเอาการ เล่นเอาปัญญา เล่นใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เล่นเอามรรคเอาผลจากงานเล่นบล็อก, เล่นเวลางาน, เล่นเวลาในงานและนอกงาน, เล่นเป็นงานหลัก เล่นแบบมีทิศทางและแผนงาน, เล่นมีจุดมุ่งหมาย/เป้าหมายแน่ชัด

3. เล่นเอาเพื่อน เล่นเอาญาติ เล่นเอามิตรสหาย เล่นเอากลุ่มสมาคม เล่นเอาคนคอเดียวกัน และรวมทั้งเล่นหาคู่สิเนหา (เล่นเอาผัวเอาเมีย)

4. เล่นเอาความรู้/ค้นหาความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาความรู้ แสดงความรู้ (ความรู้ ความเชื่อ ความคิด ความเห็น ทัศนคติ) และรวมทั้งเล่นเพื่อข่าวสาร/การสื่อสาร

5. เล่นเอางาน เล่นเอาการ เล่นเอาเงิน เล่นค้าขาย เล่นเป็นธุรกิจ และรวมทั้งเล่นตามเงื่อนไข/โอกาสของหน่วยงาน/องค์กรที่เป็นสมาชิกอยู่ พวกเขา/เราต่างก็เล่นบล็อกกัน

6. เล่นเพื่อช่วยคนจน/คนด้อยโอกาส เล่นเพื่อจุดมุ่งหมายทางสังคม/การเมือง/ผลประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งกลุ่มกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การแพทย์ การศึกษา วัฒนธรรม ศาสนาและชนกลุ่มน้อย

7. เล่นเพราะเหตุอื่น ๆ

8. เล่นเพราะหลาย ๆ อย่างดังกล่าว ตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป





คำถามและคำตอบต่อเนื่อง: เมื่อคุณได้คำตอบที่แท้จริงของคุณเองว่า “ทำไมคุณจึงเล่นบล็อก” แล้ว

1. แล้ว “คุณเป็น blogger ประเภทไหนกันบ้างล่ะ?”

2. แล้ว “คนอื่น ๆ เขาจัดเป็น blogger ประเภทไหนกันบ้างล่ะ?”

3. แล้ว “คุณเข้าไปเล่นบล็อกของ bloggers ประเภทไหนบ้างล่ะ?” (ย้ำ….เล่นบล็อก, ท่องเว็ปไซต์/เยี่ยมชม/สำรวจบล็อก, อ่านบล็อกของคนอื่น, อ่านแล้วไม่คอมเมนต์, อ่านเล้วทิ้งร่องรอยตัวตน บทสนทนา ความคิดความเห็น ความรู้ ความรู้สึก ไว้ในส่วนคอมเมนต์, ติดต่อกับเจ้าของบล็อกทาง e-mail หรือ Messenger, มีบล็อก/เขียนบล็อกเป็นของตนเอง, เขียนลงบล็อกร่วมกับคนอื่น)

4. แล้ว “บล็อกที่คุณชอบ และบล็อกที่คุณไม่ขอบ เป็นอย่างไร ชอบเพราะอะไร ไม่ขอบเพราะอะไรล่ะ?”

5. แล้ว “เจ้าบล็อกที่คุณชอบนั้น blogger/เจ้าของบล็อกเขาใส่อะไรลงไปใน blog บ้างล่ะ เขาบริหารจัดการ/นำเสนอเนื้อหาในบล็อกเขาอย่างไร?” ในทำนองเดียวกัน.....

6. แล้ว “เจ้าบล็อกที่คุณไม่ชอบนั้น blogger/เจ้าของบล็อกเขาใส่อะไรลงไปใน blog บ้างล่ะ เขาบริหารจัดการ/นำเสนอเนื้อหาในบล็อกเขาอย่างไร?”

7. แล้ว “เรา คุณและฉัน จะเริ่มว่ากันที่ blogers ประเภทไหนก่อนดีล่ะ”








ความส่งท้ายสำหรับการสนทนาต่อเนื่องในชั้นเรียนคราวหน้า:

จุดเชื่อมต่อ ==>> ..... “หากต้องตัดสินเลือกเอา จุดเริ่มต้นของประเภทบล็อกเกอร์ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ตามที่มา/ที่ไป/ที่เป็นอยู่ ดังเช่นได้พิจารณาร่วมกันมาถึงตรงนี้ ….ฉันขอเริ่มที่… เกณฑ์ด้าน…เวลา…ที่บล็อกเกอร์ทุ่มเทให้กับการเล่นบล็อก…ก็แล้วกัน” (ย้ำ….เล่นบล็อก, ท่องเว็ปไซต์/เยี่ยมชม/สำรวจบล็อก, อ่านบล็อกของคนอื่น, อ่านแล้วไม่คอมเมนต์, อ่านเล้วทิ้งร่องรอยตัวตน บทสนทนา ความคิดความเห็น ความรู้ ความรู้สึก ไว้ในส่วนคอมเมนต์, ติดต่อกับเจ้าของบล็อกทาง e-mail หรือ Messenger, มีบล็อก/เขียนบล็อกเป็นของตนเอง, เขียนลงบล็อกร่วมกับคนอื่น)

“แนวทางการพิจารณา …blog, blogs หรือ bloger, bloggers จัดประเภท/กลุ่มตามคุณบัติด้านเวลาที่สัมพันธ์กับการเล่นบล็อกของชาวบล็อก… ที่จะมาว่ากันต่อไป คือ คุณเล่นบล็อกแบบมืออาชีพหรือแบบสมัครเล่น, คุณเล่นบล็อกเป็นงานประจำ/งานหลักหรือเป็นงานอดิเลก, คุณเป็นบล็อกเกอร์มีสังกัดหรือไร้สังกัด (จึงมีเงื่อนไขด้านเวลาในการเล่น เช่น เล่นในเวลางาน เล่นนอกเวลางาน เล่นทุกเวลาที่ต้องการ และมีเส้นตายของเวลากับผลงาน) เป็นต้น”






ภาพจาก: //www.blogshares.com/




 

Create Date : 26 เมษายน 2549    
Last Update : 23 มีนาคม 2550 10:59:24 น.
Counter : 438 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.