<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

บล็อกเบา ๆ: บ่นกะเพื่อนเก่าในกระปุก (๔)

ชื่อนั้นสำคัญไฉน?

ในเอกสารราชการที่กรอกข้อมูลประวัติส่วนตัว เช่นทะเบียนสำมะโนครัว ระเบียนนักเรียน หรือแม้ในแฟ้มประวัติบุคคลของหน่วยงานต้นสังกัด ของพี่น้องท้องเดียวกันในครอบครัวเรานั้น ยกเว้นวันเดือนปีและสถานที่เกิดแล้ว พวกเราล้วนถูกระบุว่าเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ และมีชื่อบิดามารดาตรงกันทั้งนั้น แต่ชื่อนามของพ่อแม่เรากลับไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมที่ปู่ย่าตายายผู้เป็นพ่อแม่ของพ่อแม่เราอีกที ท่านตั้งไว้ให้เมื่อเกิดมาและเรียกขานใช้กันในกลุ่มเครือญาติสังคมชาวนาของท่าน

ชื่อที่ได้จากสังคมวัฒนธรรมชาวนาของแม่เรา คือ “แพง”
ส่วนพ่อเรานั้นก็มาจากสังคมชาวนาเหมือนกัน ชื่อว่า “พิมพา” ได้ยินญาติ ๆ เรียกสั้น ๆ ว่า “พิม” ฟังดูเหมือนชื่อผู้หญิง เข้าใจว่า พระที่เป็นหลวงตาหลวงลุง(ญาติ)ของพ่อคงจะเป็นคนตั้งให้


แต่ชื่อพ่อชื่อแม่ในทะเบียนราชการของพวกเรากลับไม่ใช่ชื่อนามที่เป็นมรดกตกทอดจากวัฒนธรรมสังคมชาวนาไท/ลาว โดยแม่เรามีชื่อเป็นทางการว่า “อนงค์” ส่วนพ่อเรามีชื่อเป็นทางการว่า “ยงยุทธ์” เกี่ยวกับเรื่องนี้แต่ก่อนเราก็ไม่ได้สงสัยอะไร แต่พอโตขึ้นได้เรียนหนังสือหนังหาว่าด้วยเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครองของเมืองไทยเรามาบ้าง จึงได้รู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับ “เรื่องแปลก ๆ ในกรอบ/กระปุก ตามช่วงวันวัยชีวิตของพวกท่าน” นั้นเอง

พ่อแม่เราเป็นคนที่เติบโตขึ้นมาในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ท่านเป็นหนุ่มสาวในยุคที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาลของประเทศไทย ดังนั้นเราต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับชื่อ “แพง” และ “พิมพา” ของลูกชาวนาอย่างพวกท่าน



จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 3 ของประเทศไทย เดิมชื่อ แปลก ขีตตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ท่านเคยดำรงตำแหน่งนายยกรัฐมนตรีของประเทศไทยถึง 8 สมัย (ได้แก่รัฐบาลไทยยุคหลังการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475; สมัยที่ 9, 10, 21, 22, 23, 24, 25, และ26 แต่ละสมัยดำรงตำแหน่งติดต่อกันบ้าง เว้นช่วงไปบ้าง เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถึงสมัยสุดท้ายสิ้นสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500)

ยุคสมัยของท่าน ได้มีนโยบายที่สำคัญคือ การพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยมีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย รัฐนิยม หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง คำขวัญสำคัญของท่านผู้นี้คือ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย"


เรื่องชื่อของ “แม่แพง” กับ “พ่อพิม” ของเราต้องมากลายเป็น “แม่อนงค์” กับ “พ่อยงยุทธ์” ไปเสียนี้ ก็ด้วยนโยบาย “รัฐนิยม” ของท่านนายยกฯ ชื่อเดิมว่า “แปลก” ท่านนี้แหละครับ

รัฐนิยมในสมัยนั้น ที่เป็นรูปธรรมก็คือ การปลูกฝังความนิยมไทย และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยบางอย่าง ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งในหมู่ประชาชนพอสมควร เช่น ให้สตรีเลิกนุ่งโจงกระเบน หันมาสวมกระโปรง สวมหมวก, ให้เลิกกินหมากพลู, ให้เปลี่ยนชื่อผู้ชายให้มีลักษณะเข้มแข็ง ผู้หญิงให้มีลักษณะอ่อนหวาน เป็นต้น ทั้งนี้ยังได้ประกาศรัฐนิยมเชิญชวนให้ประชาชนปฏิบัติตามหลายข้อ

ตัวอย่างของประกาศว่าด้วยรัฐนิยม ในสมัยจอมพล ป. ได้แก่
• การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" (ถือกันว่าเป็น "รัฐนิยม ฉบับที่ 1")
• การเปลี่ยนเพลงชาติ
• การเคารพธงชาติ
• การยกเลิกพยัญชนะในภาษาไทยที่ 'ซ้ำซ้อน' บางตัว และเปลี่ยนแปลงการสะกดคำ (ตัวอย่างเช่น 'ประกาศสำนักนายกรัถมนตรี วันที่ 12 พรึสภาคม พุทธสักราช 2487')
• การรณรงค์ให้ประชาชนใส่หมวก (โดยมีคำขวัญคือ "มาลาพาไทยสู่มหาอำนาจ")

นอกจากนี้ ยังมีประกาศสำนักรัฐมนตรี วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ว่าด้วย วีระธัมของชาติไทย เป็นการกำหนดนิสัยประจำชาติไทย 14 ข้อ ดังนี้ (คงการสะกดตามเดิม):
1. ไทยรักชาติยิ่งชีวิต
2. ไทยเปนนักรบชั้นเยี่ยม
3. ไทยเปนชาติดีต่อมิตร และร้ายที่สุดต่อสัตรู
4. ไทยเปนชาติบูชาพุทธสาสนายิ่งชีวิต
5. ไทยเปนชาติปากกับไจตรงกัน
6. ไทยเปนชาติรักสงบ
7. ไทยเปนชาติซื่อสัจ และกตัญญู
8. ไทยเปนชาติขยัน
9. ไทยเปนชาติเพาะปลูกอาหารไว้กินเอง
10. ไทยเปนชาติสะสมมรดกไว้ไห้แก่ลูกหลาน
11. ไทยเปนชาติชอบหยู่ดีกินดี
12. ไทยเปนชาติชอบแต่งตัวดี
13. ไทยเปนชาติยกย่อง เด็ก หยิง และผู้ชรา
14. ไทยเปนชาติว่าตามกันและตามผู้นำ


เรื่องนี้มีผู้เล่าไว้สนุก ๆ แล้ว อย่างเรื่อง รัฐนิยม โดย เทาชมพู จึงขอหยิบยกสำนวนสนุก ๆ ของเทาชมพูมาลงไว้ ให้อ่านกันเลยดังนี้

“.....ออกจากบ้านไปไหนมาไหนต้องสวมหมวก ...ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยต้องมาขายก๋วยเตี๋ยวกัน เพราะเป็นนโยบายระดับชาติ ...ผู้ชายผู้หญิงต้องเปลี่ยนชื่อให้สมกับเพศของตน ชื่อพ่อแม่ตั้งมาใช้ไม่ได้ ...คนไทยถูกห้ามกินหมาก ...ควรเลี้ยงไก่ ปลูกผักในบ้าน ...พูดกันให้ใช้คำว่า “ฉัน” “ท่าน” และลงท้ายว่า “จ๊ะ” ไม่ใช่ “คุณ” “ผม” “ฉัน” หรือ “ครับ” และ “ค่ะ”

“.......เคยอ่านพบเรื่องนี้แล้วขำกลิ้ง มารู้ทีหลังว่าคนสมัยนั้น นอกจากไม่ขำยังถือเป็นเรื่องซีเรียส เพราะเป็นยุครัฐนิยม หรือยุค “วัธนธัม” เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนต้องปฎิบัติตามนโยบายของท่านผู้นำอย่างเคร่งครัด

“........จอมพล ป.ประสงค์จะปลูกฝังความรักชาติและให้คนไทยสมานสามัคคี มองเห็นความสำคัญของชาติไทย ตลอดจนทำให้ประเทศมีความเจริญเช่นเดียวกับประเทศอารยะทั้งหลายทางตะวันตก จึงออกประกาศมา ๑๒ ฉบับ เนื้อความเป็นยังไงขอไม่เอามาลงเพราะยาวมาก แต่ในจำนวนนี้มีหลายเรื่องที่กระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของคนไทย เพราะมันเข้ามากำกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันกันเลยทีเดียว

“......เรื่องแรกคือเริ่มต้นด้วยการชักชวนให้ชายหญิงแต่งกายให้ดีมีระเบียบแบบสากล ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบนมานุ่งผ้านุ่งหรือกระโปรง ผู้ชายนุ่งกางเกงฝรั่ง ทุกคนควรสวมรองเท้าและไม่กินหมากเพื่อจะได้ไม่บ้วนน้ำหมากเลอะเทอะ ออกจากบ้านต้องสวมหมวก แต่เมื่อไม่ได้ผลเพราะประชาชนไม่ชิน รัฐก็มีคำสั่งให้ข้าราชการทุกคนสวมหมวก ไม่กินหมาก ไม่งั้นตำรวจจะมาเตือนได้ง่าย ๆ ส่วนจะเป็นหมวกอะไรแบบไหนรัฐไม่ว่า คุณยายจะยืมหมวกกะโล่ของคุณตามาสวมก็ไม่เป็นไร คุณตาหาหมวกไม่ได้จะยืมหมวกเด็กนักเรียนข้างบ้านมาสวมแก้ขัดตอนออกนอกบ้าน ก็ไม่มีใครว่าอีกเหมือนกัน

“....อีกเรื่องคือการกำหนดชื่อคนไทยเสียใหม่ เพราะรัฐเห็นว่าชื่อคนไทยแต่เดิมไม่มีระเบียบ เป็นชื่อไม่ไพเราะก็มี และชื่อไม่แบ่งเพศเป็นหญิงชายก็มี จึงมีประกาศมากำหนดเสียใหม่ว่าผู้หญิงควรชื่อแบบไหน ในประกาศบอกไว้ละเอียดเช่นชื่อผู้หญิงควรมีความหมายถึงความสวยงาม เครื่องประดับหรือดอกไม้ ส่วนผู้ชายก็ควรชื่ออะไรที่เข้มแข็งเช่นแปลว่าอาวุธ ทำให้เกิดอลหม่านล้านแจ๊ดในหมู่ผู้มีชื่อไม่คล้อยตามเพศมาแต่เกิดเพราะพ่อแม่ตั้งให้แบบนั้น อย่างนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งชื่อนายประหยัดศรี ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนายประหยัด ศ. สุภาพสตรีผู้หนึ่งชื่อสมัย ก็ต้องเติมคำว่าสวาทเข้าไปเป็นสมัยสวาท ขนาดนางสาวไทยชื่อเรียม ก็เปลี่ยนเป็นเรียมรมย์ ... (มีนางสาวเชียงใหม่ รุ่นยุคนั้น ชื่อนวลสวาท ก็คงเปลี่ยนชื่อจากเหตุเดียวกันนี้กระมัง...เอ_สมใจ)

“......ส่วนเรื่องขายก๋วยเตี๋ยว เป็นนโยบายของจอมพล ป. ที่เห็นความสำคัญของการค้าขาย เมื่อในประกาศอีกข้อหนึ่งได้สนับสนุนให้คนไทยเลี้ยงหมู ปลูกผัก เพาะถั่วงอก ก็ควรขายก๋วยเตี๋ยวเสียให้ครบวงจร เพราะก๋วยเตี๋ยวมีรสอร่อย มีทั้งหมูและผักและถั่วงอกอยู่ในนั้น จึงมีนโยบายทำหนังสือเวียนแจกไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและครูใหญ่ทุกโรงเรียนขายก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งหาบ และให้กรมประชาสงเคราะห์พิมพ์คู่มือการทำก๋วยเตี๋ยวออกแจกจ่าย สมัยนั้นข้าราชการที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งหลายจึงมีหน้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายรัฐด้วยดี”


ก็และชื่อนาม คนในสังคมชาวนา รุ่นพ่อรุ่นแม่ของคนรุ่นเราหรือเป็นรุ่นปู่ย่าตายายของคนรุ่นนี้ ก็จึงถูก"กระปุกแปลก ๆ" บีบให้เปลี่ยนชื่อนามตนเสียใหม่ให้ทันสมัยสังคมที่นิยมว่าดีงามกัน ด้วยประการะฉะนี้แล.



ปล. เรื่องเปลี่ยนชื่อนี้ยังมีปรากฏการณ์มัน ๆ อีกในคนรุ่นอายุห้าสิบขึ้นอย่างเราอีก คราวนี้เป็นเพื่อนลูกเจ๊ก(ขออภัย...เราทั้งไทยทั้งจีนทั้งญวนเรียนด้วยกันก็เรียกกันอย่างนั้นจริง ๆ ...พวกเขาเป็นลูกคนจีนขายของในตลาด เดี๋ยวนี้มันร่ำรวยกันไปหมดแล้ว ไม่เหมือนเรา...อิอิ) อย่าง ไอ้ “ตี๋น้อย” เพื่อนเรานั้นมันได้ชื่อใหม่ว่า “ด.ช. รักตี๋” โตขึ้นก็เห็นว่าเปลี่ยนชื่ออีกรอบ หรือ ยัย “กิมฮวย” เพื่อนเราก็เปลี่ยนเป็น “ด.ญ. สุพรรณิการ์” เป็นต้น ...เดี๋ยวเมื่อถึงเรื่องเล่าตอนเราเข้าโรงเรียนแล้ว จะเก็บมาลงบล็อกให้ได้อ๊อก ๆ ม่วนชื่นกัน.




Posted by a_somjai | January 3, 2006 @ 11.59 am | ครอบครัว, เพื่อน, เรื่องส่วนตัว | รัฐนิยม, สังคมชาวนา, ความทันสมัย |




 

Create Date : 03 มกราคม 2549    
Last Update : 4 มกราคม 2549 4:19:58 น.
Counter : 376 Pageviews.  

บล็อกเบา ๆ: บ่นกะเพื่อนเก่าในกระปุก (๓)

ทำไมเพื่อนเก่าจึงอยู่ในกระปุก?
ก็เพราะว่าคนเขียนเล่าเรื่องนี้คิดอย่างนี้:


โดยทั่วไปคนเรามักจะคิดว่า การมีชีวิตอยู่ในช่วงอายุขัย(ชาติภพ)หนึ่งของเรานี้ มีอยู่เป็นอยู่ลอย ๆ คือ มันก็เป็นของมันอย่างนี้ มีพ่อ มีแม่ มีพี่น้อง วงศาคณาญาติ เพื่อนฝูงมิตรสหาย หมู่บ้าน ชุมชน ไปจนถึงสังคมประเทศชาติ ..สังคมนานาชาติทั่วโลก (ผู้คนที่อาศัยอยู่บนผิวดาวเคราะห์หนึ่งในหมู่ดาวเคราะห์บริวารของดวงอาทิตย์) ความจริงแล้วหาก(ส..ใส่เกือกคิดมากไปเองอย่างคนเขียนเรื่องนี้) คน ๆ หนึ่งเกิดมามีชีวิตอยู่ก็เปรียบเหมือนปลาในหนองน้ำหรือวังน้ำแหล่งหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของแม่น้ำสายน้อยสายใหญ่จำนวนมากมาย และแม่น้ำทั้งหลายก็ไหลลงสู่ทะเลมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าออกไปอีกนั้นเอง

สภาพแวดล้อมของห้วงน้ำกระแสธารแวดล้อมย่อมมีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของปลาและฝูงปลาเหล่านั้นฉันใด
ในห้วงน้ำแห่งสังคมที่แวดล้อมชีวิตคน ๆ หนึ่งในห่วงเวลาหนึ่งนั้น ก็ย่อมมีส่วนอย่างสำคัญต่อการดำรงอยู่และต่อการดำเนินวีถีทางของชีวิตคน ๆ นั้นและหมู่คนเหล่านั้นด้วยฉันนั้น อันนี้กำลังพุดว่า “ชีวิตคนเรามีอิสระ เสรี ที่จะเลือกทางเดินของตนเองก็จริงอยู่ แต่มันก็ต้องเป็นอิสระเสรีภาพอยู่ภายใต้กรอบที่ครอบเราและครอบสังคมของเราอยู่ในเวลานั้นอีกด้วย”

“กรอบ” ที่ว่านี้แหละ คือ “กระปุก” ในความหมายที่นำมาใช้กับเรื่องเล่าถึง “เพื่อนเก่า”

“เพื่อนเก่าในกระปุก” ก็คือ ผู้คนหรือเพื่อนร่วมโลกที่เกิดมาร่วมรู้เห็นเป็นอยู่กันต่างกรรมต่างวาระในชีวิตหนึ่งนี้ของเราที่หากใช้ศัพท์แสงให้เป็นทางการหน่อยก็ต้องแทนตัวเก่าว่า “ข้าพเจ้า” นี้แหละ


หากจะทำความเข้าใจ “ชีวิตของข้าพเจ้าและเพื่อนเก่าในกระปุก” แล้วจำเป็นต้องแบ่งเวลาชีวิตออกไปตามช่วงวัยของชีวิต และในแต่ละช่วงวัยชีวิตนั้นก็ย่อมตกอยู่ภายใต้ “กรอบ/กระปุก” ช่วงต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการเหมือนชีวิตคนเช่นกัน ดังนั้นเรื่องที่จะเล่าไว้นี้จึงเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กเป็นลำดับมา โดยต้องกล่าวถึงกรอบ/กระปุกที่กำหนดวิถีชีวิตของเราเข้ามาอ้างอิงด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.... (บางคนที่เป็นนักเล่นบล็อกตัวจริงเสียงจริง อาจจะเห็นว่า “การเขียนบล็อก” เป็นเรื่องเล่น ๆ เพื่อผ่อนคลายหรืองานการบันเทิง ไม่ควรเป็นเรื่องหนักหรือแลดูจริงจังจนเกินไป เพราะกลัวเพื่อน ๆ จะไม่เข้ามาอ่าน ขอเรียนว่าบางแง่มุมนั้น การเขียนบล็อก คือการบันทึกตัวตนของเราที่เป็นอยู่เวลานี้ไว้ หากไม่มีใครมาลบตัวตนของเราออกเสีย ก็เป็นไปได้ที่จะมีคนที่มีชีวิตอยู่หลังจากนี้ไปเป็นสิบ เป็นร้อยปี เข้ามาอ่านมาทำความรู้จักกับตัวตนของเราก็ได้ ลางครั้งลางเตื้อ/ลางเทื่อ...ก็ต้องสำแดงตนเป็นศิษย์มีครูไว้บ้างเหมือนกัน...อะนะ) :>


ปฐมวัยในกระปุก

เราเกิดกลางเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ (1954) ชีวิตช่วงปฐมวัยของเรา (ก่อนวัยเรียนตามเกณฑ์ 1-6 ปี) จะอยู่ในระหว่างช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล ผ่านพ.ศ. ๒๕๐๐ ถึงประมาณปี ๒๕๐๓ – ๒๕๐๔ กระปุกสำคัญที่สุดในช่วงนั้นก็คือกรอบกำหนดประเทศไทยของเรา(และประเทศด้อยพัฒนาอื่น ๆ)ให้เดินตามแนวคิดพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตก(ชี้นำกำหนดโดยสหรัฐอเมริกา) พูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่ต้องขยายความได้ว่า “การพัฒนา คือ การทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้าไป” ...สำหรับเราและเพื่อนเก่าในกระปุก พวกเราจึงเป็นเด็ก ๆ ที่มีชีวิตอยู่ยุคเริ่มต้นของ “กระปุกใบที่ชื่อว่า การทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้าไป”

กระปุกใบนี้สร้างขึ้นหรือประกอบขึ้นด้วยอะไรบ้าง?
๑. เมื่อจะเล่าถึงเรื่องนี้ เราตั้งคำถามกับตัวเก่า/ตัวเองว่า “แต่เดิมมา บรรพบุรุษ ปูย่า ตายาย ของตูอยู่ในประเทศที่เศรษฐกิจไม่มีความเจริญก้าวหน้าหรือยังไงวะ?” ใช่ซินะ...กลุ่มโคตรตระกูลไท/ลาวพวนข้างแม่เรา..เป็นชาวนา แม่เราเป็นลูกชาวนาแน่นอน เพราะเมื่อเราเป็นเด็ก ๆ วัยนั้นพ่อตู้แม่ตู้/ตายายของเรายังทำนาอยู่ เรื่องนี้จำได้เมื่อเราโตรู้ความแล้ว พ่อแม่พาไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่อำเภอ(บ้าน)ผือ จังหวัดอุดรธานี ญาติข้างแม่เจ็ดครอบครัวดูเหมือนจะประกอบอาชีพทำนากันหมด (มีน้าสาวสามครอบครัวที่ค้าขายด้วย ส่วนแม่เราเป็นคุณนายข้าราชการอำเภอ...ฮ่า ฮ่า) และตายายก็ยังทำนาอยู่ จำได้ว่าพ่อตู้มีเกวียน มีควายสองตัวเลี้ยงไว้ในบริเวณบ้านด้วย ส่วนแม่ตู้ของเราก็ยังมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนพื้นบ้าน เรียกว่ายุคนั้นท่านยังทอผ้าซิ่นใช้กันอยู่

มีเกร็ดแทรกไว้หน่อย จากความทรงจำอันเลือนรางเต็มที เมื่อเราอายุได้สักสามสี่ขวบนี่แหละ ก็ประมาณปี ๒๕๐๐ หรือ ๒๕๐๑ สมัยก่อนนี้พ่อเราเช่าบ้านไม้ใต้ถุนสูงตั้งอยู่ทางสายเปลี่ยวห่างบ้านผู้คนสักสี่ห้าเส้นนี้แหละ เรือนเราอยู่ไกลจากที่ว่าการอำเภอและโรงพักตำรวจประมาณสองกิโลเมตร ไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้ต้องจุดตะเกียงกัน วันหนึ่งค่ำมืดแล้ว ฝนตกหนัก พ่อคงไม่อยู่บ้าน แม่เราอยู่บ้านกับเด็ก ๆ พอฝนซาตกเบาลงบ้างแล้ว คนในบ้านก็ได้ยินเสียงหมาเห่าถี่กระชั้นลั่นทุ่งดังขึ้นจากเขตรั้วทางเข้าหน้าบ้าน (บ้านข้าราชการสมัยนิยมยุคนั้น ต้องเลี้ยงหมาพันธุ์ฝรั่งด้วยนะเอ้า ...เคยมีหมาตัวเมียตัวหนึ่งชื่อ Lady เพื่อนซี้ของ Samranjai เขาล่ะ เดี๋ยวเค้าก็มาเติมความทรงจำเก่า ๆ เกี่ยวกับหมากับแมวในคอมเมนท์เองแหละ... พี่น้องคู่นี้เป็นคู่กัดกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว เพราะพี่สาวของเราคนนี้รักหมารักแมวชนิดที่เรียกว่าหมาแมวอยู่ไหนคนอยู่นั้นเลยก็ได้ แต่เรากลับชอบเตะหมาด่าแมว...อิอิ)

เอ้าเล่าต่อดีกว่า... เหตุที่หมาเ่ห่าเอ็ดตะโรลั่นทุ่งนั้นก็เพราะมีชายฉกรรจ์หลายคน มีผ้าคลุมหัวถืออะไรเหมือนท่อนไม้หรือมีดกวัดแกว่งไล่หมาอยู่หน้าประตูรั้วทางเข้าบ้านเ่รา แล้วส่งเสียงเอะอะดังลั่นแข่งกับเสียงหมาและเสียงฝนตกต้องหลังคาเรือนมุงด้วยสังกะสี(ตราอะไรเราก็ลืมไปแล้ว) คนเหล่านั้นเดินฝ่าฝูงหมาและแหวกสายฝนขึ้นบันไดเรือนมาเคาะประตูบ้าน ปัง ปัง ปัง...

แม่เราและเด็กชายเอ_สมใจกับพี่ ๆ น้อง ๆ ต่างตกใจกลัวขนาดไหนก็...(เล่า..บรรยายไม่เป็นอะนะ) เอาเป็นว่าทุกคนกลัวโจรมาปล้นบ้านกันแทบหยุดหายใจ เพราะสมัยก่อนโจรปล้นชาวบ้านร้านตลาดนี้มีอยู่(อย่างในหนังไทยเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง หรือ เจ็ดประจัญบาน อะไรประมาณนั้น)


แล้วเสียงห้าว ๆ ของชายสูงอายุสำเนียงคุ้น ๆ หูแม่ก็ดังขึ้น
“แพง อีแพง เปิดปั๊กกะตูแน้ กูมาหามายามมึง ฝนมัีนตกแฮงโพด เปิดประตูหื้อกูแน้” ๆ ๆ ๆ เีสียงจากนอกประตูเข้าในเรื่อนนั้น ดังซ้ำ ๆ อยู่หลายหน

จนแล้วแม่เราค่อยทำใจได้บ้างแล้ว พลันท่านก็เปล่งเสียงออกมาจากสุดขั้วหัวใจ ด้วยคำสำเนียงไทพวนภาษาดั้งเดิมของท่านว่า “พ่อ พ๊อ...อีพ๊อ...อีพ่อ เจ้ามาจังใด…เดี๋ยวข้อยซิเปิดประตูหื้อเด้อ”

เป็นพ่อตู้เรากับชาวพวนบ้านผือนั้นเอง พวกท่านมากับขบวนกองคาราวานนายฮ้อยค้าควาย จะเป็นเที่ยวขาลงเมืองล่างเมืองไทหรือจะเป็นขากลับขึ้นมาจากต้อนควายไปขายที่สระบุรีแล้วเราก็ไม่ทราบได้ เพราะเรายังเด็กอยู่มาก ท่านผ่านมาทางเมืองชุมแพที่พ่อทำราชการอยู่ในยุคนั้น ค่ำมืดแล้วฝนตกหนักมาก กองคาราวานที่ตั้งค่ายหยุดพักแรมอยู่คงอยู่กันลำบาก เมื่อฝนซาลงบ้างแล้ว ท่านจึงถือโอกาสถามทางจากชาวบ้าน ฝ่าสายฝนมาเยี่ยมยามลูกสาวของท่าน คือแม่แพงของเรานั้นแหละ เราจำไม่ได้ว่าแม่ได้ต้อนรับขับสู้พ่อตู้กับคณะที่มาด้วยกันยังไงบ้าง หรือว่า 'พ่อตู้สน' คุณตาของเราจะนอนค้างที่บ้านด้วยหรือไม่ก็ลืมไปแล้ว แต่แน่ใจว่ารุ่งขึ้นอีกวัน เด็กชายเอ_สมใจ ตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้พบพวกท่านอีกแล้ว คิดเอาเองในตอนนี้ว่า กองคาราวานค้าควายของชาวพวนบ้านผือ คงออกเดินทางต่อไปแล้วกระมัง

...ที่เรายกเรื่องนี้ขึ้นมาเสริมแทรกไว้ก็เพื่อจะบอกว่า... บรรพชนคนพวนสายแม่ของเรา...เป็นชาวนา...พวกเราทุกวันนี้จึงไม่ควรลืมไปว่า “อดีตของเรามาจากสังคมชาวนา” ...ชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากินอยู่มาจนทุกวันนี้ แล้วก็ใกล้จะสูญพงศ์เผ่าพันธุ์หมดสิ้นไปทุกวันแล้ว



...ก็และสังคมชาวนาของบรรพบุรุษพวกเรานี้แหละ...ที่ถูกตราหน้าจากท่่านผู้ปกครองระดับโลกและระดับประเทศในยุคนั้นว่า “เป็นพวกด้อยพัฒนา...คือเป็นอยู่โดยเศรษฐกิจไม่เจริญก้าวหน้าไปไหน ไม่่ทันสมัย ล้าหลังไม่่ทันชาวโลกผิวขาวตาน้ำข้าวเขา .... ชาติมหาอำนาจจึงต้องเ้ข้ามาแทรกแซง มาทำให้มีการบริหารจัดการเสียใหม่ พวกชาวนาและสังคมชาวนาต้องได้รับการแก้ไขพัฒนาโดยเร่งด่วน”

...และแล้ว จากวันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้ ด้วยแผนการและปฏิบัติการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าไป...นี้เอง จึงทำให้ “พวกเราพี่น้องลูกพ่อแม่เดียวกัน ญาติพี่น้องต่างครอบครัว ทั่วทุกถิ่นภาคของประเทศไทย ได้ถูกพัฒนาให้เติบโตขึ้นในกรอบกระปุกเศรษกิจที่เจริญก้าวหน้าไป จนกลายมาเป็นอยู่อย่างชนชั้นกลาง ตัวจริงเสียงจริง ผู้่ต่างก็ถูกจับแยกให้อยู่ห่างไกลจากกัน จากบ้านเกิดเมืองนอนเดิม บางคนก็ถึงกับถูกลมเศรษฐกิจสังคมพัดพาไปตกอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็มีอยู่มาก

"อย่างไรก็ดี เมื่อตกมาในยุคปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิตอล ทุกวันนี้เรายังสามารถลัดฟ้าและย่นเวลา มาพบสื่อสารติดต่อกันได้อีกครั้ง โดยการสืบสานความผูกพันกันได้อีกหนบนโลกออนไลน์"


โคตรตระกูลฝ่ายข้างพ่อเรา ก็เป็นชาวนา... (โปรดติดตามตอนต่อไป)


ปล. เกือบ 11 โมงแล้ว วันนี้เพิ่งขึ้นปีใหม่ เดี๋ยวจะไปกินเลี้ยงรวมญาติกันต่ออีกวัน...จุดนัดพบที่สวนลำไยของปู่ย่า ที่อำเภอสันทราย ...วันนี้มีข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่อบฟาง แล้วก็น้ำหวาน น้ำเปลี่ยนนิสัยสำหรับบางคน การบันเทิงก็ คาร่าโอเค กับ ป๊อกเด้ง ตามอัธยาศัย ...ไปล่ะ ลูกสาวกับแม่เขา แต่งตัวรอแล้ว ..เราลุกจากที่นอนมาปั่นต้นฉบับแต่เช้า ยังไม่ได้อาบน้ำเลย...อิอิ สวัสดีปีใหม่ ทุกคนครับ





Posted by a_somjai | January 1, 2006 @ 10.59 am | ครอบครัว, เพื่อน, เรื่องส่วนตัว | การพัฒนาเศรษฐกิจ, สังคมชาวนา, คนชั้นกลาง, สังคมออนไลน์ |




 

Create Date : 01 มกราคม 2549    
Last Update : 2 มกราคม 2549 3:26:17 น.
Counter : 547 Pageviews.  

บล็อกเบา ๆ: บ่นกะเพื่อนเก่าในกระปุก (๒)

“ความจริงแล้วการเล่าความหลัง ไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์ที่ตายไปแล้วของผู้เล่า หากแต่เป็นเรื่องปัจจุบัน เป็นปัจจุบันของคนเล่าและเป็นปัจจุบันของคนฟังอีกด้วย” a_somjai ( //esanlanna.bloggang.com) ใส่อ้างอิงไว้ประชดนักแก่การอ้างอิงและนักไม่ชอบอ้างอิงแหล่งที่ไปหยิบของคนอื่นเขามาใช้หน้าตาเฉย อะนะ... (ศัพท์แสง ‘อะนะ’ นี้ เราลอกเลียนมาจาก Teen bloggers แถว ๆ นี้แหละ)

ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น?

ประการแรก: เพราะการเล่าเรื่อง เป็นการบอกกล่าวเรื่องราวที่ขุดออกมาจากความทรงจำของผู้เล่าในขณะที่เล่า (พูด, เขียน, ขับเพลง/ลำนำ หรือสื่อสารในรูปศิลปกรรมต่าง ๆ) สิ่งที่สื่อสารบอกเล่าอดีตที่ล่วงไปแล้วออกมานั้นจึงเป็นเรื่องของข้อมูลที่อยู่ในความทรงจำ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาที่นั่นเดี๋ยวนั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นได้ถูกตีความโดยความเป็นตัวตนในปัจจุบันของผู้กำลังเล่าเรื่อง ที่เปลี่ยนไปจากผู้เล่าเรื่องที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่ออดีต (ซึ่งเมื่อครั้งนั้นเขาอาจจะตีความข้อมูลเดียวกันนั้นไปอีกอย่างก็ได้) เรากำลังจะบอกว่า “คนในอดีตที่ถูกกล่าวถึง เป็นคนละคนกับคนที่กำลังเล่าเรื่อง” (ด้วยเหตุที่คนเราต้องเติบโตขึ้น และได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาสารพัดเรื่อง) เหตุดังนี้ “เรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาเล่าสู่กันฟังนั้น จึงเป็นความจริงในปัจจุบันสำหรับผู้เล่าคนปัจจุบัน”

เรื่องเล่าเป็นข้อมูลจากความทรงจำจากมุมมองของผู้เล่าถ่ายเดียว คนอื่นในเหตุการณ์เขาอาจจะเห็นเป็นอย่างอื่นได้อีกมากมาย ซ้ำยังเป็นข้อมูลที่นำมาบอกเล่าก็กระท่อนกระแท่น...เมื่อเปรียบเทียบกับการบันทึกด้วยเครื่องถ่ายภาพหรือเครื่องบันทึกเสียง ซ้ำยังปนเปด้วยความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ อุดมการณ์ และจินตนาการ(ใส่ไข่ ใส่นม) ของผู้เล่าในปัจจุบันอีกต่างหาก คราวนี้เชื่อหรือยังละครับว่า “เรื่องเล่าถึงอดีตนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา” (เพราะเรื่องเล่าถูกสร้างหรือแต่งขึ้นมา) แต่สำหรับผู้เล่าแล้ว “อดีตมิใช่เพียงไอควัน - The Past Is Not Like Smoke” เพราะอดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือเนื้อหาของประสบการณ์จริงนั้นมันจดจารไว้ในชีวิต เลือดเนื้อ และจิตใจของมนุษย์ผู้ร่วมในเหตุการณ์นั้นอย่างมิอาจลบเลือนออกไปได้ตราบจนวันตาย

ประการที่สอง: คนฟังเรื่องเล่า(ที่แต่งขึ้นดังกล่าวแล้วนั้น) ก็ทำนองเดียวกันครับ ฟังเรื่องราวแล้วก็คิดตามไป สงสัยบ้าง เห็นด้วยบ้าง ซาบซึ้งบ้าง เติมความคิด ความเห็น ความรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการของตนเอง สอดแทรกเข้าไปบ้าง ในลักษณะเป็น “การสนทนาเรื่องปัจจุบันกับคนเล่าที่มีตัวตนจริงในปัจจุบัน” นั้นแล้ว

ข้อสรุปที่ได้จากการพูดที่เข้าใจยากทั้งสองประการข้างต้น ก็คือจะบอกเพื่อน ๆ ญาติ ๆ บล็อกเกอร์ชาวชุมชนบล็อกแก๊งว่า “ความจริงแล้ว คนเล่าเรื่องกับคนฟังเรื่องเล่าก็คือคนในปัจจุบัน ที่กำลังสนทนากันด้วยเรื่องราวในปัจจุบันกาลนั้นเอง”

วันหน้าจะมาอภิปรายให้ฟังว่า “บันทึกต่าง ๆ ที่พวกเราเล่าไว้ในเว็ปบล็อกนี้ เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไปแล้ว มันก็ยังคงเป็นความจริงในปัจจุบันสำหรับเจ้าของบล็อกที่เล่าเรื่องไว้ กับเป็นความจริงในปัจจุบันสำหรับคนอ่านที่เข้ามาฟังเรื่องเล่าต่างกรรมต่างวาระกันอย่างไร? ทั้ง ๆ ที่เรื่องเล่าถึงอดึตที่แต่งขึ้นนั้น มันเป็นเพียงภาพลวงตา” ลองคิดดูไปก่อนก็ได้ว่า... ชาวบล็อกบางท่านที่ยังเยาว์วัยอยู่เมื่อโตขึ้นแล้ว กลับมาอ่านงานของตนเอง(ตัวเก่า)เล่าไว้แล้ว ก็เท่ากับว่าคนอ่านคนเก่ากำลังพูดคุยกับคนอ่านคนใหม่อยู่ร่ำไปใช่ไหมครับ หรือว่า...คนที่เขียนเล่าไว้เมื่อตอนยังไม่แต่งงานแล้วกลับมาอ่านเมื่อมีครอบครัวมีลูกแล้ว ก็เท่ากับคนมีครอบครัวได้พูดคุยกับคนที่ยังโสด...สด ๆ อยู่เสมอนั้นแล้ว หรือว่า...คุณแม่ คุณยาย ที่กำลังเลี้ยงหลานอยู่ พากันแก้ง่อมด้วยการเขียนเล่าความคิด ความรู้ ความเห็นวันแล้ววันเล่าไว้บนบล็อกในรูป “ปูม..เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน” เพิ่มพูนทับถมกันเป็นห้องสมุดขนาดย่อมประจำบ้านเลย เมื่อเด็กนั้นโตขึ้น ได้มาอ่าน/มาฟังเรื่องแต่งที่คุณแม่คุณยายเล่าไว้ ก็เท่ากับเป็นความจริงในปัจจุบันของพวกเขาอยู่นั้นเองใช่ไหมครับ

เขียน ๆ กันไว้เถอะครับ เพราะในความเห็นของผมแล้ว “งานของชาวบล็อก/บล็อกเกอร์ คืองานสร้างสมความรู้ไว้เป็นทุนสำหรับลูกหลานของเราในอนาคต ที่จะด้องมีชีวิตอยู่ในโลก – สังคมแห่งความรู้ -”


หมายเหตุ (ที่ยาวมาก): ความจริงแล้ว บล็อกวันนี้ควรจะเป็นตอนจบของชุด “บ่นกะเพื่อนเก่าในกระปุก” แต่ต้องออกโรงมาแซงคิวก่อน ก็เพราะวันนี้เป็นวันสิ้นปีเก่า 2005 (๒๕๔๘) ก็ควรจะมีอะไรที่แลดูเป็นจริงเป็นจังไว้บ้าง ส่วนเรื่องเล่าถึงเพื่อนเก่าของผม ก็ยังคงจะ “แคะกระปุก” ออกมาหากินกันอยู่ต่อไปครับ ...

ขอให้ม่วนชื่นในงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันทุกครอบครัววงสาคณาญาติ กันทุกผู้ทุกคน ส่วนครอบครัวผมทุกเย็นวันที่ ๓๑ ธันวาคมของปี ก็ต้องไปเข้ารวมหมู่ญาติ... กินเลี้ยง ร้องรำทำเพลง จับของขวัญ อวยพรกัน ที่บ้านย่าแดงบ้านปู่อาทิตย์ แถว ๆ ถนนหน้าอำเภอไปวัดพระสิงห์ ทุก ๆ ปีไม่ได้ขาด (ผมมาอยู่เชียงใหม่ร่วม ๓๐ ปีแล้ว ก็เลยมีผู้หลักผู้ใหญ่ทางเหนือท่านเมตตาเอ็นดูรับไว้เป็นลูกเป็นหลานร่วมวงสาคณาญาติตระกูลย่อม ๆ ของท่านไปแล้วครับ) ใกล้เที่ยงเข้ามาแล้ว นี่ก็ต้องไปส่งพนักงานแบงก์ไปปิดรายงานสิ้นปี พร้อม ๆ กับต้องรีบพาลูกไปซื้อของขวัญ...(เขาตื่นเต้นกันทุกปีนั้นแหละ) แล้วในฐานะที่เรามีบ้านอยู่เชียงใหม่ก็ต้องไปช่วยกัน เตรียมงาน อาหาร จัดสถานที่ จัดของขวัญจับสลาก เตรียมการแสดงของลูกหลานรุ่นอนุบาล และคอมพ์กับเครื่องเสียงสำหรับเด็กโตกับคนไม่ยอมเฒ่าไว้ร้องคาราโอเคกัน ให้เรียบร้อยก่อนห้าโมงเย็น ส่วนชาวกรุงที่กลับบ้านมา ส่วนใหญ่ก็พาคณะเพื่อน ๆ ที่ทำงานถือโอกาสมาเที่ยวเชียงใหม่กัน เย็น ๆ ก็เข้ามากินข้าวเย็นกันที่บ้านพ่อแม่ ทั้งปีใหม่สากล ทั้งสงกรานต์ปีใหม่เมือง(เหนือ) หลาย ๆ ปีเข้า... ผมเลยทำอาหาร รับแขก (แ...ดก เหล้า เก่งซะไม่มี..ดี)ไปโดยธรรมชาติ...อิอิ
อยู่ดีมีสุขกันถ้วนทั่ว ทุกหัวตัวคนครับ.

ปล. ไม่มีเวลาแต่งเนื้อบล็อกให้สวยงาม เรียบร้อย ... ต้องรีบไปก่อน จะโพสต์ไว้ก่อน แล้วค่อยมาตกแต่งภายหลัง ท่านที่ว่างเข้ามาอ่านก่อนจะได้ไม่เหงาครับ.

posted by a_somjai | December 31, 2005 @ 11.59 am | เรื่องเล่า, อดีต, ปัจจุบัน, ความจริง | ครอบครัว, งานเลี้ยง, ปีเก่า, ปีใหม่ |




 

Create Date : 31 ธันวาคม 2548    
Last Update : 31 ธันวาคม 2548 16:07:18 น.
Counter : 522 Pageviews.  

บล็อกเบา ๆ: บ่นกะเพื่อนเก่าในกระปุก (๑)

เพื่อนน่ะเหรอ?
คิดถึงอะไรบ้างล่ะ?


๑. เมื่อเกิดมา (ก่อนกึ่งพุทธกาล ๓ ปี) คนที่สัมผัสเราคนแรกในโลก ไม่ใช่แม่ ไม่ใช่พ่อ แน่นอนไม่ใช่ แต่ต้องเป็นหมอตำแยแน่ ๆ ทีมหมอตำแยทำคลอดเราอาจมีสองมือของยายอยู่ด้วยก็ได้ (แม่ของแม่ เป็นลาว/ไทพวน เราจึงเรียกท่านว่า แม่ตู๊ คำว่า ตู๊หรือตู้ หมายถึงนม เต้านม คือเป็นอู่ให้น้ำนม อันเป็นการถ่ายทอดทางสายเลือด, และในทำนองเดียวกัน ควายแก่เฒ่าแล้วจึงนับเป็นบรรพชนกระบือ จึงเรียกว่า ควายตู้ ด้วยประการฉะนี้) ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นหมอตำแยตอนเราคลอด ลืมถามพ่อ-แม่ หากท่านจะบอกเราก็คงไม่รู้จักดอกเนาะ เพราะเมื่อเราเกิดได้ไม่กี่เดือน พ่อก็พาครอบครัวย้าย(ราชการ)ไปอยู่อำเภออื่น(ของจังหวัดขอนแก่น)แล้ว

เมื่อมาคิดถึงคนรุ่นปัจจุบัน คนทำคลอดลูก ๆ ก็คือพวกแพทย์พยาบาล เพราะโดยปกติเด็กมักเกิดที่โรงพยาบาล พวกเขาก็จึงไม่รู้จักแล้วว่าใครทำคลอดให้ จะว่าไปแล้วทั้งหมอตำแย และหมอพยาบาล เราและลูก ๆ ก็ไม่ค่อยรู้จักหรือน้อยคนที่รู้จักและผูกพันกับคนทำคลอดอยู่ดี เว้นแต่บางคนที่พ่อแม่บอกว่าเป็นหมอ/พยาบาล ที่แม่ฝากท้องไว้เป็นผู้ทำคลอดให้ (ความจริงในใบเกิด/สูติบัตร น่าจะให้เกียรติผู้ทำคลอดด้วยการลงชื่อท่านไว้ด้วย แทนที่จะมีแต่เจ้าหน้าที่นายทะเบียน ...อันนี้ขอฝากท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขคนปัจจุบัน ญาติฝ่ายข้างเมียผมไว้ด้วยก็แล้วกัน..ไม่ฮา)

พ่อแม่บางคนนอกจากให้คุณหมอคลินิกนั้นตรวจดูแลตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์แล้ว ยังให้ดูแลสุขภาพเด็กต่อเนื่องไปจนโตพ้นวัยเด็กลวดเลยก็มี แต่ก็อีกนั่นแหละหากไม่ใช่ญาติกันหรืออยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันจริง ๆ แล้วละก็ ตัวเรานั้นก็คงไม่ได้ผูกพันกันกับคุณหมอนั้นอีกต่อไปแล้ว

ที่แน่ ๆ ตอนเด็ก ๆ เรามีพี่เลี้ยงมาช่วยแม่ดูแลบางช่วงเวลาสักสองคนนี่แหละ นี่ก็เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนเก่าได้อีก เพื่อนพี่เลี้ยงคนแรกคิดว่าเป็นน้าผู้เป็นน้องสาวคนเล็กของแม่

เหตุที่ต้องมีคนมาช่วยเลี้ยงเด็กก็เพราะว่าบ้านเรามีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึงเจ็ดคน พี่สาวคนหนี่งเสียชีวิตไปตั้งแต่เรายังไม่เกิด เลยเหลือกันอยู่หกคนจนปัจจุบันนี้ ไม่รู้ว่าน้าสาว(ตอนนั้น)มาช่วยแม่อยู่กี่เดือน แต่คิดว่าคงไม่นาน พอเราโตขึ้นมาหน่อย ก็มีพี่ผู้หญิงลูกเพื่อนบ้านมาช่วยเลี้ยงเราตอนกลางวัน เพราะพี่ ๆ เรารุ่นห่างกันห้าปีขึ้นไปก็คงไปโรงเรียนกันหมดแล้ว ส่วนลูก ๆ คนที่ยังไม่เข้าโรงเรียน(อย่างพี่สาวคนถัดปีกันกับเรา ...อยู่ในบล็อกแก๊งนี่แหละ สังเกตุเอาจากข้อความข้างหน้าละกัน) กับน้องสาวคนสุดท้อง ก็คงเป็นภาระยั้วเยี้ยรุงรังอยู่กันเต็มบ้านช่อง แม่คนเดียวคงเอาไม่อยู่

อีกทั้งไหนจะงานบ้านการเรือน ซ้ำสมัยเริ่มพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย (มีมาก่อนการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ ปี พ.ศ. 2504) ไหนแม่(เมียข้าราชการชั้นผู้น้อย)จะต้องเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ เลี้ยงหมู ปลูกผักสวนครัว ตามนโยบายรัฐบาล ไว้ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวอีก โอ๊ย..ไหนจะเรื่องน้ำท่า น้ำกินน้ำใช้ ที่กันดารขาดแคลนกันในภาคอีสานอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ อย่างบทกวีนายผีว่า “ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย” นั้นแหละของจริงเลย ก่อนนั้นยังไม่มีน้ำบาดาลใช้เสียด้วยซ้ำ อย่าถามหาน้ำประปาเลย (ถึงตรงนี้ยั้งการสาธยายความไว้บ้างดีกว่า เดี๋ยวมีคนเล่นบทโศก อย่างน้อยก็ Samranjai คนหนึ่งล่ะ...อิอิรู้ทัน)


๒. เพื่อนในบ้านอีกกลุ่มใหญ่ ก็พวกพี่ ๆ กับน้องของเรานั้นแหละ แต่ว่าเราเป็นลูกคนที่ห้า(ถ้าไม่นับพี่สาวที่ตายไปมื่อยังเด็ก) จึงไม่ค่อยรู้เรื่องของพี่ ๆ ตอนเด็ก ๆ นัก พี่สาวคนโต ก็เพิ่งเกษียณอายุราชการไปเมื่อสิ้นกันยายนศกนี้แหละ ห่างเราตั้งแปดปี ต่อมาพอแม่เสียชีวิตไป พี่เราก็ต้องสวมบทบาทคุณแม่ยังสาวเลี้ยงน้อง ๆ เหมือนมีลูกแล้ว ก็ลำพังพ่อหม้ายเรือพ่วงข้าราชการระดับล่างอย่างพ่อเราจะเอาแรงที่ไหนมาดูแลลูกได้ทั่วถ้วนเล่า คนรุ่นพ่อแม่เรามีลูกมากก็เพราะว่าสมัยนั้น รัฐยังไม่มีบริการการวางแผนครอบครัวให้นะซี พวกท่านจึงจะมีลูกกันชนิดที่ว่าปีเว้นปีก็ว่าได้


นี่ขนาดยังไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนข้างบ้านเลยนะ เนื้อบล็อกก็ยังยืดยาวเป็นนิยายรายสัปดาห์ขนาดนี้แล้ว ขอยั้งไว้ก่อนละกัน ขยักไว้เล่าต่อช่วงปิดปีใหม่หลายวัน เพราะไม่ได้ไปไหน ยกเว้นไปส่งเจ้านายไปทำรายงานสิ้นปี เฮ้อ! พนักงานแบงก์เนี่ยะนะ เย็นนี้(๓๐) ก็กินเลี้ยงส่งท้ายปีเก่ากัน รุ่งขึ้นอีกวัน ๓๑ ธันวาก็ไม่ได้หยุด แล้วยังวันที่ ๓ มกรา แบงก์ชาติก็ไม่ให้หยุดอีก.. ที่บ่นนี่ไม่ได้สงสารเมียเท่าใดดอก แต่ขี้เกียจหาข้าวให้ลูกกินตะหาก ก็เด็กมันหยุดนี่เนาะ... ไอ้เราก็ปั่นรายงานส่งเขาไปจะได้เกษียณตัวเองจากงานประจำออกมาเป็นพ่อบ้านเต็มรูปแบบเสียที แล้วจะได้ไม่ต้องคอยแอบแว๊ปเล่นเน็ตไป...คงม่วนหลายเด้ (คงกระเทือนซาง on the job blogging/bloggers หลายหน่อละซิท่า...อิอิ)

สวัสดี.
(วันนี้งดเติมสีตัวอักษรและงดภาพประกอบเรื่องสักวันเถอะเนอะ)

Posted by a_somjai | December 30, 2005 @ 10.49 am | ครอบครัว, เพื่อน, เรื่องส่วนตัว |




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2548    
Last Update : 31 ธันวาคม 2548 1:04:16 น.
Counter : 438 Pageviews.  

บล็อกเบา ๆ: จดหมายรักที่ยังไม่ได้เขียน – Unwritten Love Letters

จาก: ฉันเอง
ถึง: คุณ ที่รัก
เมื่อ: ไม่ลงวันเวลา
หัวข้อ: Unwritten Love Letters
สิ่งที่ส่งมาด้วย: "รัก" ภาษาปะกิตสะกดยังไงอะ?
















By 蓬生麻中's photostream



ปล. No Reply




Posted by a_somjai | December 29, 2005 @ 04.59 am | จดหมาย | บทกวี | วรรณกรรม |




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2548    
Last Update : 29 ธันวาคม 2548 17:02:54 น.
Counter : 601 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.