<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

เพื่อนเก่าในกระปุก: กาเหว่ายุคกระดานชนวน (๙)

วันนี้มีเรื่องที่คนอื่นเขาเล่าไว้ได้ดีแล้ว เลยเก็บเอามารวบรวมไว้ และแนะนำของดี ๆ สู่กันต่อ ๆ ไป
เพราะคิดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อ “คุณแม่ คุณยาย คุณพี่ ป้า น้า อา กำลังเลี้ยงหลานอยู่” ทั้งในเมืองไทยเรา และโดยเฉพาะบล็อกเกอร์ที่อยู่ต่างแดน




เรื่องแรกคือ ความรู้เกี่ยวกับกระดานชนวน

"ลักษณะโดยทั่วไปของ กระดานชนวน คือมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมสีดำ มีกรอบหุ้มทั้งสี่ด้าน ขนาด มาตรฐาน กว้าง 10 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว มีวางขายให้เห็นอยู่ ตามตลาดขายของทั่ว ๆ ไป ที่เห็นมากก็ที่แถบอำเภอ แม่สอด จังหวัดตาก ใช้สำหรับฟั่นธูปหอม เวลาใช้แกะเอากรอบไม้ออกทั้งสี่ด้าน สมัยโบราณกระดานชนวนใช้หัดเขียนหนังสือสำหรับเด็กที่เขาเรียนชั้นต้น ๆ เมื่อเขียนแล้วถ้าไม่ต้องการก็ลบออกแล้วเขียนใหม่ มีความแข็งแรงและทนทาน

"การเก็บรักษากระดานชนวน ต้องระมัดระวังมากเพราะกระดานชนวนเป็นแผ่นหิน ใช้เขียนแล้วลบได้ ต้องระวังการตกลงพื้นจะทำให้กระดานแตกได้ง่าย แต่นํามาฟั่นธูปได้ดีเพราะกระดานจะเรียบและดูดน้ำจากผิวธูปให้แห้งหมาดทําให้ฟั่นง่าย ขนาดของแผ่นยาวพอดีกับขนาดของธูป เคลื่อนย้ายไปทําในที่อื่นได้ง่าย เพราะเป็นกระดานขนาดเล็ก ใช้แล้วก็ล้างและเช็ดให้แห้งพิงซ้อนกันไว้"

(หยิบมาจากแบบเรียนการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน แล้วตบแต่งหน้าตาเสียใหม่ จากข้อความกระท่อนกระแท่นต้นฉบับจากหน้าที่ google เก็บไว้ ไม่รู้แหล่งที่มาชัดเจนเพราะเข้าไปเวปไชต์ต้นทางไม่ได้ หากอยากเห็นภาพประกอบก็เลื่อนไปดูได้ที่ตอนท้ายของหน้าบล็อกวันนี้)







เรื่องที่สองก็คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการเรียนในโรงเรียน ยุคที่ยังใช้กระดานชนวนเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนกันอยู่

หยิบมาจาก : //www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Kid/k144/k144_31.html#top เป็นเวปไซต์เครือข่ายของชาวอโศก (เครือข่ายอโศก Asoke network หรือ asoke.info) ต้นฉบับตีพิมพ์ในหนังสือ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕ เรื่อง แว้งที่รัก ตอน โรงเรียนสันโดษ (ตอนที่ ๒) เขียนโดย ชบาบาน ลองอ่านกันดูสนุกดีมีความรู้

“เมื่อน้อยไปโรงเรียนครั้งแรก พร้อมกับมามุนั้น ต่างคนต่างมีกระดานชนวน และ หนังสือ หัดอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ ไปด้วย เพราะจำเป็นต้องใช้หนังสือ สำหรับหัดผสมอักษร และแจกลูก ส่วนกระดานชนวน เอาไว้สำหรับ หัดเขียน ตัวหนังสือ และตัวเลข
หนังสือและกระดานชนวน ของมามุใหม่เอี่ยม โต๊ะซารี ยายของเขา เพิ่งซื้อให้ ก่อนไปขึ้นโรงเรียนนี่เอง ส่วนของน้อย เป็นของเก่า ที่รับช่วงมาจากพี่แมะ น้อยรู้สึกอิจฉา มามุนิดๆ
………
………

“กระดานชนวน เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด สำหรับหัดเขียนหนังสือ พ่อบอกว่า เด็กนักเรียน เล็กๆ อย่างเธอ ใช้กระดานชนวน เหมือนกัน ทั้งประเทศไทย กระดานชนวนนี้ เขาทำมาจากหินชนวนสีดำ ตัดเป็นแผ่น สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกรอบเป็นไม้ ทั้งสี่ด้าน เพื่อกันไม่ให้แตกง่าย เขาเจาะรูตรงกลาง ของกรอบไม้ด้านบนไว้ พ่อได้เอาเชือกป่านเหนียวๆ สอดเข้าไปผูกเป็นห่วง สำหรับให้น้อย และมามุ หิ้วไปโรงเรียน ได้สะดวก แต่น้อยคิดว่า การถือแนบไปกับตัว หรือแนบกับอก แบบเพื่อนนักเรียนคนอื่น ทำกันดูโก้ดีกว่ามาก มามุก็ว่าอย่างนั้น เหมือนกัน ทั้งสองคนจึงตกลงใจ ถือแบบเพื่อนๆ ที่โรงเรียน แต่พอกลับมาบ้าน ก็เอามาแขวน กับตาปูข้างฝา อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีตัวหนังสือ และตัวเลข ที่คุณครูให้เธอทำ เป็นการบ้าน อยู่บนนั้น สำหรับให้พ่อตรวจ ตอนกลางคืน

“กระดานชนวนนี้ ใช้เขียนได้ทั้งสองหน้า คือเมื่อเขียนด้านหนึ่งเต็มแล้ว ก็พลิกไปเขียนอีกด้านหนึ่งได้ กรอบไม้ ทั้งสี่ด้าน จะช่วยไม่ให้หน้ากระดาน ที่เขียนแล้ว ไปครูดกับพื้นโต๊ะเสีย และเมื่อเขียนเต็ม หมดทั้งสองหน้า แล้ว แต่ยังต้องการเขียนอีก ก็ต้องลบที่เขียนเก่านั้น ออกเสียก่อน เด็กนักเรียนรุ่นน้อย ลงความเห็นว่า ไม่ควรใช้มือลบ เพราะฝ่ามือจะเลอะ ต้องใช้เศษผ้าชุบน้ำ แต่ลบด้วยเศษผ้า ก็ยังไม่ดีนัก เพราะแค่ลบ ที่เขียนแล้ว ออกเสียเท่านั้น กระดานชนวนที่ดี จะต้องลื่น ไม่สากมือเลยแม้แต่น้อย เด็กๆ จึงสรรหาวิธีต่างๆ มาลบ กระดานชนวนของตน จนกลายเป็นเรื่องพิเศษไป

“บางคนลองเอายอดอ่อน ของใบไม้ข้างโรงเรียนมาถูๆ เข้า แล้วก็รู้สึกว่า กระดานของตัว เขียนลื่นขึ้น อาจเป็นเพราะยอดไม้ มีความชื้นอยู่บ้าง ทุกคนก็พากัน เฮละโล เอาอย่างเพื่อนคนนั้นอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ เพื่อนอีกคน จะค้นพบวิธีที่ดีกว่า ใบไม้อ่อน คือใช้เมล็ดอ่อนของชา ที่ข้างในมีเมือกใส มาถู ถูกระดานชนวน ให้ทั่ว น้อยทดลอง ทำตามที่เพื่อนบอก เธอรู้สึกว่า กระดานลื่นดีมาก ทุกคน จึงหันมา นิยมกัน อยู่พักหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไปใช้ วิธีโน่นนี่ใหม่ ต่อไปอีกเรื่อยๆ

“การเขียนบนกระดานชนวน ต้องใช้ดินสอหิน น้อยและมามุต่างมีของตน คนละแท่ง เป็นดินสอหิน ที่ซื้อมา จากร้านเดียวกัน ในตลาดแว้ง ทั้งสองคน ต้องระวังไม่ให้ตก เพราะมันอาจหักได้ สีของมันเป็น สีเดียวกับ กระดานชนวน คือสีเทาเกือบดำ มีกระดาษลวดลาย พันอยู่โดยรอบ ปลายข้างหนึ่ง ของดินสอหินนี้ตัดเรียบ อีกข้างหนึ่ง เขาเหลามาให้เสียแหลมเปี๊ยบ พร้อมที่จะใช้เขียนได้ทันที พอเขียนไป จนดินสอทู่ ก็ต้องใช้ มีดเล็กๆ เรียกกันว่า มีดเหลาดินสอ เหลาให้แหลมใหม่ เวลาเหลา ต้องเอาปลายดินสอที่ทู่นั้น ปักตรงลงไป บนพื้นอะไรก็ได้ แล้วใช้มีดค่อยๆ เหลาทุกด้าน จนปลายแหลมเปี๊ยบ ถ้าดินสอเกิดทู่ที่โรงเรียน ก็เอาไปฝน กับพื้นซีเมนต์ เวลาฝน ต้องหมุนดินสอ ไปให้รอบเท่ากันทุกด้าน เหมือนเหลากับมีด จึงจะได้ดินสอ ที่แหลมสวย ตามต้องการ ของเหล่านี้เด็กๆ เรียนรู้กันเอง ด้วยการทำ ตามอย่างกัน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่ต้อง มีผู้ใหญ่สอนก็ได้

“วันแรกที่น้อยเดินไปโรงเรียนกับมามุ เธอเกือบทำหนังสือเล่มสวย และ กระดานชนวน ตกจากมือ เพราะตอน เดินผ่านดงต้นเหมล ที่ขึ้นทึบ อยู่สองข้าง ทางเดิน จากบ้านมาคลองแว้งนั้น เธอเกิดมองเห็น ลูกเหมล ที่สุกเป็นช่อสีม่วงแก่ ดูน่ากินขึ้นมา ในเช้าวันนั้น ทั้งๆที่ทุกวัน มันก็มีลูกดก อยู่เป็นประจำ และ เธอก็ไม่ได้ชอบ ลูกไม้ข้างทางชนิดนี้ เป็นพิเศษแต่อย่างใด น้อยชวนมามุ ให้หยุดก่อน แล้วสองสหาย ก็พากันเขย่ง จนหนังสือ และกระดานชนวน เกือบตก เพื่อเอื้อมเก็บลูกเหมล ใส่ปากรับประทาน ลูกแล้ว ลูกเล่า เนื้อของมันมีสีม่วงแก่ รสออกหวาน รับประทานกันไปคนละหลายลูกแล้ว จึงนึกได้ว่า ลูกเหมล ทำให้ลิ้น เป็นสีม่วงเกือบดำ ริมฝีปากก็เป็นสีม่วง แถมฟันก็เป็นสีม่วง ด้วยเหมือนกัน”







เรื่องที่สามคือ หนังสือเวปไซต์(เป็นหนังสืออีเลคโทรนิคส์ที่อยู่บนเวปไซต์จริง ๆ )ที่อยากขอแนะนำให้คุณแม่คุณยายหรือญาติผู้ใหญ่ที่เลี้ยงหลานเชื้อสายไทยอยู่ ควรเข้าไปดูไปใช้ครับ เพราะนอกจากมีทั้งเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมของไทยเราให้ได้อ่านได้ดูแล้ว หากเปิดหน้าเวปแขวนไว้ (เหมือนเปิดวิทยุทิ้งไว้) ก็จะมีเสียงเพลงบรรเลงทำนองไทยเดิมและทำนองพื้นถิ่นพื้นบ้านทุกภูมิภาคของไทยเปิดให้ฟังอยู่ตลอดเวลา (จะกดปุ่มปิดเสียเมื่อไรก็ได้)

เอาช้อมูลแนะนำหนังสือในเวปไซต์ก่อนละกัน//www.siamweb.org/thailand/children/cover_ef.html

ตราสมโภช 200 ปี กรุงเทพฯ


หนังสือเล่มนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวข้องกับเรื่องกระดานชนวนด้วย ชื่อหนังสือว่า รวมเรื่องเยาว์... เล่าสู่กัน เป็นหนังสือที่ระลึก เนื่องใน โอกาส สมโภช ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ขึ้น เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ (ค.ศ. 1982) เป็นอภินันทนาการ จากบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด ด้วยคุณค่าของ หนังสือเล่มนี้ จึงขอนำเนื้อหา ภายในเล่ม ทั้งหมด มาแปล เป็นภาษาอังกฤษ แล้วจัดทำ ให้อยู่ในรูปของ เอกสาร HTML เพื่อเผยแพร่ เป็นประโยชน์ แก่บุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ได้อ่าน รู้จักอดีต และร่วมชื่นชม คุณค่า ของปฐมวัย










และต่อไปนี้คือเรื่องราว เกี่ยวกับกระดานชนวนและการเรียนการสอนในโรงเรียนศาลาวัดในสมัยนั้น





"เนื่องจากการพิมพ์ยังไม่เจริญ ตำราที่มีอยู่ ล้วนเป็นลายมือเขียนจาร ลงบนใบลาน หรือสมุดข่อย เก็บไว้ในตู้พระธรรมของวัด การเรียนการสอน จึงต้องอาศัยการคัดลอก และท่องจำให้แม่นยำ

"........กระดาษสมุดสำหรับเด็ก ยังไม่มีแพร่หลายหาซื้อง่ายดาย อย่างเดี๋ยวนี้ กระดานชนวน คือสมุดที่ใช้ไม่รู้หมดของเด็กสมัยก่อน ใช้เขียนกับดินสอหิน หรือดินสอขาว ที่ทำจาก ดินขาว ปั้นเป็นแท่ง ก็ประหยัดดี เขียนแล้วลบ แล้วเขียนใหม่ ได้เรื่อยไป จึงต้อง จำบทที่ลบไป ให้แม่นยำด้วย นอกจากนี้ กระดานชนวนยังทนทาน ใช้ต่อกันมา ได้ถึงน้องถึงนุ่ง

"........การสอนอ่านตัวหนังสือ อ่านตัวสะกด ก. ข. ก. กา นั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ก้านธูป ซึ่งหาได้มากมายในวัด พระจะให้เด็กถือไว้แล้วจิ้มตัวหนังสืออ่านดังๆ ไปทีละคำ ให้พระท่าน ฟัง เพราะเด็กๆ ความจำดีจนท่องได้ปาวๆ แบบนกขุนทองได้ทั้งหน้า แต่ไม่รู้หรอกว่า ที่ท่อง อยู่นั้นคือตัวไหน หน้าตาเป็นอย่างไรแน่"




โรงเรียนศาลาวัด


"บางครั้ง เด็กที่พ่อแม่พามาฝากเล่าเรียน มีมากเกินกว่าจะสอนกันตัวต่อตัว ทางวัดก็ใช้ ศาลาการเปรียญนั้นเองเป็นห้องเรียน เด็กๆ จะนั่งล้อมกันเป็นวงรอบ พระสงฆ์ หัดอ่าน หัดท่อง ส่งเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ เนื่องจากผู้สอนเป็นพระสงฆ์ในศาสนา เรื่องราวที่สอน ก็ไม่หนี เรื่องราวต่างๆ ในชาดก วรรณคดีต่างๆ บางทีเด็กๆ พลอยได้เรียน ภาษาบาลี ภาษามคธ จากพระอีกด้วย ซึ่งบางคนก็บวชเรียน ศึกษาความรู้ สอบขึ้นไปสูงๆ เมื่อลาบวชก็มีความรู้ดี อ่านเขียนได้แตกฉาน สามารถรับราชการได้"







ส่วนเรื่องสุดท้าย ก็เก็บจากหนังสือที่อ้างถึงข้างบนนี้แหละ (วันนี้เรื่องยาวหน่อย เพราะจะเก็บบันทึกไว้เป็นหลักเป็นฐานด้วย)

คุณค่าของ “รวมเรื่องเยาว์... เล่าสู่กัน” นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีส่วนของเพลงกล่อมเด็กจากภูมิภาคพื้นบ้านต่าง ๆ บันทึกไว้ด้วย โดยจะมีเนื้อเพลง เสียงร้องเพลงประกอบอีกทุกสำนวน ในส่วนของเนื้อร้องคำประพันธ์นั้นนอกจากลงไว้เป็นภาษาไทยแล้ว ยังมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษอีกด้วย อ้อ…ก็อย่างที่แนะนำไว้…เขามีเนื้อเรื่องทั้งหมดเป็นสองเวอร์ชั้นทั้งไทยและอังกฤษให้เลือกเข้าไปด้วยล่ะ ที่โค๊ตมาลงไว้วันนี้เป็นเนื้อเพลง “กาเหว่า” ที่คนรุ่นเรา (ก็พวกอายุเกือบห้าสิบขึ้นกระมัง) คุ้นเคยกันดี เอาเป็นว่าที่เลือกเพลงนี้มาก็เพราะว่า “บล็อกเกอร์ไกลบ้าน ต่างก็เปรียบเหมือนแม่กาดำ บางท่านได้อยู่เลี้ยงลูกของตัวเองบ้าง ลูกหลานของญาติบ้าง หรือลูกของนายจ้างบ้างก็คงมี” หากอยากฟังเสียงร้องเพลงประกอบด้วย ก็ต้องตามลิงค์เข้าไปฟังกันเองนะครับ

กาเหว่า

กาเหว่าเอย ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก
แม่กาก็หลงรัก คิดว่าลูกในอุทร
คาบเอาข้าวมาเผื่อ ไปคาบเอาเหยื่อมาป้อน
ถนอมไว้ในรังนอน ซ่อนเหยื่อมาให้กิน
ปีกเจ้ายังอ่อนคลอแคล ท้อแท้จะสอนบิน
แม่กาพาไปกิน ที่ปากน้ำพระคงคา
ตีนเจ้าเหยียบสาหร่าย ปากก็ไซ้หาปลา
กินกุ้งแลกินกั้ง กินหอยกระพังแมงดา
กินแล้วก็โผมา จับที่ต้นหว้าโพธิ์ทอง
ยังมีนายพราน เที่ยวเยี่ยมเยี่ยมมองมอง
ยกเอาปืนขึ้นส่อง จ้องเอาแม่กาดำ
ตัวหนึ่งว่าจะต้ม อีกตัวว่าจะยำ
กินนางแม่กาดำ ค่ำวันนี้อุแม่นา






Posted by a_somjai | January 26, 2006 at 11.55 am. | ครอบครัว, เรื่องวัยเด็ก, การศึกษาประชาบาล, โรงเรียนศาลาวัด, กระดานชนวน, เพลงกล่อมเด็ก, กาเหว่า |




 

Create Date : 26 มกราคม 2549    
Last Update : 26 มกราคม 2549 23:09:00 น.
Counter : 1460 Pageviews.  

เพื่อนเก่าในกระปุก: ก. ไก่ ในกระดานชนวน (๘)


การจัดการศึกษาเบื้องต้นสำหรับทวยราษฎร์ หรือ เรียกว่า “การศึกษาประชาบาล” นั้น ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ (อีกสองปีข้างหน้าก็ครบ 100 ปี) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๕) ทรงมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ กระทรวงธรรมการ กับ กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย ได้ทำการตกลง… ว่า “ การจัดการศึกษาชั้นต้น คือ ประถมศึกษา จะจัดให้มีโรงเรียนทุกตำบลทุกละแวกบ้าน ให้พอแก่เด็กในวัยเรียนทั่วราชอาณาเขต การศึกษาชั้นสูงขึ้นไปคือตั้งแต่มัธยมศึกษา ก็ให้มีโรงเรียนตั้งขึ้นในชุมชนเป็นแห่ง ๆ มากน้อยตามความต้องการของท้องถิ่น โรงเรียนแยกออกโดยประเภทเงินสำหรับใช้สอย มีอยู่ 3 ประเภท คือ โรงเรียนรัฐบาล…ใช้เงินเบิกตรงต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โรงเรียนประชาบาลบำรุงด้วยเงินพิกัดหัวนักเรียน อากร เงินช่วยเหลือ เงินอื่น ๆ สุดแล้วแต่จะหาได้ และโรงเรียนบุคคล (โรงเรียนราษฎร์/โรงเรียนเอกชน ในปัจจุบัน)”


อะแฮ่ม…อ่านถึงนี้ อย่าเพิ่งเบื่อล่ะ กำลังแคะกระปุกออกมาปูพื้นท้องเรื่องจ๊ะ…. เราเข้าโรงเรียน ชั้น ก. ไก่ เมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๔ นั้น เป็นโรงเรียนประชาบาลของหลวง ต้องรู้ที่มาที่ไปกันก่อน (เพราะโรงเรียนสำหรับสอนคนให้เป็นตน ไม่ได้ถูกสร้างและเนรมิตให้ตั้งอยู่โดยเทวดาฟ้าดินที่ไหนดอก ก็คนเรานี่แหละตั้งกันขึ้นมาดำเนินการ) จนปัจจุบันนี้ (2548 – 2549) เห็นไหมว่า สังคมประเทศไทยเรา(โดยรัฐบาล)กำลังจะถ่ายโอนการบริหารการศึกษาไปขึ้นกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แล้วก็มีการต่อต้านจากฝ่ายข้าราชการครูจำนวนหนึ่งอยู่ เป็นข่าวความขัดแย้งในสังคมอย่างต่อเนื่อง แม้ดูแนวโน้มแล้วฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)จะทำการจนสำเร็จ แต่ความขัดแย้งก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

“โรงเรียนประชาบาลและโรงเรียนบุคคลนี้ กระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทยแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ คือ กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ฝ่ายบริหาร เป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนประชาบาล ชักนำเด็กให้เข้าเรียน หาครูสอน หาเงินมาบำรุงโรงเรียน รับจดทะเบียนและเป็นเจ้าของปกครองโรงเรียน จัดให้มีที่เล่าเรียนเพียงพอแก่จำนวนเด็กที่มีอายุเข้าเกณฑ์เรียน ส่วนกระทรวงธรรมการเป็นผู้วางระเบียบการ หลักสูตร ตรวจตราการฝึกสอนด้านวิชาการ และเฉลี่ยแบ่งเงินบำรุงการศึกษาให้บ้างตามสมควร”


เอาล่ะ….ถ้าคนรู้มาก คิดมาก (ก็มักจะยากนาน) ซึ่งอาจจะทำให้ คนรู้น้อย คิดน้อย พลอยรำคาญ แต่ถ้าหากอยู่เฉยไม่ได้ต้องคิดต่อไปด้วยอดรนทนไม่ได้ แล้วละก็ ก็ลองตรองดูก็ได้ว่า เรื่องการจัดการศึกษาของชาตินั้น เกี่ยวข้องกับ “อำนาจ “ หรือว่า “เงิน” มาตั้งแต่เริมต้นมีการจัดการศึกษาขึ้นในบ้านเมืองเราหรือไม่ อย่างไร, แล้วเรื่องที่ “เยื้อ ๆ ยุด ๆ กันอยู่ เรื่องการถ่ายโอน การจัดการศึกษาชาติ เวลานี้นั้น มันเรื่องอะไรกันเสียอีกล่ะ” ก็คิด ๆ กันดูเอาเองก็แล้วกัน (ส่วนเรื่องที่ว่า การบริหารการศึกษาในชุมชนใดเมื่อย้ายไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแล้วจะเกิดผลดีหรือว่ามีผลเสียหายมากกว่าตอนเป็นอยู่กับส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาคนั้น ก็เป็นเรื่องของเหตุและผลของแนวความคิดที่แตกต่างกัน ก็ว่ากันไป)

“ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๖) ได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น …มีสาระสำคัญว่า เด็กทุกคนทีมีอายุ ๗ ขวบบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนอายุ 14 ปีบริบูรณ์ การศึกษาประชาบาลเป็นการให้เปล่า …นายอำเภอมีภาระหน้าที่ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล ต้องติดต่อขอความร่วมมือจากประชาชนและวัด ส่วนมากใช้ศาลาวัดเป็นที่เล่าเรียน และพระภิกษุสงฆ์เป็นครูไปพลางก่อน …ต่อมาจึงจ้างบุคคลที่มีความรู้พอสมควรมาเป็นครูสอน … “ครูประชาบาล” ได้รับการยกฐานะจากรัฐบาลให้เป็นข้าราชการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๙๑ นับแต่นั้นเป็นต้นมา กิจการศึกษาประชาบาลก็เริ่มโอนมาให้ทางราชการจัดโดยตรง ทั้ง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น …สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้โอนกิจการศึกษาประชาบาลไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ …. พอมาถึงวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ”


เอาแค่นี้แหละ…..ความจริง “กระปุกของโรงเรียน ก. ไก่” มีเรื่องราวยาวกว่านิยายจีนชุดมังกรหยกเสียอีก …ใครก็ควรรู้ไว้ว่าเรื่องของครู-คุรุ-GURU นั้น เป็นเรื่อง หนัก (ยิ่งใหญ่), จะเอามาพูดเล่น ๆ สั้น ๆ พอขอผ่านไปทีได้ยังไงกัน ท่านที่สนใจมาก ๆ จริง ๆ จัง ๆ ด้วยเหตุที่ตนเคยเป็นครู หรือเกี่ยวข้องเป็นญาติหรือลูกหลานของครูประชาบาล ก็ลองไปค้นคว้าเอกสารอ่านเอาเองเถิดครับ ขอแนะนำเอกสารที่หยิบเอาบางส่วนมานำเสนอไว้ในบล็อกวันนี้ มีสองฉบับ ได้แก่ เอกสารการฝึกอบรมครูใหญ่ประธานกลุ่ม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 25 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออก ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2520 (เอกสารฉบับที่ ๑) และ เอกสารวิจัยหมายเลข 6 ของศูนย์วิจัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาจารย์มนตรี เจนวิทย์การ (๒๕๒๖) เรื่อง การประท้วงของครูประชาบาลในช่วงปี พ.ศ. 2521 – 2523 : บทบาทการต่อสู้ทางการเมือง “กลุ่มไร้อำนาจ” กับการตอบโต้ของรัฐบาล





เราเข้าเรียน ก. ไก่ ในโรงเรียนประชาบาลของหลวง ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก(อนุบาล)แล้วพออายุเข้าเกณฑ์เรียน ก็ต่อชั้น ป. ๑ ที่โรงเรียนเดียวกันไปจนจบชั้น ป. ๔ เมื่อเรียนต่อประถมปลายคือชั้น ป. ๕ สอบเลื่อนชั้นขึ้น ป. ๖ ได้ไม่ถึงสองเดือน เราก็ต้องย้ายโรงเรียนไปอยู่ข้ามอำเภอเลยล่ะ

การย้ายถิ่นชนิดที่เรียกว่า "เป็นการเปลี่ยนแปลงสื่งแวดล้อมทางสังคมตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ของเด็กอายุเพิ่งย่างสิบเอ็ดสิบสองขวบ อย่างกระทันหัน โดยไม่ทันได้ตั้งตัวมาก่อน ของเด็กชายเอ_สมใจ" มีขึ้นก็ด้วยเหตุที่พ่อเราย้ายไปทำราชการอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ที่กำลังได้รับการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไป ด้วยการสร้างเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำท่าเพื่อการชลประทาน การประมง การผลิตกระแสไฟฟ้า และการอุตสาหกรรมการเกษตร มาคิดดูแล้วเราว่าคงเกี่ยวข้องกับ "การเก็บภาษีเข้ากระปุกของรัฐบาล ในช่วงนั้นด้วย" ก็พ่อเรามีตำแหน่งหน้าที่เป็นสมุห์บัญชีเก็บภาษีในเขตของอำเภอชั้นโทนี่นา (ชั้นเอกคืออำเภอเมือง) จะลองไปค้นเรื่องมาตัดต่อดู ถ้าใครอยากรู้ชื่ออำเภอ ก็ลองนึกถึงชื่อเพลงโด่งดังที่สุดของคุณ'หยาด นภาลัย' ดู นั่นแหล่ะใช่เลย ต่อมาถึงปัจจุบันนี้อำเภอใหญ่นั้นก็แตกออกเป็นเขตการปกครองท้องที่ถึงสามสี่อำเภอทีเดียว

ผู้หลักผุ้ใหญ่ของครอบครัวแต่ก่อน ท่านจะทำอะไรในครอบครัวท่านก็ไม่ถามความเห็นของเด็ก ๆ ดอก คงเพราะไม่มีเวลาด้วยกระมัง มาคิดเอาเองว่าพ่อเราก็เป็นเพ่อหม้าย เพื่อความสะดวกท่านเลยเลือกเอาเด็กชายเอ_สมใจ ลูกชายหล้ากับพี่สาวเราอีกคนย้ายไปอยู่ด้วย ส่วนลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ที่อำเภอเดิมอีกสองคนนั้นมอบให้เป็นภาระดูแลของลูกสาวคนโต ซึ่งเรียนจบประกาศนิยบัตรวิชาชีพครูประถมศึกษาชั้นต้น จากวิทยาลัยครูอุดรธานี (เราก็เคยเรียนที่นี้อยู่หนึ่งปี ...มีเรื่องรักแรกก็ตกม้าเลยด้วยแหละ) แล้วพี่เอื้อยเราก็จึงไม่ได้เรียนต่อระดับสูงขึ้นไปอีก จำเป็นต้องออกมาบรรจุเป็นครูประชาบาลโรงเรียนประจำอำเภอ ที่พวกพี่น้องเราเรียนอยู่แต่เดิมนั้น ตั้งแต่ภายหลังปีที่แม่เราเสียชีวิตลงแล้ว

หนังชีวิตอะนะ... เรื่องมันยาว... ตอนพ่อย้ายที่ทำงานนี้ก็คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนในครอบครัวแยกออกเป็นสองหน่วยครัวไฟพื้นฐาน(แยกหัวหน้าครอบครัว แยกที่กิน แยกที่นอน แยกบัญชีรายรับรายจ่าย) อยู่ด้วยกันสามพ่อลูกได้ปีเดียว(อีกคนคือพี่สาวคนถัดขึ้นจากพี 'หนูศรี=samranjai') พี่'หนูณี'ก็ย้ายเข้าไปเรียนโรงเรียนการช่างสตรีในเมืองขอนแก่น ปล่อยให้พ่อกับลูกชายอยู่ด้วยกัน

ถัดมาสักสองสามเดือนเห็นจะได้เราขึ้นเรียนชั้น ป. ๗ แล้ว พ่อเราคงทนว้าเหว่ไม่ไหว ถูกลมพัดหวนไปหอบหิ้วแฟนเก่าสมัยท่านเป็นหนุ่มน้อยอยู่เข้าบ้านมาเป็นคุณนายข้าราชการอำเภอ (คงอกหัก พลัดพรากกันตั้งแต่ตอนอายุเท่ากับเรา...อิอิ เพราะเธอเป็นลูกคนมีฐานะกว่าพ่อที่เป็นลูกชาวนาบ้านนอก เข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมืองอุดรธานี นี่ก็หมอลำอีกเรื่องแหละ) พล็อตหนังชีวิตเรื่อง "พ่อหม้ายกับลูกชายคนหล้า" เลยต้องเปลี่ยนไป เพราะอยู่ ๆ เราก็กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกกับการที่มีน้องหญิงกับน้องชายย้ายเข้ามาอยู่ร่วมเรือนด้วยโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะว่าแม่เลี้ยงของเราเป็นแม่หม้ายเรือพ่วงสองลำเล็ก ความจริงยังมีพ่วงลำใหญ่อีกฝูงนะเนี่ย แต่ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันไม่ได้ไม่ควรเพราะลูกสาวคนโตฝ่ายเขามีครอบครัวแล้ว แต่ก็อะนะ เห็นพ่อเราก็ยังต้องอุปถัมภ์กันไปหลายเหมือนกัน

มาคิดย้อนดูได้ในตอนอายุห้าสิบสองนี้แล้ว จึงรู้ว่าแม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ เพียงปีเดียวก่อนจบประถมปลาย มันก็มีความหมายต่อชีวิตเราที่กำลังผ่านจากวัยเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นมากเหมือนกัน แล้วยิ่งเมื่อพวกเราสี่พี่น้องต้องย้ายเข้าไปเรียนต่อระดับมัธยมในตัวจังหวัดกันด้วยแล้ว(นี่ก็กระปุกอีกใบ) ช่วงปีแรก ๆ สมาชิกในครอบครัวเราก็ยิ่งต้องแยกย้ายกันไปปากกัดตีนถีบกันคนละทิศละทางเลยก็ว่าได้ (หากอยากรู้ว่ายอดมนุษย์อย่างพ่อเราแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร แควน ๆ ญาติมิตรชาวบล็อกเกอร์ก็คงต้องติดตามฟังเรื่องเล่าต่อ ข้างหน้าละกันเนอะ)





ย้อนกลับไปเมื่อสมัยเรียนชั้นเด็กเล็ก หรือ ชั้น ก. ไก่ นั้นอีกรอบ (ตัดต่อย้อนกลับไปมาเหมือนหนังสมัยใหม่เลยนะเนี่ยะ!) ในห้องเรียนจะไม่มีสมุดกระดาษขาว(เมื่อก่อนกระดาษเป็นสีเหลือง จะไม่ขาวอย่างกระดาษที่ฟอกแล้ว กระดาษคงหายากเพราะนอกจากอุตสาหกรรมกระดาษยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้แล้ว ยังเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านมาได้สิบกว่าปีเอง) หรือกระดาษสาแจกให้เด็กเล็กได้เขียนดอก แต่จะมี “กระดานชนวน” กองเรียงไว้แจกให้เด็ก ๆ ในชั้นนำไปใช้ฝึกหัดขีดเขียนอะไรไปตามประสา(ไม่เป็นเรื่อง)ที่ครูดูแลอยู่

สำหรับเด็กเล็ก ๆ แล้วกระดานชนวนนี้เมื่ออยู่ในมือของพวกเราแล้วก็มีโอกาสแตกหักง่ายมาก ด้วยทำตกหล่นบนพื้นห้องบ้าง โยนเล่นบ้าง เล่นตีกันรบกันบ้าง …ที่แตกกระจายไปเลยนั้นก็แล้วกันไป แต่ที่ยังแตกร้าวอยู่ในกรอบไม้อยู่ แล้วครูก็ยังเก็บไว้ให้เด็ก ๆ ได้ใช้อยู่นี่ซี เด็ก ๆ สุดจะทน ไม่อยากได้รับแจกมาใช้ขีดเขียนกันแล้ว เพราะว่าเขียนแล้วจะสะดุดเหมือนเขียนบนแผ่นกระดาษบนพื้นขรุขระโดยไม่มีวัสดุผิวเรียบมารองรับไว้นั้นแหละ

พูดแล้วก็พูดเถอะ(=เว้าแล้วก็เว้าเถาะ =อู้แล้วก่ออู้เต๊อะ)ตอนเป็นเด็กเล็กอยู่ชั้น ก. ไก่ น่ะเราเห็นพวกพี่ ๆ ชั้น ป. ๑ ป. ๒ เขาได้ใช้ดินสอดำ มียางลบ เขียน/วาดบนสมุดกระดาษที่ทางโรงเรียน(หลวง)แจกให้แล้ว เราอยากมีอยากได้อย่างนั้นบ้าง จำได้ลาง ๆ ว่า คุณครูบรรจง ครูประจำชั้นเด็กเล็ก มักจะพูดจูงใจพวกเด็กชั้น ก. ไก่ ว่า “ถ้าใครอยากได้สมุด ดินสอ ยางลบ และไม้บรรทัด(ยุคนั้นทำจากไม้) ใช้เขียนหนังสือแล้วละก็ ต้องเชื่อฟังครู แล้วก็ต้องเอาใจใส่หัดเขียน หัดอ่าน หัดจำ ก. เอ๋ย ก. ไก่, ข. ไข่ ในเล้า, ฃ. ขวด ของเรา …..ไปจนถึง อ. อ่างเนืองนอง, ฮ. นกฮูกตาโต ให้ได้” อะไรประมาณนี้แหละ

เรื่องของการเรียนด้วยกระดานชนวนนี้ ยังมีต่อนะ…อย่าเพิ่งรีบเล่าข้ามไปเลยเนอะ ที่เราคิดไว้แล้ว คงเล่าได้อีกสองสามตอนแหละ

เอารูปไปเรียกน้ำย่อยก่อนละกัน…….




ภาพจากหนังสือ: รวมเรื่องเยาว์... เล่าสู่กัน
เวปไซต์://www.siamweb.org/thailand/children/cover_ef.html





รู้ตัวนะว่า...เขียนยาวไป
แต่คนเขียนเล่ากำลังเว้านัว หัวแล่น อะนะ
คนอ่านก็คงฟังม่วน....ไปนำกันละเด้อ
แม่นบ่ ?!?




posted by a_somjai | January 17, 2006 @ 01.09 am | ครอบครัว, เรื่องส่วนตัว, การศึกษา, การศึกษาประชาบาล, กระดานชนวน |




 

Create Date : 17 มกราคม 2549    
Last Update : 17 มกราคม 2549 4:36:45 น.
Counter : 492 Pageviews.  

เพื่อนเก่าในกระปุก: เริ่มเรียนรู้กันที่ชั้น ก. ไก่ (๗)

Posted by a_somjai | January 8, 2006 @ 10.49 am | ครอบครัว, เพื่อน, เรื่องส่วนตัว | สังคมชาวนา, การพัฒนาเศรษฐกิจ | ชีวิตในปีพ.ศ. 2500, ความทันสมัย |


“แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ต่อมาเรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” อันเรียกว่ากระปุกในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพื่อน ๆ ในวันวัยเก่า ๆ ของเรานั้น ก็คือ การสร้างคนขึ้นใหม่ให้อยู่ในสถานะโครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ และพร้อม ๆ ไปกับการทำลายคนกับสังคมในสถานะโครงสร้างทางสังคม(ชาวนา)แบบเก่าดั้งเดิมลงไป

เพื่อปูพื้นการทำความเข้าใจเรื่องสนุก ๆ ที่จะเล่าไว้ในวันนี้ (อย่าเพิ่งเบื่อเรื่องวิชาเกินเสียก่อน รับรองว่านิทานตอนสุดท้าย ม่วนหลายแท้เด้อ) จะพาไปดู profiles ของสภาพสังคมบ้านเราบนทัศนะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อนำสังคมไปสู่ความทันสมัยเสียก่อน เลือกเอาแบบเด็ก ๆ เข้าใจได้ก็แล้วกัน


“ในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๓) ปรากฏว่าประเทศ ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งด้านป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ ฯลฯ หรืออยู่ในสภาพที่เรียกว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปัญหาสังคมยังมีไม่มากนัก เพราะผู้คนยังมีความผูกพันเอื้ออาทรต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชน ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาความยากจน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง ๒,๐๐๐ บาทต่อปี เพราะเศรษฐกิจขยายตัวประมาณร้อยละ ๔ ต่อปี ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ ประมาณร้อยละ ๓.๗ ต่อปี เศรษฐกิจส่วนใหญ่คือ ประมาณร้อยละ ๘๕ ขึ้นกับภาคเกษตร รายได้หลักจากการส่งออกมาจากข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุก ส่วนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยังมีไม่มากนัก ทำให้มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ ๘.๕ ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น

“นอกจากนี้ บริการพื้นฐานต่างๆทั้งทางด้าน เศรษฐกิจและสังคมยังมีไม่เพียงพอ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มีถนนทั่วประเทศเพียง ๘,๐๐๐ กิโลเมตร มีโทรศัพท์ทั่วประเทศเพียง ๓๒,๐๖๗ เครื่อง ส่วนน้ำประปาและไฟฟ้าจะมีเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่เท่านั้น ในขณะที่โรงพยาบาลประจำอำเภอมีเพียง ๘ แห่ง สถานีอนามัยยังมีไม่เพียงพอและด้อยคุณภาพ มีแพทย์ทั่วประเทศเพียง ๓,๑๗๒ คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ในชนบทมีแพทย์เฉลี่ย ๑ คน ต่อประชากรประมาณ ๗๒,๐๐๐ คน ส่วนโรงเรียนและสถานศึกษาก็มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวทำให้ความเจริญยังคงรวมอยู่ในส่วนกลาง ไม่กระจายออกไปในต่างจังหวัด คนไทยในขณะนั้นจึงมีปัญหาด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ โอกาสที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีน้อย และมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยคือ ยังมีการเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคระบาดต่างๆ เช่น อหิวาตกโรค ท้องร่วง ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งการขาดสารอาหาร ฯลฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายบริการพื้นฐาน ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของคำขวัญต่างๆมากมาย เช่น คำขวัญที่ว่า น้ำไหล-ไฟสว่าง-ทางดี-มีงานทำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจในยุคก่อนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑ เป็นอย่างดี”


(สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม ๒๔, แผนพัฒนาประเทศ)


ตอนเราอายุ 6-7 ขวบนั้น (พ.ศ. 2503-2504) เราได้ไปโรงเรียนบ้างแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ไปกับพวกพี่ ๆ เขาดอก (เรื่องในบล็อกของสำราญใจ ตอน “ย้อนยุค สู่ ประถมวัย”) ด้วยความที่เรายังเล็กมากและเป็นลูกชายหล้า (คนสุดท้อง แม้ว่าจะมีน้องหล้าเป็นผู้หญิงอีกคนก็ตาม) พ่อจึงให้ซ้อนท้ายจักรยานคันเอ้(งาม)ของข้าราชการบ้านนอกสมัยนั้น (ยี่ห้อนำเข้าจากประเทศอังกฤษ เยอรมันนี ยอดฮิตได้แก่ ยี่ห้อ “ฮัมเบอร์” “ราเล่ห์” “รัดจ์ – ตรามือ” และ "แพร๊อต - ตรานกแก้ว" วันหลังจะค้นเรื่องสินค้านำสมัยยุคนั้น พร้อมลงรูปมาลงให้ดูด้วย ...โปรดติดตาม)

เอาเป็นว่าลูกชายคนโปรดได้ขี่รถสองล้อกับพ่อ เมื่อพ่อไปทำงานที่ว่าการอำเภอซึ่งอยู่คนละฟากถนนกับโรงเรียน ขณะที่พวกพี่ ๆ ต้องเดินไปโรงเรียนประถมประจำอำเภอไกลตั้งสองกิโลเมตร แรก ๆ การไปโรงเรียนของเด็กเล็กนั้นก็ได้ไปบ้าง ไม่ได้ไปบ้าง ไป ๆ ขาด ๆ ตามแต่ความพร้อมของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง เราจำได้ว่าได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลก่อน แต่ก่อนเรียกว่า “ชั้นเด็กเล็ก” หรือ “ชั้น ก. ไก่” เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็ก หากว่าเด็กคนใดพัฒนาวุฒิภาวะ และปรับตัวได้ดีกับสังคมชั้นเรียน คุณครูก็จะนำไปลองเรียนกับนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ใครอยู่ได้ก็เรียน ป. ๑ เลย ถ้ายังปรับตัวไม่ได้ ก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างห้องเด็กเล็กกับชั้น ป. ๑ ทดลองอยู่เช่นนี้จนกว่าจะถึงเกณฑ์เจ็ดขวบเต็ม ๆ จึงขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนชั้น ป. ๑

อีกอย่างที่จำได้สมัยนั้น เด็กคนใดเรียนเก่ง ทำคะแนนดี มีแวว ก็สามารถ pass ชั้นขึ้นไปเรียนระดับสูงกว่าได้เลย ดังนั้นเด็กยุคเราเมื่อเข้าเรียนระดับสูงแล้ว จึงมีเพื่อนเรียนรุ่นเดียวกันอ่อนกว่าเราตั้งสองปีก็มี หรือรุ่นพี่ห่างชั้นกันสองปีบางคนกลับมีอายุเท่ากับเราก็มี ผลภายหลังก็คือคนที่ไม่มีปัญหาก็แล้วไป แต่บางคนที่มีปัญหาก็มีมากเพราะการพัฒนาด้านอารมณ์ตอนเป็นวัยรุ่นกับของเด็กก่อนวัยรุ่นของคนเรานั้น มีผลต่อการปรับตัวอยู่ในสังคมกลุ่มเพื่อนเป็นอย่างมาก เช่น ในกลุ่มเพื่อนผู้ชาย เพื่อนบางคนริจีบสาว เขียนจดหมายรัก ดื่มเหล้า สูบหรี่ ตี..หม้อ (ขอประทานโทษ หมายถึงเที่ยวผู้หญิงบริการทางเพศ) แต่พวกที่พาสชั้นเรียนข้ามขั้นหลายปีเพิ่งจะหัดนุ่งกางเกงในเมื่อวานนี้เอง อย่างนี้เป็นต้น

คุณครูประจำชั้นคนแรกของเราชื่อ “คุณครูบรรจง” หรือพวกพี่ ๆ ที่บ้านเราเรียกอย่างคนคุ้นเคยกันว่า “พี่จง” เพราะว่าท่านเป็นลูกของข้าราชการตำรวจ ที่คุณลุง(พ่อของท่าน)สนิทชิดเชื้อกับทางครอบครัวเราเหมือนเครือญาติกัน นอกจากด้วยเหตุเพราะงานราชการของพ่อทั้งสองครอบครัวแล้ว คุณป้าคุณนายตำรวจกับคุณแม่คุณนายสมุห์บัญชีอำเภอ(คือแม่เรา)นั้นมีลูกเต้าและหลาน ๆ ในภาระเลี้ยงดูอยู่จำนวนมากพอ ๆ กัน เด็กทั้งสองครอบครัวจึงคบหาไปมาหาสู่กัน นอกจากเรื่องเรียนเรื่องเล่น การไปทำธุระงานของครอบครัวในละแวกบ้านชุมชนและการใช้เวลาว่างร่วมกันแล้ว การกินข้าวปลาอาหารและไปนอนเป็นเพื่อนกันข้ามครอบครัวบ้านลุงป้าอาอาว์ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แม้สืบมาจนถึงรุ่นหลานทุกวันนี้ พี่น้องเราที่มีครอบครัวอยู่ทางขอนแก่น-ชุมแพ ก็ยังคงความสัมพันธ์คบหาเป็นเหมือนญาติกันอยู่

ส่วนเราเองแม้จะแยกชีวิตครอบครัวการงานมาอยู่ทางเมืองเหนือแล้ว ในช่วงปี พ.ศ. 2528 (ตอนนั้นเราเพิ่งแต่งงานใหม่ แต่คุณนายเธอยังไม่ได้ย้ายมาอยู่ด้วย ยังคงอยู่ทำงานที่กรุงเทพฯ) คุณครูอุทัยสามีของพี่จงก็ยังได้นำ เจ้า“ต๊ะ” ลูกชายคนโตของท่านทั้งสองมาฝากอาศัยอยู่กับเราที่เชียงใหม่พักหนึ่ง ระหว่างที่ต๊ะเข้าเรียนวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ (คนเชียงใหม่เรียก เทคนิคตีนดอย เดี๋ยวนี้ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ) เขาจบไปมีงานการทำและมีครอบครัว ป่านนี้อายุคงขึ้นหลักสี่ไปหลายแล้ว แต่ก็อย่างว่าไว้ คนชั้นกลางที่เป็นผลิตผลของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ก็จะย้ายแยกแตกกระจายกันไปต่างคนต่างอยู่ทั่วโลก ตามเงื่อนไขของกระปุกที่กำหนดโลกของพวกเราอยู่นั้นแหละ เนอะ

ที่เปิดเรื่องส่วนตัวของพระเอก ‘เอ_สมใจ’ มานี้ ก็เพื่อจะบอกเล่าว่าในสังคมชุมชนของศูนย์กลางการพัฒนาระดับอำเภอ ในสมัยยุคนั้นมี “กลุ่มคน ในสังคมชุมชน หมู่ครอบครัวข้าราชการอำเภอ” อยู่กับเขาพวกหนึ่งล่ะ

ต้องเขาใจเสียก่อนว่า ที่เรียกว่าชุมชนศูนย์กลางการพัฒนานั้น เป็นเรื่องการสร้างเศรษฐกิจภาคเมือง รุกเข้าไปในพื้นที่ของสังคมชาวนาแบบดั้งเดิม รัฐจึงต้องสร้าง(หรืออำนวยการให้มีการเกิดขึ้นซึ่ง)สิ่งใหม่เข้าไปในชุมชนที่ต้องพัฒนาตามแผนการ/นโยบายชาติ ได้แก่ เป็นที่ตั้งศูนย์บริหารงานราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร, เป็นที่ตั้งบริการสาธารณะด้านการศึกษา, อนามัย, ถ้าเศรษฐกิจท้องถิ่นดีหน่อยก็มีธนาคารตั้งอยู่ เช่นทางลำปาง เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ฯ, เป็นที่ตั้งตลาดศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าบริการ, และเป็นศูนย์กลาง(หรือทางผ่าน)การคมนาคมขนส่ง ท่ารถ ท่าเรือ โกดังขนถ่ายและเก็บสินค้า เป็นต้น

ดังนั้น ตอนต่อไป เราจะออกมาเล่าถึง สถานะและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมพื้นฐานของเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนยุคเริ่มต้นพัฒนาการทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไป โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มคนครอบครัวข้าราชการ (พวกอำเภอ กับ พวกโรงพัก) กลุ่มคนครอบครัวค้าขายชาวจีน-ชาวญวน กลุ่มคนครอบครัวชาวนาฐานะดีและพวกลูกชาวนาสังคมแบบเดิม และอื่น ๆ ได้แก่คนในกลุ่มครอบครัวอาชีพที่แตกต่างกัน รวมทั้งพวกที่คนในครอบครัวเข้าไปใช้แรงงานในกรุงเทพฯ หรือพวกไปรับจ้างทำงานในไร่ที่ปลูกพืชเพื่อการอุตสาหกรรมตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง เป็นต้น เอาเท่าที่พอจะนึกคิดออกมาเล่าได้ก็แล้วกัน


ไม่รู้สินะ ที่คิดได้ตอนนี้ จะตั้งชื่อเรื่องข้างหน้า ให้เห็นภาพกันว่า “จากกระดานชนวน ถึง สมุดกระดาษขาว” คนรุ่นเราที่ทันใช้กระดานชนวนเขียนอ่านหนังสืออยู่ คงจะพอนึกเรื่องราวออกบ้างแล้วกระมัง.




 

Create Date : 08 มกราคม 2549    
Last Update : 8 มกราคม 2549 16:39:14 น.
Counter : 768 Pageviews.  

เพื่อนเก่าในกระปุก: ประหาร (ครูครอง จันดาวงศ์ = สังคมชาวนาไทย) (๖)

ชื่อหัวข้อเรื่องวันนี้ เป็นสูตรสัญลักษณ์ตรรกะ (Symbolic Logic)
เป็นการแทนค่าตัวแปรได้เหมือนที่ใช้ในคณิตศาสตร์
ทำนองว่า “เอา A ออกไป = เอา B ออกไป”
ความจริงไม่ใช่เรื่องเข้าใจอยากอะไร
เขียนให้มันเท่ ๆ เหมือนคนมีภูมิรู้ไว้ก่อนเท่านั้นเอง
เดี๋ยวเพื่อน ๆ พี่น้องอ่านจบก็เข้าใจเองแหละ

อย่างที่เขียนไว้ใน ตอนที่ 3 ที่ผ่านมาว่า …
“อดีตของเรามาจากสังคมชาวนา”
...ชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากินอยู่ทุกวันนั้นแหละ
ก็สังคมชาวนาของบรรพบุรุษพวกเรานี้แหละ
...ที่ถูกตราหน้าจากผู้ปกครองระดับโลกและระดับประเทศว่า
“ด้อยพัฒนา...คือเป็นอยู่โดยเศรษฐกิจไม่เจริญก้าวหน้าไป
....ต้องได้รับการแก้ไขพัฒนา” ...….


เหตุทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราจะไม่เท้าความย้อนหลังกันมาก เพราะเรื่องมันยาวและซับซ้อน ขอตัดฉับเข้า “กรอบ/กระปุก” ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เลยก็แล้วกัน



จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์


“...พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ไปเยือนสหรัฐฯ และถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ชี้ชวนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไทย โดยอาศัยความช่วยเหลือจากการลงทุน่จากต่างประเทศ และ พ.ศ. 2500 นั้นเอง จอมพลสฤษดิ์ได้ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พ.ศ. 2501 ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญและใช้การปกครองระบอบเผด็จการแทน เขาบอกกับพรรคพวกของเขาว่าประเทศไทยต้องการรัฐบาลที่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่ออเมริกาจะได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไทย …..

“…. จอมพลสฤษดิ์ยอมรับอากระแสการพัฒนาของสหรัฐฯ ดังคำกล่าวใจความว่า “งานสำคัญในสมัยนี้คือการพัฒนา ทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาการศึกษา การพัฒนาการบริหาร และการพัฒนาในด้านอื่น ๆ เข้าไว้ด้วย” ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขึ้น องค์กรเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภาคเมือง”

(จากหนังสือ เศรษฐกิจการเมืองสมัยกรุงเทพฯ โดยผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, พ.ศ. 2539. อ้างหน้า 218-219)


หากเราจะพูดถึงเรื่องนี้เพียงสั้น ๆ ให้ได้ใจความสำคัญเข้าจั่วหัวเรื่องวันนี้ก็จะขอพูดว่า การพัฒนาประเทศตามนัยดังกล่าวอ้างข้างต้นนี้ ต้องทำสิ่งสำคัญสองอย่าง ได้แก่ อย่างแรกต้องมีการสร้างสิ่งใหม่ที่เกื้อหนุนแนวทางการนำเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าไป และอย่างที่สองต้องทำลายล้างสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าไป

อย่างแรกคือการสร้างฯ เป็นเรื่องที่จะกล่าวถึงยืดยาวในตอนข้างหน้า เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราและชีวิตผองเพื่อนเก่าในกระปุก มาจนทุกวันนี้ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ/ระยะต่าง ๆ” เป็นโครงสร้างอ้างอิงการดำเนินเรื่อง (ก็ต้องติดตามอ่านกันในตอนต่อ ๆ ไป)

อย่างหลังคือเรื่องการทำลายฯ หรือ การกำจัดออกไป ...ประเด็นของเราคือ “สังคมชาวนา ดั้งเดิมของบรรพบุรุษของเรา” นั้นแหละ ที่เขากาหัวว่าเป็น “พวกล้าหลัง ด้อยพัฒนา ถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไป” จึงต้องทำลายให้หมดไป หรือกำจัดสภาพเดิม ๆ ให้สิ้นสภาพหมดไปเสีย

ตัวอย่างที่ขอหยิบยกมาเล่าไว้ เป็นตัวแทนสังคมชาวนาที่จะต้องถูกทำลายล้างให้สิ้นไป ในยุค พ.ศ. นั้น ก็คือ เรื่องของ “ครูครอง จันดาวงศ์” คนอีสาน บ้านอยู่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ...อ่านแล้วก็ลองเชื่อมโยง “เรื่องราวของบุคคล” เข้ากับ “กระปุกที่ครอบคนอยู่” ตามความเข้าใจของแต่ละท่านเองเถิดครับ

เมื่อปี พ.ศ. 2504 นั้น เราอายุได้ 6 ขวบแล้ว ยังไม่เข้าโรงเรียนตามเกณฑ์ พวกพี่ ๆ เขาไปโรงเรียนกันแล้วครับ ( สำราญใจ เล่า ย้อนยุค สู่ ประถมวัย ไว้ในบล็อกเขาแล้ว ส่วนเราไม่ทันได้มีประสบการณ์ร่วมอย่างนั้นดอก) พอจำได้ลาง ๆ ว่า มีการพูดคุยในหมู่ข้าราชเพื่อน ๆ ของพ่อที่มาเยี่ยมบ้านเรา ถึงเรื่อง การใช้อำนาจมาตรา 17 ตามธรรมนูญการปกครอง ของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ มีคำสั่งประหาร “นายครอง จันดาวงศ์” ด้วยเหตุที่การประหารชีวิตคนที่ไม่ใช่อาชญากรจิตใจโหดเหี้ยมหรือว่าโจรผู้ร้ายที่กระทำเบียดเบียดชาวบ้านอย่างหนักหนาสาหัสนั้นเป็นเรื่องสั่นสะเทือนขวัญประชาชนมาก จึงถือว่าเป็นเรื่องเป็นข่าวใหญ่โต โดยเฉพาะผู้ที่ถูกคำสั่งประหารนั้นเป็นถึงบุคคลที่พวกพ่อเราเรียกว่า “ครู” ผู้นำระดับปัญญาชนของคนอีสานในสมัยนั้นเสียอีกด้วย

ก็จำได้ว่าพวกท่านคุยกันเรื่อง “ครูครอง จันดาวงศ์” เหมือนแอบ ๆ กลัวตำรวจจะได้ยิน แต่ก็คงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะเรื่องนี้คิดว่าเป็นประเด็นพูดถึงกันอยู่หลายเดือนเหมือนกัน อุณหภูมิในวงสนทนานั้นจะออกไปทางร้อนแรงหรือเย็นวาบสันหลัง เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พอใจหรือไม่พอใจกับรัฐบาลประมาณใดนั้น ต้องสารภาพว่าเรายังเด็กอยู่ก็ไม่ค่อยรู้ประสีประสาดอก

เมื่อเราโตขึ้น ได้รับรู้รับเห็นเรื่องราวที่มีผู้เขียน(ออกทางยกย่องฝ่ายผู้ถูกประหารไว้ ส่วนจะเท็จจริงประการใดนั้น ก็แล้วแต่คนอ่านจะคิดพิจารณา) ก็เลยขออนุญาตเจ้าของเรื่องหยิบเอามาบันทึกไว้อ่านกันต่อ ๆ ไป ดังนี้ครับ....

ครอง จันดาวงศ์


หลังจากเรียนสำเร็จวิชาฝึกหัดครู ที่โรงเรียนครูมูลประจำมณฑลอุดรแล้ว ครอง จันดาวงศ์ ได้สมัครเป็นครูประชาบาลที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ตลอดเวลาหลายปี ครูครองเอาใจใส่หน้าที่ดียิ่ง จนเป็นที่เคารพรักของนักเรียนและผู้ปกครองทุกคน นักเรียนพอใจวิธีการสอนที่เป็นประชาธิปไตยของเขา

กับครอบครัว บุตร-ภรรยา ครอง จันดาวงศ์ ก็ใช้วิธีประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีสิทธิเสนอความคิดเห็น กระทั่งวิจารณ์เพื่อแก้ปัญหา ข้อบกพร่อง หรือปรับปรุงความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เต็มที่และเป็นประจำ นอกจากนี้ครูครองยังสนใจความคิดประชาธิปไตย และร่วมมือกับอดีต รมต. เตียง ศิริขันธ์ และบุคคลอื่นๆ ต่อสู้เผด็จการ พิทักษ์ประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครูครองได้เข้าร่วมเป็นพลพรรคเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่นที่บุกรุกเข้ามา โดยได้เป็นหัวหน้าหน่วยในหน่วยเสรีไทยของนายเตียง ภายหลังที่ได้ชัยครูครองสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร ครูครองได้ใช้เวลาคลุกคลีใกล้ชิดศึกษา และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนยากจนของชาวนา ไม่เพียงแต่จังหวัดสกลนครเท่านั้น หากยังในเขตข้างเคียงในภาคอีสาน ชาวบ้านล้วนรักนับถือ และสนับสนุนเขาเป็นอย่างดี

เมื่อเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ครูครองได้ถูกจับกุมในข้อหา "กบฏแบ่งแยกดินแดน" แต่ไม่สามารถเอาความผิดได้ จึงถูกปล่อยตัว

เมื่อครั้งมวลชนผู้รักสันติภาพทั่วโลก เคลื่อนไหวสนับสนุนสันติภาพ ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างกว้างขวาง ครูครองก็เป็นผู้หนึ่ง ได้คัดค้านการส่งทหารไปรบเกาหลี และสนับสนุนให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายสันติภาพเป็นกลาง และยังได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคนหนึ่งในองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ด้วยแนวทางทางการเมืองที่ค้านรัฐ ครูครองถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จับกุม สังเวย พรบ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495 (ฉบับแรก) และถูกขังอย่างไม่มีความผิดที่บางขวาง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 จึงได้ออกจากคุกมาสมัครเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสกลนคร

พี่น้องประชาชนชาวสกลนครต้อนรับเขาให้เป็นผู้แทนของตน เพื่อต่อสู้ให้ประเทศไทยเป็นเอกราช และดำเนินนโยบายสันติภาพเป็นกลาง พร้อมกันนี้ครูครองก็ได้ยืนหยัดพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ของชาวนา และยังได้รับหน้าที่เป็นมรรคทายก หาเงินบำรุงศาสนาอีกด้วย

วันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจปกครองเผด็จการ กดขี่ประชาชน ครูครองจึงจำต้องหลบซ่อนตัว แต่ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างลับๆ โดยความช่วยเหลือ สนับสนุนจากชาวนาและมวลชน แต่ก็มิอาจรอดพ้นจากอำนาจรัฐได้ โดยเขาถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2504 ครูครองถูกส่งเข้าที่คุมขังอำเภอหนองหาร จังหวัดสกลนคร ด้วยท่าทีที่ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงคุกตะรางแม้แต่น้อย

ในการจับกุมครั้งที่ 3 นี้ ครูครองได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า : "ผมไม่ถือโกรธตำรวจแต่อย่างไร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ขอแต่ให้ดำเนินคดีไปตามตัวบทกฎหมายก็แล้วกัน - ผมไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลย เพราะถูกจับเสียชินแล้ว"

ครูครองยังได้กล่าวต่อหน้าจอมเผด็จการสฤษดิ์ อย่างอาจหาญ ชาญชัยว่า "ผมรู้ดีว่าท่านต้องยิงเป้าผมแน่ แต่อย่าคิดว่าผมกลัวนะ ยิงเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ ที่ผมกลัวน่ะ ไม่ใช่กลัวจะถูกยิงเป้า แต่กลัวว่าท่านจะหนีไปได้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมา ผมภาวนาขออย่าให้ท่านหนีไปได้ ขอให้ประชาชนเอาเลือดของท่านล้างตีนให้ได้" - ผลก็คือคำสั่งประหารชีวิตครูครอง ตามคำสั่ง ม. 17

วันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ตำรวจนำตัว นายครอง จันดาวงศ์ กับพรรคพวกที่ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกัน ไปยังสนามบิน อำเภอสว่างแดนดิน ซึ่งใช้เป็นแดนประหาร เขาไม่มีกิริยาสะทกสะท้าน กลับเดินเข้าสู่แดนประหารอย่างองอาจ ยิ้มเยาะและไม่แยแสต่อคำสั่งเผด็จการ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลฉบับหนึ่ง ก็ยังยอมรับว่า "เมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายครองและนายทองพันธ์เข้าสู่ที่ประหารนั้น ปรากฎว่าเดินไปอย่างทรนง ไม่หวาดหวั่นแต่อย่างใด โดยเฉพาะนายครองนั้น ยังคงยิ้มอยู่เช่นเดิม"

ยิ่งกว่านั้นก่อนถึงเวลาประหาร 12.13 น. นายแพทย์ได้เข้าไปจะจับชีพจรเขา เขาได้ร้องบอกอย่างไม่ครั่นคร้ามว่า "ชีพจรผมยังปกติอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วเถอะ"

การประหารครูครองที่สนามบิน ทางการสฤษดิ์ได้ปกปิดข่าวนี้อย่างมิดชิด แม้แต่ภรรยา ครอบครัวของครูครองก็ไม่รู้ข่าวว่าเสาหลักของครอบครัว กำลังจะถูกประหาร และยังห้ามประชาชนไม่ให้เข้ามาในบริเวณสนามบิน ยิ่งกว่านั้นด้วยความเกรงพลังประชาชน รัฐบาลได้ระดมกำลังทหารกว่า 200 คน กับกำลังตำรวจอีกไม่น้อย ยืนแถวเรียงรายล้อมรอบสนามบินราวกับจะเตรียมรับศึกใหญ่

ครูครอง เป็น ครู นักการเมือง และนักต่อสู้ของประชาชน ผู้ยืนหยัดคัดค้านเผด็จการ คัดค้านการขายชาติให้จักรพรรดินิยม แม้กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต โดยที่มือยังอยู่ในกุญแจและขายังอยู่ในตรวน ก็มิได้หวั่นไหว

แม้ปัจจุบันน้อยคนนักที่รู้จักชื่อ ครอง จันดาวงศ์ แต่ตลอด 53 ปีในชีวิต ครูครองได้สร้างคุณูปการแก่การต่อสู้ภาคประชาชน ที่ซึมลึกลงไปทั่วผืนแผ่นดิน และแตกหน่อเป็นพืชพันธุ์เสรี
เพราะท่านไม่สยบหัวให้อธรรม เขาจึงเคียดแค้น
เพราะท่านเข้มแข็งมั่นคง เขาจึงหวาดกลัว
เพราะท่านยืนอยู่กับประชาชน เขาจึงประหาร


รัตติกาล
'(nok@thaingo.org))
ข้อมูลจาก หนังสือประวัติศาสตร์ประชาชน พรรคสัจธรรม ม.รามคำแหง
ซึ่งอดีตเคยเป็นหนังสือต้องห้ามของกระทรวงมหาดไทย







Posted by a_somjai | January 5, 2006 @ 10.49 am | ครอบครัว, เพื่อน, เรื่องส่วนตัว | สังคมชาวนา, การพัฒนาเศรษฐกิจ | ชีวิตในปีพ.ศ. 2500, สฤษดิ์ ธนรัตน์, ครอง จันดาวงศ์ |




 

Create Date : 05 มกราคม 2549    
Last Update : 6 ธันวาคม 2553 13:59:04 น.
Counter : 1673 Pageviews.  

เพื่อนเก่าในกระปุก: เหรียญพระ ยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ (๕)

ชีวิตเราเริ่มรู้ความ ก็ช่วงหลังกึ่ง(ครึ่ง)พุทธกาล ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ตอนนั้นก็สามขวบย่างสี่ขวบพูดจาโต้ตอบกับใคร ๆ เขารู้เรื่องบ้างแล้ว

สิ่งที่พอจำได้จากช่วงเวลานั้น เพราะเกี่ยวข้องกับรูปธรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นหลักเป็นฐานมี ๒ เรื่องด้วยกัน
หนึ่ง คือ เหรียญหล่อพระพุทธรูป ยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ
สอง คือ จอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ กับการใช้มาตรา ๑๗ ในกรณีคำสั่งประหาร ครูครองจันดาวงศ์


คุยเรื่องพระเรื่องเจ้าให้เป็นศิริมงคลแก่ชีวิตก่อนก็แล้วกัน
ชาวพุทธเราเชื่อว่าศาสนาพุทธจะมีอายุอยู่ได้ถึง 5,000 ปี โลกมนุษย์ก็จะไม่มีศาสนาอีกแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงคราวที่พระพุทธศาสนาผ่านพ้นกาลมาได้ครึ่งหนึ่ง ประเทศไทยเราจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างใหญ่โตมโหฬาร ในด้านวัตถุได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงหลายอย่าง ที่สำคัญคือพระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย (เรียกกันว่าฉบับสยามรัฐ) สร้างไว้เพื่อให้ได้ศึกษาอ้างอิงกันเป็นภาษาไทย(กลาง) แล้วก็ไม่ทราบว่ามีโครงการสร้างพุทธมณฑลด้วยหรือเปล่าเพราะยังไม่มีเวลาไปค้นดู


ตอนที่เราเป็นเด็กอายุสามขวบอยู่นั้น เรารู้จักแต่ “เหรียญยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ” เป็นเหรียญหล่อพระเครื่อง ที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาจำหน่าย จ่าย แจก (ก็ทั้งขายทั้งแจกกันนั่นแหละครับ) ให้ประชาชนได้มีไว้บูชากันอย่างทั่วหน้า จึงทำด้วยโลหะหล่อขนาดเล็กพกพาไปได้ง่าย (คงมีหลายรุ่น ไม่แน่ใจว่าทำด้วยทองคำ หรือเนื้อเงิน มีหรือเปล่า แต่รุ่นที่เห็นกันมากน่าจะหล่อด้วยทองแดง เพราะราคาถูก ใครก็หามาไว้ครอบครองได้)

เมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าภาพสร้างขึ้นมา พวกข้าราชการจึงต้องเป็นผู้จัดการจำหน่าย จ่าย แจก ออกไป (ไม่เหมือนสมัยนี้ หน่วยงานธนาคารจะเป็นผู้จัดการให้ ดังนั้นพนักงานแบงก์บางแห่งจึงมีเหรียญ พระบูชา หรือวัตถุอื่น ๆ อย่างรูปภาพ หนังสือ เทปเพลง ที่สร้างขึ้นจำหน่ายเพื่อการกุศล มีเก็บไว้ครอบครองเสียเองมากมาย ...จะด้วยสมัครใจหรืออะไรก็แล้วแต่ล่ะ)

พ่อเราเป็นข้าราชการอำเภอสมัยนั้น เหรียญยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ ที่บ้านเราสมัยนั้นจึงมีอยู่เต็มขันเงิน (ขนาดใหญ่ก็ประมาณว่าเป็นขันที่ผู้หญิงคนหนึ่ง อย่างแม่เราใส่ดอกไม้ ธูปเทียน และปัจจัยต่าง ๆ อุ้มไปทำบุญที่วัดได้นั้นแหละ) เหรียญรุ่นนี้ นอกจากอัญเชิญขึ้นหิ้งพระประจำบ้าน ไว้กราบไหว้บูชาแล้ว ผู้ปกครองยังนิยมร้อยด้ายป่านผูกห้อยคอเด็ก ๆ ผู้ชายอีกด้วย (ถ้าคนมีฐานะก็กลัดเหรียญพระกับสร้อยเงิน สร้อยทอง ส่วนมากจะเป็นผู้หญิง เหรียญพระหล่อทอง เหลี่ยมแล้วงามมากทีเดียว .. ก็ว่ากันไปตามฐานานุฐานะ)

ตอนเราเด็ก ๆ เราก็ได้แขวนเหรียญยี่สิบห้าศตวรรษนี้ด้วยแหละ แต่เราจำไม่ได้แล้วว่ามีพระประจำวันเกิดของคนด้วยหรือเปล่า ความจริงเราเกิดวันศุกร์ (จึงพูดเก่ง หรือ พูดมาก...ไง เอออีกอย่าง...เขาว่า ลูกข้าราชการเกิดวันศุกร์นี่...คือวันที่พ่อมักไม่อยู่บ้าน...เพราะจะติดประชุม...แล้วก็เลี้ยงสังสันทน์กัน... ไม่รู้ว่าจริงรึเปล่า) แต่เหรียญพระที่ไปหยิบจากเวปไซต์ประมูลพระเครื่องมาลงบล็อกไว้ให้ดูกันนี้ เป็นเหรียญพระประจำวัน คนเกิดวันพฤหัสบดี อย่างไรก็ดีเหรียญรุ่นนี้ก็ออกมาจากพิมพ์เดียวกันนั้นแหละ ต่างกันแต่ชื่อวันหนึ่งในเจ็ดของสัปดาห์เท่านั้นเอง


เหรียญพระประจำวัน คนเกิดวันพฤหัสบดี ยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ
ด้านหน้า


ด้านหลัง



ที่มา: เวปไซต์ประมูลพระเครื่อง //www.g-pra.com )



คราวต่อไปจะมาต่อเรื่อง จอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ กับการใช้มาตรา ๑๗ ในกรณีคำสั่งประหาร ครูครองจันดาวงศ์





Posted by a_somjai | January 4, 2006 @ 10.59 am | ครอบครัว, เพื่อน, เรื่องส่วนตัว | เหรียญพระยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ | ชีวิตในปีพ.ศ. 2500 |




 

Create Date : 04 มกราคม 2549    
Last Update : 4 มกราคม 2549 13:41:24 น.
Counter : 1091 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.