<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

เชียงใหม่: เสาอินทขิล และการผสมกลมกลืนระหว่างลัวะกับไทย


ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (22)
บุกเบิกที่ป่าให้เป็นเมือง สร้างเรื่องให้เป็น ‘ลัวะ’ (13/จบ)




ทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง'ไท’ ใน'เมืองล้านนา’:
(8) ล้านนาเชียงใหม่: เมืองแห่งการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของทั้งลัวะทั้งไทย




ความเดิมตอนที่แล้ว…..
เมื่อภายลุน/ภายหลัง เสียงเล่าฤๅชาปรากฏไปทุกบ้านทุกเมืองว่า บ่อแก้ว บ่อเงิน บ่อคำ ก็เกิดมียัง”เมืองล้านนานพบุรี” ท้าวพระยาต่างบ้านต่างเมืองทังหลาย อันอยู่ ๔ ทิศ ๘ ทิศ เขาก็ว่าจักมารบเอา คันว่าพระยาล้านนานพบุรี อันเปนพระยาแก่ไทยทังหลาย ภายหนลัวะดอยมีพระยาวีวอ ผู้เป็นใหญ่แก่ลัวะทังหลาย ท้าวพระยาทังฝ่าวลัวะฝ่ายไทย เขาก็พากันไปไหว้สาเจ้ารสีว่า “ข้าแด่เจ้ารสี ตูข้าทังหลายก็ยินกลัวแท้แล อันว่าเสิก/ศึกนี้ ตูข้าทังหลายสืบเช่นพ่อเช่นแม่ เช่นปู่ เช่นย่า ก็บ่ห่อนได้รู้สักเทื่อแล ตูข้าทังหลายก็ขอเพิ่งด้วยเตชะเหง้าบุญแด่เทอะ” สรุปก็คือทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง’ไท’ ใน’เมืองล้านนานพบุรี’ อยู่สุขสบาย ไม่เคยรบทัพจับศึกมานมนานแล้วว่างั้นเถอะ

เรื่องราวต่อไปนั้นหรือครับ
คำตอบที่ตำนานให้ไว้ก็คือเรื่องของ “กำเนิดประเพณีบูชาเสาอินทขิล” ของชาวเมืองเชียงใหม่นั้นเอง

คือพระรสีบอกชาวเมืองล้านนาเชียงใหม่ว่า---พระอินทร์ท่านให้บูชาเอาเสาอินทขิลเป็นที่พึ่งพิง
เรื่องราวของเสาอินทขิล จะไม่ขอนำมาลงไว้ ณ ที่นี้
เพราะหาอ่านได้ทั่วไป เช่น ค้นหาบนอินเทอร์เน็ตได้ที่นี่ , ตำนานเสาอินทขิลอ่านที่นี่, ประเพณีบูชาเสาอินทขิลอ่านที่นี่, และ อ่านบทคัดย่อได้ที่นี่



ต่อไปนี้เป็น “คำบูชาเสาอินทขิล”
ตามที่ตำนานนี้บันทึกไว้--

คันจักขึ้นหื้อว่าดั่งนี้

วันนี้ก็เป็นวันสุภวารวันดี ศรีไชยานุภาพ
ผู้ข้าทังหลาย หมายมี “เจ้าเมืองนพบุรีมหานครราชธานีล้านนาเชียงใหม่” นี้ ‘เป็นเค้าเป็นประธานกว่าเจ้านาย ท้าวพระยา เสนาอามาตย์ ปชานราช ชาวบ้านชาวเมืองทังมวล’
ก็ได้ฉันทะพร้อมเพรียงกัน มาแต่งแปงยังสัพพะเยื่องเครื่องพร้อมชุอัน
เพื่อว่าจักมาพลีกรรมปูชายัง “เสาอินทขิล”
อัน “พระยาอินทาธิราชเจ้าฟ้า”
ได้หื้อ ”กุมภัณฑ์” ทัง ๒ ตน
เอาเสาอินทขิลลงมาไว้ยังเมืองนพบุรีมหานครราชธานีเชียงใหม่ที่นี้
เพื่อหื้อรักษายัง “วรพุทธศาสนา”
และ
“สถานล้านนานพบุรีมหานครราชธานีศรีพิงค์ไชยคนครเชียง่ใหม่”


กับกุมภัณฑ์เจ้า ๔ ตน อันลงไปตวยรักษาอินทขิล
และกุมภัณฑ์เจ้าอันมาอยู่เฝ้ารักษายัง “มหาเจติยหลวง”
และ “ไม้ยางหลวง”
และ “พระยาช้างเจ้าทังแปดตัว” ในมหาเจติยหลวงนี้
“และเทวดาเจ้าทังหลาย” อันอยู่รักษายัง “ข่วงแก้วทัง ๓“ และ “อาราม” ที่นี้


ขอเจ้าทังหลายจุ่งเสด็จลงมารับเอา ยังสัพพะเยื่องเครื่องกริยาพลีกรรมปูชาทังหลายมวลหมู่นี้
“แล้วขอจุ่งพิทักษ์รักษายังพุทธศาสนาและสถานบ้านเมืองทังมวล และผู้ข้าทังหลาย”
หมายมีเจ้าเมืองนพบุรีมหานครราชธานีล้านนาเชียงใหม่ที่นี้ เป็นเค้าเป็นประธานกว่าเจ้านายท้าวพระยา เสนา อามาตย์ ปชานราช ชาวบ้าน ชาวเมืองทังมวล
ขอจุ่งหื้อพ้นจากภัยะ อุปัทวะ โรคา กังวล อนทราย(อันตราย)ทังมวล
แล้วขอหื้อได้ยังเชยยะ(ชัยยะ)สวัสดีชุเยื่อง


และขอหื้อเมืองนพบุรีมหานครราชธานีล้านนาเชียงใหม่ที่นี้ทังมวล
มีอิทธิฤทธี เตชะ อานุภาวะ ปราบแพ้ข้าเสิกศัตรูทังมวล (---แพ้ คำปากวา แป๊ หมายว่า ชนะ--)

ขออย่าหื้อข้าเสิกศัตรูต่างประเทศราชทังหลาย หมายมี….
“ฮ่อ (จีน)
แขก
ล้านช้าง (ลาว)
อโยธิยา (อยุธยา/กรุงเทพฯ/สยาม)
ม่าน (พม่า)
เงี้ยว (ไท/ไต/ไทยใหญ่)
กุลวา (แขกขาว แขกดำ เข้าใจว่ามาจากต้นตอเดียวกันกับคำเรียก ชาวบังคลาเทศ)
เป็นต้น
อย่าได้มาย่ำยังเขตขันธสีมา เขตแดนเมืองนพบุรีมหานครราชธานีเชียงใหม่ที่นี้
อย่าหื้อเขาได้เข้ามาใกล้ได้ หื้อเขาแตกขระจัดขระจายออกไป


“ด้วยเตชะแห่ง…
เสาหินอินทขิลเจ้า
และกุมภัณฑ์เจ้าทัง ๖ ตน
และเจ้าพระยาช้างทัง ๘ ตัวในมหาเจติยหลวง
และ’พระรสีเจ้า’
วิสุกรรมเทวบุตรเจ้า
และเทวดาเจ้าทังหลายอันอยู่รักษายังข่วงแก้วทัง ๓ และไม้ยางหลวงที่นี้

“ขอหื้อผู้ข้าทังหลาย หมายมีเจ้าเมืองนพบุรีมหานครราชธานีล้านนาเชียงใหม่ที่นี้ เป็นเค้าเป็นประธานกว่าเจ้านายท้าวพระยา เสนาอามาตย์ ปชานราช ชาวบ้านชาวเมือง ทังมวล ทังญิงทังชายชุผู้ชุคน

“หื้อได้อยู่ชุ่มเนื้อ เย็นใจ อยู่สุขเกษม เข้าหนาปลาเท้า ต่อน้ำฟ้าสายฝน ก็หื้อบัวรมวล
เยียะไร่ก็อย่าหื้อตายคา เยียะนาก็อย่าหื้อตายแดดและตายน้ำท่วม
และตายด้วยเภี้ยงน้ำเภี้ยงไฟเป็นบัว เป็นตู๊ดงวง ข้าวออกขำออกคา แมงบ้งจักกิน ปูจักกัด
ก็อย่าหื้อมีแก่’พ่อไร่พ่อนา’เทอะ” (เภี้ยง=เพลี้ย=แมลงขนาดเล็กศัตรูพืช)

“ประการ ๑ ต่อพยาธิฮ่าเกียน จักเกิดมีแก่คนและสัตว์ก็ดีนั้น ก็อย่าหื้อเข้าใกล้บ้านใกล้เมืองแห่งผู้ข้าทังหลายเทอะ
ขอหื้อผู้ข้าทังหลาย ได้อยู่วุฒิจำเริญ หื้อได้อยู่ค้ำวรพุทธศาสนา
จุ่งหื้อมีอายุหมั้นยืนยาวชุผู้ชุคน เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ
จักปรารถนาใคร่ได้อันได้ ก็หื้อ’หมอผู้ขึ้น’นั้น ขอหื้อเทอะ
ก็หากจักอุดมสมฤทธีชุประการ บ่อย่าชะแล.”
(ร่า ผีร่า ปากว่า ฮ่า ผีฮ่า=ผีห่า โรคห่า โรคระบาดร้ายแรง)






มาตัดเข้าตอนจบส่งท้ายเรื่องเมืองล้านนา สำนวนตำนานเชียงใหม่ปางเดิม
ด้วยการเล่าเรื่องในนิทานตำนานแบบเรา ๆ เลย-------
ก็อย่างที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในหลายตอนที่ผ่านมาแล้ว คือนอกจากตำนานนี้ จะทำหน้าที่เล่าอธิบายเรื่องคติเก่าแก่เกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม ความต่อเนื่องของสังคมบ้านเมือง และวิถีวัฒนธรรม ของ’ทังไท ทังลัวะ’แล้ว

ตำนานยัง’อธิบายเชิงสนับสนุน’กำเนิดพิธีกรรม จารีตประเพณี ความเชื่อ คุณค่า และรูประเบียบการควบคุมทางสังคมต่าง ๆ ไว้อีกด้วย

ขณะเดียวกันตำนานนี้ก็ปลูกฝังอุดมการณ์และสั่งสอนวิถีทางบรรลุอุดมคติทางสังคมและ/หรือศาสนา(เพราะคนเขียนย่อมได้รับการศึกษามาจากวัด) เพื่อให้การอยู่ร่วมกันของหมู่มนุษย์ (ในที่นี้ คือ ’ทังไท ทังลัวะ’ ทังหลาย) อย่างเป็นสุขในโลกนี้

นอกจากนี้เราจะพบว่าหลาย ๆ เรื่องในตำนาน นอกจากจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นมงคล (ถ้าอู้อย่างคนเหนือว่าตามบาลี ว่า… มังคะละ) หรือการสร้างสิ่งต่าง ๆ ”หื้อวุฒิจำเริญ” แก่บุคคล กลุ่มคน และบ้านเมืองแล้ว ตำนานยังบอกกล่าวเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการบรรเทาปัดเป่าภัยอันตรายออกไปเสียจาก ’ทังลัวะทังไทย’ และ ’บ้านเมืองล้านนา’ อีกด้วย

ดังความในตำนานว่า---
“ลัวะทังหลายได้ถือศีลและถือสัจจะนั้น
ผีทังหลาย ก็มาค่ำคนบ่ได้
ผีทังหลายก็บ่มาใกล้ได้แถมซ้ำแล
คนทังหลายก็อยู่สุคติมนะทังลัวะทังไทยแล”

หรือ พระยาอินทาธิราช เจ้าฟ้า ท่านสั่งว่า ---
“คันผู้ใดจักประโยชน์ใคร่ได้แก้วและเงินคำ แลเข้ามาขอปูชาเอา ผู้จักหื้อก็หื้อมีสัจจะ ผู้มาขอปูชาเอานั้นก็หื้อมีสัจจะก่อน จิ่งควรหื้อแล คันผู้ใดบ่มีสัจจะและศีลแลมาเอา กูอินทาธิราชก็บ่หื้อแล …ชาวบ้านชาวเมืองทังหลาย ทังลัวะและไทย ผู้ใดใคร่ได้อันใด เขาก็ชวนกันมาสมาทานเอาศีลและสัจจะ และอธิษฐาน เอาเข้าตอก ดอกไม้ มาปูชาเอา ก็ได้ตามดั่งความมักแห่งเขาแท้แล”


นอกจากนี้ตำนานยังอธิบายที่มาของเรื่องราว ”การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม social assimilation” ระหว่าง ’ไทกับลัวะ’ ผู้อยู่ร่วมกันใน ’เมืองล้านนาโบราณ’

“การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมช่วง’ไทยรักลัวะ-ลัวะรักไทย’ ตามที่ปรากฎในตำนานนั้น ว่า---
…ใน‘เวียงเชฏฐบุรี’ที่นั้น ‘ตระกูลไทย’ ก็มีอยู่พ่อง/บ้าง
‘ตระกูลลัวะ มีพระยาวีวอเป็นเค้า’
จิ่งมีอาชญาปกป่าว/ประกาศว่ากลัว ‘ผี=ผีขอกฟ้าตายืน’ มารู้จักไทย

“เหตุพระยาวีวอก็ยังรักไทย และไทยก็ยังรักลัวะ แล พระยาวีวอว่า เราจักแต่งตัว/แต่งกายหื้อผวนเสีย คัน/ถ้าหาก’ผี’มาหัน/เห็นก็อย่าหื้อ’ผี’ได้รู้จัก’ไทย’เทอะ”

ตำนานยังได้อธิบาย “มูล/บ่อเกิดไทยตัดผมเหมือนลัวะ และลัวะนุ่งผ้าเหมือนไทย” ว่า—
“พระยาวีวอ ก็ป่าวว่า หื้อสู/ไทได้ตัดผมหื้อเหมือนยังลัวะแล
ก็ซ้ำป่าวยังลัวะหื้อแปง/ทำผ้านุ่งหื้อเหมือนไทยแล อย่าหื้อ’ผี’รู้ว่า/ใคร’เป็นไทย’ ใคร‘เป็นลัวะ’ เหมือนแต่ก่อนนั้น

“แต่ก่อนนั้นมาลัวะทังหลายชุม/พวกนี้ ก็ย่อม’นุ่งผ้าแทบ’เสี้ยง/หมดชุคนแล
ลัวะบ่ห่อน/ไม่เคย’นุ่งผ้าเตี่ยว’สักเทื่อ”
(แทบ อ่าน แต้บ=ติด ใกล้ / ผ้าแทบ=? // เตี่ยว=กางเกง / ผ้าเตี่ยว=ผ้านุ่งอย่างกางเกง)

เรื่องวิถีชีวิตวัฒนธรรมน่าสนใจอื่น ๆ มีกล่าวถึงในตำนานนี้ได้แก่---
“ชาติว่าผีตายนี้ ตายแคว่นใด ย่อมไว้แคว่นนั้นแล”,
คำวิงวอนหนโลกว่า”ผัวรักอี่แม่เหย ผัวแพงอี่แม่เหย”,

มูลส่งผีที่ไทเรียนจากลัวะมาคือ—
”คันว่า/ถ้าหากลัวะไข้ และเจ็บท้องก็ดี เจ็บหัวก็ดี ลำบากเจ็บที่ใดก็ดี
ลัวะก็ส่ง(ตองเข้าตองผักเสีย/ทำข้าวและผักห่อใบตองเซ่นผี
ก็หาย’เจ็บไหม้’ ‘ไข้หนาว’ก็หายแล”,

และมีเรื่องของ---“มูละลัวะปงไห ไทยปงหม้อ” (ปลง=วางลง /ไหข้าว / หม้อน้ำ) เป็นต้น


เห็นหรือยังครับว่า
วิถีชีวิตวัฒนธรรมบริสุทธิ์
ไร้อื่นเจือปน ในโลกนี้
ไม่มี


ศรีสวัสดี
posted by a_somjai on Friday, May 18, 2007.




อ้างอิง:
1. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปริวรรต) พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. 2537,




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2550 9:57:42 น.
Counter : 1432 Pageviews.  

เวียงนพบุรี ล้านนา เชียงใหม่: มหานครแห่งเศรษฐีทั้ง ๙ (ผู้รักษาบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว)

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (21)
บุกเบิกที่ป่าให้เป็นเมือง สร้างเรื่องให้เป็น ‘ลัวะ’ (12)





ทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง'ไท’ ใน'เมืองล้านนา’:
(7) นพบุรี ล้านนา เชียงใหม่: เมืองแห่งบ่อแก้ว บ่อเงิน บ่อ(ทอง)คำ ของทั้งลัวะทั้งไทย



เรื่องต่อจากความเดิมว่า…
เมืองนั้นก็ถูกผีเข้าครอบครองอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง


ตำนานเล่าต่อว่า…
ที่นั้นเจ้ารสีก็น้อยใจ
ก็จิ่งขึ้นไปเมตตากับพระยาอินท์ว่า— “เราก็ร้อนใจนักแล จึ่งขึ้นมาบอกหื้อ(ให้)มหาราชเจ้าหื้อเอาใจใส่ผ่อคอย(อ่าน ผ่อกอย)ดูยังเมือง (..เชฎฐบรี แล้วจึงเรียกว่า เวสาลี) ที่นั้น บัดนี้ผีก็มาครอบงำกินยังคน ก็จักวินาศฉิบหายเสียเสี้ยงชะแล เราก็เสียดายนัก แท้หนอ เหตุว่าจัก(รักษาเมืองนี้)ไว้เป็นที่ตั้งศาสนาภายหน้าชะแล”

แล้วพระอินทร์ก็ไปยังอาศรมกับพระสุเทวฤษี/ฤษีวาสุเทพ
แล้วพระอินทร์ก็เรียกประชุมชาวเมือง ตำนานเล่าว่า…
“ก็เรียกร้องเอาลัวะทังหลาย มีพระยาวีวอเป็นเค้ามา(พร้อมกัน)แล้ว
(พระอินทร์)ก็ว่าหื้อแก่ลัวะทังหลายว่า…

----(เล่าแบบแปลงเป็นสำนวนไทยกลางบ้างดีกว่า)---
“ถ้าหากสู่ทานทั้งหลายยังกลัววินาศฉิบหาย ยังจักใคร่หื้อบ้านเมืองอยู่ดีดังเมื่อก่อน
ก็ให้สูท่านทังหลายอันมีพระยาวีวอเป็นหัวหน้าเค้า ได้ถือสัจจะและศีล ๕ ศีล ๘ ให้เร่งแรงนักแล
หากทำตามที่ข้าบอกนี้แล้ว สูท่านทังหลายก็เปรียบดั่งได้ดาบคมกล้า ไปพิฆาตฟาดฟันเข่นฆ่าหมู่ผีห่ากินบ้านกินเมืองทั้งหลายเหล่านั้น ให้แพ้พ่ายหนีไปได้ และพวกมันจะไม่อาจกลับมาบีบเบียนยังสูท่านได้แล อีกยังจะเป็นทรัพยากรทุนบุญกุศลของพวกท่านต่อไปภายภาคหน้า อย่างแน่แท้แล”
(--อ่านแล้ว คงพอไปไหวอยู่นะ..อิอิ--)

คัน(เมื่อ)พระยาอินทร์ว่าอั้นแล้ว
ลัวะทังหลาย มีพระยาวีวอเป็นเค้า ก็รับเอาสัจจะ และศีล ๕ ศีล ๘ อันนั้นแล้ว
(ความต่อไป คือ การสาธยายเรื่องของ ศีลห้า ศีลแปด เริ่มแต่ ข้อ 1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น)

แลัวทังลัวะทังไทยก็ต่อรองกับท่านผู้มีบารมีทั้งสององค์/ตนว่า --- “คันตูข้าทังหลายถือศีล ๕ เส้นนี้ได้หื้อมั่นแท้แล้วนั้น พระยาอินทาธิราชและรสีเจ้าจักหื้อตูข้าทังหลายหัน(เห็น)ผลเยื่องใดชา”

ที่นั้นพระยาอินทราธิราชว่า ---(ก็เอา อำนาจบริหาร ๑ อำนาจนิติบัญญัติ ๑ และอำนาจตุลาการ ๑ ไปก็แล้วกันเน้อ --เอ่อแถมให้อีกก็ได้ เอา.. สื่อทุกชนิด ไปก็แล้วกัน ฮา 5555 อย่าซีเครียดเน้อเจ้า --อันนี้ a_somjai ว่าเอาเองดอกนะ)

ที่นั้นพระยาอินทราธิราชว่า--- “เราจักหื้อของวิเศษแก่สูแล คือว่า กูจักหื้อบ่อเงิน บ่อ(ทอง)คำ และบ่อแก้ว แก่สูท่านอย่างละ ๑ บ่อแกสู บ่ช้า” (บ่ช้า คือ ไม่ช้า คงแปลว่า –โดยทันที--)

ที่นั้นยังมีลัวะ ๙ ขระกูล (ตระกูล) ขอรับอาสารับเอาศีล และสัจจะ บ่หื้อบางหื้อผ่อย (ไม่ให้ขาดหลุดลุ่ย, ขาดตกบกพล่อง) อาสาจะหื้อกุ้ม(ทำให้ได้ตลอดรอดฝั่งใน) เช่น (ชั่วอายุคน)(รุ่น) ข้า แท้แล

พระยาอินทร์ก็หื้อเขารักษาขุม(บ่อ)เงิน ๓ ขุม ขระกูล ๑
หื้อรักษาขุมคำ (บ่อทอง) ๓ ขุม ขระกูล ๑
หื้อรักษาขุมแก้ว ๓ ขุม ขระกูล ๑

แล้วพระยาอินทร์และเจ้ารสีก็จิ่งจักตั้งยังลัวะใน ๙ ขระกูลนี้ ไว้รักษาบ่อเงิน บ่อคำ บ่อแก้ว แล้วจิ่งจักใส่ชื่อเมืองอันนั้นตามขระกูลเสฏฐี ๙ คนนั้นว่า… นพบุรี ตามเสฏฐี ๙ คนนั้นแล. (เมืองล้านนานพบุรี ก็ว่า)


ในเวลาต่อมา-----------
เมื่อ คนทั้งหลาย ทั้งลัวะ ทั้งไท แพร่ออกมาหลาย ตามหล่าย(ฝั่ง, ฝาก)เวียงสวนดอกไม้หลวง ก็อยู่บ่เสี้ยง (อยู่ไม่หมด) เขาก็สร้างเมืองแถมใหม่อีกลูกหนึ่ง

(เสร็จเรียบร้อย)แล้ว ทั้งลัวะทังไทยก็ไปราธนาเจ้ารสี บอกกล่าวให้รู้ชุประการแล้ว
เจ้ารสีก็ขึ้นเมือ(ไป)หาพระยาอินทร์ เพื่อบอกกล่าวให้รู้ชุประการแล

พระยาอินท์ก็ลงมาตวย(ตาม)พระรสี
แล้วก็พากันไปสู่เสฏฐี (เศรษฐี)
(พระยาอินทร์และพระรสี)ก็ชี้ยังที่(อยู่)หื้อเสฏฐี ทั้ง ๙ คนว่า—
หื้อสูอยู่ฝ่ายเหนือผู้ ๑
อยู่(ตะ)วันออกแจ่ง(มุม)เหนือผู้ ๑
เสฏฐีผู้ ๑ อยู่หนวันออกจ๊วย(เฉียง) (ชื่อว่า?)หมื่นล้าน
เสฏฐีผู้ ๑ อยู่วันออกจ๊วยใต้
เสฏฐีผู้ ๑ อยู่หนใต้
เสฏฐีผู้ ๑ อยู่หนวันตก (ชื่อว่า?)เสฏฐีพ่อเลิง
(ต้นฉบับมีมาตามที่คัดมานี้--หรือจึงอาจจะนึกเอาเป็นว่า เสฏฐีพ่อเลิง อยู่หนวันตกจ๊วยใต้ ? กระมัง--)
เสฏฐีผู้ ๑ อยู่หนวันตกจ๊วยเหนือ
เสฏฐีผู้ ๑ อยู่กลางเวียง ชื่อว่าเสฏฐีพันเตา
(---ต้องนับเสฏฐีผู้ ๑ อยู่วันตกจ๊วยใต้ด้วย จึงจะครบ ๙)

เสฏฐี ๙ คนนี้ เขาก็ไปตั้งคุ้ม(บ้าน, วังของเจ้า) อยู่ตามคำเจ้ารสีและพระยาอินทร์ หาก(ได้)กฎหมาย(ประกาศ, กำหนด)ซื่อไว้ชุประการแล

เขาเจ้าทังหลาย
ทังปชานราช ไพร่บ้าน ไท(ย)เมือง
ก็อยู่ดีมีสุขชุคน หาภัยบ่ได้
ก็มั่งมีด้วยเข้าของสัมปติ บ่ทุกข์ไร้สักคนแล

เมื่อภายลุน(ภายหลัง)
ก็เล่าฤๅชาปรากฏไปคู่บ้านคู่เมือง (ปากอ่าน กู้บ้านกู้เมือง หมายว่า ทุกบ้านทุกเมือง) ว่า…..
บ่อแก้ว บ่อเงิน บ่อคำ ก็เกิดมียัง ‘เมืองล้านนานพบุรี’ ว่าอั้น (ว่าอย่างนั้น)
ท้าวพระยาต่างบ้านต่างเมืองทังหลาย อันอยู่ ๔ ทิศ ๘ ทิศ เขา(ได้ยินข่าวนี้แล้ว)ก็ว่าจักมารบเอา บ่อแก้ว บ่อเงิน บ่อคำ

(เมื่อข้าศึกทั้งหลายต่างบ้านต่างเมือง มีสารมาข่มขู่เอาบ้านเมือง จากพระยาเมืองล้านนาแล้ว)

คัน(ส่วน)ว่าพระยาล้านนานพบุรี อันเปนพระยาแก่ไทยทังหลาย
ภายหนลัวะดอยมีพระยาวีวอ ผู้เป็นใหญ่แก่ลัวะทังหลาย
(โปรดสังเกตคำว่า ลัวะดอย คงหมายว่า ชาวลัวะอยู่ภูดอย อย่างนี้แล้ว ฝ่ายไทย ก็คงจะอยู่ที่เพียงพื้นราบ กระมัง?)
ท้าวพระยาทังฝ่าบลัวะฝ่ายไทย เขาก็พากันไปไหว้สาเจ้ารสีว่า….

“ข้าแด่เจ้ารสี
ตูข้าทังหลายก็ยินกลัวแท้แล
อันว่าเสิก(ศึก)นี้ ตูข้าทังหลายสืบเช่นพ่อเช่นแม่ เช่นปู่ เช่นย่า ก็บ่ห่อน(ไม่เคย)ได้รู้สักเทื่อแล
ตูข้าทังหลายก็ขอเพิ่งด้วยเตชะเหง้าบุญ(แห่งเจ้ารสี)แด่เทอะ”

สรุปก็คือทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง’ไท’ ใน’เมืองล้านนานพบุรี’ อยู่สุขสบาย ไม่เคยรบทัพจับศึกมานมนานหลายปีแล้ว
เพราะบ้านเมืองมั่งคั่ง รุ่งเรื่อง รำรวย นี้เอง จึงเลื่องลือไปเข้าหูคนบ้านเมืองอื่น (เช่นเดียวก้บพระยามังรายแห่งราชวงศ์ลาว อยากได้ความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งของอาณาจักรหริภุญชัย จึงได้เดินทัพมายึดเอาเมืองลำพูน แล้วสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นอาณาจักรของราชวังมังรายได้สำเร็จในยุคต่อมา ดังที่จะเล่าไว้ในบล็อกนี้ในโอกาสต่อ ๆ ไป)


เอาเป็นว่า-- พวกเจ้าต่างด้าวท้าวเมืองต่างแดนก็อยากได้ เมืองล้านนานพบุรี มาไว้ในครอบครองหรือเอามาขึ้นกับอาณาจักรตน,
คนชาวบ้านชาวเมืองไท-ลัวะก็เกิดความหวาดกลัวการสงครามและการสูญเสียบ้านเมือง
ก็เลยไปขอพึ่งบุญ “ผู้มีบารมี คู่บ้านเมือง” ว่าอั้นนเต๊อะ!

--- [555....ha ha ha... “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ยุคปี พ.ศ. ๒๕๔๙–๒๕๕๐ จะออกมาช่วยชาวลัวะรักลัวะกับทั้งชาวไทยรักไทย...กู้ชาติ...บ้านเมือง...อย่างไร“ ___เอ้ย__ เจ้ารสีแห่งดอยอ้อยช้าง(ดอยสุเทพ) จะช่วยบอกหนทางแก้ไข วิกฤตการณ์บ้านเมืองของทังลัวะทังไทย ไว้อย่างไรนั้น ต้องติดตามอ่านตอนต่อไปเสียแล้วครับ ท่านผู้ฟังนิทาน]----






อ้างอิง:
1. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม สถาบันวิจัยสังคม ม.ช. (ปริวรรต) พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. 2537,

posted by a_somjai on Thursday, March 22, 2007.




 

Create Date : 22 มีนาคม 2550    
Last Update : 5 พฤษภาคม 2550 2:59:24 น.
Counter : 922 Pageviews.  

เมืองล้านนาก่อนยุคนครพิงค์เชียงใหม่: ‘เวียงเวสาลี’, ‘เมืองนพบุรี’, และ ‘เวียงสวนดอกไม้หลวง’

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (20)
บุกเบิกที่ป่าให้เป็นเมือง สร้างเรื่องให้เป็น ‘ลัวะ’ (11)




ทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง'ไท’ ใน'เมืองล้านนา’:
(6) ‘เวียงเวสาลี’, ‘เมืองนพบุรี’, และ ‘เวียงสวนดอกไม้หลวง’


มาว่าเรื่องลัวะเรื่องไทผู้ตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำปิงตอนบนในยุคโบราณกันต่อกันดีกว่า เดี๋ยวจะออกนอกเรื่องมากไป--- เอาเป็นว่า---
ในตำนานสมัยโบราณนั้น “ตำนานบ้านเมืองใคร ก็จะว่าแต่เรื่องราวของบ้านเมืองและพระญาผู้เป็นใหญ่ของตนเองเท่านั้น”
เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็คงเพราะว่า “ตำนานเป็นเรื่องเล่าอ้างอิงความชอบธรรมเชิงประกาศสิทธิอำนาจ ต่อผู้คน บ้านเมือง ดินแดน แผ่นน้ำหนังดิน และสมบัติทั้งมวล ของกลุ่มคนผู้ผลิต เสพ และเป็นเจ้าของนิทาน/ตำนานนั้น ๆ” -----ก็อย่างที่ผู้เขียนบล็อกนี้เคยบอกกล่าวกันไว้ ( *ที่นี่* ) แล้วว่า----- หากมองตำนานว่าเป็นเรื่องเล่าที่สร้างขึ้นด้วยการปรุงแต่งผ่านรูปแบบของภาษาและการบรรยายแล้ว ตำนานในระดับนี้ ก็จึงเป็นเพียงนิทานอันหมายถึงเรื่องโกหกไม่ควรคิดอะไรให้มากไปกว่าการเสพเพื่อความบันเทิง แต่ทว่าหากยกระดับตำนานขึ้นสู่ระดับความจริงเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงด้วยคำพูดหรือถ้อยคำแล้ว ความจริงเชิงสัญลักษณ์ที่ตำนานต้องการบอกนั้นก็คือ “ความเงียบที่อยู่เบื้องหลังคำพูด”


อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่องในตำนานนี้ให้ศึกษาและขยายความเข้าใจกันอีกหลายประเด็น ยกตัวอย่างเรื่องความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่าง ’ไทกับลัวะ’ ดังในนิทานเล่าว่า—
…ยังมีลูกน้อง’พระยาแมนตาทอก’หมู่ ๑ มี ๕๐๐ หลังคาเรือน เขากลัว’ผี’ ก็พากันเอาครัวลูกเขา ครัวเขาและเมียรัก หนีไปลี้/หลบอยู่ยังดอยด้วน ภายลุน/ภายหลังเขาก็ออก’มาลักเข้า กินเกลือ’ เมินตามเมิน/ทำอยู่นานจนเขาก็ลวด(เลย)กลายเป็น ’พ่อหัวโจรดอยด้วน’ กำลังเขา(พวกโจร)มี ๕๐๐ ด้ำ(ด้าม)ดาบแล … “โจรดอยด้วนทังหลายฝูงนั้น ก็เปนตระกูลฝ่ายไทย อันเปนลูกน้องพระยาแมนตาทอกเสี้ยง(ทั้งหมด)แล” (อันนี้น่าจะเป็นการ ปนเปกับเรื่อง พญาเจื๋อง หรือ ขุนเจื๋ยง แห่งเมืองพะเยา ละกระมัง?)


เอ้ากลับมาเรื่อง---ตำนานเมืองล้านนา—เชียงใหม่ปางลัวะ---เอ่อ—ปางเดิม กันอีกครั้งก่อนค่อยกล่าวอำลากันในวันนี้--
ก็และภายหลังเวียงเชฏฐบุรี-เวียงเจ็ดรินถูกกองทัพผีตายืนปิดล้อม ตีแตกแล้ว
ตำนานว่า—
ลัวะก็เรียกชื่อเมืองเสียใหม่ว่า “เวสาลี เหตุว่าเป็นเมืองผี เสียหว่าง ๑”
(หมายความว่า=ตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของผี เสียช่วงเวลาหนึ่ง –ความจริงว่าตามรากศัพท์แล้ว ไพศาล แปลว่า กว้างใหญ่ อย่างเช่นในครั้งพุทธกาล เวสาลี หรือ ไวศาลี หรือ ไพศาลี เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง)

ความในนิทานตอนต่อไปนี้ น่าสนใจมากกว่าครับ--
“ต่อมาตระกูลทั้งหลายอันประกอบด้วยเสฏฐีลัวะ ๙ ตระกูล ผู้ถือศีล ๕ ศีล ๘ และถือสัจจะ จึงได้รับการแต่งตั้งจากพระอินทร์ให้รักษาบ่อเงิน บ่อคำ และบ่อแก้ว (บ่อ=ขุม ก็ว่า) ในเมืองล้านนายุคนั้น

จึงใส่ชื่อเมืองอันนั้นใหม่ตามตระกูลเสฏฐีลัวะ ๙ ตระกูลว่า ‘เมืองนพบุรี’ (เมืองล้านนานพบุรี ก็ว่า)

มีข้อสังเกตว่า ---การพัฒนาของเมืองยุคโบราณจากความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ปางเดิม—ล้านนา นี้ เริ่มต้นจาก—
การบุกเบิกที่ป่าให้เป็นเมือง(และสร้างเรื่องให้เป็นเมือง)กว้างใหญ่วุฒิจำเริญด้วยการทำนาข้าว-ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์มาก (ต้องย้อนไปอ่านตอนว่าด้วย คำทำนายของพระฤษีวาสุเทพแห่งดอยอ้อยช้าง/ดอยสุเทพว่าด้วยชาตาเมืองล้านนาที่ทั้งลัวะทั้งไทร่วมกันสร้างขึ้นมาเมื่อยุคเจ้าหลวงคำแดง ) และผู้คนพลเมืองก็เป็นอยู่อย่างมีศีลธรรมตามคววามเชื่อทางศาสนาของตน-คนชาวเมือง-ทั้งลัวะทั้งไท แล้วเกิดเมืองขยายใหญ่โตสืบต่อกันมาจนถึงยุครุ่งเรื่องสูงสุด ก็ด้วยเหตุแห่งการเป็นเมืองเศรษฐกิจแบบการค้าพานิชย์ ทำให้พวกพ่อค้าเศรษฐีมีอำนาจปกครองบ้านเมืองนั้นเอง

แล้ว--
ภายหลังผู้คนก็เข้ามาอยู่ในเมืองมาแถม(อีก)หลาย
“(เมือง, พื้นที่เมือง) บ่พออยู่ เขาก็พากันสร้างเวียงแถม(เพิ่ม)ใหม่ ลูก ๑
ซื่อว่า ‘เวียงสวนดอกไม้หลวง’
สร้างแล้วก็พากันมาอยู่ ลัวะทังหลายก็อยูดีมีสุขมากนักแล”

เมื่อสร้าง ‘เวียงสวนดอกไม้หลวง’ เพิ่มขึ้นมาอีกเมืองหนึ่งแล้วนั้น
คนทังหลายก็อยู่สุคติคมนะ ทังลัวะทังไท(ย)แล”

ก็อยู่ต่อมาเมินนานมากนักแล้ว
คนทังหลายก็แพร่ออกมาหลาย
ตามหล่าย(ฝากด้าน) ’เวียงดอกไม้หลวง’ ก็อยู่บ่เสี้ยง (อยู่กันไม่หมด)

‘ทังลัวะทังไทย’ ก็เลยพากันไปเผี้ยว(ถาง)ดงหลวงดงใหญ่
สร้างเวียงแถม(เพิ่ม)ใหม่ขึ้นอีกลูก ๑ กว้างยาว พันวาปลาย
เขาเจ้าทังหลาย (เสฏฐีลัวะทั้ง ๙ คน ๙ ตระกูล)
ทังประชานราช ’ไพร่บ้าน ไท(ย)เมือง’
ก็อยู่ดีมีสุขชุคนหาภัยบ่ได้ (ชุ อ่อน จุ = ทุก)
ก็มั่งมีด้วยเข้า(ข้าว)ของสมบัติ
บ่ทุกข์ไร้สักคนแล”

(เมืองสุดท้ายนี้ ในนิทานไม่ได้บอกชื่อเมืองไว้ครับ)



Chiang Mai From Above
ภาพถ่าย โดย Shawn B
(on January 30, 2006)



[อ้อ---มี Note ความเห็นเป็นหมายเหตุเล็ก ๆ ที่ a_somjai เขียนไว้เองเมื่อคราวค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนเรื่องชุดนี้ครั้งแรก ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทางเหนือ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2545 ว่า-- ***ความสัมพันธ์กันระหว่าง ตำนานนี้กับยุคสมัยของผู้แต่งและชนชั้นปกครองเมืองเชียงใหม่ยุคสยามปกครองล้านนานั้น มีข้อสังเกตคือ ตำนานนี้เขียนเรียบเรียงขึ้นใหม่หรือ แต่งเมื่อสมัยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ชื่อเจ้าหลวงเสรฐฎี ใช่หรือไม่?, ตำนาน/นิทานคงมีจุดมุ่งหมายด้านการควบคุมสังคมหรือปกตรองบ้านเมืองโดยการอยู่ร่วมกันระหว่างลัวะกับไท, เช่นการยกเรื่องราวของลูกผสมไท-ลัวะ ๗ ชายพี่น้อง ดูเหมือนคล้ายกับต้องการอ้างสิทธิธรรมในการสืบอำนาจของเชื้อเจ้าเจ็ดตน ใช่หรือไม่?, เรื่อง เมืองล้านนา กับ ‘เวียงนารัฏฐะ’ กับเรื่อง "เก็บผักใส่ซ้า(ตระกร้าไม้ไผ่สาน)ไ เก็บข้าใส่เมือง...นครเมืองพิงค์เชียงใหม่-นพปุรีสรีพิงชัยเชียงใหม่อันเป็นใหญ่ ในล้านนา ๕๗ เมือง" สมัยพระเจ้ากาวิละ กับคำว่า ‘ไพร่ฟ้าข้าเมือง’ ในตำนานล้วนมีจุดมุ่งหมายเรียกร้องชาวป่าชาวเมืองเข้ามาอยู่ใน ‘เวียงนารัฏฐะ’ เมื่อยุคเมืองล้านนาโบราณ และผลิตซ้ำวาทกรรมตำนานอีกครั้งหนึ่งในยุคสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นต้นมา-ภายหลังฟื้นม่านคือกู้บ้านเมืองเป็นอิสระจากพม่า-ตรงกับยุคพระเจ้าตากสินแห่งสยาม/กรุงธนบุรี และการเก็บผ้กใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองนี้ก็ได้ทำต่อเนื่องสืบต่อมาถึงยุคเจ้าเมืององค์ต่อ ๆ มา ตรงกับยุคต้นรัตนโกสินทร์ นั้นแหละ, และข้อสังเกตเรื่องอื่น ๆ เช่น การ ‘นั่งช้าง’ ‘เสวยเมือง’, ‘ทศธรรม’ ‘อยู่สวัสดี’, ‘เข้า(ข้าว)หนา ปลาถูก’ ‘ไพร่อยู่ค้า’ ‘ข้าอยู่ขาย’ เป็นต้น เหล่านี้ก็ดี ล้วนแล้วเป็นเรื่องของวาทกรรมที่มีนัยทางปฏิบัติเพื่อประกาศ/ตอกย้ำสิทธิธรรมแห่งอำนาจของชนชั้นปกครองทั้งสิ้น ใช่หรือไม่ **** แต่นี้ก็คงเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่บันทึกไว้ เผื่ออาจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาต่อไปในภายหน้าเท่านั้นเอง---อย่างไรก็ดีเราจะเห็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเขียนเล่าเรื่องประวัติและพิธีบูชาเสาอินทขิล สิ่งศักดิ์สิทธิคู่เมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะ "คำประกาศสิทธิธรรม" ในคำบูชาเสาอินทขิล ต้องติดตามงานเขียนชุดนี้--->อีกสักตอน สองตอน เน้อเจ้า!)]




อ้างอิง:
1. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม สถาบันวิจัยสังคม ม.ช. (ปริวรรต) พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. 2537,

posted by a_somjai on Tuesday, February 27, 2007 @ 7:06 AM.




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 19 มีนาคม 2550 11:46:48 น.
Counter : 929 Pageviews.  

ล้านนาก่อนยุคนครพิงค์เชียงใหม่: ‘เวียงเจ็ดริน’ และ ‘เวียงเชฏฐบุรี’

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (19)
บุกเบิกที่ป่าให้เป็นเมือง สร้างเรื่องให้เป็น ‘ลัวะ’ (10)




ทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง'ไท’ ใน'เมืองล้านนา’:
(4) ‘เวียงเจ็ดริน’ และ ‘เวียงเชฏฐบุรี’



แต่ก่อน ‘เช่น(ชั่ว)ตระกูล’ ‘มูล(เชื้อ)เก่าปู่ย่า’ ‘เหมาะ’ ‘หม่อน’ แห่งเรามานั้น
เขาก็เล่ากันสืบมาว่า “เวียงล้านนาแลเวียงนารัฐนี้ ยุบลง ๒ เทื่อแล้วแล ว่าอั้น”

ลุน(ภายหลัง)นั้นมา(ที่เมืองยุบทั้ง ๒ ครั้ง) คนทังหลายชุม(หมู่พวก)อันเขายังอยู่นั้น
เขาก็พากันหนีไปอยู่ ‘บ้านนอกขอกป่า’ ‘ที่จิ่มใกล้ข้างดอย’ อยู่ตาม ‘ซอกห้วยริมดอย’
เหตุว่าจักอยู่ที่ต่ำที่เพียง(ที่พื้นราบ) เขาก็กลัวน้ำท่วมและกลัวยุบเหมือนเมื่อก่อนนั้น


แล้วตำนานก็เล่าซ้ำความตามแบบแผนเดิมอีกคือ การสร้างเมืองใหม่ ว่า---
เมื่อภายหลัง ‘ทั้งลัวะทั้งไท’ ก็แพร่พอกออกพันธุ์กันมากหลวงหลาย
ในกาลนั้น เชื้อเก่าท้าวพระยาเสนาอามาตย์ (---ชาว’ไทรักลัวะแลลัวะรักไท’ทั้งหลาย-- อันหลังนี้สำนวน a_somjai เพิ่มเติมให้เข้ายุคสมัยนี้ดอกนะท่านผู้ฟัง)

เขาก็ฟู่จา(อู้จา พูดจา) กันว่า “เราก็ควรสร้างรั้วแปงเวียงแถมใหม่เทอะ
คัน(หาก) เรา (อ่าน เฮา) บ่สร้างบ่แปง หลอน(กลัวว่า) ที่โหล่งแม่ระมิงค์หากเยียะ(ทำ)นาปี ๑ ย่อมมีขึ้นลงเป็นเกณฑ์ข้าวในเมืองที่นี้ กินคุ้มไป ๗ ปี ก็เปนชาตาเมืองที่นี้
จักเป็นสาธารณะแก่ข้าเสิก(ข้าศึก)ชะแล”
เขาก็ว่าอั้น(อย่างนั้น)ชุ(ทุก)คนแล

เขาก็ว่าเราจักสร้างที่ใดชา (ชา อ่าน จา)
คัน(หาก)จักสร้างที่ต่ำก็(เข็ด)หลาบเสียแล้ว
เขาก็จิ่งพากันไปไหว้ เจ้ารสี ว่า—
“ข้าทังหลายก็กลัวข้าเสิกศัตรู ไปภายหน้าจักหาที่เพิ่งบ่ได้
ก็ใคร่พากันสร้างเวียงแถม จักสร้างที่ต่ำก็กลัวยุบกลัวล่ม
กลัวเหมือนเวียงเก่าเล่าชา ข้าทังหลายก็กลัวแท้แล
ขอพระรสีเจ้าจุ่งอินดูกรุณาผู้ข้าทังหลาย
ขอไปชี้บอกเขตแดนที่อันจักแปงเวียงแก่ผู้ข้าทังหลาย”

ที่นั้นพระรสีตนมีเมตตามหากรุณา ลงมาจากดอยสุเทพแล้ว
ก็ชี้ที่ “เวียงเจ็ดริน” ที่นั้นหื้อเขาแล
ลาง(บาง)ที่ก็เป็นแภะ( ป่าโปร่ง, ป่าละเมาะ) อยู่
ลางที่ก็เป็นดงอยู่
เขาก็ชวนกันเผี้ยว(แผ้ว)ถางแล้ว
“ก็ชวนกันแปงรั้วแปงเวียง อยู่ทิศตะวันออก ตีนเขาอุสุปัพพตา หั้นก็มีแล”
(เขาหรือดอยอุสุปัพพตา แแปลว่าดอยอ้อยช้าง บางครั้งเรียก ดอยลัวะ ก็คือดอยสุเทพ นั้นเอง)

เจ้ารสีก็ใส่ชื่อว่า ‘เวียงเชฏฐบุรี’
และเจ้าตนเสวยเมืองนั้นชื่อว่า ‘พระยาสะเกต’ เปนเค้า (เป็นประเดิม, เริ่มแรก)
หนภายขระกูล (ข้างฝ่ายตระกูล)ลัวะ มี ’พระยาวีวอ’ เป็นประธาน”


--ถึงตรงนี้--ต้องขออนุญาตขัดจังหวะการฟังนิทานตำนานของท่านเสียแล้วครับ
เพราะ--- มีข้อสังเกตแทรกเข้ามาอย่างนี้ครับ:

(๑) หากพิจารณาเนื้อความจากตำนานแล้ว เมืองโบราณของชาว’ไทรักลัวะ-ลัวะรักไท’ ชื่อ “เวียงเจ็ดริน” ซึ่งผู้เขียนสุ่มเดาเข้าใจเอาเองว่าตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขตรั้วสีม่วงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ถนนห้วยแก้ว) ปัจจุบันนี้---
คงเป็นเวียงเก่า มีตั้งอยู่มาแล้ว ก่อนน้ำท่วม’เวียงนารัฐ’ ยุบล่มจมน้ำครั้งที่ ๒
และอาจเป็นได้ว่า‘เวียงเจ็ดริน’เป็นเมืองร่วมสมัยกับ 'เวียงล้านนา’ ที่ล่มจมน้ำเมืองแรกเสียด้วยซ้ำ

(๒) ‘เวียงเชฏฐบุรี’ สร้างทับ ‘เวียงเจ็ดริน’

(๓) เมืองล้านนาสมัย ‘เวียงเชฏฐบุรี’ มีผู้ปกครองร่วมกันจากกลุ่มชนแบ่งกันหยาบ ๆ ได้ ๒ กลุ่ม ได้แก่ ท้าวพระยาฝ่ายไท (คำ ไท นี้ หากอ่านออกเสียงสำเนียงลื้อหรือไทยใหญ่ จะปากว่า ไต) ถือว่าเป็นเค้าเป็นประธานคือว่าเป็นใหญ่กว่าอีกฝ่าย (คงเพราะผู้เขียนตำนานนี้อ้างอิงอำนาจของ ตระกูล‘ไท’ สืบแต่ 'เจ้าหลวงคำแดง’ ด้วยกระมัง)

กับอีกฝ่ายซึ่ง งานเขียนชุดนี้ได้นำเสนอมาแล้วว่า ยังมีคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เขตดอยอ้อยช้างแต่เดิมนั้นก็มีหัวหน้าชนหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นท้าวพระยาและยอมรับกันให้เป็นประธานเป็นใหญ่ฝ่าย(ชนเผ่าพื้นเมือง)ตระกูลลัวะ

(๕) ตำนานได้เลื่อนตำแหน่งหัวหน้า(ประธานผู้เป็นใหญ่)ฝ่ายลัวะทั้งหลาย จาก ‘ขุนหลวง’ มาเรียกว่า ‘พระญา/พระยา’ เช่นเดียวกับหัวหน้าไททั้งหลายแล้ว ตำนานนี้เรียกชื่อตำแหน่งเต็ม ๆ ว่า “พระยาวีวอ” ครับ



ก็และดังนี้ผู้เล่าจักขอพาท่านผู้อ่านผู้ฟังกลับไปต่อเรื่องในตำนานกัน อีกรอบครับ ---
“เขา (ทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง’ไท’ ใน 'เมืองล้านนา’) ก็พากันสร้างแปงรั้วแปงเวียง
ก็แล้วทั่ว(ครบ)ถ้วนบัวรมวล(บริบูรณ์)แล้ว
เขาก็พากันอยู่เปนที่สุคติคมนะ
‘เปนดีมีฮั่ง’ (มั่งมี)ด้วยเข้า(ข้าว)ของสมบัติแท้แล”




ความจริงเรื่องราวของทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง’ไท’ ใน’เมืองล้านนา’ ในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม มีอยู่อีกยืดยาว เล่าอีก ๓ เดือน (3x4=12 สัปดาห์)ก็ไม่จบ แต่จำเป็นต้อง(ตัดบท)ยุติไว้เพียงนี้ก่อน เก็บไว้ว่ากันในประเด็นมุมมองอื่น ๆ เมื่อพันธมิตรกุ้ชาติ—เอ้ยเมื่อท่านผู้อ่านแควน ๆ blog around the blog ต้องการ (5555—ฮา ๆ)

เพราะผู้เล่ามีเหตุผลอย่างนี้ครับ; ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่สำนวนนี้มีปรากฏคำ ‘พระยาแมนตาทอก’ อันเป็นพระยาเป็นใหญ่ฝ่ายไทย กับ คำว่า“ขอกฟ้าผีตายยืน” อันเข้าใจว่าเป็นดินแดนหรือขอบเขตอำนาจชายขอบของจักรวรรดิจีนโบราณติดเขตแกว(ญวน) เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง’ไท’ ใน’เมืองล้านนา ยุคเวียงเชฏฐบุรีและ/หรือเวียงเจ็ดริน นี้ด้วย

ความในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมตอนหนึ่งเล่าว่า---
“พระยาแมนตาทอก ก็ป่าวยังโยธา ยกกำลังริพล ออกไปรบกับด้วย ’ผีตายยืน’ แท้หั้นแล
เขาก็พากันไปรบผี ก็ฆ่าฟันผีฝูงนั้น ผีชุม(พวก)นั้นเขาก็พ่ายหนีเมือ(กลับ)รอด(ถึง)เมืองเขา
คือว่าที่ ‘ขอกฟ้าผีตายยืน’ พุ้นแล้ว

‘พระยาแมนตาทอก’ ก็ไล่ขับผีไป และไปถูก ’ปืนพิษ’ (ของ) ’ผีตายยืน’ ก็ลวกตายเสียที่นั้นแล …
… ผีก็มาคุมเวียงแวด(ล้อม)ขังยังเวียงเชฏฐบุรี คือว่าเวียงเจ็ดริน นานได้ ๓ ปี เวียงก็ลวดแตก”
(นี้คือ เครื่องชี้สนับสนุนการวินิจฉัยของ a_somjai ในข้อ (๒) ‘เวียงเชฏฐบุรี’ สร้างทับ ‘เวียงเจ็ดริน’ ดังกล่าวแล้ว)

ความจริงเรื่องราวของ ‘แมนตาทอกขอกฟ้าตายืน’ ผู้ปราบกองทัพและฆ่าขุนเจืองวีรบุรุษของชนชาติต่าง ๆ ในอุษาคเนย์นี้ มีในนิทาน ตำนาน หรือวรรณกรรมโบราณเรื่อง ท้าวรุ่ง(ฮุ่ง)ท้าวเจือง อย่างเช่นวรรณคดีภาษาลาวและในตำนานเมืองพะเยาเป็นต้น (ดูที่นี่ และ ที่นี่) –[คำสำคัญและเรื่องราวดังกล่าวในตำนานลัวะ—เชียงใหม่ปางเดิม--นี้ ทำให้ a_somjai มีการบ้านหนักในการสำรวจ “ตำนานพระญาเจือง – ขุนเจือง – ลาวเจือง” หรือท้าวรุ่ง/ฮุ่งขุนเจื๋องธรรมิกราช ของกลุ่มชนและบ้านเมืองไท-ลาว-ลื้อ-แกว ถิ่นต่าง ๆ ---คงมีงานภาษาพื้นบ้านให้ค้นอ่านอีกหลายแหละครับ]
--เก็บเอาไว้เล่าสู่กันฟังแบบยาว ๆ ในโอกาสข้างหน้าละกันครับ



คราวหน้าจะมาเล่าต่อ…เรื่องเมือง—
‘เวียงเวสาลี’, ‘เมืองนพบุรี’, และ ‘เวียงสวนดอกไม้หลวง’
ต้องตวยอ่านเน้อเจ้า!



อ้างอิง:
1. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, (ปริวรรต) พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. 2537,

posted by a_somjai on Thursday , February 22, 2007.




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 6:51:06 น.
Counter : 787 Pageviews.  

เมืองเก่ายุคโบราณ ล่มจมลงใต้น้ำที่เชียงใหม่ สมัยที่ ๒?

ตำนานเมืองใหญ่ในล้านนา ฉบับบ้านเมือง (18)
บุกเบิกที่ป่าให้เป็นเมือง สร้างเรื่องให้เป็น ‘ลัวะ’ (9)



ทั้ง‘ลัวะ’ ทั้ง'ไท’ ใน'เมืองล้านนา’:
(3) นิทานเมืองล่มจมลงใต้น้ำ (ต่อ)



๑.
เมืองนารัฐ
เดือน ๓ (เหนือ) ออก ๙ ค่ำ ปีที่__ แห่งรัชกาลพระยามุนินทพิชชะ

“ที่นั้นเทวดาเสื้อเมืองอันได้เป็นเทวดาอารักษ์อยู่เฝ้าแหนเมืองเชียงดาวและเมืองเชียงใหม่ตราบเถิง(ถึง)กาลบัดนี้

“คือว่าเจ้าสุวัณณคำแดงเป็นเค้า และเทวดาอารักษ์มเหสิกขาเชนบ้านเชนเมืองทังหลาย ก็บ่เพิ่งใจ” (อ่าน บ่เปิงใจ= --ไม่พึงใจ ไม่พอใจที่มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในบ้านเมือง)

เทวดาอารักษ์ เชนเมืองเจ้าทังหลาย “ก็แต่งหื้อ(ให้)เจ้ารสีหัน(เห็น--นิมิต หมาย ลาง เหตุ เค้า มูล) ... เมื่อคืนหื้อหันเป็นควัน เมื่อวันหื้อหันเป็นเปียว(เปลว) เป็นดั่งพยับแดดนั้นแล

“หื้อเรือนหลังนั้นหม่นหมอง หื้อหาศรี บ่ได้แล” (เรือน อ่าน เฮือน, ศรี อ่าน สะ-หรี)




๒.
เจ้ารสีก็เสด็จมาสู่เรือนหลังนั้น

“แล้วท่านก็หันยังบ่าวแถ่ว (ชายขึ้นหนุ่ม) อายุพอได้ ๑๖ ปี ผ้ง(กำลัง)ตีหญิงชายคู่หนึ่งอยู่

พระรสีก็ถามว่า “ดูราอุบาสกและอุบาสิกา ชายผู้ตีสูทัง ๒ นี้เป็นลูกสูกา(ฤา)

(หนุ่มน้อยที่ตีสูผู้นั้น) “เป็นลูกแท้กาว่าบ่ใช่ลูกแท้กา” (เป็นลูกชายของสูจริง ๆ หรือว่าไม่ใช่ลูกจริง-ลูกเลี้ยง)

เขาทังสองผัวเมียนั้น ก็ไหว้สาเจ้ารสีว่า “ข้าแด่เจ้ารสี เขาหากเป็นลูกแห่งข้าแท้แล”

พระรสีถามว่า “ตั้งแต่ใหญ่มานี้ มันย่อมตี เยียะขี(ทำให้)สูพ่อแม่เดือดร้อน ทังวันแลกา”

นางผู้เป็นแม่กล่าวว่า “คันว่า(แต่)เมื่อพ่อมันตายไปได้ ๑ ปีปลาย ผู้ข้าก็เอาผัวแถมใหม่ มันก็บ่หื้อเอา ข้าก็บ่ฟังคำมันแล มันก็ลวด(เลย)เคียด(โกรธ)หื้อข้า แล้วก็ผิด(ทะเลาะ)ยังข้า มันก็ตีเยียะขีทังวันแล” (เยียะ=เฮ็ด, ทำ, กระทำ)

ชายหนุ่มผู้ลูกกล่าวขึ้นบ้างว่า “ข้าแด่พระรสี ชายผู้นั้นมันมาแอ่วหาแม่ข้า แม่ข้าฟู่จา (อู้จา/พูดจากัน) ด้วยคำปียะชมชื่นยินดีเซิ่ง(ซึ่ง)กันไปมา แล้วก็ชวนกันไปสู่ห้องท้องที่นอนแห่งพ่อข้า ข้าก็มาจวบพบยังชายผู้นั้นสนุกกามคุณกับด้วยแม่ข้า ข้าก็เปิบ(กระโจน)เข้าไปตีมัน ลวด(แล้วเลยพูดกับมัน)ว่า…มึงจักมานอนแทนที่นอนพ่อกูสังชา(ทำไมกัน)”

นางผู้แม่ก็ว่า “ข้าก็ลุกมาห้ามมัน มันก็ซ้ำเปิบมาตีข้าผู้เป็นแม่มันแถม ตั้งแต่นั้นมาลูกบ่าวข้าก็ตีข้าทัง ๒“
นางว่าพลางสะอื้นไห้ “คันมันหันพ่อน้า(พ่อเลี้ยง)มันมา มันก็ตีทังพ่อน้าและด่า(ด้วยคำ)ว่า… มึงมานอนกับด้วยแม่กูสัง(ทำไม) มึงจุ่งหนีไปด้วยรีบเทอะ หื้อมึงไปบัดเดียวนี้เทอะ ว่าอั้น พ่อน้ามันก็บ่ตอบ ก็บ่เถียง และดัก/(เงียบ)อยู่ มันก็เข้าไปตี(พ่อน้า)ยังที่นอน ก็ตีทั้งตัวข้าผู้เป็นแม่นี้(ด้วย)แล (มัน)ก็ด่าก็ตียังตูทังวันแล”

ที่นั้นพระรสีจิ่งร่ำเพิง(อ่าน ร่ำเปิง=รำพึง)ว่า ส่วนกูนี้ก็เป็นคนเมตตาแล ควร(แล้วที่เมื่อ)กูอยู่ที่สูง เล็งลงที่ต่ำ ก็หัน(เห็น)เรือนหลังนี้ เมื่อคืนหันเป็นควัน เมื่อวันหันเป็นเปียว(เปลว) ดั่งพยับแดด หันก็หม่นหมองหาศรีบ่ได้เลียก(ชัดเจน)กว่าเรือนท่านทังหลาย ตั้งแต่เดือน ๓ ออก ๙ ค่ำ มาตราบเถิงเดือน ๙ ออก ๙ ค่ำนี้แล




๓.
เจ้ารสีผู้มีเมตตา จึ่งถามสองผัวเมียว่า “ดั่งฤๅสูบ่สั่งสอนยังลูกนั้นชา”

นางผู้เป็นเมียตอบว่า “ตูพ่อแม่ สอนบ่ได้เสียแล้ว คันว่าตูข้าสอน มันก็เคียด(โกรธ) ซ้ำ(อีกยัง)ตีตูข้าแถม(อีก)”

พระรสีว่า “ผิอั้น สูท่านสั่งสอนบ่ได้ เอาไปหื้อท้าวพระยาสั่งสอนเล่าอั้นชา” (พ่อแม่สอนไม่ได้ ก็เอาไปให้เจ้านายสอนคงดีกว่ากระมัง)

พ่อแม่มันว่า “ตูข้าก็บ่วิสาสะคุ้นเคยท้าวพระยา ตูข้าเอาไปบ่ได้ (เพราะ)ยินกลัวท้าวพระยายิ่งนักแล”

ที่นั้นเจ้ารสี กล่าวว่า “คันสูกลัวเจ้านายท้าวพระยาแท้นั้น ก็มาตวยตามเราเทอะ”
พระรสีก็พาเอาสามคนพ่อแม่ลูกนั้น ไปยังสนามเจ้านายท้าวพระยาแล




๔.
เมื่อไปเถิงสนามเจ้านายท้าวพระยานั้น
เจ้ารสีแจ้งเหตุแก่ท้าวพระยาเสนาทัง ๔ แล้วว่า “เหตุนั้นแล เราจิ่งจักพาเขามากับลูกมัน มาหื้อพ่อออก(อุบาสก)อุปราชทังหลายสอนมันจิ่ม(ด้วย)”

แล้วพระรสีก็อ้างเหตุผลเข้าเรื่อง’การจัดระเบียบสังคม’โดยข้าราชการเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไว้น่าฟังว่า “เหตุว่าท่านทังหลาย 'เป็นพ่อบ้านแม่เมือง’ และ 'เป็นหูเป็นตาแห่งพระยาเจ้า’ แล”

อามาตย์ผู้หนึ่ง (ตอบ)ว่า “ตูข้าทังหลายรับสอนบ่ได้แลกา หลอน(หาก)ว่ามันบ่ฟังคำ ก็จักพาบ้านเมืองหม่นหมอง หาศรีเตชะบ่ได้แล”

อามาตย์อีกผู้หนึ่ง ว่า “คนจำพวกนี้ ควรใส่ขระแจ(กุญแจ) (จอง)จำคงไว้แล”

อามาตย์คนที่สาม ว่า “จักหื้อมันอยู่หนักแผ่นดินเจ้าสัง(ทำไม) ควรดีเอาไปฆ่าเสียแล”

อามาตย์คนสุดท้าย ว่า “คนในเมืองเรานี้ ก็ย่อมเป็น’ฝุ่นบ้านฝุ่นเมือง’แห่งพระยาเจ้าชุคนแล (__ฝุ่นบ้านฝอยเมือง ก็ว่า) หญิงก็ดี ชายก็ดี ควรเราทังหลายนำเอาไปไหว้สาพระยาเจ้าเมืองดูก่อนแล พระยาเจ้าจักว่าฤๅ(อย่างไร) แก่เราก็ยังบ่รู้เทื่อแล”




๕.
เมื่อเสนาทั้งสี่ กับพ่อแม่ลูกทั้งสาม พร้อมด้วยเจ้ารสี เถิง(ถึง)เมืองแล้ว พ่อบ้านแม่เมืองผู้เป็นหูเป็นตาแห่งพระยาเจ้า ก็เบิกตัวฝุ่นบ้านฝอยเมืองเข้าไปไหว้สาสำแดงแก่พระยาเจ้าเมืองตนชื่อมุนินทพิชชะ(=ผู้เป็นพืชพรรณแห่งพระมุนี/ฤษีเจ้า) และกราบบังคมทูลถวายรายงานเหตุอันราษฎรร้อนกายใจทั้งมวล

เมื่อได้เห็นบ่าวแถ่วหนุ่มขึ้นใหม่ผู้เป็นลูกของสองผัวเมียนั้น พระยาก็คระนิงใจ(คำนึง นึกในใจ)ว่ากุมารผู้นี้หมด(จดสด)ใส ปุนดี(อ่าน ปุ๋นดี=น่าที่จะ)อินดู(รักใคร่สงสาร)มันแท้แล กูก็บ่ควรดีหื้อมันตายเทื่อแล (__อ้อ --555 ท่านผู้อ่านในยุครัฐประหารซ้ำซาก ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ กรุณาอย่าคิดมาก ---คิดเป็นเรื่องอื่น เช่น รสนิยมทางเพศของผู้เป็นใหญ่มากบารมีในบางบ้านเมือง และ 555 เป็นต้น)

พระยาเจ้าจิ่งกล่าวว่า “มันหากตีพ่อตีแม่มันแล มันก็บ่ตีบุคคล(อื่น)ผู้ใดแล ‘คนร้ายบ่มี คนดีก็อยู่บ่ได้แล’ สูท่านเหย (สูท่านเอย) ว่าอั้น” แล้วพระยาเจ้าก็เสด็จขึ้นสู่หอปราสาท

แล้วพระยามุนินทพิชชะก็สว่าย((สั่น)ยังหมากหิ่งและเด็งผางลางหมากจามทังหลาย (ผู้เขียนเดาเอาเองว่า คงทำนองสั่นกระดิ่ง กระดึง นั้นแหละครับ)

แล้วก็ออกมาแสร้งถามท้าวพระยาทังหลายว่า “ดูราท้าวพระยาเสนาอามาตย์ทังหลาย เสียงอันเราสว่าย(สั่น)ตะกี้นั้น (__แต่กี้นี้ ก็ว่า) ท่านยังว่าม่วนบ่ม่วนชา (พวกท่านว่าเสียงมันไพเราะหรือไม่ไพเราะ)”

ที่นั้นเสนาอามาตย์ทังหลายเขาก็ว่า “ข้าแด่มหาราชเจ้า ก็ม่วนแท้แล” (ตอบเหมือนชาวเมืองในนิทานฝรั่งเรื่องพระราชานุ่งผ้าโปร่งแสงเลย—คือถูกหลอกให้นุ่งผ้าที่มองไม่เห็น--คือเปลือยนั้นแหละ)

พระยาเจ้าก็ถามว่า “ลูก(กระดิ่ง)มันเยียะสังชา(ทำอะไรหรือเสียงจึงไพเราะ)” อามาตย์ไหว้ว่า “ลูกมันฟัดตีแม่มันนั้น ก็เป็นอันม่วนแท้แล ว่าอั้น” (ลูกกระดิ่ง ตีแม่กระดิ่ง เกิดเสียงดังฟังเพราะ)

ที่นั้นพระยาเจ้ากล่าวว่า “ผิอั้น ชายผู้นี้ ก็บ่มีโทษสัง (ไม่มีโทษอะไร) มันบ่หล้าง(สมควร)ตายเทื่อแล”

ส่วนอามาตย์ทังหลายก็หย่องฟู (__หย่องจา ก็ว่า—แปลว่า แอบกระซิบกระซาบกัน) ว่า “พระยาเขาหากเพิงใจแลนอ (พระยาท่านคงพอใจอย่างนี้แท้แล้ว)

“คันว่า (ถ้าหากว่า) ใผ(ใคร)ใคร่ตีกัน(ที่)ไหน (แม้ว่าจะ)ตีพ่อก็แล้ว ตีแม่ก็แล้ว หาก(ก็คง)จักม่วนเหมือนพระยาเจ้าว่านั้นแท้แล” (__ a_somjai ขอ 555 ดัง ๆ ยาว ๆ อีกสักกะหน่อยครับ)

เมื่อเสนาได้มาไหว้บอกหื้อเจ้ารสีได้รู้ชุ(ทุก)ประการแล้ว
พระรสีจิ่งกล่าวว่า “บ่ห่อนจักเป็นสัง (ไม่เคยเห็นเป็นอะไรพรรค์นี้) ไปเสียแล้วแล ลุน(ภายหลัง)จากนี้ คัน(ถ้าหาก)ผู้ใดยังกลัวแต่ภัย ก็เมือ(เดินทางกลับ)ตวยตามเรามา ผู้ใดบ่กลัวก็ให้อยู่กับด้วยพระยาเจ้านี่เทอะ”
แล้วพระรสีเจ้าก็คืนเมือ(กลับ)สู่ที่อยู่แห่งตน




๖.
เมื่อนั้นแล คนทังหลายผู้ใดกลัว ก็เอา ‘ครัวลูก ครัวเมีย’ หนีไปอยู่ตามดอยและตีนดอยพุ้นแล
บางพ่อง(บ้าง) ’ก็ไปอยู่ซอกห้วยราวเขา’ ที่นั้นแล

อยู่ต่อมาได้ ๗ วัน
แต่ดอยอ้อยช้างไปจนที่ราบโหล่งแม่ระมิงอันเป็นแว่นแคว้นเขต ‘เมืองนารัฐ’
(ดอยอ้อยช้าง คือ ดอยลัวะ หรือ ดอยสุเทพ)
ก็มืดคลุ้มทังเมื่อวันเมื่อคืน
ฝนก็ตกลงมาบ่ขาด ได้ ๗ วัน ๗ คืน

เถิงวันถ้วน ๘ เมื่อคืน ยามข้อน(ใกล้)แจ้ง
ฝนก็จิ่งจักเอื้อน (หาย เหือด เอื้อน = หยุด)
พระรสีเจ้าก็จิ่งลุกมาซ่วย(ล้าง)หน้า บ้วนปาก ชำระตน
แล้วก็ผ่อ(ดู)มาทางทิศหนทางอันเป็นที่ตั้งของเวียงนารัฐ

รสีเจ้าก็หัน(เห็น)บริเวณนั้นเป็นน้ำเหลื้อม(เลื่อม, เป็นเงามัน)อยู่เทิง ๆ
พระรสีเจ้าจิ่งคระนิงใจว่า “ชะรอยเวียงลูกนี้ ยุบหล้ม(ล่ม)ลงแถมแล้ว” (แถม=อีก)

คันรุ่งแจ้งพระรสีเจ้าจิ่งถ่อแพไปรอด(ถึง)ท่ำกลางห้วงน้ำหั้น
แล้วก็จับใส่(หยูดอยู่ตรงที่)ยอดปราสาทพระยาเจ้ามุนินทพิชชะ อันจมอยู่ภายลุ่มน้ำพุ้นแล






อ้างอิง:
1. ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม สถาบันวิจัยสังคม ม.ช. (ปริวรรต) พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. 2537,

posted by a_somjai on Thursday , February 15, 2007.




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 5:40:55 น.
Counter : 778 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.