epilouge_gm@hotmail.com
Group Blog
 
All blogs
 

‘เมื่อ (ลิ้น) หัวใจมีปัญหา’

หัวใจ คือหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย หากว่าหัวใจหยุดเต้น เป็นที่แน่นอนว่า หมายถึงชีวิตที่จบสิ้น...







หัวใจ ยังเป็นอวัยวะที่มีความมหัศจรรย์ ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ มีการก่อร่างสร้างขึ้นตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา หัวใจก็เริ่มเต้นแล้ว และจะเต้นต่อไปอย่างไม่มีวันหยุด ตราบเท่าที่ยังมีชีวิต หัวใจไม่เคยมีวันหยุดพัก จึงถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด








การเต้นของหัวใจ เกิดจากการส่งกระแสไฟฟ้าที่สร้างขึ้นเองจากหัวใจห้องขวาบนมายังหัวใจห้องซ้ายบน และอีก 2 ห้องด้านล่าง เมื่อไฟฟ้าผ่านไปจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการบีบตัว ซึ่งทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน หากระบบไฟฟ้าผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะชักนำให้เกิดการเต้นที่ผิดจังหวะผิดปกติ ซึ่งบางครั้งรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้
















คนทั่วโลกกว่า 24.7 ล้านคน เป็นโรคหัวใจ โดยแบ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจตีบ 17.5 ล้านคน (ข้อมูลปี 2548) ซึ่งกว่า 80% เป็นคนที่อยู่ในประเทศยากจน








สถิติสำหรับในบ้านเรา สาเหตุการตายอันดับ 1 มาจากอุบัติเหตุ รองลงมาคือ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ซึ่งก็หมายความว่า โรคหัวใจ คืออาการเจ็บป่วยที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด!!!








นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์สมาคมแพทย์โรคหัวใจในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบเป็นอันดับแรก ขณะที่ปัจจุบันผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเพราะหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นหลัก ขณะที่สาเหตุเป็นลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบนั้นพบจำนวนไม่มากแล้ว โดยส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีสาธารณสุขไม่ดี ที่อยู่อาศัยมีสภาพแออัด








ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยลิ้นหัวใจรั่วน้อยลง ซึ่งโรคลิ้นหัวใจนี้จะเป็นตัวชี้วัดระดับความเจริญในแต่ละประเทศได้ เนื่องจากเป็นโรคที่มักจะเจอในประเทศในโลกที่ 3 หรือประเทศด้อยพัฒนา








สาเหตุของโรคดังกล่าวนั้นมีมากมาย ตั้งแต่เป็นมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะรั่วหรือตีบ ขณะที่ผู้ป่วยที่เพิ่งจะมาเป็นตอนที่โตขึ้นมาหน่อย หรือช่วงวัยรุ่น นั่นก็เนื่องเพราะมีอาการติดเชื้อตั้งแต่เด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านหัวใจตนเอง มีอาการอักเสบที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจรูห์มาติก โดยตอนแรกอาจไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้ เพราะอาการไม่แสดงออกอย่างชัดเจน โดยหากพบแต่แรกก็อาจจะรักษาขั้นต้นด้วยการรับประทานยา แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นมาก และมีอาการติดเชื้อหัวใจอย่างรุนแรง จึงต้องเปลี่ยน “ลิ้นหัวใจ” โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ลิ้นหัวใจเทียม” เข้าไปทดแทนสิ่งที่ธรรมชาติให้มาแต่ชำรุด ใช้การไม่ได้








ลิ้นหัวใจ ทำหน้าที่คล้ายประตูกั้นไม่ให้เลือดที่อยู่ในแต่ละห้องหัวใจไหลย้อนกลับขณะที่ห้องหัวใจบีบตัว ลิ้นหัวใจจึงทำหน้าที่คล้ายประตูปิด-เปิด ระหว่างห้องหัวใจตลอดเวลา ลิ้นหัวใจมีอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ ตริคัสปิด (Tricuspid) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาบนและล่าง พูลโมนารี (Pulmonary) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดแดงที่ไปปอด มิทรัล (Mitral) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง และเอออร์ติก (Aortic) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกาย








หากลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ตีบ ฉีกขาด ปิดไม่สนิท (รั่ว) ก็ย่อมทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้น โรคลิ้นหัวใจที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ลิ้นหัวใจพิการรูมาห์ติก ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อคออักเสบ








หัวใจทำงานคล้ายปั๊มน้ำสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกาย การบีบตัวของหัวใจทำให้เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจ ซึ่งเหมือนวาล์วปิดเปิด โดยเมื่อเลือดไหลผ่านออกไป ลิ้นหัวใจจะปิดไม่ให้เลือดไหลย้อนทางกลับมา เมื่อมีปัญหาโรคของลิ้นหัวใจ ประตูปิดเปิดจะทำงานไม่ปกติ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้เหนื่อยง่าย








หัวใจห้องบน (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัวหลังจากลิ้นหัวใจเปิดออก เลือดจะไหลจากหัวใจห้องบนมายังห้องล่าง เมื่อเลือดไหลหมด แล้วหัวใจห้องล่าง (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัว แรงดันที่เกิดขึ้นจะดันให้ลิ้นหัวใจเคลื่อนมาชนกัน อยู่ในตำแหน่งที่ปิดสนิท ไม่มีเลือดไหลย้อนกลับไปหัวใจห้องบนอีก ปรากฏการณ์นี้ก็เกิดเช่นเดียวกันกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก เราเรียกว่า “ลิ้นหัวใจตีบ” ซึ่งไม่ใช่ “หัวใจตีบ” หรือ “หลอดเลือดตีบ” และเมื่อถึงคราวต้องปิด แต่ปิดไม่สนิท มีรู หรือช่อง ให้เลือดไหลย้อนกลับได้ เราเรียกว่า “ลิ้นหัวใจรั่ว” ในหลายๆ ครั้งที่ลิ้นหัวใจอยู่ในสภาพที่แข็ง ปิดก็ปิดไม่สนิท เปิดก็ไม่ได้เต็มที่ นั่นคือ ทั้งตีบและรั่วในลิ้นเดียวกัน








โรคลิ้นหัวใจรั่วเกิดได้หลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในวัยเด็ก มีอาการคออักเสบ แล้วเกิดการอักเสบของหัวใจ แต่จะเริ่มมีอาการตอนอายุมากขึ้น พบบ่อยมากในบ้านเรา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด โรคลิ้นหัวใจเสื่อมในคนสูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย โดยมักเกิดจากลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ หรือเกิดจากมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ








โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นได้ทั้งในวัยเด็ก หรืออาจเพิ่งมีอาการตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ เด็กจะเหนื่อยง่าย ตัวไม่โต ตัวเขียว อาจพบร่วมกับผนังหัวใจรั่วด้วย โรคลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ พบในคนไข้ที่ฉีดยาเสพติด หรือคนไข้ที่มีโรคลิ้นหัวใจรั่วอยู่แล้ว เกิดเชื้อโรคในเลือดไปทำลายลิ้นหัวใจ หลังจากการทำฟัน หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผนังหัวใจจะขยายตัวออกกว้างขึ้น เนื่องจากเลือดคั่งมาก แต่กล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง ทำให้ลิ้นหัวใจโดนยืดขยายออกจนรั่ว หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนไม่สามารถยึดลิ้นหัวใจไว้ได้








ส่วนอาการที่จะแสดงออกให้รู้ ก็คือ จะรู้สึกเหนื่อยง่าย ผนังหัวใจหนา นอนราบไม่ได้ ขาบวม ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีเสียงฟู่ บริเวณลิ้นหัวใจ เป็นลมหมดสติบ่อยๆ








ลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยจะไม่แสดงอาการใดๆ หรือแม้แต่รั่วมากในหลายๆ รายก็ไม่แสดงอาการ อาการต่างๆ จะปรากฏเมื่อหัวใจไม่สามารถทนรับกับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นได้ต่อไปอีก จึงเกิดเป็นอาการหัวใจล้มเหลว (heart failure) เช่น หอบเหนื่อย ขาบวม ใจเต้นเร็ว เป็นต้น ซึ่งการตรวจร่างกายหรือตรวจสุขภาพประจำปีสามารถบอกได้ โดยอาจจะเอกซเรย์และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะบอกได้ว่ามีหัวใจห้องใดโตผิดปกติ มีน้ำท่วมปอดหรือไม่ จังหวะการเต้นหัวใจปกติหรือไม่ ตรวจวัดคลื่นเสียงความถี่สูง (เอคโค่) คล้ายเครื่องอัลตราซาวด์ จะเห็นการปิดเปิดของลิ้นหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งความรุนแรงของการตีบหรือรั่วของลิ้นหัวใจ นอกจากนี้ ยังสามารถทำด้วยการสวนหัวใจ ฉีดสี เพื่อบอกความรุนแรงของโรคได้ โดยอาจทำร่วมกับการขยายลิ้นหัวใจด้วยบอลลูน








การตรวจร่างกายจะวินิจฉัยโรคได้ดี เนื่องจากจะทำให้ได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ เรียกว่า “เสียงฟู่” หรือ murmur ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากลิ้นหัวใจตีบก็ได้ รั่วก็ได้ แล้วแต่ตำแหน่งของลิ้นหัวใจ อย่างไรก็ตาม เสียงฟู่ไม่ได้พบเฉพาะในโรคลิ้นหัวใจเท่านั้น ยังพบในหลายกรณี เช่น คนปกติบางราย คนตั้งครรภ์ ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว ฯลฯ








การตรวจพิเศษที่ช่วยในการวินิจฉัยลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งสามารถบอกความรุนแรงและลักษณะของลิ้นหัวใจได้ดีที่สุด คือ การตรวจด้วยคลื่นสะท้อน หรืออัลตราซาวด์ เราเรียกการตรวจชนิดนี้ว่า เอคโค่ (echocardiogram) ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือและความชำนาญของแพทย์ในการทำและแปลผลด้วย บ่อยครั้งที่การใช้เครื่องมือไฮเทคก็มีผลเสีย เนื่องจากเครื่องมือมี “ความไว” เกินไป สามารถตรวจจับการ “รั่ว” เพียงเล็กน้อยได้ ซึ่งการรั่วเล็กน้อยอาจจะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ซึ่งหากแพทย์บอกผู้ป่วยก็อาจทำให้เกิดความกังวลแก่ผู้ป่วยและญาติได้








ขณะที่การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก แม้จะไม่สามารถวินิจฉัยลิ้นหัวใจได้โดยตรง แต่ก็สามารถให้ข้อมูลของระดับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในสมัยก่อนเอกซเรย์ทรวงอกมีความสำคัญมาก แต่ในปัจจุบันการตรวจด้วยเครื่อง “เอคโค่” เข้ามามีบทบาทมากกว่าในการให้รายละเอียดเกี่ยวกับลิ้นหัวใจโดยตรง








แม้ว่าลิ้นหัวใจทำหน้าที่คล้ายประตู แต่หากเปิด-ปิดไม่สะดวกนั้นไม่สามารถรักษาด้วยการหยอดน้ำมันเช่นเดียวกับประตูบ้าน การรักษาให้สามารถทำงานเช่นปกติ ต้องเปลี่ยนสถานเดียว ไม่ว่าจะด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม หรือผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็ตาม โดยแพทย์จะทำการผ่าตัด เฉพาะในรายที่ลิ้นหัวใจเสียมากเท่านั้น หากลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง แพทย์จะแนะนำให้ติดตามดูอาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดแก้ไข








หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มาก ก็สามารถมีกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ถ้ารั่วมากมักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งจะถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย เนื่องจากต้องทะนุถนอมหัวใจที่อ่อนแอ ไม่ทำร้ายหัวใจด้วยอาหารเค็ม บุหรี่ อาหารไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง








สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้น หากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือทำผ่าตัดใดๆ ก็ต้องบอกแพทย์ให้ทราบก่อน เนื่องจากโอกาสที่แบคทีเรียจะแทรกซึมเข้ากระแสเลือดมีโอกาสสูง หรือมีการถลอกของผนังหัวใจ และเพื่อเป็นการป้องกัน หมอจะให้กินยาปฏิชีวนะแก้เชื้อก่อนครึ่งถึง 1 ชั่วโมง ให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อน รวมถึงหลังผ่าตัดแล้วต้องให้คนไข้กินยาป้องกันเลือดแข็งตัวตลอดชีวิต








สำหรับคนที่ป่วยถึงขั้นจะต้องทำการผ่าตัดรักษา หากทำได้ทันท่วงทีการเสียชีวิตก็เป็นเรื่องห่างไกล โดยเฉพาะการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจนั้น สามารถช่วยลดตัวเลขการเสียชีวิตได้กว่า 80% ปัจจุบัน ในบ้านเราการผ่าตัดลิ้นหัวใจอยู่ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและการดูแลรักษาให้กับผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ป่วยมีฐานะไม่ค่อยดี ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดค่อนข้างสูง








ความเสี่ยงในการไม่ตอบสนองลิ้นหัวใจเทียมที่เปลี่ยนเข้าไปใหม่นั่นย่อมมีอยู่แล้ว นพ.รังสฤษฎ์ บอกว่า ถ้ามองเป็นเรื่องปกติการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายย่อมมีความเสี่ยง








“จริงๆ แล้วการผ่าตัดไม่ว่าจะเป็นอวัยวะส่วนใดก็ตาม ไม่มีอะไรที่จะสมบูรณ์เหมือนเดิม 100% อยู่แล้ว” นพ.พีระพัฒน์ มังกระพงษ์ แพทย์ผ่าตัดหัวใจประจำโรงพยาบาลราชวิถี ให้คำอธิบายในเรื่องนี้อีกว่า โดยเฉพาะเมื่อเรานำสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เข้าไปใส่ในร่างกาย ก็มักจะมีผลข้างเคียงอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่เป็นปกติอยู่แล้วประมาณ 1-2% “ถ้ามีปัญหามาก ระหว่าง 5-10% เราต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ข้อปฏิบัติแก่คนไข้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรแบบเคร่งครัด ขณะที่ปัญหาซึ่งอาจจะบกพร่องเกิน 10% นั้น ต้องรีบแก้ไขทันที ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีกรณีรุนแรงเช่นนั้น เพราะบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้เขาต้องทำการวิจัยมาเป็น 10 ปี จนพบตัวเลขอัตราเสี่ยงที่ลดลงเรื่อยๆ จนเหลือ 0% จึงจะได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาให้ผลิตออกมาสู่ตลาดได้”








สำหรับผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจมาแล้ว ฟังทางนี้...








ข่าวคราวล่าสุดที่ประกาศออกมาจากซินซินเนติ ในสหรัฐอเมริกาท เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ประกาศเตือนและเรียกคืนลิ้นหัวใจเทียมรุ่นที่เรียกว่า บียอร์ก-ชีลีย์ คอนเว็กโซ-คอนเคฟ หรือ บีเอสซีซี (Bjork-Shiley Convexo-Concave Heart Valve Implantees - BSCC) ซึ่งเป็นผลงานของการค้นคว้าร่วมกันระหว่าง โบว์ลิง กับ ไฟเซอร์ ที่อาจจะทำให้ผู้ได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจชนิดนี้เข้าไปเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิต เนื่องเพราะความไม่แข็งแรงพอของตัวลิ้นหัวใจเทียมรุ่นดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจรุ่นนี้เข้าไปแล้วกว่า 86,000 รายทั่วโลก!!!








ในการตรวจสอบคุณภาพล่าสุดของโรงงานผู้ผลิต พบว่า ลิ้นหัวใจรุ่นบีเอสซีซี ซึ่งผลิตออกมาจำหน่ายในปี 1979 และ 1986 มีเปอร์เซ็นต์ในการที่ชิ้นส่วนจะแตกหักหรือหลุดออกจากกันได้ง่าย นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้ผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจรุ่นดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายได้ จึงทำให้โรงงานต้องเรียกคืนโดยด่วน รวมทั้งประกาศรับผิดชอบต่ออันตรายทั้งปวงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ที่รับลิ้นหัวใจเทียมรุ่นดังกล่าวไปแล้วด้วย








จากการตรวจสอบบริษัทไฟเซอร์ในประเทศไทย ไม่ปรากฏว่ามีการนำเข้าลิ้นหัวใจเทียมแต่อย่างใด หากเน้นการนำเข้ายาเฉพาะทางบางชนิดเท่านั้น








นพ.พีระพัฒน์ ทิ้งท้ายว่า เมื่อเกิดเหตุผิดพลาดจะต้องผ่าตัดเอาออกทันที อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นน้อยมาก ดังนั้น จึงไม่ควรวิตกจนเกินไป และด้วยความเจริญทางการแพทย์ที่มีมากขึ้น ทำให้การตรวจพบความผิดปกติก็ทำได้เร็วขึ้น การรักษาจึงประสบผลดีขึ้น








“โรคหัวใจจึงไม่ใช่โรคที่รุนแรงน่ากลัวอีกต่อไป เพียงแต่ดูแลตัวเองดีๆ ปัญหานี้ก็จะน้อยลง”








เพียงหวังว่าคุณจะไม่ใช่ 1 ใน 86,000 รายนั้น !!!




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2550    
Last Update : 1 ตุลาคม 2550 16:05:18 น.
Counter : 1134 Pageviews.  

โรคลิ้นหัวใจรั่ว

โรคลิ้นหัวใจรั่ว

คือ หัวใจทำงานคล้ายปั๊มน้ำสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกาย การบีบตัวของหัวใจทำให้เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจ ซึ่งเหมือนวาล์วปิดเปิด โดยเมื่อเลือดไหลผ่านออกไป ลิ้นหัวใจจะปิดไม่ให้เลือดไหลย้อนทางกลับมา เมื่อมีปัญหาโรคของลิ้นหัวใจ ประตูปิดเปิดจะทำงานไม่ปกติ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้เหนื่อยง่าย



ลิ้นหัวใจ มี 4 ลิ้น

1) ลิ้นเอออร์ติค กั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่

2) ลิ้นไมตรัล กั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง

3) ลิ้นพัลโมนารี กั้นระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดที่ไปปอด

4) ลิ้นไตรคัสปิด กั้นระหว่างหัวใจห้องขวาบนและล่าง

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจ

1) โรคลิ้นหัวใจรูห็มาติค เกิดจากการติดเชื้อในวัยเด็ก มีอาการคออักเสบ แล้วเกิดการอักเสบของหัวใจ แต่จะเริ่มมีอาการตอนอายุมากขึ้น พบบ่อยมากในบ้านเรา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

2) โรคลิ้นหัวใจเสื่อมในคนสูงอายุ เป็นความเสื่อมของร่างกาย มักเป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติคตีบ เกิดจากมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ

3) โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจมีอาการตอนวัยเด็ก หรือมีตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ เด็กจะเหนื่อยง่าย ตัวไม่โต ตัวเขียว อาจพบร่วมกับผนังหัวใจรั่วด้วย

4) โรคลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ พบในคนไข้ที่ฉีดยาเสพติด หรือ คนไข้ที่มีโรคลิ้นหัวใจรั่วอยู่แล้วเกิดเชื้อโรคในเลือดไปทำลายลิ้นหัวใจ หลังจากการทำฟัน

5) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผนังหัวใจจะขยายตัวออกกว้างขึ้น เนื่องจากเลือดคั่งมาก แต่กล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง ทำให้ลิ้นหัวใจโดนยืดขยายออกจนรั่ว หรือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนไม่สามารถยึดลิ้นหัวใจไว้ได้

อาการและอาการแสดง

-เหนื่อยง่าย
-ผนังหัวใจหนา
-นอนราบไม่ได้ ขาบวม
-ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
-เสียงฟู่ บริเวณลิ้นหัวใจ
-เป็นลม หมดสติบ่อยๆ

การตรวจพิเศษ

1) เอกซเรย์ และ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะบอกได้ว่ามีหัวใจห้องใดโตผิดปกติ มีน้ำท่วมปอด หรือไม่ จังหวะการเต้นหัวใจปกติหรือไม่

2) คลื่นเสียงความถี่สูง (เอคโค่) คล้ายเครื่องอัลตราซาวน์ จะเห็นการปิดเปิดของลิ้นหัวใจ การบีบตัวของกล้าม เนื้อหัวใจ รวมทั้งความรุนแรงของการตีบ หรือรั่วของลิ้น หัวใจ

3) สวนหัวใจ,ฉีดสี บอกความรุนแรงของโรคได้ อาจทำร่วมกับการขยายลิ้นหัวใจ ด้วยบอลลูน

การรักษา

-เลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม
-งดอาหารเค็ม บุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารมันจัด ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ต้องจำกัดน้ำดื่ม
-กินยา และไปพบแพทย์สม่ำเสมอ
-ขยายลิ้นหัวใจด้วยบอลลูน
-เปลี่ยนผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม
-ถ้าต้องทำฟัน ผ่าตัด ต้องแจ้งแพทย์ว่ามีโรคลิ้นหัวใจอยู่

การป้องกัน

ตรวจสุขภาพประจำปี
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ถ้ามีคออักเสบ ไอ เจ็บคอ ต้องกินยาให้ครบขนาดยา จนหายขาด


แย่เลยนะคะ ใครที่เป็นโรคนี้ เก็บมาฝากไว้เปนข้อมูล ค่ะ




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2550    
Last Update : 1 ตุลาคม 2550 15:58:55 น.
Counter : 697 Pageviews.  


epilouge
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add epilouge's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.