space
space
space
space

ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก ดูแลและป้องกันอย่างไร


พี่เลี้ยงเด็ก

ปัญหาที่พบบ่อยของลูกน้อยอีกเรื่องคงหนีไม่พ้น ผื่นผ้าอ้อม ที่สร้างความระคายเคืองให้กับผิวของลูกจนไม่สบายตัว โดยลักษณะทั่วไปที่พบจะเป็นผดผื่นสีแดงเป็นปื้น ๆ ขนาดเล็กในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม มีอาการบวมแดง อาจมีการกระจายไปในบริเวณข้างเคียงอย่างท้องหรือโคนขา มีอาการเจ็บหรือคันเมื่อมีการสัมผัสโดน

ผื่นผ้าอ้อมมาจากไหน ?

ผื่นผ้าอ้อมเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้กับทารกในช่วง 3 ปีแรกหลังคลอด แต่มักพบได้บ่อยในทารกวัย 9-12 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง และเริ่มเปลี่ยนมารับประทานอาหารเด็กอ่อน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดในอุจจาระ รวมไปถึงมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดผื่นในลักษณะต่าง ๆ ตามสาเหตุ เช่น

  • การเสียดสีระหว่างผิวเด็กกับผ้าอ้อมที่สวมใส่อยู่
  • การระคายเคืองของผิวจากอุจจาระ ปัสสาวะ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • การติดเชื้อราจากความเปียกชื้นในผ้าอ้อม โดยเฉพาะแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ทำให้เกิดผื่นแดงในลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายทั่วบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม และกระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงทั้งด้านหน้าหรือหน้าหลังของตัวเด็ก
  • อาการแพ้จากสิ่งที่สัมผัสกับผิวเด็ก ทั้งทิชชู่เปียก ตัวผ้าอ้อมเอง ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สบู่ โลชั่น หรือเส้นใยผ้าที่สวมใส่
  • การรับประทานยาปฏิชีวนะก็อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อรา เนื่องจากตัวยาไปทำลายเชื้อแบคทีเรียชนิดดีในร่างกาย ทั้งจากการที่เด็กรับประทานเข้าไปโดยตรงหรือส่งผ่านตัวยาจากแม่สู่ลูกในช่วงให้นมบุตร

แม้ว่าผื่นผ้าอ้อมจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย แต่ผื่นบางประเภทที่เกิดจากการติดเชื้ออาจเป็นอันตรายต่อทารก คุณแม่ควรพาน้องไปพบแพทย์หากผื่นที่เกิดขึ้นกลายเป็นแผล ตุ่มสิวหรือตุ่มหนอง บวมแดง ผื่นเกิดการกระจายตัวไปยังบริเวณท้อง หลังแขน หรือใบหน้า มีไข้ขึ้น หรือเกิดผื่นในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด อาการของลูกแย่ลงและไม่หายภายใน 2-3 วันหลังการดูแลในเบื้องต้น เพราะเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ

ดูแลลูกน้อยอย่างไรในช่วงเกิดผื่นผ้าอ้อม ?

ในช่วงที่เกิดผื่นผ้าอ้อมจะทำให้ผิวเด็กบอบบางมากกว่าเดิม คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจกับการดูแลผิวจุดนี้เป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นได้ไวมากที่สุดตามคำแนะนำดังนี้

รักษาความสะอาด เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศ ก้น และบริเวณโดยรอบด้วยน้ำสะอาด เลือกใช้ผ้าที่มีความอ่อนนุ่มซับแทนการถู เพราะผิวของเด็กมีความบอบบางและระคายเคืองได้ง่าย จากนั้นให้ทายาที่เป็นครีมหรือขี้ผึ้งสำหรับผื่นผ้าอ้อมบาง ๆ เพื่อช่วยป้องกันความชื้นและไม่ให้บริเวณที่เกิดผดผื่นได้รับการเสียดสีเพิ่มมากขึ้น

ดูแลผิวบริเวณก้นให้แห้งอยู่เสมอ หลังการล้างทำความสะอาด ให้วางตัวเด็กลงบนผ้าขนหนู ซับน้ำส่วนเกินบริเวณก้นและอวัยวะเพศอย่างเบามือก่อนการใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ เพื่อป้องกันการเปียกชื้นและทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม อาจเลือกใช้ผ้าอ้อมชนิดที่ดูดซับความชื้นได้ดี รวมไปถึงเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีหลังการอุจจาระ

ปล่อยให้อากาศถ่ายเทบ้าง ความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมนาน ๆ อาจทำให้ผื่นรุนแรงมากขึ้น ทางที่ดีควรให้ผิวลูกได้พักบ้าง คุณแม่ควรเว้นช่วงให้ลูกน้อยไม่ต้องสวมใส่ผ้าอ้อมในระหว่างวัน อาจเป็นช่วงที่ลูกงีบหลับ หรือทิ้งช่วงสัก 10 นาทีก่อนการใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงผ้าอ้อมที่ใช้วัสดุหลักเป็นพลาสติก รวมไปถึงเลือกขนาดของผ้าอ้อมให้มีไซส์ใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยจนกว่าอาการจะดีขึ้น

ทายาเคลือบปกป้องผิว การทายาควรทาบาง ๆ บนผิวของทารกและอาจทาปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum Jelly) ทับอีกชั้นป้องกันไม่ให้ยาติดกับผ้าอ้อม ซึ่งตัวยามักจะมีซิงค์ ออกไซด์ เป็นส่วนประกอบสำคัญ สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง หรือยาป้าย และเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมในครั้งต่อไปอาจใช้สำลีชุบน้ำมันมิเนอรัล (Mineral Oil) เช็ดยาที่ทาไว้ออกบางส่วนแล้วทาใหม่ แต่ไม่ควรเช็ดออกทั้งหมด เพราะจะยิ่งทำให้ผิวเด็กเกิดการระคายเคืองมากกว่าเดิม โดยก่อนการใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการเลือกประเภทตัวยาให้เหมาะกับลูกน้อย และคำนึงถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับทารก ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของผงฟู กรดบอริก (Boric Acid) การบูร (Camphor) ฟีนอล (Phenol) เบนโซเคน (Benzocaine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือซาลิซัยเลท (Salicylates) เพราะเป็นสารที่อันตรายต่อผิวทารก

อาบน้ำเป็นประจำ คุณแม่ควรอาบน้ำให้ลูกเป็นประจำทุกวัน อาจใช้น้ำอุ่นเล็กน้อยและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิว ปราศจากสารเคมีและน้ำหอม

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อเด็ก ไม่ควรใช้ทิชชู่เปียกหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้ผิวเด็กแห้งและระคายเคืองมากขึ้น รวมไปถึงแป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ (Talc) หรือเรียกว่า แป้งทัลคัม (Talcum Powder) ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดของทารก

ผื่นผ้าอ้อมมักจะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วัน และเมื่อดูแลตามคำแนะนำเบื้องต้นก็สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ แต่ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อรา (Candidal Infection) แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Medicines) หรือสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในรายที่เกิดแผลพุพอง(Impetigo) จากการติดเชื้อแบคทีเรีย และยาสเตียรอยด์อ่อน ๆ รูปแบบครีมหรือขี้ผึ้ง

ป้องกันผื่นผ้าอ้อมอย่างไร ?

สิ่งสำคัญในการป้องกันผื่นผ้าอ้อม คือ การดูแลผิวทารกให้แห้งสนิทและรักษาความสะอาดด้วยการเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพื่อป้องกันอุจจาระและปัสสาวะสร้างความระคายเคืองกับผิวลูกน้อยด้วยคำแนะนำต่อไปนี้

  • เมื่อผ้าอ้อมเต็มหรือจับดูแล้วเริ่มตุง ๆ มีความชื้น ควรเปลี่ยนและทำความสะอาดอย่างเบามือทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเปียกชื้นและการระคายเคืองจากปัสสาวะ อุจจาระ
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมทุก 2-3 ชั่วโมงหรือทุกครั้งหลังจากอุจจาระ
  • ควรล้างทำความสะอาดบริเวณก้นของทารกในระหว่างวันด้วยน้ำอุ่นและสบู่สูตรอ่อนโยนสำหรับเด็ก คุณแม่อาจใช้มือวักน้ำหรือเทน้ำอุ่นจากในขวดพลาสติกล้างก้นก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อม
  • ก่อนใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ทุกครั้งต้องมั่นใจว่าผิวของลูกแห้งสนิทดี หลังการล้างหรือเช็ดทำความสะอาดอาจใช้ผ้าขนหนูที่อ่อนนุ่มซับเบา ๆ แทนการถูที่ผิวเด็ก
  • ไม่ควรใส่ผ้าอ้อมให้รัดแน่นมากเกินไป เพื่อป้องกันความอับชื้นและรอยถลอกจากการเสียดสี
  • เด็กที่มีผิวบอบบางเป็นพิเศษอาจใช้ครีมหรือขี้ผึ้งทาที่บริเวณก้นก่อนใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่
  • ควรเลือกใช้ผ้าอ้อมที่ได้คุณภาพ อ่อนโยนต่อผิวทารก และใช้วัสดุที่ระบายอากาศได้ดี
  • ปล่อยให้ผิวลูกได้หายใจบ้างในช่วงระหว่างวัน ช่วงนอนหลับ หรือระหว่างเปลี่ยนผ้าอ้อม
  • หลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นของตัวเด็ก

หากสนใจหาพี่เลี้ยงเด็ก สามารถติดต่อสอบถามปรึกษาเรื่อง พี่เลี้ยงเด็ก, พี่เลี้ยงฟิลิปปินส์ ได้ที่
เว็บไซต์ : https://www.kidnario.com
Facebook : https://www.facebook.com/KiDNARIO




Create Date : 25 ตุลาคม 2561
Last Update : 25 ตุลาคม 2561 11:53:15 น. 0 comments
Counter : 484 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 2341563
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 2341563's blog to your web]
space
space
space
space
space