Group Blog
 
All blogs
 
เมื่ออาจารย์ลงหนังสือพิมพ์

ห้องสนทนา : โสรีช์ โพธิแก้ว คนหัวแถวแห่ง ' จิตวิทยาพุทธศาสนา'

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2549 16:07 น.




ไม่รู้ว่ากี่ยุคสมัยแล้ว ที่ศาสตร์ของโลกตะวันตก ได้บ่มเพาะให้เราซึ่งเป็นคนในซีกโลกตะวันออก เชื่อว่า คำตอบที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ของเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ต้องไปค้นเอาความจริงจากโลกตะวันตกเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง โลกฝั่งตะวันออกก็มี‘ของดี’ ที่ ให้คำตอบของเรื่องราวที่เราได้ตั้งคำถามมาช้านานแล้ว ซึ่งนั่นก็คือหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง
หนึ่งเสียงจาก ‘รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว’ ผู้อำนวยการ หลักสูตรจิตวิทยาการศึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยได้รับทุนฟูลไบรท์ไปศึกษาระดับ ปริญญาเอกด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัย Northern illinios ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะ มาช่วยยืนยันเรื่องนี้ เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมาเขาได้ มุ่งมั่นต่อสู้เข็นศาสตร์ความรู้ด้าน ‘จิตวิทยาพระพุทธศาสนา’สู่ระบบการเรียนการสอนในห้องเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก จนเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่วิชาด้านจิตวิทยาซึ่งเขาร่ำเรียนมาภายใต้กรอบความรู้ของนักจิตวิทยาตะวันตก ไม่สามารถให้ คำตอบอันกระจ่างชัดได้
จิตวิทยาพระพุทธศาสนาดีอย่างไร? และอะไรทำให้เขาต้องการนำวิชานี้ออกสู่การรับรู้ของคนวงกว้าง คำตอบอยู่ใน‘ห้องสนทนา’นี้แล้ว

• จิตวิทยาพระพุทธศาสนา มีที่มาอย่างไรคะ มันหลายปัจจัยด้วยกัน คำว่า ‘จิตวิทยาพระพุทธศาสนา’ หรือ Buddhism Psychology เป็นศาสตร์ ที่ลึกซึ้งของโลกตะวันออก มีอิทธิพลต่อประเทศไทย เรามาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปี อธิบายเรื่องชีวิต เรื่องโลก เรื่องธรรมชาติที่ลึกซึ้ง ส่วนจิตวิทยาก็เป็นอิทธิพลจากโลก ตะวันตก เป็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการที่จะเข้าใจเรื่องจิตใจ เรื่องพฤติกรรม ผมเรียนจิตวิทยาตั้งแต่ปริญญาตรี ได้รับการปลูกฝังเรื่องของจิตวิทยา ในโลกทัศน์ตะวันตก ซึ่งก็มีพวกกรีกเป็นนักคิดพื้นฐาน แต่พอถึงระดับหนึ่ง ผ่านไป 10 ปี 20 ปี ผมพบว่ามันตีบตันอย่างไรพิกล ขณะที่เราก็อยู่ในโลกตะวันออก ที่อธิบายเรื่องของชีวิต เรื่องของจิตใจได้อย่างลึกซึ้งครบถ้วน นั่นก็คือเรื่องของพระพุทธศาสนา และกว่า ที่ผมจะเข้าใจได้ก็ผ่านการทำความเข้าใจมายาวนาน
ส่วนตัวผมเองก็ได้รับอิทธิพลจากท่านพุทธทาสมาก จะลงไปสวนโมกข์ (อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี)ทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2529 เป็นต้นมา ปีหนึ่งไป 2-3 หน แต่ละหนก็จะอยู่เป็นอาทิตย์ ไปหาท่านจนถึงเวลาที่ท่านสิ้น ท่านมีอิทธิพลต่อผมและลูกศิษย์มาก พวกเรามีคำถาม มากมายเกี่ยวกับชีวิต เพื่อจะใช้ในการรักษาตนเอง รักษาคนอื่น และท่านก็ช่วยให้เราเข้าใจตรงนี้
ทั้งหมดที่เล่ามา ผมก็เลยคิดว่าเพื่อจะทำให้พุทธ- ศาสนาผสมกับจิตวิทยาอย่างเป็นหลักเป็นฐานในสถา บันวิชาการ และเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนาในมุมวิชาการอีกแง่มุมหนึ่ง ก็เลยมีวิชาจิตวิทยาพุทธศาสนา ขึ้นมา ซึ่งมีเจตนาอยากจะเชื่อมโลกตะวันตกกับโลก ตะวันออกเข้าด้วยกัน

• ศาสตร์นี้แตกต่างจากแนวคิดของนักจิตวิทยาชื่อดัง‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ อย่างไร

ต่างกันในส่วนลึกนะ แต่ในส่วนผิวเผินอาจจะไม่ ต่างกัน อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนาของเราละเอียดกว่าเยอะ ว่าไปแล้วความคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นเหมือนกับกิ่งไม้ เมื่อเทียบกับพระพุทธศาสนา แล้วผมยังมีความเชื่อบางประการด้วยว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ เขาจะต้องได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาด้วย เพราะผมเห็นร่องรอยบางประการว่าซิกมันด์ ฟรอยด์ ตอนที่เป็นนิสิตแพทย์ชอบศึกษาวิชาปรัชญา ไปเรียนกับอาจารย์คนหนึ่งชื่อ Franz Brentarno นักปรัชญาที่มีชื่อเสียง ผู้มีชีวิตร่วมสมัย ซึ่งเป็นมิตร สหายกับนักปรัชญาชาวเยอรมันชื่อ Schopenhawer ผู้สนใจพระพุทธศาสนามาก ผมคิดว่าซิกมันด์ ฟรอยด์ คงจะได้อิทธิพลทางพระพุทธศาสนาผ่านอาจารย์ของ เขา เพราะผมเห็นความคล้ายคลึงกันบางระดับ ในเรื่องแนวคิดของฟรอยด์และคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเช่น ฟรอยด์บอกว่าพฤติกรรมของมนุษย์วางรากฐานอยู่บนความก้าวร้าว และความปรารถนาทางเพศ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก ความก้าวร้าวนี้ก็ ไม่น่าต่างไปจากโทสะ ความปรารถนาทางเพศรส ก็น่าจะเป็นเรื่องโลภะ และจิตที่ไม่สำนึกก็คือโมหะ แต่ ฟรอยด์คงเข้าใจไม่ได้ทั้งหมด ก็เลยตั้งเป็นทฤษฎี และก็เอาไปทำประโยชน์ระดับหนึ่งก่อน

• แล้วนำมาปรับใช้อย่างไรคะ กับการเรียนการสอน

มันค่อยๆปรับ อย่างเช่นประเด็นปัญหาเรื่องในใจของคน ถ้าเป็นแนวคิดตะวันตกเขาก็จะอธิบายและ ก็หาสาเหตุอย่างที่เขาเข้าใจได้ ทีนี้ผมก็ลองดูว่าปัญหาใจเมื่อตะวันตกมองอย่างนี้แล้ว ตะวันออกเรามองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธ ผมพบว่าปัญหาในใจนั้น คนตะวันตกมองถึงอาการและเหตุอย่างหนึ่ง ส่วนตะวันออก หรือพระพุทธศาสนามอง อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเอามาเทียบกันแล้ว บางอย่างมัน ซ้อนกัน แต่ของพระพุทธศาสนากว้างขวาง ครบถ้วน ลึกซึ้งมากกว่า แล้วเราก็สามารถจะนำมาแก้ไขปัญหาของเราเอง ของเพื่อนมนุษย์ได้อย่างหมดจดขึ้น
เมื่อปี 2521ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง‘การนำหลักอริยสัจสี่มาใช้ในการรักษาปัญหาจิตใจ’ แต่จะเข้าใจอย่างแท้จริง ก็ใช้เวลาผ่านไปนานมาก แต่ ก่อนเราก็เข้าใจเป็นตัวหนังสือ ยังไม่เคยนำมาใช้ในเรื่องของการทำสมาธิหรือวิปัสสนาอะไรทั้งนั้น แต่ก็โชคดีที่ผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับคนที่มาหาผม และเอา ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ในเรื่องของจิตใจมาให้ผมช่วยดู แล้วผมก็ได้เรียนรู้อะไรจากเขามาก ช่วยให้ผมได้เข้า ใจที่นำเอาทั้งสองฝั่งมาประยุกต์ มาประกอบ มาจัดและมาเชื่อมเข้าหากัน ณ ขณะนี้ผมมองปัญหาในใจของคนด้วยฐานของพระพุทธศาสนาอย่างเป็นหลักเลยล่ะครับ

• พบปัญหาอะไรบ้างไหมคะ
มีครับ ผมเข้าใจว่ามันก็เหมือนกับวิชาทั่วๆไปที่กว่า จะนำออกมาเสนอได้ มันต้องผ่านขั้นตอน ผ่านการโต้ เถียงโต้แย้ง ใคร่ครวญ วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ เต็มไปหมด เมื่อสักสิบปีที่แล้ว ผมไม่ค่อยมั่นใจหรอก แม้ว่าผมจะรักและเทิดทูนวิชาจิตวิทยาตะวันออกมาก ขณะที่นับวันๆ ผมก็ระลึกถึงว่า พระพุทธเจ้าท่านอุตส่าห์ค้นคว้าพระธรรมและได้ถ่ายทอดมาให้เราเข้าใจ และอีกท่านหนึ่งที่ผมระลึกถึงคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ว่า ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม’ ผมเองก็อยากเป็นพสกนิกรที่ เดินตามรอยท่านด้วย จึงเกิดเป็นกำลังใจที่จะนำวิชานี้มาเผยแพร่ บอกกล่าวกับเพื่อนๆ เพราะว่าในโลกวิชาการนั้น อิทธิพลของแนวคิดตะวันตกมีมากเหลือเกิน จนผู้เรียนก็ลืมไปว่า สิ่งที่ตัวเองเรียน วิชาส่วนใหญ่มันมีรากฐานมาจากโลกตะวันตก เพราะฉะนั้นการจะนำเสนอวิชาที่วางรากฐานมาจากอิทธิพลโลกตะวันออก เป็นเรื่องค่อนข้างยาก

• จากจุดเริ่มต้นจนถึงเวลานี้นานแค่ไหนแล้วคะ
ผมเข้าใจว่าเป็นการกระบวนการหนึ่งที่ยาวนานมาก (ลากเสียง) อาจจะนับได้ตั้งแต่ผมเรียนปริญญาตรีที่ ม.ช.(มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)โน่นแหละ ผมเรียนจิตวิทยา ก็จะถูกปลูกฝังความคิดเรื่องจิตวิทยาตะวันตก คำถามเล็กๆ ที่มันมีอยู่ในใจของผมเสมอก็คือ นักจิต วิทยาตะวันออก หรือนักจิตวิทยาไทยมีไหม การที่เรา ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของพระพุทธศาสนา ต้องไปวัดไปวา คุยกับพระสงฆ์องคเจ้า ตามประเพณีของเราอยู่บ้าง มันก็ทำให้คำถามอย่างนี้มันเกิดขึ้น จนกระทั่งผม เรียนปริญญาโทที่จุฬาฯ ผมก็ยังมีคำถาม แต่มันก็เป็นคำตอบของจิตวิทยาตะวันตกซะส่วนใหญ่
จนกระทั่งผมมีโอกาสไปเรียนปริญญาเอก เวลานั้น ผมอยากจะบอกกับเพื่อนฝรั่งว่า ความจริงที่บ้านผม มีของดีเหมือนกันที่อธิบายจิตใจ อธิบายพฤติกรรม นั่นคือพุทธศาสนา ก็มีหนังสือสองเล่มที่ผมได้อาศัย เป็นคู่มือ นั่นก็คือ ‘คู่มือมนุษย์’ ของท่านพุทธทาส และ ‘พุทธธรรม’ ของท่านพระธรรมปิฎก(ปัจจุบันคือพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต) และผมก็ได้สังเกตพบ ว่าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Northern illinios ที่ผมเรียนอยู่ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเอย เต๋าเอย เซนเอย เยอะมากๆ และก็เขียนโดยผู้รู้ที่เป็นชาว ตะวันตก รวมถึงผู้รู้ที่เป็นชาวลังกา พม่า อินเดีย และฮาวายก็มี ผมก็ได้ศึกษาจากท่านเหล่านั้น พอเรียนจบ ผมได้มาเปิดสอนวิชาจิตวิทยาพระพุทธศาสนาที่จุฬาฯ(ปี พ.ศ.2522) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีลูก ศิษย์คนหนึ่งถามว่า อาจารย์ขา คำว่าไม่มีตัวตน แล้วที่นั่งอยู่ในห้อง ซึ่งเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นแขน เป็นขา เป็นตา เป็นจมูก เป็นปากนี้ ถ้าไม่ใช่มีตัวตนแล้วมันเป็นอะไร ผมตอบไม่ได้ ผมก็เลยเลิกสอนไปหลายปี เพราะผมรู้สึกว่าปริญญาเอกที่เรียนมาเกือบตายนั้น ผมเข้าใจไม่ถ่องแท้เลย

• ตอนนั้นเลิกสอนแล้วไปทำอะไรคะ
ผมศึกษาด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ จัดเวิร์คช้อป และสอนจิตวิทยาแบบตะวันตกไปพลางๆก่อน จนปี พ.ศ. 2529 ผมไปหาท่านพุทธทาส ไปพบท่าน ผมก็รู้สึกว่า ผมสว่างไสว ตั้งแต่นั้นมาผมก็รู้สึกว่าตัวเองเติบโตใน ความเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนามากขึ้นๆ แล้วผมก็คิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ นำมาประยุกต์กับวิชาจิตวิทยาการศึกษาและวิชาอื่นๆมากขึ้น

• เคยนำคำถามเรื่องจิตวิทยาไปถามกับท่านพุทธทาสบ้างไหม
ผมมักจะไม่ได้ถามท่านนะ แต่ผมรู้สึกว่าเวลาคุยกับท่าน เหมือนเกิดความเข้าใจอะไรหลายๆอย่าง จากการที่ผมได้อยู่กับท่าน ได้ฟังท่าน มากกว่าที่จะตั้งคำ ถาม เวลาที่ท่านเล่าอะไรให้เราฟังผมเข้าใจ และคำถามก็ไม่ค่อยมี ลูกศิษย์ที่ไปกับผมมักจะมีคำถาม และเวลาที่ท่านตอบ ผมก็ได้ความรู้จากการที่ท่านตอบมากกว่า

• อธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกครั้งได้ไหมคะว่า จิตวิทยาพุทธศาสนา มีแนวคิดในการมองโลกอย่างไร
อย่างคนที่นัดกับแฟน แล้วแฟนไม่มา ถ้ามาหาเรา เราก็จะชวนให้เขาค่อยๆเข้าใจว่า เขาอยากจะให้ต้นไม้ ตรงตามใจเขาเป็นไปได้ไหม แต่ถึงต้นไม้ไม่ตรง ถ้าเราอยู่กับมันได้นะ เราได้ประโยชน์อะไรจากต้นไม้ต้น นี้ไหม เพราะอย่างไรต้นไม้ก็ตรงตามใจเราไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการให้ต้นไม้ตรงตามใจเรา เราจะรู้ สึก ขัดเคือง ขัดแย้ง ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นหลักพระพุทธศาสนาที่เราจะนำเอามาใช้ก็คืออริยสัจสี่ หรือ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ซึ่งถือว่าเป็นหลักของความจริงทั้งปวงของการดำเนินชีวิตของทุกคนในโลก

• การเรียนการสอนในแต่ละระดับเป็นอย่างไรคะ
ปริญญาตรีชื่อวิชาจิตวิทยาพระพุทธศาสนาและการทำสมาธิ (Buddhist Psychological Principles and Meditation) ก็จะพานิสิตไปสวนโมกข์ กันเทอมละครั้ง ให้คุ้นเคยกับการได้อยู่ในวัดวาอาราม ตื่นตี 4 สวดมนต์ ตี 5 ทำสมาธิ กลางวันฟังพระสงฆ์ บรรยายธรรม ผมก็จะบรรยายเรื่องจิตวิทยาพุทธศาสนาให้ฟังบ้าง ตอนเย็นก็สวดมนต์ทำวัตร ทำสมาธิ ส่วนปริญญาโทชื่อวิชาการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในแนวพระพุทธศาสนา(Consulting Within Buddhist Framework) เน้นที่การทำงานเพื่อพัฒนาจิตใจของ ผู้คน ซึ่งอาจจะเป็นบุคลากร และเจ้าหน้าที่บริหารใน องค์กรต่างๆ ใช้ความรู้พาคนจากอวิชชาไปสู่สัมมาทิฐิิ พาคนจากความทุกข์ใจไปสู่ความสงบในใจ หนึ่งเทอม เต็มที่จะต้องไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ
ส่วนขั้นปริญญาเอก ชื่อวิชา จิตวิทยาพระพุทธศาสนา (Buddhism Psychology) มีการฝึกและทำความเข้าใจหลักของพระพุทธศาสนาลึกซึ้งขึ้นไปอีก และรู้อย่างเปรียบเทียบกับจิตวิทยาตะวันตกด้วย ปริญญาเอกจะทำงานค่อนข้างมาก เราให้ไปฝึกงาน 2,000 ชั่วโมง ซึ่งก็หมายความว่าหนึ่งปีเต็มนิสิตจะได้ เข้าไปอยู่ในองค์กรฝึกงาน อาจจะเป็นสถานการศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ แล้วเราก็ให้เขาอัดเทปการ แก้ไขปัญหาจิตใจของผู้คนมาให้เราดูสม่ำเสมอ

• คนที่จะเข้ามาเรียนระดับปริญญาเอกต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
ระดับปริญญาเอก เรามักจะให้แนวโน้มกับผู้ที่นำ เสนอโครงการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับจิตวิทยาพระพุทธศาสนา อย่างอื่นเป็นเรื่องรองหมดเลย เขาต้องศึกษา พระพุทธศาสนา พุทธจิตวิทยามากที่สุด

• จำนวนผู้เรียนในแต่ละปีมีมากน้อยขนาดไหนคะ
ปริญญาโทเรารับรุ่นละ 15 คน ปริญญาเอกรับรุ่น ละ 1-2 คน แต่ถ้าพูดถึงหลักสูตรระยะสั้นที่เราได้ไป จัดตามองค์กรต่างๆ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เขา เชิญมาแล้วเราก็ไปเป็นวิทยากร ผมมั่นใจที่จะบอกว่าประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้น ที่เห็นประโยชน์ของเรื่องที่ใกล้ตัวเขาที่สุดนั่นก็คือพุทธธรรม

• ตั้งแต่เปิดมาได้รับผลตอบรับดีไหมคะ
แรกๆก็เริ่มต้นด้วยความไม่เข้าใจนะ แต่การปลูกฝังการเพาะบ่ม การพาไปวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ไปสวนโมกข์ แล้วก็มีซุปเปอร์ไวเซอร์มานิเทศก์งาน เขาก็ค่อยๆเข้าใจขึ้นและเริ่มเข้าใจด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่นหลายคนบอกว่าเมื่อก่อนนี้หงุดหงิดงุ่นง่าน แต่ว่า ตอนนี้จิตใจมั่นคงมากขึ้น เมื่อก่อนนี้ยึดมั่นถือมั่นอะไรเหลือเกิน ไม่ยอมอะไรใครเลย ตอนนี้ผ่อนคลาย ไปเยอะ มองโลกในสายตาที่เข้าใจ อยู่กับความเป็นจริง ของชีวิตได้อย่างกลมกลืนมากขึ้น

• นอกจากที่จุฬาฯ ซึ่งเวลานี้มีเปิดสอนอยู่ที่เดียว เท่านั้น ยังอยากจะผลักดันให้ไปสู่ทิศทางใดบ้าง
ผมหวังอยากให้มีหลักสูตรอินเตอร์เนชั่นแนลโปรแกรม ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อยากจะเปิดให้ได้ จบมาได้มหาบัณฑิต ด้านจิตวิทยาพระ-พุทธศาสนาไปเลย สอนเป็นภาษาอังกฤษให้กับทั้งคนไทยและคนต่างชาติ อยากจะให้ที่นี่ (คณะจิตวิทยา จุฬาฯ) เป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านจิตวิทยาพระพุทธศาสนา ก็ตั้งใจว่า ปี พ.ศ.2550 จะเปิดหลักสูตรที่ว่านี้
.....
ความตั้งใจของ ดร.โสรีช์ จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นคำตอบ และเมื่อถึงเวลานั้น คงมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่จะได้ประจักษ์ชัดว่า หลักธรรมในพระพระพุทธศาสนาสามารถตอบทุกคำถาม ของชีวิตได้

-----------------------------------------------------------
ขอนำมาลงไว้ในบลอค เป็นอาจริยบูชา





Create Date : 12 มีนาคม 2549
Last Update : 12 มีนาคม 2549 16:05:43 น. 6 comments
Counter : 1041 Pageviews.

 
น่าสนับสนุนให้มีวิชานี้สอนกันมากๆ
ใช้วิธีการอธิบายง่ายๆและสนุก
เพื่อให้หลายๆคนต้องการมาเรียน

ขอใช้ความรู้น้อยๆที่มีอยู่เพียงหางอึ่ง
พูดถึงเรื่อง "ตัวตน" นิดนึงนะครับ
อย่าว่าอวดรู้เลย
หรือว่าถ้าพูดไปแล้วผิด
วานผู้รู้ช่วยบอกกล่าวเด็กชายก้องเอาบุญด้วยครับ

เด็กชายก้องได้เคยอ่านมาบ้างว่า
ความไม่มีตัวตนคือการไม่ติดยึดกับสิ่งใด
โดยเฉพาะร่างกายของเรานั้น ก็ไม่ควรยึดติด
เพราะร่างกายเป็นสิ่งไม่เที่ยง
วันที่เรามา ร่างกายก็ไม่ได้เป็นของเรา
ถ้าเป็นของเราจริง
เราจะสั่งอย่างไรก็ได้จริงไหมครับ
จะสั่งไม่ให้ป่วยก็ได้
จะสั่งให้หยุดโต สั่งให้สูงขึ้นอีกก็ได้จริงไหมครับ
จะสั่งไม่ให้แก่ ให้หนุ่มให้สาวตลอดไปก็ได้
แต่เราสั่งไม่ได้ เพราะร่างกายไม่ใช่ของเรา
และไม่ได้เป็นของเราตลอดไป
วันหนึ่งเราก็ต้องละสังขารนี้ไป
อย่างที่ท่านพุทธทาสเทศน์ไว้ถึงเรื่อง
"ตัวกู ของกู"

....................


โดย: เด็กชายก้อง วันที่: 12 มีนาคม 2549 เวลา:16:51:39 น.  

 
ไปเรียนเป็น Free elective ได้ไหมคะเนี่ย

แวะมาเยี่ยมค่า


โดย: เด็กเล็ก วันที่: 12 มีนาคม 2549 เวลา:22:12:05 น.  

 
ค่า
(แต่เหลืออีกปีเดียว จะมีเปิดกันไหมน้า)


โดย: เด็กเล็ก วันที่: 14 มีนาคม 2549 เวลา:0:10:31 น.  

 
น่าสนใจดีครับ มีน้องผมที่เรียนอยู่คณะนี้เลย ในระดับป.ตรี ไม่รู้ว่าได้เรียนกับท่านอาจารย์รึเปล่า


โดย: นายเบียร์ วันที่: 14 มีนาคม 2549 เวลา:1:49:28 น.  

 
อยากเรียนมากๆ


โดย: KMS&หมาป่าสำราญ วันที่: 17 มีนาคม 2549 เวลา:11:19:45 น.  

 
เคยเรียนกับอ.มานิดหน่อย อ.สอนมีประโยชน์และไม่น่าเบื่อ ทำให้เด็ก ๆ อย่างพวกเราเข้าใจชีวิตและพัฒนาจิตใจได้มากขึ้น
มีที่ผิดหน่อยนึงอ่ะครับ คืออ.ท่านสอนอยู่สาขาจิตวิทยาการปรึกษานะครับ (ในนี้เขียนว่าจิตวิทยาการศึกษา)
www.psy.chula.ac.th อ้างอิงครับ


โดย: mr_postman IP: 58.8.85.133 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:23:39:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KruBomb Thatti
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add KruBomb Thatti's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.