Encyclopedia For You

นายกรัฐมนตรี คนที่ 19.2 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี)

มีชัย ฤชุพันธุ์ (2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 — ) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นผู้ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายมีชัย ฤชุพันธุ์ และตอบข้อสงสัยด้านกฎหมาย และการเมือง ทาง เว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ สมรสกับคุณหญิงอัมพร (เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) ฤชุพันธ์ (ถึงแก่อนิจกรรม) มีบุตร 2 คน คือ นางมยุระ ช่วงโชติ และ นางมธุรส โลจายะ

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้รับการคัดเลือกจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีไปพลางก่อน

ประวัติทางการเมือง

นายมีชัย เริ่มรับราชการที่สำนักงาน ก.พ. และมาใช้ทุนรัฐบาลที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จนได้เป็นผู้อำนวยการกองยกร่างกฎหมายคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และก้าวหน้าในราชการเรื่อยมาจนได้รับตำแหน่งกรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาเชี่ยวชาญและนักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)สำนักงานคณะ กรรมการกฤษฎีกา ต่อมา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์, หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, ธานินทร์ กรัยวิเชียร และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง พ.ศ. 2523 - 2531 และรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่าง พ.ศ. 2531 - 2533 และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ระหว่าง พ.ศ. 2534 - 2535

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 สมัย คือ ระหว่าง พ.ศ. 2520 - 2522 และระหว่าง พ.ศ. 2532 - 2534 และดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา 3 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2526 - 2532, พ.ศ. 2535 - 2539 และ พ.ศ. 2539 - 2543 โดยได้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ถึง 21 มีนาคม พ.ศ. 2543

นายมีชัย เป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2534 เพื่อจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

ในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 นายมีชัยเป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฝ่ายกฎหมาย มีบทบาทในการร่างแถลงการณ์ประกาศ และคำสั่ง คปค. หลายฉบับ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถอนตัวออกไปหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทการทำงานในอดีต

นอกจากนี้ นายมีชัย ยังได้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นกรรมการสำคัญๆอีกหลายตำแหน่ง เช่น ประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 (กฎหมายการเมืองการปกครอง) ประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ประธานอนุกรรมการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ....ในคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ประธานอนุกรรมการสาขากฎหมายบริหารปกครอง ในคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ปะธานอนุกรรมการสาขากฎหมายล้มละลาย ในคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ประธานอนุกรรมการพิจารณาการปรับปรุงอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้า ราชการอัยการ ในคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ประธานอนุกรรมการพิจารณาการปรับปรุงค่าตอบแทนสำหรับคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ใน มหาวิทยาลัยของรัฐ ในคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ประธานอนุกรรมการพิจารณายกเลิกกฎหมาย ในคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ กรรมการจัดทำพจนานุกรมทางกฎหมาย ราชบัณฑิตยสภา กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ

ปี 2550 สื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายานายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่า ซีอีโอ สนช. เนื่องจากสามารถลำเลียงกฎหมายที่รัฐบาลและคมช.ต้องการเข้าสู่ที่ประชุมได้ อย่างไม่บกพร่อง และใช้ความเด็ดขาดในการควบคุมการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกระหว่างสนช.กลุ่มต่างๆได้เป็นอย่างดี ทำให้สมาชิกมีความยำเกรงในตัวนายมีชัย ราวกับพนักงานบริษัทที่เกรงอกเกรงใจซีอีโอของบริษัท

นอกจากนี้ยังได้รับฉายา คู่กัดแห่งปี ระหว่างนายมีชัย กับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เนื่องจากเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานสนช. หลังจากนั้นก็มีความขัดแย้งมาตลอด กฎหมายที่นายมีชัยหนุนจะถูก น.ต.ประสงค์คัดค้านอย่างที่สุด เช่น ร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้งหลาย และในช่วงทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ การประชุมไหนมีน.ต.ประสงค์ก็จะไม่มีนายมีชัย และถ้านายมีชัยเข้าประชุม ก็จะไม่มีน.ต.ประสงค์




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2553   
Last Update : 9 กันยายน 2553 11:39:48 น.   
Counter : 1259 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 19 พลเอกสุจินดา คราประยูร

พลเอกสุจินดา คราประยูร (6 สิงหาคม พ.ศ. 2476 — ) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก

ประวัติทางการเมือง

พลเอก สุจินดา เริ่มเข้ารับราชการทหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ได้รับพระราชทานยศ ว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย กองพันทหาร ปืนใหญ่ที่ 21 และก้าวหน้าในหน้าที่ราชการในตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เจ้ากรมยุทธการทหารบก ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ รองเสนาธิการ ทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก และวันที่ 29 เมษายน 2533 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จนเมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2534 จึงได้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อจากพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ที่เกษียณอายุพลเอก สุจินดา เป็นบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคการเมือง 5 พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี (ก่อนหน้านั้น พรรคร่วม 5 พรรคประกาศสนับสนุนนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งมี ส.ส.มากที่สุด แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกมาแถลงข่าวว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ ติดบัญชีดำ ถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด)

พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง พลเอก สุจินดา ได้ถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือ พฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยอิสระและเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการ เมือง

อย่างไรก็ตาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไทยเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 48 ของรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร จึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:48:56 น.   
Counter : 1773 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 18 นายอานันท์ ปันยารชุน

นายอานันท์ ปันยารชุน (9 สิงหาคม พ.ศ. 2475 — ) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คนที่ 18 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย หลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 และ พฤษภาทมิฬ เขายังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ประจำปี พ.ศ. 2540 อีกด้วย


ประวัติทางการเมือง

นายอานันท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรกระหว่างวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 จากการเสนอชื่อโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์เช่น กัน ทั้งเคยร่วมงานกับนายอานันท์ เมื่อ พ.ศ. 2514 ขณะพันโทสุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และนายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผลจากการเลือกให้นายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในตอนนั้นช่วยให้ ท่านได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนแรกที่เกิดภายหลังเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง

ภารกิจหลักของรัฐบาลนายอานันท์ในสมัยแรก คือ การร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอานันท์ ได้นำบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ และมีภาพพจน์ที่ดี มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

การบริหารประเทศของนายอานันท์ ได้ประกาศเน้นเรื่อง "ความโปร่งใส" นอกจากนั้นยังดำเนินนโยบายเป็นเอกเทศ ไม่ยอมอยู่ใต้คำสั่งของคณะรสช. ทำให้รัฐบาลได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน และได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ จนได้รับฉายาว่า "รัฐบาลโปร่งใส" และตัวนายอานันท์เองได้รับฉายาว่า "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"

นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด จำนวน 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคกลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ หลังจากนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ เป็นหนึ่งในบัญชีดำ ผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด

พรรคร่วมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วยพรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร จึงสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พลเอกสุจินดาเคยประกาศว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกล่าวในเวลาต่อมาว่า จำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างรุนแรง มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวงเพิ่มขึ้นจนถึงห้าแสนคน จนนำมาสู่การใช้กำลังปะทะ และปราบปรามในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พลเอกสุจินดาประกาศลาออกจากตำแหน่ง ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็นพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ เป็นรัฐมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยแรก

นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 20

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:49:01 น.   
Counter : 2567 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (5 เมษายน พ.ศ. 2463 — 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรี และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในหลายกระทรวงคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงกลาโหม

พลเอกชาติชาย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง 2 พรรค และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ พรรคชาติไทย และ พรรคชาติพัฒนา

ประวัติทางการเมือง

พลเอกชาติชาย มีส่วนร่วมในการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 และรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 ตามบิดา คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นหัวหน้าในการรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ โดยขณะมียศเพียงแค่ร้อยตรีและร้อยเอกเท่านั้น หลังจากนั้นเริ่มบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริงในรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 พลเอกชาติชาย ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาอีกรวม 5 สมัย พลเอกชาติชาย และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีอีกหลายสมัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี

โดยได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามลำดับดังนี้

o พ.ศ. 2515 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ
o พ.ศ. 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
o พ.ศ. 2518 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา รวม 5 สมัย
o พ.ศ. 2519 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
o พ.ศ. 2529 รองนายกรัฐมนตรี

ในปี พ.ศ. 2517 พลเอกชาติชาย ได้ร่วมกับ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขย และ พลตรีศิริ สิริโยธิน ก่อตั้ง พรรคชาติไทย ขึ้น โดยมี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาในปี พ.ศ. 2529 พลเอกชาติชายขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 สามารถนำพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในปี พ.ศ. 2531 ในชั้นต้นมีการทาบทาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ และประกาศวางมือทางการเมือง พลเอกชาติชายจึงได้รับการสนับสนุน ให้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ของประเทศไทย

ประวัติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 มีการปรับคณะรัฐมนตรี 1 ครั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นระยะเวลารวมประมาณ 2 ปีครึ่ง

ผลงานที่โดดเด่นมากของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน กลุ่มอินโดจีน เช่น การประสานงานให้มีการเจรจาร่วม ระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และสนับสนุน ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประเทศกัมพูชาภายใต้การนำของ สมเด็จสีหนุขึ้น นโยบายต่างประเทศของ รัฐบาลพลเอกชาติชาย มีชื่อเรียกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"

ทางด้านเศรษฐกิจ ได้อนุมัติโครงการเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลาย โครงการ เช่น โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพมหานคร และโครงการทางด่วนยกระดับ ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงนั้น ร้อนแรงถึงกว่า 10 เปอร์เซนต์ต่อปี กระทั่งมีการคาดหมายโดยทั่วไปว่าประเทศไทยจะเป็น "เสือตัวที่ 5" ของเอเชีย (Fifth Asian Tiger) ต่อจาก "4 เสือเศรษฐกิจของเอเชีย" คือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีชื่อที่เรียกเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า "น้าชาติ" มีคำพูดติดปากเมื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "No Problem" หมายถึง "ไม่มีปัญหา" จนเป็นที่จดจำได้ทั่วไป ซึ่งศิลปินเพลง แอ๊ด คาราบาว ได้นำไปประพันธ์เป็นเพลงล้อการเมืองชื่อ "โนพลอมแพลม"

การบริหารงานของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เริ่มประสบปัญหาในช่วงท้ายของวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อถูกโจมตีว่ามีการทุจริต หาผลประโยชน์ในโครงการลงทุนของรัฐ จนมีคำกล่าวโจมตีการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกชาติชายว่าเป็น "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" ขณะที่การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีสัดส่วน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เป็นจำนวนมากก็ถูกโจมตีว่ามีสภาพเป็น "เผด็จการรัฐสภา"

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ. สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล และพล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี ที่ต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535

บทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ภายหลังถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช. พลเอกชาติชายได้เดินทางไปพำนักอยู่ในอังกฤษระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย และก่อตั้ง พรรคชาติพัฒนา ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2535 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก ต่อมาได้นำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 โดย พลเอกชาติชายชนะเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นการเริ่มต้นบทบาททางการเมืองใหม่อีกครั้ง

ปลายปี พ.ศ. 2540 เมื่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในตอนแรกพรรคร่วมรัฐบาลเดิมในขณะนั้นมีมติร่วมกันที่จะสนับสนุน พลเอกชาติชาย ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง แต่ในที่สุด พรรคกิจสังคม ที่มีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค ได้เปลี่ยนไปสนับสนุน นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน ตามมาด้วย พรรคประชากรไทย ที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค เกิดกรณี ส.ส. "กลุ่มงูเห่า" ที่แสดงตัวสนับสนุน นายชวน หลีกภัยเช่นเดียวกัน ทำให้ในที่สุดผู้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนใหม่กลายเป็น นายชวน หลีกภัย ที่ได้เป็น นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 แทนที่จะเป็น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน

อย่างไรก็ตามอีกเพียงครึ่งปีต่อมา พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ณ โรงพยาบาลคอมเวลล์ สหราชอาณาจักร รวมอายุได้ 78 ปี

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 24 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:49:08 น.   
Counter : 2246 Pageviews.  

นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เปรม ติณสูลานนท์ (26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 — ) พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เปรม ติณสูลานนท์ (26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 — ) ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนที่ 16 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2531และ เป็นนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของรัฐสภาที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด ทั้งนี้เพราะกฎหมายไทยในสมัยนั้นไม่ได้กำหนดให้รัฐสภาต้องเลือกนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

บุคลิกส่วนตัวพลเอกเปรมเป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้ และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

นอกจากยศ พลเอก แล้ว พลเอกเปรม ยังถือว่าเป็นบุคคลเดียวในปัจจุบันที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ ด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 ในระหว่างที่ พลเอกเปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ (แต่โดยมากจะนิยมใช้ พลเอก มากกว่า)

ประวัติ

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

พลเอกเปรม จบการศึกษาหลักสูตรพิเศษโรงเรียนเทคนิคทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2484 และเข้ารบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ ปอยเปต กัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485-2488 ที่เชียงตุง

ภายหลังสงคราม พลเอกเปรมรับราชการอยู่ที่อุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ ฟอร์ตน็อกซ์ มลรัฐเคนตักกี พร้อมกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกวิจิตร สุขมาก เมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

พลเอกเปรมได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อ พ.ศ. 2511 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า นี้เอง ที่เป็นที่มาของชื่อที่เรียกแทนพลเอกเปรมอย่างกว้างขวางว่า ป๋า หรือ ป๋าเปรม เนื่องจากท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า "ป๋า" และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า "ลูก" ที่เรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน

พลเอกเปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคทึ่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. 2521

ประวัติทางการเมือง

ในปี พ.ศ. 2502 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ. 2511 - 2516 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร

พลเอกเปรมเข้าร่วมการรัฐประหารในประเทศไทย 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ล้มรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

พลเอกเปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย

ดำรงนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 1

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 42: 3 มีนาคม 2523 - 29 เมษายน 2526 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม 2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มีการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2526

ดำรงนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 43: 30 เมษายน 2526 - 4 สิงหาคม 2529 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529

ดำรงนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 44: 5 สิงหาคม 2529 - 3 สิงหาคม 2531 สิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน 2531 เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ เกิดกลุ่ม 10 มกรา ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศภายในพรรค กลุ่ม 10 มกรา นี้ลงมติไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์แสดงความรับผิดชอบโดยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกเปรมจึงประกาศยุบสภา มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531

ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรม ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการ

ภายหลังการเลือกตั้ง ในคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคชาติไทยเป็น แกนนำ ได้เข้าพบพลเอกเปรมที่บ้านพัก เพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

บทบาทในวิกฤตการณ์การเมืองและการรัฐประหาร พ.ศ. 2549*

หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 มีนักวิชาการกล่าวหาพลเอกเปรมว่ามีความเกี่ยวข้องกับ วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 ที่นำไปสู่ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ซึ่งในเวลาพลบค่ำวันที่ 19 กันยายน ช่วงเดียวกับที่กำลังทหารหน่วยรบพิเศษจาก จ.ลพบุรี ได้เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ พลเอกเปรม ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พลเอกเปรมเป็นผู้สั่งการให้ทำรัฐประหารโดยนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศร์

ในเวลาต่อมา ยังเป็นที่กล่าวหาอีกว่า พลเอกเปรม อาจมีบทบาทสำคัญ ในการเชิญ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตลูกน้อง มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง การแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกด้วย จนกระทั่ง นักวิจารณ์ บางคน ถึงกับกล่าวว่า สภาฯ ชุดนี้ เต็มไปด้วย "ลูกป๋า"

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า พลเอกเปรมเป็นบุคคลที่มีบทบาททางการเมือง ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 และมีบทวิเคราะห์จากสำนักข่าว XFN-ASIA ระบุในเว็บไซต์ นิตยสารฟอร์บ ว่า พลเอกเปรมเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทย พร้อมทั้งได้สนับสนุนให้ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตามรัฐบาลคณะทหาร ได้อ้างว่า พลเอกเปรมไม่เคยมีบทบาททางการเมือง

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 นปก. นับพันคน รวมตัวประท้วงหน้าบ้านของพลเอกเปรม เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี เนื่องจากเชื่อว่ามีบทบาททางการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม มีการยิงแก๊สพริกไทยแล้วล้อมรถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงของแกนนำ ผู้ชุมนุมขว้างปาขวดพลาสติกและขวดแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกิดการปะทะกันชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายคน ด้านแยกสี่เสาเทเวศร์ กลุ่ม นปก.ส่วนหนึ่งทุบทำลายซุ้มตำรวจจราจรและทุบรถส่องไฟและกระจายเสียงของตำรวจ ที่จอดไว้ รวมทั้งปล่อยลมยางรถยนต์ ในวันต่อมา พลเอกสนธิ พลเอกสุรยุทธ และคณะรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมพลเอกเปรม เพื่อขอโทษที่ยอมให้มีการประท้วง

จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี




 

Create Date : 23 สิงหาคม 2553   
Last Update : 3 กันยายน 2553 8:49:12 น.   
Counter : 2178 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

billabong11
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




[Add billabong11's blog to your web]