เรื่องราวของชายผู้มีความหลัง
Group Blog
 
All blogs
 
งานจุฬาวิชาการ 2548 (3)

เรามาต่อกันนะครับสำหรับงานจุฬาวิชาการ 2548 คราวนี้เป็นการไปเดินดูนิทรรศการของคณะเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์

แต่เดิมในงานจุฬาวิชาการผมไม่ค่อยได้ไปดูนิทรรศการของคณะเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่เพราะเมื่อก่อนผมมักจะมีอคติฝังใจที่ว่าถ้าในเรื่องของความเป็นเลิศในทางวิชาการเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยต้องยกให้คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้ที่ก่อตั้งและสอนก็คือท่านอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งผมนับถือมากในความเป็นคนเก่งและคนดีที่หายากอีกท่านหนึ่งในประเทศไทย ผมจึงให้ความเชื่อถือคณะเศรษฐศาสตร์ของค่ายท่าพระจันทร์มาก ส่วนค่ายอื่นนั้นผมไม่ค่อยสนใจนัก มาภายหลังนี่แหละที่ผมเริ่มเข้าใจอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับความหลากหลายในทางวิชาการของแต่ละสถาบันซึ่งมีไม่ต่างกันนัก รวมถึงบุคลากรทางวิชาการที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันมาก แน่นอนว่าผมเริ่มหันมามองคณะเศรษฐศาสตร์จากค่ายสามย่านมากขึ้น ในแผ่นป้ายโฆษณานิทรรศการทางวิชาการของคณะเศรษฐศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาพระเกี้ยวนั้นได้มีนิทรรศการที่น่าสนใจอยู่มากมาย ซึ่งผมจะได้นำมากล่าวเป็นลำดับถัดไป แต่กระนั้นผมก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ได้มีพื้นฐานทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มากนัก บางทีผมอาจจะเข้าใจเนื้อหาในทางวิชาการทางเศรษฐศาสตร์อย่างผิด ๆ ถูก ๆ ยิ่งกว่านั้นคือผมเองได้ไปดูในช่วง 2 ชั่วโมงสุดท้ายของวันสุดท้ายในงานจุฬาวิชาการ ผมจึงศึกษาข้อมูลอย่างลวก ๆ ไม่ละเอียดนัก ซึ่งถ้าหากข้อมูลของผมผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

นิทรรศการของคณะเศรษฐศาสตร์ที่ผมได้ไปชมมามีดังต่อไปนี้

1. นิทรรศการเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน – นิทรรศการทางวิชาการนี้เป็นนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันไม่มากก็น้อยว่าหนี้สินเหล่านี้พอกพูนเพิ่มขึ้นมากในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาจนเป็นปัญหาที่เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง แล้ววิธีแก้ปัญหาเป็นอย่างไร

หนี้สินภาคครัวเรือนเป็นภาระทางการเงินอันเกิดจากการสร้างหนี้ของประชาชนในส่วนที่เป็นผู้บริโภค ซึ่งข้อมูลชี้วัดทางด้านหนี้สินของประชาชนนั้นมาจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ การสอบถามข้อมูลจากประชาชนในงานวิจัยภาคสนาม เป็นต้น โดยผลการวิจัยได้ระบุเกี่ยวกับตัวเลขคร่าว ๆ ของหนี้สินภาคประชาชนซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าจากตัวเลขเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยเป็นตัวเลขมูลค่าเฉลี่ยวัดเป็นสถิติมาตั้งแต่ปี 2543 จนถึง 2547 ซึ่งตัวเลขที่ออกมานั้นน่าตกใจเป็นอย่างมาก โดยในปี 2543 หนี้สินภาคครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ในระดับ 50,000บาทต่อหัว ในขณะที่ปีถัดมายอดหนี้ของภาคครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 2547 ยอดหนี้ต่อหัวอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 200,000 บาทซึ่งพอผมมานึกภาพแล้วก็น่าตกใจ เนื่องจากเงิน 2 แสนกว่านั้นก็ยังถือว่าเป็นปริมาณที่เยอะมาก ประชาชนคนตาดำ ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นั้นการแบกรับภาระหนี้เช่นว่าคงจะเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจไม่น้อย ในการหมุนเงินที่เป็นรายได้มาชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นรายเดือน หรือรายปี ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็มีสาเหตุและที่มาอันน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
สาเหตุของการที่หนี้สินภาคครัวเรือนพอกพูนทับถมกันขนาดมากมายมีดังนี้

ก) การขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ – ตั้งแต่รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นต้นมา เศรษฐกิจของประเทศได้ขยายตัวเป็นอย่างมาก มีการกระจายปริมาณเงินไปยังมือของประชาชนทำให้ประชาชนได้ทำการจับจ่ายใช้สอยซึ่งถือเป็นการสร้างหนี้อย่างหนึ่ง ซึ่งประชาชนก็ได้ทำการจับจ่ายใช้สอย บริโภคสินค้าและบริการกันอย่างมากมาย แต่กระนั้นการกระจายเงินไปสู่มือของประชาชนให้ประชาชนนำเอาไปบริหารสร้างหนี้นั้น ก็ควรเป็นการกระจายเพื่อให้ประชาชนได้ทำการใช้จ่ายเงินที่มีอยู่อย่างเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และก่อผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าที่สุดต่อประชาชนในด้านการเงิน พูดง่าย ๆ ก็คือควรกระจายเงินไปสู่มือของประชาชนเพื่อให้นำไปสร้างหนี้เพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในขั้นต้น และได้ผลตอบแทนจากการบริหารกิจกรรมเช่นว่ามาชำระหนี้เป็นลำดับต่อไป ซึ่งรัฐบาลทักษิณ 1 นั้นได้มีเมกะโปรเจคท์ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายเงินไปสู่มือของประชาชนมากมาย อย่างเช่น กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ทุนSML รวมถึงนโยบายแปรสินทรัพย์เป็นทุน เป็นต้น อันเป็นนโยบายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีปริมาณเงินในมือไปใช้สอย แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ชี้นำการบริหารหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแต่ส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าและบริการกันอย่างฟุ่มเฟือย อันนำมาซึ่งปริมาณหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นจนเป็นภาระต่อประชาชนอย่างมหาศาล

ข) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก – มีการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยภูมิภาคที่มีการขยายตัวมากที่สุดนั้นเป็นภูมิภาคในแถบเอเชียได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม เป็นต้น ทำให้การค้าระหว่างประเทศนั้นเฟื่องฟูอย่างมาก การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อมาดูประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่าได้มีการนำเข้าสินค้าเข้ามาขายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมหนัก สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ สิ่งทอ รวมทั้งสินค้าเกษตรอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นการเปิดเสรีทางการค้าในแต่ละภูมิภาคของโลกได้ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยพอสมควร อันก่อให้เกิดปริมาณการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น หนี้สินก็เพิ่งเป็นเงาตามตัว

ค) ราคาปิโตรเลียมที่สูงขึ้น – นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 จนมาถึงช่วงสหัสวรรษใหม่ ราคาปิโตรเลียมได้สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการเกิดเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมที่อาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 บรรดาพ่อค้าปิโตรเลียมรวมถึงนักเก็งกำไรได้พากันโก่งราคากันมากมาย เนื่องมาจากเกรงปัญหาการก่อการร้าย รวมถึงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้มีสงครามใหญ่เกิดขึ้นก็คือสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอัฟกานิสถาน และสงครามสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรัก ได้ทำให้มีปริมาณการใช้น้ำมันจำนวนมาก ประกอบกับการที่ความต้องการปิโตรเลียมได้เพิ่มขึ้นมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ได้ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว แน่นอนว่าปิโตรเลียมเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นต้นทุนการผลิตทั้งในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรการเกษตร เครื่องจักรทางอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงเครื่องบิน เรือ รถไฟ รวมถึงเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าปิโตรเลียมมีส่วนสำคัญในการเป็นต้นทุนการผลิตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบจะทุกอย่าง และเมื่อราคาปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น ต้นทุนย่อมสูงขึ้น ราคาสินค้าย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แน่นอนว่าเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าอาจจะมีผลกระทบต่ออุปสงค์บ้าง แต่สินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน มนุษย์เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะซื้อหามาใช้สอย แน่นอนว่าเมื่อรายจ่ายเพิ่มขึ้นประกอบกับการออมต่ำ ทำให้หนี้สินพอกพูน หนักเข้าก็เป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องการการเยียวยาโดยด่วน

ง) การกู้เงินนอกระบบ – เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุแห่งปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในปัจจุบัน เดี๋ยวนี้มีบรรดาบริษัทเอกชนได้ทำธุรกิจให้กู้เงินโดยไม่อยู่ในระบบการกู้ของธนาคาร แน่นอนว่าดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างแพง ถึงแพงมาก ทำให้ผู้กู้ต้องรับภาระดอกเบี้ยที่มากขึ้น ปริมาณหนี้ก็มากขึ้น

จ) การออมที่ต่ำและการบริโภคที่สูง – แน่นอนว่าเป็นธรรมชาติของประเทศที่อัตราการออมต่ำ ซึ่งมักจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาซะส่วนใหญ่ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ประกอบกับปัญหาจากนโยบายที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบประชานิยมซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการบริโภคเกินพอดี การใช้จ่ายเงินตราอย่างสุรุ่ยสุร่าย จนกระทั่งไม่ได้คำนึงถึงการเก็บออมทรัพย์สินของตน ส่งผลให้เงินเก็บมีน้อยหรือไม่มีเลย มีแต่หนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุเช่นว่าได้ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่พอกพูนเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น ต้องรับภาระทางด้าการชำระหนี้มากกว่าการจับจ่ายใช้สอยสินค้ามาอุปโภคบริโภค นั่นแหละที่จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ และแน่นอนว่าช่วงเวลาที่หนี้สินพอกพูนและมีการผลิตสินค้าออกมาล้นตลาดแล้วสินค้านั้นขายไม่ได้ จะทำให้เกิดปัญหาสุญญากาศในการเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมาทันทีและที่แน่นอนยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อประชาชนมีหนี้สินพอกพูน ปัญหาสังคมก็ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาล้มละลาย ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาคนว่างงาน เป็นต้น

นิทรรศการนี้น้องที่ควบคุมดูแลบอร์ดทำงานกันได้ดีมาก อธิบายเนื้อหาในบอร์ดได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและทำให้ผมได้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อติตรงที่เนื้อหาของบอร์ดควรเติมส่วนที่เป็นทางแก้ปัญหาเอาไว้ด้วยเพื่อให้เป็นแนวทางเอาไว้สำหรับผู้ที่เข้าชม เผื่อว่าจะได้เอาไปใช้ในทางปฏิบัติต่อไป แต่แค่นี้น้อง ๆ ก็ทำได้ดีแล้วครับ

2. นิทรรศการเกี่ยวกับการค้าเสรีระหว่างจีนกับอาเซียน – เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับการค้าระหว่างจีนและอาเซียนซึ่งผมเองก็ดูอย่างลวก ๆ แต่ก็เป็นการต่อเติมแนวคิดของผมเกี่ยวกับเรื่ององค์การอาเซียนที่ผมเคยเรียนมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วกับอ.วิทิต โดยบอร์ดนิทรรศการนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาของข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนและอาเซียนหรือ ASEAN – China Free Trade Area ซึ่งเป็นความตกลงที่ได้ทำขึ้นระหว่างจีนกับองค์การอาเซียนที่จะเปิดเสรีทางการค้าต่อกันและกัน

ความเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอนี้มีผลบังคับใช้จริง ๆ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 แต่มีรายการสินค้าบางประเภทที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเปิดเสรีได้ก่อน (Early Harvest) ซึ่งรายการสินค้าเช่นว่านี้เป็นรายการที่เกี่ยวกับสินค้าประเภทผลไม้
ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนโดยภาพรวมนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบสินค้าชนิดเดียวกันและมูลค่าทางการค้ารวมทั้งหมดแล้ว อาเซียนได้เปรียบทางการค้ากับจีนอยู่พอสมควร แต่เมื่อเทียบปริมาณการค้าโดยจำแนกเป็นประเทศ ๆ ไปจะเห็นได้ว่าประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่จะค่อนข้างได้ดุลทางการค้ากับจีน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น แต่ก็ยังมีบางประเทศในอาเซียนที่ขาดดุลทางการค้ากับจีนอย่างเช่น ไทย เป็นต้น ซึ่งเมื่อผมได้ดูแล้วผมก็รู้สึกว่ารัฐบาลไทยค่อนข้างสะเพร่าในการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าเนื่องจากการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน ถึงแม้อาเซียนจะเป็นองค์การระหว่างประเทศแต่ขั้นตอนการเจรจาก็ต้องมีไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยส่วนหนึ่ง และการที่ไทยได้เจรจาในการส่งออกสินค้าไปที่จีนนั้นไทยเจรจาแค่ในส่วนของรัฐบาลกลาง แต่หาได้คำนึงว่าจีนนั้นเป็นรัฐรวมที่มีการกระจายอำนาจบางส่วนออกไปให้แต่ละมณฑลปกครอง แน่นอนว่ากฎหมายบางประเภท เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า เป็นต้น ย่อมมีมาตรฐานแตกต่างกันไป จึงทำให้สินค้าไทยขายไม่ค่อยได้ในหลายมณฑล ในขณะที่สินค้าจีนทะลักเข้ามายังไทยมากมายเนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตสูง และค่าแรงถูก ทำให้สินค้าขายได้มากกว่า ได้ดุลทางการค้าต่อไทยมากมาย ซึ่งผมเห็นว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทยควรหาคำตอบเช่นว่านี้ให้เจอ

3. นิทรรศการเกี่ยวกับประชากรและการพัฒนาเศรษฐกิจ – บอร์ดนี้ได้กล่าวถึงโครงสร้างประชากรที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ทำการอธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรกับการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมี 2 แนวคิดดังนี้

แนวคิดแรก มีหลักอยู่ว่า ประเทศที่มีประชากรมาก จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มากจนก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองในการบริโภค อัตราการออมต่ำเพราะภาระทางครอบครัวมากมาย ปัญหาสังคมก็มาก รัฐบาลรับภาระหนัก ซึ่งถ้าประชากรน้อยจะทำให้ทุกอย่างตรงกันข้าม

แนวคิดที่สอง มีหลักอยู่ว่าถ้าประชากรมากทำให้บุคลากรของประเทศมีความหลากหลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผลักดันความเจริญแห่งประเทศก็มีมาก ยิ่งถ้าทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพแล้ว ความเป็นอยู่ของประชากรก็จะดี ปัญหาสังคมก็ไม่มาก และทำให้ประเทศเจริญ

ต่อมาก็ได้อธิบายเรื่องโครงสร้างประชากรในประเทศต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างมาพอสังเขป อย่างเช่น ของญี่ปุ่นก็มีผู้สูงอายุมาก คนวัยทำงานมีไม่มากเท่าไหร่ อัตราการเกิดต่ำ ในขณะที่คนบังคลาเทศอัตราการเกิดสูง ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานมีมาก แต่วัยชรามีน้อยเพราะอัตราการตายสูง และอายุไม่ยืน นอกจากนี้ยังได้มีการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตเอาไว้ด้วยว่าในปี 2050 จะไปในทิศทางใด

ต่อมาก็เป็นเรื่องของโครงสร้างประชากรของไทยเปรียบเทียบเป็นยุค ๆ ไป ซึ่งในสมัยสงครามโลกนั้นโครงสร้างประชากรของไทยเป็นคนวัยเด็กและวัยทำงานซะมาก ผู้สูงอายุมีไม่มากนัก ในขณะที่ยุคหลัง ๆ มานี้โครงสร้างประชากรไทยเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น วัยเด็กลดลง วัยทำงานทรงตัวแต่ไม่มาก ซึ่งนั่นก็เป็นการชี้ให้เห็นถึงว่ารัฐบาลไทยอาจจะรับภาระให้หนักกว่าเดิมในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ

แต่บอร์ดก็เสนอมีวิธีแก้ก็คือ ไทยน่าจะพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขให้ก้าวหน้าเพื่อให้คนสูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อที่จะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้เกษียณอายุตัวเองได้ช้าลง เป็นการลดภาระของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุไปในตัว

4. นิทรรศการเกี่ยวกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธกับระบบทุนนิยม – เป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างแนวคิดทางศาสนาพุทธในเชิงเศรษฐศาสตร์กับลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมนั้น เน้นการผลิตและการแข่งกันกันเพื่อผลกำไรซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ยิ่งกว่านั้นยังคำนึงถึงมูลค่าของผลกำไรโดยต้องได้ผลกำไรให้มากที่สุด เมื่อผลิตสินค้าได้มากก็ต้องทำการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค จึงต้องมีการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคมีความต้องการ ความอยากในสินค้าชนิดนั้น จึงก่อให้เกิดการบริโภคอย่างมากมาย การใช้ทรัพยากรก็สิ้นเปลือง ยิ่งกว่านั้นยังเน้นการตักตวงผลประโยชน์ มือใครยาวสาวได้สาวเอา

ในขณะที่แนวคิดเชิงพุทธนั้นเน้นความพอเพียง โดยให้ผู้บริโภคนั้นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุดโดยไม่จำเป็นไม่ต้องไปตักตวงมาใมห่ แต่ให้ใช้เท่าที่มี โดยการใช้ทรัพยากรนั้นก็ยังต้องคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์ทุกคนต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องไปเพิ่มเติมปรุงแต่งโดยไม่จำเป็น เมื่อใช้ทรัพยากรแล้วหลงเหลือก็นำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่น ไม่ต้องไปตักตวงเอาจากใคร ไม่เอาเปรียบใคร

ซึ่งผมว่าถ้าเราเอาแนวคิดทางพุทธเอามาใช้ในเศรษฐศาสตร์บ้างก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะมันเป็นการลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ลดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือย ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์ที่สุด รู้จักพอเพียงไม่ไปเบียดเบียนทรัพย์สินผู้อื่น รู้จักพอเพียง ใช้จ่ายอย่างพอมีพอกินกับตัวเอง ไม่ไปสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

รายละเอียดไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ //www.buddhistecon.th.gs คับ ในเว็บนี้น่าจะมีเนื้อหาสาระที่ละเอียดกว่านี้มาก

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ผมได้ไปพบเห็นในบอร์ดนิทรรศการของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในงานจุฬาวิชาการ 2548 นี้ ยังมีต่อภาค 4 ครับ



Create Date : 01 มกราคม 2549
Last Update : 1 มกราคม 2549 2:01:22 น. 1 comments
Counter : 533 Pageviews.

 
up space แล้วน้า..
ว่างๆๆไปเยี่ยมกันหน่อยนะค่ะ
เอ้า..ฮุย เล..ฮุย!!!
^^'


โดย: Rambie IP: 58.147.100.100 วันที่: 13 มกราคม 2549 เวลา:21:51:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ดยุคแห่งออสเตรีย
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]