All Blog
เรื่อง กระต่ายกับเต่า

เรื่อง กระต่ายกับเต่า

 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นานจนคนเล่าได้เล่าเรื่องนี้ซ้ำซากหลายต่อหลายรอบและได้เล่าสืบต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น บางคนพูดจากวนอารมณ์นิดหน่อยบอกว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วนานจนจำไม่ได้เลยไม่ยอมเล่านิทานให้ฟังต่อ ที่จริงอาจขี้เกียจหรือไม่ก็จำไม่ได้ นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฮิตเอามาก ๆ ทีเดียว คงไม่มีใครบอกว่าไม่รู้จักเรื่องกระต่ายกับเต่าเป็นแน่แท้

วันหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้มีเต่ากับกระต่ายอย่างละ 1 ตัว ทั้งสองไม่ได้เป็นเพื่อนเล่นกันแต่อย่างใด อาจจะบังเอิญมาเจอกัน กระต่ายจะกระโดดตุ้บ ๆ เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ส่วนเต่านั้นคลานต้วมเตี้ยม ใช้คำว่าคลานแปลว่าเดินอย่างเชื่องช้ามาก ๆ ส่วนต้วมเตี้ยมหมายถึงอาการที่ค่อย ๆ เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ

กระต่ายเกิดความรู้สึกหมั่นไส้ที่เห็นเต่าคลานต้วมเตี้ยม กระต่ายจึงบอกเต่าว่าทำไมเจ้าต้องคลานทำไมไม่กระโดดแบบข้า แล้วแบบนี้เมื่อไหร่จะไปถึงที่ที่ต้องการ เต่ายิ้มเล็กน้อยตอบอย่างอารมณ์ดีว่าไปถึงเมื่อไหร่ก็ได้ไม่ได้รีบร้อนไปไหนนี่

ทั้งสองตอบโต้กันไปมา จนกระต่ายท้าให้เต่ามาวิ่งแข่งกันเต่ารับคำท้าทั้งที่รู้อยู่ว่าแพ้แน่นอนแต่คิดว่าความเพียรที่ตนมีอยู่คงทำให้ไปถึงเส้นชัยได้ ส่วนกระต่ายลำพองใจว่า เจ้าเต่านี่น่าจะโง่ที่มารับคำท้า

วันที่นัดประลองความเร็วมาถึง เพื่อนเต่าและกระต่ายมาร่วมเป็นกองเชียร์มากมาย รวมทั้งสัตว์น้อยใหญ่อื่น ๆ มากันเต็มเพียบหวังจะดูมวยคู่ที่ต่างกันอย่างมาก ไม่ต้องลุ้นไม่ต้องเชียร์ก็รู้อยู่แก่ใจว่ากระต่ายต้องได้รับชัยชนะแน่นอน แต่สงสัยว่าเต่ารับคำท้าได้อย่างไร โง่หรือบ้ากันแน่ คิดเหมือนกับกระต่ายเลยนะนี่

กองเชียร์ส่วนใหญ่คงจะเข้าข้างกระต่ายอยู่แล้ว เป็นใครก็ต้องเชียร์กระต่าย ใครจะโง่ไปเชียร์เต่านะ แต่นี่เป็นนิทานสอนใจ จึงต้องมีพลิกผันกันบ้าง ฉะนั้นของที่เห็นตรงหน้าอาจไม่ใช่ของตาย มันอาจดิ้นพราด ๆ แล้วเปลี่ยนทิศตรงกันข้าม คนที่ชอบเล่นพนันจึงมักเชียร์มวยรองที่มีแต้มต่อน้อย แต่ถ้าพลิกผันไม่ใช่อย่างที่คนทั่วไปคิดล่ะก็เงินตั๋ง ๆ จะเข้ามือมาอย่างรวดเร็ว

กระต่ายนั้นวิ่งนำเต่าไปได้อย่างมากมาย พอมาถึงกลางทาง ชะเง้อคอมองหาเต่าคู่แข่งไม่เห็น คิดว่าเจ้าเต่าคงมัวแต่คลานต้วมเตี้ยม เอาล่ะเราต่อให้มันสักหน่อยดีกว่า ชนะมากเกินไปจะดูน่าเกลียดมากไปไหม คิดแล้วลงนอนทันที อากาศเย็น ๆ พัดผ่านทำให้กระต่ายหลับสนิท

เต่าคลานต้วมเตี้ยมผ่านมามองเห็นกระต่ายหลับสนิท ได้แต่คลานต้วมเตี้ยมต่อไป คลานไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หวังแพ้ชนะแต่อย่างใด

ในที่สุดเมื่อเต่ามาถึงเส้นชัย เพื่อน ๆ ต่างพากันไชโยโห่ร้องที่เห็นมวยรองได้ชัยชนะ หลายคนชอบเชียร์มวยรองทั้งที่มองไม่เห็นเค้ารางแห่งความสำเร็จเลยก็ตาม ส่วนกระต่ายที่หลับสนิทพอรู้สึกตัวงัวเงียขึ้นมานึกได้ว่าเรากำลังอยู่ในสนามประลองความเร็วกับเต่าอยู่ กระต่ายรีบกระโดดไปหวังให้ถึงเส้นชัยก่อน

พอกระต่ายใกล้จะถึงเส้นชัย ได้มองเห็นว่าที่เส้นชัยมีเต่ารออยู่รวมทั้งเพื่อนสัตว์น้อยใหญ่ทั้งหลาย รายการนี้เรียกว่า หน้าแตกหมอไม่รับเย็บ มีฝีมือแต่ชะล่าใจใช่ว่าจะชนะเสมอไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้คิดว่า บางสิ่งที่เราคิดว่าเป็นของตายมันอาจกลับตรงข้าม เป็นของที่ดิ้นได้แล้วจากไป ผู้ชายหลายคนหลงตัวเองว่า ภรรยาที่ได้อยู่กินกันมานาน ยังไงเสียเป็นลูกไก่ในกำมือ หรือพูดต่อให้เต็มสำนวนได้ว่า ลูกไก่อยู่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคายก็รอด หมายถึง ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าบุคคลที่อยู่ใต้อำนาจมากมายนัก จะจัดการอย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการ ผู้ชายประเภทนี้จะทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจในความรู้สึกนึกคิดที่ภรรยามีต่อตน สุดท้ายผู้หญิงขอหย่าขาดและไปหาผู้ชายคนใหม่ที่เห็นคุณค่าในตนมากกว่าสามีคนเก่า

เรื่องนี้กระต่ายหลงคิดว่าตนเองทั้งเก่ง ฉลาด คล่องแคล่วว่องไว กระโดดได้รวดเร็ว ผิดกับเต่าที่เอาแต่คลานต้วมเตี้ยม อีสปจึงพยายามเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ให้คนคิดในมุมตรงข้ามบ้าง มุมที่บางคนอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน มันอาจเป็นไปไม่ได้ แต่มันบ่แน่หรอกนาย หนึ่งในล้านอาจเกิดขึ้นอย่างปาฏิหาริย์ได้

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าคิด คือ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น คนเก่งคนฉลาดย่อมรู้ว่าผลของความพยายามจะทำให้ได้รับในสิ่งที่ตนปรารถนาและยกระดับชีวิตของตนให้มีคุณภาพดีขึ้น พวกเขาจะมีวิสัยทัศน์และมองเห็นภาพของความสำเร็จชัดเจนจนทำให้ยอมอุทิศแรงกายแรงใจแม้ว่าระหว่างเส้นทางอาจเจอปัญหาอุปสรรคก็จะไม่ย่อท้อหรือถอยหลังเป็นอันขาด

คงจะรับรู้กันมาว่าเศรษฐีส่วนใหญ่มักมีอดีตที่ยากจนข้นแค้น ลำบากสายตัวแทบขาด มีชีวิตที่ลำบากยากเข็ญจริง ๆ เขาจะใช้ความพยายามที่สูงมากกว่าคนทั่วไปจนสามารถก้าวขึ้นไปสู่จุดที่สูงกว่าคนอื่น ๆ ในขณะที่ลูกเศรษฐีจะขาดความมุ่งมั่นเช่นเดียวกับที่พ่อแม่ของเขาเคยมีมาก่อน ความทะเยอทะยานที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมแทบจะหาไม่เจอในขณะที่รุ่นพ่อมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

มีสำนวนไทยสำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความพยายามคือ เข็นครกขึ้นภูเขาหมายถึงการทำงานที่ยากลำบากและต้องใช้ความพากเพียรอุตสาหะเป็นอย่างมากโดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อหวังให้ได้ความสำเร็จที่ต้องการ หรืองมเข็มในมหาสมุทร หมายความว่าทำกิจที่สำเร็จได้ยาก เป็นงานที่ใหญ่เกินกำลัง แต่ในที่สุดสามารถทำได้สำเร็จ เหมือนกับเต่าที่มีความมานะพยายามอดทน

 

 

 

ถ้าพยายามมากความสำเร็จย่อมมากตาม

ลงทุนด้วยความพยายามผลตอบแทนคือความสำเร็จ

ถ้าพยายามน้อยความสำเร็จอาจจะมาไม่ถึง

ไม่ลงทุนแล้วจะได้อะไร

อันของสูงแม้ปองต้องจิตถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ

จำไว้ให้ดีเพลงนี้จะช่วยเตือนใจให้ขยันได้




Create Date : 24 สิงหาคม 2562
Last Update : 24 สิงหาคม 2562 17:59:47 น.
Counter : 1316 Pageviews.

0 comment
นิทานที่สอนให้คิด

อี ส ป เ ล่ า
 เ ร า  คิ ด
ของพรรณี เกษกมล

ebook ที่ MEB หรือ OOKBEE
จากนิทานที่สอนให้รู้ในยุคอีสป

มาสู่นิทานที่สอนให้คิดในยุคสังคมออนไลน์

และได้เรียนรู้สำนวนไทยไปพร้อมกันด้วย


นิทานเป็นเรื่องราวสมมติที่เขียนขึ้นเพื่อสอนเด็ก

ให้รู้ว่าสิ่งใดดีควรทำและสิ่งใดไม่ดีไม่ควรทำ

นิทานอีสปมีชื่อเสียงที่สอนให้รู้

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป

การสอนให้รู้อาจไม่เพียงพอ

แต่ต้องสอนให้คิดและฝึกให้คิดในมุมมองที่กว้างขึ้น
 




Create Date : 24 สิงหาคม 2562
Last Update : 24 สิงหาคม 2562 17:57:30 น.
Counter : 421 Pageviews.

0 comment
กบเลือกนาย

เรื่อง กบเลือกนาย

 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ หนองน้ำแห่งหนึ่ง ที่นี่มีกบอยู่เป็นจำนวนมากพักพิงอาศัยอยู่กินซึ่งกันและกัน แรก ๆ ที่มาอยู่มีกันไม่กี่ตัว แต่บังเอิญว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์และปลอดภัยจากสัตว์อื่น ๆ เมื่อมันแพร่ขยายพันธุ์และกบจากที่อื่นอพยพมาอยู่เพิ่มเติม ทำให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเหล่ากบน้อยใหญ่

พอพวกมันมีจำนวนมากขึ้นความวุ่นวายต่าง ๆ เริ่มเกิดตามมา ความสงบสุขที่เคยมีมาในอดีต ต่างตัวต่างอยู่ ไม่ต้องดิ้นรนแย่งอาหารและที่พักผ่อนนอนหลับ มาบัดนี้แค่ที่จะหลับนอนยังคับแคบไปซะแล้ว เรื่องอาหารการกินต้องแย่งกันกิน บรรดาตัวเป้ง ๆ เลยมาสุมหัวกันคิด

ตัวเป้ง ๆ เหล่านี้รู้สึกว่าจะต้องทำอะไรกันสักอย่าง มันมาสุมหัวคุยกันและตกลงเป็นฉันทามติว่าพวกเราสมควรมีหัวหน้าเพื่อปกครองกบที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ววิธีการใดล่ะจะได้หัวหน้ากบที่มาเป็นนายของพวกมัน

เมื่อตัวหนึ่งเสนอว่าพวกเราไปอ้อนวอนเทพเจ้าดีไหมตัวอื่นต่างพากันเห็นด้วย ถ้าจะเลือกหัวหน้ากันเองจากบรรดาตัวเป้ง ๆ ที่มาสุมหัวกันคิดดูจะไม่ค่อยเหมาะสักเท่าใดนัก

บรรดาตัวเป้ง ๆ ไปอ้อนวอนขอหัวหน้าที่จะมาเป็นนายของพวกมันจากเทพเจ้า เฝ้าเพียรพยายามไปหลายวัน วันต่อมามีขอนไม้ลอยน้ำมา พวกมันเลยคิดว่านี่แหละคือนายของมัน พวกมันดีใจมาก แต่ผ่านไปหลายวัน ทำไมนายของมันไม่เห็นจะสั่งการอะไรสักอย่างเอาแต่อยู่เฉย ๆ

บรรดาตัวเป้ง ๆ เลยตัดสินใจไปอ้อนวอนขอหัวหน้าจากเทพเจ้าอีกครั้ง บ่นว่านายของมันไม่ดีเลย ไม่เห็นจะทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ วันต่อมานกกระสาตัวหนึ่งพลัดหลงเข้ามาในหนองน้ำแห่งนี้ ตัวเป้ง ๆ เลยคิดว่านี่คือหัวหน้าตัวใหม่ ของมันที่เทพเจ้าส่งมาให้

ผ่านไปอีกหลายวัน กบค่อย ๆ หายไปทีละตัวสองตัว ตัวเป้ง ๆ ทั้งหลายบ่นอีกแล้วว่าทำไมหัวหน้าที่เทพเจ้าส่งมาให้ไม่ดีเลย พวกเราอยากได้หัวหน้าตัวใหม่อีกตัว เพราะถ้านกกระสามาเป็นหัวหน้ามัน สงสัยว่ากบคงจะสูญพันธุ์เป็นแน่แท้

นิทานเรื่องนี้สอนให้คิดว่า ไม่มีผู้ปกครองเลยยังดีเสียกว่ามีผู้ปกครองที่ทารุณโหดร้าย ทำไมเราต้องมีผู้ปกครองและชนชั้นปกครองด้วย เราอยู่กันเองโดยไม่มีผู้ปกครองเลยจะได้ไหม ถ้าจะต้องมีเราจะมีโอกาสได้ผู้ปกครองที่ดีสมบูรณ์แบบหรือไม่ ถ้าเขาไม่ดีพอเราจะจัดการกับเขาอย่างไร ทนให้เขาปกครองต่อไปหรือจัดการให้เขาลงจากตำแหน่งให้ได้

การเลือกผู้นำหรือผู้แทนราษฎร เราเลือกได้ทุก 4 ปี แต่ส่วนใหญ่ทนไม่ไหวเลยยังไม่มีครั้งใดที่ผู้นำหรือผู้แทนราษฎรอยู่ได้ครบกำหนด เพราะเราเหมือนกบเลือกนายหรือไม่จึงไม่ได้คนที่จะมาเป็นผู้นำที่ถูกใจสักทีเลยใช่ไหม

คงต้องคิดใหม่แล้วว่า ไม่มีใครดีพร้อมแม้แต่ตัวเราเอง คนที่จะมาเป็นผู้ปกครองและชนชั้นปกครองก็เป็นคนเหมือนเรา เขาคงไม่ได้ดีพร้อมเช่นกัน และความคิดที่ต่างกันใช่ว่าต้องมาทำร้ายกันหรือบังคับให้เขามาคิดเหมือนเราด้วย แต่ละคนจะมีดีต่างกัน ถ้าคนนี้ไม่ถูกใจรอไปอีกหน่อยคงได้คนที่ถูกใจ ถ้าคนส่วนใหญ่คิดว่าคนที่เป็นคนดีนั้นแตกต่างจากที่ตัวเองคิด คงต้องพิจารณาตัวเองใหม่แล้วล่ะ

เรื่องการเลือกคู่ก็เช่นกัน บางคนเลือกอยู่นั่นแหละ ไม่ได้ชอบสักที คิดว่าเลือกคู่เลือกได้ครั้งเดียวต้องทนไปตลอดชีวิต จึงต้องเลือกแล้วเลือกอีก คิดหวังจะได้คู่ครองที่ดีที่สุด แต่สุดท้ายที่เลือกไม่ได้ดีดังที่ใจคิด ตรงกับสำนวนไทยว่า เลือกนักมักได้แร่ เอได้แร่มันไม่ดีตรงไหนหรือน่าคิดนะ ยังไงเสียน่าจะดีกว่าไม่ได้ แต่ว่าแร่มีหลายอย่าง คนคงอยากได้ทองคำมากกว่าแร่ธรรมดา ๆ

การเตรียมเป็นผู้ปกครองและชนชั้นปกครอง

ถึงแม้จะไม่มีใครดีพร้อมก็จริงอยู่

แต่ถ้าอยากเป็นผู้ปกครองและชนชั้นปกครองจริง ๆ

ควรต้องพัฒนาตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เพื่อที่จะไม่เป็นแผลให้คนแหวะให้เจ็บได้ในภายหลัง




Create Date : 06 สิงหาคม 2562
Last Update : 6 สิงหาคม 2562 6:18:34 น.
Counter : 789 Pageviews.

0 comment
เกริ่นนำ
เกริ่นนำ
 
            ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับการอ่านและฟังนิทานตั้งแต่เยาว์วัยและรู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุกเป็นเวลาที่ควรค่าแห่งการจดจำ หลายคนจดจำคำสอนและเรื่องราวของนิทานที่มักลงท้ายว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” ได้จนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่เมื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้และจดจำคำสอนได้แต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอแล้วเพราะความสลับซับซ้อนของสังคมทำให้ผู้คนต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน สังคมที่เคยสอนให้รู้และจดจำแต่ไม่เคยสอนให้คิดเป็นและแก้ปัญหาได้อาจจะไม่เหมาะกับโลกในยุคสังคมออนไลน์ที่มีทุกสิ่งให้เลือกสรรอย่างมากมายจากจอเล็ก ๆ ใกล้ตัวเรา
นิทานเล่มนี้ต้องการฝึกทักษะการคิดให้กับเด็กโดยผ่านการเล่าที่สนุกสนานแต่สอดแทรกวิธีคิด เราคงต้องการให้เด็กคิดเป็นมากกว่าจะจดจำได้และเลียนแบบสิ่งที่คนเคยคิดมาแล้ว นิทานเล่มนี้จะจบเรื่องด้วยคำว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้คิดว่า” เพราะการคิดเป็นของเด็กจะขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่เคยสอนให้เด็กได้ฝึกคิด สมองเด็กจะรับรู้ว่าเมื่อรับรู้เรื่องราวใด ๆ คงต้องใช้ความคิดประกอบกันไป ไม่ใช่หลงเชื่อง่าย ๆ และเชื่ออย่างฝังจิตฝังใจหรือเชื่ออย่างงมงายไร้สาระโดยขาดการไตร่ตรอง
การเขียนนิทานในเล่มนี้อาจแปลกแตกต่างจากนิทานที่เคยพบเห็นแต่เชื่อว่าเมื่อได้อ่านจนจบคงจะรู้สึกว่าดีเหมือนกัน เด็กรุ่นใหม่คงจะเป็นเด็กช่างคิดเหมือนชื่อของหนังสือเล่มนี้
รูปแบบของนิทานเล่มนี้จะนำเค้าโครงของนิทานที่มีชื่อเสียงของอีสปมาดัดแปลงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปโดยการเพิ่มเกร็ดวามรู้และสอดแทรกวิธีการคิดด้วยหวังว่านิทานจะเป็นสื่อนำทางให้เด็กที่ชอบอ่านนิทานได้เกิดคุณธรรมฝังใจตั้งแต่วัยเยาว์และจะอยู่ในจิตสำนึกแม้เมื่อเติบใหญ่ไปแล้ว แต่เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนไปและปัญหาที่เกิดขึ้นต่างจากเดิม สิ่งที่รู้จะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อสามารถนำสิ่งที่รู้มาคิดในอีกรูปแบบหนึ่งได้ ซึ่งความสามารถในการคิดนี้จะช่วยให้ชีวิตก้าวไปด้วยความราบรื่นยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มสำนวนไทยให้ได้เรียนรู้ เพราะสำนวนจะแสดงถึงความสามารถในการใช้ภาษาที่สูงขึ้น คนที่ชอบสำบัดสำนวนจึงมักกลายเป็นนักพูดนักคิดที่มีชื่อเสียง เมื่อเรารู้จักสำนวนและมีโอกาสหัดใช้อาจทำให้เรามีเสน่ห์ในการเจรจาความต่าง ๆ มากขึ้น
สำหรับนิทานของอีสปเล่มนี้อาจมีนิทานที่คิดว่าอีสปคงไม่ได้แต่งเองทั้งหมด แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานขึ้น ผู้รู้หลายคนคงพยายามแต่งนิทานทำนองเดียวกับที่อีสปแต่งเพิ่มเติมขึ้นมา จนไม่รู้ว่าใครแต่งบ้าง แต่ทั้งหมดได้ยกยอดให้อีสปผู้เป็นเจ้าตำนานแห่งการแต่งนิทานสอนลูกหลานเป็นผู้แต่งทั้งหมด
 
 



Create Date : 06 สิงหาคม 2562
Last Update : 6 สิงหาคม 2562 6:15:26 น.
Counter : 382 Pageviews.

0 comment
คนที่ชื่ออีสป
อีสปเป็นนักเล่านิทานที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากตั้งแต่ช่วง 620 – 560 ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่พื้นเพดั้งเดิมอีสปเป็นเพียงทาสชาวกรีก เกิดที่แคว้นฟรีเยีย เมืองอะเมอเรียม ประเทศตุรกีในปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่แถบเอเชียไมเนอร์รอยต่อระหว่างทวีปยุโรปกับทวีบเอเชีย ในช่วงนั้นต้องนับว่าดินแดนแถบนี้เจริญสูงสุดทั้งด้านการค้า ศิลปะวัฒนธรม
          คำว่า อีสป (Aesop) เป็นการออกเสียงของชาวยุโรปที่เพี้ยนมาจากคำเดิมว่าเอธิออป(Ethiop) ซึ่งคาดเดากันว่ามาจากรากศัพท์ว่าเอธิโอเปียที่เป็นชื่อประเทศ ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นอะบิสซีเนีย
          อีสปเป็นทาสอยู่ที่เมืองซามอส ประเทศกรีซ เจ้านายของอีสปคืออิดมอน น่าแปลกที่อิดมอนยอมให้ทาสมาสอนหนังสือลูก ๆ และเป็นเรื่องบังเอิญที่บ้านของอิดมอนเป็นที่ชุมนุมบุคคลสำคัญของกรีซ ฐานะของครูสอนหนังสือให้ลูกอิดมอนทำให้อีสปมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับบุคคลที่มีชื่อเสียงของกรีซด้วย อีสปใช้โอกาสอันดีงามนี้เล่านิทานที่เขาแต่งขึ้นมาเองให้บุคคลเหล่านั้นฟัง หลายคนชอบฟังนิทานของอีสป
          เขาว่ากันว่าผู้ที่เกิดมามีรูปเป็นทรัพย์มักจะสวยแต่เพียงรูปนั่นคือมักจะด้อยสติปัญญา ส่วนผู้ที่อัปลักษณ์มักจะได้สติปัญญาสูงส่ง พระเจ้าจะไม่ลำเอียงโดยให้ประชาชนของพระองค์ได้รับสิ่งที่ดีงามแต่เพียงบางคนเท่านั้น ทุกคนจะได้รับพรจากพระเจ้าโดยถ้วนหน้ากันเพียงแต่ได้ไม่เท่ากันและได้ไม่เหมือนกัน น้อยคนนักที่จะโชคดีมีทั้งรูปลักษณ์ดีและสติปัญญาสูงส่ง 
อีสปมีรูปลักษณ์ที่เรียกว่าอัปลักษณ์เป็นที่สุด ตัวดำเป็นเหนี่ยง หลังค่อมตัวงอ จมูกบี้ ปากแบะ ลิ้นคับปาก แต่ทว่าสติปัญญาล้ำเลิศและมีอัจฉริยะด้านการแต่งนิทานเพื่อสอนคุณธรรมโดยแต่งนิทานจากกจินตนาการ นอกจากอัปลักษณ์ทางร่างกายเป็นที่สุดแล้วแม้แต่น้ำเสียงยังไม่ไพเราะเสนาะหู
เขาว่ากันว่าเสียงพูดยิ่งไม่น่าฟัง เสียงที่คล้ายเสียงสัตว์เพราะเขาชอบพูดให้เสียงอยู่ในลำคอ ยิ่งเพิ่มความน่ารังเกียจมากทวีคูณ แต่ทว่านิทานที่เขาเล่ากลับมีเสน่ห์เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้คนที่ได้มีโอกาสฟังอีสปเล่านิทานลืมส่วนที่น่ารังเกียจของอีสปไปจนหมดสิ้น
ความที่ว่าอีสปเกิดในชนชั้นต่ำมีฐานะเป็นทาสแถมด้วยรูปร่างอัปลักษณ์ทำให้ชีวิตดูลำเค็ญ แต่อีสปปเป็นคนที่เกิดมาแล้วไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาราศีทำให้คิดหาจุดเด่นของตนเองนั่นคือการคิดเพ้อฝันแต่งเป็นเรื่องเป็นราวแต่งแต้มเติมฝันให้ความสดชื่นแก่ตัวเองและมีผลทำให้ผู้ฟังพลอยสดชื่นตามไปด้วย นอกจากนั้นยังแถมด้วยความรู้จนฮิตติดตลาดมานานจนถึงปัจจุบัน
คนที่มีความคิดจินตนาการจะเป็นคนที่มีปฏิภาณไหวพริบและด้วยความสามารถพิเศษด้านนี้นี่เองทำให้อีสปหลุดพ้นจากการเป็นทาสได้แถมยังยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ภายในราชสำนักของกษัตริย์โครเอซุสแห่งแคว้นลิเดีย ความสามารถในการแต่งนิทานทำให้เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์โครเอซุสเป็นอย่างมาก ขนาดคนที่เป็นกษัตริย์และเป็นผู้ใหญ่ยังหลงใหลในการฟังนิทานแล้วเด็กเล็ก ๆ ที่อยู่ในวัยเพ้อฝันจะไม่นิยมชมชอบในการฟังนิทานได้อย่างไร
อีสปได้พบปะกับนักปราชญ์ราชบัณฑิตคนสำคัญของกรีก โซลอนเป็นนักปราชญ์ที่อีสปเข้าไปคุ้นเคยด้วย โซลอนเป็นญาติของปีซัสเตรตัสผู้ปกครองเมืองเอเธนส์ซึ่งโดนชาวเมืองขับไล่ด้วยบ้าอำนาจชอบกดขี่ข่มเหงรังแกประชาชน อีสปได้นำเรื่องนี้มาแต่งนิทานเรื่องกบเลือกนายแล้วเล่าให้ชาวเมืองฟัง ชาวเมืองจึงเข้าใจและยกเลิกการขับไล่ปีซัสเตรตัสผู้ปกครองเมือง
นิทานของอีสปมักจะมีเค้าโครงจากเรื่องจริงแต่ใช้ถ้อยคำภาษาในรูปของเรื่องเล่าที่มีตัวเอกของเรื่องเป็นสัตว์น้อยใหญ่ เป็นการเปรียบเปรยแต่ทำให้ผู้คนได้คิดคล้อยตามและเข้าใจ นอกจากแต่งนิทานจากสิ่งที่พบเห็นได้จริงในชีวิตประจำวันแล้ว อีสปยังได้เค้าโครงนิทานจากการฟังเรื่องเล่าเก่า ๆ ของอินเดีย กรีก อาระเบีย เปอร์เซียแล้วนำมาแปลงเป็นนิทาน ในสมัยนั้นยังไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
การที่อีสปเลือกให้สัตว์น้อยใหญ่เป็นตัวเอกของเรื่องคงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ตนเองแทนการพูดโต้ง ๆ ออกไป โดยสัตว์แต่ละตัวจะเป็นสัญลักษณ์ที่ต่างกัน เช่น สิงโตแทนความมีอำนาจโดยเปรียบกับผู้มีอำนาจเช่นกษัตริย์ หนูเปรียบเป็นผู้ต่ำต้อยเช่นชาวนาหรือชนชั้นผู้ยากไร้หรือสิ่งของที่ด้อยราคา สุนัขจิ้งจอกแทนความ  เจ้าเล่ห์ฉลาดแกมโกง คนที่คดโกงเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว แพะแทนความโง่เขลาเบาปัญญา คนซื่อบื้อเซ่อซ่าที่ชอบโดนคนหลอกลวงและเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ
การเล่าในรูปนิทานของอีสปแทนการพูดโพล่ง ๆ ออกมาตรง ๆ จึงเป็นการสัพยอกผู้มีอำนาจในยุคนั้นโดยไม่ก่อให้เกิดความผิดหรือตัวเองได้รับอันตรายจากการพูด ไม่ได้เป็นการจาบจ้วงหรือท้าทายอำนาจที่ยิ่งใหญ่คับฟ้าโดยตรง หรือไม่ทำให้ใครเสียหน้าแต่ให้ข้อคิดสะกิดใจแทน ใช้การเปรียบเปรยให้ข้อคิดโดยนำเอาสัตว์มาเป็นตัวเดินเรื่อง
นิทานของอีสปเป็นที่รู้จักในยุคนั้นเป็นอย่างดีแต่ไม่ได้บันทึกให้เป็นเรื่องเป็นราวนอกจากการเล่าสืบต่อกันมา ต่อมาฟีดรัสได้นำเรื่องที่ผู้คนได้เล่าสืบต่อกันมานี้บันทึกในแผ่นปาปิรัสอียิปต์โบราณเป็นภาษาลาติน ฟีดรัสเป็นทาสเช่นเดียวกับอีสป แต่ฟีดรัสเป็นทาสชาวมาซีโดเนียนในยุคจักรพรรดิออกุสตุสแห่งจักรวรรดิโรมัน เรื่องเล่าของอีสปจึงกลายเป็นเรื่องเล่าที่ผู้คนทั่วไปรู้จักเพราะบันทึกและเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง
เดมิตริอุสเป็นอีกคนหนึ่งที่รวบรวมนิทานของอีสปเป็นรูปเล่มประมาณ 30 ปีก่อนคริสตกาล พระมาซิมุล พลานูดแปลนิทานจากภาษาลาตินเป็นภาษาอังกฤษเมื่อคริสตศักราช 1400 พอเป็นภาษาอังกฤษยิ่งทำให้มีผู้สนใจอ่านมากยิ่งขึ้นและแต่ละชาติเริ่มแปลไปเป็นภาษาของตนเอง ปัจจุบันนิทานอีสปเป็นนิทานที่โด่งดังและเล่าขานสอนเด็กไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว
 
 



Create Date : 06 สิงหาคม 2562
Last Update : 6 สิงหาคม 2562 6:14:09 น.
Counter : 467 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments