All Blog
ตอบคำถาม What do you think? อย่างไรดี
คนอเมริกัน และอาจรวมถึงคนชาติอื่นๆด้วย มีลักษณะนิสัยที่ชอบคิด ชอบวิจารณ์ และให้เหตุผลต่างๆนาๆ เมื่อเรามาเรียนเมืองนอก คำถามที่เพื่อนร่วมงาน หรือ อาจารย์มักจะถามก็คือ What do you think about …? คำถามง่ายๆแบบนี้ บางทีให้ตอบก็ตอบยากเหลือเกิน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างกรณีที่เราไปฟังคนอื่นพูดใน seminar หลังจากการพูดจบ เพื่อนร่วมงานที่ไปฟังกับเราด้วย ก็ถามเราขึ้นมาว่า What do you think about this talk? แล้วเราจะตอบอย่างไรดีคะ

จริงๆแล้วคำถาม What do you think? นี่ ไม่ใช่คำถามที่ดีและชัดเจนสักเท่าไร เพราะเราจะตอบอะไรก็ได้ จะบอกในแง่บวกหรือลบก็ได้ ส่วนใหญ่พอเราคิดไม่ออกว่าจะตอบอะไร เราก็จะตอบไปว่า อืม ก็ดีนะ หรือ I think it’s good. แต่แค่นี้มันไม่พอสำหรับที่อเมริกาค่ะ ถ้าเราตอบว่า presentation ที่เราฟังไปนี้มันดี ก็ต้องบอกว่ามันดียังไง ถ้ามันไม่ดี แล้วไม่ดียังไงค่ะ ลองใช้วิธีที่จะแนะนำต่อไปนี้ดูนะคะ

๑. เปลี่ยนมาถามตัวเอง แทนที่จะเป็น What do I think about the talk? มาเป็น What are the three most important things I just learned from this talk? ดูค่ะ เราอาจจะได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ อาจจะจากส่วนของ introduction หรือ experimental methods หรือ results and conclusions ของเค้าค่ะ แล้วเราก็ตอบเพื่อนเราไปว่า อ๋อ เราชอบ presentation นี้มากเลยเพราะเราได้เรียนรู้เพิ่มว่า ยังไงๆๆ ค่ะ

๒. ถ้าเรื่องที่เราไปฟังเป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเท่าไร คือไม่ค่อยเกี่ยวกับงานวิจัยของเรามากนัก เราก็อาจจะได้เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มจากส่วน introduction มากกว่า เพราะส่วนเนื้อหาเราอาจจะตามไม่ทัน เราก็ตอบไปว่า เราได้รู้เพิ่ม ยังไงๆ ค่ะ

๓. เราอาจจะให้ comments เกี่ยวกับ organization of the talk เช่น เราชอบที่เค้าเปิดเรื่องพูดด้วยการเล่าโจ๊กตลก เป็นต้นค่ะ

๔. เราอาจจะ comment ในส่วนของสไตล์การพูดของผู้พูด เช่น เค้าดูเป็นทางการ (formal) หรือดูสบายๆเป็นกันเอง (casual) เค้าเรียงเนื้อหาให้เราเข้าใจง่ายหรือยาก เป็นต้นค่ะ

๕. ถ้าสรุปโดยรวมแล้วเราชอบ ก็บอกไปว่า I like the talk very much because… หรือ it’s a very interesting talk because… แล้วก็ใส่เหตุผลที่เป็นข้อคิดเห็นด้านบวกค่ะ

๖. แต่ถ้าเราไม่ค่อยชอบเท่าไร ก็บอกได้ค่ะว่าไม่ชอบเพราะอะไร ฝรั่งเค้า fair แล้วเค้าก็ชอบ discuss ค่ะ เป็นการติเพื่อก่อค่ะ คือเพื่อนเราก็จะได้รู้ว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วคนฟังอาจจะไม่ชอบ แล้วเราก็จะได้รู้และพยายามไม่ทำแบบนั้นด้วย (อันนี้คือหมายถึง เราคุยกันเองกับเพื่อนนะคะ ไม่ได้ไปบอกคนพูดว่าเค้าพูดไม่ดีอย่างงั้นอย่างงี้ โดยก็เริ่มไปว่า Overall, the talk is okay. However, I think … แล้วเราก็ใส่ความคิดเห็นแง่ลบไป ข้อคิดเห็นแง่ลบก็อาจเป็นเพียงอะไรเล็กๆน้อยๆ เช่น เราไม่ชอบตรงที่คนพูดใช้ laser pointer แล้วแกว่งไปมาบนจอตลอดเลย ซึ่งมันทำให้เวียนหัว และ distracting เป็นต้นค่ะ ที่สำคัญ อย่าไปเริ่มด้วยคำพูดที่รุนแรงเช่น Oh I hate this talk very much. หรือ he is a very bad speaker. เพราะเราไม่รู้ค่ะ ว่าเราคุยกับเพื่อนกันสองคน แต่คนอื่นอาจจะได้ยินก็ได้ สุดท้ายอาจจะไปถึงหูคนพูด presentation ก็ได้ เราไม่รู้ว่าใครรู้จักใครกันบ้าง ก็ต้องระวังเพราะ เดี๋ยวจะบาดหมางกันโดยไม่จำเป็นค่ะ

ทีนี้พอเราตอบคำถามเค้าไปแล้ว เพื่อนก็อาจจะให้ความเห็นของเค้ามาเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเรา เราก็ต้องเปิดใจให้กว้างค่ะ แล้วเราก็ถามเค้าไปว่า แล้วเค้าล่ะคิดอย่างไร เราก็ได้เรียนรู้จากเพื่อนด้วยค่ะ

ถ้าอยากจะให้ง่ายนะคะ พอออกจากห้องสัมมนาก็รีบถามเพื่อนก่อนเลย What do you think about this talk? แล้วพอเค้าพูดมา เราก็ให้ความเห็นเพิ่มจากที่เค้าบอก ไปได้ว่า เราเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไรค่ะ



Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2551 13:26:58 น.
Counter : 13560 Pageviews.

16 comment
มาเมืองนอกแล้ว จะฝึกพูดภาษาอังกฤษอย่างไร (ตอนที่ ๒)
ตอนที่แล้วผู้เขียนได้แนะนำวิธีการฝึกพูดภาษาอังกฤษเมื่อมาอยู่อเมริกา ไปบ้างแล้วนะคะ ตอนนี้ก็ขอนำเสนอเพิ่มเติมวิธีการที่ได้รวบรวมสะสมมาค่ะ บางข้อสามารถนำไปใช้ได้แม้อยู่ที่เมืองไทย หรือที่อื่นๆนะคะ

๖. แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีแผนกที่ดูแลนักเรียนต่างชาติ (คือคนที่ไม่ใช่อเมริกัน) ซึ่งมีชื่อต่างๆกันไป เช่นที่ University of Illinois at Urbana-Champaign (UIUC) ก็เรียกแผนกนี้ว่า International Student and Scholar Services (ISSS) หรือที่ University of California at Davis มีชื่อแผนกนี้คือ Services for International Students and Scholars (SISS) เป็นต้นค่ะ ซึ่งนักเรียนไทยเมื่อมาใหม่ก็ต้องรู้จักแผนกนี้อยู่แล้ว เพราะต้องมารับการปฐมนิเทศน์และจัดการเรื่องวีซ่าหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่แผนกนี้เค้าจะมีรวบรวมแหล่งข้อมูลการฝึกพูดภาษาอังกฤษค่ะ (resources)โดยอาจจะมีเป็นแผ่นพับไว้ ณ office ของเค้า หรือลองเข้าไปดูใน Website ของเค้าดูค่ะ ซึ่งข้อมูลก็อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย สำหรับที่ UIUC ผู้เขียนลองเข้าไปดูใน website ของ ISSS ขณะนี้ แต่หาข้อมูลยังไม่เจอค่ะ แต่เท่าที่จำได้ว่าเคยไปที่ office ของเค้า แล้วเค้ามีข้อมูลเกี่ยวกับการฝึกพูดภาษาอังกฤษ ดังนี้ค่ะ

a. รายชื่อของผู้ที่รับสอนภาษาอังกฤษ (tutor) รายตัวและเป็นกลุ่ม ซึ่งเราสามารถติดต่อได้ ถ้าต้องการเรียนเพิ่ม มีทั้งการเรียนพูด (conversation/speaking/listening) หรือ การเขียนอ่าน (writing/reading) ค่ะ บางที่ก็สอนฟรี แต่บางที่ก็ต้องจ่ายค่าเรียนค่ะ

b. Free English conversation โดยเค้าแนะนำหลายๆที่ เช่น ที่ Cosmopolitan Club ซึ่งเป็นเหมือน International House แต่ละสัปดาห์ เค้าจะจัด coffee hour โดยสมาคมนักเรียนของชาตินั้นๆ ก็จะจัดอาหาร ขนม เครื่องดื่ม (ไม่มี alcohol นะคะ) ของชาตินั้นๆ มาให้ทานกันฟรีค่ะ บางทีก็มี slide show แนะนำชาตินั้นๆด้วย ได้ยินว่านักเรียนไทยก็จะมีจัด coffee hour ของประเทศไทยด้วยค่ะ Cosmo club นี้ก็เป็นที่ที่เราได้เจอเพื่อนใหม่ หรือไปกับเพื่อนต่างชาติ เราก็จะได้ฝึกพูดแบบไม่เป็นทางการค่ะ นอกจากนี้ บางทีตาม Church ต่างๆ เค้าก็จัด free English conversation hours เป็นประจำแต่ละสัปดาห์ค่ะ ซึ่งเราก็ไปฝึกคุยภาษาอังกฤษได้ แต่ก็ระวังเรื่องศาสนาด้วยค่ะ บางทีชาวคริสต์เค้าก็อยากเปลี่ยนเราชาวพุทธให้ไปนับถือศาสนาเค้าเหมือนกัน ก็ใช้วิจารณญาณดูค่ะ

c. Host family program ซึ่งทาง UIUC มีการจับคู่นักเรียนต่างชาติกับครอบครัวชาวอเมริกันที่มาสมัครเพื่อร่วมโปรแกรมนี้ ให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับชาวอเมริกัน แต่นักเรียนไม่ได้ไปอาศัยอยู่กับครอบครัวเค้านะคะ การทำกิจกรรมก็แล้วแต่คู่ host family กับตัวเราจะตกลงกันค่ะ เท่าที่เห็นก็มีการไปทานข้าววันเสาร์อาทิตย์ การไปร่วมงานในวันหยุดต่างๆกับครอบครัวเค้า เช่น งานวันคริสมาส วัน Thanksgiving เป็นต้นค่ะ อันนี้นับเป็นโอกาสที่ดีมากนะคะ ที่นอกจากเราจะได้เรียนรู้ฝึกฝนภาษาแล้ว เรายังได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเค้า ที่บางทีเราอาจไม่รู้เลยก็ได้ค่ะ ผู้เขียนจำได้ว่า โปรแกรมนี้ เค้าไม่ค่อยโฆษณา คนก็เลยไม่ค่อยรู้ และเค้าปิดรับสมัครเร็วค่ะ ประมาณสัปดาห์สองสัปดาห์แรกของเทอม ถ้าสนใจต้องลองไปถามที่ ISSS โดยตรงค่ะ

d. Buddy program เป็นการจับคู่นักเรียนต่างชาติกับนักเรียนอเมริกับค่ะ โดยนักเรียนต่างชาติก็ได้ฝึกภาษาอังกฤษ และนักเรียนอเมริกันก็ได้ฝึกภาษาจากชาตินั้นๆค่ะ ที่เห็นมีเยอะๆก็นักเรียนจากญี่ปุ่นค่ะ ที่คนอเมริกันอยากเรียนภาษาด้วย สำหรับคนไทย ก็ต้องไปสอบถามที่ ISSS ดูนะคะ

๗. นอกจากที่ ISSS แล้ว resources ในการฝึกภาษาอังกฤษก็มีติดประกาศไว้ตามที่ต่างๆ เช่น ที่หอพักมหาวิทยาลัย สถาบันสอนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย เช่น Intensive English Institute (IEI) ของที่ UIUC เป็นต้นค่ะ ก็ลองเช็คดูหลายๆที่ค่ะ

๘. การออกเสียงในภาษาอังกฤษให้ถูกต้องนั้น แบ่งออกเป็น ๒ แบบค่ะ คือ การออกเสียงแต่ละคำให้ถูกต้อง กับการออกเสียงเป็นโทนเสียงขึ้นลงในแต่ละประโยค (intonation)

a. การออกเสียงแต่ละคำให้ถูกต้อง บางอย่างก็มีหลัก บางอย่างก็ไม่มีหลัก ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ ฟังเยอะๆ แล้วจดจำเอาค่ะ

i. การออกเสียงที่มีหลักการก็เช่น เวลา verb เติม –ed สามารถออกเสียงได้ ๓ แบบ คือ ออกเสียง t เช่น kicked หรือ jumped, ออกเสียง d เช่น hugged หรือ loved, และการออกเสียงแบบ “เอิด” เช่น wanted หรือ painted เป็นต้น งงกันหรือเปล่าคะ เสียงเหล่านี้สำคัญมากที่จะทำให้ฝรั่งเข้าใจเรานะคะ (โอกาสหน้าผู้เขียนจะเขียนเกี่ยวกับรายละเอียดการออกเสียงโดยละเอียดขึ้นค่ะ แต่บลอกนี้ผู้เขียนขอเน้นวิธีการและ resources ที่จะช่วยให้เราฝึกพูดด้วยตัวเองค่ะ) ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเรียนการออกเสียงกับอาจารย์ชำนาญ ศุภนิตย์ ที่สถาบันเสริมภาษา LAS ใกล้ศรีย่านค่ะ เป็นการเรียนที่มีประโยชน์และดีที่สุดสำหรับการออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้องของผู้เขียนเลยค่ะ

ii. ส่วนการออกเสียงคำต่างๆที่ไม่สามารถสรุปเป็นหลักการได้ ก็มีเยอะค่ะ ก็ต้องจำเอาค่ะ เช่น ตัว g ใน girl ออกเสียง ก แต่ใน germ ออกเสียง จ เป็นต้น อันนี้เราไม่สามารถเดาได้เลย ถ้าไม่เคยได้ยินมาก่อนค่ะ เพราะฉะนั้น ผู้เขียนแนะนำว่าให้ฟังภาษาอังกฤษให้เยอะที่สุดค่ะ การจะฟังอะไรบ้างนั้น ผู้เขียนจะแนะนำเพิ่มเติมในข้อถัดไปข้างล่างค่ะ

b. การออกเสียงเป็นโทนเสียงขึ้นลงในแต่ละประโยค (intonation) นั้น เวลาเราฟังฝรั่งพูดทางทีวีหรือวิทยุ ก็ให้เราฟังเหมือนฟังเพลงค่ะ คือประโยคเค้าจะมีขึ้นมีลง แล้วเราก็พยายามคาราโอเกะตามค่ะ จะช่วยได้มากเวลาเราอยู่คนเดียวแล้วพูดตามแต่ละประโยคไปด้วย เรื่องการพูดให้ถูก intonation นี้ ผู้เขียนก็ขอแนะนำ หนังสือและCD ชื่อ American accent training ค่ะ //www.amazon.com/exec/obidos/ASIN/0764173693/americanaccenttrซึ่งดีมากๆ เพราะสอนว่าเราต้องเน้นคำไหนในประโยคบ้าง แล้วเราจะพูดเหมือนชาวอเมริกันเลยค่ะ เช่น ประโยค

i. John and I went to school. เน้นที่ John, I, school

ii. We went to school. เน้นที่ went, school แทน เพราะ we เป็น pronoun เราเลยไม่เน้น

iii. John and I have not gone to school. เน้นที่ John, I, gone, school เพราะ have not ไม่ได้เป็นตัว verb หลักค่ะ

iv. เวลาบอกตัวเลข ให้เน้นตัวเลขสุดท้าย เป็นสัญญาณว่าเราพูดจบประโยคแล้ว เช่นเวลาเราบอกเบอร์โทรศัพท์ของเรา 7-2-1-0-4-6-9 เน้นที่ nine!

(สนุกมั้ยคะ ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนรวบรวมหลักเหล่านี้ แล้วมานำเสนอในโอกาสต่อๆไปค่ะ)

๙. การที่เราจะพูดให้เหมือนฝรั่ง เราก็ต้องเลียนแบบเค้า ซึ่งเราก็ต้องอาศัยการฟังให้มากๆค่ะ สำหรับสื่อต่างๆที่ช่วยในการฟังภาษาอังกฤษ ผู้เขียนขอแนะนำดังต่อไปนี้ค่ะ

a. ทีวี การที่จะเรียนรู้คำศัพท์และประโยคที่เค้าใช้กันในชีวิตประจำวันนั้น แนะนำว่าให้ดู sitcom หรือ series ที่ฉายเป็นตอนๆ ต่อเนื่องกันไป เช่นเรื่อง Friends เป็นต้น จะดีกว่าการดูหนังเป็นเรื่องๆค่ะ เพราะหนังแต่ละแบบก็แนวต่างกันไป อาจจะไม่ได้เรียนรู้ภาษาสนทนาได้ดีเท่า sitcom ค่ะ

b. การดูทีวี ถ้าต้องการฝึกฟังและพูด ก็ไม่ควรเปิด subtitle ค่ะ เพราะเวลาเราเปิด เราก็จะอ่าน subtitle ไปก่อนที่เราจะฟังเค้าพูด สุดท้ายก็ไม่ได้ฝึกฟังค่ะ แต่ถ้าต้องการเรียนรู้คำศัพท์ ให้เปิด subtitle ค่ะ ผู้เขียนตอนมาอเมริกาใหม่ๆ ด้วยความที่ต้องการฝึกทั้งสองอย่าง ก็เลยใช้การเปิด subtitle หนึ่งวัน ปิดหนึ่งวันค่ะ

c. โดยส่วนตัวผู้เขียน ขอแนะนำว่า ให้พยายามฟังคนอเมริกันเอเชียน (คือเกิดที่อเมริกาแต่เป็นเชื้อชาติเอเชีย) พูดภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะผู้หญิงค่ะ เพราะลักษณะเสียงของเราคล้ายกับเค้า ซึ่งอาจจะเพราะลักษณะทางชีวค่ะ (เช่น gene เป็นต้น) ซึ่งทำให้เราเลียนเสียงเค้าได้ง่ายขึ้นค่ะ ลองหาช่องทีวีที่มีผู้ประกาศข่าวเป็นคนเอเชียดูค่ะ

d. เปิดวิทยุที่มีการพูดเยอะๆ ไม่ใช่เพลงนะคะ แล้วเปิดฟังบ่อยๆ เวลามีเวลาค่ะ แนะนำว่าตอนเช้าๆจะดีค่ะ เพราะเราจะได้คุ้นกับภาษาอังกฤษสำหรับไปพูดและฟังในวันนั้นๆ พร้อมๆกับการบริหารกล้ามเนื้อปาก ที่ได้แนะนำไปในหัวข้อ การพูด presentation ให้สู้ฝรั่งได้ ตอนที่ ๒ ภายใต้หัวข้อ “วันพูด” ค่ะ

e. ลองไปห้องสมุดของเมืองค่ะ เช่นที่ Davis เค้ามี Yolo County Library – Davis branch หรือ ที่ Champaign-Urbana ก็มี Urbana free library กับ Champaign library ที่เค้าให้ยืมหนังได้ฟรี เราก็เอามาดูฝึกภาษาได้ด้วยค่ะ นอกจากนี้ book on CD ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถ้าใครชอบอ่านหนังสือ แต่อันนี้เป็นการ “ฟัง” แทนค่ะ ก็ได้ฝึกฟังได้เยอะเลยค่ะ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเทคนิคที่ผู้เขียนรวบรวมมานะคะ ลองนำไปใช้กันนะคะ ผู้เขียนยังจำคืนแรกที่ฝันเป็นภาษาอังกฤษได้ ดีใจมากๆเลยค่ะ ใครมีข้อแนะนำดีๆ ช่วยบอกกันบ้างนะคะ





Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2551 17:45:41 น.
Counter : 5505 Pageviews.

14 comment
มาเมืองนอกแล้ว จะฝึกพูดภาษาอังกฤษอย่างไร (ตอนที่ ๑)
ใครที่สนใจมาเรียนต่อต่างประเทศ สิ่งแรกที่อาจจะกังวลกันก็คือเรื่องของภาษาค่ะ เพราะเราจะต้องไปใช้ชีวิตในที่ๆใช้ภาษาต่างชาติซึ่งไม่ใช่ภาษาของเรา ใครที่ต้องไปเริ่มเรียนภาษาใหม่ๆ เช่น ภาษาญิ่ปุ่น เยอรมัน และอื่นๆ ที่เราไม่ค่อยคุ้นเท่าไร ก็นับว่าเก่งมากเลยค่ะ ส่วนใครที่จะไปในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่เราก็จะเรียนกันมาตั้งแต่สมัยประถม หรือบางคนเรียน ABC ตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ แต่พอจะเอาไปใช้จริงๆ ก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไรใช่มั้ยคะ ผู้เขียนได้รวบรวมเทคนิคการฝึกภาษาอังกฤษ เมื่อมาเรียนต่อ โดยเป็นกรณีของการมาเรียนอเมริกาที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ ดังนี้ค่ะ

๑. สำหรับคนที่คิดอยากมาอเมริกา แต่ไม่แน่ใจว่าควรจะเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย เพื่อสอบ TOEFL GRE หรือ GMAT เป็นต้น ให้ผ่านก่อนดี หรือจะมาเรียนภาษาที่อเมริกาดีกว่า แล้วค่อยสอบที่นี่เลย ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนะคะ แนะนำว่า ที่เมืองไทยมีโรงเรียนติวเพื่อสอบภาษาอังกฤษได้ดีกว่าที่อเมริกามากค่ะ ควรสอบมาให้เรียบร้อยก่อนมาเมืองนอกจะดีกว่าค่ะ และควรได้ตอบรับจากมหาวิทยาลัยก่อนมาค่ะ ส่วนเวลามาที่อเมริกา ถ้ายังไม่มั่นใจด้านการพูดหรือฟังภาษาอังกฤษ ก็อาจจะมาก่อนเริ่มเรียน เพื่อมาลงเรียนภาษาอังกฤษที่นี่ก่อนค่ะ เพราะประโยชน์อย่างยิ่งที่จะได้เวลามาเรียนภาษาที่นี่ก็คือ ได้ฝึกพูดฝึกฟังได้เต็มที่เลยค่ะ และจะได้ซึมซับ accent ของการพูดภาษาอังกฤษจากฝรั่ง ตามวิธีที่จะแนะนำเป็นข้อๆ ค่ะ

๒. สำหรับคนที่มีเวลามาเมืองนอกก่อนเปิดเทอมของโปรแกรมที่เราจะมาเรียน ก็ควรมาลงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมก่อน เพราะการมาเรียนต่างประเทศ ไม่ใช่แค่พอฟังได้พูดได้นิดหน่อยก็พอนะคะ เราจะต้องฟัง lecture เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น ก็ขนาดตอนเรียนที่เมืองไทย ฟังอาจารย์คนไทยอธิบาย บางทียังไม่เข้าใจเลยค่ะ เพราะฉะนั้น เรื่องเนื้อหาของวิชาที่เรียนก็ยากพออยู่แล้ว อย่าเอาความไม่ถนัดทางภาษาในการฟังของเรามาเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมเลยค่ะ การเรียนภาษาอังกฤษที่นี่นอกจากเราจะได้ฝึกภาษาแล้ว เรายังได้เรียนรู้วัฒนธรรมอเมริกันด้วย จะเลือกลงเรียนที่มหาวิทยาลัยที่เราจะเรียนต่อนั้นก็ได้ หรืออยากเปลี่ยนบรรยากาศไปเรียนภาษาที่เมืองอี่นก่อนก็ได้ค่ะ ผู้เขียนเองก็ไปเรียนภาษาที่ University of California, Berkeley (ซึ่งเพิ่งมาอ่านเจอว่าเค้ายกเลิกโปรแกรมนี้ไปแล้ว) ก่อนที่จะไปเริ่มเรียนปริญญาโท-เอกที่ University of Illinois at Urbana-Champaign (UIUC) สิ่งสำคัญที่อยากแนะนำคือ ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกไปอยู่แบบ homestay คือไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวท้องถิ่น (host family) ซึ่งอาจจะเป็น American หรือเป็นเชื้อชาติอื่นแต่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก ที่จะช่วยให้เราได้ฝึกภาษาอังกฤษได้เยอะๆค่ะ host family ของผู้เขียนที่ Oakland ก็เป็นชาว Philippines ค่ะ แต่มาอยู่อเมริกาเป็นสิบปีค่ะ เราก็ได้เรียนรู้ภาษารวมทั้งวัฒนธรรมของเค้าไปด้วย สำหรับโปรแกรมเรียนภาษาของ UIUC เรียกว่า Intensive English Institute (IEI) ค่ะ ส่วนของ University of California, Davis จะอยู่ในส่วนของ UC Davis Extension ค่ะ

๓. การเลือกที่อยู่เวลามาเรียนเมืองนอก ถ้าอยากจะให้ได้ฝึกภาษาจริงๆ ก็แนะนำให้อยู่ dorm หรือ International housing ค่ะ อย่างที่ UIUC เค้าก็มีหอพักของนักเรียนโทเอก (graduate dorms) ซึ่งไม่ปะปนกับนักเรียน undergrads ค่ะ ส่วนใหญ่เพื่อนร่วมหอเราจะเป็นนักเรียนต่างชาติเช่นกัน รวมทั้งมีนักเรียนชาวอเมริกันบ้าง ก็ได้พูดทักทายเค้าเวลาเจอกัน หรือเวลาที่หอมีกิจกรรมสังสรรค์กันค่ะ ส่วนใหญ่ทางหอพักจะจัดกิจกรรมให้คนมาทำความรู้จักกันอยู่แล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เพื่อนและได้ฝึกภาษาค่ะ เพื่อนในหอก็เป็นนักเรียนมาใหม่เช่นเดียวกับเรา แต่ละคนก็ต่างอยากได้เพื่อนค่ะ

๔. หาเพื่อนต่างชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอเมริกันก็ได้ค่ะ จะเอเชียเหมือนกันก็ได้ อย่างน้อยก็บังคับให้เราต้องพูด ต้องอธิบาย เป็นภาษาอังกฤษ เวลานึกศัพท์ไม่ออก ก็อธิบายยาวๆไปได้ค่ะ สุดท้ายเค้าก็เข้าใจเหมือนกัน

๕. เวลาเรามาใหม่ๆ ถ้ายังไม่มั่นใจการพูดการฟัง โดยเฉพาะการฟังภาษาอังกฤษ ก็ให้คุยกับเพื่อนต่างชาติทีละคนค่ะ คือถ้าไปคุยกันเป็นกลุ่ม บางทีเค้าคุยกันเอง แล้วเราก็จะตามไม่ทัน สุดท้ายเราเลยร่วมคุยกับเค้าบ้างไม่ได้ ก็เลยเงียบ ก็ไม่ได้ฝึกภาษากันไปใหญ่ค่ะ

เทคนิคข้ออื่นๆ ขอต่อตอนต่อไปนะคะ



Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2551 6:54:35 น.
Counter : 2252 Pageviews.

6 comment
วิธีแก้การลืมของ ช่วยให้ประหยัดเวลา (สำหรับทุกคนค่ะ)
เคยมั้ยคะ จะเอาการบ้านไปส่งอาจารย์ แต่ไปถึง office อาจารย์ ปรากฏว่า การบ้านอยู่ที่บ้าน หรือจะเดินไปหยิบของในรถ แต่ไปถึงรถ กลับลืมหยิบกุญแจรถมาด้วย การลืมเหล่านี้ล้วนส่งผลที่แน่ๆ คือ เสียเวลาค่ะ จะเสียเวลาอย่างเดียว หรือ เสียมากกว่านั้น ก็แล้วแต่สถานการณ์ค่ะ เช่น การลืมที่ส่งผลเล็กน้อย เช่น แพคข้าวกลางวันไว้ แต่ตอนเช้าออกจากบ้าน ลืมหยิบมา office ด้วย ก็เลยต้องซื้อทานแทน อันนี้ก็เสียเงินเพิ่ม หรือ การลืมที่ส่งผลเสียหายมากขึ้น เช่น มีนัดต้องพูด presentation ต่อหน้าอาจารย์และคนอื่นๆ แต่กลับลืมเอา file ที่ใส่ใน USB drive มา ก็เลยพูดไม่ได้ อันนี้ก็เสียชื่อไปด้วยค่ะ จะเสียมากเสียน้อย มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเสีย เหตุการณ์เหล่านี้ป้องกันได้ค่ะ

วิธีการเตือนความจำและแก้การขี้ลืมที่จะนำเสนอนี้ ผู้เขียนก็จดจำมาจากเพื่อนรุ่นพี่ แล้วก็เพิ่มเทคนิคของตัวเองลงไปเพื่อให้ประหยัดเวลามากขี้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ เทคนิคเหล่านี้ ใช้ได้สำหรับทุกคน ทั้งนักเรียนเมืองไทยเมืองนอก เรียนตรี-โท-เอก ทำงาน หรือไม่ทำงานค่ะ

๑. เมื่อเรามีธุระอะไรสักอย่าง ก็ถามตัวเองก่อนว่า จำเป็นต้องไปเองมั้ย งานบางอย่าง ทำทางโทรศัพท์ หรือ online ได้ เช่น การต่ออายุหนังสือห้องสมุด การไปธนาคาร (ถ้าไม่ไปถอนเงินสด ส่วนใหญ่แล้วก็ทำทางโทรศัพท์ หรือ online ได้) การซื้อของ ก็ทำ online shopping ได้ เป็นต้นค่ะ

๒. หลังจากที่ถามตัวเองแล้วว่าต้องไปเอง ต่อมาก็ถามคำถามเหล่านี้นะคะ

a. What: คือเราจะไปทำอะไร แล้วต้องใช้อะไรบ้าง เช่น จะไปจ่ายตลาด ก็อย่าลืมเอา shopping list ไปด้วย จะไปส่งไปรษณีย์ ก็ต้องเอาของที่จะส่งไปด้วย เป็นต้น

b. When: คือต้องไปเมื่อไร มีกำหนดมั้ย เช่น ถ้าจะไปคืนหนัง DVD ก็ดูว่าต้องคืนก่อนวันไหน เวลากี่โมง จะไปร้านไหนก็เช็คเวลาเปิดปิดให้ดีค่ะ ถ้าไม่แน่ใจก็โทรไปถามก่อนได้ค่ะ จะได้ไม่เสียเวลาไปถึงแล้วร้านไม่เปิดค่ะ

c. Where: คือ เราต้องไปที่ไหน เป็นทางผ่านไปที่อื่นหรือไม่ เช่น อาจจะเป็นทางผ่านไปโรงเรียน หรือ ที่ทำงาน ก็จะได้ไม่เสียเวลา หรือ มีธุระอื่นๆ ที่สามารถจัดเส้นทางให้เป็นทางเดียวกันได้ ก็สามารถทำธุระหลายๆอย่างในเวลานิดเดียวค่ะ

d. How: คือ จะไปยังไงค่ะ ถ้าต้องขึ้นรถเมล์ไป ก็ต้องเช็คตารางรถเมล์ จะได้ไม่พลาดรถ แล้วต้องเสียเวลารอรอบถัดไป หรือถ้าจะขับรถไป ก็อย่าลืมหยิบกุญแจรถไปด้วย แล้วก็เช็คว่าน้ำมันมีพอหรือไม่ค่ะ

e. How much: คือ ดูว่าเรามีเงินพอมั้ยค่ะ ยุคนี่ยุคบัตรเครดิตก็อาจจะไม่ค่อยมีปัญหาเงินไม่พอ แต่บางกรณีเช่น จะไปจ่ายตลาดที่ร้าน grocery เอเชีย แล้วเค้ารับแต่เงินสด หรือ เช็ค ก็ต้องเตรียมไปให้พร้อมค่ะ

๓. สำหรับคนที่ต้องเดินทางไปค้างคืนที่ต่างๆบ่อยๆ เช่น ไปประชุม หรือไปเที่ยวพักผ่อน เวลาจัดกระเป๋าเดินทาง ก็ต้องระวังการลืมจัดของที่จำเป็นค่ะ บางคนก็ไม่มีเวลาจัดของจนถึงคืนสุดท้ายก่อนเดินทาง วิธีป้องกันการลืมก็คือ ให้พิมพ์ list ของที่เราจำเป็นต้องเอาไปค่ะ พิมพ์เก็บไว้ แล้วพอจะไปแต่ละ trip ก็เอา list เราออกมาเช็ค เพราะของจำเป็นที่เราเอาไป ส่วนใหญ่ก็คล้ายๆเดิมค่ะ เช่น เครื่องอาบน้ำแต่งตัว ก็ให้ list ออกมาค่ะ เพราะ บางทีเราอาจจะลืมแปรงสีฟัน ตลับใส่ contact lenses หรือหมวกอาบน้ำได้ เป็นต้น (ถ้าไปพักโรงแรม บางทีก็ขอที่โรงแรมได้นะคะ ถ้าเค้าไม่มีให้ในห้อง)

a. แนะนำเพิ่มเติมค่ะ สำหรับคนที่นั่งเครื่องบิน ว่าของบางอย่างให้เอาใส่กระเป๋าติดตัวหรือกระเป๋า carry-on ค่ะ เช่น แว่นสายตา (สำหรับคนที่ใส่ contact lenses) ที่ชาจแบตเตอรี่มือถือ หรือ ยาประจำตัวค่ะ ถึงแม้บางทีเราบินระยะสั้นๆ แต่เครื่องบินอาจจะ delayed ได้นะคะ โดยเฉพาะคนที่อยู่อเมริกา เครื่องบินที่นี่ delayed บ่อยเหลือเกิน โดยเฉพาะช่วงที่อากาศไม่ดีค่ะ

ง่ายๆแค่นี้ค่ะ ก็ช่วยให้เราป้องกันการลืมของ ซึ่งทำให้ประหยัดเวลา และป้องกันความเสียหายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ ลองนำไปใช้กันดูนะคะ ใครมีข้อแนะนำหรือความเห็นเพิ่มเติม ก็นำเสนอมาได้นะคะ



Create Date : 12 มกราคม 2551
Last Update : 12 มกราคม 2551 8:06:03 น.
Counter : 1383 Pageviews.

10 comment
วิธีการประเมินตัวเองเมื่อสิ้นปี และวิธีการตั้ง New Year’s resolutions
สวัสดีปีใหม่ค่ะ ขอให้ทุกๆท่านมีความสุขมากๆในปีใหม่ ๒๕๕๑ นี้นะคะ พอขึ้นปีใหม่ครั้งหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนว่าปีที่ผ่านไป เราทำอะไรไปบ้าง เราพอใจกับผลที่เราทำไปหรือไม่ เป็นการประเมินตัวเองประจำปีค่ะ รวมทั้งเป็นเวลาการปรับปรุงตัวเอง ในส่วนที่เรายังไม่พอใจค่ะ ผู้เขียนขอเสนอหลักการประเมินตัวเองในปีที่ผ่านมา และการตั้ง New Year’s resolutions สำหรับปีใหม่ปีนี้ ดังต่อไปนี้ค่ะ

๑. หาสมุดจดสักเล่ม หรือจะพิมพ์ใส่ computer ก็ได้ เขียนสรุปว่าในปีนี้เราทำอะไรไปบ้างที่เกี่ยวกับงานและการเรียน ไล่เป็นเดือนๆเลยค่ะเท่าที่จำได้ เช่น เดือนม.ค. ปีที่แล้วเราเร่งทำแลบเพื่อให้ได้ผลไป conference เดือนก.พ. ซ้อมพูดและไปพูดที่ conference และเขียน paper เป็นต้นค่ะ

๒. พอเขียนเสร็จแล้วก็เอามาดูค่ะ แล้วก็เก็บไว้ดีๆ บางคนชอบคิดว่าผ่านไปอีกปีแล้ว เรายังไม่ได้ทำอะไรเท่าไรเลย ไม่จริงค่ะ ลองดูที่เราเขียนไปสิคะ ทำอะไรๆไปตั้งเยอะ อย่าไปคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไร เพราะทำให้ท้อเปล่าๆ แล้วก็ไม่จริงอีกต่างหาก

๓. สิ่งที่เราเขียนไปในข้อ ๑. นั้น เป็นสิ่งที่เราทำจริง แต่จะดีหรือไม่ดี ผลเป็นที่พอใจหรือไม่ ก็ต้องมาประเมินกันค่ะ สำหรับใครที่มีเป้าหมายที่เขียนไว้สำหรับปีที่แล้ว ก็เอามาเปรียบเทียบได้เลยค่ะ ว่าเป้าหมายประจำปีเราทำได้สำเร็จหรือไม่ ส่วนคนที่เขียนเป้าหมายหรือวางแผนการทำงานของแต่ละเดือน ก็เอามาเปรียบเทียบกับที่เราเขียนไปในข้อ ๑. ค่ะ หัวข้อการตั้งเป้าหมายและวางแผนงานประจำปี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “จัดการเวลาอย่างไรไม่ให้เครียด สำหรับนักเรียนปริญญาโทและเอก (ตอนที่ ๑)” นะคะ แต่ถ้าเราไม่มีแผนที่วางไว้ปีที่แล้ว ก็ไม่เป็นไรค่ะ ก็ดูภาพรวมเอา ว่าเราพอใจกับผลงานหรือไม่ มีสิ่งไหนที่อยากปรับปรุงบ้าง

๔. เมื่อเราเปรียบเทียบแล้ว ถ้ามีสิ่งไหนที่เราทำไปแล้วพอใจ สำเร็จตามที่ต้องการ ก็ได้เวลาให้รางวัลกับตัวเองค่ะ การให้รางวัลกับตัวเอง เป็นสิ่งที่ดีนะคะ เพราะเราเองจะได้มีกำลังใจทำงานให้ได้ตามเป้าที่เราตั้ง โดยทำตามแผนที่เราวางค่ะ ถ้าไม่มีการให้รางวัลตัวเองเลย การจะทำตามแผนให้สำเร็จหรือไม่ มันก็ไม่ต่างกันเท่าไร แรงจูงใจก็จะไม่มีค่ะ ส่วนรางวัลที่พูดถึงนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรใหญ่โต แค่เป็นการได้ทำสิ่งที่เราอยากทำ หรือซื้อของในสิ่งที่เราอยากได้บ้างเล็กๆน้อยๆ สิ่งไหนก็ตามที่ไม่ใช่อบายมุข ๖ ก็ดีทั้งนั้นค่ะ

๕. ส่วนสิ่งที่เราต้องการปรับปรุง เราก็เอามาตั้งเป็น New Year’s resolutions ค่ะ ที่ฝรั่งเค้านิยมตั้งกันในช่วงปีใหม่ คือสิ่งใดที่เป็นลักษณะนิสัยที่ไม่ดี ที่เราต้องการแก้ไข ก็เอามาเขียนไว้ แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขให้ได้ในปีนี้ค่ะ สิ่งที่ต้องการปรับปรุงก็เป็นได้ทั้งสิ่งที่เราทำไม่สำเร็จในปีที่แล้ว นิสัยที่ไม่ดีต่างๆ หรือเป้าหมายอื่นๆเพิ่มเติมค่ะ เป้าหมายของผู้เขียนที่เคยตั้งไว้ ก็เช่น จะออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง (ช่วงนั้นร่างกายไม่ฟิตเลยค่ะ) จะนอนให้ได้ ๘ ชั่วโมงทุกวัน หรือจะโทรกลับบ้านบ่อยขึ้นค่ะ

๖. สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าปีนี้จะตั้ง resolutions อะไรบ้าง ผู้เขียนไปอ่านเจอบทความในนิตยสาร Spirit Magazine //www.spiritmag.com/2008_01/clickthis/01resolutions.php ค่ะ อ่านแล้วน่าสนใจ เค้าแนะนำขั้นตอนการตั้งเป้าหมายว่า ให้ถามคำถามตัวเอง ๕ ข้อนี้ค่ะว่า

a. ถ้าพรุ่งนี้เรามีเงิน ๑ ล้านเหรียญ (หรือบาท) เราจะเอาไปทำอะไร
b. ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งของเราได้ เราจะเปลี่ยนอะไร
c. เราแอบหวังไว้ว่าเราอยากจะเป็นแบบใคร เพราะอะไร
d. ทักษะด้านไหนที่เราเคยอยากจะหัดหรือเรียนตอนเป็นเด็กๆ
e. เรามองอนาคตในหน้าที่การงานของเราในอีก ๕ ปี นับจากนี้ ว่าเป็นอย่างไร

๗. หลังจากตั้งเป้าหมายแล้ว ก็กำหนดเวลาลงไป ว่า เป้าหมายนี้เราจะให้เวลากี่เดือนกี่สัปดาห์ ที่จะทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ

๘. จากนั้นก็วางแผนการ ขั้นตอนต่างๆ ว่า เราจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ คือ เราต้องใช้เวลาเพิ่ม หรือใช้เงินเพิ่ม หรือพลังในตัวเราทุ่มทำลงไป เป็นต้นค่ะ

ขอให้ทุกท่านเริ่มต้นปีใหม่นี้ด้วยดีนะคะ ตั้งเป้าหมายปีนี้ไว้ ก็ขอให้ทำได้สำเร็จทุกประการเลยค่ะ ใครตั้งใจจะเรียนให้จบภายในปีนี้ ก็ขอให้สำเร็จๆค่ะ สู้ๆนะคะ



Create Date : 07 มกราคม 2551
Last Update : 8 มกราคม 2551 12:38:54 น.
Counter : 1645 Pageviews.

6 comment
1  2  3  4  

DrJoyKwanrawee
Location :
Davis, California  United States

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]