Group Blog
 
All blogs
 
ตำแหน่งทางวิชาการ

เวลาดูทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์ มักจะเห็นคำนำหน้าชื่อนักวิชาการ บางคนเป็นศาสตราจารย์ บางคนเป็นนายแพทย์ คำนำหน้าชื่อเหล่านี้มีความหมายต่างกันอย่างไร

กลุ่มแรก นายแพทย์ (นพ), แพทย์หญิง (พญ), ทันตแพทย์ (ทพ), ทันตแพทย์หญิง (ทพญ), นายสัตวแพทย์ (น.สพ.), สัตวแพทย์หญิง (สพ.ญ.), เภสัชกร (ภก), เภสัชกรหญิง (ภญ), นางพยาบาล (พย), พยาบาลชาย (พยช), นักเทคนิคการแพทย์ (ทนพ), นักเทคนิคการแพทย์หญิง (ทนพญ)

เป็นคำนำหน้าชื่อบุคคลที่เรียนจบปริญญาตรีตามสาขานั้นๆ เช่น คนที่เรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิตที่เป็นผู้ชาย ก็จะใช้คำนำหน้าว่า นายแพทย์ หรือ นพ. แล้วตามด้วยชื่อ คำนำหน้าชื่อเหล่านี้บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน แต่ตัวย่อคำนำหน้าชื่อ นายสัตวแพทย์ นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ระหว่าง สัตวแพทยสภาและราชบัณฑิตยสถาน เนื่องจาก ราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดให้ใช้ตัวย่อ นสพ. แทนคำว่า นายสัตวแพทย์ ซึ่งสัตวแพทยสภาไม่เห็นด้วยเนื่องจาำกไปพ้องกับตัวย่อของคำว่า หนังสือพิมพ์ สัตวแพทยสภาจึงได้ทำเรื่องไปยังราชบัณฑิตยสภา ขอให้กลับมาใช้ตัวย่อ น.สพ. เหมือนเดิม แต่ยังไม่ทราบว่าเรื่องคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนที่เรียนต่อจนจบระดับปริญญาเอก (ดุษฎีบัณฑิต) ไม่นับรวมผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จะเรียกคนเหล่านี้ว่า ดอกเตอร์ ใช้คำนำหน้าว่า ดร. แล้วตามด้วยชื่อ คำว่า ดอกเตอร์ ที่ใช้กันในภาษาไทยนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคำว่า ดอกเตอร์ ที่แปลว่า แพทย์ หรือ หมอ ในภาษาอังกฤษ

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มคนที่ทำงานเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา (ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนจบระดับปริญญาเอกหรือไม่) เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่ง มีผลงานวิจัยที่ดี มีการเขียนหนังสือหรือตำราเพื่อใช้สอนนักศึกษา ตามที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนด ก็จะสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยเริ่มจากขั้นต่ำสุดคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือ ผศ. หลังจากนั้นอีกระยะหนึ่ง (ประมาณไม่ต่ำกว่าสามปี) หากมีผลงานวิจัยที่ดีเยี่ยม มีตำรามีผลงานสอน ก็สามารถขอเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการเป็น รองศาสตราจารย์ หรือ รศ. และหลังจากได้ตำแหน่ง รศ. แล้วระยะหนึ่ง (มากกว่าสามถึงห้าปี ตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด) จึงจะมีสิทธิ์ขอตำแหน่ง ศาสตราจารย์ หรือ ศ. โดยตำแหน่ง ศาสตราจารย์ จะเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์นั้น แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาผลงานและแต่งตั้งอาจารย์ในสังกัดของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งศาสตราจารย์อื่นๆ อีก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยมหาวิทยาลัยนั้นๆ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีชื่อตำแหน่งศาสตราจารย์แตกต่างกันไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นมาเอง เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์คลินิก ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราภิชาน ฯลฯ อ่านรายละเอียดได้ในวิกิพีเดียภาษาไทย

ตัวอย่างการเรียกตำแหน่งทางวิชาการ เช่น นายสมชาย เรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต ก็จะเรียกว่า นายแพทย์สมชาย ถ้านายสมชายเรียนจบปริญญาเอกด้วย ก็จะเรียกว่า นายแพทย์ ดอกเตอร์ สมชาย

กรณีต่อมา ถ้านายสมบัติเรียนจบด้านสังคมศาสตร์ และเรียนจบปริญญาเอก และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ได้ ก็จะเรียกว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สมบัติ ถ้านายสมบัติเรียนจบเพียงปริญญาโทและเป็นอาจารย์มีตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ก็จะเรียกว่า รองศาสตราจารย์ สมบัติ

หากนายสมศักดิ์ เรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต และ สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และ ปริญญาเอก และ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจนสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก็จะเรียกนายสมบัติว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ นายสัตวแพทย์ ดอกเตอร์ สมศักดิ์

ตำแหน่งที่ดูเหมือนว่าจะมีคุณวุฒิสูงสุดทางด้านการศึกษาและวิชาการคือตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ (ศ.ดร.)



Create Date : 27 มีนาคม 2550
Last Update : 30 มีนาคม 2550 16:47:16 น. 0 comments
Counter : 37025 Pageviews.

dolt
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add dolt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.