Group Blog
 
All blogs
 
ความก้าวหน้าของงานวิจัยที่พยายามที่จะรักษาโรคเอดส์ให้หายขาด

งานวิจัยด้านไวรัสเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นงานที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเนื่องจากเป็นเวลาเกือบสามสิบปีแล้วที่มนุษย์รู้จักโรคติดเชื้อเอชไอวีแต่ก็ยังหาวิธีที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดไม่ได้ ถึงแม้จะค้นพบยาต้านไวรัสที่สามารถยับยั้งเอชไอวีอย่างได้ผล แต่ไวรัสก็สามารถหลบซ่อนและพัฒนาสายพันธุ์ที่ดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว ยาต้านไวรัสจึงเป็นเพียงสิ่งที่ชะลอให้ไวรัสทำลายระบบภูมิคุ้มกันได้ช้าลงและยืดระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการเอดส์ระยะสุดท้ายออกไปเท่านั้น ส่วนวัคซีนสำหรับป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ถึงแม้จะยังพอมีความหวัง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ให้ความเห็นว่าจะยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ได้ผลภายในระยะเวลาสิบปีนี้

ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดเป็นไปได้ยากคือ การที่ไวรัสมีความสามารถที่จะเข้าไปหลบซ่อนในเซลเม็ดเลือดขาวของผู้ติดเชื้อ โดยเม็ดเลือดขาวบางชนิดไม่ได้อยู่ในกระแสเลือด แต่จะหลบอยู่ตามเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง และ อัณฑะ ซึ่งโมเลกุลของยาต้านไวรัสไม่สามารถผ่านเข้าไปออกฤทธิ์ในอวัยวะเหล่านี้อย่างได้ผล ลักษณะเช่นนี้จึงเปรียบเสมือนเกราะสองชั้นที่ป้องกันเอชไอวีจากยาต้านไวรัสและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ เม็ดเลือดขาวบางชนิดที่เอชไอวีเข้าไปหลบซ่อน สามารถเข้าสู่ภาวะจำศีลและมีชีวิตแอบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ได้นานนับเดือน เมื่อเม็ดเลือดขาวตื่นขึ้นมา เอชไอวีก็ถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นมาด้วยและทำการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอีกมากมาย จากนั้นเอชไอวีที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็ออกจากเม็ดเลือดขาวแล้วเข้าไปสู่เม็ดเลือดขาวเซลอื่นๆ เซลเม็ดเลือดขาวที่ปล่อยเอชไอวีออกมาโดยมากมักจะตายหลังจากนั้นไม่นาน เซลเม็ดเลือดขาวใหม่ที่ติดเชื้อบางเซลก็กลับเข้าไปแอบตามอวัยวะต่างๆ และเข้าสู่ภาวะจำศีล เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป

จากความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของเอชไอวีดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานว่า หากมีวิธีที่สามารถกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อที่อยู่ในภาวะจำศีลและแอบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ตื่นขึ้นมาและปล่อยเอชไอวีที่อยู่ในเซลออกมาได้ แล้วกำจัดเอชไอวีที่ถูกปล่อยออกมานี้ด้วยยาต้านไวรัส ก็น่าจะทำให้ปริมาณไวรัสที่แอบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ค่อยๆ ลดลง ในขณะเดียวกันร่างกายก็มีการสร้างเม็ดเลือดขาวใหม่ขึ้นมาทดแทน ถึงแม้จะมีไวรัสบางส่วนสามารถหลบยาต้านไวรัสเข้าไปในเม็ดเลือดขาวเซลอื่นได้แต่ก็น่าจะมีจำนวนน้อย หากคงอัตราการขับเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อที่อยู่ในภาวะจำศีลออกมาจากแหล่งหลบซ่อนและกำจัดเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็น่าจะทำให้เอชไอวีค่อยๆ ถูกกำจัดออกจากร่างกายไปทีละน้อยจนกระทั่งหมดไปจากร่ายกาย

เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น จะขอเปรียบเทียบการติดเชื้อเอชไอวีว่าเป็นเหมือนกับการกู้เงิน ปริมาณเอชไอวีที่อยู่ในแหล่งหลบซ่อนเปรียบเหมือนกับจำนวนเงินต้นที่ไปกู้มาและปริมาณเอชไอวีในกระแสเลือดเปรียบเหมือนกับจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ ยาต้านไวรัสที่กินเข้าไปนั้นกำจัดเอชไอวีได้เพียงส่วนที่อยู่ในกระแสเลือด ซึ่งเปรียบเหมือนกับการที่เรานำเงินไปจ่ายดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอจนตรวจไม่พบเอชไอวีในกระแสเลือดก็ตาม แต่ก็ยังมีเอชไอวีในแหล่งหลบซ่อนที่พร้อมที่จะเพิ่มจำนวนออกมาทันทีเมื่อหยุดกินยา ซึ่งก็เหมือนกับการจ่ายดอกเบี้ย ถึงแม้จะจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาทุกงวดจนหมด แต่เงินต้นก็ยังอยู่ เงินที่จ่ายไปนี้ไม่ได้นำไปใช้ชำระหนี้เงินต้น เมื่อหยุดจ่ายดอกเบี้ย หนี้สินก็เพิ่มขึ้นทันที นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามที่จะหาหนทางนำเงินไปทยอยชำระหนี้เงินต้นและเมื่อมีดอกเบี้ยเกิดขึ้นก็รีบชำระเพื่อป้องกันไม่ให้ดอกเบี้ยพอกพูนจนหนี้สินกลับมามากเท่าเดิม หากทยอยผ่อนชำระหนี้เงินต้นไปเรื่อยๆ จนหมดก็จะสามารถปลดหนี้ได้ ซึ่งก็เปรียบเหมือนกับการกำจัดเอชไอวีออกจากร่างกายผู้ติดเชื้อได้จนหมด

นักวิทยาศาสตร์พบว่า กรดวาลโปรอิก (valproic acid) ซึ่งเป็นยาลดอาการชัก มีคุณสมบัติสามารถกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในภาวะจำศีลตื่นขึ้นมาและปล่อยเอชไอวีออกมาได้ จึงทำการทดลองในผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนสี่คนในสหรัฐอเมริกา โดยทำการเจาะเลือดผู้ติดเชื้อแต่ละคนก่อนเริ่มการทดลอง เพื่อหาว่าในเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในภาวะจำศีลจำนวนหนึ่งพันล้านเซล มีเซลที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่กี่เซล จากนั้นให้ผู้ติดเชื้อกินยาต้านไวรัสสูตรที่ประกอบไปด้วยยาต้านไวรัสสามถึงสี่ตัวซึ่งเรียกสูตรยานี้ว่า ฮาร์ท (HAART) เพื่อกำจัดไวรัสในกระแสเลือดให้ได้มากที่สุด โดยกินร่วมกับยาต้านไวรัสอีกตัวหนึ่งคือ เอ็นฟิวเวอร์ไทด์ (enfuvirtide) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสในกลุ่ม fusion inhibitor มีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้เอชไอวีเจาะผ่านผนังเซลเข้าไปอาศัยในเม็ดเลือดขาวได้ ตามธรรมชาติเอชไอวีมีพฤติกรรมเหมือนกาฝาก จำเป็นต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในเซลเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ หากเข้าเซลไม่ได้ก็จะตายในระยะเวลาไม่นาน หลังจากกินยาต้านไวรัสได้หนึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนครึ่งจนมั่นใจว่าในกระแสเลือดของผู้ติดเชื้อมีปริมาณเอชไอวีต่ำมาก ก็เริ่มให้ผู้ติดเชื้อกินกรดวาลโปรอิกวันละสองครั้งร่วมกับยาต้านไวรัสเป็นเวลานานสามเดือน หลังจากนั้นทำการเจาะเลือดอีกครั้งเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในภาวะจำศีลที่ติดเชื้อ

ผลการทดลองพบว่าหลังจากที่ให้ผู้ติดเชื้อกินกรดวาลโปรอิกร่วมกับยาต้านไวรัสไปแล้วสามเดือน เม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อที่อยู่ในภาวะจำศีลในผู้ติดเชื้อทั้งสี่คน มีจำนวนลดลงร้อยละ 29, 84, 68 และ 72 ตามลำดับเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง แต่เนื่องจากการทดลองนี้ใช้เวลาสั้นเพียงสามเดือน อีกทั้งขบวนการลดการติดเชื้อในเม็ดเลือดขาวนี้กินเวลานานและยังไม่ทราบว่าต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะกำจัดเชื้อได้หมด นักวิทยาศาสตร์จึงใช้การคำนวนทางคณิตศาสตร์มาช่วยในการคาดคะเน พบว่าหากกินยาอย่างนี้ไปอย่างสม่ำเสมอโดยเคร่งครัดและไม่มีปัญหาอื่นๆ เช่น การเกิดเชื้อดื้อยา การเกิดผลข้างเคียงของยา ฯลฯ ในทางทฤษฎีแล้วจะต้องใช้เวลาประมาณ 51 ปี จึงจะสามารถขจัดเอชไอวีออกจากร่างกายผู้ติดเชื้อได้หมด

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการเผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ ก็มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่นทำการทดลองแบบเดียวกันนี้ซ้ำในผู้ติดเชื้อเก้าคนในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ติดเชื้อกินกรดวาลโปรอิกร่วมกับยาต้านไวรัสนานหนึ่งถึงสองปี ผลการทดลองพบว่า ไม่ว่าจะกินกรดวาลโปรอิกร่วมกับยาต้านไวรัสหรือไม่ก็ไม่มีผลต่อจำนวนเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อที่อยู่ตามแหล่งหลบซ่อน และยังพบว่าการกินกรดวาลโปรอิกร่วมกับยาต้านไวรัสบางตัว เช่น เอแซดที จะทำให้เกิดพิษจากผลข้างเคียงของยาหลายประการ เช่น เกิดโลหิตจาง

ในประเทศอังกฤษ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีคนหนึ่งกินกรดวาลโปรอิกเพื่อรักษาอาการทางประสาทและอาการชักร่วมกับยาต้านไวรัสมานานประมาณสองปี เมื่อทราบข่าวผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้น ก็รีบเดินทางมาพบแพทย์และขอให้แพทย์ตรวจว่าตนเองหายขาดจากโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ แพทย์จึงทำการตรวจวัดปริมาณเอชไอวีในร่างกายและจำนวนเม็ดเลือดขาว พบว่าได้ผลไม่แตกต่างจากผู้ติดเชื้อทั่วไปที่กินยาต้านไวรัสสูตรธรรมดาที่ไม่มีกรดวาลโปรอิก ต่อมาแพทย์ให้ผู้ติดเชื้อหยุดกินยาต้านไวรัส พบว่าเอชไอวีเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากภายในสามสัปดาห์ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ติดเชื้อคนนี้ยังไม่หายขาดจากโรค ส่วนกรดวาลโปรอิกที่ผู้ติดเชื้อคนนี้กินมาเป็นระยะเวลาสองปีก็ไม่มีผลต่อจำนวนเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อที่อยู่ในภาวะจำศีล ดังจะเห็นได้จากการตรวจพบเอชไอวีปริมาณมากในกระแสเลือดภายในสามสัปดาห์หลังจากหยุดกินยาต้านไวรัส หากกรดวาลโปรอิกสามารถลดจำนวนเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในภาวะจำศีลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ควรจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่านี้กว่าเอชไอวีจะเพิ่มจำนวนจนมีปริมาณมากพอที่สามารถตรวจเจอได้ในกระแสเลือด

ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จากหลายแห่งจะรายงานผลการทดลองที่ขัดแย้งกัน แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งปกติของงานวิจัย เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้าร่วมการทดลองนั้นมีจำนวนน้อย รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมที่ซับซ้อนของเอชไอวีอย่างถ่องแท้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าเอชไอวีมีแหล่งหลบซ่อนในเซลชนิดอื่นซึ่งไม่ไวต่อการกระตุ้นด้วยกรดวาลโปรอิกหรือไม่ ขบวนการกำจัดเอชไอวีออกจากร่างกายโดยใช้กรดวาลโปรอิกจะต้องใช้เวลานานเท่าใด จะมีสารอื่นที่จะช่วยเร่งขบวนการกำจัดเอชไอวีนี้หรือไม่ และยังมีปัจจัยอื่นที่ซับซ้อนอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผลการทดลองในระยะแรกๆ นี้ออกมาไม่สอดคล้องกัน ลักษณะเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่าหากกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเพื่อจำกัดให้ระดับเอชไอวีในร่างกายอยู่ในระดับต่ำในระยะเวลาหนึ่ง ก็จะทำให้เอชไอวีค่อยๆ ถูกกำจัดออกไปจากร่างกายจนหมด โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า เมื่อไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเม็ดเลือดขาวและออกมาในกระแสเลือดเพื่อจะเข้าไปอาศัยและแบ่งตัวในเม็ดเลือดขาวเซลใหม่ ในระหว่างนี้ก็จะโดนกำจัดด้วยยาต้านไวรัสโดยที่ยังไม่ทันจะเข้าไปในเม็ดเลือดขาวเซลใหม่ เมื่อเอชไอวีมีโอกาสเพิ่มจำนวนได้น้อยลง ในที่สุดก็จะหมดไปจากร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นยังไม่ทราบว่าเอชไอวีสามารถดื้อต่อยาต้านไวรัสได้อย่างรวดเร็ว เซลที่ติดเชื้อมีการจำศีลและหลบซ่อนตามอวัยวะต่างๆ ที่ยาต้านไวรัสไม่สามารถเข้าไปถึง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่การใช้ยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดเอชไอวีออกจากร่างกายได้หมดอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้

หากมองโลกในแง่ร้ายว่าในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะทำอย่างไร นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถหาวิธีรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษยชาติจะไม่สามารถเอาชนะเอชไอวีได้ หากใช้แนวความคิดเดียวกันกับที่ได้บรรยายมาแล้วข้างต้นมาปรับใช้ โดยหาวิธีลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันลงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างต่อเนื่องในทุกประเทศทั่วโลก ภายในระยะเวลาไม่นานก็น่าจะสามารถกำจัดเอชไอวีให้หมดไปจากมนุษยชาติได้ แต่การกระทำดังกล่าวดูเหมือนว่าจะมีความยากและซับซ้อนมากกว่าการค้นหายาหรือวัคซีนที่จะรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดเสียอีก



Create Date : 06 พฤษภาคม 2551
Last Update : 6 พฤษภาคม 2551 16:23:19 น. 0 comments
Counter : 1063 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

dolt
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add dolt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.