แม่ทัพ (ใหม่) ซี.พี.วิพากษ์ ปฏิรูปการศึกษา-EEC-ไทยแลนด์ 4.0


สัมภาษณ์พิเศษ

 

"ศุภชัย เจียรวนนท์" ปัจจุบันไม่ได้มีบทบาทเฉพาะการเป็นแม่ทัพคนใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ผู้ซึ่งรับหน้าที่เข้ามาขับเคลื่อนและวางแผนอนาคตธุรกิจ ซี.พี.ยุคใหม่เท่านั้น 

ในอีกบทบาทที่เขาทุ่มเทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับภาครัฐในโครงการประชารัฐอีกด้วย 

- อนาคตเครือ ซี.พี. หลังมารับตำแหน่งใหม่

กำลังอยู่ในช่วงการวางแผน 5 ปี และ 10 ปีของเครือ ซึ่งมี 13 กลุ่มธุรกิจ แต่มี 8 สายธุรกิจหลัก 1.เกษตรและอาหาร 2.ดิสทริบิวชั่น 3.โทรคมนาคมและมีเดีย 4.ฟาร์มาซูติคอล ที่เป็นธุรกิจหลักที่จีน 5.อสังหาริมทรัพย์ 6.ยานยนต์และอุตสาหกรรมหนัก 7.ไฟแนนเชียลเซอร์วิส และอินเวสต์เมนต์ ค่อนข้างหนักไปในประเทศจีน และ 8.อีบิสซิเนส อย่างแอสเซนด์ เป็นต้น




วิสัยทัศน์ของเครือมองความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกใน 3 เรื่อง คือ 1.โลจิสติกส์ 2.คลาวด์เทคโนโลยี และโรโบติกส์ และ 3.ไบโอฟู้ด และไบโอเมดิคอล บางอันก็อาจกลายเป็นธุรกิจใหม่ได้ บางส่วนจะฝังเข้าไปในบางสายธุรกิจเดิม 

- จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง

การขับเคลื่อนได้ต้องลงทุน โดยเฉพาะเรื่อง 1.การดิจิไทเซชั่นเพื่อยกขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งกลุ่ม เพราะเป็นยุคที่ต้องใช้ข้อมูลในการแข่งขัน 2.การวิจัยพัฒนา (R&D) และอินโนเวชั่น จริง ๆ เรามีศูนย์วิจัยอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เป็นศูนย์วิจัยระดับโลก 

เรื่องที่ 3.คือ การสร้างคน สร้างผู้นำรุ่นใหม่ ที่ก้าวไป 4.0 ถ้าจะบอกว่าเราเป็นผู้นำในประเทศไทย แต่เป็นผู้ตามในระดับโลก ก็จะไม่ยั่งยืน เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องปรับตัว ต้องก้าวกระโดด สุดท้าย คือเรื่องความยั่งยืน และธรรมาภิบาล 

"ความตั้งใจผม คือไม่เกิน 6 เดือน นับแต่เข้าสู่ตำแหน่ง ควรมีแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งจะได้เห็นภายใน 2 เดือนนี้ ในแผนจะบอกว่า ปีหน้าทำอะไร 3 ปี 5 ปี 10 ปีข้างหน้าทำอะไร"

- เป้าคือเป็นผู้นำระดับโลกใน 8 ธุรกิจหลัก

ทุกอย่างที่ทำต้องเป็นผู้นำ ซึ่งแต่ละธุรกิจมีสโคปไม่เหมือนกัน เช่น เกษตรกับอาหาร เรามีฐานพอที่จะเป็นผู้นำในระดับโลก แต่อย่างทรู คงพูดได้ว่าเป็นผู้นำในระดับอาเซียน หรือเอเชียด้วย

- มองเศรษฐกิจไทยตอนนี้อย่างไร

โอกาสเติบโตของเรายังมีอีกเยอะ เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เหมือนธุรกิจทั่วไป คือลงทุนในสิ่งที่มีโอกาส ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี แต่เราอาจแอ็กเกรสซีฟกว่าต่างชาติ เพราะเรามีความมั่นใจในประเทศของเรามากกว่า เราเป็นบริษัทไทย เข้าใจเงื่อนไขประเทศไทย ต้องสนับสนุนประเทศ เรามั่นใจ ยังขยายตัวได้ คุณกลัวอะไรทุกวันนี้เครือแข่งกับใคร แข่งกับบริษัทนานาชาติทั้งนั้น

- ลบภาพผูกขาดกินรวบถือเป็นภารกิจใน 3 ปี 5 ปี

คิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายที่เราต้องสร้างความเข้าใจ ขณะเดียวกันเราต้องปรับปรุงตนเองด้วย เพราะอาจสื่อสารไม่ดีพอ ในมุมทรูโอเค แต่ภาพเครือกระจายตัว และมีจุดโจมตีหลายจุด เป็นความท้าทายของความเป็นผู้นำ

สิ่งที่อยากบอกคือเราเป็นทุนที่ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยคำนึงถึงความยั่งยืน มองถึงการดำรงอยู่ได้ในระยะยาว ไม่ใช่ตีหัวเข้าบ้าน เป็นตัวแทนคนไทยที่แข่งในเวทีโลก

- เข้าไปช่วยประชารัฐด้านการศึกษา

กำลังพยายามผลักดันกระทรวงศึกษาฯให้โรงเรียน มีเลิร์นนิ่งเซ็นเตอร์ที่เป็นแอ็กชั่นเบส ให้นักเรียนได้สัมผัสงานจริง สอนเรื่องการวางแผนอนาคต ต้องให้เขามองเห็น สัมผัสได้ ตรงนี้สำคัญ เด็กจะได้รู้สึกว่า เขาเรียนหนังสือไป มีเป้าหมาย และรู้ว่าจะปรับยังไง ระบบการเรียนการสอนที่เราขาดคือ การสร้างคนที่มีความฝัน มีจินตนาการ มีความคิดริเริ่ม วันหนึ่งเมื่อเขาโตขึ้น จะเป็นผู้ที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ มีพื้นที่ให้ใช้จินตนาการ จากจำได้ เข้าใจ สอบได้ เปลี่ยนเป็น "ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ วิเคราะห์และโต้แย้งกันเอง และลงมือทำร่วมกัน" 

ตอนนี้ได้ร่วมกับสกูลพาร์ตเนอร์ เข้าไปทำใน 3,300 โรงเรียน และจะขยายไป 7,400 แห่ง ครบทุกตำบล

- มุมมองต่อการขับเคลื่อนประเทศ 4.0

ที่เห็นสอดคล้องกับรัฐบาล คือเรื่องอีโคโนมิกโซนนิ่ง แต่ไม่ใช่แค่ภาคตะวันออกอย่างเดียว ควรมีภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือเป็นเรื่องสำคัญที่จะกระจายความเจริญ การลงทุนสู่อุตสาหกรรมที่จะทำให้เราเติบโตไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า เพราะวันนี้แม้แต่เวียดนามก็คิดจะทำอีโคโนมิกโซนนิ่ง เพื่อเป็นฮับในระดับภูมิภาค ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำ ต้องมากกว่า EEC ด้านใดบ้างที่เราได้เปรียบ ควรรีบทำ

อันที่ 2 เรื่องการศึกษา และการวิจัยพัฒนา จำเป็นต้องก้าวไปเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี หมายความว่าความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมต้องเกิดขึ้น ทุกวันนี้ลูกหลานของคนที่มีศักยภาพในระดับภูมิภาคมาเรียนในไทยเยอะ ถ้าทำเราสามารถ "พูลรีซอร์ซ" ที่เป็น "โนว์เลด์จสติวเดนต์เวิร์กเกอร์" เข้ามาได้จะดีมาก การดึงประชากรที่มีศักยภาพเข้ามาในประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก 

และสุดท้าย 1 ใน 3 ของประชากรไทยยังเป็นเกษตรกร และคนกลุ่มนี้อยู่ในวัย 50 ปี อีก 10 ปีจะเป็นผู้สูงวัย สิ่งที่ขาดคือ องค์ความรู้ การบริหารจัดการ การตลาด เงินทุน ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และตลาดคอมมิวนิตี้โลกที่ผันผวน

ถ้าเราไม่วางแผนเปลี่ยนผ่านภาคเกษตร เข้าสู่ยุคเกษตรอุตสาหกรรม ประเทศจะลอสต์โปรดักทิวิตี้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ความเหลื่อมล้ำจะไม่หายไป แต่จะหนักขึ้น 

การทำสมาร์ทฟาร์มมิ่งทั้งประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นจุดที่สำคัญของประเทศไทย

ในภาพรวม มาเลเซีย และสิงคโปร์ กำลังทำหลายอย่าง ส่วนเราเหมือนเพิ่งลุกขึ้นมาจากอาการป่วย ยังค่อย ๆ เดิน แต่คนอื่นวิ่ง 4 คูณ 100 เขาไปไกลกว่าเรา แต่เรายังเดินอยู่ 

ถ้าไม่ทำอะไร ก็จะยังอยู่เหมือนเดิม 

///////////////////// 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ





Create Date : 08 พฤษภาคม 2560
Last Update : 8 พฤษภาคม 2560 15:08:16 น.
Counter : 831 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 3761838
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



All Blog