ศุภชัย เจียรวนนท์ ตอกย้ำความเป็นซีพีต้อง "ใหญ่"




ศุภชัย เจียรวนนท์บุตรชายคนสุดท้องของ ธนินท์-คุณหญิงเทวี เจียรวนนท์เพิ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารหรือซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คนใหม่ สืบแทนบิดาของเขา ซึ่งขยับขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานอาวุโส

ธนินท์ ในวัย 77 ปี พูดถึงบทบาทของ ศุภชัย ในนิตยสารNikkei Asian Review ว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540ศุภชัยได้เจรจาแผนปรับโครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมกับธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งจนเกิดความเชื่อมั่นและสามารถผ่านพ้นวิกฤติ พัฒนาเติบโตจนกลายเป็นบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน

เขายังบอกกับ Nikkei Asian Review ด้วยว่า ระหว่าง 10ปีจากนี้ต้องสร้างว่าที่ซีอีโอคนใหม่ขึ้นมารับช่วงต่อโดยผู้บริหารระดับสูงควรมีวาระบริหารงานที่ 10 ปี เพราะ 5ปีนั้นสั้นเกินไป เมื่อพ้นจากซีอีโอแล้ว ศุภชัยซึ่งปัจจุบันอายุ 50ปี จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อไป

ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ “ทีมเศรษฐกิจ”ได้พูดคุยกับ ศุภชัยในหลากหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในบทบาทใหม่ที่ใหญ่ขึ้นรวมทั้ง “ข้อกล่าวหา” ที่สังคมไทย ตั้งข้อสงสัยต่อการทำธุรกิจของซีพี ตลอด 96 ปีที่ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย

“ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินอะไรที่ดีอยู่แล้ว อย่างเช่นธุรกิจอาหาร ภายใต้ซีพีเอฟ ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งอย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แมคโคร ก็ปล่อยให้ทำไป อะไรที่อ่อนแอ ก็อาจต้องเสริมโดยปัจจุบันซีพีมีสายธุรกิจทั้งหมด 8กลุ่ม ได้แก่ อาหาร, ค้าปลีก-ค้าส่ง, โทรคมนาคม-สื่อ, ยา (ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน),รถยนต์, การเงิน-การลงทุน, อสังหาริมทรัพย์ และล่าสุด อี-บิซิเนส”

นอกเหนือจากธุรกิจที่กำลังทำอยู่เรายังต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ในระยะยาว ซึ่งทั้งคุณธนินท์และพี่ชายผม (สุภกิตเจียรวนนท์ ประธานกรรมการซีพี) เข้ามาช่วยด้วย เราพูดกันถึงธุรกิจขนส่งสินค้า (Logistics), เทคโนโลยี Clouds และหุ่นยนต์ (Robotics) รวมทั้งธุรกิจอาหารชีวภาพชีวเคมี (Biofood และ Biochemical)

ธุรกิจพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวเข้าไป ถ้าเราไม่ปรับหรือไม่พยายามเราอาจกลายเป็นองค์กรล้าสมัย แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคตหรือจะเข้าไปเสริมในธุรกิจที่มีอยู่

ในแง่ขององค์กรนอกจากการมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลแล้ว เรายังมีเป้าหมายที่จะยึดมั่นใน 2 หลักการสำคัญ นั่นคือ 1.การมีธรรมาภิบาลซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนซึ่งรวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหาที่ทำให้ซีพีกลายเป็นจำเลยสังคมในหลาย ๆ เรื่องและ 2.การจัดการ ประเมิน วิเคราะห์ ข้อมูล(Information) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้รู้จักลูกค้าให้มากที่สุดตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด

นอกจากนั้น จะเป็นเรื่องของการวิจัยและพัฒนา R&D ซึ่งไม่ใช่แค่สร้างศูนย์R&D หรือมีงบสนับสนุนเพียงพอเท่านั้น แต่สำหรับซีพียังหมายถึงการลงทุนในบริษัทนวัตกรหรือสตาร์ตอัพที่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ที่เราวางเอาไว้ และสุดท้ายคือเรื่อง “คน” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในองค์กร

การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันถ้าบอกว่าเราแค่รักษาสิ่งที่มีอยู่ นั่นคือการถอยหลังเราต้องเติบโตให้ได้ต่อเนื่อง ต้องรุกไปข้างหน้า เพื่อประกันความยั่งยืนของธุรกิจเราไม่สามารถอยู่เฉย ๆ แล้วบอกว่าองค์กรจะอยู่รอดได้

ถ้าถามว่าซีพีจะใหญ่ไปถึงไหนผมอยากให้มองว่าซีพีวันนี้แข่งกับใคร อย่างซีพีเอฟ วันนี้เราแข่งกับระดับโลกถ้าไม่แข่งอยู่ไม่ได้ แล้วคู่แข่งจะกลับมาตีเราในประเทศด้วยถ้าสมมติวันนี้ซีพีเอฟแพ้ เราถูกต่างชาติเทกโอเวอร์ไป เราคงถูกโจมตีน้อยกว่านี้มันอาจเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ

หรืออย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่นเราแข่งกับรายใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ถ้าสมมติญี่ปุ่นมาลงทุนเซเว่นเองเซเว่นอาจไม่โดนด่าเท่านี้ อ่อนไหวน้อยกว่านี้

เซเว่นทุกวันนี้มีพนักงาน 160,000 คน ใน 1 ร้านมีพนักงาน3 กะ 12 คน มีร้านทั้งหมด 9,000สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 4,500 ร้าน ต่างจังหวัด4,500 ร้าน การที่เซเว่นทำให้โชห่วยอยู่ไม่ได้นั้นเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว

พบว่าร้านโชห่วยที่อยู่ใกล้เซเว่นเปลี่ยนเป็นให้เช่าที่ รวยกว่าเดิม เพราะทำเลดีขึ้นมากเมื่อเซเว่นเปิดหลายร้านปรับไปขายของที่เซเว่นไม่ขาย รวยขึ้น

ประเด็นของผมคือเซเว่นไม่ได้กระทบโชห่วยมากขนาดนั้น แต่ที่กระทบคือยี่ปั๊วซาปั๊วเราไม่ได้จัดจำหน่ายผ่านพวกนี้ ศัตรูของเราอยู่ที่ในมืด ทำอย่างไรได้

60% ของร้านเซเว่นเป็นแฟรนไชส์เราสร้างงาน สร้างคน สร้างเถ้าแก่ ให้ความสะดวก ปลอดภัยแก่ชุมชนอยากให้มองในแง่ประโยชน์บ้าง

คนถาม ทำไมตั้งร้านติดกันในข้อเท็จจริง เราเป็นร้านสะดวกซื้อ ถ้าร้านหนึ่งแน่นเกินไป คนรอนานเราต้องเปิดอีกร้าน เป็นมาตรฐานของธุรกิจ และเราจะต้องถามเถ้าแก่ร้านเดิมก่อนว่าช่วยขยายร้านได้ไหม ลูกค้ารอนาน ถ้าเถ้าแก่ปฏิเสธเราจะหาเถ้าแก่รายอื่นให้มาเปิด ถ้าไม่มีคนเปิด จึงจะเปิดเอง

ที่ผ่านมาไม่เคยมีที่เปิดอีกร้านแล้วอีกร้านเจ๊ง เพราะส่วนใหญ่เป็นเจ้าของเดียวกัน

ผมกำลังบอกว่าสิ่งที่เราอาจไม่เห็นก็คือ วันนี้คนไทยแข่งกับทั้งโลกเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) เพราะคำว่าฟรีเทรดหรือการค้าเสรีซีพีคือตัวแทนคนไทยที่แข่งกับระดับโลก ในเกือบทุกมิติธุรกิจ จะบอกว่าซีพีผูกขาดไม่ได้มันไม่จริง เป็นเรื่องที่สมมติขึ้นมา แล้วมันเพี้ยน

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีกลุ่มแอนตี้ซีพี กล่าวหาเราต่าง ๆ นานา เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นที่ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ทุกประเทศที่เราเข้าไปทำธุรกิจเขาเหล่านั้นมองว่าเราเป็นองค์กรระดับชาติที่เป็นตัวอย่างที่ดี

ผมมองว่าเป็นเพราะซีพีเป็นนักพัฒนาเป็นนักอุตสาหกรรม (Industrialist)เราไม่เก่งด้านการสื่อสาร

พอเรากลายเป็นองค์กรที่ถูกบอกว่าเป็นอันดับ1 หรือ 2 ของประเทศ เราจะถูกมองว่าเป็นตัวแทนของระบบ “ทุนนิยม”(Capitalisation) ทันที เหมือนตกเป็นเหยื่อเป็นตัวอย่างที่ถูกหยิบยกได้ง่าย

บางเรื่องไร้สาระ ไม่จริงบางเรื่องมีส่วนที่จริง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

แต่ซีพีต้องยอมรับว่า เมื่อเราใหญ่เมื่อเป็นบริษัทที่เขาเรียกว่าเป็นผู้นำ ก็ต้องยอมรับว่าความคาดหวังในซีพีสูงกว่าองค์กรปกติจริง ๆ แล้ว เราไม่ได้ทำอะไรต่ำกว่ามาตรฐาน สูงกว่าด้วยซ้ำแต่เราถูกคาดหวังมากกว่า

ถ้าซีพีไม่อยู่ในมาตรฐานที่ดี พูดตรง ๆนะครับ มันอยู่ไม่ได้จนทุกวันนี้แน่ ส่งออกก็คงไม่ได้ไปลงทุนที่ไหนก็คงไม่มีใครต้อนรับ คงเจ๊ง มาตรฐานเราสูง แต่ก็เข้าใจว่าความคาดหวังก็ยิ่งสูง เพราะเราถือเบอร์ 1 ในฐานะธุรกิจไทย เราทำธุรกิจครอบคลุมกว้างขวาง

เราไล่ตามความคาดหวังไม่ทัน เรายอมรับและยังสื่อสารแย่ด้วย หลายเรื่องเราละเลย นี่เป็นสิ่งที่ซีพีต้องปรับต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้

ประกอบกับเมื่อการเมืองไม่มั่นคงไม่เสถียร การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันทางอุดมคติ มีการจับกระแสสังคมมองว่าอะไรพูดแล้วมีน้ำหนัก สร้างกระแสสังคมได้ เราก็ตกเป็นเป้า เป็นเหยื่อได้ง่าย

ยกตัวอย่างเรื่องกล้ายาง จริง ๆ ลองไปนับดูซีพีแทบไม่ยุ่งกับโครงการภาครัฐ มีอยู่แค่เรื่องกล้ายาง โครงการตอนนั้น 3 ปี มูลค่า 1,500 ล้านบาทซีพีเอฟตอนนั้น รายได้ก็เกิน 300,000 ล้านบาทแล้ว

มีคนไปถามคุณธนินท์ว่า ทำไปทำไมคุณธนินท์ตอบว่า ต้นยางต้องใช้เวลา 7 ปีในการปลูก ถ้าเกษตรกรเอาไปปลูก แล้วไม่ได้พันธุ์ดี ก็คือสูญเปล่าซีพีต้องช่วยเรื่องนี้ เรามีเทคโนโลยี มีความรู้สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเกษตรที่เหมือนกันหมดทุกภาคการเกษตรก็คือ พันธุ์ต้องดี

เราพยายามชี้แจง แต่ไม่มีใครฟังซีพีคือเป้าที่ยิงมั่วก็โดน ในที่สุดโปรเจกต์นี้ เราขาดทุนเป็นจำนวนมากเพราะเกษตรกรภาคอีสานปลูกยางไม่เป็น พอกล้าตาย ซีพีก็โดนอีกว่า เอากล้าไม่ดีไม่แข็งแรงมาให้ปลูก ซึ่งเราต้องเอากล้าใหม่ไปให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่างซีพีเอฟเราถูกโจมตีว่าจ้างเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ให้ซื้ออาหารสัตว์ของเราแล้วเอาสัตว์มาขายให้กับซีพี เกษตรกรที่ทำสัญญา ContactFarming กับเราเป็นสัญญาทาส จนเท่าเดิมเพิ่มเติมคือหนี้มีแต่ซีพีที่รวยขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย

ตอนนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เลี้ยงหมู ทำสัญญา ContactFarming กับซีพีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 5,000 รายเราสำรวจพบว่ามากกว่า 90% ของเกษตรกรพึงพอใจที่จะอยู่กับซีพีอยากให้ลองไปสำรวจดู ถ้าไม่เชื่อข้อมูลของเรา

เกษตรกรส่วนใหญ่ ที่ไม่พอใจที่สุดคือที่ไม่ได้เป็น Contact Farmerกับเรา เขาเสียโอกาสเพราะไม่ได้รับการประกันราคาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ พวกเขาไม่ถูกเลือกและมีเป็นจำนวนมาก

คุณธนินท์สอนไว้ว่าซีพีเป็นคู่ชีวิตกับเกษตรกร ผมก็ยืนยันได้อีกแรงว่า ถ้าไม่สำเร็จเราไม่โตมาถึงขนาดนี้แน่ เรามีการปรับปรุงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เคยมาดู Contact Farming ของเรา แล้วบอกว่าเป็นมาตรฐานที่ดี

ความจริงซีพีเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรไม่กี่ตัวนอกจากหมู ไก่ ข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ อย่างข้าวเราแค่เป็นผู้ซื้อแล้วเอามาบรรจุถุงขายต่อในนามข้าวตราฉัตร

เรื่องข้าวโพด มีคนบอกเราถางป่าตัดต้นไม้บนภูเขา เอาพื้นที่ไปปลูกข้าวโพด ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง เรารับซื้อข้าวโพดแต่ไม่เคยสนับสนุนให้ไปปลูกบนภูเขา เพราะน้ำน้อย ผลผลิตต่ำ ปลูกบนที่ราบได้ 1,500-2,000 กิโลกรัมต่อไร่แต่ปลูกบนเขาอย่างมากก็ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ค่าขนส่งก็แพง

ข้าวโพดเป็นพืชพิเศษ ปลูกง่ายฝนเดียวก็ขึ้น ถ้าไม่อยากให้เอาไปปลูกบนเขา ก็ต้องอย่าตัดถนนเข้าไป ตัดถนนเข้าไปชาวบ้านก็เข้าไปปลูกข้าวโพด กู้เงินได้ด้วย ทั้งที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

ที่สุดแล้ว มันคือปัญหาความยากจนเขาไม่มีที่ดินทำกินที่ถูกต้อง สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องจริงก็คือถ้าคนขาดความมั่นคงในชีวิต เขาจะทำอะไรก็ได้ แม้แต่ทำผิดกฎหมาย

ปัญหาที่ดินทำกิน การรุกป่าเป็นเรื่องที่หยั่งรากลึกมาก เป็นปัญหาระดับโลกและอ่อนไหวมาก

เราเคยไปตามตรวจสอบทำไมปล่อยให้ถางป่า ถางเขาได้ง่าย ๆ ก็พบว่ากฎหมายไม่มีความเข้มแข็งไม่มีการจับกุม เพราะเกษตรกรทำกันมาตั้งนานแล้ว เราเคยถึงขั้นให้รางวัลนำจับแต่จับเข้าคุก 3 เดือน เกษตรกรออกมาก็กลับไปปลูกใหม่ เพราะมันเป็นบ้านของเขา

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องร่วมแก้ปัญหาด้วยแต่ซีพีไม่ได้รุกป่า ถางเขา เราเกี่ยวเพราะเป็นคนซื้อข้าวโพดซึ่งเป็นการซื้อจากพ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมด้วยซ้ำเราไม่ได้ลงไปซื้อกับเกษตรกรโดยตรง

แต่เราก็เข้าใจว่าถ้าจะหาผู้ร้ายของเรื่องนี้ ก็ต้องเป็นซีพีนี่แหละ เพราะความใหญ่

นี่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่ามันเป็น“ภาระผู้นำ” การถูกโจมตีมันมาพร้อมกับความเป็นผู้นำผมมองว่ามันเป็นความท้าทายที่ซีพีต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องที่ถูกเข้าใจผิดๆให้ได้รวมทั้งปรับปรุงตัวของเราเอง

แน่นอนซีพีไม่ต้องการซื้อข้าวโพดที่มาจากที่ผิดกฎหมาย ที่เป็นพื้นที่บุกรุก ทำลายป่ารวมทั้งสินค้า ผลผลิตที่มาจากการละเมิดแรงงานเด็ก แรงงานประมงผิดกฎหมาย แรงงานทาส

เรากำลังจริงจังกับเรื่องนี้เราจี้ไปกับพ่อค้าคนกลางแล้ว แต่พอเริ่มทำเรื่องนี้ เราก็ถูกต่อต้านมากโดยเฉพาะจากเกษตรกรที่เรายืนยันว่าจะไม่รับซื้อผลผลิต ถ้าไม่แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด

นอกจากนั้นเรายังกำลังทำงานกับภาครัฐอย่างจริงจัง ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างถูกต้องซึ่งเขาจะหวงแหนที่ดินของเขา อาจต้องเริ่มต้นจากการให้ความยุติธรรม แฟร์กับเขาก่อน

มาถึงวันนี้ซีพีช่วยปรับให้การเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม (Industrialization)ไปแล้ว นั่นคือเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ ใช้แรงคนน้อยลง ซึ่งทำมากว่า10 ปีแล้ว

แต่ภาคเกษตรอื่น ๆ อย่างภาคพืชผลไม่มีคนช่วยทำ เกษตรกรจึงเป็นธุรกิจขนาดเล็กสุดคือธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในความเสี่ยงของการไม่มีองค์ความรู้การไม่มีการบริหารจัดการ การเข้าไม่ถึงทุน การไม่มีตลาดขาดมิติของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และยังอยู่บนความเสี่ยงภัยแล้ง น้ำท่วมภัยโรคระบาด ภัยตลาดโลกผันผวน

การที่ Industrialization ไม่เกิดในภาคเกษตรพืชผลเป็นที่มาของปัญหามากมาย เกิดช่องว่าง มีการใช้ประชานิยม

มีถึง 300 อำเภอที่ประชากรอยู่ใต้เส้นมาตรฐานความยากจนรายได้ต่ำกว่าวันละ 5 เหรียญสหรัฐฯ

พอไทยแลนด์ 4.0 เข้ามา ช่องว่างก็จะกว้างขึ้นไปอีก

ที่เรากำลังทำหรือพยายามช่วยในฐานะภาคเอกชนที่ถูกคาดหวังมากกว่าบริษัททั่วไปก็คือเรากำลังสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยชุมชนทั้งเรื่องการศึกษาและวิชาชีพผ่านผู้ประกอบการระดับเล็กถึงกลาง ซึ่งมีความยึดโยงกับชุมชน ช่วยเหลือชุมชนพาเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน

ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ภาคเกษตรกรจะกลายเป็นผู้สูงวัยก่อนภาคอื่นๆ ถ้าการเปลี่ยนแปลง (Transform) ตรงนี้ไม่เกิดจะมีปัญหาแน่เราต้องทำให้พวกเขาก้าวไปสู่ระบบอุตสาหกรรมให้ได้

ที่มา: ไทยรัฐ




Create Date : 08 พฤษภาคม 2560
Last Update : 8 พฤษภาคม 2560 14:27:59 น.
Counter : 732 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 3761838
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



All Blog