อาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์


1. ความสำคัญของโภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือเริ่มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้ว จะเริ่มมีความกังวลในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกในครรภ์ และเรื่องหนึ่งที่คุณแม่ให้ความสำคัญมากคงไม่พ้นเรื่องของอาหารการกิน อันที่จริงการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ก็ไม่ต่างไปจากปกติเท่าไรนัก ข้อห้ามต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ก็จะมักเป็นเรื่องที่ใช้สามัญสำนึกเอาได้

ในเรื่องของอาหาร ผู้ใหญ่สมัยก่อน รุ่นคุณย่า คุณยาย คงจะได้รับคำแนะนำต่อๆ กันมาว่าในช่วงตั้งครรภ์ให้รับประทานอาหารน้อยๆ จะได้คลอดง่าย แน่นอนอาจเพราะว่าลูกตัวเล็ก แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว ลูกตัวเล็กก็อาจจะคลอดยากได้ หรือคลอดก่อนกำหนดได้เหมือนกัน ดังนั้นในสมัยนี้จึงแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีคุณค่าอาหารเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพราะว่าหากแม่มีภาวะขาดสารอาหารก็จะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ เช่น ถ้าแม่ขาดแคลเซียม ลูกก็จะเป็นโรคกระดูกอ่อน หรือถ้าขาดธาตุเหล็ก ลูกก็จะมีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น จึงจะเห็นว่าความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการของแม่

ในการบำรุงครรภ์นั้น มักจะเริ่มมาตั้งแต่เป็นเด็กหญิง โดยให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ เพื่อเตรียมร่างกายให้สมบูรณ์พร้อมที่จะเป็นแม่คน ในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่จะมีความต้องการสารอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้นควรคำนึงถึงทั้งปริมาณและคุณภาพด้วย จะเห็นว่าโภชนาการจึงมีความสำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มาก เพราะนั่นหมายถึงสุขภาพของลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมา

2. เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเราได้รับโภชนาการที่เพียงพอสำหรับหญิงตั้งครรภ์

ในการประเมินภาวะโภชนาการคร่าวๆ โดยทั่วไปก็จะดูจากน้ำหนักตัวและความสูง สำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็เช่นกันสิ่งที่จะเป็นดัชนีชี้วัดภาวะโภชนาการก็คือน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในระยะต่างๆ

ทีนี้มาดูเรื่องของน้ำหนักตัว จริงๆ แล้วเราคำนึงถึงสุขภาพของเด็กมากกว่าน้ำหนักตัวของแม่ เพราะถ้าเด็กได้รับอาหารไม่พอ เด็กก็จะเป็นโรคขาดสารอาหารหรืออาจถึงพิการได้ แต่ในขณะเดียวกันเราจะละเลยน้ำหนักตัวของแม่ไม่ได้ เพราะน้ำหนักตัวของแม่สะท้อนถึงสุขภาพทั้งขอตัวแม่และทารกในครรภ์ ถ้าน้ำหนักตัวของคุณแม่ขึ้นน้อย เด็กก็จะได้รับอาหารไม่เพียงพอ แต่ถ้าน้ำหนักตัวมากเกินไปคุณแม่ก็จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ง่าย เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

น้ำหนักตัวคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นสักเท่าไร ไม่มีสูตรตายตัว แต่โดยทั่วไป ควรเพิ่มขึ้น 10-12 กิโลกรัม ถ้าเกินกว่านี้ก็จะกลายเป็นไขมันสะสมในตัวของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้นมาเอง อัตราการขึ้นของน้ำหนักตัว ควรเป็น 3 เดือนแรก 1.5 กิโลกรัม และหลังจากนั้น 0.3 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือไตรมาสที่สองควรเพิ่ม 4-5 กิโลกรัม และไตรมาสที่สาม เพิ่มขึ้นอีก 5.6 กิโลกรัม หรือ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

3. อาหารที่มีประโยชน์ต่อหญิงตั้งครรภ์ได้แก่อะไรบ้าง

จะทราบกันอยู่แล้วคนเราควรได้รับสารอาหารอะไรบ้าง ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ รวมทั้งน้ำ ในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับแต่ละวัย

สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น เราก็จะมากล่าวถึงแต่ละชนิด ดังนี้

1. โปรตีน

เป็นสารอาหารที่ทารกในครรภ์ใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ๆ ให้เป็นตัวเป็นตน ดังนั้นคุณแม่ต้องการอาหารประเภทนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งได้แก่ อาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ และถั่ว เนื้อสัตว์ที่กล่าวนี้หมายถึง หมู ปลา วัว ไก่ เป็ด ได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ควรรับประทานตับด้วยสักสัปดาห์ละครั้ง เพื่อที่จะให้ได้ธาตุเหล็กมากหน่อย ส่วนไข่นั้นก็สามารถรับประทานวันละ 1 ฟองได้ นมสดวันละ 2-3 แก้ว ไม่ควรรับประทานนมข้นหวาน เพราะมีโปรตีนน้อย มีแต่ไขมันกับน้ำตาล ถ้าดื่มนมสดไม่ได้ ก็อาจเลี่ยงมาดื่มนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้บ้างก็ได้

2. คาร์โบไฮเดรต

คนปกติ ก็ไม่ควรทานอาหารประเภทนี้มากเกินไปอยู่แล้ว สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้นสมควรได้รับอาหารประเภทนี้น้อยลง เพราะว่าในระหว่างตั้งครรภ์จะเผาผลาญอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลได้น้อยลง ระบบการย่อยก็ไม่ปกติ ถ้ามากบริโภคมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ง่าย อาหารประเภทนี้ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน เป็นต้น ให้คุณแม่รับประทานแต่พอประมาณ ถ้าหากสังเกตว่าน้ำหนักตัวเพิ่มมากไป ก็ให้เลี่ยงมารับประทานผลไม้ หรือผักดีกว่า ทั้งนี้ผลไม้ก็ควรเป็นชนิดที่มีรสไม่หวานจัดจนเกินไป

3. ไขมัน

ก็เป็นอาหารอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น พวกอาหารทอด หรือผัดผักที่ใส่น้ำมันมากๆ ถ้ารับประทานอาหารไขมันในปริมาณมากก็จะทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัด และเพิ่มน้ำหนักตัวของคุณแม่ด้วย และยังสะสมเป็นไขมันจับตามส่วนต่างๆ ของร่างกายคุณแม่ด้วย

4. ผักและผลไม้

เป็นกลุ่มที่มีประโยชน์มาก ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ควรจะรับประทานผลไม้เหล่านี้สลับกันทุกวัน เช่น กล้วย เงาะ มังคุด มะละกอ ส้มเขียวหวาน สับปะรด เป็นต้น

5. วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ

ถ้ารับประทานอาหารดังกล่าวข้างต้นอย่างครบถ้วน ร่างกายก็จะได้รับแร่ธาตุและวิตามินครบตามที่ร่างกายต้องการอยู่แล้ว

แต่ในชีวิตประจำวัน เราไม่ค่อยสนใจเท่าไรว่าจะได้ครบหรือไม่ ดังนั้นสูติแพทย์ก็มักจะจ่ายยาบำรุงครรภ์ให้ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะสามเดือนหลังจะต้องการแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัสมากขึ้นกว่าระยะแรกๆ คุณแม่ก็ควรจะรับประทานตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพของตนเองและลูกน้อยในครรภ์

สำหรับการใช้เกลือประกอบอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรใช่แต่น้อย เพราะหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มจะบวมอยู่แล้ว ถ้าในอาหารมีเกลือมากก็จะอุ้มน้ำไว้ในร่างกายมาก จึงควรระวังไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็ม

· ธาตุเหล็ก : ทำให้เม็ดเลือดแดงมีมากพอที่จะลำเลียงออกซิเจนจากเลือดแม่ไปยังลูก มีมากใน ตับ ไข่แดง ผักขม ผักตำลึง

· แคลเซียม : สารจำเป็นในการสร้างกระดูกและฟันของทารก มีมากใน นม ปลาเล็กปลาน้อย ควรได้รับ 1200 มิลลิกรัมต่อวัน

· โฟเลท : เพื่อป้องกันความผิดปกติของหลอดประสาท (neural tube defect) เกี่ยวข้องกับการเจริญและพัฒนาระบบประสาทและสมอง มีมากในพืชผักใบเขียว ถั่ว แนะนำว่าอย่างน้อยควรได้รับ 600 ไมโครกรัมต่อวัน

· ฟอสฟอรัส : ก็มีบทบาทในเรื่องของการสร้างกระดูกและฟันด้วย โดยทั่วไปอาหารส่วนใหญ่ก็มีฟอสฟอรัสสูงอยู่แล้ว ควรได้รับ 1200 มิลลิกรัมต่อวัน

· สังกะสี : มีความสำคัญในการเจริญและพัฒนาการของทารก พบมากในข้าวซ้อมมือ ถั่ว ผักใบเขียว เต้าหู้ ควรได้รับ 20 มิลลิกรัมต่อวัน

4. อาหารอะไรบ้างที่เป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์

โดยทั่วไปอาหารที่รับประทานอยู่ประจำก็ไม่ห้ามอะไร ยกเว้นอาหารที่จะทำให้เสาะท้อง ท้องเสียง่าย อาหารรสจัด อาหารที่เคยแพ้ก็อย่าเผลอรับประทานเข้าไป เพราะบางคนอาการแพ้จะมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์

สำหรับประเภทที่ห้ามหรือควรงดหรือหลีกเลี่ยงก็ได้แก่

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สุรา เบียร์ ถ้าขณะตั้งครรภ์ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มันก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ผ่านทางสายสะดือไปสู่ทารก ก็จะกดการเจริญของทารก มีผลต่อสมอง และเกิดความผิดปกติหรือพิการในทารกได้ Fetal Alcohol Syndrome (FAS) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดซึ่งเกิดจากมารดาดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เด็กพวกนี้จะมีปัญหาทางด้านสมองและพฤติกรรม สมองเติบโตช้า อาจปัญญาอ่อน หรือมีความพิการ และมีความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือด ตัวเล็ก น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน เมื่อโตขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ สมาธิ ความจำ และการแก้ปัญหา การทำงานที่ประสานกันของร่างกาย ปัญหาการออกเสียงและการได้ยิน และ FAS จะเป็นไปตลอดชีวิต ดังนั้นขณะตั้งครรภ์ควรจะหยุดดื่มเพื่อทารกในครรภ์

เช่นเดียวกันกับการสูบบุหรี่ ก็จะทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีอัตราการตายแรกคลอดสูง และการคลอดก่อนกำหนด แท้งได้ง่าย

· ผงชูรส วัตถุดิบที่ใช้ผลิตผงชูรสในปัจจุบันก็คือมันสำปะหลังและกากน้ำตาล โดยผ่านกระบวนการทางเคมีหลายอย่าง เมื่อพิจารณาในด้านคุณค่าทางอาหารแล้ว ผงชูรสไม่มีคุณค่าทางอาหารเลย ในความจริงแล้ว การใช้ผงชูรสจะใช้ปริมาณน้อยคือ 0.1-0.6 % หรือไม่เกิน 2 ช้อนชา/วัน ซึ่งจะไม่เกิดโทษ แต่ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าหากได้รับปริมาณมากๆ จะเห็นผลแน่ๆ ว่าจะมีอาการตึง ชา บริเวณในหน้าและหู บางรายมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย อาเจียน เหงื่อออก หน้าแดง ร้อนวูบวาบ น้ำตาไหล และคอแห้งกระหายน้ำมาก สำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารกนั้นไม่ควรบริโภคผงชูรสเลย เพราะอาจจะเป็นตัวทำลายหรือมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กได้

· ผงกรอบ (Borax) แป้งกรอบนี้คนจีนเรียกว่า เพ่งแช นำมาปรุงอาหารที่ต้องการให้มีความเหนียว / กรุบกรอบ ซึ่งอันตรายของมันก็คือ ระคายเคืองทางเดินอาหาร อาเจียน ท้องเดิน หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นเลย

· น้ำชา กาแฟ น้ำชาแก่ๆ ทำให้ท้องผูกง่าย คนที่ท้องผูกอยู่แล้วก็หลีกเลี่ยง ส่วนกาแฟ ทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ และปัสสาวะมากขึ้น ดังนั้นจึงควรงดเลยเพราะหญิงตั้งครรภ์ต้องการพักผ่อนมากขึ้นด้วย แต่ถ้าคุณแม่ติดกาแฟมากก็ให้เลี่ยงมาดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนแทน วันละ 1 แก้วเท่านั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหา

คาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นที่พบในกาแฟ ชา โคลา ชอคโกแลต โกโก้ และในยาบางชนิด ถ้ได้รับปริมาณมาก ะทำให้กระสับกระส่าย ตื่นตัว นอนไม่หลับ และทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ คาเฟอีนยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เกิดเสียน้ำได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงคาเฟอีน การศึกษาหนึ่งพบว่า ถ้าได้รับคาเฟอีนมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวั (กาแฟ 4-5 แก้ว) จะมีโอกาสให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย และเสี่ยงต่อการแท้ง

· ยาจีน / ยาหม้อ มีคำถามว่ามีประโยชน์หรือไม่ ซึ่งในวงการแพทย์แผนปัจจุบันเองก็ยังไม่มีการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ตำรับ/ส่วนผสมก็ไม่แน่นอน ราคาก็แพง ดังนั้นถ้าเลี่ยงมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามที่แนะนำไว้ และยาบำรุงที่แพทย์ให้มาก็ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามในครอบครัวคนจีน ก็อาจจะมีการแนะนำให้รับประทานป็นชุดๆ เพื่อให้คลอดง่ายและทารกออกมามีผิวพรรณสวยขาว ก็อาจจะพิจารณารับประทานได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่รับประทานถี่จนเกินไป และดูความพร้อมของร่างกายด้วยว่าปฏิเสธยาเหล่านี้หรือไม่ โดยอาจสังเกตว่ามีผลข้างเคียงหรือไม่ ในบางครั้งการรับประทานยาหม้อนี้ก็ส่งผลดีทางจิตใจและความสัมพันธ์ในครอบครัวคนจีนด้วย เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผลเสียใดๆ แต่อย่างไรก็ตามผิวพรรณทารกที่เกิดจากแม่ที่รับประทานยาจีนกับแม่ที่ไม่ได้รับประทานก็ไม่มีความแตกต่างกันชัดเจน

· อาหารหมักดอง อาหารเหล่านี้นอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ในคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ก็อาจทำให้โรคกำเริบได้

· อาหารว่างประเภทของขบเคี้ยว ก็ไม่แนะนำ เพราะทำให้ท้องอิ่ม ทำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ น้อยลง อาหารเหล่านี้จะมีเกลือสูง และมีผงชูรสมาก ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรจะรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีความสมดุลของอาหารโปรตีน แป้ง ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน ในสัดส่วนที่เหมาะสม

5. น้ำมะพร้าว ทำให้ลูกตัวขาวจริงหรือ

การที่ลูกจะตัวขาวหรือคล้ำนั้นขึ้นกับพ่อและแม่ (เกิดจากพันธุกรรม) คำกล่าวที่ว่าน้ำมะพร้าวทำให้ลูกตัวขาวนั้นเป็นเพียงความเชื่อของคนสมัยก่อนเท่านั้น เมื่อมาดูส่วนประกอบของน้ำมะพร้าวก็จะมีน้ำ น้ำตาล และกรดไขมัน ซึ่งไม่ได้ทำให้ลูกตัวขาวขึ้นเลย ในบางคนบอกว่าถ้าดื่มน้ำมะพร้าวแล้วจะทำให้ลูกเวลาคลอดออกมาแล้วมีไขน้อยกว่าปกติ ก็เป็นเพียงแค่ความเชื่อ เพราะไขบนตัวของลูกหลังคลอดนั้นที่มากนั้นเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด ถ้าเป็นเด็กที่คลอดปกติก็จะมีไขไม่มากนักอยู่แล้ว ดังนั้นลูกตัวขาวนั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับน้ำมะพร้าว เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น อย่างไรก็ควรบริโภคแต่พอควร

6. ทำอย่างไรจะไม่แพ้ท้อง

คุณแม่ส่วนใหญ่จะแพ้ท้อง โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรก แต่ก็ไม่ต้องกังวลมาก เพราะการแพ้ท้องเป็นเรื่องธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะมีอาการตอนแปรงฟัน ได้กลิ่นอาหาร น้ำหอม เป็นต้น ถ้าแพ้น้อยก็จะแค่หิวบ่อย รู้สึกท้องโหวงเหวง แต่ก็รับประทานไม่ค่อยลง บางคนมีอาการหน้ามืด ใจสั่น จนน้ำหนักตัวลดก็มี บางคนกังวลว่าช่วงสามเดือนแรกนั้นเป็นช่วงที่ทารกน้อยกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ อาการแพ้ท้อง รับประทานอาหารไม่ได้จะเป็นสาเหตุให้ลูกมีความผิดปกติได้หรือไม่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลมากไป เพราะธรรมชาติมีกลไกที่จะให้ทารกในครรภ์นั้นสามารถจะดึงเอาสารอาหารต่างๆ จากตัวแม่ไปได้อย่างครบถ้วน และเมื่อผ่านสามเดือนไปแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะหายจากอาการแพ้ท้องไปอย่างปลิดทิ้งเลย คราวนี้ก็เริ่มสะสมสารอาหารกันใหม่ เพราะเริ่มจะรับประทานได้มากขึ้นๆ ข้อแนะนำง่ายๆ สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง

1) ควรดื่มน้ำอุ่นๆ ทันทีที่ตื่นนอน อาจเป็นนมชงโอวัลติน ประมาณครึ่งแก้ว และนอนต่ออีกประมาณ 15 นาที เพื่อไม่ให้กระเพาะว่าง หรือรับประทานพวกขนมปังกรอบหรืออาหารประเภทธัญพืชแห้งๆ นิดหน่อยถ้าตื่นมากลางดึก หรือก่อนตื่นนอน

2) อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารอ่อนหรืออาหารแข็งที่ย่อยง่าย เช่น ขนมปังปิ้ง cracker

3) ควรงดเว้นอาหารทอด หรือมีไขมันมาก เพราะว่าอาหารมันๆ จะใช้เวลาย่อยนาน

4) ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน หรือรสจัด รวมทั้งอาหารที่มีเครื่องเทศมาก อาหารที่มีกลิ่นไม่ดี

5) ไม่ควรดื่มน้ำในมื้ออาหารมากเกินไป ควรดื่มน้ำระหว่างมื้อดีกว่า กล่าวคือระหว่างหรือหลังทานอาหารไม่ควรดื่มน้ำร่วมไปด้วย ควรดื่มหลังจากทานอาหารแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง

6) รับประทานมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยๆ อาจจะเป็น 5-6 มื้อต่อวัน พยายามรับประทานทุก 1-2 ชั่วโมง เพราะถ้ารู้สึกหิวจะรู้สึกไม่ค่อยสบาย โหวงเหวง ไม่ควรให้ท้องว่างนานเกินไป

7) ไม่ควรนอนลงหลังมื้ออาหาร และควรพักผ่อนเมื่อรู้สึกเหนื่อย

8) ถ้ามีปัญหาท้องผูก ก็ให้ดื่มน้ำมากๆ หรือรับประทานลูกพรุน ผักผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี้

9) หากจำเป็นก็อาจใช้ยาลดคลื่นไส้ อาเจียน เช่น Dimenhydrinate 50 มิลลิกรัม ทุก 4-5 ชั่วโมงเวลามีอาการ ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

7. กินอย่างไรไม่ให้อ้วนหลังคลอด

ตามที่กล่าวไปแล้วว่าควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันและแป้งเพราะจะทำให้อ้วนได้มาก ซึ่งความอ้วนมีผลร้ายทั้งต่อการตั้งครรภ์และการคลอดและทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น รับประทานแป้งมากก็จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ถ้าอ้วนมากก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ อ้วนมากก็คลอดยาก มักจะต้องผ่าตัดคลอด นอกจากนี้แล้วยังมีความเสี่ยงต่อเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

โดยปกติน้ำหนักตัวควรเพิ่มประมาณ 11-12 กิโลกรัม หรือน้ำหนักตามสูตร 1-5-5 คือสามเดือนแรก 1 กิโลกรัม สามเดือนต่อมา 5 กิโลกรัม และสามเดือนสุดท้ายอีก 5 กิโลกรัม หรือโดยเฉลี่ยเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 ไม่ควรมีน้ำหนักตัวขึ้นเกิน 2 กิโลกรัมต่อเดือน หรือสัปดาห์ละไม่เกินครึ่งกิโลกรัมจึงจะเหมาะสม

ถ้าน้ำหนักตัวขึ้นมากกว่า 20 กิโลกรัมก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และน้ำหนักส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่แม่ และทำให้ลดน้ำหนักหลังคลอดได้ช้า บางคนบำรุงมากกว่าปกติ ก็จะอ้วน และเด็กตัวโตก็จะทำให้คลอดยาก ดังนั้นทางที่ดีคุณแม่ต้องควบคุมอาหารตั้งแต่เนิ่นๆ งดหรือเลี่ยงอาหารไขมันและแป้ง นอกจากทำให้เกิดท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยแล้ว ก็จะทำให้เกิดไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้คุณแม่อ้วนได้ นอกจากนี้คุณแม่ก็ควรจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย

8. กินอะไรให้ลูกออกมาฉลาด

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตที่คุณแม่รวมทั้งคุณพ่อให้ความสนใจมาก เพราะความหวังของคุณพ่อคุณแม่นั้นคืออยากให้ลูกออกมาเลี้ยงง่าย โตเร็ว แข็งแรง และฉลาด จึงมักจะแสวงหายามาบำรุงสมองเด็กในครรภ์

ความจริงแล้วความฉลาดมีปัจจัยมาจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดู ตลอดจนการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ การที่ลูกได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี รับประทานอาหารถูกหลัก และมีสุขภาพสมบูรณ์ ลูกจะฉลาดได้ ในเรื่องของอาหารก็จะเน้นโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน เช่นเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอาหารไขมันและแป้ง ในระหว่างตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงของหวาน แป้งข้าว ก๋วยเตี๋ยว หันมารับประทานผักและผลไม้แทน นอกจากนี้การให้การกระตุ้นสมองลูก เช่น พูดกับลูก จับ หรือสัมผัส ซึ่งก็ถือเป็นอาหารสมอง เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ให้ของเล่นที่เหมาะสมตามพัฒนาการของลูก ก็จะช่วยพัฒนาสมองของลูกได้

9. ทำไมผลิตภัณฑ์อาหารประเภทนมสำหรับหญิงตั้งครรภ์จึงมักจะเน้นเรื่องแคลเซียม

แคลเซียมในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อเสริมสร้างกระดูก และเหงือกฟันของลูก โดยทั่วไปมีความต้องการแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัม ถ้าเราดื่มนมได้วันละ 800-1,000 มิลลิลิตร (3-4 กล่อง) ก็จะเพียงพอ นอกจากนี้แหล่งของแคลเซียมที่ดีก็ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานทั้งกระดูกได้ รวมทั้งผักใบเขียว และธัญพืช เช่น ข้าวโพด คุณแม่สามารถดื่มนมเปรี้ยวได้ แต่คุณค่าโปรตีน ปริมาณแคลเซียมอาจจะน้อยกว่านมวัวสด ดังนั้นนมเปรี้ยวจึงควรเป็นเพียงอาหารเสริมที่ไม่ใช่มาแทนนมวัวสด ถ้าหากคุณแม่บางท่านเบื่อนม ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นโยเกิร์ตบ้าง ถ้าหากคุณแม่สามารถจะบริโภคได้ตามนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องเสริมยาเม็ดแคลเซียมอีกก็ได้

ถ้าหากว่าจะเสริมแคลเซียมเม็ด ควรเสริมเท่าไรจึงจะพอดี แคลเซียมที่มีขายอยู่ถ้าเป็นรูปแบบเม็ดฟู่ ก็มักจะรับประทานเพียงวันละเม็ด ถ้าเป็นแบบเม็ด บางชนิดต้องรับประทานวันละ 6 เม็ด จึงจะเพียงพอ ทั้งนี้คุณแม่ควรจะปรึกษาสูติแพทย์หรือเภสัชกรว่าควรจะเสริมชนิดใดจึงจะเหมาะสมสำหรับคุณแม่แต่ละคนด้วย

10. หญิงตั้งครรภ์บางคนจะมีอาการเท้าบวมนั้นเกิดจากอะไร

อาการบวมที่ถือว่าเป็นความปกติสำหรับหญิงตั้งครรภ์คือบวมบริเวณหลังเท้า ไม่เกินตาตุ่ม เวลากดผิวหนังลงไปจะบุ๋มลง บางคนเท้าบวมจนใส่รองเท้าไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการที่น้ำหนักครรภ์กดทับหลอดเลือดดำใหญ่ด้านหลังลำตัว เลือดจึงเดินกลับสู่หัวใจได้ไม่สะดวก

แต่ถ้าหากอาการบวมนั้นเลยขึ้นมาถึงหน้าแข้งหรือบวมทั่วตัว เช่น หนังตาบน ล่าง เลยดูเหมือนตาเล็กลง ใบหน้าอ้วนฉุๆ หรือบวมตามข้อนิ้วมือจนใส่แหวนหรือถอดแหวนไม่ได้ และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือสังเกตได้ว่าปัสสาวะน้อยลง ก็ต้องพบแพทย์ด่วน เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที เพราะเป็นสัญญาณว่าคุณแม่อาจพบกับภาวะแทรกซ้อนคือ ครรภ์เป็นพิษ อาการที่ปรากฏคือ ความดันโลหิตสูง และพบไข่ขาวในปัสสาวะด้วย ส่วนใหญ่ถ้ามีอาการเช่นนี้ก็จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล บางรายที่รุนแรงก็อาจจะต้องให้คลอดทันที แต่ส่วนใหญ่แพทย์ก็สามารถช่วยประคับประคองจนทารกโตพอที่จะคลอดได้อย่างปกติเพื่อจะได้เลี้ยงง่ายหลังคลอด

· วิธีแก้ไขอาการบวม

1) นอนพักผ่อนมากๆ ในท่าตะแคงข้าง ซึ่งจะทำให้เลือดที่ไหลเวียนผ่านไตเพิ่มมากขึ้น

และช่วยขับถ่ายโซเดียมและน้ำออกจากร่างกาย

2) ลดอาหารประเภทแป้ง เกลือ และของเค็ม

3) นอกยกขาสูงวันละ 4-5 ครั้งๆ ละ 10 นาที

4) ให้ยาขับปัสสาวะร่วมด้วย ถ้าจำเป็น ทั้งนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์

11. ทำไมหญิงตั้งครรภ์มักเกิดตะคริวที่น่องในเวลากลางคืน จนทำให้นอนไม่หลับ

อาการตะคริวในคุณแม่ตั้งครรภ์ พบได้บ่อยเมื่ออายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป บางครั้งเป็นจนน่องแข็งทื่อทั้งคืน ทำให้เจ็บปวด และนอนไม่หลับ เดือดร้อนทำให้สามีหรือคนข้างเคียงพลอยนอนไม่หลับไปด้วย คุณแม่ที่ขาดแคลเซียมมักมีอาการตะคริว แก้และป้องกันโดยดื่มนมให้ได้วันละประมาณ 1 ลิตร รับประทานปลากรอบที่เคี้ยวได้ทั้งกระดูก กุ้งแห้งตัวเล็กๆ ที่เคี้ยวได้ทั้งเปลือก ผักใบเขียวและข้าวโพด

คุณแม่ที่ทำงานในท่านั่งหรือท่ายืนนานๆ ทำให้เลือดเดินไม่สะดวกก็จะเกิดการสะสมคั่งของของเสียบริเวณน่อง ก็จะทำให้เป็นตะคริวได้ง่ายเช่นกัน

ตะคริวมักเกิดในช่วงกลางคืน หรือใกล้เช้า ซึ่งเวลานั้นอากาศค่อนข้างเย็น และเนื่องจากมีเลือดคั่งอยุ่ที่บริเวณน่อง ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว จึงควรห่มผ้าให้ความอบอุ่นบริเวณปลายเท้าและน่องไว้

เมื่อเกิดอาการตะคริวขึ้นแล้ววิธีแก้ไขคือ ให้พยายามเหยียดขาออกไปให้ตึงที่สุด และดัดปลายเท้าให้กระดกขึ้นไว้นาน 20-30 วินาที อาการตะคริวจะค่อยๆ หายไป วิธีนี้อาจต้องให้คุณพ่อช่วยดัดปลายเท้าให้

12. มังสวิรัติกับการตั้งครรภ์ไปกันได้หรือไม่

หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ และควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันและแป้ง มังสวิรัติไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ถั่วงอก ถั่วเหลือง ในมังสวิรัติมักจะมีผักและผลไม้ ซึ่งก็จะมีวิตามินและเกลือแร่สูงอยู่แล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่แน่ใจว่าอาหารมังสวิรัติที่รับประทานอยู่เหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์ก็จะดูจากน้ำหนักตัวที่ขึ้นว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยทั่วไปนั้น 12-15 กิโลกรัม โดยที่หลังจาก 5 เดือนไปควรจะขึ้น 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์


โดย ภญ. อ. ดร. สุญานี พงษ์ธนานิกร ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามได้ที่ รายการวิทยุจุฬาฯ คลินิก 101.5


Create Date : 12 ตุลาคม 2553
Last Update : 12 ตุลาคม 2553 11:24:58 น. 0 comments
Counter : 661 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

dinshay
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ออกกำลัยกันเถอะ
[Add dinshay's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com