CPA_Elearning ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต by เด็กจอมแก่น
 
ตอน 7 ปัญหาคาใจ กับ 40(3) หัก ณ ที่จ่ายทำไมไม่ยกเว้น 100,000 บาทแรก

ตอน 7 ปัญหาคาใจ กับ 40(3) หัก ณ ที่จ่ายทำไมไม่ยกเว้น 100,000 บาทแรก


ทีแรกตั้งใจว่าจะเริ่มเรื่อง รายได้(เงินได้พึงประเมิน) ตามมาตรา 40(8) แต่พอดีมีคนสงสัยข้องใจ ว่าทำไมเวลา หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 40(3)(ให้ใช้ลิขสิทธิ์) จากบุคคลธรรมดา นอกจากจะไม่ให้หักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนใดๆ แล้ว ยังจะไม่นำยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 100,000 บาท แรกมาคำนวณก่อน (ให้กลับไปดูตอนที่ 4 ด้วยนะคะ)

คำถามนี้ก็มีการถามกันมาแล้วว่าทำไมๆๆ รวมทั้งตัวเองด้วย ซึ่งก็มีคำตอบไว้อยู่แล้ว ได้ปรึกษาคุณ Min มาเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้เอามาชี้แจงแต่แรก เนื่องจากกลัวเนื้อหาจะเยอะเกินไป คนอ่านจะหมดกำลังใจไปเสียก่อน แค่นี้ก็คิดว่าถอดใจกันไปเยอะแล้วล่ะ (จริงๆ แล้วนี่เป็นฉบับย่อเท่านั้น) สำหรับคำตอบก็จะอธิบายดังนี้นะคะ ค่อยๆ ดูไปแล้วกันเดี๋ยวจะสรุปทีหลัง อย่าเพิ่งงง

ไปดูบัญชีอัตราภาษีเงินได้กัน

//www.rd.go.th/publish/5938.0.html




จะเห็นว่า ไม่ได้แก้ไขบัญชีอัตราภาษีเงินได้เลยยังเหมือนเดิมไม่ได้ระบุยกเว้น ส่วนของ 100,000 บาทแรก

แต่ว่า จะมีประกาศ พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 430) พ.ศ. 2548 ออกมายกเว้นอีกที ดังนี้

//www.rd.go.th/publish/22648.0.html

มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 2 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทแรก ในปีภาษีนั้น

คราวนี้เรามาดูต่อ มาตรา 48(1) คืออะไร

//www.rd.go.th/publish/5937.0.html

มาตรา 42 ทวิ เงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา 40(1) และ (2) ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

มาตรา 42 ตรี เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) เฉพาะที่เป็นค่าแห่งลิขสิทธิ์ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท
มาตรา 47 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีก

มาตรา 48 เงินได้พึงประเมินต้องเสียภาษีเงินได้ดังต่อไปนี้
(1) เงินได้พึงประเมินเมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 47 หรือมาตรา 57 เบญจ แล้วเหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ ต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้
(2) สำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีตาม (1) ให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน


คราวนี้มาเริ่มวิเคราะห์ที่มาที่ไปกันนะคะ

1. อันดับแรก ให้ดูที่ มาตรา 48 จะเห็นว่า ขั้นตอน ตาม 48(1)และ(2) เป็นขั้นตอนสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปี ตามแบบ ภงด.90 หรือ ภงด.91 สังเกตจาก มีข้อ2 เปรียบเทียบจำนวนภาษีที่สูงกว่าด้วย

2. อันดับสอง ให้ดูว่า มาตรา 48 ระบุว่า
“(1) เงินได้พึงประเมินเมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 47 หรือมาตรา 57 เบญจ แล้วเหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ ต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้”

แล้วเราดูที่ มาตรา 42ทวิ มาตรา 42 ตรี แล้วก็มาตรา 47 เห็นไหมคะ ว่ามันเป็นการหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน ดังนั้นก่อนที่จะมาถึงขั้นตอนในมาตรา 48 ได้ ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนมาให้เรียบร้อยก่อนจึงจะไปคำนวณภาษีอีกทีซึ่งจะใช้บัญชีอัตราภาษีเงินได้ปกติ แล้วจึงถึงขั้นตอนยกเว้นภาษีเงินได้ 100,000 บาทแรก ที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 430) ระบุอิง มาตรา 48 ไว้

**ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วนะคะว่า มันเป็นคนละขั้นตอนกับ การหักภาษี ณ ที่จ่าย**

คราวนี้เรามาดูอีกที การหักภาษี ณ ที่จ่าย ในมาตรา 50 ต่างกับตอนยื่นภาษีปลายปีอย่างไร

มาตรา 50 ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายตามความในวรรคก่อนไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใดให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี

2) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) และ (4) ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้

เรามาดูว่า ในมาตรา 50 เค้าว่าอย่างนี้

มาตรา 50(1) **ก็คือการคำนวณภาษีของ มาตรา 40(1),(2)
1. “เสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48”
2. “เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี”

เห็นรึเปล่าคะว่า วัตถุประสงค์ของ การคำนวณภาษีของเงินเดือน และการรับทำงานให้ จะระบุให้คำนวณตาม มาตรา48 (ดู1 กับ 2) เพื่อให้สะดวกในการยื่นภาษีปลายปี จะได้ไม่ต้องขอคืน หรือ ชำระเพิ่มเติมนั่นเอง (หรือจะบอกว่ากฏหมายเขียนอิงมาตรา48 นั่นเอง)

ส่วนใน มาตรา 50(2) ก็คือ การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายของ มาตรา 40(3) บอกแค่ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ เท่านั้น ไม่ได้อิงมาตรา 48 เลย ฉะนั้นเราจะยึดตาม อัตราภาษีเงินได้เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการยกเว้นเงินได้ตาม พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 430)


สรุปท้ายสุดก็คือ ต้องแยกระหว่าง การหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกจาก การคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี จะได้ตามนี้

**สรุปยื่นภาษีปลายปี ตามมาตรา 48

เงินได้พึงประเมิน –ค่าใช้จ่าย-ลดหย่อนอื่นๆ
เงินได้สุทธิ
(1) คำนวณตาม ตารางอัตราภาษีเงินได้+ยกเว้นพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 430)
(2) คำนวณพันละห้าเปรียบเทียบกับ (1) ชำระภาษีตัวที่มากกว่า

**สรุป หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 40(3)

เงินได้พึงประเมิน(ไม่หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อน)
คำนวณตามตารางอัตราภาษีเงินได้ปกติ

เฮ้อ ปาดเหงื่อเลย กว่าจะพยายามอธิบายจบ คราวนี้จบปัญหาคาใจจริงๆ จ้า

แถมนิดนึง เรื่องหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ถ้าเป็นเงินเดือน ตาม ม40(1) พนักงานจะได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย 2 ใบ ภายใน 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป หรือภายใน 1 เดือน นับแต่ออกจากงาน

ส่วน การรับทำงานให้ตาม ม.40(2) และให้ใช้ลิขสิทธิ์ ตาม ม40(3) จะได้หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย 2 ใบทันทีที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย

//www.rd.go.th/publish/14944.0.html

(1) ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า "สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ"
(2) ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า "สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐาน"

คราวนี้ลองมาดูว่าเราจะเสียเปรียบหรือประหยัดภาษีได้อย่างไร ถ้าหาก มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายผิดมาตราขึ้นมาอธิบายคร่าวๆ นะคะ

ตัวอย่างที่ 1
รายได้จาก มาตรา 40(2) 192,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 60,000 เงินได้สุทธิ 132,000
รายได้จาก มาตรา 40(3) 192,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 60,000 เงินได้สุทธิ 132,000

ถ้าหาก สำนักพิมพ์หักผิดมาตรา จาก 40(2) กลายเป็น 40(3) ทั้งหมด จะเกิดอะไรขึ้น
ก็คือ ค่าใช้จ่ายของคุณจะหายไปทันใด 60,000 บาท แล้วมันจะมีผลอะไรเหรอ ก็มีผลให้เงินได้สุทธิปลายปี เพิ่มขึ้นมาอีก 60,000 บาทไงล่ะ แล้วภาษีก็ต้องเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 10% ก็ เท่ากับ 6,000 บาท
***เสียภาษีฟรีๆ ไป 6,000 บาท โดยไม่รู้ตัวเลยเด้อ***

ตัวอย่างที่ 2 กรณีมีเงินเดือนด้วย

รายได้จาก มาตรา 40(1) 80,000 บาท
รายได้จาก มาตรา 40(2) 192,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 60,000 เงินได้สุทธิ 132,000
รายได้จาก มาตรา 40(3) 192,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 60,000 เงินได้สุทธิ 132,000

ถ้าหาก สำนักพิมพ์หักผิดมาตรา จาก 40(2) กลายเป็น 40(3) ทั้งหมด จะเกิดอะไรขึ้น
ก็คือ ค่าใช้จ่ายของคุณจะหายไปทันใด 60,000-32,000 = 28,000 บาท แล้วมันจะมีผลอะไรเหรอ ก็มีผลให้เงินได้สุทธิปลายปี เพิ่มขึ้นมาอีก 28,000 บาทไงล่ะ แล้วภาษีก็ต้องเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 10% ก็ เท่ากับ 2,800 บาท
ค่าใช้จ่ายในส่วนของ เงินเดือน 40(1) [80,000*40%= 32,000]
***เสียภาษีฟรีๆ ไป 2,800 บาท โดยไม่รู้ตัวเลยเหมือนกัน***

ตัวอย่าง 3

รายได้จาก มาตรา 40(1) 174,000 บาท
รายได้จาก มาตรา 40(2) 192,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 60,000 เงินได้สุทธิ 132,000

ถ้าหาก สำนักพิมพ์หักผิดมาตรา จาก 40(2) กลายเป็น 40(3) ทั้งหมด จะเกิดอะไรขึ้น

ก็คือ ค่าใช้จ่ายของคุณจะเพิ่มขึ้นไปทันใด 60,000 บาท แล้วมันจะมีผลอะไรเหรอ ก็มีผลให้เงินได้สุทธิปลายปี ลดลง 60,000 บาทไงล่ะ แล้วภาษีก็ต้องลดลง อย่างน้อย 10% ก็ เท่ากับ 6,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในส่วนของ เงินเดือน 40(1) [174,000*40%ไม่เกิน60,000 =60,000]
ปกติค่าใช้จ่าย ตาม 40(1)กับ(2) รวมกันได้แค่ 60,000 พอไปหักผิดเป็น 40(3) ก็เลยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาทันที

***เสียภาษีขาด ไป 6,000 บาท โดยไม่รู้ตัวเลยเหมือนกัน อันนี้ไม่ดีเน้อ วันหลังสรรพากรตรวจเจอก็ต้องไปจ่ายภาษีเพิ่มพร้อมดอกเบี้ย(เงินเพิ่ม)อีก***

ก็สมมติเป็นตัวอย่างเฉยๆ เพื่อให้ดูว่าถ้าเรามีความรู้เรื่องภาษี โดยคำนวณและจ่ายถูกต้อง เราก็สามารถประหยัดภาษีได้ด้วย เห็นประโยชน์แล้วหรือยัง


**ก่อนจบขอแก้ไขลิงค์แบบ ภงด.2 เนื่องจากทางสรรพากรมีการเปลี่ยนลิงค์ค่ะ จากตอน 4**

//203.146.251.175/fileadmin/tax_pdf/withhold/pnd2_030848.pdf

คราวหน้ามาต่อ มาตรา 40(8) ค่ะ




Create Date : 10 ตุลาคม 2549
Last Update : 10 ตุลาคม 2549 16:58:06 น. 0 comments
Counter : 1714 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เด็กจอมแก่น
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




CPA / TA (Tax Auditor)

ติวCPA

หัวหน้าแก๊งค์บัญชี :

ชื่อหัวหน้าแก๊งค์บัญชี เกิดจาก ไปเห็น ซาตาน (อาเฮียเกลือร่วง) ตั้งชื่อบล็อกว่า แก๊งค์บัญชีอะไรดีล่ะ ก็เลย แกล้งชิงตำแหน่งหัวหน้ามาซะก่อน ไม่สนล่ะว่าใครจะเก่งกว่า 555 ข่มซะงั๊น

ปกติคนเรียนบัญชี มักจะถูกมองว่า ลักษณะนิสัยที่ละเอียด รอบคอบ บางคนชอบกินจุกจิก บางคนไม่ค่อยชอบออกสังคมเท่าใด แต่ถ้าทำนานๆไป จะมองกำไรขาดทุนในทุกๆเรื่อง 555 อันนี้แอบเข้าไปอ่านบล็อกของ คุณ wbj เอ๊ะ มันจริงรึเปล่าล่ะนี่

วันนึง ก็ไปเห็นกระทู้ห้องสีลมว่า มีใครเจอ External Audit มาถามโน่นถามนี่บ้างเนี่ย ทำไมเค้าถึงเลือกทำงานในอาชีพที่ทำให้คนเกลียด งึมงำๆๆ เอาไงดี ก็มันได้ตังส์อ่ะ
[Add เด็กจอมแก่น's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com