คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี

Terminology of 'God(s)'

หลายครั้งๆที่ผู้คนถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับพระเจ้าว่ามีจริงอยู่หรือไม่ หากตัดเอาอารมณ์ร้อนแรง ความอาฆาตพยาบาทอันบังเกิด บางครั้งการถกเถียงก่อให้เกิดการต่อยอดทางความคิดที่น่าสนใจ แต่น่าเศร้าที่หลายครั้งการถกเถียงไม่ก่อให้เกิดสิ่งใดนอกจากการผลาญเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ได้ข้อสรุป ไม่เกิดการต่อยอดทางความคิด เนื่องจากความแตกต่างของจุดยืนของแต่ละบุคคล

โดยทั่วไป แต่ละคนจะมีจุดยืนหรือแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่จำเพาะในจิตใจ แต่โดยมาก ผู้คนเหล่านั้นจะไม่รู้ตัวว่าตนเองมีจุดยืนอย่างใดกันแน่ และเมื่อมีการถกเถียงกันเกิดขึ้น แต่ละคนจะยึดจุดยืนของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ม่รับรู้หรือเข้าใจจุดยืนของผู้อื่น บทสรุปคือการถกเถียงหลากประเด็นในหัวข้อเดียวกัน พูดถึงสิ่งที่เดียวกันในความหมายที่แตกต่างกันคนละเรื่อง ทำให้ยากจะที่คุยกันอย่างรู้เรื่อง

ผู้เขียนจึงขอสรุปอภิธานศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพระเจ้าดังต่อไปนี้



Theism คือผู้ที่เชื่อในพระเจ้า ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก และเราจะมาขยายความกัน

Atheism คือผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าในรูปแบบใด ในรูปลักษณ์เชิงมนุษย์หรือไม่ก็ตาม ข้อเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่เป็นกันมากคือ ความเข้าใจว่า atheism = irriligous หรืออศาสนา ซึ่งความจริงก็ถูกถ้าเป็นมุมมองของชาติตะวันตก ที่ศาสนาคริสต์มีบทบาทหลัก การปฏิเสธพระเจ้าถือว่าเท่าเทียมกับอศาสนา แต่สำหรับชาติตะวันตกอย่างศาสนาพุทธ เราอาจต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง เนื่องจากศาสนาพุทธก็ไม่เคยกล่าวถึงพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวโดยตรงหรือโดยนัย ศาสนาพุทธจึงเข้าใกล้ atheism หรือ nontheism

Agnotism คือผู้ที่ไม่กล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่ agnotism ต่างจาก theism และ atheism ตรงที่ theism และ atheism คือเรื่องของความเชื่อในขณะที่ agnotism คือเรื่องของความรู้ agnotism ไม่สรุปว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่เนื่องจากขาดองค์ความรู้ที่มากพอจะสรุปได้ บุคคลที่เป็น agnotistic อาจแบ่งแยกย่อยได้อีกมากว่ามีความโน้มเอียงไปทางพระเจ้าหรือไม่มีพระเจ้ามากกว่า อย่างไรก็ตามการแบ่งประเภทอย่างระเบียบกว่าน่าจะเป็น weak และ strong

Weak agnotism คือพวกที่ไม่สรุปว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่ เนื่องจากความรู้ของตนไม่พอที่จะสรุป แต่ไม่ปิดกั้นโอกาสที่จะมีความรู้เพียงพอที่จะสรุปได้

Strong agnotism คือพวกที่ไม่สรุปว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่ และคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความรู้มากพอที่จะสรุปได้ strong agnotism เกิดจากข้อถกเถียงทางปรัชญาถึงบางสิ่งที่เราไม่มีวันสรุปได้ (อย่างเช่นปัญหาที่ว่าสีแดงที่เราเห็นเหมือนกับสีแดงที่คนอื่นเห็นหรือไม่ ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ โปรดค้นคว้าต่อเอง)


Monotheism คือผู้ที่เชื่อพระเจ้าอันเป็นหนึ่งเดียว ผู้สร้างทุกสรรพสิ่งและเข้ามาสอดแทรกในการกระทำของเรา monotheism ถือได้ว่าเป็นสายหลักของ theism ในปัจจุบัน โดยเครือข่ายที่ยิ่งใหญ่คือศาสนาคริสต์และอิสลาม พระเจ้าของ monotheism นั้นถือเป็นผู้ทรงพลานุภาพสูงสุด เป็นความสมบูรณ์เหนือทุกสิ่งอย่าง เป็นทั้ง omnipotence (อำนาจอันไม่สิ้นสุด), omnicience (หยั่งรู้ไม่สิ้นสุด), omnipresence (ปรากฏทุกหนแห่ง) และ omnibenevolence (ทรงความดีงามสูงสุด)

(อย่างไรก็ตาม ความสมบูรณ์สูงสุดของ monotheism มักก่อให้เกิด paradox เช่น paradox เมื่อพระเจ้าสร้างหินที่ไม่มียกขึ้นได้แล้วพระเจ้าจะยกได้หรือไม่? หรือเมื่อพระเจ้าหยั่งรู้ล่วงหน้าทุกสิ่งแล้วพระเจ้าจะกระทำขัดกับอนาคตที่หยั่งรู้ได้หรือไม่?)

Polytheism คือผู้ที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเทพเจ้ากรีกโบราณ พระเจ้าแต่ละองค์จะมีคุณลักษณะและหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน เมื่อกล่าวโดยรวมกันจะเรียกว่า pantheon ในยุคก่อนที่ polytheism รุ่งเรือง ปฏิกิริยาเมื่อ polytheism พบกับ monotheism จะแบ่งได้เป็นสามกรณี กรณีที่หนึ่ง polytheist จะเหมารวมว่าพระเจ้าองค์ที่ monotheist นับถือนั้นคือองค์เดียวกันกับหนึ่งใน pantheon หากแต่เรียกในนามต่างกัน กรณีที่สอง polytheist จะรับเอาพระเจ้าของ monotheist มาเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม patheon เดิมนั้น กรณีสุดท้าย polytheist จะปฏิเสธพระเจ้าของ monotheist ไปโดยถือว่าเป็นคนละความเชื่อกัน จะเห็นว่า polytheism ดูจะมีความเปิดกว้างทางความเชื่อค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายก็หมดความนิยมไป เนื่องจากมุมมองพระเจ้าหลายองค์นั้นดูเป็นไปได้น้อยกว่าองค์เดียว

Deism คือผู้ที่เชื่อในพระเจ้า แต่เป็นมุมมองที่ต่างออกไปจาก monotheism กล่าวคือพระเจ้าของ deist คือผู้ที่สร้างสรรพสิ่งในจักรวาลเริ่มต้น จากนั้นก็ปล่อยให้จักรวาลดำเนินไปตามวิถีทางของมันเองโดยไม่มีการเข้ามาแทรกแซงใดๆ ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตจึงถือกำเนิดขึ้นโดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เราทราบในปัจจุบัน ด้วยเหตุดังกล่าว deist จึงดูจะมีความขัดแย้งต่อวิทยาศาสตร์น้อยกว่า เมื่อเทียบกับ monotheist

Pantheism คือผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้า = ธรรมชาติ ถึงตรงนี้อาจต้องพูดว่าเป็นคำศัพท์ที่ค่อนข้างซับซ้อน pantheism มีความใกล้เคียงกับ atheism แต่ก็ถือว่าไม่ใช่ อีกทั้งถูกนำไปสับสนกับ theism อย่างอื่นอยู่บ่อยมาก pantheist เชื่อว่าพระเจ้าก็คือกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ คือทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติที่ดำเนินไปในอย่างที่มันเป็น กล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ พระเจ้าของ pantheism เป็นพระเจ้าที่ไม่อยู่ในรูปแบบ anthropomorphic และเป็นพระเจ้าที่ไม่ใช่สิ่งเหนือธรรมชาติ (supernatural God, ตรงข้ามกับ monotheism โดยสิ้นเชิง) เพราะพระเจ้าก็คือธรรมชาตินั้นเอง

ข้อถกเถียงที่ควรยกเป็นตัวอย่างคือ ศาสนาของ Albert Einestein (Einesteinian religion) Einestein สร้างความสับสนให้กับผู้คนอย่างมาก เมื่อเขามักกล่าวอ้างถึงพระเจ้าบ่อยๆ (e.g. God does not play dice.) แต่ครั้งหนึ่งนั้น Einestein เคยออกมาประกาศว่าตนเองไม่นับถือศาสนาใดๆที่มีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ศาสนิกชน (“I am a deeply religious nonbeliever.… This is a somewhat new kind of religion.”) อย่างไรก็ตาม Einestein ได้ขยายความว่าแนวคิดของตนเพิ่มเติมในภายหลัง (อยากให้อ่านใน qout) ซึ่งในที่สุด กลายเป็นประโยชน์ให้แต่ละศาสนาตักตวง อ้างว่าแนวคิดของ Einestein นั้นตรงกับศาสนาของตน (รวมไปถึงไอน์สไตน์ไม่เคยพบแต่พระพุทธเจ้าเห็น XD)

หากลองพิจารณาให้ถี่ถ้วน จะพบว่า Einestein มักกล่าวอ้างถึงพระเจ้าแทนการกล่าวถึงกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ หรือข้อเท็จจริงทางจักรวาลวิทยา "พระเจ้าไม่ทอยลูกเต๋า" มีความหมายเป็นนัยว่า "จักรวาลไม่ดำเนินไปแบบสุ่ม" โดยนัยดังกล่าว Einestein จึงใกล้เคียงกับ pantheism มากที่สุด จุดเด่นประการหนึ่งของ pantheist คือพวกนี้บางครั้งพูดถึงพระเจ้า แต่ไม่ได้หมายถึงพระเจ้าแบบ anthropomorphic ผู้สร้างสรรพสิ่ง บางครั้งเรามักพูดถึงสิ่งเดียวกันแต่โดยความหมายที่แตกต่างกัน หรือพูดถึงสิ่งแตกต่างกันแต่มีความหมายเดียวกัน




Panentheism คือผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าคือธรรมชาติเช่นเดียวกับ pantheism เราทุกคนอยู่ในพระเจ้า แต่แตกต่างกันตรงที่ว่าพระเจ้าของ panentheism คือธรรมชาติ (จักรวาล) และสิ่งที่เหนือไปจากธรรมชาติ (นอกจักรวาล) อีกด้วย พระเจ้าของ panentheism ยังมีรูปแบบของ anthropomorphic ที่มีความห่วงใยมนุษย์ กล่าวโดยสรุป panentheism คือรูปแบบที่อลุ้มอล่วยระหว่าง pantheism และ monotheism



จากอภิธานศัพท์ทั้งหมดคงทำให้ผู้อ่านสามารถตัดสิน พิจารณากันได้บ้างว่าตนเองจัดอยู่ในกลุ่มใด คำถามที่ขอทิ้งท้ายให้ขบคิดกันเล่นๆคือ Spinoza's God ควรจัดอยู่ในกลุ่มใดข้างต้น?




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2554 12:14:14 น.
Counter : 2820 Pageviews.  

นักไวโอลินไตวายผู้ขอพึ่งพาร่างกายของคุณ, จริยธรรมกับการทำแท้ง

วันนี้เห็นกระทู้ดราม่าทำแท้งในหว้ากอ ตอบสนองต่อกระแสข่าวน่าสะเทือนใจในเวลานี้ เปิดอ่านไปได้นิดหน่อยแล้วก็เลิกอ่านเพราะยาวจัด และเริ่มมีตรรกะวิบัติแทรกเป็นกระษัย ประเด็นการทำแท้งถูก-ผิดหรือไม่มีการถกเถียงกันมาช้านานแล้ว มิติของการทำแท้งนั้นซับซ้อน นอกเหนือจากข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทางศาสนา (ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดๆจะต้องถกเถียงให้มากความ เชื่อและปฏิบัติตามอย่างเดียว) ยังมิติทางสังคมศาสตร์ (ปัญหาที่เกิดจากการทำแท้ง v.s. ปัญหาที่เกิดจากการคลอดอันไม่พึงประสงค์) มิติทางวิทยาศาสตร์และนิติศาสตร์ว่าด้วยฟีตัสในครรภ์กำหนดเป็นบุุคคลหรือไม่





ราวปี 1970 Judith Jarvis Thomson นักปรัชญาแห่ง M.I.T. ได้เสนอข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการทำแท้ง (A Defense of Abortion) โดยเข้าข้างการทำแท้งอันท้าทายประเด็นทางจริยธรรมที่ถือว่าฟีตัสในครรภ์จัดเป็นบุุคคลโดยสมบูรณ์แล้ว

หากคุณตื่นขึ้นมาในวันหนึ่งแล้วพบว่าร่างกายของคุณถูกผูกติดอยู่กับนักไวโอลินผู้มีชื่อเสียง ที่นอนหลับใหล หมดสติ ไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆทั้งสิ้น นักไวโอลินดังกล่าวเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย สมาคมผู้รักเสียงไวโอลินสากลได้พยายามทุกวิถีทางที่จะหาหนทางรักษานักไวโอลิน และพบว่าคุณ-เป็นคนเดียวในโลกนี้ที่มีหมู่เลือดเข้ากันได้กับนักไวโอลินทุกประการ คนจากสมาคมจึงลักพาตัวคุณมา วางยาและผ่าตัดคุณให้มีร่างกายผูกติดกับนักไวโอลิน เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตเชื่อมต่อกัน ดังนั้นไตของคุณจะทำหน้าที่กำจัดของเสีย ถ่ายเลือดดีให้แก่นักไวโอลิน กระบวนการรักษาทั้งหมดคือเก้าเดือน นักไวโอลินคงต้องตายหากปราศจากคุณ ทางสมาคมอ้อนวอนขอร้องให้คุณยอมให้นักไวโอลินพึ่งพาร่างกายคุณตลอดเก้าเดือนนี้เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม แน่ละ ถึงแม้ว่าคุณจะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม และคุณต้องรู้สึกไม่สบายไปตลอดระยะเวลาการรักษา ทางสมาคมอ้างว่านักไวโอลินผู้นี้มีสิทธิที่จะมีชีวิต-สิทธิพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ แล้วคุณล่ะ? คุณมีสิทธิที่จะปฏิเสธชีวิตอื่นที่ขอพึ่งพาชีวิตของคุณหรือไม่...

จากข้อโต้แย้งของ Thomson ต่อให้ฟีตัสในครรภ์เป็นบุคคลอย่างสมบูรณ์ และมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดก็ตาม แต่มารดาก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการพึ่งพาครรภ์ของฟีตัส ในเมื่อร่างกายของมารดานั้นเป็นของมารดาโดยสมบูรณ์ และบุคคลใดๆล้วนมีสิทธิต่อร่างกายของตนเอง ดังนั้น การทำแท้งจึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิการดำรงอยู่ของฟีตัส เพราะมารดา-ผู้มีสิทธิต่อรางกายของตนเอง-เพียงแค่ปฏิเสธที่จะให้ฟีตัสพึ่งพาร่างกาย หาใช่เจตนาทำลายชีวิตของฟีตัสไม่ จากข้อโต้แย้งของ Thomson การทำแท้งจึงเป็นการกระทำที่ไม่ผิดจริยธรรม-อย่างน้อยในกรณีที่จำเพาะเจาะจง เช่น การตั้งครรภ์จากการข่มขืน

แน่นอนว่าเมื่อ Thomson เสนอข้อโต้แย้งดังกล่าว ทำให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงนักจริยศาสตร์เป็นอย่างมาก ด้วยการทดลองในความคิดที่ว่า ทำไมการทำแท้งจึงกลายเป็นการกระทำที่ไม่ผิดจริยธรรมไปเสียได้ อย่างน้อยที่สุด นักจริยศาสตร์ฝั่งตรงข้ามได้อ้างว่าข้อโต้แย้งของ Thomson ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ทางเพศอันยินยอมทั้งสองฝ่าย ในกรณีดังกล่าว นักไวโอลินไตวายกับคุณซึ่งถูกลักพาตัวใช้เป็นตรรกะเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะคุณรับรู้ในความเสี่ยงที่จะมีทารกเกิดขึ้น

กระนั้น Thomson ก็ยังเสนอข้อโต้แย้งอื่นตามมา คือ เมล็ดพันธุ์มนุษย์ (People-Seeds)

สมมติว่าในอากาศมีสิ่งที่เรียกว่า "เมล็ดพันธุ์มนุษย์" ล่องลอยอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวฝังรากลง ณ ที่แห่งใดก็ตาม มันจะเจริญงอกงามกลายเป็นบุคคล คุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ต้องการให้เมล็ดพันธุ์เจริญงอกงามในบ้านของคุณ ในการณ์นั้น คุณจึงติดตั้งมุ้งลวดเหล็กดัดบนประตูและหน้าต่างทุกบาน แต่กระนั้น เมล็ดพันธุ์ก็ยังหลุดรอดและฝังรากในบ้านของคุณจนได้ ในมุมมองดังกล่าว มนุษย์จากเมล็ดพันธุ์ไม่มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในบ้านของคุณในเมื่อคุณได้ทำการป้องกันแล้ว (และถึงแม้ว่าคุณเปิดประตูอย่างจงใจก็ตาม) เช่นเดียวกัน ทารก (มนุษย์เมล็ดพันธุ์) ก็ไม่มีสิทธิที่จะพึ่งพาร่างกายของคุณโดยปราศจากความยินยอม (บ้าน) แม้ว่าคุณมีเพศสัมพันธ์อย่างเต็มใจ (เปิดประตูบ้าน)

และแน่นอน ยังคงมีข้อโต้แย้งต่อมุมมองของ Thomson นอกเหนือไปจากนั้น เป็นต้นว่า การเพิกเฉย ปล่อยให้ผู้อื่นตาย-ในกรณีของนักไวโอลิน กับการฆาตกรรมอย่างมีจุดมุ่งหมาย-ในกรณีของการทำแท้ง นั้นแตกต่างกัน หรือบ้างก็โต้แย้งว่า การมีเพศสัมพันธ์ด้วยความยินยอมผูกติดกับความรับผิดชอบในชีวิตของทารกที่จะเกิดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้เกิดข้อสรุปว่าการใช้ร่างกายผู้อื่นเพื่อการอยู่รอดเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้

ในการถกเถียงทางจริยศาสตร์ไม่มีข้อสรุปที่ตายตัว ขึ้นกับเหตุผล ตรรกะที่หยิบยกขึ้นมาใช้โดยปราศจากอารมณ์และอคติ และข้อโต้แย้งทางจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งก็ยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน



ยินยอมให้นำเนื้อหาไปเผยแพร่ หรืออ้างอิงในกรณีถกเถียงเชิงจริยธรรมใดๆโดยไม่ต้องให้เครดิต แต่โปรดรับผิดชอบการใช้เหตุผลของคุณเอง




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2553 18:23:07 น.
Counter : 2668 Pageviews.  

[fallacy] คุณใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมหรือไม่

Fallacy มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ปฤจฉวาที ทุตรรกบท หรือ เหตุผลวิบัติ เหตุผลลวง กล่าวคือ fallacy เป็นการใช้เหตุผลที่ไม่ดี อาจกล่าวเพื่อให้เห็นภาพได้ว่ามันเป็นการใช้เหตุผลอย่างมีเล่ห์ หลอกล่อให้ผู้ฟังยอมรับข้อสรุปที่เสนอด้วยเหตุผลที่ไร้น้ำหนักแต่ฟังดูดี หรือด้วยวิธีการที่ยอกย้อน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าผู้ที่ใช้เหตุผลวิบัติไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เจ้าเล่ห์จริงๆ เพราะมีหลายคนที่ใช้เหตุผลวิบัติโดยไม่รู้ตัว

Fallacy ในทางตรรกศาสตร์แบ่งเป็นหลากหลายชนิด รูปแบบการให้เหตุผลมากมาย มีทั้ง Formal fallacy (เหตุผลวิบัติที่พิสูจน์ความถูกต้องได้โดยเขียนรูปแบบของกฎของความสมเหตุสมผล) และ Informal fallacy (เหตุผลวิบัติที่ไม่จัดในรูปแบบของกฎของความสมเหตุสมผลได้ตายตัว) หากจะให้อธิบายทั้งหมดก็คงจะกินเวลามหาศาลและน่าเบื่อเป็นอย่างยิ่ง จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะที่น่าสนใจและพบได้บ่อยในการถกเถียงในเว็บบอร์ด

อนึ่ง ขอออกตัวก่อนว่า จขบ.ไม่ใช่นักใช้เหตุผลชั้นเลิศ เป็นเพียงนักตรรกศาสตร์มือสมัครเล่นที่ยังคงใช้เหตุผลแบบผิดๆอยู่บ้างในโลกแห่งความจริง ไม่ได้เก่งวิเศษวิโสมาจากไหน ก่อนโพสก็ทำการบ้านมาเยอะ หาข้อมูลตาแฉะ วัตถุประสงค์ของบล็อกนี้นี้คืออยากให้เพื่อนๆอ่านแล้วพิจารณาตนเอง ดูละครแล้วย้อนดูตัว จะได้รู้ว่าเราเองก็เคยใช้เหตุผลผิดๆหรือเปล่านะครับ

Fallacy of accident - ละทิ้งข้อยกเว้น

การสรุปเหตุผลโดยไม่สนใจข้อยกเว้น เป็น fallacy ที่ดูออกง่ายที่สุด แต่ก็ยังมีคนใช้อยู่เนืองๆ เช่น

กระทู้ถามว่าเราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิตใดๆเลยเพราะการฆ่าสิ่งมีชีวิตเป็นการทำความชั่ว ดังนั้นจุลินทรีย์ แบคทีเรีย เชื้อราต่างๆเราก็ไม่ควรฆ่าใช่หรือไม่ กระทู้ดังกล่าวจัดเป็น Fallacy of accident แบบหนึ่ง

“เราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราไม่ควรกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าแบคทีเรีย”

“เราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราไม่ควรช่วยตัวเองครับ”
(อันนี้ไม่เกี่ยวครับ)





Fallacy of relative to absolute - เหมารวม

การสรุปแบบเหมารวม เป็นการสรุปตามโลกทัศน์ของผู้พูด เมื่อผู้พูดประสบกับเหตุการณ์หนึ่งๆเป็นประจำก็มักจะมองหาภาพรวมหรือรูปแบบของเหตุการณ์นั้นๆ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่ผู้พูดประสบมาไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของความจริงทั้งหมดก็ได้ ตรงข้ามกับอันแรก อันนี้ก็เจอบ่อยมากๆในเว็บบอร์ดเช่นกัน

กระทู้ถามว่าจบจากมหาวิทยาลัยไหนดีที่สุด เก่งที่สุด จัดเป็นกระทู้ล่อเป้า และจะล่อ fallacy ชนิดนี้เข้ามาตอบ

“ที่ทำงานผมมีแต่คนจบจากมหาวิทยาลัย A ซึ่งเก่งๆกันทุกคนเลย ดังนั้นคนที่จบจากมหาวิทยาลัย A เก่งทุกคน”

ในบางครั้ง เมื่อเราเข้าไปอ่านกระทู้ในห้องหนึ่งๆ บ่อยครั้งเข้า เราจะตัดสินภาพรวมของห้องนั้นจากประสบการณ์ที่เราเห็น ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิด

“เปิดเข้าไปดูกระทู้ห้องเฉลิมไทยทีไรก็เจอแต่หน้าม้าทุกที ห้องเฉลิมไทยเป็นห้องของพวกหน้าม้า อย่าไปเข้าไปเสียเวลาอ่าน”

“ห้องราชดำเนินมีแต่เสื้อแดงและพวกหัวรุนแรง”


หรืออาจจะกล่าวได้ว่าการเหมารวมคืออคติในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

“โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ออกมากี่รุ่นๆก็แย่ไปหมด รุ่นที่เพิ่งออกใหม่ก็คงเหมือนกัน แย่แบบไม่ต้องรีวิว”

“นักการเมืองที่ผมเคยพบเห็นมีแต่พวกหาประโยชน์ใส่ตน นักการเมืองเป็นพวกโกงกินและทำลายชาติบ้านเมือง”


ในเชิงสังคมศาสตร์ถือว่าข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็น มายาคติ (Myth) คือสิ่งที่เราเชื่อว่ามันเป็นจริงอยู่วันค่ำทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไปก็ได้

“คนไม่มีศาสนาที่ฉันเจอมีแต่พวกหัวรุนแรงทั้งนั้น ดังนั้นคนไม่มีศาสนาเป็นพวกหัวรุนแรง”


Fallacy of begging question- เอาคำถามเป็นคำตอบ

การนำเอาสิ่งที่เป็นประเด็นของคำถามมาเป็นคำตอบโดยทางตรงหรือทางอ้อม คาดคะเนบทสรุปจากข้อคำถามโดยไม่มีการพิสูจน์ใดๆทั้งสิ้น หรืออาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการให้เหตุผลแบบวกวน ใช้ข้อเสนอพิสูจน์บทสรุป และแล้วก็ใช้บทสรุปพิสูจน์ข้อเสนอ

กระทู้ห้องเฉลิมไทยถามว่าทำไมถึงแต่งตั้งให้นางสาวไทยเป็นผู้ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศไทย

“เพราะนางงามจะทำให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น”

ห้องสมุดหมวดปรัชญามีคนตั้งกระทู้ถามว่า ทำไมเราจึงต้องกตัญญูต่อบิดามารดา

“ ความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่ลูกต้องมี”

การตอบแบบนี้จะทำให้บทสนทนาเหมือนการพายเรือในอ่าง ถามเท่าไรก็ไม่ได้คำตอบที่แท้จริง





Fallacy of false cause (post hoc ergo propter hoc) - เพราะว่าสิ่งนี้เกิด…สิ่งนั้นจึงบังเกิด

คือการสรุปว่าเหตุการณ์ A เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ B โดยอาศัยแค่ว่า B เกิดขึ้นตาม A เท่านั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วอาจจะเป็นแค่ความบังเอิญหรือมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง (fallacy of ignoring a common cause) ซึ่งความจริงควรมีการทดลองภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมก่อนที่จะสรุป เช่น

กระทู้นำเสนอข่าวอาชญากรรม เด็กฆาตกรรมคนข้างบ้านโดยเลียนแบบพฤติกรรมในเกมที่เล่นเป็นประจำ

“เด็กคนนี้ติดเกมที่มีความรุนแรงสูงและฆ่าคนโดยเลียนแบบพฤติกรรมในเกม ดังนั้น เกมเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นฆาตกร”

กระทู้สร้างความชอบธรรมให้หนัง AV ญี่ปุ่น

“ในประเทศญี่ปุ่นมีทัศนคติเปิดกว้างอย่างมากเกี่ยวกับหนังโป๊ ประเทศญี่ปุ่นมีอาชญากรรมทางเพศต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นหนังโป๊ช่วยลดอาชญากรรมทางเพศ”

(ในกรณีดังกล่าว จขกท.แค่ยกตัวอย่างการสรุปแบบไม่สมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อมูลยืนยัน ณ ขณะที่ความจริงมีงานวิจัยออกมารองรับประโยคข้างต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาปัจจัยทางสังคมอื่นของประเทศญี่ปุ่นประกอบด้วย)

post hoc ergo propter hoc ยังคงถูกใช้อีกมากตามหน้าหนังสือพิมพ์ประเทศสารขัณฑ์โดยเฉพาะเรื่องเหนือธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ที่มักโยงเหตุการณ์ธรรมชาติบางอย่างกับเหตุการณ์ประหลาด ความบังเอิญที่นานๆเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เช่น พบงูเผือกในบ้านแล้วถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ จึงสรุปว่างูเผือกเป็นผู้นำโชคมาให้เป็นต้น หรือแม้แต่ข่าวนี้…





False dilemma – ทางเลือกลวง

ผู้ให้เหตุผลสร้างทางเลือกขึ้นมาสองทางและบังคับให้เลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้นสำหรับแก้ปัญหา และเนื่องจากทางเลือกหนึ่งในนั้นไม่เป็นที่น่าปรารถนา จึงเป็นการบีบบังคับโดยกลายๆให้อีกฝ่ายเลือกทางที่ตนเองต้องการ ทั้งที่ในความจริงแล้ว คำถามดังกล่าวมีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้นจริงหรือ?

จากกระทู้ประวัติศาสตร์ คุณ coffeecompany หลงป่าประเทศอูกันดา มีผู้ให้ข้อสงสัยและจับผิดเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้ไม่เชื่อถือนั้นมีจำนวนมากกว่า เมื่อสมาชิกบางคนออกมาแสดงความเห็นว่า เป็นการจับผิดกันเกินจริงหรือเปล่า บางทีอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันก็ได้ ก็มีคนออกมากล่าวว่า ความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการจับผิดเป็นสาวกคุณคอฟฟี่ที่คอยออกมาแก้ต่าง ทำให้เกิด false dilemma ขึ้นว่าในเว็บบอร์ดมีคนอยู่เพียงสองประเภทเท่านั้นคือ คนที่ไม่เชื่อคุณคอฟฟี่ กับ สาวกคุณคอฟฟี่

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์พันทิปก็คือ เหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นกับบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้ สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ได้ออกมายึดถนน ชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล ทำลายงานประชุมอาเซียน แล้วอ้างว่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สมาชิกหลายคนในพันทิปกล่าวว่า หากไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนปช.ก็แสดงว่าเป็นพวกพันธมิตร แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนปช.จำเป็นต้องเห็นด้วยกับพันธมิตรหรือไม่






Irrelevant conclusion (ignoratio elenchi) – สรุปมั่วซั่ว

การสรุปแบบไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม นำประเด็นใดประเด็นหนึ่งมาสรุปผลอย่างที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับประเด็นของกระทู้ถาม ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกสบายใจในการให้เหตุผล fallacy นี้มีการใช้บ่อยมากในเว็บบอร์ด โดยมากถูกใช้โดยผู้ไม่มีวุฒิภาวะทางความคิด เนื่องจากยังไม่มีวุฒิภาวะทางความคิดจึงสรุปเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้

เมื่อติงว่าการใช้ภาษาวิบัติในอินเตอร์เน็ตนั้นไม่เหมาะสม ในเว็บเด็กดื้อมีผู้ให้เหตุผลว่า

“ในเมื่อใช้ภาษาวิบัติก็อ่านรู้เรื่องเหมือนกัน การสื่อสารนั้นแค่เข้าใจกันก็ถือว่าพอแล้ว”

“การใช้ภาษาวิบัติ เป็นการประดิษฐ์คำใหม่ให้ดูสร้างสรรค์ แปลกแหวกแนว ไม่เห็นจะไม่เหมาะสมตรงไหน”

“การใช้ภาษาวิบัตินั้นเหมาะสมแล้ว เพราะทำให้พิมพ์ได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา”


ลองพิจารณาดูว่าเหตุผลเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ในการสรุปความ


Slippery slope – ทางลาดชันสู่หุบเหวหายนะ

ผู้พูดนำพาผู้ฟังไปสู่ชุดของเหตุและผลจำนวนมาก และสรุปไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่แย่ที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเอาจริงเข้าแล้ว เหตุการณ์สุดท้ายไม่จำเป็นต้องเกิดจากเหตุการณ์แรกสุด เช่น

กระทู้ไม่สนับสนุนเสื้อผ้าขนสัตว์

“การใช้เสื้อผ้าขนสัตว์เป็นการสนับสนุนการฆ่าสัตว์ หากเราฆ่าสัตว์เพื่อเอาขนสัตว์มาใช้ แสดงว่าเราไม่เคารพสัตว์ ถ้าเราไม่เคารพสัตว์ ก็เท่ากับว่าเราไม่เคารพสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ถ้าเราไม่เคารพสิ่งมีชีวิต เราก็เริ่มฆ่ากันเอง สุดท้ายเราก็ฆ่ากันตายหมด ดังนั้นเราไม่ควรใช้เสื้อผ้าขนสัตว์”

กระทู้การุณยฆาต

“การอนุญาตให้กระทำการุณยฆาตจะนำไปสู่ การเปลี่ยนทัศนคติความคิดของแพทย์ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นการลดคุณค่า ให้ความสำคัญกับชีวิตน้อยลง โดยให้ดูจากกระแสสถานะของการแพทย์ใน US ที่การบีบบังคับด้านการเงินทำให้เกิดความลำบากในการดูแลรักษา ซึ่งเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์แพทย์-คนไข้ ในวิถีทางที่ย่ำแย่ทางศีลธรรม สำหรับระบบการดูแลสุขภาพการตัดสินเรื่องค่าใช้จ่ายจะครอบงำการตัดสินใจของแพทย์ที่จะปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยป่วยมากๆ หรือ ย่ำแย่มากๆ และการดูแลที่พิเศษและค่าใช้จ่ายที่แพงสำหรับคุณภาพชีวิตก็ลดน้อยลงเท่านั้น ดังนั้นทัศนะนี้จะเป็นการเย้ายวนกดดันให้แพทย์ถามถึงการุณยฆาตหรือบางทีก็ฆ่าพวกเขา(ผู้ป่วย)ซึ่งฝืนโดยตรงกับเจตจำนงของพวกเขา”

(ประโยคข้างต้นเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริงในบทความ Do Physicians Have an Inviolable Duty Not to Kill? ของ Gary Seay)





Fallacy of questionable analogy – การเปรียบเทียบอย่างไม่เหมาะสม

เมื่อสิ่งหนึ่งเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งก็นำไปเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันได้ เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนได้ข้อสรุปที่ไม่เหมาะสมในที่สุด เช่น

กระทู้การเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือความเร็วแสง

“แต่ก่อนไม่มีใครคิดว่าจะมีคนวิ่งเป็นระยะทางหนึ่งไมล์ภายในเวลาสี่นาทีหรือความเร็วเสียงจะถูกทำลายลงได้ แต่เราก็ทำได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าความเร็วแสงที่หลายคนเคยเชื่อว่าทำลายไม่ได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตข้างหน้า”

จะเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความเร็วนักวิ่ง ความเร็วเสียงและมาจบที่ความเร็วแสงซึ่งไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้

“หากเรายอมให้กฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างรักร่วมเพศผ่านมติ ต่อไปเราคงยอมให้มีกฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างคนกับสัตว์ด้วยกระมัง”

น่าเศร้าใจที่ตัวอย่างข้างต้นถูกนำมาใช้ในโลกแห่งความจริงโดยพวกต่อต้านรักร่วมเพศ (If we legalize gay marriage, what's stopping us from legalizing so-called "marriages" based on bestiality?) ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ถูกเปรียบเทียบอยู่ในระดับเดียวกัน





Double standard – สองมาตรฐาน

คือการใช้มาตรฐานการตัดสินหรือการปฏิบัติต่างกันในสถานการณ์ที่เหมือนกัน ทั้งๆที่ในสถานการณ์นั้นไม่มีเหตุผลที่สมควรที่จะทำให้มีการใช้มาตรฐานต่างกันเลย

ตัวอย่างสุดคลาสสิค เมื่อมีผู้ตั้งกระทู้ต่อว่าล็อกอินที่คอยเข้ามาโพสว่า “ผ่านมาอ่าน” ทุกความคิดเห็นที่หกสิบห้า มีผู้ให้แสดงความเห็นว่าก่อนหน้านี้ก็มีสมาชิกคนหนึ่งที่คอยเข้ามาโพสว่า “…เข้ามาแล” เฉยๆทุกกระทู้ ไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย

“ไม่รู้สิครับ ผมว่ามันต่างกันนะ คุณ Mr.X เขาอยู่มาก่อน และก็โพสอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ส่วนใครจะมาเลียนแบบนั้นรับไม่ได้หรอกครับ”

หรือเมื่อมีคนถามว่า ทำไมกระทู้นอกเรื่องที่ตั้งโดยสมาชิกท่านหนึ่งถึงยังอยู่ได้โดยไม่ถูกลบ ขณะที่ถ้าเป็นคนอื่นตั้งกระทู้ในลักษณะเดียวกันกลับถูกลบ ก็มีคนให้ความเห็นว่า

“คุณ N เขาเล่นเว็บบอร์ดนี้มาตั้งนานแล้วนะครับ ที่ผ่านมาก็ตอบกระทู้ดี ช่วยเหลือผู้อื่นตั้งมากมาย แค่ตั้งกระทู้นอกเรื่องกระทู้เดียวจะเป็นไรไป”

น่าเศร้าใจอีกครั้งตรงที่ ตัวอย่างทั้งสองที่ยกขึ้นมานั้น เกิดขึ้นจริงเสมอในโลกพันทิป





Argumentum ad Misericordiam – อ้างความน่าเห็นใจ

การขอความเห็นใจเป็นวิธีที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความสงสารหรือเห็นอกเห็นใจในเรื่องที่ผู้พูดประสบ แล้วสรุปเหตุผลตามความเห็นใจนั้น แทนที่จะใช้หลักตรรกะในการพิสูจน์ความ การช่วยเหลือ เห็นใจกันเป็นเรื่องดีจริง แต่ต้องแยกแยะให้ถูกและคำนึงถึงสิ่งอื่นๆด้วยเช่น ความยุติธรรม ความถูกต้อง มาตรฐานสังคม หากเรายอมรับเหตุผลด้วยความเห็นใจในครั้งนี้ จะเป็นผลให้เรายอมรับเหตุผลอื่นๆในสถานการณ์เดียวกันด้วยหรือไม่ เช่น

มีผู้ตั้งกระทู้ถามว่า เด็กผู้หญิงจากชนบทที่มาขายบริการในกรุงเทพฯถือว่าผิดไหม

“เด็กที่มาขายตัวในกรุงเทพนั้นไม่ผิดหรอก เพราะไม่มีการศึกษา บ้านก็ฐานะยากจน หากไม่ขายตัวแล้วเขาจะทำอะไรกิน ใครจะเลี้ยงดูครอบครัวของเขา”

แต่จริงหรือไม่ที่ว่าหากมีเหตุผลที่น่าเห็นใจแล้ว การกระทำนั้นจะถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนั้น การเป็นมือปืนฆ่าคนเพราะความจนก็คงไม่ผิด หรือหากมีคนมาปล้นเงินที่ได้มาจากการขายตัวของคนพูดข้างต้นด้วยเหตุผลเรื่องความจน คนพูดก็ต้องบอกว่าคนปล้นไม่ผิดเช่นกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ฟังดูตลกไปเลย เคยมีคดีว่าเด็กคนหนึ่งกำลังถูกไต่สวนในคดีอาชญากรรมที่ทารุณโหดร้ายที่สุด โดยเขาได้เอาขวานจามศีรษะมารดา และบิดาของตนเสียยับเยิน เมื่อมาถึงศาล เห็นว่าศาลมีพยานหลักฐานต่างๆ มากมายที่รัดตัวจนดิ้นไม่หลุด จึงได้ขอความกรุณาต่อศาลให้ลดหย่อนผ่อนโทษให้ โดยอ้างว่าเพราะตนเป็นกำพร้าทั้งพ่อ และแม่อยู่แล้ว

การร้องขอความเห็นใจพบได้มากในพันทิป สำหรับห้องหว้ากอต้องบอกว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ผล (เช่น ตั้งกระทู้ผิดหมวด โดนกดลบแล้วอ้างว่าหว้ากอใจดำ)


Intentional fallacy – อ้างเจตนา

คือการให้เหตุผลกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์หนึ่งๆว่ามีความชอบธรรมแล้ว เพราะทำไปด้วยเจตนาดี เช่น เมื่อถามว่าแต่งตัวโป๊ไม่กลัวอันตรายหรือ แล้วคนตอบว่าไม่ได้แต่งเพื่อยั่วใคร แต่จริงหรือไม่ที่หากไม่มีเจตนาให้เกิดผลอย่างใดแล้ว ผลอย่างนั้นจะไม่เกิด หากเป็นเช่นนั้น เวลาใส่ทองเส้นโตไปเดินที่โจรชุมก็คงไม่ต้องกลัวอะไรกัน เพราะคนที่ใส่ทองไม่ได้มีเจตนาให้โจรปล้น

มีการตั้งกระทู้บทความดีๆแต่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของห้องหว้ากอ ผู้ตั้งกระทู้ได้ชี้แจงว่า ได้พบบทความดีๆก็อยากจะแบ่งปันให้ชาวหว้ากออ่านกัน แม้จะนอกเรื่องและไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สักกระผีกเลยก็ตาม ในเมื่อเจ้าของกระทู้มีเจตนาดีอย่างนี้แล้วผิดตรงไหน ทำไมกระทู้นี้ถึงจะถูกลบ

จริงหรือไม่ที่เมื่อมีเจตนาดีแล้วการกระทำนั้นจะไม่ผิด หากทุกคนตั้งกระทู้ผิดหมวดโดยอ้างว่ามีเจตนาดี เนื้อหาของห้องหว้ากอจะยังคงเป็นวิทยาศาสตร์อยู่หรือไม่





Argumentum ad Ignorantiam – การอ้างความไม่รู้

เมื่อไม่รู้จึงสรุปแบบไม่รู้ (ทางศาสนาพุทธเรียกว่า อวิชชา) แม้สำมัญสำนึกแล้วเราอยู่แล้วว่าอ้างไม่ได้แต่ก็ยังมีคนอ้าง วิธีนี้มักอ้างอยู่ในรูป “ไม่มีใครรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าสิ่งหนึ่งจริง ฉะนั้นสิ่งนั้นเท็จ หรือในทางกลับกัน ไม่มีใครรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าสิ่งหนึ่งเท็จ ฉะนั้นสิ่งนั้นจริง” เป็นข้ออ้างที่ใช้กันอย่างมากทั้งทางฝั่งวิทยาศาสตร์และศาสนา ดังนั้นจึงพบได้มากที่สุดในกระทู้ความเชื่อปะทะวิทยาศาสตร์

ในเมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า วิญญาณมีอยู่จริงไม่ ดังนั้นวิญญาณไม่มีอยู่จริง

ในเมื่อไม่มีหลักฐานว่าตายแล้วสูญ ดังนั้นโลกหลังความตายมีอยู่จริง


เห็นได้ว่าข้อบกพร่องของ fallacy ชนิดนี้คือการด่วนสรุปโดยที่ยังไม่รู้ความจริง ไม่ว่าวิญญาณจะมีอยู่จริงหรือไม่ เราไม่สามารถสรุปแบบฟันธงลงไปได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์เด่นชัด





Argumentum ad Baculum – ใช้อำนาจเข้าข่ม

Fallacy ชนิดนี้มักถูกใช้ในกรณีที่ผู้ถกเถียงเอาชนะด้วยเหตุผลไม่ได้ ง่ายที่สุดคือการใช้อำนาจเข้าข่มเพื่อให้ยอมรับในเหตุผล จัดเป็นเหตุผลวิบัติที่เล่นกับความกลัวของผู้อื่น (Appeals to fear) โดยที่ผู้พูดอาจมีอำนาจนั้นอยู่ในมือจริงหรือไม่ก็ได้ครับ อย่างเช่น

มิสเตอร์พลังงานกล่าวว่าเขาสามารถออกแบบเครื่องจักรนิรันดร์ที่ให้พลังงานได้อย่างไม่สิ้นสุด แต่ผู้ฟังกลับต่างรู้สึกกังขาและกล่าวว่าผิดกฎเทอร์โมไดนามิกส์ ทุกคนต่างเรียกร้องให้มิสเตอร์พลังงานออกมาชี้แจง มิฉะนั้นก็เป็นพวกลวงโลกดีๆนี่เอง มิสเตอร์พลังงานเถียงด้วยเหตุผลสู้ไม่ได้จึงขู่ว่าจะฟ้องร้องทุกคนที่กล่าวหาว่าเขาเป็นพวกลวงโลก

ในกรณีดังกล่าว มิสเตอร์พลังงานไม่ได้ตอบคำถามผู้ฟัง แต่กลับยกประเด็นเรื่องการฟ้องร้องขึ้นมาเพื่อให้อีกฝ่ายยอมจำนน (หรือเปล่า?)

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจของ Argumentum ad Baculum เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประธาณาธิบดีเชอร์ชิลได้บอกที่ประชุมว่าโป๊ปได้เสนอทางที่ควรปฏิบัติบางประการ แต่สตาลินไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และได้ถามว่า “ท่านว่าโป๊ปมีมีทหารพอจะส่งออกปฏิบัติการในแนวรบได้สักกี่กองพล” สตาลินได้ยกอำนาจ(ทางทหาร)ของตนที่เหนือกว่าเพื่อข่มความเห็นของโป๊ปให้ตกลงไป

หรืออย่างในรูปก็จัดเป็น Argumentum ad Baculum ครับเนื่องจากเป็นการเล่นกับความกลัวของมนุษย์





Argumentum ad Populum – อ้างคนหมู่มาก

การเคารพความเห็นของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งดี การช่วยกันตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เป็นสิ่งดี ความเห็นที่พิจารณาจากคนส่วนใหญ่นั้นมักเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่เสมอไปหรือไม่? หรือบางครั้งการอ้างความเห็นคนส่วนมากอาจไม่ถูกต้องเพราะคนส่วนมากอาจไม่ได้คิดอย่างนั้นจริงๆก็ได้ หรือบางครั้งคนส่วนมากก็อาจเป็นฝ่ายที่ไม่ถูกต้อง เช่น การอ้างว่าใครๆก็ทำกันทั้งนั้น

กระทู้รณรงค์เลิกซื้อขายของละเมิดลิขสิทธิ์

”ผมคิดว่าเรื่องของเถื่อน ผิดลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว อย่าว่าแต่ในบ้านเราเลย จีนนี่ก็ตัวดี มีประชากรกี่ล้านคนล่ะ ใช้ของก็อปกันทั้งนั้น พวกมะกันเองก็เถอะ…”

กระทู้นอกเรื่อง

“ใครๆก็ตั้งกระทู้นอกเรื่องกันทั้งนั้น ทำไมเราจะตั้งกระทู้นอกเรื่องไม่ได้ล่ะ ถ้าจะว่าก็ต้องว่าคนทั้งห้องสิ”

จะเห็นได้ว่าการกระทำหรือความเชื่อของคนหมู่มากไม่จำเป็นต้องถูกต้องหรือดีงามเสมอไป

เราควรพิจารณาว่าเมื่อใดควรอ้างคนส่วนมาก ไม่ควรอ้างพร่ำเพรื่อ มิฉะนั้น เราจะไม่สามารถละทิ้งความคิดที่ผิด ค่านิยมที่ไม่เหมาะสมได้ (อันนี้นอกจากจะเป็นการใช้ตรรกะไม่เหมาะสมแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดปัญหาสังคมอีกด้วย)





Fallacy of accent (Quoting out from context) – ตัดข้อความเพียงส่วนหนึ่งมาอภิปราย

เป็น fallacy ที่น่าเกลียดมากแต่กลับใช้กันเยอะ คือการเถียงแบบศรีธนญชัย ตัดเพียงข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งมาวิพากษ์ การยกเพียงข้อความส่วนหนึ่งของหนังสือ หรือของคำพูดใครก็ตามมาโดยไม่พิจารณาบริบทที่อยู่รอบข้างมีผลทำให้สรุปความแบบผิดๆได้สูงมาก และถือเป็นเทคนิคหนึ่งของ Propaganda อย่างหนึ่ง ลักษณะการใช้เหตุผลดังกล่าวพบมากในห้องราชดำเนิน จนเว็บมาสเตอร์ต้องออกกฎว่าห้ามถกเถียงกันแบบเจ้าถ้อยหมอความ ตีความทีละประโยค เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในห้องอื่นก็ใช่ว่าจะไม่มี ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดเอย (ตีความหนังสือโดยยกมาเพียงหนึ่งประโยค) ห้องศาสนาเอย (ตีความพระคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกจากข้อความเพียงส่วนเดียว-ทั้งที่ฉบับจริงยาวหลายร้อยหน้า) ห้องเฉลิมไทยเอย (ตีความคำพูดดาราโดยการยกมาเพียงประโยค-ไม่ต่างจากนิสัยที่หนังสือพิมพ์หัวสีของไทยชอบใช้กัน-ยกตัวอย่างเช่นกระทู้ดีเจนายหนึ่งเรียกยศสิบเอก, สอ. เป็นสูบอึ) หรือแม้แต่ห้องหว้ากอเองก็มีสมาชิกคนหนึ่งที่ปรากฏตัวเกือบทุกครั้งเมื่อมีกระทู้วิวัฒนาการ สมาชิกคนดังกล่าวจะพยายามตีข้อความ หลักฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการให้ตกลงไปโดยการยกข้อความของความคิดเห็นอื่นมาแย้งทีละประโยคๆ โดยไม่มองภาพรวมทั้งหมดที่ความคิดเห็นต้องการจะสื่อ





Argumentum ad Hominem – โจมตีบุคคล

กล่าวคือการนำประเด็นของคุณลักษณะ ประวัติส่วนตัวของบุคคลมาร่วมในประเด็นการโต้เถียง ในการโต้แย้งกันนั้นเราต้องการพิสูจน์ว่าเหตุผลของใครถูกขอใครผิด และเหตุผลจะถูกหรือผิดนั้นไม่ได้ขึ้นกับว่าใครเป็นผู้พูด หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หากสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักเหตุผล ไม่ว่ามันจะออกมาจากปากของใครมันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกอยู่วันยังค่ำ ดังนั้น การโจมตีที่ตัวผู้พูด จึงไม่ใช่เหตุผลว่าสิ่งที่กำลังตัดสินกันอยู่ถูกต้องหรือไม่

"ความจริงของประโยค ไม่ขึ้นกับผู้ที่พูดประโยคนั้น และไม่ขึ้นกับเจตนาในการพูดประโยคนั้น"

การโจมตีบุคคลจะเล่นกับประเด็นที่กำลังตัดสินกันอยู่หรือไม่ก็ได้ เช่น มีคนให้ความเห็นการรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็มีผู้ออกมาแย้งว่าผู้พูดเป็นพวกมังสวิรัติจึงพูดอย่างนี้ (โจมตีเกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง) หรือมีคนให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการสปอยของห้องเฉลิมไทยว่าไม่จำเป็นต้องขึ้นหัวกระทู้ทุกกรณีก็ได้ ก็มีผู้ออกมาแย้งว่าผู้พูดตอบเกรียนๆมาหลายกระทู้แล้ว ดังนั้นคำพูดในกระทู้นี้ก็เชื่อถือไม่ได้ (โจมตีไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง)

การโจมตีบุคคลเป็น fallacy ที่พบได้บ่อยที่สุดในโลกไซเบอร์ เมื่อการทะเลาะถกเถียงเกิดขึ้นในเว็บบอร์ด สิ่งที่เราพบคือประวัติส่วนตัวของฝ่ายหนึ่งจะเริ่มถูกขุดคุ้ยและประจานให้เสื่อมเสีย หรือไม่ก็เล่นที่การใช้ภาษา (จัดเป็น Ad Hominem เช่นกัน เนื่องจากไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง) ทั้งนี้ไม่ได้กล่าวว่าความผิดที่กระทำไม่สมควรประจาน หรือภาษาที่ผิดไม่จำเป็นต้องตำหนิเพื่อแก้ไข แต่เราควรแยกแยะประเด็นให้ออกจากกันระหว่างการโจมตีที่ตัวบุคคลกับเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากการโจมตีบุคคลจะทำให้การตัดสินมีอคติได้





Argumentum ad Hominem Tu Quoque – แกก็เหมือนกัน ดังนั้นฉันไม่ผิด

คือ Ad Hominem อีกรูปแบบที่พบได้มากไม่น้อยหน้ากัน พูดง่ายๆคือกล่าวว่าอีกฝ่ายเองก็(เคย)กระทำตรงข้ามกับสิ่งที่พูด ดังนั้นข้อความที่พูดออกมาจึงเชื่อถือไม่ได้ เช่น คุณหนุ่ยกล่าวว่าการดื่มเหล้านั้นไม่ดีต่อสุขภาพแต่ตัวคุณหนุ่ยเองก็ยังดื่มเหล้าอยู่ เด็กหญิงโหน่ยฟังแล้วก็คิดว่าสิ่งที่คุณหนุ่ยพูดนั้นไม่น่าจะถูกเพราะถ้าการดื่มเหล้าไม่ดีจริง ทำไมคุณหนุ่ยถึงยังดื่มล่ะ เมื่อเราพิจารณาดูแล้วอาจจะเริ่มคล้อยตามและมองว่าการให้เหตุผลของเด็กหญิงโหน่ยแบบนี้ไม่เห็นจะผิดตรงไหน จึงอยู่ที่ว่าการดื่มเหล้าทำให้คำพูดของนายหนุ่ยไม่น่าจะเชื่อถือแต่ไม่ได้พิสูจน์ว่าข้อความที่นายหนุ่ยพูดนั้นเป็นสิ่งที่ผิด

ตัวอย่างกระทู้ห้องเฉลิมกรุงเกี่ยวกับการซื้อซีดีเถื่อน หรือโหลดเพลงจากอินเตอร์เนต

นาย A : การซื้อซีดีเถื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เราไม่ควรสนับสนุนทุกรูปแบบ
นาย B : การโหลดเพลงจากอินเตอร์เนตก็มักง่ายเหมือนกัน ไม่ควรทำเพราะเป็นการส่งเสริมการละเมิดลิขสิทธิ์
นาย C : น่าจะมีกฎหมายที่ออกมาควบคุมเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเสียทีนะ
นาย D : แหม อยากถามว่าพวกที่ไม่เห็นด้วยๆกันเนี่ย ใช้วินโดว์แท้กันหรือเปล่าครับ ถ้าเปล่าก็อย่ามาพูดดีกว่า
นาย A, B, C : …..


การซื้อซีดีเถื่อน หรือโหลดเพลงจากอินเตอร์เนตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าผู้พูดจะเคยซื้อ เคยใช้ของผิดลิขสิทธิ์ใดมาก่อนก็ไม่ทำให้ความจริงนี้เปลี่ยนแปลงไปได้





Strawman fallacy – หุ่นไล่กา

Strawman เป็นการโจมตีที่ช่องโหว่ของเหตุและผล กล่าวคือพยายามเบี่ยงประเด็นจากสิ่งที่โต้แย้งได้ยาก ไปสู่สิ่งที่มีช่องโหว่เยอะๆ ที่สามารถเถียงได้ง่ายกว่า หรืออาจจะเป็นการโจมตีบุคคลโดยดึงประเด็นที่อ่อนไหวมาขยายความให้ดูใหญ่โตและโต้เถียงได้ยาก อันเป็น fallacy ที่พวกเทพในเว็บบอร์ดชอบใช้เพื่อให้ตัวเองชนะ และยังเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นอีกวิธีหนึ่งด้วย

กระทู้รักชาติ

นาย A : ความคลั่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก่อให้เกิดความรุนแรงต่างๆตามมาได้
นาย B : เพราะชาติทำให้ผมมีชีวิตได้อยู่ทุกวันนี้ หากจะให้ทำอะไรเพื่อชาติผมทำได้ทั้งนั้น จะว่าคลั่งชาติก็ได้ แล้วตัวคนพูดล่ะรักชาติหรือเปล่า ถึงได้มากล่าวว่าคนอื่นคลั่งชาตินั้นไม่ดี


จะเห็นได้ว่านาย A ไม่ได้พูดเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองไม่รักชาติ แต่ถูกยกเป็นเป้าโจมตีขึ้นมาเฉยๆ

กระทู้เสียตัววันวาเลนไทน์

นาย A : ผมเห็นว่าเราคงห้ามไม่ให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันในวันวาเลนไทน์ไม่ได้ เราควรรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อและท้องก่อนวัยอันควร
นาย B : อ๋อ จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฟรีเซ็กส์ใช่ไหม แค่นี้ภาพลักษณ์ประเทศไทยก็แย่ไม่พอหรือไง! จะให้ยุให้เสียตัวกันในวันวาเลนไทน์เลยใช่ไหม


นาย A ยังไม่ได้พูดเลยว่าสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ เขาเสนอทางป้องกันอื่นที่อาจจะเหมาะสมกว่า แต่นาย B กลับยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ทำให้นาย A ถูกมองในแง่ลบ








References

จำนง ทองประเสริฐ. ตรรกศาสตร์: ศิลปะแห่งการนิยามความหมายและการให้เหตุผล. 2517. พิมพ์ครั้งที่ 5. แพร่พิทยา.
ปรีชา ช้างขวัญยืน. การใช้เหตุผล: ตรรกวิทยาเชิงปฏิบัติ. 2538. พิมพ์ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชัชชัย คุ้มทวีพร. ตรรกวิทยา. 2534. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมประสงค์ น่วมบุญลือ. หลักแห่งเหตุผล. เอกสารประกอบการสอนคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ปกรณ์ สิงห์สุริยา. เหตุผลวิบัติ.
David Roberts. Reasoning: Other Fallacies.
//atheism.about.com/library/FAQs/skepticism
//www.nizkor.org/features/fallacies/index.html#index
//gotoknow.org/blog/neutral/206114
//www.fallacyfiles.org

------------------------------------------------------------------------

สุดท้ายนี้จขบ.ก็ต้องขออภัย หากไปกัดจิกใครเข้าจนรู้สึกแสบๆคันๆ (ตัวอย่างที่เกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ เรียนให้ทราบว่าจขบ.ไม่ได้คิดเองแต่ยกตัวอย่างมาจากตำราตรรกศาสตร์) ทั้งนี้ก็ขอให้เชื่อเถอะว่าพวกเราต่างใช้ fallacy ทุกๆวันโดยไม่รู้ ไม่รู้ว่าเป็นการใช้เหตุผลแบบไม่เหมาะสม ถามว่ามีข้อเสียไหม แน่นอนอยู่แล้ว การใช้เหตุผลอย่างไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาด นำไปสู่คำตอบที่ไม่สมเหตุสมผล หรือคำตอบที่ได้มาโดยมิชอบ (กึ่งบังคับให้ความเห็นอีกฝ่ายยอมจำนน) ก็หวังแค่ว่า ก่อนที่เราจะโต้เถียงกันเรื่องอะไรก็ขอให้พิจารณากันก่อนว่าเราใช้เหตุผลอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ครับ




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2552    
Last Update : 3 มิถุนายน 2552 18:38:48 น.
Counter : 4099 Pageviews.  

โลกนี้ไม่มีซุปเปอร์ฮีโร่

1. ซุปเปอร์ฮีโร่ต้องเป็นผู้เสียสละ ปัญหาใดๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้---ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือแสนสาหัส ซุปเปอร์ฮีโร่ต้องตามไปแก้ไข ไม่มีข้ออ้างว่าวันนี้เป็นวันหยุด ไม่มีข้ออ้างว่าวันนี้เหน็ดเหนื่อย ไม่สามารถปฏิเสธ/เลือกได้ว่าจะแก้ปัญหาไหน ฮีโร่ต้องรับใช้ประชาชน 24 ชม. ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ ฮีโร่จะถูกประณามว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว

2. ซุปเปอร์ฮีโร่ไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตส่วนตัว ประวัติของฮีโร่จะถูกขุดคุ้ยไม่มีที่สิ้นสุด ทุกแง่มุมของชีวิต ทุกการกระทำจะถูกตีแผ่โดยสื่อมวลชนหรือเหล่าแฟนคลับที่คลั่งไคล้ ซุปเปอร์ฮีโร่คงมีครอบครัวไม่ได้ หรือถ้ามี พวกเขาคงน่าสงสารมาก

3. ซุปเปอร์ฮีโร่ต้องเลือกฝั่งเลือกข้าง เลือกจุดยืนบนโลกใบนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆจะเรียกร้องเชิงบังคับให้ซุปเปอร์ฮีโร่อยู่ฝั่งเดียวกับเขา แต่ฮีโร่ควรจะเลือกอยู่ฝั่งไหน? ใครจะตอบได้ อะไรคือสิ่งที่ถูก-อะไรคือสิ่งที่ผิดสำหรับโลกใบนี้

4. มีคนรักซุปเปอร์ฮีโร่นับไม่ถ้วน ย่อมมีคนชังนับอนันต์ ทั้งคนที่สูญเสียผลประโยชน์จากการดำรงอยู่ของฮีโร่โดยตรง ทางอ้อม หรือแม้แต่ความหมั่นไส้เกลียดชังโดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ ความเกลียดชังของมนุษย์นั้นรุนแรง

5. ร่างกายของซุปเปอร์ฮีโร่ต้องอุทิศแด่วิทยาศาสตร์ นักวิจัยคงกระหายที่จะศึกษาถึงสาเหตุของพลังพิเศษ ความโลภเกิดขึ้นได้ง่ายๆด้วยเจตนารมย์ตั้งต้นที่น่าจะดี

6. เกิดศาสนานิกายที่บูชาซุปเปอร์ฮีโร่ เมื่อความชื่นชมเปลี่ยนเป็นความศรัทธา ความศรัทธาของมนุษย์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้แต่ก็มีอานุภาพทำลายล้างอย่างน่ากลัว อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งถูกบูชาดุจเทพเจ้า?

7. ซุปเปอร์ฮีโร่จะยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ของตนไปได้อีกนานแค่ไหน จิตใจจะเข้มแข็ง มั่นคงตลอดไปหรือไม่ อะไรจะเป็นหลักประกันว่าเขาจะไม่กลายเป็นบุคคลที่ชั่วร้าย ใช้อำนาจในทางที่ผิด ในเมื่อพลังของเขาเหนือกว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกนี้?

Superhero ไม่มีในชีวิตจริง หรือแม้แต่การยกย่องให้บุคคลหนึ่งๆเป็น Superhero ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควร







 

Create Date : 21 ธันวาคม 2551    
Last Update : 21 ธันวาคม 2551 9:14:25 น.
Counter : 1129 Pageviews.  

รวมวาทะ

เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง


หลวงพุทธทาส




โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ




เกิดกรณีบ่อยนัก ที่เรามักล่ามโซ่จองจำตนเอง
และไม่เคยรู้คิดเลยสักนิดเลยว่าเรามีลูกกุญแจไขปลดเปลี้ยงโซ่นั้น

So often it happens that we live our lives in chains,
and we never even know, we have the key.


Eagles




ผู้คนทั่วๆไปมักไม่ค่อยอยากพูดว่าฉันรักคุณ
พออยากจะพูดก็สายเสียแล้ว หรือไม่ก็ความรักสูญสลายไปแล้ว
ฉะนั้นเมื่อฉันพูดกับคุณว่าฉันรักคุณ
มิได้หมายความว่าคุณจะไม่จากฉันไปเลย
ฉันเพียงแต่ภาวนาว่าคุณคงไม่เกิดความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

People so seldom say I love you.
And then it’s either too late or love goes.
So when I tell you I love you,
it doesn’t mean I know you’ll never go--
Only that I wish you didn’t have to---.


Laurence Craig-Green.




ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย
อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น
อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning;
for what was great in the morning will be little at evening,
and what in the morning was true will at evening have become a lie.


C.G. Jung.




ดูเหมือนว่าจะมีกฎเกณฑ์ทางนามธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าเราจะไม่ประสบชัยชนะ (ความสำเร็จ) หรือจะไม่ได้รับความสนุกสนาน ถ้าไม่ยอมล้มเลิกหรือเสียสละอะไรง่ายๆ

There seems to be a spiritual law
whereby nothing can be wholly won or enjoyed
without something being given up or sacrificed for it.


Otto Rank




โลกนี้คือโรงละครใหญ่
ชายหญิงนั้นไซร้เปรียบตัวละครนั่น
ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน
คนหนึ่งนั้นย่อมเล่นตัวนานา
(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชนิพนธ์ ทรงแปลจากกลอนข้างล่างนี้)

All the world’s a stage,
And all the men and women merely players;
They have their exits and their entrances,
And one man in his lifetime plays many parts.


William Shakespeare, As You Like It, P.38



ทีแรก ข้าพเจ้าสงสารทุกคน ไม่สงสารตัวเองเลย
ครั้นแล้ว ข้าพเจ้าสงสารตัวเอง ไม่สงสารใครๆเลย
เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าสงสารพวกเราทุกคน ในโลกอันโศกสถิตนี้

First I had pity for everyone but myself;
and then I had pity for no one but myself.
And now I pity all of us in this miserable world


John Gardner.
Gudgekin the Thistle Girl.



ขอพระเป็นเจ้าทรงประทานขันติธรรมให้ข้าพเจ้ายอมรับได้
ซึ่งสิ่งที่ไม่อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้
ทรงประทานความแกล้วให้ข้าพเจ้ากล้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ซึ่งสิ่งที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้
และทรงประทานปัญญาให้ข้าพเจ้าทราบ
ซึ่งความต่างกันของสิ่งทั้งสองประเภทนี้

God grant me the serenity to accept
the things that cannot change;
the courage to change the things that can.
And the wisdom to know the differences.


Anonymous.




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2551    
Last Update : 2 ธันวาคม 2551 13:16:32 น.
Counter : 718 Pageviews.  

1  2  

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.