คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี
เหตุผลว่าทำไมผู้หญิงต้องมีวัยหมดประจำเดือน (menopause)

ภาวะหมดประจำเดือน (menopause) คือความเสื่อมของรังไข่ที่นำไปสู่การหมดความสามารถในการสืบพันธุ์โดยสิ้นเชิงในเพศหญิง โดยเกิดในช่วงอายุประมาณ 40-50 ปี คุณลักษณะดังกล่าวดูเหมือนจะพบได้เฉพาะในมนุษย์เท่านั้น ขณะที่แทบไม่พบโดยสิ้นเชิงในอาณาจักรสัตว์

ในมุมมองเชิงวิวัฒนาการ ภาวะหมดประจำเดือนไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสิ่งมีชีวิต และไม่น่าถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ หากมีตัวเลือกระหว่างมนุษย์ที่สืบพันธุ์ต่อไปได้เรื่อยๆไม่สิ้นสุดจวบจนอายุขัย กับมนุษย์ที่สามารถสืบพันธุ์ได้จนถึงช่วงอายุหนึ่ง จากนั้นจึงหมดความสามารถในการสืบพันธุ์ไป มนุษย์ประเภทแรกน่าจะถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection)ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ประเภทหลังกลับถูกคัดเลือกให้มีชีวิตรอด และเป็นบรรพบุรุษของพวกเราทุกคนในปัจจุบัน ก่อให้เกิดคำถามทางชีววิทยาที่น่าสนใจว่า เหตุใดมนุษย์จึงวิวัฒน์ภาวะหมดประจำเดือน

ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผมขอทบทวนความรู้เชิงสรีรวิทยาของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะหมดประจำเดือนครับ

อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงคือรังไข่ (ovary) ภายในรังไข่ประกอบด้วยเซลล์ไข่ (oocyte) หรือเซลล์สืบพันธุ์ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยฟอลลิเคิล (follicle) ในจำนวนที่จำกัด โดยเริ่มต้นที่ประมาณ 2 ล้านฟอลลิเคิล (oogonia) เมื่อแรกคลอดและไม่เพิ่มจำนวนอีกเลยตลอดชีวิต ฟอลลิเคิลจะเสื่อมสลายไปอีกจนเหลือประมาณ 400,000 ฟอลลิเคิลเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นสาว นอกจากนี้บางฟอลลิเคิลก็ไม่เจริญต่อไปอีกเลย การสืบพันธุ์ของเพศหญิงเกิดเป็นวงจร ในแต่ละวงจรจะมีการเจริญของฟอลลิเคิลเพียงกลุ่มหนึ่ง และมีเพียงหนึ่งฟอลลิเคิลเท่านั้นที่เกิดการตกไข่ (ovulation) กล่าวโดยสรุป ตลอดช่วงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งจะมีฟอลลิเคิลประมาณ 400-500 ฟอลลิเคิลเท่านั้นที่เกิดการเจริญเปลี่ยนแปลงจนมีไข่ตก ฟอลลิเคิลนอกจากเป็นที่อยู่ของเซลล์สืบพันธุ์แล้วยังมีเซลล์อื่นๆประกอบซึ่งทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อระบบสืบพันธุ์

ภาวะหมดประจำเดือนคือความเสื่อมของรังไข่ ฟอลลิเคิลจะสลายไปเกือบหมด ที่ยังเหลืออยู่ก็ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศอีกต่อไป เมื่อไม่มีฟอลลิเคิลที่ทำงานได้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศหญิงก็จะลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่เกิดการตกไข่ นอกจากนี้เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะบางลง น้ำหลั่งและมูกในช่องคลอดน้อยลง เต้านมมีขนาดเล็ก และผลต่อระบบอื่นๆในร่างกาย โดยสรุปแล้วภาวะหมดประจำเดือนทำให้การสืบพันธุ์ของเพศหญิงสิ้นสุดลง เป็นไปไม่ได้ และไม่เหมาะแม้แต่กระทั่งความพยายามที่จะให้เกิดเช่น เยื่อบุโพรงมดลูกที่บางลงไม่เหมาะสมให้เกิดการฝังตัวของไข่ที่ถูกปฏิสนธิ สภาวะช่องคลอดที่เปลี่ยนแปลงไม่เหมาะต่อการร่วมเพศและการเดินทางของอสุจิ เต้านมที่เล็กลงไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงดูบุตร



เหตุใดธรรมชาติจึงสรรสร้างภาวะหมดประจำเดือนมาเป็นของขวัญ (?) แด่มนุษย์ นักชีววิทยาหลายคนตั้งคำถาม แต่บางคนเลือกที่จะเพิกเฉยโดยให้ทัศนะว่าเป็นกระบวนเสื่อมสลายตามวัยโดยทั่วไปของร่างกาย เช่นเดียวกับการเสื่อมของกระจกตา การทำงานของไตที่ลดลง ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ความเสื่อมเป็นสัจธรรมของสิ่งมีชีวิต ระบบการทำงานของร่างกายถดถอยตามอายุที่มากขึ้น ภาวะหมดประจำเดือนอาจเป็นความเสื่อมปกติที่มนุษย์ต้องเผชิญ แต่เป็นปัญหาโดดเด่นขึ้นเมื่ออายุขัยเรายืนยาวกว่าในอดีต

แต่คำอธิบายดังกล่าวไม่สมบูรณ์ทันที เมื่อเราเทียบกับระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย เพศชายสามารถสืบพันธุ์ได้เรื่อยๆจนหมดอายุขัย เราคงเคยได้ยินกรณีของบิดาที่มีอายุมากกว่า 60 ปีบ่อยๆ และคุณพ่ออายุมากกว่า 70 ปีก็มีบันทึกไว้ในสถิติโลก แน่นอนว่าจำนวนอสุจิในเพศชายนั้นลดลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่ความสามารถในการสืบพันธุ์นั้นไม่ได้สูญเสีย และไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิงเมื่ออายุถึงจุดๆหนึ่งอย่างเช่นในเพศหญิง นอกจากนี้ภาวะดังกล่าวก็แทบไม่พบในสัตว์สปีชี่ส์อื่น มีการรายงานถึงภาวะเป็นหมันในสัตว์อายุมากที่อาศัยในป่า หรือสัตว์ที่มีอายุขัยยืนยาวกว่าปกติที่อาศัยในสวนสัตว์ แต่จำนวนหลักฐานก็ไม่มากพอที่จะกำหนดข้อสรุปหรือนิยามของภาวะแบบเดียวกับการหมดประจำเดือนในมนุษย์

สัตว์สองชนิดที่อาจมีภาวะใกล้เคียงกับการหมดประจำเดือนในมนุษย์มากที่สุดคือหนูออสเตรเลียที่มีถุงหน้าท้อง (Australian marsupial mouse) ซึ่งตัวผู้มีรูปแบบการสืบพันธุ์แบบบิ๊กแบง (big bang reproduction) คือหลังจากสืบพันธุ์กับตัวเมีย ราวสิงหาคมตัวผู้ทั้งหมดจะกลายเป็นหมันจากนั้นก็ตายในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ทิ้งประชากรเพศเมียจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวก็ไม่สามารถเทียบเคียงการหมดประจำเดือนได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีช่วงหลังหมดประจำเดือน (ที่ยังดำรงชีวิตต่อไปได้) อย่างในมนุษย์ สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีภาวะใกล้เคียงกับการหมดประจำเดือนกว่าคือปลาวาฬเพชฌฆาต (killer whale) ซึ่งตัวเมียจะมีการเสื่อมของรังไข่เมื่ออายุราว 30-40 ปีและดำรงชีวิตต่อไปได้อีกราว 14 ปีหลังจากนั้น

ดังนั้น ภาวะหมดประจำเดือนก็ไม่ได้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในมนุษย์เสียทีเดียว เรายังมีญาติอีกหนึ่งสายพันธุ์คือปลาวาฬเพชฌฆาต แต่ก็ใช่ว่าเราจะสืบทอดภาวะหมดประจำเดือนจากปลาวาฬเพชฌฆาต เพราะเรามีบรรพบุรุษร่วมกับปลาวาฬเพชฌฆาตเมื่อราวห้าสิบล้านปีที่แล้ว ในขณะที่มีบรรพบุรุษร่วมกับไพรเมตใกล้ชิดอย่างกอริลล่าหรือชิมแพนซีเมื่อราวเจ็ดล้านปีก่อน แต่ทั้งกอริลล่าและชิมแพนซีต่างไม่มีภาวะหมดประจำเดือนเหมือนกับเราและปลาวาฬเพชฌฆาต ดังนั้นเป็นไปได้ว่าทั้งเราและปลาวาฬเพชฌฆาตต่างวิวัฒน์ภาวะหมดประจำเดือนขึ้นมาอย่างเป็นเอกเทศ นั่นทำให้ภาวะหมดประจำเดือนเป็นคุณลักษณะที่น่าจะมีความหมายสำคัญมากขึ้น

เพื่อตอบคำถามว่าทำไมมนุษย์เพศหญิงถึงมีภาวะหมดประจำเดือน เราลองมาพิจารณาพฤติกรรมและรูปแบบการสืบพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์กันครับ มนุษย์มีพฤติกรรมการสืบพันธุ์ตลอดทั้งปี ตั้งครรภ์เฉลี่ยยาวนาน 9 เดือน มีบุตรโดยเฉลี่ยครั้งละ 1 คน เมื่อคลอดบุตรแล้วเพศหญิงจะเป็นหมันไประยะหนึ่งตลอดช่วงให้นมบุตร (lactational amenorrhea) และเด็กต้องพึ่งพาพ่อแม่ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายปีกว่าที่จะช่วยเหลือตนเองได้สมบูรณ์ จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการสืบพันธุ์ของมนุษย์เป็นการลงทุนที่สูงมาก สิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่าย (ในรูปแบบของแคลอรี่และเวลา) มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นในอาณาจักรสัตว์

เมื่อเปรียบกับการลงทุนที่ต่ำกว่าในสัตว์อื่นๆ หนูตะเภาตั้งครรภ์ราว 4 สัปดาห์มีลูกครั้งละ 12 ตัว หย่านมราว 1 เดือนและหาอาหารเองได้ทันทีหลังจากนั้น บางคนอาจบอกว่ามันดูไม่ยุติธรรมเมื่อเทียบกับหนูตะเภาที่มีอายุขัยสั้นมาก กระบวนการทุกอย่างจึงรวดเร็วได้เปรียบกว่า แต่หากตัดประเด็นเรื่องระยะเวลาที่ใช้ก็ยังมีประเด็นของจำนวนที่เหนือกว่ามนุษย์ หรือลองเปลี่ยนมาพิจารณาญาติใกล้ชิดอย่างกอริลล่าและลิงชิมแพนซี กอริลล่ามีระยะเวลาตั้งครรภ์ใกล้เคียงกับมนุษย์มากคือเฉลี่ย 8 เดือนครึ่ง ส่วนลิงชิมแพนซีใช้เวลาเพียง 6 เดือน จำนวนบุตรที่คลอดนั้นเท่าเทียมกันคือเฉลี่ยครั้งละ 1 คน (แฝดเกิดขึ้นได้แต่โอกาสน้อยมาก) แต่ทั้งกอริลล่าและลิงชิมแพนซีมีการลงทุนในการสืบพันธุ์ต่ำกว่ามนุษย์ในประเด็นของการพึ่งพิงพ่อแม่ ลูกลิงสามารถหาอาหารด้วยตนเอง ช่วยเหลือตนเองได้หลังจากหย่านมแม่ทั้งสองสายพันธุ์

หากยังคงเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ จะพบว่าการลงทุนด้านการสืบพันธุ์ของมนุษย์ยังครองตำแหน่งที่สูงด้วยปัจจัยที่ควรเน้นเป็นพิเศษคือการพึ่งพิงพ่อแม่ของลูก มนุษย์มีรูปแบบสังคมที่พิเศษกว่าสัตว์อื่นมาก เด็กต้องพึ่งพิงพ่อแม่เป็นระยะเวลานานเกือบสิบปีเพื่อที่จะเรียนรู้การใช้เครื่องมือ การประกอบอาหาร ภาษา ทักษะทางสังคมและทักษะการอยู่รอดอื่นๆจากพ่อแม่ และยาวนานขึ้นไปอีกถึงวัยเจริญพันธุ์ในยุคปัจจุบันเมื่อมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นหน้าที่ของแม่จึงไม่ได้หมดแค่การคลอดและให้นมลูก หากแต่ยังต้องดูแลจนกว่าลูกจะช่วยเหลือตนเองได้

อีกประเด็นสำคัญที่สมควรเน้นคือ ในการลงทุนดังกล่าว แม่ต้องลงทุนมากกว่าพ่อ แม้ว่าส่วนแบ่งทางพันธุกรรมจะเท่าเทียมกันเนื่องจากลูกได้รับยีนจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง (ส่วนแบ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะแสวงหาผลประโยชน์จากพันธุกรรมของลูก แต่เรากำลังพูดในมุมมองเชิงชีววิทยา ซึ่งสิ่งมีชีวิตมีเป้าหมายในการถ่ายทอดพันธุกรรมหรือยีนของตนเองของตนเองให้ได้มากที่สุดครับ) แต่การเจริญของไข่ที่ถูกปฏิสนธิเกิดขึ้นในครรภ์ของผู้หญิง แม่จึงต้องลงทุนมากกว่าพ่อโดยปริยาย เนื่องจาก 1) ผู้หญิงต้องสูญเสียพลังงานในการหล่อเลี้ยงครรภ์ 2) ผู้หญิงต้องสูญเสียโอกาสในการสืบพันธุ์ระหว่างตั้งครรภ์ขณะที่ผู้ชายไม่ 3) ผู้หญิงมีความมั่นใจในทายาทมากกว่าผู้ชาย (เนื่องจากทารกอยู่ในครรภ์ของตนเอง) การลงทุนที่ไม่เท่าเทียมกันนี้เกี่ยวข้องอะไรกับคำถามที่เราสงสัย ผมจะเฉลยในตอนท้ายครับ

การตายระหว่างคลอดมีสาเหตุหลักประการหนึ่งคือน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์ ผู้หญิงหนัก 45 กิโลกรัมสามารถคลอดลูกที่มีน้ำหนักราว 2.7 กิโลกรัม หรือ 6% ของน้ำหนักตัว ในขณะที่ลิงกอริลล่าหนักสองเท่า (90 กิโลกรัม) คลอดลูกหนักเพียง 1.3 กิโลกรัม น้ำหนักตัวที่มากและการพัฒนาของกะโหลกศีรษะที่ใหญ่เป็นพิเศษในมนุษย์ทำให้การคลอดเป็นภาระอันหนักหน่วงและทรมานมากในผู้หญิง ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงที่จะตายระหว่างคลอดในภาวะที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ และหากแม่ตายระหว่างคลอดลูกในขณะที่ลูกคนก่อนหน้ายังไม่พ้นวัยที่ช่วยเหลือตนเองได้ อัตราการอยู่รอดของลูกคนก่อนหน้าก็จะลดลงไปด้วย

อัตราการตายระหว่างคลอดจะเพิ่มขึ้นตามอายุของแม่ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ตามมาในผู้หญิงมีลูกขณะอายุมากเช่น การแท้ง ทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ความผิดปกติทางพันธุกรรมเช่น โรคดาวน์ซินโดรม (1 ใน 1,000 กรณีมีบุตรช่วงอายุก่อน 30 ปี, 1 ใน 300 กรณีมีบุตรช่วงอายุ 35-39 ปีและ 1 ใน 50 กรณีมีบุตรช่วงอายุ 40-45 ปี) ดังนั้นการมีลูกเมื่ออายุมากจึงไม่เป็นผลดีเลยในมนุษย์ และร้ายแรงถึงขั้นกระทบต่อความอยู่รอดของยีนที่ส่งต่อไปแล้ว (ลูกคนก่อนหน้า) ธรรมชาติจึงคัดเลือกมนุษย์เพศหญิงที่หยุดความสามารถในการสืบพันธุ์ไปเลยเมื่ออายุถึงจุดสมควรให้อยู่รอดต่อไป มีโอกาสส่งต่อยีนไปยังลูกหลานมากกว่า ความอยู่รอดของผู้หญิงไม่ได้ส่งผลแค่การอยู่รอดของลูก (ส่วนแบ่งทางพันธุกรรม 50%) แต่ยังส่งผลถึงการอยู่รอดของหลาน (ส่วนแบ่งทางพันธุกรรม 25%) อีกด้วย เนื่องจากสังคมมนุษย์มีความพิเศษอีกประการหนึ่งคือการอยู่ร่วมเป็นวงศาคณาญาติ หญิงที่แก่ชราจะมีส่วนร่วมในการแบ่งเบาภาระของมารดาโดยการช่วยเลี้ยงดูบุตรหลาน เพิ่มโอกาสอยู่รอดของเด็ก



และเหตุที่เพศชายไม่มีภาวะที่เทียบเคียงกับการหมดประจำเดือนก็เนื่องจากการลงทุนที่น้อยกว่าดังที่ผมกล่าวมาข้างต้น ร่วมกับข้อเท็จจริงอันเลือดเย็นที่ว่า ผู้ชายไม่ต้องคลอดจึงไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะตายระหว่างคลอด และผู้ชายก็ไม่มีความเสี่ยง (หรือมีน้อยมาก) ที่จะตายระหว่างร่วมเพศ ดังนั้นกิจกรรมทางเพศของผู้ชายจึงดูจะให้ผลกำไรมากกว่าผู้หญิง ถึงแม้ผู้หญิงคู่ครองตายระหว่างคลอด ผู้ชายก็สามารถหาคู่สืบพันธุ์ใหม่ได้เรื่อยๆ ด้วยเหตุนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ชายจะต้องหยุดความสามารถในการสืบพันธุ์เมื่ออายุมากขึ้นแต่อย่างใด (อะไรนะครับ ได้ยินเสียงบ่นแว่วๆว่าผู้ชายทำไมดูเห็นแก่ตัวจัง - -")

แน่นอนว่าคำอธิบายทั้งหมดนี่เป็นการตอบคำถามในมุมมองของชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ (evolutionary biology) ที่อาจมีส่วนถูกหรือผิดก็ได้ ไม่สามารถสรุปฟันธงได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากข้อจำกัดในการศึกษา เราไม่สามารถทดลองตรวจสอบผลได้ หรือถ้าทำได้ก็คงยากมากที่จะอยู่รอสังเกตผลที่เกิดขึ้นในสเกลหลักแสนหลักล้านปีครับ ในอนาคตข้างหน้าเราอาจพบหลักฐาน หรือการศึกษาในสายพันธุ์เทียบเคียงอย่างปลาวาฬเพชฌฆาต ที่ช่วยให้เราเข้าใจระบบสรีรวิทยาอันพิศวงของการสืบพันธุ์ก็ได้ครับ





แนะนำหนังสืออ่านเพิ่มเติม

สำหรับข้อมูลที่ใช้เขียนบทความนี้ เรียบเรียงจากบท Making more by making less ในหนังสือชื่อ Why Is Sex Fun?: The Evolution of Human Sexuality ของ Jared Diamond ครับ เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมากเนื่องจากผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญและอธิบายเรื่องยากๆให้เข้าใจโดยละเอียด เนื้อหาอื่นๆที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้เช่น ทำไมมนุษย์จึงวิวัฒน์ระบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamy)ทำไมเพศชายจึงไม่วิวัฒน์การให้นมบุตร เพศสัมพันธ์เพื่อความสนุกเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นต้น





Create Date : 28 พฤษภาคม 2554
Last Update : 28 พฤษภาคม 2554 11:48:41 น. 2 comments
Counter : 8636 Pageviews.

 
หญิงเรา มือก็ไกว (เปล) ดาบก็แกวง(สู้ชีวิต)
ชายสนุกสนานเพื่อขยายพันธ์ ดูๆก็ไม่แฟร์เท่าไหร่นะ

แต่ถ้าได้เกิดใหม่ ก็ยังอยากเกิดเป็นหญิงอยู่ดี
เพราะหญิงม่ีชัยชนะชายเสมอมา เรื่องความเป็นแม่

Behind all the successful men, there is always a woman.
ก็คุณแม่ของคุณเองไงคะ (ไม่คุณแม่ ก็แม่คุณ. 555)

ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ







โดย: ธารน้อย วันที่: 29 พฤษภาคม 2554 เวลา:1:49:47 น.  

 
การปวดประจำเดือนเกิดจาก ระบบการไหลเวียนเลือดผิดปกติ ทำให้ประจำเดือนขับออกไม่หมด เลือดจับตัวกันเป็นก้อน ทำให้มดลูกบีบตัวแรงเพื่อขับออกแต่ขับไม่ออก จึงปวดท้อง วิธีแก้ไขก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีลองกินสมุนไพร อย่างเลดี้ คาร์เวียน่า ที่ช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล ภายในดี ภายนอกก้ดีตาม


โดย: vitamin_noie วันที่: 26 มีนาคม 2556 เวลา:11:40:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.