คนเกิดวันพุธ ความทุกข์โถมทับทวี
หากโลกนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม...

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่ปีใหม่ ด้วยบล็อกทบทวนว่าปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ทั้งนี้สมมติว่าโลกเพิ่งกำเนิดเมื่อต้นปี วันที่ 1 ม.ค.นะครับ


ทางโบราณคดีแบ่งโลกเป็น 3 มหายุค (era) แต่ละมหายุคแบ่งออกเป็นยุค (period) และแต่ละยุคแบ่งออกเป็นสมัย (epoch) ตามเหตุการณ์ทางธรณีและชีววิทยา ดังนั้นแต่ละมหายุคจึงมีระยะเวลาไม่เท่ากันครับ




มหายุคทั้งสาม Paleozoic, Mesozoic และ Cenozoic ตามลำดับ แต่ละยุคมีระยะเวลาไม่เท่ากัน (Click เพื่อขยายภาพ)



ก่อนมหายุคทั้งสามเรียกว่า Pre-cambrian ซึ่งกินเวลายาวนานราว 4,000 ล้านปีหรือราว 11 เดือนกว่าๆ

มหายุคที่ 1 คือมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic era) ซึ่งแบ่งเป็นยุคย่อยๆดังนี้

๐ ยุคแคมเบรียน (Cambrian peroid)
๐ ยุคออร์โดวีเชียน (Ordovician period)
๐ ยุคไซลูเรียน (Silurian period)
๐ ยุคดีโวเนี่ยน (Devonian period)
๐ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferus period)
๐ ยุคเปอร์เมี่ยน (Permian period)


มหายุคที่ 2 คือมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic era) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ยุคดังนี้

๐ ยุคไทรแอสซิก (Triassic Period)
๐ ยุคจูแรสซิก (Jurassic Period)
๐ ยุคครีเทเชียส (Cretaceous Period)


มหายุคที่ 3 คือมหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic era) แบ่งเป็น 2 ยุค

๐ ยุคเทอร์เทียรี (Tertiary Period)
๐ ยุคควอเทอร์นารี(Quaternary Period)





เปรียบเทียบเหตุการณ์ตามมาตรกาลเวลา ย่นย่อ 4,600 ล้านปีให้เหลือเพียง 1 ปี (Click เพื่อขยายภาพ)



วันที่ 1 ม.ค. กำเนิดโลก
4,600 ล้านปีที่แล้ว


เมื่อโลกถือกำเนิดขึ้นมาเป็นครั้งแรก มันดูแตกต่างจากตอนนี้อย่างสิ้นเชิง คล้ายลูกกลมของก๊าซที่ร้อนระอุ เต็มไปด้วยลาวาและเปลวเพลิง ต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปี ผิวนอกของโลกจึงค่อยๆเย็นลงและแข็งตัวกลายเป็นลูกหินขนาดยักษ์ กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยลาวาและทะเลเพลิงที่ลุกโหม

บรรยากาศในช่วงแรกประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนียและมีเทน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาสันดาปภายในและบนผิวโลก ไม่มีน้ำอยู่เลย หรือแม้แต่ออกซิเจนก็มีน้อยมากๆ ต้องคอยอีกหลายร้อยล้านปีจึงจะมีมากพอที่จะวัดค่าได้

แล้วน้ำมาจากไหน

ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าน้ำมาจากอุกกาบาตครับ (หรือบ้างก็ว่าเกิดจากปฏิกิริยาระหว่าง H2 และ O2 แต่อย่างที่บอกไป O2 ในยุคแรกของโลกมีน้อยยิ่งกว่ายิ่งครับ) โลกในยุคแรกปราศจากชั้นบรรยากาศ จึงเปรียบเสมือนเป้าชั้นดีให้เหล่าเทวดายิงอุกกาบาตเล่น อุกกาบาตที่พุ่งชนผิวโลกจำนวนมากมายมหาศาลเพิ่มเนื้อมวลให้โลกและนำน้ำมาเติมเต็มให้โลกนี้ด้วย เมื่อตกกระทบผิวโลกที่ร้อนระอุ น้ำก็ระเหยเป็นไอน้ำอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นชั้นบรรยากาศยุคแรก

ไอน้ำที่มีปริมาณมหาศาลจนอิ่มตัวบนชั้นบรรยากาศก็มีอันต้องควบแน่นเป็นหยดน้ำ ตกลงมาเป็นฝน เมื่อน้ำฝนตกสู่ผิวโลกที่ยังคงร้อนมากก็ระเหยกลายเป็นไอน้ำกลับสู่ชั้นบรรยากาศอีก ตกกลับมาฝน วนเวียนเช่นนี้ไม่รู้จบเกิดเป็นฝนที่ยาวนานที่สุดใน(ก่อน)ประวัติศาสตร์ กระบวนการดังกล่าวช่วยลดอุณหภูมิของโลกลงอย่างเรื่อยๆ

สุดท้ายเมื่ออุณหภูมิของโลกเย็นลงพอ มหาสมุทรก็เกิดขึ้น การเกิดมหาสมุทรนี้เป็นขั้นตอนสำคัญยิ่ง เนื่องจากมหาสมุทรเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดชีวิตทั้งปวงครับ




โลกในยุคแรกเต็มไปด้วยอุกกาบาตที่ตกลงมาบนพื้นผิวที่ลุกเป็นไฟ



วันที่ 15 มี.ค. กำเนิดสิ่งมีชีวิต
3,600 ล้านปีที่แล้ว


ทะเลในยุคแรกต่างจากทะเลในยุคปัจจุบันรวมไปถึงทะเลที่ชาวหว้ากอชอบออกกันบ่อยๆอย่างมาก องค์ประกอบของแร่ธาตุที่ต่างจากปัจจุบัน รสชาติก็น่าจะออกเปรี้ยวมากกว่าเค็ม ต้องรอหลายล้านปีกว่าที่แร่ธาตุจะถูกชะล้างลงมาสะสมกันมากพอจนทะเลมีรสชาติออกเค็ม

ทะเลในยุคแรกมีแร่ธาตุหลายชนิดละลายปะปนกันอยู่จำนวนมาก ทั้งคาร์บอน ไนโตรเจน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ซัลเฟอร์ และโลหะหนัก เนื่องจากในช่วงแรกบรรยากาศโลกขาดแคลนทั้งออกซิเจนและโอโซน จึงแทบจะปราศจากตัวดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ รังสี UV ที่ทะลุทะลวงลงไปในโลกท้องทะเลเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาเคมีชั้นดีร่วมกับสภาวะอื่นๆเช่น ความร้อน ความดัน ทำให้ทะเลเปรียบเสมือนห้องครัวที่ผลิตสารเคมีซับซ้อนหลายชนิดอย่างน่าอัศจรรย์ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นน้ำซุปแห่งชีวิต (primordial soup)

ด้วยเหตุนั้น ชีวโมเลกุลง่ายๆจึงเริ่มบังเกิดขึ้นครั้งแรกบนโลกนี้ ทั้งน้ำตาล นิวคลีโอไทด์ กรดไขมันและกรดอะมิโน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แม้แต่นักชีววิทยาในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด โมเลกุลเหล่านั้นเกิดการรวมตัวเป็นสายยาว อยู่ร่วมกันและสามารถจำลองแบบและเพิ่มจำนวนได้ด้วยตนเอง (central dogma DNA --> RNA --> Protein คำถามที่ยังเป็นปริศนาในปัจจุบันคือกระบวนการที่สารเคมีดังกล่าวมารวมตัวกันแล้วทำให้เกิด central dogma นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดกล่าวว่า ในยุคแรก RNA น่าจะเป็นสารพันธุกรรมแทนที่จะเป็น DNA เนื่องจาก RNA มีคุณสมบัติทั้งเป็นข้อมูลพันธุกรรม (genetic information) และตัวเร่งปฏิกิริยา (enzyme) ได้ในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อนและจะไม่พูดถึงในที่นี้ หากสนใจ อ่านเพิ่มเติมได้ใน reference ที่ผมอ้างอิงได้ครับ)

กลุ่มสารเคมีที่สามารถจำลองและเพิ่มจำนวนตนเองได้อยู่ร่วมกันในโครงสร้างที่มี lipid bilayer ล้อมรอบ ด้วยเหตุนี้เซลล์ในยุคแรกก็เกิดขึ้น จากนั้นสิ่งอัศจรรย์อื่นๆก็ตามมาเมื่อเซลล์เหล่านั้นวิวัฒน์ตัวเองให้สามารถอยู่รอดได้นานขึ้น ถ่ายทอดข้อมูลพันธุกรรมของตนเองต่อไปได้ไม่รู้จบ ทั้งการฟอร์มถุงเล็กๆภายในเซลล์เพื่อกักเก็บโปรตีนบางชนิดที่ทำหน้าที่เฉพาะ การรวมกลุ่มกันของสารพันธุกรรมให้มีโครงสร้างและหน้าที่จำเพาะ หรือการ “กลืนกิน” เซลล์ขนาดเล็กกว่าแล้วเกิดการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยเช่น ไมโทครอนเดรีย หรือแม้แต่การพัฒนา “เพศ” ก็เกิดในยุคนี้เช่นกัน รังสี UV จากดวงอาทิตย์ทำให้การกลายพันธุ์ของเซลล์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สิ่งมีชีวิตในยุคแรกใช้พลังงานในการดำเนินกิจกรรมภายในเซลล์โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำได้ผลผลิตเป็นคาร์โบไฮเดรตและก๊าซออกซิเจน กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดก๊าซออกซิเจนปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ สิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งมวลบนโลกในยุคถัดไป




รูปแสดงวิวัฒนาการของเซลล์



(กิจกรรมของเหล่าโปรคาริโอต (สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเยื่อหุ้มออร์แกแนลล์) และเหล่ายูคาริโอต (สิ่งมีชีวิตที่มีเยื่อหุ้มออร์แกแนลล์) ในยุคแรกมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดที่น่าสนใจมากกว่านี้ครับ จขบ.แนะนำว่าควรอ่านหนังสือเพิ่มเติม หากมีความสนใจในเรื่องนี้)


วันที่ 16 พ.ย. ยุคแคมเบรียน (Cambrian peroid)
570 ล้านปีที่แล้ว


ไม่น่าเชื่อที่ทะเลถูกครองด้วยเหล่าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่ไม่ซับซ้อนยาวนานกว่าสามพันล้านปี ก่อนที่จะเกิด “ระเบิด” ทางชีวภาพ นักชีววิทยาต่างพากันฉงนที่จู่ๆสิ่งมีชีวิตทุกไฟลัม (ยกเว้น phylum bryozoa) ก็เกิดอุบัติมาพร้อมๆกันในช่วงเวลาเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Cambrian explosion หรือ Biological Big Bang ครับ

ยุคแคมเบรียนเป็นยุคที่จู่ๆก็มีสิ่งมีชีวิตบังเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหน้าตาก็ล้วนแปลกประหลาดอัศจรรย์ทั้งสิ้น ครั้งแรกฟอสซิลของพวกมันถูกขุดค้นพบในเหมืองร้างอีเดียคาร่า (Ediacara) ทั้งหมด พวกมันจึงถูกเรียกว่า “สิ่งมีชีวิตจากอีเดียคาร่า” ครับ (แม้ในกาลต่อมาจะถูกค้นพบฟอสซิลในบริเวณอื่นๆของโลกก็ตาม)

สิ่งมีชีวิตแห่งอีเดียคาร่ามีอะไรบ้าง จะลองยกตัวอย่างดูนะครับ




เริ่มต้นด้วยเจ้าไทรโลไบต์ (Trilobites) ซึ่งแพร่กระจายครอบครองมหาสมุทรแทบทุกบริเวณบนโลกนี้ ลักษณะคล้ายแมงดาทะเลหรือกิ้งกือทะเลตัวแบนที่มีร่างเป็นข้อปล้องและระยางค์จำนวนมากด้านล่างเก็บกินซากอินทรีย์ใต้พื้นทะเล




คาร์เนีย (Charnia) หนอนใบไม้ที่พบกระจัดกระจายทั่วท้องทะเลไม่แพ้ไทรโลไบต์ นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าใบไม้ของมันทำหน้าที่คล้ายซี่หวีกรองอาหารครับ




โอปาบีเนีย (Opabenia) หนอนทะเลที่มีดวงตาห้าดวง ขากรรไกรรูปคีม นักล่ายุคแรกๆแห่งทะเลโบราณ




ฮัลลูซิจีเนีย (Hallucigenia) หนอนทะเลที่มีเดือยแหลมเจ็ดคู่ไว้ป้องกันตัวจากนักล่า หน้าตาของมันชวนให้ผู้เห็นคิดว่านี่เราประสาทหลอน (Hallucination) ไปหรือเปล่านะ




ตัวสุดท้ายที่จะยกตัวอย่างคือ เจ้าพิคาเอีย (Pikaia) บรรพบุรุษของพวกทั้งมวลในปัจจุบัน เนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่มีอวัยวะเป็นแกนสันหลังหรือโนโตคอร์ด (notocord) นั่นเองล่ะครับ

กล่าวโดยสรุป สิ่งมีชีวิตในยุคแคมเบรียนอาจแบ่งได้อย่างง่ายๆเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ที่น่าสังเกตคือยังไม่มีพืชชั้นสูงเกิดขึ้นเลยในยุคนี้

(1) กลุ่มสาหร่าย ผู้ผลิตออกซิเจนสู่ชั้นบรรยากาศโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
(2) กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ต้องหากินอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามที่ยกตัวอย่างมาแล้ว
(3) กลุ่มแบคทีเรียที่มีโครงสร้างและการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายที่ยังมีอยู่ถึงในปัจจุบัน


Cambrian explosion เปรียบเสมือนบทโหมโรงของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในยุคต่อๆมา เนื่องจากเป็นยุคแรกที่สิ่งมีชีวิตมีตา (แม้จะเป็นตาประกอบและประสิทธิภาพก็ยังอาจจะด้อยกว่าแมลงวัน) ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ได้เห็นโลกนี้อย่างที่มันควรจะเป็น จากเดิมที่ต้องคลำทางหาอาหารแบบสะเปะสะปะ นักล่า เหยื่อ การแข่งขัน การคัดเลือกเพื่อการอยู่รอดเริ่มขึ้นอย่างจริงจังก็เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้ครับ



Create Date : 02 มกราคม 2552
Last Update : 3 มกราคม 2552 14:47:17 น. 2 comments
Counter : 6217 Pageviews.

 
ชะแว๊บ แอบตามเข้ามาดู


โดย: 76 (KuMp ) วันที่: 5 มกราคม 2552 เวลา:14:38:13 น.  

 
เข้ามาขอความรู้นะคะ

ขอบคุณมากค่ะ


โดย: สมองสวย จิตใจงาม (สมองสวย_จิตใจงาม ) วันที่: 21 มีนาคม 2552 เวลา:4:06:26 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]






....โลกมนุษย์นี้ไม่มีที่แน่นอน
ประเดี๋ยวเย็นประเดี๋ยวร้อนช่างแปรผัน
โชคหมุนเวียนเปลี่ยนไปได้ทุกวัน
สารพันหาอะไรไม่แน่นอน
ชีวิตเหมือนเรือน้อยล่องลอยอยู่
ต้องต่อสู้แรงลมประสมคลื่น
ต้องทนทานหวานสู้อมขมสู้กลืน
ต้องจำฝืนสู้ภัยไปทุกวัน
เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน
เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์
แต่คนที่ควรชมนิยมกัน
ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา


พันตรีหลวงวิจิตรวาทการ





เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาสิ่งที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
เรื่องที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนที่มีดีเพียงส่วนเดียว
อย่าเที่ยวเสาะหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง

หลวงพุทธทาส





ชีวิตใกล้ปัจฉิมวัย ไม่เป็นไปตามแผนการเมื่อปฐมวัย อะไรที่ยิ่งใหญ่เมื่อเช้า เป็นของเล็กน้อยเมื่อเย็น อะไรที่เป็นสัจจะเมื่อแดดจ้า กลายเป็นมายาเมื่อยามพลบ

We cannot live the afternoon if life
according to the program on life’s morning; for what was great in the morning will be little at evening, and what in the morning was true will at evening have become a lie.



C.G. Jung.




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มีชีวิตบนดาวอังคารหรือเปล่านะ's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.