๑ สิ่งเหล่าใดเกิดมาเพราะมีเหตุทำให้เกิด พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้นเพราะหมดเหตุ
๒ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
๓ อย่าทำชั่ว ให้ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
๔ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์แล้ว หามีอะไรเกิดอะไรดับไม่
๕ ถ้าเราไม่พึงมี ของเราก็ไม่พึงมี , ตัวเราของเรา ก็คือ อุปาทานขันธ์๕
Group Blog
 
All blogs
 

คัมภีร์มรณะ - หลวงปู่พุทธอิสระ

คัมภีร์มรณะ - หลวงปู่พุทธอิสระ
บุคคลผู้ปรารถนาดีจะเจริญมรณสติ
พึงพิจารณาด้วยอาการ 8 อย่างดังนี้


1. สัตว์ทุกชนิด เมื่อมีชีวิตต้องรับทัณฑกรรมคือความตายในที่สุด พิจารณาให้รู้ชัด ลงไปว่า สรรพชีวิตทุกชนิดเมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมพาเอาความเสื่อม เก่าแก่ และตายมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ประดุจดังชีวิตที่เกิดอยู่ในแดนประหารมีเพชรฆาต ถือมีดและปืนจ่อรออยู่ เมื่อถึงเวลาก็ลงมือประหารชีวิตนั้นโดยมิรีรอ ชีวิตเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เหมือนดั่งพระอาทิตย์ที่ขึ้นทางทิศตะวันออกแล้วกำลังเดินทางไปสู่ทิศตะวันตก ในที่สุดแสงนั้นก็ลับหายไปจากขอบฟ้า ไม่มีใครสามารถเรียกให้พระอาทิตย์นั้นเดินทางย้อนกลับมาได้ มีแต่ว่าต้องรอให้ถึงวันใหม่ (นั่นคือการเกิดของอีกชีวิตหนึ่ง)
ชีวิตนี้เหมือนดังก้อนหิน ใหญ่ตั้งอยู่บนยอดเขา แล้วกลิ้งลงมาสู่ ตีนเขาเบื้องล่าง ไม่สามารถจะหยุดยั้งให้หยุดระหว่างกลางเขาได้ จนท้ายก็ต้องตกลงมากระทบพื้นเบื้องล่างแตกกระจาย น้ำค้างบนยอดหญ้าเมื่อกระทบกับลมและแดด ย่อมเหือดแห้งไปฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ เมื่ออุบัติขึ้นมาแล้ว ย่อมต้องตายไปฉันนั้น ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่เที่ยงในชีวิตคือความตาย

2. พิจารณาถึงความวิบัติแห่งสมบัติทั้งปวง อันมี
ทรัพย์สิน เงินทอง ลาภสักการะ เกียรติยศ ศักดิ์ศรีชื่อเสียง อำนาจวาสนา เรือกสวนไร่นา ข้าทาสบริวารหญิงชาย แม้แต่องค์อินทร์ยังเสื่อมจากทิพยสมบัติที่มีเมื่อถึงกาลที่ต้องวิบัติ สาอะไรกับเราท่านทั้งหลาย จะรอดพ้นจากวิบัติ ได้กระนั้นหรือ

สมบัติทั้งหลายจักวิบัติได้ด้วยลักษณะดังนี้
วิบัติโดยความหมดไป สิ้นไป
วิบัติโดยเวรภัยต่างๆ
วิบัติโดยความเสื่อมเก่า คร่ำคร่า
วิบัติโดยความแตกร้าว บุบสลาย ทำลาย พินาศไป
วิบัติโดยความสูญหาย
วิบัติโดยหมดวาสนา บารมี

3. ระลึกถึงความตายของผู้อื่น แล้วน้อมเข้ามาเปรียบกันตน เช่น
เวลาไปงานศพ ในที่ต่างๆหรือฟังข่าวสารการมรณะของคนและสัตว์ ก็ให้น้อมมาระลึกว่า โอ้หนอ...แม้แต่ท่านผู้มียศ ใหญ่ วาสนาดี มีบุญมาก ซ้ำยังประกอบไปด้วยความแข็งแรง มีกำลังวังชาประดุจพญาช้างสาร มีปัญญารอบรู้ เฉลียวฉลาด มีฤทธิ์อำนาจมากมาย ยังต้องตาย สาอะไรกับเราเป็น ผู้ด้อยกว่าเขาด้วย ประการทั้งปวง จะล่วงพ้นความตายไปได้กระนั้นหรือ

4. พิจารณาถึงกายนี้ว่าเป็นรังของโรค
เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่มองไม่ เห็นด้วยตาเปล่า สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆที่เกาะกลุ่มกันจนกลายเป็นแผ่นหนังห่อหุ้มกายนี้ เมื่อเซลล์ผิว หนังเหล่านี้ตาย ก็จักบังเกิดเซลล์ตัวใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนเซลล์เหล่านี้เกิดและมีชีวิตอยู่ด้วย น้ำเลือดที่ประกอบไปด้วยสารอาหารที่กายนี้ดื่มกินเข้าไป แล้วยังต้องอาศัยอากาศที่หมุนวนอยู่รอบๆกาย น้ำที่ซึมซาบอยู่ในกายเป็นเครื่องอยู่ กายนี้นอกจากประกอบด้วยเซลล์ผิวหนัง เซลล์เนื้อ เซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก เซลล์เยื่อกระดูก เซลล์ไขกระดูก แล้วยังมีเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบของอวัยวะทั้งหลายภายในกายนี้
สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เล็กๆเหล่านี้ ต่างพากันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วตายไป สับเปลี่ยนหมุนเวียน กันอยู่เช่นนี้ จนกว่าเหตุปัจจัยของการเกิดแห่งเซลล์ชีวิตเหล่านี้ จักหมดสิ้นอายุและขาดตอนลง นอกจากกายนี้ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตเล็กๆอื่นอีกหลายชนิด ที่เป็นเซลล์ของร่างกายแล้ว กายนี้ก็ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆอื่นอีกหลายชนิด ที่อิงอาศัยเกาะกินส่วน ต่างๆของกายนี้ เช่น ถ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆนั้น อาศัยอยู่ที่ผิวหนังก็จักเกาะกินเซลล์ผิวหนัง
อาศัยอยู่ที่เนื้อก็เกาะกินเซลล์เนื้อ อาศัยอยู่ที่พังผืดและเอ็นก็เกาะกินพังผืดและเอ็น อาศัยที่กระดูกก็เกาะกินกระดูก อาศัยอยู่ที่เยื่อกระดูก ก็เจาะกินเยื่อในกระดูกนั้น นอกจากจะเกาะกินเซลล์ต่างๆภายในกายนี้แล้ว มันยังขับถ่าย ผสมพันธุ์ เกิด ตาย อยู่ในที่ที่มันอาศัยอยู่นั้นอีกด้วย
กายนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นที่อาศัยสาธารณะของสิ่งมีชีวิต หรือ เชื้อโรคเล็กๆ ทั้งหลายเป็นจำนวน มาก กายนี้เป็นที่ผสมพันธุ์ เป็นที่เกิด เป็นที่ถ่ายของเสีย เป็นที่หมักหมดของโสโครก เป็นป่าช้า เป็นรังของโรคร้ายต่างๆ นอกจากกายนี้เป็นป่าช้า คือ เป็นทีตายของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ทั้งหลายแล้ว เป็นเหตุให้เกิดโรคร้ายแก่กายนี้แล้ว กายนี้ยังมีเหตุให้ถึงแก่ความตายอย่างง่ายดาย จากภายนอก อีกนานัปการ เช่น โดนสัตว์มีพิษน้อยใหญ่ขบกัดตาย
โดนอาวุธซัดตาย หกล้มตาย ตกจากที่สูงตาย ได้รับอุบัติภัยต่างๆแล้วตาย เกิดลมกำเริบภายในแล้วตาย หิวตาย กระหายตาย อิ่มตาย ฯลฯ พิจารณาให้เห็นว่า เหตุของความตายแห่งกายนี้มีมากมาย ง่ายดายเหลือเกิน ตายโดยมิเลือก เวลา นาที วัน เดือน ปี และสถานที่

5. พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่าชีวิตนี้เป็นภาระยิ่งนัก
เป็นความรุงรังที่ต้อง คอยบริหาร ชีวิตนี้เมื่ออุบัติขึ้นมาแล้วไม่มีคุณสมบัติที่จักดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง กายนี้ต้องพึ่งพิงอิง อาศัยสรรพชีวิต สรรพสิ่งต่างๆมากมาย เช่น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ยังต้องอาศัยบิดา มารดา หรือผู้ ปกครอง อุปการะเลี้ยงดู ต้องอาศัยอากาศหายใจ กายนี้ต้องอิงอาศัย ดิน น้ำ ลม ไฟ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และปัจจัยต่างๆอีกมากมาย
ชีวิตนั้นนอกจากจะต้องพึ่งพิงอิงอาศัยปัจจัยต่างๆมากมายแล้ว ชีวิตและกายนี้ ยังต้องอาศัย ความพยายามที่จักมีบริหาร ให้อยู่ในอริยาบถ 4 อย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ยืน เดิน นั่ง นอน จักขาดอริยาบถใดอริยาบถหนึ่งไม่ได้และจักมีอริยาบถใดมากเกินไปก็เจ็บปวด เป็นทุกข์ทรมาณ จนบางครั้งบางท่านถึงขนาดล้มป่วยและตายลงในที่สุด
กายนี้นอกจากจะไม่มีเอกภาพ ในความดำรงอยู่ด้วยตัวเองแล้ว กายนี้ยังประกอบไปด้วย ธาต ุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ต้องอิงอาศัยการบริหารจัดการดูแลรักษาให้ธาตุทั้ง 4 ภายในกายนี้ ดำรงสมดุลต่อกันและกัน ต้องเพียรพยายามประคับประคองมิให้ธาตุใดกระเพื่อม พร่อง เกิน มิเช่นนั้นกายนี้ก็จักตั้งอยู่มิได้ จะต้องได้รับทุกข์ทรมาณเจ็บปวดจนตาย เพราะฉะนั้น ชีวิตและกายนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุพพลภาพ พร่องอยู่ตลอดเวลา เราทั้งหลายจึงต้อง มีงานอันหนัก ตั้งแต่เกิดจนตาย

6. ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเครื่องหมายว่าจักตายในขณะใด
บางพวกอาจตายเสียก่อนตั้งแต่ยังเป็นดวงจิตวิญญาณที่ล่องลอยไปตามอำนาจกรรมก็มี บางพวกอาจจักตาย ในขณะที่เป็นเปรตเสียก็มี บางพวกก็ตายในขณะที่เป็น ก้อนเนื้ออยู่ในครรภ์มารดาได้ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือน 5 เดือน 6 เดือน 7 เดือน 8 เดือน 9 เดือน 10 เดือน บางพวกก็ตายหลังจาก ออกมาจากครรภ์มารดาแล้วก็มี
ชีวิตและกายนี้ ไม่แน่ว่าจักตายในขณะใด จักตายในเวลาไหน จักตายด้วยโรคอะไร ตายด้วยอาการเช่นไร ตาย ณ สถานที่ไหน ความตายเป็นของไม่แน่ แต่ที่แน่ๆ ทุกคนต้องตาย เมื่อตายแล้วก็ไม่แน่ว่า จักไปเกิดในที่ใด บางพวกตายจากอัตภาพเทวดา ก็มิใช่ว่าจักมาเกิดเป็นมนุษย์ อาจจะไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ แล้วแต่ บุญทำ กรรมส่ง ชีวิตนี้ จึงดูมิได้มีเครื่องหมายบอกให้เรารู้เสียเลยจริงๆ


7. มองให้เห็นตามเป็นจริงว่า เวลาแห่งชีวิตนี้น้อยนัก
บางพวกก็มีอายุแค่หนึ่งร้อย ส่วนที่เกินร้อยนั้นมีน้อยนัก ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ไม่ถึงร้อย ชีวิตนี้มักจะมีอายุขัยน้อยนัก อายุขัยของชีวิตนี้เปรียบดัง ฟองน้ำที่ปรากฏอยู่บนผิวน้ำ บัดเดี๋ยวก็แตกกระจาย ชีวิตและร่างกายนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต่างมีเวลาและวาสนาในการดำรงชีวิตอยู่ไม่เท่ากัน เหมือนดังฟองน้ำบนผิวน้ำ ที่ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง และในที่สุดก็จักต้องแตกดับลงอย่างรวดเร็ว
อายุขัยของชีวิตนี้เปรียบเหมือน รอยไม้ที่ขีดลงบนพื้นผิวน้ำปรากฏประเดี๋ยวเดียวก็หายไป ดูว่าชีวิตช่างไม่มีอะไรเที่ยงแท้ เสียจริงๆ แม้แต่สรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เมื่อปรากฏขึ้นแล้ว ก็มิได้มีอะไรคงทนถาวรตลอดกาลตลอดสมัยเหมือนน้ำตกที่ไหลจากที่สูง มีแต่จักไหลลงไปสู่ เบื้องล่างแต่ถ่ายเดียว ชีวิตไม่ว่าจักเริ่มต้นจากสูง ต่ำ ปานกลาง ยาว สั้น เล็ก ใหญ่ ประการใด สุดท้ายก็ต้องตกลงไปสู่ความตายในที่สุด ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้ เหมือนดังน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ มิมีใครห้ามได้ เหมือนชิ้นเนื้อที่วางไว้บนกะทะเหล็กที่ร้อนแรง เนื้อนั้นก็มีแต่จักไหม้ไปโดยเร็ว
ความเป็นไปของชีวิตนี้ ไม่ว่าจักมั่งมีมากมายหรือจนยาก ลำบากทั้งหลาย เลวดี หรือมีสุข ทุกข์อย่างไร ถ้ามีชีวิตตั้งอยู่บนความประมาท ขาดปัญญา ที่สุดตนก็ต้องรับโทษ ทุกข์ภัย ทรมาณกายใจ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เหมือนดังชิ้นเนื้อที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังระเริงอยู่บนกะทะตั้งไฟ หรือเหมือนกับ โคที่เขาเลี้ยงเอาไว้เพื่อฆ่า นับวันก็ยิ่งใกล้วันโดนฆ่าเข้าไปทุกที ความประมาท มัวเมาในกามคุณทั้งหลาย โดยไม่คำนึงถึงความตายคงไม่ต่างอะไรกับโคที่เห็นหญ้าอ่อนแล้วตรงรี่เข้าไปหาเพื่อแทะเล็ม เคี้ยวกินให้อิ่มและอ้วนพี โดยมิได้สำนึกเลยว่า ความอยากตะกรุม ตะกรามตะกละของตน ที่พยายามกินให้อ้วนนั้น คือการเร่งให้คนฆ่าโค นำตนไปฆ่าให้เร็วขึ้น ชีวิตนี้เหมือนกับหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า พอต้องแสงอาทิตย์และแรงลม พลันก็เหือดหายไป ฉันกำลังจะบอกให้คุณได้รู้ว่า ชีวิตนี้ไม่ว่าจะสวยงามบริสุทธิ์เล็กน้อยนิดหน่อยขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องตายอยู่ดี
มีคำกล่าวว่า อายุขัยของมนุษย์ทั้งหลายนั้นน้อยนัก คนมีปัญญาอย่างพึงดูหมิ่น พึงปฏิบัติดังคนที่มีไฟไหม้อยู่บนศีรษะเถิด อย่าคิดว่าความตายจะยังไม่มาถึงเรา


8. จงพิจารณาถึงมรณสติว่ามีอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ
จิตดวงหนึ่งเมื่อเกิด ชื่อว่าชีวิตหนึ่งก็เกิดตาม จิตดวงนั้นดับ ชื่อว่าชีวิตนั้นก็ดับตาม
แต่เพราะกายนี้ประกอบด้วยจิตที่เกิด ดับจนหาประมาณมิได้ บวกกับความเร็วของจิตที่เกิดดับ และความสืบเนื่องกันอย่างถี่ยิบ สัตว์ทั้งหลาย จึงมองไม่เห็นชีวิตที่เกิดตายอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ จิตที่ดับไปแล้วเรียกว่า อดีตจิต จิตและชีวิตสัตวนั้นจึงไม่ชื่อว่าดำรงอยู่ ไม่ชื่อว่ากำลังดำรงอยู่ ไม่ชื่อว่าจักดำรงต่อไป ส่วนจิตที่ยังมิได้เกิดเรียกว่า อนาคตจิต ชีวิตและจิตของสัตว์นั้นก็ไม่มีชีวิต ไม่ชื่อว่ามีจิต ไม่ชื่อว่าสัตว์ ไม่ชื่อว่าเป็นจิตและสัตว์แล้ว แต่ได้ชื่อว่ากำลังจะเป็นจิตและสัตว์ต่อไป
ชีวิต อัตภาพ สุขทุกข์ ทั้งมวลของสัตว์นี้ เป็นไปเพียงแค่ชั่วขณะจิตเดียว แต่ที่เห็นว่ายืนยาว เพราะสันสติ ระบบความสืบต่อ ความปรุงแต่งและยึดถือ จึงทำให้สัตว์นั้นมองเห็น ชีวิต อัตภาพสุข ทุกข์ที่มีอยู่ยืนยาวชีวิตนี้เมื่อขาดความปรุงแต่ง ความสืบต่อ ชีวิตนี้จึงดูสั้นนัก ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อจักเจริญมรณสติ อาจเจริญพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งในแปดข้อ หรือเจริญทุกข้อก็ได้ แต่ขอให้หมั่นเจริญ พิจารณาอยู่ทุกขณะของลมหายใจ จนจิตสลดปลดจากกามคุณ เครื่องร้อยรัดทั้งหลาย สติก็จะมั่นอยู่ในการพิจารณาความตายเป็น อารมณ์ จิตก็จักปลอดจากนิวรณ์ เครื่องครอบจิต องค์คุณแห่งอุปจารฌานก็จักบังเกิดขึ้น
สัตว์ทั้งหลายที่มิได้เจริญมรณสติ ย่อมมีชีวิตอยู่อย่างประมาท มัวเมา เมาในภพ เมาในชาติ เมาในวัย เมาในชีวิตความเป็นอยู่ เมาในรูป รส กลิ่น เสียง เมาในสัมผัส เมาในอำนาจวาสนา เมาในทรัพย์สมบัติ เรือกสวนไร่นา เมาในราคะ โทสะ โมหะ เมื่อเป็นผู้เมา ก็คือขาดสติ เมื่อขาดสติก็เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่ว คิดชั่ว พูดชั่ว หรือ ทำผิด พูดผิด คิดผิด เมื่อชีวิตมีแต่เรื่องผิดและชั่ว ก็เป็นเหตุให้เศร้าหมอง เศร้าหมองทั้งหลับและตื่น กลางวันและกลางคืน ก็เป็นเหตุให้หวาดกลัว กลัวไปต่างๆนานาแล้วแต่จิตจะพาไปด้วยอำนาจของ ความเศร้าหมองพาให้วิตกกังวล ฟุ้งซ่านด้วยใจเศร้าหมองวิตก หวาดกลัว
ครั้นเมื่อถึงเวลาตาย ย่อมหวาดผวา ไม่กล้าที่จะเผชิญกับความจริง แสดงกิริยาอาการ กระวนกระวาย เป็นทุกข์เดือดร้อน เศร้าโศก ร่ำไรรำพัน พอตายเข้าจริงๆจิตนี้ก็ไปบังเกิดในภพภูมิ ที่ไม่น่าปรารถนา ต้องได้รับทุกข์ยากเดือดร้อน สุดจะพรรณนา สำหรับท่านผู้เจริญมรณสติภาวนา ย่อมไม่ประมาทมัวเมาในภพชาติ และลาภสักการะ ทั้งหลาย มีชีวิตอยู่เพื่อจะสร้างสรรสาระให้โต อย่างรู้ตัว เจียมตัว และกล้าพร้อมที่จะเผชิญกับ ความตายอย่างมีสติ ไม่หวั่นหวาด ไม่ขลาดกลัว
เหตุเพราะได้เห็นความเป็นจริงของจิต ชีวิต โลกว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นธรรมดา มิมีใครจะพ้นจากกติการนี้ไปได้ จิตก็จะสงบสงัดจากเครื่องเศร้า หมองทั้งปวง พอตาย ภพ ชาติ ที่ตนปรารถนาก็จักบังเกิดขึ้นแก่ตน เรียกว่าผู้เจริญมรณสติภาวนา จักสามารถเลือกภพชาติของตนที่จักไปเกิดได้ ดังใจปรารถนา




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2550 14:21:24 น.
Counter : 330 Pageviews.  

การเจริญสมถะและวิปัสสนา อย่างง่าย ๆ ในประจำวัน

การเจริญสมถะและวิปัสสนา อย่างง่าย ๆ ในประจำวัน


ควรจะทำให้บ่อย ๆ ทำเนือง ๆ ทำให้มาก ๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ๆ ไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็คิดใคร่ครวญถึงความเป็นจริง 4 ประการดังต่อไปนี้

1 มีจิตใคร่ครวญถึงมรณัสสติกรรมฐาน หรือมรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็คือการใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ อันความมรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ การระลึกถึงความตายจึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพรากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง
การระลึกถึงความตาย ทำให้มากแล้วย่อมมีผลใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด มรณัสสติกรรมฐานนนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้วก็ยังไม่ยอมละ ยังทรงอารมณ์มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก"
มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปรกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ก็คือการพิจารณาถึงความจริงทีว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มี จน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย "ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและสร้างบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า" ผู้ที่ประมาทมั่วเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า "หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด" ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ ทรัพย์สินเงินทอง จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงใหลมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแน่นอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมา ก็ต้องสูญเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้เลย ( บุคคลที่สูญเปล่า เสียชาติเกิด)
มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ จิตจะค่อย ๆ สงบและระงับจากนิวรณ์ธรรม 5 ประการ ในที่สุดจิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ และความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้วิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุและผลในรูปธรรมและนามธรรม อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลายไม่อาจทรงตัวตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก 3 เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า "อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตว์จะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดา ว่าอย่าฉิบหายเลยดังนี้ ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้ เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในกาลไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก 3 เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวงที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเสมือนภาชนะ ดินที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้" และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า "อัปปมาทธรรม" สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่าพระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง 45 พรรษา ได้ประมวลประชุมรวมกันในพระปัจฉิมโอวาทนี้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

2 มีจิตใคร่ครวญถึงอสุภกรรมฐานอสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือให้มีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาราคะ กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาและใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อย ๆ จากไปจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใด ๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึงสามี ภริยาและบุตรธิดา ต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตสาห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยากก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบขน ๆออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนังค่อย ๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือด น้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเดือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริแล้วร่วงหลุดออกจนเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใดๆมิได้อีกเลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวหาตนของเราที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย

3. มีจิตใคร่ครวญถึงกายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มาก เพราะสามารถทำให้ละ "สักกายทิฐิ" อันเป็นสังโยชน์ข้อต้นๆได้โดยง่าย และเป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกายให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยะเจ้าทุกๆพระองค์ที่จะบรรลุพระอรหัตน์ผลได้จะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้งสามกองนี้เสมอ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความหลง และความโกรธ ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลสก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อม ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกายอันกว้างศอกยาววาและหนาคืบนี่เอง การพิจารณา ก็คือให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงที่ว่า อันร่างกายของคนและสัตว์ที่เฝ้าทะนุถนอมรักใคร่ว่าสวยงาม เป็นที่สนิทเสน่หาชมเชยรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถนอม เป็นมูตร คูถ เพราะเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายที่เป็นพืชผักและบรรดาซากศพของสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ภายในกระเพาะนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไปก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลายก็เป็นของที่สกปรกโสโครก ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น "ขี้" มีสารพัดขี้ ซึ้งแม้แต่จะเหลือบตาไปมองก็ยังไม่กล้าที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้วในท้อง กระเพาะ ลำไส้ภายในร่างกายของทุกผู้คนก็ยังคงมีบรรดาขี้เหล่านี้บรรจุอยู่ เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดเอาไว้ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้นเอง
แต่เราท่านทั้งหลายก็พากันกกกอด คลึงเคล้า เฝ้าชมเชยก้อนขี้เหล่านี้ว่าเป็นของสวยงาม น่ารักน่าใคร่เสน่หายิ่งนัก เมื่อมีการขับถ่ายออกมาจากทวารหูก็เรียกกันว่าขี้หู ขับถ่ายออกมาทางตาก็เรียกขี้ตา ที่ติดอยู่กับฟันก็เรียกขี้ฟัน ที่ออกมาทางจมูกก็เรียกว่าขี้มูก รวมความแล้วบรรดาสิ่งที่ขับออกมาพอพ้นร่างกายในทันใดนั้นเอง จากเดิมที่เป็นของน่ารักน่าเสน่หา ก็กลายมาเป็นของที่น่ารังเกียจไปโดยพลัน กลายมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากรักอยากเสน่หาเพราะว่าเป็นขี้ และก็ไม่มีใครอยากจะเป็นเจ้าของด้วย เมื่อไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ สิ่งที่ขับถ่ายออกมาทางผิวหนังจึงหาเจ้าของมิได้ ซึ่งต่างก็โทษกันว่าขี้ของใครก็ไม่ทราบได้ นานมาก็กลายมาเป็น "ขี้ไคล" ดังนี้เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมาจะน่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว แม้แต่สังขารร่างกายของคนเราเมื่อได้แยกแยะพิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความจริงที่ว่า เป็นที่ประชุมรวมกันของอวัยวะชิ้นต่างๆที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น เนื้อ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หนัง พังผืด เส้นเอ็น เส้นเลือด น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา น้ำปัสสาวะ ฯลฯ รวมกันเรียกว่าอาการ ๓๒ ซึ่งต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะยางโตงเตงอยู่ภายใน เมื่อแยกหรือควักออกมาดูทีละชิ้น จะไม่มีชิ้นใดที่เรียกกันว่าสวยงามน่ารัก น่าพิศวาสเลย กลับเป็นของที่น่ารังเกียจ ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู แต่สิ่งเหล่านี้ก็รวมประกอบอยู่ภายในร่างกายของเราทุกผู้ทุกคน โดยมีหนังหุ้มห่อปกปิดอยู่โดยรอบ หากไม่มีผืนหนังหุ้มห่อและสามารถมองเห็นภายในได้แล้ว แม้จะเป็นร่างกายของคนที่รักสุดสวาดขาดใจ ก็คงจะต้องเบือนหน้าหนีอกสั่นขวัญหาย บางทีอาจจะต้องถึงขั้นจับไข้ไปเลย หากจะถือว่าน่ารักน่าเสน่หาอยู่ที่ผืนหนังหรือแผ่นหนังรอบกาย ก็ลองลอกหนังออกมาดูก็จะเห็นว่าไม่สวยงามตรงไหนแต่อย่างใด แต่ที่นิยมยกย่องรักใคร่หลงใหลกันอยู่ ก็คือผิวหรือสีของหนังชั้นนอกสุดเท่านั้น ถ้าได้ลอกหรือขูดผิวชั้นนอกสุดออกมาให้เหลือแต่หนังแท้แดงๆแล้ว แม้จะเป็นหนังสดสวยของนางงามจักรวาล ผู้คนก็คงจะต้องเบือนหน้าหนี จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คนสวย คนงาม ก็คงสวยและงามกันแค่ผิวหนังชั้นนอกสุด รักและเสน่หาที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นของฉาบฉวยนอกกาย หาได้สวยงามน่ารักเข้าไปถึงตับ ไต ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ น้ำเลือดน้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ ภายในร่างกายด้วยไม่ ส่วนผู้ที่ผิวหรือสีของหนังดำด่าง ไม่สดใสน่าดู ก็พยายามทาลิปสติก แต่งหน้าแต่งตา ทาสี พอกแป้งย้อม และดึงกันเข้าไปให้เต่งตึง และออกเป็นสีสันต่างๆแล้วก็พากันนิยมยกย่องชวนชมกันไป แต่ที่จริงแล้วก็เป็นความหลง โดยหลงรักกันที่แป้งและสีที่พอก หลอกให้เห็นฉาบฉวยอยู่แค่ผิวนอกเท่านั้น
เมื่อมีสติพิจารณาเห็นความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ หากจิตมีกำลังก็จะทำให้นิวรณ์ 5 ประการค่อยๆสงบระงับทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะจิตจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวายแส่ส่ายไปในอารมณ์รักๆใคร่ๆ ในที่สุดจิตก็จะสงบเยือกเย็นลงจนถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ หากสติมีกำลังพอก็อาจถึงขั้นปฐมฌานได้
กายคตานุสสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็เป็นสมถภาวนาที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรมหรือสภาวธรรม พิจารณาอาการ 32 ดังกล่าวให้รู้แจ้งเห็นจริงว่าอาการ 32 ดังกล่าวนั้นไม่มีการทรงตัว เมื่อเกิดมีอาการ 32 ขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราและของเราแต่อย่างใด ร่างกายไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น ต่างก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้ก็เป็นวิปัสสนา กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารักน่าใคร่
จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจทำลายราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมากๆเข้า จิตก็จะมีกำลังและเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ "นิพพิทาญาณ" จะเกิดขึ้น และเมื่อได้เกิดขึ้นแล้วจนมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่า ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาแต่อย่างใด จิตก็จะน้อมไปสู่ "สังขารุเปกขาญาณ" ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายในร่างกายและคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ 5 เรียกว่าจิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ 5 ซึ่งจะนำไปสู่การละ "สักกายทิฐิ" อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้ และถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาคือเป็น "พระโสดาบัน"

4 มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน คือนอกจากจะมีจิตใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวมาในข้อ (3) แล้ว พึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดี ของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย เป็นแต่เพียงธาตุ 4 มาประชุม เกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่าแก่แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดินก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม และธาตุไฟก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเรา เมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเนื้อ กระดูด ตับ ไต ไส้ กระเพาะ เส้นเอ็น หนัง พังผืด เนื้อเยื่อ มันสมอง ไขข้อ ฯลฯ มาเกาะกุมกัน ตัวตนของเราไม่มี
ครั้นเมื่อแยกแยะอวัยวะย่อยๆดังกล่าวออกไปจากหน่วยย่อยๆของชีวิต คือเซลล์เล็กๆที่มาเกาะกุมรวมกัน ก็จะเห็นว่าเซลล์เองก็เนื่องมาจากแร่ธาตุทั้งหลายซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่มีตัวตนของเราแต่อย่างใด แม้แร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ก็เนื่องมาจากพลังงานโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่านั้น หาใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใดไม่ ที่หลงกันอยู่ว่าตัวเราของเราหาที่ไหนมิได้เลย ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหา สะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย แม้แต่เนื้อตัว ร่างกายที่ว่าเป็นของเราก็ยังเอาติดตัวไปด้วยไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็นและรู้จักกันมานานนับล้านๆปีคนแล้วคนเล่า ท่านทั้งหลายที่ได้เคยยิ่งใหญ่ด้วยยศศักดิ์อำนาจวาสนาและทรัพย์สมบัติในอดีตกาล จนเป็นถึงมหาจักรพรรดิมีสมบัติสร้างสมมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้อื่นจนค่อนโลก แต่แล้วในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่านที่เคยยิ่งใหญ่ จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้ แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไปจนหาไม่พบว่าเนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะของท่านว่าอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อกำเนิดมาเป็นตัวของท่านเพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เพียงเท่านี้มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ
ในเมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆกันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวายสะสมสิ่งที่ในที่สุดก็จะต้องทิ้ง จะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเราซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้ ทำไมไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมีที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ์ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2550 14:15:23 น.
Counter : 257 Pageviews.  


crimson king
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ร่างกายนี้ ไม่มีฉัน
จิตดวงนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความรู้สึกนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความจำนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความคิดนี้ ก็ไม่มีฉัน
ฉัน นั้นก็ไม่มี

นักศึกษาปฏิบัติธรรมมือใหม่
กิเลสหนา สมาธิ สติช้า ปัญญาด้อย
TIMEอย่าประมาทในชีวิต เวลาหมดลงทุกขณะ
ชีวิตนั้นสั้นนัก แต่วัฏสงสารยาวไร้สิ้นสุด
Friends' blogs
[Add crimson king's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.