๑ สิ่งเหล่าใดเกิดมาเพราะมีเหตุทำให้เกิด พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุของสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งแสดงความดับสิ้นเชิงของสิ่งเหล่านั้นเพราะหมดเหตุ
๒ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
๓ อย่าทำชั่ว ให้ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
๔ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์แล้ว หามีอะไรเกิดอะไรดับไม่
๕ ถ้าเราไม่พึงมี ของเราก็ไม่พึงมี , ตัวเราของเรา ก็คือ อุปาทานขันธ์๕
Group Blog
 
All blogs
 

นิวรณ์5 - อุทธัจจะกุกกุจจะ

อุทธัจจะ อันความฟุ้งซ่านนั้น คืออาการที่ใจคิดพล่านไปในอารมณ์คือเรื่องต่างๆ ไม่สามารถจะทำให้สงบได้โดยง่าย โดยปรกติทุกๆคนก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่าใจนี้คิดพล่านไปเพียงไร ต่อเมื่ออ่านหนังสือ หรือว่าฟังสอน ฟังคำบรรยายธรรมเป็นต้นหรือในขณะที่กำลังสวดมนต์ จึงจะรู้ว่าใจนี้คิดพล่านไปมาก เช่นในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ ตาก็อยู่ที่หนังสือ แต่ว่าใจไม่อยู่คิดพล่านไปเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ตาที่อยู่กับหนังสือนั้นก็เป็นตาที่ดับ เหมือนอย่างมองไม่เห็นหนังสือ ไม่รู้เรื่องในหนังสือที่กำลังอ่านนั้น
ในขณะที่กำลังฟังธรรมบรรยาย หรือฟังธรรมเทศนา หูก็ตั้งใจฟัง เสียงก็เข้ามากระทบกับโสตะประสาท คือประสาทหู แต่ว่าใจนั้นไม่ฟัง คิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ โสตะประสาทคือประสาทหูก็เหมือนดับ ฟังไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่องในธรรมะที่ฟัง หรือในเรื่องที่กำลังฟังนั้น
แม้ในขณะที่กำลังสวดมนต์ ปากก็สวดมนต์ หรือว่าสวดมนต์อยู่ในใจ แต่ว่าใจก็ยังคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ ใจไม่ได้สวดมนต์ด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เหมือนอย่างใจดับในเรื่องสวดมนต์ ไม่รู้ว่ากำลังสวดไปถึงไหน อย่างไร แต่ว่าสวดไปได้ก็เพราะความคล่องปาก หรือสวดในใจ ก็คล่องใจไปตามบทสวดเท่านั้น ดั่งนี้ จะเห็นว่าใจนี้คิดพล่านมาก สงบยาก อาการที่ใจคิดพล่านดั่งนี้เป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน มีอาการคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ และเมื่อจับพิจารณาดูแล้ว ก็จะจับได้ว่าในชั่วแว๊บเดียวก็คิดพล่านไปหลายเรื่องหลายราว ใจจึงวิ่งไปเร็วมาก ในอารมณ์คือเรื่องนั้นๆ
กุกกุจจะ ความรำคาญใจ มีลักษณะที่จิตใจเบื่อหน่ายระอา ไม่เพลิดเพลินในกิจที่พึงทำ เช่น กำหนดนั่งทำสมาธิภาวนา คืออบรมสมาธิ ใจก็รำคาญ ไม่อยากจะนั่ง อยากจะเลิก นั่งชั่ว ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ดูนานมาก ขาดความเพลิดเพลิน ขาดความพอใจ หรือจะเรียกว่า ขาดปีติสุขในสมาธิภาวนา อันเป็นกิจที่พึงทำนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ความรำคาญใจนี้ คือกุกกุจจะ จึงมีปรกติที่ทำให้จับจด ทิ้งการปฏิบัติได้ง่าย ไม่ติดต่อ เพราะมีความรำคาญ ไม่พอใจ ไม่มีปีติสุขในสมาธิภาวนา แต่ว่าไปชอบใจในอารมณ์ต่างๆที่ใจคิดพล่านไปนั้นเพราะฉะนั้น อุทธัจจะกุกกุจจะ ท่านจึงแสดงไว้เป็นคู่กัน และบางอาจารย์ท่านมีแสดงต่างกันอยู่ คือ อุทธัจจะความคิดพล่านหรือความฟุ้งซ่านจัดเข้าในโมหะ คือกิเลสกองหลง แต่ว่ากุกกุจจะความรำคาญใจจัดเข้าในกิเลสกองโทสะ แต่ว่าบางอาจารย์ท่านก็จัดทั้งอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ เข้าในกองโมหะด้วยกัน เพราะฉะนั้น นิวรณ์ข้อนี้จึงครอบงำจิตอยู่เป็นอันมาก ทำให้ไม่สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ง่าย เพียงแต่คุมใจในขณะที่สวดมนต์ ในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรมบรรยาย หรือในขณะที่อ่านหนังสือ ไม่ให้คิดพล่านไป ก็เป็นการทำยากแล้ว เมื่อมานั่งทำสมาธิ ก็ยิ่งเป็นการรวมใจได้ยาก ใจไม่ยอมรวม คอยคิดพล่านไป ทั้งมีความรำคาญไม่เพลิดเพลินไม่พอใจ ไม่เป็นสุขใจในการนั่งสมาธิ อันเป็นกิจที่พึงทำดังกล่าว
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า ความไม่สงบแห่งใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ คือการไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจข้อนี้ อันความไม่สงบแห่งใจนั้นก็คือ อาการที่ใจคิดพล่านไปนั้นเอง ไม่สงบและเมื่อปล่อยใจให้ไม่สงบดั่งนั้น ไม่คิดสำรวมใจเข้ามา และปฏิบัติสำรวมใจเข้ามา ทั้งนี้ก็ประกอบด้วยการที่ไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือไม่คอยพิจารณาจับเหตุจับผล ปล่อยใจไปตามเรื่องโดยมาก ก็เป็นการไม่มีเครื่องหยุดยั้งความไม่สงบของใจ อันการไม่พิจารณาจับเหตุจับผล อันเรียกว่าอโยนิโสมนสิการนั้น ก็คือไม่มาปฏิบัติจับพิจารณาจิตใจอันนี้ที่คิดพล่าน เช่นไม่พิจารณาว่า ความคิดพล่านบังเกิดจากอะไร เช่นในขณะที่กำลังสวดมนต์ ต้องการให้ใจสวดไปด้วยพร้อมกับปาก หรือพร้อมกับใจที่สวด เมื่อตั้งใจให้ใจสวดไปด้วยดั่งนี้ ก็สามารถทำได้บ้าง แต่ว่าใจก็คิดพล่านออกไปได้ง่าย เช่นบางทีใจกำลังรวมอยู่ ได้ยินเสียงคนพูดกัน ใจก็ละการสวดมนต์ วิ่งไปที่เสียงคนพูดกันนั้น แล้วก็ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่อๆไปอีก เริ่มมีสติก็นำใจมากลับตั้งไว้ใหม่ในบทสวด
ในตอนนี้ก็ให้หัดจับพิจารณาสอบสวนใจเอง ว่าใจนี้วิ่งออกไปแล่นออกไป คิดพล่านไป เพราะอะไรเป็นเหตุ เมื่อจับพิจารณาดั่งนี้ก็อาจจับเหตุได้ว่า เนื่องมาจากเสียงคนพูดกันดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นก่อน และเมื่อออกไปที่เสียงนั้นแล้ว ใจก็พล่านไปที่ไหนอีก ก็อาจจับได้ว่าใจพล่านไปจากเสียง ก็ถึงเรื่องนั้น ถึงเรื่องโน้น ดั่งนี้เป็นต้น กว่าจะได้สตินำกลับเข้ามาใหม่ ก็หลายเรื่อง อาจจะสอบสวนได้ ก็จับใจนี้มาตั้งไว้ใหม่ ให้ใจสวดมนต์ไปใหม่ หรือตั้งไว้ในสมาธิที่กำลังปฏิบัติ ให้ใจปฏิบัติในสมาธิต่อไป หรือมาตั้งฟังเทศน์ หรือฟังธรรมบรรยายต่อไป
แต่ว่าใจนี้ก็แล่นพล่านออกไปอีก ได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่ ก็จับสอบสวนใหม่อีกว่า มีอะไรเป็นเหตุให้ใจพล่านออกไป ก็อาจจับได้ แล้วก็จับสอบสวนว่า จากเรื่องนั้นแล้วไปไหนอีก ไปไหนอีก ไปไหนอีก ก็อาจจับได้ จนถึงได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่ หัดคิดสอบสวนใจดั่งนี้
บางทีอาจจะต้องใช้เวลากว่า ๕ นาที ๑๐ นาที ใจจึงจะยอมสยบอยู่กับสวดมนต์ อยู่กับฟังเทศน์ อ่านหนังสือ หรืออยู่กับการทำสมาธิ แต่ว่าให้สังเกตุว่า การจับสอบสวนดั่งนี้ แม้ว่าจะต้องสอบสวนกันหลายหน แต่น่าสังเกตุว่า เมื่อใจถูกสอบสวนคราวหนึ่ง หากว่าใจแล่นออกไปอีก ใจจะไม่คิดพล่านไปในเรื่องที่เคยถูกสอบสวนแล้ว จะคิดพล่านไปในเรื่องอื่นๆ นอกจากที่ถูกสอบสวน เพราะฉะนั้น เมื่อถูกสอบสวนหลายๆครั้งเข้า เรื่องที่ใจจะแล่นพล่านไปก็น้อยเข้าๆ จนถึงใจกลับมาตั้งสงบอยู่
ดั่งนี้ เป็นวิธีที่เรียกว่าทำไว้ในใจโดยแยบคายประการหนึ่ง ให้ปฏิบัติทำให้มาก ถ้าหากว่าไม่ทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้ ใจนี้ก็จะต้องคิดพล่านไปบ่อยๆ เป็นความไม่สงบของใจ เพราะฉะนั้น ความไม่สงบของใจดังกล่าว และความที่ไม่กระทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคาย หรือการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคายดังที่กล่าวมา จึงเป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
และแม้ตัวความรำคาญใจเองก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องจับพิจารณาว่า เมื่อสมควรจะปฏิบัติอย่างนี้ คือในขณะที่อ่านหนังสือก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี สวดมนต์ก็ดี ควรจะมีความพอใจ ควรจะมีความสุข ควรจะมีความตั้งใจ ไม่ควรที่จะรำคาญเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นตัวความรำคาญใจหรือกุกกุจจะดังที่กล่าว พิจารณาส่งเสริมใจที่จะให้หมดความรำคาญ ด้วยมีความพอใจและมีความสุขอยู่ในการปฏิบัติกิจที่ควรปฏิบัติดังกล่าว แต่หากว่าถ้าไม่พิจารณาดั่งนั้น ก็ชื่อว่าเป็นการกระทำไว้ให้มาก ด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นอาหารที่ส่งเสริมความรำคาญใจ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้มากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากโดยไม่แยบคาย เป็นอาหารที่บำรุงเลี้ยง อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้มากขึ้น
ส่วนธรรมะที่เป็น อนาหาร คือธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์คู่นี้ ก็ได้แก่ความสงบของใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย ความสงบของใจนั้น ก็ต้องอยู่ที่การมาปฏิบัติในกรรมฐานที่ทำให้ใจสงบ และอยู่ที่สร้างฉันทะคือความพอใจ ความสุขความเพียรในการปฏิบัติทำใจให้สงบ อาศัยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น
เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในธรรมที่ไม่เป็นอาหาร ของอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ อันทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ให้สงบลงไปได้
- สมเด็จพระญาณสังวร




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2550    
Last Update : 2 ธันวาคม 2550 2:19:02 น.
Counter : 365 Pageviews.  

นิวรณ์5 - กามฉันทะ

อารมณ์เป็นที่ตั้งของกิเลส ๖
เพราะจิตนี้ผูกพันอยู่กับกิเลส และอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส กิเลสนั้น ก็มีกามทั้งหลาย และอกุศลธรรมทั้งหลาย อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสนั้น ก็ได้แก่อารมณ์ทั้ง ๖ คือ
รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่ตาได้เห็น
สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่หูได้ยิน
คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่จมูกได้ทราบ
รสารมณ์ อารมณ์คือรสที่ลิ้นได้ทราบ
โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องที่กายนี้ถูกต้องได้ทราบ
ธรรมารมณ์ อารมณ์คือเรื่อง มีเรื่องของรูป เรื่องของเสียงเป็นต้น ที่มโนคือใจได้คิดได้รู้
นี้คืออารมณ์
เมื่อเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม คือความใคร่ความปรารถนา
กามคือความใคร่ความปรารถนาก็บังเกิดขึ้นผูกอยู่กับจิตใจ
หรือเรียกว่าเป็นที่ตั้งของราคะคือความติดใจยินดี ราคะก็บังเกิดขึ้นผูกอยู่กับจิตใจ
ทำให้จิตใจวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกาม หรือในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกาม
หรืออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดีดังกล่าวนั้น
อันกามนั้นมี ๒ คือ
กิเลสกาม กามที่เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง
วัตถุกาม กามที่เป็นวัตถุ คือเป็นที่ตั้งของกิเลสกามนั้นอย่างหนึ่ง
กามที่เป็นตัวกิเลสนั้น ก็ได้แก่กามที่เป็นความใคร่ ความปรารถนา ความอยากได้ ความต้องการ หรือ ราคะ ความติดใจยินดี
นันทิ ความเพลิดเพลินติดอยู่ นั้นเองเป็นตัวกิเลสกามและเมื่อกิเลสกามนี้ตั้งอยู่ในรูปที่ตาเห็นก็ตาม ในเสียงที่หูได้ยินก็ตาม ในกลิ่นที่จมูกได้ทราบก็ตาม ในรสที่ลิ้นได้ทราบก็ตาม ในโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ถูกต้องได้ทราบก็ตาม ในธรรมะคือเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ใจได้คิดได้รู้ก็ตาม
รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็ชื่อว่าเป็นวัตถุกาม คือเป็นวัตถุที่ใคร่ หรือวัตถุคือสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความใคร่
เบญจพิธกามคุณ ๕
แต่โดยมากวัตถุกามนั้น มักจะพูดหมายเอา ๕ ข้อ
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
แต่อันที่จริงธรรมะคือเรื่องราวที่รักใคร่ปรารถนาพอใจก็ชื่อว่ากามด้วย
แต่เมื่อเรียกเอาข้างต้น ๕ ข้อ ที่เป็นวัตถุคือเป็นรูปเท่านั้นก็เป็น ๕ ข้อ
ซึ่งมีคำเรียกว่า เบญจพิธกามคุณ กามคุณมีอย่าง ๕
ส่วนข้อ ๖ คือธรรมะคือเรื่องราวนั้น ก็รวมอยู่ใน ๕ ข้อนี่ นั้นเอง
เพราะว่าก็เป็น "เรื่องของรูปเสียง" เป็นต้นเหล่านั้น นั่นแหละ จิตใจเมื่อถูกกามดังกล่าวผูกไว้ จึงมี "ปรกติวิตก" คือ "ตรึกนึกคิดไปในกามทั้งหลาย" เป็น "กามาวจรจิต" คือจิตที่เป็นกามาวจรเที่ยวไปในกาม อันเป็นจิตของสามัญชนทั่วไป และกิเลสกามดั่งที่กล่าวมานี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวกามฉันท์ คือความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม คือจิตนี้เอง มีฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ติดอยู่ในกาม จึงวิตกตรึกนึกคิดไปในกามอยู่เป็นอาจินต์
ความที่เป็นดั่งนี้ ก็เพราะจิตนี้เองไปยึดถือ และกำหนดไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อันเป็นเบญจพิธกามคุณนั้นว่าเป็นสุภะ คืองดงาม น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เรียกว่า สุภนิมิต คือ เครื่องกำหนดว่างาม ดั่ง
เมื่อได้เห็นรูป จิตก็กำหนดเป็นสุภะนิมิตในรูป ว่ารูปที่เห็นนั้นงามอย่างนั้นงามอย่างนี้
เมื่อได้ยินเสียง จิตก็กำหนดลงไปในเสียงนั้น ว่าไพเราะอย่างนั้นไพเราะอย่างนี้
ในกลิ่นก็กำหนดลงไปว่ากลิ่นดีอย่างนั้นดีอย่างนี้
ในรสก็กำหนดลงไปว่าอร่อยอย่างนั้นอร่อยอย่างนี้ในสิ่งถูกต้องทางกายที่เรียกว่าโผฏฐัพพะ จิตก็กำหนดลงไปว่า ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้
ดั่งนี้คือสุภะนิมิต กำหนดลงไปว่างาม
อโยนิโสมนสิการ
เมื่อกำหนดลงไปว่างาม ก็ใส่ใจว่างาม ความใส่ใจว่างามนี้ก็ดึงใจให้วิตกคือตรึกนึกคิดลงไปว่างาม เพราะว่า ได้นำมาใส่เข้าในใจแล้ว ใจจึงติด และวิตกตรึกนึกคิดไปดั่งนั้น
เพราะฉะนั้น ความใส่ใจอันเรียกว่า มนสิการ จึงสำคัญมาก ก็มาจากจิตนี้เองที่นำเอา สุภะนิมิตนั้นมาใส่ไว้ในใจ ซึ่งเป็นไปในรูปเป็นต้นดังกล่าว และก็ใส่ใจไว้เสมอ อันความใส่ใจไว้เสมอดั่งนี้ สำหรับนักปฏิบัติธรรมะ หรือผู้ปฏิบัติธรรมะ หรือว่าทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้ปฏิบัติทำจิตตภาวนา กล่าวว่าเป็น อโยนิโสมนสิการ คือเป็นการพิจารณาไปโดยไม่แยบคาย จึงเห็นว่างาม และนำมาใส่ใจ
อาหารของกามฉันท์
เพราะฉะนั้น อาการที่จิตกำหนดว่างามอันเรียกว่า สุภนิมิต และการที่มาใส่ใจว่างาม ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่า โดยไม่แยบคาย และก็นำมาใส่ใจไว้โดยมากดั่งนั้น นี้เองเป็นตัวอาหารของกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือว่าของราคะ หรือของกิเลสกาม กามฉันท์ได้สุภนิมิต และการที่ใส่ใจไว้โดยมากว่างาม เพราะมิได้พิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้ จึงเป็นอาหารของกามฉันท์ หรือของราคะ เป็นเหตุให้กามฉันท์บังเกิดขึ้น บังเกิดเป็นเหตุให้กามบังเกิดขึ้น หรือกิเลสกามบังเกิดขึ้นในจิตใจ
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนผู้ปฏิบัติธรรมะ ให้มาใส่ใจโดยแยบคาย อันหมายความว่า ให้ใส่ใจพิจารณาตามสัจจะคือความจริง ว่าอันที่จริงนั้น รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็น อสุภะ คือเป็นสิ่งที่ไม่งดงาม ดังที่ตรัสสอนไว้ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อให้พิจารณากาย ว่ากายนี้เป็นไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ คือ เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน ตะโจหนัง มังสังเนื้อ นหารูเอ็น อัฏฐิกระดูก อัฏฐิมิญชังเยื่อในกระดูก วักกังไต หทยังหัวใจ ยกนังตับ กิโลมกังพังผืด ปิหกังม้าม ปับผาสังปอด อันตังไส้ใหญ่ อันตคุณังสายรัดไส้ อุทริยังอาการใหม่ กรีสังอาหารเก่า ปิตตังนำดี เสมหังน้ำเสลด ปุพโพน้ำหนอง โลหิตังน้ำเลือด เสโทน้ำเหงื่อ เมโทมันข้น อัสสุน้ำตา วสามันเหลว เขโฬน้ำลาย สิงฆาณิกาน้ำมูก ลสิกาไขข้อ มุตตังมูตร ดั่งนี้
อสุภนิมิต โยนิโสมนสิการ
ให้พิจารณาค้นคว้าตรวจสอบดูในกายอันนี้ ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆดั่งนี้ และสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่งดงาม คือเป็นอสุภะไม่งดงาม เป็นของไม่สะอาดด้วย เป็นของไม่งดงามด้วย จำเพาะที่ตามองเห็นก็ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งก็ต้องมีการชำระคืออาบน้ำกันอยู่ทุกวัน และต้องตบแต่งกันอยู่ทุกวัน เพราะว่าเป็นที่ไหลออกจากสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย ไปทั่วกายทุกขุมขน ต้องพิจารณาตรวจค้นลงไปดั่งนี้ ให้เห็นว่าไม่งาม ให้เห็นว่าไม่สะอาด เรียกว่าเป็น อสุภนิมิต กำหนดหมายว่าไม่งาม
ว่าการพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอสุภะนิมิตนี้ เรียกว่าเป็นโยนิโสมนสิการ ความใส่ใจโดยแยบคาย คือพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของที่ไม่สะอาด ไม่งดงาม ให้ทำให้มาก เมื่อ อสุภสัญญา ความสำคัญหมายว่าไม่งดงาม ความไม่สะอาดปรากฏขึ้น จิตก็ได้อสุภนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายว่าไม่งดงาม และการที่ใส่ใจพิจารณานั้นก็เป็นโยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อเป็นดั่งนี้ กามฉันท์ก็สงบ
กามฉันท์นั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะสุภนิมิต
และการที่มาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคายโดยมาก อันเรียกว่ากระทำให้มากในอโยนิโสมนสิการ ส่วนกามฉันท์นี้ย่อมละเสียได้ด้วย อสุภนิมิต อสุภสัญญา กำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม และใส่ใจถึงให้มาก ดั่งนี้ ก็ชื่อว่าทำให้มากด้วยโยนิโสมนสิการ กามฉันท์ก็จะละไปได้ นี้เป็นทางปฏิบัติ
เพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ทำจิตตภาวนา จึงให้ตรวจดูจิตของตน ถ้ามีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่ามี ถ้าไม่มีกามฉันท์อยู่ก็ให้รู้ว่าไม่มี แล้วก็ต้องให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นบังเกิดขึ้นอย่างไร คือบังเกิดขึ้นเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา และด้วยใส่ใจถึงโดยมาก โดยไม่แยบคาย คือไปเห็นว่างดงามน่ารักน่าชม และก็ให้รู้ว่ากามฉันท์นั้นจะละได้อย่างไร ก็ต้องละได้ด้วยอสุภนิมิตสำคัญหมายว่าไม่งดงาม อสุภสัญญากำหนดหมายว่าไม่งดงาม สำคัญหมายว่าไม่งดงาม และด้วยการทำความใส่ใจถึงให้มากโดยแยบคายอย่างนั้น ก็จะละได้ ก็จะละกามฉันท์ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ การทำจิตตภาวนาก็เป็นไปได้ จะสงบจากกามทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะทำจิตตภาวนา จะยกเอากรรมฐานข้อไหนขึ้นปฏิบัติก็ตาม เช่น ยกข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกขึ้นมาพิจารณา
ถ้าหากว่าจิตยังไม่ได้สมาธิ ก็ให้ตรวจดูจิตว่าเพราะอะไรจึงไม่ได้สมาธิ การทำอานาปานสติจึงไม่บังเกิดผล ก็ย่อมจะพบนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งในจิต เช่นว่าพบข้อกามฉันท์ ผู้ปฏิบัติก็ต้องมาจัดการกับกามฉันท์ในจิตเสียก่อน เพราะถ้ากามฉันท์มีอยู่ในจิต จิตก็จะถูกกามฉันท์ดึงไป แม้จะนำมาตั้งไว้ในอานาปานะลมหายใจเข้าออก จิตก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปหากามฉันท์ คือไปหากามทั้งหลาย จึงต้องจัดการกับจิตในเรื่องนี้เสียก่อน
ด้วยการค้นหาเหตุว่าทำไมจิตจึงมาพัวพันอยู่กับกามฉันท์ข้อนี้ๆ
ก็ย่อมจะพบว่าเพราะ สุภนิมิต สุภสัญญา และเพราะความมาใส่ใจถึงโดยไม่แยบคาย เพราะไปใส่ใจถึงว่างดงามน่ารักน่าชมนั้นเอง จึงต้องปฏิบัติใส่ใจถึงคือพิจารณาให้เห็น อสุภนิมิต อสุภสัญญา ให้ได้อสุภสัญญา โดยใส่ใจถึงโดยแยบคาย ด้วยพิจารณาดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาในข้อกาย ดั่งที่กล่าวแล้ว
ว่ากายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นพิจารณาใส่ใจค้นคว้าลงไปว่า ไม่สะอาดอย่างนี้ๆ ไม่งดงามอย่างนี้ๆ ความจริงย่อมจะปรากฏแก่จิต ในเมื่อใส่ใจถึงโดยแยบคายอยู่บ่อยๆ เมื่อเป็นดั่งนี้กามทั้งหลายก็สงบลงได้ จึงกลับมาทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ย่อมจะทำได้สะดวกขึ้น และสำเร็จเป็นอานาปานสติได้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

- สมเด็จพระญาณสังวร




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2550    
Last Update : 1 ธันวาคม 2550 19:16:21 น.
Counter : 572 Pageviews.  

นิวรณ์5 - ถีนมิทธะ


อันตรายของสมาธินั้นก็คือนิวรณ์ ซึ่งได้แก่กิเลสในใจ เครื่องเศร้าหมองในใจ ซึ่งเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้จิตได้สมาธิ และปัญญา เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติเพื่อดับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในใจให้ได้ จิตจึงจะได้สมาธิ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักนิวรณ์ โดยตรงก็คือรู้จักนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตของตนในปัจจุบัน หรือในขณะปฏิบัติ และเมื่อพบว่าจิตของตนนั้นกำลังมีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งครอบงำอยู่ ก็ต้องมาปฏิบัติดับนิวรณ์ข้อนั้นเสียก่อน
อาการของจิต ที่เป็นเหตุ ให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อันได้แก่
ความไม่ยินดี อันหมายความว่าไม่เกิดความยินดีพอใจในกิจที่ทำ เช่นในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรม ตั้งใจฟัง จิตก็สงบจากเรื่องอื่น แต่ว่าไม่มีความยินดีพอใจในธรรมที่ฟัง บางทีก็เฉยๆ สักแต่ว่าฟัง ขาดความยินดีพอใจ ก็เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้
ความเกียจคร้านขาดความเพียร ก็ทำให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ เพราะว่า ถ้าไม่มีความเพียรคือมีจิตใจที่กล้าในอันที่จะฟังก็ดี จะทำอันใดอันหนึ่งก็ดี เกิดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้
ความบิดกาย อันหมายถึงอาการที่ยังติดใจอยู่ในความเคลิบเคลิ้ม เช่น ถึงกำหนดเวลาที่จะตื่นนอน เมื่อตื่นขึ้นมาก็บิดกายไปบิดกายมา ทำนองว่าอยากจะนอนต่อ ไม่ลุกขึ้นมาทำสมาธิ หรือประกอบการงาน อาการที่แชเชือนดั่งนี้ ก็เป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม คือเป็นเหตุให้เกิดความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
ความเมาอาหาร คือเมื่อบริโภคอาหารอิ่ม ก็มักจะเกิดความง่วง ถ้าง่วงก็นอน ก็เป็นอันว่ากินแล้วนอน เพราะฉะนั้น หากไม่ปฏิบัติลุกขึ้นเดิน หรือนั่ง หรือทำอะไรที่ควรจะทำ นั่งซึมอยู่เพราะเมาอาหาร ก็จะทำให้นอน ความเมาอาหาร จึงเป็นอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
ความที่มีจิตใจย่อหย่อน ความที่มีจิตใจย่อหย่อนนี้ ทำให้รู้สึกท้อแท้อ่อนแอ ไม่เกิดความขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน เพราะฉะนั้น ถ้าปล่อยให้ใจอ่อนแอท้อแท้ ก็ย่อมเป็นเหตุที่เป็นอาหาร ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
ใจไม่คิดพิจารณาโดยแยบคาย (ไม่โยนิโสมนสิการ)
ปล่อยให้ใจเป็นไปตามอาหาร ที่เป็นเหตุของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเหล่านี้ ดังเช่น เมื่อไม่มีความยินดีในกิจที่ควรทำ เช่น
ในการฟังธรรม หรือการฟังธรรมบรรยาย เมื่อนั่งฟังอยู่ ก็ปล่อยใจให้ไม่ยินดีพอใจ ไม่คิดพิจารณาดูให้รู้จักใจว่า ใจกำลังเป็นอย่างนี้ และความไม่ยินดีพอใจนั้นเป็นโทษ ไม่ใช่เป็นคุณ จึงต้องพิจารณาให้ใจเกิดความยินดีขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนี้ แต่ปล่อยใจให้คิดไม่ยินดีไป ไม่พอใจไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น
ในความเกียจคร้านก็เช่นเดียวกัน ไม่จับดูใจว่าเกียจคร้าน และความเกียจคร้านมีโทษอย่างนี้ๆ ส่วนความพากเพียรมีคุณอย่างนี้ๆ ควรจะคิดปลุกใจให้เกิดความพากเพียรขึ้น แต่ก็ไม่พิจารณาดั่งนั้น ปล่อยใจให้คิดเกียจคร้านไป ตามเรื่องของใจที่เกียจคร้าน
ในข้อบิดกายก็เช่นเดียวกัน นอนบิดกายไปบิดกายมา พลิกกายไปพลิกกายมาหรือว่านั่งพิงบิดกายไปบิดกายมา ด้วยความแชเชือน สลึมสลือ เคลิบเคลิ้ม ถ้าหากว่าคิดพิจารณาเห็นโทษ และก็รีบละความแชเชือนดังกล่าวนี้เสีย รีบละความสลึมสลือดังกล่าวนี้เสีย ก็จะแก้ได้ แต่ว่าไม่พิจารณาแก้ดั่งนั้น ปล่อยใจให้สลึมสลือไปตามเรื่องของใจที่เป็นอย่างนั้น
ในข้อเมาอาหารก็เช่นเดียวกัน ไม่พิจารณาเห็นโทษของความเมาอาหาร และกำจัดความเมาด้วยวิธีปฏิบัติต่างๆ แต่ปล่อยใจให้เมาสลึมสลือเคลิบเคลิ้มไป และแม้ในข้อใจท้อแท้ ท้อถอย อ่อนแอ ก็เช่นเดียวกัน ไม่คิดปลุกใจให้หายท้อแท้ท้อถอย แต่ปล่อยใจให้ท้อถอยท้อแท้ไปตามใจที่เป็นอย่างนั้น
อย่างนี้เรียกว่ากระทำให้มากโดยไม่แยบคาย
เพราะฉะนั้น เหตุทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้ คือมีข้อไม่ยินดีพอใจเป็นต้น และข้อกระทำให้มาก ด้วยความที่ทำใจไว้โดยไม่แยบคาย คือไม่พิจารณาจับเหตุจับผลตามเป็นจริง ให้เกิดปัญญารู้คุณรู้โทษ เป็นอาหารคือเป็นเหตุของข้อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงควรรู้จักอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
เมื่อความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มเกิดขึ้น ก็ให้พิจารณาว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร
ก็จะจับเหตุได้ว่าเพราะมีอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มดังกล่าวนั้น
จึงต้องปฏิบัติแก้ ที่จะไม่ให้อาหารแก่ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม
ด้วยการที่ทำความยินดีพอใจให้บังเกิดขึ้นในกิจที่พึงทำทั้งหลาย
เช่นในการฟังธรรม หรือการฟังธรรมบรรยายเช่นในบัดนี้ แก้ความเกียจคร้านที่บังเกิดขึ้น ให้เกิดความขยันหมั่นเพียร แก้ความแชเชือนนอนบิดกายไปมา หรือนั่งบิดกายไปมา ขมีขมันลุกขึ้นประกอบการงาน และแก้โดยวิธีที่ทำให้หายเมาอาหาร เช่นลุกขึ้นเดิน หรือนั่งทำงานต่างๆ และต้องแก้ใจที่ท้อถอยท้อแท้ ให้กลับขมีขมัน อาศัยการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล รู้คุณรู้โทษ ของอาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และการที่แก้อาหารของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ให้รู้ว่าปล่อยใจให้ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ด้วยความไม่ยินดีเป็นต้น เป็นโทษ แต่การที่มาปฏิบัติแก้ให้ความไม่ยินดีเป็นความยินดีเป็นต้น เป็นคุณ อันจะทำให้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ให้ดับไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
ธาตุของความเพียร
ธาตุคือความทรงไว้ทั้ง ๓ นี้ เป็นธาตุของความเพียร ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เพราะถีนมิทธะ นั้นมีลักษณะปรากฏเป็นความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดกายด้วยความเกียจคร้าน ความเมาภัตตาหาร และความที่มีใจย่อหย่อน เพราะฉะนั้น ใจที่มีความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม จึงเป็นใจที่ย่อหย่อน ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะกระทำกิจที่พึงกระทำ ตกเข้าในลักษณะความเกียจคร้าน ฉะนั้น จึงต้องแก้ด้วยธาตุทั้ง ๓ ของความเพียรนี้
คือต้องมีความเริ่มต้นขึ้นทันทีโดยที่ไม่ผลัดเวลา หรือไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เช่นว่างานที่ควรทำในวันนี้ ก็ผลัดไปพรุ่งนี้มะรืนนี้ ดั่งนี้เป็นต้น หรือว่างานที่ควรทำเดี๋ยวนี้ ก็ผลัดไปว่าอีกสักครู่หนึ่ง ดั่งนี้เป็นต้น ต้องมีความริเริ่มขึ้น จับกระทำให้ทันกาลทันเวลาตามที่ควรทำทันที นี้เป็น อารัมภธาตุ ธาตุคือความจับเริ่มต้นขึ้น และเมื่อจับเริ่มต้นขึ้นแล้ว ก็ไม่ปล่อยไว้เพียงเริ่มต้นเท่านั้น คือว่าหยุดเสียอีก แต่ว่าจับกระทำต่อไป ไม่หยุด ก็เป็น นิคมธาตุ ธาตุคือความดำเนินไป ดำเนินไปดั่งนี้ งานก็ก้าวหน้า ความเพียรก็ก้าวหน้า ก็ให้ก้าวหน้าเรื่อยไป เรียกว่าไม่หยุดไม่ถอยหลัง แต่ดำเนินให้ก้าวไปเบื้องหน้าเรื่อยไป จนกระทั่งบรรลุถึงความสำเร็จ ก็เป็น ปรักมธาตุ ธาตุคือความก้าวหน้า จับทำให้ก้าวหน้าเรื่อยไปจนสำเร็จ เพราะฉะนั้น ธาตุทั้ง ๓ นี้จึงไม่เป็นอาหาร เรียกว่าเป็น อนาหาร ของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มไม่ได้อาหาร ที่บังเกิดขึ้นก็จะหายไป ที่ยังไม่บังเกิดก็จะไม่เกิดขึ้น
การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ
การกระทำไว้โดยแยบคายในข้อนั้น คือในข้อที่ปฏิบัติในธาตุทั้ง ๓ นั้น อันหมายความว่าจะต้องใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาจับเหตุจับผล ให้รู้จักว่าความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนั้น เป็นตัวเหตุของผล คือความเสื่อมต่างๆ ความไม่สำเร็จต่างๆ แต่ว่าการที่มาปฏิบัติทำให้หายไปได้ และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้นอีกนั้น เป็นตัวเหตุที่อำนวยให้เกิดคุณประโยชน์ อันเป็นการทำให้จับการงานได้ และให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ก็สุดแต่จะพิจารณาและปฏิบัติ ในทางแก้ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้หายไป และป้องกันไม่ให้บังเกิดขึ้น ด้วยวิธีจับเหตุจับผลดั่งเช่นที่กล่าวมา จนจิตใจนี้รับฟังเหตุผล ก็จะทำให้จับปฏิบัติ
อุทาหรณ์ตัวอย่างในการกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ
การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระโมคคัลลานะ ที่เมื่อท่านได้เข้ามาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านจับทำความเพียร นั่งโงกง่วงอยู่ด้วยความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงโปรด ด้วยทรงแสดงข้อแนะนำวิธีละความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มแก่ท่าน โดยใจความที่ท่านแสดงไว้ว่า ได้ตรัสสอนท่านว่า
ทำใจในสัญญาคือข้อกำหนดหมายข้อใด ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบังเกิดขึ้น ก็ให้ตั้งใจทำสัญญาข้อกำหนดหมายนั้นให้มาก ถ้าหากว่าเมื่อทำแล้วยังไม่หายโงกง่วง
ก็ให้พิจารณาตรึกตรองถึงธรรมะที่ได้ฟังแล้วได้เรียนแล้วให้มาก
ถ้าหากว่ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้สาธยาย คือสวดบทธรรมะที่ฟังแล้วที่เรียนแล้วโดยพิสดาร
ถ้ายังไม่หายก็ให้ยอนหูทั้งสองข้าง เอาฝ่ามือลูบที่ตัวที่กาย
ถ้ายังไม่หายโงกง่วงก็ให้ยืนขึ้น เอาน้ำลูบตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนหน้าดูดาวนักษัตฤกษ์
ถ้ายังไม่หายโงกง่วง ก็ให้ทำอาโลกะสัญญา ความสำคัญหมายว่าแสงสว่าง ทำใจให้มีแสงสว่างเหมือนกลางวัน ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน ใจก็จะเปิดเผย ปราศจากเครื่องรึงรัด และจิตใจก็จะมีแสงสว่าง
ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้อธิษฐานจงกรม คือตั้งใจทำการเดินกลับไปกลับมาสำรวมอินทรีย์ ไม่ส่งจิตไปในภายนอก
แต่ถ้ายังไม่หายโงกง่วงอีก ก็ให้สำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ทำสติสัมปชัญญะในอันตื่นลุกขึ้น เมื่อตื่นแล้วก็รีบลุกขึ้น ไม่ประกอบความสุขในการนอน ไม่ประกอบความสุขในการเอนข้างหรือเอนหลัง ไม่ประกอบความสุขในการเคลิ้มหลับ
ซึ่งพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนท่านดั่งนี้ และก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทในทางปฏิบัติอย่างอื่นอีก ท่านปฏิบัติตามก็ประสบความสำเร็จ คือแก้ง่วงได้ ประกอบความเพียรได้ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันที่ ๗ จากวันที่ท่านเข้ามาบวชในสำนักพระพุทธเจ้า
นี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติให้เกิดความเพียรขึ้นนั้นเอง โดยอาศัยกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ คือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล หาทางที่จะปฏิบัติ เพื่อรำงับความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มให้ได้ และเมื่อระงับได้แล้ว ก็จะจับความเพียรได้ จะมี อารัมภธาตุ ธาตุคือความเริ่มจับปฏิบัติทำความเพียร นิคมธาตุ ธาตุคือความดำเนินไปของความเพียร ไม่ให้หยุดชงัก ปรักมธาตุ ธาตุคือทำความเพียรให้ก้าวหน้า ไม่ให้ถอยหลัง ไม่ให้หยุด ให้ก้าวหน้าเรื่อยไป จนประสบความสำเร็จ

- สมเด็จพระญาณสังวร




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2550    
Last Update : 1 ธันวาคม 2550 17:35:07 น.
Counter : 280 Pageviews.  


crimson king
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ร่างกายนี้ ไม่มีฉัน
จิตดวงนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความรู้สึกนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความจำนี้ ก็ไม่มีฉัน
ความคิดนี้ ก็ไม่มีฉัน
ฉัน นั้นก็ไม่มี

นักศึกษาปฏิบัติธรรมมือใหม่
กิเลสหนา สมาธิ สติช้า ปัญญาด้อย
TIMEอย่าประมาทในชีวิต เวลาหมดลงทุกขณะ
ชีวิตนั้นสั้นนัก แต่วัฏสงสารยาวไร้สิ้นสุด
Friends' blogs
[Add crimson king's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.