หนังสือ การทรงงานของพ่อ ในความทรงจำ โดย อ.ปราโมทย์ ไม้กลัด




อยากให้ได้อ่านกันค่ะ
เป็นหนังสือที่เป็นบันทึกความทรงจำของอ.ปราโมทย์ ไม้กลัด ยิ่งทำให้รู้สึกสำนึกในสิ่งต่างๆที่ท่านทรงทำเพื่อคนไทยแม้เหน็ดเหนื่อยเพียงใด เทิดทูน รักในหลวงมากๆ ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

สำหรับอ.ปราโมทย์ ไม้กลัด รู้สึกชื่นชม และนับถือมากค่ะ

ซื้อหนังสือเล่มนี้ทั้งได้รับรู้เรื่องราว การทรงงานที่ถ่ายทอดโดยตรงจาก อ.ปราโมทย์ และยังจะได้มีส่วนได้ร่วมสาธารณกุศลด้วย เพราะเป็นหนังสือที่จัดเพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุนสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วยค่ะ

-----------

สำหรับด้านล่างเป็นข้อความบางตอนที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้

ในหลวงทรงตรัสกับอ.ปราโมทย์ ที่ได้ทุนอานันทมหิดล ก่อนไปเรียนเมืองนอก

ความสำคัญตอนหนึ่ง พระองค์ได้ให้แนวทางในการไปเรียนต่อ และยังติดตราในมโนสำนึกจนถึงปัจจุบันว่า

"ไปเรียนหนังสือ ไม่ได้ไปเรียนอยู่แต่ในห้องนะ ให้ไปดูซิว่า ในเมืองนอกเขาทำอะไรกัน เรื่องราวของชลประทาน เรื่องราวของเขื่อน เขาทำกันแบบไหน ไปเก็บความรู้ให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาไว้ใช้ประโยชน์ในบ้านเรา"

พระองค์ท่านได้แสดงให้เห็นถึงพระเมมตา และพระทัยใส่ ที่ทำให้ผมซาบซึ้งใจอย่างหาที่สุดมิได้จนขนลุกไปหมด เมื่อพระองค์ตรัสถามอธิบดีกรมชลประทานว่า

"ถ้าปราโมทย์ เขาไปแล้วจะเป็นอย่างไร ได้ข่าวว่าพ่อแม่เขาเป็นชาวสวน ปราโมทย์เขาต้องส่งสตางค์ให้พ่อแม่ทุกเดือน เมื่อไปแล้วจะยังได้รับเงินเดือนอยู่หรือป่าว"

ผมได้ยินได้ฟังนี่น้ำตาซึมไหลออกมาโดยอัตโนมัติ ด้วยความปลาบปลื้มซาบซึ้ง พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ ปกครองประชาชนทั้งประเทศ ไม่นึกเลยว่าพระองค์เป็นห่วงแม้กระทั่งครอบครัวของผมที่อยู่ในสวนส้ม

-----

หลังจากเรียนจบมาแล้วสิ่งสำคัญในชีวิต ที่ทำให้รับราชการด้วยความเต็มใจถวายหัวและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคือ การได้เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานผลการศึกษา
ผมเตรียมพร้อมด้วยความตั้งใจ และพยายามที่จะจับใจความสิ่งที่พระองค์ทรงมุ่งหวังให้ผมทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง แต่พระองค์ไม่ได้รับสั่งโดยตรง เพื่อแค่ชี้แนวทางและไม่ผูกมัด คาดหวังสิ่งใดจากผมเลย
แต่พระราชดำรัสหนึ่งที่ชัดเจนเหลือเกิน ก้องอยู่ในหัว มิอาจลืมเลืนชัดเจนในชั่วชีวิตของผมเลยก็ว่าได้

" ฉันไม่มีการเซ็นสัญญา ที่จะต้องทำงานรับใช้ทุน รับใช้ราชการเป็นลายลัษกณ์อักษรนะ แต่อยากจะขอให้ทำงาน ใช้ประสบการณ์ต่างๆที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไป"

----------------

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา ประมาณ 40 พรรษา เป็นช่วงที่พระองค์เริ่มทรงงานหนักมากที่สุดอย่างต่อเนื่องและยาวนานหลายสิบปีเลยทีเดียว

---

แต่พระองค์ก็อุทิศพระวรกาย เสด็จฯ ทรงงานทั่วผืนแผ่นดินไทยทุกจังหวัด ทุกภาค

ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง ทุกชนชาติศาสนา ใกล้ ไกล ลำบากแค่ไหน เรียกว่าไปหมด บางครั้งพื้นที่หลายแห่งหน่วยงานราชการยังเข้าไปไม่ถึงเลย ไปอย่างชนิดที่เรียกตามประสาชาวบ้านว่า

ถึงลูกถึงคน ไปให้รู้ดูให้เห็น สภาพความเป็นอยู่ด้วยพระองค์เองกับตา ไม่ใช่ใช้ใครไปดูแล้วมารายงานแค่นั้นนะ

ใน 1 ปี ในหลวงจะทรงงานต่างจังหวัดประมาณ 7 เดือน เวลาที่เหลือจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในกรุงเทพฯ

----

แม้สถานที่ ผมจะกราบทูลด้วยความเป็นกังวลว่า เป็นหนทางอันตราย และลำบากมาก ต้องเดินเท้าเข้าไปหลายร้อยเมตร บางแห่งหลายกิโลเมตร ต้องเดินขึ้นภูเขาสูงชัน ต้องลุยน้ำ ย่ำลำธาร ผ่านพื้นที่เปียกแฉะ ขึ้นเนิน ผ่านคันนา ป่ากกฯลฯ มีสัตว์เลื้อยคลานมีพิษ ไม่ว่าจะเป็นงู หรือทาก ตลอดจนแมลงที่จะทำอันตรายพระวรกายได้ตลอดเวลา
พระองค์รับสั่งย้ำกับผมเสมอว่า
"นายช่าง ถึงไม่มีถนน ต้องเดินไป 2 กิโลเมตร 3 กิโลเมตรก็จะไป"

--------

ทรงงานไม่เคยหยุดเสาร์-อาทิตย์
ไม่มีโอที
ไม่มีเงินเดือน
ไม่มีวันเกษียณ

---------

ทรงตระหนักดีว่า ความทุกข์ ความเจ็บป่วย ความหิวโหย ของประชาชน หยุดรอรับความช่วยเหลือมิได้

ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2555   
Last Update : 31 พฤษภาคม 2555 20:43:03 น.   
Counter : 3635 Pageviews.  

พระผู้เป็น "แรงบันดาลใจ"






นิตยสารไทม์ ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีผู้อ่านมากมายกระจายอยู่ทั่วโลก ฉบับประจำวันที่ ๑๓ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ ได้คัดเลือกบุคคลชั้นนำของทุกวงการในทวีปเอเชียจำนวน ๖๐ คน เพื่อประกาศยกย่องเป็น “๖๐ ฮีโร่ของเอเชีย” ในบรรดาบุคคลชั้นยอดเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในฮีโร่ของชาวเอเชียด้วย โดยไทม์กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็น “พระธรรมปิยราชา : พระราชาผู้เป็นที่รักโดยธรรม” ซึ่งสามารถนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า โดยทรงใช้ทศพิธราชธรรมเป็นเข็มทิศนำทาง (a beloved monarch has used his moral authority to guide Thailand through many crises)

ในทัศนะของผู้เขียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “แรงบันดาลใจ” ในมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะมองด้วยมาตรฐานด้านใด พระองค์ล้วนทรงเป็นแรงบันดาลใจได้ทั้งสิ้น

ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง การที่พระองค์ทรงเป็นเป็นแรงบันดาลใจในด้านการทำงานอย่าง “มืออาชีพ” มาให้ลองศึกษาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนทำงานดังต่อไปนี้

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บรรยายในการประชุมสมัชชาแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2539 สิบปีก่อนไว้ว่า...“...ล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา น้ำท่วม ทรงงานทั้งวันทั้งคืน ทรงงานชนิดตามเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อน (พายุ) มาถึงเมืองไทยด้วยซ้ำไป ขณะที่พวกเรานั่งเอ้อระเหยอยู่ ขณะที่หน่วยราชการหลายหน่วยแม้กระทั่งรัฐบาลเอง น้ำท่วมเดี๋ยวก็จัดรายการเรี่ยไรเงิน ไม่มีใครพะวงว่าจะแก้ไขอย่างไร ทรงตามติดทุกนาที

อาจจะไม่ทราบ เครื่องมือสื่อสารยุคนี้ที่บอกว่าเป็นยุคข้อมูลข่าวสารนั้น พระองค์ท่านเป็นบุคคลหนึ่งบนแผ่นดินนี้ที่มีระบบข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์แบบที่สุด ทรงตามพายุมาตั้งแต่ฮาวาย ตามเรื่อย คำนวณหมดว่าเดินทางระยะทางเท่าไหร่ต่อนาที ขนาดความแรงเท่าไหร่ น้ำจะไหลไปจุดไหน จะวิ่งมาตามลำน้ำต่างๆ จะเป็นเจ้าพระยาป่าสัก จนถึงกรุงเทพฯ ภายในกี่ชั่วโมง นี่ยากกระทั่งกรมที่รับผิดชอบเองก็ไม่ได้คำนวณอย่างนั้น รู้เพียงแต่ว่ามันจะมา น้ำจะท่วมใหญ่ แล้วดูดโอเลี้ยง อ่านหนังสือพิมพ์ต่อไป พระองค์ทนไม่ไหว ไม่มีใครขยับสักที เวลาประมาณ 3 ทุ่ม หรือ 4 ทุ่ม พระองค์ท่านเรียกในฐานะพระมหากษัตริย์ ไม่มีข้อระบุข้อไหนเลยว่าจะต้องทรงงานแล้วก็สั่งงาน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานเขาทำ

วิธีการทางอ้อม คือเรียกประชุมแล้วหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมา ชี้ให้เห็นว่ามาแล้วนะ อันตราย แล้วคำนวณแน่ชัดเลยว่าเวลาไหน ปริมาณแน่ชัดเท่าไหร่ ขณะที่ทุกคนบอกว่าโอเค ประชุมเสร็จพรุ่งนี้จะเริ่มงาน พระองค์ท่านรับสั่ง ไม่ใช่พรุ่งนี้ เดี๋ยวนี้...”

พระราชจริยวัตรด้านการเป็น ‘มืออาชีพ’ ในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นนี้ ควรที่เราคนไทยผู้เอ่ยอ้างอย่างเต็มภาคภูมิ ว่า “เรารักในหลวง” สมควรอย่างยิ่งที่จะน้อมนำมาเป็นแนวทางสำหรับปรับเปลี่ยนการทำงานของ ตัวเองให้มีลักษณะเป็น ‘มืออาชีพ’ มากขึ้น

ขอขอบคุณ : //www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=19963 & //www.dhammasatta.org/index.php?mo=3&art=329108




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2554   
Last Update : 20 มิถุนายน 2554 22:34:55 น.   
Counter : 436 Pageviews.  

เรื่องของในหลวงที่เรา(อาจ)ไม่เคยรู้มาก่อน



1.ทรงพระราชสมภพเวลา 08.45 น.

2.นายแพทย์ผู้ทำคลอดชื่อ ดับลิว สจ๊วต วิตมอร์ ทรงมีน้ำหนักแรกประสูติ 6 ปอนด์

3.พระนาม 'ภูมิพล' ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

4.พระยศเมื่อแรกประสูติ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ภูมิพลอดุลยเดช

5.ทรงมีชื่อเล่น ว่า เล็ก หรือ พระองค์เล็ก



6.ทรงเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี เพราะช่วงพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ 1 ปี มีพระนามในใบลงทะเบียนว่า 'H.H Bhummibol Mahidol' หมายเลขประจำตัว 449

7.ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า อย่างธรรมดาว่า 'แม่'

8.สมัยทรงพระเยาว์ ทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง

9.แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย
เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม

10.สมัยพระเยาว์ทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็เคยเลี้ยง
ครั้งหนึ่งงูตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต

11.สุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงสมัยทรงพระเยาว์เป็นสุนัขไทย ทรงตั้งชื่อให้ว่า'บ๊อบบี้'



12.ทรงฉลองพระเนตร(แว่นสายตา)ตั้งแต่พระชันษายังไม่เต็ม 10 ขวบ เพราะครูประจำชั้นสังเกตเห็นว่าเวลาจะทรงจดอะไรจากกระดานดำพระองค์ต้องลุกขึ้นบ่อยๆ

13.สมัยพระเยาว์ทรงซนบ้าง หากสมเด็จย่าจะลงโทษ จะเจรจากันก่อนว่า โทษนี้ควรตีกี่ที ในหลวงจะทรงต่อรองว่า 3 ที มากเกินไป 2 ทีพอแล้ว

14.ระหว่างประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์นั้น ระหว่างพี่น้องจะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะใช้ภาษาไทยกับสมเด็จย่าเสมอ

15.ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก 'การให้' โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า 'กระป๋องคนจน' เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก 'เก็บภาษี' หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

16.ครั้งหนึ่ง ในหลวงกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่า 'ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อจักรยาน'

17.กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coconet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา

18.ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง

19. พระอัจฉริยภาพของในหลวง มีพื้นฐานมาจาก 'การเล่น' สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไรต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐา ซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วเอามาประกอบเองเป็นวิทยุ แล้วแบ่งกันฟัง

20.สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆเพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์

21.ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน กีตาร์ แซกโซโฟน แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นคือ หีบเพลง (แอกคอร์เดียน)

22.ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราวพระชนม์ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาหัดเล่น โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้

23.ครูสอนดนตร ีให้ในหลวง ชื่อ เวย์เบรชท์ เป็นชาว อัลซาส

24.ทรงพระราชนิพนธ์เพลงครั้งแรก เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา เพลงพระราชนิพนธ์แรกคือ... 'แสงเทียน' จนถึงปัจจุบันพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง



25.ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย อย่างครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซองจดหมายตีเส้น 5 เส้นแล้วเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง
'เราสู้'

26. รู้ไหม.? ทรงมีพระอุปนิสัยสนใจการถ่ายภาพเหมือนใคร : เหมือนสมเด็จย่า และ รัชกาลที่527. นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายแล้วนำเงินรายได้มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ โรงพยาบาลภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อนด้วย

28. ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง 'นายอินทร์' และ 'ติโต' ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ แล้วให้เสมียนพิมพ์ แต่ 'พระมหาชนก' ทรงพิมพ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์

29. ทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และ เรือใบ ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น'กีฬาซีเกมส์') ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2510



30. ครั้งหนึ่ง ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯว่า เสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวส์ ทั้งๆที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่าทรงยึดกติกามากแค่ไหน

31. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่มลอย หรือ 'กังหันชัยพัฒนา' เมื่อปี 2536

33. ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์,ดีโซฮอลล์ และ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

34. องค์การสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่ในหลวงเมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยมี นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางมาถวายรางวัลด้วยตนเอง

35. พระนามเต็มของในหลวง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรา มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

36. รักแรกพบ ของในหลวงและหม่อมสิริกิติ์เกิดขึ้นที่สวิสเซอร์แลนด์ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯทรงให้สัมภาษณ์ว่า "น่าจะเป็นเกลียดแรกพบ มากกว่ารักแรกพบ" เนื่องเพราะรับสั่งว่าจะเสด็จถึงเวลาบ่าย 4 โมง แต่จริงๆแล้วเสด็จมาถึงหนึ่งทุ่ม ช้ากว่าเวลานัดหมายตั้งสามชั่วโมง

37. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 โดยทรงจดทะเบียนสมรสเหมือนคนทั่วไป ข้อความในสมุดทะเบียนก็เหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท



38. หลังอภิเษกสมรส ทรง"ฮันนีมูน"ที่หัวหิน

39. ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน



40. ระหว่างทรงผนวช พระอุปัชฌาย์และพระพี่เลี้ยง คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

41. ของใช้ส่วนพระองค์นั้นไม่จำเป็นต้องแพงหรือต้องแบรนด์เนม ดังนั้นการถวายของให้ในหลวงจึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นของแพง อะไรที่มาจากน้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น

42. เครื่องประดับ : ในหลวงไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้น นาฬิกา

43. พระเกศาที่ทรงตัดแล้ว : ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่ธงชัยเฉลิมพลเพื่อมอบแก่ทหาร อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สร้างวัตถุมงคล เพื่อมอบแก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ



44. หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และ กดเป็นรอยบุ๋ม



45. วันที่ในหลวงเสียใจที่สุด คือ"วันที่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต" มีหนังสือเล่าไว้ว่า "วันนั้นในหลวงไปเฝ้า แม่ถึงตีสี่ตีห้า พอแม่หลับจึงเสด็จฯกลับ เมื่อถึงวัง ทางโรงพยาบาลก็โทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์แล้ว ในหลวงรีบกลับไปที่โรงพยาบาล เห็นแม่นอนหลับตาอยุ่บนเตียง ในหลวงคุกเข่าเข้าไปกราบที่อกแม่ ซบหน้านิ่งอยู่นาน ค่อยๆเงยพระพักตร์ขึ้นมาน้ำพระเนตรไหลนอง"

46. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนกว่า 3,000 โครงการ



47. ทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังสถานต่างๆจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ 3 สิ่ง คือ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง(ตัดต่อเอง ปะกาวเอง) กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ

48.ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่างแม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าฯถวายงาน

49. เก็บร่ม : ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จฯเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงมีรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน

50. ทรงศึกษาลักษณะอากาศทุกวัน โดยใช้ข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยานำขึ้นทูลเกล้าฯ ร่วมกับข้อมูลจากต่างประเทศที่หามาเอง เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจก่อความเสียหายแก่ประชาชน

51. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มต้นขึ้นจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 32,866.73บาท ซึ่งได้จากการขายหนังสือดนตรีที่พระเจนดุริยางค์ จากการขายนมวัว ก็ค่อยๆเติบโตเป็นโครงการพัฒนามาจนเป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

52. เวลามีพระราชอาคันตุกะเสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯสวนจิตรลดา ในหลวงจะเสด็จฯลงมาอธิบายด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงรู้ทุกรายละเอียด

53. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงตอบว่า "ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือ บ้านเมือง คือ ความสุขของคนไทยทั่วประเทศ"



54. ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง (20 กรกฎาคม 2549) ยังทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้มอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน

55. อาหารทรงโปรด : โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา

56. ผักที่ไม่โปรด : ผักชี ต้นหอม และตังฉ่าย

57. ทรงเสวย ข้าวกล้อง เป็นพระกระยาหารหลัก

58. ไม่เสวยปลานิล เพราะทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย โดยใช้สระว่ายน้ำในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นบ่อเลี้ยง แล้วแจกจ่ายพันธุ์ไปให้กรมประมง

59. เครื่องดื่มทรงโปรด : โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคย เสวยวันหนึ่งหลายครั้ง

60. ทีวีช่องโปรด ทรงโปรดข่าวช่องฝรั่งเศส ของยูบีซี เพื่อทรงรับฟังข่าวสารจากทั่วโลก

61. ทรงฟัง จส.100 และเคยโทรศัพท์ไปรายงานสถานการณ์ต่างๆใน กทม.ไปที ่ จส.100ด้วย โดยใช้พระนามแฝง

62. หนังสือที่ในหลวงอ่าน : ตอนเช้าตื่นบรรทม ในหลวงจะเปิดดูหนังสือพิมพ์รายวันทั้งไทยและเทศ ทุกฉบับ และก่อนเข้านอนจะทรงอ่านนิตยสารไทม์ส นิวสวีก เอเชียวีก ฯลฯ ที่มีข่าวทั่วทุกมุมโลก

63. ร้านตัดเสื้อของในหลวง คือ ร้านยูไลย เจ้าของชื่อ ยูไลย ลาภประเสริฐ ถวายงานตัดเสื้อในหลวงมาตั้งแต่ปี 2501 เมื่อนายยูไลยเสียชีวิต ก็มี ลูกชาย นายสมภพ ลาภประเสริฐ มาถวายงานต่อ จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 50 ปีแล้ว

64. ห้องทรงงานของในหลวง อยู่ใกล้ห้องบรรทม บนชั้น 8 ของตำหนักจิตรลดาฯเป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3x4 เมตร ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์
แผนที่ ฯลฯ

65. สุนัขทรงเลี้ยง นอกจากคุณทองแดง สุวรรณชาด สุนัขประจำรัชกาล ที่ปัจจุบันอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล แล้ว ยังมีสุนัขทรงเลี้ยงอีก 33 ตัว

66. ในหลวง เกิดจากคำที่ชาวเหนือใช้เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า 'นายหลวง' ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น ในหลวง

67. ทรงเชี่ยวชาญถึง 6 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และ สเปน

68. อาชีพของในหลวง เมื่อผู้แทนพระองค์ไปติดต่อเอกสารสำคัญใดๆทรงโปรดให้กรอกในช่อง อาชีพของพระองค์ว่า 'ทำราชการ'

69. ในหลวงทรงพระเนตรเทียมข้างขวา เป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ รถพระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกเข้าพระเนตรข้างขวา ตอนนั้นมีอายุเพียง 20 พรรษา และทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียว ในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนชาวไทยมาตลอดกว่า 60 ปี

70. ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันลงข่าวลือเกี่ยวกับในหลวงว่า แซกโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นเป็นแซกโซโฟนที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ ซึ่งได้มีพระราชดำรัสว่า'อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก'

71. ปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่ง จนกระทั่งกุด

72. หัวใจทรงเต้นไม่ปรกติ ในหลวงเคยประชวรหนักจนหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากติดเชื้อไมโครพลาสม่า ขณะขึ้นเยี่ยมราษฎรที่อำเภอสะเมิงติดต่อกันหลายปี

73. รู้หรือไม่ว่า ในหลวงเป็นคนประดิษฐ์รูปแบบฟอนต์ภาษาในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ อย่าง ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์

74. ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดขึ้นที่อิมแพ็ค มีประชาชนเข้าชมรวม 6ล้านคน

75. ในหลวงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 จน 29 ปีต่อมาจึงมีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละ 3 ชม. ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทาน 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด 141 ตัน

76. นั่งรถหารสอง : ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง จึงให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด



อ่านจบแล้ว ช่วยกันเผยแผ่จริยวัตรที่ดีงามของพระองค์ท่านให้มาก ๆ
เพื่อคนไทยจะได้รู้จัก และรักในหลวงของเรา ให้มาก ๆ ...สาธุ



ขอขอบคุณ Website ; //www.dhammasatta.org/index.php?mo=3&art=223810




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2554   
Last Update : 20 มิถุนายน 2554 22:27:17 น.   
Counter : 4152 Pageviews.  


Crescent-Norther-Star
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Crescent-Norther-Star's blog to your web]