การฆ่าตัวตายทางวิญญาณ หนังสือ พุทธทาส ภิกขุ ถอดเทป โดยห้องหนังสือเรือนธรรม




ขอขอบคุณ:ห้องสมุดเรือนธรรม และที่ //www.ruendham.com
หากสนใจอ่านต่อได้ที่ //www.ruendham.com/book_detail.php?id=25
(ห้องหนังสือเรือนธรรมจัดทำต้นฉบับ ถอดจากเทปบรรยายธรรมของหลวงพ่อพุทธทาส)

เรื่องในหนังสือ มี 8 เรื่อง
1. การฆ่าตัวตายทางวิญญาณ
2. การมีนิพพานในชีวิตประจำวัน
3. ความถูกต้องกับอาการตลิ่งไหลลำธารหยุด
4. ความลับของอายตนะ
5. การปฏิบัติที่หยุดการเกิดแห่งตัวกู
6. ความแข็งแกร่งของชีวิต
7. ความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นหัวใจพุทธศาสนา
8. เดินทางอย่าหอบหิ้วอะไรไป


หัวข้อเรื่อง : 1. การฆ่าตัวตายทางวิญญาณ

อยากจะให้ทุกคนสังเกตดูว่าทำไมจะต้องพูดในลักษณะที่โลดโผน ลืมยาก เช่น คำว่าตายเสียก่อนตาย ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูด หรือไม่ชอบจะพูด แต่ผมเห็นว่ามีประโยชน์ คือมันลืมยาก และมันเก็บเอาใจความสำคัญไว้ได้เต็มที่ ว่าคำสั่งสอนทั้งหมดพูดแล้วมันก็มากความมากคำ แต่เดี๋ยวนี้มาพูดให้เหลือเพียง ๒-๓ คำว่า จงตายเสียก่อนตาย ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์อะไร คือฟังไม่รู้เรื่องเลย ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเข้าใจมันจะกลายเป็นมีประโยชน์อย่างยิ่ง
มันจำได้ง่ายๆ ว่าตายเสียก่อนตาย และขยายความออกไปว่า ให้ตัวกูตัวตนซึ่งเป็นตัวร้ายให้มันตายเสียก่อนแต่ร่างกายตาย ซึ่งคนมีสติปัญญาตามธรรมดา ก็จะพอมองเห็นได้ ถ้าเราจงหมดความโง่ ว่าตัวตน หมดความยึดถือว่าตัวตนเสียก่อนแต่ที่จะสิ้นชีวิต มันก็เท่านี้ ลองคิดดู มันจำง่ายสักเท่าไร มันแน่นอนสักเท่าไร และมันอมความไว้ทั้งหมดทั้งสิ้นในคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่จะทำทุกอย่างให้หมดความยึดถือว่าตัวตนเสียก่อนตาย ก็มีเท่านั้น
ธรรมดาๆ ก็ไม่ค่อยรีบปฏิบัติให้ถึงที่สุดเสียก่อนตาย ที่เรียกว่าให้ตัวตนหมดคือตายเสียก่อนตาย
คำว่าตายในที่นี้ไม่ใช่ภาษาร่างกาย ไม่ใช่ภาษาวัตถุ เป็นภาษาธรรมะ ใช้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม มีความหมายเป็นนามธรรม ซึ่งมีเรื่องในพระบาลีจะช่วยให้เข้าใจได้ดีหรือจำได้ง่าย ว่าพระพุทธเจ้าก็ฆ่าคนตาย คือมันมีเรื่องกล่าวไว้ในพระบาลีว่า
คนฝึกม้า รับจ้างฝึกม้าที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เขาไปสนทนากับพระพุทธเจ้า เลยสนทนากันถึงเรื่องการฝึกม้า ถ้าว่าม้าตัวนั้นฝึกไม่ได้เท่าที่ฝึกที่สุดแล้วก็ปล่อยให้เจ้าของไป มันก็เป็นม้าเลว ไปทำเสียชื่อผู้ฝึกม้าแล้วจะทำอย่างไร คนฝึกม้าก็ว่าข้าพเจ้าก็ฆ่าม้านั้นเสีย ไม่ให้ทำลายชื่อเสียงของข้าพเจ้า เพราะม้าตัวนี้ผ่านการฝึกในสำนักนี้ถึงที่สุดแล้ว มันยังเป็นม้าที่ใช้ไม่ได้
คนฝึกม้าก็ย้อนถามพระพุทธเจ้าบ้างว่า ถ้าพระองค์ฝึกสาวกบางคนของพระองค์ ฝึกไปฝึกมาถึงที่สุดแล้ว มันก็ยังไม่ได้ผลอะไร แล้วพระองค์จะทำอย่างไร
พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ฉันก็ฆ่าเขาเสีย คนคนนั้นก็เลยแย้งว่า ก็ปาณาติบาต ไม่สมควรแก่สมณโคดมไม่ใช่หรือ พระพุทธเจ้าก็อธิบายว่า
การฆ่าในอริยวินัย ในธรรมวินัยของพระสงฆ์หมายความว่าไม่เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป มีก็เหมือนกับไม่มี คือทำให้ไม่มี ไม่มีการเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป นั่นแหละเรียกว่าการฆ่าในอริยวินัย ไม่ต้องเอามีดอาวุธอะไรมาฆ่าให้ตาย เหมือนคนฝึกม้าจะต้องทำ
การไม่เกี่ยวข้องด้วยนั่นแหละ คือการฆ่าที่ถึงที่สุด มันฆ่าถึงจิตใจ การไม่เกี่ยวข้องด้วยก็หมายความว่าทำให้เหมือนกับมันไม่มี มันหายไปแล้ว นี่เรียกว่าการฆ่า
ทีนี้ตายเสียก่อนตาย ฆ่ามันเสียให้ตาย ก็ทำให้มันถึงสภาพที่เหมือนกับไม่มีเสียก่อนแต่ที่ร่างกายนี้จะตาย ความคิดความนึกความรู้สึกความยึดถือที่ว่าตัวกู ตัวตน ทำให้มันถึงความไม่มีเสียก่อนแต่ร่างกายตาย เรียกว่าฆ่า
ในที่นี้ก็อยากจะพูดต่อไปอีกด้วยถ้อยคำทำนองเดียวกันที่มันลืมยาก คือ พูดว่าพุทธศาสนาก็คือการสอนให้ฆ่าตัวตาย ธรรมะทั้งหมดทั้งสิ้นในทางพุทธศาสนา ก็คือการสอนให้ผู้ปฏิบัติฆ่าตัวตาย
นี่ฟังดูมันจะเป็นอย่างไร ถ้าใครไม่เข้าใจก็จะว่าบ้าบอที่สุด เป็นคำพูดบ้าบอที่สุด ถ้าเข้าใจก็จะเข้าใจต่อไปว่า คำสอนในพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งระบบมันคือการสอนให้คนทำลายสิ่งที่เรียกว่าตัวตน หรือตัวกูนั้นเสียก็แล้วแต่ สอนให้ฆ่าตัวตาย
แต่มันมีความหมายว่าตาย คือตายในทางภาษานามธรรมภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาร่างกาย คล้ายว่าจะเอาอาวุธมาทำลายร่างกายนี้เสีย มันก็ไม่จบเรื่อง คือมันไม่หมดกิเลสได้ จึงต้องทำโดยวิธีให้ตัวกูหรือตัวตนนั้นดับไปหมด ในความรู้สึกไม่มีอยู่ นั่นก็เรียกว่าถึงที่สุดการปฏิบัติ ไม่มีตัวตน แล้วก็ไม่มีกิเลส แล้วก็ไม่มีความทุกข์
ฉะนั้นมาแข่งกันว่าใครจะฆ่าตัวกูได้มากกว่าใคร ใครจะฆ่าตัวกูได้เร็วกว่าใครก่อนใคร นั่นแหละคือการเป็นอยู่ล่ะ
การเป็นอยู่ในทุกวันของเรามีว่าคนไหนจะฆ่าตัวตนตัวกู หรืออัสมิมานะ อัตวาทุปาทาน แล้วแต่จะเรียก ความหมายก็คือตัวกูทั้งนั้น ใครจะฆ่าได้มากกว่าใคร มันก็เท่ากับว่าใครมันมีกิเลสน้อยกว่าใคร ใครทำให้มีกิเลสได้น้อยกว่าใคร ใครทำได้ก่อนใคร ปฏิบัติแข่งกันเลย ใครจะฆ่าตัวตายได้เสร็จเรียบร้อยก่อนใคร ก็หมายความว่าเป็นพระอรหันต์ก่อนใคร หมดอัสมิมานะว่าตัวตน ตัวกู
มันคงจะลืมยากใช่ไหม คุณลองคิดดู มันเป็นหลักที่เปลี่ยนไม่ได้ มันไม่มีทางจะเปลี่ยนความหมาย แล้วมันก็จะเข้าใจง่ายที่สุดแหละ เป็นอันว่าเรามาแข่งกันฆ่าตัวตาย ใครจะฆ่าได้มากกว่าใคร ใครจะฆ่าได้ก่อนใคร ข้อปฏิบัติทั้งหมด มันเป็นอย่างนั้น จะเรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา หรือจะเรียกว่า อสังขิตมรรค หรือจะเรียกอะไรก็ตามใจ เมื่อปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้ว มันก็สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ มีความสิ้นตัณหาอุปาทาน ที่ว่าตัวว่าตน
ถ้าอันนี้มันสิ้น อันอื่นมันสิ้นหมด ไม่มีอุปาทานว่าตน ก็ไม่มีที่ตั้งของกิเลส เพราะกิเลสมันเกิดเพื่อตนทั้งนั้น
ผมคิดว่าคงจะจำแม่น ไม่ลืมไปจนตาย แม้เราจะไม่พูดกันอีกจนกระทั่งตาย ก็ไม่มีใครลืมคำชนิดนี้ได้ ผมจึงเห็นว่ามีประโยชน์ และใช้คำชนิดนี้
บางคนเขาจะว่าพูดเล่นลิ้น พูดตลก หรือพูดตลบแตลง ตามใจได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงว่ามันลืมไม่ได้ และมันเข้าใจถูกต้อง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพี้ยนไปไม่ได้ ทุกคนที่ฆ่าตัวตายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ นี่ความหมายหนึ่งในความหมายทั่วไป
ยังมีความหมายพิเศษอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันนัก เพราะมันอยู่แต่ในพระคัมภีร์ พระบาลี ให้ฆ่าบิดามารดาเสีย กิเลสประเภทที่ให้เกิดวามรู้สึกว่าตัวตน กิเลสว่าตัวตนคือสิ่งที่เราจะต้องฆ่า กิเลสประเภทที่จะเกิดกิเลสว่าตัวตน นั่นแหละบิดามารดาของมัน ระบุไปที่อวิชชา ระบุไปที่ตัณหา
กิเลสที่ชื่ออุปาทาน อุปาทานคือตัวตนของตน อุปาทานนี่มาจากตัณหา แม่ของมัน ตัณหาก็มาจากอวิชชา เรียกพ่อของมัน เรียกอวิชชา ตัณหา ว่าเป็นพ่อแม่ของตัวตน คือกิเลสที่ชื่อว่าอุปาทาน
ถ้าเราฆ่าอวิชชาได้ ฆ่าตัณหาได้ อุปาทานก็ไม่มี อุปาทานไม่มีคือตัวกูไม่มี ตัวกูหมดไปแล้ว ตายไปแล้ว
ลำดับในปฏิจจสมุปบาท สำคัญมาก ควรจะต้องจำไว้แม่นยำเหมือนกับว่า แม่ก.กา แม่ ก.ข.ก.กา ต้องจำไว้อย่างแม่นยำเป็นอันแรก หรือถ้าเป็นวิชาเลข ก็เป็นสูตรคูณที่เราต้องจำแม่นยำที่สุด
ในทางธรรมะนี้ ก.ข.ก.กา หรือสูตรคูณนี้ก็คือปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ
พูดแล้วมันก็จะได้มองเห็นทันทีไงว่า ฆ่ามันเสียตัวกูน่ะ เราฆ่ามันเสีย หรือถ้าให้แยบคายกว่านั้นอีก ก็ฆ่าพ่อฆ่าแม่มันเสีย แล้วมันก็คลอดออกมาไม่ได้อีก มิฉะนั้นมันจะคลอดออกมาเป็นประจำ วันหนึ่งๆ ไม่รู้กี่ครั้ง ไม่รู้กี่กู ไม่รู้กี่ตัว
นี่พุทธศาสนามันมีการเกิดเฉพาะๆ ไม่ใช่ว่าคนนั้นตายแล้วเกิด คนนี้ตายแล้วเกิด คนเดียวกันตายแล้วเกิด อย่างนั้นเป็นลัทธิอื่น
เดี๋ยวนี้เมื่อมันรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มันโง่ คืออวิชชา เข้ามาเกี่ยวข้องก็เกิดตัณหา ก็เกิดอุปาทาน มันก็เกิดตัวกูครั้งหนึ่ง เดี๋ยวอาศัยตาเกิด เดี๋ยวอาศัยหูเกิด อาศัยจมูกเกิด ลิ้นเกิด กายเกิด ซึ่งมันจะเกิดได้นับไม่ไหว ถ้าว่ามันมีเหตุการณ์มาก มันมีอวิชชามาก มันเกิดได้ทุกๆ ครั้งที่มีอะไรมากระทบ จำลำดับในสูตรให้แม่นยำว่า
อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเนื่องกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เกิดวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๓ อย่างนี้คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ นี่ทำหน้าที่ด้วยกันอยู่ คือวิญญาณมันรู้แจ้งต่ออายตนะภายนอก โดยทางอายตนะภายใน เรียกว่ามันทำงานร่วมกันอยู่ นี่คือผัสสะ
ถ้ามีผัสสะ ก็มีเวทนา คือความรู้สึก ซึ่งแยกได้ว่า พอใจ ไม่พอใจ หรือยังไม่แน่ว่าพอใจหรือไม่พอใจ จะสุข หรือทุกข์ หรืออทุกขมสุข นี่เวทนา
ถ้ามันโง่กันตอนผัสสะ หรือตอนเวทนา นี่คืออวิชชาเข้ามาเป็นพ่อ เวทนาชนิดนี้ชนิดที่โง่อย่างนี้ให้เกิดตัณหา อยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ไปตามอำนาจของเวทนา มันเป็นแม่
ถ้ามีตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทาน ความหมายมั่นว่าตัวตนว่าของตน คือเกิดตัวกู แต่ในระยะเรียกว่ายังอ่อนอยู่ ยังแรกตั้งครรภ์ พอมันมีอุปาทานแล้วทารกในครรภ์มันก็แก่เข้าๆ เรียกว่าภพ ทารกมันสมบูรณ์ในครรภ์ พอภพมันถึงที่สุดแล้ว มันก็คลอดชาติ ภพเป็นปัจจัยเกิดชาติออกมา เป็นตัวกูของกูสำหรับจับเอานั่นจับเอานี่มาเป็นของกู ความเกิดเป็นของกู ความแก่เป็นของกู ความเจ็บเป็นของกู ความตายเป็นของกู กูนั้นโดยธรรมชาตินะ อะไรก็ตามที่มันมีอยู่รอบตัว พ่อของกู แม่ของกู ลูกของกู เมียของกู เงินของกู วัวของกู ควายของกู มันมีชาติเต็มที่ มีตัวตนเต็มที่ที่มันจะเกิดความรู้สึกว่าอะไรเหล่านั้นเป็นของกู
ทีนี้มันก็หนักเป็นทุกข์ด้วยความยึดมั่นว่าเป็นตัวกูว่าของกู มันมีตลอดทางแหละ ความรักก็หนักไปอย่างหนึ่ง ความโกรธก็หนักไปอย่างหนึ่ง ความเกลียดก็หนักไปอย่างหนึ่ง ความกลัวก็หนักไปอย่างหนึ่ง ความวิตกกังวลว่ามันจะสูญหายไป ว่ามันจะพลัดพรากไป ว่ามันจะมีชู้ จะมีทุกอย่างเลย มันก็เป็นเรื่อง เป็นความทุกข์
นั่นเพราะมันมีตัวกู มันก็ปรุงแต่งเป็นกิเลสต่างๆ ในที่สุดก็เพื่อของกู สิ่งต่างๆ มันไม่เป็นไปตามต้องการได้หรอก มันเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา มันก็เลยขัดใจ เป็นทุกข์
ฉะนั้น ความทุกข์จะไม่มี ก็ต่อเมื่อไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสก็ต่อเมื่อไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกูก็ต่อเมื่อพ่อแม่ของมันไม่คลอดออกมา คืออวิชชา ตัณหา มันไม่คลอดออกมา
ฆ่าตัวกูเสียก็คือฆ่าอุปาทานนั้นเสีย ถ้าว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่ของมันเสีย ก็คือฆ่าอวิชชา และตัณหานั้นเสีย
พูดอย่างนี้ มันพูดให้เป็นภาพพจน์ขึ้นมา มันมองเห็นภาพง่าย จำง่าย เข้าใจง่าย เขานิยมเขียนเป็นภาพปริศนาธรรมเพื่อให้มันง่าย ง่ายแก่การฟัง การเรียน การคิด การนึก การเข้าใจ นี่เราก็พูดอย่างนั้นแหละ พูดทำนองนั้นแหละ ทำนองให้มันอุปมาเหมือนกับเป็นบุคคล พูดอย่างเหมือนกับเป็นบุคคล เป็นตัวเป็นตน ที่จริงมันก็เป็นนามธรรมทั้งนั้นแหละ
จะฆ่านี่ก็ฆ่าสิ่งที่เป็นนามธรรม แล้วก็โดยเครื่องมือที่เป็นนามธรรม โดยวิธีที่เป็นนามธรรม จำไว้ว่าเราจะฆ่ามันได้โดยวิธีใด เรื่องของธรรมชาติมันเป็นอยู่อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการฆ่ามันเสีย
ที่ว่ากฏปฏิจจสมุปบาทนี่เหมือนกับสูตรคูณ มันประหลาดมากที่ว่าแม้พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังนั่งท่องสูตรคูณ มันมีอยู่สูตรหนึ่ง หรือสองสูตร หรือไม่เกินสามสูตร ในพระบาลีทั้งหมด
วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านประทับนั่งอยู่องค์เดียวที่วัดปัญจกุฎี ทรงตรัสเรื่องนี้ จะสบายพระทัยหรืออะไรก็สุดแท้แต่ หรือเห็นว่าไม่มีใคร ท่านก็ท่องมันขึ้นมา สูตรปฏิจจสมุปบาทนี่
จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ ปฏิจจะ อุปปัชชะติ วิญญานัง
ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส
ผัสสะปัจจะยา เวทนา
เวทนาปัจจะยา ตัณหา
ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง
อุปาทานปัจจะยา ภโว
ภวปัจจะยา ชาติ
ชาติ ปัจจะยา ชรา มรณัง โสกะ เทวะ ทุกขะ โทมนัส
อิมัสสะ เกวลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สมุทโย โหติ
พูดเรื่องตา ท่องข้อตา แล้วก็ท่องต่อไป เป็นข้อหู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเหมือนกับท่องสูตรคูณชัดๆ เลย
นี่มันแปลกประหลาด พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเอามาท่อง ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะท่านพ้นเรื่องแล้ว ตรัสรู้แล้ว จะต้องท่อง ตรัสรู้อยู่แล้ว แต่เข้าใจว่าคงจะเป็นที่พอพระทัยที่สุด ไม่มีเรื่องใดที่พอพระทัยมากที่สุดเท่าเรื่องนี้ ท่านจึงถึงกับท่องเล่น
เพราะเมื่อตรัสรู้ก็ตรัสรู้เรื่องนี้ ตรัสรู้แล้วก็เอามาท่อง ตรัสรู้ใหม่ๆ ก็เอามาสอน เป็นไทยๆ ก็ว่าตาเนื่องกันกับรูป เกิดการเห็นทางตา ๓ อย่างนี้ถึงกันอยู่เรียกว่าผัสสะ คือการกระทบ มีการกระทบก็มีเวทนา คือความรู้สึก เมื่อมีความรู้สึก ก็มีตัณหาคือความต้องการอย่างโง่เขลา เมื่อมีตัณหาก็เกิดอุปาทาน คือความรู้สึกมีตัวตน ผู้อยาก ผู้ได้ ผู้มี ผู้เป็น ผู้อะไรก็ตาม นี่ก็มีภพ มีความเป็นตั้งต้นขึ้นมาแล้ว แล้วมันก็แก่ คลอดออกมาเป็นชาติ แล้วก็จะคว้าโน่นคว้านี่มาเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา
ฆ่ามันเสียให้ตาย ฆ่าอุปาทานก็คืออย่าให้มีตัณหา ไม่มีตัณหาคือ อย่ามีอวิชชา อย่ามีอวิชชาในขณะผัสสะ เมื่อมีผัสสะ และมีอวิชชา ก็เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน มันมีเท่านั้น ๒-๓ คำเท่านั้น
เรื่องนี้ผมก็พูดมากที่สุด อธิบายมากที่สุด แต่ใครจะสนใจบ้าง กี่มากน้อยก็ไม่ทราบ จะเอาไปปฏิบัติกี่มากน้อยก็ไม่ทราบ แต่ได้พยายามพูดมากที่สุด
เมื่อมีผัสสะ อย่าโง่ อย่าปล่อยให้ว่างจากสติ และปัญญา ให้สติปัญญาวิ่งมาอย่างสายฟ้าแลบ คือมาในความรู้สึก และผัสสะนั่นก็จะไม่ปรุงเวทนาโง่ มันจะปรุงเวทนาที่ประกอบด้วยสติปัญญาอีกเหมือนกัน มันก็ไม่หลงในสุขเวทนา ในทุกขเวทนา ในอทุกขมสุขเวทนา เพราะมันมีสติปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเวทนา มันไม่หลงในรสของเวทนา มันก็ไม่เกิดตัณหาคือความอยากไปตามอำนาจของเวทนา ไม่มีอุปาทานก็ไม่มีตัวกูข้างต้น ไม่มีตัวกูที่จะคลอดออกมา สำหรับทำให้เป็นทุกข์
ใครจะฆ่ามันได้ ก็คือปฏิบัติไม่ให้เกิดอุปาทาน และเก่งกว่านั้นก็ไม่เกิดตัณหา เก่งกว่านั้นก็ไม่ให้เกิดอวิชชาในขณะแห่งผัสสะ
ฉะนั้น พยายามศึกษาให้มากว่าผัสสะคืออะไร ในวันหนึ่งๆ ผัสสะ มันดูจะยุบยิบไปหมด คุณสังเกตหน่อยเถอะ เพราะไม่สังเกตเพราะไม่รู้ไม่ชี้ เพราะอวดดี มันก็เลยไม่รู้ไม่ชี้ ว่ามันมีผัสสะอะไรอย่างไรที่ไหน เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรามันพร้อมจะทำหน้าที่อยู่เสมอ เดี๋ยวเห็นนั่น เดี๋ยวได้ยินนี่ เดี๋ยวดมนั่นดมนี่ เดี๋ยวได้รสนั่นรสนี่ สัมผัสนั่นสัมผัสนี่
และใจนี่ก็ไม่ใช่เล่น มันไวมาก และก็มันมีอารมณ์สำรองไว้มาก คือความจำในอดีตเรียกว่าสัญญา จำไว้ได้ในอดีตมันมีมาก แล้วก็จะมาเป็นอารมณ์ของใจ มโนที่มันจะกระทบแล้วเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา มันง่ายและมันเร็ว มันไม่ต้องไปไหนก็ได้ มันนั่งหลับตาอยู่ก็ได้ มันนอนอยู่ก็ได้ มันจึงเกิดได้ง่ายได้มาก กว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
๕ อันข้างนอกนี่มันงุ่มง่าม มันไม่ว่องไว แต่อันข้างในคือใจ มันว่องไวเป็นสายฟ้าแลบ มีโอกาสจะเกิดได้ มันคิดนึกแวบเดียวก็ได้ บางทีมันล้มตัวลงนอน มันก็คิดไปมาก สัมผัสที่นอน ไม่พอใจ หรือว่ากลัวอะไร ต้องการอะไร ไม่ได้อย่างใจ จิตมันก็แวบไปได้ แวบไปได้ที่นั่นที่นี่ หรือนึกถึงคนที่อยู่ที่กรุงเทพฯ หรือที่ไหนก็ตาม ที่มันเป็นที่รักที่พอใจ หรือไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ ได้ทั้งนั้นแหละ มันก็จะต้องเกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทานเป็นตัวกู เป็นทุกข์ ตามฆ่ากันไม่ค่อยทันเห็นไหม
ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะมากเพียงพอแล้ว มันฆ่าไม่ได้ คือมันควบคุมการเกิดไว้ไม่ได้ จงพยายามฝึกให้มาก ให้มีสติมากพอและเร็วพอ ฝึกปัญญาให้รู้ทั่วถึงและมากพอ ปัญญาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รวมเรียกว่า สุญญตา รวมเรียกว่าเช่นนั้นเอง ตถาตา เช่นนั้นเอง
ปัญญาเรื่องตถาตามีให้มากพอ ให้ลึกซึ้งพอ เฉียบขาดพอ สติที่ระลึกถึงสิ่งนี้ให้มากพอ ให้เร็วพอ ให้ทันควัน ทันควันบางทียังเร็วไม่พอ ต้องเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ถ้ามีผัสสะที่ไหนละก็ สติเอาปัญญามา รู้สึกต่อสิ่งนั้น โอ้ มันก็แค่นี้เอง มันก็เช่นนั้นเอง มันก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ สุญญตา แล้วแต่จะใช้ความรู้สึกอย่างไหน แต่ให้ได้ความรู้สึกว่ามันเช่นนั้นเอง ไม่น่ารัก ไม่น่าเกลียด ไม่น่าโกรธ ไม่น่ากลัว ไม่น่าวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์
นี่คือการฆ่าตัวกูเสียแต่พ่อแม่ของมัน คือมีสติปัญญาควบคุมผัสสะได้ เวทนาโง่ไม่เกิด อวิชชาก็ตายอยู่ที่ผัสสะนี่ ถ้าสมมุติมันจะมีเข้ามา และถ้ามีสติมีปัญญาแล้ว มันเข้ามาไม่ได้ เข้ามาก็ตาย เข้ามาหาความตายของอวิชชา มันมีผัสสะ สติกับปัญญามันอยู่ก่อนอวิชชามันเกิดไม่ได้ ถ้ามันเกิดก็คือตาย ถ้ามันมีอวิชชาเกิดอยู่ก่อน พอมีสติปัญญามาทันมันก็ตายอีกเหมือนกัน อวิชชานั้นมันก็ตายอีกเหมือนกัน
สติและปัญญาต้องมีมา ถ้าพูดอย่างภาษาวิทยาศาสตร์ทางจิตว่าต้องเกิดขึ้น สติและปัญญาต้องเกิดขึ้นทันในขณะผัสสะ พูดภาษาคนก็ต้องมีมาต้องวิ่งมา ต้องขนส่งเอามา สติขนเอาปัญญามาทันเวลาแห่งผัสสะ ที่พูดอย่างภาษาสมมุติ ก็เห็นง่ายเหมือนกัน
แต่ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมชาติ สติปัญญาต้องเกิดขึ้นมาทันเวลาแห่งผัสสะ ควบคุมผัสสะไว้ได้ ถ้าอวิชชามีอยู่บ้างก่อนแล้วก็ตายไปสูญไป ถ้าอวิชชายังไม่มา ก็เข้ามาไม่ได้ เพราะสติกับปัญญามันรออยู่ มันเป็นข้าศึกแก่กัน เข้ามาไม่ได้ นี่คือทำอย่างนี้ เรียกว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่ของมัน ฆ่าตัวมันเสีย
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่ว่า ใครจะฆ่าได้มากกว่าใคร ในบรรดาเราทั้งหลายทุกคนนี่ ใครจะฆ่ามันได้มากกว่าใคร ใครจะได้ฆ่ามันหมด ฆ่ามันเสียให้หมดก่อนใคร ฆ่าหมดก็คือเป็นพระอรหันต์ ถ้าฆ่าได้มากหน่อยก็เป็นอริยบุคคลรองๆ ลงไป ฆ่าได้น้อยมากก็เป็นปุถุชนชั้นดีหน่อย เพราะฆ่าได้น้อยหน่อย ฆ่าได้มากถึงขนาดก็เป็นพระอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่ง โสดา สกิทาคา อนาคา อะไรก็ตาม ฆ่าหมดก็เป็นพระอรหันต์
ผมได้พยายามหาวิธีพูด และคำพูดที่จะเอามาใช้ให้ฟังง่ายลืมยาก และเป็นหลักที่เปลี่ยนไม่ได้ คำพูดเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าผมประดิษฐ์ขึ้นได้เอง ผมไม่เก่งถึงขนาดนั้น ก็ยืมพระพุทธภาษิตหรือคำในพระคัมภีร์ในบาลีมา คำว่าฆ่าตัณหา เขาก็มีอยู่แล้ว ฆ่าพ่อฆ่าแม่เขาก็มีอยู่แล้ว คำว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่โดยตรงนี่ก็มีอยู่ในพระบาลีแล้ว มาตะรัง ปิตะรัง หันตวา อกตัญญู พราหมณะ แล้วเป็นคนอกตัญญูเสียด้วย คำว่าอกตัญญูคือรู้สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ คือรู้พระนิพพาน
คำว่าอกตัญญูในภาษาธรรมะชั้นลึกคือผู้รู้ซึ่งพระนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ‘อกต’ (อะกะตะ) แปลว่าสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ‘อัญญู’ แปลว่า รู้ ‘อกตัญญู’ ผู้รู้สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ คือนิพพาน
“ฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตัวเสียแล้วเป็นคนอกตัญญูเถิดพราหมณ์”
คำเหล่านี้ เขาได้ใช้เป็นประโยชน์มาแล้วตั้งแต่ครั้งกระโน้น แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยเอามาพูดกัน มันก็เป็นเรื่องที่ยาก เข้าใจยาก ศึกษายาก เราก็เอามาใช้พูด ให้ช่วยประหยัดความยาก แต่ว่าแรกฟังแล้วก็สะดุ้ง ถ้าโง่จนไม่เข้าใจคำเหล่านี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน เป็นการพูดเปล่าๆ ปรี้ๆ ไม่มีประโยชน์อะไร
เดี๋ยวนี้ก็มาพูด พระพุทธศาสนาไม่มีอะไร นอกจากชวนให้ฆ่าตัวตาย มันก็ยิ่งฟังประหลาดไปอีก การปฏิบัติในพุทธศาสนาไม่มีอะไร นอกจากการฆ่าตัวตาย ทุกคนฆ่าตัวตายเสียเร็วๆ มันก็มีการชวนให้ฆ่าตัวตายเสียเร็วๆ คือปฏิบัติให้หมดอุปาทาน อัสมิมานะ อัตวาทุปาทาน อหังการ มมังการ มานานุสัย แล้วแต่จะเรียก มันมีหลายคำ แต่ทุกคำมันหมายถึงตัวกูของกูในความรู้สึก ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งปวง
เมื่อผมเอาคำอย่างนี้มาพูด ก็ถูกหาถูกด่าตลอดเวลา ว่ามันอุตริหรือมันเล่นลิ้น เอาอะไรมาพูดก็ไม่รู้ แต่เราก็เอาคำในพระคัมภีร์นั่นแหละมาพูด มันคล้ายๆ กับเอาของที่มีอยู่ปัดฝุ่นขึ้นมาใช้ ของที่เขาเก็บไว้เฉยๆ จนสกปรกไปด้วยฝุ่น ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เราก็หยิบขึ้นมาปัดฝุ่น แล้วก็เอามาใช้ ก็ยังด่าเราอีก เพราะว่าเขาไม่เข้าใจความหมายของคำเหล่านั้น
เมื่อวานก็พูดว่า ตายเสียก่อนตายเป็นปริญญาของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้ก็พูดว่าพุทธศาสนา คือการสอนให้ฆ่าตัวตาย ให้รีบชิงกันฆ่าตัวตาย ใครจะฆ่าได้มากกว่าใคร ใครจะฆ่าได้หมดก่อนใครอย่างนี้
ทำให้ว่างจากตัวตนนั่นแหละคือฆ่าตัวตน คำว่าฆ่าในอริยวินัยในภาษาพระอริยเจ้า คำว่าฆ่าหมายความว่า ทำให้ไม่มีความหมาย ทำให้ไม่ปรากฏอยู่ นั่นเรียกว่า ฆ่า
ถ้าอาจารย์จะฆ่าลูกศิษย์สักคนหนึ่ง ก็หมายความว่าไม่ติดต่อกับมันเลยโดยประการทั้งปวง ไม่ดูหน้ามัน ไม่พูดกับมัน ไม่ติดต่อกับมันโดยประการทั้งปวง อย่างนี้ก็เรียกว่าฆ่าแล้ว คืออาจารย์ได้ฆ่าลูกศิษย์คนนั้นแล้ว
เดี๋ยวนี้เราจะฆ่าตัวกูของกูข้างใน ก็คือ ทำอย่าให้มันมีโอกาสที่มันจะโผล่ขึ้นมาทำหน้าที่ของมันคือไม่เกิดตัณหา อุปาทาน เหล่านี้
ความหมายเดียวกันแหละกับภาษาวัตถุ เราฆ่าวัตถุ ฆ่าคน ฆ่าม้า ก็คือทำให้มันไม่มี ทำให้มันหมดไปแต่มันโดยทางวัตถุ เอาเนื้อหนังร่างกายเป็นหลัก
ทางธรรมะนี่เอาจิตใจเป็นหลัก ก็คือไม่เกิดจิตใจชนิดนั้น ไม่เกิดความรู้สึกชนิดนั้น เช่นพูดว่าฆ่าโลภะ ฆ่าโทสะ ฆ่าโมหะเสียได้ ก็หมายความแต่เพียงว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มาปรากฏในจิตใจอีกต่อไป ฆ่ากิเลสเสียได้ กิเลสก็จะไม่มาปรากฏในจิตใจอีกต่อไป
เห็นโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ ให้จิตใจมันว่างจากตัวกู จิตใจนี้ว่างจากตัวกูในภายในตัวจิตใจเองมันก็ไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวมันเป็นตัวกู เป็นของกู นี่ถ้ามันมองไปภายนอก ที่ลูกที่เมียที่ผัวที่สมบัติพัสถาน แก้ว แหวน เงินทอง ข้าวของ วัว ควาย ไร่นา มันก็ไม่เป็นตัวกู ไม่เป็นของของกู เรียกว่ามันว่างไปเหมือนกัน ก็เรียกว่ามันเหมือนกับถูกฆ่า มันไม่มีอยู่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ
นี่เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง พระบาลีสำคัญที่สุด คาถานั้นมีว่า เธอจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ตรัสแก่บุคคลชื่อโมคคลาสว่า ดูก่อนโมคคลาส เธอจงเป็นคนมีสติ เห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด เมื่อเธอทำอย่างนี้ ก็จะพ้นความตาย เพราะไม่มีตัวเธอสำหรับจะตาย ฆ่าตัวเธอเสียแล้ว ตัวเธอก็มิได้มีอยู่สำหรับจะตาย เพราะมันถูกฆ่าเสียแล้ว
ความที่ไม่มีตัวตนนั่นแหละวิเศษที่สุด ความไม่มีตัวตนเป็นความตาย เมื่อไม่มีตัวตน ก็คือตัวตนตาย คือไม่มีตัวตนเพราะมันตาย ความตายแห่งตัวตนนั่นแหละคือความว่าง
มีบาลีอยู่ว่า โลกนี้ว่างจากอัตตา ว่างจากอัตนียา โลกนี้ทั้งหมดว่างจากความหมายแห่งตัวตน ว่างจากความหมายแห่งของตน คือมันว่างจากความมีอยู่ของตัวตนก็เท่ากับมันตาย นี่คือสุญญตา ว่างจากตัวตน สุญญตาคือความตายในความหมายภาษาธรรม เอาสุญญตามาทำหมอนข้างไว้กอดนอนสิ มันจะง่ายขึ้นมั้ง ใครจะเอามัจจุราชมาทำหมอนข้างไว้กอดนอนก็เอาสิ นี่ถ้าพูดในโวหารสมมุติมันก็อย่างนี้แหละ
ความว่างนี่แหละเอามาไว้เป็นเครื่องราง เขาแขวนพระเครื่อง เขาคาดตะกรุดก็ตามใจเขา เราเอาสุญญตามาแขวนมาคาด กันลืมน่ะ ให้อยู่กับเราตลอดเวลา แล้วมันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีตัวตนเกิด ไม่มีทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ เท่ากับว่าตัวตนตาย หรือตัวตนถูกฆ่าอยู่ตลอดเวลา ด้วยอำนาจของการมีสติ เห็นความว่างอยู่ทุกเมื่อ
พยายามให้เห็นว่าที่มันไม่ว่าง มันเกิดอยู่เสมอ มันเป็นอย่างไร คือความทุกข์มันเกิดอยู่เสมอมันเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เห็นข้อนี้ก็ไม่อยากดับทุกข์ ไม่สนใจเรื่องดับทุกข์ เพราะมันมองไม่เห็นว่ามีความทุกข์อยู่ มันก็ไม่สนใจที่จะดับทุกข์ ขอให้ลองสังเกตดู
ถ้าเรารู้ว่าเจ็บป่วยอยู่ เราก็ต้องการจะกินยา จะเยียวยา จะรักษา ถ้ามันไม่เห็นมีป่วยเจ็บอะไร มันก็ไม่ต้องการจะกินยา จะรักษา
เดี๋ยวนี้เราเห็นว่ามีความทุกข์อยู่ จุดตั้งต้นมันก็อยู่ที่เห็นความทุกข์ แล้วก็อยากพ้นจากทุกข์ มันจึงจะมีการศึกษาและปฏิบัติธรรมะได้ ถ้ามันเข้าใจว่าสบายดีแล้วๆ พอใจแล้ว สนุกสนานแล้ว ไม่มีทางหรอกที่จะมาสนใจธรรมะ จะดับทุกข์ เพราะมันไม่มีทุกข์จะดับ
จึงตั้งต้นด้วยความอยากจะดับทุกข์ เหมือนว่าเด็กๆ เรียนหนังสือ ก็เพราะอยากจะรู้หนังสือ อยากจะหายโง่ อยากจะพ้นจากความไม่รู้หนังสือ ที่เราไปเรียนหนังสือ เพราะเราอยากจะพ้นจากปัญหาการไม่รู้หนังสือ เราก็อยากมาก อยากจะรู้หนังสือ เรียนเอาๆๆ เรียนบาลี เรียนนักธรรม เพราะมันอยากจะพ้นจากความไม่รู้ มันก็เรียนสนุก เรียนเอาเรียนเอา ได้ชั้นนั้นได้ชั้นนี้โดยเร็วเลย ได้ปริญญาแผ่นกระดาษเต็มไปหมดเลย แต่ความทุกข์มันไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่มองเห็นเป็นความทุกข์แล้วจะต้องดับแล้วอยากจะดับ มันไม่ได้รู้สึกเหมือนกับว่ามีไฟไหม้อยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่เสื้อผ้า ไหม้อยู่บนหัวบนศีรษะ อยากจะดับ มันไม่มีอาการอย่างนั้น ผมก็เป่าปี่ให้แรดฟัง พูดถึงดับๆ แล้วไม่มีใครต้องการจะดับ ก็นั่งเป่าปี่ให้แรดฟังไปคนเดียว
เพื่อให้มันไม่เป็นหมัน จงคอยมีสติสังเกตดูว่ามันมีอะไรโดยแท้จริง อย่าให้มีความรู้สึกซึ่งเป็นความทุกข์ มันไม่เรียกอย่างอื่นได้มันก็ต้องเรียกความทุกข์ คือความรู้สึกที่มันน่าเกลียดน่าชัง มันกัด มันขบ มันทิ่ม มันแทง มันเผา มันลน มันผูก มันมัด มันครอบงำ แล้วแต่จะใช้คำไหนได้ทั้งนั้นเลย คำว่าความทุกข์นี่
แต่คำนี้มันหมายถึงทนยากที่เราต้องทน ความรู้สึกชนิดที่ต้องทน มันจะทนอย่างดีก็ตามใจ ก็ต้องทน เรียกความทุกข์ ทนอย่างดีคือมันสนุกไปด้วย มันทนสนุกหรือมันทนอร่อยก็ได้ ถ้ามันมีการต้องทนแล้วมันก็เรียกว่า ทุกข์ทั้งนั้น มันไม่ได้ว่าง ไม่ได้อิสระ ไม่ได้เป็นอยู่อย่างอิสระ มันเหมือนกับว่าถ้าเขาบังคับให้กินน้ำตาลอยู่เรื่อย มันก็ทนไม่ไหวเหมือนกันแหละ นี่ก็คือความหมายของคำว่าความทุกข์ คือมันต้องทน ต้องดิ้นรน มันเสวยความสุข ยอดสุขในกามารมณ์อะไรก็ตาม มันต้องมีความดิ้นรนแห่งจิต ไม่มีความสงบแห่งจิต มันก็ต้องทน ต้องทนทำ ต้องทนเหนื่อย แม้แต่ความดีใจ มันก็ต้องทนดีใจ มันไม่ใช่สงบ จึงจัดมันว่าเป็นของน่าเกลียด เป็นความทุกข์ไปทั้งหมดทั้งสิ้น
ความดีใจ ความเสียใจ ความรู้สึกว่าได้ ความรู้สึกว่าเสีย ความรู้สึกทุกคู่เป็นที่ตั้งของความยึดถือ เรียกว่าต้องทนทั้งนั้น เมื่อต้องทนก็เรียกว่าเป็นทุกข์ เพราะทุกข์แปลว่าสิ่งที่ต้องทน ดูแล้วมันน่าเกลียด แม้แต่สิ่งไม่มีชีวิต เช่นก้อนหิน ถ้ามันมีชีวิตมันก็มีความรู้สึกว่าต้องทน ทนแดดทนฝน ทนธรรมชาติบีบคั้น ต้องเปลี่ยนแปลง ก้อนหินมันก็มีอาการเสมือนหนึ่งว่ามันต้องทน มีลักษณะแห่งความทุกข์แต่ไม่ได้รู้สึกความทุกข์ เพราะมันไม่มีจิตใจที่จะรู้สึก
ส่วนสิ่งที่มีจิตใจสำหรับรู้สึก ไม่ต้องพูดถึง ต้นไม้ก็รู้สึก สัตว์เดรัจฉานก็รู้สึก คนก็รู้สึก เมื่อมีความรู้สึกแล้วมันก็ต้องทนด้วยความรู้สึก ชีวิตจึงเป็นความทนอยู่โดยอัตโนมัติในตัวมันเอง สิ่งที่เรียกว่าชีวิตคือสิ่งที่ต้องทน ต้องทนต่อสิ่งที่มาสัมผัสกระทบ หรือต้องทนแบกความเป็นตัวตน ดำรงความเป็นตัวตน ถนอมความเป็นตัวตน เหล่านี้เป็นเรื่องต้องทนทั้งนั้น
จนเดี๋ยวนี้ เราเอาแต่เพียงว่าอย่าต้องทนชนิดที่มันรู้สึกกันโดยตรง อย่าต้องทนชนิดนั้นกัน ก็เอา ถ้าไม่ต้องทนเลยโดยประการทั้งปวงบางทีมันจะดีเกินไปยังไกลเกินไป เอาแต่ว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่ทนทรมานใจ ควบคุมความรู้สึกตัวกูที่จะเกิดขึ้น อย่าให้มันเกิดขึ้นแล้วมันก็จะไม่ต้องทน ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องทน
มีเงิน ก็อย่าให้เกิดความทุกข์ในใจเพราะเงิน มีเมีย ก็อย่าให้เกิดความทุกข์เพราะเมีย มีผัวก็อย่าให้เกิดความทุกข์เพราะผัว มีอะไรก็ตามอย่าให้มันเกิดความทุกข์ เพราะความมีสิ่งนั้น
เดี๋ยวนี้มันมีอะไรแล้ว มันเกิดความทุกข์เพราะสิ่งนั้น เกิดความทนทุกข์หนักเพราะสิ่งนั้น เพราะมันไม่ฉลาดพอ ถ้ามันมีธรรมะมากสูงพอ ถึงขนาดที่ไม่เกิดตัวกูของกูแล้ว มันจะไม่เกิดความทุกข์จากอะไรเลย บรรดาที่เรามีอยู่ เงินทองข้าวของ ทรัพย์สมบัติ วัว ควาย ไร่นา บุตรภรรยา สามีอะไรก็ตาม จะไม่เป็นการช่วยให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ คือปรุงให้เกิดเป็นตัวกูเป็นของกู และก็รู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัว วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ มองดูให้เป็นศิลปะจะดีกว่า จะถูกกว่า
ศิลปะแห่งการมีชีวิตชนิดที่ไม่ต้องทน ถ้าเราไม่มีความรู้อันนี้ หรือไม่มีศิลปะอันนี้ ตัวชีวิตเองนั่นแหละ มันจะทำให้เป็นสิ่งที่ต้องทน ชีวิตนั่นแหละ มันจะเป็นตัวทุกข์เสียเอง ชีวิตของกู ที่กูทนุถนอม กูกลัวมันจะตาย กูกลัวมันจะไปอย่างอื่น นี่ตัวชีวิตเองมันก็กลายเป็นความทุกข์เสียไปหมด หมดไม่มีอะไรเหลือ
อย่างนี้มันเป็นศิลปะที่จะให้ชีวิตนี้ จะไม่เป็นของต้องทน อะไรๆ ที่จะมาเนื่องกับชีวิตนี้ ก็จะไม่เป็นของต้องทน เช่นการงาน การอาชีพ เป็นต้น มันจะต้องเนื่องกันอยู่กับชีวิตนี้
เรามีสติปัญญา มีศิลปะ ไม่ปล่อยไม่เปิดโอกาสให้มันเป็นสิ่งที่จะก่อปัญหาหรือก่ออาการที่ต้องทน
อันแรกที่สุด ดูว่าเราจะมีชีวิตตามปกติ โดยที่ไม่เป็นทุกข์ ปัจจัยแห่งชีวิตเช่นการงาน การอาชีพ หรือสิ่งของอะไรต่างๆ ที่มันเนื่องกันอยู่ ก็ต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต้องทน ก็เลยไม่มีอะไรที่ต้องทน วันหนึ่งๆ ทำสิ่งที่ต้องทำสนุกไปเลย สิ่งที่ควรทำ สนุกไปเลย และก็ไม่ใช่ตัวกูทำ ร่างกายที่มีสติปัญญาน่ะมันทำ ร่างกายบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลส มีแต่สติปัญญาของจิตใจที่มีสติปัญญาก็บังคับให้ร่างกายทำเพราะว่าร่างกายมันยังไม่ต้องการจะแตกดับ ร่างกายยังต้องการมีชีวิตอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของร่างกายสิ อย่าให้ตัวกูมาเป็นเจ้าของร่างกาย เดี๋ยวมันจะเกิดหนักอึ้งเป็นภูเขาขึ้นมาอีก
ร่างกาย ชีวิตของพระอรหันต์ เรียกว่าวิสุทธิขันธ์ คำนี้จำไว้บ้างจะไม่เสียที คำว่าวิสุทธิขันธ์ วิสุทธขันธ์ก็ได้จะถูกภาษากว่า คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ ขันธ์ของท่านบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสตัณหา อุปาทานมาแปดเปื้อน ท่านมีชีวิตอยู่ด้วยขันธ์ ๕ ที่บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสตัณหาเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่ชีวิตพระอรหันต์ เรียกว่าอยู่ด้วยวิสุทธิขันธ์
เรื่องขันธ์ ๕ นี่ก็พูดกันแล้ว คงพอจะรู้ได้เองว่ามันคืออย่างไร สิ่งที่มีชีวิตอย่างคนเรานี่ มันจะแยกออกดูได้เป็น ๕ ส่วน ส่วนที่เป็นร่างกาย ส่วนที่เป็นจิตใจ เป็นความรู้สึกคิดนึกก็มี เป็นความรู้สึกเสวยอารมณ์ก็มี รู้แจ้งสิ่งที่มาเกี่ยวข้องก็มี ทั้ง ๕ ส่วนนั้นแหละเป็นอยู่ เป็นตัวชีวิต ทำหน้าที่ เรียกสั้นๆ ก็ว่าร่างกายกับจิตใจ ร่างกายยังมีเป็นตัวยืนโรงอยู่ มีจิต มีจิตใจซึ่งบางเวลาก็อยู่ในรูปเวทนาขันธ์ บางเวลาอยู่ในรูปสัญญาขันธ์ บางเวลาอยู่ในรูปสังขารขันธ์ บางเวลาอยู่ในรูปวิญญาณขันธ์ เรียกมัน ‘ใจ’ ก็แล้วกัน
มันก็อยู่ ๒ อย่าง กายกับใจนี่เอง เมื่อไม่ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน มันก็เป็นของธรรมชาติไป จิตเป็นของธรรมชาติ อาศัยกายรู้สึกคิดนึกได้ ไม่มีกิเลส ไม่มีอะไรแล้ว มันก็บังคับร่างกายกระทำไปตามที่ไม่มีกิเลส ใจก็ไม่เป็นทุกข์ ร่างกายก็ไม่เป็นทุกข์
ถ้ามันจะเจ็บปวดขึ้นมา ถูกยิง ถูกฆ่า ถูกแทง มันก็รู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีตัวฉัน เป็นผู้ถูกแทง ถูกฆ่า หรือเจ็บปวด ถ้าจิตมันหลุดพ้นแล้วมันเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตมันเป็นปุถุชนเต็มที่มันก็มีตัวกูเจ็บปวด มันก็ร้องโอย ครวญคราง โอดโอยไปตามเรื่องของมัน เพราะมันยังมีตัวตน มันยังไม่ได้ฆ่าตัวตายโว้ย คนพวกนี้มันยังไม่ได้ฆ่าตัวตาย มันยังมีตัวสำหรับที่จะเป็นทุกข์
ชั่วโมงหนึ่งแล้ว เอาละเอาไปใคร่ครวญดูว่าที่เราบวชเรียนกันนี้ ก็เพื่อหัดฆ่าตัวตาย แล้วใครจะฆ่าตัวตายได้มากกว่าใคร เร็วกว่าใคร ก่อนใครก็ตามใจ
คำพูดที่สรรหาเอามาเพื่อให้ลืมยาก ให้เข้าใจง่าย แล้วก็เป็นหลักตลอดกาล ยังไงๆ ก็ไม่ผิดไปจากนี้ แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็น่ากลัว หรือบ้าที่สุดถ้าไม่เข้าใจ หรือเป็นคำพูดที่น่ากลัวที่สุด
ขอยุติคำบรรยาย






 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2553   
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2553 11:39:00 น.   
Counter : 1076 Pageviews.  

อ่านใจธรรมชาติ โดย พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)

ขอขอบคุณ เทปม้วนที่ 4 เรื่อง อ่านใจธรรมชาติ
หมายเหตุ : ธรรมบรรยายชุดนี้จัดทำเป็นหนังสือชุดมรดกธรรมเล่มที่ ๕๑
ชื่อ “อ่านใจธรรมชาติ” พิมพ์เดือนมกราคม ๒๕๔๘

พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
อบรมพระนวกะ หลังทำวัตรเย็น
ณ วัดหนองป่าพง
สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

เอ้า ! มันก็เป็นอย่างนั้นล่ะ มันเป็นลักษณะเปรียบเทียบ เรื่องภาวนานี่ ให้คิดดูให้ชัดๆ

การภาวนาหมายความว่า ให้คิดดูให้มันชัดๆ พยายามอย่ารีบอย่าร้อน อย่าช้าเกินไป อย่ารีบเกินไป ค่อยๆ ทำ แต่ให้มีวิธีการและจุดหมายในการปฏิบัติภาวนานั้น

โดยมาก ทุกคนมันอยาก ที่ออกมาปฏิบัตินั้น ไม่ใช่อะไร มันอยากนี้ มันก็ปนกับความหลง ถ้าอยากแล้วไม่หลง มันก็อยากด้วยปัญญา ฉะนั้นความอยากอย่างนี้ท่านเรียกว่า เป็นบารมีของคน แต่ไม่ใช่ทุกคนนะ คนที่มีปัญญา

บางคนไม่อยากจะให้มันอยาก เพราะเข้าใจว่า มาระงับความอยาก ความจริงน่ะ ถ้าหากว่าไม่มีความอยาก ก็ไม่มีข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่า จะทำอะไร เราพิจารณาดูก็ได้

ทุกคน แม้องค์พระพุทธเจ้าของเราก็ตาม สาวกทุกองค์ก็ตาม ท่านออกมาปฏิบัติ ก็เพื่อว่าจะให้มันบรรเทากิเลสทั้งหลายนั้น

แต่ว่ามันต้องอยากทำ อยากปฏิบัติ อยากให้มันสงบ และก็ไม่อยากให้มันวุ่นวาย ทั้งสองอย่างนี้มันเป็นอุปสรรคทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีปัญญา ถ้าหากเราถอดใจความจริงๆ แล้วน่ะ เราไม่รู้เรื่องอะไรน่ะ ถึงจะรู้อะไรมาก็ช่างมันเถอะ ไม่มีความฉลาดในการกระทำอย่างนั้น ก็มันปนกัน อยากทั้งสองอย่างนี้ มันมีราคาเท่าๆ กัน

อยากจะพ้นทุกข์ มันเป็นกิเลสสำหรับบุคคลที่ไม่มีปัญญา อยากด้วยความโง่ ไม่อยากมันก็เป็นกิเลส ไม่อยากอันนั้นมันประกอบด้วยความโง่เหมือนกัน คือทั้งอยาก ไม่อยาก ปัญญาก็ไม่มี นักปฏิบัติของเรา สิ่งทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นกามสุขัลลิกานุโยโคกับอัตตกิลมถานุโยโค ซึ่งพระพุทธองค์ของเรา ที่สอนเป็นครูเป็นอาจารย์ ท่านก็หลงในตอนนี้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านหาอุบายหลายประการกว่าจะพบของสองสิ่งนี้

ทุกวันนี้ เราก็เหมือนกัน สิ่งทั้งสองอย่างนี้มันกวนอยู่ เราจึงเข้าสู่ทางไม่ได้ก็เพราะอันนี้ ความเป็นจริงนั้น ทุกคนที่มาปฏิบัติ ก็เป็นปุถุชนมาทั้งนั้น ปุถุชนก็เต็มไปด้วยความอยาก ความอยากที่ไม่มีปัญญา อยากด้วยความหลง ไม่อยากมันก็มีโทษเหมือนกัน “ไม่อยาก” มันก็เป็นตัณหาเหมือนกัน “อยาก” มันก็เป็นตัณหาเหมือนกัน

ทีนี้ผู้ปฏิบัติยังไม่รู้เรื่องว่า จะเอายังไงกัน เดินไปข้างหน้าก็ไม่ถูก เดินกลับไปข้างหลังก็ไม่ถูก จะหยุดก็หยุดไม่ได้ เพราะมันยังอยากอยู่ มันยังหลงอยู่ อยากเมื่อไหร่นั้น มีแต่ความอยาก ปัญญาไม่มี มันอยากด้วยความหลง มันก็เป็นตัณหาถึงแม้ไม่อยาก มันก็เป็นความหลง มันก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เพราะอะไร มันขาดปัญญา

ความเป็นจริงนั้น ไอ้ความอยากนั้น ทั้งสองอย่างนี้หรือความไม่อยากนี้นะ ธรรมะมันอยู่ตรงนั้นแหละ แต่เราไม่มีปัญญา ก็พยายามไม่ให้มันอยาก เดี๋ยวก็อยากบ้าง อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ทั้งสองอย่างนี้ หรือทั้งคู่นี้มันตัวเดียวกันทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวอื่น แต่เราทั้งหลายไม่รู้เรื่องมัน

พระพุทธเจ้าของเราและสาวกทั้งหลาย ท่านก็อยากเหมือนกัน แต่ “อยาก” ของท่านนั้นเป็นเพียงอาการของจิตเฉยๆ หรือ “ไม่อยาก” ของท่านก็เป็นเพียงอาการของจิตเฉยๆ เท่านั้นแหละ มันวูบเดียวเท่านั้นก็หายไปแล้ว

ดังนั้น ความอยากหรือไม่อยากนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา ผู้มีปัญญาเห็นแล้ว “อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน “ไม่อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน เป็น “สักแต่ว่า” อยากหรือไม่อยากเท่านั้น ถ้าพูดตามความจริงแล้ว มันก็เป็นแต่อาการของจิต อาการของจิตมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ถ้าเรามาตะครุบมันอยู่ที่ใกล้ๆ นี่ มันก็เห็นชัด

ดังนั้น ผมจึงว่าการพิจารณานั้น ไม่ใช่รู้ไปที่อื่น มันรู้ตรงนี้แหละ เหมือนชาวประมงที่ออกไปทอดแหนั่นแหละ ทอดแหออกไปถูกปลาใหญ่ๆ เข้า เจ้าของผู้ทอดแหจะคิดอย่างไร มันก็กลัว กลัวปลาจะออกจากแหมันไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้นใจมันก็ดิ้นรนขึ้น เร็ว ระวังมาก บังคับ ตะครุบไปตะครุบมาอยู่นั่นแหละ ประเดี๋ยวปลามันก็ออกไปจากแหไปเสีย เพราะไปตะครุบมันแรงเกินไป อย่างนั้นโบราณท่านพูดถึงเรื่องอันนี้ ท่านว่าค่อยๆ ทำมัน แต่อย่าไปห่างจากมัน นี่คือปฏิปทาของเรา ค่อยๆ คลำมันไปเรื่อยๆ อย่างนั้นแหละ

อย่าปล่อยมัน หรือไม่อยากรู้มัน ต้องดูมัน ต้องรู้เรื่องของมัน พยายามทำมันไปเรื่อยๆ เป็นปฏิปทา ขี้เกียจเราก็ทำมัน ไม่ขี้เกียจเราก็ทำมัน เรียกว่าการทำ ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้

ถ้าหากว่าเราขยัน มันก็ขยันเพราะความเชื่อ มันมีศรัทธา แต่ปัญญาไม่มี อย่างนี้ เมื่อขยันแล้วมันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมากมาย แต่ว่าเราทำขยันไปนานๆ เข้า แต่มันไม่ถูกทาง มันก็ไม่สงบไม่ระงับ ทีนี้ความเห็นอย่างนั้นจะวกมาหาเราอีกว่า เรานี้มีบุญน้อยหรือมีวาสนาน้อย หรือคิดว่า มนุษย์ในโลกนี้ทำอย่างนี้ไม่ได้หรอก อย่างนี้ก็ถอน ตรงนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง

ให้มีขันติความอดทน ทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราจับปลาตัวใหญ่ ก็ให้ค่อยๆ คลำมันไปเรื่อยๆ ปลามันก็จะไม่ดิ้นแรง ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุด นานๆ ปลาก็หมดกำลัง ถ้าปลาหมดกำลัง มันก็จับง่าย เอาที่ถนัดๆ เราก็จับมันง่าย ถ้าเรารีบจนเกินไปปลามันก็จะดิ้นออกจากแหเท่านั้น โดยมากก็เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น การปฏิบัตินี้ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาตามพื้นเพของเรา เช่นว่า เราไม่มีความรู้ในปริยัติ ไม่มีความรู้ในทางอื่น ที่จะให้การปฏิบัติมันเกิดผลขึ้น ก็ความรู้ที่เป็นพื้นเพเดิมของเรานั่นแหละ อันนั้น ก็คือ “ธรรมชาติของจิต” นี่เอง มันมีของมันอยู่แล้ว เราจะไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่ หรือเราจะไม่ไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่

อย่างธรรมะที่ท่านพูดว่า พระพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตาม หรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม อันนั้นก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่พลิกแพลงไปไหน มันเป็นสัจธรรม เราไม่เข้าใจในสัจธรรม ก็ไม่รู้ว่าสัจธรรมเป็นอย่างไร นี้เรียกว่า การพิจารณาในความรู้ของผู้ปฏิบัติไม่มีพื้นปริยัติ ขอให้ดูจิต

ผมเคยพูดว่า พยายามอ่านจิตเจ้าของ พยายามพูดกับจิตของเจ้าของ มันจึงจะรู้เรื่องของจิต ค่อยๆ ทำไป ถ้ายังไม่ถึงที่มัน มันก็ไปอยู่อย่างนั้น ทำไป

ครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่าทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ทำไปเรื่อยๆ ถ้าหากเรามาคิด “เออ ทำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่รู้เรื่องของมัน ถ้าทำไม่ถูกที่มัน มันจะรู้อะไร” อย่างนี้เป็นต้น ก็ต้องไปเรื่อยๆ ก่อน แล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นในสิ่งที่เราพากเพียรทำนั้น

ผมเคยเล่าให้ฟังเหมือนกัน มันเหมือนกันกับบุรุษที่ไปสีไฟ ได้ฟังท่านบอกว่า เอาไม้ไผ่สองอันมาสีกันเข้าไปเถอะ แล้วจะมีไฟเกิดขึ้น บุรุษนั้นก็จับไม้ไผ่เข้าสองอัน สีกันเข้า แต่ใจร้อน สีไปได้หน่อย ก็อยากให้มันเป็นไฟ ใจก็เร่งอยู่เรื่อย ให้เป็นไฟเร็วๆ แต่ไฟก็ไม่เกิดสักที บุรุษนั้นก็เกิดความขี้เกียจ แล้วก็หยุดพัก แล้วจึงลองสีอีกนิด แล้วก็หยุดพัก ความร้อนที่พอมีอยู่บ้าง ก็หายไปล่ะซิ เพราะความร้อนมันไม่ติดต่อกัน

ถ้าทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้ เหนื่อยก็หยุด มีแต่เหนื่อยอย่างเดียวก็พอได้ แต่มีขี้เกียจปนเข้าด้วยเลยไปกันใหญ่ แล้วบุรุษนั้นก็หาว่าไฟไม่มี ก็ทิ้งเลิก ไม่สีอีก แล้วก็ไปเที่ยวประกาศว่า ไฟไม่มี ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีไฟหรอก เขาได้ลองทำแล้ว

ก็จริงเหมือนกันที่ได้ทำแล้ว แต่ทำยังไม่ถึงจุดของมัน คือความร้อนยังไม่สมดุลกัน ไฟมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งที่ความจริงไฟมันก็มีอยู่ อย่างนี้ก็เกิดความท้อแท้ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัตินั้น ก็ละอันนี้ไปทำอันโน้นเรื่อยไป อันนี้ก็ฉันใดเหมือนกัน

การกระทำนี้ก็เรียกว่า เหมือนปฏิปทาทางกายทางใจทั้งสองอย่างมันพร้อมกัน ใครก็เป็นอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะพื้นเพมันเป็นคนมีกิเลสทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็มีกิเลส แต่ท่านมีปัญญามากหลาย พระอรหันต์ก็เหมือนกัน เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ก็เหมือนกับเรา มันคิดไม่ถูก ก็เป็นปุถุชนอยู่อย่างนั้น

เมื่อความอยากเกิดขึ้นมา เราก็ไม่รู้ เมื่อความไม่อยากเกิดขึ้นมา เราก็ไม่รู้จัก บางทีก็ร้อนใจ บางทีก็ดีใจ ถ้าใจเราไม่อยาก ก็ดีใจแบบหนึ่ง และวุ่นวายอีกแบบหนึ่ง ถ้าใจเราอยาก มันก็ไม่วุ่นวายอย่างหนึ่ง และดีใจอย่างหนึ่ง มันประสมประเสกันอยู่อย่างนี้

อันนี้คือปฏิปทาของผู้ปฏิบัติเรา เช่นว่าพระวินัยที่เราฟังๆ กันไปนี้ ดูแล้วมันก็เป็นของยากจำเป็นจะต้องรักษาสิกขาบททุกอย่าง ให้ไปท่องทุกอย่าง ตรวจดูศีลของเจ้าของ ก็ต้องไปตรวจดูทุกสิกขาบท ก็คิดไปแล้วก็ว่า “โอ อย่างนี้ไม่ไหวแล้ว”

อันนี้ได้เปรียบว่า พระพุทธเจ้าของเราท่านสอนให้พิจารณากาย อย่างเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ มันก็มีแต่กายทั้งนั้น อย่างที่ท่านให้กรรมฐานครั้งแรก ก็มีแต่เรื่องกายทั้งนั้น ท่านให้พิจารณาอยู่ตรงนี้ ให้ดูตรงนี้ ถ้าหากเราเห็นไม่ชัด มันก็จะเห็นคนไม่ชัดสักคน คนอื่นก็ไม่ชัด ตัวเราเองก็ไม่ชัด เห็นตัวเราก็สงสัย เห็นคนอื่นก็สงสัยอยู่ตลอดไปเพราะอะไร มันเหมือนกัน แต่หากเราเห็นตัวเราได้ชัดเท่านั้น มันก็หมดสงสัย

เพราะว่ารูปนามมันเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าหากเราเห็นชัดในตัวเราคนเดียว คนในโลกเฉพาะร่างกายก็เหมือนกัน ก็เหมือนเห็นคนทั้งโลก ไม่ต้องตามไปดูทุกคน ก็รู้ว่าคนอื่นก็เหมือนกับเรา เราก็เหมือนกับเขา ถ้าเราคิดได้เช่นนนี้ ภาระเราก็น้อยลง ถ้าเราไม่คิดเช่นนั้น ภาระเราก็มาก จะต้องตามไปดูทุกคนในจักรวาลนี้ให้หมด จึงจะรู้คนทุกคน ภาระมันก็มากน่ะซิ ถ้าคิดอย่างนี้มันก็ทำให้ท้อแท้

อย่างพระวินัยของเรานี้ก็เหมือนกัน อ่านสิกขาบทอยู่มากมายเหลือเกิน ไม่รู้จักเท่าไหร่ ถ้าเพียงนึกว่า จะต้องอ่านให้ครบทุกสิกขาบท ก็แย่แล้ว ไม่ไหวแล้ว เห็นว่าเหลือวิสัยเสียแล้ว เห็นจะไม่มีทางไปตรวจดูศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์ได้ นี่ความเข้าใจของเรามันเป็นอย่างนั้น เหมือนท่านให้รู้แจ้ง ซึ่งมนุษย์ทั้งหลาย ทุกคนก็คิดว่าจะต้องไปดูคนให้ทุกคน มันถึงจะรู้ทุกคน อย่างนี้มันก็มากเท่านั้นแหละ

นี่ก็เพราะว่าเรามันตรงเกินไป ตรงตามตำรา ตรงตามคำของครูบาอาจารย์เกินไป ความเป็นจริงถ้าเราเรียนปริยัติขนาดนั้น มันก็ไปไม่ไหวเหมือนกัน มันทำให้หมดศรัทธาเหมือนกัน เรียกว่ามันยังไม่เกิดปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดแล้ว ก็จะเห็นว่า คนทั้งหมดก็คือคนคนเดียว ถ้ามันคือคนคนเดียว เราก็พิจารณาคนเดียว ก็เพียงพอ เพราะเราก็มีรูป เพราะเรามีนาม ลักษณะของรูปนามมันก็เป็นอยู่อย่างนี้ คนอื่นก็เป็นอยู่อย่างนี้เหมือนกัน มันเห็นเช่นนั้น ภาระที่จะต้องคิดก็น้อยลง เพราะมันอันเดียวกัน

ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อัตตะนา โจทะยัต ตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง ให้เตือนตัวเจ้าของเองนี้ ไม่มีที่อื่น ถ้าเราเห็นตัวเราเองแล้ว มันก็เห็นไปหมดทุกคน เพราะอันเดียวกัน บริษัทเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน เพียงแต่ต่างสีสัณฐานกันเท่านั้น เหมือนอย่างยาทัมใจกับยาบวดหาย มันก็ยารักษาโรคปวดเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนรูปห่อเสียหน่อยเท่านั้น แท้จริงมันก็ยารักษาโรคเดียวกัน

ถ้าเราเห็นได้เช่นนี้ มันก็จะง่ายขึ้น ค่อยๆ ทำมันไปเรื่อยๆ อย่างนั้นแหละ แล้วมันก็จะเกิดความฉลาดขึ้นในการกระทำ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเกิดความเห็น แล้วจะเห็นความจริงของมันจริงๆ

ถ้าจะพูดเรื่องปริยัติแล้ว ทุกอย่างมันเป็นปริยัติได้ทั้งนั้น ตาก็เป็นปริยัติ หูก็เป็นปริยัติ ทุกอย่างเป็นปริยัติ รู้ว่ารูปเป็นอย่างนั้น ก็รู้ว่ารูปเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเรามันมัวไปติดอยู่ในรูป ไม่รู้จักทางออก

เสียงเป็นอย่างนั้น ก็รู้ว่าเสียงเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไปติดอยู่ในเสียง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์นี้ มันจึงเป็นบ่วงสำหรับที่เกาะเกี่ยวให้มนุษย์สัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในตัวของมัน ฉะนั้น ก็ให้เราปฏิบัติไป คลำไปอย่างนั้นแหละ แล้ววันหนึ่งก็จะต้องได้ความรู้ เกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็นของแปลกๆ เพราะอะไร เพราะการกระทำไม่หยุด เพราะกำหนดไม่หยุดนั่นเอง

นานไป นานไป พอสมควรกับนิสัยปัจจัยของคนเรา มันก็จะเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “ธัมมวิจยะ” มันจะเดินโพชฌงค์ของมันเอง โพชฌงค์ทั้งหมด มันจะเกิดอยู่อย่างนี้สอดส่องธรรมไป

โพชฌังโค สติสังขาโต ธัมมานัง วิจโย ตถา วิริยัมปีติปัสสัทธิง โพชฌังคา จะ ตถา ปะเร

สมาธุเปกขโพชฌังคา สัตเตเต สัพพทัสสินา

เบื้องแรกมันเกิดอย่างนี้ อาการนี้มันจะเกิดขึ้นมา มันก็เป็นโพชฌงค์ เป็นองค์ที่ตรัสรู้ธรรมะทั้งนั้น ถ้าเราได้เรียนรู้มัน ก็รู้ตามปริยัติเหมือนกัน แต่ไม่มองเห็นที่มันเกิดที่ในใจของเรา ไม่เห็นว่ามันเป็นความคิดของเรา ไม่เห็นว่าเป็นโพชฌงค์ ความเป็นจริงนั้น โพชฌงค์นั้นเกิดมาในลักษณะอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติ ผู้รู้ทั้งหลายจึงบัญญัติเป็นข้อความออกมาเป็นปริยัติ ปริยัตินี้ก็เกิดจากที่ได้มาจากการปฏิบัติ แต่มันถอนตัวออกมาเป็นปริยัติเป็นตัวหนังสือ แล้วก็ไปเป็นคำพูด แล้วโพชฌงค์ก็เลยหายไป หายไปโดยที่เราไม่รู้ แต่ความเป็นจริงนั้น มันก็ไม่ได้หายไปไหน มันมีอยู่ในนี้ทั้งหมด

โพชฌังโค สติสังขาโต ธัมมานัง วิจโย

มันจะเกิดธัมมวิจยะ การพินิจพิจารณาตามไปเกิดปีติ เกิดความเพียร และเกิดอะไรขึ้นทั้งหมดไปตามลำดับของโพชฌงค์ ถ้ามันเกิดการกระทำขึ้นทั้งหมดดังนี้ มันก็เป็นองค์ที่ตรัสรู้ธรรมะ ถ้าทำถูกทาง ปฏิบัติถูกทาง มันต้องเกิดอาการอย่างนี้ ธรรมะมันก็ต้องมีอยู่ในนี้

ดังนั้น ท่านจึงว่า ค่อยๆ คลำไป ค่อยๆ พิจารณาไป อย่านึกว่ามันอยู่ข้างโน้น อย่านึกว่ามันอยู่ข้างนี้ เหมือนอย่างท่านอาจารย์จันทร์ไปเรียนบาลีแปลธรรมบทกับเขา เรียนไม่ได้ เพราะไปนึกแต่ว่า ปฏิบัติกรรมฐานนั้นมันสะอาด มันแจ้ง มันรู้มันเห็น ท่านก็ออกมาปฏิบัติอยู่ที่วัดหนองป่าพง ท่านว่าจะมานั่งปฏิบัติแล้วไปแปลบาลี ท่านนึกว่าจะไปรู้อย่างนั้น ไปเห็นอย่างนั้น ผมก็เลยอธิบายให้ท่านฟังว่า ท่านหลงในการเห็น ไม่รู้ในการเห็น เห็นเป็นอย่างไง มันเป็นคำพูดอันเดียวกัน เห็นอันเกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นอย่างหนึ่ง เห็นจากการเรียนปริยัติธรรมนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง มันก็เห็นเหมือนกัน แต่ว่ามันลึกซึ้งกว่ากัน

ถ้าเห็นจากการปฏิบัติแล้ว มันละ มันละไปเลย หรือถ้ายังละไม่หมด ก็พยายามละ ไม่ใช่ว่าเฉยๆ มีความโกรธเกิดขึ้นมา มีความโลภเกิดขึ้นมา ท่านไม่วางมัน พิจารณาแดนที่มันเกิด มันเกิดแล้วก็พิจารณาโทษให้มันเห็นด้วย แล้วก็เห็นโทษในการกระทำเช่นนั้น เห็นประโยชน์ในการละสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ความเห็นอันนี้ ไม่ใช่อยู่ที่โน่นที่นี่ มันอยู่ในจิตของตนเอง จิตที่มันผ่องใส ไม่ใช่อื่นไกล

อันนี้พวกปริยัติ และพวกปฏิบัติ พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง โดยมากมักจะโทษกันว่า นักปฏิบัติพูดไม่มีรากฐาน พูดไปตามความเห็นของตน ชอบโทษกันอย่างนั้น ความเป็นจริงมันก็อย่างเดียวกันแหละ เหมือนหน้ามือกับหลังมือของเรา เมื่อเราคว่ำมือลง หน้ามือมันก็หายไป แต่มันไม่ได้หายไปไหน มันหายไปอยู่ข้างล่างนั่นแหละ แต่มองไม่เห็น เพราะหลังมือมันบังอยู่แล้วเมื่อเราหงายฝ่ามือขึ้นมา หลังมือมันก็หายไป แต่มันก็ไม่ได้หายไปที่ไหน มันก็หายไปอยู่ข้างล่างเหมือนกันนั่นแหละ

ดังนั้น ให้เราเห็นอย่างนี้การปฏิบัติ นึกว่ามันหายไปไหน ไปหาทางอื่นถึงจะเรียนรู้ขนาดไหน หาเท่าไหร่ก็ไม่เห็นก็ไม่รู้จัก คือไม่รู้ตามที่เป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้วก็เรียกว่า “ละ” ได้เมื่อนั้น ถอนอุปาทานได้ ไม่มีความยึดหรือถ้ามีความยึดมันก็บรรเทาลง มันไปคนละแง่อย่างนี้

อย่างนั้นผู้ปฏิบัติชอบอย่างนี้ หลงอย่างนี้ อยากได้ง่ายๆ อยากได้ตามใจของเรา อย่าไปดูอื่นเลย ดูร่างกายของเรานี่แหละ มันได้ดังใจของเราไหม อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากได้เป็นอย่างนี้ มันตามใจเราหรือเปล่า เรื่องกายนี้ก็เหมือนกัน เรื่องจิตก็เหมือนกัน มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ดังนั้นคนจึงมองข้ามมันเสีย อะไรมันไม่ถูกใจเราก็ทิ้งมันเสีย อะไรไม่ชอบใจเราก็ทิ้งมันเท่านั้นแหละ หารู้ไม่ว่า สิ่งที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น อันใดผิด หรือถูก เราไม่รู้จัก รู้แต่เพียงว่าอันนั้นไม่ชอบ อันนั้นแหละผิด ไม่ถูกเพราะเราไม่ชอบ อันใดที่เราชอบ อันนั้นแหละถูกแล้ว เพราะเราชอบ

อันนี้ให้คำนึงถึงทีฆนขพราหมณ์ ดูซิ ทีฆนขพราหมณ์ พราหมณ์เล็บยาวๆ ที่พระพุทธเจ้าลงมาจากดอยคิชกูฏ เพื่ออะไรนี่ แกมีความเห็นว่า ด้วยปัญญาของแก เรื่องทิฐิทั้งสาม ทิฐิคือความเห็น ความเห็นอย่างไร ก็ไปยึดอย่างนั้น อะไรที่ชอบใจของเขา เขาก็ไปยึดว่าอันนั้นมันถูก อะไรที่ไม่ชอบใจเขา ไปยึดมั่นมันผิดคือ เขาเอาใจเขาเป็นธรรมะ คือเขาเอาใจเขาเป็นสัจธรรม ความเห็นพราหมณ์เป็นมาอย่างนี้หลายปีจนแก่ เมื่อพระพุทธเจ้าลงมาจากดอยคิชกูฏกับพระสารีบุตร ก็เข้าไปกราบเรียนถามเรื่องทิฐิทั้งสามต่อหน้าพระพุทธเจ้า

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นธรรมะ อย่างเราเรียนปริยัติมา เมื่อมันเกิดความรู้สึกอย่างใด มันก็วิ่งไปตามปริยัติ การภาวนา ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนี้ มันก็ต้องวิ่งไปตามนี้ ถ้าเราไม่มีปริยัติ เรามีธรรมชาติจิตของเรา อันนี้ก็เป็นธรรมะเหมือนกัน มันก็มีความรู้สึกนึกคิดไปตามธรรมชาติอันนี้ ถ้าหากว่าเรามีปัญญาพิจารณา มันก็เป็นปริยัติด้วยกันทั้งนั้น มันเป็นปริยัติ

ที่ว่าธรรมชาติมันเป็นปริยัตินั้น คือ เมื่อมันมีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณาอารมณ์ อาศัยอันนั้นเป็นปริยัติสำหรับผู้ภาวนาที่ไม่มีความรู้ในปริยัติ ต้องอาศัยความจริงอันนี้ ทุกอย่างมันก็เป็นมาอย่างนี้เหมือนกัน

ฉะนั้น คนเรียนปริยัติก็ดี คนไม่เรียนปริยัติก็ดี ถ้าเรามีศรัทธา มีความเชื่ออย่างที่ผมว่ามาแล้ว มีการกระทำพยายามทำให้การปฏิบัติของเรานั้นมีความเพียร มีขันติ ความอดทน สม่ำเสมอ มันมีสติเห็นหลัก คือความระลึกได้ว่า เรานั่งอยู่นี้ เรายืนอยู่นี้ เรานอนอยู่นี้ เราเดินอยู่นี้ ระลึกได้ไหมอิริยาบถอะไรอยู่

ให้รู้ตัวว่า ในเวลาที่เราอยู่นี้ เมื่อระลึกได้ขึ้นมา มันติดกันนะนี้ มันไม่ห่างไกลกันนะ สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว ถ้ามันเดิน มันจะเกิดทุกข์อันเดียวกัน สองอย่างนี้ เราจะไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร เมื่อความระลึกเกิดขึ้นมา ความรู้สึกมันก็เกิดขึ้นมา

เมื่อเราตั้งมั่นอยู่ มันก็รู้สึกง่ายๆ คือระลึกได้ว่า เป็นสติของเรา เราอยู่อย่างไร เป็นอะไร ทำอะไร เรามีสติเมื่อใด ก็มีความรู้ตัวอยู่เมื่อนั้น

ทีนี้ก็มีปัญญา บางทีปัญญามันน้อย มาไม่ค่อยทัน มีสติอยู่ก็จริง มีความรู้สึกอยู่ก็จริง แต่ว่ามันก็ผิดของมันได้ ตัวปัญญามันจะวิ่งเข้ามาช่วยสติความระลึกได้ และสัมปชัญญะความรู้ตัวนั้นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อบรมปัญญาด้วยอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน เช่นว่ามันจะรู้อยู่ เราก็รู้มันอยู่ ระลึกได้ ก็ระลึกมันได้อยู่ อารมณ์เกิดขึ้นมาอย่างไร เราก็ให้ระลึกอารมณ์นั้นได้อยู่ แต่ให้เห็นว่า อนิจจังเป็นพื้น เป็นรากฐาน ทุกขัง มันเป็นทุกข์ อนัตตาอันนี้ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้นแหละ มัน “สักแต่ว่า” เกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ไม่มีตัวตน แล้วมันก็หายไปเท่านั้นเอง คน “หลง” ก็ไปเอาโทษกับมัน จึงไม่ใช้สิ่งทั้งหลายนี้ให้เกิดประโยชน์

ถ้าหากว่าเรามีปัญญาพร้อมอยู่แล้ว ความรู้สึกหรือความระลึกมันจะติดต่อกันเป็นลำดับ แต่ปัญญานั้นยังไม่ผ่องใส เมื่อเข้ามาถึงแล้ว สตินี้ไม่ใช่ว่าถูกไปทุกอย่าง สัมปชัญญะความรู้ตัว ก็เห็นว่าไม่ถูกสักอย่าง สติสัมปชัญญะมันก็อาจจะมีผิดบ้าง ถูกบ้าง ปัญญาก็ต้องมาช่วย มีสติอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร หรือเอากันง่ายๆ ไอ้สติที่เกิดขึ้นนี้ก็ตามมันเถิด ไอ้ความรู้สึกก็ช่างมันเถอะ มันเป็นธรรมทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านยกอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานต้านทานมันเลยว่า สตินี้มันก็ไม่แน่นอน มันลืมได้เหมือนกัน สัมปชัญญะความรู้ตัวนี้ก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน มันล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง

อะไรที่มันไม่เที่ยง แล้วเราไม่รู้มัน อยากจะให้มันเที่ยง มันก็เป็นทุกข์ อยากได้ตามปรารถนาก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้ตามปรารถนาของเรา อยากจะให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ ซึ่งเป็นความอยากที่เกิดจากอำนาจจิตของเจ้าของซึ่งสกปรก สกปรกด้วยความไม่รู้จักอันนี้ มันก็เกิดกิเลสตัณหาตรงนี้

ถ้าหากว่ามีปัญญาพอมีความรู้สึกเกิดขึ้นมา เช่นว่า เราได้กระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง อย่างนี้เป็นต้น คือ ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นมันเต็มอยู่ในใจของเรา ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้คลี่คลายออก เรื่องที่มันเกิดขึ้นมานี้ เรื่องของไม่เที่ยงเป็นหลักวินิจฉัยเท่านั้น

ของไม่เที่ยง ถ้าเราไปยึดมัน มันก็พาเราทุกข์ ทำไมมันจึงทุกข์ เพราะสิ่งทั้งหลายนี้ ไม่ใช่เหตุผลว่าเราจะไปจัดมัน จะเอาตามใจเจ้าของทุกอย่าง ไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่มีอำนาจอย่างนั้น เพราะจิตของเรานี้ไม่ใช่ว่าจิตเราคิดชอบอย่างไร จะเป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่ชอบใจอย่างไร มันจะเป็นธรรมะอย่างนั้น ความพ้นทุกข์ตรงนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น ทีนี้เรื่องกายกับเรื่องจิตสัมผัสกันมาแล้ว เรื่องจิตที่หลง มันก็ไม่มีความรู้ไปอย่างหนึ่ง เรื่องจิตที่รู้ เมื่อได้รับอารมณ์แล้ว ก็มีความรู้ไปอย่างหนึ่ง

พอมีความรู้สึกเกิดขึ้น จิตที่รู้มันก็เห็นว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าไม่มีปัญญามันหลงตามไปด้วยความโง่ ไม่เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นเฉพาะว่า เราชอบใจอันนี้ มันถูกแล้ว มันดีแล้ว อันนั้นเราไม่ชอบใจ อันนั้นมันไม่ดีแล้ว อย่างนั้นจึงไม่เข้าถึงธรรมะ ปัญญาไม่เกิด

ถ้ามันเกิดเช่นนี้ จะทำยังไงเราจะมีปัญญา พระพุทธเจ้าท่านให้เอาอารมณ์ของวิปัสสนามาตั้งไว้ในใจเลย มาต่อรับอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ อะไรที่มันเกิดขึ้นมา ท่านก็เห็น ถึงแม้เราจะชอบมันอยู่ อันนี้มันไม่แน่ อันนี้ไม่เที่ยง ไว้ในใจของเรา เราคิดในใจของเรา อันนี้เป็นทุกข์ เพราะธรรมที่มันเกิดดับอยู่นี้ มันไม่เป็นไปตามอำนาจใจของมนุษย์

เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านี้ มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา พระพุทธเจ้าท่านให้เห็นเป็น “สักแต่ว่า” ให้ยืนอยู่ตรงนี้เสมอ ดังนั้น เราจะไปเลือกอารมณ์ไม่ได้ อารมณ์มันวิ่งมาหาเราทั้งทางดี ทางชั่ว ทางผิด ทางถูก วิ่งเข้าหาเรา ถ้าเราไม่รู้ ถ้าเราไม่มีปัญญา เราไม่รู้ว่าอันนี้มันผิด อันนี้มันถูก เราก็จะวิ่งไปตามตัณหา วิ่งไปตามความอยากอยู่นั่นแหละ จิตผู้ประพฤติปฏิบัติทั้งหลายแยกไม่ได้ก็ปนเปกัน บางทีก็สุขบ้าง บางทีก็ทุกข์บ้าง เป็นธรรมดาของมัน บางทีก็ดีใจบ้าง บางทีก็เสียใจบ้าง เพราะทำไม เพราะเอาใจของเราเป็นหลัก อะไรที่เราชอบใจ ก็เข้าใจอันนั้นว่ามันดี อะไรที่เราไม่ชอบใจ ก็ว่าอารมณ์อันนั้นไม่ดี อย่างนี้เรียกว่ายังห่างไกลจากธรรมะ มันก็เดือดร้อน ความอยากก็เริ่มเข้ามาเพราะความหลงมันเต็มอยู่แล้ว

ถ้าพูดเรื่องจิต ก็ต้องพูดอย่างนี้ ไม่ต้องออกไปห่างตัว มันเป็นอย่างนี้ เพราะเห็นว่า อันนี้มันไม่แน่ อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ถ้าเราเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นี่ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เราควรรู้จักอารมณ์อันนี้ ตามอารมณ์อย่างนี้ มันจะทำให้เกิดปัญญา ท่านจึงเรียกว่า อารมณ์ของวิปัสสนา

อารมณ์ของสมถกรรมฐานนี้ก็เหมือนกัน เราจะต้องกำหนดอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นรากฐาน ควบคุมจิตของเรา เป็นต้น ให้อยู่ในกระแสของลมนี้ ให้มันแน่วแน่ นิ่งนอนอยู่ เมื่อเราพยายามทำตาม จิตของเราก็จะสงบ นี้ท่านเรียกว่า อารมณ์ของกรรมฐาน

สมถกรรมฐานนี้มันมากจะทำจิตของเราให้สงบนี้ มันมากเหลือเกิน เพราะจิตมันวุ่นวายมากไม่รู้กี่ปีกี่ชาติมาแล้ว ลองนั่งดูก็ได้ อาการวุ่นวายจะเกิดขึ้นทันที มันจะไม่ยอมให้เราสงบ ฉะนั้น ท่านจึงให้หาอารมณ์กรรมฐานอารมณ์อันใดถูกใจ ถูกจริตของเรา ท่านให้พิจารณาอันนั้น เช่น เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ท่านให้พิจารณากลับไปกลับมาเมื่อทำอย่างนี้ บางคนพิจารณา ตะโจ หนัง รู้สึกพิจารณาได้สบายเพราะถูกจริต ถ้าอันใดถูกจริตของเรา อันนั้นก็จะเป็นอารมณ์กรรมฐานของเรา สำหรับปราบกิเลสทั้งหลายให้มันเบาบางลง เช่นว่า มรณสติ คือการระลึกถึงความตายบ่อยๆ นี้เป็นต้น

บางคนมีโลภ โกรธ หลง อย่างแรงกล้า ก็ไม่มีอะไรจะปราบเจ้ากิเลสนี้ได้ พอพิจารณาถึงความตายของเรา มันจะสลดสังเวช เพราะว่าจนมันก็ตาย รวยมันก็ตาย ดีมันก็ตาย ชั่วมันก็ตาย อะไรๆ มันก็ตายหมดทั้งนั้น จิตใจเราก็สลด จิตใจเราก็สังเวช ยิ่งพิจารณาไปเรื่อยๆ นั่งสมาธิก็สงบได้ง่ายๆ เพราะมันถูกจริตของเรา นี้เรียกว่า วิปัสสนา

อารมณ์ของสมถกรรมฐานนี้ ถ้าไม่ถูกจริตของเรามันก็ไม่สลด ไม่สังเวช อันใดที่มันถูกจริต อันนั้นก็จะประสบบ่อยๆ มีความรู้สึกนึกคิดในอาการนั้นบ่อยๆ คนเราไม่ค่อยจะได้สังเกต จึงควรสังเกตเพื่อให้ได้ประโยชน์ เปรียบเหมือนกับอาหารที่เขาจัดมาถวายสำรับหนึ่ง มันก็มีหลายอย่าง เราก็ชิมไปทุกถ้วยทุกอย่างนั่นแหละ แล้วก็จะรู้เองว่า อาหารอะไรที่เราชอบ อะไรที่เราไม่ชอบ อย่างไหนชอบก็ว่ามีรสชาติอร่อยกว่าอย่างอื่น นี่พูดถึงอาหาร อะไรควร อะไรถูกธาตุ

นี่ก็เทียบให้เห็นกับจริตของคนเรา กรรมฐานที่ถูกจริตมันก็สบาย อย่างอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้าถูกจริตแล้วก็สบาย ไม่ต้องไปเอาอย่างอื่น พอนั่งลงก็กำหนดลมหายใจเข้าออกก็เห็นชัด ฉะนั้น ไม่ต้องเอาที่ไหน มันมากก็เอาของใกล้ๆ นี่ดีกว่า กำหนดลมหายใจให้มันเข้า มันออกอยู่นั่นแหละ ดูมันอยู่ตรงนั้นแหละ ดูไปนานๆ ทำไปเรื่อยๆ จิตมันจะค่อยวางสัญญาอื่นๆ มา มันก็จะห่างกันออกไปเรื่อยๆ เหมือนคนเราที่อยู่ห่างไกลกัน การติดต่อก็น้อย

เมื่อเราสนใจอานาปานสติ มันก็จะง่ายขึ้น นั่งสบาย ถ้าเราทำตรงนั้นอยู่ตรงนั้น เราก็รู้จัก ชำนาญในการกระทำของเรา ว่าลมเป็นอย่างไร สั้นเป็นอย่างไร ยาวเป็นอย่างไร เราจะคิดต่อไปว่า ถ้าทำไปแล้วจะเห็นว่า ลมที่เข้าออกเป็นอาหารอย่างวิเศษ มันก็ไม่มีอารมณ์ทั้งหลาย มันเกิดขึ้นมา มันมีอยู่ แต่มันห่างไป มันจะค่อยคิดตามไปเองของมันทีละขั้น มันเป็นอาหาร ยิ่งกว่าอาหารทางกายอย่างอื่น

จะนั่งอยู่มันก็หายใจ จะนอนอยู่มันก็หายใจ จะเดินไปก็หายใจ จะนอนหลับมันก็หายใจ ลืมตาขึ้นก็หายใจ ถ้าขาดลมหายใจนี้ตาย แม้แต่นอนหลับอยู่ก็ต้องกินลมหายใจนี้ พิจารณาไปแล้ว เลยเกิดศรัทธา เห็นว่าที่เราอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะอันนี้เอง ที่เราอยู่กันทุกวันมิใช่อย่างอื่น อาหารคือคำข้าว อาหารคืออย่างอื่นนะ มันก็ดีเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ยิ่ง มันไม่ได้กินชั่วระยะ ๓๐ นาที หรือครึ่งชั่วโมง หรือวันหนึ่ง มันก็ไม่เป็นอะไร เรียกว่าอาหารมันหยาบ อาหารคือลม มันชั่วระยะนิดเดียว มันไปไม่ได้ มันตายทุก ๑๕ นาที หรือ ๓๐ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือ ๕ นาที ก็ลองดูซิ มันจวนจะตายไปแล้วนี่

นี่พูดถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ปฏิบัติ มันจะรู้ขึ้นมาอย่างนี้ ความรู้จากการปฏิบัติมัน มันแปลกไหม มันแปลกซิ ถ้าเราไม่ได้กำหนดจิตใจของเจ้าของจะไปรู้สึกว่าอันนี้เป็นอาหาร ก็เห็นว่าคำข้าวเป็นอาหาร ก็เห็นว่าเนื้อปลาเป็นอาหาร อะไรมันเป็นอาหารหมด ถ้วยอะไรก็ซื้อมากิน สำรับอะไรก็ซื้อมา โต๊ะหนึ่งกี่ร้อยกี่พัน ว่าเป็นอาหารพิเศษ อย่างนี้ เป็นต้น มันก็ดีอยู่ แต่ว่ามันก็ไม่ยิ่งเท่าอาหารคือลม ถ้าเราทำไปความคิดจะเกิดอย่างนี้ หรือมันคิดต่อไปว่า ลมนี่ เราก็กินลมอยู่ทุกเวลา ออกไป เข้ามา ออกไป เข้ามา ติดต่อกันอยู่เรื่อยอย่างนี้เป็นปฏิปทา ติดต่อกันเรื่อย มันก็เป็นอาหารทางกายของเราอย่างละเอียดแล้ว ให้กายของเราเป็นอยู่ เคลื่อนไหวไปได้ก็เพราะลมอันนี้ เรายิ่งพิจารณาไปมากเท่าไหร่ เป็นต้น ลมนี้ก็ยิ่งเกิดประโยชน์มาก มีอาหารมากอย่างละเอียด ถึงแม้มันผ่านจากจมูกเราแล้ว มันถึงความสงบ มันไม่ใช่อยู่เฉยๆ หายใจก็ไม่รู้เรื่อง

ลมนี้ยังสามารถออกจากสรรพางค์ร่างกายเราได้ เราสงบนั่งอยู่เฉยๆ ปรากฏลมไม่ออก ลมไม่เข้า แต่ลมละเอียดเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะไปหล่อเลี้ยงร่างกายทั้งหลายนั้นแหละ ทุกขุมขน มันจะออกไปได้ของมันอย่างละเอียด มันก็เลี้ยงโดยวิธีอันนั้น คือมันละเอียด

ฉะนั้น เมื่อจิตเราละเอียดถึงที่สุด ลมหายใจก็จะขาด ลมหายใจจะไม่มี ถึงที่ตรงนี้ท่านว่าอย่าเพิ่งตกใจมันเลย ถ้าลมไม่มี จะทำอย่างไรอีก กำหนดรู้อยู่ตรงนั้น รู้ที่ว่าลมไม่มีตรงนั้นแหละเป็นอารมณ์ต่อไป

พูดถึงเรื่องสมถกรรมฐาน มันคือความสงบอย่างนี้ ถ้ากรรมฐานถูกจริตแล้ว มันเห็นอย่างนี้แหละ อธิบายเรื่องลม มันวิพากษ์วิจารณ์ของมันไปจนกว่าเรามีศรัทธาเห็นชัดจริงๆ อันนี้คือต้นตอมันทุกสิ่งทุกส่วน ถ้าเราพิจารณาอยู่บ่อยๆ มันก็จะเพิ่มกำลังของเราอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับน้ำในโอ่ง พอจะแห้งก็หาน้ำเติมลงไปอยู่เรื่อย ตัวสัตว์น้ำอยู่ในนั้นก็มีชีวิตอยู่ไม่ตาย

การกระทำเพียร การประพฤติปฏิบัติก็เป็นอย่างนั้น มันจะกลับมาเป็นปฏิปทาของเรา ทีนี้ก็จะได้ความสบาย เรียกว่าสงบ สงบจากอารมณ์ทั้งหลาย คือเรามีอารมณ์เดียว คำที่ว่ามีอารมณ์เดียวนั้นพูดยากเหมือนกัน ไม่อยากให้มีอารมณ์อื่นมาแทรก อันความเป็นจริงอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก ถ้าเราคิดแต่มีอารมณ์เดียวอยู่นั่นเอง คล้ายๆ กับที่ว่าสัดส่วนที่เราเกิดมา ผู้ชายเราก็เห็น ผู้หญิงเราก็เห็น แต่ไม่มีความรู้สึกเหมือนพ่อเรา แม่เรา นี่อันอื่นเรานึกไปได้ อันนั้นเป็นผู้หญิง อันนั้นเป็นผู้ชาย ก็รู้อยู่ แต่ผลที่สุดแล้ว ไม่มีความรู้สึกเหมือนแม่ของเราหรือพ่อของเรา นี่ มันเป็นอารมณ์เดียวอยู่อย่างนี้ มันเป็นจุดอยู่อย่างนี้ อย่างอื่นนั้นเรียกว่าเป็นอาการจิต เรื่องอาการของจิต มันเป็นไปตามสภาพของมันอย่างนั้น เมื่อสมถกรรมฐานความสงบเกิดขึ้น จิตใจก็ผ่องใส ตรงนั้นเป็นที่สงบ สิ่งที่มันสงบนั้น อารมณ์มันก็จะน้อยลงไป การพิจารณาปัญญาของเราก็จะเกิดขึ้นมา

เมื่อความสงบเกิดขึ้นมา หรือความสบายเกิดขึ้นมา ระวัง มันจะติดความสุข มันจะติดความสบาย แล้วมันจะยึดมั่นถือมั่น พอเรายกขึ้นมาความสุขนี้ก็ไม่เที่ยง หรือความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความที่เป็นอย่างงั้นๆ มันก็ไม่เที่ยงของมันอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย

ความรู้สึกอย่างนี้มันก็เกิดขึ้นมา ทำไมมันจะเกิดขึ้นมา เพราะปัญญาจะเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นสภาวะของทั้งหลายเป็นอย่างนั้น ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้เหมือนคลายเกลียวนอตให้หลวมออก ไม่ให้มันตึง เมื่อก่อนมันตึงมันแน่น ความรู้สึกของเราที่มองก็เช่นกัน สมัยก่อนมองเห็นอันนั้นก็แน่นอน อันนี้ก็แน่นอน มันเลยตึง มันก็เป็นทุกข์ พอไม่ยึดมั่นถือมั่น เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน มันก็คลายเกลียวออกมา

เรื่องความเห็นนี้เป็นทิฐิ เรื่องความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเป็นอย่างหนึ่งเรียกว่ามานะ ท่านจึงสอนว่า ให้ลดทิฐิมานะ จะลดได้อย่างไร จะลดได้ก็เพราะเห็นธรรม อาศัยหลักว่าความไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง อะไรๆ ก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น ถ้าเราเห็นอย่างนี้ อารมณ์ที่มีอยู่ที่เรากระทบอยู่ มันก็จะค่อยๆ หมดราคา หมดราคาไปมากเท่าไร ก็บรรเทาความเห็นผิดไปได้เท่านั้น บรรเทาเรื่อยๆ เรียกว่า คลายเกลียวมันออก หมุนซ้ายไม่ใช่หมุนไปทางขวา มันก็ไม่ตึง

อุปาทานก็จะถอนออกมาเรื่อยๆ เมื่อเราเห็นชัดในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสกนธ์ร่างกายนี้ หรือในรูปนามนี้ ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ มันก็เกิดความเบื่อ คำที่ว่า “เบื่อ” ไม่ใช่เบื่ออย่างมนุษย์เรา ความที่เราว่ามันเบื่อ ไม่อยากรู้ มันไม่อยากเห็นมัน ไม่อยากพูดกับมัน เพราะไม่ชอบมัน ถ้าเป็นอะไรไปก็ยิ่งนึกสมน้ำหน้า ไม่ใช่เบื่ออย่างนี้ เบื่ออย่างนี้เป็นอุปาทาน ความรู้ไม่ทั่วถึง แล้วเกิดความอิจฉาพยาบาท เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้น ในสิ่งที่เรียกว่า “เบื่อ” นั่นเอง

เบื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ เบื่อโดยที่ไม่เกลียด ไม่รัก มีอารมณ์เกิดขึ้นมา ก็ว่าอันนี้ไม่เที่ยง ที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจอันใดเกิดขึ้นมาก็เห็นทันทีว่า มันไม่เที่ยง “เบื่อ” โดยวิธีอย่างนี้เกิด “นิพพิทา” ความเบื่อหน่าย คลายจากความกำหนัด รักใคร่ในอารมณ์อันนั้น ไม่ไปสำคัญมั่นหมายในอารมณ์เหล่านั้น ที่เราชอบมันหรือไม่ชอบอันนั้น ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ไปสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนให้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด

เพราะว่าเราเห็นแล้ว ทุกข์นี่ ทุกข์ที่มันเกิดมา ที่ไม่รู้จักสุข ยึดในสุขนั้น ยึดในทุกข์นั้น ไปยึดในสิ่งที่ชอบนั้น ไม่ชอบนั้น เป็นเหตุให้ทุกข์มันเกิดความรู้ไม่สม่ำเสมอในอารมณ์นั้น ไปชอบอารมณ์อย่างนั้น ไปชอบอารมณ์อย่างนี้ ทั้งสองอย่างนี้มันเป็นทุกข์ ถ้าเราไปชอบอย่างนั้น ไปยึดมั่นถือมั่น ทุกข์เกิดขึ้นมา

พระพุทธเจ้าของเราให้ตามต่อไปอีกว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อันนี้มันเป็นทุกข์แล้ว จึงให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ที่เรามาภาวนานี้ ให้รู้จักทุกข์ ให้รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ให้รู้ความดับทุกข์ ให้รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้ของสี่อย่างนี้เท่านั้น ถ้าสิ่งทั้งหลายรู้อย่างนี้ ทุกข์เกิดขึ้นมา ก็ให้รู้ว่านี่ตัวทุกข์ แล้วทุกข์นี้มาจากไหน มันก็มีพ่อแม่เหมือนที่เราเกิดมาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันเกิดขึ้นมาลอยๆ เมื่ออยากจะให้ทุกข์ดับ ก็ไปตัดเหตุของมันเสีย ที่ทุกข์มันเกิด ก็เพราะไปยึดมั่นถือมั่น ในอารมณ์ที่เราชอบ หรือเราไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ที่เราไม่ชอบ ตรงนี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด รู้จักมันแล้ว ทุกข์มันเกิดเพราะเราอย่างงี้ สำคัญมั่นหมายมันอย่างนี้ ทุกข์มันก็เกิด ท่านให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุ เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ เราก็คลายเกลียวมันซิ หมุนทางซ้าย อย่าหมุนทางขวาเข้าไปซิ คือเห็นว่า อันนั้นมันเป็นอย่างนั้น อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ก็ถอนตัวออกมา นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือมรรค เป็นมรรค สัมมาทิฐิ สัมมาสัมกัปโป สัมมาอาชีโว สัมมากัมมันโต ไปตามเรื่องมันนะ คือมันเห็นชอบในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี่เป็นข้อปฏิบัติ ให้เราเข้าไปดับทุกข์ได้ในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น

มันตรงเข้าไปหาศีล หาสมาธิ หาปัญญา มันจะต้องเป็นอย่างนี้

เรื่องจิตใจของเราจะเป็นอย่างนี้ เมื่อเราเห็นชัดเช่นนี้ สิ่งทั้งสี่ประการนี้ที่เราอยากจะให้มันรู้หรืออยากจะให้มันเห็นตามความเป็นจริงของมัน เมื่อเราเห็นตามความจริงของมัน มันก็เป็นสัจธรรม มองไป ข้างไหน ข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง มันเป็นสัจธรรมทั้งนั้น เป็นความจริงทั้งนั้น

ดังนั้นผู้บรรลุธรรม หรือผู้รู้จักธรรม ไปนั่งที่ไหนก็มีธรรมทั้งนั้นแหละ รู้จักธรรม อย่างมันโกรธขึ้นมา รู้ว่า เออ อันนี้มันไม่แน่ มันไม่มีราคาทั้งนั้นแหละ ราคาสิ่งทั้งหลายมันหมดไปน้อยไป หมดไปน้อยไป เพราะเรารู้มัน ด้วยความรู้ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับทุกข์มันเป็นอย่างนี้ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรามองอย่างนี้ มันมองเห็นเป็นสัจธรรมทั้งนั้น ใครจะนินทามันก็เป็นสัจธรรม ใครจะสรรเสริญมันก็เป็นสัจธรรมทั้งนั้น ทีนี้มันจะเหลือแต่อาการ อาการของจิตที่มันหยาบ คือมันสะสมมาแล้วแต่นานๆ

ถ้ามีความสุขเกิดขึ้นมามันก็รู้ แต่ว่ามันวาง มีทุกข์เกิดขึ้นมาก็รู้ว่าทุกข์ คือรู้ตามความเป็นจริง รู้ถึงมันเสีย ถ้ารู้ถึงมัน มันก็วางสุข ถ้ารู้ถึงมัน มันก็วางทุกข์ ถ้าเราไม่รู้ถึงมัน เราก็จะตะครุบ มันก็จับให้มันแม่น เดี๋ยวมันก็กัดเราเท่านั้นแหละ ตะครุบมันดูซิ





 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2553   
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2553 23:23:26 น.   
Counter : 596 Pageviews.  

ลิงน้อยกับกะปิ

ลิงซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เราเพราะรูปร่าง การเคลื่อนที่ และที่สำคัญคือความฉลาดใกล้เคียงมนุษย์เรา นักมนุษย์วิทยาและนักวิทยาศาสตร์ก็มักใช้ลิงเป็นตัวแทนมนุษย์เพื่อศึกษาพฤติกรรม ต่างๆ ในทำนองเดียวกันเราสามารถเรียนรู้เรื่องของจิตใจของเราได้มากมายจากพฤติกรรมของลิง หรือพูดได้ว่า “จิตของคนเรานั้นเหมือนกับลิง”

ยกตัวอย่างเช่นลิงนั้นเกลียดกะปิ ถ้ากะปิถูกมือมันเมื่อไหร่ มันจะถูนิ้วกับพื้นจนเลือดไหลเต็มมือจนกว่ากลิ่นกะปิจะหายในที่สุดจนกลายเป็นว่า "กะปิ" ถึงจะร้ายก็ไม่ร้ายเท่า”ความเกลียดกะปิ” ที่มือลิงเป็นแผลเหวอะหวะ ไม่ใช่เพราะกะปิหากเป็นเพราะความจงเกลียดจงชังกะปิต่างหาก

สิ่งที่เราเกลียดนั้นบ่อยครั้งไม่น่ากลัวเท่ากับความพยาบาท และ ความเกลียดชังในจิตใจเราความเกลียดชังหรือพูดให้ถูกก็คือ ความรู้สึกอยากผลักไสซึ่งรวมทั้งความโกรธและความกลัว ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นเสมือนเจ้าตัวร้ายที่เราต้องระวังให้มากๆ แต่นั่นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของความจริงเท่านั้น เพราะอีกครึ่งหนึ่งก็คือความยึดติดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องระวังไม่แพ้กัน

เราลองกลับมาที่ลิงจอมซนอีกที....ในอินเดียลิงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านเพราะชอบขโมยผลไม้ในสวน ชาวบ้านจึงคิดวิธีจับลิงโดยใช้กล่องไม้ซึ่งมีฝาด้านหนึ่งเจาะรูเล็กๆ พอให้ลิงสอดมือเข้าไปได้ ในกล่องมีถั่วซึ่งเป็นของโปรดของลิงวางไว้เป็นเหยื่อล่อวันดีคืนดีลิงมาที่สวนเห็นถั่วอยู่ในกล่องก็เอามือล้วงเข้าไปหยิบถั่ว แต่พอถอนมือออกมาก็ติดฝากล่องเพราะกำมือของลิงนั้นใหญ่กว่าฝากล่องที่เจาะไว้ ลิงพยายามดึงมือเท่าไหร่ก็ไม่ออก พอชาวบ้านมาจับก็ปีนหนีขึ้นต้นไม้ไม่ได้เพราะมีมือเปล่าอยู่ข้างเดียวสุดท้ายก็ถูกคนจับได้ ลิงหาได้เฉลียวใจไม่ว่าเพียงแค่มันคลายมือออกเท่านั้นมันก็เอาตัวรอดได้ แต่เพราะยึดถั่วไว้แน่น ไม่ยอมปล่อยจึงต้องเอาชีวิตเข้าแลก

มีหลายอย่างที่เราอยากได้ใฝ่ฝันจึงถึงกับยึดไว้อย่างเหนียวแน่นเวลาประสบปัญหาเพียงแค่คลายสิ่งที่ติดยึดนั้นเสียบ้างปัญหาก็คลี่คลายแต่เป็นเพราะเราไม่ยอมปล่อยจึงเกิดผลเสียตามมามากมายไม่คุ้มกับสิ่งที่ติดยึดจะชอบหรือพึงใจกับอะไรก็ตามอย่าถึงกับยึดติดจนเหนียวแน่นเกินไปเพราะโอกาสที่หน้ามืดตามัวนั้นมีสูงจนหาทางออกไม่เจอ ปัญหาทั้งหลายในชีวิตนั้นถ้าเรารู้จักปล่อยวางบางสิ่งเสียบ้างมันก็จะบรรเทาไปได้เยอะ

บ่อยครั้งการปล่อยวางไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเท่านั้นหากเป็นทางออกจากปัญหาเลยที่เดียว ความจริง การอยากผลักไสอะไรสักอย่างก็เป็นการติดยึดอีกแบบหนึ่งนั่นเองทั้งๆ ที่ลิงพยายามถูกำจัดกลิ่นกะปิไปจากมือก็อดไม่ได้ที่จะดึงมือมาดมหากลิ่นกะปิซ้ำแล้วซ้ำเล่ารู้ทั้งรู้ว่ากลิ่นกะปินั้นเหม็นแต่ก็ดมมือไม่ยอมเลิกง่ายๆ

ในทำนองเดียวกันไม่ว่าเราจะโกรธอะไรหรือเกลียดใครก็มักดึงสิ่งนั้นหรือคนนั้นเข้ามาในจิตใจให้ครุ่นคิดเสมอ ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวางเสียทีทั้งๆ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ ปล่อยวางเสียเถิดแล้วใจเราจะเบาขึ้นเป็นกองความทุกข์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รักหรือประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่มันบีบคั้นกดทับจิตใจเราไม่หยุดหย่อนเสียทีก็เป็นเพราะเราไปยึดไปแบกมันเข้าไว้ ทั้งวันทั้งคืน

ในหลายกรณีความทุกข์ก็ไม่ได้มาจากไหนหากมาจากการยึดติดไม่ยอมปล่อยดังเช่นเจ้าลิงหวงถั่ว นั่นเอง หากคนในสังคมเราไม่ว่าจะเป็นสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ถ้าสมาชิกในครอบครัวรู้จักการปล่อยวาง ครอบครัวก็จะเป็นสุข ในสถาบันต่างๆ เช่นสถาบันการศึกษา หากนักเรียนไม่มีความพยาบาท และยึดติดในศักดิ์ศรีก็คงไม่ต้องมีการตีกัน และในระดับประเทศชาติหากผู้ที่มีอำนาจ มีกฏหมายอยู่ในมือ ไม่ยึดติดในความอยากได้ใคร่มี ก็คงไม่มีการโกงกิน ราษฎรก็จะเป็นสุข เราจะได้อยู่ถึงจนได้เห็นการปล่อยวาง เกิดขึ้นในสังคมบ้านเราหรือเปล่าครับ หากเราไม่ช่วยกันผมเชื่อว่าคงไม่มีโอกาสได้เห็นแน่ครับ







 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2553   
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2553 12:39:00 น.   
Counter : 653 Pageviews.  

วิธีทำใจ กับ เรื่องคนที่เราเกลียด วิสัชนา โดย ว.วชิรเมธี

วิธีทำใจ กับ เรื่องคนที่เราเกลียด *
ถ้าเรารู้สึกไม่ชอบหน้าใครสักคนหนึ่งแต่จำเป็นต้องเจอ หรือ ทำงานด้วยกันในที่ทำงานเดียวกันทุกๆ วัน ผมควรจะวางตัวอย่างไรดีครับ
มันอึดอัดไปหมด ไม่มีความสุขเลยตลอดเวลาที่ต้องเจอ หรือ อยู่ในสำนักงานร่วมกันคนคนนี้
==========================
วิสัชนา โดย ว.วชิรเมธี

รู้ไหมว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้คนละกี่ปี
ชีวิตนั้นสั้นยิ่งกว่าหยดน้ำค้างเสียอีก จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า

ถ้าเราใช้เวลาอันแสนสั้นนี้ไปมัวหลับๆตื่นๆอยู่ในความรัก โลภ โกรธ หลง
หมั่นไส้คนนั้น ปลาบปลื้มคนนี้ ริษยาเจ้านายใส่ไคล้ลูกน้! อง
ปกป้องภาพลักษณ์ (อัตตา) กด (หัว)

คนรุ่นใหม่หลงใหลเปลือกของชีวิต โดยลืมไปเลยว่าอะไรคือสิ่งที่ตนควรทำอย่างแท้จริง
คิดดูเถิดว่า เราจะขาดทุนขนาดไหน
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เขียนบทกวีไว้ว่า

'' น้ำไหลอายุขัยก็ไหลล่วง ใบไม้ร่วงชีพก็ร้างอย่างความฝัน
ฆ่าชีวาคือพร่าค่าคืนวัน จะกำนัลโลกนี้มีงานใด ''

คนเราไม่ควรพร่าเวลาอันสูงค่าด้วยการปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความชอบ ความชัง มากนัก
เพราะถ้าเราวิ่งตามกิเลส กิเลสก็จะพาเราวิ่งทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อไปไม่รู้จบ
กิเลสไม่เคยเห! นื่อย แต่ใจคนเราสิจะเหนื่อยหนักหนาสาหัสไม่รู้กี่เท่า

ควรคิดเสียใหม่ว่า เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะชอบหรือไม่ชอบใคร
หรือเพื่อที่จะให้ใครมาชอบหรือมาชัง
แต่เราเกิดมาสู่โลกนี้เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะทำ
เอาเวลาที่รู้สึกแย่ๆ กับคนอื่นนั้นหันกลับมามองตัวเองดีกว่า
ชีวิตนี้เรามีอะไรบ้างที่เป็นแก่นสาร มีงานอะไรบ้างที่เราควรทำ

นอกจากนั้นก็ควรมองกว้างออกไปอีกว่า
เราได้ทำอะไรไว้ให้แก่โลกบ้างแล้วหรือยัง
คนทุกคนนั้นต่างก็มีดีมีเสียอยู่ในตัวเอง
ถ้าเราเลือกมองแต่ด้านเสียของเขา
จิตใจของเราก็เร่าร้อน หม่นไหม้

เวลาที่เสียไปเพราะมัวแต่สนใจด้านไม่ดีของคนอื่นก็เป็นเวลาที่ถูกใช้ไปอย่างไร้ค่า

บางที่คนที่เราลอบมอง ลอบรู้สึกไม่ดีกับเขานั้น
เขาไม่เคยรู้สึกอะไรไปด้วยกันกับเราเลย
เราเผาตัวเราเองอยู่ฝ่ายเดียวด้วยความหงุดหงิด ขัดเคืองและอารมณ์เสีย
วันแล้ววันเล่า สภาพจิตใจแบบนี้ไม่เคยทำให้ใครมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาได้เลย

ลองเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองโลกเสียใหม่ดีกว่า

คิดเสียว่าคนเราไม่มีใครดีพร้อมหรือ เลวไม่มีที่ติไปเสียทั้งหมดหรอก
เราอยู่ในโลกกันคนละไม่กี่ปี ประเดี๋ยวเดียวก็จะล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว
มาเสียเวลากับเรื่องไร้สาระทำไม
อะไรที่ควรทำก็รีบทำเถิดปล่อยวางเสียบ้าง
คว! ามโกรธ ความเกลียดนั้นไม่มีคุณค่าอะไรต่อชีวิตอันแสนน้อยนิดนี้เลย !
มุ่งไปข้างหน้า ไปหาสิ่งที่มีคุณค่าให้ชีวิตดีงามดีกว่า

วิธีที่แนะนำทั้งหมดนั้น นักภาวนาเรียกว่า '' การกลับมาอยู่กับตัวเอง ''
กล่าวคือ ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่กับคนที่ไม่ถูกโฉลก
แทนที่จะปล่อยใจให้อยู่กับ ความรู้สึกแย่ๆไปตลอด ก็ควรหันกลับเข้ามา '' มองด้านใ! น ''
แก้ไขที่ตัวเอง อย่ามุ่งแก้ไขที่คนอื่น
เพราะยิ่งพยายามแก้ไขคนอื่น ก็ยิ่งยุ่งเหมือนลิงทอดแห
ยิ่งเราให้ความสำคัญกับคนที่เราเกลียดมากเท่าใด
สภาพจิตใจก็ยิ่งแย่ลงมากเท่านั้น

วิธีที่ดีที่สุดในการอยู่กับคนที่เรารู้สึกไม่ดีหรือเป็นปฏิปักษ์ก็คือ
การดึงความรู้สึกจากเขามาอยู่กับเราทุกขณะ




 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2553   
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2553 23:54:31 น.   
Counter : 1157 Pageviews.  

เด็กหานาฬิกา

…ชาวนาคนหนึ่ง หลังจากไปทำความสะอาดคอกม้า ออกมาก้อพบว่านาฬิกาพกของตน
ได้หล่นหายไปเสียแล้ว นาฬิกาพกเรือนนี้มีความหมายต่อเขาอย่างมาก ด้วยเป็นของขวัญ
ที่แม่ของเขาทิ้งไว้ให้ เขารีบวิ่งกลับไปที่คอกม้า รื้อหาจนทั่วบริเวณแทบพลิกแผ่นดินหา
แต่ก้อหาไม่พบ…
เขาเดินออกมาจากคอกม้าด้วยเหงื่อที่ท่วมตัว มองไปเห็นมีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกันอยู่
แถวนั้น เขาจึงได้คิดว่าอาจเป็นเพราะตัวเองแก่แล้วหูตาฝ้าฟาง ทำให้หาไม่เจอ แต่เด็กๆ
หูตายังแหลมคม น่าจาหาเจอก็เป็นได้ เขาจึงเรียกเด็กๆ มาแล้วบอกว่า " เด็กๆ ถ้าใคร
หานาฬิกาพกของลุงเจอ ลุงจะให้เงินคนนั้นหนึ่งเหรียญ"
เด็กๆ พากันวิ่งกรูเข้าไปในคอกม้า จนเวลาผ่านไปนานโข ตอนที่เด็กๆ เดินกลับออกมาจาก
คอกม้าทีละคน ต่างมีสีหน้าผิดหวังที่หานาฬิกาพกไม่เจอ
ขณะที่ชาวหน้ากำลังถอดใจคิดจะเลิกหานั่นเอง ก็มีเด็กคนหนึ่งมากระซิบกระซาบบอกกับเขาว่า
"ผมจะลองเข้าไปหาดูอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ขอให้ผมเข้าไปคนเดียวเท่านั้น"
ชาวนามองตามหลังเด็กชายไปอย่างไม่มั่นใจ คิดในใจว่า..พวกเราแทบจะพลิกคอกม้าหา
ยังไม่เจอ…แล้วลำพังเด็กคนเดียว จาหาเจอได้อย่างไร….
เด็กคนนั้นเข้าไปตั้งนาน ก็ยังไม่กลับออกมา ชาวนาเริ่มสิ้นหวัง
ในขณะชาวนาคิดจะเลิกรอและจากไปนั่นเอง เด็กชายคนนั้นก็เดินออกมาจากคอกม้า
ในมือของเขาถือนาฬิกาพกเรือนหนึ่ง
ชาวนาถามด้วยความแปลกใจว่า " เจ้าหาเจอได้อย่างไร"
เด็กชายบอกว่า " พอเข้าไปข้างใน ผมก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่นั่งเงียบๆ อยู่ที่พื้น
ไม่นานผมก็ได้ยินเสียง ติ๊กตอก ติ๊กตอก จากนั้นผมก็เดินตามเสียงไป
แล้วผมก็เจอนาฬิกาเรือนนี้"
ข้อคิดเตือนใจ ขณะที่เรากำลังยุ่งวุ่นวายอยู่กับชีวิตหรือหน้าที่การงาน บางครั้งก็จำเป็น
อย่างมากที่จะต้องสงบจิตใจมาคิดตรึกตรองดูว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น ถูกต้องและ
เหมาะสมดีแล้วหรือเปล่า และนี่ก็อาจเป็นความหมายที่แท้จริงของคำโบราณที่ว่า
"บนเส้นทางของชีวิต บางครั้งก็ควรตึงเครียด บางครั้งก็ควรผ่อนคลาย"

ขอขอบคุณ Email FW นะค่ะ




 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2553   
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2553 23:47:41 น.   
Counter : 430 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Crescent-Norther-Star
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Crescent-Norther-Star's blog to your web]