อิสรภาพจากความอยาก โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

ขอขอบคุณ web dhammatoday.com & คอลัมน์ปัญญาประภาคาร









 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2554 20:52:52 น.   
Counter : 685 Pageviews.  

<< ความรักกับความทุกข์ >> ท่าน ว.วชิรเมธี

ความรักกับความทุกข์ อาตมภาพคิดว่าคำๆนี้ เมื่อถูกพูดขึ้นมา ไม่ว่าจะพูดโดยผู้ชายหรือผู้หญิง หรือใครก็ตาม บริบทของคำว่าความรักกับความทุกข์ หรือความรักคือความทุกข์มักจะเป็นบริบทของความรักในเชิงชู้สาวเสียมากกว่า เรื่องนี้ในทรรศนะของพระพุทธศาสนามองว่าอย่างไร ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ทุกๆ การยึดติดถือมั่น มีค่าเป็นความทุกข์เสมอ" ภาษาของอาตมภาพแปลเสียใหม่ว่า "ที่ใดมีกอด ที่นั่นมีกัด" ทุกๆการครอบครอง มีค่าเท่ากับการขาดอิสรภาพในทรรศนะของมนุษย์ ทุกครั้งที่เราครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็มักภูมิใจว่าฉันเป็นเจ้าของแล้ว เช่น ฉันมีรถเบนซ์ มีบ้าน มีแฟน ก็คิดว่าเป็นเจ้าของรถ เจ้าของบ้าน เจ้าของแฟนสาว หารู้ไม่ว่าทันทีที่ยอมรับสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของๆเรา เราก็ตกเป็นทาสสิ่งเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว เช่น จอดรถเบนซ์ไว้นอกบ้าน พอฝนตกเราก็นอนไม่หลับแล้ว เห็นไหม หรือมีบ้านหลังหนึ่ง พอน้ำประปารั่ว ปลวกขึ้นบ้าน เราก็ใช้ชีวิตไม่มีความสุขแล้ว หรือมีแฟนสักคนหนึ่ง ส่ง sms ไปแล้วเขาหายไป 3 วัน ชีวิตก็ไม่รื่นรมย์แล้ว เห็นหรือยังว่าเราครอบครองเขาหรือตกเป็นทาสเขากันแน่ ดังนั้น "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์"จึงเป็นสัจธรรมสากลถูกต้องที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตั้ง 2,500 กว่าปี ถึงตอนนี้เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงคำกล่าวของพระองค์ท่าน แล้วทำไมมนุษย์โดยมากจึงมักบอกว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีสุข เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้ความรักตั้งแต่ต้นสายถึงปลายทาง คนที่บอกว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีสุข โดยมากมักเริ่มต้นแค่รู้จักความรักช่วงก่อนโปรโมชั่น พูดประโยคอย่างนี้กันทั้งนั้น พอเริ่มเรียนรู้ที่จะรักไปสักพักหนึ่ง ถ้าสังเกตอย่างละเมียดละไมก็จะเห็นว่ามันเริ่มสุขๆ ทุกข์ๆ ปนกันโดยตลอด

หลังจากนั้นเมื่อหลวมตัวแต่งงานไป วันเวลาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความทุกข์มากกว่าความสุขแล้ว ฉะนั้นความสุขซึ่งเกิดจากการมีความรักเชิงชู้สาวนั้น แท้ที่จริงก็คือความทุกข์ที่รอเวลาอยู่เท่านั้นเอง มันคือความสุขที่แท้ที่จริงคือเจ้าความทุกข์ที่รอเวลาแสดงตัว คนหนุ่มคนสาวจำนวนมากไม่รู้ก็เลยคิดว่าความรักนั้นช่างหอมหวานเหลือเกิน จริงอยู่ความรักเป็นความหอมหวาน แต่เป็นความหอมหวานของเนื้อทุเรียนซึ่งมีเปลือกที่แสนขรุขระ ใช่ไหมล่ะ อาตมภาพเห็นด้วยกับพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีโศก ที่ใดมีโศก ที่นั่นก็มีภัย ที่ใดไร้รักไร้โศก ที่นั้นก็พ้นโศกพ้นภัย" ฉะนั้นถ้าคุณรักแล้วอยากจะปฏิเสธทกข์ อย่าทำเลย ไม่มีทาง ถ้าคุณมีโศก ก็หมายความว่าคุณยึดติด แล้วจะปฏิเสธความเศร้าที่ตามมา ไม่มีทาง ใครทุกคนที่เริ่มมีความรัก ขอให้เรียนรู้กติกาของความรักเอาไว้เลยว่า ความรักมีความทุกข์เป็นของแถม เหมือนกับเราหยิบเหรียญกษาปณ์ขึ้นมา 1 เหรียญ ถ้าด้านปรากฎต่อเราคือด้านหัว ด้านตรงข้ามก็คือด้านก้อย เช่นเดียวกันเมื่อเรายกหน้ามือขึ้นมาพินิจ หลังมือก็ติดมาพร้อมๆ กันนั่นแหละ ความรักกับความทุกข์จึงเป็นของคู่กันมาตั้งแต่ต้นจนจบ แต่การที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นก็เพราะเขายังถูกความรักบังตา เช่นเดียวกับในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า "ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดและแล่นไป บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง ถึงแม้จะผูกไว้ ก็โลดไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ หวนคิดถึงเจ็บกาย" นี้เป็นสัจธรรมที่อยู่ในกวีนิพนธ์

พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้แบบนี้แหละ คนที่มีความรักนั้นมีกำลังนับร้อยเท่านับพันเท่า โลดแล่นโจนทะยานออกไป บางครั้งโจนทะยานออกจากอกพ่ออกแม่เพื่อมาค้นพบภายหลังว่า คนที่รักเราแท้ที่สุดก็คือพ่อคือแม่นั่นเอง ฉะนั้นทุกครั้งที่เราเริ่มต้นมีความรัก สิ่งหนึ่งซึ่งควรมาคู่กันกับการมีความรักก็คือความเข้าใจในธรรมชาติของความรัก ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ หรือรักกันมานานตั้งห้าหกปีแล้วสุดท้ายก็เลิกกัน หรือแต่งงานมาสิบปีแล้วสุดท้ายก็เลิกกัน คนที่เจ็บปวดจากความไม่สมหวังในความรักจากการใช้ชีวิตคู่ ควรมองออกไปให้กว้างว่าขาดเขาแล้วเราไม่ตาย เพราะก่อนจะมีเขาเรายังอยู่มาได้ เมื่อย้อนกลับไปไม่มีเขาอีกครั้งหนึ่ง เราก็กลับไปยืนอยู่ ณ จุดเดิม ก็ต้องอยู่ต่อไปให้ได้ แล้วอย่าทำร้ายชีวิต อย่าทำร้ายตัวเอง แต่ให้มองว่าการที่เราเกิดเป็นคนแล้ว ไม่ได้ทุกอย่างดังใจหวังนั้น เป็นบทเรียนอีกขึ้นหนึ่งของชีวิต เป็นบันไดขั้นหนึ่งของชีวิตที่ต้องก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ
" ในชีวิตของมนุษย์เรามีบทเรียนอยู่สองบทเรียน หนึ่ง บทเรียนที่ยาก และสอง บทเรียนที่ง่าย บทเรียนที่ง่ายก็คือทำอะไรก็สมหวังไปเสียทุกอย่าง แต่พอสมหวังไปเสียทุกอย่าง มนุษย์มักจะหลงตัวเอง พอหลงตัวเอง นั่นคือ ต้นทางของความผิดพลาด "

บทเรียนที่ยากมักจะช่วยขัดเกลาฝึกปรือเราให้เข้มแข็ง เหมือนคนบางคนที่เกิดมายากจนจึงเรียนรู้ที่จะต่อสู้ และเมื่อพยายามต่อสู้ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จกลายเป็นคนมั่งคั่งพรั่งพร้อมได้ คนจำนวนมากที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้แล้วกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนั้นเพราะเขาไม่ปฎิเสธบทเรียนที่ยาก แต่กลับถือว่าเป็นบทเรียนที่เปรียบเสมือนหินลองทอง หรือเปรียบเสมือนหินลับมีด หรือบางทีเปรียบเสมือนกระดาษทรายที่ทำหน้าที่ขัดสีฉวีวรรณให้ชีวิตของเราผุดผ่องแวววาวทอประกายเจิดจรัสงดงามยิ่งขึ้น
ฉะนั้นการที่เราล้มเหลวในเรื่องความรัก ในเรื่องชีวิตคู่ ขอให้ถือว่าความล้มเหลวนั่นแหละคือบทเรียนแสนยากที่เป็นบันไดขั้นหนึ่งซึ่งเราต้องก้าวข้ามไป พอเราก้าวข้ามไปได้ ชีวิตของเราก็จะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกว่าชีวิตที่ไม่ผ่านการต่อสู้เป็นชีวิตที่ไม่ควรค่าแก่การยกย่อง เห็นไหม เรามีหน้าที่สู้ชีวิต มีหน้าที่ก้าวข้ามความยากลำบาก ไม่ได้มีหน้าที่มาจมปลักอยู่กับความยากลำบากแล้วก็ทำร้ายทำลายตัวเอง ทุกครั้งที่เจอบทเรียนแสนยาก บอกตัวเองว่าต้องก้าวข้ามมันไป ไม่ใช่ฝังตัวเองอยู่กับบทเรียนแสนยาก บทเรียนยากๆ ทั้งหลายนั้นเปรียบเสมือนบันได ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องก้าวผ่านบันไดเหล่านั้นไป ไม่ใช่ไปนั่งจุ้มปุ๊กอยู่ตรงบันไดแล้วบอกว่าพอแล้วสำหรับชีวิตฉัน

ขอบคุณหนังสือ รักแท้คือกรุณา, ว.วชิรเมธี
และ Blog ต่างๆ ที่ให้ข้อคิดดีๆนี้




 

Create Date : 17 มกราคม 2554   
Last Update : 17 มกราคม 2554 11:27:47 น.   
Counter : 910 Pageviews.  

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี พระธรรมดา..ที่ “ไม่” ธรรมดา

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
พระธรรมดา..ที่ “ไม่” ธรรมดา
เรื่องโดย อุษาวดี สินธเสน




ในวันที่แดดร้อนระอุวันหนึ่งก่อนฤดูฝนจะมาเยือน ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปสนทนาธรรมกับ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ถึง “อาศรมอิสระชน” สถานที่ปลีกวิเวกของท่านที่เชียงราย
ด้วยความแตกฉานทางธรรมของพระมหาวุฒิชัย บวกกับความเมตตาของท่านที่กรุณาตอบทุกคำถามอย่างละเอียด ทำให้คำถามธรรมดาๆ กลับได้รับคำตอบที่ลึกซึ้งและ“ไม่ธรรมดา”
อย่างไรก็ดี การตัดทอนเนื้อความที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาสาระทุกบททุกตอน เพื่อถ่ายทอดลงในพื้นที่อันจำกัด ยากนักที่จะทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่กระนั้นก็เชื่อว่า เพียงบางส่วนที่คัดมา คงทำให้หลายๆคน ได้รู้จักพระที่เรียกว่าตัวท่านเองว่า พระธรรมดา รูปนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ที่มาของ “อาศรมอิสรชน”

ประมาณปี 2543 ช่วงที่อาตมาเรียนจบเปรียญธรรม 9 ประโยคแล้ว พบว่าเรียนจนถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่ก็ไม่ใช่คำตอบ ช่วงนั้นได้คุยกับเพื่อนที่เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ท่านทำงานที่ต้องแบกภาระบริหารงานเอกสารมากมาย ท่านรับทุกเรื่องจนเครียดมาก จึงตัดสินใจลาออก ประกอบกับอาตมาเอง ก็เบื่อวงการสงฆ์ มองไปทางไหนไม่เห็นครูบาอาจารย์ที่จะช่วยยกจิตวิญญาณของเราให้สูงขึ้นมา เห็นแต่พระซึ่งมักใหญ่ใฝ่สูง แก่งแย่งแข่งขัน อิจฉาริษยาพระบางรูปมีความเป็นนักการเมืองมากกว่าความเป็นพระเสียอีก เวลาวัดความเจริญในสมณเพศกันก็ไม่ถามว่า ท่านมีศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มขึ้นหรือเปล่า กลับถามว่า ปีนี้จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคุณแล้วหรือยัง เป็นเจ้าอาวาสแล้วหรือยัง บรรยากาศแบบนี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ
พออาตมาได้ไปสวนโมกข์ เห็นความสงบ วิเวก ก็รู้ว่าชีวิตพระน่าจะเป็นชีวิตที่สงบงามและเรียบง่าย กลับมาอาตมากับเพื่อนก็เลยไปเรียนปริญญาโทที่มหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัยเพื่อหาความรู้ไว้เป็นไม้กันหมา ระหว่างนั้นก็เดินทางขึ้นเชียงรายมาด้วยกัน ที่นี่ทุกตารางนิ้วก่อให้เกิดความสุขอย่างยิ่ง มองไปทางไหนเห็นแต่ป่าดงพรไพร ได้ยินเสียงจักจั่นเรไรขับร้องเหมือนซิมโฟนีวงใหญ่ มองขึ้นไปบนฟ้า อาตมาก็เห็นแต่ดวงดาวพราวพรายนับแสนนับล้านดวงเหมือนจะเอื้อมมือไปหยิบได้ ตื่นเช้าขึ้นมาอาตมาก็ได้เดินเหยียบไปบนน้ำค้างเหนือยอดหญ้าแสนสดชื่น ธรรมชาติที่นี่ โอบอุ่น ให้เราได้เป็นพระเต็มเวลา พอวันมาฆบูชาปี 2545 ก็เลยคุยกับเพื่อนวา เรามาทำอาศรมอยู่กับเลยดีกว่า อาตมาตั้งชื่อว่าอาศรมอิสรชน ความหมายคือ ชนที่เป็นอิสระจากกิเลส หรือแปลอีกนัยหนึ่งคือพระอรหันต์นั่นเอง เพราะเป้าหมายสูงสุดของอาศรมอิสรชนก็คือ การเป็นพระอรหันต์

ทำไมพระอาจารย์จึงเน้นมากเรื่องการมีอิสรภาพ

เพราะเราจะได้ทำงานโดยที่ไม่ต้องมานั่งเกรงอกเกรงใจใคร ถ้าเราไปรับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการแล้ว เราก็จะมีเจ้านาย พอมีเจ้านาย จะเทศน์ จะสอน จะทำอะไรก็ต้องระวัง กลัวนายไม่ปลื้ม พอนายไม่ปลื้มก็แป้ก แต่เป็นพระลูกวัดอย่างนี้ อาตมามีความสุขมาก สามารถเทศน์ได้ สอนได้เต็มกำลังสติปัญญา ไม่ต้องเกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหม พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างไร ก็ถ่ายทอดไปอย่างนั้นตรงๆ เพราะฉะนั้นอิสรภาพทางปัญญาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรักษาไว้ให้ยาวนานที่สุด ถ้ารักษาได้ทั้งชีวิตยิ่งดี เพราะคนที่จะได้รับประโยชน์คือชาวบ้าน เขาจะได้ฟังธรรมะแท้ๆ ไม่ใช่ธรรมะฉบับอ้อมแอ้มหรือฉบับเห็นแก่หน้า ประนีประนอมกับคนทั้งโลก เพื่อแสวงหาความมั่นคงทางการเมืองให้ตัวเอง

เพราะอะไรพระซึ่งน่าจะสละแล้วซึ่งกิเลสตัณหา จงยังปรารถนายศถาบรรดาศักดิ์อยู่อีกล่ะคะ

ระบบศักดินาของพระเป็นระบบที่ฝ่ายรัฐมอบให้พระ มีการแบ่งลำดับชั้นการปกครองเพื่อให้เอื้อต่อการปกครองได้ง่ายขึ้น แต่การมีชั้นยศเลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เกิคความยึดติดถือมั่น กลายเป็นเครื่องวัดความเจริญก้าวหน้าของสมณเพศในเมืองไทย ซึ่งเป็นการจับประเด็นที่ผิดพลาดมาก เพราะแท้ที่จริงความก้าวหน้าในสมณเพศควรจะหมายถึงการที่ท่านมีศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ใช่มียศช้างขุนนางพระเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่คุณธรรมเสื่อมลง อาตมาเชื่อมั่นว่า เมื่อไรก็ตามที่เรามีเขี้ยวเล็บมากขึ้น สิ่งที่จะหายไปก็คือคุณงามความดี ทางของพระควรเป็นทางที่สงบ เรียบง่าย และควรเป็นทางที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด ไม่ใช่ทางซึ่งห้อมล้อมด้วยอำนาจราชศักดิ์ ถ้าเราจับประเด็นตรงนี้ไม่ชัด เราก็จะตะเกียกตะกายไปหาตำแหน่ง พอมีตำแหน่ง มีหัวโขนแล้ว ก็ตะเกียกตะกายให้มันสูงขึ้นอีกไปจนสุดสายพาน สำหรับอาตมา ความสุขไม่ใช่เรื่องในอนาคต แต่เป็นเรื่องของปัจจุบัน เราไม่ต้องไขว่คว้า เนื่องจากว่ามันมีอยู่แล้ว และอาตมาคิดว่าชีวิตพระก็ควรจะเป็นเช่นนั้น

อำนาจราชศักดิ์กับพระไม่น่าจะอยู่คู่กันนะคะ

เวลานี้คณะสงฆ์ไทยกำลังขาดกัลยาณมิตร เหมือนกับนักการเมืองไทยขาดกัลยาณมิตร ไม่มีใครเตือนใคร ต่างคนต่างก็วิ่งอยู่บนลู่วิ่งแห่งความเสื่อมด้วยกัน แล้วก็หลวงวนอยู่กับยศ ทรัพย์ และอำนาจ เวลานี้พระสงฆ์จำนวนมากจัดงานวันเกิดจนกลายเป็นเทรนด์ ทั้งท่านจัดเอง ทั้งญาติโยมจัดให้ เป็นเหมือนงานสโมสรที่ทุกคนแห่ไปรวมกัน แล้วพระซึ่งอยู่ในระดับต่างๆ ก็ต้องแห่กันไปเหมือนลูกน้องตบเท้าไปให้นายเห็นหน้า เป็นค่านิยมโลกๆ ที่นำมาใช้ในแวดวงพระ แล้วก็ใช้เงินมากมายไปกับงานซึ่งไร้สาระเหล่านั้น แทนที่จะเป็นบรรยากาศของความสงบ ความเรียบง่าย ความตื่นรู้ กลายเป็นบรรยากาศของการแสดงอำนาจเดชบารมีที่เราเรียกกันสมัยนี้ว่า เวลา

ที่เห็นและเป็นท่าน ว.

แม่อาตมาชอบธรรมะมาแต่ไหนแต่ไร แม่จะไปวัดทุกวันพระ กระทั่งพรรษาหนึ่งแม่ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นผู้ไปวัดโดยไม่ขาดตลอดพรรษา และทุกครั้งที่แม่ไปวัด อาตมาก็ไปด้วย ช่วยถือดอกไม้ธูปเทียน ตะกร้า ปิ่นโต ตามแม่ไป ไปจนชอบ ชอบธรรมะ พระ และวัด อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เป็นตัวเราอย่างที่เห็นทุกวันนี้คือ อาตมาตื่นตีห้าตามโยมแม่ทุกวัน แม่ลุกขึ้นมานึ่งข้าวนึ่งปลา แล้วก็จะเปิดวิทยุฟังข่าว อาตมาคลุกคลีอยู่ในครัวกับแม่โดยที่มีวิทยุเสียงดังลั่นบ้าน ทำให้อาตมาเกิดการใฝ่เรียน ใฝ่รู้เหตุการณ์บ้านเมือง พอไปโรงเรียน เช้าวันนั้นเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เรารู้หมดแล้ว นี่คือได้จากแม่ ที่บ้านเขาเรียกโยมแม่อาตมาว่า สำนักข่าวหัวเขียวประจำหมู่บ้าน ทุกวันนี้แม้แม่ไม่อยู่แล้ว แต่อาตมาก็ยังเป็นคนที่บริโภคข่าวสารเหมือนกับตอนที่แม่ยังอยู่
ส่วนโยมพ่อเป็นผู้ชายที่ไม่รู้หนังสือ เพราะว่าตอนหนุ่มๆ พ่อเป็นมือขวาของกำนัน ไม่มีเวลาเรียนหนังสือ แต่พ่อก็เป็นมือหาปลาประจำหมู่บ้าน เก่งมาในเรื่องหาปลา ไปน้ำไปหนองพ่อไม่เคยกลับบ้านมือเปล่า แล้วด้วยความที่พ่อไม่รู้หนังสือ เวลาสอนลูกพ่อก็จะใช้วิธีเล่านิทาน นิทานของพ่อไม่เคยได้รับอิทธิพลจากใครเลย พ่อเล่าเอง ผลก็คือ อาตมาได้ความใฝ่รู้จากแม่ ได้ความเป็นนักจิตนาการจากพ่อ อาตมาเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ตอนวัยเยาว์ทั้งหมดคือเงาของอนาคต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคลุกคลีตีโมงอยู่ตอนเป็นเด็กมีผลต่อชีวิตของเราทั้งชีวิต โชว์พระ ปีหนึ่งก็โชว์กันครั้งหนึ่งในงานวัดเกิด เวลานี้จะหาพระที่จะยืนหยัดเผยแผ่ธรรมะแบบตรงไปตรงมาก็ได้น้อยลง นั่นเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่มีความรู้มากๆ รวมกันไปศึกษาพระพุทธศาสนา สอนสมาธิภาวนากันเองจนเป็นเรื่องปกติ การสอนวิปัสสนากรรมฐานเดี๋ยวนี้ทำกันในโรงแรม ในรีสอร์ต ในบ้านของคหบดีเศรษฐี ไม่ก็ในหอประชุมของบริษัทชั้นนำ งานพวกนี้เคยเป็นงานพระ จะว่าไปผลดีก็มีอยู่ แต่ข้อเสียก็คือ ถ้าคฤหัสถ์สามารถทำบทบาทตรงนี้ได้ดีกว่า ต่อไปพระก็ถูกทิ้งให้อยู่ในปริมณฑลอันจำกัดของท่านนี่ เป็นเรื่องที่เราชาวพุทธจะต้องมองให้เห็น ถ้าเรามองไม่เห็น พระพุทธศาสนาก็จะกลายเป็นศาสนาซึ่งมีแต่เปลือก ชาวบ้านจะนำหน้าพระมุ่งไปหาแก่นแท้ แต่พระแท้ๆ จะหลงวนอยู่กับเปลือก

ถามแบบผู้ไม่รู้-ตอบแบบผู้หยั่งรู้

เราจะสามารถบรรลุธรรมได้ไหมคะ ถ้าไม่เข้าป่าเพื่อแสวงหาความวิเวกและความลำบาก

ได้ แต่ว่าไม่ง่ายเหมือนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อ การอยู่ในที่ทำงาน เจอสภาพแวดล้อมเดิมๆ มีการอิจฉาริษยา มีสารพัดสิ่งที่ยั่วยวนกวนประสาท พอหนีไปหาความวิเวกก็เหมือนเอาหินทับหญ้า แต่พอกลับไปที่ทำงานเอาหินออกหญ้าก็ขึ้นเหมือนเดิม สภาพแวดล้อมจึงเอื้อให้เราเดินทางได้สั้นขึ้น อย่างไรก็ตาม การบรรลุธรรมถ้าเราจับหลักได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะใจเราบรรลุ ไม่ใช่ร่างกายบรรลุ ขอให้เรียนรู้การเจริญสติ ฝึกตื่นรู้ดูใจของคุณไป ไม่จำเป็นต้องอยู่ป่าอยู่ดง ไม่จำเป็นต้องสร้างกฎอะไรขึ้นมาก็ได้แต่การที่เรามีกฎ มีระเบียบวินัย ก็เพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประพฤติปฏิบัติได้ง่ายขึ้น คนบางประเภทไม่ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้ เขาก็ดูแลตัวเองได้ บางคนยิ่งจัดยิ่งไม่ชอบ ถ้าเป็นปัญญาชนยิ่งจัดยิ่งไม่เอา

แล้วทำไมพระส่วนใหญ่จึงต้องเข้าป่าล่ะคะ

การไปนอนในป่าช้า การฉันมื้อเดียว การนุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวรที่พวกโยมถวาย การฝึกหัดขัดเกลาตัวเองให้ลำบากอย่างนี้เรียกว่าธุดงค์ การปฏิบัติธุดงค์อยู่ป่าเป็นวัตรก็ดี ฉันมื้อเดียวก็ดีนอนในป่าช้าก็ดี เหล่านี้เป็นข้อปฏิบัติพิเศษซึ่งพระพุทธเจ้าทรงกำหนดขึ้นมาให้เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมแบบ “เข้มข้น” แต่ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรถ้าเราจะไม่ทำ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปยึดติดถือมั่นว่า อ๋อ ! ทางนี้เท่านั้นนะ ทางอื่นไม่ใช่ ท่านทรงบัญญัติเอาไว้ว่าอย่างน้อยควรจะ
มีช่วงเวลาหนึ่งที่เราควรปลีกตัวเองออกจากหมู่คณะเพื่อไปฝึกหัดขัดเกลาอย่างเข้มข้น เพราะเมื่อเราทิ้งบ้านทิ้งเมืองเข้าป่า มันก็จะไม่มีสิ่งล่อหูล่อตา จิตใจเราจะมุ่งไปทางเดียวคือมุ่งบรรลุธรรม แต่ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส กว่าคุณจะตัดใจจากของสักอย่างหนึ่งได้เนี่ยแทบตายนะ มีมนุษย์กี่คนที่อยู่ในเมืองดีๆ อยู่ในบ้านดีๆ ลุกขึ้นมารประกาศวางความเคยชิน ไม่อ่านหนังสือ ไม่ดูทีวี ไม่พูดโทรศัพท์ ส่วนมากเสพติดความเคยชิน เสพติดความสุข เสพติความสบาย ถ้าเรามาอยู่ป่าถือสภาพแวดล้อมจะช่วยให้วางกิเลสได้ง่ายขึ้น ทำให้เราได้เดินทางลัดถือเป็นทางเลือกแห่งการปฏิบัติธรรม

การเรียนรู้ธรรมะผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์จากซีดี ถ้าเข้าใจและจับหลักได้ จะสามารถบรรลุธรรมได้ไหมคะ

ได้ มีพระอรหันต์หลายรูปที่บรรลุธรรมในขณะทำงาน ถ้าเป็นคนไทยยุคนี้ก็อย่างเช่น มาซาโนบุ ฟุกุโอกะ ผู้เป็นต้นกำเนิดการเกษตรธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีในระดับโลก การบรรลุธรรมนั้นถ้าจับหลักได้จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแบบแผนที่ใครๆ วางเอาไว้ วิถีทางที่จะปฏิบัติธรรมเป็นวิถีของอิสรภาพ พุทธศาสนาเริ่มต้นด้วยอิสรภาพและจบลงด้วยอิสรภาพ อิสรภาพในการเลือกวิธีในการเข้าถึงพระพุทธศาสนา และที่สุดคือ อิสรภาพในการหลุดพ้นจากกิเลส แต่พอมีการจัดองค์กรสงฆ์ มีการตั้งเป็นสำนัก และมีการสถาปนาตนเป็นครูบาอาจารย์ ก็เกิดการยึดติดถือมั่นในยศช้างขุนนางพระ ในครูบาอาจารย์ และในสำนัก พอมีสำนักก็ต้องมีการปกป้องทฤษฎีแบบแผนของสำนัก โลกของการปฏิบัติธรรมจึงเข้าสู่ความคับแคบและการปฏิบัติธรรมที่เป็นเรื่องง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องยุ่งยากหยุมหยิม ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด รื่นรมย์ที่สุด แต่เวลานี้กลับกลายเป็นเรื่องรกเรื้อไปด้วยโครงสร้าง รุงรังไปด้วยแบบแผน และบางทีกลายเป็นเรื่องจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น ถ้าเราจับหลักได้ เข้าใจอย่างนี้แล้วปฏิบัติธรรมทำที่ใจ เพราะฉะนั้นจะอยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่ป่าก็มีค่าเท่ากัน แต่งหน้าหรือไม่แต่ง แต่งตัวหรือไม่แต่ง ก็ไม่ต่างกัน
หมั่นฝึกดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ฝึกดูฝึกรู้ไปเรื่อยๆ บางทีโหนรถไฟฟ้าอยู่ดีๆ ก็อาจบรรลุธรรมได้ การไปนิยามว่า การปฏิบัติธรรมหมายถึงการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น เป็นการเข้าใจผิด บางคนไปวิปัสสนากรรมฐานกลับมาแล้ว เที่ยวดูถูกคนอื่นคิดว่าตัวเองปฏิบัติธรรมขั้นสูงอยู่คนเดียว บางทีคนที่ไม่เคยปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามรูปแบบเลย อาจจะเจริญทางธรรมได้ดีกว่าก็ได้

ถ้าเช่นนั้น การแสวงหาครูบาอาจารย์ก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นใช่ไหมคะ

คงต้องบอกว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นในระดับหนึ่ง แต่ใช้ไม่ได้กับทุกคนเสมอไป ในโลกนี้มีคน 3 ประเภท 1. ได้พบหรือไม่ได้พบครูบาอาจารย์ก็บรรลุธรรมได้ 2. ได้พบจึงบรรลุ ไม่ได้พบก็ไม่บรรลุ 3. ได้พบก็ไม่บรรลุ ไม่ได้พบก็ยิ่งไม่บรรลุ เพราะฉะนั้นถ้าเจอครูบาอาจารย์ได้ก็จะดีมาก แต่สำหรับบางคนซึ่งเขาเรียกว่าเป็นคนประเภทบัวเหนือน้ำ เป็นพวกอัจฉริยบุคคล คนเช่นนี้เขาไม่จำเป็นต้องง้อ เขาค้นพบทางของเขาเอง เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ถือว่าจำเป็น ถ้ามีได้ก็เป็นความโชคดีของคุณ แต่ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็อาจจะมาในรูปอื่น เช่น หนังสือ ประสบการณ์ชีวิต หรือการหยั่งรู้โดยวิธีธรรมชาติ
หลวงพ่อชา สุภัทโท เมื่อท่านบรรลุธรรมนั้นท่านบอกว่า ท่านเห็นกาน้ำไม่ใช่กาน้ำ เห็นบาตรไม่ใช่บาตร ที่แท้แล้วของพวกนี้เป็นสิ่งสมมุตินะ อย่างโต๊ะตัวนี้อาตมาอาจจะเรียกว่ากุหลาบก็ได้ หรือจะเรียกพัดลมว่าโทรศัพท์ก็ได้ ชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งสมมุติทั้งหมด พอสมมุติขึ้นมา มนุษย์ก็ยึดติด พอใครไปเรียกอย่างอื่นนี่รับไม่ได้เลยนะ หารู้ไม่ว่าชื่อที่เราเรียกมันเป็นแค่สิ่งสมมุติ โดยเนื้อหาสาระแล้วทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้มันไม่มีชื่อ มันเป็นแค่สิ่งสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ แต่เราไปบอกว่าอย่างนี้เรียกว่าคน อย่างนี้เรียกว่าผู้หญิง อย่างนี้เรียกว่าผู้ชาย อย่างนี้เรียกว่าพระ ถ้าเราถอดออกเหลือแต่ปรมัตถธรรม คือความจริงล้วนๆ ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรดี ถ้าเราเข้าใจธรรมะแล้ว และถ้าเราถอดถอนสมมุติได้ ความทุกข์ในใจจะหายไปเลย ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ ชีวิตจะเบา

มีอะไรเป็นเครื่องสังเกตคะว่า พระรูปไหนเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์

ท่านบอกว่า โจรย่อมรู้ในโจร อรหันต์ย่อมรู้ในอรหันต์ คนที่ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกันไม่มีทางรู้หรอก ทำได้แค่สันนิษฐาน แต่ก็มีเกณฑ์อยู่บ้านเหมือนกัน เช่น คนเป็นพระโสดาบันจะต้องละได้ 3 อย่าง
1. สักกายทิฐิ ความยึดติดถือมั่นในตัวตนไม่มีแล้ว 2. วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในคุณของพระรัตนตรัยแล้ว
3. สีลัพพตปรามาส ไม่พึ่งเครื่องรางของขลังอีกแล้ว อยู่ได้ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ล้วนๆ ส่วนพระสกทาคามียังมีความรัก ความโลภ ความโกรธอยู่ แต่จะลดดีกรีความเข้มข้นลงมา พระอนาคาความรักหายเลย บริจาคสามี ภรรยา และทรัพย์สมบัติได้เลย ส่วนพระอรหันต์ทิ้งโลกทั้งโลกได้ ไม่เอาอะไรเลย หลุดพ้นจากกิเลสทุกรูปแบบ แต่คำถามคือ ทั้งๆที่รู้เกณฑ์อย่างนี้แล้ว แต่เรารู้ได้อย่างไร คำตอบคือ เราต้องเป็นเอง ถ้าไม่เป็นเอง ก็มีสิทธิ์ถูกหลงกล แต่แม้จะบอกไม่ได้ เราก็พอจะสันนิษฐานได้จากสภาพแวดล้อมที่ท่านดำรงชีวิตอยู่ เหมือนเราฟังคนพูดภาษาอังกฤษแล้วรู้ว่าสำเนียงก็ส่อภาษา กิริยาก็บอกภาวะในจิตใจของท่านเหมือนกัน ดีที่สุดคือ เราต้องลงมือประพฤติปฏิบัติเองจนสามารถหยั่งรู้ด้วยตัวเอง

ผู้ที่มีศีล ปฏิบัติธรรม จิตใจดี มีเมตตา แต่ยังติดเรื่องสวยงามเพราะต้องทำงาน เข้าสังคม คนประเภทนี้จะมีโอกาสเจริญก้าวหน้าทางธรรมไหมคะ

ถ้าเขาติดด้วยความไม่รู้ก็เป็นอุปสรรคต่อการเจริญก้าวหน้าในทางธรรม แต่ถ้าเขารู้ แล้วเขาทำเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างพอเหมาะพอควร อย่างนี้ไม่เป็นไร อยากแต่งก็แต่งไป คุณจะบริโภคเวอร์ซาเช่ หลุยส์ วิตตอง อาร์มานี ปราด้า ถ้ามีเงินคุณก็ทำไปเถอะ หากทำด้วยความรู้และทำอย่างพอเหมาะพอสมเพื่อเข้าสังคม คนอย่างนี้เราเรียกว่ารู้จักสมมุติและรู้จักใช้สมมุติ ถ้าคุณรู้ว่าการแต่งหน้าก็ดี การเลือกซื้อเสื้อผ้าหรือการใช้ของแบรนด์เนมก็ดี เป็นสิ่งสมมุติ คุณอาจใส่ชุดสักสามหมื่นงานสังคมไฮโซ แต่พอกลับถึงบ้านคุณก็แต่งตัวธรรมดา ไม่ได้ยึดติดถือมั่น เหมือนใช้ไฟฉายส่องทาง เสร็จถึงเป้าหมายคุณก็วางไฟฉาย ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม และมีความก้าวหน้าในทางธรรมได้

พระอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ กรณีที่เดี๋ยวนี้พระเป็นตุ๊ดเป็นแต๋วกันเยอะมาก

อาตมาเข้าใจว่าเราไม่สามารถออกแบบชีวิตของเราได้ทั้งหมด ศาสนาพุทธมีวินัยว่า คนเป็นตุ๊ดเป็นเกย์ห้ามบวช ดังนั้นท่านก็ควรต้องรู้ตั้งแต่แรกว่าท่านบวชไม่ได้ แต่ถ้าท่านบวชมาแล้วมันก็สายเกินกว่าที่จะไปไล่ท่านให้ลาสิกขาไป ฉะนั้นพบกันครึ่งทางดีกว่า ถ้าเรามองด้วยความเข้าใจจะเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องการความเห็นใจและต้องการการปฏิบัติอย่างละมุนละม่อม ทางแก้อาตมาคิดว่า
1. วัดจะต้องวางระบบการเลือกคัดกลั่นกรองคนเข้ามาบวชให้รัดกุม
2. เมื่อท่านบวชไปแล้ว วัดจะต้องมีระบบการศึกษาที่ดีพอที่จะเปลี่ยนท่าน ท่านอาจจะเป็นตุ๊ดเป็นแต๋ว กระตุ้งกระติ้งเข้ามา วัดจะต้องมีระบบการศึกษาที่จะฝึกหัดขัดเกลาให้ท่านสงบ สำรวมรู้จักวางเนื้อวางตัว แต่ละวัดควรจะเปิดสอนวิชาสมบัติผู้ดี เพื่อให้ท่านมีศีลาจารวัตรอันงดงามชวนให้เกิดศรัทธา โรงเรียนเตรียมสามเณรของอาตมาปีนี้ก็เปิดสอนวิชาสมบัติผู้ดีสำหรับพระภิกษุและสามเณรด้วยเช่นกัน
3. พระภิกษุสามเณรทุกรูปควรได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานเพราะเมื่อท่านมีความสุขทางจิตใจแล้ว ท่านจะไม่ไปแสวงหาความสุขทางโลกิยอีก

พระอาจารย์คิดว่าผู้หญิงควรจะได้รับการยอมรับให้บวชเป็นภิกษุณีไหมคะ

ผู้หญิงมีศักยภาพที่จะบวชได้ และควรส่งเสริมให้บวช และพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตอยู่แล้ว แต่ที่เป็นปัญหาขึ้นมาในเมืองไทยเพราะวงศ์ของภิกษุณีขาดไป การบวชเป็นภิกษุณีต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย บวชจากภิกษุณีเสร็จแล้วไปบวชจากภิกษุ ถ้าครบสองอย่างนี้ผู้หญิงก็ไปบวชเป็นภิกษุณีได้ทุกเมื่อ ปัญหาของสังคมไทยคือ ไม่มีภิกษุณีที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ตอนนี้มมีทางออกแล้ว คือไปบวชเป็นภิกษุณีที่ศรีลังกาแล้วเข้ามาประเทศไทย ต่อไปถ้ามีคณะสงฆ์มากพอก็ไปตั้งภิกษุณีสงฆ์ เช่นนี้แล้วก็สามารถบวชให้ผู้หญิงไทยได้ ฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตก็คือ ผู้หญิงในเมืองไทยจะสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้เหมือนในสมัยพุทธกาล ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นอาตมาคิดว่าสังคมไทยจะมีมาตราฐานทางจริยธรรมที่ดีขึ้น เพราะรอให้พระทำงานอย่างเดียวไม่ไหวหรอก เรื่องบางเรื่องผู้หญิงทำได้ดีกว่า เราต้องก้าวข้ามอคติทางเพศให้ได้

กล้าถามมา-กรุณาตอบให้

อยากทราบว่าพระอาจารย์เป็นพระสายไหนคะ

อาตมาคิดว่าตัวเองเป็นทะเล ได้รับประโยชน์จากแม่น้ำทางปัญญาและจิตวิญญาณทุกสายที่ไหลมาจากทุกทิศ ฉะนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเป็นสายอะไร แต่รู้อย่างหนึ่งว่า เรามีความพอใจกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และเรามีความสุขกับเส้นทางที่เราเลือกความสุขของเราก็ไม่ใช่เรื่องอนาคต แต่เป็นเรื่องของวันนี้ เรื่องของปัจจุบันขณะ ทุกวันเมื่อหัวถึงหมอนอาตมาก็หลับ ตื่นขึ้นมาก็สดชื่นพร้อมทำงาน ทำงานเสร็จอาตมาก็ไม่แบกอะไรเลย ในหัวไม่มีอะไรนอกไปจากเท่าที่เห็นและเป็นอยู่ แต่ถ้าจะให้นิยามจริงๆ อาตมาคงเป็นพระสายพระพุทธเจ้า

ถ้าเช่นนั้นไอดอลหรืออาจารย์ในดวงใจของพระอาจารย์หรือใครคะ

ครูบาอาจารย์ในดวงใจอาตมามีเยอะมาก
1. ท่านพุทธทาส ท่านให้แรงบันดาลใจในแง่ของการเป็นคนคิดนอกกรอบ กล้าเทศน์ กล้าสอน กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ ๆ
2. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ให้แรงบันดาลใจในแง่ของการเป็นพระนักวิชาการชั้นนำ ต้องมีความแม่นยำในพระธรรมวินัย รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม สามารถบูรณาการพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ท่านยังเป็นแรงบันดาลใจให้อาตมาเรียนจนได้เปรียญธรรม 9 ประโยคด้วย ท่านทำให้อาตมาเกิดความคิดขึ้นมาว่า ถาต้องการเผยแผ่พระศาสนาให้เป็นที่ยอมรับ พระต้องมีการศึกษาที่ดี
3. หลวงพ่อชา สุภัทโท ตอนเป็นเณรน้อยอยู่จังหวัดเชียงราย ทุก ๆคน อาตมาจะหลับไปพร้อมกับเสียงธรรมบรรยายของหลวงพ่อชา ก่อนนอนจะต้องกดเทปฟังเสียงหลวงพ่อชาแล้วก็หลับไปพร้อมกับเทศนาของท่าน อาตมาสะสมเสียงธรรมบรรยายของท่านแทบทุกชุด ซึ่งเป็นเหตุให้อาตมาได้เสพคุ้นธรรมะของหลวงพ่อชา เรียกว่าอ้างได้แทบทุกบททุกตอน หลวงพ่อชาเป็นอีกรูปหนึ่งที่ทำให้มีอาศรมอิสรชนขึ้นมา เพราะอาตมามีความฝันว่าอยากจะเป็นพระป่าเหมือนท่าน
4. ท่านทะไลลามะ ให้แรงบันดาลใจแก่อาตมาในแง่ที่ว่า ธรรมะไม่ควรจะถูกจำกัดเฉพาะในหมู่ชาวพุทธ แต่ธรรมะควรจะแพร่หลายไปทั่วโลกท่านเป็นต้นแบบของพระในพุทธศาสนาที่มีชีวิตชีวามาก เป็นพระที่มีชีวิต หัวเราะได้ ยิ้มได้ โอบกอดคนได้รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม ท่านมีอิทธิพลกับอาตมามากในแง่นี้ ทำให้เราสามารถทะลุกรอบเดิมๆ ของเถรวาทออกมาได้ อาตมากล้าพูดได้เลยว่า ก่อนหน้าอาตมาขึ้นไป เราแทบจะไม่เห็นพระถ่ายรูปแล้วยิ้ม เดี๋ยวนี้มีพระถ่ายรูปแล้วก็ยิ้มอยู่ทั่วไป อาตมาคิดว่า ทุกครั้งที่คนเห็นพระควรให้ความรู้สึกเหมือนเห็นดอกไม้บาน ไม่ใช่ทุกครั้งที่เห็นพระแล้วรู้สึกว่าชีวิตมันตึงเครียดไปหมด
5. ท่านติช นัท ฮันห์ หนังสือของท่านถือเป็นแรงบันดาลใจให้อาตมาหลายเรื่อง เดิมก็ไม่รู้หรอกว่าท่านคือใคร ซื้อมาอ่านด้วยความรักความชอบของเราเอง พออ่านแล้วรู้สึกดีจังเลย อ่านจบปุ๊บ ฝึกเจริญสติวันนั้นเลย แล้วอาตมาก็ค้นพบปาฏิหาริย์ รู้สึกรื่นรมย์มากกับการล้างห้องน้ำ รื่นรมย์มากกับการจิบน้ำชา รื่นรมย์มากกับการเดินบิณฑบาต เติมสติเข้าไปในทุกอิริยาบถของชีวิต แค่นั้นความรื่นรมย์ก็เกิดขึ้น ทั้งห้ารูปนี้คือไอดอลทางจิตวิญญาณของอาตมา

ดูเหมือนลูกศิษย์พระอาจารย์จะมีแต่ดาราหรือคนดังๆ ทั้งนั้น ชาวบ้านธรรมดาจะมาพบและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์จะทำอย่างไรคะ

จริงๆ อาตมาไม่มีเกณฑ์ในการเข้าพบนะ เพียงแต่ว่าไปปรุงแต่งกันเองว่า พบยาก เข้าถึงยาก จริงๆ ไม่ว่าใครก็เข้ามาพบอาตมาได้ทั้งนั้น ไม่ว่าที่วัดป่าที่เชียงรายหรือในกรุงเทพฯ แล้วก็มีทั้งคนดังและไม่ดังมาพบ แต่ว่าคนไม่ดังก็ไม่เป็นข่าวใช่ไหม ครั้งหนึ่งมีโยมสองสามีภรรยามาขอพบอาตมาที่กุฏิวัดเบญจมบพิตรฯ พอขึ้นมาก็เจออาตมานั่งรอ เขาก็ตกใจมากว่าทำไมพบง่ายจัง เขาคิดว่าน่าจะยากน่าจะมีกองเลขาฯ มีอะไรเยอะแยะ จริงๆอาตมาเป็นพระเรียบง่ายมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่หาว่าพบยาก เข้าถึงยากก็คงเป็นเพราะอาตมาไม่รับโทรศัพท์เอง เหตุผลก็เพื่อป้องกันการโทรศัพท์มาคุยด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ใครมีอะไรก็ให้คุยกับลูกศิษย์ จากนั้นทุกเย็นลูกศิษย์จะทำบันทึกส่งว่ามีใครติดต่อเข้ามาบ้าง ถ้าไม่ทำอย่างนี้ อาตมาคงไม่มีเวลามาทำสิ่งที่มีประโยชน์ในระยะยาว

อยากทราบว่า การที่พระถ่ายรูปเพื่อลงปกนิตยสารที่ผิดพระวินัยไหมคะ

อาตมานึกถึงคำของพระพุทธเจ้าที่ตรัสเอาไว้ว่า ถ้าการที่เราอายุยืนยาวแล้วมีความหมาย ได้ยังประโยชน์ให้บังเกิดแก่มนุษยชาติ นั่นเป็นการคู่ควรที่จะมีชีวิตที่ยืนยาว แต่ถ้าเราอายุยืนยาวแล้วทำให้มนุษยชาติเดือดร้อน อย่างนั้นอายุสั้นเสียยังดีกว่า เช่นเดียวกันอาตมาคิดว่า ถ้ามีคนขอถ่ายรูปแล้วรูปของเรา เป็นแรงบันดาลใจให้คนหันมาสนใจธรรมะมากขึ้น อาตมาก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ อาตมาจึงยินดีเสมอเวลาที่มีคนมาขอสัมภาษณ์และขอถ่ายรูป เพราะว่าถ้ารูปของเราชักนำคนเข้าสู่ธรรมะได้ ก็ถือว่ามีประโยชน์ในตัวของมันเอง แต่ถ้าเรารู้ว่ารูปเป็นสิ่งสมมุติ และเรารู้จักใช้สมมุติชักนำคนเข้าสู่โลกแห่งธรรมะ นี่แหละคือศิลปะในการรู้จักใช้สมมุติ ถ้าใช้ศัพท์ในสไตล์ของอาตมาก็คือ “การยืมแสงดาวมาสกาวแสงธรรม”

ในชีวิตนี้ พระอาจารย์เคยล้มเหลวหรือทำอะไรผิดพลาดบ้างไหมคะ

ถ้าจะมีก็เรื่องเดียว คือตอนที่โยมแม่อยู่ อาตมาไม่เคยสอนให้ท่านเจริญวิปัสสนากรรมฐานแบบเป็นเรื่องเป็นราว อาตมารู้สึกเสียใจ เพราะตอนที่ท่านจะสิ้น ท่านนอนป่วยอยู่โรงพยาบาล 15 วัน อาตมาพยายามจะสอนท่านในวาระสุดท้ายแล้ว ท่านก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ท่านพูดขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า ลำพังแม่จะหายใจยังต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ แม่จะเอาแรงที่ไหนมาเจริญสติ อาตมารู้สึกว่าตรงนี้เป็นปมที่อยู่ในใจ และนั่นเป็นเหตุให้อาตมาฝันว่า อยากจะทำสำนักวิปัสสนากรรมฐาน จะได้ชวนคนมาเจริญสติก่อนที่นาทีสุดท้ายจะมาถึง ทั้งนี้ก็เพื่อชดใช้ให้แม่และให้แก่ตัวเองด้วย แต่ความรู้สึกนี้ก็อยู่ไม่นาน เพราะพอเราทำใจได้ เราก็เห็นว่าในชีวิตนี้ไม่มีใครได้ทั้งหมด ทุกคนจะได้บางอยางและก็เสียบางอย่าง แม่อาจจะไม่ได้เรียนรู้การเจริญสติจนรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมคำสอน แต่แม่ก็มีชีวิตที่แม่พอใจ ถึงขนาดก่อนจะสิ้นวันหนึ่ง เมื่ออาตมากลับไปเยี่ยมบ้าน แม่พูดกับอาตมาว่า “ลูก...ทุกวันนี้ในหมู่บ้านของเราไม่มีใครมีความสุขเท่าแม่” อาตมาจึงคิดว่า แม่อาจจะไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนถึงที่สุด แต่แม่ก็มีความสุขทางโลกิยะจนถึงที่สุด จึงพูดประโยคนี้ออกมา แค่นี้ก็พอแล้ว พอคิดได้อย่างนี้ อาตมาก็ไม่มัวนั่งเสียอกเสียใจหรือรู้สึกผิดอะไรอีกต่อไป เพราะท่านก็เสียไปแล้ว เมื่อสุดมือสอยก็ต้องปล่อยไป อาตมาก็เลยลืมความหลัง ตั้งต้นใหม่ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมาจนทุกวันนี้

สำหรับพระอาจารย์ เคล็ดลับการมีความสุขมาจนทุกวันนี้

การฝึกเจริญสติ ทำอะไรก็ตามฝึกตระหนักรู้ เรากำลังก้าวเดินอยู่ เมื่อกี้มันก้าวพรวดๆ อ้อ ! ขาดสติ นึกขึ้นมาได้ เดินใหม่ช้าลงอีกนิดหนึ่ง หลุดก็ทำใหม่ ทำไปเรื่อยๆ พยายามเติมความรู้สึกตัวเข้าไปทีละนิด ถ้าทำถูกเหตุถูกปัจจัยแล้ว จะเห็นพัฒนาการของมันโดยอัตโนมัติ คนเราจะไม่เปลี่ยนเพราะมีความรู้มาก แต่จะเปลี่ยนเพราะมีความรู้สึกตัวมาก ถ้าเมืองไทยมีคนมีความรู้สึกตัวมากเมืองไทยจะเจริญกว่านี้ เพราะถ้าแต่ละคนรู้สึกตัวอยู่เสมอคงจะไม่ทำร้ายประเทศไทยอย่างทุกวันนี้หรอก พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า “ถ้าเธออยากจะดูแลคนอื่นก็จงเริ่มต้นที่การดูแลตัวเอง เพราะการดูแลตัวเองคือการดูแลคนอื่น” การเจริญสติจึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของส่วนรวมและเป็นเรื่องของโลก

พระอาจารย์เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกเมื่อไร ไปประเทศไหนและรู้สึกตื่นเต้นบ้างไหมคะ

อาตมาเดินทางครั้งแรกเมื่อสิบปีที่แล้วมั้ง ไปดูงานพระศาสนาในประเทศจีน ตื่นเต้นบ้าง แต่ไม่มาก เพราะเราอ่านหนังสือมาก่อนพอสมควร ก่อนจะไปข้อมูลทั้งหมดอยู่ในหัวหมดแล้ว การเดินทางครั้งแรกอาตมารู้สึกเหมือนกบที่ได้ออกจากกะลา จนทุกวันนี้อาตมาก็คิดว่ากบอย่างอาตมาต้องออกจากกะลาเสมอๆ ดังนั้นเวลามีคนนิมนต์ไปต่างประเทศ ถ้าไม่ติดขัดอะไรจริงๆ อาตมาจึงพยายามจะรับนิมนต์ เพราะอาตมาเชื่อมั่นในพลังของการเดินทาง การเดินทางของความคิดนั้นเป็นการเดินทางที่ไม่รู้จบ ยิ่งเราเดินทางไกลออกไปเรียนรู้โลกมากเท่าไร การเข้าใจโลกจะลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น อาตมาคิดว่าพระสงฆ์ควรจะเดินทางบ้าง เพราะเมื่อเดินทาง โลกทัศน์ของท่านจะเปลี่ยนไป และเมื่อโลกทัศน์ของท่านเปลี่ยนไปแล้ว ท่านอาจมีศักยภาพในการเปลี่ยนโลกด้วย ฉะนั้นอาตมาจึงศรัทธาในการเดินทางและมีความสุขกับการเดินทางมาก เคยบอกกับตัวเองว่า ทุกครั้งที่เราออกเดินทางภายนอก การเดินทางภายในก็เริ่มต้นขึ้นด้วยเช่นกัน

เวลาที่เดินทางไปในที่ที่ธรรมชาติสวยงาม จะชื่นชมได้ไหมคะ เป็นการผิดพระวินัยไหม

ไม่ผิดจริงๆ ยิ่งบรรลุธรรมจะยิ่งเห็นความสวยได้มากกว่าชาวบ้าน คือ ชาวบ้านมองแค่ตาแต่ถ้าบรรลุธรรมแล้ว จิตจะยิ่งสัมผัสกับความละเมียดละไม ดอกไม้จะหอมกว่าปกติ ต้นไม้ก็จะเขียวขจีกว่าธรรมดา

ถ้าจิตมีความละเอียดขนาดนั้น จะเกิดเป็นกิเลสไหมคะ

ไม่ใช่กิเลส แต่ว่าเป็นสภาวะที่จิตหยั่งรู้ความลึกซึ้งของธรรมชาติ ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วจะมีสุนทรีภาพในหัวใจมากกว่าคนปกติ เพราะจิตจะละเอียดอ่อน ประณีต ในพระไตรปิฎกมีคัมภีร์หนึ่ง ชื่อคัมภีร์เถรคาถา คัมภีร์นี้รวบรวมคาถาหรือกวีนิพนธ์ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจของพระอรหันต์หลายร้อยรูป ซึ่งเมื่อบรรลุธรรมแล้วได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติก็พรรณนาถึงความงามออกจากจิตที่บริสุทธิ์ ท่านเหล่านี้เป็นคนไร้กิเลสทั้งนั้น แต่เนื่องจากว่าจิตไปกระทบกับธรรมชาติเป็นจิตที่บริสุทธิ์ก็พรรณนาขึ้นมา คำศัพท์พระเรียกว่าอุทานธรรม พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เปล่งอุทานธรรมเอาไว้จำนวนมาก มีผู้รวบรวมเอาไว้เป็นกวีพันธ์ 423 บท และกวีนิพนธ์ของพระพุทธเจ้าได้รับการแปลมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นยิ่งบรรลุธรรมสุนทรีภาพในหัวใจยิ่งมากขึ้น

ความรู้สึกเช่นนี้ต่างจากกิเลสอย่างไรคะ

คือถ้าพูดอย่างเห็นธรรมจะบอกว่า สวยนะ แล้วเราก็ทิ้งไปได้เลย เราเพียงแค่รับรู้หรือตระหนักรู้ แต่ความยึดติดถือมั่นและความหลงไม่เหลืออยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเคยตรัสเอาไว้ว่า ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วกับปุถุชนทั่วไป แม้จะยังคงเสพเสวยโลกด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกัน แต่ปฏิกิริยาต่อการเสพเสวยโลกไม่เท่ากัน ปุถุชนเสพเสวยโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วยึดติดถือมั่นปรุงแต่งทำให้เป็นทุกข์ ผู้รู้เสพสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ตระหนักรู้แล้วก็วาง ฉะนั้นดูภายนอกบางทีแทบไม่เห็นความต่าง แต่ภาวะภายในใจไม่เหมือนกัน

เวลาเดินทางไปต่างประเทศ พระอาจารย์ใช้สบงจีวรกี่ผืนคะ และในช่วงอากาศหนาวจัดๆ ทำอย่างไรคะ

อาตมามีจีวร 2 ผืน สบงคือผ้านุ่ง 2 ผืน แค่นั้นเอง แล้วก็ย่าม 1 ใบ ไม่ว่าจะไปที่ไหน อาตมาไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ บางครั้งใช้จีวรแค่ผืนเดียวตลอดการเดินทาง ผืนที่ใช้อยู่ตอนนี้ไปอเมริกากับอาตมาตั้ง 3 ครั้งแล้ว และก็ยังคงใช้จนถึงวันนี้ มีคนถวายจีวรอาตมาเยอะมาก ถ้าจะเก็บปีหนึ่งมีเป็นพันผืนนะ แต่อาตมาไม่ได้เก็บหรอก จีวรที่มีผู้ถวายมา อาตมานำไปถวายพระภิกษุสามเณรในชนบทที่ขาดแคลนสบงจีวรและเป็นพระนักศึกษา กลายเป็นว่าบุญของผู้ให้ยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะคุณตั้งใจจะทำบุญให้อาตมาเท่านั้นแต่อาตมาขยายบุญให้อีกต่อ ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นสบง จีวร แปรงสีฟัน หรือว่ารองเท้า อาตมาจะใช้จนถึงที่สุดทั้งหมดเลยไม่ใช่ว่านึกอยากจะอินเทรนด์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงนะ แต่เพราะอาตมาคำนึงถึงคุณค่าแท้มากกว่าคุณค่าเทียม มุ่งไปที่ประโยชน์ใช้สอยมากกว่าประโยชน์ใช้สวย
เวลาไปต่างประเทศ ถ้าอากาศหนาวก็จะมีชุดที่อุ่นๆ อยู่ข้างในแต่ว่าจะต้องเป็นชุดสุภาพสอดคล้องกับพระธรรมวินัย และเมื่อสวมใส่แล้วต้องไม่เป็นที่ระคายหูระคายตาของพุทธบริษัทญาติโยม รองเท้าก็ใส่รองเท้าแตะ และใส่ถุงเท้ายาว พระเถรวาทจะใส่หุ้มส้นเหมือนพระทิเบตไม่ได้ ต้องรักษาพระวินัยทั้งในเมืองไทยและเมืองนอก

เวลาเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์ต้องซักจีวรเองหรือเปล่าคะ

ในที่ที่ไม่มีลูกศิษย์ลูกหา อาตมาจะซักเอง ของใช้ส่วนตัวต่างๆ ถ้ามีเวลาอาตมาจะทำเองเสมอ ห้องน้ำยังคงล้างเอง ถ้าไม่มีใครดูแลอยู่ใกล้ชิด อาตมาจะปัดกวาดเช็ดถูกกุฎิวิหารเองทั้งหมดและมีความสุขมากที่ได้ทำด้วยตัวเอง เพราะจะได้รู้ว่าเราเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะอันที่จริงมนุษย์ทุกคนมาเดี๋ยวไปเดี๋ยวอยู่แล้ว ถ้าชีวิตของเราต้องขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก วันหนึ่งไม่มีสิ่งภายนอกให้พึ่ง เราจะเดือดร้อน พัดลมถ้าใช้อยู่แล้วพังไป อาตมาไม่ใช้ เลยก็มี เพราะอาตมาอยากรู้ว่า ถ้าไม่มีพัดลมแล้ว โลกของฉันจะเป็นอย่างไรล่าสุดอาตมาไปนำภาวนาที่แคนเบอร์รา ลูกศิษย์เตรียมทำพรีเซ็นเทชั่นประกอบการบรรยายไปเรียบร้อย แต่พอถึงเวลาจะใช้ ลูกศิษย์บอกว่าลืมไว้ที่ที่พัก อาตมาบอกไม่เป็นไร ตัวเรานี่แหละคือสื่อสอนธรรมที่ดีที่สุด ไม่ใช่คอมพิวเตอร์

ใครถามอะไรมา พระอาจารย์ก็ตอบได้หมด เคยมีคำถามไหนที่พระอาจารย์ตอบไม่ได้บ้างไหมคะ

ยังไม่มีนะรู้สึกว่าถามอะไรมาก็ตอบโต้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันใช้ได้ทั้งหมดนะ วันหนึ่งไปต่างประเทศด้วยกันกับ คุณสุทธิชัย หยุ่น (รายกาย ชีพจรโลก) เราตั้งวงถกปัญหากัน คุณสุทธิชัยบอกญาติโยมว่า ใครอยากถามอะไรถามมากเถอะไม่ต้องห่วง ผมยังไม่เคยเห็นพระอาจารย์ตอบปัญหาอะไรไม่ได้ อาตมาก็เลยบอกว่าอาตมาตอบได้หมด แต่ใช้ได้ไม่ได้เป็นเรื่องของโยม เลยได้ฮากันครืนทั้งคณะ

พระอาจารย์ต้องเจริญมรณานุสติอยู่เสมอ อยากทราบว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย พระอาจารย์จะเทศน์เรื่องอะไรคะ

อาตมาคิดว่าคง เทศน์ให้คนฝึกเจริญสติ ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าคือ ให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท นัยของความไม่ประมาทก็คือ อยู่อย่างมีสติ พระพุทธเจ้าเคยตรัสเอาไว้ ว่าในบรรดารอยเท้าของสัตว์เดียรัจฉาน รอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าที่ใหญ่ที่สุด รอยเท้าสัตว์รวมกันทุกชนิดรวมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมดฉันใด ในบรรดาองค์ธรรมทั้งหมด สติก็เป็นมารดาแห่งธรรมทุกข้อฉันนั้น เพราะฉะนั้นเทศนาสุดท้ายที่อาตมาอยากจะเทศน์คือเรื่อง ศิลปะของการดำรงชีวิตอย่างมีสติ

คัดลอกมาจาก : //www.kanlayanatam.com




 

Create Date : 12 ธันวาคม 2553   
Last Update : 12 ธันวาคม 2553 0:06:25 น.   
Counter : 967 Pageviews.  

เมื่อเรากลายเป็น “ของมัน” เรื่องโดย พระไพศาล วิสาโล

เคยสังเกตไหมว่า เวลาเพื่อนทำกระเป๋าเงินหาย เราสามารถสรรหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อช่วยให้เธอทำใจ (ยังดีที่ไม่เสียมากกว่านี้ ถือว่าใช้กรรมก็แล้วกัน เงินทองเป็นของนอกกาย ฯลฯ)

ในทำนองเดียวกัน เวลาเพื่อนอกหัก ถูกแฟนทิ้ง เราก็รู้ว่าควรจะพูดอย่างไรเพื่อให้เธอปล่อยวาง แต่เวลาเราประสบเหตุอย่างเดียวกัน กลับทำใจไม่ได้ เอาแต่เศร้าซึมจ่อมจมอยู่กับความสูญเสีย คำแนะนำดีๆ ที่ให้เพื่อน กลับมาใช้กับตัวเองไม่ได้ บ่อยครั้งก็นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าควรทำใจอย่างไร ใช่หรือไม่ว่าสาเหตุที่เราสามารถแนะนำเพื่อนได้อย่างฉาดฉาน ก็เพราะเงินของเพื่อน ไม่ใช่เงินของฉัน แฟนของเพื่อน ไม่ใช่แฟนของฉัน เราจึงไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเท่าใดนัก ปัญญาจึงทำงานได้เต็มที่ แต่เมื่อใดที่เหตุร้ายเกิดกับเงินของฉันหรือแฟนของฉัน อารมณ์จะท่วมท้นใจ จนนึกอะไรไม่ออก

ไม่มีอะไรที่จะทรงพลังเท่ากับคำว่า “ของฉัน” ไม่ว่าความวิบัติจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม หากมันไม่เกี่ยวข้องกับ “ของฉัน” เราก็ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาด้วย แต่ทันทีที่มีอะไรมากระทบกับ “ของฉัน” แม้เล็กน้อยเพียงใด มันกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที

หลายคนดูข่าวแผ่นดินไหวในอิหร่านที่มีคนตายนับแสนคนด้วยความรู้สึกเฉยๆ แต่จะขุ่นเคืองไปทั้งวัน เมื่อพบว่ารถของตนมีรอยขีดข่วนที่ตัวถัง

สาเหตุที่ผู้คนยอมเหนื่อยยากทำงานตัวเป็นเกลียว ก็เพื่อรักษาและเพิ่มพูน “ของฉัน” ให้มากที่สุด ความยึดอยากให้ทุกอย่างเป็น “ของฉัน” ทำงานอยู่ในส่วนลึกของจิตใจตลอดเวลา แม้เก้าอี้ในโรงภาพยนตร์ที่เพิ่งมานั่งได้ไม่กี่นาที เราก็เรียกว่า “เก้าอี้ของฉัน” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

แต่เราเคยสังเกตไหว่า ทันทีที่ยึดอะไรก็ตามว่าเป็น “ของฉัน” เราจะกลายเป็น “ของมัน” ไปทันที เราจะยอมทุกข์เพื่อมัน ถ้าใครวิจารณ์เสื้อของฉัน ตำหนิรถของฉัน เราจะโกรธและจะแก้ต่างให้มันบางครั้งถึงกับแก้แค้นแทนมันด้วยซ้ำ ถ้าเงินของฉันถูกขโมย เราจะทุกข์ข้ามวันข้ามคืนทีเดียว

คนจำนวนไม่น้อยยอมตายเพื่อรักษาสร้อยเพชรไว้ไม่ให้ใครกระชากเอาไป บางคนยอมเสี่ยงชีวิตฝ่าเปลวเพลิงที่กำลังลุกไหม้บ้าน เพราะกลัวอัญมณีจะถูกทำลายวายวอด ฉะนี้แล้วควรจะเรียกว่ามันเป็น “ของฉัน” หรือฉันต่างหากเป็น “ของมัน”

เป็นเพราะหลงคิดว่ามันเป็น “ของฉัน” ผู้คนทั้งโลกจึงกลายเป็น “ของมัน” ไปโดยไม่รู้ตัว มีชีวิตอยู่เพื่อมัน ยอมทุกข์ก็เพื่อมัน ทั้งๆที่รู้อยู่ว่ามีเวลาอยู่ในโลกนี้จำกัด แต่ใช้เวลาไปอย่างไม่เสียดายก็เพื่อมัน ซ้ำร้ายกว่านั้นหลายคนยอมทำชั่ว อกตัญญูต่อผู้มีพระคุณก็เพื่อมัน กลายเป็นว่าถูกมันใช้ ยิ่งกว่าเป็นผู้ใช้มัน

ยิ่งยึดมั่นว่าทรัพย์สินเป็นของฉัน เรากลับกลายเป็นทาสของมัน จิตใจนี้อุทิศให้มันสถานเดียว เศรษฐีนีเงินกู้คนหนึ่งเป็นโรคอัลโซเมอร์ในวัยชรา จำลูกหลานไม่ได้แล้ว แต่สิ่งเดียวที่จำได้แม่นก็คือสมุดจดบันทึกทรัพย์สิน ทุกวันจะหยิบสมุดเล่มนี้มาพลิกดูไม่รู้เบื่อ แม้ลูกหลายจะชวนสวดมนต์หรือฟังเทปธรรมะ ผู้เฒ่าก็ไม่สนใจ จิตใจนั้นรับรู้ปักตรึงอยู่กับเงินทองเท่านั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อสิ้นลมผู้เฒ่าจะนึกถึงอะไร และจะไปสุคติได้หรือไม่

ไม่ว่าจะมีเงินทองมากมายเพียงใด เมื่อตายไปก็ไม่มีใครเอาไปได้แม้แต่อย่างเดียว นั่นเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อทรัพย์สมบัติ แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ หากหวงแหนติดยึดมัน แม้กระทั่งในยามสิ้นลม มันก็สามารถฉุดลงอบายได้

ถ้าไม่อยากเป็น “ของมัน” ก็ควรถอนความสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็น “ของฉัน” การให้ทานเป็นวิธีการเบื้องต้นในการฝึกจิตให้ถอนความสำคัญมั่นหมายดังกล่าว ถ้าให้ทานอย่างถูกวิธี ไม่เพียงเป็นประโยชน์แก่ผู้รับเท่านั้น หากเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้

ประโยชน์ประการหลังมิได้หมายถึงความมั่งมีศรีสุขในอนาคตเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ช่วยลดความยึดติดในทรัพย์ “ของฉัน” แต่อานิสงส์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเราให้โดยไม่ได้หวังอะไรกลับคืนมา หากให้เพื่อมุ่งประโยชน์แก่ผู้รับเป็นสำคัญ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพระหรือไม่ก็ตามและเมื่อให้ไปแล้วก็ให้ไปเลย โดยไม่คิดว่าของนั้นยังเป็นของฉันอยู่ (หรือเฝ้ามองว่าทำไมหลวงพ่อยังไม่ฉันอาหาร “ของฉัน”)

การให้ทานและเอื้อเฟื้อเจือจานเป็นการสร้างภูมิต้านทานให้แก่จิตใจ ทำให้ไม่ทุกข์เมื่อประสบความสูญเสีย ในทางตรงข้าม คนที่ตระหนี่แม้จะมีความสุขจากเงินทองที่พอกพูน แต่หารู้ไม่ว่าจิตใจนั้นพร้อมที่จะถูกกระทบกระแทกในยามเสียทรัพย์ แม้จะเป็นเรื่องที่จำเป็นก็ตาม

ชาวอินเดียผู้หนึ่งเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวมาก วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากภรรยาว่าเธอปวดท้องและปวดศีรษะมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล หมอจึงสั่งตรวจเลือดและทำอัลตราซาวนด์เพราะเกรงว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ พอรู้เช่นนี้เขาจึงสั่งให้ภรรยารีบหนีออกจากโรงพยาบาลโดยไม่ต้องจ่ายอะไรทั้งสิ้น แล้วเขาก็โทรศัพท์ไปด่าหมอว่าเห็นแก่เงิน สั่งตรวจเลือดทำอัลตราซาวนด์โดยไม่จำเป็น หมอพยายามอธิบายอย่างไรเขาก็ไม่ยอมเข้าใจ

ต่อมาเขามีเหตุต้องเข้าโรงพยาบาลเดียวกันนั้นเพื่อผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เขาต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน เนื่องจากมีการติดเชื้อ ค่าใช้จ่ายจึงเป็นจำนวนมาก วันสุดท้ายที่เขาอยู่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินมาเก็บเงินจากคนไข้ถึงในห้อง ทันที่เขาเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายก็เกิดอาการช็อกและสิ้นลมคาเตียง

เงินนั้นมีไว้ใช้ แต่เมื่อใดที่เผลอใจกลายเป็นของมันไป มันก็สามารถทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตได้


คัดลอกมาจาก : //www.kanlayanatam.com




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2553   
Last Update : 11 ธันวาคม 2553 11:05:15 น.   
Counter : 569 Pageviews.  

อานาปานสติ โดยพระสุเมธาจารย์ (สุเมโธภิกขุ)

พวกเรามักจะมองข้ามสิ่งที่เป็นปกติธรรมดาไปเสีย
ลมหายใจของเรานั้นจะรู้สึกก็ต่อเมื่อเรามีอาการผิดปกติ
เช่น หืดหอบ หรือวิ่งจนเหนื่อย
ในการทำอานาปานสตินั้น เราเอาลมหายใจปกติธรรมดาของเรานี้เป็นเครื่องกำหนด
เราจะไม่พยายามไปทำให้มันยาวหรือสั้น หรือไปบังคับให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
แต่จะอยู่กับลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นปกติธรรมดาเท่านั้น
ลมหายใจไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะสร้างหรือจินตนาการขึ้นมา
มันเป็นไปตามธรรมชาติของร่างกายต่อเนื่องกันไปจนชีวิตจะหาไม่
จึงเป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอดชีวิต จะกลับไปดูเมื่อไรก็ได้
เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษหรือฉลาดล้ำเลิศแต่อย่างใดในการที่จะเฝ้าดูลมหายใจของเรา
เพียงแต่เราพอใจอยู่กับมันระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ก็เท่านั้น
อันสติปัญญาหรือความเฉลียวฉลาดนั้นมิใช่จะได้มาจากการเรียนรู้ทฤษฎีหรือปรัชญาอันสูงส่ง
แต่ได้จากการเฝ้าสังเกตสิ่งที่เป็นปกติธรรมดานี้เอง
ลมหายใจไม่มีลักษณะที่ตื่นเต้นระทึกใจ จนทำให้เรากระสับกระส่ายหรือหงุดหงิดแต่ประการใด
ใจของคนเรานั้นมักอยากจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอไป
อยากจะได้สิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจโดยไม่ต้องออกแรง
ถ้าเราได้ยินเสียงดนตรี เราคงไม่บอกกับตัวเราเองว่า ฉันจะตั้งอกตั้งใจฟังและจับจังหวะท่วงทำนองของเพลงนี้ให้จงได้
เราจะปล่อยใจของเราไปตามเสียงดนตรี เพราะเสียงเพลงมันไพเราะเย้ายวนชวนให้เราตามมันไป
ส่วนจังหวะของลมหายใจตามปกตินั้นไม่มีอะไรน่าจับใจเลย
มันสงบราบเรียบ แต่คนเราไม่เคยชินกับความสงบ
บางคนอาจจะบอกว่าชอบความสงบ แต่พอไปประสบเข้าจริง ๆ แล้วกลับไม่พอใจ
เพราะพวกเราชอบสิ่งที่ตื่นเต้นเย้ายวนใจมากกว่า
ในอานาปานสตินั้น เราอยู่กับสิ่งที่เป็นกลางๆ จะไม่รู้สึกชอบหรือไม่ชอบลมหายใจ
เวลาหายใจเข้า เราเพียงกำหนดรู้ต้นลม กลางลม และปลายลม
หายใจออกก็เช่นเดียวกัน กำหนดรู้ต้นลม กลางลม และปลายลม
จังหวะของลมหายใจเข้าออกเป็นไปอย่างเรียบๆ ช้าๆ ช้ากว่าจังหวะของความนึกคิด นำเราไปสู่ความสงบแล้วเราก็หยุดคิด
เราจะไม่ตั้งความมุ่งมาดปรารถนาว่าจะได้อะไรจากการทำสมาธิภาวนา
เช่น จะต้องได้ฌานขั้นนี้ขั้นนั้น
เพราะถ้าจิตมุ่งจะให้บรรลุถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว จิตจะไม่น้อมลงอยู่กับลมหายใจ จะไม่สงบ
แล้วเราจะมีแต่ความผิดหวัง ในขั้นต้นนั้น จิตของเราชอบเตร็ดเตร่เร่ร่อนไปตามเรื่องของมัน
เมื่อเรารู้ตัวว่ามันเคลื่อนออกไปจากลมหายใจ เราก็ค่อย ๆ ดึงมันกลับเข้ามา
เราต้องมีความพากเพียรและอดทนอย่างยิ่ง พร้อมเสมอที่จะตั้งต้นใหม่
จิตของเรานั้นไม่เคยชินกับการถูกจับให้อยู่นิ่ง
เคยแต่ถูกสอนให้เกี่ยวเกาะอยู่กับสิ่งต่างๆ เรื่อยมา
เคยชินอยู่กับการใช้ความคิดที่ตัวนึกว่าจะฉลาดหลักแหลม
แต่เมื่อไม่อาจจะทำอย่างนั้นได้ ก็จะเกิดความเครียด
ในการทำอานาปานสติ เราจะพบกับอุปสรรคเช่นที่กล่าวนี้
มันก็ไม่ต่างอะไรกับม้าป่า เมื่อถูกจับมาผูกและสวมบังเหียนครั้งแรก
มันจะโกรธและพยศอย่างยิ่งทีเดียว เวลาจิตของเราเคลื่อนออกไป
เราจะรู้สึกรำคาญ ท้อแท้ และเบื่อหน่ายไปหมด
ในสภาวะเช่นนั้น ถ้าเราใช้วิธีบังคับข่มจิตให้สงบ
มันจะสงบได้ชั่วครู่แล้วก็แส่ส่ายออกไปใหม่
การทำอานาปานสติที่ถูกวิธี เราต้องใจเย็นและอดทนอย่างยิ่ง ถือเสียว่ามีเวลาถมไป
ปล่อยวางภาระทุกอย่างทางบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือทรัพย์สินเงินทอง ในช่วงเวลานั้นเราจะไม่ทำอะไรเลย นอกจากนั่งเฝ้าสังเกตลมหายใจเข้าออก ถ้าจิตของเราเคลื่อนไปในระยะลมเข้า ก็เพ่งที่ลมเข้าให้มากสักหน่อย ถ้าเคลื่อนไปในระยะลมออก ก็เพ่งตรงนั้นเช่นกัน แล้วดึงมันกลับเข้ามา พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่เสมอไป
ทำใจให้เหมือนนักเรียนใหม่ วางสิ่งเก่าๆ เสียให้หมด เวลาจิตของเราเคลื่อนออกไป แล้วเราดึงกลับเข้ามาใหม่ ในช่วงนั้นแหละเป็นช่วงที่เรามีสติสัมปชัญญะ
เราฝึกจิตของเรา (ให้เหมือน) กับแม่ที่ดีฝึกลูกน้อยของเธอ เด็กเล็กๆ ยังไม่รู้อะไร เดินสะเปะสะปะไปตามเรื่อง
ถ้าแม่เอาแต่โมโหและเฆี่ยนตี เด็กจะกลัว แล้วกลายเป็นเด็กโรคประสาท
แม่ที่ดีจะเฝ้ามอง ถ้าเห็นเด็กเดินออกนอกลู่นอกทาง แม่ก็จะอุ้มกลับเข้ามา เราต้องใจเย็นและอดทนอย่างนั้น อย่างไปโกรธเกลียด ลงโทษตนเอง เกลียดลมหายใจ หรือเกลียดไปหมดทุกคน จนเกิดความรำคาญ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะไม่ได้ความสงบจากอานาปานสติ
บางครั้งเราเครียดเกินไป ไม่ร่าเริงผ่องใส ไม่มีแม้อารมณ์ขัน คอยแต่จะกดทุกอย่างลงไป จงทำใจให้เบิกบาน แต้มรอยยิ้มลงบนใบหน้าของท่าน ผ่อนคลายและทำใจสบายๆ ปราศจากความกดดันที่จะต้องได้อะไรเป็นพิเศษ ไม่มีอะไรวิเศษพิสดารเลย
ท่านไปคุยได้ไหมว่า วันนี้ท่านได้ทำอะไรบ้างที่พอจะคุ้มค่าข้าวที่รับประทานเข้าไป เพียงมีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าเฮือกเดียวเท่านั้นหรือ ฟังแล้วมันน่าขำสิ้นดี
แต่นั่นแหละ ท่านยังได้ทำมากกว่าที่คนอื่นเขาไปคุยโม้ว่าได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เสียอีก เราไม่ต้องไปต่อสู้ฟาดฟันกับมารร้ายที่มาคอยผจญ
ถ้าท่านรู้สึกเบื่อหน่ายการทำอานาปานสติ ก็จงกำหนดรู้ถึงความรู้สึกอันนั้นไว้ด้วย อย่าไปคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ แต่จงให้มันเป็นเรื่องเพลิดเพลิน ทำด้วยความยินดีสนุกสนาน เมื่อท่านคิดว่าทำไม่ได้ก็ให้กำหนดรู้ไว้ว่านั่นคือเครื่องกีดขวาง เป็นนิวรณ์ เป็นความกลัวหรือความท้อแท้ กำหนดรู้แล้วก็ผ่อนคลายลงไป
อย่าทำให้การฝึกนี้เป็นเรื่องยาก หรือถือว่าเป็นภาระหนัก เมื่ออาตมาบวชใหม่ๆ อาตมาเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง จนดูเหมือนกับท่อนไม้แห้งตายซากท่อนหนึ่ง ตกอยู่ในสภาพอันน่าทุเรศ เพราะไปคิดว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้อยู่เรื่อยไป
ต่อมา อาตมาก็เรียนรู้ที่จะหยิบยกเอาความสงบขึ้นมาพิจารณา เมื่อความสงสัยลังเลใจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความไม่พอใจ ความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น อาตมาก็ยกเอาความสงบขึ้นมาพิจารณาท่องคำนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก สะกดจิตของอาตมาให้ผ่อนคลายลงไป ความสงสัยตนเองเกิดขึ้นมาอีก เช่นว่า
“นี่เรามาทำอะไรอยู่ ไม่เห็นไปถึงไหน ไม่เห็นได้อะไร เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ จะต้องได้อะไรสักอย่างหนึ่งสิ” เป็นต้น
แต่แล้วอาตมาก็อยู่กับความรู้สึกเช่นนั้นด้วยความสงบ นี้เป็นวิธีหนึ่งที่ท่านอาจจะลองนำไปปฏิบัติดู คือ เมื่อเราเครียด เราก็ผ่อนคลายลงเสีย แล้วเริ่มทำอานาปานสติต่อไปใหม่ ตอนแรกๆ เราจะรู้สึกตัวว่างุ่มง่ามเหมือนกับเราเริ่มหัดดีดกีตาร์ นิ้วมันแข็งทื่อเทอะทะสิ้นดี แต่พอเราฝึกไปเรื่อย เราก็ชำนาญขึ้น จนกลายเป็นเรื่องง่ายไป
เราเรียนรู้ที่จะมองดูว่า กำลังมีอะไรเกิดขึ้นในจิตของเรา เมื่อมีความง่วงเหงา ความฟุ้งซ่านซัดส่าย หรือมีความเครียด เราก็กำหนดรู้ เพียงแต่รู้ไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปยุ่งอะไร ให้มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ว่ามันเป็นของมันอย่างนั้น
เราทำความเพียรอยู่กับลมเข้าลมออกไปเรื่อยๆ หากกำหนดไม่ได้ ตั้งแต่ต้นลมจนปลายลม ทำได้เพียงครึ่งเดียวก็ยังดี คือเราไม่มุ่งหวังจะให้มันถูกต้องครบถ้วนในทันทีทันใดนั้น เราค่อย ๆ ทำไป ค่อย ๆ แก้ไขไป ถ้าขณะที่จิตแส่ส่ายออกไป แล้วเราสามารถมีสติตามรู้ว่ามันไปที่ไหนบ้าง ขณะนั้นแหละเรียกว่าเรามีปัญญาเห็นแจ้ง
ถ้าไปคิดว่าจิตไม่ควรจะเร่ร่อนออกไป เกิดชังตนเอง เกิดความท้อถอย ซึ่งก็มักจะเป็นกันเช่นนั้น นั่นแหละคือความโง่เขลา ถ้าเราจะฝึกโยคะ เราคงไม่เริ่มต้นด้วยท่าที่รุนแรงอย่างพวกหัตถโยคี ดังที่ท่านเคยเห็นในหนังสือ เช่น เอาขาขึ้นมาพันคอ เป็นต้น หากเราพยายามทำอย่างนั้น เขาคงต้องหามเราเข้าโรงพยาบาลเป็นแน่ เราคงจะเริ่มด้วยวิธีง่าย ๆ ไปก่อน ค่อยฝึกค่อยเรียนไปทีละขั้น
อานาปานสติก็เช่นกัน บัดนี้เรารู้วิธีบ้างแล้ว เราก็เริ่มตรงนั้นและค่อยๆ ทำความเพียรไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเข้าใจว่าสมาธิเป็นอย่างไร เมื่อท่านไม่ใช่ซุปเปอร์แมนก็อย่าทำตัวเป็นซุปเปอร์แมน อย่าไปพูดว่า “ฉันจะนั่งตรงนี้ และเฝ้าดูลมหายใจของฉันตลอดทั้งคืน” ถ้าพูดอย่างนั้นแล้วเกิดทำไม่ได้ ท่านจะขัดเคืองใจ
กะเวลาเท่าที่ท่านพอจะทำได้ ค่อย ๆ ฝึกไป จนท่านรู้ได้เองว่าจะทำความเพียรไปแค่ไหน และเมื่อไรจึงจะหยุดพักผ่อน คนเราจะเดินได้ก็ต้องหกล้มหกลุกมาก่อน ดูเด็กสิ อาตมายังไม่เคยเห็นเด็กตัวน้อย ๆ คนใดที่อยู่ๆ ก็ลุกขึ้นเดินได้ทันที เด็กจะหัดคลานก่อนและเกาะโน่นเกาะนี่ พยุงตัวขึ้นมา ล้มลงไปแล้วก็พยุงตัวขึ้นมาใหม่ จิตภาวนาก็เป็นเช่นนั้น เราจะฉลาดขึ้นมาได้ก็ด้วยสังเกตดูความโง่เขลา ดูความผิดพลาดที่ได้เคยทำไป นำมาพิจารณาทบทวน แต่อย่าไปคิดถึงมันให้มากจนเกินไป เพราะจะกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์
ถ้าเด็กคิดมากเกินไปก็คงหัดเดินไม่ได้ เราจะไม่คิดอะไรมาก เพียงแต่ทำความเพียรไปเรื่อยๆ ในขณะที่เรากำลังมีความกระตือรือร้นและศรัทธาอย่างแรงกล้าในตัวท่านอาจารย์และคำสอนของท่าน ขณะนั้นอะไรๆ ดูมันง่ายไปหมด แต่ความกระตือรือร้นอย่างแรงกล้านั้นมันไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง แล้วจะนำไปสู่ความเบื่อหน่าย และเมื่อเราเบื่อ เราก็ผละไปหาสิ่งที่ตื่นเต้นเร้าใจแทน
จะเกิดปัญญาหรือความเห็นแจ้งได้ เราต้องมานะอดทน ปลดเปลื้องความเห็นผิดออกไป วิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่จะสามารถจะระงับความคิดตามนิสัยเดิมของเรา และทำให้เราได้รู้ได้สัมผัสกับความเงียบสงบและความว่างแห่งจิต ถ้าไปอ่านหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นไปเองตามธรรมชาติของมัน โดยไม่ต้องไปพยายามดิ้นรนขวนขวายแต่อย่างใด แล้วเราก็มาคำนึงว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย นอนเอกเขนกขี้เกียจไปตามเรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะตกอยู่ในสภาพที่เซื่องซึมเฉื่อยชา
ในการปฏิบัติของอาตมา เมื่อใดที่รู้สึกตัวว่าเซื่องซึมไป อาตมาจะหันมาให้ความสำคัญในการเปลี่ยนอิริยาบถเสียใหม่ คือจะยืดตัวให้ตรงเชิดอกขึ้นและเพิ่มพลังในท่านั่ง แม้จะทำได้ในระยะสั้นเพียงไม่กี่นาที ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ยิ่งเราเลือกเอาทางที่ไม่มีอุปสรรคหรือเอาแต่ของง่าย ๆ มากเท่าใด เราจะยิ่งตามอารมณ์ ตามตัณหาของเรามากเท่านั้น
การจะนั่งลงแล้วคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลานั้น มันง่ายกว่านั่งลงแล้วไม่คิด เพราะเราติดนิสัยอย่างนั้นมานานแล้ว แม้ความคิดที่ว่า “จะไม่คิด” มันก็ยังเป็นความคิดอย่างหนึ่งอยู่ดี ถ้าจะไม่คิดเราต้องมีสติ แล้วเพียงเฝ้าสังเกตและฟังการเคลื่อนของจิต แทนที่จะคิดเรื่องจิต เราจะเฝ้าดูมัน และแทนที่จะไปติดอยู่กับความคิดความฝัน เราจะรู้ทันมัน ความคิดเป็นการเคลื่อนไหว เป็นพลังผ่านมาแล้วก็ผ่านไปไม่เที่ยง เราเพียงแต่รู้ไว้ว่าความคิดก็เป็นเพียงความคิดโดยไม่ต้องไปประเมินคุณค่าหรือแยกแยะแต่ประการใด แล้วมันจะเบาบางลงไปและจะระงับไปในที่สุด
นี้ไม่ได้หมายความว่าจงใจไปประหัตประหารมัน แต่ยอมให้ระงับไปเอง เป็นลักษณะของความเมตตา นิสัยที่ชอบคิดจะเหือดหายไป ความว่างอันไพศาลชนิดที่ไม่เคยประสบมาก่อนก็จะปรากฏแก่ท่าน
การที่เราสำรวมจิตโดยมีสติกำหนดที่ลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาตินั้น เรียกว่า ‘สมถะ’ หรือความสงบ จิตจะหายพยศไม่แข็งกระด้างอ่อนละมุนดัดง่าย และลมหายใจก็จะละเอียดประณีตเข้าทุกขณะ เราจะให้สมถกรรมฐานของเราอยู่ในขั้นที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ (สมาธิจวนจะแน่วแน่) ไม่พยายามมุ่งเข้าสู่สมาธิในขั้นฌาน ในขณะนั้นเรายังมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ จิตที่วุ่นวายเร่าร้อนจะระงับลงไป แต่เรายังใช้สติปัญญาได้ เราใช้สติปัญญาที่มีอยู่พิจารณามองให้เห็นธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงที่เราประสบมา ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง ทนได้ยาก ไม่มีตัวตน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ เราพิจารณาต้นลมและปลายลม เฝ้าดูที่ต้นลม อย่าไปคิดอะไร เพียงแต่เฝ้าดูเฉย ๆ ทำความรู้อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ร่างกายมีการหายใจซึ่งเป็นไปเอง ลมเข้าทำให้มีลมออก และลมออกทำให้มีลมเข้า เราควบคุมมันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้เรียกว่า เราเจริญวิปัสสนา
ความรู้ที่เราได้จากการเจริญจิตภาวนาตามพุทธวิธีนั้นเป็นความรู้ชนิดอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านอาจารย์ชามักเรียกว่าเป็นความรู้ของไส้เดือน คือไม่ทำให้ท่านหยิ่งผยองพองขน ไม่ทำให้รู้สึกว่าได้อะไรหรือบรรลุอะไร ในทางโลกนั้นการฝึกชนิดนี้ดูจะไม่สำคัญหรือจำเป็น ไม่มีใครไปพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “เวลาสองทุ่มเมื่อคืนนี้ ท่านสุเมโธได้ลมหายใจเข้าไปเฮือกหนึ่ง” หลายคนชอบนั่งคิดว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาโลกได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรจึงจะช่วยประชาชนในโลกที่สามได้ ทำอย่างไรจะให้โลกนี้มันดีมันถูกต้อง เมื่อเราเอาสิ่งเหล่านี้มาเทียบกันดูแล้ว การเฝ้าสังเกตลมหายใจของเราไม่น่าจะสำคัญแต่อย่างใดเลย
บางคนคิดว่าไปเสียเวลาทำไม มีคนมาพูดกับอาตมาในเรื่องนี้ว่า
“พระพวกนี้มานั่งทำอะไรกัน ได้ทำอะไรในทางช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์บ้าง พวกท่านเห็นแก่ตัว คอยแต่จะให้คนเอาอาหารมาให้กิน ส่วนท่านเอาแต่นั่งเฝ้าดูลมหายใจ ท่านหนีหน้าจากโลกอันแท้จริง”
แต่แล้วโลกอันแท้จริงที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่ จริง ๆ แล้วใครเป็นคนหนีและหนีจากอะไร และอะไรล่ะคือสิ่งที่เราจะต้องสู้หน้า เราพบว่าโลกอันแท้จริงที่เขาว่านั้นคือ โลกแห่งความเชื่อของเขา โลกที่เขาถูกผูกตรึงอยู่ หรือโลกที่เขารู้จักคุ้นเคย แต่โลกอย่างนั้นเป็นสภาวะอย่างหนึ่งของจิต
จิตภาวนาเป็นการเผชิญหน้ากับโลกที่แท้จริง คือรู้จักและยอมรับตามที่มันเป็นจริง ไม่ใช่ไปเชื่อหรืออ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา
โลกที่แท้จริงนั้นดำเนินไปตามรูปแบบของการเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เช่นเดียวกับลมหายใจ เราไม่ได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง หรือไปคว้าเอาทรรศนะทางปรัชญาจากที่อื่นมาอ้างเป็นเหตุผล แต่ดูความเป็นไปของธรรมชาติได้โดยการเฝ้าดูลมหายใจของเรา เมื่อเราเฝ้าดูลมหายใจก็เท่ากับเฝ้าดูธรรมชาติ และเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของลมหายใจ เราก็เข้าใจธรรมชาติของสังขารทั้งหลาย
ถ้าเราจะพยายามทำความเข้าใจกับสภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งในแง่มุมอันหลากหลายแล้วละก็ จะเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งเกินกำลังที่จิตของเราจะทำได้ เราจึงเรียนรู้จากของง่ายๆ อย่างนี้ ด้วยจิตที่สงบ เราจะรู้ถึงลักษณะที่เป็นวงจร คือเราเห็นว่ามีเกิดก็มีดับ
วงจรนี้เรียกว่า ‘สังสาระ’ หรือเวียนเกิดเวียนตาย เราสังเกตเห็นสังสารวัฏของลมหายใจ เราหายใจเข้าแล้วหายใจออก จะหายใจเข้าหรือออกแต่อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันอิงกันอยู่ มันคงน่าขันสิ้นดีถ้าไปคิดว่า
“ฉันต้องการแต่ลมหายใจเข้าอย่างเดียวไม่เอาลมหายใจออก ชีวิตของฉันจะอยู่กับลมหายใจเข้าอย่างเดียวเท่านั้น”
ถ้าอาตมาพูดอย่างนี้กับท่าน ท่านคงคิดว่าอาตมาเป็นบ้าไปแล้ว แต่คนส่วนใหญ่เขาทำอยู่อย่างนั้น ดูเถอะว่าพวกเราโง่เขลาเพียงใด ในเมื่อเขาต้องการเกาะติดอยู่กับความตื่นเต้นเร้าใจ ความเพลิดเพลินสนุกสนาน ความเป็นหนุ่มเป็นสาว ความสวยความงาม ความแข็งแรงกระฉับกระเฉงแต่เพียงด้านเดียว มันเป็นความบ้าบอแบบเดียวกับที่ท่านได้ยินอาตมาพูดข้างต้นว่า ต้องการแต่ลมหายใจเข้าอย่างเดียว
เมื่อเราได้เห็นแล้วว่า การยึดมั่นอยู่กับความสวยงาม ความลุ่มหลง ความเพลิดเพลินในกามคุณ จะนำเราไปสู่ความผิดหวังในที่สุดเช่นนี้แล้ว ท่าทีของเราก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจงใจจะประหัตประหาร แต่จะปล่อยวางไปเฉยๆ ไม่เกี่ยวเกาะอีกต่อไป ไม่เสาะแสวงหาความครบถ้วนสมบูรณ์ในส่วนใดส่วนหนึ่งของวงจร แต่มองให้เห็นว่าความครบถ้วนสมบูรณ์นั้นอยู่ในวงจรทั้งวงจร ซึ่งมีชรา พยาธิ มรณะอยู่ในนั้นด้วย
อะไรก็ตามที่เกิดมาจากความว่าง เมื่อขึ้นสู่สุดยอดแล้ว จะตกกลับมายังความว่างนั้นอีก และนี่คือความครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อเราเริ่มเห็นสังขารทั้งหลายมีลักษณะเกิดดับ เกิดดับ อยู่เช่นนั้น เราก็จะตั้งต้นก้าวไปสู่สภาพที่ปราศจากการปรุงแต่ง คือความสงบแห่งจิตและความเงียบ เราจะเริ่มสัมผัสกับสุญญตาหรือความว่าง ซึ่งมิได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย แต่เป็นความใสสว่างและความเงียบที่ก้องกังวาน แทนที่จะหันไปสู่สภาพที่เกิดจากการปรุงแต่งของลมหายใจและจิต เราจะหันไปสู่ความว่าง เราจะมองเห็นซึ้งถึงสภาวะเหล่านั้น และจะไม่ตามืดหลงไปมีปฏิกิริยาตอบโต้กับมันอีกต่อไป
มันมีอยู่อย่างนี้ คือสภาพที่เกิดจากการปรุงแต่ง สภาพที่ปราศจากการปรุงแต่ง และความรู้แจ้ง ที่ว่าความรู้แจ้งนั้นคืออะไร เป็นความทรงจำใช่ไหม เป็นความรู้สึกตัวใช่ไหม หรือว่าเป็นเรา อาตมาหาคำตอบให้ไม่ได้ แต่อาตมารู้จักได้
ในการปฏิบัติจิตภาวนาทางพุทธศาสนานั้น เราอยู่กับความรู้อันนี้ รู้อยู่ ตื่นอยู่ เบิกบานอยู่ เป็นพุทธะอยู่ในปัจจุบันนั้น รู้ว่ามีเกิดก็มีดับ ไม่มีตัวตน เรานำความรู้แจ้งนี้มาใช้กับทุก ๆ สิ่ง ทั้งที่เกิดจากการปรุงแต่ง และที่ไม่มีการปรุงแต่ง มันเป็นเรื่องนอกเหตุเหนือผล เหนือพ้นความเข้าใจ เราตื่นอยู่ ไม่หลีกหนีไปไหน และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญนี่เอง เรามีอิริยาบถสี่ คือ นั่ง ยืน เดิน นอน ไม่ต้องไปใช้ท่าเอาก้นชี้ฟ้า หรือหกคะเมนตีลังกา เราใช้อิริยาบถทั้งสี่นี้กับลมหายใจเข้าออกธรรมดานี่เอง เพราะเรากำลังเคลื่อนไปสู่สิ่งที่เป็นธรรมดาสามัญ ไม่มีการปรุงแต่ง สภาพที่เกิดจากการปรุงแต่งมันผิดธรรมดา มันพิเศษออกไป แต่ความสงบแห่งจิตนั้นไม่มีการปรุงแต่ง เป็นของธรรมดาๆ จนคนไม่อาจสังเกตได้ มันมีของมันอยู่แล้วตลอดเวลา
ที่เราไม่อาจสังเกตได้ ก็เพราะเราไปเกาะเกี่ยวเหนี่ยวหน่วงอยู่กับสิ่งที่ลึกลับและน่าตื่นเต้นเร้าใจ บัดนี้ด้วยความรู้แจ้งเช่นนั้น เรากลับไปสู่จุดเดิมในจิตภาวนา คือความสงบระงับ เราเข้าใจได้ว่า โลกนี้มันก็เป็นของมันอย่างนั้น เราจะไม่ถูกหลอกให้หลงอีกต่อไป ความประจักษ์แจ้งในสังสารวัฏนำไปสู่ความเห็นแจ้งในนิพพาน
ความรู้แจ้งของพระพุทธเจ้ามีอยู่สองอย่าง คือ รู้แจ้งในสภาพที่เกิดจากการปรุงแต่ง และที่ปราศจากการปรุงแต่ง รู้ถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ปราศจากอุปาทาน ในขณะนี้เองเรารู้สภาพของจิต รู้สึกขณะเราได้เห็น ได้ยิน ได้รู้รส ได้กลิ่น และได้นึกคิด ตลอดจนรับรู้ความว่างแห่งจิต ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นคำสอนที่ตรง การฝึกปฏิบัติของเรามิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้สำเร็จบรรลุมรรคผลอันใด แต่เพื่อให้รู้แจ้งในปัจจุบันขณะเท่านั้น




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2553   
Last Update : 10 ธันวาคม 2553 18:27:44 น.   
Counter : 549 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Crescent-Norther-Star
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Crescent-Norther-Star's blog to your web]