เจอทุกข์แต่ไม่ทุกข์ โดย พระไพศาล วิสาโล


คนเราจะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องรู้จักทุกข์ ถ้าเรารู้จักทุกข์แล้วจะพ้นทุกข์ได้
แต่ถ้าเราไม่รู้จักทุกข์ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดปัญญาพาใจให้พ้นทุกข์ได้เลย แล้วเราจะรู้จักทุกข์ได้อย่างไร?
(ก็ต้องเจอทุกข์บ่อยๆ) เหมือนเราเล่นฟุตบอล เราเจอคู่ต่อสู้ที่เก่งและแกร่งมาก
วิธีที่เราจะเอาชนะทีมนี้ได้คือต้องเล่นกับเขาบ่อยๆ เล่นบ่อยๆ จนรู้ทางและรู้จุดอ่อนของเขา

ความทุกข์ไม่ว่าจะมีจุดแข็งแค่ไหน? ก็ต้องมีจุดอ่อนที่เราสามารถจะรู้ได้
หรือสามารถจะรู้ทางกันได้ เมื่อเรารู้ทางแล้วก็สามารถเอาชนะได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญา
ใหม่ๆ ก็ต้องยอมแพ้ สู้เขาไม่ได้ก็แพ้ไป เมื่อแพ้แล้วก็ไม่ได้คร่ำครวญ แต่มาใคร่ครวญว่าแพ้เพราะอะไร
จนกระทั่งรู้ว่าเป็นเพราะเรามีจุดอ่อนอย่างนี้ ๆ และใคร่ครวญจนเห็นจุดอ่อนของเขาด้วย
ความทุกข์ก็มีจุดอ่อน ถ้าเรารู้จักจุดอ่อนของมัน เราก็สามารถจัดการเป็นนายความทุกข์
ไม่ใช่เป็นทาสของความทุกข์

หลวงพ่อคำเขียนอุปมาเหมือนกับช้างหรือควาย ตัวมันใหญ่ แรงมันเยอะมาก
มนุษย์เราสู้ไม่ได้เลยถ้าพูดถึงพละกำลัง แต่ทำไมมนุษย์เราถึงสามารถล่ามควายได้?
ทำไมเราถึงสามารถควบคุมช้างได้? ช้างยอมให้เราขึ้นไปอยู่บนหลังและสามารถควบคุมมันได้เพราะเหตุใด?
ควายก็มีจุดอ่อนตรงจมูก ถ้าเอาเชือกสนตะพายได้มันก็อยู่ในอำนาจของเรา ช้างก็มีจุดอ่อนเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่ากลัวล้วนมีจุดอ่อน ความทุกข์ก็มีจุดอ่อน จุดอ่อนอยู่ที่ไหน?
จุดอ่อนอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเรารู้ทุกข์เมื่อไหร่? มันก็หมดฤทธิ์พิษสงทันที
มันพ่ายแพ้ต่ออาการรู้ เหมือนกับโจรกำลังจะเข้าบ้าน ถ้าเจ้าบ้านเห็นโจร
โจรก็หนีกระเจิง ความทุกข์มันมีจุดอ่อนอย่างนี้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรกลัวความทุกข์ เวลาเจอความทุกข์หรือเจอปัญหา ก็อย่าปฏิเสธผลักไส
ที่จริงหากสบายมากไปก็ควรพาตัวเข้าหาความทุกข์หรือความยากลำบากบ้าง
อย่าลืมว่าทุกข์ไม่ได้มีไว้ให้คร่ำครวญหรือโวยวาย
ทุกข์มีไว้ให้ใคร่ครวญ ทุกข์มีไว้เพื่อฝึกให้เราเข้มแข็ง
แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีสติ โดยเฉพาะการหมั่นรู้ใจดูใจของเรา

คนเรามักจะมองออกไปนอกตัว ซึ่งบ่อยครั้งก็จำเป็นเพราะความทุกข์ของคนเรา
มักจะมาจากสิ่งภายนอก ธรรมชาติจึงให้อายตนะมาถึง ๕ อย่างเพื่อให้เรารอดพ้นจากอันตราย
ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราเผลอได้

มีเรื่องเล่าว่ามีหัวขโมยกับเศรษฐี บังเอิญต้องมานอนพักค้างแรมในโรงเตี๊ยมเดียวกันอยู่หลายวัน
ช่วงนั้นมีงานจาริกแสวงบุญ ทั้งสองคนหาที่พักไม่ได้เลยต้องมานอนอยู่ในห้องเดียวกัน
หัวขโมยก็เล็งเอาทรัพย์จากเศรษฐี ทุกเย็นเมื่อถึงเวลาอาหาร หัวขโมยจะออกอุบาย
บอกเศรษฐีว่าคุณลงไปกินอาหารก่อนนะ ผมขออาบน้ำก่อน พอเศรษฐีลงไปกินอาหาร
หัวขโมยก็จะออกมาจากห้องน้ำและเริ่มค้นกระเป๋าของเศรษฐี รวมทั้งค้นใต้เตียง ใต้หมอน ของเศรษฐี
เพราะเชื่อแน่ว่าเศรษฐีต้องซ่อนเงินเอาไว้ เนื่องจากเศรษฐีใส่ชุดลำลองออกไป
ไม่น่าจะพกเงินไปได้ แต่หัวขโมยก็ไม่เจอเงิน

วันรุ่งขึ้นก็ใช้อุบายเดียวกันนี้ เศรษฐีว่าง่าย ลงไปกินอาหาร ส่วนขโมยก็ลงมือค้นหาเงินของเศรษฐีอีก
ทำอย่างนี้อยู่ ๓ วันไม่เจอเงินเลย จึงกลัดกลุ้มใจว่าเป็นไปได้อย่างไร? เศรษฐีก็ไม่ได้เอาเงินลงไป
เมื่อเศรษฐีจะออกจากโรงเรียน ขโมย จึงถามเศรษฐีตรงๆ ว่า ช่วยบอกทีเถอะว่า คุณเอาเงินไปซ่อนไว้ที่ไหน?
พร้อมกันนั้นก็สารภาพว่าตัวเองเป็นหัวขโมย อยากจะรู้จริงๆ
เศรษฐีก็เฉลยว่า “ตอนคุณเข้าห้องน้ำ ผมก็เอาเงินไปไว้ใต้หมอนของคุณ”
คำตอบของเศรษฐีเป็นสิ่งที่ขโมยไม่เคยคิดมาก่อน ขโมยค้นทุกจุดเลยนะ
แต่จุดเดียวที่ลืมค้นก็คือใต้หมอนใต้เตียงของตัว เป็นเพราะอะไร?
มันสะท้อนธรรมชาติของคนเรา คือ เรามักจะมองข้ามสิ่งใกล้ตัว ยิ่งใกล้ตัวที่สุดก็ยิ่งมองข้าม
สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไม่ได้หมายถึงสิ่งของหรือคนที่อยู่ใกล้ตัวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งที่อยู่ในตัวด้วย
และสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือจิตใจ คนเรามักมองข้ามจิตใจของตัวเอง
ดังนั้น เวลาเรามีความทุกข์ เราจะมองไปที่ภายนอกว่าเป็นตัวการทำให้เราทุกข์
แต่เราไม่ค่อยหันมาดูใจของเราเท่าไร ว่าใจของเราต่างหากที่เป็นตัวการ เวลาเราปวด
เวลาเราเจ็บ เราก็จะโทษสิ่งภายนอก โทษถนน โทษแดด โทษคนที่อยู่ข้างๆ โทษคนที่อยู่ข้างหน้า
แต่เราลืมดูใจของเราที่กำลังบ่น งอแง โวยวาย หงุดหงิด ใจอย่างนี้ต่างหาก ที่ทำให้คนเราทุกข์มากกว่าอย่างอื่น

เวลามีอะไรมากระทบใจ หรือกระทบกาย ไม่ใช่ว่าเราทุกข์ทันที
มันจะมีข้อต่อตรงกลางที่เป็นสะพานให้ความทุกข์เข้ามาถึงใจ
เวลาเจอแดด เจอฝน เจอเสียงดัง เราไม่ได้ทุกข์ทันที มันต้องผ่านข้อกลางหรือสะพานก่อน
ข้อกลางหรือสะพานนั้นคืออะไร ถ้าพูดอย่างง่ายๆ คือความหลงลืม ความไม่มีสติ
เมื่อไม่มีสติ เวลามีอะไรมากระทบมันก็แล่นตรงไปถึงใจทันที ทำให้ทุกข์

เคยเล่าเรื่องหลวงปู่บุดดา ถาวโรแล้ว มีเสียงดังจากห้องข้างเคียง ทำให้ลูกศิษย์รำคาญ หงุดหงิด
เพราะรบกวนหลวงพ่อที่กำลังจำวัด ลูกศิษย์จึงบ่นออกมาว่า เดินเสียงดังจัง หลวงพ่อแม้จะหลับแต่ก็ได้ยิน
จึงพูดเบา ๆ ว่า “เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง”
เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเพราะอะไรเพราะเราไม่มีสติ เมื่อเสียงเกี๊ยะมากระทบหู เราไม่ได้ทุกข์ทันที
มันต้องมีความหลงลืมเกิดขึ้นก่อน ความทุกข์ถึงจะเดินไปถึงใจได้
แต่ถ้าเรามีสติ ก็เหมือนกับเรากำลังชักสะพานออก เหมือนกับว่าข้อตรงกลางมันหลุด
เสียงที่มากระทบก็ไม่สามารถกระเทือนไปถึงใจได้ เมื่อสะพานถูกชักออกแล้ว มันก็ไม่สามารถเข้ามาถึงใจได้

สตินั้นสำคัญมาก สติก็คือใจของเรานี่แหละ เราต้องหัดมาดูใจของเรา แล้วชีวิตเราจะง่ายขึ้น จะทุกข์น้อยลง
การดูใจเป็นสิ่งที่ทำกันได้ ฝึกฝนกันได้แม้แต่เด็กๆ มีเด็กชายคนหนึ่งชื่อปลาวาฬอายุแค่ ๔ ขวบ
วันหนึ่งถูกแม่ดุ ธรรมดาเด็กเวลาถูกแม่ดุก็มักเถียงแม่หรือแสดงอาการฮึดฮัด
แต่ปลาวาฬไม่ทำอย่างนั้น พอถูกแม่ดุ ปลาวาฬก็เดินออกไปทันที แม่สงสัย ถามปลาวาฬว่าจะไปไหน
ปลาวาฬตอบว่า “ไปสงบสติอารมณ์” ปลาวาฬรู้ดีว่าตอนนี้กำลังอารมณ์ไม่ดี
ถ้าคนปกติเมื่ออารมณ์เสีย ก็ไม่คอยรู้หรอกว่าอารมณ์เสีย คิดแต่จะระบายอารมณ์ใส่คนอื่น
เช่นระบายใส่แม่ แต่ปลาวาฬรู้ว่าตอนนี้ใจกำลังโกรธ และรู้ด้วยว่าความโกรธไม่ดี
ก็เลยเดินหนีเพื่อไปสงบสติอารมณ์ แสดงว่าเขาเห็นแล้วว่าตัวการอยู่ที่ใจ
ความโกรธนั่นแหละที่ทำให้ใจทุกข์ ก็เลยพยายามจัดการที่ใจของตน แทนที่จะไปโวยวายใส่แม่

น้องไอซ์อายุประมาณ ๔ - ๕ ขวบวิ่งไปชนประตูกระจกอย่างแรง เสียงดังไปถึงหูของแม่ที่กำลังทำครัวอยู่
แม่ตกใจรีบวิ่งไปหาลูก พอจะเข้าไปโอบกอดปลอบใจน้องไอซ์ น้องไอซ์กลับบอกว่า
“แม่ไม่ต้องๆ น้องไอซ์นั่งสมาธิก่อน เดี๋ยวก็หาย”
ธรรมดาเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามเวลาเดินหรือวิ่งชนกระจก อย่างแรกที่เรามักทำคือโวยวายว่า
ใครปิดประตูอย่างนี้ โทษคนโน้นโทษคนนี้ แล้วก็ระบายความโกรธ
หากไม่รู้จะระบายใส่ใคร ก็ระบายใส่กระจก อาจจะเตะกระจกให้หายแค้น
แต่น้องไอซ์ไม่ได้ทำอย่างนั้น กลับนั่งสมาธิ เพราะรู้ว่าถ้าทำสมาธิแล้วความปวดจะทุเลาลง

เด็กเขารู้ได้ แม้อายุไม่กี่ขวบ เขาก็รู้ว่าเวลาปวดขึ้นมา ถ้านั่งสมาธิก็หายหรือบรรเทาได้
เด็กอาจจะรู้ด้วยซ้ำว่าเวลาปวดกายแล้ว มันยังปวดใจ ทำให้เกิดโทสะขึ้นมา
ซึ่งซ้ำเติมให้ความปวดกายรุนแรงขึ้น น้องไอซ์อาจจะรู้ว่าถ้านั่งสมาธิแล้วจะช่วยระงับใจไม่ให้เกิดโทสะ
ซึ่งทำให้ความทุกข์กายลดลง หรือเขาอาจจะเห็นด้วยว่าถ้านั่งสมาธิแล้วทุกข์กายก็จะเบาลงด้วย
นี่เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ ถ้าพ่อแม่ฉลาด ก็ฝึกให้ลูกรู้อย่างนี้ได้

แต่พวกเราหลายคนโตแล้ว ก็ต้องฝึกเอง ทำอย่างไร ก็ต้องมาฝึกกันแบบนี้ ใช้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์
ไม่มีใครอยากจะมาเจอความทุกข์ แต่ว่าเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ต้องรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
เช่น ใช้เป็นเครื่องฝึกสติ อย่างนี้เรียกว่าทุกข์เป็น ถ้าทุกข์ไม่เป็นก็แย่
พวกเราจึงอย่าไปกลัวความทุกข์ อย่าไปกลัวความยากลำบาก

เด็กสมัยนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลำบากด้วย ทำไมต้องอยู่แบบเรียบง่าย ทำไมไม่อยู่แบบหรูหรา
เราก็มีกินมีใช้ ทำไมไม่กินให้มันเต็มที่ สนุกให้มันเต็มที่ คำตอบก็คือ เพราะมันจะทำให้เราอ่อนแอ
ทำให้เราประมาท ทำให้เราติดสบายจนกระทั่งกลายเป็นทาสของความสบาย
พอไม่มีความสบายก็จะเป็นทุกข์ กลายเป็นคนทุกข์ง่าย สุขยาก เพราะได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ
สบายเท่าไหร่ก็ไม่พอ นี่คือธรรมชาติของความสะดวกสบาย คือมันไม่มีขีดจำกัด มันต้องการเรื่อยๆ
ไม่เคยเกิดความรู้สึกพอสักที แต่ถ้าเราฝึกใจให้มีสติเราก็จะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรพอ เมื่อไหร่ควรหยุด
เราจะรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ กลายเป็นคนสุขง่าย ทุกข์ยาก

บทความนี้ต้องขอขอบคุณกัลยาณมิตรที่แสนดีที่ส่งมาให้เพื่อเตือนสตินะค่ะ


Create Date : 08 มิถุนายน 2554
Last Update : 8 มิถุนายน 2554 0:11:19 น. 2 comments
Counter : 525 Pageviews.  

 
ชอบมากๆ เลยค่ะ

ขอบคุณที่เอามาแบ่งปันให้นะคะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 8 มิถุนายน 2554 เวลา:17:23:16 น.  

 
ชอบมากอีกคน อนุโมทนาสาธุ ที่นำสิ่งดีๆมาให้อ่านค่ะ ขอส่งต่อให้ผู้อื่นค่ะ


โดย: เพื่อนธรรม IP: 118.173.65.84 วันที่: 8 มิถุนายน 2554 เวลา:21:47:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Crescent-Norther-Star
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Crescent-Norther-Star's blog to your web]