อินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องไอที แต่เป็นเรื่องของคน

ยินดีต้อนรับกลับสู่ยุค Dot Com …

นับตั้งแต่ฟองสบู่ของธุรกิจดอทคอมแตกไปเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน วงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซทั่วโลกก็ตกอยู่ในภาวะซบเซา ตลาดหุ้น NASDAQ ซึ่งเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาก็ตกวูบ ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยได้รับผลกระทบในด้านลบ (โดยเฉพาะความมั่นใจของนักลงทุน) ตามไปด้วย

ทุกอย่างล่มสลายตามวาระของมันด้วยตรรกะง่ายๆ ว่า แม้ธุรกิจดอทคอมจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีกลุ่ม venture capital ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลให้ แต่ในที่สุดเราก็พบว่ามูลค่าของหุ้นและตัวเว็บไซต์ในธุรกิจดอทคอมกลับถูกอุปโลกน์ให้สูงเกินความเป็นจริง เมื่อตัวเว็บไซต์ไม่สามารถสร้างรายได้จริงขึ้นมา มีเพียงการสร้างเว็บไซต์และปั่นสถิติผู้เข้าชมให้สูงเพื่อหวังขายเอากำไรในระยะสั้น ทุกคนจึงเข้าใจได้ว่ามันคือภาพลวง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายต่อหลายแห่งต่างหมดศรัทธาที่มีต่อโครงการสวยหรูของเหล่าขุนพลดอทคอม นี่คือภาพรวมที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก

อย่างไรก็ดี หนทางสำหรับการ ‘เกิดใหม่’ ของอีคอมเมิร์ซก็ยังดูไม่มืดมนสักทีเดียว ดูได้จากปัจจัยนอกประเทศ อย่างการเข้า NASDAQ ของบริษัท search engine ชื่อดังอย่าง Google.com ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดที่เดินเข้าตลาดหุ้นหลังยุคดอทคอมล่มสลาย

กลับมามองในประเทศไทย ภาครัฐก็พยายามผลักดันและส่งเสริมให้เกิดธุรกรรมขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานของกระทรวงไอซีทีกับโครงการสกุล ‘เอื้ออาทร’ ที่มีจุดหมายในการลดปัญหาการเข้าถึงสื่อดิจิตอลของคนไทย แม้ว่าจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่อาจกู้สถานภาพของอีคอมเมิร์ซกลับมาได้เสียทีเดียว แต่ก็ยังเป็นการแสดงออกซึ่งความพยายามของภาครัฐ

ในขณะที่ภาคเอกชนหลายแห่งก็ยังเห็นความสำคัญของสื่ออินเทอร์เน็ต ทำให้พ.ศ. นี้เราจะเริ่มได้ยินข่าวควบกิจการ ข่าวการเดินเข้าตลาดหุ้นของบริษัทดอทคอม หรือข่าวการกว้านซื้อเว็บไซต์สัญชาติไทยด้วยมูลค่ารวมนับสิบล้านบาทเริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งยังมีการดึงเอาอุปกรณ์ไร้สาย เช่นโทรศัพท์มือถือ และ PDA (Personal Digital Assistant) มาปรับใช้ร่วมกับเว็บไซต์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการขาย mobile content, audiotext, catalog online, online content หรือแม้กระทั่งการดึงผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมโต้ตอบอย่าง interactive กับสื่อต่างๆ ด้วยบริการ SMS, MMS

หรือนี่คือสัญญาณฟื้นตัวของอีคอมเมิร์ซในบ้านเรา? คงไม่มีใครให้คำตอบไปได้ดีกว่าการที่เราจะพยายามทำความเข้าใจและติดตามข่าวสารในวงการอีคอมเมิร์ซทั้งไทยและเทศอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเราเอง

Dot Com on the Move จึงขอเปิดตัวกับคุณผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ว่า ตรงนี้จะเป็นพื้นที่พิเศษเของบทความล็กๆ ถ่ายทอดง่ายๆ รายสัปดาห์ สำหรับผู้สนใจอัพเดทเรื่องราวใหม่ๆ เกี่ยวกับแวดวงพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สนใจใช้เว็บไซต์เป็นสื่อกลางในการประกอบธุรกรรม

ยินดีที่ได้รู้จักครับ




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2548   
Last Update : 13 สิงหาคม 2548 1:52:03 น.   
Counter : 506 Pageviews.  

Celebrity Power VS Pantip.com

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
13 กรกฎาคม 2547 12:53 น.


ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องเกิดขึ้นในแวดวงดอทคอมบ้านเราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข่าวการขายเว็บไซต์ท่าเจ้าใหญ่อย่าง Mthai.com มูลค่านับล้าน ข่าวลือการขาย Kapook.com (ที่ได้รับคำยืนยันจากทีมงานแล้วว่าไม่จริง ) ข่าวเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึกถูกเจาะระบบ ฯลฯ แต่คงจะไม่มีข่าวไหนที่ดูจะ ‘ดุเด็ด’ ไปยิ่งกว่าข่าวกรณีพิพาทของ pantip.com กับ ดาราสาวชื่อเสียง ‘เผ็ดมัน’ “ตั๊ก บงกช” คนนี้อีกแล้ว

ลองมานั่งนึกดู ผมว่าโลกนี้มันก็กลมดี กลมจนไม่น่าเชื่อว่าเด็กสาวเพียงหนึ่งคนทำให้คนหลายบทบาทอาชีพ นับตั้งแต่นักการเมือง – นักข่าว – ค่ายเพลง – ค่ายหนัง – ผู้กำกับ – นายทุน – กลุ่มผู้รักษาจริยธรรม – ตำรวจ - เว็บมาสเตอร์ ยันชาวอินเทอร์เน็ตอย่างเราๆ ท่านๆ ต้องมานั่งพินิจพิเคราะห์สิ่งที่เธอทำลงไปว่ามันส่งผลกระทบอย่างไรกับสังคมของเรา

การที่คุณตั๊ก บงกช ที่ออกมาประกาศว่าจะต่อสู้จนถึงที่สุด พร้อมฉะแหลกกับทุกคนที่ทำร้ายเธอ จะว่าไปมันก็น่าเห็นใจในจุดที่ว่าว่าลูกผู้หญิงคนหนึ่งถูกกลั่นแกล้ง ถึงแม้ว่าจะมีบางกระแสฟันธงไปเลยว่าคุณตั๊กไม่ได้ต้องการอะไรมากนอกจากโปรโมทหนังวีซีดีที่กำลังวางแผงอยู่ขณะนี้ ... แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเธอจะตั้งใจมาขายของหรือเปล่า รู้แต่ว่างานนี้มีคนได้ - เสียประโยชน์กันก็เพราะ “Celebrity Marketing” ยี่ห้อน้องตั๊กไปเรียบร้อยแล้ว

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าการใช้ Celebrity เป็นบางสิ่งที่สำคัญมากกับประเทศที่ให้ค่ากับความบันเทิงสูงมาก อย่างในประเทศอินเดีย ผมอ่านเจอว่า มีนักแสดงหนุ่มคนหนึ่งนอนโรงพยาบาล (จากอุบัติเหตุในการซ้อมอะไรสักอย่างนี่แหละ) แต่ชาวอินเดียนับพันคนพากันยัดทะนานแห่ไปเยี่ยมให้กำลังใจไอ้หนุ่มจ้าวแห่งหนัง Bollywood กันจนทางโรงพยาบาลต้องแปะป้ายห้ามเยี่ยม

แต่ถึงกระนั้นบรรดานักการเมือง สส. ของอินเดียต่างก็พากันไปเยี่ยมไอ้หนุ่มคนนี้กันอย่างคึกคัก ก็เพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมเพิ่มเติมจากแฟนหนังภารตะชน ถ้าเทียบกับบ้านเราก็คงพอๆ กับตอนคุณบิ๊ก ดีทูบีเข้าโรงพยาบาลแล้วน้องๆ นักเรียนที่เป็นแฟนเพลงพากันไปพับนกอธิฐานอยู่หน้าโรงพยาบาลนั่นแหละ จากนั้นไม่นานนักร้องค่ายไหนต่อค่ายไหนก็พากันไปเยี่ยม...อย่างน้อยๆ ก็เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์บ้างล่ะ นี่ล่ะหนาพลังของ Celebrity

ในเมื่อ Celebrity ทรงพลังเสียขนาดนี้แล้ว ทำไมวงการดอทคอมจะไม่สนใจ Celebrity?

ถ้าใครเคยเข้าเว็บไซต์ดังๆ หลายแห่ง คงจะเคยเห็น Gallery ที่คุณจะต้องจ่ายเงินผ่านทางมือถือเพื่อเข้าชมภาพ โดยจับเอาสาวๆ หน้าตาน่ารัก คิกขุอาโนเนะมาทำเป็น “Sticker Vote” ให้เราคลิกๆๆๆๆๆ จน Hit Rate พุ่งบานตะไท แล้วเอาไปเคลมยอด user ได้เพียบ และอย่าทำเป็นเล่นไปครับ มี Celebrity หลายคนแจ้งเกิดจากเว็บไซต์ก้าวเข้าสู่ความเป็น Celebrity ตัวจริงมาแล้ว อย่างเช่น น้องบอลลูน และน้องเบเบ้ เป็นต้น

ระยะหลังนี้เราเลยเห็นเว็บไซต์บางแห่งจัดทำ Modeling Online เสียเลย โดยการให้สาวๆ ที่มีอาชีพเป็นสาวพริตตี้เข้ามาโพสต์รูปสวยเก๋ ของตัวเองพร้อม resume’ ที่บอกว่าหนูทำงานอะไรได้บ้าง จากการสอบถามแล้วปรากฏว่ามีสาวๆ ให้ความสนใจกันเยอะขนาดว่าวันหนึ่งๆ ถ่ายแบบกันแทบไม่ทัน เรียกได้ว่าเป็น win-win solution จริงๆ เพราะเด็กสาวอยากดัง นิตยสารและสื่อต่างๆ มองหาเด็กตามโมเดลลิ่งไว้ใช้งานก็หาได้ง่าย เจ้าของเว็บไซต์ก็อยากได้เด็กมาเรียก hit rate ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แถมเอาไปต่อยอดทำ Mobile Content ได้อีกต่างหาก

และนั่นก็คือเรื่องของการทำมาหากิน แต่อินเทอร์เน็ตมีอะไรให้เราพูดคุยกันมากกว่านี้มากนัก

กลับมาที่กรณีคนดังอย่าง “น้องตั๊ก”.... แม้ว่าน้องตั๊กจะไม่ได้ไปโพสต์รูปตัวเองเพื่อหางานอย่างสาวๆ คนอื่น แต่ด้วยความเป็น Celebrity ของเธอก็ทำให้จำนวนคนท่องเว็บไซต์ pantip.com ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาคึกคักเป็นพิเศษ ทว่ามันเป็น “ความคึกคักที่น่าทรมานใจ” เพราะผู้คนต่างพากันสงสาร pantip.com ที่โดนหางเลขไปด้วย รวมทั้งสงสารผู้ต้องหา คือคุณศรยุทธ เสนามงคล ที่ถูกจับได้ว่าเป็นผู้โพสต์ภาพนั้นลงไปในเว็บไซต์ และต่างก็พากันมา “แบ่งปันมิตรภาพออนไลน์” มอบความเห็นใจให้กับคุณศรยุทธ ถึงขั้นลงขันกันรวบรวมเงินให้ความช่วยเหลือทางคดีกับคุณศรยุทธ แม้สิ่งที่เขาทำมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องสักทีเดียว แต่เมื่อคนในเว็บไซต์ pantip.com ลงมติกันว่า “นี่มันมากเกินไปแล้ว เราต้องให้กำลังใจเพื่อนของเรา” พลังของ Celebrity ที่ว่าแกร่งกับพลังของคนในเว็บไซต์ ”มหาชน” จึงปะทะกันอย่างชัดเจน

หากอุปมาอุปไมยข่าวนี้คือไฟไหม้ป่า สื่อมวลชนก็คือแรงลมที่โหมกระพือให้ข่าวกระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พลังของมวลชนจากเว็บไซต์มหาชนอย่าง pantip.com กลับเป็นสายฝนที่หล่นลงมาห่าใหญ่และดับไฟที่กำลังโหมแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

pantip.com เป็นแหล่งรวบรวมคนที่มองปัญหาร่วมกันอย่างมีสติสัมปชัญญะ ทุกคนแสดงความคิดเห็นกันเฉกเช่นปัญญาชน ถึงขั้นออกมานั่งวิเคราะห์โต้เถียงกันเพื่อหาข้อสรุปผ่านทางรายการถึงลูกถึงคน มีการดึงคนของสภาวิชาชีพผู้ดูแลเว็บไซต์ออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว

ดังนั้นการที่คนใน pantip.com ออกมาแสดงตัวตนที่แท้จริง จึงชี้ให้เห็นว่าชาวอินเทอร์เน็ตไม่ได้สนุกอยู่แต่เพียงแค่คลิกรูปโหวตสติ๊กเกอร์หรือดูรูป Celebrity ที่ได้รับความอับอายเพื่อความสนุกชั่วคราวเท่านั้น แต่มันคือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งที่ควรได้รับการเคารพและใส่ใจอย่างยิ่ง

และเรื่องทั้งหมดคงยังไม่จบเพียงแค่ยกที่หนึ่งแน่นอน




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2548   
Last Update : 13 สิงหาคม 2548 1:50:28 น.   
Counter : 491 Pageviews.  

Newspaper Online ร้อนๆ มาแล้วครับ

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
22 กรกฎาคม 2547 10:03 น.

ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์กรณีภาพเบื้องหลังคุณตั๊ก บงกช บน pantip.com และการหาข้อสรุปสำหรับการประมวลจริยธรรมบนกระดานข่าว (หรือเว็บบอร์ด) ผมขอเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงประเด็นนี้ ไม่ใช่ว่าผมต้องการแหกคอกหรือกบฏอะไรนะครับ หากแต่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานวิชาการจากมหาวิทยาลัยและภาครัฐเริ่มเห็นความสำคัญกันมากขึ้น ทั้งยังสามารถกล่าวถึงรายละเอียดได้ดีกว่าการที่ผมจะเขียนในคอลัมน์ จึงขอยกประเด็นนี้ให้สังคมอินเทอร์เน็ตช่วยกันต่อยอดทางความคิดกันต่อไปว่าเราจะช่วยกันได้อย่างไรบ้าง

สำหรับคอลัมน์ Dot Com on the Move คราวนี้เลยขอเสนอประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เรื่องของ Online Publishing ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง ในคราวนี้ผมจึงขอย่อเหลือเพียงยกตัวอย่างสิ่งใกล้ตัวให้เห็นชัดๆ ก่อน นั่นคือ ภาพรวมหลังจากการแปรสภาพของสื่อหนังสือพิมพ์ไทย ซึ่งเป็นสื่อแบบ offline ได้นำ content ที่ตัวเองมีขึ้นเว็บไซต์กลายมาเป็นสื่อ online

ถ้าเป็นเมื่อก่อนคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อมีคนพยายามเปลี่ยนการนำเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์มาเป็นนำเสนอบนเว็บไซต์แทนก็คือ “เอา content มาขึ้นเว็บแล้วใครจะซื้อหนังสือพิมพ์?” แต่ ณ นาทีนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะมองเห็นภาพรวมของมันแล้วว่า หนังสือพิมพ์ออนไลน์ไม่ใช่เป็นเพียง ‘สินค้าไร้ราคา’ หากแต่เป็นสินค้าที่มีราคาและทุกคนสนใจที่จะเสพมันมากยิ่งขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้เนื่องจากการนำเสนอ content ลงเว็บไซต์แบบลงทุกอย่างที่มีในหนังสือเน้นๆ เนื้อๆ นั้นนอกจากจะทำให้ผู้คนบนไซเบอร์สเปซสนุกกับมันได้โดยก้าวข้าม time and space แล้ว มันยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดเชิงรุก ที่ขยายฐานคนอ่านจาก offline สู่ online ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เพราะธรรมชาติของสื่อ online ที่มีการอัพเดทแบบ real time บวกกับวิญญาณของความเป็น ‘คนข่าว’ เข้าไปจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระยะหลังเราจะเห็นเว็บไซต์ในหมวดข่าวและสื่อพากันติดอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับสถิติเว็บไทยเสมอมา

จากวันนี้ไป โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าเราจะเห็นการบูรณาการของสื่อระหว่าง offline content และ online content มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน /รายสัปดาห์ ทำกับ //www.manager.co.th หรือแม้กระทั่งการรวมตัวกันของบริษัทสื่อ offline กับ online ในประเทศเรา สืบเนื่องจากการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต่างพากันหา content จากสื่อมวลชน จากค่ายเพลง หรือแม้กระทั่งบริษัท production house ที่รับสร้าง Interactive Content อย่างเช่น Java Game มาปรับเปลี่ยนเป็น Mobile Content แล้วเสนอขายผ่าน wap site กันเป็นราคาค่างวดมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้มันยังเป็นการ “จับจองพื้นที่” ในใจของผู้บริโภคให้หันมาสนใจสื่อของตน โดยการขายเนื้อหาที่เจาะลึกมากขึ้น อย่างที่เราเห็นได้ในเว็บไซต์ข่าวในต่างประเทศ เช่น FT.com (Financial Times) ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีการขาย content โดยตรงกับผู้เยี่ยมชมที่ต้องการอ่านข่าวแบบเต็มๆ หรือมีข้อเสนอพิเศษอื่นๆ กับผู้เยี่ยมชม เช่น เว็บไซต์ Magazine Online ชื่อดังอย่าง Salon.com ที่เปิดให้อ่าน content เต็มๆ เช่นกัน หากแต่ผู้เยี่ยมชมนั้นจะต้องสมัครใจที่จะชมแบนเนอร์ของผู้สนับสนุนเว็บไซต์ทุกตัว แลกกับการเข้าชม Exclusive Content ที่กองบรรณาธิการจัดการทำไว้ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าวันหนึ่งเราก็น่าจะใช้รูปแบบเหล่านี้ในการเลือกเสพข่าว

ท้ายสุด สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ Offline Content อาจจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ โดยไม่มีมิติ Online เข้ามาเกี่ยวข้อง (คุณอาจจะหาว่าผมบ้าอ่านข่าว online มากเกินไป) แต่ในวันที่ข้อมูลข่าวสารเคลื่อนรวดเร็วแบบนี้ การบูรณาการเป็นสิ่งที่จำเป็น Content Provider เจ้าไหนปรับตัวเป็นดิจิตอลก่อนก็มีสิทธิ์เป็นที่รู้จักก่อนใคร และนี่คือข้อได้เปรียบซึ่งเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการเขยิบตัวจาก Offline Content เป็น Online Content ของหนังสือพิมพ์ไทย

สิ่งที่ผมเขียนหากท่านมีข้อคิดเห็นที่แตกต่าง กรุณาสละมาออกความเห็นในกระดานข่าวด้านล่างสักนิดนะครับ

บทความแนะนำอ่านเพิ่มเติม:*
รังสรรค์ ธนพรพันธุ์, ทุนวัฒนธรรม เล่ม 1 : วัฒนธรรมในระบบทุนนิยมโลก, 2546, ตอน: จาก FT.COM ถึง Manager Online
Arakawa Hiroki, ยูบิควิตัส (Ubiquitous Society), 2545 (บรรณาธิการแปล ดร. อิทธิ ฤทธาภรณ์และคณะ)





 

Create Date : 13 สิงหาคม 2548   
Last Update : 13 สิงหาคม 2548 1:48:42 น.   
Counter : 347 Pageviews.  

เจฟฟ์ เบโซส์ กับบุคลิกภาพเชิงบวก

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
29 กรกฎาคม 2547 09:57 น.

ถ้าพูดถึงคนดังในแวดวงอีคอมเมิร์ซ เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก เจฟฟ์ เบโซส์ * CEO และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดัง Amazon.com เป็นแน่แท้... วันนี้ผมมีทั้งเรื่องใหม่อัพเดทล่าสุดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในกิจการของเขา และเรื่องเก่าแบบมองต่างมุมของเขามาเล่าครับ

เริ่มจากเรื่องเก่าก่อนก็แล้วกันนะครับ เดี๋ยวค่อยอัพเดทเรื่องใหม่กัน

สืบจากคนรอบตัวในแวดวงดอทคอมเมืองไทย เจฟฟ์ เบโซส์ ในสายตาของหลายๆ คน ก็คือนักธุรกิจคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากการนำ Amazon.com เข้าตลาดหุ้นได้ในปลายทศวรรษที่ 90 ได้อย่างมีจังหวะจะโคน

ในช่วงที่เขากำลังประสบความสำเร็จ ตลาดกำลังฟูฟ่องไปด้วยฟองสบู่ดอทคอม หนังสือที่ออกมาขายในบ้านเราส่วนใหญ่ก็บรรยายแต่ความสำเร็จของเจฟฟ์ถึงความเป็น icon ของอินเทอร์เน็ตทั้งนั้น ไม่ค่อยเล่าถึงความลำบากลำบนของเขาก่อนที่จะร่ำรวย (จากหุ้น) เสียเท่าไหร่ จนกระทั่งฟองสบู่ดอทคอมแตกไปหลายปีแล้วก็ไม่ยักมีหนังสือประวัติการทำงาน (ที่อัพเดทหลังฟองสบู่แตก) ของเขาออกมา

แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้ชัดเลยไม่ว่าดอทคอมจะ boom หรือ burst ก็คือเรื่องการ present ตัวที่แปลกแหวกแนวของเจฟฟ์ และรอยยิ้มที่เห็นบ่อยจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวไปแล้ว

จากการรวบรวมประวัติของเขาจากหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และเว็บไซต์ที่กล่าวถึงเส้นทางชีวิตของเขา เชื่อว่าเจฟฟ์เป็นคนที่มีบุคลิกภาพเชิงบวก เขาวางแผนการตลาดเว็บไซต์ผสมกับบุคลิกของเขาได้อย่างแยบยลเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยายามเริ่มสร้างกิจการแบบ low profile จากโรงรถทั้งที่มีเงินจะไปทำงานในออฟฟิศก็ได้ เพื่อวันหนึ่งจะได้นำมาพูดกับสื่อมวลชนได้ว่ากิจการของเขาเริ่มต้นง่ายๆ มาจากโรงรถเล็กๆ แห่งหนึ่ง หรือแม้กระทั่งที่ประชุมของเขาก็คือร้านสตาร์บักสาขาที่ใกล้สำนักงานของเขา

หรือแม้กระทั่งการเผยกับสื่อว่าเขาเขียนแผนงานลงในเครื่องคอมพิวเตอร์แลปท็อปเล็กๆ ตัวหนึ่งขณะนั่งรถไปกับภรรยาในรถเก่าๆ ที่ได้มาจากที่บ้าน และการที่บอกกับคนอื่นว่าเขาไม่มีความทะเยอทะยานอะไรมากมายนัก ในตอนเริ่มก่อตั้งบริษัท เขาหวังเพียงว่าร้านหนังสือออนไลน์จะสามารถเจาะตลาดเล็กๆ ได้

ดูเหมือนมันจะติดดินดีนะครับ

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วกว่าจะก่อกำเนิดกิจการ Amazon.com มาได้เขามีประวัติการกู้เงินจำนวนมหาศาลนับล้านดอลล่าร์ทั้งจากญาติโกโหติกา จากธนาคาร จากการจำนองสินทรัพย์ จ้างทีมงานระดับเกรดเอแพงๆ และทุ่มเวลามากมายในการพัฒนาเว็บไซต์ ทดสอบการใช้งาน และต่อสู้กับคู่แข่งใหญ่ๆ อย่างบาร์นแอนด์โนเบิล ( bn.com ) ด้วยความแข็งแกร่ง แต่เขากลับแสดงมันออกมาให้ดูเหมือนว่า Amazon.com เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นความฝันของคนหนุ่มคนใดก็ตามที่กล้าจะฉีกกฎเกณฑ์เก่าๆ เข้าสู่ธุรกิจในโลกไซเบอร์

แต่เมื่อมองย้อนเข้าไปในประวัติของเจฟฟ์ ผมว่าเราก็สามารถทำความเข้าใจเขาได้มากยิ่งขึ้น

เจฟฟ์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพรสตัน ซึ่งจะว่าไปก็ติด Ivy League ของอเมริกาอยู่ เขาจบมาด้วยผลคะแนนอันยอดเยี่ยม เขาร่วมงานกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ เขาผ่านงานด้านการเงินการลงทุน และด้านไอทีมาอย่างโชกโชน ล้มและลุกกับสิ่งที่เขาทำมานับไม่ถ้วน เป็นไปได้อย่างไรว่าคนที่มีความกระตือรือร้นในชีวิต มีทักษะในการวิเคราะห์การเงินการลงทุน และเชี่ยวชาญด้านไอทีจะมองตลาดง่ายๆ หวังเพียงตลาดเล็กๆ อย่างที่พูด

ผมเลยมองว่าสิ่งที่เจฟฟ์พยายามบอกและถ่ายทอดง่ายๆ เหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นถ้อยคำทางการตลาดที่ส่งผลดีต่อตัวเขาและธุรกิจ มันแฝงไปด้วยความฉลาดแบบแปลกๆ แต่ได้ผล เพราะจะว่าไปมันก็ส่งผลดีในการ “จุดประกาย” ให้กับคนหนุ่มสาวที่มองว่าธุรกิจดอทคอมสามารถเริ่มต้นได้ไม่ยาก และดูเป็นเรื่องของคนร่วมสมัยที่ดูสดใสร่าเริงแบบเจฟฟ์

นี่ยังไม่รวมถึงวิธีการ present ตัวเองของเจฟฟ์กับพนักงานในบริษัทมักจะเล่าผ่านสื่อต่างๆ ว่ามันไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยหากคุณต้องการจะจับมหาเศรษฐี CEO ธุรกิจพันล้านคนนี้มาเต้นแร้งเต้นกาอะไรสักอย่าง เพราะว่าเจฟฟ์ทำได้หมดจริงๆ

นับตั้งแต่จับเอาเขามาแต่งตัวเป็นกุ๊กในโรงแรมสี่ดาว เพื่อที่จะเอามาโปรโมทร้านเครื่องครัวของ Amazon.com ไม่ใช่เรื่องยากหากคุณจะเห็นเจฟฟ์กระโดดขึ้นไปยืนแบบสุนัขบนโต๊ะประชุมเพื่อเรียกร้องความสนใจในการทำ business presentation หรือจับเอาเขามากระโดดตีลังกาถ่ายรูปขึ้นนิตยสารธุรกิจดังๆ รวมถึงการออกอาการหัวเราะร่วนแบบดังลั่น “กร๊ากกกก” ที่เขามักจะหัวเราะเสมอไม่ว่าบริษัทกำลังอยู่ในสภาพดีหรือร้าย

แต่ก็ด้วยเสียงหัวเราะและความฉลาดเฉลียวแบบบุคลิกภาพเชิงบวกนี้ล่ะครับที่เป็นส่วนเล็กๆ ที่ส่งผลให้ Amazon.com อยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ อย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือสร้างรอยยิ้มให้กับพนักงานในบริษัท อารมณ์ขันเป็นยาวิเศษของชีวิตจริงๆ ครับ ... พูดถึงบริษัทแล้วก็อัพเดทสถานภาพทางการเงินของ Amazon.com กันสักนิดนะครับ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคมที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นี้เอง ทาง Amazon.com ก็ออกมาประกาศว่ายอดขายของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นถึง 26% แม้จะยังไม่ถึงเป้าที่คาดไว้โดยทีมงานได้กล่าวว่าพวกเขาคาดว่าจะขึ้นไปถึง 6.625 พันล้านดอลล่าร์ และ 6.925 พันล้านดอลล่าร์ อย่างไรก็ตามผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของบริษัทก็ออกมาเผยว่าทางบริษัทยังหวังที่จะทำกำไรสุทธิจริงในปีนี้จากการเปิดให้ผู้ค้าหนังสือบนอินเทอร์เน็ตรายย่อยขายหนังสือผ่านทางระบบของ Amazon.com และยอดขายในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นถึง 50% แม้ว่าจะติดปัญหาเรื่องค่าขนส่งและอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง

แต่สาเหตุหลักที่ยังไม่มีกำไรเห็นๆ สักทีเห็นจะเป็นสาเหตุมาจากบริษัทต้องแบกรับภาระค่าสาธารณูการด้านเทคโนโลยีต่างๆ เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนี้ว่าเมื่อไหร่ทางบริษัทจะชะลอการจ่ายเงินในส่วนนี้เพื่อเพิ่มส่วนต่างกำไรให้มากขึ้น เจฟฟ์ก็ออกมาพูดสั้นๆ เพียงแค่ว่า “เล่ายังไงดีครับ เรื่องมันยาว”

ทั้งนี้เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายสำนักก็พากันมองว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยิ่งทำให้ Amazon.com ทำกำไรจริงได้ยากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันในตลาดก็สูง จึงเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกินที่จะทำกำไรสุทธิได้จริงๆ ในเวลาที่ลำบากเช่นนี้
ณ ตอนนี้เจฟฟ์อาจจะยังหัวเราะร่วน หรือกำลังหนักใจอยู่ที่ไหนสักแห่ง หรือมีแผนอะไรอยู่ในใจต่อไป สำหรับช่วงขาขึ้นของธุรกิจดอทคอมเราคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะความเคลื่อนไหวของธุรกิจดอทคอมที่เชื่อมต่อธุรกิจทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้พรมแดน ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจดอทคอมบ้านเราอย่างแน่นอน

ประวัติโดยสังเขป
เจฟฟรี่ เพรสตัน เบโซส์ (Jeffrey Preston Bezos)

เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม ปีค.ศ.1964 ปัจจุบันอายุ 40 ปี เติบโตในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพรินซตันเมื่อปี 1986 ด้วยความฉลาดเฉลียวและผลการเรียนดีเด่น เขาได้รับการทาบทามจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง เขาเพิ่มพูนประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าร่วมงานกับบริษัทด้านเงินทุนชื่อดังอย่าง ดี.อี. ชอว์แอนด์โค กับตำแหน่งรองประธานอาวุโสของบริษัทที่มีอายุเพียง 28 ปี และในช่วงนั้นเองที่เขาพบว่าการสร้างร้านหนังสือออนไลน์เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ควรค่าแก่การลงทุน แต่ผู้บริหารในบริษัทคิดต่างจากเขา จึงเป็นเหตุให้เขาลาออกจากบริษัท เริ่มต้นสร้างอนาคตของตัวเองกับ Amazon.com เมื่อปี 1994 ขณะนั้นเขามีอายุได้ 30 ปี

* บางคนอ่านนามสกุลของเจฟฟ์แบบตรงตัว เลยออกเสียงว่า เบ-ซอส แต่จากการสืบค้นชีวประวัติ พบว่าออกเสียงว่า เบ-โซส มาจากภาษาสเปน แปลว่าจุมพิต

ข้อมูลจาก..
- นิตยสาร Fortune – มิถุนายน 2546 จากเรื่อง “The Tao of Jeff – From dot-com joke to one click colossus – Winning the Amazon way”
- CBS.MarketWatch.com – 22 กรกฏาคม 2547
- The Internet Entrepreneure – กลยุทธ์ชี้ทางรอด 13 เจ้าพ่อดอทคอมระดับโลก โดย Christopher Price (แปลโดย ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล และ ดาว ไวรักษ์สัตว์)
- Amazon.com โดย Robert Spector (แปลโดย อาจกิจ สุนทรวัฒน์ และชัยฤทธิ์ เอี่ยมกมลา)




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2548   
Last Update : 13 สิงหาคม 2548 1:46:17 น.   
Counter : 442 Pageviews.  

มาดูเว็บไซต์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. กันดีกว่า

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
5 สิงหาคม 2547 19:44 น.

คำถามยอดฮิตตอนนี้เห็นจะไม่พ้นคำถามที่ว่าคราวนี้ชาวกรุงเทพฯจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ ก็ใกล้วันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าไปทุกที ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนต่างก็มีแนวทางการหาเสียงของตัวเอง บางคนก็มาในมาดนักบริหาร บางคนมาด้วยประสบการณ์ บางคนมาด้วยความกล้าชน บางคนเป็นแม่พระ เผลอแป๊บเดียวมีผู้สมัคร 22 คนแล้ว ตามประสาคนใช้อินเทอร์เน็ตก็ต้องเข้าไปชมเว็บไซต์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเสียหน่อย

จากผู้สมัครทั้งหมด 22 คนมีเพียง 9 คนเท่านั้นที่มีเว็บไซต์เพื่อประกอบการหาเสียง ดูๆ ไปก็เพลินดีนะครับ แต่ละเว็บไซต์ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจต่างๆ นานา บางเว็บไซต์น่าเบื่อ บางเว็บไซต์ดีไซน์สวยแต่ใช้ยาก ต่างคนต่างปัญหา ครั้งนี้เรามาดูเว็บไซต์พร้อมๆ กันดีกว่านะครับ คิดอย่างไรกับเว็บไซต์เหล่านี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางเว็บบอร์ดได้ครับ

เบอร์ 1. อภิรักษ์ โกษะโยธิน //www.ourbangkok.org “อภิรักษ์ บริหาร จัดการได้”

ในบรรดาผู้สมัครทุกคน คุณอภิรักษ์น่าจะเป็นผู้สมัครที่ใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ได้คุ้มค่ามากที่สุดคนหนึ่ง ดังจะสังเกตได้ว่าป้ายโฆษณาหาเสียงของ “หล่อเล็ก” มักจะมี URL Ourbangkok.org ติดอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งนอกจากจะส่งผลในเรื่องภาพลักษณ์ของความเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ทันสมัยแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว เพราะถ้าหากว่าคุณอภิรักษ์ได้รับเลือก เชื่อว่าเว็บไซต์นี้น่าจะพัฒนาต่อเป็นเว็บไซต์สำหรับการติดต่อพูดคุยกับชาวกรุงเทพฯ ได้เพราะไม่ได้ตั้งชื่อโดเมนแบบผู้สมัครรายอื่นที่เน้นไปที่ตัวบุคคลเพียงคนเดียว แต่คุณอภิรักษ์กลับใช้คำว่า ourbangkok ซึ่งให้ความหมายว่ากรุงเทพของเรา สร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ร่วมกันกับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ดี ทั้งยังมีความแตกต่างจากผู้สมัครรายอื่นที่ใช้ .com โดยที่คุณอภิรักษ์เลือกที่จะใช้ .org ซึ่งเป็นชื่อโดเมนสำหรับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร

นอกจากนี้ยังแอบเก๋มีเพลงสนับสนุนการเลือกตั้งให้ฟังสองเพลง เพลงแรกคือ “เมืองของเรา” ฝีมือ คำร้อง ทำนอง เรียบเรียง โดยศิลปินชื่อดัง “บอย โกสิยพงษ์” ที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่สมัย Orange เพลงนี้ คุณอภิรักษ์ร้องเอง และเพลงที่สองคือ “อภิรักษ์จัดการได้” ขับร้องโดย อาร์ม - ศิริโรจน์ ศิริเจริญ คำร้อง ทำนอง เรียบเรียง โดย ระวี กังสนารักษ์

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงการออกแบบแล้วเว็บไซต์ของคุณอภิรักษ์ยังมีจุดที่ควรปรับปรุงอยู่หลายจุดเช่น การใช้เทคนิค Flash อย่างไม่คุ้มค่า ตรงบริเวณที่แสดงคำว่า เลือกเบอร์ 1 ที่สามารถนำไปใส่รวมไว้กับภาพของคุณอภิรักษ์ด้านบนได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถดันเอา content สำคัญที่อยู่ด้านล่างขึ้นมาอยู่ด้านบนให้เห็นเด่นชัดขึ้นได้

เบอร์ 3. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง //www.chalermonline.com “ผมมีประสบการณ์ ทำงานให้คุณได้” และ “ผมพร้อมแล้วครับ”

คุณเฉลิมวางสื่อได้ไม่เลวเลยครับ เพราะเข้าไปวางแบนเนอร์ใน Pantip.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์มหาชน แถมวางอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดมากๆ เสียด้วย

ในฐานะคนทำเว็บคนหนึ่งผมสนใจนโยบายของคุณเฉลิมมากทีเดียว โดยเฉพาะข้อที่บอกว่า “เร่งให้ระบบบริหารและการให้บริการไปสู่ E-Bangkok“คุณเฉลิมยกตัวอย่างไว้ว่าจะเปิดการบริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One stop service อี-ออปชั่น คือ การประมูลทางอินเทอร์เน็ตให้มีความโปร่งใส (ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ e-rocurement) แต่ในแผนงานลึกๆ นั้นไม่แน่ใจว่าคุณเฉลิมวางแผนไว้ว่าจะนำเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้กับกรุงเทพฯ อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป

อย่างไรก็ตามพอคลิกเข้าไปดูปรากฏว่าในเว็บไซต์มีการออกแบบไม่ค่อยสวย การจัดวาง Font ไม่ค่อยเป็นระเบียบ จัดวาง content ไม่น่าอ่าน อย่างเช่นหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย "7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่ง " ก็มีความยาวมากเกินไป อีกทั้งยังไม่จัดย่อหน้าให้อ่านง่าย ความละเอียดของภาพก็ต่ำเกินไป ภาพที่ใช้เป็น File สกุล .Gif ซึ่งที่จริงน่าจะใช้เป็น Flash ไปเลยจะช่วยให้ภาพมีความละเอียดและเคลื่อนไหวนุ่มนวลกว่านี้

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ดูแลเว็บไซต์ใช้คำไม่ค่อยเหมาะสม เช่นในหน้า ประวัติโดยสังเขป กลับใส่คำภาษาอังกฤษว่า About us เข้าไป ทั้งที่มีประวัติคุณเฉลิมเพียงคนเดียว หรือคำว่า Scoop ซึ่งควรจะเขียนในภาษาไทยว่า สกู๊ป ก็เขียนผิดเป็น สกรู๊ป อ่านแล้วรู้สึกเว็บไซต์ขาดความน่าเชื่อถือลงไป ทีมงานเว็บไซต์น่าจะปรับปรุงสักหน่อย

เบอร์ 5.มานะ มหาสุวีระชัย //www.manabkk.com “กรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไป”

ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้แบ็กอัพชั้นดีอย่าง พลตรีจำลอง ศรีเมือง คัดเลือกขึ้นมาด้วยตัวเอง ทีมงานเว็บไซต์ของคุณมานะ ออกแบบโดยรวมทำได้สวยดี คุมโทนสีส้ม-ดำ ได้ดี ภาพประกอบชัดเจน ดูน่ารักเป็นกันเอง อย่างไรก็ดี เว็บไซต์เป็นสื่อที่ Interactive คุณมานะน่าจะใช้เว็บไซต์ได้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่นการเปิดรับความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งควรจะมีอยู่ในหน้านานาทรรศนะ ก็ยังไม่มีอะไรใส่เอาไว้ รวมถึง dead link บางแห่งที่ไม่น่าพลาดไป เช่นตรง //www.manabkk.com/news2.html (ตรวจสอบ ณ เช้าวันที่ 5 สิงหาคม 2547) โดยพื้นฐานทำได้ดีแล้ว น่าจะเร่งเพิ่มข้อมูลการพบปะประชาชนให้มากกว่านี้

เบอร์ 7. ปวีณา หงสกุล //www.pavena-bkk.com “ปวีณา 24 ชม.”

คุณปวีณามีภาพลักษณ์เรื่องสิทธิเด็กและสตรีชัดเจนมานาน เธอรู้จักนำเอาจุดแข็งในเรื่องนี้มาใส่ไว้ในเว็บไซต์ ภายใต้สโลแกน ปวีณา 24 ชม. การออกแบบโดยเผินๆ แล้วดูดี เรียบง่าย ทันสมัย ใช้สีชมพูสื่อความเป็นผู้หญิง ในขณะเดียวกันก็จัดภาพประกอบได้ดี อย่างไรก็ตามการจัดวาง Text กลับไม่สมบูรณ์ ข้อมูลบางจุดมีความยาวมาก และอ่านยากเกินไป การจัดวาง menu bar ไม่เป็นระเบียบ และที่สำคัญ สโลแกนปวีณา 24 ชม. น่าจะมีความเคลื่อนไหวในเว็บไซต์มากกว่าที่เป็นอยู่ ข่าวจัดลำดับความสำคัญของข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรปรับปรุง

11. การุญ จันทรางศุ //www.karoonforbangkok.com “กรุงเทพฯ ซ่อมได้ เราซ่อมได้ทันที”

เว็บไซต์ของ ดร.เค จัดวาง content เป็นหมวดหมู่ชัดเจน และเป็นระเบียบดี สิ่งที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือการรู้จักนำมาตรฐานที่มีทั่วไปของการจัดวางเว็บไซต์แบบมาตรฐานมาใช้กับเว็บไซต์ เช่นการวางเมนูไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดด้านซ้ายมือ มี search engine ไว้ค้นหาข้อมูลของตัวเอง การเข้ามาร่วมตอบคำถามในกระดานข่าวในหลายๆ คำถามที่ประชาชนถามมา แต่จุดอ่อนที่ดร.เค น่าจะระวังก็คือบริเวณปฎิทินข่าวที่บ่งบอกว่าดร.เค ไม่ค่อยออกไปพบปะกับประชาชนเหมือนผู้สมัครรับเลือกตั้งท่านอื่นๆ รวมทั้งการทำงานของ moderator ที่ควรจะมาลบกระทู้ขยะ เช่น ลดความอ้วนอะไรออกไปบ้าง ไม่เช่นนั้นเครดิตของเว็บไซต์จะตกลงไปมาก และอีกประการหนึ่งคือ น่าจะเพิ่มเติมความเคลื่อนไหวให้กับเว็บไซต์บ้าง ทุกอย่างดูนิ่งมากจนเกินไป

เบอร์ 12. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ //www.drvuth4bangkok.com

อาจเป็นเพราะการใช้ Content Management System สำเร็จรูปมาปรับใช้กับเว็บไซต์จึงทำให้การออกแบบดูกระด้างและขาดความเป็นมืออาชีพไปบ้าง แต่ข้อมูลทั่วๆ ไปก็ทำให้เห็นตัวตนของดร.วุฒิพงษ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการดึงจุดขายเรื่องวุฒิการศึกษา ผลงานที่ผ่านมาไว้ในช่วงต้นๆ ของการ browse เว็บไซต์ แต่เท่าที่ดูแล้วเว็บไซต์ของดร. ที่พยายามจะจัดทำให้โปร่งใสโดยมีการเปิดเผยรายงานสถานะทางการเงิน แต่พอคลิ๊กเข้าไปก็ไม่พบอะไรมากนัก ในเว็บไซต์ยังคงเต็มไปด้วย feature ที่ไม่จำเป็นเช่นนาฬิกาจับเวลาแบบวินาที และ navigation ยังใช้งานลำบากไปนิดนึง

เบอร์ 15. ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ //www.chuvit-online.com “ให้โอกาสผมสักครั้งก่อนจะตัดสินผม”

เว็บไซต์ของคุณชูวิทย์ เป็นเว็บไซต์ที่มีอารมณ์ขันรุนแรงที่สุดในบรรดาเว็บไซต์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการนำรายการถึงลูกถึงคนที่คุณสรยุทธ์ได้สัมภาษณ์ตัวเองไว้มาให้ประชาชนดาวน์โหลดดู มีเพลงประจำพรรคต้นตระกูลไทย ที่แต่งโดยแอ๊ด คาราบาว (เพลงติดหูง่ายดีนะครับจะบอกให้) แถมด้วย ข่าวอย่าง “สำรวจเรตติ้งผู้ว่าฯ กทม."ชูวิทย์" ชนะใจชาวเน็ต”

นอกจากนี้คุณชูวิทย์ยังใช้สื่อมัลติมีเดียได้อย่างคุ้มค่า เพราะเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคผ่านทางเว็บไซต์ รวบรวมบทความ ทอล์คโชว์ เดี่ยวกะโปโล รวมทั้งกระดานข่าวที่เสี่ยอ่างเปิดให้ประชาชนเข้ามาพูดคุยกับตัวเองได้อย่างอิสระ แม้กระทั่งเปิดให้ประชาชนเข้ามาล้อเล่น คล้ายกับจะตอกย้ำว่าเขายอมเป็นคนรับใช้ของชาวกทม.จริงๆ

แม้ว่าการออกแบบโดยรวมและการจัดวาง content จะไม่น่ามองเท่าไหร่ แต่ด้วย “ตัวตน” ที่แรงและชัดเจนของเขา ทำให้เว็บไซต์กลายเป็นส่วนที่ยิ่งเสริมให้คุณชูวิทย์โดดเด่นในสายตาหลายๆ คนไปเสียอย่างนั้น

เบอร์ 19 นายพิจิตต รัตตกุล //www.bhichit.com “ผมรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ยังมีปัญหา”

เปิดเว็บไซต์ของ ดร.โจ ดูครั้งแรก ก็รู้สึกดี เพราะว่าออกแบบ Homepage ได้น่าดูและจัดองค์ประกอบศิลป์ได้ลงตัว แต่เมื่อเปิดหน้าต่อไป โทนสีเขียวที่บ่งบอกถึงความเป็นทีมมดงานก็หายไป กลายเป็นเว็บไซต์โทนสีน้ำเงินซึ่งโดดออกจาก Homepage ที่จัดทำไว้ในหน้าแรก ทำให้เว็บไซต์ขาดเอกภาพ การจัดวาง content ถือว่าแค่สอบผ่าน ขนาดของ Font ไม่ค่อยสม่ำเสมอกันอ่านแล้วไม่ค่อยสบายตาเท่าไหร่ เชื่อว่าเป็นเว็บไซต์เก่าที่นำมาออกแบบ Homepage ใหม่ และกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาใหม่โดยเร่งด่วน

เบอร์ 21 ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ //www.nitipoom.com

ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สร้างเสียงฮือฮาได้มากที่สุดคนหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ดูเหมือนคุณนิติภูมิจะยังไม่ได้นำเอานโยบายของตัวเองมาใส่ไว้ในเว็บไซต์ เห็นเพียงแต่การปรากฏตัวออกทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ดังนั้นในแง่ของเว็บไซต์ //www.nitipoom.com ยังไม่มีอะไรที่น่าติดตามเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้อ่านกันมากนัก นอกจากกระแสของประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์และแสดงความคิดเห็นกับคุณนิติภูมิในเรื่องที่เขาได้ตัดสินใจร่วมสนามเลือกตั้ง เชื่อว่าเร็วๆ นี้น่าจะมีความเคลื่อนไหวของเขาในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งมาให้เห็นกันบนเว็บไซต์บ้าง





 

Create Date : 13 สิงหาคม 2548   
Last Update : 13 สิงหาคม 2548 1:43:33 น.   
Counter : 499 Pageviews.  

1  2  3  

ผมเชื่อว่าผมบินได้
Location :
กรุงเทพฯ Singapore

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ในอดีตเป็นแค่เด็กไทยคนหนึ่งที่มีความฝันว่าจะทำงานด้านอินเทอร์เน็ต ด้วยความบ้าบิ่นในใจผลักดันให้ได้ทำงานด้านนี้จริงๆ ในต่างแดนกับองค์กรที่มีศักยภาพด้านนี้ เลยอยากเอาประสบการณ์มาแชร์กับคนไทย เผื่อมันจะมีประโยชน์สำหรับบ้านเกิดเมืองนอนบ้างไม่มากก็น้อย
[Add ผมเชื่อว่าผมบินได้'s blog to your web]