Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

2558 05 09 จมน้ำ วัดกะโลทัย ทำบุญกลางบ้าน

 วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ  โรคที่พบบ่อย
- อุบัติเหตุจมน้ำ เกาะกลางน้ำ
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
- พิธีทำบุญห่มผ้าเจดีย์วัดกะโลทัย  พิธีบวงสรวงห่มผ้าเจดีย์ ต่อด้วย พิธีทำบุญเลี้ยงเพลพระสงฆ์ ๙ รูป ณ เจดีย์วัดกะโลทัย ชุมชนวัดกะโลทัย
๓. ข่าวสาร การจัดงานโน่นนี่นั่น ในบ้านเรา
- ๑๖ พค.๕๘ การบรรยายเรื่อง Green Businiess ความท้าทายของการท่องเที่ยวที่ต้องรับมือในยุค AEC บรรยายโดย คุณ ดำรง พุฒตาล
- ๒๒ พค.๕๘ การเสวนา เรื่อง การสร้างเครือข่าย SME และ วิสาหกิจชุมชน สู่ ASEAN  
ทั้งสองงาน “ ไม่เสียค่าใช้จ่าย”  ..สนใจสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่ง ได้ที่  092 919 6561  ,  055 706 511

- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
- นั่งรถไฟฟ้า เส้นทางบุญ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเขตเทศบาลเมืองฯ รอบเช้า ๐๙.๐๐ น.  รอบบ่าย ๑๖.๐๐ น. ( ระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ) จุดขึ้นรถ บริเวณ ลานโพธิ์ หน้าอำเภอเมือง ไม่ต้องจองล่วงหน้า  และ ฟรี   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองกำแพงเพชร (ในเวลาราชการ) โทร ๐๕๕ – ๗๑๘ ๒๐๐ ต่อ ๓๒๒  ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โทร ๐๙๔ – ๖๓๖ ๖๓๖๙






๑. ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย  

จากข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
ในปี 2556 เสียชีวิต 920 คน หรือ 7.6 คนต่อประชากรเด็กแสนคน
ปี 2557 เสียชีวิต 807 คน หรือ 7.1 คนต่อประชากรเด็กแสนคน"    

"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2557) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตแล้ว 11,771 คน เฉลี่ยปีละ 1,291  คน หรือ เฉลี่ยวันละเกือบ 4 คน  เฉพาะในช่วงปิดเทอม 3 เดือนมีนาคม-พฤษภาคม  มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 442 คน (เฉลี่ยวันละ ๕ คน)    เพศชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิง ประมาณ 2 เท่าตัว  
แหล่งน้ำที่มีเด็กเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำสูงที่สุด คือ แหล่งน้ำธรรมชาติใกล้บ้าน (ร้อยละ 49.4) รองลงมาคือ สระว่ายน้ำ (ร้อยละ 6.9) และอ่างอาบน้ำ (ร้อยละ 4.6)
เดือน มีนาคม - เมษายน ๒๕๕๘  มีเหตุการณ์เด็กจมน้ำ  ๔๗ ครั้ง เสียชีวิต ๔๕ คน บาดเจ็บ ๒๐ คน
ร้อยละ ๒๐ ของการเกิดเหตุ เป็นการจมน้ำหมู่
ร้อยละ ๑๐ เกิดในสระว่ายน้ำมาตรฐาน (บ้าน โรงเรียน โรงแรม)
เกือบครึ่งหนึ่ง เป็นเด็กอายุ ๕ - ๘ ปี
ประชาชนไทยประมาณร้อยละ 42  ยังมองเรื่องการตกน้ำ จมน้ำเสียชีวิตว่าเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น การตกน้ำ จมน้ำเป็นเรื่องที่ช่วยกันป้องกันได้   ดังนั้น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง  แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม  โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะจมน้ำง่ายแม้จะมีน้ำเพียงเล็กน้อย ควรสร้างรั้วล้อมรอบแหล่งน้ำและติดป้ายคำเตือน รวมทั้งการจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ   ( ใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ เช่น ลูกมะพร้าวแห้ง แกลลอนพลาสติก ผูกเชือกติดกัน) สำหรับเด็กที่ต้องเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง  
หัวใจสำคัญของการป้องกันคือเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปต้องได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด  ผลการประเมินการว่ายน้ำเป็นของเด็กไทย อายุ 5-14 ปี   ซึ่งมีกว่า 8 ล้านคนล่าสุดในปี2556 พบว่า มีว่ายน้ำเป็น ร้อยละ 25 แต่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4    
เด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด  จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 21 เท่าตัว  และ มีทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ   สามารถแก้ไขปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง  3 เท่าตัว   ดังนั้นการเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันการจมน้ำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน
เน้นให้เด็กรู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง คือ เมื่อพบคนตกน้ำ  “ ต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แม้จะว่ายน้ำเป็น  เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้     วิธีการช่วยให้ยึดหลัก 3 อย่างคือ ตะโกน โยน ยื่น
- ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669    
- โยน อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว  เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้  โดยโยนครั้งละหลายๆชิ้น  
- ยื่น อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ   
การฝึกว่ายน้ำให้กับเด็กจะช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางน้ำได้  แต่  หลักสูตรการเรียนว่ายน้ำของบ้านเรา มุ่งไปที่การเรียนว่ายน้ำให้เป็นมากเกินไป แต่ ลืมการสอนวิธีช่วยเหลือตัวเองในน้ำ เช่น การลอยตัวในท่าชูคอขึ้น และรู้จักจังหวะหายใจ เมื่อจมูกและปากอยู่เหนือพื้นน้ำ เพราะต่อให้ว่ายน้ำเป็น ส่วนใหญ่ว่ายไม่กี่ร้อยเมตรก็หมดแรง การลอยตัวรอให้คนมาช่วยจึงปลอดภัยกว่า เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก   มี 2 ช่วงคือ
1. ขณะอยู่ในน้ำ ซึ่งเด็กๆจะเล่นน้ำเป็นกลุ่ม พอมีเพื่อนจมน้ำก็จะลงน้ำไปช่วยกันเอง โดยไม่มีความรู้ในการช่วยที่ถูกต้อง จึงมักจะพบการเสียชีวิตพร้อมกันหลายคน   
2.การช่วยเด็กหลังนำขึ้นมาจากน้ำแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 93 ยังเข้าใจผิด คิดว่าการอุ้มพาดบ่าและกระแทกเอาน้ำออกเป็นเรื่องที่ถูกต้อง   ซึ่งในความจริง เป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากจะทำให้ผู้จมน้ำ ขาดอากาศหายใจนาน
สิ่งสำคัญการช่วยคนจมน้ำคือ การปฐมพยาบาลก่อนส่งแพทย์ (ข้อมูลจาก รศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข : 8 ขั้นตอนช่วยเหลือเด็กจมน้ำ)
1. รีบนำเด็กขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด
2. แจ้ง 1669 หรือ หน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด
3. ห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว ยังทำให้การช่วยชีวิตเด็กช้าลงไปอีก
4. วางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้งเท่าที่จะทำได้
5. เด็กไม่หายใจ ควรเป่าปากในทันทีเพื่อช่วยหายใจ
6. คลำชีพจรบริเวณคอ (เด็กโต) หรือ บริเวณข้อศอก (เด็กเล็ก) หากไม่พบว่ามีชีพจร หรือ ไม่แน่ใจว่ามีชีพจร ให้เริ่มนวดหัวใจโดยวางสันมือบริเวณกลางหน้าอก ต่ำกว่าราวนมเล็กน้อย กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอกด้วยอัตราอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที ทำติดต่อกัน 30 ครั้งจากนั้นบีบจมูกและเป่าปากพอให้หน้าอกยกขึ้น 2 ครั้งและรีบนวดหัวใจต่อ ทำสลับกันในอัตราส่วน 30:2 ติดต่อกัน 5 ชุด (หรือประมาณ 2 นาที)
7. เมื่อครบ 2 นาทีแล้ว ให้ตรวจคลำชีพจรอีกครั้ง หากมีชีพจรหรือ เริ่มหายใจได้เอง ให้หยุดนวดหัวใจ จัดท่านอนตะแคงเพื่อเปิดทางเดินหายใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาล
8. หากยังไม่มีชีพจร หลังครบ 2 นาที ให้นวดหัวใจ สลับเป่าปากต่อไปเรื่อยๆ และตรวจชีพจรซ้ำอีกครั้ง เมื่อครบ 2 นาทีทำซ้ำไปจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือหรือ จนกว่าเด็กจะเริ่มรู้สึกตัว
ถ้าพบว่าหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำให้นอนตะแคง  ให้ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก  และใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วย เพื่อให้ความอบอุ่น  งดน้ำและอาหาร และรีบส่งผู้ที่จมน้ำทุกราย ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

ในบ้านเรา ปัญหาเรื่องนี้ ก็ยังคงอยู่ หน่วยงานที่น่าจะเป็นหน่วยงานหลักช่วยกันแก้ไข ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต เช่น
๑. เทศบาลเมืองกำแพงเพชร .. ในฐานะ เจ้าของพื้นที่ (ริมปิง+เกาะกลางน้ำ)
อบรมการช่วยเหลือคนจมน้ำ ให้กับ ประชาชนที่สนใจ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่แถวตลาดไนท์ และ สอนเด็ก(ฟรี) ให้ว่ายน้ำเป็น รู้จักวิธีเอาตัวรอดจากการจมน้ำ และ วิธีช่วยเหลือผู้อื่นอย่างถูกวิธี
ช่วงเดือน ตุลาคม๒๕๕๗  เทศบาลเมืองกำแพงเพชร ขอเชิญชวนประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ถึง65 เรียนว่ายน้ำที่สวนน้ำเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลเมืองกำแพงเพชร ดำเนินการฝึกสอนโดยครูสอนว่ายน้ำที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการสอนติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ คุณศรีรัตน์ วงษ์วิรัตน์ ผู้อำนวยการกองการศึกษา โทรศัพท์ 09-5635-5731
พื้นที่อันตราย เช่น  ป้าย ธง และเชือกกั้นแนวเขต ห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด ช่วงเทศกาล วันสงกรานต์ จะมีการมาตรการความปลอดภัย คือ มีผู้ดูแล (การ์ด) ธง และ ป้าย เตือนเขตอันตราย .. แต่ปกติ ไม่มีการ์ด ส่วนป้ายหรือธง ให้เห็นว่าพื้นที่อันตราย ก็ชำรุดสูญหาย
ร่องน้ำลึก ทางน้ำไหล เปลี่ยนทิศทาง บางจุดมีลักษณะคล้ายทรายดูด เนื่องจากทรายบางส่วนถูกขุดขึ้นไปถมบนเกาะ ทำให้พื้นแม่น้ำทรายไม่แน่น  มีผู้เสนอแนวทางแก้ไข เช่น เกลี่ยพื้นทรายให้เท่า ๆ กัน (แต่ผ่านไปสักพัก น้ำก็จะเซาะเป็นร่องน้ำเหมือนเดิม หรือเปล่า ?) ร่วมกับ การทำเป็นฝายกั้นที่ไต้สะพาน เพื่อลดความแรงของกระแสน้ำ ( แต่จะทำให้น้ำขัง น้ำเสีย หรือไม่ ? เพราะ มีท่อระบายน้ำที่ริมฝัง)
๒. สำนักงานป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกำแพงเพชร (ปภ.จ.กพ) .. ในฐานะ ผู้มีหน้าที่โดยตรง
๓. สำนักงานพื้นที่การศึกษา ทั้ง ประถม และ มัธยม รวมไปถึงโรงเรียนต่าง ๆ ... ซึ่งมีกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ตัวอย่างเช่น สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  ร่วมกับ  ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก จัดโครงการรณรงค์เพื่อการป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำสำหรับเด็กประถม 1 หรืออายุ 7 ปี ว่า เรียกว่า "โครงการ 3 นาที 15 เมตร" ประกอบด้วย
1.การรู้จุดเสี่ยง
2.การลอยตัวให้ได้ 3 นาที
3.การว่ายจากท่าลอยตัว เพื่อเข้าเกาะขอบฝั่งให้ได้ 15 เมตร
4.การช่วยเหลือผู้อื่นโดย การตะโกน โยน ยื่น
ซึ่งมีข่าวในหลายพื้นที่การศึกษาฯ ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดโครงการนี้ขึ้น ผมไม่แน่ใจว่า บ้านเรามีทำบ้างหรือยัง เห็นแต่ข่าวของเทศบาลฯ สอนว่ายน้ำให้ผู้ใหญ่ที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น

หน่วยงานอื่นที่น่าจะเชิญมาร่วมคิดด้วย เช่น
๑. สาธารณสุขจังหวัด (กรมควบคุมโรคเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งสำนักโรคไม่ติดต่อ ได้มีการผลักดันการป้องกันการจมน้ำในเด็กเป็นเรื่องแรก ) รวมถึง รพ.กำแพงเพชร
๒. กู้ภัย ของ มูลนิธิฯ โรงพยาบาลฯ ..ในฐานะที่มีประสบการณ์ในพื้นที่
๓. ชลประทาน .. เพื่อศึกษาเส้นทางน้ำไหล รวมถึงการแก้ไข ปรับพื้นที่ให้ตรงกับหลักทางอุทกวิทยา


๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
    พิธีทำบุญห่มผ้าเจดีย์วัดกะโลทัย  พิธีบวงสรวงห่มผ้าเจดีย์ ต่อด้วย พิธีทำบุญเลี้ยงเพลพระสงฆ์ ๙ รูป ณ เจดีย์วัดกะโลทัย ชุมชนวัดกะโลทัย
//www.sunti-apairach.com/letter/index.php?topic=921.0
//www.sunti-apairach.com/home/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2

จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ที่ท้ายเมืองเก่าของกำแพงเพชร มีวัดอยู่ทางทิศตะวันออก นอกกำแพงเมือง พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่า วัดยม เป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่พักทัพ ของ กษัตริย์ อยุธยาที่ยกมาเมืองกำแพงเพชร หรือไปตีเมืองเหนือ ลักษณะของวัดที่ปรากฏ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ขนาดใหญ่ที่งดงามและสมบูรณ์ ที่สุด และเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ องค์เดียว ทางฝั่งกำแพงเพชร วัดนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกะโลทัย
        ไม่มีที่มาของชื่อวัด สืบไม่ได้ว่า แต่เดิมชื่อว่าอะไร กันแน่ แต่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า วัดกะโลทัยมาช้านานตั้งแต่สมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เดิมเป็นที่รกร้าง มีแค่ทางเกวียนผ่านเท่านั้น สิ่งก่อสร้างที่สำคัญในวัด ประกอบด้วยวิหาร รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบัน ไม่มีสภาพของวิหาร เพราะถูกขุดทำลาย จนไม่มีชิ้นดี ไม่สามารถจะบูรณะได้ จึงปล่อยให้เป็นที่รกร้าง มีหลุมจากการถูกขุด หาพระเครื่อง เป็นหลุมลึกโดยทั่วไป เจดีย์ราย ถูกทำลายไปทั้งหมด เหลือเป็นเนินดินข้างถนน ที่ไม่มีคนเหลียวแล อาจเป็นเพราะเป็นวัดที่ใกล้ตาจนเกินไป จึงรู้สึกว่า ไม่มีค่า เหมือนสิ่งที่ใกล้ตัวทั้งหลาย ตามที่คนสามัญคิดกัน
        ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่ เป็นประธาน เป็นทรงดอกบัวตูม หรือพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นโบราณสถานที่ร่วมสมัยกับเจดีย์กลางทุ่ง ที่เมืองนครชุม ฐานล่างเป็นแบบฐานหน้ากระดานซ้อน ลดหลั่น 4 ชั้น ก่อด้วยศิลาแลงเฉพาะฐานหน้ากระดานชั้นที่ 4 ก่อด้วยอิฐ ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว อกไก่ที่ปรับทรงให้สูงขึ้น เรือนธาตุ ย่อสี่เหลี่ยม 20 ซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น จากนั้นเป็นส่วนยอดสุดของเจดีย์ ยอดปรักหักพังแต่ยังมีลักษณะที่งดงามมาก
        ลุงหอม รามสูต บุตรชายหลวงพิพิธอภัย (หวน) เล่าว่า พระกำแพงห้าร้อย บุ พระเจดีย์วัดกะโลทัยทั้งองค์ ท่านบอกว่าไร่ของท่าน อยู่บริเวณนั้น มิได้ขุดพบในกรุ อย่างที่เข้าใจกัน บางท่านเล่าว่า ยอดของเจดีย์ มีพระพุทธรูปอยู่ ซึ่งก็ไม่มีหลักฐาน ใดๆ ยืนยันได้ เช่นกัน
        ปัจจุบัน มีผู้นำ ซากของ ศาลพระภูมิ ทุกขนาดไปทิ้งไว้บริเวณวัด ทำให้ไม่งดงามซึ่งแก้ไขได้ยากเพราะเป็นจิตสำนึก ของผู้คน ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กใครจะจัดการได้
วัดกะโลทัย วัดที่เก่าแก่ และงดงามที่สุด แห่งหนึ่งของเมืองกำแพงเพชรที่คนกำแพงเพชรควรภูมิใจและดูแลให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ใครจะเป็นผู้เริ่มต้นถ้ามิใช่คนในกำแพงเพชร



ประเพณีงานบุญกลางบ้าน
เป็นประเพณีงานบุญของชาวไทยกลุ่มวัฒนธรรมที่ราบลุ่มภาคกลาง มีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าอาจจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังการพบหลักฐานตุ๊กตาดินเผาสะเดาะเคราะห์รูปคน หรือที่เรียกว่า "ตุ๊กตาเสียกบาล" ซึ่งเป็นสิ่งประกอบในการกระทำประเพณีงานบุญกลางบ้านมาจนถึงปัจจุบัน
งานบุญกลางบ้านถือได้ว่ามีขึ้นพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชน การทำบุญกลางบ้านเป็นงานบุญ ที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากการทำบุญอื่น ๆ ซึ่งแทนที่ จะทำบุญกันที่วัด ที่อาคารหรือที่บ้าน แต่จะทำบุญ ณ บริเวณลานกว้างกลางหมู่บ้าน อันเป็นที่สาธารณะ หรือลานวัดร้าง หรือลานท้องนา ชาวบ้านจะเลือกวันจัดที่เหมาะสม โดยจัดในสถานที่ที่เคยจัดกันมาเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการชุมนุมชาวหมู่บ้านมาร่วมจัดงานประเพณีร่วมกัน โดยมีรายละเอียดการจัดแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยบางแห่งมีการก่อพระเจดีย์ทรายไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งคติการก่อเจดีย์ทรายไว้กลางหมู่บ้านนี้มาจากเรื่องราวในธรรมบทเพื่อเป็นการสร้างกุศลก่อเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชาร่วมกัน และมีการทำกบาลใส่ดินปั้นผู้อาศัยในครัวเรือนของตน ๆ ไปวางไว้ตามทางสามแพร่งเพื่อสะเดาะเคราะห์อีกด้วย
คติความเชื่อของประเพณีงานบุญกลางบ้าน มาจากการผสานความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษของคนโบราณ เข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา เป็นคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ในการขอบคุณบรรพบุรุษที่ประทานความอุดมสมบูรณ์จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ และเป็นการสะเดาะห์เคราะห์คนในหมู่บ้านทั้งหมด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางเกษตรกรรมของคนในชุมชน โดยประสานกับคติทางพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการจัดให้มีการทำบุญเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ และเสริมสวัสดิมงคลความอุดมสมบูรณ์ของคนในหมู่บ้านหลังฤดูเก็บเกี่ยว และมีความเชื่อว่าหากบรรพบุรุษเคยจัดประเพณีงานบุญกลางบ้านขึ้น ณ สถานที่ใด ต้องมีการกระทำสืบต่อในสถานที่นั้นเป็นประจำทุกปี หากยกเลิกไม่กระทำต่อ จะเกิดภัยพิบัติแก่หมู่บ้านนั้น
    ผลที่ได้รับจากการทำบุญกลางบ้านทางอ้อม คือ ความสามัคคี การไต่ถามสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกัน มีปัญหาปรึกษาช่วยกันแก้ไข




 

Create Date : 25 กันยายน 2558   
Last Update : 25 กันยายน 2558 21:27:51 น.   
Counter : 611 Pageviews.  

2558 05 02 โรคพิษสุนัขบ้า แกนนำเยาวชนจังหวัดกำแพงเพชร MODเฮ้ว

 วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ  โรคที่พบบ่อย
- โรคพิษสุนัขบ้า
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
๓. ข่าวสาร การจัดงานโน่นนี่นั่น ในบ้านเรา
- ๑ – ๓ พค.๕๘  ตลาดย้อนยุคนครชุม
- ๙ พค.๕๘ พิธี ทำบุญห่มผ้าเจดีย์วัดกะโลทัย  พิธีบวงสรวงห่มผ้าเจดีย์ เริ่มเวลา ๑๐.๐๐ น. ต่อด้วยพิธีทำบุญเลี้ยงเพลพระสงฆ์ ๙ รูป ณ เจดีย์วัดกะโลทัย
- กิจกรรมน่าสนใจ และ ฟรี .. จัดโดย คณะวิทยาการจัดการ มรภ.กพ
- ๑๖ พค.๕๘ การบรรยายเรื่อง Green Businiess ความท้าทายของการท่องเที่ยวที่ต้องรับมือในยุค AEC บรรยายโดย คุณ ดำรง พุฒตาล
- ๒๒ พค.๕๘ การเสวนา เรื่อง การสร้างเครือข่าย SME และ วิสาหกิจชุมชน สู่ ASEAN  
สนใจสอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่ง ได้ที่  092 919 6561  ,  055 706 511

- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
- นั่งรถไฟฟ้า เส้นทางบุญ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเขตเทศบาลเมืองฯ รอบเช้า ๐๙.๐๐ น.  รอบบ่าย ๑๖.๐๐ น. ( ระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ) จุดขึ้นรถ บริเวณ ลานโพธิ์ หน้าอำเภอเมือง ไม่ต้องจองล่วงหน้า  และ ฟรี   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองกำแพงเพชร (ในเวลาราชการ) โทร ๐๕๕ – ๗๑๘ ๒๐๐ ต่อ ๓๒๒  ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โทร ๐๙๔ – ๖๓๖ ๖๓๖๙



๑. ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย  

โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ( Rabies ) ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว หนู ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว ฯลฯ โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะทำให้มีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าเป็นแล้วถึงตายทุกราย ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาได้

คนติดโรคสุนัขบ้าจากทางใดได้บ้าง?
คนเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เนื่องจากรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามาจากสัตว์ที่เป็นโรคได้ 2 ทาง คือ
1. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ ที่เป็นโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูกกัด
2. ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย โดยปกติคนถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย จะไม่ติดโรคจากสัตว์นั้น นอกเสียจากว่ามีบาดแผล รอยถลอก หรือ รอยขีดข่วนโดยบุคคลนั้นไม่ได้สังเกต ในกรณีนี้จะทำให้ ผู้ที่ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมทั้งการถูกเลียที่ริมฝีปาก หรือนัยน์ตา ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้

ถ้าถูกสัตว์กัดจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพียงใด?
-ถ้าสัตว์ที่กัดไม่ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จะไม่มีโอกาสเป็นโรค แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่ ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคไว้ก่อน  
-ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด ไม่ป่วยเป็นโรคทุกราย โอกาสเป็นโรคเฉลี่ยประมาณ35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด
ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21 %
ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า โอกาสเป็นโรคประมาณ 88 %
ถ้าแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่า แผลลึกหลายๆแผล

ถูกสุนัขบ้ากัด นานเท่าใดจึงมีอาการ?
ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรค (ระยะฟักตัว) จะแตกต่างกันได้มาก พบได้ตั้งแต่ 4 วันจนถึง 4 ปี แต่ส่วนมากมักมีอาการในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 3 จนถึงเดือนที่ 4
ประมาณ 70% จะเป็นโรคภายใน 3 เดือนหลังถูกกัด
ประมาณ 96% จะเป็นโรคภายใน 1 ปีหลังถูกกัด

สัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการเป็นอย่างไร พบได้ สองแบบ
1. แบบดุร้าย มีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนและสัตว์อื่น ถ้าผูกโซ่หรือขังไว้ในกรง จะกัดโซ่หรือกรง หรือสิ่งของที่อยู่ไกล้อย่างดุร้าย บางครั้งสุนัขจะกัดจนฟันหักหรือลิ้นเป็นแผลมีเลือดออก เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2-3 วัน ก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซและตายในที่สุด
2. แบบเซื่องซึม มีอาการปากอ้า หุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ ห้อยออกมานอกปาก บางครั้งมีสิ่งสกปรกติดอยู่  มีอาการคล้ายกระดูกติดคอ โดยเจ้าของมักเอานิ้วล้วงออกแต่ไม่พบกระดูก สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้ม ปากและคอจะบวม สุนัขจะลุกนั่งและยืนเดินไปมา บ่อยๆ   กินของแปลกๆ เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวก็กินปัสสาวะตัวเอง สุนัขแบบเซื่องซึมนี้จะไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน
สุนัขแบบหลังนี้ จะสังเกตอาการยากมาก ดังนั้นถ้าสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรตัดหัวสุนัขส่งตรวจ

คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการอย่างไร
ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อมาจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง   ไม่ชอบลมและเสียงดัง กลืนลำบากแม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ เจ็บมากเวลาจะกลืน เพราะมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน ยังมีสติดี พูดจารู้เรื่อง ต่อมาจะเอะอะมากขึ้น และสุดท้ายมีอาการชัก เป็นอัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด

ข้อควรปฏิบัติภายหลังจากถูกสุนัขบ้าหรือสัตว์ที่สงสัยว่าบ้ากัด หรือเลีย
1.    รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงซักฟอกแทนก็ได้
2.    ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ไอโอดีน น้ำยาพิวิดีน หรือ ทิงเจอร์เมอไทโอเลท
ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก
3.    ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ทานยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแผลมาก ชา หรือ คันรอบ ๆ แผล มีไข้ขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์
4.    ถ้าสุนัขตาย ให้ตัดหัวสุนัขไปตรวจ ถ้าหากสุนัขไม่ตาย ให้ขังไว้ดูอาการ 16 วัน ขณะเดียวกันให้รีบไปฉีดวัคซีน
การรักษาทางสมุนไพรหรือแพทย์แผนโบราณ ไม่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
5.    ในกรณีที่ติดตามสัตว์ที่กัดไม่ได้ เช่น เป็นสัตว์ป่าหรือเป็นสัตว์ที่กัดแล้วหนีไป  ก็จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีน
6.    ผู้ที่ต้องมารับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า คือ ผู้ที่มีแผลถลอก แผลเป็นรอยเขียวช้ำ หรือมีเลือดไหล รวมทั้งผู้ที่ถูกสุนัขเลียที่นัยน์ตา ริมฝีปาก ถ้าถูกเลียที่ผิวหนังที่ไม่มีแผล หรือเพียงแต่อุ้มสุนัข ไม่สามารถติดโรคได้

ควรเลือกใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบใด
สถานเสาวภาแนะนำให้ใช้วัคซีนที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง (ฉีด 5 ครั้งเท่านั้น) เพราะมีประสิทธิภาพสูง ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ จึงปลอดภัยกว่าวัคซีนที่ทำจากสมองแกะ สมองหนู (ชนิดฉีด 14 เข็ม)
วัคซีนธรรมดา คือ วัคซีนที่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน โดยปกติท่านควรได้รับวัคซีนธรรมดา ซึ่ง 1 ชุดจะมี 5 เข็ม ใช้เวลาในการฉีดประมาณ 1 เดือน ซึ่งอาจจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ก็ได้

เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร
เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือ วัคซีนอิมมูโนโกลบุลิน(Immunoglobulin) เป็นเซรุ่มหรือส่วนของน้ำใสของเลือดที่ได้มาจากม้า หรือคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน  
ซีรุ่ม (Serum) คือวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าในปริมาณที่มาก เมื่อให้เซรุ่มดังกล่าวแก่ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด ก็จะไปทำลายเชื้อพิษสุนัขบ้าในร่างกายได้ทันที ก่อนที่ไวรัสจะก่อโรคขึ้น และก่อนที่ภูมิต้านทานของร่างกายจะสร้างขึ้น
วัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน(Immunoglobin) เป็นวัคซีนที่มีราคาแพง เพราะฉะนั้นจะใช้ต่อเมื่อ
-สงสัยว่าสัตว์เป็นโรคแน่ๆ
-โดนกัดเป็นแผลขนาดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อจากน้ำลายมาก
-โดนกัดอวัยวะที่สำคัญซึ่งมีเส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น หน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ

คำถามที่พบบ่อย …
•    ถาม ถ้าสุนัขไม่บ้า การฉีดวัคซีนให้คนที่ถูกสัตว์กัด จะมีอันตรายหรือไม่
•    ตอบ ไม่มีอันตราย ถ้าฉีดวัคซีนที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง (ชนิดฉีด 5 เข็ม) เพราะวัคซีนทำมาจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว ไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ นอกจากนั้น ยังมีภูมิคุ้มกันโรค ในกรณีที่ภายภาคหน้าได้สัมผัสกับสุนัขบ้าจริงๆ

•    ถาม มีอาการแพ้จากวัคซีนที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง ชนิด 5 เข็ม หรือไม่
•    ตอบ พบได้น้อยมาก และไม่รุนแรง เช่น มีไข้ต่ำๆ และปวดเมื่อยตัว คันแดงบริเวณที่ฉีดยา ผื่นแดงตามตัว สามารถบรรเทาได้ด้วยยาลดไข้ ยาแก้คัน  ส่วนอาการแพ้ทางระบบประสาท เช่น สมองอักเสบนั้น ไม่เคยเกิดจากวัคซีนที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง

•    ถาม หญิงมีครรภ์ ฉีดวัคซีนชนิด 5 เข็มได้หรือไม่
•    ตอบ ฉีดได้ ไม่มีผลเสียต่อมารดา และทารก

•    ถาม เด็กเล็ก ฉีดได้หรือไม่
•    ตอบ ฉีดได้ไม่จำกัดอายุ และโปรแกรมการฉีดเหมือนผู้ใหญ่

•    ถาม มีวัคซีนป้องกัน ชนิด 1 เข็มหรือไม่
•    ตอบ ไม่มี ในปัจจุบันถ้าถูกสุนัขบ้ากัด ต้องฉีดวัคซีนที่ทำมาจากเซลล์เพาะเลี้ยง ชนิด 5 เข็ม

•    ถาม ถ้าอยากรอดูสุนัขก่อนฉีดวัคซีนจะได้หรือไม่
•    ตอบ ไม่ควร เพราะ
1.    ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนตายตัว ว่าควรจะดูอาการสัตว์ไปนานเท่าไร จึงจะแน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ มีผู้ป่วยหลายราย เสียชีวิตด้วยพิษสุนัขบ้า ก่อนสุนัขที่กัดจะตายไปก็มี
2.    สุนัข สามารถปล่อยเชื้อไวรัสออกมาในน้ำลาย ก่อนที่สุนัขจะมีอาการได้ถึง 14 วัน ระหว่างสังเกตอาการ เชื้ออาจกำลังเจริญเติบโตที่บาดแผล การฉีดล่าช้า อาจไม่ทันการ
3.    จากการศึกษาแหล่งต่างๆในประเทศไทย พบว่าสุนัขจรจัด ตรวจพบมีไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่ในสมองได้ ถึงร้อยละ 0.25 - 6.8 โดยที่ไม่มีอาการอะไรเลย
4.    จากการตรวจสมองสุนัข ของสถานเสาวภา สุนัขที่ฉีดวัคซีนครบตลอด 2 ปี ร้อยละ 8 ยังพบว่า เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
5.    วัคซีนในปัจจุบัน มีความปลอดภัยสูง จำนวนครั้งที่ฉีดน้อย ไม่เหมือนวัคซีนรุ่นเก่า

•    ถาม คนที่ถูกสุนัขที่ฉีดวัคซีนแล้วกัด จะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่
•    ตอบ มี สถานเสาวภาพบว่า สุนัขบางตัวที่ถูกฉีดวัคซีนมาก่อนแล้ว ก็อาจจะเป็นบ้าได้

•    ถาม ถ้าคนที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แล้วถูกสุนัขกัดอีก จำเป็นต้องมาฉีดซ้ำหรือไม่
•    ตอบ ต้องฉีดวัคซีนซ้ำทุกครั้ง ส่วนจำนวนเข็มที่ฉีด จะน้อยกว่าแบบปกติ ขึ้นกับระยะเวลาห่างจากครั้งก่อน
แหล่งข้อมูล : กองวิทยาศาสตร์ (สถานเสาวภา) สภากาชาดไทย

๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา


รับสมัครแกนนำเยาวชนจังหวัดกำแพงเพชร " M O D เฮ้ว "
กรอกใบสมัครได้ที่ //goo.gl/hMWVmu
สนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่ 085 479 4153 " จืด " ผู้ประสานงานโครงการ

เฟสโครงการพัฒนาแกนนำเยาวชน 'มดเฮ้ว'

ปล. เท่าที่อ่านจากเฟส มดเฮ้ว ..ไม่แน่ใจว่า รับสมัครถึงวันไหน แต่จะมีการอบรมวันที่ ๓ - ๕ พฤษภาคม นี้ ถ้าใครสนใจ ก็ด่วนเลยครับ








 

Create Date : 25 กันยายน 2558   
Last Update : 25 กันยายน 2558 21:25:45 น.   
Counter : 637 Pageviews.  

2558 04 25 โรคลมแดด สงกรานต์ วันปีใหม่ไทย แต่กลายเป็น ๗ วันอันตราย ตายเจ็บเพียบ ?

 วันเสาร์ บ่ายสองโมง-บ่ายสามโมง วันดีเวลาดี ที่เราจะได้มาพบกัน ในรายการ " คุณหมอ ขอคุย (เรื่องดี ๆ ) "
สถานีวิทยุชุมชน เครือข่ายประชาชนกำแพงเพชร 100.25 mHz.
ดำเนินรายการโดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
โทรศัพท์ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ หมายเลข 055 - 714 417  

วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ  โรคที่พบบ่อย
- โรคลมแดด (Heatstroke)
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
- สงกรานต์ วันปีใหม่ไทย แต่กลายเป็น ๗ วันอันตราย ตายเจ็บเพียบ ?  
๓. ข่าวสาร การจัดงานโน่นนี่นั่น ในบ้านเรา
- วันอาทิตย์ ๒๖ เมย.๕๘  “งด” จัดงานศิลป์ในสวน โฮมเมดแฮนด์เมด ครั้งที่ ๕ เลื่อนไปจัดวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๘  ( วันอาทิตย์ที่ ๒๙ พย.๕๘)  จัด ๓ ครั้ง ( พย.-ธค.-มค )
- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
- นั่งรถไฟฟ้า เส้นทางบุญ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเขตเทศบาลเมืองฯ รอบเช้า ๐๙.๐๐ น.  รอบบ่าย ๑๖.๐๐ น. ( ระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ) จุดขึ้นรถ บริเวณ ลานโพธิ์ หน้าอำเภอเมือง ไม่ต้องจองล่วงหน้า  และ ฟรี   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองกำแพงเพชร (ในเวลาราชการ) โทร ๐๕๕ – ๗๑๘ ๒๐๐ ต่อ ๓๒๒  ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โทร ๐๙๔ – ๖๓๖ ๖๓๖๙



๑. ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย  

โรคลมแดด ( อุณหพาต , ฮีทสโตรก
ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะนับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทย ขณะนี้สภาพอากาศร้อนจัดกว่าทุกปี ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหลายโรค เช่น โรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปน เปื้อนเข้าไปซึ่งเกิดบ่อยที่สุด แต่โรคที่มีการพูดถึงกันน้อย คนเป็นบ่อยช่วงหน้าร้อนคือ "โรคฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke) แต่บางที่ก็เรียกว่า "โรคอุณหพาต" หรือ "โรคลมเหตุร้อน" นั้นเอง
โรคลมแดด (Heatstroke หรือ Heat illness หรือ Heat-related illness) เป็นภาวะที่เกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมสูง เช่น ในฤดูร้อนจัด จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนที่เกิดจากการใช้พลังงานของร่างกายตามปกติได้ ส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติขึ้น
เมื่ออุณหภูมิในสิ่งแวดล้อม (อากาศ) สูงขึ้น จะส่งผลให้ร่างกายเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน สูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีการศึกษาพบว่า ร่างกายจะเพิ่มการเผาผลาญพลังงานเพิ่มสูงขึ้น 10% เมื่ออุณหภูมิของอากาศเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.6 องศาเซลเซียส

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด?
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด ได้แก่
    ผู้สูงอายุ เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค กินยาบางชนิดที่อาจก่อให้การระบายความร้อนของร่างกายลดลง รวมทั้งอวัยวะต่างๆที่ทำหน้าที่ระบายความร้อน เช่น หลอดเลือด หัวใจ และปอดยังทำงานเสื่อมลง นอกจากนั้น ผู้สูงอายุมักดื่มน้ำน้อย ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย และต้องพึ่งพาผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน
    เด็ก โดยเฉพาะเด็กอ่อน และเด็กเล็ก เพราะร่างกายเด็กมีการเผาผลาญพลังงานสูงกว่าในผู้ใหญ่ อวัยวะต่างๆรวมทั้งที่ใช้ช่วยระบายความร้อนยังมีขนาดเล็ก และเด็กยังต้องได้รับการดูแลจากผู้อื่น
    โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะผิวหนังมีไขมันมาก จึงระบายความร้อนได้ไม่ดี นอกจากนั้น มักมีโรคประจำตัว หรือ อวัยวะต่างๆรวมทั้งอวัยวะที่ช่วยระบายความร้อนมีการทำงานได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับคนปกติ
    คนมีโรคประจำตัว ที่ต้องกินยาหลายชนิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบการระบายความร้อนของร่างกาย เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาลดความอ้วน ยาขับน้ำ ยาแก้ท้องผูก (ยาถ่าย) ยากันชัก และยาทางจิตเวชบางชนิด
    นักกีฬา คนทำงานกลางแดด เช่น ทหาร เกษตรกร กรรมกร และผู้ที่ออกกำลังมากเกินควรโดยเฉพาะกลางแจ้ง
    ติดสุรา หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงอากาศร้อน เพราะเพิ่มการขับน้ำออกจากร่างกาย
    บางคน (พบได้น้อย) มีพันธุกรรมที่ทนต่อความร้อนได้น้อยกว่าคนทั่วไป

โรคลมแดดมีความรุนแรง และมีอาการอย่างไร?
โรคจากอากาศร้อนแบ่งตามความรุนแรงจากน้อยไปหามาก ได้เป็น 5 ระดับ คือ การขึ้นผื่นแดด (Heat rash) การเกิดตะคริวแดด (Heat cramp) การหมดสติชั่วคราวจากแดด/ร้อน (Heat syncope) การหมดแรงเพราะแดด/ร้อน (Heat exhaustion) และโรคลมแดด (Heat stroke)
    ผื่นแดด(Heat rash)    ผิวหนังชื้นแฉะจากเหงื่อ จึงเกิดผื่นคันเม็ดเล็กๆ สีออกชมพู (ผด) ซึ่งเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วน โดยเฉพาะ ลำคอ ในร่มผ้า และตามข้อพับต่างๆ
    ตะคริวแดด (Heat cramp)    กล้ามเนื้อหดเกร็งจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากทางเหงื่อ ส่งผลให้เกิดอาการปวด/เจ็บกล้ามเนื้อ พบบ่อยบริเวณหน้าท้อง แขน และขา
    การหมดสติชั่วคราวจากแดด/ร้อน (Heat syncope)    อาการคือ อ่อนเพลีย วิง เวียน และหมดสติชั่วคราว
    การหมดแรงเพราะแดด/ร้อน (Heat exhaustion)    อาการคือ เหงื่อออกมาก เพลีย หมดแรง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว มีไข้ต่ำๆ ดูซีด หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ตื้น เหนื่อย วิงเวียน สับสน
    โรคลมแดด (Heatstroke)   เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกาย (core temperature) สูงกว่า 40 องศา เซลเซียส อาการคือ เหงื่อออกน้อย ผิวหนังร้อน สั่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ปวดศีรษะ พูดช้า สับสน เห็นภาพหลอน หายใจเร็ว ตื้น เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว มีไข้สูง หมดสติ ช็อก โคม่า หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
     สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที

ดูแลตนเองอย่างไร?
    หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัดเป็นเวลานาน พยายามอยู่ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีลมพัด/มีพัดลม ใช้พัดช่วย หรือใช้เครื่องปรับอากาศ
    เมื่อออกแดด ใช้ร่ม หรือ สวมหมวกปีกกว้าง
    สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ผ้าที่ระบายอากาศได้ดี (ผ้าฝ้าย 100%) สีขาวหรือสีอ่อน
   ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว แต่เมื่อเหงื่อออกมากและเริ่มเพลีย อาจต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ หากร่างกายได้รับน้ำปริมาณที่น้อย  จะมีสีเหลืองเข้มมากขึ้น และปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ
    หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากในช่วงอากาศร้อน
    งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดหรืองดดื่ม เครื่องดื่มกาเฟอีน เพราะเครื่อง ดื่มเหล่านี้เพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น

    การดูแลตนเองเมื่อเกิดผื่นแดด นอกเหนือจากการดูแลโดยทั่วไปดังกล่าวแล้ว การดู แลตนเองเมื่อเกิดผื่นแดด คือ การอาบน้ำบ่อยขึ้น การทาแป้ง และทายาบรรเทาอาการคัน เช่น น้ำยาคาลามาย (Calamine lotion) ระวังอย่าเกา เพราะแผลเกาอาจติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงควรตัดเล็บให้สั้น
    การดูแลตนเองเมื่อเกิดตะคริวแดด คือ รีบกลับเข้าพักในที่ร่ม อากาศเย็น ถ่ายเทได้ดี ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ พักการทำงานอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพราะถ้ารีบกลับไปทำงาน มักทำให้อาการรุนแรงขึ้น แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์ตั้งแต่แรก รวมทั้งเมื่ออาการตะคริวเลวลง หรือไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมง
    การดูแลตนเองเมื่อวิงเวียนจะเป็นลมจากอากาศร้อน เมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าวแล้ว ควรรีบเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้ดี นั่งลง หรือนอนเอนตัว ปลดเสื้อผ้าให้หลวมสบาย จิบน้ำ หรือ เครื่องดื่มเกลือแร่ช้าๆ และถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือ เลวลง รีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
    การดูแลตนเองเมื่อหมดแรงจากแดด คือ การเข้าพักในที่ร่ม อากาศเย็น ถ่ายเทได้ดี ดื่มน้ำมากๆโดยเฉพาะน้ำเย็น งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง ควรรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
    การดูแลตนเองเมื่อมีอาการลมแดด คือ การไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดด
       หากพบผู้ที่บ่นว่าร้อน คลื่นไส้ เวียนศีรษะ มีเหงื่อออกผิดสังเกต มีอาการงง พูดช้าลง เลอะเลือน การเคลื่อนไหวช้าลง โซเซ ควรพาผู้ป่วยไปพักในที่ร่มทันที เปิดเครื่องปรับอากาศ และใช้น้ำเย็นเช็ดตัวให้ผู้ป่วย เนื่องจากอาการในช่วงนี้จะคืบหน้าไปสู่อาการแบบรุนแรงอย่างรวดเร็ว
หากพบเจอผู้เป็นโรคลมแดดสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดย
     • นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก
     • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศรีษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
     • เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล โดยควรหาพาหนะที่ผู้ป่วยสามารถนอนได้และมีเครื่องปรับอากาศ และจัดท่านนอนของผู้ป่วยให้เท้ายกสูงขึ้นกว่าศีรษะ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวให้จับนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง ระวังอย่าให้มีอะไรอยู่ในปากและอย่าให้ผู้ป่วยจิบน้ำ ซึ่งหากไม่มีรถที่ผู้ป่วยสามารถนอนไปได้ ควรเรียกรถพยาบาล เพราะการนั่งตัวตรงอาจทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองของผู้ป่วยได้


๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
- สงกรานต์ วันปีใหม่ไทย แต่กลายเป็น ๗ วันอันตราย ตายเจ็บเพียบ ?  

การแถลงข่าวปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์
ปี 2558  เกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 364 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,559 คน
ปี 2557  เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 322 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,225 คน

โดยพบว่าปีนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 42 ราย มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 334 คน และ มีจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 381 ครั้ง
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 141 ครั้ง
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 16 ราย
จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 152 คน
จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร
จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 7 วันของการรณรงค์ มี 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.31 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.35
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.34 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 28.51
ร้อยละ 62.89 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 37.29 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.14
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 30.50
ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.58

ร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ มีปัจจัยเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย
กว่าร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็ว
มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกว่าร้อยละ 16




“แนวคิดสงกรานต์ปลอดภัย ทำให้มีรณรงค์ ในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ โดยนำ 7 มาตรการสำคัญมาใช้ คือ ประกาศ ห้าม ขอ แลก ฝาก เฝ้า และ สร้าง
1. "ประกาศ" การประกาศนโยบายจัดงานปลอดเหล้า
2. "ห้าม" การห้ามไม่ให้มีการขายการดื่มในงาน
3. "ขอ" การขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการร้านค้า
4. "แลก" การนำสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหรือน้ำดื่มชนิดอื่น ๆ มาแลกกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจมีคนถือเข้ามาในงาน
5. "ฝาก" การฝากแอลกอฮอล์ไว้ในจุดที่กำหนดไว้
6. "เฝ้า" การเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในพื้นที่จัดงาน  
7. "สร้าง" การสร้างกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมจะช่วยให้สังคมยึดแบบแผนของวัฒนธรรมที่ดีงามและมี รวมทั้งรักษาคุณค่าความหมายของประเพณีสงกรานต์ได้เป็นอย่างดี"

การทำสงกรานต์ให้ปลอดภัย ประชาชนเที่ยวชมสบายใจ ไม่ยาก แค่ 3 ข้อเท่านั้น
1. เจ้าภาพผู้จัดงานต้องลดปัจจัยเสี่ยง
จัดให้มีการรณรงค์ ประกาศเป็นนโยบาย มีการตรวจตราและเฝ้าระวังโดยเจ้าหน้าที่เพื่อลดการดื่ม-การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่เล่นน้ำ จัดกิจกรรมฝากเหล้าไว้กับตำรวจ น้ำดื่มชื่นใจแลกเหล้า
 2. เพิ่มพื้นที่ดี
การกำหนดขอบเขตของพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยที่ชัดเจน การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมการแสดงออกในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การละเล่นต่างๆ
3. มีความร่วมมือของผู้ร่วมจัดงาน
ตำรวจ สรรพสามิต เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมมือกันเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยตลอดงานเทศกาล







 

Create Date : 25 กันยายน 2558   
Last Update : 25 กันยายน 2558 21:22:24 น.   
Counter : 517 Pageviews.  

2558 04 11 โรคหน้าร้อน สงกรานต์ ปลอดเหล้าที่กำแพงเพชร

 วันเสาร์ บ่ายสองโมง-บ่ายสามโมง วันดีเวลาดี ที่เราจะได้มาพบกัน ในรายการ " คุณหมอ ขอคุย (เรื่องดี ๆ ) "
สถานีวิทยุชุมชน เครือข่ายประชาชนกำแพงเพชร 100.25 mHz.
ดำเนินรายการโดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
โทรศัพท์ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ หมายเลข 055 - 714 417

วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ  โรคที่พบบ่อย
- โรคหน้าร้อน ?
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
- กำแพงเพชร สงกรานต์ปลอดเหล้า
๓. ข่าวสาร การจัดงานโน่นนี่นั่น ในบ้านเรา
“๑๒ - ๑๕ เมย.๕๘ เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์เมืองกำแพง” จัดโดย เทศบาลเมืองกำแพงเพชร
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.680635542059976.1073741891.146082892181913&type=3
๑๕ เมย.๕๘  พิธีรดน้ำขอพรแสดงกตเวฑิตา ครูโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม (วัชร-นารี)
เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. (พิธีรดน้ำขอพร เริ่มเวลา ๑๒.๐๐ น.) ณ ลานธรรม โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม
https://www.facebook.com/alumnikps/media_set?set=a.646598265462992.1073741910.100003384721086&type=3
๑๘ เมย.๕๘  งานประเพณีสงกรานต์ โรงพยาบาลกำแพงเพชร

- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
- นั่งรถไฟฟ้า เส้นทางบุญ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเขตเทศบาลเมืองฯ รอบเช้า ๐๙.๐๐ น.  รอบบ่าย ๑๖.๐๐ น. ( ระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ) จุดขึ้นรถ บริเวณ ลานโพธิ์ หน้าอำเภอเมือง ไม่ต้องจองล่วงหน้า  และ ฟรี   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองกำแพงเพชร (ในเวลาราชการ) โทร ๐๕๕ – ๗๑๘ ๒๐๐ ต่อ ๓๒๒  ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โทร ๐๙๔ – ๖๓๖ ๖๓๖๙



๑. ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย  

โรคหน้าร้อน ?
1.    โรคทางเดินอาหาร  
2.    โรคพิษสุนัขบ้า
3.    โรคลมแดด
4.    การจมน้ำ

1 โรคทางเดินอาหาร
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์ โดยพบมากที่สุด คือ โรคอุจจาระร่วง ป่วย 175,270 ราย เสียชีวิต 2 ราย  
หลักสำคัญในการป้องกัน ก็คือ สุขอนามัย ที่ดี  โดยยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หลังเข้าห้องส้วมต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง
สาเหตุที่ควรรับประทานอาหารขณะที่ยังร้อนอยู่  เนื่องจากถ้าปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง เชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตได้  
อาหารสดก่อนนำมา ปรุง ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า 2-3 ครั้ง
ส่วนผักหลังจากล้างน้ำควรแช่ในน้ำผสมเกลือ อัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำส้มสายชู อัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือเบคกิ้งโซดา อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร ทิ้งไว้ 15-30 นาที แล้วล้างน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง
ที่สำคัญควรล้างมือก่อนปรุงอาหาร และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารหรือสวมถุงมือในการหยิบจับอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ผู้ปรุงมักจะใช้มือสัมผัสในระหว่างการปรุง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ขนมจีน
สำหรับอาหารที่ทำขาย หากระยะเวลาจำหน่ายนานมากควรนำมาอุ่นทุกๆ 4 ชม.
อาหารปรุงสำเร็จที่ซื้อมารับประทานหากไม่รับประทานทันทีควรเก็บในตู้ เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ หากจะรับประทานอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นนานเกิน 4 ชั่วโมง หรือเก็บไว้ค้างคืน ต้องนำมาอุ่นให้เดือดด้วยความร้อนอย่างทั่วถึงก่อน
น้ำดื่ม ควรต้มสุกหรือดื่มน้ำที่บรรจุขวดที่ได้มาตรฐานน้ำบริโภค
น้ำแข็งต้องเป็นน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อการบริโภคและได้มาตรฐานรับรองเท่านั้นน้ำแข็งหลอดจะปลอดภัยกว่าน้ำแข็งป่น แต่ในช่วงนี้ควรรับประทานน้ำในขวดที่แช่เย็นโดยไม่ต้องใส่น้ำแข็งจะปลอดภัยมากกว่า
การดูแลรักษาเบื้องต้น
เมื่อเกิดโรคอุจจาระร่วงสามารถเริ่มต้นรักษาได้ที่บ้านโดยใช้กฎ 3 ข้อ ขององค์การนามัยโลก
1. ให้สารน้ำละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือ ของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ  (สามารถทำ  ORS  ได้เองโดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมเกลือแกงครึ่งช้อนชา ลงในน้ำต้มสุก 1 ขวด (ประมาณ 750 ซีซี))
2. ให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
3. เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์
ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้ท้องเสียรับประทานเอง เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับไล่ของ เสีย สารพิษและเชื้อโรคออกจากร่างกาย การรับประทานยาหยุดถ่ายหรือยาแก้ท้องเสียทำให้ลำไส้ต้องเก็บกักเชื้อโรคไว้ นานขึ้น และทำให้ท้องอืดแน่น
เมื่อใดควรไปพบแพทย์
1. ถ่ายเหลวมากกว่า ๓ ครั้ง ถ่ายเป็นมูกเลือด มีไข้
2. อาการท้องเสีย ไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง
3. เป็นในผู้ป่วยโรคที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กหรือผู้สูงอายุ ที่มีอาการขาดน้ำมาก ซึมลง
4. อาเจียนรุนแรง จนไม่สามารถรับประทานอาหาร หรือน้ำได้

2โรคพิษสุนัขบ้า
ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย มีพาหะหลักคือสุนัข และแมว ติดโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล และไม่มียารักษา แต่ก็สามารถป้องกันได้ ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดคือ อย่าไปแหย่สุนัข หากเห็นสุนัขท่าทางไม่น่าไว้วางใจก็ควรพยายามเดินเลี่ยง  แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วโดนกัด วิธีที่ดูแลตนเองในเบื้องต้นก็คือล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หากมียาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ ก็ใส่แผลได้เลย จากนั้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

 3.โรคลมแดด ( อุณหพาต , ฮีทสโตรก) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับ ความร้อนมากเกิน ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หากรุนแรงอาจมีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
สัญญาณสำคัญของโรคลมแดด ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย
บุคคลที่เสี่ยงต่อโรคลมแดด คือ ทหาร นักกีฬา ผู้สูงอายุ เด็ก คนดื่มสุราจัด โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
วิธีป้องกัน
ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้ทำงานในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว    แต่เมื่อเหงื่อออกมากและเริ่มเพลีย อาจต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่
สวมใส่เสื้อผ้าหลวม มีสีอ่อน ไม่หนา และระบายความร้อนได้ดี (ผ้าฝ้าย)
หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะ การเล่นกีฬา หรือการออกกำลังกายที่เสียเหงื่อมากในช่วงอากาศร้อน พยายามอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้ดี เมื่อออกแดด ใช้ร่ม หรือ สวมหมวกปีกกว้าง
งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำกัดหรืองดดื่ม เครื่องดื่มกาเฟอีน เพราะเครื่อง ดื่มเหล่านี้เพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ร่างกายจึงเสียน้ำและเกลือแร่มากขึ้น
วิธีรักษา
       - ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
       - คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น
       - ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก
       - ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือเทน้ำเย็นราดตัว
       - ถ้าอาการไม่มาก ให้ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

5.การป้องกันเด็กจมน้ำ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะตรงกับช่วงปิดเทอม ซึ่งมักจะมีข่าวว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเป็นเสียชีวิตมาเป็นอันดับ 1
 มาตรการที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ“ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่
1. ตะโกน คือ การเรียกให้คนอื่นมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669
2. โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า โดยโยนครั้งละหลายๆชิ้น
3. ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ โดยไม่ต้องกระโดดลงไปช่วย เพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆ คน เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือผู้อื่นที่ถูกต้อง


๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
กำแพงเพชร สงกรานต์ปลอดเหล้า
ครม.ออกกฎเข้ม 8 ข้อห้ามรับสงกรานต์ 58 รณรงค์ใช้ขันเล่นน้ำตามประเพณี
1. การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลม โดยรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง หรือเสื้อลายดอก
2. การห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมงานสงกรานต์
3. การห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน แป้ง น้ำแข็ง และ โฟม
4. การห้ามใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงหรืออุปกรณ์เล่นน้ำที่อาจเกิดอันตราย โดยรณรงค์ให้ใช้ ขันน้ำ ตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
5. การห้ามขับรถกระบะบรรทุกน้ำในการเล่นน้ำสงกรานต์ไปในที่ชุมชนหรือบริเวณจัดงาน
6. การแสดงภาพลักษณ์ที่เหมาะสมในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยรณรงค์ไม่ให้มีการแสดงหรือการเต้นที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
7. หากมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมประเพณีงานสงกรานต์ ขอให้จัดกิจกรรมที่สอดคล้องและส่งเสริมประเพณีไทย
8. ขอให้มีการกำหนดเวลาการเล่นน้ำที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการจราจร และการเกิดอาชญากรรมในยามวิกาล

ช่วงเทศกาลสงกรานต์สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของอุบัติเหตุ พบว่า สงกรานต์ปี 2557 ที่ผ่านมา มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2,992 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,225 ราย และผู้เสียชีวิต 322 ราย
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเมาแล้วขับ ร้อยละ 36.76
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.14 และ
อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.60 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.74
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของประชาชนที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ และการออกมาเล่นสาดน้ำ

“แนวคิดสงกรานต์ปลอดภัย ทำให้มีรณรงค์ ในรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ โดยนำ 7 มาตรการสำคัญมาใช้ คือ ประกาศ ห้าม ขอ แลก ฝาก เฝ้า และ สร้าง
1. "ประกาศ" การประกาศนโยบายจัดงานปลอดเหล้า
2. "ห้าม" การห้ามไม่ให้มีการขายการดื่มในงาน
3. "ขอ" การขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการร้านค้า
4. "แลก" การนำสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านหรือน้ำดื่มชนิดอื่น ๆ มาแลกกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจมีคนถือเข้ามาในงาน
5. "ฝาก" การฝากแอลกอฮอล์ไว้ในจุดที่กำหนดไว้
6. "เฝ้า" การเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในพื้นที่จัดงาน  
7. "สร้าง" การสร้างกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมจะช่วยให้สังคมยึดแบบแผนของวัฒนธรรมที่ดีงามและมี รวมทั้งรักษาคุณค่าความหมายของประเพณีสงกรานต์ได้เป็นอย่างดี"
สสส. ภาครัฐ และประชาสังคมเครือข่ายงดเหล้า 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขอรณรงค์ 7 มาตรการสงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าด้วยกัน คือ
1. พื้นที่โซนนิงเล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย
2. สร้างนโยบายสาธารณะให้สงกรานต์ปลอดภัย
3. ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ปลอดแป้งสี ปลอดโป๊ ปลอดน้ำแข็ง ปลอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูง
 4. สนับสนุนกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน
5. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการตลาดที่ไม่รับผิดชอบจากธุรกิจแอลกอฮอล์
6. ใช้มาตรการชุมชน เพื่อปกป้องดูแลลูกหลาน
7. ฟื้นประเพณีวัฒนธรรมสงกรานต์ไทยๆ

โดยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ปี 2556 จากจำนวน 6700 ตัวอย่างทั่วประเทศ
ร้อยละ 85 เห็นด้วยกับการจัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย
ร้อยละ 79.3 เห็นด้วยที่เจ้าภาพจัดงานไม่รับสปอนเซอร์จากธุรกิจเหล้าเบียร์
ร้อยละ 82 เห็นด้วยกับการมีมาตรการควบคุมไม่ให้มีไม่ให้มีแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำ
และร้อยละ 78 อยากให้รัฐออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศในช่วงสงกรานต์”

การทำสงกรานต์ให้ปลอดภัย ประชาชนเที่ยวชมสบายใจ ไม่ยาก แค่ 3 ข้อเท่านั้น
1. เจ้าภาพผู้จัดงานต้องลดปัจจัยเสี่ยง
จัดให้มีการรณรงค์ ประกาศเป็นนโยบาย มีการตรวจตราและเฝ้าระวังโดยเจ้าหน้าที่เพื่อลดการดื่ม-การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่เล่นน้ำ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า น้ำเมาและคนเมา เป็นสาเหตุสำคัญของความไม่ปลอดภัย ความสูญเสียและความรุนแรงนานาประการ
 2. เพิ่มพื้นที่ดี
การกำหนดขอบเขตของพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยที่ชัดเจน การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมการแสดงออกในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การละเล่นต่างๆ
จัดกิจกรรมฝากเหล้าไว้กับตำรวจ น้ำดื่มชื่นใจแลกเหล้า
 3. มีความร่วมมือของผู้ร่วมจัดงาน
ตำรวจ สรรพสามิต เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมมือกันเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยตลอดงานเทศกาล

ทำพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย  หลัก 5 ข้อ เพื่อความสุขสนุกของผู้ร่วมงานอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ ได้วัฒนธรรม
1. ติดป้ายประกาศแสดงขอบเขตพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย (Zoning)ไร้แอลกอฮอล์
2. มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราเฝ้าระวังดูแลก่อนเข้าบริเวณงาน
3. ไม่อนุญาตให้มีการขายหรือดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่นั้น พร้อมมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืน
4. หากมีการดื่มหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่นน้ำเกินกว่าเหตุมีการแสดงที่เกินเลยจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลสั่งการโดยตรงแบบทันท่วงที
5. ความสนุกและสาระการทำบุญยังมีอยู่ครบ สังเกตว่าทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส โดยไม่ต้องดื่มเหล้าย้อมใจ




 

Create Date : 25 กันยายน 2558   
Last Update : 25 กันยายน 2558 21:19:53 น.   
Counter : 648 Pageviews.  

2558 03 28 การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน ศิลป์ในสวน ต้นโพธิ์

 วันเสาร์ บ่ายสองโมง-บ่ายสามโมง วันดีเวลาดี ที่เราจะได้มาพบกัน ในรายการ " คุณหมอ ขอคุย (เรื่องดี ๆ ) "
สถานีวิทยุชุมชน เครือข่ายประชาชนกำแพงเพชร 100.25 mHz.
ดำเนินรายการโดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์
โทรศัพท์ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ หมายเลข 055 - 714 417

วันเสาร์นี้ คุยกันเรื่อง
๑. ความรู้สุขภาพ  โรคที่พบบ่อย
- อันตรายจากการฉีดยา
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา
- งานศิลป์ในสวน ครั้งที่ ๔  วันอาทิตย์ ๒๙ มีค.๕๘ เวลา ๑๔.๐๐–๑๘.๐๐ น. สวนสิริจิต
- พิธีทำบุญสืบชะตาต้นโพธิ์ หน้าเมือง ปีที่ ๓ วันพฤหัสบดี ๒ เมย.๕๘ เวลา ๐๗.๐๙–๐๘.๐๙ น. ต้นโพธิ์หน้าเมือง
๓. ข่าวสาร การจัดงานโน่นนี่นั่น ในบ้านเรา
- วันที่ ๒๘ มีค - ๓ เมย.๕๘ ( ๗ วัน) มหกรรม OTOP ภูมิภาค ณ ลานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สิริจิตอุทยาน
- วันอาทิตย์ ๒๙ มีค.๕๘ งานศิลป์ในสวน โฮมเมดแฮนด์เมด ครั้งที่ ๔ เวลา ๑๔.๐๐–๑๘.๐๐ น. สวนสิริจิต
- วันพฤหัสบดี ๒ เมย.๕๘ พิธีทำบุญสืบชะตาต้นโพธิ์ หน้าเมือง ปีที่ ๓ เวลา ๐๗.๐๙–๐๘.๐๙ น. ต้นโพธิ์หน้าเมือง
- วันพฤหัสบดี ๒ เมย.๕๘ พิธีทำบุญตักบาตร ข้าวสารอาหารแห้ง วัดคูยาง
- วันพฤหัสบดี ๒ เมย.๕๘ กิจกรรมเทิดพระเกียรติ วันอนุรักษ์มรดกไทย เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พิพิธภัณฑ์สถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ (เรือนไทย)
    เวลา ๐๗.๓๙ น. พิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์ ๖๑ รูป
    เวลา ๑๐.๐๐ น. พิธีมอบเกียรติบัตร นักเรียนชุมนุมนาฎศิลป์ศูนย์จริยศึกษา สธ. รุ่นที่ ๑๕
    เวลา ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐ น. การประกวดขับร้องเพลงส้มตำ การประกวดเดี่ยวเครื่องดนตรีไทย
    เวลา ๑๘.๐๐ น. การแสดงอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทยเฉลิมพระเกียรติ๖๐พระชันษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
    สอบถามโทร  ๐๕๕-๗๒๒๓๔๒  ๐๘๑-๙๕๓๔๙๐๗  , ๐๘๖-๖๗๔๐๐๐๗
เชิญร่วมการประกวดขับร้องเพลงส้มตำ (ระดับประชาชนทั่วไป) และ การประกวดเดี่ยวเครื่องดนตรีไทย (ระนาดเอก ขิม ซออู้ ซอด้วง)
สมัครและสอบถามรายละเอียดได้ที่  
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร  โทร. ๐๕๕-๗๐๖๕๕๕  ต่อ  ๑๖๐๑  
อ.พลากร  ทิพย์มาลา  โทร  ๐๘๗ ๒๑๑ ๖๗๕๒   
อ.อนุลักษณ์  อาสาสู้  โทร  ๐๙๒-๕๐๙๙๗๓๘  ๐๙๖-๗๙๘๖๙๕๘  
อีเมลล์ dewey1954@hotmail.co.th
ดาว์นโหลดเอกสารได้ที่ //www.mediafire.com/download/a7vghl85lv2d9pc/ประกวด_2เมย58.zip
•หมดเขตรับสมัคร  วันพุทธที่ ๑ เมษายน  ๒๕๕๘
เครดิตภาพ สำนักศิลปากรที่๖ สุโขทัย //www.finearts.go.th/fad6

ปล. วันที่ ๒ เมย. เช้า มีตักบาตรทำบุญ ๓ แห่ง เรือนไทย + วัดคูยาง + ต้นโพธิ์ เลือกได้ตามสะดวก ^_^

- วันพุธ ๑๕ เมย.๕๘ พิธีรดน้ำขอพรแสดงกตเวทิตา ครูอาจารย์ ของ ร.ร.กพ. (วัชรราษฎร์วิทยาลัย-นารีวิทยา) ปีที่ ๕
เวลา ๑๐.๓๐ - ๑๔.๓๐ น. (พิธีรดน้ำขอพร เริ่มเวลา ๑๒.๐๐ น.)  โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม

- ตลาดเกษตรกร หน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ - ๑๗.๐๐ น
- นั่งรถไฟฟ้า เส้นทางบุญ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเขตเทศบาลเมืองฯ รอบเช้า ๐๙.๐๐ น.  รอบบ่าย ๑๖.๐๐ น. ( ระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ) จุดขึ้นรถ บริเวณ ลานโพธิ์ หน้าอำเภอเมือง ไม่ต้องจองล่วงหน้า  และ ฟรี   สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลเมืองกำแพงเพชร (ในเวลาราชการ) โทร ๐๕๕ – ๗๑๘ ๒๐๐ ต่อ ๓๒๒  ศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองกำแพงเพชร โทร ๐๙๔ – ๖๓๖ ๖๓๖๙



๑. ความรู้สุขภาพ โรคที่พบบ่อย  
การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน

การฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน
เรามักจะได้ยินคนพูดกันบ่อยๆ ว่า
"ถ้า จะให้หายป่วยเร็วๆ ต้องฉีดยา" หรือ "ยาฉีดแรงกว่ายากิน เลยได้ผลดีกว่า"

แม้แต่บทสนทนากับหมอ...
"หมอ ผมขอยาฉีดได้ไหม จะได้หายเร็วๆ" หรือ
"ถ้า ไม่ฉีดยาแล้วจะหายหรือคะ"

การฉีดยา ในปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย มีผู้ป่วยหลายคนที่บอกกับแพทย์ว่าต้องการให้ฉีดยา รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข หรือประชาชนทั่วไป ก็มักจะมองแต่ข้อดีของการฉีดยา จนบางครั้งละเลยเรื่องผลเสียที่อาจเกิดขึ้น เช่น
1.การแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ซึ่งอาการแพ้ยานี้อาจเป็นได้ตั้งแต่การแพ้ยาเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นผื่น หน้าบวม ปากบวม จนกระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะยาฉีดเข้าเส้นเลือดซึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที หากพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาหรือได้ยาผิด ก็จะมีอาการรวดเร็ว และรุนแรงกว่ายากินมาก
2. การติดเชื้อ หรือการอักเสบบริเวณที่ฉีดยา โดยเฉพาะในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นโรคเบาหวาน โรคไตวาย อ้วนมากฉีดแล้วแทงเข็มไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อและยาระคายเคือง มากก็อาจเกิดฝีได้ นอกจากนี้ถ้าเทคนิคการฉีดไม่สะอาดพอก็เกิดการอักเสบติดเชื้อได้
3. ราคาแพง
4. ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะ ( ยาฆ่าเชื้อ ) อาจทำให้เกิดการดื้อยา
5. การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย (ถ้าอุปกรณ์การฉีดยาและวิธีการฉีดยาที่ไม่สะอาดพอ)
6. การฉีดยาผิดตำแหน่ง ทำให้แทงถูกเส้นเลือดหรือเส้นประสาท มีตัวอย่างผู้ป่วยที่เคยมาหาหมอ บางคนไปฉีดยาแก้ไข้หวัด แต่ปรากฏว่าเท้าขวากระดกไม่ขึ้น ชาใต้เข่าลงไปถึงหลังเท้า ทั้งๆที่ก่อนไปฉีดยาลดไข้ก็ปกติดี รายนี้เป็นตัวอย่างของการฉีดยาที่สะโพกผิดตำแหน่งทำให้ถูกเส้นประสาท

ทำไมผู้ป่วยจึงชอบฉีดยา?
เป็นคำถามที่มีผู้ทำการศึกษาจากหลายแห่ง พบว่ามีคำตอบที่คล้าย ๆ กันว่า อาจจะเนื่องจากเชื่อว่ายาฉีดออกฤทธิ์แรงกว่า เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพดีกว่ายารับประทาน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าใดนัก เพราะในปัจจุบันยารับประทาน ก็มีการออกฤทธิ์ที่รวดเร็ว อาจช้ากว่าวิธีฉีดประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนประสิทธิภาพก็แทบจะไม่แตกต่างกัน

โดยทั่วไปแล้วตามหลักการใช้ยา แพทย์จะคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ไม่ได้มุ่งที่การออกฤทธิ์เร็วเพียงอย่างเดียว การใช้ยากินจึงค่อนข้างปลอดภัย ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้ยาฉีดในบางกรณี เช่น
- โรคบางโรค ต้องใช้ยาที่มีสรรพคุณดีบางอย่างที่ไม่สามารถกินได้
- ป่วยหนักมาก (ฉุกเฉิน หรือวิกฤติ)
- กินยาไม่ได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว อาเจียนมาก กลืนลำบาก สำลัก
- ยาบางชนิดที่มีเฉพาะแบบฉีดเท่านั้น
- ไม่มียากินที่มีสรรพคุณดีเท่ากันหรือดีกว่า

บทความเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้เลิกฉีดยา หรือ ต่อต้านการฉีดยา เพียงแต่ต้องการให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปได้ทราบถึง อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดยาเท่านั้น และ ถ้าไม่จำเป็นก็ควรฉีดยา จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลเสียที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แถมต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย …..

ฝากไว้สำหรับผู้ป่วยว่า "ยาฉีดอันตรายกว่ายากิน" และ ถ้าหมอ จะฉีดยา ให้ถามว่า "จะฉีดยาอะไร ทำไมต้องฉีด มียากินที่ดีเท่ากันหรือดีกว่าไหม และไม่ฉีดได้ไหม " 
๒. ข้อคิดความเห็น เกี่ยวกับบ้านเรา

งานศิลป์ในสวนครั้งที่ ๔
ชมรมศิลป์ในสวน สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.กพ สำนักงานวัฒนธรรม จ.กพ. และ เครือข่ายภาคประชาชน เชิญทุกท่านร่วมงาน  "ศิลป์ในสวน ครั้งที่ ๔"
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ณ สวนสิริจิต โซนเอ ( ฟรี )
( พิธีเปิดงาน เวลา ๑๕.๓๐ น. โดย นาย นลิน ตั้งประสิทธิ์ รอง ผวจ.กำแพงเพชร )

พบกับกิจกรรม หลากหลาย ทั้งดนตรี วาดภาพระบายสี และ กิจกรรมพิเศษ  เช่น
-    ดูดาว ตอนกลางวัน  โดย ชุมนุมดาราศาสตร์ โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม
-    กิจกรรมค่ายปฐมวัย “ร้อง เล่น เต้น สนุก”  โดย โปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร  พบกับกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ 10 ฐาน เช่น ต.เต่า ต้วมเตี๊ยม เข็มกลัดธัญพืช ตุ๊กตากระดาษ หมวกสัตว์ ศิลปะทิชชูจิ้ม เป็นต้น
-    การแสดงละครและเล่านิทานภาษาอังกฤษจากนักเรียน ร.ร.วัดคูยาง
-    คณะละครหุ่น Mommy Puppet ซึ่งมีผลงานระดับประเทศ เช่น รายการเจ้าขุนทอง (ทีวีช่อง ๗) งาน BTF (เทศกาลละครกรุงเทพ) งาน art street @ rajchadamnoen เป็นต้น กิจกรรมทรายสีสร้างศิลป์ ฝึกทำหุ่นนิ้ว ชมการแสดงนิทานหุ่นมือ และ สอนการเชิดหุ่นมือ  
-    ชมภาพถ่ายสวย ๆ จากชมรมถ่ายภาพ จังหวัดกำแพงเพชร ( KP photoclub )
-    เกม กิจกรรมสนุก ๆ จาก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จ.กำแพงเพชร

- พิธีทำบุญสืบชะตาต้นโพธิ์ หน้าเมือง ปีที่ ๓ วันพฤหัสบดีที่  ๒  เมย. ๒๕๕๘ เวลา ๐๗.๐๙–๐๘.๐๙ น.
ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้าจ.กำแพงเพชร (ศพม.กพ.) จัดตั้งขึ้นโดยประกาศสถาบันพระปกเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕    ดำเนินกิจกรรมพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจในวิถีประชาธิปไตยและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการ เรื่องสาธารณะ เรื่องที่เป็นปัญหาและเป็นความต้องการของประชาชน
ต้นโพธิ์หน้าเมืองกำแพงเพชร (ต้นโพธิ์เหนือ) ถือว่าเป็นต้นโพธิ์คู่บ้านคู่เมืองกำแพงเพชร เป็นสาธารณสมบัติอันทรงคุณค่า ทั้งทางสังคมและทางจิตใจของคนกำแพงเพชรมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ต้นโพธิ์ (เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕) ทำให้ประชาชนที่ได้พบเห็นรู้สึกไม่สบายใจ มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางในอินเทอร์เน็ต จนนำมาสู่การพูดคุยกันของแกนนำภาคประชาชนหลายฝ่าย ซึ่งต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะจัดกิจกรรมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาสาธารณสมบัติอันทรงคุณค่านี้ ด้วยการทำพิธีบวชต้นโพธิ์ (สืบชะตาต้นโพธิ์) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ (ครั้งแรก วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๖)
จึงขอเชิญ ทุกท่าน ร่วมทำบุญสืบชะตาต้นโพธิ์ โดยพร้อมเพรียงกัน
                                      (นายชำนาญ วัฒนศิริ)
กำหนดการ
พิธีทำบุญสืบชะตาต้นโพธิ์ (บวชต้นโพธิ์) เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย
วันพฤหัสบดีที่  ๒  เมษายน ๒๕๕๘ เวลา  ๐๗.๐๙ – ๐๘.๐๙  น.
.............................
เวลา   ๐๖.๐๐ น.    - ประชาชนพร้อมกันที่ลานโพธิ์
เวลา   ๐๗.๐๐ น.    - แนะนำขั้นตอนพิธี  พระสงฆ์เดินทางมาถึงลานโพธิ์
เวลา   ๐๗.๐๙ น.    - เริ่มพิธีการสืบชะตาต้นโพธิ์ พระสงฆ์ประจำอาสนะ
- ประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  
- (พิธีกร)   นำบูชาพระรัตตรัย กราบพระ สมาทานศีล รับศีล.   
- พระสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ (นิมนต์พระสงฆ์ยืนรอบต้นโพธิ์)   
    สวดบทพุทธคุณ และพระพุทธเจ้าชนะมาร อาราธนาพระปริตร
- ประธานในพิธี และ ประชาชน ร่วมกันห่มผ้าเหลืองรอบต้นโพธิ์
- พระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถา ประพรหมน้ำมนต์ต้นโพธิ์ ตีฆ้องชัย
-(พิธีกร)  กล่าวนำคำถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์  (ถวายปิ่นโต)
-(พิธีกร)  กล่าวนำคำถวายข้าวสารอาหารแห้ง
-กล่าวสัมโมทนียกถา  อนุโมทนา
-กรวดน้ำ-รับพร
-พระสงฆ์ประพรหมน้ำมนต์แก่ผู้ร่วมพิธี
-พระสงฆ์ลงจากอาสนะ รับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้ง
..... เสร็จพิธี .....
-(พิธีกร)  กล่าวนำคำถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ (ถวายปิ่นโต)
-(พิธีกร)  กล่าวนำคำถวายข้าวสารอาหารแห้ง
-กล่าวสัมโมทนียกถา อนุโมทนา
-กรวดน้ำ-รับพร
-พระสงฆ์ประพรหมน้ำมนต์แก่ผู้ร่วมพิธี
-พระสงฆ์ลงจากอาสนะ รับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้ง
 เสร็จพิธี




 

Create Date : 25 กันยายน 2558   
Last Update : 25 กันยายน 2558 21:16:43 น.   
Counter : 606 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]