Group Blog
 
All blogs
 
พญ. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ : ผู้พิพากษาหลังความตาย ตอนที่ 2

ตอนที่ 2

*
TM: เคยทำอะไรที่ฝืนความรู้สึกไหม
พญ.พรทิพย์ : ไม่เคยทำอะไรที่ฝืนความรู้สึก แต่เคยหนเดียวที่ผ่าลงไปแล้วหัวใจมันเต้นตอนนั้นรู้สึกเลย แสดงว่าคือเรารับไม่ได้ ใจสั่นมาก ตายแล้ว ทำไมหมอผู้วินิจฉัยถึงทำอย่างนี้ ทำไมวินิจฉัยว่าเขาตาย ทั้งๆที่จริงแล้ว เขาไม่ตาย แต่หมายความว่ากำลังจะตายแล้วนะคะ แล้วเราผ่าเปิดไปแล้วนี่ ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ขอไม่บอกแล้วกันว่ามาจากโรงพยาบาลไหนนะคะ แต่คือมันบอกให้เห็นเลยว่า ขบวนการในการวินิจฉัยว่าตายต้องรัดกุมมากกว่านี้ ทำนองเดียวกับที่เขาวินิจฉัยว่าตายแล้วได้ผ่า แต่ฉีดยาศพ มันก็จำต้องตาย พอฟอร์มาลิน เข้าสู่กระแสเลือด คนข็ตาย เสียดายถ้าคนยังไม่ตาย จริงๆ แต่ต้องมาถูกตัดสินให้ตาย แต่บอกได้เลยนะคะว่ามันไม่บ่อย ในช่วง 18 ปีที่ทำงานมานี่เจอหนเดียว

TM: ทางบ้านว่าไงบ้างที่คุณเลือกมาทำงานตรงนี้
พญ.พรทิพย์ : พ่อแม่ไม่ว่าอะไรเลย คือคุณพ่อคุณแม่นี่ ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ เขาก็ไม่เชิงบังคับมาก ส่วนสามีนี่ ดิฉันก็ไมค่อยได้เล่าให้เขาฟังมากเพราะไม่อยากให้เขากลัว เขาเพิ่งมารู้ละเอียดตอนออกเจาะใจนี่แหละค่ะ ตอนแต่งงานเขาก็พอรู้นิดๆ ว่าทำ แต่จินตนาการไม่ออก (หัวเราะ)

TM: เขาเข้าใจดี?
พญ.พรทิพย์ : ก่อนแต่งงานนี่ดิฉันบอกเขาตั้งแต่แรกแล้วนะว่า ดิฉันไมใช่หมอที่ทำเงิน ไม่รวย คือเราทั้งคู่ต่างไม่รวย แต่พออยู่ได้อย่างไม่ลำบาก แล้วนิสัยเขากับดิฉันจะตรงกันข้ามทุกอย่าง อย่างงานของดิฉันมันเสี่ยงต่อการเหมือนเอาตัวไปยุ่งกับคนอื่น ซึ่งเขาไม่ชอบอะไรที่เอาตัวเข้าไปเสี่ยง แต่ตั้งแต่ไปออกเจาะใจมา เขาเพิ่งพูดให้ดิฉันได้ยิน เป็นครั้งแรกตั้งแต่แต่งงานกันมาสิบกว่าปีเขาเพิ่งรู้ว่าดิฉันเป็นคนตรง คือเขาคงรู้เหมือนกัน แต่คงนึกไม่ถึงว่าจะตรงขนาดมาพิทักษ์ผลประโยชน์อะไรอย่างนั้น รู้แล้วเลยบอกว่า เออดี ทำไปเถอะ เรียนว่าเข้าใจไปเลย ทั้งที่แต่เดิมไม่ได้เข้าใจมากขนาดนี้

TM: ขอโทษ สามีคุณทำงานอะไร
พญ.พรทิพย์ : ธนาคารค่ะ

TM: เจอกันได้ยังไง
พญ.พรทิพย์ : จำไม่ได้ว่าเจอได้ยังไง แต่เขาบอกว่าเจอตอนดิฉันไปเปิดบัญชี เขาโผล่มาแล้วเห็นหน้า ซึ่งหน้าอย่างดิฉันนี่นะจะมีใครมารักแรกพบ (คนสัมภาษณ์หัวเราะ)

TM: แล้วคุณเชื่อเรื่องรักแรกพบไหม
พญ.พรทิพย์ : ไม่เชื่อ แล้วก็ไม่คิดว่าจะมาเจอเข้ากับตัวเองได้เหมือนกัน เขาเองก็ไมได้เข้ามาจีบ ได้แต่เอาสมุดมายื่นให้ทุกครั้งอยู่อย่างนี้ ไอ้เราก็ไม่ได้ผิดสังเกตสักทีนึง (คนสัมภาษณ์หัวเราะ) รู้แต่ว่ามีคนบริการพิเศษ แต่ก็นึกว่าเป็นบริการของแบงก์ คือตัวเองไม่ได้สนใจ จนเวลาผ่านไปสองปี จุดเริ่มคือคุณแม่ไปดูดวง ดิฉันไม่เชื่อเรื่องดวงนะคะ แต่เชื่อในเรื่องตายแล้วไม่สูญ คุณแม่ไปดูกับคนที่เขานั่งสมาธิ ถามเขาว่าเมื่อไรดิฉันถึงจะไปเมืองนอกสักที แต่คำตอบที่เขาบอกก็คือให้เตรียมตัวแต่งงาน แล้วชีวิตของการพบสามีดิฉันเนี่ยก็เหมือนวิทยาศาสตร์น่ะ (ยิ้ม) คุณแม่บอกอีกหกเดือนจะต้องแต่งงานนะ ไอ้เราก็....อะไรกัน เราเพิ่งเลิกหมดนี่หว่า แล้วช่วงนั้นก็กำลังเบื่อๆ เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าอีกหกเดือนก็ต้องเป็นใครสักคน คือคิดแบบวิทยาศาสตร์ จัดแจงเลยค่ะ สุ่ม มีใครบ้างหว่าที่เราลืมดู (เล่าหน้าตาย)

TM: แสดงว่ามีหลายคน (คนสัมภาษณ์หัวเราะ)
พญ.พรทิพย์ : ก็หลายคนค่ะ (ทำหน้าเฉยๆ) แต่เสร็จแล้วไปทดสอบที่แบงก์ ก็เริ่มสงสัยแล้วแฮะ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะใช่นะคะ คือปล่อยให้มันเป็นไปตามกรรมที่เราทำไว้มากกว่า เพราะกรรมมันเป็นสิ่งที่ลิขิตอยู่แล้วใช่ไหมคะ พอเข้าไปทดสอบก็ชัวร์ เลยว่าคนนี้สนใจเราแน่ เช็ควุฒิ เพราะถ้าต่างกันมากก็ยุ่ง แต่หลังจากนั้นแล้วก็ปล่อย คำว่าปล่อยก็คือแต่งก็ได้ไม่แต่งก็ได้ ทีนี้ก็ถึงตาพ่อกับแม่ ซึ่งเขาก็ปล่อยอีก แต่คุณพ่อก็เรียกไปซักละเอียดเลยนะคะ ส่วนดิฉันเองก็พยายามทำให้เขาเห็นว่าตัวตนของเราเป็นคนอย่างนี้ แล้วกับคนอื่นๆก็เลิกหมด คือผู้ชายส่วนใหญ่ที่มาจีบ หลายคนจะเข้ามาในลักษณะที่เข้ามาปรึกษาปัญหา ไอ้อย่างนี้เราก็เบื่อใช่ไหม อาชีพหมอชอบไหม ก็ไม่ชอบ เพราะมันแข็งน่ะ ชีวิตมันแข็งกับแข็งอยู่ด้วยกันมันเบื่อ แล้วดิฉันนี่เป็นคนที่อย่าบังคับนะ คือถ้าไม่สั่งไม่บังคับนี่ทำให้หมด เพราะเป็นคนที่ชอบอยู่แล้วเรื่องงานบ้านทำกับข้าว ทำทุกอย่างให้หมดแหละ แต่ถ้าเมื่อไรสั่ง ไม่ทำ (คนสัมภาษณ์หัวเราะ) นั่นแหละ จนพอเริ่มรู้จัก หกเดือนค่ะก็แต่งงาน คือผู้ใหญ่อยากให้แต่งก็แต่ง

TM: แล้วเริ่มแต่งตัวตั้งแต่เมื่อไร
พญ.พรทิพย์ : หลังแต่งงานแล้วค่ะ คือสามีดิฉันจะเป็นคนที่ไมเคยว่าอะไรเลย ตามใจมากด้วยซ้ำไป บางทียังอยากให้เขาเบรกๆมั่ง (หัวเราะ) แต่เขาไมชมนะ ไม่ก้าวก่าย ไม่ยุ่งเลย ก็เริ่มจากทรงผมก่อน คือดิฉันเป็นคนที่ชอบเต้นแอโรบิก พอเต้นแอโรบิกก็เริ่มตามฝรั่ง ผมจากตรงก็เป็นเลยมาหยิก หยิกแล้วผมเยอะมันก็ฟู พอฟูแล้วก็เริ่มเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนกระทั่งมาพบว่าตัวเองเนี่ยจะชอบฝรั่งแบบเปรี้ยวๆ ดูมันเท่ดี แล้วตอนผมตรงนี่หน้ามันไม่ให้ พอผมเริ่มรวบได้ปั๊บละ มันต้องเข้ากับอะไรที่ต้องเปรี้ยว แต่เมื่อก่อนจะจืดมาก ผมตรงๆ ใส่แว่นตา เป็นหัวหน้าชั้น

TM: ในทัศนะของคุณ การทำงานที่ทำงานกับคนตายที่ไม่มีความรู้สึก กับการเป็นหมอที่ต้องรักษาคนไข้ มันมีอะไรที่แตกต่างกันไหม
พญ.พรทิพย์ : ในความรู้สึกนะคะ คุณค่าของงานเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่า เวลาเราทำ ตัวเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราดูคนไข้ที่มีชีวิต ความผูกผันมันค่อนข้างเยอะ ทีนี้ดิฉันเป็นคนที่บางครั้งไปผูกพัน ซึ่งนี่เป็นข้อเสีย เป็นข้อเสียของคนเป็นหมอ แต่เป็นข้อดีของคนไข้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเนี่ยชีวิตเราคงต้องเหนื่อยหน่อย คือไปคิดว่าเขาเป็นญาติ เราก็จะทำให้เต็มที่ ถ้าเผื่อเราทำเต็มที่ส่วนใหญ่เหนื่อยนะคะ แล้วบางครั้งความรู้สึกที่เราเหนื่อยน่คุ้มไหม ไมคุ้มนะคะ ไม่คุ้มในสิ่งที่กลับมาอย่างเคยดูคนไข้ที่โดนงูเห่ากัด 5 ชม.เต็มๆ ดูคนคนเดียว ข้าวปลาไม่กิน โคม่าเราต้องแก้ให้ได้ แต่ 5 ชม.เขาฟื้น ถามว่าเรามีความสุขไหม มีแต่มันช่วยได้แค่ชีวิตเดียว แต่ถ้าดิฉันมาทำชิ้นเนื้อเรารีบอ่านรีบตัดเร็วเพื่อให้ผลมันกลับไปเร็ว เขาจะได้รักษาต่อ ไม่ให้มะเร็งมันลุกลาม ชม.หนึ่ง เราอาจจะได้ 100 คนนะคะ ก็คิดคนละแบบอย่างนี้

TM: ทุกอย่างคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลหมด
พญ.พรทิพย์ : คิดแบบวิทยาศาสตร์มากไปหน่อยนึง (ตอบทันที) คืออยากให้ได้เนื้องานเยอะๆ

TM: แต่ดูคุณก็เป็นคนอ่อนไหวเหมือนกัน แล้วอย่างนี้มันไม่ขัดแย้งหรือ
พญ.พรทิพย์ : ไม่เลย ถามว่าทำไม คือใครก็ตามที่ทำงานเพ่อสังคมมันต้องมีสองอย่างผสมกันส่วนที่แรงคือส่วนที่จะผลักดันให้ไปได้สิ่งที่ดีขึ้น ส่วนที่เบาคือส่วนที่จะคลายทำให้โปร่ง ถ้ามันร้อนตลอดเวลามันจะเผาผลาญตัวเอง คือด้วยบุคลิกข้างนอกจะแข็งมากเลย และดิฉันเองเป็นคนอารมณ์ร้อนนะคะ แต่ว่าข้างในเคยคิดทำร้ายใคร ไม่เคยคิดโกรธเกลียดใครเลย จะร้อนเป็นชั่ววูบ แป๊บเดียวก็จบ

TM: คุณเคยคิดบ้างมั้ยว่า กระบวนการทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่บอกเรานี่ มันก็ผิดพลาดได้
พญ.พรทิพย์ : เคยมีคนไข้ที่ตายในคลินิกเอกชน แต่ว่าสามีไม่เอาเรื่อง เพราะเขาอยากให้ภรรยาตายอยู่แล้ว ตัวเองจะได้มีเมียน้อย พอมารับศพ เขาก็ไม่ได้ติดใจอะไรเลย ทีนี้ถ้าเผื่อเป็นดิฉัน ๆ จะบอกให้ตำรวจ ผู้ที่มีหน้าที่ควรระดำเนินการสอบสวนใหม่ ตำรวจบอก “โอ๊ย ก็สามีเขาไม่เอาเรื่องแล้ว คุณหมอจะไปทำอะไร” แต่จะให้ดิฉันไปทำเองก็คงไม่เอาเหมือนกัน คือเราต้องรู้หน้าที่ใครหน้าที่ใคร เพราะถ้าดิฉันไปทำตรงนั้นอีกหน่อยก็ไม่ต้องมีเวลาทำงานแล้ว เพราะมันเหมือนกับว่าเราข้ามไปจับผิดคน อันนี้ก็เป็นตัวบอกว่า ประชาชนน่ะไม่รู้หรอกว่าวิธีที่เขารักษาน่ะถูกไม่ถูก แล้วเยอะเลยที่ไปรักษาแล้วถามว่าเป็นอะไรรู้ไหม ไม่รู้หรอก อย่างถ้าคนไม่มีสตางค์แล้วเป็นโรคหัวใจเนี่ย แทนที่จะผ่าตัดทำบายพาสตั้งแต่เริ่ม ซึ่งเสียสตางค์ไม่มาก บางทีหมอก็ไม่แนะนำหรอก วันดีคืนดีหัวใจวายตายขึ้นมาอย่างคนอายุ 45 แล้วเป็นเสาหลักของครอบครัวอย่างนี้ ดิฉันก็มองว่าตรงนี้มันไม่แฟร์ ทำไมน่ะ ทำไมต้องมีเงินด้วยหรือ หรือต้องรู้จักกับหมอด้วยหรือ ทำไมถึงไม่มีใครอธิบายให้เขาฟังว่าโรคนี้เป็นอย่างนี้ๆๆ มาทางเลือกอย่างนี้ๆๆ คุณจะเลือกทำเร็วแค่ไหน ช้าแค่ไหน อย่างนี้มันมีบ่อย

TM: ปกติคนเราในการทำงานมันก็มีพลาดบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าในงานอย่างของคุณ ซึ่งต้องการผลแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์เนี่ย มีไหมที่คุณเคยพลาดไปบ้าง
พญ.พรทิพย์ : (ตอบทันที) ผิดแบบวินิจฉัยผิด ในเรื่องคดีอะไรอย่างนี้ เท่าที่ตามดูผลที่กลับมาเนี่ยไม่มีนะคะ แต่ถ้าผิดในลักษณะที่ว่าสาตอบเราผ่าศพ เราคิดว่าเป็นอย่างนี้ ต๊าย พอตัดชิ้นเนื้อออกมาเป็นคนละเรื่อง คือเราไม่ได้ผิดต่อการกำหนดชะตาชีวิต แต่ว่าทฤษฏีที่ตั้งเอาไว้ผิด มี (เน้นเสียง) คือความผิดที่ไปละเมิด แบบวินิจฉัยผิดต่อคนไข้ แล้วญาติคนไข้กลับมาฟ้องนี่ไมมีนะคะ ถามว่าทำไม คงเป็นเพราะว่าทุกครั้งที่ทำงานจะพยายามสุดชีวิต คือด้วยกำลังใจตั้งมั่นว่าทำให้ดีที่สุด แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนี่ไม่ถือเป็นความผิดพลาด แต่เป็นบทเรียน เออ แสดงว่าที่เราเห็นอย่างนี้น่ะนะมันเป็นอย่างอื่นก็ได้ คือยังไงคนไข้ก็ตาย เพียงแต่เราวินิจฉัยไปคนละทิศ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเก่งจนไม่พลาดนะคะ แต่ยังไม่มีฟีดแบ็คเข้ามา

TM: อย่างกรณีของเจนจิราเนี่ย จะมั่นใจได้ยังไงว่าการตรวจสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจะแม่นยำ ในเมื่อศพที่ถูกตัดหั่นมานานแล้ว สารชีวโมเลกุลในร่างกายมันก็เปลี่ยนได้
พญ.พรทิพย์ : ก็คือเราจะต้องเลือกค่ะ เลือกดูว่าอะไรแม่นยำที่สุด ถามว่าภาพเชิงซ้อนแม่นมั้ย แม่นค่ะ แต่มันต้องมีอะไรมาเทียบ เช่นกรณีเจนจิรา ถ้าได้รูปเจนจิรามาเฉยๆ โดยมีประวัติฟัน แม่นยำน้อยค่ะ เผอิ้ญ ...ได้ประวัติฟันมา ก็เรียกว่าใกล้เคียงมากแล้วละ แต่ความเป็นหนึ่งเดียวที่จะพิสูจน์ความเป็นคนคนนั้นน่ะนะคะ อยู่ที่ฟิงเกอร์พริ้นท์หรือลายนิ้วมือ นอกจากนั้นที่มีอีกอันหนึ่งที่เหมือนลายนิ้วมือ ก็คือดีเอ็นเอ ถึงได้เรียกว่าดีเอ็นเอฟิงเกอร์พริ้นท์ คือเดิมเราใช้แต่ลายมือ แต่ต่อมาเนี่ยเราใช้ลายของดีเอ็นเอ ซึ่งเหมือนลายมือ คือมีลักษณะเฉพาะ แต่ไอ้ลายที่มีลักษณะเฉพาะนี้มันก็มีข้อจำกัด คือต้องขึ้นอยู่กับการตรวจ ซึ่งถ้าทำด้วยมือมันก็มีโอกาสพลาดอย่างถ้าคุยกัน น้ำลายลงไปนี่ก็ผิดพลาดแล้ว ไฟตกอุณหภูมิเปลี่ยนก็ผิดพลาดได้ง่าย คือถ้าทำด้วยมือนี่ผิดพลาดได้เยอะ และกินเวลานาน ทุกอย่างต้องทำพร้อมกัน เงื่อนไขเหมือนกัน ไม่พลาด ถ้าทำด้วยเครื่องจะไม่พลาด แต่แพงเหลือเกิน
ต่อมาก็ต้องมาดูที่วัตถุที่ส่งตรวจ วัตถุที่ส่งตรวจ ถ้ามันเกิดไปแตะอยู่บนเสื้อซึ่งย้อมสี สมมติคราบเลือดมาโดนผมที่โกรกสีนี่ ดีเอ็นเอของคราบเลือดจะเปลี่ยน เพราะฉะนั้นเราต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เปิดใจให้กว้าง ศึกษาอยู่ตลอดเวลาในความเปลี่ยนแปลง สมมติอย่างของเจนจิรา ถ้าเกิดได้ผลขึ้นมานี่ยุ่งนะ เพราะว่าผมเจนจิราเขาเคลือบสี คือสารเคมีบางอย่างมันก็เปลี่ยนได้ ก็ต้องระวังให้รอบคอบ แต่มันมีข้อดี คือให้เราเลือก เลือกว่าจะเอาอะไร อย่างจะเอามาดูเพศชายเพศหญิง ถ้าเนื้อมันยังสดอยู่ก็อาจจะดูได้ แต่ถ้าเนื้อมันตายไปแล้วก็ไม่ได้ละ คืออย่างไรก็ตามช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ก็ยังดีกว่าใช้ความเห็นของมนุษย์อย่างเดียวนะคะ เพราะว่าความเห็นของมนุษย์มันเป็นประสบการณ์ซึ่งไม่มีเหตุผล พอที่จะบอกหรือยืนยันได้ ก็อย่างกะโหลกนี่ เราใช้ทั้งภาพเชิงซ้อนและรูปเจนจิรา ใช้ประวัติฟัน แล้วที่แม่นที่สุดก็คือใช้ดีเอ็นเอฟิงเกอร์พริ้นท์ มันก็เป็นการยืนยันกัน

TM: แล้วถ้าพิสูจน์ได้ทั้งสามแบบ แต่มีแบบใดแบบหนึ่งที่ผลออกมาไม่ตรงกับอย่างอื่น จะทำยังไง
พญ.พรทิพย์ : คือเราต้องรู้ว่าอะไรเปอร์เซ็นต์แม่นยำสูงสุด ก็จะเลือกอันนั้น ดีเอ็นเอฟิงเกอร์พริ้นท์แม่นยำสูงสุด แต่เราก็ต้องดูด้วย เช่นทำสามอันออกมาเหมือนกัน แต่ดีเอ็นเอฟิงเกอร์พริ้นท์ทำด้วยมือแล้วออกมาแตกต่างกับอันอื่น ก็ต้องทำดับเบิ้ลเช็คดู แต่ถ้าทำด้วยเครื่องมันก็ไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องมาเช็คดูว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดตรงไหนได้บ้าง เพราะฉะนั้นจริงๆแล้ว ต้องรู้ว่าเทคนิคที่จะใช้ควรเป็นอะไร และที่ที่เขาทำให้เราเชื่อถือได้หรือไม น่าจะเป็นอย่างนั้น

TM: แต่คนที่รู้เทคนิค รู้วิธีการอย่างเดียว บางทีก็อาจทำไม่ได้ มันต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาผสมผสานด้วยหรือเปล่า
พญ.พรทิพย์ : ค่ะ ใช่ อย่างกรณีเจนจิรานี่ ดิฉันรู้เทคนิค รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ทำเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำต้องคิดเก่ง ซื่อสัตย์ไว้ใจได้ สมมติมีคดีมรกดสองพันล้าน เกิดมีคนจ่ายมาสองล้านให้ไปทำคอมพิวเตอร์ใหม่ หรือเอาอะไรมาหยดใส่ที่ทำให้ผลแตกต่างออกไป ถ้าคนที่ทำงานตรงนี้ไม่รัดกุมรอบคอบ หรือเราเชื่อมั่นไม่ได้ มันก็เปล่าประโยชน์

TM: แต่ถึงยังไงประชาชนก็ไม่มีทางตรวจสอบเขาได้อยู่แล้วใช่ไหม
พญ.พรทิพย์ : ไม่มีทางค่ะ (ตอบทันที) เพราะฉะนั้นถึงได้บอกไงคะว่ามันขึ้นอยู่กับความน่าไว้ใจของหน่วยงาน แล้วเราก็ต้องพยายาม ตัดตอนของจุดที่จะเกิดคอร์รัปชั่นออกไปด้วย ข้างบนคนที่ตรวจต้องไม่เห็นเลยว่าคนไข้เป็นใครขึ้นไปนี่ก็รู้แต่เอบีซี ไม่ได้เห็นเวลาที่วัด นี่นามสกุลอะไร คนไข้ขอไปเจอได้มั้ย ก็ตอบเลยว่าไม่ได้ คือทุกอย่างมันต้องชัดเจนถูกต้อง มีคำอธิบายให้ฟังได้

TM: การต้องทำงานเกี่ยวข้องกับการตายที่เกิดขึ้นเนื่องจากความรุนแรงทุกวันๆ อย่างนี้คุณคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ตัดสินกันด้วยความรุนแรงหรือเปล่า
พญ.พรทิพย์ : ใช่คะ แล้วก็ไม่ค่อยนึกถึงส่วนรวม ดิฉันคิดนะคะว่า เป้าหมายท้ายที่สุดในชีวิตเนีย ถ้าเมื่อไรเซ็ทระบบนิติเวชได้ดีแล้ว รามาธิบดีอยู่รอดแล้ว ดิฉันว่าดิฉันจะไปเป็นครู

TM: ทุกวันนี้ก็เป็นอยู่ไม่ใช่หรือ
พญ.พรทิพย์ : คือไปสอนเด็กที่เล็กกว่านี้น่ะคะ เพราะไม้ตรงนี้มันแก่แล้ว มันดัดยาก ดิฉันอยากได้ไม้เด็กๆ เด็กเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ มันขึ้นอยู่กับว่าเราใส่อะไรให้เขา คิดว่าสังคมตอนนี้มันผิด มันใส่แต่ความรู้...บ้าบอคอแตก ใครจะบวกเลขได้เร็ว เขียนหนังสือได้ก่อน ใครจะจำไอ้โน่นไอ้นี่แม่น สิ่งที่สำคัญคือต้องใส่ตั้งแต่เล็ก คือการคิดหรือการทำอะไรให้คิดถึงส่วนรวม มันใส่ได้ แล้วก็การเรียนรู้ธรรมชาติต้องฝึก ฝึกให้เขาคิดเป็น ไมใช่ท่องจำ นั้นแหละคือเป้าหมายสุดท้าย

TM: คุณเคยใช้อารมณ์หรือใช้ความรู้สึกในการทำงานบ้างไหม
พญ.พรทิพย์ : เฉพาะตอนที่สั่งงานแล้วไม่ได้ดังใจคะ ลูกน้องนี่แหละจะโดน แต่จะไม่ได้อาละวาดนะคะ คือแค่ดุให้รู้ว่า สมมติดิฉันสั่งอย่างนี้ บอกแล้ว บอกขั้นตอนแล้ว อ้าว ! ทำไม่ได้ แล้วทำไมไม่ถาม คือพยายามจะให้เขารู้จักทำอะไรให้รับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็เข้าใจเขานะคะ คือดุแล้วต้องจบ ไม่ใช่ตราไว้เลยว่าไอ้นี่ใช้ไม่ได้ ทุกคนที่ทำงานกับดิฉันเขาจะรู้

*TM: คุณคิดว่าความเป็นผู้หญิงผู้ชายมีผลในการตัดสินใจเรียนนิติเวชหรือพยาธิไหม
พญ.พรทิพย์ : ไม่เกี่ยว (ตอบทันที) จะมีก็หน่อยเดียว เรื่องเหม็น แต่ถ้าถามว่าทั่วไปมีไหม คงจะมีนะคะ เพราะผู้หญิงทั่วไปชอบทำตัวนิ่มเกินไป ทั้งที่จริงแล้วมันอยู่ได้ แต่ถ้าถามว่าผู้หญิง ผู้ชายเรียนต่างกันไหม ก็คิดว่าไม่ค่อยต่างนะคะ แต่ผู้หญิงจะรับผิดชอบในการเรียนมากกว่าเยอะ แต่อย่างพื้นฐานของหมอในปัจจุบัน มันไม่ได้คิดถึงส่วนรวมก่อน มันตะคิดถึงอนาคตว่าจะทำให้เราสบาย พอคิดอย่างนี้ก็ลงฟิลด์ที่จะไม่เหนื่อยมาก แต่ถ้าถามว่า ทำไมดิฉันเลือกตรงนี้ มันก็คิดแบบเดียวกัน แต่มันไม่ได้คิดเรื่องงานสบาย คิดแค่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้งานที่ไม่มีอะไรมากวนตอนกลางคืน ไม่ชอบถูกตามตอนดึกค่ะ เพราะว่าอดนอนไม่ค่อยได้

TM: คุณเชื่อเรื่องวิญญาณหรือเปล่า
พญ.พรทิพย์ : เต็มร้อยค่ะ(ตอบทันที)

TM: ไม่ขัดกับความเป็นวิทยาศาสตร์หรือ
พญ.พรทิพย์ : ไม่ขัดค่ะ เพราะมันไม่มีอะไรที่ต้องแยกจากกันร้อยเปอร์เซ็นต์นี่คะ เหมือนศาสนามันก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ศาสนาเป็นตัวถ่วงดุลให้เรามีคุณธรรม แล้วก็เชื่อว่าเรื่องวิญญาณมันอยู่กันคนละภพ คนละโลก คนละมิติกันกับตัวเรา

TM: คือเชื่อว่ามีจริง แต่ไม่เคยเจอ
พญ.พรทิพย์ : ไม่เคยเจอ ก็อย่างที่บอกว่า ดิฉันดูดวง คือใช้วิธีนั่งสมาธิ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจขนาดที่จะไปถาม แต่มันทำให้เราเชื่อว่าตายแล้ว ไม่ได้จบตรงนี้นะ จะได้รู้จักระวัง อย่าทำตัวเหลวแหลกเกินไป ไม่มีความดีเหลือไว้บ้าง เพราะเป็นพุทธศาสนิกชนด้วยมั้งคะ แต่จะให้ไปใส่บาตร ดิฉันก็ไม่ใส่นะ ก็ใช้วิธีทำดีอย่างนี้

TM: คุณไม่เชื่อในพิธีกรรมหรือสถาบันหรือ
พญ.พรทิพย์ : อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วไมเคยศึกษาธรรมะเลยนะคะ เพราะคุณพ่อบังคับมาก คือตั้งแต่เล็กๆแล้ว เอาหนังสือธรรมะมาให้อ่าน อ่านแล้วขีดเส้นใต้ ต้องอ่านแล้วต้องทำการบ้านมา เลยไม่เอาเลย ยิ่งพ่อบังคับเท่าไรยิ่งไมทำมาเท่านั้น ทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่กลายเป็นว่ามันกันเราออกไปจากเรื่องเหล่านี้เลยเพราะไม่ชอบถูกบังคับ

TM: ถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่?
พญ.พรทิพย์ : ประมาณตุลาปีที่แล้วไปเที่ยวด้วยกันแบบครอบครัวใหญ่ ไอ้ดิฉันก็ไม่ค่อยชอบคุยอะไรหนักๆ ปรากฏว่าพ่อเขามาคุย “นี่นะ ท่าน ปยุต (พระธรรมปิฏก) ท่านไปสอน ท่านพูดเรื่อง หมอที่ไม่ดี...” ดิฉันก็มาคิดดูว่า เอ๊ะ! พ่อกำลังจะสอนอะไรเราหรือเปล่า เพราะเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เล็กๆ จะเถียงกันบ่อยมาก ตอนหลังเลยคุยกันว่าต่อแต่นี้อย่าคุยเรื่องหนักนะ เพราะคุยเรื่องหนักแล้วดิฉันจะป้องกันตัวเอง วันนั้นก็เลยถามเขาว่า “พ่อ ทำไมพ่อคุยแต่เรื่องหนักๆ พ่อคุยเบาๆไม่เป็นหรอ” เขาเลยพูดออกมาว่า “ถ้าอยากได้พ่อในอุดมคติ ก็รอไปชาติหน้าแล้วกัน” ดิฉันงงไปเลย คือเราแค่เบรกตามข้อตกลง แต่เขาฝังใจอยู่ว่า ดิฉันนี่คงไม่ภูมิใจในตัวเขาเลย จนไปลงหนังสืออะไรสักอย่าง ดิฉันตัดไปให้เขาดูว่า พ่อดูนะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีวันนี้ก็เพราะพ่อ

TM: สังเกตดูคุณจะพูดถึงแต่พ่อตลอด
พญ.พรทิพย์ : ใช่ค่ะ คือที่เราได้ดิบได้ดีก็ด้วยความคิดที่มาจากท่าน แต่ความที่วางลงได้ ไม่รุ่มร้อนนี่คือจากแม่ แต่พอดีคุณแม่เสียชีวิตแล้ว มันก็เลยไม่ค่อยได้พูดถึง แต่ถึงตอนนี้พ่อก็ยังมองว่าดิฉันไมเข้าใจเขา ก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกันนะคะ จะให้เขาเข้าใจว่าเราแยกออกเรื่องความรัก ความเคารพ คือเขาควรมองย้อนบ้างว่าสิ่งที่เขาทำนี่บางทีมันก็ไม่ถูกเหมือนกัน ดิฉันไม่ได้โกรธนะคะ แต่มองว่ามันทำให้ห่างกันเท่านั้นเอง เพราะบังคับซะจนเป็นอย่างนี้ อย่างหนังยังไม่ดูเลย ตั้งแต่เล็กแล้วค่ะ ไปดูหนังกลับมาบ้าน ลูกสี่คนต้องมาเขียนเรื่องย่อทุกเรื่องให้พ่ออ่าน ดูวอลท์ดิสนีย์ ยังต้องมีบทสรุปประเภทหนังเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ... มันก็เลยทำให้เราไม่ชอบดูหนังกันสักคนเลย เพราะมันเหมือนอะไรที่ถูกบังคับน่ะ

TM: แล้วตอนนี้ชอบดูหนังบ้างหรือยัง
พญ.พรทิพย์ : ไม่ดู (ตอบทันที) ถามว่าที่พ่อทำมันดีมั้ย มันดีค่ะ มันทำให้เก็บอะไรได้เร็วแต่บังคับมากไป ตึงไป ก็ต้องหย่อนมั่ง แหม! มีอย่างที่ไหน ดูหนังแล้วต้องเขียนเรื่องย่อ นึกกลับไปก็ขำเหมือนกัน ถ้าเป็นลูกเราสมัยนี้สงสัยโกรธตายไปแล้ว (ยิ้ม)

TM: คุณคิดว่าบทเรียนคดีเจนจิราให้อะไรกับคุณบ้าง
พญ.พรทิพย์ : บทเรียนกับตัวดิฉันเองคงไม่มีแต่เป็นจังหวะที่เอามาใช้สอนนักเรียนแพทย์ สอนเรื่องความห่วงใยระหว่างเพื่อนให้มีมากกว่านี้ คือในนักเรียนแพทย์นี่ยากมาก อีกอันก็คือ เมื่ออาจารย์ไม่สามารถจะดูได้ คณะต้องมีระบบการติดตามที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะกับเด็กที่มีปัญหาคือจะไปสนใจแต่เด็กที่เรียนไม่ดีไม่ได้ ต้องดูหลายๆเรื่อง ซึ่งตัวอย่างอันนี้ดิฉันว่าเป็นจังหวะที่ดี เพราะถ้าสอนให้เขาห่วงเพื่อนเขาเป็น เขาจะห่วงคนไข้เป็น คือถ้าเราห่วงเพื่อนมากกว่าหนึ่งหรือสองคนเป็น ก็ไม่มีวันที่เราจะแคร์คนไข้เท่าไร

TM: คุณคิดยังไงบ้างกับเรื่องสิทธิของผู้ป่วย
พญ.พรทิพย์ : ดิฉันเข้าใจทั้งสองฝ่ายนะคะ คือคนที่มาเรียนแพทย์นี่คือ cream of the cream มันไม่ใช่ครีมธรรมดาใช่ไหมคะ ธรรมชาติของคนเรียนเก่งมันไม่ได้มาคู่กับอะไรที่มีใจโอบอ้อมอารี ไอ้คนเรียนเก่งต้องเป็นคนที่แข็ง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะคิดถึงคนอื่นมันมีไม่มากหรอก แล้วตอนสอบเข้าได้นี่พ่อลับแม่ใครๆก็โอ๋ ให้รถให้บ้าน มาไหนไปไหนคนก็ไหว้ แล้วมันจะมีเวลาที่ไหนมาคิดถึงคนอื่น โอกาสที่จะเข้าใจคนอื่นมันน้อยแล้วก็คนเหล่านี้เป็นคนกรุงส่วนใหญ่ มันประกอบกันไปหมด เวลาออกไปต่างจังหวัด เจอคนไข้จนๆ มา ความเห็นใจมันก็มีน้อย เพราะเขาไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ต้น แต่จริงๆแล้วหมอที่มีใจโอบอ้อมอารีก็มีเยอะนะคะ แต่ก็อย่างที่บอก การเรียนมันทำให้เป็นอย่างนั้นมาตลอด แล้วด้วยการที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงไงคะ แล้วครูก็สอนตลอดเวลาว่าต้องเชื่อมั่น เพราะงั้นจะฟังคนอื่นน้อยมากเลย หมอด้วยกันยังฟังกันเองน้อยเลย

TM: เวลาที่คุณไม่สบาย คุณวางใจหมอที่ไปหามากน้อยแค่ไหน
พญ.พรทิพย์ : ไม่ค่ะ (ตอบทันที) ไม่ หมอต้องไปหาหลายๆคน คือไปขอความคิดเห็นไง แต่ไมใช่ว่าไม่เชื่อเขานะคะ คือไปโดยที่ว่าคนนี้คิดยังไงอย่างเช่นตอนนี้ดิฉันเพิ่งผ่าตัดมาได้สักสี่อาทิตย์ หลังผ่าตัดมาอยู่ๆ มือชา ไปหากายภาพ ทางกายภาพเขาก็ใช้ดึงคอ ไปหาอายุรกรรมประสาท เขาก็บอกให้ทำอย่างหนึ่ง เราก็เก็บมาละ ไปหาประสาทศัลยกรรม คือทางการผ่าตัดทางระบบประสาทเขาก็บอกอีกอย่างหนึ่ง ตรงนี้มีอะไรอีก มีกระดูกต้นคอก็ไปหาออร์โธพีดิกส์ คือไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่ไปเก็บข้อมูล

TM: เป็นเพราะว่าวินิจฉัยตัวเองได้
พญ.พรทิพย์ : ค่ะ แต่เพราะว่าอยากได้ความจริงที่สุด คือมันเหมือนต่างมุมมองน่ะค่ะ ต้องยอมรับว่าหมอปัจจุบันนี้มันมองแคบไปนิดหนึ่ง คือเป็นหมอที่เชี่ยวชาญหัวใจก็ดูแต่หัวใจ เป็นหมอภูมิแพ้ก็ภูมิแพ้ หมอศัลยกรรมก็ยังมีแยกไปเฉพาะมือเฉพาะหน้า คือมันแยกกันเกินไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูว่าแต่ละคนคิดยังไง แต่ไม่ใช่ไม่เชื่อนะคะ ทำอย่างไรจะให้เราดีที่สุด

TM: รักษาตัวเองบ้างไหม
พญ.พรทิพย์ : รักษาเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยหาย (ตอบหน้าตาย) เป็นหวัดยังกินไม่หายเลย คืออาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ตามเรื่องยาเท่าไร ก็เลยลืมหมดแล้ว รักษาทางยาตัวเองยังไม่ค่อยเก่ง

TM: แล้วสุขภาพของตัวเองเป็นยังไงบ้าง
พญ.พรทิพย์ : แข็งแรงมั้ย แข็งแรง (ตอบหน้าตาย) แต่เข้าโรงพยาบาลครั้งที่สิบสามแล้วจะมีอะไรที่มันปุ๊บปั๊บเข้าไม่รู้ตัว อย่างเช่นเดี๋ยวก็มีถุงลมในปอดตั้งแต่เกิดแล้วมันแตก อยู่ๆเป็นตับอักเสบ ถ้าโทษก็ต้องโทษว่ากรรมมันเยอะ ในอดีตชาติคงเยอะจริงๆ ไทรอยด์ก็เพิ่งผ่าตัด เป็นมะเร็งค่ะ แต่เป็นเล็กๆ เจอโดยบังเอิญ ถ้าเก็บเอาไว้นานก็สงสัยจะแย่ คือมีกรรมทำให้เป็น แต่มีบุญทำให้เจอเร็ว คือเราก็เลยไม่เครียดกับมันมาก

TM: คุณเคยนึกอยากกลับไปเป็นหมอรักษาคนไข้ไหม
พญ.พรทิพย์ : ไม่คะ (ตอบทันที) ไม่เคยนึกย้อนว่ารู้งี้ไม่เป็นอย่างนี้ คือก็อาจจะไม่ดีนะคะ แต่ดิฉันคิดว่ามันทำให้คนเราไม่ทุกข์ มีความรู้สึกว่า ทุกวันนี้ก็เป็นสุขดี คือมันน่าจะทุกข์ แต่เราไม่ทุกข์ ก็ไปข้างหน้าได้ ให้เป็นอะไรก็เป็นได้

TM: เคยคิดไหมว่าถ้าไม่ได้มาเป็นหมอ ชีวิตคุณจะเป็นยังไง
พญ.พรทิพย์ : ก็คงจะไปคนละเรื่องกับทางนี้เลยมั้งคะ อาจจะไปเป็นนักออกแบบหรืออะไรเพราะดิฉันชอบวาดรูป ชอบประดิษฐ์อะไรมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันคะ เพราะงานอย่างนั้นมันเป็นงานส่วนตัวมากกว่า มันต่างจากการเป็นหมอที่เป็นงานส่วนรวม

=================================

เรื่อง : สุไลพร, โตมร, สิโรฒน์
ภาพ : อัชชะ
ที่มา : หนังสือ TRENDY MAN ฉบับ April 1998 number 68
พิมพ์ : close2heaven (มือหยิกเยย)

=================================



Create Date : 11 ตุลาคม 2548
Last Update : 11 ตุลาคม 2548 11:03:28 น. 14 comments
Counter : 2295 Pageviews.

 
ขอบคุณที่เอามาให้อ่านค่ะ

สนุกมากเลย


โดย: หมูน้อยหน้าใส วันที่: 11 ตุลาคม 2548 เวลา:10:30:21 น.  

 
แวะมาอ่านค่ะ ขอบคุณนะคะ ที่นำเรื่องดีดี มาแบ่งปันกัน


โดย: Batgirl 2001 วันที่: 11 ตุลาคม 2548 เวลา:10:55:12 น.  

 
อ่านพลินดีค่ะ


โดย: ju (กระจ้อน ) วันที่: 11 ตุลาคม 2548 เวลา:17:52:36 น.  

 
ชอบหมอมากติดตามมาตั้ง4-5ปีแล้วเป็นคนที่ดีมากนะคะ



โดย: เนยกับปุ้ย และลูกปลื้ม IP: 222.123.125.87 วันที่: 18 กรกฎาคม 2550 เวลา:13:43:56 น.  

 
ขอชื่อชมคะ


โดย: นิก สุรินทร์ IP: 61.19.148.130 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:17:15:35 น.  

 
ขอชื่อชมคะ


โดย: นิก สุรินทร์ IP: 61.19.148.130 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:17:15:37 น.  

 
คุณหมอพูดถูกใจหลายเรื่องค่ะ
โดยเฉพาะเรื่องสิทธิผู้ป่วย ชอบค่ะ ขอบคุณนะคะ


โดย: New Brighton วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:9:55:21 น.  

 
อยากให้มาทำงานทางภาคใต้ให้มากกว่านี้ อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยุติธรรมได้บางส่วน

โดย: รอซี IP: 203.113.77.73 วันที่: 20 มกราคม 2551 เวลา:21:11:02 น.  

 
อยากให้มาทำงานทางภาคใต้ให้มากกว่านี้ อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยุติธรรมได้บางส่วน

โดย: รอซี IP: 203.113.77.73 วันที่: 20 มกราคม 2551 เวลา:21:11:42 น.  

 
เป็นเรื่องราวสนุกๆ ของคุณหมอ อ่านพอบันเทิงใจ


โดย: ชัยวัฒน์ โฆษธนาคม IP: 58.8.7.72 วันที่: 19 มีนาคม 2551 เวลา:14:58:37 น.  

 
ไปฉีกปริญญา แพทย์ทิ้งไป ได้มากี่บาทล่ะคะ
อายุก็เท่านี้ โรคประจำตัวก็มี ยังจะไม่ลดตอแหลอีก
ก่อนตายไม่คิดทำบุญมั่งหรือ


โดย: aaa IP: 124.121.228.192 วันที่: 11 ตุลาคม 2551 เวลา:16:45:59 น.  

 
เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังร้อนแรง
ทหาร ตำรวจ เสียชีวิตรายวัน ความจริงและความยุติธรรม
ที่คุณหมอยึดถือในจิตใจ ช่วยเหลือเยียวยาลูกเมียของผู้กล้าเหล่านั้นได้หรือครับ คุณหมอครับ


โดย: แด่ผู้กล้า IP: 119.42.96.73 วันที่: 12 เมษายน 2552 เวลา:15:14:18 น.  

 
ขอบคุณอีกครั้งค่ะที่เอามาให้อ่าน อยากรู้จังว่าคุณ close2heaven เป็นใครนะ ขอบคุณค่ะ


โดย: Pearlybunny วันที่: 5 พฤษภาคม 2552 เวลา:20:16:52 น.  

 
เก่งจริงงงงงงงงงงงงง

นะหะ55555555+++++++++


โดย: การ์ตูน IP: 125.27.199.206 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา:14:43:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

close2heaven
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ทำกิจการเสื้อยืด เสื้อโฆษณา รับพิมพ์สกรีนเสื้อทั่วๆไปครับ ใครสนใจสั่งก็หลังไมค์มาได้เลยครับ ^^

http://www.facebook.com/close2heaven
Friends' blogs
[Add close2heaven's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.