Group Blog
 
All blogs
 

กลวิธีจำกัดความกลัวการเงิน



จากแนวโน้มเป็นลบของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก จึงมีความเป็นไปได้ที่ความกลัว ซึ่งอาจกลายเป็นฝันร้ายทางการเงิน

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เว็บไซต์คิปลิงเกอร์ (คิปลิงเกอร์ ดอท คอม) ได้แนะนำข้อมูลช่วยลดความไม่รู้กับความกลัวทางการเงินของคนไทยรากหญ้าทั้งในและต่างประเทศ ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด


0กลัวเงินออมหาย

หากคุณคิดเตรียมจะเกษียณ หรือเกษียณตัวเอง และก่อนหน้านี้ได้เข้าไปลองสัมผัสตลาดหุ้น ก่อนตลาดอยู่ในอาการหมี คือเคลื่อนไหวเหมือนหมี ซึ่งเซื่องซึมเชื่องช้าและซบเซาตอนนี้ สถานการณ์เช่นนี้ ขอให้คุณอย่าตื่นตระหนกตกใจ เพราะเงินลงทุนที่มีอยู่ในตลาดยังมีเวลากลับมาฟื้นตัวเพิ่มค่าได้

ให้คิดเสมอว่า ช่วงเวลาเกษียณมีระยะยาวนาน 20-30 ปี ถ้าคุณลงทุนเล่นหุ้น ในช่วงที่ตลาดตกต่ำ และเกิดตกใจขายหุ้นหรือหน่วยลงทุนไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่เพราะหมายถึงคุณหยุดการขาดทุนไว้ได้ก็จริง แต่เมื่อใดที่ตลาดฟื้นตัวผลประโยชน์ที่ควรได้ย่อมหายไป เพราะได้ถอนการลงทุนแบบยอมขาดทุนไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากคุณต้องการให้หัวใจเต้นเป็นปกติ ไม่ต้องคอยตามความผันผวนของตลาด ขอให้เปลี่ยนแปลงพอร์ต ด้วยการจัดสรรสินทรัพย์ใหม่ หันไปซื้อหน่วยลงทุนกองทุนตลาดเงินหรือกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น แม้อัตราผลตอบแทนจะน้อยแต่ก็มั่นคง

0กลัวการลงทุนระยะยาว

แม้คุณอยู่ในวัยห่างไกลจากการเกษียณ โบรกเกอร์อาจแนะนำกลยุทธ์ลงทุน ทั้งการถือครองและการซื้อในรูปแบบที่เหมาะกับนักลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งอาจไม่เน้นการลงทุนระยะยาว แต่คุณไม่จำเป็นต้องเดินตามหรือทำตามคำแนะนำของโบรกเกอร์ หากรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับแนวทางวิธีการลงทุนในหลักทรัพย์นั้นๆ

ขอให้รวบรวมความกล้า และคิดอีกด้านหนึ่งว่าเวลานี้ คือช่วงเวลาที่ดีที่จะประเมินจัดสรรเงินลงทุนใหม่ หันมาพิจารณาแนวทางการเป็นนักลงทุนระยะยาว ที่ควรคงการลงทุนในหุ้นและกองทุนหุ้นไว้อย่างน้อย 70%

อย่างเช่น คนไทยในสหรัฐสามารถกระจายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ ไว้ในหลักทรัพย์หลากหลายรูปแบบ เช่น หลักทรัพย์ของบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็ก หรือบริษัทมีที่ตั้งอยู่ในสหรัฐและต่างประเทศ อดทนกับเสียงเรียกร้องกระตุ้นให้นำเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ไปไว้ในตราสารหนี้หรือเงินสด

นอกจากนี้ต้องจดจำภาษิตการลงทุน ที่พูดกันมานานแล้วว่า "ให้ซื้อเมื่อราคาหุ้นต่ำ และขายเมื่อราคาหุ้นขึ้น" และตอนนี้มีหุ้นที่ราคาค่อนข้างต่ำแล้ว ฉะนั้นมองหาโอกาสที่จะเข้าไปซื้อหุ้นดีกว่า

0กลัวเมื่อผิดชำระหนี้กู้บ้าน

อย่ามัวรีรอผัดวันประกันพรุ่ง ที่จะเข้าไปปรึกษาหารือกับเจ้าหนี้ หรืออย่ารอให้ตัวเองผิดนัดชำระหนี้หลายครั้งแล้วจึงเข้าหาเจ้าหนี้ เพราะบรรดาเจ้าหนี้โดยเฉพาะเจ้าหนี้ของคนไทยในสหรัฐ อาจตั้งใจรอจะลดจำนวนเงินชำระคืนหนี้ให้คุณนาน 2-3 เดือน

หรือคุณอาจมีคุณสมบัติเพียงพอ ที่จะได้รีไฟแนนซ์หนี้ และได้อัตราชำระคืนหนี้ต่ำลง ยิ่งในกรณีเจ้าหนี้ทั่วอเมริกาเข้าร่วมโครงการใหม่ของรัฐบาลสหรัฐ เช่น FHASecure หรือ HOPE ทำให้สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับเจ้าของบ้านคนไทยในสหรัฐ ที่ยังมีปัญหาผ่อนส่งบ้าน หรือสงสัยให้เข้าไปดูได้จากเว็บไซต์ fha.gov

หากคนไทยในสหรัฐรายใด กังวลกลัวว่าบ้านจะถูกศาลสั่งปฏิบัติตามคดีบังคับจดจำนองสินทรัพย์ ให้ติดต่อกับ HOPE NOW Alliance ได้

0กลัวขายบ้านไม่ได้

ความกลัวสุดท้ายที่ควรละทิ้ง สำหรับการนำเสนอข้อมูลจากคิปลิงเกอร์ครั้งนี้ แนะนำไว้ว่าหากสถานการณ์จำเป็น ทำให้คุณต้องขายบ้านในภาวะแวดล้อมตลาดบ้านซบเซาตกต่ำ

ขอให้กำหนดราคาขายแท้จริงสมเหตุสมผล ให้คิดด้วยว่าเวลานี้ไม่ใช่เวลาใช้ความพยายามทำกำไรก้อนโต

กำจัดสภาพที่รกดูยุ่งเหยิงภายในบ้านทั้งหมด และทำให้บ้านอยู่ในสภาพปกติ หรือเป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ควรเป็น เพื่อดึงดูดผู้ซื้อ และให้ผู้ซื้อสามารถจินตนาการได้ว่าจะเข้าไปอาศัยในบ้านในรูปแบบและสไตล์ที่เขาหรือเธอชื่นชอบได้อย่างไร ด้วยสิ่งของตกแต่งที่เป็นของๆ พวกเขา

นอกจากนี้คุณอาจลงทุนบ้าง ให้มีการตรวจสอบสภาพบ้าน เพื่อที่คุณสามารถโฆษณาบ้านให้เป็นที่สนใจ เหมือนมีใบรับประกันรับรองคุณภาพบ้าน หรือสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ด้วยการเสนอใบรับประกันอายุและรับรองคุณภาพบ้านกับผู้ซื้อ




 

Create Date : 07 ธันวาคม 2551    
Last Update : 7 ธันวาคม 2551 1:08:24 น.
Counter : 339 Pageviews.  

เงินออมคุณจะหมดก่อนตาย หรือไม่



นอกจากความเพียงพอของเงินออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่ผู้ลงทุนต้องคิดคำนึงถึงคือ เงินออมของคุณจะหมดก่อนคุณตายหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการใช้จ่ายเงินของตัวเองหลังเกษียณหรือกำหนดกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : “ธีระ ภู่ตระกูล” ประธานกรรมการ บลจ.ฟินันซ่า บอกว่า มีการศึกษาพบว่าหากอัตราการถอนเงินมาใช้ต่อปีของคุณอยู่ที่ 4% เงินออมคุณจะหมดภายในระยะเวลา 26 ปี แต่ถ้าถอนมาใช้ที่อัตรา 5% เงินคุณจะหมดใน 20 ปี ถอนอัตรา 6% เงินจะหมดในเวลา 17 ปี ถอนอัตรา 7% เงินจะหมดใน 14 ปี ถอนอัตรา 8% เงินจะหมดในเวลา 12 ปี ถอนอัตรา 9% เงินจะหมดในเวลา 11 ปี และถ้าถอนมาใช้ที่อัตรา 10% เงินคุณจะหมดในเวลา 10 ปี


“การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนแต่ละแบบ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนปีที่เงินจะหมดไปในอัตราการถอนมาใช้ที่ 5% ต่อปี ยังเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรจะต้องพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน”

จากการศึกษาพบว่าพอร์ต Aggressive ที่ลงทุนในหุ้น 100% ในช่วงตลาดปกติเงินจะหมดไปในเวลา 33 ปี แต่ในช่วงตลาดไม่ดีเงินจะหมดไปในเวลา 15 ปี ,พอร์ต High Growth ที่ลงทุนในหุ้น 85% และตราสารหนี้ 15% ในช่วงตลาดปกติจะใช้เงินหมดในเวลา 35 ปี แต่ช่วงตลาดไม่ดีจะหมดในเวลา 17 ปี

พอร์ต Growth ลงทุนในหุ้น 70% ตราสารหนี้ 25% เงินสด 5% ในช่วงตลาดปกติเงินจะหมดในเวลา 34 ปี แต่ช่วงตลาดไม่ดีจะหมดไปในเวลา 18 ปี ,พอร์ต Balanced ลงทุนในหุ้น 50% ตราสารหนี้ 40% และเงินสด 10% ในช่วงตลาดปกติเงินจะหมดในเวลา 33 ปี แต่ช่วงตลาดไม่ดีเงินจะหมดในเวลา 20 ปี

พอร์ต Conservative ลงทุนในหุ้น 20% ตราสารหนี้ 50% และเงินสด 10% ในช่วงตลาดปกติเงินจะหมดในเวลา 28 ปี แต่ในช่วงตลาดไม่ดีจะหมดในเวลา 23 ปี และพอร์ต All Cash ที่ลงทุนในเงินสด 100% ในช่วงตลาดปกติเงินจะหมดไปในเวลา 22 ปี แต่ในช่วงตลาดไม่ดีจะหมดในเวลา 21 ปี

นี่คืออีกปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรจะต้องพิจารณาประกอบการจัดสรรเงินลงทุนของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์การออมเพื่อเกษียณของตัวคุณเอง




 

Create Date : 07 ธันวาคม 2551    
Last Update : 7 ธันวาคม 2551 1:07:14 น.
Counter : 385 Pageviews.  

สำรวจเงิน ในกระเป๋ากันเถอะ



นี่ถ้าเศรษฐกิจไม่ย่ำแย่ไปทั่วโลก พวกเราคงเอนจอยกับช่วงเวลาใกล้สิ้นปีกัน เถิดเทิงไปแล้ว แต่ในเมื่อ “โลกแห่งความจริง” ฉุดให้ ต้องคิดหน้าคิดหลังเวลาจะช็อปปิ้งซื้อนู่นซื้อนี่ โดย เฉพาะต้องเตรียมหาของขวัญไว้ให้ใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้อง, แฟนและเพื่อน (ของเรา ไม่ใช่เพื่อนของแฟน) ....เอ้า ขืนให้ของขวัญ “เพื่อนแฟน” โดยไม่บอกให้แฟนของเรารู้นี่...ก็ชักยังไงๆ อยู่แฮะ

แต่เอาเถอะ อยากฝอยเรื่องเงินๆ ทองๆ มากกว่า “ชั้นรักเพื่อนแฟน” ดังนั้น ชาวบ้านธรรมด๊าธรรมดาอย่างพวกเรา ลองสำรวจตรวจสอบรายได้และรายจ่ายของตัวเองกันดีมะว่า ท่านผู้อ่านยังมีฐานะทางการเงินดีอยู่ หรือในกระเป๋าตังค์ไม่มีเงินติดกระเป๋าเลยสักกะติ๊ด ราวกับว่า โอ้มายก๊อด ฐานะชั้นยอบแยบเต็มทีกันแน่? จึงได้แต่หวังว่าพวกเราเข้ากลุ่มแรกนะ แต่...ถามหน่อยว่า

1. คุณได้ไปเปิดบัญชีออมทรัพย์มั่งไหม?

หรือถ้ามีบัญชีออมทรัพย์ที่ไปเปิดกะธนาคารอยู่แล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมีบุ๊กแบงก์ กันแล้วทั้งนั้น แถมบางคนมีมากกว่า 1 เล่มซะด้วย บางรายงี้เปิดไว้ไม่รู้กี่ธนาคาร ก็ลองตรวจดูหน่อยละกันว่า ไอ้ที่ไปเปิดบัญชีไว้น่ะ มีส่วนที่เป็นเงินออมอยู่เท่าไหร่แล้ว มีถึงล้านหรือยัง? เอ่อ แต่ไอ้ล้านนึงนี่ หมายถึงมีเงินล้านนะไม่ใช่หัวล้านเพราะเก๊กซิม และแน่ใจนะว่า เป็นเงินออม ไม่ใช่หนี้สินหรือรายจ่ายที่กำลังจะจ่ายในเร็วๆนี้! แต่อ่ะ อย่าไปเน้นเรื่องไม่มีเงินออมเลย ได้ยินแล้วแสลงหู พูดถึงอะไรก็ไม่รุ แทงใจดำจังวุ้ย งั้นก็เริ่มมีเงินเก็บซะ จะได้รับประกันว่า อนาคตอันใกล้อย่างน้อยก็มีเงินใช้มั่งล่ะว้า

2.มีหนี้ติดค้างที่ต้องจ่ายให้บัตรเครดิตที่คุณพก บ้างรึเปล่า?

ในกรณีที่หากมีบัตรเครดิตไม่กี่ใบ ว่ามะว่าโอกาสที่จะสร้างหนี้ก็มีน้อยลง ดังนั้น ถ้าคุณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสักใบ หรือเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตมา ก็ควรเตรียมตัวเตรียมใจ “กันเงิน” ที่เป็นรายได้มาจ่ายตามมูลค่าที่บัตรเครดิตใบนั้นๆ เรียกเก็บซะดีๆ และควรจ่ายให้หมดตามจำนวนเงินที่เค้าเรียกเก็บน่ะดีที่สุด แต่หากเกิดอาการชักกระแด่วๆ เอ๊ย ชักหน้าไม่ถึงหลัง หากจะจ่ายแค่ส่วนที่เรียกเก็บต่ำสุดก่อนก็ได้

ทว่าก่อนทำงี้ ควรคิดนิดนะว่า แล้วหนี้ที่เหลือจะหาจากไหนมาจ่ายเค้า? อีกอย่าง วิธีจ่ายน้อยไว้ก่อน อาจเป็นการเพิ่มพูนหนี้ให้เป็นก้อนใหญ่ขึ้น และใหญ่ ขึ้นอ่ะเปล่า? เพราะคุณควรทำให้มันเล็กลงมากกว่าอ่ะดิ่

3. หากต้องผ่อนบ้าน, ผ่อนรถอยู่แล้ว งั้นจะหาเรื่องซื้อของเงินผ่อนต่ออีกทำไมล่ะ อย่าลืมสิจ๊ะ ว่า วิกฤติเศรษฐกิจน่ะไม่เข้าใครออกใคร ไว้ผ่อนบ้านผ่อนรถให้หมดก่อนแล้วค่อยอยากมีอย่างอื่นต่อไปก็ได้ เอ๊ะ หรือขนาดผ่อนบ้าน ผ่อนรถก็ยังไม่ไหว? งั้นยิ่งไม่ต้องไปช็อปสิ่งที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วนแล้วจ๊ะ หันไปขยันทำมาหากินเพื่อให้มีรายได้ในแต่ละเดือนให้มากกว่าหนี้สิน กันเถอะ ชีวิตจะได้สุโข สุขี เฮ้.

คนสมถะ ( ประทีปส่องใจ)

ที่มา ://www.thairath.co.th/news.php?section=specialsunday06&content=114162

ฟังเพลง




 

Create Date : 07 ธันวาคม 2551    
Last Update : 7 ธันวาคม 2551 1:03:59 น.
Counter : 322 Pageviews.  

1  2  

Omac110
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Omac110's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.