'ไทยแอร์เวย์ส' คว้า 3 รางวัลยอดเยี่ยม World Airline Awards 2017



'ไทยแอร์เวย์ส' คว้ารางวัล 3 รางวัล 'อาหารในชั้นประหยัดยอดเยี่ยม-สปาเลาจ์ยอดเยี่ยม-บริการชั้นประหยัดยอดเยี่ยม ด้าน'กาตาร์ แอร์เวย์ส' คว้ารางวัลสายการบินที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2560 World Airline Awards 2017

 

หนึ่งในงานแสดงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก คือ International Paris Airshow 2017 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 52 ของการจัดงาน โดยมีการจัดแสดงรวม 7วัน ระหว่างวันที่ 19-25 มิถุนายนนี้ ใช้พื้นที่ท่าอากาศยานบูเชต์ ทางตอนเหนือของกรุงปารีส โดยมีผู้ร่วมจัดงาน 2,380 ราย จาก 91 ประเทศทั่วโลก ภายในงานยังมีการประกาศรางวัล World Airline Awards 2017 จาก Skytrax บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินชั้นนำของโลก

โดยรางวัลดังกล่าวมาจากผลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารที่ใช้บริการ และในปีนี้สายการบินที่ได้รับรางวัลใหญ่ประจำปี Airline of The Year 2017 คือสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส และถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 5 ปี ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ปัจจุบันกาตาร์ถูกตัดสัมพันธ์จากหลายประเทศในกลุ่มอาหรับ และส่งผลกระทบต่อโดยตรงต่อกาตาร์ แอร์เวย์ส

ขณะที่สายการบินแห่งชาติของไทย บมจ.การบินไทย คว้ารางวัลจากงานดังกล่าวรวม 3 รางวัล คือ 1.สายการบินที่ให้บริการอาหารในชั้นประหยัดยอดเยี่ยม 2.สายการบินที่ให้บริการสปาเลาจ์ยอดเยี่ยม 3.สายการบินที่ให้บริการชั้นประหยัดยอดเยี่ยม ส่วนสายการบินกลุ่มแอร์เอเชียได้รับรวม 4 รางวัล โดยแอร์เอเชียได้รับรางวัลสายการบินต้นทุนต่ำยอดเยี่ยมของโลกเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน และรางวัล สายการบินต้นทุนต่ำยอดเยี่ยมในเอเชีย ขณะที่แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้รับ 2 รางวัล คือ ชั้นโดยสารพรีเมี่ยมยอดเยี่ยมและที่นั่งชั้นพรีเมี่ยมยอดเยี่ยม ของสายการบินต้นทุนต่ำ


ที่มา thaitribune




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2560    
Last Update : 21 มิถุนายน 2560 11:03:11 น.
Counter : 398 Pageviews.  

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ – นครราชสีมา โดย ดร.สุเมธ องกิตติ



คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ในเรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะทำให้มีการเริ่มต้นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโครงการนี้อย่างเร็วที่สุด

 

โดยมีเนื้อหาคือ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจของจีนในงานออกแบบรายละเอียด งานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและสถาปนิก และให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุ

ถ้าเราดูประเด็นมาตรา 44 ที่ออกมานั้น จะพบว่ามีความพยายามของรัฐบาลในการเร่งรัดโครงการ โดยมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการส่งสัญญาณเป็นระยะๆ จากการเจรจากับฝ่ายจีนมาเกือบ 3 ปีแต่ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรจากการเจรจาที่ผ่านมา ซึ่งมาตรา 44 นี้ สร้างข้อกังวลให้กับหลายภาคส่วนอย่างเช่น สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับ เรื่องการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น เป็นข้อท้วงติงที่รัฐบาลควรรับฟัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตได้

ปัญหาเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบของการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น และการใช้ มาตรา 44 นี้ คงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเพียงบางส่วน แต่ปัญหาหลักที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ คือความพยายามที่จะดำเนินโครงการโดยใช้ขั้นตอนการทำงานที่ไม่เคยใช้ในไทยมาก่อน คือ อนุมัติให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีรายละเอียดทั้งหมดในการพิจารณา

ปกติแล้ว การพิจารณาอนุมัติให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการ โครงการต้องมีความพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ทั้งในเรื่องของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน การออกแบบรายละเอียดส่วนใหญ่ (อาจจะไม่ทั้งหมด) และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จึงสามารถนำรายละเอียดทั้งหมดมาประกอบการจัดสรรงบประมาณ และเริ่มต้นก่อสร้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ โครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมา เช่น การลงทุนรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ได้มีการดำเนินการตามกระบวนการเหล่านี้มาโดยตลอด

การตัดสินใจอนุมัติโครงการโดยที่ยังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด มีโอกาสที่จะทำให้การตัดสินใจผิดพลาด และถ้ามีปัญหาเมื่อเริ่มดำเนินโครงการทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการจัดการเดินรถในอนาคตการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจะเกิดความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหานั้นๆ มากกว่าปกติ

ในกรณีของโครงการนี้ ปัญหาที่น่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป คือ การทับซ้อนของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างช่วง กรุงเทพฯ (บางซื่อ) ถึงอยุธยา ซึ่งจะมีทั้งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระบบของจีน (กรุงเทพ-นครราชสีมา) และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระบบญี่ปุ่น (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการใช้โครงสร้างพื้นฐาน (ราง) ร่วมกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ามีการอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างโครงการ โดยที่รายละเอียดของโครงการยังไม่แล้วเสร็จ

จากสัญญาณที่รัฐบาลส่งผ่าน มาตรา 44 ในครั้งนี้ รวมถึงข้อตกลงที่ทางรัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลญี่ปุ่น หมายถึง ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูง อย่างน้อย 2 ระบบ นั่นคือระบบของจีนและระบบของญี่ปุ่น โดยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์นั้น การมีเทคโนโลยีทั้งสองระบบในประเทศ จะมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงกว่าการมีระบบเดียว รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายในอนาคต จะทำได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น จนสุดท้าย อาจจต้องมีการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเดียวในอนาคต ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ไม่ควรที่จะเสียตั้งแต่ต้น

คำถามที่ต้องการคำตอบก่อนจะมีการอนุมัติโครงการให้เริ่มมีการก่อสร้างโครงการ

คือ 1) ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงจริงหรือไม่ ทั้งนี้ การจะตอบคำถามนี้จะเกี่ยวข้องกับคำถามอื่นๆ ที่จะตามมาด้วย

2) ถ้าประเทศไทยจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูง เราควรมีรถไฟความเร็วสูงถึง 2 ระบบหรือไม่ หรือจะเหมาะสมกว่าที่มีรถไฟความเร็วสูงเพียงระบบเดียว

3) มีการศึกษารายละเอียดต่างๆ พร้อมแล้วหรือไม่ ทั้งในส่วนของการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและการเงิน การออกแบบรายละเอียด และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีรายละเอียด จะมีปัญหาหรือไม่

4) การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและการเงินที่ผ่านมา มีผลเป็นอย่างไร มีจำนวนคาดการณ์ผู้โดยสารอย่างไร รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการทางการเงิน และเงินอุดหนุนของภาครัฐในอนาคตสำหรับโครงการนี้ และ 5) มีการพิจารณาความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมือง รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูงผ่าน โดยมีโครงการรองรับหรือไม่อย่างไร

แม้ว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณผ่านการใช้มาตรา 44 แต่มาตรา 44 นี้ เป็นเพียงการเร่งรัดโครงการโดยการยกเว้นกฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรค ไม่ได้หมายถึงการตัดสินใจดำเนินโครงการ รัฐบาลควรพิจารณาตอบคำถามข้างต้นก่อนที่จะอนุมัติโครงการและเซ็นสัญญาว่าจ้างต่างต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการยิ่งขึ้น.


ที่มา thaitribune




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2560    
Last Update : 20 มิถุนายน 2560 6:17:54 น.
Counter : 213 Pageviews.  

Digital disruption เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น : โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธ



ในปัจจุบัน "Digital disruption" หรือ "การพลิกผันทางดิจิทัล" กลายเป็นหัวใจสำคัญของ CEO ของทุกบริษัท ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย ทั้งนี้เนื่องจากมันได้แสดงให้เห็นว่าจะมีภัยคุกคามและโอกาสที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องเผชิญในอุตสาหกรรมขอพวกเขา

 

เมื่อประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ลองพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจในรูปแบบดิจิทัลภายใต้ปรากฎการณ์ digital disruption ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้รายชื่อบริษัทใน Fortune 500 มากกว่าครึ่งหนึ่งหายไปตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ World Economic Forum เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เราเรียกว่า "Industrial 4.0" ซึ่งไม่เพียงแต่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กันอย่างแพร่หลายเท่านั้น แต่ยังเป็นการนำนวัตกรรมมาใช้ในทุกๆด้าน ตั้งแต่ในอุตสาหกรรมพลังงานจนถึงชีววิทยาศาสตร์ (Bioscience)

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของอุตสาหกรรมต่างๆ มีความแพร่หลายและมีผลกระทบมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น เราควรจะต้องตระหนักว่า การพลิกผันทางดิจิทัล จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่กว้างขึ้นด้วย เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในครั้งก่อนๆ ที่เป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยไอน้ำ, ถ่านหิน, ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้เข้ามามีอิทธิพลในการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกอย่างสิ้นเชิง

ในขณะนี้เราคงจะได้เห็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผู้บริโภคในแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ชื่นชอบประสบการณ์แบบอินเทอร์แอ็คทีพ และเป็นส่วนตัวมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสื่อสังคม (Social media), การเคลื่อนที่ (Mobility), การวิเคราะห์ (Analytic) และคลาวด์ (Cloud) หรือย่อว่า "SMAC" ทำให้องค์กรดิจิทัลจะต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องลดต้นทุนการดำเนินงานขององค์กร และปฏิรูปความร่วมมือขององค์กร เพื่อเพิ่มผลผลิต และการเกิดคลื่นลูกใหม่ในการดำเนินงานแบบดิจิทัล ซึ่งในบริษัทต่างๆกำลังปฏิวัติธุรกิจ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์, หุ่นยนต์, ระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์ และ Internet of Thing (IoT) ในอุตสาหกรรมทุกอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง (radical change) ซึ่งบริษัทในรูปแบบดิจิทัลสามารถเข้าถึงลูกค้าใหม่ได้อย่างทันทีและมีต้นทุนน้อยมาก และองค์กรสามารถแข่งขันในภาคธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำได้มาก่อนในอดีต โดยอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรและคู่แข่ง จนสามารถปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก ด้วยการหลอมรวมทางเทคโนโลยีและแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น Accenture และ Airbus ที่กำลังทดลองใช้แว่นตาอัจฉริยะ ที่รวบรวมข้อมูลจากระบบคลาวด์, เทคโนโลยี AR และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพ ผลผลิต และความปลอดภัยของพนักงานในโรงงาน

ในปัจจุบัน ผู้นำทางธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม มีความต้องการขับเคลื่อนมูลค่าจากข้อมูลด้วยวิธีการใหม่ๆ และจะต้องมีการทดลองโครงการต่างๆอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งและจะช่วยให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์กรควรระมัดระวังในเรื่องการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์บ่อยๆ ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้เกิดความสำเร็จ แต่ความคล่องตัวในการดำเนินงานที่สามารถนำกลยุทธ์ที่หลากหลายมาใช้ควบคู่กันไปต่างหากที่จะนำพาให้องค์กรประสบความสำเร็จได้มากกว่า และความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องอาศัย CEO ที่มีวิสัยทัศน์และขีดความสามารถในการเป็นผู้นำที่เข้ากับยุค digital disruption มีทักษะด้านเทคโนโลยี และมีเคมีที่ตรงกับวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปทางดิจิทัลให้สำเร็จ อีกด้วย

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะส่งผลกระทบในวงกว้างทางสังคม ตั้งแต่การสร้างงาน ไปจนถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยจะมีความท้าทายซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการจ้างงาน และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาทักษะของบุคคลากรและการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรอย่างมาก

ผลกระทบของ digital disruption ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มันไม่ใช่แค่ความท้าทายของผู้บริหารระดับสูงด้านดิจิทัล (Chief Digital Officer; CDO) เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นมากกว่าโอกาสทางการค้า โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นั้น มีความจำเป็นที่ CEO ต้องเข้ามารับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจมากขึ้น และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนี้ จะส่งผลต่อสังคมในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในอดีตเลย

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2560    
Last Update : 19 มิถุนายน 2560 22:33:20 น.
Counter : 300 Pageviews.  

พบสาเหตุไฟไหม้ Grenfell Tower ใน London โดย ต่อตระกูล ยมนาค



คาดยอดผู้เสียชีวิตอาจถึง 100 ในข่าว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพลิงไหม้ของอังกฤษ วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นที่ แผ่น Aluminium Cladding ราคาถูกที่มีไส้กลางเป็น พลาสติค ชนิดPoly Urethane ที่ไม่ใช่วัสดุกันไฟ เพราะติดไฟได้ง่าย

 

แผ่น Aluminium Cladding แบบนี้นิยมใช้กันมาก เป็นเหตุให้เกิดไฟใหม้ซ้ำๆในหลายๆประเทศ รวมทั้งครั้งสำคัญที่ไหม้ที่ตึกสูง63 ชั้นในดูไบ ในคืนฉลองรับปีใหม่2016  (Address Hotel) และอาคารอื่นๆ อาทิเช่น Marina Torch residence ปี2015 และ Tamweel Tower ปี2012.

เท่าที่ทราบว่าของไทย ยังไม่มีสถาปนิก คนไหนเอาไปใช้ในอาคารสูง แต่วัสดุชนิดนี้มีขายในประเทศไทยมานานแล้ว

เพราะเห็นมีโฆษณาขายในเน็ตอย่างเปิดเผย มีขาย 2 ชนิด ชนิดกันไฟได้ และแบบไม่กันไฟ (คำโฆษณาในเน็ตมีข้อความว่า : นำเข้าและจำหน่ายAluminium Cladding คุณภาพสูง มีทั้งไส้ FR (กันไฟ) และไส้PE น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย )

อันตรายมาก ถึงจะไม่มีกฏหมายห้ามใช้ในขณะนี้ ก็ไม่ควรนำไปใช้ในอาคารสูงเด็ดขาด เพราะไหม้จุดเดียวจะลามไปไหม้ได้ทั้งรอบตัวตึก และจะไหม้ขึ้นไปจนสุดความสูงอาคาร

พวกอังกฤษไปทำงานที่ดูไบก็ยอมให้ใช้จนตึกไหม้ไปหลายหลัง ไม่น่าเชื่อว่าปล่อยไปได้อย่างไร ที่ดูไบนั่นเจ้าของก็มีเงินเยอะถ้าทราบว่าไม่ปลอดภัยคงไม่เลือกใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ เหตุไฟไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอน เมื่อวันพุธที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มียอดผู้สูญหายที่เชื่อว่าเสียชีวิตแล้วจำนวน 58 ราย ซึ่ง 30 รายได้รับการยืนยันแล้วว่าเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 70 ราย เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีห้องพักอาศัย 120 ห้องและคาดว่ามีผู้ติดอยู่ภายในอาคารจำนวนมากขณะเกิดเพลิงไหม้

ด้านกระทรวงต่างประเทศของไทย เปิดเผยว่า กรณีที่มีคนไทยซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว 3 ครอบครัวนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทยติดต่อ 2 ครอบครัวได้แล้ว ซึ่งยังมีอาการตกใจ แต่ได้ย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ขณะที่อีก 1 ครอบครัวที่เหลือ สถานเอกอัครราชทูตยังพยายามติดต่อต่อไป

อย่างไรก็ตาม รายการวิเคราะห์ประเด็นร้อน Newsnight ของสถานีข่าว BBC ของอังกฤษ ชี้ว่า ผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ ในเวลานี้คือ วัสดุหุ้มอาคารภายนอก เนื่องจากในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เพลิงลุกไหม้จากชั้นที่ 4 ขึ้นไปท่วมชั้นสูงสุดอย่างรวดเร็วจากภายนอกอาคาร ส่วนหุ้มภายนอกอาคารเพิ่งเพิ่มเติมเข้ามาในช่วงการปรับปรุงอาคารเมื่อปี 2015 แล้วเสร็จเมื่อเดือน ..2016 เพื่อปรับปรุงระบบฉนวนความร้อนภายในอาคาร และรูปโฉมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น วัสดุนั้นประกอบด้วยแกนโพลีเอธิลีน ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ติดไฟได้ง่าย ประกบด้วยแผ่นอะลูมิเนียมสองแผ่น

ผู้รับผิดชอบโครงการปรับปรุง คือบริษัทก่อสร้าง Rydon นับตั้งแต่เกิดเรื่องและข้อมูลของวัสดุของอาคารถูกเปิดเผย บริษัทก็ออกมาโต้แย้งว่า การปรับปรุงเป็นไปตามกฎป้องกันอัคคีภัยทุกประการ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็ลบข้อความชี้แจงดังกล่าวนี้ออก และเริ่มถูกตั้งข้อสังเกตหนักขึ้น เช่น ทำไมจึงเลือกใช้แกนพลาสติกแทนที่แกนจากแร่ธรรมชาติ ซึ่งติดไฟยากกว่า ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างตึกระฟ้าหลายแห่งทั่วโลกที่ใช้โพลีเอธิลีนแล้วเสียหายเป็นวงกว้างเมื่อเกิดเพลิงไหม้ทั้งสิ้น

นอกจากข้อสงสัยเรื่องการก่อสร้างอาคาร ก็ยังมีประเด็นด้านความหละหลวมของมาตรการป้องกันอัคคีภัยอื่นๆ เช่น สัญญาณเตือนเพลิงไหม้ไม่ร้องดังขึ้นมา ไม่มีระบบสปริงเคลอร์ดับไฟ ซึ่งเรื่องนี้เครือข่ายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยอาคารสูงชี้แจงว่า กฎหมายปัจจุบันไม่บังคับให้ตึกสูงต้องมีการติดตั้งสปริงเคลอร์ แต่ก็หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับในเร็วๆ นี้


ที่มา thaitribune




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2560    
Last Update : 18 มิถุนายน 2560 18:08:02 น.
Counter : 353 Pageviews.  

กระทรวงมหาดไทย เตรียมจัดกิจกรรมอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์พระราชทาน ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้



เตรียมจัดกิจกรรมอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์พระราชทาน ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังคณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนในส่วนนั้น ขณะนี้ทุกจังหวัดได้เตรียมความพร้อมดำเนินการแล้ว อาทิ การกำหนดสถานที่จัดพิธี การเตรียมการจัดทำซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ หรือการประดับภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของจังหวัดและอำเภอ การเตรียมการจัดแสดงนิทรรศการ และมหรสพวัฒนธรรมไทย ตลอดจนการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งจังหวัดและอำเภอจะดำเนินการพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยการจัดทำดอกไม้จันทน์ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ดอกไม้จันทน์สำหรับเป็นตัวแทนจังหวัดและอำเภอ จำนวน 878 ช่อ เพื่อจัดส่งไปร่วมกับส่วนกลางที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และดอกไม้จันทน์
สำหรับประชาชนในการเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในพื้นที่ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบในการออกแบบและจัดทำดอกไม้จันทน์ของจังหวัดและอำเภอ สนับสนุนการฝึกสอนการทำดอกไม้จันทน์สำหรับประชาชน โดยมีต้นแบบเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดที่มีความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดได้ออกแบบและอยู่ระหว่างการจัดทำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2560 ปัจจุบันมีครูต้นแบบ 184 คน มีวิทยากรกลุ่มอาชีพทำดอกไม้จันทน์ พร้อมอุปกรณ์ 3,335 คน พร้อมเชิญชวนกลุ่มพลังมวลชน ประชาชน และจิตอาสา เข้าร่วมการฝึกสอนและร่วมทำดอกไม้จันทน์ ไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน คาดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายจัดทำดอกไม้จันทน์ไว้ 36 ล้านดอก ขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิ.ย. 60) ดำเนินการแล้วเสร็จ 5.06 ล้านดอก กระทรวงมหาดไทย จะจัดกิจกรรมอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์พระราชทานกระทรวงมหาดไทย ขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 5 อาคารสถาบันดำรงราชานุภาพ เพื่อให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทย (ส่วนกลาง) ร่วมเป็นจิตอาสาจัดทำดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะจัดทีมวิทยากร/ครูฝึก มาถ่ายทอดและฝึกสอนการทำดอกไม้จันทน์ฯ

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2560    
Last Update : 17 มิถุนายน 2560 22:18:45 น.
Counter : 252 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.