ทั่วโลกกำลังรื้อเขื่อนทิ้ง โดย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 14 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดเขื่อนโลก ผมขอนำบทความอีกชิ้นที่ผมเขียนขึ้นจากการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยการรื้อและยกเลิกการใช้เขื่อน (International Workshop on Dams Decommissioning and Removal, July,23-25,1998, Walker Greek, Pateluma, California.) มาฝาก และคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อคนทำเรื่องเขื่อนและแม่น้ำ เนื่องจากการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้เป็นงานต่อเนื่องกับการประชุมที่คิวริทิบาและข้อเรียกร้องยังคงทันสมัย

 

บทความนี้ผมเขียนขึ้นระหว่างดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิชการและนโยบายอนุรักษ์  มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ไชยณรงค์  เศรษฐเชื้อ

--------------------------------------------------

ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สังคมไทยมีความขัดแย้งเรื่องเขื่อนระหว่างนักการเมือง รัฐบาล นักสร้างเขื่อน กับประชาชน ได้ปรากฏ ว่ามีกระแสข่าวที่สำคัญเกี่ยวกับเขื่อน 2 ข่าวด้วยกัน

ข่าวแรก ในปี พ.ศ.2537 ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำแห่งสหรัฐอเมริกา(BuRec) ซึ่งเป็นหน่วยงานสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดใน สหรัฐและรับผิดชอบการสร้างเขื่อนทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ฯ ได้เรียกร้องให้นักสร้างเขื่อนยุติการสร้างเขื่อนในคราวประชุม สมาคมนักสร้างเขื่อนโลกที่แอฟริกาใต้ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำยังได้กล่าวอีกด้วยว่า"ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนในสหรัฐ อเมริกาได้สิ้นสุดลงแล้ว"

ข่าวที่สอง ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข่าวแรกก็คือ มีกระแสข่าวว่าอเมริกากำลังจะรื้อเขื่อน 2 แห่งบนแม่น้ำเอลวา(Elwha river)ทิ้ง เพื่อให้ปลาซัลมอนขึ้นไปวางไข่ได้ หลังจากมีกระแสข่าวนี้ หลายฝ่ายก็จับตามองว่าเมื่อไหร่ อเมริกาจึงจะมีการรื้อเขื่อนทิ้งกันจริง ๆ เพราะหากมีการรื้อเขื่อนทิ้งจริง ๆ นั่นหมายถึงว่ายุคสมัยของการสร้างเขื่อนมิได้สิ้นสุดลงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการก้าวสู่"ยุคของ การรื้อเขื่อนทิ้ง"อีกด้วย

ทุกวันนี้ แม้ว่ายังไม่ได้มีการรื้อเขื่อน 2 แห่งที่กั้นแม่น้ำเอลวา แต่ความจริงแล้ว การรื้อเขื่อนในอเมริกาได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำนานาชาติ (International River Network : IRN) ได้ระบุว่าตั้งแต่ทศวรรษ1970 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน อเมริกาได้รื้อเขื่อนทั่วประเทศทิ้งไปแล้วถึง 35 เขื่อน ได้รับการอนุมัติให้รื้อแล้วและรอการรื้อทิ้ง 8 เขื่อน และอยู่ในระหว่างการตัด สินใจรื้อทิ้งอีก 56 เขื่อน เขื่อนเหล่านี้มีตั้งแต่เขื่อนขนาดเล็กไปจนถึงเขื่อนขนาดใหญ่ เป็นทั้งเขื่อนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่าง เดียว เขื่อนเพื่อการชลประทาน และเขื่อนเอนกประสงค์ และเป็นทั้งเขื่อนที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานของรัฐและของเอกชน

การรื้อเขื่อนในอเมริกานั้นมีพื้นฐานมาจากสังคมอเมริกันมีบทเรียนและประสบการณ์จากการสร้างเขื่อนมามากมาย และสังคมอเมริ กันได้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อแม่น้ำโดยมองว่าแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระนั้นมีประโยชน์มหาศาลเทียบกันไม่ได้เลยกับผลประโยชน์ที่ได้จาก เขื่อนที่มีเพียงน้อยนิด เหตุผลส่วนใหญ่ในการรื้อเขื่อนในอเมริกาจึงคล้าย ๆ กันนั่นก็คือ เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศน์แม่น้ำให้กลับ คืนมา โดยเฉพาะการฟื้นฟูคุณภาพน้ำ และต้องการให้ปลาที่เคยอพยพไปวางไข่ตามแม่น้ำต่าง ๆ เช่น ปลาเทร้าท์ ปลาซัลมอน ปลาสเตอร์เจียน ปลาสตีลเฮด ปลาไหลอเมริกัน และปลาอื่น ๆ ให้กลับคืนมา ซึ่งจะให้ผลประโยชน์มากกว่ากระแสไฟฟ้าหรือการ ชลประทานที่ได้จากเขื่อน ทั้งนี้ก็เพราะว่านักสร้างเขื่อนไม่สามารถแก้ปัญหาการอพยพของปลาในแม่น้ำได้ บันไดปลาโจนที่มีการ สร้างในแต่ละเขื่อนนั้นก็ล้วนแต่ล้มเหลวไม่สามารถทำให้ปลาต่าง ๆ เดินทางขึ้นไปวางไข่ทางต้นน้ำได้ การรื้อเขื่อนทิ้งจึงมักทำกัน ทั้งลุ่มน้ำดังเช่นการเสนอให้รื้อเขื่อน 4 แห่งบนแม่น้ำสเนค(Snake river)ในรัฐวอชิงตัน

เขื่อนบางแห่งเช่น เขื่อนเกลน แคนยอน บนแม่น้ำโคโลราโด ถูกเสนอให้ระบายน้ำออกและรื้อด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อต้องการหุบเขา เกลน แคนยอน ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญซึ่งถูกจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำกลับคืนมา

เหตุผลในการรื้อเขื่อนจำนวนมากในสหรัฐยังมาจากความไม่ปลอดภัยของเขื่อน การต้องการลดภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายไปกับ การบำรุงรักษาเขื่อน และเขื่อนหลายแห่งถูกเสนอให้รื้อทิ้งก็เนื่องมาจากมันถูกสร้างขึ้นมาในยุครัฐบาลที่เลวร้ายหรือไม่ก็สร้างขึ้นมา โดยการละเมิดกฎหมาย

แม้ว่าการรื้อเขื่อนอาจถูกขัดขวางจากนักสร้างเขื่อนที่ยังต้องการให้มีเขื่อนอยู่ต่อไป แต่รัฐบาลอเมริกันก็ตระหนักถึงเหตุผลความจำ เป็นของการรื้อเขื่อน เช่น เขื่อนเอ็ดเวอร์ด(Edwards dam)ซึ่งรัฐบาลสั่งให้รื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเพราะการแก้ปัญหาสิ่ง แวดล้อมต้องใช้เงินทุนสูงกว่าการรื้อเขื่อน และเขื่อนแห่งนี้จะทำการรื้อทิ้งในฤดูร้อนปีหน้านี้

ไม่เพียงแต่อเมริกาเท่านั้นที่มีการรื้อเขื่อนทิ้ง ในยุโรปก็มีการรื้อเขื่อนทิ้งแล้วเช่นกัน โดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้แถลงถึงผลการตัดสินใจ เมื่อวันที่ 4 มกราคมปีนี้ว่าจะรื้อเขื่อน Saint-Etienne-du-Vigan เขื่อนสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สร้างกั้นแม่น้ำ Allier ตอนบนเมื่อ ปลายศตวรรษที่ 19 และอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าของฝรั่งเศส ต่อมาในวันที่ 24มิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้มีการระเบิดเขื่อน ที่สูง 44 ฟุตแห่งนี้ทิ้ง เหตุผลของการรื้อเขื่อนแห่งนี้ก็เช่นเดียวกับเหตุผลในการรื้อเขื่อนในสหรัฐ ฯ นั่นก็คือเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและเปิดทางให้ปลาซัลมอนแอตแลนติค(Atlantic Salmon)ที่ในแต่ละปีจะเดินทางอพยพจากแถบเกาะกรีนแลนด์ทางตอนเหนือของมหา สมุทรแอแลนติคถึง 4,000 ไมล์ให้สมารถเดินทางขึ้นไปวางไข่แถบต้นน้ำของแม่น้ำ Allier ได้

เท่านั้นยังไม่พอรัฐบาลฝรั่งเศสยังมี แผนรื้อเขื่อน Maisons-Rouges เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ถูกสร้างกั้นแม่น้ำVienne สาขาของแม่น้ำ Allier เป็นเขื่อนต่อไป แม้ว่าแผน นี้ต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากถูกคัดค้านจากนักการเมืองในท้องถิ่น แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้กำหนดเวลาที่จะรื้อเขื่อนแห่งนี้ทิ้งใน เดือนสิงหาคมนี้เอง

สำหรับที่อื่น ๆ แม้ว่ายังไม่มีการรื้อเขื่อน แต่ก็ได้มีการเรียกร้องให้ปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลายแห่ง เช่น ในออสเตร เลีย และรัสเซีย เหตุผลในการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนก็เพื่อการฟื้นฟูบริเวณอ่างเก็บที่ถูกน้ำท่วมที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศน์และเพื่อ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำน้ำท้ายเขื่อนให้กลับคืนมา

ด้วยเหตุที่กระแสการรื้อเขื่อนทิ้งเกิดขึ้นหลายมุมโลก เมื่อวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2541 เครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำนานาชาติจึงได้จัด สัมมนาเชิงปฏิบัตินานาชาติเรื่องการปลดระวางเขื่อนและการรื้อเขื่อน(International Workshop on Dams Decommissioning and Removal) โดยมีนักกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 18 คน จาก 7 ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป(รวมทั้งรัสเซีย) ออสเตรเลีย และเอเซีย เข้าร่วม

การประชุมได้มีขึ้นที่วอล์คเกอร์เกรก พาเทลูมา รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและความเป็นไปได้ ในการรื้อเขื่อน รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรณรงค์ให้มีการรื้อเขื่อน ผลการสัมมนาได้นำไปสู่การรวมตัวกันเป็นพันธมิตร นานาชาติเพื่อการฟื้นฟูแม่น้ำและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน โดยพันธมิตรนี้จะมุ่งไปที่การรักษาแม่น้ำและชุมชนที่พึ่งพา แม่น้ำ และได้เรียกร้องให้ปลดระวางเขื่อนและรื้อเขื่อนทิ้ง

ประเด็นข้อเรียกร้องของที่ประชุมที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ

1)ให้มีการประเมินอย่างอิสระและโปร่งใสเพื่อแยกแยะว่าเขื่อนไหนที่ควรใช้งานต่อ เขื่อนไหนควรแก้ไขผลกระทบ และเขื่อนไหน ควรปลดระวางหรือรื้อทิ้ง เขื่อนแต่ละแห่งที่จะใช้งานต่อจะต้องพิสูจน์ในประเด็นของผลกระทบทางนิเวศน์วิทยาและสังคม เศรษฐศาสตร์ และด้านความปลอดภัย

2)ให้เตรียมแผนการปลดระวางเขื่อนทุกเขื่อนทั้งที่สร้างไปแล้ว กำลังก่อสร้าง หรือยังไม่ได้สร้าง แผนนี้จะต้องครอบคลุมถึงการรื้อ เขื่อนทิ้ง การฟื้นฟูแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมไปถึงกลไกในการระดมทุนซึ่งจำเป็นจะต้องใช้สำหรับเขื่อนที่ปลดระวาง และรื้อทิ้ง

3)ให้เจ้าของเขื่อนและผู้ได้รับผลประโยชน์จากเขื่อนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากจะใช้งานเขื่อนต่อ ทั้งค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายสำหรับการฟื้นฟูความเสียหายที่ผ่านมา และค่าใช้จ่ายในการปลดระวางหรือการรื้อเขื่อน และจะต้องตั้งกลไก การระดมทุนขึ้นมาเพื่อหาค่าใช้จ่ายในการปลดระวางเขื่อนที่ถูกปล่อยทิ้งไว้หรือเขื่อนที่เจ้าของเขื่อนขาดเงินทุน นอกจากนั้นองค์กร นานาชาติ(เช่น ธนาคารโลกและธนาคารในเครือ) ที่ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการสร้างเขื่อนจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อการปลดระวาง หรือรื้อเขื่อนทิ้งด้วย

4)ให้มีการพัฒนาและบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อนที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อม การเปิดเผยพื้นที่ที่จะถูก น้ำท่วมและแผนฉุกเฉินในการอพยพประชนหากเขื่อนพัง รวมทั้งต้องจัดให้มีการประกันภัย บันทึกเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของ เขื่อนจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อนจะต้องมาจากเจ้าของเขื่อน และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเขื่อนรวมทั้งองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง

5)ให้มีการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ด้านนิเวศวิทยา และด้านสังคมที่เกี่ยวกับเขื่อน โดยการศึกษานี้จะต้องได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาลและองค์กรสร้างเขื่อน

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้เสนอแนวคิดในการจัดการลุ่มน้ำและพลังงานโดยเรียกร้องให้แผนการจัดการลุ่มน้ำและพลังงานจะต้อง ดำเนินการโดยยึดกระบวนการการมีส่วนร่วมและต้องโปร่งใส โดยแผนการจัดการลุ่มน้ำจะต้องรวมเอาการเกษตรและการประมง ที่ยั่งยืน การวางผังเมือง การจัดการน้ำท่วม การประปา และการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนแผนพลังงานจะต้องรวมเอาการจัดการด้าน ความต้องการ(DSM)และตระหนักถึงต้นทุนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นต่อไปเข้าไปด้วย

การรื้อเขื่อนและข้อเรียกร้องนี้ กล่าวได้ว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าเขื่อนที่มีการโต้แย้งกันมานานหลายทศตวรรษนั้น แท้ที่จริงแล้วมันคือเทคโนโลยีที่ล้าสมัย และแม่น้ำตามธรรมชาตินั้นมีคุณค่ามหาศาลที่ไม่ควรจะแลกกับเขื่อนที่ให้ประโยชน์น้อย แล้วยังก่อให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวางทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งอันตราย และถึงที่สุดแล้วเขื่อนก็ต้องหมดอายุตามวันเวลา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมการปลดระวางและรื้อเขื่อนทั้งในด้านงบประมาณ รวมทั้งให้เจ้าของเขื่อน ผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือ องค์กรที่ให้ทุนสร้างเขื่อนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้

สำหรับบ้านเรา อีกไม่นานเราคงได้เห็นการรื้อเขื่อนทิ้ง เพราะปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามีเขื่อนหลายแห่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย อันตรายเนื่อง จากก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน(อันเนื่องมาจากการคอรัปชั่น) และไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้ และอีก ๆ หลายเขื่อนกำลังเดินเข้าสู่ช่วงวัยชรา

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 15 มีนาคม 2559    
Last Update : 15 มีนาคม 2559 9:53:40 น.
Counter : 507 Pageviews.  

สวนดุสิตโพลล์เผยผลสำรวจปราบอิทธิพลเป็นนโยบายที่ดีต้องการให้ปราบผู้ค้ายาเสพติด-ของผิดกฎหมาย-อาวุธเถื่

สวนดุสิตโพลล์สำรวจเรื่องการปราบผู้มีอิทธิพล ส่วนใหญ่มองเป็นนโยบายที่ดี หนุนจริงจัง แนะปราบมาเฟียยาเสพติดมากสุด เชื่อมี เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว เหตุมีผลประโยชน์ร่วมกัน มองการถูกคุกคามไม่กล้าร้องเรียนเป็นอุปสรรคการปราบปราม แต่คาด คสช.น่าจะทำสำเร็จ แนะทุกฝ่ายร่วมมือให้ประชาชนเป็นหูเป็นตา

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพล (มาเฟีย) ของ คสช. จากที่ คสช. มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งปราบปรามผู้มีอิทธิพลในทุกพื้นที่ โดยให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อขจัดปัญหา “มาเฟีย” เป็นการจัดระเบียบสังคมและดูแลประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปกติ ไม่ถูกเอาเปรียบ หรือถูกบังคับจากผู้ที่กระทำตนเป็นผู้ที่มีอิทธิพล เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็น และเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,249 คน สำรวจระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม 2559 สรุปผลได้ ดังนี้

เมื่อถามว่าความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพล (มาเฟีย) ของ คสช.

อันดับ 1 เป็นนโยบายที่ดี เห็นด้วยต่อนโยบายนี้ ขอให้เร่งดำเนินการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง 74.62%

อันดับ 2 หากทำได้จริงบ้านเมืองคงสงบเรียบร้อย ประชาชนปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 73.90%

อันดับ 3 เป็นเรื่องยากที่จะปราบปรามได้ทั้งหมด อาจแก้ปัญหาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น 71.74%

อันดับ 4 เจ้าหน้าที่ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ยุติธรรม ตรงไปตรงมา 65.49%

อันดับ 5 ควรให้รางวัลสำหรับผู้ที่ให้เบาะแส หรือผู้ที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยม 56.35%

เมื่อถามว่า “ผู้มีอิทธิพล” ที่ประชาชนคิดว่าควรเร่งปราบปรามมากที่สุด คือ

อันดับ 1 ผู้ค้ายาเสพติด ของผิดกฎหมาย อาวุธเถื่อน 88.87%

อันดับ 2 นักการเมือง นักการเมืองท้องถิ่น 78.46%

อันดับ 3 เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ กลุ่มคนมีสี ตำรวจ ทหาร 73.26%

อันดับ 4 นายทุน เงินกู้นอกระบบ เปิดบ่อน หวยใต้ดิน 67.41%

อันดับ 5 พวกค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ 61.73%

เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?

อันดับ 1 มี 85.43% เพราะเป็นเรื่องปกติที่มีมานาน รับรู้จากข่าวที่นำเสนอ เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ออกมายอมรับว่ามีจริง ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 13.29% เพราะอาจเป็นข่าวโคมลอย มีการแอบอ้าง หรือใส่ร้ายป้ายสีเพื่อให้บุคคลนั้นๆ เสื่อมเสียชื่อเสียง ฯลฯ

อันดับ 3 ไม่มี 1.28% เพราะเชื่อมั่นในเกียรติ และศักดิ์ศรีของข้าราชการไทย ก่อนเข้ารับตำแหน่งทุกคนต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ ฯลฯ

เมื่อถามว่าปัญหา/อุปสรรค ที่ขัดขวางการปราบปรามผู้มีอิทธิพล (มาเฟีย) คือ

อันดับ 1 ไม่กล้าร้องเรียน กลัวเดือดร้อน ถูกคุกคาม ถูกทำร้าย 81.59%

อันดับ 2 รับสินบน รับเงินใต้โต๊ะ เห็นแก่ผลประโยชน์ 76.22%

อันดับ 3 การใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ที่สูงกว่า ใช้ระบบเส้นสาย ช่วยเหลือพวกพ้อง เครือญาติ 70.94%

อันดับ 4 มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รู้เห็นเป็นใจ ไม่เอาจริงเอาจัง 68.45%

อันดับ 5 กฎหมายมีช่องโหว่ บทลงโทษไม่เหมาะสม 66.53%

เมื่อถามว่าจากนโยบายของ คสช.ที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อขจัดปัญหาผู้มีอิทธิพล (มาเฟีย) ประชาชนคิดว่าจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด?

อันดับ 1 น่าจะสำเร็จได้ 42.43% เพราะ หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชน คสช.น่าจะควบคุมและแก้ปัญหาได้ ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่น่าจะสำเร็จ 36.99% เพราะเมื่อคนเก่าไปก็มีคนใหม่มาแทน ผู้มีอิทธิพลมีอยู่มาก การปราบปรามอาจไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ฯลฯ

อันดับ 3 สำเร็จได้แน่นอน 11.93% เพราะ คสช.มีอำนาจเด็ดขาด เอาจริงเอาจัง สามารถใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ได้ทุกสถานการณ์ ฯลฯ

อันดับ 4 ไม่สำเร็จ 8.65% เพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน ยังไม่เคยมีใครแก้ปัญหาได้สำเร็จ หรือขุดรากถอนโคนให้หมดสิ้นไปได้ ฯลฯ

เมื่อถามว่าวิธีการใดที่จะสามารถปราบปรามผู้มีอิทธิพล (มาเฟีย) ได้ผลมากที่สุด

อันดับ 1 ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ช่วยกันสอดส่องดูแล ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา 87.35%

อันดับ 2 เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เอาจริงเอาจัง มีบทลงโทษรุนแรงเด็ดขาด 83.35%

อันดับ 3 สามารถจับกุมหรือดำเนินการต่อผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ หรือตัวจริงให้ได้ 79.66%

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 14 มีนาคม 2559    
Last Update : 14 มีนาคม 2559 19:15:28 น.
Counter : 264 Pageviews.  

ทรูรับไลเซ่นส์ 4G คลื่น900 หลังชำระค่าประมูลงวดแรก 7.9 พันล้าน - กสทช. เตือนผู้ใช้มือถือ 2G เอไอเอส

กทค. มีมติรับรองออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ให้ทรูมูฟฯ มีผล 16 มี.ค. 2559 -15 มี.ค. 2574 รวมระยะเวลากว่า 15 ปี ขณะที่ เลขาธิการ กสทช. เตือนประชาชนผู้ใช้บริการมือถือ 2G เอไอเอส รีบย้ายค่ายก่อนซิมดับเที่ยงคืนวันที่15 มี.ค. 59

 

    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (14 มี.ค. 2559) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติรับรองออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สาม และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ให้กับบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีผลนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2559-15 มี.ค. 2574 รวมระยะเวลา 15 ปี

    เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากสำนักงาน กสทช. ให้ใบอนุญาต 900 MHz แก่บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นที่เรียบร้อย จะทำให้เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่มีอยู่ประมาณ 3 แสนเลขหมาย ไม่สามารถใช้งานได้ หรือซิมดับลง โดยจะมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค. 2559 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามมติ กทค. ก่อนหน้านี้ที่ว่า เมื่อมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลรายใดรายหนึ่งแล้ว มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานถือว่าสิ้นสุดลง     จึงขอฝากเตือนประชาชนที่ใช้บริการของเอไอเอส 2G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ขณะยังมีเวลาโอนย้ายอีกสองวัน จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค. 2559 ให้รีบทำการโอนย้ายเบอร์ไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ก่อนที่ซิมจะดับ  

    ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการเยียวยาเป็นการดูแลและคุ้มครองประชาชนให้ยังคงใช้เลขหมายได้อย่างต่อเนื่อง กรณีของผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของเอไอเอส ได้มีการโอนย้ายจากผู้ใช้บริการกว่า 40 ล้านเลขหมาย เปลี่ยนโอนย้ายไปยังบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คงเหลือตามที่เอไอเอสแจ้งกับสำนักงาน กสทช. ว่ามีผู้ใช้บริการคงค้างอยู่ในระบบประมาณ 3 แสนราย ซึ่งเป็นเบอร์ที่ใช้งานน้อยหรือแทบไม่ได้ใช้งาน ดังนั้น เมื่อ สำนักงาน กสทช. ได้มีการแจ้งไปยังบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2559 ให้ทำการแจ้งผู้ใช้บริการเพื่อย้ายค่าย หรือหากไม่ย้ายค่ายก็ให้เปลี่ยนใช้คลื่นความถี่อื่น ซึ่งการโอนย้ายผู้ใช้บริการสามารถทำได้วันละ 6 หมื่นเลขหมาย ซึ่งหากมีการโอนย้ายผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่สำนักงาน กสทช. ได้มีการแจ้งไปยังบริษัท ผู้ใช้บริการก็จะไม่ได้รับผลกระทบ หรือมีผลกระทบน้อยมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวบนคลื่น 900 MHz เป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับการดำเนินการกรณีคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

    “ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 15 มี.ค. 2559 เป็นต้นไป สำนักงาน กสทช. จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานโดยมีรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นประธาน และมีสำนักงาน กสทช. ภาคและเขตทั่วประเทศ ร่วมเป็นคณะทำงาน คอยมอนิเตอร์ ติดตามผลที่เกิดขึ้นหลังจากการยุติมาตรการเยียวยา หากผู้ใช้บริการมีปัญหาต้องการสอบถามข้อมูล สามารถติดต่อมายังเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงาน กสทช. เลขหมาย 1200 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง” นายฐากร กล่าว

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 14 มีนาคม 2559    
Last Update : 14 มีนาคม 2559 19:03:44 น.
Counter : 238 Pageviews.  

ระบบดับเพลิงอัตโนมัติธ.ไทยพาณิชย์ทำงานขับไล่อ๊อกซิเจนทำให้คนงานกำลังไปต่อเติมเสียชีวิต 10 ราย-บาดเจ็

เกิดอุบัติเหตุระบบดับเพลิงอัตโนมัติในห้องมั่นคง ธ.ไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ทำงาน ขณะคนงานก่อสร้างกำลังต่อเติมภายในทำให้สารเคมี Pyrogen สลายก๊าซออกซิเจนทำงาน ทำให้คนงานขาดอากาศหายใจเสียชีวิต 10 ศพ-บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง อ่าน-ไพโรเจนคืออะไร ทำงานอย่างไร ?

 

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 พ.ต.ท.เฉลียง อินทิพย์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.พหลโยธิน รับแจ้งเหตุมีผู้สำลักควันได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหลายราย ภายในธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำนักงานใหญ่ ถ.รัชดาภิเษก แขวงและเขต จตุจักร กทม. จึงรีบเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมด้วย พล.ต.ต.เจริญ ศรีศศลักษณ์ ผบก.น.2 พ.ต.อ.ภาณุเดช สุขวงศ์ ผกก.สน.พหลโยธิน พ.ต.ท.พงศ์จักร จักษุรักษ์ รอง ผกก.ป. พ.ต.ท.ปัญญา กุลไทย รอง ผกก.สส. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสน.พหลโยธิน เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร พร้อมรถดับเพลิง 15 คัน และอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู

ที่เกิดเหตุเป็นอาคารสำนักงานใหญ่สูง 34 ชั้น บริเวณลานจอดรถชั้นใต้ดิน B2 เจ้าหน้าที่พบกลุ่มควันจำนวนมากพวยพุ่งออกมาทั่วบริเวณ มีคนงานรับเหมาก่อสร้างของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งประมาณ 13 คน เข้าไปต่อเติมห้องนิรภัย ซึ่งใช้เก็บเอกสารสำคัญของธนาคาร ชื่อ "ห้องมั่นคงนิติกรรมหลักประกัน และบริหารหลักประกัน" ของอาคารดังกล่าว กำลังส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือเนื่องจากขาดอากาศและสำลักควัน

อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะต้องใช้การแสกนลายนิ้วมือเข้าไปถึงจะเปิดได้ เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจใช้เครื่องตัดถ่างพังประตู พบผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนอนเรียงรายกันอยู่ จึงช่วยกันลำเลียงคนออกมาปฐมพยาบาล และทำการช่วยคืนชีพหายใจเบื้องต้น แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทั้งหมด มีผู้เสียชีวิตเป็นคนงานของบริษัท 5 ราย

ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บถูกช่วยกันนำส่ง รพ.เมโย รพ.วิภาวดี รพ.เกษมราษฏร์ประชาชื่น และรพ.เปาโล เมโมเรียลสะพานควาย รวมทั้งหมด 10 ราย ต่อมาภายหลังรับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 รายที่รพ. รวมเป็น 8 ราย (ชาย 7 ราย และหญิง 1 ราย) ที่เหลือทั้งหมดอาการสาหัส แพทย์กำลังช่วยเหลือชีวิตอย่างเร่งด่วน

จากการสอบสวน ทราบว่า ก่อนเกิดเหตุคนงานที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้เข้าไปทำการต่อเติมภายในห้องนิรภัย ของชั้น B 2 ของอาคาร จากนั้นได้เกิดประกายไฟและกลุ่มควัน จึงทำให้สารไฮโดรคลีน หรือ fm-200 ซึ่งเป็นระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงาน ระบบจะทำงานด้วยการดึงเอาออกซิเจนออกจากห้องที่ติดตั้งระบบ ทำให้คนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ขาดอากาศหายใจบาดเจ็บ และถึงแก่ชีวิต

ต่อมา พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท. ผบช.น. พร้อม ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุประมาณ 30 นาที ก่อนที่ดร.วิชิต จะออกมาเปิดเผยว่า เหตุเกิดขึ้นไม่ใช่เพลิงไหม้ เกิดจากระบบป้องกันเพลิงไหม้ กำลังมีการติดระบบเพิ่ม เดิมใช้ระบบแก๊ส เพราะเป็นห้องเก็บเอกสาร โดยผู้รับเหมาเข้าไปทำงานแล้วเกิดการกระตุ้นจนระบบแก๊สดับเพลิงทำงาน ทำให้เกิดควันและผู้เสียชีวิตเนื่องจากสำลักควัน จึงหายใจไม่ออกจนมีคนเจ็บคนตาย ไม่มีการลามไปห้องอื่น ธนาคารต้องขอแสดงความเสียใจคนงานที่เสียชีวิตด้วย

ดร.วิชิตยืนยันว่าควันที่เกิดมาจากเหตุถังเคมีขัดข้อ ไม่ใช่เพลิงไหม้ หรือระเบิด ทั้งนี้ทางธนาคารกำลังพิจารณาเพื่อทบทวนการติดตั้งระบบดับเพลิงใหม่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

ทางพล.ต.ท.ศานิตย์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ว่า เกิดระบบขัดข้อง ด้านรักษาความปลอดภัยในการป้องกันเพลิง เนื่องจากมีผู้รับเหมาเข้าไปต่อเติมภายในชั้นใต้ดินของห้องนิรภัยใช้เก็บเอกสาร ระหว่างที่ต่อเติมมีเศษกลุ่มควันไปถูกระบบเซ็นเซอร์ ทำให้ระบบไล่อากาศอัตโนมัติทำงาน ช่างที่อยู่ภายในห้องขาดอากาศหายใจ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 10 ราย ต่อไปจะให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้าทำการตรวจสอบ เพื่อรวบรวมหลักฐานดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่กระทำโดยประมาท

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า “ถังดับเพลิงแบบไฮโดรเจนระเบิด ไม่ใช่นะครับ เพราะไฮโดรเจนติดไฟ ไม่เอามาดับไฟแน่ ๆ... ที่ระเบิดจริง ๆ เป็นถังดับเพลิงระบบ Pyrogen (ไพโรเจน)”

รศ.ดร.วีรชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า “ มาดูนะครับทำงานอย่างไร Pyrogen Aerosol firefighting agent จะผลิตก๊าซที่มาแทนที่ออกซิเจน ทำให้บริเวณไฟไหม้ไม่มีออกซิเจนและไฟก็ดับลง ก๊าซที่มาแทนที่ออกซิเจนหรือมาช่วยดับไฟนั้นคือคาร์บอนไดออกไซด์ผสมไนโตรเจน และละอองน้ำ (สามตัวนี้ไม่ติดไฟ แต่ช่วยดับไฟ) แต่คนที่หลงติดอยู่บริเวณนั้น ก็จะขาดอากาศหายใจด้วยครับ”

ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม ธนาคารไทยพาณิชย์ มีหนังสือชี้แจงว่า กรณีเกิดเหตุกลุ่มควันบริเวณชั้นใต้ดิน ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ อาคารเอสซีบีปาร์ค เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 21.30 น. นั้นไม่ใช่เหตุเพลิงไหม้ และไม่ได้เกิดเหตุระเบิด ขณะนี้ได้ควบคุมสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว จากการสอบสวนเบื้องต้นเจ้าพนักงานตำรวจคาดว่า อาจจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้รับเหมา ที่เข้ามาปรับปรุงระบบการป้องกันอัคคีภัยของอาคารเพิ่มเติม

การทำงานได้ไปกระตุ้นให้สารดับเพลิง (แก๊สไพโรเจน) ทำงาน ซึ่งหลักการของแก๊สไพโรเจน จะทำให้ออกซิเจนหมดไป จึงทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทางธนาคารขอแสดงความเสียใจมายังผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

สำหรับสาเหตุในรายละเอียดอยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเบื้องต้นธนาคารจะให้ความดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม และความคืบหน้าจะขอชี้แจงในลำดับต่อไป ทั้งนี้ อาคารและทรัพย์สินไม่ได้รับความเสียหาย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จึงเปิดให้บริการตามปกติ

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 14 มีนาคม 2559    
Last Update : 14 มีนาคม 2559 15:01:39 น.
Counter : 320 Pageviews.  

ความโกลาหลหลังประมูลคลื่นมือถือ เรื่องที่ผู้บริโภคต้องรับมือ โดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.

ปัญหาที่มีการกล่าวขานกันมากในวงการโทรศัพท์มือถือในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ผู้ชนะการประมูลจะจ่ายเงินประมูลหรือไม่ ถ้าไม่จ่ายแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าจ่ายแล้วซิมจะดับหรือไม่ รวมถึงปัญหาการย้ายค่าย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น

 

เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันคือ ปัจจุบันยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาในการจ่ายเงิน จึงยังไม่มีผู้ชนะการประมูลรายใดสิ้นสิทธิในการรับใบอนุญาต ในขณะนี้มีข่าวว่า ผู้ชนะการประมูลยังคงพยายามหาทางจ่ายเงินอยู่ จึงยังต้องเปิดโอกาสจนวินาทีสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม หากถึงที่สุดไม่มีการชำระเงิน เท่ากับเป็นการสละสิทธิในการรับใบอนุญาต หากจัดประมูลใหม่จึงไม่สามารถเข้าร่วมประมูลเพื่อขอรับใบอนุญาตเดิมได้อีก และต้องถูกริบเงินที่วางเป็นหลักประกันการประมูล ๖๔๔ ล้านบาท ตลอดจนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดประมูล และหากราคาชนะประมูลครั้งใหม่ต่ำกว่าเดิม ก็จะมีการฟ้องร้องให้รับผิดชอบส่วนต่างนั้น เพื่อปกป้องประโยชน์ของรัฐมิให้เสียหาย ส่วนการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลครั้งใหม่ ต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ชนะการประมูลที่มาชำระเงินแล้วด้วย เพราะหากราคาชนะการประมูลรอบใหม่ต่ำลงมาก ก็เสมือนเป็นการลงโทษผู้ที่ทำตามกติกา เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนที่สูงกว่าจากการที่คนอื่นไม่ทำตามกติกา ดังนั้นระดับราคาที่สมเหตุสมผลคือระดับราคาที่ผู้เข้าร่วมประมูลเดิมทุกรายยังยินยอมเสนอราคาในการประมูลที่ผ่านมา นั่นคือระดับราคาไม่ต่ำกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทเศษ

ส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการใบอื่นของกลุ่มบริษัทในเครือ ก็ต้องพิจารณาจากคุณสมบัติการเป็นผู้รับใบอนุญาตและการปฏิบัติตามกฎหมายและตามเงื่อนไขใบอนุญาต ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครอง หากไม่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดกฎหมาย ก็อาจไม่สามารถเพิกถอนใบอนุญาตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลได้ ซึ่งองค์กรกำกับดูแลคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อน หากยืนยันจะเพิกถอนใบอนุญาต

ประเด็นต่อมาที่ต้องทำความเข้าใจ ปัจจุบันชัดเจนแล้วว่า ผู้ชนะการประมูลรายหนึ่งได้ชำระเงินและวางหนังสือค้ำประกันแล้ว ดังนั้น เมื่อ กสทช. ออกใบอนุญาตให้กับผู้ที่มาชำระเงินแล้ว ซิมระบบ 2G เดิมบนคลื่นความถี่ 900 MHzจึงต้องหยุดบริการ ผู้บริโภคที่ยังใช้ซิมนี้อยู่ หากต้องการใช้งานต่อ จะต้องย้ายค่ายก่อนที่ซิมดับ มิเช่นนั้น เบอร์มือถือที่ใช้งาน ก็จะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อซิมใหม่ และใช้เบอร์ใหม่เท่านั้น

แต่หากจะมีการใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังใช้งานได้อยู่ ก็ต้องอาศัยความพร้อมใจของเจ้าของโครงข่ายเดิมและเจ้าของคลื่น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ผู้บริโภคจึงต้องเตรียมใจรับกับสถานการณ์ซิมดับ

ส่วนผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่เปลี่ยนเป็นระบบ 3G ของค่ายเดิม แต่ยังใช้เครื่องมือถือรุ่นเก่าซึ่งไม่รองรับระบบ 3G ที่ผ่านมายังสามารถใช้งานได้เนื่องจากผู้ให้บริการใช้วิธีการโรมมิ่งให้กลับมาใช้ระบบสองจีบนคลื่นความถี่ 900 MHz ทำให้เกิดสถานการณ์ย้ายค่ายแต่ไม่ย้ายคลื่น ซึ่งเมื่อบริการ 2G บนคลื่นเดิมหยุดให้บริการ กลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้ให้บริการจึงมีข้อเสนอแจกเครื่อง 3G ฟรี เพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ผู้บริโภคอีกหลายล้านคนก็ยังไม่ได้ติดต่อรับเครื่องใหม่ จนในที่สุดผู้ให้บริการหาทางออกโดยการทำความตกลงไปใช้งานโรมมิ่งระบบ 2G บนคลื่นความถี่1800 MHz ของค่ายพันธมิตร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนคลื่นที่ใช้โรมมิ่งก็อาจเกิดปัญหาการใช้งานได้ อาทิเช่น ในช่วงเปลี่ยนคลื่นความถี่จะเกิดการสะดุดของการใช้งาน หรือกรณีพื้นที่มีสัญญาคลื่นใหม่อ่อนกว่าสัญญาณคลื่นเดิมก็ทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง รวมถึงปัญหาโทรไม่ออกสายหลุด หากมีการใช้งานพร้อมกันมากกว่าความจุของการโรมมิ่ง

สุดท้ายคือปัญหาการย้ายค่าย ซึ่งต้องยอมรับว่า ค่ายมือถือส่วนใหญ่ต่างหวงลูกค้า จึงมักจะหาทางไม่ให้เกิดการย้ายค่าย การย้ายค่ายปริมาณมากๆ ครั้งแรกในประเทศไทย เกิดในช่วงหลังการประมูล 3G โดยมีการแจ้งลูกค้า 2G ให้อัพเกรดเทคโนโลยีเป็น 3G แต่ในทางปฏิบัติคือการย้ายค่ายจากบริการในระบบสัมปทาน 2G ไปยังบริการของบริษัทในเครือที่ได้รับใบอนุญาต 3G ประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้คือได้ใช้บริการคุณภาพสูงขึ้น ประโยชน์ที่ค่ายมือถือได้คือลดภาระในการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐตามสัญญาสัมปทาน ทำให้รายจ่ายลดลงมากกว่าร้อยละ 20 ทันที แต่ก็มีข้อทักท้วงจากรัฐวิสาหกิจคู่สัญญาสัมปทานว่า มีการย้ายค่ายโดยผิดกฎหมายและส่งเรื่องให้ สตง.ตรวจสอบ เนื่องจากกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ

ในครั้งนั้น การย้ายค่ายที่ผิดกฎหมายคือการย้ายค่ายโดยผู้บริโภคไม่ยินยอมหรือไม่รับรู้ ซึ่งผิดอย่างชัดเจน ในต่างประเทศเรียกพฤติการณ์แอบเปลี่ยนผู้ให้บริการว่า Slamming ซึ่งอาจใช้วิธีการ Mis-selling คือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น อยากอัพเกรดเทคโนโลยีโดยไม่รู้ว่ากำลังถูกย้ายค่าย กับอีกกรณีคือผู้บริโภคประสงค์จะย้าย แต่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เช่น ไม่มีการแสดงเจตนาและไม่ได้ให้ข้อมูลพร้อมหลักฐานกับค่ายมือถือใหม่ เพียงการตอบรับSMS ก็ย้ายค่ายสำเร็จแล้ว โดยที่ค่ายมือถือแอบโอนข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างกันเอง ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บหลักฐานการขอย้าย ทำให้แยกได้ยากว่าเป็นการแอบย้ายโดยผู้บริโภคไม่รู้ตัวหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกา FCC มีบทลงโทษการ Slamming โดยหากผู้บริโภครู้ว่าถูก Slam ก็ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ 30 วันแรกให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ และได้รับการโอนบริการกลับไปยังผู้ให้บริการเดิม แต่หากชำระค่าบริการไปแล้วจำนวนเท่าใด ผู้ให้บริการรายใหม่จะต้องส่งเงินทั้งหมดนั้นให้กับผู้ให้บริการรายเดิม แล้วยังต้องชำระค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคอีกต่างหากในอัตราร้อยละ 50

 

แต่ปัญหาการย้ายค่ายในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการดึงดูดลูกค้าข้ามค่ายด้วยโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม  ประกอบกับมีการเปิดย้ายค่ายในร้านสะดวกซื้อ กรณีผู้บริโภคแจ้งขอย้ายเองย่อมไม่ใช่การ Slamming หรือการขโมยลูกค้า แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่กระบวนการย้ายในร้านสะดวกซื้อ ว่าครบขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ คือ ต้องมีใบคำขอย้ายและมีการลงลายมือชื่อ ซึ่งสองขั้นตอนนี้จะใช้กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาทดแทนการเขียนและการเซ็นชื่อบนกระดาษก็ได้ แต่ไม่ใช่การลดขั้นตอนคือไม่มีใบคำขอหรือไม่มีลายเซ็นใดๆ เลย ค่ายอื่นจึงร้องขอให้ตรวจสอบความถูกต้อง จนลามไปถึงการไม่ดำเนินการย้ายค่ายให้ตามความประสงค์ของผู้บริโภค จึงเกิดปัญหาการย้ายค่ายไม่สำเร็จสะสมหลักแสนราย และเนื่องจากฐานข้อมูลการย้ายค่ายไม่มีการระบุว่าเป็นการย้ายตามช่องทางปกติ หรือย้ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ทำให้ปัญหาบานปลายกระทบผู้ขอย้ายค่ายทุกช่องทาง ค่ายมือถือจึงต้องเร่งปรับปรุงการย้ายค่ายให้ถูกกฎหมาย และแยกแยะกลุ่มผู้ขอย้ายค่ายว่าเป็นผู้ขอย้ายตามปกติหรือไม่ และหากเป็นผู้ขอย้ายค่ายที่ซิมกำลังจะดับ ก็ควรเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 14 มีนาคม 2559    
Last Update : 14 มีนาคม 2559 14:14:16 น.
Counter : 265 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.