ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดี“อุเทนถวาย”จะต้องขนย้าย-มอบคืนพื้นที่และจ่ายเงินแก่จุฬาฯตามมติคณะกรรมการกยพ.

ศาลปกครองยกฟ้องคดี“อุเทนถวาย”ขอเพิกถอนคำสั่งโอนที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลังจากผู้บริหารอุเทนฯ ยื่นฟ้องส่วนราชการ คณะรัฐมนตรีและ จุฬาฯว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุให้ขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนพร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาฯ

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 มีรายงานว่า เพจสำนักประชาสัมพันธ์ ศาลปกครองได้เผยแพร่ คำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 ุมภาพันธ์ 2559 โดยมีคำสั่ง“ยกฟ้อง”ในคดีหมายเลขดำที่ 1912/2556 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตอุเทนถวาย) ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) คณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องที่ 3)ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2552 ให้ผู้ฟ้องคดีขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนพร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2555 สำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือที่ อส 0020/10727 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า กรณี นายสมศักดิ์ รัตนเชาว์ กับพวกทูลเกล้าฯถวายฎีกาปัญหาที่ดินวิทยาเขตอุเทนถวายนั้น สำนักราชเลขาฯได้รับแจ้งว่ากรณีดังกล่าวได้ยุติตามการตัดสินชี้ขาดของผู้ถูกฟ้องคดีและคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบผลดังกล่าวแล้ว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี(อุเทนถวาย)ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) มีมติชี้ขาดในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อ 24 พ.ย. 2552 ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตอุเทนถวาย) ขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืน พร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเงินปีละ1,140,900 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2549 จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสร็จสิ้น

ในเรื่องนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จึงได้ฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว

ประเด็นข้อพิพาทนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ให้การว่า กรณีพิพาทระหว่างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ได้มีมติ ครม. กำหนดห้ามไม่ให้ฟ้องคดีแพ่งระหว่างกัน เพราะต่างก็เป็นหน่วยงานรัฐ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างกัน

เมื่อศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า กระบวนการในการพิจารณามีมติของ กยพ. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนใดบกพร่อง

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี (อุเทนถวาย) อ้างถึงการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีความชอบธรรมที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนเฉกเช่นเดียวกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทยด้วยนั้น

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จะมีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีในขณะเมื่อเริ่มก่อตั้ง รวมถึงประเด็นดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีควรยกขึ้นกล่าวอ้างหรือกล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ในชั้นที่ได้มีการตรา พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482 และกรณีเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องพิจารณาและดำเนินการเพื่อให้มีการออกกฎหมายโอนที่ดินพิพาทแก่วิทยาเขตอุเทนถวาย

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังมิได้มีกฎหมายโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้วิทยาเขตอุเทนถวาย ขนย้ายและส่งมอบที่ดินพิพาทคืน พร้อมชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินให้ข้ออ้างของผู้ฟ้อง คดีจึงไม่อาจรับฟังได้

อุเทนถวายยังอยากใช้ที่เดิมจึงต้องฟ้อง

มีรายงานว่า เมื่อปี 2557 ฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ตะวันออก (วิทยาเขตอุเทนถวาย)จัดแถลงข่าว “ขอคืนความสุขให้อุเทนถวาย” หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องกรณีที่อุเทนถวายได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินการคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือ กยพ. ที่พิจารณาและมีมติชี้ขาดให้ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ย้ายและมอบที่ดิน พร้อมชำระค่าเสียหายให้กับจุฬาฯ เป็นปีละ 1,140,900 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่คืน

มติดังกล่าวฝ่ายกฎหมายมทร.อุเทนถวายมองว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และศาลปกครองกลางยังมีคำสั่งเพิ่มเติมให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และจุฬาฯ เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องด้วย

ทั้งนี้ หากศาลพิพากษาเพิกถอนมติ กยพ. และมติ ครม. จะมีผลทำให้ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ยังคงเป็นส่วนราชการที่ครอบครองที่ดินอันเป็นที่ราชพัสดุต่อไปเพื่อประโยชน์ต่อลูกหลานในการศึกษาเล่าเรียน

มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2557 ให้แก้ พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 16 ระบุ พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 มาตรา 16 ที่บัญญัติให้ที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้มาตาม พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 ไม่เป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย

ในการแก้กฎหมายดังกล่าวจะเสนอให้จุฬาฯต้องคืนที่ดินตาม มาตรา 16 ให้ราชพัสดุเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้อุเทนถวายได้มีโอกาสใช้พื้นที่เหมือนเดิมด้วย

ที่มา thaitribune




Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2559 15:52:40 น. 0 comments
Counter : 271 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.