163 ปี สนธิสัญญาเบาริ่ง
วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 หรือเมื่อ 163 ปีที่แล้ว เป็นวันสำคัญในอดีตที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย คือ เป็นวันลงนามสนธิสัญญาเบาริ่ง ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาฉบับก่อนหน้าซึ่งได้รับการลงนามระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2369 วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 หรือ ค.ศ. 1855 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม (Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam) โดยมีเซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา โดยบนปกสมุดไทย ใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญาเซอยอนโบวริง หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สนธิสัญญาเบาว์ริง" สนธิสัญญามีสาระสำคัญคือ 1.คนในบังคับอังกฤษจะอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกงสุลอังกฤษ นับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว 2.คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และสามารถพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้ ภายในอาณาเขตสี่ไมล์ (สองร้อยเส้น) แต่ไม่เกินกำลังเรือแจวเดินทางในยี่สิบสี่ชั่วโมงจากกำแพงพระนคร คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวได้ คนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล 3.ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออกชัดเจน 1) อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน 2) สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก 4.พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง 5.รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือและปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สยามมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประชากรต่างด้าว ซึ่งกล่าวกันในภายหลัง คือ การเสียอำนาจอธิปไตยทางด้านศาลหรือตุลาการให้กับต่างชาตินั่นเอง จึงทำให้ประเทศไทยต้องปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทยใหม่อย่างเร่งด่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มา thaitribune
Create Date : 18 เมษายน 2561 |
Last Update : 18 เมษายน 2561 19:46:58 น. |
|
0 comments
|
Counter : 21 Pageviews. |
 |
|