ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องคดี “อภิสิทธิ์-สุเทพ”สั่งสลายม็อบเสื้อแดงปี 2553 หรือคดีเผาบ้านเผาเม

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ยกฟ้องคดีอภิสิทธิ์-สุเทพสั่งสลาย นปช.ปี 2553 ชี้ ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน เป็นคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาร์คฝากขอบคุณศาล

 

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลนัดฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288

สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม นปช.ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.-19 พ.ค.2553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ศาลชั้นต้น มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.53 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม

แต่การกระทำดังกล่าวนั้นใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ และให้ยกคำร้องที่นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่บาดเจ็บ และนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพันที่เสียชีวิต ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย

ต่อมาอัยการโจทก์ และนายสมร กับนางหนูผู้เสียหายมอบอำนาจให้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความยื่นอุทธรณ์

ขณะที่ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า ศาลอาญาไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา ดังนั้นอุทธรณ์โจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องชอบด้วย ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

ส่วนที่นายสมร และนางหนูชิต มีสิทธิ์ร้องขอเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า เมื่อศาลอาญาไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของนายสมรและนางหนูชิตฟังไม่ขึ้น

ภายหลังจากนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้ ป.ป.ช. มีมติแล้วว่าตัวเองและนายอภิสิทธิ์ ไม่มีความผิดและไม่มีความกังวล ยินดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ส่วนเรื่องการเมืองขณะนี้ไม่ยุ่งเกี่ยว ขอทำงานด้านมูลนิธิหรือการเมืองภาคประชาชนและไม่ขอให้ความเห็นด้านการเมือง

ทางด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังศาลพิพากษาว่า คดีดังกล่าวถือว่า ยังไม่สิ้นสุด และไม่ทราบว่า อัยการจะยื่นฎีกาหรือไม่

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุขอคืนพื้นที่การชุมนุม ระบุว่าจะยื่นฎีกาต่อสู้คดี โดยจะหาหลักฐานเพิ่มเติม และเห็นว่าถึงแม้จำเลยจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ไม่มีอำนาจในการสั่งฆ่าผู้อื่นได้ ส่วนญาติผู้เสียชีวิตก็รู้สึกเสียใจ แต่ก็จะต่อสู้จนถึงที่สุด

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่า ต้องขอบคุณที่ได้ให้ความเป็นธรรม เพราะเรื่องนี้ตนยืนยันตั้งแต่ต้นว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และหากว่ามีประเด็นจะโต้แย้งต้องเป็นเรื่องของการกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่า ในกรณีการกระทำของตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเรื่องการทำในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการจะดำเนินคดีที่หากเห็นว่ามีความเสียหายอะไรต่างๆ เกิดขึ้นก็ต้องว่าไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ คือไปดำเนินการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ที่มา thaitribune




Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2559 18:17:04 น. 0 comments
Counter : 264 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.