True วิ่งเข้าหาธ.ออมสินขอกู้หมื่นล้านนำไปจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ 4G งวดแรกภายใน 21 มีนาคม

บริษัททรูวิ่งเข้าหาธนาคารออมสินขอกู้เงินไปจ่าย 4G งวดแรกภายใน 21 มีนาคมรวม 8,040 ล้านบาท ออมสินเผยให้กู้ได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท พร้อมขอแผนงานบริษัท

 

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 นายชาติชาย พยุหาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงการปล่อยสินเชื่อร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่นให้กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อไปชำระค่าใบอนุญาต 4G วงเงินรวมกว่า 1แสนล้านบาทว่า ขณะนี้ทรูได้ติดต่อมาที่ออมสินเพื่อขอสินเชื่อและหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร ทั้งนี้ธนาคารได้ขอให้ทรูส่งรายละเอียดทางการเงิน รวมถึงแผนงานของบริษัททรูมาใช้ประกอบการพิจารณา แต่หากออมสินให้สินเชื่อกับทรูจะให้สูงสุดไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

 “ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างรอทรูส่งข้อมูลที่ขอไปกลับมา หากได้ข้อมูลก็จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ต่อไป โดยการปล่อยกู้ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ออมสินปล่อยรายเดียว แต่เป็นการให้สินเชื่อร่วมกับธนาคารอื่นๆด้วย แต่หากทรูไม่ส่งข้อมูลกลับมาก็ไม่มีการปล่อยกู้”นายชาติชายกล่าว

ส่วนกรณีกลุ่มบริษัททีซีซี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เตรียมเข้าซื้อกิจการห้างค้าปลีกฯบิ๊กซี ประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับการขอสินเชื่อกับธนาคาร ตามที่เป็นกระแสข่าว แม้กลุ่มทีซีซีเป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารอยู่ในปัจจุบันก็ตาม

รายงานข่าวจาก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า หากบริษัท แจสโมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด บริษัทลูกของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ แจส ติดต่อเข้ามาขอสินเชื่อเพื่อชำระค่า 4G กับธนาคาร ก็พร้อมพูดคุย โดยใช้หลักการพิจารณาสินเชื่อแบบเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่น ที่จะต้องขอรายละเอียดแผนธุรกิจของบริษัท การมีพันธมิตร รวมถึงฐานเงินทุนเพื่อลดความเสี่ยงให้กับธนาคาร แต่ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีการติดต่อจากทางแจสแต่อย่างไร

สำหรับกรณีของกลุ่มทีซีซีเข้าซื้อกิจการบิ๊กซี ที่ผ่านทีซีซี เป็นลูกค้าธนาคารอยู่แล้ว และยอมรับว่า ได้มีการพูดคุยถึงการหาแหล่งเงินทุนในการซื้อบิ๊กซีแต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เพราะช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่พูดคุยเบื้องต้นเท่านั้น

เบื้องหลังการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (4จี)

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) เปิดเผยว่า ผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz เริ่มขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.2558 และได้สิ้นสุดลง ณ เวลา 00.15 น. ของวันที่ 19 ธ.ค. 2558

ราคาประมูลรวมของคลื่นความถี่ 2 ชุด เท่ากับ 151,952 ล้านบาท โดยมีผู้ชนะการประมูลในแต่ละชุดคลื่นความถี่ ดังนี้

1. ชุดที่หนึ่ง คลื่นความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 75,654 ล้านบาท

2. ชุดที่สอง คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 76,298 ล้านบาท

สำหรับผู้ไม่ชนะการประมูลประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ชุดคลื่นความถี่สุดท้ายที่เสนอ คือ ชุดที่ 2 ราคาสุดท้ายที่เสนอ 75,976 ล้านบาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ชุดคลื่นความถี่สุดท้ายที่เสนอ คือ ชุดที่ 1 ราคาสุดท้ายที่เสนอ 70,180 ล้านบาท

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมจึงขอประกาศผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้สิ้นสุดลง

ทางด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ทั้งสองใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี โดยขั้นตอนจากนี้ กทค. จะมีการประชุมเพื่อรับรองผลการประมูลอย่างเป็นทางการ และสำนักงาน กสทช. จะประกาศผลการประมูลอย่างเป็นทางการภายใน 7 วัน

จากนั้น กสทช. จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้เข้าร่วมการประมูลภายหลังจากผู้เข้าร่วมการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วน ถูกต้องภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล

ทั้งนี้การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กสทช. กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากร 50% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากร 80% ภายใน 8 ปี ในส่วนของอัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 

นอกจากนั้นผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพ็กเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อยคือมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องส่งแผนต่อ กทค. ก่อนเริ่มให้บริการ และต้องดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการ

เผยขั้นตอนการจ่ายเงิน

ต่อมา นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่าวันที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติรับรองผลการประมูลไปตั้งแต่ 21 ธ.ค. 2558 ซึ่งวันสุดท้ายที่ครบกำหนดชำระภายใน 90 วัน คือ 21 มี.ค. 2559

“หากภายใน 90 วัน ยังไม่มี ผู้มาชำระเงิน เรายังไม่มีมาตรการใดที่จะมารองรับ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกรณีไม่มีผู้มาชำระ โดยต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กทค. เพื่อพิจารณาและจะต้องมาหารือกันอีกครั้งเนื่องจาก ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีผู้มาชำระเงิน”นายประวิทย์กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางเบื้องต้น 1. หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน คือมีเอกชนบางรายไม่มาชำระเงินตามกำหนด สิ่งแรกที่ กสทช. ดำเนินการคือยึดเงินประกันจำนวน 5% ของราคาเริ่มต้นการประมูลหรือราว 600 ล้านบาท และผู้ชนะการประมูล จะเข้าร่วมประมูลในคลี่นความถี่อื่นๆไม่ได้

2.แนวทางเลือกต่อไปอาจจะต้องให้ใบอนุญาตแก่ผู้ชนะรายถัดไป ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ผู้ชนะรายถัดไปอาจจะไม่รับก็เป็นได้ เนื่องจากมีราคาที่สูงเกินไปที่บริษัทรับได้

3.เปิดประมูลใหม่ ซึ่งการประมูลใหม่อาจจะไม่ได้ราคาเท่าการประมูลครั้งแรก

สำหรับ การชำระเงินของผู้ชนะการประมูล คือ จะต้องชำระเงิน 4 งวด งวดแรก ชำระ 8,040 ล้านบาท ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล พร้อมกับหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงก์ การันตี) ในงวดที่เหลือด้วย

ส่วนงวดที่สองชำระ 4,020 ล้านบาท ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่ได้รับใบอนุญาต งวดที่สาม ชำระ 4,020 ล้านบาท ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่สี่ ชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมดภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปี

แหล่งข่าวสำนักงาน กสทช. ระบุว่า สาเหตุที่เอกชนทั้ง 2 รายดังกล่าวยังไม่มาชำระเงิน ค่าประมูล เนื่องจากตามขั้นตอนของธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าหากธนาคารพาณิชย์ ในประเทศจะต้องออกวงเงินกู้ที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท แต่คำนวณยอดชำระรวมของ 2 บริษัทนั้นมากกว่า 150,000 ล้านบาท จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด ธปท.ด้วยโดยจะได้รับอนุมัติจากบอร์ดของธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นเพียงอย่างเดียวไม่ได้

ที่มา thaitribune




Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:44:37 น. 0 comments
Counter : 279 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.