จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ เสนอโดยกระทรวงพ

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เรื่อง ขอให้ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา

ด้วยคณะบุคคลต่อไปนี้อันประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการ บุคคลผู้ทำคุณงามความดีแก่ประเทศ และประชาชนทั่วไปต่างมีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง ในการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะนำร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และ ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 8 ธันวาคมนี้ โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เสนอให้ปรับแก้กว่า 50 มาตรา หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวของกระทรวงพลังงาน และหากผ่านกระบวนการทางกฎหมายแล้วนำไปบังคับใช้ ให้เอกชนเข้ายื่นขอสิทธิเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่21 จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ความเดิมในการดำเนินการแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514ประกอบด้วย ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา และจากภาคประชาชน ดังนั้น การจัดทำรายงานผลการศึกษาจึงมีข้อมูลและความเห็นที่ครบถ้วนและรอบด้าน 

แต่ในขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รอเสนอรายงานผลการศึกษาปัญหาพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่นั้น กระทรวงพลังงานได้จัดทำร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ….และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ….ชิงตัดหน้าส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2558 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยไม่รอรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่อย่างใด จึงทำให้ร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงพลังงานเสนอและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีรายละเอียดไม่ครบถ้วน โดยขาดเนื้อหาสำคัญที่แตกต่างจากรายงานผลการศึกษาปัญหาของพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สาระสำคัญในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ได้เพิ่มคำว่า“แบ่งปันผลผลิต”เข้ามา แต่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกจริง ร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้นไม่ได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในรายงานการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด จึงนำไปสู่ปัญหาในภาคปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกฎหมายดังกล่าว ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่แท้จริง ขาดความโปร่งใสในการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้ปรับปรุงจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อชุมชน และไม่ได้แก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายเรื่องจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ดังนั้น หากนำไปใช้ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ระบุถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับปรากฏในส่วนท้ายบทสรุปผู้บริหาร หน้า (10) ความตอนหนึ่งว่า :

“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วว่าพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสม มีระบบในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่จำกัด ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลผลกระทบต่อประชาชนตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ชัดเจน สมควรปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม และบทบัญญัติในการจัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมประสิทธิภาพสูงสุดบนพื้นฐานความโปร่งใส และเป็นธรรม มีความคล่องตัวในการดำเนินการ และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้”

และในบทที่ 2 หน้า 3 ว่า

“ศักยภาพของแหล่งทรัพยากรอาจจะมีอยู่อย่างจำกัด แต่ศักยภาพของคนนั้นมีอย่างไม่จำกัด การออกกฎหมายที่เปิดกว้างจะส่งเสริมศักยภาพของรัฐ ส่งเสริมศักยภาพของคนที่มีความคิดก้าวหน้าให้ร่วมพัฒนาประเทศ ปิดกั้นโอกาสของคนไม่สุจริตให้เข้ามาหาช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ เพราะการเปิดกว้างของกฎหมายจะส่งผลให้แข่งขันกันสร้างประโยชน์โดยรวม ผู้ใดมีความรู้ความสามารถก็สามารถเข้าถึงได้ ผิดกับกฎหมายที่ปิดกั้น จะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจหน้าที่อยู่ที่กลุ่มคนบางกลุ่มองค์การบางองค์การ การพัฒนาใดๆ ก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญ ยิ่งนานวันเพียงใดความเข้มแข็งของกลุ่มจะยิ่งมีอิทธิพลจนยากจะเปลี่ยนแปลง และในท้ายที่สุดประเทศเทศชาติจะสูญเสียอิสรภาพในด้านนั้นไป

ดังนั้น ข้อจำกัดของการพึ่งพาผู้อื่นจะส่งผลให้กฎหมายมีลักษณะที่ปิดกั้น สร้างการผูกขาด ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยเร็ว จะเป็นการลดการสร้างโอกาสในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐลง และสูญเสียผลประโยชน์ของทรัพยากรของรัฐเพื่อประเทศชาติไปให้กลุ่มคนบางกลุ่มที่สร้างการผูกขาดนั้น”

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยุติการพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....  ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยทันที และขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ขอแสดงความนับถือ

ที่มา thaitribune




Create Date : 08 ธันวาคม 2558
Last Update : 8 ธันวาคม 2558 18:51:55 น. 0 comments
Counter : 292 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.