ขอโม้ ขอเม้า ขอฝอยเรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา วิวาทะ ว่าด้วยเรื่องมโนสาเร่
 
 

จากสมาร์ทโฟนสู่ระบบ 3 G: ยุคปลายสุดของความทันสมัย เป็นมากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน ทำแทนได้ทุกอย่างยกเว้น(มีเพศสัมพันธ์และรับ

จากสมาร์ทโฟนสู่ระบบ 3 G: ยุคปลายสุดของความทันสมัย

เป็นมากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน ทำแทนได้ทุกอย่างยกเว้น(มีเพศสัมพันธ์และรับประทาน)

นายชลเทพ ปั้นบุญชู(นักสังคมวิทยาอิสระ)

ภาคอารัมภบท

จากจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีการสื่อสารที่เป็นลักษณะ เห็นหน้าค่าตา จนมาถึงยุคของการ สื่อสารกันตลอดเวลา ผ่านมือถืออัจฉริยะหรือที่เรียกว่า “สมาร์ทโฟน”กับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า 3 G วิวัฒนาการมือถือในสังคมไทยนั้นมีความน่าสนใจทั้งในแง่ของรูปแบบ ระบบสัญญาณ หรือการให้บริการ สิ่งที่เป็นความทันสมัยนี้คงมิได้ก้าวกระโดดเลยเสียทีเดียวแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมามันย่อมมีผลต่อวิถีชีวิตประจำวันต่อตัวเราเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะโลกอินเตอร์เน็ตกับโลกทางสังคมของมนุษย์เริ่มหลอมรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและผมเองก็ไม่แน่ใจว่าหลังจากนี้จะแยกออกจากกันได้หรือไม่?

ภาคสารัตถะ

ก่อนอื่นด้วยวิธีการเขียนแบบชิวชิวของผมบวกกับกลวิธีการเขียนที่ลักลั่นคือมีฟอร์มการเขียนเรียงความแต่ใช้ภาษาผิดจารีตประเพณีการเขียนคือใช้ภาษาปากคู่กับภาษาราชบัณฑิตยสภา เพราะผมเชื่อใจเจตจำนงที่ว่ามนุษย์ย่อมสร้างความแปลกเด่น(Unique)ตามแนวทางของอัตถิภาวะนิยมนั่นเอง(จริงๆแล้วก็ชอบทั้งสองแบบเลยมาใส่ไว้รวมกัน) ให้ดูขัดกันแต่ก็ไปด้วยกันได้?

ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองแบบง่ายๆคล้ายๆกับนักปรัชญาว่า “สมาร์ทโฟน”คือ อะไร? มีผลต่อคนบนโลกนี้อย่างไร? และถามเชิงสังคมวิทยาว่า สมาร์ทโฟนสัมพันธ์กับคนได้อย่างไร?

ผมอาจจะไม่ได้พูดถึงสมาร์ทโฟนในเชิงเทคโนโลยีมากนักเพราะผมเองไม่ใช่ผู้บัญญัติศัพท์เทคโนโลยีแต่การเรียกทับศัพท์คำนี้ผมขอแปลว่า โทรศัพท์อัจฉริยะ หรือแปลง่ายๆก็คือเก่งรอบด้าน ทำได้ทุกอย่าง ถ้าเปรียบกับคนก็คงได้ทั้ง คำนวณ ภาษา มิติสัมพันธ์การใช้ตรรกะ ความสามารถที่หลากหลายนี้ สามารถมองผ่านได้จากแอปพลิเคชัน (Applications) ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ สนทนา หรืออื่นๆตามที่ผู้บริโภคต้องการ และนั่นก็คือมือถือที่มีลักษณะพหุปัญญา

สิ่งที่ “สมาร์ทโฟน” ทำได้นี้มันมีความสำคัญในแง่ของ การรวมเอาสื่อหลากหลาย (Multimedia) มารวมกันไว้ ควบคู่กับการเชื่อมโลก และผู้คนตลอดเวลา ราวประหนึ่งว่าเราอยู่กับตัวเอง พร้อมๆไปกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นผ่านตัวกลาง (Median) อย่างมือถือ

สิ่งที่น่าสนใจคือ สมาร์ทโฟน มันทำให้คนบนโลกอยู่ในชุมชนเสมือนและเชื่อมต่อกันมากขึ้นทั้งในแง่ของเวลาและเครือข่ายปรากฏการณ์ที่ผมเห็นได้คือ ทุกครั้งที่โดยสารรถไฟฟ้า บนดิน ใต้ดินหรือแม้แต่ร้านกาแฟ หลายคนจะหยิบมือถือขึ้นมาหมกมุ่นกับการกดปุ่มหรือใช้นิ้วเลื่อนไปเลื่อนมา เพื่ออัพเดทข้อมูลต่างๆ ในสื่อออนไลน์จนเสมือนหนึ่งว่าผู้คนที่อัดแน่นอยู่บนรถไฟฟ้าแต่พวกเขาเหล่านั้นก็มีโลกส่วนตัวอย่างเงียบๆและพร้อมที่จะอยู่กับสังคมเสมือนที่พวกเขาต้องการภายใต้ฝูงชนแออัดรอบข้าง ผมว่าโลกกายภาพกลายเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่มากมายแต่ก็จัดว่าดูโดดเดี่ยวชอบกล

ดังนั้นผมต้องกลับมาทบทวนแนวคิดเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางสังคมว่าแท้ที่จริงแล้ว กระบวนการเรียนรู้ขัดเกลาทางสังคม หรือการสื่อสารระหว่างบุคคลและภายในบุคคลบนโลกปลายสุดของยุคสมัยใหม่นั้น คงอยู่ในโลกเสมือนไม่มากก็น้อยผมไม่แน่ใจว่าโลกกายภาพมันน่าเบื่อหรือเต็มไปด้วยระเบียบมากมายจนทำให้เป็นโลกที่ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างเล่นสมาร์ทโฟนของตนเอง สื่อสารกับกลุ่มของตนเอง และเลือกอยู่ภายใต้โลกส่วนตัวที่สร้างขึ้นแต่ผมก็ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า โลกเสมือนนั้นมันหลากหลาย และถูกสร้างให้หลากหลายเพื่อก้าวพ้นข้อจำกัดของโลกกายภาพที่ความสัมพันธ์นั้นมีเงื่อนไขมากกว่าและถูกควบคุมได้ง่ายกว่า

ผมตั้งข้อสังเกตว่าในโลกปัจจุบันที่เราอยู่คู่กับเทคโนโลยีและเทคโนโลยีเริ่มที่จะทำให้เราขยับตัวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายน้อยลงแต่สามารถท่องโลกทางสังคมได้มากขึ้นโดยการนำเอาโลกทางสังคมต่างๆมารวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้เครื่องมือที่มีความสามารถขั้นเทพเป็นพาหนะตามเจตจำนงที่เรามีอยู่ภายใต้โลกทางสังคมที่อุบัติขึ้นมาหรือนี่คือสิ่งที่มนุษย์พยายามที่จะเอาชนะ “ความจำกัด” เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของตนเองที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด

ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เป็นอยู่เหล่านี้ดีหรือไม่แต่ผมแค่กังวลว่าแล้วทักษะของการอยู่ร่วมกันในสังคมจะหายไปด้วยหรือเปล่า? เช่นการรับฟังผู้อื่น การสื่อสารระหว่างบุคคลหรือตีความอารมณ์ ความคิดพฤติกรรมระหว่างบุคคลโดยอาศัยประสบการณ์จากการสื่อสารระหว่างกันโดยตรงเพราะหลายคนก็ก้มหน้ายิ้มอยู่กับโลกเสมือนโดยที่ไม่อาจรู้เลยว่านอกจากมีคนอยู่รอบข้างแล้วเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นมีอะไรบ้างสิ่งต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

เราเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกออนไลน์มากขึ้นก็อาจทำให้เราอยู่กับโลกจริงๆสุดแสนจะน่าเบื่อน้อยลง หรือนั่นเป็นเพราะว่าเราเลือกใช้ชีวิตตามเจตจำนงของตัวเองและคัดเลือกชุมชนตามต้องการภายใต้ยุคซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็วโดยที่เราสามารถเข้าไปอยู่ในกลุ่มอื่นๆได้ และกลุ่มอื่นๆก็มีลักษณะร่วมต่างๆเข้ามารวมกลุ่มกันสื่อสารระหว่างกัน ตามความสนใจ

ผมคิดว่า “ความง่าย” และ”ความรวดเร็ว”นี้เองเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้โลกชุมชนเสมือนในสมาร์ทโฟนเข้าถึงชนชั้นกลางในเขตเมืองมากขึ้นทุกค่ำเช้าเราก็จะเห็นคนหยิบมือถือขึ้นมาพร้อมกับนั่งมองอย่างใจจดใจจ่อตกกลางคืนก็ใช้ชีวิตกับโลกส่วนตัวที่มีสมาร์ทโฟนข้างกายตลอดเวลาบางสิ่งที่ยังคงทำไม่ได้คือ ใช้รับประทาน กับการมีเพศสัมพันธ์เพราะนี่คือข้อจำกัด แต่เราก็อยู่กับมันนานที่สุด เป็นเพื่อนรู้ใจใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากกว่าคนในครอบครัวและผูกพันกันมันจนแทบจะขาดไม่ได้เพราะชีวิตได้ขาดหายสิ่งที่คุ้นชินที่สุดไป

แม้ว่ามันเป็นเพียงวัตถุแต่มันตอบสนองความต้องการทางจิตใจ และผ่อนคลายความรู้สึกยามเหงาทำให้เราอยู่ในโลกเสมือนและเสพกับความหลากหลาย จนข้าไปมีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตประจำวันของเราทำให้ผมได้เห็นพัฒนาการนอกเหนือจากคุณสมบัติพิเศษในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็คือกลไกการทำงานของระบบทุนนิยมที่เข้มข้น เพราะมันได้เพิ่มประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับยุคปลายสุดของความทันสมัยและสร้างโลกทางสังคมกับวิถีชีวิตแบบใหม่ขึ้นมาผมขอเรียกมันว่า “โลกแห่งการบริโภคแอบพลิเคชัน”ซึ่งได้จำลองวิธีการใช้ชีวิตบนโลกกายภาพเข้าไปไว้ในมือถือผ่านการเชื่อมต่อไร้สายเราจึงแค่สัมผัสด้วยปลายนิ้วก็ใช้ชีวิตได้เกือบรอบด้าน

ข้อสังเกตก็คือว่า ยิ่งแอบพลิเคชันถูกพัฒนามากเท่าไหร่ และยิ่งเสมือนโลกจริงมากเท่าไรทำให้เรารู้ว่าความสำเร็จของระบบทุนนิยมย่อมมีมากตามมาเพราะนั่นคือการบริโภคผ่านบริการต่างๆต้องมากขึ้นเท่านั้น นับได้ว่าเพิ่มในแง่ของสินค้าบริการจำนวนอุปสงค์ และอุปทาน ในตลาดวัฒนธรรมสมัยใหม่

จากนวัตกรรมที่เคยเป็นสิ่งเกินความจำเป็นในการดำรงชีวิตกายภาพได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันนั่นก็คือการสร้างสินค้าและบริการให้กลายมาเป็นความจำเป็นเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องความคุ้มทุนเพราะในโลกของทุนนิยมเวลายังกลายเป็นสิ่งมีค่า และมูลค่าเพราะถ้าหากเราเสียเวลาก็จะเสียโอกาสในการได้รับรายได้แต่ในขณะเดียวกันก็ขัดแย้งกันโดยใช้เวลากับการพักผ่อนหย่อนใจที่ต้องแลกมาด้วยการซื้อบริการหรือการใช้เงินเพราะการต่อลมหายใจของทุนนิยมคือ กระจายการถือครองเงินให้หมุนเวียนในตลาดแม้ขนาดการพักผ่อนยังต้องแลกด้วยการกินกาแฟในที่ที่มี Wi-Fi หรือการซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ตตรรกะของทุนนิยมคือ การบริโภคไม่รู้จบ ก็จะยิ่งช่วยขยาย “กำไร” ได้นั่นเองเพื่อแลกมากับอรรถประโยชน์ ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด

ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างทุนทางวัฒนธรรมยิ่งตอกย้ำให้วิถีชีวิตสมัยใหม่นี้กลายเป็นลักษณาการทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางในสังคมเมืองเพราะชนชั้นกลางเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังโภคทรัพย์และพร้อมที่จะกระจายโภคทรัพย์หมุนเวียนไปยังตลาดดังนั้นนายทุนก็ยิ่งต้องเร่งพัฒนาการให้บริการสินค้าใหม่ๆอย่างเข้มข้นเพื่อสร้างลักษณะวิถีชีวิตแบบหนึ่งขึ้นมาควบคู่ไปกับการใช้เงินไปกับการบริโภคสินค้าและบริการตามฐานานุรูปของชนชั้นกลางในเขตเมือง

เพราะตัวผมเองยังไม่แน่ใจว่าการบริโภคสินค้าบริการ ขึ้นอยู่กับตัวเราต้องการบริโภคสิ่งนั้นอย่างแท้จริงหรือไม่?แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือว่า ผู้ให้บริการจะผลิตหรือสร้างสินค้านั้นหรือไม่ตรรกะง่ายๆก็เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ในยุคแรกผมคิดว่าคนสมัยนั้นช่วงแรกก็คงไม่ได้คิดว่าจำเป็นอะไร แต่ด้วยความง่ายและความเร็วซึ่งสามารถเอาชนะข้อจำกัดหลายอย่างสำหรับการคมนาคมทางบกในยุคนั้นรถยนต์ก็เริ่มขยายตัวขึ้น และกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา การบริโภคที่ต่อเนื่องควรจำเป็นต้องสร้างระบบความหมายเชิงสัญลักษณ์ขึ้นมาในตัวสินค้าเพราะเราจะไม่ใช่แค่บริโภคสินค้าบริการแต่เรายังบริโภคคุณค่าและความหมายในตัวสินค้าด้วยสิ่งเหล่านี้เองที่ผมยืนกรานว่ามันช่วยสนับสนุนให้การบริโภคเข้มข้นและต้องใช้เงินมากขึ้นและเป็นตรรกะของการบริโภคที่เชื่อมระหว่างความจำเป็นกับความฟุ่มเฟือยเข้าไว้ด้วยกันดังนั้นผู้ผลิตคือคนที่กำหนดทางเลือกในการบริโภคให้กับเรานั่นเองและผู้บริโภคก็เลือกในสิ่งที่มีอยู่

การตักตวง “กำไร”ที่มากขึ้นและเนียนขึ้นยิ่งทำให้ผมเริ่มกลับมามองสมาร์ทโฟนใหม่ที่นอกเหนือจากนวัตกรรมล้ำยุคเพราะนั่นย่อมสะท้อนถึงความก้าวหน้าและกลไกการครอบงำและการขูดรีดในระบบทุนนิยมได้พัฒนาพร้อมกับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีนั่นเอง

 

          ดังนั้นมันจึงเหลือแค่สอง(จริงๆมีมากกว่านั้น)สิ่งที่ผมยังไม่เห็นจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟน คือกินได้และมีเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นผมคงอึ้ง ทึ่ง เสียว และคงต้องตะโกนว่า“เป็นไปไม่ได้ มันไม่น่าจะเป็นไปได้” ว่าแล้วคงต้องรีบไปหา สมาร์ทโฟนมาใช้ซักเครื่องแล้วครับแต่ยังไม่มีเงินซักที............................


 




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2555   
Last Update : 5 พฤษภาคม 2555 9:02:08 น.   
Counter : 1194 Pageviews.  


พิเคราะห์ โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุบนโทเวย์ ๙ ศพ บทวิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเด็นทางสังคมวิทยา

พิเคราะห์ โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุบนโทเวย์ ๙ ศพ บทวิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเด็นทางสังคมวิทยา
ชลเทพ ปั้นบุญชู
อารัมภบท
ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ครอบครัวผู้สูญเสีย ญาติพี่น้อง และคนใกล้ชิดทุกท่าน ผมหวังว่าการสะท้อนมุมมองทางสังคมวิทยา ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวจะช่วยขยายปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างสันติเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูป ทั้งระบบทางความคิด การปฏิบัติ และการสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันของคนในสังคมต่อไป ในฐานะที่เป็นนักสังคมวิทยา(มือสมัครเล่น) ก็อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการวิพากษ์ต่อปัญหาให้สังคมได้รับรู้อีกมิติหนึ่งด้วย

ภาคเนื้อหา
ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดก่อนฤดูกาลแห่งการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และเป็นที่พูดถึงทั้งในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ช่องกระแสหลัก หรือแม้กระทั่งชุมชนในสังคมออนไลน์ นั้นก็คือ เหตุการณ์อุบัติเหตุรถเก๋งชีวิคชนท้ายรถตู้รับส่งผู้โดยสาร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต หมอชิต จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ๙ ราย บาดเจ็บอีกอีกหลายคน ซึ่งบางรายอาการน่าเป็นห่วง ทำให้หลายคนแสดงความรู้สึกต่างๆนานาผ่านช่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเวบบอร์ดในเวบไซต์ต่างๆ Blog รวมถึง face book
สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตและสนใจคือ น่าแปลกที่เหตุการณ์อุบัติเหตุในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง และบางครั้งก็มีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวแต่กลับไม่ได้รับความสนใจมากมายขนาดนี้ หรือเหตุการณ์ ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์รถประสบอุบัติเหตุที่มาเลเซีย หรือรถตกไหล่เขา หรือเหตุการณ์รถตู้รับส่งกรุงเทพ นครสวรรค์ประสบอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตมากเช่นเดียวกัน ก็ยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่านี้ หรือเหตุการณ์รถตู้ตกทางด่วนเมือก่อนหน้าที่ที่บริเวณถนนพระราม ๖ ก็เป็นที่ฮือฮาในช่วงนั้น แต่ก็ยังไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เท่าประเด็นดังกล่าว อาจเป็นเพราะว่าผู้เสียชีวิต มีทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง อาจารย์ นักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก หรือคนที่กำลังจะโอกาสที่ดีในอนาคต ซึ่งคนเหล่านี้มีความสามารถสูง เป็นบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ (แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ตายจะมีค่ามากกว่าคนทั่วไป เพราะผมเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่าที่ควรจะดำรงอยู่อย่างเท่ากัน) ดังนั้นเราไม่อาจตัดสินว่า ใครควรอยู่ ใครควรไป
กลุ่มผู้เคลื่อนไหวกดดันคู่กรณีมีทั้งในกลุ่มปัญญาชน นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มนักท่องเวบไซต์บนโลกไซเบอร์ ผู้ชมข่าวสาร คนทั่วไปที่รับรู้หรืเข้าไปดูเหตุการณ์ และผู้คนอีกมากมาย เครือข่ายดังกล่าวไดใช้พลังทางสงคมวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนมีผู้คนมากมายร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านคอมเม้นส์ โลกของชนชั้นกลาง หรือโลกของสังคมเมือง สังคมไซเบอร์นับว่าได้รับความนิยมมาก
ความสนใจที่ผมมีต่อประเด็นดังกล่าวคือ มนุษย์มีการรับรู้ประสบการณ์ที่ต่างกันไป แต่กระแสโลกาภิวัตน์สามารถดึงให้มนุษย์เข้ามาอยู่ในจุดร่วมของอารมณ์และความรู้สึกเดียวกันได้ ทำให้ผมสนใจงานของ Robertson เกี่ยวกับประเด็นโลกาภิวัตน์ที่ว่า “ยิ่งโลกแคบลงเท่าไร ความรู้สึกของ การตระหนักรับรู้ถึง ความเป็นโลกร่วมกัน มีมากขึ้น ในคำพูดดังกล่าวหากขยายความก็หมายถึง โลกที่แคบลงด้วยช่องทางที่เป็นตัวเชื่อม หรือตัวกลาง ยิ่งมมากและทำให้ผู้คนบนโลกเข้าถึงข้อมูลร่วมกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่สถานที่เดียวกัน พื้นที่ใกล้กัน แต่สามารถสื่อสารกันราวกับ การสื่อสารระหว่างบุคคลแบบตัวต่อตัว Face to Face ดังนั้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด สามารถไปพร้อมๆกันได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากัน เช่น คนสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากการชมทีวีในโทรทัศน์ช่องหนึ่งและเห็นถึงความยากลำบากของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนยังพื้นที่ต่างๆ
ดังนั้นช่องทางที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลและสามารถสร้างอารมณ์ที่เป็นสัมผัสร่วมจึงนับว่าสำคัญอย่างมาก ผมคิดว่าโดยเฉพาะความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งบีบี facebook youtube blog รวมถึง เวบบอร์ดที่รวมภาพ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทำให้คนรับรู้เรื่องราวได้อย่างสมจริง และมีอารมณ์ร่วมที่คล้อยตาม ในส่วนนี้ย่อมต้องขึ้นอยู่กับการนำเสนอข้อมูล วิธีการชักจูงให้คล้อยตาม เช่นคำพูด การแสดงความรู้สึกผ่านคำพูด การใช้ประโยค สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญแทบทั้งสิ้น
เมื่อเห็นประเด็นดังกล่าวผมจึงตั้งคำถามต่อไปว่า ความจริงในประเด็นดังกล่าวคือ อะไร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะผมอาจเห็นว่าความจริงที่เรารับรู้นั้น อาจเป็นเพียงมายาคติ ผ่านวิธีการสื่อสาร ที่ทำให้เราเชื่อว่า นี่คือความจริง ซึ่งผมเองก็ตกอยู่ใน วาทกรรมของ ความจริง ว่าอันไหนคือ ความจริงแท้ ความจริงสูงสุด หรือเป็นเพียงมายาคติที่ดูเสมือนจริง (ไม่รู้จริงๆครับว่าจะเลือกเชื่อข้อมูลไหนดี ภายใต้ระบบตรรกะเชิงเหตุผล ล้วนแล้วแต่น่ารับฟังทั้งสิ้น)
สิ่งที่ควรพิจารณาต่อก็คือ ความสำคัญในกลไกของระบบภาษา ทั้งรูป เสียง เนื้อหา การนำเสนอ ผู้ส่งสารย่อมมีเป้าหมายของการสื่อสารเพื่อใคร และเพื่ออะไร รวมไปถึงระบบการสื่อสารมีบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้วย เช่นเราอยากจะส่งสารเพื่อเรียกร้องให้ระดมทุนในการนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเฮติ เราก็ควรที่จะถ่ายภาพ เด็กชาวเฮติที่กำลังยืนรออาหารด้วยความหิวโหย โดยเฉพาะต้องคัดเลือกเด็กที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่นผอมหัวโต พุงป่อง ยืนรอรับเสบียงที่ทางการส่งไปโดยเข้าคิวยาวเหยียด ภาพนี้แม้ว่าอาจอยู่ในเหตุการณ์จริง แต่นั่นย่อมไม่ใช่ความจริงเพียงทั้งหมด แต่หมายถึงการเลือกหยิบยกบางด้าน หรือจัดองค์ประกอบบางอย่างเพื่อให้เหมาะสมในการสื่อสาร ดังนั้นภาพเหตุการณ์บนโทเวย์นั้นก็อาจมีการเลือกวิธีการนำเสนอ โดยแสดงถึงครอบครัวที่สูญเสีย กับเหตุการณ์ที่ขาดความรับผิดชอบและความประมาทของเด็กสาวต่อกรณี บุคคลดังกล่าวมีค่ามากเกินกว่าที่น้องจะรับผิดชอบไหว ดังนั้นความสูญเสียนี้ใหญ่หลวงจนแทบไม่อาจให้อภัยได้ เพราะผมอ่านกระทู้หลังโพสต์ภาพและข้อความในกรณีดังกล่าว ล้วนแล้วแต่มีคำสาปแช่ง การได้รับผลกรรม การดำเนินดคี ความไม่พอใจต่อน้องคนดังกล่าว รวมถึงครอบครัว นี่แหละครับ อิทธิพลของการสื่อสาร ทำให้เราเห็นภาพพจน์ สะเทือนอารมณ์ และมีความรู้สึกคล้อยตามผู้ส่งสาร แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นหรือในทางสังคมวิทยาอาจเรียกว่า ความจริงที่ถูกสร้างขึ้น (Social Construction)
ผมคิดว่าโลกมายาคติแยกไม่ออกกับปรากฏการณ์ทางสังคม ภาพตัวแทน เป็นสิ่งที่อาจจะบิดเบือนและทำให้เราหลงเชื่อก็ได้ เราจึงต้องพิจารณาถึงปัญหาอย่างถ่องแท้และต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้มายาคติครอบงำจนทำให้ขาดความเข้าใจในต้นตอที่แท้จริงไป
โลกที่แยกโลกเชิงวัตถุวิสัย กับโลกเชิงอัตวิสัยไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของอัตบุคคล ก็ยิ่งทำให้ผมเลิกหาความจริงสูงสุด และหันกลับมาเรียนรู้และตั้งคำถามกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผมสนใจมากกว่า
ถามแรกของปัญหาดังกล่าว ผมอาจจะสวนกระแสงตรงที่ ผมเห็นใจผู้ที่เสียชีวิตและครอบครัวผู้ได้รับความสูญเสีย แต่ผมก็เห็นว่า การแสดงความเห็นอกเห็นใจนับว่าเป็นการแสดงน้ำใจของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งนับว่าเป็นพลังทางบวกก็จัดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่สาปแช่ง แสดงความรุนแรงทางภาษาผ่านกระทู้ เพื่อทำลายอีกฝ่ายก็นับว่าอันตรายอยู่มาก เพราะความเกลียดชังมักนำมาซึ่งการเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงในที่สุด ทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อลงโทษ กระบวนการดังกล่าวอาจเรียกว่า กระบวนการหาคนรับผิด และระบายความเคียดแค้นเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ที่กำลังโกรธ โดยการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด
ในรอบสองสามปีที่ผ่านมาผมเห็นว่าคนไทยมีลักษณะทางโครงสร้างที่เรียกว่าความคิดแบบคู่ตรงข้าม (Dichotomous) กล่าวคือ มองขาวล้าน ดำล้วน มองมิตร ศัตรู หรือแม้กระทั่ง คนที่มีอำนาจ กับคนที่ไม่มีอำนาจ การมองดังกล่าวเป็นการผลักเข้าไปสู่การแบ่งตัวเรา แบ่งผู้อื่นออกเป็นพวกๆ และไม่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันได้ ใครไม่เข้าพวกคนนั้นผิด คนคิดต่างคนนั้นเข้าข้างคนผิด ต้องรุมประณามคนนั้น กระทู้ที่ผมเห็นในบางเวบไซต์ต่อกรณีนี้ มีความโน้มเอียงที่จะรุมประณามและโจมตีคู่กรณีที่ขับรถเก๋งอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่ว่าผมพูดอย่างนี้ผมจะเข้าเข้ารถเก๋ง แต่ผมต้องการที่จะสะท้อนว่า เรากำลังมองปัญหาด้วยอคติหรือไม่? เช่นปัญหาอาจเกิดจากหลายส่วน ทั้งผู้ขับรถเก๋งซึ่งยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และขับรถด้วยความประมาท ผู้ปกครองไม่ได้ให้ความดูแลเอาใจใส่ดีเท่าที่ควร การให้บริการสาธารณะของรถตู้ที่ต้องคำนึกถึงหลักความปลอดภัย หรือมีระบบที่ป้องกันชีวิตและอุบัติเหตุ การเคารพกฎจราจร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นตอของปัญหา ไม่ใช่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น การใช้ประเด็นบางอย่างโจมตีคู่กรณีโดยให้เธอเป็นเพียงผู้กระทำผิดเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก เพราะนั่นก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาจากต้นตอที่แท้จริง สื่อกระแสหลักก็โน้มเอียงตามกระแสสังคม ซึ่งหากมองอีกด้านก็อาจไม่เป็นธรรมสำหรับคู่กรณีเท่าไรนัก ดังนั้นจึงต้องนำเสนอภาพและข้อมูลหลายด้านเพื่อให้ผู้รับสารพิจารณาในหลายแง่มุม
คำถามต่อมาที่ผมคิดว่าเป็นภาวะเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในกรณีโศกนาฏกรรมครั้งนี้ มันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ หรือระบบทางความคิดของคนในสังคมอย่างไร ความน่าสนใจอยู่ที่ การเรียกร้องความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม (Inequality) ในฉากของคู่กรณีภาพหนึ่งในเชิงสัญลักษณ์ของน้องคนขับรถซีวิค ก็เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของ ผู้มีอำนาจ ยศศักดิ์ กับผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บซึ่งเป็นคนธรรมดา สามัญ ความสัมพันธ์ทางสังคมของสองกลุ่มนี้นักสังคมวิทยากลุ่ม Conflict Theory เห็นว่า กลุ่มที่มีอำนาจก็จะพยายามรักษาสถานะของตนไว้โดยการควบคุมผ่านระบบ เพื่อให้กลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจสยบยอมต่อความชอบธรรมผ่านระบบสิทธิอำนาจ ความขัดแย้งของสองกลุ่มนี้หากมีความแตกต่างทางความคิกมากขึ้นก็จะยิ่งทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแบบรื้อถอน หรือเปลี่ยนโดยฉับพลัน เพื่อเสนอโครงสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ กลุ่มนักคิดสาย Conflict Theory ไดรับอิทธิพลจาก นักคิดสำนัก Marxist ทำให้วิธีการศึกษากลุ่มมีลักษณะกล้ายกัน แม้ว่าจุดเน้นในประเด็นสำคัญจะต่างกัน
กระทู้ที่ผมอ่านจากพันทิป และเวบบอร์ดอื่นๆล้วนเป็นข้อยืนยันว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงเหตุการณ์อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว แต่หลายคนกำลังต้องข้อวิพากษ์ต่อกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งนับว่าซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับกรณีหมูแฮม ที่คนหลายคนก็ยังอดเคลือบแคลงไม่ได้ ว่ากระบวนการยุติธรรมถูกอำนาจอื่นๆแทรกแทรงหรือไม่ จากกรณีเหตุอุบัติเหตุบนโทเวย์ ที่ผ่านมา สังคมออนไลน์ล้วนแสดงความคิดที่มองเห็นกระบวนการยุติธรรมมีความไม่ชอบมาพากล และตั้งคำถามว่า “โลกนี้มีความเป็นธรรมสำหรับ คนธรรมดาหรือไม่ คนในสังคมมีความเท่าเทียมกันจริงๆในกฎหมายหรือไม่” ผมคิดว่าความคิดนี้แหละครับคือ ความคิดเชิงโครงสร้างของคนในสังคมไทย
ความไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และคนในสังคม(ซึ่งผมเชื่อว่ามีจำนวนมาก) เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทย ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเท่าที่ควร ทำให้ความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม มีน้อย และมองว่าความยุติธรรมในลักษณะที่เป็นทางการมีความโอนเอียงไปกับกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือมีทักษะในการครองอำนาจ ใช้และควบคุมอำนาจ ดังนั้นจึงมีคนมาตั้งข้อสงสัยทั้งสภาทนายความ กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา และการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม
ผมเองเคยตั้งข้อสังเกตในงานของผมเรื่อง ความไม่เป็นธรรมนำสุขภาวะ เกี่ยวกับประเด็นนิติปรัชญาทางกฎหมายว่า ความเป็นธรรมทางกฎหมาย หรือความยุติธรรมทางกฎหมายอาจไม่จำเป็นต้องเป็นธรรม สำหรับสังคมก็ได้ ในเมื่อคนในสังคมต่างมีพลวัตร และเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา หากในเมื่อกฎหมายเป็นธรรมแล้วทำไมคนถึงไม่รู้สึกว่ามันเป็นธรรมและยังคงเรียกร้องกันอยู่ ในหลายๆกรณีของการตัดสินในกระบวนการยุติธรรมของไทยก็สะท้อนว่า ความยุติธรรมทางกฎหมาย สังคมก็อาจไม่ยอมรับก็ได้ เพราะพวกเขารู้สึกไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น ดูได้จากกรณี คดีที่ชาวบ้านไปตัดต้นไม้และศาลตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยในฐานะที่ทำให้โลกร้อนเป็นเงินจำนวนมาก หรือกรณีมาบตะพุด รวมถึงคดีอื่นๆในสังคม
แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ ดำรงอยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่เท่าเทียม ก็ย่อมต้องมองว่าผู้มีอำนาจย่อมใช้อำนาจเพื่อเอื้อต่อตนเองและกลุ่มผลประโยชน์ที่ตนพยายามรักษาไว้ แต่ขนาดของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนธรรมดา จึงต้องพยายามเรียกร้องให้ตนเองได้รับประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย เพื่อสร้างดุลยภาพที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่า ในยุคปัจจุบันที่แหละครับ ที่การแสวงหาและเรียกร้องความเป็นธรรมมีมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกิดประเด็นทางสังคม ผู้คนที่อยู่ร่วมกันได้เข้าไปสัมผัสความทุกข์ยากและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งภาพกระทู้ เวบบอร์ด ภาพเคลื่อนไหว และเนื้อหาข่าวสารข้อมูล ก็พยายามที่จำเรียกร้องให้ผู้อื่นได้รับความเป็นธรรม ผ่านประสบการณ์ร่วมที่สื่อหรือตัวกลางต่างๆเป็นผู้นำเสนอ และความไม่เป็นธรรมหลายกรณี คนหลายคนก็เคยรู้สึก หรือได้รับ หรือผ่านประสบการณ์แบบนี้ จึงทำให้อารมณ์ต่างๆปะทุขึ้น ราวกับชีวิตของตนเอง หรืออาจจะเรียกว่า สำนึกร่วมทางสังคม (Collective Consciousness) ซึ่ง Durkheim มองว่าเป็นศีลธรรมของการอยู่ร่วมกันแบบหนึ่ง ตรงนี้แหละครับที่ผมยังมองว่าระบบความมีเหตุมีผลอย่างที่ Max Weber เสนอเรื่อง legal rationality ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสมัยจะเป็นจริง เพราะสังคมสมัยใหม่(ช่วงปลาย)นั้นมีลักษณะทวิภาวะ?หรือพหุภาวะ มีความขัดแย้งลักลั่นในตัวเอง มีความยึดโยงที่หลากหลายเฉพาะตัวไม่แน่นอนสมบูรณ์ที่สุด แม้ว่ากฎหมายจะเป็นบรรทัดฐานที่มีความเสถียร แน่นอน และใช้อ้างอิงได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบจารีตประเพณีจะหายไป กรณีอุบัติเหตุบนโทรเวย์นั้น จะเห็นได้ว่า น้องแพรวา ถูกไล่ล่าจากขบวนการโลกไซเบอร์ ทั้งสาปแช่ง ทั้งว่าร้ายกลายเป็นนางแม่มด และพยายามให้เธอแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงให้เธอได้รับผลกรรมทั้งทางกฎหมายและคติความเชื่อเรื่องบุญบาปด้วย กรณีนี้เห็นชัดว่า สังคมใช้กระบวนการลงโทษโดยใช้มวลชน หรือกฎทางสังคมจารีตประเพณี การทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นบาป และยิ่งตายมากขนาดนี้ยิ่งทำให้สังคมอ่อนไหวต่อความรู้สึกนี้มาก เพราะนั่นหมายถึงการคุกคามสวัสดิภาพและความสงบเรียบร้อยของสังคม หากแม้เธอเองจะหลุดรอดด้วยช่องว่างทางกฎหมาย ผมคิดว่าเธอเองจะอยู่ในสังคมยากมาก เพราะสังคมจะใช้กระแสกดดันทำให้เธอเองไม่สามารถมีพื้นที่ยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุข ผมคิดว่ากฎทางสังคมมีอำนาจมาก และทารุณไม่แพ้การลงโทษทางกฎหมาย เพราะนั่นหมายถึงสังคมไม่ยอมรับเธอนั่นเอง และนอกจากนี้ยังมีผลกระทบไปถึงคนรอบข้างและครอบครัวอีกด้วย เรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมและเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของการอยู่ร่วมกัน จึงนับว่ามีอิทธิพลต่อการใช้การลงโทษทางสังคม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สื่อสามารถเชื่อมคนในพื้นที่ห่างไกลเข้าหากันได้ ผ่านช่องทางต่างๆ ก็ยิ่งสามารถรับรู้เหตุการณ์ร่วมกัน และใช้มวลชนกดดันเธออย่างล้นหลาม หรือที่เรียกว่า กระแสสังคม การไหลบ่าทั้งง่ายและขยายพื้นที่ไปเป็นวงกว้าง นี่คือสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “การพิพากษาโดยสังคมโดยในยุคโลกโลกาภิวัตน์” ซึ่งนับว่ามีพลังมากและหยุดยั้งการแพร่ระบาดทางอารมณ์ได้ยาก

บทส่งท้าย
ปัญหาดังกล่าว ไม่ควรจะกระทำเพียงไล่ล่าหาตัวผู้รับผิดต่อกรณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะนั่นก็เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ควรเข้าใจต้นตอ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่ รวมถึงการใช้กฎทางสังคม จริงอยู่ที่คนผิดต้องรับผิดในกระบวนทางกฎหมายการ แต่ก็ต้องให้ผู้กระทำผิดได้แก้ไขในสิ่งที่ก่อไว้ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และหลายภาคส่วนควรตระหนักต่ออุทาหรณ์ครั้งนี้ เพื่อหามาตรการแก้ไขและวิธีการป้องกันเพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย




 

Create Date : 31 ธันวาคม 2553   
Last Update : 31 ธันวาคม 2553 22:00:49 น.   
Counter : 417 Pageviews.  


วิพากษ์ การสอบ O-NET ในมุมมองปรัชญาการศึกษาและสังคมวิทยา

เกริ่นนำ
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ และวันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พศ. ๒๕๕๓ สำนักทดสอบมาตราฐานทางวิชาการแห่งชาติ (สทศ.) ได้จัดให้มีการทดสอบวัดความรู้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับพื้นฐาน หรือที่เรียกว่าการสอบ O-NET ซึ่งได้ทดสอบในกลุ่มสาระวิชา ภาษาไทย สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ศิลปดนตรี และการงานพื้นฐานอาชีพ ผ่านพ้นไป แต่ปัญหาที่ยังคงเป็นประเด็นค้างคาใจนั่นก็คือ ข้อสอบที่แปลกใหม่ (ออกจากหลุดไปจากที่คาดการณ์ไว้ของเด็ก) กับความท้าทายที่เด็กหลายคนเชื่อว่าพวกเขาจะเดาใจทางสทศ.ถูกหรือไม่ กับคำตอบที่ชวนให้ฉงนและมึนงง พวกเขารู้สึกได้ถึงความคลุมเครือและข้อสับสนนี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดสำหรับหลายๆคน รวมไปถึงผู้เขียนที่กำลังศึกษาเรื่อง แอดมิชชันส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท สาขา สังคมวิทยา ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่ผู้เขียนสนใจยาวนานมากว่า ๔ ปี โดยผู้เขียนจะขอใช้มุมมองทาง ปรัชญา สังคมวิทยา และการศึกษาเป็นตัวไขกุญแจปัญหาดังกล่าวในส่วนของเนื้อหาที่ได้นำเสนอต่อจากนี้

ภาคเนื้อหา
ผู้เขียนในฐานะที่ศึกษาปัญหาแอดมิชชันส์ ในทางวิชาการ มองว่า ปัญหาดังกล่าวมีมายาวนาน ไม่ต่างอะไรกับมาบตะพุด หรือ GT 200 เพราะว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในส่วนของวิธีคิด วิธีปฏิบัติ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับบทความนี้คือผู้เขียนพยายามนำเสนอผ่านการวิพากษ์และตั้งคำถามในเชิงวิชาการกับ ผู้กำหนดนโยบาย ทั้ง ทปอ. สทศ. และสกอ. ตรงนี้คือโครงสร้างอำนาจหลักในเชิงสถาบัน ที่กำหนดนโยบายดังกล่าว ว่าอยู่ในฐานคิดด้านใด มีจุดยืนอย่างไร และทำไมเด็กถึงต่อต้านระบบแอดมิชชันส์






วิวาทะระหว่างสทศ. และนักเรียนผู้สอบ O-NET กับมุมมอง “ปรัชญาการศึกษาและสังคมวิทยา” ผ่านบทวิพากษ์
การสอบ O-NET ครั้งนี้ มีความแตกต่างกับทุกๆครั้งที่ผ่านมาเพราะทางสทศ.ได้ออกแบบทดสอบที่มีความซับซ้อนขึ้น โดยให้นักเรียนเลือกตัวเลือกหลายคำตอบ ซึ่งจำเป็นจะต้องตอบถูกทั้งหมดจึงจะได้คะแนน จริงอยู่ที่การออกข้อสอบมีความซับซ้อนมากขึ้น คำตอบมีลักษณะของการวัดว่าสามารถประยุกต์ (Apply) เพื่อดูกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ของเด็กและวัดทักษะการนำไปใช้จากสถานการณ์ที่กำหนดให้ ฟังในช่วงแรกก็ดูดี แต่พอฟังมากขึ้นกลับพบว่ามีปัญหามากมาย เช่น ความเป็นปรวิสัย ของข้อสอบว่ามีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการเลือกคำตอบจะต้องมีความแน่นอนในระดับหนึ่งเนื่องจากเป็นการเลือกคำตอบที่ถูกต้อง(แม้ว่าจะมากกว่าหนึ่งข้อก็ตาม) แต่ลักษณะคำถามดูเป็น อัตวิสัย มาก บางข้อเป็นการให้เลือกตัดสินใจต่อเหตุการณ์ที่ประสบ ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะตอบในมุมมองของใคร เช่น ตัวละครในข้อสอบ ตัวเราเอง หรือเอาใจผู้ออกข้อสอบ ตรงนี้แหละที่ผมว่ามันเป็นปัญหา เพราะว่าถ้าเป็นอัตวิสัยในตัวข้อสอบ มันควรจะไม่มีการกำหนดคำตอบที่ถูกต้องไว้ตายตัว แต่ควรให้น้ำหนักกับเหตุผลหรือการให้คำแนนที่แตกต่างกัน เช่น ตอบข้อ ก. ได้ ๑ คะแนน ตอบข้อ ข. ได้ ๓ คะแนน ตอบข้อ ค. ได้ ๔ คะแนน ตอบข้อ ง.ได้ ๒คะแนนเป็นต้น อันนี้คือการให้คุณค่ากับข้อสอบที่มีความเป็นอัตวิสัย เพราะมันมิใช่การตัดสินว่าถูกผิดอย่างแท้จริง แต่มันหมายถึงเราประเมินต่อเรื่องที่เรามองนี้อย่างไร และเลือกทำด้วยเหตุผลใด มากกว่าจะตัดสินว่าวิธีใดดีที่สุด(ตามมุมมองของผู้ออกข้อสอบ)
ปัญหาในทางปรัชญามีอยู่ว่า การออกข้อสอบข้อสอบ O-NET หรือวิชาอื่นๆที่ผ่านมานั้น อยู่ในอุดมการณ์ทางปรัชญาแบบใด ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ศ.ดร อุทุมพร จามรมาน และคณะผู้ร่วมจัดทำแบบทดสอบนั้นคงจะได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการศึกษาแบบสารัตถะนิยม เนื่องจากกลุ่มสำนักนี้มีแนวคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมเชิงเผด็จการ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะวิธีคิดของอาจารย์มุ่งเน้นการสอบในเชิงสาระพื้นฐานเพื่อจะได้นำความรู้ไปต่อยอดในอนาคต ดังนั้นคนที่จะเป็นเลิศในสายตาของปรัชญาการศึกษากลุ่มนี้คือ ต้องเก่งรอบด้าน รอบรู้ทุกด้าน เน้นการเรียนที่เข้มข้น มีพื้นฐานหลากหลายวิชา เพื่อไว้ใช้เป็นพื้นฐานต่อยอดในภายภาคหน้า สำนักสารัตถะนั้นจึงส่งเสริมให้มีการเรียนแบบสหวิทยาการ ยิ่งมากยิ่งดี จะได้เก่งและรอบรู้ เน้นการใช้ทักษะที่หลากหลายเพื่อฝึกฝนตนเอง ผมคิดว่าอันนี้ตรงกับวิธีคิดของผู้อำนวยการสทศ. ซึ่งผมก็นั่งฟังอาจารย์พูดหลายรอบเกี่ยวกับการวัดผลในข้อสอบที่สทศ.เป็นผู้จัดทำ
แต่ในฐานะที่ผู้เขียนไม่เชื่อว่าปรัชญาสารัตถะจะดีพร้อมสมบูรณ์แบบในเชิงอุดมคติดังที่ได้วาดภาพไว้สวยหรู ซึ่งผู้เขียนจะขอสะท้อนปัญหาทางปรัชญาในกลุ่มสำนักคู่ตรงข้ามนั่นก็คือ ปฏิบัตินิยม (Pragmatics) และอัตถิภาวะนิยม (Existence) จากปัญหาที่เกิดจากการทำข้อสอบของเด็กและได้มาระบายความรู้สึกผ่านรายการข่าว ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์และน่าสนใจเพราะได้สะท้อนถึงโลกทัศน์และมุมมองหลังจากที่ได้ทำการสอบเสร็จสิ้นไปแล้ว่ารู้สึกอย่างไรกับข้อสอบและคำตอบที่เป็นตัวเลือก แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งหมดแต่ก็เป็นความคิดที่หลายๆคนก็น่าจะรู้สึกเช่นเดียวกัน ข้อสอบ O-NET ในรายวิชาสุขศึกษา ซึ่งนำมาถกเถียงกันผ่านเวบไซต์ออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความรู้สึกผ่านกระทู้ในหลายๆที่ ก็เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สำหรับการทำความเข้าใจปัญหาในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนสังคมวิทยา ที่สนใจต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ข้อสอบเรื่องการเลือกตัดสินใจของนิด ว่าจะทำแท้ง แจ้งความ หยุดเรียน หรืออื่นใด ก็แล้วแต่ ผมคิดว่า เรากำลังจะวัดอะไร เช่น เราจะเดาใจนิด หรือเราจะตอบตามใจตัวเอง หรือ เราจะเดาใจผู้ออกข้อสอบ ว่าจะเลือกิธีการไหน เพราะผมคิดว่าข้อนี้เราตัดสินแทนนิดไม่ได้เลย เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ เช่นเป็นไปได้ว่านิดอาจจะเลือกทำแท้ง ก็ได้ ถ้านิดมาจากครอบครัวที่พ่อแม่คาดหวังกับลูกค่อนข้างสูง แล้วนิดก็เรียนดีแต่พลาด และมีเพื่อนมาชักชวน ถามว่าผิดหรือไม่ ผมคิดว่า การเลือกคำตอบที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องถูกต้องทางศีลธรรม เพราะว่า ปรสบการณ์ในการตัดสินใจของแต่ละบุคคลต่างกันอันเนื่องมาจากการหล่อหลอม การเลี้ยงดู การขัดเกลา ผ่านสถาบันต่างๆ มนุษย์จึงมีเหตุผลที่ต่างกัน ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ยิ่งถ้าเป็นนักมานุษยวิทยามาศึกษาเรื่องนิดยิ่งตัดสินว่านิดควรทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมไม่ได้เลย เนื่องจากเรายังไม่ทราบบริบทนิดเลย หรือแม่ทราบเราก็แค่ เข้าใจมากกว่าตัดสิน หรือถ้าเราจะเสนอต่อนิดนั้นก็เป็นมุมมองของเราที่ไม่ใช่ตัวนิด เพราะว่านิดไม่ได้ถูกขัดเกลามาแบบเราจึงไม่จำเป็นจะต้องเชื่อหรือคิดตามเรา ผู้เขียนเชื่อว่านี่แหละคือปัญหาทางปรัชญาว่า ข้อสอบที่ถามในเชิงอัตวิสัยนั้น ตัดสินจากมุมมองของใคร มีข้อมูลในการประเมินเพียงพอหรือไม่ หรือเพียงแค่ตีตรา หรือตอบตามจารีตประเพณีทางสังคม ดังนั้นคำตอบจึงเป็นไปได้ทุกทาง เพราะความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์นั้นไม่จำเป็นต้องถูกต้องดีงามก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกหนทางในวิถีของตนตามที่ได้รับการเรียนรู้มา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าถ้าเป็นข้อสอบลักษณะนี้ไม่ควรทำเป็นปรวิสัยหรือการเลือกตอบข้อที่ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่า “ดีที่สุด” นั้นอยู่ในมุมของใคร หรือควรจะถามไปเลยว่ามุมของใคร เช่นมุมของจารีตประเพณีทางสังคม นิด หรือว่า สทศ. เด็กจะได้ไม่สับสนและเลือกคำตอบได้ง่ายขึ้น เพราะก็ไม่แน่ใจว่ากำลังจะเลือกให้ใครถูกใจ คำถามในลักษณะนี้ควรเป็นอัตนัยมากกว่าเพราะข้อสอบเป็นอัตวิสัยมาก อันนี้จะอรรถฐาธิบายและวัดการคิดเชิงวิเคราะห์ได้ดีและลุ่มลึกกว่า และผมเห็นว่าข้ออื่นๆที่มีลักษณะคล้ายข้อดังกล่าวก็คงเช่นเดียวกันคือควรเป็นข้อสอบเขียนมากกว่าเลือกตอบคำตอบที่ดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว
ในปัญหาทางปรัชญาอีกด้านก็คือ การนำแนวคิดและอุดมการณ์ทางปรัชญาการศึกษาแบบสารัตถะนิยมมาใช้อย่างไม่ลืมหูลืมตามนั้นดีจริงหรือ? เพราะผมเชื่อว่ามันคือมายาคติ (Mythology) และมีลักษณะเหมือนภาพตัวแทน (Representation) ที่มุ่งเน้นสัมฤทธิผลจากการเรียนการสอบตั้งมากมาย ว่าเด็กที่เก่งจะต้องมีทักษะและสนใจรอบด้าน ท้ายที่สุดแล้วเด็กยังไม่รู้เลยว่าตนเองสนใจอะไร หรือมีศักยภาพในตัวเองด้านใด เพียงแต่ถูกตีกรอบว่า “จะต้องสอบอันโน้น” ชี้นำว่า “จะต้องเรียนให้เก่งรอบด้าน” หากกระบวนการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ยังใช้ระบบแอดมิดชันส์ภายใต้อำนาจทางความรู้แบบสารัตถะนิยม ผมเชื่อว่า คนที่เก่งด้านใดด้านหนึ่งก็คงจะมีพื้นที่ยืนน้อย เช่นเด็กที่มีทักษะด้านกิจกรรม การเข้าใจตนเองและผู้อื่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา หรืออื่นๆ ก็คงไม่ผ่านระบบการคัดเลือก ที่มีกระบวนการได้มาอย่างเข้มข้นเอาเป็นเอาตายหรือที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “ใครโง่คัดออก” ผมว่านี่แหละครับคือจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยที่ชอบคิดอะไรเพียงด้านเดียวและก็เหมารวมว่ามันดีจนไม่ตั้งคำถามอะไรเลย เช่น ผมเชื่อว่าเขาเก่ง ซึ่งคนเก่งล้วนแต่เป็นคนดี ดังนั้นก้องเป็นคนเก่งก้องจึงเป็นคนดีด้วย ตัวอย่างที่ยกมานี้คือวิธีคิดคนไทย(เพียงส่วนหนึ่ง) เพื่อให้เห็นว่าการที่สรุปอะไรง่ายๆโดยที่ไม่ได้ตรึกตรองอย่างรอบคอบมักเกิดผลเสียตามมาภายหลัง ให้ผมพูดถึงข้อเสียของระบบแอดมิชชันส์ ใช้เวลาหนึ่งวันนี่ผมยังอรรถฐานธิบายไม่จบเลย แต่แปลกไม่เห็นมีใครฟังผมซักนิดเดียว ผมคงจะไม่ดัง ไม่ได้มีตำแหน่งทางวิชาการ หรือว่าไม่น่าเชื่อถือ และอีกเหตุผลอื่นๆอีกนานับประการ
ผมคิดว่าข้อสอบ O-NET เป็นตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวทั้งกระบวนการของระบบการศึกษาไทย ที่หลักสูตรการสอนมักมุ่งเน้นเพียงวัดสติปัญญาเพียงด้านเดียว? หรือไม่ก็มีความลักลั่นเกิดขึ้น คือ การสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ เลยทำให้เด็กวิเคราะห์ไม่เป็นหรือวิเคราะห์ไม่ถูกจุด ตามการวัดผลผ่านระบบการสอบ O-NET หรือเด็กวิเคราะห์เป็นแต่ไม่ตรงตามผู้วัดผลเพราะเห็นว่าความคิดของเด็กผิดแผกไปจากมุมมองผู้ทดสอบ ดังนั้นเหตผลที่เขาเลือกจึงผิด อันนี้สะท้อนภาพชัดเจนว่า ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้ทดสอบและผู้สอบนั้น ถูกตัดสินความถูกต้องตามที่ผู้ออกได้ตีกรอบไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นข้อสอบที่สทศ.ออกแม้ว่าจะถามในเชิงอัตวิสัย แต่จะต้องตอบแบบวัตถุวิสัยเท่านั้น เพราะว่าเราไม่ต้องการความคิดเห็นจากประสบการณ์หรือความคิดของคุณ แต่เราต้องการให้คุณคิดตรงกับที่เราคิด อันนี้คือความสัมพันธ์ที่มีความเป็นเผด็จการอยู่ นั่นก็คือ ระบบการศึกษาที่พร่ำสอนในเรื่องประชาธิปไตย กลับปลูกฝังให้ยอมรับอำนาจแบบชี้นำโดยดุษฎี ในส่วนนี้จึงลดทอนคุณค่าของเหตุผล
(De Rationalization ) ลดทอนความเท่าเทียมและคุณค่าความเป็นมนุษย์เพียงเพราะประสบการณ์ของผู้ใหญ่ย่อมดีกว่าของเด็กอยู่วันยังค่ำ

บทสรุป
ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหามุมมองที่แตกต่างกันในประเด็น O-NET ระหว่างผู้ออกข้อสอบอย่าง สทศ. และ นักเรียนผู้สอบ คงจะหาจุดที่บรรจบกันยาก ด้วยเหตุผลที่ตั้งอยู่ในพื้นฐานทางความคิดคนแบบ ประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายที่ต่างกัน ทำให้มองจากความต้องการของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน คะแนน O-NET มีผลต่อการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งต่างก็มีความมุ่งหวังที่จะทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี แต่ทว่าพวกเขาพบเจอกับข้อสอบที่อยู่เหนือความคาดหมายและก็ไม่มั่นใจว่าจะทำถูกใจผู้ออกข้อสอบหรือไม่ ในขณะที่สทศ.ก็มุ่งมั่นที่จะแก้ไขระบบการศึกษาทั้งระบบโดยใช้วิธีการนำ O-NET มาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้เด็กได้ผ่านการทดสอบที่มีความซับซ้อน และเฟ้นหานักเรียนที่มีคุณสมบัติดีตามการทดสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้อาจจะต้องผ่านการสอบที่มีจำนวนวิชามากที่สุดในประวัติศาสตร์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทย มีทั้ง O-NET GAT PAT ตรงนี้ผมว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดตรงที่ การสอบดังกล่าวนั้น ไม่เคยลดการเรียนกวดวิชาของนักเรียนได้เลย ยิ่งกลับกลายเป็นโรงเรียนกวดวิชาก็ปรับตัวจากที่เคยติวกันแต่วิชาหลัก ก็มาติวทุกวิชาที่ สทศ.จัดสอบ นี่ก็เป็นการจัดสอบที่มากมายเหล่านี้และเอื้อประโยชน์ให้กับโรงเรียนกวดวิชาหลากหลายสถาบัน ผมคิดว่านักการศึกษาไทยนี่มีปัญหาในเรื่องการมองสังคม และมักใช้วิธีการแก้ปัญหาเชิงสหสัมพันธ์แบบปฏิฐานนิยม เช่นถ้าทำอีกสิ่งหนึ่งก็จะทำให้มีผลกับอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ถ้ามีการสอบ O-NET รวมกับการใช้ GPAX และอื่นๆ จะทำให้การกวดวิชาลดลงและเด็กหันมาสนใจเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าบางทีมันอาจจะไม่มีสหสัมพันธ์กันเลยก็ได้ เพราะจากข้อมูลเชิงประจักษ์ก็พบว่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีคอร์สการกวดวิชาใหม่ๆเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนมาก อันนี้คือการปรับตัวของโรงเรียนกวดวิชา ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ในมุมมองกลับกันการสอบ O-NET GAT และ PAT นั้นอาจกลายเป็นความหวังดีแต่มีผลร้ายต่อเด็กก็ได้ ผมคิดว่าเด็กเครียดมากขึ้นต่อความไม่แน่นอนที่พวกเขาไม่สามารถคาดเดาหรือตระเตรียมก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนรูปแบบบ่อยๆก็มีผลต่อ ผู้สอบ ซึ่งต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมนำมาซึ่งความตึงเครียด การต่อสู้ การรักษาผลประโยชน์ และอื่นๆอีกมากมาย ผมจึงไม่อยากให้ระบบแอดมิชชันส์เป็นทางเลือกเดียวในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ดังที่หลายๆฝ่ายพยายามกระทำอยู่เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบหลายๆที่ ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นการตัดวงจรของคนบางกลุ่มออกไป ให้ออกไปจากสิทธิ ที่พวกเขาพึงจะได้รับทางเลือกให้เหมาะสมกับพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดีกว่าไม่มีสิทธิที่จะได้เลือกอะไรเลยอันเนื่องมาจากมุมมองเชิงสิทธิอำนาจจากผู้กำหนดนโยบายที่ผูดขาดวิธีคิดแบบคับแคบ โดยที่ไม่ยอมรับความเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านเสียงสะท้อนจากเด็กอีกหลายๆคน




 

Create Date : 18 มีนาคม 2553   
Last Update : 18 มีนาคม 2553 11:08:02 น.   
Counter : 395 Pageviews.  


วิเคราะห์ปรากฏการณ์ปิดล้อมกรุงของกลุ่มคนเสื้อแดง




นายชลเทพ ปั้นบุญชู[i]

บทนำ

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักสังคมวิทยา และมีความสนใจในทฤษฎีความขัดแย้ง จึงพยายามมองสถานการณ์การชุมนุมเสื้อแดงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการวิจัย ความรุนแรงทางการเมือง กรณีที่เกิดเหตุเดือนเมษายน ปีที่ผ่านมา จนมาถึงช่วงนาทีปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าสังคมไทยควรจะได้รับรู้ในมิติใหม่ๆผ่านมุมมองทางทฤษฎีสังคมวิทยา โดยเชื่อมโยงกับเงื่อนไขกับระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่ส่งผลต่อการมาชุมนุมในครั้งนี้

ภาคเนื้อหา

หากจะเอ่ยชื่อนักสังคมวิทยาที่ศึกษาด้านความขัดแย้งนั้นคงไม่มีใครไม่รู้จัก Ralf Dahrendorf ซึ่งผู้เขียนทบทวนและได้ใช้แนวคิดในงานวิทยานิพนธ์เรื่องความขัดแย้ง งานของนักคิดชาวเยอมันผู้นี้แม้ว่าจะมีจุดอ่อนในทางทฤษฎีอยู่มาก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นทฤษฎีที่ง่ายพอที่จะให้คนที่ไม่ได้เรียนสังคมวิทยาเข้าใจ และสามารถอธิบายปรากฏการณ์เสื้อแดง รวมไปถึงเสื้อขาว และเสื้อสีต่างๆได้ดี

โดยภาววิทยาทางทฤษฎี (Ontology) ความขัดแย้งของ Ralf Dahrendorf นั้น[ii]มองถึงเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มที่ต่างกันหรือที่เรียกว่า “กลุ่มผลประโยชน์” (Interest Group) ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นจะมีสิทธิอำนาจที่แตกต่างกัน กลุ่มที่มีอำนาจมาก (Super Ordination) จะเป็นผู้กำหนดความชอบธรรมและครอบครองทรัพยากรและใช้สิทธิอำนาจได้มากกว่ากลุ่มที่ด้อยอำนาจกว่า (Sub Ordination)

ปัญหาและคำถามทางทฤษฏีจึงมีอยู่ว่า

ประการแรก ความสนใจของกลุ่มผลประโยชน์ระหว่าง เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อขาว เสื้อนั้นเงินและ รัฐบาล แตกต่างกันหรือไม่และมากน้อยเพียงใด

ประการที่สอง กลุ่มดังกล่าวหากมีการจัดลำดับในเรื่องสิทธิอำนาจแล้ว ใครมีสิทธิอำนาจมากที่สุดเรียงตามลำดับ และมีการจัดสรรสิทธิอำนาจกันอย่างไรระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว

ประการสุดท้าย ใครสามารถเข้าถึงหรือครอบครองสิทธิอำนาจและความชอบธรรมได้มากกว่ากัน

วิเคราะห์ปัญหาในคำถามทางทฤษฏีความขัดแย้ง

ประการแรกนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าในกลุ่มที่เสนอไว้ข้างต้นมีความหลากหลายในเรื่องจุดสนใจร่วมอันนำมาสู่การรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผลประโยชน์ แต่ทว่าก็มีบางจุดบางมุมธ และหลายจุดก็ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ในประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดขัดแย้งหรือรอยปริแยกทางความคิดอย่างเห็นได้ชัด ในทางทฤษฎีความขัดแย้งของ Ralf Dahrendorf นั้น มองว่านี่คือชนวนจากความแตกต่างในเรื่องผลประโยชน์ดังกล่าวจะนำมาสู่ความขัดแย้ง ยิ่งแตกต่างมากก็ยิ่งรุนแรงมากจนนำมาสู่การรื้อถอนโครงสร้างเพื่อนำมาสู่การจัดระเบียบทางสังคมขึ้นใหม่ให้สอดรับกับประโยชน์ที่กลุ่มตนจะได้รับ

หากวิเคราะห์ดูแล้วเสื้อแดงนั้นก็มีหลายกลุ่มย่อย เช่นแดงรักทักษิณ แดงไม่เอาเผด็จการ แดงไม่เอาอภิสิทธิ์ หรือแดงเป้าหมายอื่นซึ่งก็มีอยู่อีกหลายกลุ่ม แต่หากลองมองไปในระดับอุดมการณ์ร่วมของเสื้อแดงแล้วกลับพบว่า มีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกันคือ เรียกร้องประชาธิปไตย และล้มล้างระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” [iii]ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งนี้คือเป้าหมายร่วมที่เสื้อแดงมีและพยายามเรียกร้องกันมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร ดังนั้นหากดูกลุ่มอื่นๆแล้วกลับแตกต่างกับเสื้อน้ำเงิน เสื้อขาว เสื้อเหลือง หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ซึ่งไม่ได้มีจุดร่วมตรงนี้ เช่นเสื้อนำเงินเน้นการพิทักษ์สถาบัน เสื้อขาวเน้นการชุมนุมโดยสันติ เสื้อเหลืองเน้นการขับไล่คุณทักษิณ ไม่เอาทุนสามาน หรือรัฐบาลก็มิได้จะล้มล้างระบอบอำมาตย์ แต่ที่สำคัญยังได้ประโยชน์และทำงานสอดรับกับระบบอำมาตย์ได้เป็นอย่างดี

ไม่แปลกที่เสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวเพียงลำพังซึ่งกลุ่มอื่นๆก็พยายามยืนดูอยู่อย่างใจจดใจจ่อ แต่ก็มิได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยเพราะเนื่องด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มที่ต่างกันนั่นเอง โดยที่เสื้อแดงเชื่อว่า อำมาตยาธิปไตยคืออุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าผู้กำหนดสิทธิอำนาจคือ อำมาตย์ ไม่ใช่ประชาชน ถึงแม้ว่า จะเลือกตั้งโดยแสดงเจตจำนงโดยเสรี? แต่ก็ถูกลดทอนอำนาจโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจและสิทธิอำนาจมายาวนานในประวัติศาสตร์เมืองไทยนั่นก็คือ อำมาตย์ นั่นเอง

ผู้เขียนไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือนี่คือความลักลั่น หรือไม่ก็คือคำนิยามของกลุ่มเสื้อแดงที่พยายามให้ความหมายประชาธิปไตยในแบบของตน จะแบบไหนก็แล้วแต่นั้น แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ ประชาธิปไตยดังกล่าว อาจมีลักษณะ ประชาชนโดยแท้เพียงอย่างเดียว หรือประชาชนและองค์กรสถาบันอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจด้วย และองค์กรเหล่านี้มีอำนาจเหนือกว่าประชาชนหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่าต้องไปดูโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือความอิหลักอิเหลื่อที่สุดที่ที่เคยเห็นมา คือ เป็นการคานอำนาจระหว่าง ประชาชน และ องค์กรเชิงสถาบันที่มีสิทธิอำนาจในตนเอง(Legitimating) ผ่านกฎหมายรองรับที่ชอบธรรม ดังนั้นมันจึงเป็นประชาธิปไตยแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะดีหรือไม่ดี หรือทำให้เศรษฐกิจการเมืองไทยเจริญขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ผมคิดว่าที่คือความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และนี่คงเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว ถ้าตรรกะของเสื้อแดงซึ่งถ้าตรงตามคำอ้างในสมมติฐานของผมโดยพยายามมองสาเหตุจากการสังเกตการณ์เคลื่อนไหวได้ถูกต้อง ก็พอที่จะรับฟังได้ เพราะผมมองไปไกลกว่าการยึดทรัพย์และไล่บี้คุณทักษิณ ผมคิดว่ามันคือคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งก็หมายถึง เรื่องที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระ แต่แค่คุณทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถูกระบบอำมาตย์กระทำ? แต่ต้องไม่ลืมว่ามวลชนที่ศรัทธาต่อคุณทักษิณมีอยู่ไม่น้อย ดังนั้น การที่จะโค่น ระบอบอำมาตย์ ต้องร่วมมือกันทั้งกลุ่มแดงที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อคุณทักษิณ จนกลายมาเป็นแดงโค่นอำมาตยาธิปไตย นี่จึงจะเรียกว่าการรวมกลุ่มที่มีจุดร่วมเดียวกันและกลายมาเป็นกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ และนำมาสู่การประกาศให้รัฐบาลซึ่งแดงทั้งหลายเชื่อว่าเป็นนอมีนี[iv]ให้กับระบบอำมาตย์ หรือระบบอำมาตย์อุปถัมภ์[v]

ประการต่อมา คือเรื่อง สิทธิอำนาจ[vi] ประเด็นนี้จะต้องขยายความเรื่อง สิทธิอำนาจ คืออะไร เพื่อจะได้เข้าใจว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ใครมี สิทธิอำนาจ มากกว่ากัน อำนาจ คือการที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีการกระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและแสดงเจตจำนงความต้องการของตนเองได้เหนือคนอื่น แต่ สิทธิอำนาจ กินความไปถึง “ความชอบธรรม” ซึ่งถ้าพูดถึงประเด็นนี้ผู้เขียนจะขอหมายถึง สิทธิอำนาจทางกฎหมาย เพราะผู้เขียนเชื่อว่ารูปแบบดังกล่าวเป็นรูปแบบที่เกิดจากมุมมองด้านเหตุผลนิยม (Rationality) ตามกรอบของระบบราชการสมัยใหม่ แต่ก็ต้องไม่ลืมรูปแบบที่เป็นมรดกตกทอดเก่าๆอย่างสิทธิอำนาจตามประเพณี และสิทธิอำนาจจากบารมีด้วย[vii]

สิทธิอำนาจ อาจแบ่งได้คือ สิทธิอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งถือว่ามีความชอบธรรมในเชิงทางการ มีกฎหมายรองรับวิธีปฏิบัติ และอ้างสิทธิเหนือความชอบธรรมอื่นๆ แม้ว่าจะมีอำนาจมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้มติเป็นที่ยอมรับจากมหาชน ซึ่งสิทธิอำนาจที่อาจจะมีภาษีดีกว่าในบางครั้งบางคราก็คือ สิทธิอำนาจจากความชอบธรรมทางการเมือง คือ การเป็นที่ยอมรับจากมหาชนส่วนใหญ่ การเอาชนะใจประชาชน กรณีนี้จะมีผลในเชิงความรู้สึกและจิตวิทยาด้วยว่าใครมีสิทธิอำนาจที่แท้จริง

จริงอยู่ที่รัฐบาลมีสิทธิอำนาจทางกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิอำนาจทางการเมืองอย่างล้นหลาม ในขณะเดียวกันรัฐบาลมิอาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นรัฐบาลที่ได้รับพลังเสียงจากมหาชนส่วนใหญ่ รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์จึงมิได้มีสภาพนั่งเก้าอี้ปกครองได้อย่างเต็มภาคภูมิ และที่สำคัญกลุ่มที่สนับสนุนคุณทักษิณ หรือสามารถต่อรองกับคุณทักษิณได้ก็มีอยู่มาก คุณทักษิณอาจใช้กลยุทธ์ทางการตลาดลดแลกแจกแถม หรือทำอย่างไรที่จะครองใจคนส่วนหนึ่ง(ซึ่งมีจำนวนมาก)ให้สามารถเอาชนะใจมหาชนที่เป็นมวลชนของคุณทักษิณได้ เพราะบางทีการที่คุณทักษิณ ทวิชเตอร์ หรือ โฟนอิน หรือ วีดีโอคอนเฟรนซ์[viii] นั้น คุณทักษิณได้หยิบยื่นประโยชน์บางอย่างให้กับมหาชน ทั้งในด้านนโยบายประชานิยม การทำตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์อาจเป็นยุทธวิธีเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมของกลุ่มมวลชนได้ อย่างน้อยมหาชนเหล่านี้ก็อาจจะได้รับประโยชน์จากคุณทักษิณมากกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์

ดังนั้น ความขัดแย้งในที่นี้ อาจเป็นเรื่องการเมืองว่าด้วยผลประโยชน์ก็ได้ ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ต่างฝ่ายต่างถือความหมายคนละแบบ ผมไม่แน่ใจว่าแบบไหนดีกว่ากัน ที่ที่มั่นใจคือ ประชาธิปไตยที่ทั้งสองฝ่าย หรือหลายๆฝ่ายนิยามนั้น มีความหลากหลายมาก ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ใครสามารถช่วงชิงพื้นที่ความชอบธรรมในการนิยามประชาธิปไตยได้มากกว่ากัน

ผมจึงสามารถเห็นประชาธิปไตยไทยได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง ประชาธิปไตยเพื่อการต่อสู้ทางชนชั้น ประชาธิปไตยที่ผสมระหว่างอภิชนาธิปไตย[ix]และอำมาตยาธิปไตย นี่คงหมายถึงความหลากหลายดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในรอบ ๔ ปี ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนความสนใจร่วมของแต่ละกลุ่มที่ต่างกัน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในแบบของตน ความขัดแย้งจึงเกิดจากความแตกต่างที่ไม่สามารถประสานจุดร่วมได้ เพราะความคิดดังกล่าวมีลักษณะความเป็นคู่ตรงข้าม ยิ่งแตกต่างกันมากก็ยิ่งขัดแย้งกันมากจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้

ประการสุดท้ายคือใครช่วงชิงสิทธิอำนาจได้มากกว่ากันนั้นข้อสังเกตในการชุมนุมครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลงัดเครื่องมือทางกฎหมายมาใช้ และยังคงประกาศเจตนารมณ์ของการนั่นเก้าอี้โดยที่ไม่ยุบสภา ตรงนี้รัฐบาลคงใช้สิทธิอำนาจตามที่กฎหมายมีอยู่เพื่อรักษาสถานภาพของตนไว้ (Status Quo) ดังนั้นการเข้าครอบครองหรือใช้อำนาจและสิทธิอำนาจ รัฐบาลจึงถือไพ่ความชอบธรรมทางกฎหมายไว้เป็นสรณะ

ในขณะที่กลุ่ม นปช. มิเคยอ้างสิทธิทางกฎหมายมากนัก(อาจเป็นเพราะว่าอยู่ในฝ่ายที่เสียเปรียบกว่า) แต่การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น นปช.พยายามอ้างสิทธิอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองมากกว่า การเข้าครอบครองและถือสิทธิอำนาจของแต่ละฝ่ายจึงต่างกันได้ได้ประโยชน์จากสิทธิอำนาจที่ต่างกัน แม้ว่าจะเล่นกันคนละกติกา แต่การต่อสู้บนสังเวียนนั้นก็ดุเดือดเพราะว่าเป็นการต่อสู้ที่มีนัยยะของ “ชัยชนะ” ว่าสิทธิอำนาจกับความชอบธรรมนั้น ทางกฎหมาย หรือ ทาง การเมือง ใครจะชิงไหวชิงพริบได้มากกว่ากัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองจะไม่ใช้สิทธิอำนาจในลักษณะคู่ขนาน เพราะว่าบางทีรัฐบาลอาจจะใช้สิทธิอำนาจทางการเมืองจากมหาชนกดดันผู้ชุมนุมก็ได้ โดยเครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหลาย หรือ ผู้ชุมนุมก็ยังคงอ้างการชุมนุมโดยสันติตามกรอบที่กฎหมายกำหนด สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเข้าถึงสิทธิอำนาจว่าแต่ละกลุ่มที่ขัดแย้งกันนั้นมีลำดับที่แตกต่างกัน แต่ก็มีการแข่งขันกันเพื่อเข้าถึงสิทธิอำนาจเพื่อคงรักษาความได้เปรียบอยู่นั่นเอง

บทสรุป

ความไม่เท่าเทียมกันกับการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อผดุงความเป็นธรรม?

ข้อถกเถียงและแนวคิดทางการเมืองไทยของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อย่าง อาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสองนัคราประชาธิปไตย แม้ว่าจะเขียนไว้นานแล้วแต่ก็ยังคงน่ารับฟังอยู่ ความแตกต่างในเรื่องวิถีชีวิต และวิธีคิด ความเชื่อ ค่านิยมระหว่างคนเมืองและคนชนบท ประชาธิปไตยของกลุ่มทั้งสองนั้น จึงแตกต่างกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์อเนกจะพูดถูดกทั้งหมด เพราะถ้าหากคิดอย่างนี้จะดูเป็นไปในลักษณะเหมารวมและตีขลุมมากจนเกินไป อันที่จริงแล้วคนเมืองก็อาจไม่จำเป็นต้องล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่คนชนบทเลือกเข้ามา และคงไม่ใช่เพียงช่องว่างทางความคิดและทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบท ความชับซ้อนของปัญหาคือ กลุ่มแต่ละกลุ่มที่เคลื่อนไหวนั้นต่างมีเหตุผลของตนเอง มาด้วยความเชื่อหลากหลายประการ และพยายามรักษาประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้รับ ดังนั้นการออกมาเคลื่อนไหวนั้นขึ้นอยู่กับ “จุดร่วม” ที่เป็นประโยชน์สำหรับพวกเขานั่นเอง และผมเชื่อว่าการที่คนออกมาเคลื่อนไหวก็เกิดจากแรงจูงใจตรงนี้แหละครับ การจัดสรรประโยชน์ร่วมในยุคโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ทำให้ลงตัวยาก ถึงยากมาก โดยเฉพาะยุคที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู เพราะกลุ่มแต่ละกลุ่มต่างมีประโยชน์ “ร่วม” ที่ต่างกัน และบางทีแต่ละกลุ่มก็ขัดแย้งกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาคือ การจัดสรรประโยชน์อย่างกระจายและทั่วถึง ผมคิดว่าปัญหาความขัดแย้งในเรื่อง กลุ่มผลประโยชน์เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงก็ช่วงรัฐบาลคุณทักษิณซึ่งมีมาก่อนหน้ากลุ่มรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ดังนั้นภาวะการเมืองแบบคู่ตรงข้าม[x] Dichotomous ดังที่นักสังคมวิทยาอย่าง Anthony Giddens เคยเอ่ยถึงไว้ในยุคโลกาภิวัตน์คงจะจริงในระดับหนึ่ง มีความขัดแย้งลักลั่นกันในตัวเอง ไม่มีความเป็นเนื้อเดียวกัน และที่สำคัญยังโยงใยถึงแนวคิดของเขาในเรื่อง โครงสร้างผู้กระทำ[xi] (Structure-Agency) ที่สะท้อนภาวะโครงสร้างเป็นผู้กำหนดแต่ในขณะเดียวกันโครงสร้างต่างๆก็ถูกเสนอรูปแบบใหม่ๆผ่านการกระทำที่ปัจเจกมิได้ยอมจำนวนโดยสิ้นเชิง ผู้เขียนเชื่อว่าความรุนแรงทางการเมือง เกิดจากภาวะโครงสร้างต่างๆที่มีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการจัดสรรอำนาจ จนก่อเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นข้อพิจารณาที่รับฟังได้ของ นปช. นั้นคือ “ความไม่เท่าเทียม” หรือความไม่เป็นธรรม เพราะผมคิดว่านี่คือต้นตอของปัญหาที่แท้จริง หากอำนาจ คือทรัพยากร อย่างที่ Giddens เสนอ การเข้าถึงทรัพยากรนี่สิครับคือโอกาสที่ผมไม่เชื่อว่าทุกคนจะเสมอภาคกันในทางปฏิบัติ ดังนั้นรัฐบาลควรจะตระหนักและแก้ไขปัญหาในจุดนี้





--------------------------------------------------------------------------------

[i] นิสิตปริญญาโท สาขา สังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยนักวิจัย โครงการ ความรุนแรงทางการเมือง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ii] นักสังคมวิทยาที่ศึกษาและสร้างทฤษฎีความขัดแย้งโดยได้รับอิทธิพลมาร์กซิสต์ในเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน โดยมองถึงสิทธิอำนาจ และการรวมกันของกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อครอบครองทรัพยากร สามารถหาอ่านได้ที่ George Ritzer and Douglas J. Goodman, Sociological theory Boston: McGraw-Hill, 2003, 6th ed.

[iii] ระบอบที่ขุนนาง ข้าราชการเป็นใหญ่ มีอิทธิพลมาก และสามารถควบคุมกลุ่มต่างๆได้โดยผ่านกลไก บารมี ระบบอุปถัมภ์ หรือเครือข่าย อำมาตย์ด้วยกันเอง ในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยถือว่ากลุ่มนี้มีบทบาททางการเมืองสูงมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สามารถหาอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ในงานของ พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ เรื่อง การเมืองของไพร่

[iv] การเป็นตัวแทนให้กับคนใดคนหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คำนี้เริ่มนิยมใช้กันในแวดวงสื่อมวลชนช่วงที่คุณทักษิณให้บริษัทอื่นๆ และลูกลูกและคนสนิทถือหุ้นบังหน้า เพื่ออำพรางความเป็นเจ้าของสิทธิโดยแท้จริง โดยมีวาระซ่อนร้อน?

[v] ระบบนี้คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะผู้ใหญ่เข้าหาผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ให้ความกรุณากับผู้น้อยผ่านการช่วยเหลือ คอยค้ำชู หรือสนับสนุน

[vi] สิทธิอำนาจมักเกี่ยวพันธ์ถึงความชอบธรรมเพื่อเข้าไปครอบครองหรือใช้อำนากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่

[vii] นักสังคมศาสตร์อย่าง Max Weber ได้มองถึงอำนาจบารมี หรือ Charismatic ว่าเป็นอำนาจพิเศษที่เกิดขึ้นจากบุคคลซึ่งมีลักษณะสำคัญคือเป็นที่เคารพศรัทธา คนทั่วไป อันเนื่องมาจากคุณงามความดี หรือการสั่งสมบารมีจนเป็นที่ยอมรับ ส่วนใหญ่คนที่นับถือจะเกิดความเลื่อมใสในตัวบุคคลนั้น

[viii] การใช้สื่อสมัยใหม่เพื่อรณรงค์ หรือดึงมวลชนของคุณทักษิณ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมในด้านสื่อสารการเมืองรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ

[ix] ระบอบที่เน้นการปกครองโดยหมายถึงกลุ่มผู้ปกครองที่ดีทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมซึ่งมักตรงข้ามกับคณาธิปไตย โดยเป็นแนวคิดทางการเมืองของ อริสโตเติล

[x] แนวคิดดังกล่าวสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เอกสารประกอบคำสอน สังคมวิทยาโลกาภิวัตน์ ซึ่งยังมิได้ตีพิมพ์แต่งโดย ศาสตราภิชาน สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการด้านสังคมวิทยาผู้สนใจและจับประเด็นโลกาภิวัตน์โดยอาศัยแนวคิดของ Anthony Giddens

[xi] สามารถอ่านแนวคิดนี้เพิ่มเติมได้ที่ เชษฐา พวงหัตถ์,โครงสร้าง-ผู้กระทำการ (Structure-Agency), กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา, 2548




 

Create Date : 18 มีนาคม 2553   
Last Update : 18 มีนาคม 2553 11:05:52 น.   
Counter : 392 Pageviews.  


บทวิเคราะห์ความรุนแรงในโรงเรียน ผ่านกรณี : เหตุนักเรียนแทงเพื่อนนักเรียนเสียชีวิตและบาดเจ็บที่โรงเรี

ชลเทพ ปั้นบุญชู

ในช่วงที่ผ่านมามีเหตุนักเรียนทำร้ายร่างกายกันมากมายหลายระดับ ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา แต่ที่น่าแปลกคือมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยังคงเข้าใจต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวน้อยนิด และมักจะมองเป็นความผิดของคู่กรณี ข่าวที่สะเทือนขวัญในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ เหตุแทงกันที่โรงเรียนมัธยมย่านยานนาวา สาธร ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง และอยู่ใกล้บ้านผมมากจนกระทั่งเรียกได้ว่าห่างกันแค่ ๑ ป้ายรถเมล์ ทำให้ผมให้ความสนใจในประเด็นนี้ในฐานะเคยมีประสบการณ์ในการทำวิจัยเรื่องความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาเมื่อสามปีก่อน
ช่วงเวลานั้นผมได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่องความรุนแรงในกลุ่มเยาวชนและมีโอกาสได้ไปคลุกคลีกับเด็กมัธยมต้นแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี โรงเรียนแห่งนี้ผมคิดว่ามีความใกล้เคียงกับโรงเรียนยานนาวาเวศตรงที่ เป็นโรงเรียนที่ไม่ได้มีความโดดเด่นทางวิชาการ ไม่ได้เป็นโรงเรียนกระแสหลักในพื้นที่ แต่กลับเป็นโรงเรียนชายขอบในหลายๆด้าน ที่กล่าวมานี้มิได้มีเจตนาส่อเสียดหรือดูถูกแต่อย่างใด แต่เพียงอยากนำเสนอในสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจต่อบริบทโรงเรียน จนนำมาสู่การก่อเหตุดังกล่าว

เด็กส่วนใหญ่ในโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรีที่ผมได้เข้าไปทำการศึกษานั้น ส่วนใหญ่เด็กฐานะยากจน หรือเรียกว่ามาจากครอบครัวคนจนเมือง อาจอยู่ในชุมชนแออัด หรือเป็นลูกแรงงานรับจ้างในเขตกรุงเทพ แถบย่านพระรามสองและจอมทอง นอกจากนี้ในโรงเรียนยังมีการตั้งแก๊งด้วย โดยเฉพาะนักเรียน ม ต้น แก๊งนี้จะไปกัยนเป็นกลุ่มใหญ่ๆ มีการดูแลพื้นที่ของตนเองไม่ให้โรงเรียนอื่นมารุกล้ำ และที่สำคัญยังมีวัฒนธรรมการล่าตราโรงเรียน(ที่ติดอยู่กับเสื้อพละ)สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจและอิทธิพลในเขตที่ตนคุ้มครอง และแสดงแสนยานุภาพหรืออวดศักดาต่อคู่ตรงข้าม แต่การที่เด็กกลุ่มนี้จะไปยังเขตอื่นนั้นก็จะมีความระมัดระวังตัวเช่นเดียวกัน ดังนั้นก็จะไปยังกลุ่มใหญ่และมีการเตรียมอาวุธที่พอจะป้องกันตนเองติดตัวไปด้วย

หัวหน้าแก๊งนั้นจะมีลักษณะพิเศษคือ จะมีอายุมากกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน เพราะเรียนซ้ำชั้นหรือเคยถูกพักการเรียน และยังอยู่นห้องท้ายๆ ชีวิตของเด็กมักจดจ่ออยู่กับโลกภายนอก การคุ้มครองเพื่อนและลูกน้องเป็นสำคัญ และเขายังกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “เคยก่อคดีอาญามาแล้ว” หรือโดนตำรวจจับในข้อหายาเสพติดและอื่นๆ

แต่ที่ผมสนใจคือ ทำไมปัญหาความรุนแรงถึงเกิดขึ้นในระดับ ม ต้น มากกว่าระดับชั้น ม ปลาย โดยเฉพาะเหตุวิวาทและที่สำคัญพบว่าโรงเรียนที่ผมไปทำวิจัย เด็ก ม ต้น มีการพกอาวุธไปเรียนหลายอย่างเช่นมีดประดิษฐ์ จะว่าครูไม่กวดขันก็คงไม่ถูกนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจมีการดูแลไม่ทั่วถึงก็เป็นได้ เพราะเท่าที่เห็นก็คือครูส่วนมากก็จะติดภาระกิจทางราชการ งานหลวง และกิจกรรมของเขต ก็เลยอาจไม่ค่อยมีเวลาดูแลเด็ก

ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เด็กในแก๊งนั้นหลายคนก็พบว่า การจะพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายหรือเป็นที่ยอมรับนั้นจะต้องทำในสิ่งที่ผิดกฏระเบียบ เช่นกล้าไปลุย กล้าทำผิดระเบียบโรงเรียน รวมไปถึงล่าแต้มจากโลโก้โรงเรียน ถ้าใครมีความสามารถโดดเด่นก็จะได้เป็นระดับแกนนำ แต่ถ้าใครยังกล้าๆกลัวๆ ก็จะเป็นลุกน้อง แต่ระดับแกนนำนี่มีประวัติที่ล้ำลึกจนผมคาดไม่ถึง เช่นหนีออกจากบ้าน หนีคดีความ มานอนบ้านเพื่อน และอะไรทำนองนี้ ซึ่งลองมองไปดูช่วงสมัยเด็กๆก็น่าตกใจว่าไม่เคยมีชีวิตอย่างนี้มาก่อนเลย

แต่ประเด็นที่สำคัญจากเหตุการณ์ในโรงเรียนนั้นข่าวรายงานว่า มีการรีดไถเงินเกิดขึ้นก่อนและเป็นเหตุให้มีความขัดแย้งกันถึงขั้นลงไม้ลงมือ และก็น่าแปลกว่าการรีดไถดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับโรงเรียนที่ผมไปทำวิจัย แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะมิใช่ประเด็นหลัก ที่ผมทำการเก็บข้อมูลภาคสนามแต่ก็พอเป็นเค้าเงื่อนเพื่อเปรียบเทียบกับเหตุที่ยานนาเวศได้ไม่มากก็น้อย กล่าวคือ การรีดไถเงินเกิดขึ้นในระดับ ม ต้น และส่วนใหญ่แก๊งที่มีความโดดเด่นในโรงเรียนแห่งนั้นอยู่ในระดับ ม ๒ แม้ว่าจะมี ม ๓ บ้าง ที่น่าแปลกคือ แก๊งเหล่านี้จะทำเป็นกิจวัตร หรือคนที่เป็นแกนนำ จะทำการอยู่เนืองๆ ส่วนใหญ่จะเลือกเหยื่อที่พูดน้อย ขี้อาย เงียบ มีลักษณะเรียบร้อย เพื่อที่จะได้ข่มขู่หรือทำร้ายได้ง่าย แต่ก็ไม่แปลกที่เด็กบางคนแม้จะทำตัวเป็นนักรีดไถซึ่งน่าจะมีกำลังมาก แต่พอเด็กที่เป็นเหยื่อขัดขืนก็จะต่อสู้กันจนทำให้ผู้รีดไถนั้นแพ้ก็ได้ เพราในกรณีที่ผมพบเห็นนั้นเด็กที่มีลักษณะชอบรีดไถหรือเป็นแนวหน้านั้นมีจิตใจฮึกเหิม แต่ทางกายภาพเป็นคนผอมตัวเล็กกว่าเพื่อนเรียนด้วยกัน จึงทำให้การต่อสู่ก็แพ้ในหลายๆครั้ง แต่เด็กคนดังกล่านิยมความรุนแรงและการใช้กำลังมาก เพราะเขาเชื่อว่า “มันแมนและเป็นการตัดสินแบบลูกผู้ชายดี”

ผมไม่รู้ว่านี่คือสิ่งงที่ผิดหรือถูกสำหรับเยาวชน แต่ที่ผมรู้คือการรับรู้และอบรมบ่มเพาะค่านิยม(Value Orientation) นั้นมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการใความรุนแรง เพราะว่าเยาวชนกลุ่มนี้นั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่ง ไม่ใช่เด็กอันเป็นที่รักของครูอาจารย์ มีปัญหาเข้าห้องปกครองบ่อยจนแทบเรียกได้ว่าเจอหน้ากันแทบทุกวันกันเลยทีเดียว มีคดีในโรงเรียนตั้งแต่เรื่องเล็กจนไปถึงข้อพิพาทระหว่างโรงเรียน มีโลกทางสังคมคมที่แยกขาดจากกลุ่มเด็กเรียน และนับถือรุ่นพี่ในแถบระแวกบ้านที่ใช้ความรุนแรง หรือเคยเป็นนักเลงมาก่อน แม้ว่าจะอ้างว่าป้องกันตัว แต่ก็มีคำว่าศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ศักดิ์ศรีคนในชุมชน ศักดิ์ศรีความเป็นเพื่อพ้องของกลุ่ม (ไม่ใช่เฉพาะผู้ชายแต่เด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่เป็นแฟนของแกนนำชายบางคนก็ตั้งตัวเป็นนักเลงหญิง แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องการครอบครองเด็กชายมากกว่า หรือการไม่พอใจที่ถูกมองหน้า)

ผมคิดว่าในกรณีของโรงเรียนยานนาเวศก็มีบริบทบางส่วนที่ใกล้เคียงกับโรงเรียนที่ผมทำวิจัย เพราผมเชื่อว่าโรงเรียนเหล่านี้มิใช่โรงเรียนที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ถึงแม้โรงเรียนแห่งนี้จะอยู่ใจกลางเมือง แต่ก็มิได้เป็นหลักประกันว่าจะมีวิถีชีวิตแบบเมือง เพราะเท่าที่ผมสังเกตคือส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวในชนชั้นแรงงานรับจ้างตามโรงงานแถวบางคอแหลม ยานนาวา สาธร พระราม ๓ ที่สำคัญพื้นฐานครอบครัวน่าจะมีฐานะยากจน ผมเคยใช้ดัดชะนีชี้วัดจากค่าขนมของแต่ละโรงเรียนมาเทียบเคียง เช่นโรงเรียนเซนโยเซฟ โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ อัสสัมชัญ และที่อื่นๆ ก็พบว่ามีความแตกต่างกัน พื้นฐานครอบครัว ผู้ปกครองก็มีความแตกต่างกัน หรือโรงเรียนใกล้ๆอย่าง สารสาสน์เอกตรา ก็มีความแตกต่างกันลิบลับ ไม่ใช่เพราะความรวยความจนหรอกครับเพราการมองแค่ความรวยความจนเป็นปัญหาสังคม คือการตีขลุมมากว่าการทำความเข้าใจ แต่ผมคิดว่าเพราะสิ่งแวดล้อมที่เด็กเผชิญอยู่ต่างกัน โดยเฉพาะครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำกลับดึก กลับพบว่าส่วนใหญ่เด็กจะมีโลกทางสังคมที่แตกต่างจากเด็กในกลุ่มโรงเรียนชั้นดีที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเรียนพิเศษหรือทำกิจกรรมไฮโซเช่น คาราเต้ เล่นเปียโน หรือดนตรี เด็กกลุ่มนี้มักจะนั่งคุยกันช่วงเย็นจับกลุ่มแต่งมอเตอร์ไซด์ หรืออยู่ร้านซ่อมรถ หรือรวมตัวกันไปเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ตามที่ต่างๆ และการรีดไถในโรงเรียนมิใช่เพียงเพราะต้องการเงินของเด็กเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงการแสดงบารมีหรือการจัดช่วงชั้นของกลุ่มเด็กในสังคมโรงเรียน ว่าใครมีอำนาจลดหลั่นต่างกันอย่างไร สังคมในโรงเรียนก็มีอย่างนี้ครับ ไม่ใช่แค่สังคมทั่งไป พื้นที่โรงเรียนเต็มไปด้วยการสร้างสิทธิอำนาจผ่านยุทธวิธีต่างๆเพื่อให้เป็นที่ยอมรับต่อกลุ่มเพื่อนนักเรียน ซึ่งอาจมีได้หลายทาง เช่นเด็กเก่งก็แข่งกันเรียน เด็กที่แบดบอย หน่อยก็แข่งกันในการเป็นผู้ทรงอิทธิพลหรือมีบารมีเหนือเด็กคนอื่นโดยการตั้งแก๊ง ทำกิจกรรมเพื่อต่อต้าน ฝืนระเบียบทางสังคมในโรงเรียน ยิ่งมากยิ่งแจ๋ว และภาคภูมิใจ การที่สามารถเข้าไปครอบครอง หรือพยายามบีบบังคับให้เด็กหรือเพื่ออยู่ใต้อาณัติได้ยิ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจว่ามีมากน้อยเพียงใด

ประเด็นสำคัญที่กล่าวมานี้อาจมีคนสงสัยว่าแล้วเกี่ยวอะไรกับการแทงกันตายของเด็กยานนาเวศ ผมคิดว่าคงไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ทว่าเหตุที่เกิดนั้นจะไปโทษเด็กที่ทำเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ผมคงคิดว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการก่อเหตุนั้นน่าจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ภาวะความกดดันของเด็ก พฤติกรรมของเด็ก รวมไปถึงการควบคุมอารมณ์ การมองปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องใช้วิธีวิทยาแบบองค์รวมเพื่อเข้าใจแก่นของปัญหามากกว่าที่จะคาดเดาแบบเหมารวม ผมคิดว่าปัญหานี้คงมิใช่แค่มาตรการของโรงเรียน แต่คงเป็นการแก้เชิงโครงสร้างหรือทำความเข้าใจโลกทางสังคมของชีวิตในโรงเรียนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความรุนแรงอยู่เสมอ และบางที่ก็จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ดังนั้นผมคิดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างคือ การรีดไถเงินในกลุ่มเด็กโดยใช้กำลังมีข้อเท็จจริงอย่างไร เด็กบางคนมีพฤติกรรมที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะก่อเหตุได้รุนแรงแต่ก็กระทำอย่างรุนแรงจนคาดไม่ถึงเสมือนหนึ่งก้อนภูเขาน้ำแข็ง การเปรียบเทียบดังกล่าวหมายถึง ภาพฉายของปัญหาเชิงซ้อนที่ซ่อนอยู่ในความคิดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้นการตีความปัญหาจึงมิควรละเลยถึงบริบททางสังคม หรือเหตุที่มาของการก่อคดีความ ผมแอบได้ยินเด็กยานาเวศพูดไว้น่าสนใจว่า “เด็กคนที่ก่อเหตุดังกล่าวนั้นค่อนข้างเป็นเด็กเงียบ พูดน้อย และเป็นเด็กใหม่” ไม่รู้ว่าเป็นเหตุให้ตกเป็นเหยื่อของการรีดไถและนำมาสู่การพกมีดออกมาป้องกันตัว แต่ด้วยความโกรธและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงส่งผลให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญต่อเพื่อนนักเรียนด้วยกัน อาจเป็นเพราะการปกป้องตนเอง หรือความโกรธแค้น แต่ผมคิดว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนควรเป็นวาระที่กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมควรรีบแก้ที่ต้นตอมากกว่าจะผลักภาระให้โรงเรียนเพียงลำพัง

ป ล. ผมคิดว่าความรุนแรงคงจะต้องใช้มิติสังคมศาสตร์เข้ามาทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ให้ลึกซึ้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพื่อจะได้ไม่เป็นวัวหายล้อมครอกอย่างที่เป็นประเพณีปฏิบัติต่อกันมา

ข้อทิ้งท้าย แม้ว่างานวิจัยที่ผมเคยศึกษามาไม่อาจจะอธิบายปรากฏการณ์การก่อเหตุใช้มีดแทงกันของนักเรียนยานนาเวศได้ทั้งหมด แต่ก็พอเป็นร่องรอยของเพื่อเข้าใจต่อปัญหาไม่มากก็น้อย และอาจมีบางประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งซึ่งผมน้อมรับเพื่อนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยนต่อไป

หมายเหตุ ขออนุญาตในการใช้ชื่อโรงเรียนจริงเพื่อกล่าวถึงในการวิเคราะห์ครั้งนี้




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2552   
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2552 14:08:13 น.   
Counter : 459 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  

ส่องสร้างสังคม
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ขอโม้ ขอเม้าท์ ขอฝอย เรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี การเมือง การศึกษา สังคม วัฒนธรรม วิวาทะภาคนโนสาเร่
[Add ส่องสร้างสังคม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com