ขอโม้ ขอเม้า ขอฝอยเรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา วิวาทะ ว่าด้วยเรื่องมโนสาเร่
 
พิเคราะห์ โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุบนโทเวย์ ๙ ศพ บทวิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเด็นทางสังคมวิทยา

พิเคราะห์ โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุบนโทเวย์ ๙ ศพ บทวิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเด็นทางสังคมวิทยา
ชลเทพ ปั้นบุญชู
อารัมภบท
ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ครอบครัวผู้สูญเสีย ญาติพี่น้อง และคนใกล้ชิดทุกท่าน ผมหวังว่าการสะท้อนมุมมองทางสังคมวิทยา ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวจะช่วยขยายปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนทางความคิดอย่างสันติเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูป ทั้งระบบทางความคิด การปฏิบัติ และการสร้างกฎเกณฑ์ร่วมกันของคนในสังคมต่อไป ในฐานะที่เป็นนักสังคมวิทยา(มือสมัครเล่น) ก็อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการวิพากษ์ต่อปัญหาให้สังคมได้รับรู้อีกมิติหนึ่งด้วย

ภาคเนื้อหา
ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดก่อนฤดูกาลแห่งการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และเป็นที่พูดถึงทั้งในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ช่องกระแสหลัก หรือแม้กระทั่งชุมชนในสังคมออนไลน์ นั้นก็คือ เหตุการณ์อุบัติเหตุรถเก๋งชีวิคชนท้ายรถตู้รับส่งผู้โดยสาร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต หมอชิต จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ๙ ราย บาดเจ็บอีกอีกหลายคน ซึ่งบางรายอาการน่าเป็นห่วง ทำให้หลายคนแสดงความรู้สึกต่างๆนานาผ่านช่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเวบบอร์ดในเวบไซต์ต่างๆ Blog รวมถึง face book
สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตและสนใจคือ น่าแปลกที่เหตุการณ์อุบัติเหตุในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง และบางครั้งก็มีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวแต่กลับไม่ได้รับความสนใจมากมายขนาดนี้ หรือเหตุการณ์ ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์รถประสบอุบัติเหตุที่มาเลเซีย หรือรถตกไหล่เขา หรือเหตุการณ์รถตู้รับส่งกรุงเทพ นครสวรรค์ประสบอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตมากเช่นเดียวกัน ก็ยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่านี้ หรือเหตุการณ์รถตู้ตกทางด่วนเมือก่อนหน้าที่ที่บริเวณถนนพระราม ๖ ก็เป็นที่ฮือฮาในช่วงนั้น แต่ก็ยังไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เท่าประเด็นดังกล่าว อาจเป็นเพราะว่าผู้เสียชีวิต มีทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง อาจารย์ นักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก หรือคนที่กำลังจะโอกาสที่ดีในอนาคต ซึ่งคนเหล่านี้มีความสามารถสูง เป็นบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ (แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ตายจะมีค่ามากกว่าคนทั่วไป เพราะผมเชื่อว่าทุกชีวิตมีคุณค่าที่ควรจะดำรงอยู่อย่างเท่ากัน) ดังนั้นเราไม่อาจตัดสินว่า ใครควรอยู่ ใครควรไป
กลุ่มผู้เคลื่อนไหวกดดันคู่กรณีมีทั้งในกลุ่มปัญญาชน นักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มนักท่องเวบไซต์บนโลกไซเบอร์ ผู้ชมข่าวสาร คนทั่วไปที่รับรู้หรืเข้าไปดูเหตุการณ์ และผู้คนอีกมากมาย เครือข่ายดังกล่าวไดใช้พลังทางสงคมวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนมีผู้คนมากมายร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านคอมเม้นส์ โลกของชนชั้นกลาง หรือโลกของสังคมเมือง สังคมไซเบอร์นับว่าได้รับความนิยมมาก
ความสนใจที่ผมมีต่อประเด็นดังกล่าวคือ มนุษย์มีการรับรู้ประสบการณ์ที่ต่างกันไป แต่กระแสโลกาภิวัตน์สามารถดึงให้มนุษย์เข้ามาอยู่ในจุดร่วมของอารมณ์และความรู้สึกเดียวกันได้ ทำให้ผมสนใจงานของ Robertson เกี่ยวกับประเด็นโลกาภิวัตน์ที่ว่า “ยิ่งโลกแคบลงเท่าไร ความรู้สึกของ การตระหนักรับรู้ถึง ความเป็นโลกร่วมกัน มีมากขึ้น ในคำพูดดังกล่าวหากขยายความก็หมายถึง โลกที่แคบลงด้วยช่องทางที่เป็นตัวเชื่อม หรือตัวกลาง ยิ่งมมากและทำให้ผู้คนบนโลกเข้าถึงข้อมูลร่วมกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่สถานที่เดียวกัน พื้นที่ใกล้กัน แต่สามารถสื่อสารกันราวกับ การสื่อสารระหว่างบุคคลแบบตัวต่อตัว Face to Face ดังนั้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด สามารถไปพร้อมๆกันได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้ากัน เช่น คนสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากการชมทีวีในโทรทัศน์ช่องหนึ่งและเห็นถึงความยากลำบากของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนยังพื้นที่ต่างๆ
ดังนั้นช่องทางที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลและสามารถสร้างอารมณ์ที่เป็นสัมผัสร่วมจึงนับว่าสำคัญอย่างมาก ผมคิดว่าโดยเฉพาะความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งบีบี facebook youtube blog รวมถึง เวบบอร์ดที่รวมภาพ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทำให้คนรับรู้เรื่องราวได้อย่างสมจริง และมีอารมณ์ร่วมที่คล้อยตาม ในส่วนนี้ย่อมต้องขึ้นอยู่กับการนำเสนอข้อมูล วิธีการชักจูงให้คล้อยตาม เช่นคำพูด การแสดงความรู้สึกผ่านคำพูด การใช้ประโยค สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญแทบทั้งสิ้น
เมื่อเห็นประเด็นดังกล่าวผมจึงตั้งคำถามต่อไปว่า ความจริงในประเด็นดังกล่าวคือ อะไร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะผมอาจเห็นว่าความจริงที่เรารับรู้นั้น อาจเป็นเพียงมายาคติ ผ่านวิธีการสื่อสาร ที่ทำให้เราเชื่อว่า นี่คือความจริง ซึ่งผมเองก็ตกอยู่ใน วาทกรรมของ ความจริง ว่าอันไหนคือ ความจริงแท้ ความจริงสูงสุด หรือเป็นเพียงมายาคติที่ดูเสมือนจริง (ไม่รู้จริงๆครับว่าจะเลือกเชื่อข้อมูลไหนดี ภายใต้ระบบตรรกะเชิงเหตุผล ล้วนแล้วแต่น่ารับฟังทั้งสิ้น)
สิ่งที่ควรพิจารณาต่อก็คือ ความสำคัญในกลไกของระบบภาษา ทั้งรูป เสียง เนื้อหา การนำเสนอ ผู้ส่งสารย่อมมีเป้าหมายของการสื่อสารเพื่อใคร และเพื่ออะไร รวมไปถึงระบบการสื่อสารมีบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้วย เช่นเราอยากจะส่งสารเพื่อเรียกร้องให้ระดมทุนในการนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเฮติ เราก็ควรที่จะถ่ายภาพ เด็กชาวเฮติที่กำลังยืนรออาหารด้วยความหิวโหย โดยเฉพาะต้องคัดเลือกเด็กที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่นผอมหัวโต พุงป่อง ยืนรอรับเสบียงที่ทางการส่งไปโดยเข้าคิวยาวเหยียด ภาพนี้แม้ว่าอาจอยู่ในเหตุการณ์จริง แต่นั่นย่อมไม่ใช่ความจริงเพียงทั้งหมด แต่หมายถึงการเลือกหยิบยกบางด้าน หรือจัดองค์ประกอบบางอย่างเพื่อให้เหมาะสมในการสื่อสาร ดังนั้นภาพเหตุการณ์บนโทเวย์นั้นก็อาจมีการเลือกวิธีการนำเสนอ โดยแสดงถึงครอบครัวที่สูญเสีย กับเหตุการณ์ที่ขาดความรับผิดชอบและความประมาทของเด็กสาวต่อกรณี บุคคลดังกล่าวมีค่ามากเกินกว่าที่น้องจะรับผิดชอบไหว ดังนั้นความสูญเสียนี้ใหญ่หลวงจนแทบไม่อาจให้อภัยได้ เพราะผมอ่านกระทู้หลังโพสต์ภาพและข้อความในกรณีดังกล่าว ล้วนแล้วแต่มีคำสาปแช่ง การได้รับผลกรรม การดำเนินดคี ความไม่พอใจต่อน้องคนดังกล่าว รวมถึงครอบครัว นี่แหละครับ อิทธิพลของการสื่อสาร ทำให้เราเห็นภาพพจน์ สะเทือนอารมณ์ และมีความรู้สึกคล้อยตามผู้ส่งสาร แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นหรือในทางสังคมวิทยาอาจเรียกว่า ความจริงที่ถูกสร้างขึ้น (Social Construction)
ผมคิดว่าโลกมายาคติแยกไม่ออกกับปรากฏการณ์ทางสังคม ภาพตัวแทน เป็นสิ่งที่อาจจะบิดเบือนและทำให้เราหลงเชื่อก็ได้ เราจึงต้องพิจารณาถึงปัญหาอย่างถ่องแท้และต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้มายาคติครอบงำจนทำให้ขาดความเข้าใจในต้นตอที่แท้จริงไป
โลกที่แยกโลกเชิงวัตถุวิสัย กับโลกเชิงอัตวิสัยไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นของอัตบุคคล ก็ยิ่งทำให้ผมเลิกหาความจริงสูงสุด และหันกลับมาเรียนรู้และตั้งคำถามกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผมสนใจมากกว่า
ถามแรกของปัญหาดังกล่าว ผมอาจจะสวนกระแสงตรงที่ ผมเห็นใจผู้ที่เสียชีวิตและครอบครัวผู้ได้รับความสูญเสีย แต่ผมก็เห็นว่า การแสดงความเห็นอกเห็นใจนับว่าเป็นการแสดงน้ำใจของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งนับว่าเป็นพลังทางบวกก็จัดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่สาปแช่ง แสดงความรุนแรงทางภาษาผ่านกระทู้ เพื่อทำลายอีกฝ่ายก็นับว่าอันตรายอยู่มาก เพราะความเกลียดชังมักนำมาซึ่งการเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงในที่สุด ทั้งกาย วาจา และใจ เพื่อลงโทษ กระบวนการดังกล่าวอาจเรียกว่า กระบวนการหาคนรับผิด และระบายความเคียดแค้นเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ที่กำลังโกรธ โดยการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างถึงที่สุด
ในรอบสองสามปีที่ผ่านมาผมเห็นว่าคนไทยมีลักษณะทางโครงสร้างที่เรียกว่าความคิดแบบคู่ตรงข้าม (Dichotomous) กล่าวคือ มองขาวล้าน ดำล้วน มองมิตร ศัตรู หรือแม้กระทั่ง คนที่มีอำนาจ กับคนที่ไม่มีอำนาจ การมองดังกล่าวเป็นการผลักเข้าไปสู่การแบ่งตัวเรา แบ่งผู้อื่นออกเป็นพวกๆ และไม่สามารถเป็นเนื้อเดียวกันได้ ใครไม่เข้าพวกคนนั้นผิด คนคิดต่างคนนั้นเข้าข้างคนผิด ต้องรุมประณามคนนั้น กระทู้ที่ผมเห็นในบางเวบไซต์ต่อกรณีนี้ มีความโน้มเอียงที่จะรุมประณามและโจมตีคู่กรณีที่ขับรถเก๋งอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่ว่าผมพูดอย่างนี้ผมจะเข้าเข้ารถเก๋ง แต่ผมต้องการที่จะสะท้อนว่า เรากำลังมองปัญหาด้วยอคติหรือไม่? เช่นปัญหาอาจเกิดจากหลายส่วน ทั้งผู้ขับรถเก๋งซึ่งยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และขับรถด้วยความประมาท ผู้ปกครองไม่ได้ให้ความดูแลเอาใจใส่ดีเท่าที่ควร การให้บริการสาธารณะของรถตู้ที่ต้องคำนึกถึงหลักความปลอดภัย หรือมีระบบที่ป้องกันชีวิตและอุบัติเหตุ การเคารพกฎจราจร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นตอของปัญหา ไม่ใช่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น การใช้ประเด็นบางอย่างโจมตีคู่กรณีโดยให้เธอเป็นเพียงผู้กระทำผิดเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก เพราะนั่นก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาจากต้นตอที่แท้จริง สื่อกระแสหลักก็โน้มเอียงตามกระแสสังคม ซึ่งหากมองอีกด้านก็อาจไม่เป็นธรรมสำหรับคู่กรณีเท่าไรนัก ดังนั้นจึงต้องนำเสนอภาพและข้อมูลหลายด้านเพื่อให้ผู้รับสารพิจารณาในหลายแง่มุม
คำถามต่อมาที่ผมคิดว่าเป็นภาวะเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในกรณีโศกนาฏกรรมครั้งนี้ มันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ หรือระบบทางความคิดของคนในสังคมอย่างไร ความน่าสนใจอยู่ที่ การเรียกร้องความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม (Inequality) ในฉากของคู่กรณีภาพหนึ่งในเชิงสัญลักษณ์ของน้องคนขับรถซีวิค ก็เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของ ผู้มีอำนาจ ยศศักดิ์ กับผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บซึ่งเป็นคนธรรมดา สามัญ ความสัมพันธ์ทางสังคมของสองกลุ่มนี้นักสังคมวิทยากลุ่ม Conflict Theory เห็นว่า กลุ่มที่มีอำนาจก็จะพยายามรักษาสถานะของตนไว้โดยการควบคุมผ่านระบบ เพื่อให้กลุ่มที่อยู่ใต้อำนาจสยบยอมต่อความชอบธรรมผ่านระบบสิทธิอำนาจ ความขัดแย้งของสองกลุ่มนี้หากมีความแตกต่างทางความคิกมากขึ้นก็จะยิ่งทวีความรุนแรงจนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแบบรื้อถอน หรือเปลี่ยนโดยฉับพลัน เพื่อเสนอโครงสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ กลุ่มนักคิดสาย Conflict Theory ไดรับอิทธิพลจาก นักคิดสำนัก Marxist ทำให้วิธีการศึกษากลุ่มมีลักษณะกล้ายกัน แม้ว่าจุดเน้นในประเด็นสำคัญจะต่างกัน
กระทู้ที่ผมอ่านจากพันทิป และเวบบอร์ดอื่นๆล้วนเป็นข้อยืนยันว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงเหตุการณ์อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว แต่หลายคนกำลังต้องข้อวิพากษ์ต่อกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งนับว่าซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับกรณีหมูแฮม ที่คนหลายคนก็ยังอดเคลือบแคลงไม่ได้ ว่ากระบวนการยุติธรรมถูกอำนาจอื่นๆแทรกแทรงหรือไม่ จากกรณีเหตุอุบัติเหตุบนโทเวย์ ที่ผ่านมา สังคมออนไลน์ล้วนแสดงความคิดที่มองเห็นกระบวนการยุติธรรมมีความไม่ชอบมาพากล และตั้งคำถามว่า “โลกนี้มีความเป็นธรรมสำหรับ คนธรรมดาหรือไม่ คนในสังคมมีความเท่าเทียมกันจริงๆในกฎหมายหรือไม่” ผมคิดว่าความคิดนี้แหละครับคือ ความคิดเชิงโครงสร้างของคนในสังคมไทย
ความไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และคนในสังคม(ซึ่งผมเชื่อว่ามีจำนวนมาก) เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทย ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเท่าที่ควร ทำให้ความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม มีน้อย และมองว่าความยุติธรรมในลักษณะที่เป็นทางการมีความโอนเอียงไปกับกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือมีทักษะในการครองอำนาจ ใช้และควบคุมอำนาจ ดังนั้นจึงมีคนมาตั้งข้อสงสัยทั้งสภาทนายความ กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา และการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม
ผมเองเคยตั้งข้อสังเกตในงานของผมเรื่อง ความไม่เป็นธรรมนำสุขภาวะ เกี่ยวกับประเด็นนิติปรัชญาทางกฎหมายว่า ความเป็นธรรมทางกฎหมาย หรือความยุติธรรมทางกฎหมายอาจไม่จำเป็นต้องเป็นธรรม สำหรับสังคมก็ได้ ในเมื่อคนในสังคมต่างมีพลวัตร และเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา หากในเมื่อกฎหมายเป็นธรรมแล้วทำไมคนถึงไม่รู้สึกว่ามันเป็นธรรมและยังคงเรียกร้องกันอยู่ ในหลายๆกรณีของการตัดสินในกระบวนการยุติธรรมของไทยก็สะท้อนว่า ความยุติธรรมทางกฎหมาย สังคมก็อาจไม่ยอมรับก็ได้ เพราะพวกเขารู้สึกไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น ดูได้จากกรณี คดีที่ชาวบ้านไปตัดต้นไม้และศาลตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยในฐานะที่ทำให้โลกร้อนเป็นเงินจำนวนมาก หรือกรณีมาบตะพุด รวมถึงคดีอื่นๆในสังคม
แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ ดำรงอยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่เท่าเทียม ก็ย่อมต้องมองว่าผู้มีอำนาจย่อมใช้อำนาจเพื่อเอื้อต่อตนเองและกลุ่มผลประโยชน์ที่ตนพยายามรักษาไว้ แต่ขนาดของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนธรรมดา จึงต้องพยายามเรียกร้องให้ตนเองได้รับประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย เพื่อสร้างดุลยภาพที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่า ในยุคปัจจุบันที่แหละครับ ที่การแสวงหาและเรียกร้องความเป็นธรรมมีมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกิดประเด็นทางสังคม ผู้คนที่อยู่ร่วมกันได้เข้าไปสัมผัสความทุกข์ยากและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทั้งภาพกระทู้ เวบบอร์ด ภาพเคลื่อนไหว และเนื้อหาข่าวสารข้อมูล ก็พยายามที่จำเรียกร้องให้ผู้อื่นได้รับความเป็นธรรม ผ่านประสบการณ์ร่วมที่สื่อหรือตัวกลางต่างๆเป็นผู้นำเสนอ และความไม่เป็นธรรมหลายกรณี คนหลายคนก็เคยรู้สึก หรือได้รับ หรือผ่านประสบการณ์แบบนี้ จึงทำให้อารมณ์ต่างๆปะทุขึ้น ราวกับชีวิตของตนเอง หรืออาจจะเรียกว่า สำนึกร่วมทางสังคม (Collective Consciousness) ซึ่ง Durkheim มองว่าเป็นศีลธรรมของการอยู่ร่วมกันแบบหนึ่ง ตรงนี้แหละครับที่ผมยังมองว่าระบบความมีเหตุมีผลอย่างที่ Max Weber เสนอเรื่อง legal rationality ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสมัยจะเป็นจริง เพราะสังคมสมัยใหม่(ช่วงปลาย)นั้นมีลักษณะทวิภาวะ?หรือพหุภาวะ มีความขัดแย้งลักลั่นในตัวเอง มีความยึดโยงที่หลากหลายเฉพาะตัวไม่แน่นอนสมบูรณ์ที่สุด แม้ว่ากฎหมายจะเป็นบรรทัดฐานที่มีความเสถียร แน่นอน และใช้อ้างอิงได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบจารีตประเพณีจะหายไป กรณีอุบัติเหตุบนโทรเวย์นั้น จะเห็นได้ว่า น้องแพรวา ถูกไล่ล่าจากขบวนการโลกไซเบอร์ ทั้งสาปแช่ง ทั้งว่าร้ายกลายเป็นนางแม่มด และพยายามให้เธอแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงให้เธอได้รับผลกรรมทั้งทางกฎหมายและคติความเชื่อเรื่องบุญบาปด้วย กรณีนี้เห็นชัดว่า สังคมใช้กระบวนการลงโทษโดยใช้มวลชน หรือกฎทางสังคมจารีตประเพณี การทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นบาป และยิ่งตายมากขนาดนี้ยิ่งทำให้สังคมอ่อนไหวต่อความรู้สึกนี้มาก เพราะนั่นหมายถึงการคุกคามสวัสดิภาพและความสงบเรียบร้อยของสังคม หากแม้เธอเองจะหลุดรอดด้วยช่องว่างทางกฎหมาย ผมคิดว่าเธอเองจะอยู่ในสังคมยากมาก เพราะสังคมจะใช้กระแสกดดันทำให้เธอเองไม่สามารถมีพื้นที่ยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุข ผมคิดว่ากฎทางสังคมมีอำนาจมาก และทารุณไม่แพ้การลงโทษทางกฎหมาย เพราะนั่นหมายถึงสังคมไม่ยอมรับเธอนั่นเอง และนอกจากนี้ยังมีผลกระทบไปถึงคนรอบข้างและครอบครัวอีกด้วย เรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมและเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของการอยู่ร่วมกัน จึงนับว่ามีอิทธิพลต่อการใช้การลงโทษทางสังคม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สื่อสามารถเชื่อมคนในพื้นที่ห่างไกลเข้าหากันได้ ผ่านช่องทางต่างๆ ก็ยิ่งสามารถรับรู้เหตุการณ์ร่วมกัน และใช้มวลชนกดดันเธออย่างล้นหลาม หรือที่เรียกว่า กระแสสังคม การไหลบ่าทั้งง่ายและขยายพื้นที่ไปเป็นวงกว้าง นี่คือสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “การพิพากษาโดยสังคมโดยในยุคโลกโลกาภิวัตน์” ซึ่งนับว่ามีพลังมากและหยุดยั้งการแพร่ระบาดทางอารมณ์ได้ยาก

บทส่งท้าย
ปัญหาดังกล่าว ไม่ควรจะกระทำเพียงไล่ล่าหาตัวผู้รับผิดต่อกรณีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะนั่นก็เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ควรเข้าใจต้นตอ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่ รวมถึงการใช้กฎทางสังคม จริงอยู่ที่คนผิดต้องรับผิดในกระบวนทางกฎหมายการ แต่ก็ต้องให้ผู้กระทำผิดได้แก้ไขในสิ่งที่ก่อไว้ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และหลายภาคส่วนควรตระหนักต่ออุทาหรณ์ครั้งนี้ เพื่อหามาตรการแก้ไขและวิธีการป้องกันเพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย



Create Date : 31 ธันวาคม 2553
Last Update : 31 ธันวาคม 2553 22:00:49 น. 1 comments
Counter : 417 Pageviews.  
 
 
 
 


แวะมาสวัสดีปีใหม่ค่ะ
 
 

โดย: deeplove วันที่: 1 มกราคม 2554 เวลา:0:06:40 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ส่องสร้างสังคม
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ขอโม้ ขอเม้าท์ ขอฝอย เรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี การเมือง การศึกษา สังคม วัฒนธรรม วิวาทะภาคนโนสาเร่
[Add ส่องสร้างสังคม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com