ขอโม้ ขอเม้า ขอฝอยเรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี สังคม การเมือง วัฒนธรรม การศึกษา วิวาทะ ว่าด้วยเรื่องมโนสาเร่
 
วิพากษ์ การสอบ O-NET ในมุมมองปรัชญาการศึกษาและสังคมวิทยา

เกริ่นนำ
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ และวันอาทิตย์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พศ. ๒๕๕๓ สำนักทดสอบมาตราฐานทางวิชาการแห่งชาติ (สทศ.) ได้จัดให้มีการทดสอบวัดความรู้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับพื้นฐาน หรือที่เรียกว่าการสอบ O-NET ซึ่งได้ทดสอบในกลุ่มสาระวิชา ภาษาไทย สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ศิลปดนตรี และการงานพื้นฐานอาชีพ ผ่านพ้นไป แต่ปัญหาที่ยังคงเป็นประเด็นค้างคาใจนั่นก็คือ ข้อสอบที่แปลกใหม่ (ออกจากหลุดไปจากที่คาดการณ์ไว้ของเด็ก) กับความท้าทายที่เด็กหลายคนเชื่อว่าพวกเขาจะเดาใจทางสทศ.ถูกหรือไม่ กับคำตอบที่ชวนให้ฉงนและมึนงง พวกเขารู้สึกได้ถึงความคลุมเครือและข้อสับสนนี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดสำหรับหลายๆคน รวมไปถึงผู้เขียนที่กำลังศึกษาเรื่อง แอดมิชชันส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท สาขา สังคมวิทยา ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่ผู้เขียนสนใจยาวนานมากว่า ๔ ปี โดยผู้เขียนจะขอใช้มุมมองทาง ปรัชญา สังคมวิทยา และการศึกษาเป็นตัวไขกุญแจปัญหาดังกล่าวในส่วนของเนื้อหาที่ได้นำเสนอต่อจากนี้

ภาคเนื้อหา
ผู้เขียนในฐานะที่ศึกษาปัญหาแอดมิชชันส์ ในทางวิชาการ มองว่า ปัญหาดังกล่าวมีมายาวนาน ไม่ต่างอะไรกับมาบตะพุด หรือ GT 200 เพราะว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในส่วนของวิธีคิด วิธีปฏิบัติ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับบทความนี้คือผู้เขียนพยายามนำเสนอผ่านการวิพากษ์และตั้งคำถามในเชิงวิชาการกับ ผู้กำหนดนโยบาย ทั้ง ทปอ. สทศ. และสกอ. ตรงนี้คือโครงสร้างอำนาจหลักในเชิงสถาบัน ที่กำหนดนโยบายดังกล่าว ว่าอยู่ในฐานคิดด้านใด มีจุดยืนอย่างไร และทำไมเด็กถึงต่อต้านระบบแอดมิชชันส์






วิวาทะระหว่างสทศ. และนักเรียนผู้สอบ O-NET กับมุมมอง “ปรัชญาการศึกษาและสังคมวิทยา” ผ่านบทวิพากษ์
การสอบ O-NET ครั้งนี้ มีความแตกต่างกับทุกๆครั้งที่ผ่านมาเพราะทางสทศ.ได้ออกแบบทดสอบที่มีความซับซ้อนขึ้น โดยให้นักเรียนเลือกตัวเลือกหลายคำตอบ ซึ่งจำเป็นจะต้องตอบถูกทั้งหมดจึงจะได้คะแนน จริงอยู่ที่การออกข้อสอบมีความซับซ้อนมากขึ้น คำตอบมีลักษณะของการวัดว่าสามารถประยุกต์ (Apply) เพื่อดูกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ของเด็กและวัดทักษะการนำไปใช้จากสถานการณ์ที่กำหนดให้ ฟังในช่วงแรกก็ดูดี แต่พอฟังมากขึ้นกลับพบว่ามีปัญหามากมาย เช่น ความเป็นปรวิสัย ของข้อสอบว่ามีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการเลือกคำตอบจะต้องมีความแน่นอนในระดับหนึ่งเนื่องจากเป็นการเลือกคำตอบที่ถูกต้อง(แม้ว่าจะมากกว่าหนึ่งข้อก็ตาม) แต่ลักษณะคำถามดูเป็น อัตวิสัย มาก บางข้อเป็นการให้เลือกตัดสินใจต่อเหตุการณ์ที่ประสบ ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะตอบในมุมมองของใคร เช่น ตัวละครในข้อสอบ ตัวเราเอง หรือเอาใจผู้ออกข้อสอบ ตรงนี้แหละที่ผมว่ามันเป็นปัญหา เพราะว่าถ้าเป็นอัตวิสัยในตัวข้อสอบ มันควรจะไม่มีการกำหนดคำตอบที่ถูกต้องไว้ตายตัว แต่ควรให้น้ำหนักกับเหตุผลหรือการให้คำแนนที่แตกต่างกัน เช่น ตอบข้อ ก. ได้ ๑ คะแนน ตอบข้อ ข. ได้ ๓ คะแนน ตอบข้อ ค. ได้ ๔ คะแนน ตอบข้อ ง.ได้ ๒คะแนนเป็นต้น อันนี้คือการให้คุณค่ากับข้อสอบที่มีความเป็นอัตวิสัย เพราะมันมิใช่การตัดสินว่าถูกผิดอย่างแท้จริง แต่มันหมายถึงเราประเมินต่อเรื่องที่เรามองนี้อย่างไร และเลือกทำด้วยเหตุผลใด มากกว่าจะตัดสินว่าวิธีใดดีที่สุด(ตามมุมมองของผู้ออกข้อสอบ)
ปัญหาในทางปรัชญามีอยู่ว่า การออกข้อสอบข้อสอบ O-NET หรือวิชาอื่นๆที่ผ่านมานั้น อยู่ในอุดมการณ์ทางปรัชญาแบบใด ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ศ.ดร อุทุมพร จามรมาน และคณะผู้ร่วมจัดทำแบบทดสอบนั้นคงจะได้รับอิทธิพลจากปรัชญาการศึกษาแบบสารัตถะนิยม เนื่องจากกลุ่มสำนักนี้มีแนวคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยมเชิงเผด็จการ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะวิธีคิดของอาจารย์มุ่งเน้นการสอบในเชิงสาระพื้นฐานเพื่อจะได้นำความรู้ไปต่อยอดในอนาคต ดังนั้นคนที่จะเป็นเลิศในสายตาของปรัชญาการศึกษากลุ่มนี้คือ ต้องเก่งรอบด้าน รอบรู้ทุกด้าน เน้นการเรียนที่เข้มข้น มีพื้นฐานหลากหลายวิชา เพื่อไว้ใช้เป็นพื้นฐานต่อยอดในภายภาคหน้า สำนักสารัตถะนั้นจึงส่งเสริมให้มีการเรียนแบบสหวิทยาการ ยิ่งมากยิ่งดี จะได้เก่งและรอบรู้ เน้นการใช้ทักษะที่หลากหลายเพื่อฝึกฝนตนเอง ผมคิดว่าอันนี้ตรงกับวิธีคิดของผู้อำนวยการสทศ. ซึ่งผมก็นั่งฟังอาจารย์พูดหลายรอบเกี่ยวกับการวัดผลในข้อสอบที่สทศ.เป็นผู้จัดทำ
แต่ในฐานะที่ผู้เขียนไม่เชื่อว่าปรัชญาสารัตถะจะดีพร้อมสมบูรณ์แบบในเชิงอุดมคติดังที่ได้วาดภาพไว้สวยหรู ซึ่งผู้เขียนจะขอสะท้อนปัญหาทางปรัชญาในกลุ่มสำนักคู่ตรงข้ามนั่นก็คือ ปฏิบัตินิยม (Pragmatics) และอัตถิภาวะนิยม (Existence) จากปัญหาที่เกิดจากการทำข้อสอบของเด็กและได้มาระบายความรู้สึกผ่านรายการข่าว ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์และน่าสนใจเพราะได้สะท้อนถึงโลกทัศน์และมุมมองหลังจากที่ได้ทำการสอบเสร็จสิ้นไปแล้ว่ารู้สึกอย่างไรกับข้อสอบและคำตอบที่เป็นตัวเลือก แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งหมดแต่ก็เป็นความคิดที่หลายๆคนก็น่าจะรู้สึกเช่นเดียวกัน ข้อสอบ O-NET ในรายวิชาสุขศึกษา ซึ่งนำมาถกเถียงกันผ่านเวบไซต์ออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความรู้สึกผ่านกระทู้ในหลายๆที่ ก็เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สำหรับการทำความเข้าใจปัญหาในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนสังคมวิทยา ที่สนใจต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ข้อสอบเรื่องการเลือกตัดสินใจของนิด ว่าจะทำแท้ง แจ้งความ หยุดเรียน หรืออื่นใด ก็แล้วแต่ ผมคิดว่า เรากำลังจะวัดอะไร เช่น เราจะเดาใจนิด หรือเราจะตอบตามใจตัวเอง หรือ เราจะเดาใจผู้ออกข้อสอบ ว่าจะเลือกิธีการไหน เพราะผมคิดว่าข้อนี้เราตัดสินแทนนิดไม่ได้เลย เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ เช่นเป็นไปได้ว่านิดอาจจะเลือกทำแท้ง ก็ได้ ถ้านิดมาจากครอบครัวที่พ่อแม่คาดหวังกับลูกค่อนข้างสูง แล้วนิดก็เรียนดีแต่พลาด และมีเพื่อนมาชักชวน ถามว่าผิดหรือไม่ ผมคิดว่า การเลือกคำตอบที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องถูกต้องทางศีลธรรม เพราะว่า ปรสบการณ์ในการตัดสินใจของแต่ละบุคคลต่างกันอันเนื่องมาจากการหล่อหลอม การเลี้ยงดู การขัดเกลา ผ่านสถาบันต่างๆ มนุษย์จึงมีเหตุผลที่ต่างกัน ตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ยิ่งถ้าเป็นนักมานุษยวิทยามาศึกษาเรื่องนิดยิ่งตัดสินว่านิดควรทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมไม่ได้เลย เนื่องจากเรายังไม่ทราบบริบทนิดเลย หรือแม่ทราบเราก็แค่ เข้าใจมากกว่าตัดสิน หรือถ้าเราจะเสนอต่อนิดนั้นก็เป็นมุมมองของเราที่ไม่ใช่ตัวนิด เพราะว่านิดไม่ได้ถูกขัดเกลามาแบบเราจึงไม่จำเป็นจะต้องเชื่อหรือคิดตามเรา ผู้เขียนเชื่อว่านี่แหละคือปัญหาทางปรัชญาว่า ข้อสอบที่ถามในเชิงอัตวิสัยนั้น ตัดสินจากมุมมองของใคร มีข้อมูลในการประเมินเพียงพอหรือไม่ หรือเพียงแค่ตีตรา หรือตอบตามจารีตประเพณีทางสังคม ดังนั้นคำตอบจึงเป็นไปได้ทุกทาง เพราะความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์นั้นไม่จำเป็นต้องถูกต้องดีงามก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกหนทางในวิถีของตนตามที่ได้รับการเรียนรู้มา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าถ้าเป็นข้อสอบลักษณะนี้ไม่ควรทำเป็นปรวิสัยหรือการเลือกตอบข้อที่ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่า “ดีที่สุด” นั้นอยู่ในมุมของใคร หรือควรจะถามไปเลยว่ามุมของใคร เช่นมุมของจารีตประเพณีทางสังคม นิด หรือว่า สทศ. เด็กจะได้ไม่สับสนและเลือกคำตอบได้ง่ายขึ้น เพราะก็ไม่แน่ใจว่ากำลังจะเลือกให้ใครถูกใจ คำถามในลักษณะนี้ควรเป็นอัตนัยมากกว่าเพราะข้อสอบเป็นอัตวิสัยมาก อันนี้จะอรรถฐาธิบายและวัดการคิดเชิงวิเคราะห์ได้ดีและลุ่มลึกกว่า และผมเห็นว่าข้ออื่นๆที่มีลักษณะคล้ายข้อดังกล่าวก็คงเช่นเดียวกันคือควรเป็นข้อสอบเขียนมากกว่าเลือกตอบคำตอบที่ดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว
ในปัญหาทางปรัชญาอีกด้านก็คือ การนำแนวคิดและอุดมการณ์ทางปรัชญาการศึกษาแบบสารัตถะนิยมมาใช้อย่างไม่ลืมหูลืมตามนั้นดีจริงหรือ? เพราะผมเชื่อว่ามันคือมายาคติ (Mythology) และมีลักษณะเหมือนภาพตัวแทน (Representation) ที่มุ่งเน้นสัมฤทธิผลจากการเรียนการสอบตั้งมากมาย ว่าเด็กที่เก่งจะต้องมีทักษะและสนใจรอบด้าน ท้ายที่สุดแล้วเด็กยังไม่รู้เลยว่าตนเองสนใจอะไร หรือมีศักยภาพในตัวเองด้านใด เพียงแต่ถูกตีกรอบว่า “จะต้องสอบอันโน้น” ชี้นำว่า “จะต้องเรียนให้เก่งรอบด้าน” หากกระบวนการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ยังใช้ระบบแอดมิดชันส์ภายใต้อำนาจทางความรู้แบบสารัตถะนิยม ผมเชื่อว่า คนที่เก่งด้านใดด้านหนึ่งก็คงจะมีพื้นที่ยืนน้อย เช่นเด็กที่มีทักษะด้านกิจกรรม การเข้าใจตนเองและผู้อื่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา หรืออื่นๆ ก็คงไม่ผ่านระบบการคัดเลือก ที่มีกระบวนการได้มาอย่างเข้มข้นเอาเป็นเอาตายหรือที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า “ใครโง่คัดออก” ผมว่านี่แหละครับคือจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยที่ชอบคิดอะไรเพียงด้านเดียวและก็เหมารวมว่ามันดีจนไม่ตั้งคำถามอะไรเลย เช่น ผมเชื่อว่าเขาเก่ง ซึ่งคนเก่งล้วนแต่เป็นคนดี ดังนั้นก้องเป็นคนเก่งก้องจึงเป็นคนดีด้วย ตัวอย่างที่ยกมานี้คือวิธีคิดคนไทย(เพียงส่วนหนึ่ง) เพื่อให้เห็นว่าการที่สรุปอะไรง่ายๆโดยที่ไม่ได้ตรึกตรองอย่างรอบคอบมักเกิดผลเสียตามมาภายหลัง ให้ผมพูดถึงข้อเสียของระบบแอดมิชชันส์ ใช้เวลาหนึ่งวันนี่ผมยังอรรถฐานธิบายไม่จบเลย แต่แปลกไม่เห็นมีใครฟังผมซักนิดเดียว ผมคงจะไม่ดัง ไม่ได้มีตำแหน่งทางวิชาการ หรือว่าไม่น่าเชื่อถือ และอีกเหตุผลอื่นๆอีกนานับประการ
ผมคิดว่าข้อสอบ O-NET เป็นตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวทั้งกระบวนการของระบบการศึกษาไทย ที่หลักสูตรการสอนมักมุ่งเน้นเพียงวัดสติปัญญาเพียงด้านเดียว? หรือไม่ก็มีความลักลั่นเกิดขึ้น คือ การสอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์ เลยทำให้เด็กวิเคราะห์ไม่เป็นหรือวิเคราะห์ไม่ถูกจุด ตามการวัดผลผ่านระบบการสอบ O-NET หรือเด็กวิเคราะห์เป็นแต่ไม่ตรงตามผู้วัดผลเพราะเห็นว่าความคิดของเด็กผิดแผกไปจากมุมมองผู้ทดสอบ ดังนั้นเหตผลที่เขาเลือกจึงผิด อันนี้สะท้อนภาพชัดเจนว่า ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้ทดสอบและผู้สอบนั้น ถูกตัดสินความถูกต้องตามที่ผู้ออกได้ตีกรอบไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นข้อสอบที่สทศ.ออกแม้ว่าจะถามในเชิงอัตวิสัย แต่จะต้องตอบแบบวัตถุวิสัยเท่านั้น เพราะว่าเราไม่ต้องการความคิดเห็นจากประสบการณ์หรือความคิดของคุณ แต่เราต้องการให้คุณคิดตรงกับที่เราคิด อันนี้คือความสัมพันธ์ที่มีความเป็นเผด็จการอยู่ นั่นก็คือ ระบบการศึกษาที่พร่ำสอนในเรื่องประชาธิปไตย กลับปลูกฝังให้ยอมรับอำนาจแบบชี้นำโดยดุษฎี ในส่วนนี้จึงลดทอนคุณค่าของเหตุผล
(De Rationalization ) ลดทอนความเท่าเทียมและคุณค่าความเป็นมนุษย์เพียงเพราะประสบการณ์ของผู้ใหญ่ย่อมดีกว่าของเด็กอยู่วันยังค่ำ

บทสรุป
ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหามุมมองที่แตกต่างกันในประเด็น O-NET ระหว่างผู้ออกข้อสอบอย่าง สทศ. และ นักเรียนผู้สอบ คงจะหาจุดที่บรรจบกันยาก ด้วยเหตุผลที่ตั้งอยู่ในพื้นฐานทางความคิดคนแบบ ประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายที่ต่างกัน ทำให้มองจากความต้องการของแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกัน คะแนน O-NET มีผลต่อการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งต่างก็มีความมุ่งหวังที่จะทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี แต่ทว่าพวกเขาพบเจอกับข้อสอบที่อยู่เหนือความคาดหมายและก็ไม่มั่นใจว่าจะทำถูกใจผู้ออกข้อสอบหรือไม่ ในขณะที่สทศ.ก็มุ่งมั่นที่จะแก้ไขระบบการศึกษาทั้งระบบโดยใช้วิธีการนำ O-NET มาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้เด็กได้ผ่านการทดสอบที่มีความซับซ้อน และเฟ้นหานักเรียนที่มีคุณสมบัติดีตามการทดสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้อาจจะต้องผ่านการสอบที่มีจำนวนวิชามากที่สุดในประวัติศาสตร์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทย มีทั้ง O-NET GAT PAT ตรงนี้ผมว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดตรงที่ การสอบดังกล่าวนั้น ไม่เคยลดการเรียนกวดวิชาของนักเรียนได้เลย ยิ่งกลับกลายเป็นโรงเรียนกวดวิชาก็ปรับตัวจากที่เคยติวกันแต่วิชาหลัก ก็มาติวทุกวิชาที่ สทศ.จัดสอบ นี่ก็เป็นการจัดสอบที่มากมายเหล่านี้และเอื้อประโยชน์ให้กับโรงเรียนกวดวิชาหลากหลายสถาบัน ผมคิดว่านักการศึกษาไทยนี่มีปัญหาในเรื่องการมองสังคม และมักใช้วิธีการแก้ปัญหาเชิงสหสัมพันธ์แบบปฏิฐานนิยม เช่นถ้าทำอีกสิ่งหนึ่งก็จะทำให้มีผลกับอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ถ้ามีการสอบ O-NET รวมกับการใช้ GPAX และอื่นๆ จะทำให้การกวดวิชาลดลงและเด็กหันมาสนใจเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าบางทีมันอาจจะไม่มีสหสัมพันธ์กันเลยก็ได้ เพราะจากข้อมูลเชิงประจักษ์ก็พบว่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีคอร์สการกวดวิชาใหม่ๆเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนมาก อันนี้คือการปรับตัวของโรงเรียนกวดวิชา ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ในมุมมองกลับกันการสอบ O-NET GAT และ PAT นั้นอาจกลายเป็นความหวังดีแต่มีผลร้ายต่อเด็กก็ได้ ผมคิดว่าเด็กเครียดมากขึ้นต่อความไม่แน่นอนที่พวกเขาไม่สามารถคาดเดาหรือตระเตรียมก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนรูปแบบบ่อยๆก็มีผลต่อ ผู้สอบ ซึ่งต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมนำมาซึ่งความตึงเครียด การต่อสู้ การรักษาผลประโยชน์ และอื่นๆอีกมากมาย ผมจึงไม่อยากให้ระบบแอดมิชชันส์เป็นทางเลือกเดียวในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ดังที่หลายๆฝ่ายพยายามกระทำอยู่เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบหลายๆที่ ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นการตัดวงจรของคนบางกลุ่มออกไป ให้ออกไปจากสิทธิ ที่พวกเขาพึงจะได้รับทางเลือกให้เหมาะสมกับพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดีกว่าไม่มีสิทธิที่จะได้เลือกอะไรเลยอันเนื่องมาจากมุมมองเชิงสิทธิอำนาจจากผู้กำหนดนโยบายที่ผูดขาดวิธีคิดแบบคับแคบ โดยที่ไม่ยอมรับความเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านเสียงสะท้อนจากเด็กอีกหลายๆคน



Create Date : 18 มีนาคม 2553
Last Update : 18 มีนาคม 2553 11:08:02 น. 0 comments
Counter : 395 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ส่องสร้างสังคม
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ขอโม้ ขอเม้าท์ ขอฝอย เรื่อง เซ็กส์ เพศวิถี การเมือง การศึกษา สังคม วัฒนธรรม วิวาทะภาคนโนสาเร่
[Add ส่องสร้างสังคม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com