A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Ranma 1/2 รันม่าไอ้หนุ่มกังฟู





รันม่า ½ ( Ranma ½) หรือที่ญี่ปุ่น อ่านว่า Ranma Nibun-no-Ichi
สำหรับคนรุ่นผู้เขียน ถือว่าเป็นมังงะฉบับตำนาน และในหมู่เพื่อนฝูง
ก็เรียกขานในหลากหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น รันม่าไอ้หนุ่มกังฟู รันม่าฮาร์ฟ รันม่าครึ่ง
อ่านกันมาตั้งแต่สมัยที่สนพ.วิบูลย์กิจยังจัดพิมพ์เป็นตอนๆ ตอนหลังเห็นว่าลิขสิทธิ์
มาตกในฝั่งของสยามอินเตอร์คอมมิกบุ๊ค ความยาว ๓๘ เล่มจบ (โดยก่อนหน้าเคย
มีเรื่องการขอโยกสิทธิ์ โดยที่สนพ.โซกะกุคังที่ถือลิขสิทธิ์ทางญี่ปุ่นไม่พอใจที่
สนพ.ของไทยเจ้าหนึ่งไม่ยอมพิมพ์ตามที่ตัวเองถือสิทธิ์อนุญาตไว้) ส่วนฉบับอนิเมะ
ทางช่องเก้า อสมท. ก็เคยนำมาฉายยาวข้ามปีกันเลยทีเดียว ทำให้ชื่อเสียงของคนวาด
"ทากาฮาชิ รูมิโกะ" ซึ่งเดิมทีก็โด่งดังพอสมควรแล้ว จากลามู ทรามวัยจากต่างดาว
อิกโกคุบ้านพักหรรษา แม้แต่เทพอสูรจิ้งจอกเงิน ผลงานชิ้นหลังก็ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างดี






จนกระทั่ง ทางค่ายเอ็นทีวีมีแผนจะนำรันม่าครึ่ง (ขอใช้ชื่อนี้เพราะคล่องปากเป็นที่สุด)
มาลงเป็นซีรีย์คนเล่นจริงฉายทางทีวี ผู้เขียนว่าแฟนรันม่าครึ่งคนไหนได้ฟังเป็นต้องกลัว
เพราะเอาของระดับ "ขึ้นหิ้ง" ลงมาห้อยสักขนาดนี้ แต่ดีว่าเอ็นทีวียังถนอมน้ำใจแฟนรันฯ
เลยจัดสมนาคุณเป็นน้ำจิ้ม ในรูปแบบมูฟวี่ซีรีย์ตอนพิเศษ (tanpatsu) ความยาวสองชั่วโมง
โดยคัดเอาเฉพาะจุดต้นกำเนิด มาเสริมกับตัวละครตอนจบบางตัว มาผสมกัน
ซึ่งอย่างนี้ก็เท่ากับว่า ปิดประตู (เกือบ) ตายของโอกาสการสร้างภาคต่อ
ให้แฟนรันฯ ที่ไม่อาจทำใจต่อไปได้ พอให้รู้สึกว่ามันเป็นเพียงปรากฎการณ์แค่ลมพัดผ่าน






แต่กระนั้น......... สิ่งสะกดให้ผู้เขียนต้องสับปลับ แม้แสดงทีท่าไม่ยินยอมแต่แรก
เพราะดาราที่มารับบทเป็น เทนโด อากาเนะ ที่เป็นนางเอกของเรื่องก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
เพราะได้นางเอกยิ้มหวาน "อารากางิ ยูอิ"
อีกทั้งไม่ได้มาในลุกส์ธรรมดาที่เห็นจนชาชิน เพราะน้องเธอลงทุนเฉือนผมสั้น
ให้ดูแปลกตาตามลักษณะของตัวละคร ไม่อยากบอกเลยว่าคุณผู้เขียน
ที่ทำตัวเป็นรังแคบนเส้นผม ไล่เกาะผมยาวทรงงามของคุณน้องกันมาตั้งแต่
ยังเป็นตัวประกอบในซีรีย์ Dragon Zakura เมื่อสักห้า-หกปีกอ่น
จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คิดว่า คุ้มค่าที่จะทนดู





สำนักฝึกประลองยุทธเทนโดะ มีชื่อในเรื่องของการ "ฝึกไล่"
เพราะผู้สมัครแต่ละคน จะได้รับการเคี่ยวเข็นทางฝีมือจาก "เทนโด อากาเนะ"
(แสดงโดย อารากางิ ยูอิ จาก Code BlueและMy Boss My Hero)
บุตรสาวคนสุดท้องของเจ้าสำนักงานวิชา เทนโด โซอุน (แสดงโดย นามาเสะ คาสึฮิสะ
จาก4 Shimai Tantei Dan และGokusen) ที่สูญเสียภรรยาและต้องดูแลลูกสาวทั้งสาม
ซึ่งลูกสาวแต่ละคน ต่างก็มีนิสัยแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เทนโด คาซึมิ พี่สาวคนโต
(แสดงโดย ฮาเสกาวะ เคียวโกะ จากDragon Zakura และBoss2)
มีความเป็นแม่บ้านแม่เรือนอย่างสูง นิสัยเรียบๆเฉยๆ บางทีก็เฉยเสียจนจะเป็นแม่พระเลยก็มี
เทนโด นาบิกิ ลูกสาวคนรอง (แสดงโดยนาชิยามา มากิ จากTsuki no KoibitoและRebound)
ทำงานเป็นสาวในบาร์ นิสัยแสนเล่ห์ มักกุเรือ่งโกหกจนเกินความโกลาหลอยู่เรือ่ย
ชอบคิดเห็นแต่ที่จะยุให้พ่อขายสำนักโรงฝึกนี้ทิ้ง
โดยมีเทนโด อากาเนะ คนเดียวเท่านั้นที่จรรโลงสืบทอดวิชาและพยายามที่จะรักษา
โรงฝึกนี้เอาไว้ โรงฝึกที่นอกจากจะเป็นทุกอย่างของตระกูล ในอีกทางก็เป็นการ
รักษาสมบัติที่แม่กับพ่อเคยร่วมสร้างกันเอาไว้ จนทำให้่เธอเป็นสาวแกร่งไปโดยไม่รู้ตัว





แต่ลึกๆในใจแล้ว อากาเนะก็เป็นเหมือนเด็กสาวมัธยมทั่วไป
เธอแอบชอบอาจารย์ห้องพยาบาล โอโนะ โตฟุ (แสดงโดยทานิฮารา ชุสุเกะ จาก
Love Shuffle และTriangle) ที่เริงร่าและอารมณ์ดีขี้เล่นตลอดเวลา
สุดท้ายอากาเนะก็ได้แต่เก็บความรู้สึกนี้เอาไว้ เพราะรู้ดีว่าอาจารย์โตฟุ
กับพี่สาวคนโตของเธอ กำลังแอบคบหากันอยู่ ดังนั้นในฐานะน้องสาว
จึงต้องแสร้งเป็นไม่รู้ไม่เห็นแม้จะตำตาอยู่ทุกวัน จึงพยายามแข่งไว้ผมยาวกับพี่สาว
ก็ด้วยหลงเชื่อไปว่าครูหมอโตฟุชอบผู้หญิงตรงผมที่ยาว จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง
ตัวพ่อของอาคาเนะก็เปรยถึงเพื่อนพ่อที่มาจากเมืองจีน ซึ่งจะมาแวะพักที่ญี่ปุ่น




That's when parents decide on who you'll marry.

(ครอบครัวทั้งสองฝ่ายตัดสินใจให้เธอจะได้แต่งงานแล้วละ)

Wait a Second.l never heard anything about this!

(เดี่ยวก่อนสิ หนูไม่เคยได้ยินอะไรเรื่องนี้มาก่อน)

Congratulation,On your wedding.

(ยินดีกับลูกด้วย ลูกจะได้แต่งงานแย้ว)







ซาโอโตเมะ รันม่า (คาคุ เคนโด้ จากQ10และTaiyo to Umi no Kyoshitsu)
บุตรชายเพียงคนเดียวของซาโอโตเมะ เก็นมา เพื่อนรักเพื่อนแค้นของพ่ออาคาเนะ
ที่เคยพลั้งปากไปให้คำสัญญาระหว่างพวกผู้ใหญ่ โดยที่บุตรชายและบุตรสาวทั้งสองฝ่าย
ยังแบเบาะอยู่ ว่าจะให้ทั้งคู่ได้แต่งงานกันยามที่ทั้งสองฝ่ายโตขึ้น
เลยทำให้อากาเนะปี๊ดแตก เพราะเธอไม่อยากจะเชื่อเลยว่า
การคลุมถุงชนยังมีอยู่ถึง พ.ศ.นี้ ขณะที่ในโรงเรียนเธอต้องเทียวหลีกเทียวหนี
ทาเทวากิ คุโน (แสดงโดยนิชิยามา เคนโดะ จากPuzzle และSummer Romanceฯ)
ลูกชายมหาเศรษฐีแห่งชมรมเคนโด้ ที่หลงตัวเองและพยายามตามตื้ออาคาเนะเพื่อเดทนัดแรก
จึงเพิ่มสภาวะหนีเสื้อปะจระเข้ให้กับอาคาเนะหนักหนาในชีวิตประจำวันยิ่งขึ้น
ทั้งจากหนุ่มที่ถูกคลุมถุงชนอิมพอร์ตจากเมืองจีนผู้ตกยากกับหนุ่มเศรษฐีขี้หลีจนน่ารำคาญ
อันนำมา ซึ่งความวุ่นวายอลหม่านจากฉบับการ์ตูนมาสู่จอทีวี






ตอนที่อาคาเนะ พบกับรันม่าคู่หมั้นในอนาคตของเธอครั้งแรก
เธอเหมือนจะโล่งใจ เพราะรันม่าคนที่เธอพบกลับเป็นหญิงสาวตาโต-ผมสั้น
เลยเข้าใจว่า การที่พ่อของเธอคงหลงๆลืมๆ เนื่องจากขาดการติดต่อเป็นเวลานาน
แต่สถานการณ์กลับตาลปัตร เพราะคำสาปจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในประเทศจีน
ที่พ่อลูกตระกูลซาโอโตเมะพลัดตกตอนที่ศึกวิชามวยจีน ทำให้เวลาที่ถูกน้ำก็
จะกลายร่างเป็นอีกร่างหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างที่เคยตกไปก่อนหน้า ว่าจะเป็นร่างไหน
ส่วนการจะกลับคืนร่างเดิมได้ ก็ต้องเมื่อร่างได้ต้องกับปฏิกิริยากับน้ำร้อน
ดังนั้น การที่ครอบครัวรันม่ากุลีกุจอจะกลับมาที่ญี่ปุ่น ก็เพื่อค้นหา "น้ำศักดิ์สิทธิ์แก้คำสาป"
ซึ่งมีปรากฎการณ์อยู่บนลายแทงคร่ำครึกประจำบ้านของอาคาเนะ




In China,it's the most dangerous training water ground.

(ในประเทศจีน มีสถานฝึกวรยุทธทางน้ำที่ระดับเขี้ยวที่สุดแห่งหนึ่ง)

There is a legend that any one who fall into the springs gets cursed.

(มันเคยมีตำนานว่า หากใครเผลอกระโดดตกลงไปต้องกับคำสาป)

Anyone who falls into Jusenkyo waters will turn into who over
was the first to drown in it.

(หากใครสักคนตกลงไปในจูเซนเคียวเข้า ก็จะกลายเป็นใครสักคนที่เคยตกไปก่อนหน้านั้น)







สำหรับรันม่าชาย เมื่อถูกน้ำเปลี่ยนสภาพ ก็จะกลายร่างเป็น "หญิง"
ที่น่าตาดูน่ารัก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาคาเนะ แถมทรวดทรงองค์เอวก็อึมอกอึมใจ
มักจะเอาไซด์ เข้าข่มอาคาเนะอยู่เป็นประจำ (แสดงโดยน้องนาสึนะ จาก Mop Girl
และGantz ภาคแรก) และดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบของเศรษฐีคุโดด้วย
ผิดกับพ่อของรันม่า "เกนโซ" ที่หากถูกต้องกับน้ำก็แปรเปลี่ยนสภาพ
เป็นสิ่งที่น่ารักที่สาวๆชอบเช่นกัน (โดยพี่สาวคนรองนาบิกิจะกรี๊ดมากที่สุด)
แต่ไม่ใช่ หนุ่มหน้าหล่อตี๋ที่ไหนหรอก ทว่าเกนโซเขากลายเป็น..... หมีแพนด้าเพศผู้
ไซด์กลมป๊อกไปสักงั้น และด้วยข้อจำกัดทางการสื่อสารจึงต้องใช้ป้ายคำพูดเพื่อสื่อความในใจ





ซีรีย์จึงเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ระหว่าง
ว่าที่คู่หมั้นอาคาเนะผู้ไม่เต็มใจกับรันม่าผู้ไม่ประสีประสาเรือ่งการทำดีกับผู้หญิง
เลยเป็นเรื่องชลมุนชลเก เทียวมาเทียวไป ทั้งอารมณ์ที่ไม่แน่นอนของอากาเนะ
จากเรือ่งประจำวันในโรงเรียน ที่มีเรือ่งให้ชวนปวดหัวอยู่ตลอดเวลา
ประกอบกับการตั้งรับสลับไปมาของตัวรันม่าเอง ทีสักพักก็เปลี่ยนเป็นชาย
พอแตะโดนน้ำเข้าก็กลายเป็นหญิง ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
ทว่า เมื่อทั้งสองถูกต้องปรองประสงค์ร้ายของผู้อำนวยการโรงเรียน โอกามาดะ
(แสดงโดย ทายามะ เรียวไซ จากGokusenและDetective Conan 2
ที่หน้าฉากจะทำตัวเป็นผู้บริหารโรงเรียนมัธยมจอมบงการ แต่หลังฉากเป็นหัวหน้าจัดตั้ง
ขบวนการก่อการร้ายชาวเกย์ ที่หวังจะครอบครองบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ซ่อนอยู่ในโรงเรียน
เพื่อเปลี่ยนให้มนุษย์ในโลกนี้ทั้งหมดให้เป็นผู้ชาย ทำให้อาคาเนะกับรันม่า
จากที่ไม่ชอบหน้าตั้งแต่แรกเห็น กลายเป็นความร่วมมือกันสู่การเห็นอกเห็นใจ
ปรับสารทุกข์สุกดิบ และถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างตระกูลในที่สุด





พยายามตามสืบตามสอบเหลือเกินว่า ทางเอ็นทีวีเกิดคึกอารมณ์ไหน
ถึงได้มีโครงการเฉลิมฉลองกี่ร้อยกี่สิบของการ์ตูนรันม่ารึไม่? ก็ปรากฎว่าไม่!
ถึงได้แปรรูปการ์ตูนสุดอมตะเรื่องนี้เพื่อให้มนุษย์มนาเล่น ยังให้มาจบเพียงตอนเดียว
เข้าข่ายทำไปเพื่อฆ่าเวลาชัดๆเลย แถมยังไปเจียดเวลาของป้า "อิซุมิ โยชิฮิโร"
เพราะรู้กันอยู่ว่า ปีที่แล้วป้าแกต้องเข็นพละกำลังกันสุดฤทธิ์เพื่อให้ซีรีย์ฟอร์มยักษ์
Nankyoku Tairiku จากค่ายทีบีเอสให้เป็นที่ติดตรึงตาของผู้ชมคนดู
แม้จะพอรู้กันอยู่ว่าป้าอิซุมิ เธอเป็นมือหนึ่งในการดัดแปลงมาสู่ไดอาล็อกซีรีย์
ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนRookies วรรณกรรมคลาสสิกSailor Fuku to Kikanju
ไปจนถึงหนังขึ้นหิ้งNankyoku Tairiku เธอก็ดัดแปลงให้เสียใจได้หมด
เพียงแต่ไม่เข้าใจว่า ถ้าจะเอาการ์ตูนรันม่าครึ่งมาทำทั้งที มันก็น่าที่จะเล่น
ให้ครบตอนตามมาตราฐานเวลาของซีรีย์ปกติ เพราะอย่าลืมว่า
ทรัพยากรความยาวในเนือ้เรือ่งรันม่าครึ่งนั้นมีอย่างเอนกอนันต์ เอาแค่เฉพาะมังงะ
วาดมาเป็นสิบปีในโชเนนซันเดย์ รวมได้สามสิบแปดเล่มจบ ในส่วนของอนิเมะทีวี
ก็แบ่งออกเป็นเจ็ดภาค ร้อยหกสิบเอ็ดตอน นี้ยังไม่รวมฉบับภาพยนตร์การ์ตูนฉายทางทีวี
อีกหลายสิบตอนพิเศษอีก การที่ซีรีย์เลือกเล่าเฉพาะแต่จุดกำเนิดของเรือ่ง
จึงเป็นเหตุให้ ซีรีย์เดินทางไปไม่ถึงตัวละครหรรษาอีกมาก เอาเฉพาะตัวสำคัญๆ
ก็มีหมูดำพีจังเรียวกะจอมหลงทาง แมวง่าวจัมปู มูสิจอมซุ่มซาม อุเคียวแห่งร้านโอโคโนมิยากิ
เฒ่าลามกฮัปโปไซ เป็นต้น ที่ถ้าเกิดหยิบยกเข้ามาใส่เมื่อไร เป็นต้องสนุกสนานฮาเคร้ง
เพราะตัวละครที่ว่ามาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่สุดขั้วชิงไหวชิงพริบเพราะต่างก็อยากได้
อาคาเนะหรือไม่ก็รันม่าตามแต่จะคลั่งไคล้ มาเป็นสมบัติส่วนตัวกันหรือไม่ก็ความแค้น
จากภูมิหลังครั้งเก่าก่อน





แม้จะเป็นงานที่ดูไม่อิ่ม และโปรดักชั่นประหนึ่งนิทรรศการงานวันเด็ก
ไม่สมกับความเป็น special live-action drama ที่ได้รับจากจับตามองในสัปดาห์เลย
(ในคอมเมนต์ของtokyohiveมีท่านหนึ่งประชดแรงถึงขั้นเป็นงาน200-yen budget)
แต่ในเรื่องของการคัดเลือกบรรดานักแสดง ผู้เขียนว่าเขาก็แปลงโฉมกันได้เก่ง
มีความใกล้เคียงกับตัวละครในฉบับการ์ตูนอยู่พอสมควร ชนิดไม่ต้องแนะนำ
ชื่อตัวละครมาแปะยี่ห้อก็ยังได้ ไม่ว่าจะเป็น ปะป๋าโซอุน ป๋าเกนโซ
พี่สาวนาบิกิ ครูหมอโตฟุ และเคนโด้ขี้ตือคุโนะ
แต่จะหนักใจก็ตรงที่นักแสดงนำแทนนี้สิ ที่ดูจะไม่ค่อยเข้ากับคาแรกเตอร์สักเท่าไร
เพราะอย่างตัวละครอาคาเนะ เป็นประเภทฮ้าวนอก-แต่หวานใน
พอมาเจอะกับน้องหนูยูอิที่หวานมาเสียตั้งแต่ข้างนอก ก็เลยรู้สึกขัดตั้งแต่แรกรู้
ถ้าได้ดาราอย่างซาโตมิ อิชิฮารา โฮริมากิ มากิหรืออิชิกาวา ยูอิ อาจจะพอเข้าเค้า
ด้วยคุณสมบัติและหุ่นตันนิดๆ แต่การลงทุนตัดผมสลวยยาวตามบทละคร
ก็เลยพอให้อภัยและได้ใจไปเต็มๆ ตอนให้สัมภาษณ์เธอก็บอกว่าไม่ได้ตัดสั้นมาตั้งแต่มัธยมต้นโน้น
(จนแทบอยากจะมีหัวใจสักสองดวง แล้วไปลดพื้นที่ปอดลงครึ่งหนึ่ง)
ผิดกับเจ้าตัวรันม่าชายที่ง่ายเข้าว่า เพียงแต่หาเปียปลอมมาตอ่ผมเป็นหางม้า
เลยทำให้น้องเคนโด้ของเราไม่ต้องไปอะไรมาก เพียงแค่ฝึกลับฝีปาก
เพื่อปะทะคารมกับที่ว่าคู่หมั้นอาคาเนะคู่หมั้น ซึ่งก็บอกตามตรงว่า
ฟิวส์ที่ได้รับจากฉบับการ์ตูนกับฟิวส์ที่ได้รับจากฉบับซีรีย์ มันออกรสได้ไปคนละทาง
ก็น่าแปลกใจอยู่ ทั้งๆที่แทบจะลอกพล็อกกันมาในทุกระเบียบนิ้ว





รันม่าครึ่งฉบับซีรีย์ จึงจัดเข้าข่ายดูไปเพื่อตื่นรู้ ไม่ดูก็ไม่น่าเสียดายเท่าไร
กระนั้น ความน่าดูจะเหลือเพียงแค่สว่นเดียวสำหรับผู้เขียน
คือ อย่างน้อยๆ เขาก็มาถูกโฉลกในทางเดียวกับผู้เขียน ที่จับพล็อกยกให้ตัว
"อาคาเนะ" เป็นตัวเด่นสุดของเรือ่ง ซึ่งเท่ากับกะมาขายหนูยูอิเป็นสรณะ
แต่ถ้าเกิดคนดู ดันไปมีสถานะเป็นแฟนรุ่นเดอะของรันม่าเข้า
อันนี้คงต้องหายใจลึกๆ และอ่านระเบียบเงือ่นไขถึงข้อจำกัดและแนวทาง
ที่ทางสถานีชอบแตะของบนหิ้ง แล้วพยายามทำจนถึงที่สุด (ซึ่งที่ดีจนคนพูดถึงกัน
ก็มีบ้าง อย่าง H2,Rookies,Jin,Dr.Koto และในส่วนระดับที่นึกบ่นในใจว่า
ไปยุ่งกับมันทำไม? ก็มีไม่น้อย อันนี้ไม่ขอกล่าวถึงเพราะให้ต้นปีนึกแต่เรือ่งดีๆ)
และข้อดีของซีรีย์เรือ่งนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ เรตติ้ง ๗.๙ เป็นเครื่องตอกย้ำว่า
การไม่มีตอนต่อไปให้ได้ลุ้นจนน่าหนักใจแทน น่าจะเป็นอานิสงส์ที่ดีสำหรับการ์ตูนเรือ่งนี้ ........




อ้างอิงข้อมูล

Tokyohive ,Dramawiki and Wikipedia





 

Create Date : 18 มกราคม 2555    
Last Update : 19 มกราคม 2555 21:19:29 น.
Counter : 7886 Pageviews.  

Kaseifu no Mita แม่บ้านลึกลับกับครอบครัวอลเวง


มัตซุชิมะ นานาโกะ ผู้สร้างปรากฎการณ์เก๋าไม่ยอมตาย
เธอได้สร้างปรากฎการณ์ประวัติศาสตร์ทางเรตติ้งตอนอวสานตลอดกาลในปีที่ผ่านมา
โดยพาให้ซีรีย์แห่งค่าย NTV เรื่อง Kaseifu no Mita ดราม่าแฟมิลีซีรีย์
เกี่ยวกับแม่บ้านปริศนา ติดอันดับสามเรตติ้งตอนที่สูงพุ่งพราวตลอดกาล
โดยเฉพาะในสุดท้าย ยอดกระโดดถึง ๔๐% ถือเป็นตัวเลขที่เห็นแล้วน่าตกใจ
ในท่ามกลางกระแสหน้าจอทีวีเป็นสิ่งที่ไม่น่าศรัทธาเหมือนเก่าก่อน
และเอเจนซี่ทั้งหลาย ก็คงนึกไม่ถึงว่าตัวเลขขนาดนี้ เคยมีให้เห็นครั้งสุดท้าย
ก็ต้องย้อนหลังกลับไปน่าจะสักสิบสองปีที่แล้วเห็นจะได้








Kaseifu no Mita เป็นซีรีย์ของค่ายเอ็นทีวี แนวครอบครัวที่กำลังเป็นทีนิยมอย่างมาก
ที่ก่อนหน้านี้ ทางค่ายก็เคยปล่อย Mother ให้เป็นที่ฮือฮาแบบม้ามืด
ทำให้หนูมานะงานชุกซุกซนตามที่ต่างๆ พอมาคราวนี้ถูกทำให้ง่าย
ด้วยเนือ้หาที่แยบยลและมีความเป็นดาร์กแฟนตาซีตลกร้าย ที่ว่าด้วยเรือ่งของ
ครอบครัวอาซาดะที่เพิ่งจะสูญเสียแม่ไป ด้วยการปักใจเชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตายกลางแม่น้ำ
การสูญเสียแม่ จะเป็นเสมือนการสูญเสียเสาหลักของการบริหารงานในบ้าน
ท่ามกลางความไม่พร้อมของการรับสถานการณ์อันไม่คาดฝันของสมาชิกในบ้าน
ขณะที่ทางฝ่ายพ่อเองเดิมทีก็ไม่ได้มีเวลาที่จะมาดูแลลูกๆทั้งสี่คน
ด้วยภาระความเป็นหัวหน้าแผนก จึงมีความห่างเหินกับบรรดาลูกอยู่พอสมควร
เป็นที่มาให้พ่อ ตัดสินว่าจ้างแม่บ้านรายเดือนผ่านบริษัทจัดหาแม่บ้านฮารุมิ
ที่เริ่มปฏิบัติงานเจ็ดโมงตอนเช้า และสิ้นสุดอีกทีในแปดโมงตอนค่ำ
เพื่อมาดูแลกิจการงานภายในบ้านและเหล่าลูกทั้งสี่ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน
ซึ่งหน้่าที่หลักทั่วไป ก็จะเป็นการทำความสะอาด ซักผ้าและเตรียมทำอาหาร
เมื่อดูตามทรงที่ว่านี้ ก็ไม่เห็นว่าจะต่างอะไรจนถึงทำสร้างปรากฎการณ์เรตติ้งสูงปานนั้น
แต่มันไม่เท่านี้นะสิ ......................






สถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามปกติเช่นนั้น
บริษัทที่ว่าจ้างได้จัดส่ง มิตะ อาคาริ แม่บ้านผู้เงียบขรึมและทำตัวไร้วิญญาณ
แต่ทว่า ในเรื่องของงานบ้าน-งานฝีมือเข้าขั้นสมบูรณ์แบบทุกระเบียบนิ้ว
ไม่มีขาดตกบกพร่อง รับปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไม่มีเกี่ยงงอน มาตรงต่อเวลา
ชนิดไม่พลาดเลยสักวินาทีเดียว แต่ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น (ซึ่งควรจะเรียกว่าซ้ำดีมากกว่า)
มิตะดูเหมือนจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเกินมนุษย์ธรรมดาไม่ว่าจะเป็น
การคิดเลขในฐานยากๆ การอธิบายศัพท์แสงวิขาการ โยนบอลสามลูก ศิลปะป้องกันตัว
ตลอดจนการไล่เรียงสมาชิกวงAKB48 ที่ว่ากันว่าเป็นวงหญิงที่สมาชิกมากที่สุดของโลก
ซึ่งสร้างความน่าพิศวงให้กับสมาชิกภายในบ้าน ไปถึงขั้นหลายครั้งสร้างความหวาดกลัว
ให้กับบรรดาเด็กๆ ด้วยพฤติกรรมหน้าฉากอันดำเงียบและไม่เป็นมิตรอย่างเปิดเผย
เห็นได้จาก การยืนเป็นยักษฺ์วัดโพธิ์ขณะที่ครอบครัวอาซ่าดะทานข้าวอย่างเอร็ดอร่อย
เพื่อรอรับคำสั่งจากการขอชามต่อไป อย่างไร้อารมณ์






แต่การได้แม่บ้านคนใหม่ ก็ไม่ได้ทำให้อะไรทุกอย่างมันดูลงตัวนัก
ด้วยปัญหาของการขาดเสาหลักของผู้เป็นแม่ มีผลกึ่งความล่มสลายของครอบครัวอาซาดะกลายๆ
อาซาดะ ยู ผู้เป็นพี่สาวคนโต (โดยคัตสึนะ ชิโอริ Majo SaibanและShokojo Seira)
ก็ยังไม่พร้อมกับการที่จะต้องเป็นพี่เต้ยของพวกน้องๆและกำลังหลงหัวปักหัวป้ำกับรุ่นพี่ชมรมถ่ายภาพ
อาซาดะ คาเกรุ น้องชายคนที่สอง (แสดงโดยนาคากาวะ ไทอิชิ จากGou)
นักกีฬาชมรมบาสเจ้าอารมณ์และมักตัดสินใจอะไรหุนหันพลันแล่น ส่วนคนที่สามเป็นผู้ชายเหมือนกัน
อาซาดะ ไคโตะ (แสดงโดยอายาเบะ ชูโตะ จากShiawase ni Naritai!) เป็นเด็กฉลาดช่างคิด
และใช้เหตุใช้ผลในการตัดสินใจ มักมองโลกในแง่ดีเสมอ และคนสุดท้ายเป็นเด็กผู้หญิง
วัยกำลังรอเข้าชั้นประถม อาซาดะ คิอิ (แสดงโดยฮอนดะ มิยู ) ช่างซักช่างถาม ขี้สงสัย
และมักจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากบรรดาพี่ๆเสมอ แต่อย่างที่บอก
ความที่มีช่องว่างระยะห่างจากผู้เป็นพ่อ อาซาดะ ไคอิชิ (แสดงโดยฮาเซกาวา ฮิโรกิ จากBoss
และ Gyne) ซึ่งยังไม่พร้อมและขาดวุฒิของความเป็นพ่อที่จะต้องมาดูแลลูกๆทั้งสี่
โดยปกติจะปล่อยให้แม่เป็นฝ่ายดูแล อีกทั้งปมปัญหานานาประการ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ยูลูกสาวคนแรกเกิดขึ้นจากความไม่พร้อม
ปัญหาการไม่กินเส้นกับพ่อตาและต้องการโอนสิทธิ์ดูแลหลานๆเป็นของตน
เรือ่งที่พ่อไปมีกิ๊กกับสาวออฟฟิคในที่ทำงานถึงขั้นจะขอแต่งงานและเตรียมแผนที่จะขอหย่า
หนึ่งวันก่อนที่แม่จะเสียชีวิต






ซีรีย์เพิ่มความหม่นชวนให้น่าติดตามยิ่งขึ้น กับภูมิหลังที่ตัวมิตะ อาคาริ
ในฐานะบทแม่บ้านปริศนาและไร้หัวใจ (Mystic and Stoic Housekeeper)
ที่เอ่ยสารภาพยอมรับหน้าตายเลยว่า เป็นผู้ฆาตกรรมสามีและลูกชายของเธอเอง
จากนั้นก็ได้จุดไฟเผาเพือ่วางเพลิงเพื่ออำพรางคดี จนเป็นที่รังเกียจสาปส่งของทางญาติ
ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมการรับคำสั่งโดยให้คำมั่นสัญญา
ที่ใครก็ตามซึ่งเป็นสมาชิกทางบ้านหากใช้ให้ทำอะไรก็ตามที่ยืนยันว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่แม่บ้าน
แม้ว่าคำสั่งนั้น จะใช้ให้ไปฆ่าคน วางเพลิง หรือช่วยอัตนิบากกรรมเจ้าของคำสั่งเองก็ตาม
ยิ่งเป็นการส่งเสริมข้อสันนิษฐานต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สภาวะป่วยทางจิต ผีเข้า
หรือบางที ก็อาจจะเป็นวิญญาณของแม่ที่กลับมาสิงในร่างไร้วิญญาณ เพราะอย่าลืมว่า
อาหารที่แม่บ้านมิตะปรุงให้กินทุกวัน คนในครอบครัวก็ยังยอมรับมีรสชาติคล้ายกับที่ครั้งหนึ่ง
แม่ของพวกเธอเคยได้ทำให้พวกเขารับประทานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน





ถือเป็นการกลับมาลงเวทีซีรีย์ ของ มัตซุชิมะ นานาโกะ
หลังจากห่างหายไปนานสองปี กับซีรีย์เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นซีรีย์ภาคต่อ
ของหมอประจัญบาน Kyumei Byoto 24 ภาคที่ 4 จนทำให้คณะกรรมการTDAA
ยอมรับความสามารถในบทหมอหญิงโคจิมะซังเสียที แม้ก่อนหน้านั้นจะได้รับแต่บท
ที่ส่วนใหญ่ก็ออกไปทางซ้ำซากจำเจจนสื่อมวลชนให้สมญานามเธอว่า "nadeshiko characters"
ในคำหมายที่เสียดนิดๆว่า ตัวละครโทนสีชมพู เธอเลยโชว์บทดาร์ก kuro characters
ซึ่งก็ส่งผลเกินคาด เพราะนับตั้งแต่เข้าวงการซีรีย์ตั้งแต่ปี ๙๒ มีรางวัลจากสถาบันTDAA
รับรองมาแล้วห้าเรือ่ง Kaseifu no Mita น่าจะเป็นเรื่องที่ฉีกความเป็นตัวเธอได้มากที่สุด
และการรอคอย "รอยยิ้ม" ของเธอ ก็ดูเหมือนจะเป็นรอยยิ้มที่มีคนญี่ปุ่นจดจ้องรอจ่องมากมาย
หลายหัว ยอดคนดูในตอนสุดท้ายถึงได้ทะลุชนเพดานเสียเช่นนั้น






What l meant was 49 Days have passed?

(สี่สิบเก้าวันที่พัดผ่าน มันหมายความว่าอย่างไรเหรอ?)

49 Days is as follows,lt said that the spirit of the person
who died remain in this world for 49 days and then depart for
the other world.

(สี่สิบเก้าวันที่พัดผ่าน เขาเล่าว่าถ้าวิญญาณของคนที่ตายจากโลกนี้เลยไปสี่สิบเก้าวัน
ดวงวิญญาณที่ว่าก็จะล่องลอยข้ามภพไปอีกมิติ)

As such,it's a day created for the convenience of those left behind.

(ดังที่เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อให้สะดวกต่อการไปสู่สุขคติไง)





แม้ตัวบรรยากาศซีรีย์แลดูอึมครึม
แต่สถานการณ์แลดูผ่อนคลายลง เพราะได้ตัวละครอย่าง ยูกิ อุราระ
(แสดงโดย ไอบุ ซากิ จากAttention pleaseและAbsolute Boyfriend)
น้องสาวของอดีตภรรยา ที่มาคอยประสานความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นระหว่างไคอิชิกับพ่อตา
คอยช่วยมาดูแลหลานๆทั้งที่ในโรงเรียน(ด้วยเป็นครูวิชาพละ)และในส่วนของงานบ้านงานเรือน
แม้จะหนักไปในทางสร้างปัญหามากกว่าจะมาคอยช่วยบรรเทาปัญหา ส่วนหนึ่งที่เห็นตอแยไม่เลิก
นอกจากความเป็นอาที่รักหลานแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือ การแอบหลงรักพี่เขยไคอิชิ
ซึ่งใครเห็นใครก็รู้ ยกเว้นพี่เขยซื่อบื้อที่บื้อทั้งเรื่องความเป็นพ่อและเรื่องของตัวเอง
ก็ถือเป็นบทถนัดของซากิเขา ที่มักจะได้รับบทเฉิ่มๆเปิ่นๆจนผู้ชมติดตา
จะหัวร่อก็ร่อได้อยู่ แต่จะสงสารก็น่าสงสารจับใจ จัดเป็นตัวละครที่ถ่ายเทน้ำหนักในเรื่อง
ได้ดี แม้เห็นว่าบุคลิกจะชวนหงุดหงิดใจแต่ที่ทำไปก็ด้วยความหวังดีที่อาจจะส่งเสียง "ยี้"
แก่พวกหลานๆนักก็ตาม





ค่ายเอ็นทีวีมาได้มือเขียนซีรีย์แนวสาวใหญ่ใจร้ายและเป็นกบฎต่อขนบธรรมเนียม
"ยุกาวะ ยาสุฮิโระ" นักเขียนรุ่นใหญ่วัยใกล้หลักหกสิบรำมะร่อ
ที่เคยเขียนงานจี๊ดๆให้กับค่ายเฉพาะเอ็นทีวีก็หลายเรื่อง อาทิ Jyoou no Kyoushitsu
Magerarenai Onna,Rebound และ Enka no Joou ส่วนที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีที่สุด
เห็นจะเป็น GTO (Great Teacher Onizuka) ของค่ายฟูจิที่ทางไอทีวีเคยนำมาฉาย
ผู้เขียนไม่รู้หรอกว่า ปมปัญหาชีวิตของแกคืออะไร แต่งานทุกชิ้น
แกจะพยายามสอดแทรกความเป็นหนุ่มมั่น/สาวมั่น ที่ไม่ยี่หระต่อขนบธรรมเนียม
ประเพณีที่ล้าสมัยหรือตามอย่างสังคม น่าจะเป็นนักเขียนบทยุคแรกๆที่ชอบยุชาวบ้าน
ให้คิดนอกกรอบ-ออกจากวิถี โดยไม่สนว่าวิธีการจะเป็นเช่นไรเท่ากับผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจ
ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีจิตใจที่ภักดี ซื่อตรงและบริสุทธิ์ เป็นตัวกำกับไว้อีกชั้นหนึ่ง
สังเกตว่าดาราที่มารับแสดงสว่นใหญ่ก็จะวนเวียนหน้าซ้ำๆ
อย่างนานาโกะก็เคยร่วมงานกันมาแล้วใน Majo no Jouken และ GTO
ส่วนไอบุ ซากินี้ ก็เพิ่งรับบทสาวที่ต้องลดน้ำหนักเพือ่แลกกับการไม่ตกงานจาก Reboundมาหยกๆ





ที่นี้ก็มาถึง ทรรศนะของผู้เขียนบ้างละ ก็ต้องยอมรับว่า
"เรตติ้ง" เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้เขียนต้องใช้คำว่า "เพ่งพินิจ" สำหรับซีรีย์เรื่องนี้แบบตอนต่อตอน
จนแล้วจนรอดสรุปความโดยรวม ก็นึกไม่ถึงว่าซีรีย์มันจะเลิศเลอชนิดเสียดายถ้าไม่ได้ดู
และอุ่นใจในทรรศคติอยู่บ้าง เมื่อคนในJdoramaมีให้เต็มสิบแค่คนเดียว
(ขณะที่Nankyoku Tairiku ซีรีย์ที่ป่ายะลงทุนแบกสังขารเพื่อไปเหยียบตูดโลกในดินแดน
แอนตาร์กติกเผลอๆมันมีความน่าดูกว่าอีก เพราะดันมาฉายในช่วงปลายซีซันเดียวกันแม้จะคนละวัน
(แต่เสียใจแทนแฟนป๋ายะด้วยเพราะเรตติ้งสู้กันไม่ได้เลย แม้เปิดตัวตอนแรกดูเหมือนป๋าจะมานำโด่ง
ก่อนจะแผ่วแบบถดถอย ขณะที่ซีรีย์ของป้านาโกะจะมาแรงอย่างต่อเนือ่งจนทะลุทะลวง)
ผู้เขียนจึงค่อนข้างมึนไม่หายกับยอดของเรตติ้ง เมื่อไล่ดูความน่าติดตามในตอนต่อไป
ซีรีย์ไม่ได้เล่าอะไรในวิธีที่ใหม่ ก็ยังเป็นสูตรที่ผู้เขียนเคยแอบแหนบผู้กำกับNankyokuฯ
เลยว่า "การวางพล็อกสลับล่อหลอกที่ซีรีย์ญี่ปุ่นนิยมใช้ ไม่ว่าจะเป็น ตัวละครปริศนา
ความสัมพันธ์โดยบังเอิญ การเล่าเรือ่งเพียงบางส่วน หรือการสร้างสัญลักษณ์
ที่จะไปคลี่คลายเหตุการณ์ ล้วนเป็นสิ่งที่ซีรีย์แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์"
ผิดกับ Kaseifu no Mita เขาจัดมาให้ครบเลย แต่ก็ไม่ถึงกับรัดกุมโชว์เหนืออะไร
ส่วนหนึ่งที่ซีรีย์ได้รับความนิยมอย่างมาก ก็เกิดจากการเป็นซีรีย์ที่ดูได้ทุกกลุ่ม
มีความหลากหลายวัยของตัวละคร ความแปลกประหลาดทั้งบุคลิกและเบือ้งหลัง
ขณะที่การสื่อสาร ก็เข้าใจง่าย-ชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรลึกซึ้ง
เป็นเรือ่งที่เข้าถึงได้จากพื้นฐานชีวิตครอบครัวของคนทั่วไป แล้วใส่สิ่งอัศจรรย์ใกล้ตัว
อย่าง "แม่บ้าน" ที่เป็นเรือ่งธรรมดาโดยมาทำให้มันไม่ธรรมดา มีความน่าหวาดระแวง
ขณะเดียวกันก็มีความน่าค้นหา น่าติดตาม ชวนให้สืบเสาะ จนกลายเป็นความผูกพัน
เสมือนการเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกครอบครัวที่ขาดไม่ได้ อาศัยการเติมเต็มและเหยียวยา
ให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะการใช้ก้อนหินแทนสมาชิกภายในบ้าน สูตรนี้ทำให้นึกถึง
หนังออสการ์ Departures ของผู้กำกับโยจิโระ โอกิตะ ที่ดูจะถูกเอามาเป็น
ประเด็นตอกย้ำความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ ถ้าเป็นเมืองไทยคงต้องกางทะเบียนบ้าน
แล้วไล่หาลูกบ้านในฐานะผู้ขออาศัยเป็นรายคน แม้สูตรนี้ดูจะเชยเพราะมาช้ากว่าชาวบ้าน
ก็ยังทำงานได้ดีไม่ต้องตีความหมายมาก แต่หินหายก้อนเดียวก็ทำให้ยุ่งกันทั้งบ้านได้เหมือนกัน






(ภาพจากกระทู้ Pantip topic/A11489717 ที่คุณ jazz tronik ตามมาตั้งแต่ต้น)



ความร้ายกาจของซีรีย์เรื่องนี้ คือ การสร้างบรรยากาศอันน่าพิศวงและชวนติดตาม
พร้อมกับค่อยๆทยอยปล่อยปริศนาไปทีละอย่างสองอย่าง เพื่อให้คนดูปะติดปะต่อ
เป็นเรือ่งราวอย่างคร่าวๆถึงมูลสายปลายเหตุ อันนำมาเชื่อมโยงถึงตัวตนที่แท้จริง
ของแม่บ้านปริศนามิตะ ประมาณเดาเอาว่าผู้เขียนต้องโผล่มาแนวเฉลยนี้แน่
ซึ่งก็มีทั้งตามใจและขัดใจระคนกันไป การสร้างตัวละครให้มิตะขาดลักษณะปกติ
ไม่เหมือนแม่บ้านทั่วไป ที่ส่วนใหญ่มีอุปนิสัยช่างพูดช่างจา ขี้เมาท์จุกจิก
และสอดเรือ่งของคนอื่นเสียทุกเรือ่ง (อันนี้ว่ากันด้วยความเป็นแพทเทิร์นของแม่บ้าน
ในซีรีย์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่พอได้ดูมา) แต่ซีรีย์เรื่องนี้ ทำตรงกันข้ามกับหลักเกณฑ์ทุกอย่าง
โดยถุูกทบด้วยคุณสมบัติส่วนเกินในแง่ความรับผิดชอบทางหน้าที่การงานที่ดูสมบูรณ์เกินขนาด
มิหนำซ้ำความสามารถเหนือมนุษย์ของมิตะเอง ยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัย
ว่าไม่น่าจะใช่มนุษย์อย่างเราๆ ซึ่งจุดนี้เอง รูปลักษณ์การแต่งตัวที่เน้นโทนสีดำ
ตั้งแต่ชุดฮูดไพร์เวทยามที่ออกข้างนอก และชุดผ้าคลุมเปื้อนสีดำเวลาปฎิบัติงาน
รวมถึงปริศนากลางสวนสนุก ที่แม่บ้านมิตะจะต้องไปสั่งเบอร์เกอร์สองชุดทุกเย็น
และนั่งรอประมาณชั่วโมง โดยที่ไม่แตะทานอะไรและเหมือนจะรอใครสักคน
ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยขึ้นอีกประเด็น ทั้งในแง่เบื้องหลังที่อิงกับปรากฎการณ์พิเศษข้างต้น
ไหนจะพฤติกรรมประหลาดทยอยเพิ่มเติมขึ้นมา ก็มีทั้งจุดดี
ในแน่แง่ความน่าติดตามเป็นลำดับ แต่จุดเสียคือ ความไม่สมเหตุสมผลในตอนที่เฉลย
อันนี้ไม่รู้สิ ..อาจจะเกิดขึ้นกับผู้เขียนคนเดียวก็ได้ แล้วยิ่งกระเป๋าเอนกประสงค์
ที่คล้ายว่าจะมีทุกอย่างแบบรู้การณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นล่วงหน้า อันนี้ก็รู้สึกว่าจะตอบได้ไม่เคลียร์
ยิ่งมาเสริมความขัดอกขัดใจ จากสภาพสภาวะความเป็น "ครอบครัวล้มเหลว"
ทั้งจากพ่อที่ต้องเป็นเสาทางอำนาจของครอบครัว แต่กลับไม่มีความกล้าตัดสินใจ
พี่สาวที่ยังไม่พร้อมกับการเป็นผู้นำที่ช่วยชี้แนวทางแก่น้องๆ และกับน้องๆที่ยังต้องการ
ผู้ใหญ่คอยตักเตือนและแนะนำและให้ความรักเอาใจใส่ แม้แต่น้าสาวกับตาที่เป็นคนนอก
ที่ดูจะพอพึ่งพาในการให้คำปรึกษาได้ ก็ไม่ได้ใจจากเหล่าเด็กๆที่มองว่าเป็นการก้าวก่าย
หลายคำถาม มันคล้ายจะยั่วให้คนดูช่วยกันตอบแทนตัวละครผู้ใหญ่ในเรื่อง
ที่เสมือนหนึ่งเป็น "ส่วนชำรุดทางวุฒิภาวะบกพร่อง" แต่ปัญหาคือ คนดูตอบไปก็เท่านั้น
เพราะมันเป็นเรือ่งของตัวละคร ที่จะต้องช่วยกันสะสางและผ่านพ้นวิกฤตของคำถามนั้นๆ
และที่มันร้ายกว่านั้น คือ คำถามของเด็กๆเหล่านั้นมันถูกโยนใส่แม่บ้านมิตะ
ที่เป็นดั่งแสงสว่างแห่งสุดท้ายในชีวิตของพวกเขาที่พอจะพึ่งพิงได้ แต่สุดท้ายแม่บ้านมิตะ
ก็จะตอกย้ำกฎเหล็กที่เธอสร้างขึ้นไว้ตั้งแต่ตอนแรก






Mitasan,What do you think we should do?

(แม่บ้านมิตะซัง เธอคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรดี)

For everyone to decide.

(มันเป็นเรือ่งที่พวกเธอต้องตัดสินใจกันเอาเอง)




แต่ถ้าวันไหน ดันสะเออะมาถามนอกเวลางาน ก็อาจจะมีโน๊ตกระดาษเล็กๆใบนึง
พร้อมกับประโยคไร้อารมณ์ว่า


Here's the bill for today's extra hours.

(ส่วนนี้ เป็นบิลสำหรับค่าล่วงเวลาของวันนี้)





ถึงแม้โดยเนื้อหาและวัตถุประสงค์ จะเป็นซีรีย์ที่จรรโลงสังคม
โดยจุดใหญ่ใจความว่ากันถึงเรือ่ง ตีแผ่ปัญหาครอบครัว เป็นประการสำคัญ
แต่ด้วยวิธีการถ่ายทอด ก็จัดได้ว่าน่าจะมีผู้ใหญ่มาช่วยคอยแนะนำระหว่างการดู
แม้ข้างต้น ผู้เขียนจะปากพร่อยออกไปว่า เป็นซีรีย์ที่ดูได้ทั้งครอบครัวและทุกเพศทุกวัยก็ตาม
แต่เอาเข้าจริง จำเป็นที่ต้องมีผู้ปกครองควรช่วยชี้แจงและแนะนำหรือขึ้นฉ ๑๕ ได้ยิ่งดี
เพราะเต็มไปด้วยฉากที่ใช้ความรุนแรง และทางออกที่ดูสร้างปัญหามากกว่าการแก้ไข
อยู่ในวังวนที่ถ้าไม่ฆ่าตัวตาย ก็ต้องฆ่าอีกฝ่ายให้ตายแทนกัน จึงเต็มไปด้วยทางออกพิลึกพิหลั่น
อาทิ การชกต่อยที่เป็นการแสดงออกทางภาวะอารมณ์ของตัวละคร (ซึ่งคนเป็นพ่อกับแม่บ้าน
ดูจะโดนหนักเป็นที่สุด) ฉากการเผาบ้านวางเพลิง ฉากใช้มีดไล่แทง การเอาสเปรย์พ่นหลังคาชาวบ้าน
ฉากฆ่าตัวตายกลางแม่น้ำ เป็นต้น (และเพราะความ"แร๊งส์"นี้มั้ง ซีรีย์เรื่องนี้ถึงได้เป็นที่จดจำ
อย่างน้อยๆ ความรุนแรงในวิธีการ แม้จะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงแต่ก็ฝังลึกในความทรงจำ
ไม่งั้นซีรีย์หรือพล็อกวรรณกรรมฆาตกรรม คงไม่ยืนยงจนถึงทุกวันนี้)
แต่ความเกินจริงในระดับนี้ พอเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้
มีความรู้สึกเซอร์เรียลเหนือจริงให้สอดรับกับความตั้งใจของผู้เขียนบท
ที่อยากจะให้ Kaseifu no Mita มีปรากฎการณ์ของความเป็นเหนือธรรมชาติ (supernatural)
ซึ่งจะมีประโยชน์และผลอย่างมาก ในตอนที่เฉลยความเป็นปริศนาของแม่บ้านมิกะ
แต่ที่ผู้เขียนเอง รู้สึกว่ารับไม่ค่อยจะได้กับซีรีย์เรือ่งนี้ ต้องขอยืมศัพท์เท่ๆจากหนังสือสตีฟ จ๊อบส์
คำหนึ่งที่เรียกว่า "สนามความจริงที่ถูกบิดเบือน" (Reality Distortion Field) กล่าวคือ
ในหนังสือ เป็นการหยิบยกวาทกรรมนี้เพื่อบีบ-เร่ง-คั้น ให้พนักงานแอปเปิลทำสิ่งที่คิดว่า
ไม่น่าจะเป็นจริงได้ ให้เป็นไปได้ตามเส้นตายที่สตีฟ จ๊อปส์ต้องการ แต่สนามความจริงที่ถูกบิดเบือน
ของผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น แต่จะเป็นการประชดประชันตรรกะเหตุผลของการกระทำ
จากตัวละครของเรื่องที่ดูลอยๆ อย่างไงชอบกล ตัวอย่าง พ่อที่เป็นถึงหัวหน้าแผนกบริษัท
แต่กลับไร้ความสามารถในการตัดสินใจหรือคอนโทรลลูกในบ้านปล่อยให้ลูกชกหน้าพ่อสักงั้น
หรือตอนที่แม่บ้านมิกะรับคำสั่งจากชิโอริให้ไปแจกใบปลิว เพื่อที่จะแฉเรือ่งประวัติของพ่อตัวเอง
แอบไปมีกิ๊กกับเพื่อนร่วมงาน กลางสำนักงานจนเป็นเหตุให้ถูกปลดจากตำแหน่ง
หัวหน้าโครงการบ้านจัดสรรเพื่อครอบครัวสุขสันต์ สุดท้ายของเคนอิชิก็ยังคงจ้างแม่บ้านมิกะ
และไม่ได้ลงโทษลูกสาวชิโอริแต่อย่างใด อย่างมาก็แค่เดินคอตกกลับบ้าน
อันนี้ยังไม่รวมผลโหวตจากบรรดาลูกๆ ที่ไล่พ่อออกจากบ้าน จนต้องไปนอนตามโรงแรมชั่วคราว
ใจก็อยากจะด่าซีรีย์เรือ่งนี้อย่างเต็มที่ แต่พอมาเจอะว่าเรตติ้งมหาชนอย่างงี้
จึงต้องอ่อนน้อมนอนพับเพียบอย่างเจียมตน และเกาะกระแสซีรีย์ประวัติการณ์มหาชนอย่างกล้ำกลืน
เพราะก่อนหน้านี้ ซีรีย์หลายเรื่องจังหวะดี เนือ้หาเยี่ยม เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ
อยากจะเชียร์อย่างออกนอกหน้า ทว่าพอได้แลเรตติ้งพุ่งลงดิ่งแทนที่จะโจนทะยานพุ่ง
เลยออกอาการกลับลำ หันมาเปลี่ยนเป็นกระทืบซ้ำ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ลงเรือลำเดียวกัน
ด้วยอานิสงค์จากความจริงของสนามที่ถูกบิดเบือน ที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมา





ถึงจะวิจารณ์เทสาดเสียๆหายๆ แต่ก็ไม่อาจปกปิดความจริงไปได้ว่าซีรีย์เรื่องนี้
ได้แซงหน้าอดีตอันดับสามเรตติ้งตอนท้ายตลอดกาลแห่งค่ายTBS จากเรือ่ง
3 nen B gumi Kinpachi Sensei ที่เคยทำไว้ ๓๙.๙% เมื่อ Kaseifu no Mita ทำได้สูงกว่า
จึงเป็นรองตลอดกาล เพียงแค่ Tsumikikuzushi Oya to Ko no 200-nichi Senso‘ (TBS ๑๙๘๓)
ที่ทำไว้สูงจนเกือบดูเหมือนเหมาดูกันเกือบครึ่งประเทศ ๔๕.๓% รองลงมา
คือ Beautiful Life (TBS ๒๐๐๐) ๔๑.๓%
ที่ผู้เขียนยังพอได้ทันมีส่วนรวมในจุดเชื่อมต่อของประสบการณ์
ซึ่งตอนนั้นทาคุยะยังหล่อเฟี้ยว ประกบกับนางเอกโทกิวะ ทากาโกะ
ซึ่งกว่าปรากฎการณ์นี้จะเกิด ก็ต้องรอกว่าสิบสองปีที่จะมีเรตติ้งต่อตอนโผล่พุ่งพรวดเกินร้อยละ๔๐
(และระดับเรตตอนสุดท้ายของเรือ่งนี้ก็จะไปเท่ากับซีรีย์ของปี๗๙ Netchu Jidai ของค่ายเอ็นทีวี)
Kaseifu no Mita จึงเป็นซีรีย์เรื่องแรกของปีสหัสวรรษนี้ที่ทำยอดเฉพาะตอนสูงที่สุด
ในระดับของhigh viewership rating ทั้งๆที่เริ่มต้น ก็ไต่ระดับที่สถานีน่าพอใจไว้ที่ ๑๙.๕
แต่เมื่อฉายมากตอนเข้าระดับเรตติ้งก็ค่อยเพิ่มสูงขึ้นไม่มีตก จนล่าสุดก่อนอวสาน
เรตติ้งมาชันไว้ที่ ๒๘.๖ ก็ว่าสูงโข (ก่อนหน้านั้นทางสถานีประสาทไว จับความเคลื่อนไหว
ทางความนิยมอันสูงล้นได้ ตอนที่เก้าเป็นต้นมาเลยขยายเวลาเพิ่มแม้ไอ้ที่เพิ่มดูจะไม่คอ่ยมี
ความจำเป็นนักก็ตาม-ความเห็นผู้เขียน) จบเฉลี่ยโดยรวมที่ ๒๔.๘
อย่างที่บอกพอมาถึงตอนอวสานซึ่งเป็นระดับที่
ชนซีรีย์นักทำเรียกว่า "จุดพีกวิกฤต" (กล่าวคือ หลายเรื่องทำท่าจะอีตายมิยอมตาย
แต่ถ้ามาตอนสุดท้าย บารมีดีขึ้นเป็นร่ำไปตามประสาสั่งเสียครั้งสุดท้าย)
ร้อยละ ๔๐ในแถบคันโตคนเมือง สะท้อนว่าละครทีวีตามหน้าจอสำหรับคนดูญี่ปุ่น
ยังไม่ได้ตายจากไปตามยุคสมัยสักทีเดียว แม้สัดส่วนตามภาพรวมจะลดน้อยลง
เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสักสิบปีกอ่น ซึ่งก็ต้องเป็นโจทย์ศึกษาให้กับหลายสถานี
ค้นหาวิธีการเพื่อจูงใจท่านผู้ชมกันต่อไป Kaseifu no Mitaก็เป็นปรากฎการณ์ที่
ฟ้องให้เห็นว่า ซีรีย์ทีวีถ้าทำให้ดี-มีอะไรให้โดนใจ คนดูก็พร้อมที่จะติดงึมได้อีก
ทำลายคำสาปที่ขาประจำปรามาสไว้ว่า
ร้อยละ๑๕ ได้ก็เรียกว่า "ฮิต" แล้ว แต่ถ้าได้สัก ๒๐ ก็ต้องต่อท้ายไว้ว่า "ฮิตมว้ากก"
(a drama with 15% or more viewership ratings is considered to a hit,
and a drama exceeding 20% is considered to be a huge hit)
เรตติ้งจึงเป็นงานวิจัยเชิงสถิติเพื่อต้องการรู้ขนาดและคุณภาพของผู้ชมที่เปิดรับ
โทรทัศน์รายการหนึ่งๆ ว่ามีใครเท่าไร คนกลุ่มไหนที่รับชม เรตติ้งจึงเป็นกลไกตลาดอันดับแรก
ของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ และทำให้ผู้ชมกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาด
ความสำเร็จทางการตลาดจึงขึ้นอยู่กับชัยชนะของเรตติ้ง เพราะฐานตัวนี้จะเป็นตัวตัดสินใจ
การจัดวางโฆษณาของผู้ให้โฆษณา กำหนดราคาขายและการต่อรองของทั้งสองฝ่าย
และมิเตอร์คน(people meter) ของวีดีโอรีเสิร์ชก็ยังเป็นเครื่องวัดที่ว่า
ผู้รับสารกับผู้บริโภคสินค้า เป็นคนคนเดียวกันซึ่งก็จะถูกขายสถิติเป็นทอดๆ
จากบริษัทสำรวจไปสู่เจ้าของสถานี ไปสู่เจ้าของสินค้าเป็นลำดับ จึงจะเห็นว่า
ซีรีย์ของกลุ่มคืนวันพุธต่อจากนี้ไปคงเป็นอะไรที่น่าจับตามองอยู่พอสมควร





You guys don't have to forgive me.You don't have to love me.

(พวกลูกๆไม่ต้องมาให้อภัยตัวพ่อหรอก
พวกเธอไมจำเป็นต้องมาแสดงความรักอะไรในตัวพ่อ)

But l want to love you forever.For the rest of my life
l want to be with you.l want to see how you grow up.

(แต่พ่ออยากจะมอบรักให้พวกลูกๆตลอดไป ตราบเท่าที่ชีวิตพ่อคนนี้ยังมีอยู่
พ่ออยากอยู่เคียงข้างกับพวกเธอ พ่ออยากจะเห็นลูกๆทุกคนต่างเติบโตขึ้น)

l want us to talk more about all kinds of things.
Let me be your father please.

(พ่อยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่จะบอกเล่าให้พวกเธอได้รับรู้
ได้โปรดให้พ่อ ได้เป็นพ่อของตัวลูกๆเถอะ)

when you guys are having a hard time.l'll encourage you.
l'll do anything l can.

(ยามใดที่พวกเธอพบกับอุปสรรคที่หนักหนา พ่อคนนี้จะออกแบกหน้ารับให้
ทำในสิ่งที่เท่าที่พ่อคนนี้สามารถจะทำให้ได้)





นอกจากนี้ ทางผู้ให้บริการgoo และNTT DoCoMo ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางมือถือและโลกออนไลน์
เลยหยั่งกระแสความนิยมเพื่อค้นหาซีรีย์ที่โปรดปรานเป็นที่สุด โดยคัดเลือกจากบรรดาซีรีย์
ที่มีค่าเฉลี่ยทางเรตติ้งระดับประวัติการณ์ (What is your most favorite of the highest rated
dramas on TV?) ถามตอนไหนไม่ยอมมาถาม ดันมาถามตอนนี้
แน่นอนว่ากระแส Kaseifu no Mita ที่ยังโจษจันเมาท์มอยตามหน้าเว็บบอร์ดและทวิตเตอร์
เลยส่งอานิสงส์ให้ซีรีย์เรื่องนี้ครองอันดับหนึ่ง ด้วยยอดเจ็ดพันกว่าคะแนน แซงหน้าLong Vacation
ในอันดับสอง และHero ในอันดับที่สามอย่างไม่เห็่นฝุ่น
นี้ยังไม่รวมสถิติ Word Ranking ประจำเดือนธันวาของทาง twitter เครื่องมือสื่อสารยอดฮิต
ที่คำว่า "Mita" ขึ้นจากอันดับ ๑๓ ของเดือนก่อน มาอยู่ในอันดับที่ ๗ อย่างรวดเร็ว
เหนือว่าคำว่า Santa ที่น่าจะเป็นคำฮิตในรอบเดือนสักอีก
ปรากฎการณ์ Kaseifu no Mita จึงเป็นเครือ่งตอกย้ำในอัตตาของผู้เขียนเองที่ว่า


"ต่อให้บ้าพลังกับซีรีย์ญี่ปุ่นตั้งตาย ก็ไม่มีวันเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภคของคนญี่ปุ่นอยู่ดี" ........




อ้างอิงข้อมูล

Dramawiki,Jdorama,Tokyohive


อ้างอิงภาพ

Dramcrazy,Youtube and NTV




 

Create Date : 12 มกราคม 2555    
Last Update : 3 ตุลาคม 2555 21:17:14 น.
Counter : 18530 Pageviews.  

สิ้นปีอีกแล้ว ยังคงว่างที่จะมาจัดอันดับซีรีย์สุโค้ยย์ประจำปีเถาะศก


กลับมาตามคำไม่เรียกร้อง (แต่ก็ยังอยากจะกลับมา)
เป็นคำสัญญากึ่งกล้ำกลืน ที่ทุกๆสิ้นปีพิธีการจัดตั้งเพื่อค้นหาซีรีย์สุโค้ยย์แห่งปี
ซึ่งปฏิบัติกันมาเป็นปีที่สาม ฟังแล้วเหมือนน่าดีใจ แต่เอาเข้าจริงแล้ว
เป็นความมักง่ายส่วนตน ที่จะเอาชิ้นงานเก่าๆที่ร่ายรำตลอดทั้งปี
เข้าสู่กระบวนการจัดทำใหม่ในเหล้าเก่า หรือเอาผลงานมาแปรรูป จัดทรงให้ดูใหม่
ประกอบกับการยัดเยียดทัศนะส่วนตัว เพื่อเป็นการประเมินรสนิยมการรับชม
ทำให้สามารถผลิตชิ้นงานมาได้ตั้งหนึ่งบล็อก เป็นการฆ่าเวลา
ในระยะเวลาที่ผู้เขียนยังปิ๋วอารมณ์ เพื่อรีวิวซีรีย์เรื่องใหม่ในอาทิตย์นี้ ไม่ได้สักที



ด้วยตามประสา เอาไม่อยู่-ธนูปักเข่า
ผู้เขียนจึงยังขอยึดระเบียบของการตัดสินจากปีทีแล้ว
แม้ว่าในใจจะพยายามดีไซด์รูปแบบการรับรางวัลไม่ให้ซ้ำในแต่ละปี
ทั้งๆ ก็คิดโน้น-นี้-นั้น มาตั้งแต่ต้นปี เลยมากลางปี จนนี้เข้ามาสู่ปลายปี
จนเกิดอาการ "จวนตัว" และไม่แน่ใจว่าพรุ่งนี้ที่ทางคณะสหายโบนัสออก
จะยังคงรักษา "นักเขียนตลกรับประทาน" คนนี้ ด้วยการพาไปจิบสาเกจิ้มซูชิ
อยู่อีกรึไม่? เป็นเอาว่า .....ผู้เขียนจึงชิงตัดหน้าด้วยการประมวลแบบ
คิดไล่ไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก ซึ่งอาจหมายความอีกอย่างว่า
ถ้าให้มาตัดสินในวันพรุ่งนี้ บางทีผลของการคัดเลือกอาจจะคิดเห็นไปอีกทาง
จึงยังคงรักษาเสน่ห์ส่วนตัว ที่ยึดเอาเป็นบรรทัดฐานอะไรไม่ได้เอาเสียเลย




ในปีเถาะศกครั้งนี้ มีผลงานในส่วนเฉพาะซีรีย์ญี่ปุ่น
ที่ผู้เขียนรีวิวไปเพียง ๓๒ เรื่อง ถือว่าน้อยกว่าปีก่อนที่โม้ไปตั้ง ๔๘ เรื่อง
ด้วยเหตุผลนานาประการ แม้จะพยายามเข็นในช่วงท้ายสุดฤทธิ์
เอาเป็นว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียสายตา (เพราะรู้ว่าท่านคงมีเวลาเยอะ)
จะขอใช้บทบัญญัติของกติกาปีฉลูศก เพื่อชี้นำและไม่ให้เป๋จนไม่เป็นรางวัล
หรือร่ายรำมาก จนท่ายากออกมาไม่เป็นทรง ซึ่งมีดังต่อไปนี้



"ด้วยคณะกรรมการการตัดสิน มีด้วยกันเพียง "หนึ่งท่าน"
และท่านนั้น ก็ยังต้องทั้งคิด ไล่เรียง จัดพิมพ์ ตามเก็บ และทั้งต้องจ่ายค่าไฟตามรอบมิเตอร์
การตัดสินครั้งนี้ จึงอยู่ด้วยกรอบของ "อคติของตัว" และ "มายาคติในใจ"
โดยจะเลือกสรรเฉพาะซีรีย์ญี่ปุ่น ที่ได้ยลในรอบปีนักษัตรศกปีฉลู (ขอเปลี่ยนเป็นปีเถาะ)
ซึ่งไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นซีรีย์ที่เพิ่งถูกสร้างภายในปีนี้ แต่ยังหมายถึงซีรีย์ค้างเก่า
ที่เอามารีรันชมซ้ำ และไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องที่เคยรีวิวมาก่อน เพราะเรื่องที่เล่า
ยอ่มน้อยกว่าเรือ่งที่ไม่เล่าเป็นธรรมดา (เพราะต้องให้เวลาเรื่อง "เหล้า" ในวงเพื่อน
มากกว่า) โดยแต่ละสาขา จะล็อกสเป็กกลั่นใจเลือกให้เหลือเพียงหนึ่ง
จำต้องหักห้ามใจมิให้กล่าวถึง ส่วนจะมีรางวัลอะไรกันบ้างนั้น
ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถจะบอกกล่าวให้ได้ เพราะเป็นการคิดรางวัลขึ้นมาสดๆ
ไล่ไปเรือ่ยๆ จนกว่าจะจนตรอกไปต่อกันไม่ติด ................"



เพื่อเสริมความเร้าใจในรางวัล ก็เข้าอินโทรนี้ซ้ำ เพื่อเข้าสู่การประกาศรางวัลนะครับ






รางวัลผู้เขียนบทดั้งเดิมแสนสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


ซากาโมโต้ ยูจิ จากซีรีย์ Watashitachi no Kyokasho






โดยเหตุผลที่ว่า -


"ชอบที่งานหลังยุคPost-Watashitachi(ขอบัญญัติศัพท์ขึ้นเอง) ซากาโมโต้กล้าที่จะเล่นเรือ่ง
ในประเด็นที่สังคมมองเห็นเป็นเรือ่งชินชา ด้วยเทคนิคการนำเสนอที่เรียบง่ายในตอนแรก
แต่จะค่อยๆมีความซับซ้อน มีการวางจุดสัญลักษณ์ที่จะไปส่งผลต่อความสัมพันธ์ของตัวละคร
แม้โดยประเด็นของเรื่อง อาจจะดูเหมือนมีความเกี่ยวข้องเฉพาะตัวละครเอก
แต่จะค่อยๆขยายมิติด้านกว้่างอย่างทั่วถึงกับตัวละครอื่นๆ งานของซากาโมโต้เลยไม่ค่อยจะเห็น
ตัวละครทีมีมิติแบนๆ หรือฉายให้มองเห็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งเสมอ และไม่รู้คิดเหมือนกันรึเปล่า
ถึงงานยุคPost-Watashitachi ซากาโมโต้จะตีแผ่ความหนักหนาของปัญหามากน้อยเพียงใด
แต่ทุกครั้ง ก็จะสอดแทรกทางออกของปัญหาหรือมีระยะต่อเติมกำลังใจ โดยไม่ทำให้
ซีรีย์กลายเป็นงานบันเทิงที่ต้องแบกสำหรับคนดู เลยเป็นงานที่มีทั้งการนำเสนอทั้ง
"ปัญหา" และ "ทางออก" ให้กับสังคมไปพร้อมๆ และทางออกก็ไม่ได้น่อมแหนมแบบเป็นจริงไม่ได้
ที่สำคัญ "เซย์กู้ดบายบายเลตเตอร์" หรือ "สาสน์สุดท้ายก่อนลา" ทุกเรื่องของไอ้หมอนี้
มันสะกดต่อมน้ำตาได้ดีเสียจริงๆ"



(เขียนไว้เมื่อ ๒๕ พฤศจิกา ๒๕๕๔)




รางวัลมือเขียนบทดัดแปลงซีรีย์แสนสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


โนชิดะ โยชิโกะ จาก Himitsu





ที่ผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้ว่า -


"จุดขายของฮิมิซึไม่ได้มีแต่เพียงแค่เรือ่งของการจัดระเบียบความสัมพันธ์ใหม่เท่านั้น
แต่ยังมีวิธีแบบแผนของแนว Mystery อย่างสมบูรณ์ ในซีรีย์อาศัยการแยกกันคลี่คลายไปพร้อมกัน
ทำให้เส้นทางในชั้นสืบความลับของแต่ละฝ่าย สร้างความหวาดระแวงกับความไม่เชือ่มั่นของอีกฝ่าย
ด้วยไปมีผลกระทบต่อการเอื้อประโยชน์ของมิตรต่างเพศ ให้อีกฝ่ายเกิดความระแคะระคาย
ขณะเดียวกัน ไม่ว่าทั้งฝ่ายพ่อละฝ่ายลูกสาวเอง ก็ไม่กล้าที่จะนำความลับที่ตัวเองสืบทราบ
ไปเพ่งพายให้อีกฝ่ายได้รับรู้ เพื่อไม่สร้างความลำบากใจใหักับอีกฝ่าย ที่มองว่าไม่ใช่ปัญหาที่
ควรยื่นมือเข้าไปยุ่ง ในขณะเดียวกันทั้งตัวพ่อและลูกสาวเองก็เป็นมนุษยปถุชน
ที่มีโอกาสเผลอใจในสถานะที่ไม่ผิดแบบแผนทางขนบจารีต
น่าเสียดายที่ซีรีย์เรือ่งนี้ดูจะไม่กระชากเรตติ้งให้กับสถานีเท่าที่ควร ทั้งๆที่เวอร์ชั่นซีรีย์
มีความเป็นคอเมดี้ลูกผสมไปกับดราม่าไม่ใช่ดูแล้วจะหนักอึ้งรอพึ่งฉากแคลแม็ซท์ท่าเดียว
แม้ทางสถานีจะประชาสัมพันธ์ถึงชื่อชั้นนักแสดงตลอดจนฉบับบทประพันธ์ชิ้นเอกของเคโงะซังแล้วก็ตาม
ไฮไลต์ของเรือ่ง หลังจากถูกนวดอยู่ดีๆ ก็เจอะมุขหง่ายเก๋งเอ๊งจ๋า ก็เล่นเอาหลอนขึ้นสมอง
แบบปีีดฉับพลันเป็นมาร่วมเดือนก็มิสลาย"





(เขียนไว้เมื่อ ๓ เมษา ๒๕๕๔)




รางวัลผู้กำกับแสนสุโค้ยย์ประจำปีเถาะศก ได้แก่


คุฟุซาวะ คาซึโอะ จากซีรีย์เรือ่ง Nankyoku Tairiku





โดยผู้เขียนเคยให้เหตุผลเอาไว้ว่า -


"แน่นอนละว่างานระดับ anniversary ที่ทางทีบีเอสจัดให้อย่างงี้
เป็นไม่พลาดที่จะต้องขอใช้บริการของผู้กำกับ Karei naru Ichizoku
อีกสักหน ผู้เคยสร้างปรากฎการณ์เรตติ้ง๒๓.๙ สำหรับซีรีย์คืนวันอาทิตย์
ทั้งๆที่ โปรดักชั่นใหญ่ ดาราแน่นขนัด และเล่าเรื่องสูตรถนัดสไตล์เจแปนดรีม
ที่รับประกันความเสี่ยงว่าเจ็บตัวน้อย แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ครองใจคนดูญี่ปุ่นสักเท่าไรนัก
..กระนั้นเมื่อสรุปค่าเฉลี่ยเรตติ้งครบสิบตอน อานิสงส์แรงถีบจากขบวนการกอบกู้ชีวิต
สุนัขของคณะสำรวจชุดที่สาม ผลก็เลยได้ค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่ ๑๗.๓ แต่กระนั้น
โดยภาพรวมแล้วก็จัดถือว่าเป็นงานคุณภาพชิ้นเยี่ยม ที่เชื่อว่านักดูคนไทย
น่าจะต้องเป็นที่ชื่นชอบแน่ เพราะมันมีปรัชญาและวิธีการถ่ายทอดในแบบที่ยุคหนึ่ง
นักดูบ้านเรานั้นคุ้นเคย และรู้เลยว่าต้องเป็นศาสตร์เฉพาะที่อิมพอร์ตเมดอินเจแปนเท่านั้น"



(เขียนไว้เมื่อ ๒๑ ธันวา ๒๕๕๔)



รางวัลนางรองสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


เรียวโกะ ฮิโระสุเอะ จากซีรีย์ Miporin no Ekubo






ซึ่งผู้เขียนให้เหตุผลไว้ว่า -


"ส่วนบทของแม่ก็ใช่ยอ่ย ได้ "เรียวโกะ ฮีโระสุเอะ" แค่ชื่อก็รับประกันในฝีมือ
นึกแล้วก็ใจหาย ยังจำคุณน้องในบทสาวแก่นจาก beach boys และ Long Vacation
พอมาบัดนี้ ต้องหันมาใช้บริการคำใหม่ อย่าง "คุณแม่" เสียแล้ว
ใน Miporin no Ekubo จึงเป็นการกลับมาโชว์ฝีมือตัวแม่ หลังจากที่เทียวกั๊กเทียวปล่อย
จากซีรีย์ค่าย NTV นี้แหละ ใน Yasuko to Kenji แล้วรู้สึกเขาเอาเรียวโกะ
มา "ทำป้า" อะไรในร้านดอกไม้ละเนี่ย!!"




(เขียนไว้เมื่อ ๓ กรกฎา ๒๕๕๔)


รางวัลพระรองสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่......


มาซาฮารุ อุชิโนะ จากซีรีย์เรือ่ง Jin 2





โดยเหตุผลที่ผู้เขียนเคยให้ว่า -


"ซากาโมโตะ เรียวมะ ซามูไรโรนินผู้ซึ่้งเป็นผู้นำในขบวนการโค่นล้ม
เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยทางลับระหว่าง
โชชูและเซ็ทซึมะ ซีซันนี้ยิ่งสร้างความสำคัญเพิ่มมากขึ้น มีสถานะให้กลายเป็น
สหายร่วมเป็นร่วมตายกับหมอจิน ยิ่งกับ "เรียวมะ เดน" ที่ไทยบีพีเอสเพิ่งจะฉายจบ๔๘ ตอน
อันโน้นก็ขยันอธิบายรายละเอียดยิบย่อย (แถมมียืดเสียด้วยซ้ำในตอนใกล้ๆจบ)
แต่ถ้าเทียบกับความสนุกแล้ว ไม่ว่าเรียวมะ ในภาคหมอจินก็ดี (ที่เล่นโดยลุงอุชิโนะ)
ในภาคเรียวมะ เดน ของค่ายเอ็นเอชเคก็ดี (เล่นโดยลุงมาซาฮารุ)
หรือในอัตสึฮิเมะก็ดี (ที่เล่นโดยทามากิคุง) ล้วนต่างสะท้อน ความเป็นบุคลิกภาพ
ของซากาโมโต้ที่มีวิสัยทัศน์ มุทะลุและเป็นพวกสุขนิยมโดยกำเนิด
ซึ่งแต่ละเรื่อง ต่างก็ดีไซด์ลักษณะเด่น-ด้อย แตกต่างกันไป
แต่เรียวมะเวอร์ชั่นหมอจินแล้ว ดูจะเอ็กสตรีมฟิวอิงแบบไม่พึ่งสารออกฤทธิ์ทางประสาท
ขณะเดียวกัน ก็ดูจะเป็นสายโปรพิราบมากที่สุด"




(เขียนไว้เมื่อ ๑๕ กันยา ๒๕๕๔)




รางวัลเพลงสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


ทาคาฮาชิ ยู ในเพลง Honto no Kimochi จากเรือ่ง Q10







ซึ่งผู้เขียนให้เหตุผลไว้ว่า -


"หน้าตาก็อาตี๋ดีๆ แถมร้องก็ไม่รู้จักเก็กหน้าที่ไร้ต้นทุน
อาศัยเริ่มต้นเก็บเงินซื้อกีต้าร์ถูกๆในสมัยมัธยม ริจะก่อตั้งวง
ไปแจมวงไหน วงนั้นตายดิ้นสิ้นหมดหนทาง สุดท้ายเขาจึงต้องริก่อการใหม่
ด้วยการหันมาเล่นโซโล่เดียวที่ยั่่งยืนกว่า....จนกระทั่งย้ายมาอยู๋ที่โตเกียว
จึงได้มีโอกาสออกอัลบั้มในสังกัดร่วมของวอเนอร์มิวสิก ที่มีฐานการกระจายผลงาน
เป็นอุตสาหกรรมเพลงได้อภิมหามาเก็ตติ้งมากกว่าการเร่ขายแบบชายเดี่ยว
เพลงซิงเกิ้ล "Subarashiki Nichijo" กลายเป็นเพลงที่ได้รับการโปรโมท
จนขึ้นสูงสุดที่อันดับ 5 ใน Billboard's Japan Hot 100 chart และซิงเกิ้ลตามต่อมา
"Honto no Kimochi" ก็ถูกนำมาไว้เป็นเพลงประกอบซีรีย์ Q10 ในที่สุด"




(เขียนไว้เมื่อ ๕ มีนา ๒๕๕๔)



รางวัลซีรีย์ย้อนยุคแห่งความทรงจำสุโค้ยย์ประจำปีเถาะศก


long love letter จากค่ายฟูจิทีวี





ผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้ว่า -


"จะไปนึกว่าก่อนหน้าถึงสี่ปี จะเคยมีซีรีย์ญี่ปุ่นที่ไปจับประเด็น "ภาวะโลกร้อน"
ให้เล่ากันเป็นคุ้งเป็นแค้ว ยังนึกบ่นกับตัวเองว่าซีรีย์บ้าอะไร ทั้งเรื่องมีแต่แสงแดดกับทะเลทราย
แล้วมาบอกว่า นี้คืออนาคตชาติของรุ่นลูกรุ่นหลาน จนกระทั่งได้กลับมาชมในอีกสิบปีต่อมา
ถึงได้รู้ว่า เป็นซีรีย์ที่อุดมไปด้วย ความสด ร่วมสมัย และจี๊ดใจ (เผลอๆหนุกว่าตอนเพิ่งออกฉายสักอีก) และน่าตกใจยิ่งกว่าเมื่อไปค้นให้ลึกกว่านั้น จะพบว่าถูกสร้างมาจากฉบับการ์ตูนตั้งแต่ปี ๑๙๗๕
...... และอาจจะไม่ใช่ซีรีย์ที่สมบูรณ์แบบ แบบที่จะจับผิดอะไรเลยไม่ได้
แต่ความที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวและรูปแบบที่ฉีกกรอบร่วมสมัย และยังทันสมัย
อีกทั้งยังสมสมัยกว่าเยอะเมื่อปรารถนาจะหยิบย้อนมาเยือนในเวลาปัจจุบัน
ที่นักเขียนหลายๆท่าน อาจจะ "โหน" กระแสรักษ์โลกฟีเวอร์เพื่อไม่ให้ตกขบวน
แต่ซีรีย์เรื่องนี้ เคย "ห้อย" โต๋งเต๋งเป็นอุทาหรณ์สอนผู้คน ว่าบางสิ่งบางอย่าง
ถ้าไม่ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ บางทีก็อาจจะไม่มีโอกาสที่สองสำหรับวันต่อไป"




(เขียนไว้เมื่อ ๒๑ สิงหา ๒๕๕๔)




รางวัลฮาเป็นบ้าเป็นหลังอันสุโค้ยย์ประจำปีเถาะศก ได้แก่


Troubleman จากค่าย TV Tokyo





โดยผู้เขียนเคยให้เหตุผลว่า -


"กรรมวิธีในการนำเสนอในเรื่องนี้ก็แทบจะเรียกได้ว่า เป็นลักษณะเฉพาะของผู้กำกับท่านนี้ก็ว่าได้
โดยการกำหนดสถานการณ์ผลีผลามอย่างฉุกละหุกไปพร้อมกับทิศทางที่ดูอึดอัดใจท่านผู้ดูทั้งหลาย
โดยเฉพาะจะขนานควบคู่กันไปทั้งสองเหตุการณ์ให้มาบรรจบในคราวเดียว
และที่สำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลย คือ การสร้างตัวละครที่มีพฤติกรรมตลกพิลึกพิหลั่น
ซึ่งสำหรับในซีรีย์เรื่องนี้ ดูจะ "หนักข้อ" และ "เกินเลย" จนจะหลุดโลกไปกว่าเรื่องไหนๆ
ที่เฮียแกเคยกำกับมา เสน่ห์จัดๆ ที่ทำให้ผู้กำกับฮิโระยุกิ ทานากะ หรือจะใช้ชื่อซาบุก็ตามแต่
ดูโด่ดเด่นและกำกับในทิศทางได้ดั่งใจเหนือกว่าผู้กำกับท่านอื่นๆของทีวีกระแสหลัก
ส่วนหนึ่ง ก็ด้วยแกลงทุนพับแขนเสื้อเพื่อเขียนบทเอง และกำกับเอง
และส่วนหนึ่ง คือ การได้ลงฉายในสถานีโทรทัศน์ที่ไม่เน้นการแข่งขันแบบเรดโอเชียน
แถมเวลาถูกฉายก็ปาไปหลังเที่ยงคืน ส่วนเรื่องเรตติ้งก็ต่ำต้อยตามยถาสภาพ
ในระดับตัวเลขที่ "สองหน่อยๆ" (ขณะที่ทีวีใหญ่ อย่างน้อยก็ต้องเลขสองหลัก)
แต่นั่นไม่ได้เป็นไปตามตรรกะที่ว่า ยิ่งเรตติ้งน้อยแล้วจะไม่สนุกนะครับ
สนุกนะ........... สนุกแน่ เพราะไม่เเคร์สื่อสักขนาดนี้
เพียงแต่ว่า มันอาจจะเกินสติปัญญาของนักชอบเดาทางไปสักหน่อย
ก็ทำให้รู้ว่า การคาดเดาเหตุการณ์ต่อไปภายภาคหน้า เป็นกฎข้อหนึ่ง
ที่ไม่สมควรนำมาใช้ในงานที่มีเชื้อสกุลที่ปะยี่ห้อว่า "Sabu Film" เป็นอันขาด
โดยเฉพาะเรื่องของพล็อก ยังพอเป็นเรื่องที่ยังพอรับกันได้
แต่คุณลักษณะของตัวละคร ที่มีคุณวิเศษนี้สิ อันนี้เกินจะบรรยายจริงๆ"



(เขียนไว้เมื่อ ๗ สิงหา ๒๕๕๔)




รางวัลเทคนิคพิเศษสุโค้ยย์ประจำปีเถาะศก ได้แก่


Spaceship Battle Yamato จาก ค่ายทีบีเอส


(เนือ่งจากปีนี้ไม่มีซีรีย์ไหนโดดเด่น ผู้เขียนเลยโยกไปให้ในสาขาหนังสักเลย คิดว่าเอาอยู่)





ซึ่งผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้ว่า -


"ผู้กำกับเลือกใช้หนทางที่ถนัด และตอบสนองจุดขายของตลาด
โดยเลือกให้เรือรบยามาโตะ กลายเป็นหนังแอ็คชั่นกาแลคซี่ไซไฟ
ตลอดจนถึง เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเหนือโลกผ่านCGเอื้ออำนวย
ซึ่งใครที่พอติดตามผู้กำกับ "โนโบรุ อิชิกุโระ" คงพอจะทราบว่า
นอกจากการที่เขาเป็นผู้กำกับมือรางวัล ที่เคยสร้าง Always ทั้งสองภาคจนสุโค้ยย์
ความสามารถอันโดดเด่นส่วนหนึ่งของเขาคือ การเป็นสมาชิกของ "ชิโรกุมิสตูดิโอ"
ซึ่งเป็นทีมงานสร้าง visual effects (VFX) ชื่อดังของประเทศ น่าจะมีไม่น้อยกว่า
แปดสิบเปอร์เซนต์สำหรับหนังเรือ่งดังกล่าว ซึ่งถ้านับในแง่ "เทคนิคพิเศษ"
ที่เป็นจุดขาย Space_Battleship_Yamato ก็เป็นจุดจำหน่ายขายหน้าตา
ที่สร้างความฮือฮานับตั้งแต่ทีเซอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มแรก ยันไปถึงตอนจบ
โดยเฉพาะฉากยิงมหาปืนใหญ่ Wave Motion ที่ปล่อยครั้งละได้ไม่บ่อย
แต่ทุกครั้งที่ยิงไป สร้างอลังการความคุ้มค่าทางสายตาแบบชนิดที่
ฉบับอนิเมชั่นเป็นเพียงน้ำหนึ่งขันในวันสงกรานต์ไปเลย
ที่ระดับการพัฒนา แม้ว่าจะติดลูกไม่เนียนในบางซีนเมื่อเผลอไปเทียบกับ
มาตราฐานของหนังฟอร์มยักษ์ในระดับฮอลีวู้ด แต่โดยภาพรวม
ก็ถือเป็นส่วนที่คุ้มค่าและตื่นตะลึง เกินหน้าในระดับมาตราฐานเอเชีย
โดยเฉพาะ สำหรับคนดูผู้ไม่ได้มีจุดประสงค์แรกเริ่มเดิมที
จากหนังหน้าของดารา และหน้าหนังของแฟนพันธ์แท้ยามาโต้"



(เขียนไว้เมื่อ ๑๒ มกรา ๒๕๕๔)




รางวัลภาพยนตร์เมืองยุ่นสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


Confession ของผู้กำกับ เทซึยะ นากาชิมะ






ที่ผู้เขียนประกอบเหตุผลไว้ว่า -


"แม้หนังตัวอย่าง ที่ปล่อยมายั่วน้ำลายออกจะดูยาก เพราะมีความเป็นอาร์ทวิชาสูง
แต่เอาเข้าจริงเป็นหนังที่ดูง่าย ขึ้นอยู่กับความต้องการอธิบายของผู้กำกับท่านใดจะปรารถนา
เมือ่ไปตกกับผู้กำกับที่เคยสร้าง Memories of Matsuko สามสิบนาทีแรก
ที่ต้องเป็นอาจารย์ฉอด มาเล่าบรรยายถึงสิ่งละอันพันละน้อย
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฐานข้อมูลดิบ ที่คนดูต้องไล่ตามเก็บอย่างตั้งใจเพราะเขาไม่รีบรอ
ที่จะอธิบายซ้ำหรือขยายประเด็น ไม่แปลกหากใครจะทนพิษบาดแผลจากแผ่นแรกไม่ได้
แต่พอพ้นช็อตเวลาดังกล่าวเมือ่ไร ความสนุกของเรือ่งจะเกิดขึ้นทันที
เมือ่ถึงขบวนการ "ถอดเกล็ด-ย้อนศร" หนังก็ไม่ได้รีรอบนความเมตตาแบบประนีประนอมยอมความ
อันเนือ่งมากจากเงือ่นไขของความเป็นเยาวชน ขณะเดียวกันก็ไมได้ "ลงทัณฑ์-บรรลุโทษ"
ตามอำนาจนิยมแบบผู้ใหญ่ แต่ใช้การ "ซ้อนแผน-จับจุดและขยี้ปม"
เป็นการเอาคืนแบบเหนือชั้นและมีชั้นเชิงของผู้บรรลุนิติภาวะ ที่สำคัญ
จำต้องเลือดเย็นในการวางตัวบุคคล แม้จะรู้ว่าบุคคลที่ถูกวางตัวเอาไว้
อาจจะต้องเจ็บปวดในบั้นปลายแบบถูกหลอกใช้ แต่นั้นก็เพือ่บรรลุเป้าหมายโดยไม่สนวิธีการ
และนั้น จึงทำให้หนังเรือ่งนี้ ไม่มีพระเอกและนางเอกอย่างที่ควรจะเป็น"



(เขียนไว้เมื่อ ๒๐ มีนา ๒๕๕๔)




คำคมในซีรีย์แสนสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


Shinzanmono จาก ค่ายทีบีเอส





"People lie to escape from their sins and to live their lives
lie is a shadow of trust.


(ผู้คนต่างโกหกเพื่อจะหลุดพ้นออกจากบาปที่เขาสร้างขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ
การโกหกจึงไม่ต่างอะไรไปจาก การเป็นเงาของความจริง)

it's weak, yet strong , it's gentle, yet sad

(แม้อ่อนนอกแต่ก็ยังแข็งใน ดูหน้าชื่นแต่ข้างในแสนอกตรม)

there are many kinds of truth in a lie and you know it all.

(มีสรรพสิ่งของความจริงอีกมากมาย ที่ล้วนเป็นแรื่องที่หลอกหลวง และคุณจะได้รู้มันทั้งหมด)




(เขียนไว้เมื่อ ๒๙ มกรา ๒๕๕๔)




และขอแถมอีกสองรางวัลพิเศษสำหรับปีเถาะนี้ เพราะรู้สึกถึงอาการโดนจริงๆ อันได้แก่



รางวัลซีรีย์สืบสวนสอบสวนสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


แหะๆ ช่างใจหนึ่งถ้วยมาม่า สุดท้ายตัดใจยกให้กับ Sleeping Forest ให้เหนือกว่า
Shinzanmono ด้วยเหตุผลที่เคยให้ไว้ ว่า -





"ถือเป็นซีรีย์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งในร้อยกว่าเรื่อง ที่ผู้เขียนพยายามร่าย (หรือรีวิวแต่น้ำท่วมทุ่งกว่า)
แต่เผยรายละเอียดได้ยากเรื่องหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะไปแตะมุมไหนก็ละเมิดสนธิสัญญาสปอยล์
เพราะโดยปกติแล้ว เค้าโครงเรื่องย่อในตัวซีรีย์เอง ก็จำกัดนิยามตัวเองไปไม่พ้น
ประเภท Mystery ,Thriller หรือบรรดา Investigation จะพิเศษสักหน่อย
ก็อาจจะมี Drama แทรก เพื่อให้เรื่องแลดูมีความลึกในเชิงมิติด้วย
แต่Sleeping Forestมันมีความเซอร์ไพร์ซมากกว่านั้น ด้วยการยกระดับตัวเอง
ให้กลายเป็นซีรีย์ประเภท Psychopathology เฉยเลย ที่ไม่ใช่เพียงการหยิบยกมาใส่
เพื่อให้เรือ่งสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่เป็นการ "วางโจทย์" เอาไว้ตั้งแต่ต้น
โดยเรื่องราวทั้งหมดที่เราชมกันมาตั้งแต่ต้นเรื่องนั้น เป็นเพียงการเดินไปตามโจทย์
ที่คนเขียนบทเขาได้ทำการบ้านเอาไว้อย่างดีแล้ว ผลของความน่าเชื่อถือจึงปรากฎ
แม้ผู้เขียนเองจะพยายามจับผิดดูซ้ำ ก็รู้ซึ้งเลยว่าระดับฝีมือคนเขียนบทคนนี้ช่างไม่ธรรมดา"



(เขียนไว้เมื่อ ๒๔ กรกฎา ๒๕๕๔)



รางวัลตัวแย่งซีนสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


บรรดามะหมาสี่ขา Sakhalin Husky จากซีรีย์เรื่อง Nankyoku Tairiku






โดยผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้ว่า -


"อย่างน้อยๆ ชาวคณะเจ้าตูบSakhalin Husky แห่งเกาะฮอกไกโด
น่าจะมีรางวัลสเปเชียลแก๊งค์ให้คาบไม้ติดเท้ากันพอได้ลุ้น เหมือนรัศมีที่เคยรู้สึกได้
ในตอนที่ได้ดูซีรีย์อันธพาลเบสบอล Rookies การได้สุนัขที่ฝึกมาเพื่อการแสดง
โดยเฉพาะประกอบกับ การตัดต่อร้อยเรื่องผนวกเข้ากันเป็นเนือ้เดียว มันชวนให้เชื่อได้ว่า
เจ้าพวกหมาๆเหล่านั้นสามารถอธิบายเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดหัวอกภายในใจจากก้นบึ้งของหมาๆ
โดยให้คนดูอย่างเรา รับรู้รับทราบเข้าอกเข้าใจและน้ำตาไหลพลางสงสาร โดยที่มันไม่จำเป็น
ต้องขยับปากพูดสักแอะ หรือให้ท่านผู้บรรยายมาพรรณนาความนึกคิดแทนพวกหมาๆ
อาศัยเพียงการคุ้ยเขี่ย เห่าห่อน นอนกลิ้ง คลอเคลีย และส่งสายตาทำซึ้งเป็นระยะ"



(เขียนไว้เมื่อ ๒๑ ธันวา ๒๕๕๔)


เอาละ มาเข้าสู่หมวดรางวัลภาคปกติกันต่อดีกว่า เหลือสามรางวัลหลักสุดท้ายแล้ว



รางวัลนางเอกตัวแม่สุโค้ยย์ประจำปีเถาะศก ได้แก่


มิโฮะ คันโนะ จากซีรีย์เรื่อง Watashitachi no Kyokasho






ที่ผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้ว่า -

"ใครที่เคยติดตามผลงานของนางเอกนักแสดง คันโนะ มิโฮะ
เรื่องนี้จะทำให้คุณต้องเปลี่ยนทัศนคติทางการเเสดงเสียใหม่ เมื่อเทียบเคียงกับเรือ่งก่อนๆ
เพราะแม้แต่ผู้เขียนเอง ซึ่งเคยผ่านตาเธอมาจากTomorrow,Kiina,Hataraki Man
หรือ Last Present ก็ไม่เคยนึกว่าคันชานจะเป็นจ้าวฝีมือเลยสักครั้ง
จนกระทั่งบททนายความที่มีคราบของความเป็นแม่ที่ไม่เคยเหลี่ยวแลแอบแฝงอยู่
ถือเป็นบทสาวมั่น ที่กล้าตีแผ่แบบไม่สนหน้าอิฐหน้าปูน สละได้แม้ความสุขส่วนตัว
เพื่อปณิธานอันยิ่งใหญ่อะไรบ้างอย่าง ที่ในเรือ่งนี้ไม่ได้บอกเล่า แต่คนดูรู้สึกเองได้
ถือเป็นบทแร๊งส์ ที่ครั้งหนึ่งชีวิตจริงเธอก็เคยแร๊งส์ได้อีก และจากบททนายสาวทามาโกะ
ก็ทำให้เธอคว้านักแสดงนำหญิง TDAA ครั้งที่๕๓ ค่อนข้างแบเบ้อ รวมเบ็ดเสร็จ
ก็เป็นตัวที่สี่จากหกครั้ง ถือได้ว่าเป็นยอดนักแสดงฝีมือหญิงในวงการท่านหนึ่ง
แถมยิ่งแก่ ก็ยิ่งเผ็ดฝีมือจัดจ้าน ถือเป็นสาวมั่นที่ยังไม่เคยได้ยินเรือ่งแต่งงานนัดหมั้น
แม้วัยก็อยู่ในช่วงคานทองร่ำมะล่อ"




(เขียนไว้เมื่อ ๒๕ พฤศจิกา ๒๕๕๔)



รางวัลนักแสดงชายตัวพ่อสุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


อาเบะ ฮิโระชิ จากซีรีย์เรื่อง Shinzanmono





"ใครที่เคยชอบการแสดงของลุงอาเบะ ในบทครูทนายจอมเหี้ยบซากุรางิ เคนจิ
จากซีรีย์ Dragon Zukura ของค่าย TBS เมือ่สักหกปีก่อน
มาคราวนี้ลุงท่านก็งัดกระบวนท่านั้น มาตอบสนองมิตรรักแฟนลุงแบบเท่ห์แต่มีท่า
อีกทั้งบทในเรื่องก็ทำให้ลุงแกดูโชว์เหนือ แบบไม่ต้องแอ็คชั่นโชว์พาวด์อะไรมากมาย
จึงเป็นการแสดงที่เสมือนดูประหนึ่งว่า "เหนื่อยน้อย" แต่ทว่าส่งผลออกฤทธิ์ต่อความรู้สึกค่อนข้างมาก
เป็นความนิ่งที่สยบความเคลื่อนไหวภายในใจของคู่ต่อกร ที่้ร้อนรนไปด้วยความลับที่จำต้องเก็บงำ
และต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นอะไร ซึ่งไอ้ความไม่รู้ไม่เห็นนี้แหละที่ไม่เคยรอดสายตาที่จดจ้องตรงเขมง
ของนักสืบมาใหม่เคียวอิชิโระได้เลย และอาเบะก็มีพลังของเซ้นต์มิติพิเศษในจุดนี้
ยิ่งเสริมความนิ่งของตัวละครที่บอกอะไรไม่ชัด เลยทำให้ตัวละครนักสืบที่ลุงอาเบะรับเล่น
มีชั้นเชิงพันลึกที่คนดูอย่างเรารู้สึกได้เลยว่า ถ้าพระเจ้าหยั่งรู้ถึงความจริงในทุกสรรพสิ่งของโลก
เคียวอิชิโระก็อาจจะหน่อที่ตกหล่นในย่านการค้า ที่บังเอิญดันเกิดเหตุฆาตกรรมก็เป็นได้"



(เขียนไว้เมื่อ ๒๙ มกรา ๒๕๕๔)



รางวัลซีรีย์สุโค้ยย์แห่งปีเถาะศก ได้แก่


Mother จากค่าย NTV





ซึ่งผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้ว่า -


"ซีรีย์เรื่องนี้ ถ้าไม่ได้ท่านมะนาวเพคะที่เป็นอุบาสิกามหาเจิมแนะนำ
ก็เชื่อเลยว่า มันจะยังคงฝังอยู่ในกรุรอการฌาปนกิจลักษณะตราบไปอีกนาน
ปฐมเริ่มแรกของซีรีย์ Mother ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ชุดใหม่
ของคำสัญญาว่าจะเป็นแม่ลูกต่อกัน ด้วยวิธีการที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม
ในสภาวะที่กลไกทางสังคมไม่ทำงาน และเคราะห์กรรมตกแก่เด็กที่จำต้องรับการเลี้ยงดู
แต่มิติของซีรีย์นี้ ไม่ได้มีเพียงแค่แม่ลูกคู่นี้เท่านั้น มันได้นำพาให้ผู้ชม
เผชิญกับชะตาชีวิตที่ต้องหลบซ่อน และโศกนาฎกรรมบทที่เรียกว่า "พหุมารดา"
ให้เห็นความรักของเศรษฐีนีผู้มีสถานะเป็นแม่อุปถัมภ์ แม่บังเกิดกล้าวที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน
ถ้าหากชอบก็จะชอบแบบสุดใจ แต่ถ้าเกลียดก็จะเกลียดแบบเห็นความดีแค่ครึ่ง
เพราะผู้กำกับเลือกวิธีที่จะเล่าเรื่อง แบบไม่บิวอารมณ์และไม่เป็นไปตามกฎระเบียบ
แบบซีรีย์ญี่ปุ่นที่เป็นอยู่ทั่วไป เเต่พอซีรีย์ขยายถึงภูมิหลัง
ของตัวละคร ตลอดจนถึงความสัมพันธ์ทั้งแบบเปิดเผยและไม่ได้เปิดเผย
อีกทั้งทุกๆพฤติกรรมของตัวละคร ต่างมีมูลเหตุจากความเชื่อและประสบการณ์
บางตอนมีความเป็นดราม่าซ้่อนดราม่าเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ยิ่งทำให้ซีรีย์ mother
มีความลึกในเนือ้เรื่องอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆที่โครงเรื่องแบบกว้างๆ
ดูจะธรรมดาเสียเหลือเกิน ที่สามารถพบเห็นได้ตามพล็อกของซีรีย์ไม่รักเด็กได้ทั่วไป"




(เขียนไว้เมื่อ ๔ พฤศจิกา ๒๕๕๔)




เป็นอันว่า ก็สิ้นสุดจบลงไปได้อีกหนึ่งปี
ถือเป็นภาพรวมย่อๆ เอาพอเป็นกว้างๆ คัดมาเเบบถ่างๆ
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มันจะถูกรส/ซดกับจริตของใครหลายๆคน
ด้วยมาตราฐานประเภทนี้ ไม่ได้เป็นไปด้วยมาตราฐานความเป็นสากล
มากกว่าความเป็นบุคคล แต่อย่างน้อยก็หลงเชื่อไปว่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
ในการรับรู้รับชมซีรีย์ญี่ปุ่นสักเรื่องสองเรื่อง โดยมี "หลัก" อะไรสักอย่าง
แม้ว่าหลักนั้น ดูจะหลักลอยๆนักก็ตาม (เลยต้องสะกด "สุโค้ยย์" ห้อยท้าย
เพราะเป็นคำที่ส่อไปในทางสร้างสรรค์ทางอารมณ์) และถือโอกาส
สวัสดีปีมะโรงที่ลอยคอโต้งรออยู่ไม่กี่วันข้างหน้า แม้ว่าจะเต็มไปด้วยคำทำนาย
โลกแตก-เขื่อนพัง-คนไทยยังไม่รักกันเหมือนเดิม แต่กระนั้น
ซีรีย์ ก็น่าจะยังเป็นความสุขชนิดหนึ่งในโลกที่พอจะสรรหาและพึ่งพาสาระจากมันได้
ไม่มากก็ไม่น่าจะน้อย ขอส่งความสุขนี้แก่เพื่อนกัลยาณซีรีย์ทุกท่านนะครับ



ป.ล. ยังไม่ลืมที่จะต้องปิดท้ายด้วยวาทกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของปีที่แล้วที่แปะไว้ว่า ........




"การให้คะแนนเป็นสิทธิ์ส่วนตัว ที่ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณให้จงหนัก"


..................................................................





ผลการประกาศซีรีย์สุโค้ยย์ในปี ขาลศก


ผลการประกาศซีรีย์สุโค้ยย์ในปี ฉลูศก








 

Create Date : 31 ธันวาคม 2554    
Last Update : 31 ธันวาคม 2554 18:01:02 น.
Counter : 2622 Pageviews.  

Nankyoku Tairiku ลอยหลัก/ปักฝัน/ตะวันแดน/แอนตาร์กติกา


เมื่อกาลมาบรรจบครบรอบหกสิบปี ของค่ายทีบีเอสอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งหมายความว่า งานนี้ต้องมีซีรีย์ใจปล้ำอลังการงานสร้างอีกเช่นเคย
อีกทั้งสถานียังเกทับเสียงดังๆว่า เป็นซีรีย์ที่อภิมหางานสร้างควักเนื้อมากที่สุดนับตั้งแต่ตั้งสถานีมา
(the production of the most expensive drama in the history of the network)
แม้จะตะหงิดๆปนสงสัยว่า เอ๊!เหมือนทางสถานีเพิ่งจะฉลองห้าสิบห้าปี
ไปกับKarei-naru Ichizoku ไปหยกๆไม่ใช่เหรอ?ทำไมช่างหาเรื่องฉลองกันบ่อยจริง
จนกระทั่ง สถานีได้แถลงแผนการสร้างซีรีย์อิงประวัติศาสตร์แบบเจแปนดรีมทูเกทเตอร์
โดยนำบทหนังในปี ๑๙๘๓ มาดัดเสริมเติมแต่งเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย
และที่สำคัญอื่นใด ได้พระเอกหน้ามนคนเดิม "คิมูระ ทาคุยะ" มาเป็นเจแปนฮีโร่
กับภารกิจเผชิญความฝัน-ต่อเติมกำลังใจ แก่ชนแดนอาทิตย์อุทัยในหลังยุคโพสต์วอร์ทู







Nankyoku Tairiku ซีรีย์เฉพาะกิจสิบตอนในคืนวันอาทิตย์
ที่พูดถึงทีมคณะสำรวจแดนน้ำแข็งถึงสุดขอบใจกลางขั้วโลกใต้ ในระยะเวลาที่
ญี่ปุ่นถูกยกให้เป็นประเทศที่แพ้สงคราม และผู้คนส่วนใหญ่หมดหวังกับชีวิต
ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคฝืดเคือง ความเป็นปึกแผ่นในชาติก็จางหายไป
สิบปี ที่หลังจากญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรแบบไม่มีเงื่อนไข
ได้เกิดมีกลุ่มคนคณะเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ที่คิดจะกอบกู้ชื่อเสียงให้กับประเทศแม่อีกครั้ง
ในเวทีนานาชาติที่ไม่ใช่การสงคราม แต่เป็นการสำรวจทางธรณีวิทยาที่ประเทศชนะสงคราม
ก็ยังเข้าไปไม่ถึง ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นสุดขอบใจกลางที่ "หิน" ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก



มันคือ .......................




"แอนตาร์กติกา"








As you know,Antarctica holds the key to many mysteries of Earth.
Plus there're many areas untouched by other countries.
Antarctica is the one place Japan can stand as an equal with the
rest of the world.

(นายรู้ไหม แอนตาร์กติกาถือได้ว่าเป็นกุญแจที่กุมความลีกลับอีกมากมายของโลกนี้
ยังมีพื้นทื่อีกมากที่หลายประเทศยังคงเข้าไปไม่ถึง แอนตาร์กติกาจะเป็นหนึ่งในที่ที่ญี่ปุ่น
จะได้ยืนหยัดอยู่บนพื้นที่ในเวทีโลก)


Why don't we're end the post-war era with our hands?

(ทำไมเราไม่มาช่วยกันสิ้นสุดยุคหลังสงครามด้วยมือของพวกเรากัน)








ณ กรุงบัสเซลในเดือนกันยายน ปี๑๙๕๕ มีการประชุม
"สมาพันธ์นานาชาติขององค์กรวิทยาศาสตร์" (ICSU-international council of scientific union)
ซึ่งมีการประชุมกันทุกๆสองปีต่อหนึ่งครั้ง ทางญี่ปุ่นได้ส่งตัวแทนสองท่านที่เข้าร่วมประชุม
หนึ่งในนั้นมี คุระโมชิ ทาเกชิ (แสดงโดยคิมุระ ทาคุยะ) ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางธรณีวิทยา
และเป็นบุตรชายของร้อยโทชิราเสะ ซึ่งอดีตเป็นหัวหน้าคณะสำรวจขั้วโลก
ในสมัยยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังนั้น ความท้าทายของคณะสำรวจชุดปัจจุบันที่มีทาเกชิเข้าร่วม
ซึ่งจะช่วยสร้างคุณประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น งานวิจัย,เกียรติยศของชาติ,
การรวมปึกแผ่นของผู้คน และ การสานปณิธานของคนรุ่นพ่อ แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรือ่งง่ายเลย
เพราะแผนงานที่ดูจะเป็นความหวังของคนทั้งชาติจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่คิดการณ์ใหญ่
ทว่า อุปสรรคที่เป็นเครื่องกีดขวางความพยายามของพวกเขา ดูจะไม่เล็กน้อยตามไปเสียด้วย



"Prince Harald Coast" lt's in eastern Antarctica.

("พรินซ์ฮารอล์ดคอสต์" มันอยู่ตรงตะวันออกเฉียงเหนือของแอนตาร์กติกา)

Inaccessible! Don't tell me they don't need japan to go to Antarctica?

(พื้นที่เข้าไม่ถึง! อย่าบอกผมนะว่าพวกเขาไม่อยากให้ญี่ปุ่นเข้าไปสำรวจ)









แม้ปัญหาภายนอกดูเสมือนจะเป็นการกีดกันที่ใหญ่หลวง ก็ยังไม่เท่ากับปัญหาภายในด้วยกันเอง
เนื่องด้วยการสำรวจพื้นที่เขตนอกทวีป จำต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
(ในเรือ่งประมาณการไว้ที่ห้ารอ้ยล้านเยน) ในบรรยากาศที่ท่ามกลางความอดอยากของผู้คนในชาติ
ที่ได้รับผลกระทบจากภัยของสงคราม ซึ่งเป็นเงือ่นไขข้อหนึ่งที่รัฐมนตรีการคลัง ฮิมูโระ ฮารุฮิโกะ
(แสดงโดยซากาอิ มาซาโตะ จากEngineและTriangle) อดีตสหายร่วมปีนเขากับทาเกชิ
ที่ไม่เห็นชอบและมักจะแสดงการคัดค้านหัวชนฝาในโครงการที่ทาเกชิยื่นเสนอ อีกประการหนึ่ง
รมต.ฮิมูโระเคยมีประสบร่วมที่เลวร้ายในครั้งที่ปีนเขากับทาเกชิ ที่หุบเขายัตสุกาทาเกะ
โครงการทำท่าว่าจะถูกพับตั้งแต่เริ่ม แต่ด้วยกำลังใจที่มีให้ของศาสตราจารย์ชิโรสากิ
(แสดงโดยชิบาตะ โคเฮ จากKeiji Ichidai) ผู้ร่วมเดินทางบุกฝ่าท้าดงไปกับทาเกชิเพื่อรับการอนุมัติ
และเป็นหัวหน้าคณะสำรวจแอนตาร์กติกาชุดแรกในฐานะตัวตั้งตัวตี เลยทำให้ทาเกชิ
กลับมาฮึดสู้อีกครั้ง เปลี่ยนจากการขออนุมัติงบผ่านทางรัฐบาลมาเป็นการประกาศขอรับบริจาค
ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม (แม้แต่ไอ้หนูจ๋อยแบกนอ้งผิงหลัง
ที่เหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของเด็กยุคหลังสงครามทุกเรือ่ง ก็ยังแหงกกระปุกสมทบทุน)
ผ่านตัวสัญลักษณ์นกแพนกวินกับแมวน้ำบนลานน้ำแข็ง (แล้วอย่าถามว่าทำไมถึงไม่มีตัวหมีขาว
เพราะในซีรีย์เขาดักทางไว้แล้ว ว่าของพรรค์นี้มันมีเฉพาะขั้วโลกเหนือเท่านั้น)




People called the inuit live in the Arctic.But people don't live in
That's why Antarctica is God's Territory.

(มีคนเล่าว่า ชนเผ่าไอนุแม้จะอาศัยอยู่ในอาร์กติกก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครคิดอาศัยอยู่ตรงนั้้น
นั้นถึงเป็นสาเหตุที่เขายกให้แอนตาร์กติกา เป็นอาณาเขตแห่งพระเจ้าเท่านั้น)

Alright then,l'll get there before anyone else and put a japanese flag there.

(งั้นดีเลย ผมจะไปให้ถึงก่อนใครหน้าไหนก็ตาม และนำธงชาติของญี่ปุ่นไปปักที่ตรงนั้นให้จงได้)










โดยปกติ ถ้าเป็นซีรีย์ภาคปกติโดยทั่วไปก็คงขอยุติกันที่ตรงนี้
แล้วกระโดดข้ามไปเล่าถึงยถาชะตากรรมต่อจากนี้แบบสนุกสนานเป็นคุ้งเป็นแคว
แบบขึ้นเรือไปกอ่น แล้วค่อยเล่าย้อนหลังกันไปทีละส่วน (เหมือนในฉบับหนัง เพียงแต่เขา
ไม่มานั่งเล่าย้อน มีแต่เดินหน้าฝ่าพายุหิมะกันท่าเดียว) แต่เมื่อเป็นงานฉลองสถานี
อลังการงานงบและโปรดักชั่นชุดใหญ่ก็เป็นผลให้ความสามารถในการนำเสนอ
แม้งบถ่ายทำจะบานปลาย ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับNankyoku Tairiku ซีรีย์จึงสามารถ
ลงลึกได้ถึงรายละเอียดส่วนย่อยจนถึงแผนดำเนินการขององค์ประกอบหลัก "สาม" ประการ
จนออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์ของโครงการที่มีชื่อว่า
"ความร่วมมือนานานชาติว่าด้วยเรือ่งการสำรวจพื้นที่แถบแอนตาร์กติกา" (The international
joint Antarctic Expedition) ที่ใช้เวลาเตรียมงานนานกว่าสองปี อันประกอบด้วย










ปัจจัยที่หนึ่ง บุคลากรของคณะสำรวจชุดแรก


ซีรีย์ไล่เริ่มต้นกันตั้งแต่การประกาศหาอาสาสมัครจากหลากหลายวิชาชีพ ผ่านการสอบสัมภาษณ์
จนได้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญเฉพาะด้านจริงๆ อย่าง

- ศาสตราจารย์ทางด้านวิทยาศาสตร์โฮชิโนะ เอย์ทาโร่ (แสดงโดย คางาวะ เทริยูกิจาก Mr.BrianและRyoma den)
ดูเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ที่มักจะสร้างความสนุกครื้นเครงและเสนอแง่คิดมุมบวกในเวลาวิกฤต
- เจ้าหน้าที่การสื่อสารอุสุมิ โนริอากิ (แสดงโดยโองาตะ นาโอโตะ จากBloody Monday
และ4 Shimai Tantei Dan) ที่กำลังจะเป็นพ่อคนแต่เพื่อภารกิจระดับชาติจึงขอสละความสุขส่วนตัว
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายนาวิกโยธินฟุนากิ อิคุโซะ (แสดงโดยโอคาดะ โยชิโนริ จากSexy Voice and Robo
และNobuta wo Produce) เป็นนายทหารเรือที่เชี่ยวชาญการเดินเรือและมีวินัยดีเยี่ยม
- เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทานิ เคนโนสุเกะ (แสดงโดย ชิงะ โคตาโระ จากUnfairและTokyo DOGS)
ถือเป็นตัวยืนมาตั้งแต่เปิดโครงการ มีประสบการณ์ของการเป็นแพทย์นอกสนาม
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธานาโอโตะ ซาเมจิมะ(แสดงโดยซุสุมุ ทาราจิมะ จากCode Blue,Karei naru Spy)
นายอู่ที่ขอต่อเติมความฝันของลูกชายที่อยากให้พ่อเข้าร่วม แม้ตอนแรกตัวเองจะไม่ค่อย
เห็นดีเท่าไรนัก เป็นความอารมณ์แต่จริงใจ กล้าได้กล้าเสีย
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายโภชนาการและเสบียงมันไบ ยามาซาโตะ (แสดงโดย Ishimoto Doronzuอิชิโมโตะ โดรอนสุ) ไม่ค่อยมีปากมีเสียงกับใคร วันๆใช้เวลาอยู่แต่ในครัว
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายทีมสำรวจโนริอากิ อุซึมิ (แสดงโดย นาโอโตะ โอกาตะจากCrying Out Loveฯ)
มีประสบการณ์การปีนเขาอย่างโชกโชนและเคยร่วมคณะเดินทางที่หุบเขายัตสุกาทาเกะ
- เจ้าหน้าที่บันทึกดาราศาสตร์อินุซึกะ นาสึโอะ (แสดงโดยยามาโมโตะ โยสึเกะ จากPuzzleและ
Taiyo to Umi no Kyoshitsu) สมัครเข้าร่วมทั้งๆที่ยังเรียนหนังสืออยู่ มีความสนใจในเรือ่งของ
ปรากฎการณ์ออโรร่า แต่ด้วยเป็นตำแหน่งที่มีผู้คนสนใจกันมาก จึงโกหกเพื่อสร้างความได้
เปรียบกว่าคนอื่นไปว่า เคยเป็นพี่เลี้ยงฝึกสุนัขมาก่อน

เอาเป็นว่าประมาณนี้ก่อนละกัน อย่างที่บอกอลังการงานสร้างดารานักแสดงจึงเข็นกันมาเต็มอัตราศึก
(โดยเฉพาะเรือ่งนี้ ดูเขาจะให้ความสำคัญกับตัวประกอบมืออาชีพ หลังจากระยะหลังซีรีย์ที่ทาคุยะ
นำแสดงมักจะไปดึงดาราเอกจากซีรีย์เรือ่งอื่นๆ เพื่อมาเป็นเบ๋หรือไม่ก็ดารารับเชิญเสียส่วนใหญ่)
ถึงแม้ทางข้อมูลจะแจังไว้ที่ตัวเลข ๑๑นักเดินทางสำรวจ แต่เอาเข้าจริงเป็นหน่วยอาสาลงพื้นที่จริง
ในขณะที่เรือเดินทางของคณะสำรวจชุดแรก เรียกได้ว่ามีผู้คนเต็มลำเรือ โดยมีศาสตราจารย์ชิโรสากิ
อย่างที่บอกในวรรคบทข้างต้น เป็นหัวหน้าของคณะทีมสำรวจชุดแรก








ปัจจัยที่สอง เรือ


ถือเป็นจุดที่Nankyoku Tairiku ไม่ได้มองข้าม อีกทั้งยังให้ความสำคัญในช่วงเริ่มต้น
ซีรีย์เรือ่งนี้เขาเก่ง ที่สามารถผนวกยานพาหนะเดินทางควบคู่เข้ากับประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
ในเรือ่งต้องเรียกว่าไปขุดเรือเก่าที่เกือบหมดประจำการ เรือSoya ที่ถูกสร้าง
ในช่วงก่อนสงครามเมื่อสิบแปดปีก่อน ถึงแม้สภาพเรือรบที่ว่าจะทรุดโทรมตามสภาพการตรำศึก
แต่ทว่า ก็ไม่เคยถูกจมเยี่ยงกับอภิมหาเรือรบที่กองทัพญี่ปุ่นเคยภาคภูมิใจอย่าง
เรือรบยามาโตะ จนเจ้าเรือรบSoyaได้รับขนานนามให้เป็นthe miracle ship
ในเรื่องยังเก๋กว่านั้น เพราะพระเอกทาเคชิยอมแบกหน้าไปหา "มากิโนะ ชิเกรุซัง"
ผู้ที่เคยเป็นวิศวกรออกแบบเรือรบยาโมโต้จนเป็นตราบาปให้กับชีวิตตนเอง การช่วยออกแบบ
ปฏิสังขรณ์อดีตเรือรบSoya โดยหันเปลี่ยนมาเป็นเรือบรรทุกคณะสำรวจขั้วน้ำแข็ง
ก็เท่ากับเป็นการไถ่บาปตัวเองกลายๆ และทำให้ชีวิตบั่นปลายของลุงแกกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ยอมรับว่า ฉากอู่ต่อเรือที่ฮอกไกโดเป็นอะไรที่อลังการงานปลาวาฬสู้ฟลัดมาก มาเจอะมุขนี้
เลยทำให้นึกถึงสมัยน้าชาติที่หันมาใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นสนามการค้าเสียจริงๆ







ประการที่สาม สุนัข


ที่ดูจะเป็นไฮไลท์เด็ดของเรื่อง และเอาไว้กระชากใจในตอนท้าย
หลังจากที่ปล่อยให้ช่วงครึ่งเรื่องแรก เป็นเรื่องของพันธกิจที่จะต้องพิชิตใจกลางแดนของขั้วโลกใต้
ด้วยอุปสรรคของสภาพภูมิประเทศที่ปกคลุมไปด้วยน้ำเเข็ง และการขนส่งสัมภาระอย่างเครือ่งจักร
สโนว์โมบิวที่ต้องอาศัยเชื้อเพลิง น้ำหนักของเครื่อง และเจ้าหน้าที่เครื่องยนต์ผู้ชำนาญ
ศาสตรจารย์โฮชิโนะจอมสติเฟื่องจึงตัดบท เพื่อให้เห็นคุณประโยชน์ในทางเลือกอีกอย่าง ซึ่งก็คือ
"สุนัขลาก" (Dog Sled) สิ่งมีชีวิตที่มีน้ำหนักเบา มีขนาดเล็กไม่เปลืองพื้นที่ลำเรือ
และสะดวกต่อการเดินทางบนพื้นน้ำแข็งทีมีโอกาสแตกร้าวได้ทุกเมื่อ
แน่นอนว่า"ฮอกไกโด" จึงเป็นเขตที่มีชื่อในเรือ่งของ Sakhalin Husky หรือสุนัขลาก
ที่ครั้งหนึ่งพ่อของทาเกชิก็เคยมาใช้บริการ ซึ่งก็เป็นโอกาสของทาเกชิที่จะได้มีตำแหน่งแห่งหนบนเรือ
หลังจากที่ตัวเองต้องถูกตัดชื่อออกจากคณะสำรวจ คล้ายดั่งธนูปักเข่าให้ต้องเฝ้าเป็นยาม
หลังจากสืบทราบมาว่าเคยเป็นหัวหน้าทีมไต่เขา และประสบปัญหาจนกลายเป็นตราบาปเมื่อหลายปีก่อน
ซึ่งกว่าจะได้สมัครพรรคพวกคุณหมาๆ ก็ยากเย็นกว่าการหาคนอยู่หลายเท่า
เพราะต้องมีทั้งการคัดเลือกสรีระของพันธ์ที่เหมาะสม การบุกถิ่นที่เป็น
สถานฝึกสุนัขพันธ์ลุยหิมะโดยเฉพาะ (และต้องเป็นศ.ฟุรุตาชิแห่งม.ฮอกไกโดะเท่านั้น)
มีเรือ่งของสายพันธ์ที่ตกทอดมาจากหมาที่รุ่นพ่อของทาเกชิเคยใช้บริการ (ถึงกระทั่งโยงได้ว่า
เจ้าทาโร่และจิโร่เป็นลูกรุ่นที่สามของตัวพ่อพันธ์ฟุอุเรนคุมะโน้นเลย) เสริมดราม่าด็อกกิ้ง
ในส่วนของการพรากสุนัขตัวโปรดจากอ้อมกอดของเด็กๆ (เจ้าริกิที่มีสัญชาติผู้นำกว่าตัวใดใด)
จนได้สิบเก้าโฮ่งพิชิตภารกิจสุดขั้วโลก ประกอบไปด้วย เปปปุ,มอนเบสึ,ชิโระ,อันโดะ,เบกกุ,เทซึ,อาคะ,
จักกุ,,ฟุอุเรน,โบชิ,โมคุ,ทาโระ,จิโระ,เดริ และริกิ






แน่นอนละว่างานระดับ anniversary ที่ทางทีบีเอสจัดให้อย่างงี้
เป็นไม่พลาดที่จะต้องขอใช้บริการของผู้กำกับ Karei naru Ichizoku
คุฟุซาวะ คาซึโอะ อีกสักหน ผู้เคยสร้างปรากฎการณ์เรตติ้ง๒๓.๙ สำหรับซีรีย์คืนวันอาทิตย์
แต่เหมือนว่า คราวนี้เรตติ้งNankyoku Tairiku โดยรวมเฉลี่ยดูจะน่าผิดหวังกว่ามาก
ทั้งๆที่ โปรดักชั่นใหญ่ ดาราแน่นขนัด และเล่าเรื่องสูตรถนัดสไตล์เจแปนดรีม
ที่รับประกันความเสี่ยงว่าเจ็บตัวน้อย แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ครองใจคนดูญี่ปุ่นสักเท่าไรนัก
จากเปิดตัวที่๒๒.๒ %ให้ใจชื้น แต่พอนานตอนเข้าเรตติ้งก็ยิ่งลดฮวบ จนเข้ากลางซีรีย์
ในตอนที่ห้า ก็ถือว่าอยู่ในระดับระยะอันตราย ชนิดว่าเรตติ้งของ Moon lover
ที่แย่ที่สุดยังไม่เท่ากับเรตติ้งที่แย่ที่สุดของเรือ่งนี้ ซึ่งทางเว็บ //www.tokyohive.com
ได้มีการเปรียบเทียบตอนที่ห้าของซีรีย์ ที่ถือว่าเรตติ้งอยู่ระดับเลวร้ายที่สุดของเรือ่ง
(และของทาคุยะด้วยในรอบหลายปี) ซึ่งอยู่ที่๑๓.๒ ยังแพ้รายการไวล์โชว์เวลาชนกัน
ของค่ายNTVอย่าง Gyoretsu no Dekiru Horitsu Sodanjo ที่มีโฮสต์มือกฎหมาย
ยูกิโอะ คิกุชิ เฉือนไปประมาณ ๐.๑% แต่ยังดีหน่อยที่ค่ายฟูจิยังไม่ใช่คู่แข่ง
เลยทำให้ซีรีย์เกาหลีร่วมญี่ปุ่นเกี่ยวกับบอดี้การ์ดพิทักษ์ซูเปอร์สตาร์ Boku to Star no 99 Nichi
ที่หวังกะชนเช่นกันทำไปได้เคย ๑๐.๔ ส่วนอาซาฮีทีวีนี้ก็หาใช่คู่แข่งเพราะเล่นฉายหนังเก่าลิงคุม
คน planet of the ape จะไปโทษเพราะมีการถ่ายทอดสดวอลเลย์บอลหญิงรายการ
FIVB World Cup 2011ก็ใช่ที่ เพราะแม่ข่ายที่ถ่ายทอดตอนนั้นก็ไม่ใช่ทีบีเอสให้ต้องดีเลย์แต่อย่างใด






ยังดีนะว่า สูตรเผยไต๋ตอนต่อไปเสมือนว่าจะมีตัวละครตัวหนึ่งตัวใดตายลงไป
ยังเป็นสูตรไม้ตาย ที่เรียกเรตติ้งคนดูได้อยู่เสมอ (และหนึ่งที่ทำท่าจะอีตายก็มีทาคุยะอยู่ในนั้น)
แต่อีกหนึ่งเสียงมองว่า ที่ตอนต่อมาเรตติ้งทะยานขึ้นเป็น ๑๙.๑ เพราะมีคนกลุ่มใหญ่
เขากำลังรอดูเบสบอลรอบเพลย์ออฟต่างหาก ผลก็เลยเห็นเรตติ้งก้าวกระโดดสูงถึง๕.๙
ซึ่งรอ้ยวันพันซีรีย์จะได้เห็นสักครั้ง กระนั้นเมื่อสรุปค่าเฉลี่ยเรตติ้งครบสิบตอน
อานิสงส์แรงถีบจากขบวนการกอบกู้ชีวิตสุนัขของคณะสำรวจชุดที่สาม ซึ่งมีทาเกชิ
เป็นโควต้าพิเศษลูกเรือหนึ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ ด้วยข้อจำกัดจากระเบียบของหน่วยงาน
ที่สงวนสิทธิ์ให้กับอาสาหน้าใหม่ ถึงแม้ว่าคณะสำรวจแรกจะประสบความสำเร็จ
กับการตอกป้ายเหล็กบนเขต Prince Harald Coast ในที่ๆไม่เคยมีนักสำรวจคณะใด
เคยไปถึงมากอ่น (ก็เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าขืนเอาธงไปปัก โดยพายุหิมะแรงๆสักดอก
ต่อให้บอกว่า"เอาอยู่" ก็จะให้เชื่ออย่างไรไหว แล้วที่ทาคุยะบอกปักธงตอนแรกก็พูดทำเท่ห์ดิ)
ผลก็เลยได้ค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่ ๑๗.๓ แม้โดยภาพรวมซีรีย์ที่เชิดทาคุยะเป็นพระเอก
จะไม่เคยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเรตติ้งที่ ๒๐ แต่ก็ยังดีกว่าใน Moon lovers นิดนึ่ง
เพราะครั้งนั้นเฉลี่ยเพียงแค่ ๑๖.๘ เท่านั้น







ส่วนใครที่ไม่ชอบหน้าทาคุยะ แต่พอใจในเนื้อเรื่องจะดูได้รึไม่
ไม่รู้สิ! ในโลกนี้มีคนไม่ชอบหน้าแกด้วยเหรอ? แต่คิดว่าน่าจะได้อยู่นะ
แม้พี่ท่านจะเป็นตัวเรื่องในฝ่ายมนุษย์เสียส่วนใหญ่ (แม้กับสุนัขพี่ท่านก็โผล่ไป
แย่งซีนเขาเพราะดันต้องควบตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงคุณหมาๆ เพราะผู้ใหญ่ใจหมาบางคน
เขาไม่อยากให้คุณพี่ไป) และมาครั้งนี้ในบทผศ.ทาเกชิ ผู้มีปณิธานยึดมั่น-ไม่หวั่นไหว
ในอันที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของคนผู้พ่อและสาธารณชนความหวังของคนทั้งประเทศ
ถือเป็นบทที่ถ้าตายไปกลางธารน้ำเเข็ง สวรรค์ก็พร้อมจะโอบรับพี่ท่าน
เพราะจัดได้ว่า เป็นยอดอุดมคติตามแบบพล็อกเจแปนดรีมอินโพสต์วอร์ทู
ที่ต้องการบุคคลที่มีความเสียสละ พยายาม วิริยะอุตสาหะ และมีความเป็นผู้นำในตัวสูง
อีกทั้งตัวเองก็มีความชอบธรรมทางภารกิจ เพราะสืบสายเลือดจากคนรุ่นพ่อที่เป็นนักสำรวจเช่นกัน
ดังนั้น เลยไม่เห็นใครในตอนนี้ที่จะเหมาะสมไปกว่าทาคุยะในตรงจุดนี้
ก็ลุงทาคุยะเขาก็พยายาม คัดสรรรับงานซีรีย์โดยนับตั้งแต่ขึ้นสหัสวรรษใหม่
ลุงท่านก็รับเล่นซีรีย์เพียงปีละเรื่อง ส่วนข่าววงsmapก็ร้างๆลาๆจนข่าวยุบทีมลือกันชาชิน
ก็ถือได้ว่าเป็น มาตราฐานจุดขายที่แฟนท่านทั้งหลายสบายใจกันได้
(แต่ถ้าจะเอาให้เหมือนกับในหนัง ผู้เขียนคงต้องยกให้ลุงฮิโรชิ อาเบะที่หน้ายากูซาได้ใจ
เพราะละม้ายคล้ายลุงเคน ทากาคุระเล่นอยู่พอประมาณ มันถึงจะได้ฟิวส์องคุลีมารธุดงภ์กลางน้ำแข็งสุดข้ั้วโลกอะนะ)








แต่ที่น่าเคือง กลับเป็นสัดส่วนของนักแสดงหญิงนี้สิ
ทีมงานกะไม่ให้ใจตลาดชายๆบ้างเลย เพราะเอาน้องฮารุกะ ฮายาเซะ มารับบท
น้องสะใภ้ของทาเกชิยังพอทำเนา ส่วนจะหวังมีลุ้นอัพเกรดเป็นสะใภ้ตระกูลคุราโมชิ
อันนี้คงไม่หวัง เพราะรู้กันอยู่ว่าซีรีย์ญี่ปุ่นหลังๆ เขาให้ความสำคัญจุดกันแค่ไหน
แต่ที่เคืองนั่นคือ อุตสาห์รับบทเป็นครูประถมมิยูกิที่เสมือนจะนางเอกอยู่แน่แล้ว
แต่โอกาสของการเข้ากล้องโผล่ซีน น่าจะมีไม่ถึงห้าถึงสิบเปอร์เซนต์ต่อหนึ่งตอน
ตามประสาของอยู่แนวหลังคอยส่งกำลังใจ ไปๆมาๆ นักแสดงหญิงที่ผู้กำกับ
ดูเหมือนจะโผล่ซีนจนทำท่าว่าจะข้ามหน้าครูมิยูกิ กลับเป็นเด็กหญิงอาชิดะ มานะ
ในบทลูกสาวฮารุกะแห่งตระกูลฟุรุตาชิที่เป็นเจ้าของโรงฝึกสุนัขที่ฮอกไกโด และมี
ริกะหมาตัวโปรดที่เสมือนตัวแทนความเป็นพ่อ เนื่องด้วยเธอเป็นเด็กกำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก
แต่ถึงเป็นผู้เขียนๆ ก็คงอิงสูตรนี้เช่นกัน เพราะรู้กันอยู่ว่ากระแส "มานะมาเนีย"
มารุนแรงแค่ไหน ยิ่งสถานการณ์ที่ต้องการการรับประกันเรื่องเรตติ้งฮวบขนาดนี้
อะไรมีไว้เอาชัวร์ เป็นต้องจัดสร้างและนำมาประเคนเอาไว้ก่อน แต่สุดท้ายก็คล้ายจะช่วย
ได้ไม่มากนัก ตอนหลังเลยทำท่าว่าจะขายแพ็คคู่ ทั้งตัวมานะและฮายาเซะ
สถานการณ์ถึงแลดูกระเตื้องผิดหูผิดตา แต่ที่เคืองสุดเคืองโกรธสุดโกรธ
เพราะเห็นชื่อนากามะ ยูกิเอะ แห่งGokusen มาแจมด้วยก็แสนจะดีใจ
แถมบทไม่ใช่ย่อยเป็นหวานใจของทาคุยะเสียด้วย แต่ที่ไหนได้มีให้เห็นแค่รูปถ่ายขาวดำ
เพราะชีตายไปช่วงสงครามโลก อย่างน้อยๆฟีชแบ็คย้อนจี่จ๋ากันสักหน่อยก็ยังดี
หม่าย! สถิติสถาพรถาวรไว้อยู่แต่ในรูปถ่าย ช่างเป็นบทที่แสนจะสบายโดยแท้







แต่กระนั้น โดยภาพรวมแล้วก็จัดถือว่าเป็นงานคุณภาพชิ้นเยี่ยม ที่เชื่อว่า
นักดูคนไทยน่าจะต้องเป็นที่ชื่นชอบแน่ และผู้เขียนเองก็ชอบมากกว่าKarei naru Ichizoku
ที่เรตติ้งกระฉูดเฉลี่ยสิบตอนอยู่ที่ ๒๓.๙ เสียอีก เข้าใจอยู่นะว่าวิธีเล่าเรื่องแบบบรรยาย
บางครั้งอาจจะเหมาะกับซีรีย์ในแนวบ้านทรายเทือกๆ แต่อาจจะไม่เหมาะกับแนวแอดเวนเจอร์ดรีม
(แค่ฟังเพลงArano yori ที่เป็นเพลงเปิดเรื่อง ก็รู้แล้วว่ากะจะเจาะตลาดกลุ่มใด)
ที่สามารถมีวิธีการเล่าเรือ่งได้อีกร้อยแปดวิธี (ซึ่งจะว่าผู้กำกับฟุกุซาวะจะเล่าในแบบของ
Mr.Brain หรือ Good Luck!! ที่แกเคยกำกับโดยมีทาคุยะร่วมเล่นก็ได้)
ทางสถานีคงเห็นแผลตรงจุดนี้ พอเข้าครึ่งหลังเสียงป้าๆก็หายไป ทำทีเซอร์ให้น่าลุ้นขึ้น
เหตุที่เชื่อว่าคนไทยน่าจะชอบ เพราะมันมีปรัชญาและวิธีการถ่ายทอดในแบบที่ยุคหนึ่ง
นักดูบ้านเรานั้นคุ้นเคย และรู้เลยว่าต้องเป็นศาสตร์เฉพาะที่อิมพอร์ตเมดอินเจแปนเท่านั้น





วัฒนธรรมประการหนึ่ง ที่ญี่ปุ่นชอบใช้เวลาเล่าถึงเรื่องผลของสงครามโลกครั้งที่สอง
คือ การไม่พยายามที่จะกล่าวถึงสาเหตุของสงคราม แต่ก็ไม่ละเลยถึงผลลัพธ์ของความยากลำบาก
(และมติชนสุดฯเล่มล่าก็พูดถึง"โอชิน" ในฐานะตัวแทนของบุคคลที่อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนแปลง
รัชสมัยเมจิกับข้ามสู่ยุคหลังสงครามโลก แต่จุดที่น่าตำหนิคือ เจ๊โอชินมิใช่ศิลาจารึกทำไมถึง
ไม่มีผลนึกถึงจิตใจในความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ผศ.ทาเกชิสะท้อนแรงขับจากความเปลี่ยนแปลงชัดเจน)
และความยากลำบาก ก็เป็นได้ทั้งแรงขับเคลื่อนในแง่ของภารกิจพลเมืองที่ล่องรัฐนาวาร่วมกัน
และแรงขับในแง่การ "เสียหน้า" ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ เพราะเรื่องหน้าตา
สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ถือเป็นสิทธิทางอุดมคติขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่พิทักษ์รักษาความเกรงใจจากคนอื่น
ตรงกันข้าม ก็เป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องกอบกู้หน้าตาที่สูญเสียไปอันผลของประเทศผู้แพ้สงคราม







ดังนั้น แม้แต่ตัวละครอย่างรมต.การคลังฮารุฮิโกะ จะชอบทำตัวขัดแข้งขัดขา ไม่เว้นแม้กระทั่ง
ยอมอาสาตัวเอง เพื่อไปเป็นอาสาสมัครคณะสำรวจชุดแรก แม้จะถูกเขาเกลียดกันทั้งคณะ
ก็เป็นการมองเรือ่งของหน้าตา ที่ไม่อยากให้ชาติต้องเจ็บปวดซ้ำจากโอกาสที่น่าจะสำเร็จอันน้อยนิด
งบเบิกจ่ายอันมหาศาล ในขณะที่คนญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยความหิวโหยและอดอยาก
(ก็ไม่แปลกหรอก ก็พี่เล่นเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบทางด้านการเงิน-การคลังนิ)
แต่เมื่อการสำรวจประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังได้รับการช่วยเหลือจากฝูงสุนัขที่ปรามาสไว้แต่ต้น
ก็ทำให้ทัศนคติแง่ลบที่เคยมีแปรเปลี่ยนไป กลายเป็นตัวตั้งตัวตีที่คอยประสานกับคนของรัฐบาล
เพื่อให้คณะสำรวจชุดที่สามกลับไปสถานีโชวะเบสที่แอนตาร์กติกาอีกครั้ง ซึ่งจะว่าไปพี่มาซาโตะ
ที่รับบทรมต.การคลังคนนี้ ก็รับบทถนัดที่เคยแอ๊บเป็นครูบ้านอุปถัมภ์แต่ไม่ชอบขี้หน้าทาคุยะ
ที่ขอกลับมาตายรังเพราะเอาดีไม่ได้ในการเป็นนักขับรถสูตรหนึ่งจากซีรีย์Engineมาแล้ว
ก็แปลกใจอยู่ว่า ใส่ความเป็นสูตรกันขนาดนี้แล้ว ทำไมเรตติ้งถึงยังตกฮวบเหลือเกิน




This Antarctic expedition would come to symbolize the Japan that refused to give up.

(การสำรวจเขตแอนตาร์กติกาคาดหวังว่ามันจะเป็นสัญลักษณ์
ที่แสดงถึงการปฏิเสธการยอมแพ้ของคนญี่ปุ่น)

However the ones who refused to give up.Were not us but them.

(อย่างไรก็ตามถ้าใครสักคนหนึ่งเป็นผู้ที่ปฏิเสธการปราชัย
หาใช่มนุษย์อย่างเราๆ แต่เป็นสุนัขพวกนี้ต่างหาก)









ส่วนถ้าให้ฟันธงว่าNankyoku Tairiku จะได้รางวัลในสาขาไหนแบบชัวร์สุด
พอมาชะงักเรือ่งเรตติ้งที่เคยทำให้ Moon Lovers แห้วแดกในทุกสถาบัน
อย่างน้อยๆ ชาวคณะเจ้าตูบSakhalin Husky แห่งเกาะฮอกไกโด
น่าจะมีรางวัลสเปเชียลแก๊งค์ให้คาบไม้ติดเท้ากันพอได้ลุ้น เหมือนรัศมีที่เคยรู้สึกได้
ในตอนที่ได้ดูซีรีย์อันธพาลเบสบอล Rookies (ไม่ได้หมายความว่าเด็กมัธยมรร.
เป็นหมาหรอกนะครับ แต่มีสัดส่วนบางอย่างที่คล้ายกัน) การได้สุนัขที่ฝึกมาเพื่อการแสดง
โดยเฉพาะประกอบกับ การตัดต่อร้อยเรื่องผนวกเข้ากันเป็นเนือ้เดียว มันชวนให้เชื่อได้ว่า
เจ้าพวกหมาๆเหล่านั้นสามารถอธิบายเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดหัวอกภายในใจจากก้นบึ้งของหมาๆ
โดยให้คนดูอย่างเรา รับรู้รับทราบเข้าอกเข้าใจและน้ำตาไหลพลางสงสาร โดยที่มันไม่จำเป็น
ต้องขยับปากพูดสักแอะ หรือให้ท่านผู้บรรยายมาพรรณนาความนึกคิดแทนพวกหมาๆ
อาศัยเพียงการคุ้ยเขี่ย เห่าห่อน นอนกลิ้ง คลอเคลีย และส่งสายตาทำซึ้งเป็นระยะ






ซึ่งถือว่า ทีมงานเขาก็สร้างความอัศจรรย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ จัดเด็กอนุบาลให้เข้าฉากน่าเหนือ่ยแล้ว
แต่นี้ ต้องมาจัดบรรดาหมาๆหลายตัวให้มาเข้าฉาก และทำในสิ่งที่ใจผู้กำกับอยากให้เป็น
จากเริ่มต้น ที่รู้สึกแค่อยากติดตามการแสดงของดาราในดวงใจ ไปๆมาๆกลายเป็นหมามาแย่งซีน
โชว์พาวด์ ยิ่งช่วงเวลาที่ค่อยๆทยอยตายจากไปทีละตัวสองตัวหลังจากถูกทิ้งเพื่อให้คณะสำรวจ
ชุดแรกที่เป็นมนุษย์รอด มันเป็นอารมณ์แบบdilemma ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
(ด่าไปไม่ได้เต็มปาก เดี๋ยวจะยอ้นกลับมาเข้าตัว) ช่างชวนให้อึดอัดใจอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เวอร์ชั่น
ของซีรีย์เท่านั้น แม้แต่เวอร์ชั่นทั้งของญี่ปุ่นและฮอลิวูดก็ทำร้ายจิตใจได้ไม่แพ้กัน
ทำให้เข้าใจได้เลยว่า ความรักและผูกพันมันเป็นเรื่องที่เกินเลยกว่าการที่จะสื่อเชื่อมสัมผัสกัน
ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้นจึงจะจูนกันติด ไม่ว่าหมาหรือคนเขาต่างก็มีหัวใจนะเออ





ถ้าจะให้มองว่าทำไมNankyoku Tairiku ท่าดีแต่ผลลัพธ์ในแง่คนดูถือว่าน่าใจหาย
ดูจบก็ยังแปลกใจ เพราะว่านำเสนอในสิ่งที่คนดูซีรีย์ส่วนใหญ่คุ้นเคย
โดยเฉพาะการได้มือเขียนแนวสาม้คคีชุมนุม อิซุมิ โยชิอิโระ ที่เคยสร้างงานรวมกลุ่มเราทำได้
ไม่ว่าจะเป็น Sailor Fuku to Kikanju,ROOKIESและYankee Bokou ni Kaeruมาแล้ว
ซึ่งเจ๊ก็ยังคงแม่นยำในการเอาความหลากหลายมาใส่ไว้ในกลุ่มเดียว ทั้งเรื่อง
มิตรภาพ(friendship) ความเป็นเพื่อน(comradeship) ความภักดี(loyalty)
รักและศรัทธา(love and faith) เกียรติยศ(dignity) และเสียสละ(Sacrifice)
(โดยเฉพาะช่วงความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ไม่รู้ทำไมเด็กมักจะโผล่มาซื่อให้ผู้ใหญ่ละอายใจทุกที)
แม้แต่กลุ่มอุตสาหกรรมอุปถัมภ์ ให้โครงการนี้สำเร็จก็ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่เราคุ้นทั้งน่าน
ไม่ว่าจะเป็น เรือ่งเครื่องมือวิทยุสื่อสารโดยอิบุคะ มาซารุและโมริตะ อาคิโอะ(Sony)
เรื่องเครื่องยนต์โดยฮอนดะ โซอิชิโระ(Honda motor company) หรือเรือ่งงานก่อสร้างฐาน
ก็ยังได้ทาเกนากะบิวดิ้งมาช่วยรับเหมาออกแบบ ของจริงเป็นอย่างงี้ไหม?ไม่รู้
แต่มันก็พอทำอิน ให้หลงเชื่อตามไปได้ไม่ยาก อย่างว่าต้นทุนทรัพยบุคลากรบ้านเขามันดีจริงๆ





ยังดีว่า ในช่วงท้ายเรตติ้งกระเตื้องขึ้นสูง คอยฉุดยอดที่ทำท่าว่าจะไปไม่รอด
(และไม่ต้องห่วงนะครับ เพราะพอได้ไปอ่านเม้นต์ตามเว็บบอร์ดใครเขาก็ชอบกันทั้งน่าน
เรียกได้ว่าผลของเรตติ้งไม่ได้มีผลสืบงานตามไปด้วย บางทีอาจเป็นเรือ่งของพฤติกรรมหน้าจอ)
ปัญหารับรู้เป็นการส่วนตัวเลยที่รู้สึกเหนือ่ยกับซีรีย์เรือ่งนี้ในแง่เริ่มต้น คือ การบริหารสัดส่วน
เพียงอยากจะบอกว่า สิ่งที่ผู้เขียนบรรยายสารพัดสาระเพเนือ้เรื่องมหาศาลข้างต้นนั้น
เฉพาะเพียงตอนแรกเท่านั้น ซึ่งทีมงานเขาเปิดฤกษ์กินเวลานานเป็นพิเศษประมาณชั่วโมงครึ่ง
ซึ่งซีรีย์ก็เล่าเรื่องแบบไม่ง้อไม่รอใคร ยิงใส่เหตุการณ์พร้อมกับควบความเป็นอุปสรรคระคนกันไป
ชนิดที่ปรากฎการณ์อย่างหนึ่งเกิด อุปสรรคก็สอดแทรกปิดท้ายตามต่อกันมา
มันเลยเกิดอาการทะลักข้อมูล พร้อมๆกับอาการเหนื่อยใจแทนตัวละคร
ที่ต้องมาเจอะการขัดแข้งขัดขาจากคนในแวดวงเดียวกัน ตลอดจนชะตากรรมฟ้าลิขิต
ที่มักจะมีอุบัติเหตุหรือสิ่งผิดพลาด ซึ่งไม่ต่างไปจากอุปสรรคที่พระเจ้าปรารถนาจะทดสอบ





แต่พอย่างเข้าสู่ตอนที่สอง เมื่อเรือSoyaออกเดินทาง ดีกรีของซีรีย์ก็แผ่วลงตามเช่นกัน
กลายเป็นเรื่องของการบริหารบุคคลต่างพ่อต่างแม่ ต่างหลักแหล่งที่มา
พร้อมๆกับการตัดสลับกับญาติพี่น้องที่รอติดตามข่าวและใช้ชีวิตโดยขาดเสาหลักของครอบครัว
อารมณ์ของซีรีย์เลยออกมาเนื่อยและอืดในบางช่วง ประกอบกับวิธีการเล่าของเรื่อง
ยังมีความเป็นNarrative Series ที่เอาคุณป้ามาบรรยายภาพกว้างๆ สลับเนือ้หา
เพียงแต่สัดส่วนของการเล่าดูจะลดนอ้ยลงเมื่อเทียบกับ Karei naru Ichizoku
แม้จะเป็นงานของผู้กำกับคนเดียวกัน บทของเรือ่งก็เป็นสิ่งที่พอจะคาดเดาไม่แปลกใหม่อะไร
ตามประสาแนวเจแปนดรีมหลังโพสต์วอร์ ที่ต้องการปัจเจกสักคณะหรือใครสักคน
ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก เพื่อที่จะมีที่ยืนอยู่บนเวทีนานาชาติและภารกิจนั้นจะต้อง
เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ชาติอีกด้วย อีกทั้งการวางพล็อกสลับล่อหลอกที่ซีรีย์ญี่ปุ่นนิยมใช้
ไม่ว่าจะเป็น ตัวละครปริศนา ความสัมพันธ์โดยบังเอิญ การเล่าเรือ่งเพียงบางส่วน
หรือการสร้างสัญลักษณ์ที่จะไปคลี่คลายเหตุการณ์ ล้วนเป็นสิ่งที่ซีรีย์แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์
ซึ่งเข้าใจว่า ผู้กำกับต้องการอนุรักษ์แบบแผนเพื่อสอดรับกับความเป็นงานครบรอบสถานี
เพื่อสร้างความแตกต่างเมื่อเทียบกับงานซีรีย์ปกติทั่วไป แม้ตัวงานจะมีเสน่ห์ในแบบเฉพาะของมัน
และก็อีกนั้นแหละ ปัญหาความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของคนยุคเบบี้บูม
บางทีก็อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าบางอย่าง ที่คนรุ่นปู่ย่าได้เผชิญผ่านร้อนผ่านหนาว
อาการชวนอินหรือชวนติดตามก็อาจจะแผ่วไปตามลำดับการณ์ หรือถ้าคิดแบบคนที่ไม่แคร์
พระเอกเพราะมีคนรักเยอะแล้วอย่างผู้เขียน ก็อาจจะให้มองอีกอย่างได้ว่า "ป๋ายะขาลง"
(โดยหยิบยกอุทาหรณ์สองงานล่าสุดจากซีรีย์Moonloverและหนังใหญ่The Battleship Yamato
ที่เสียงวิจารณ์ไม่ค่อยจะเสนาะหู ฟังดูแล้วยิ่งเกิดอาการต้อแต้)








แต่บางท่านอาจจะเถียงในใจว่า จะอะไรนักหนา
ไม่รู้รึว่า สมัยนี้ดาราหน้าไหนๆเขาก็ได้รับผลกระทบจากกระแส
หน้าจอทีวีไม่ปลื้ม เพราะมีอะไรนอกจอโน้นนี้นั้นให้น่าสนใจยิ่งกว่า
ซึ่งอันนี้ก็ถือเป็นสัจจธรรมเรื่องจริงอยู่อย่างหนึ่ง แต่ทว่า
หาใช่จะเกิดขึ้นกับคนทุกคน อย่างน้อยๆล่าสุดดาราเก๋าร่วมรุ่นป๋ายะ
"มัตซุชิมะ นานาโกะ" (คนที่เล่นเป็นครูอาซึกะใน GTO)
ก็สร้างปรากฎการณ์ประวัติศาสตร์เรตติ้งตอนอวสานตลอดกาลในปีนี้
โดยพาให้ซีรีย์แห่งค่าย NTV เรื่อง Kaseifu no Mita ดราม่าซีรีย์
เกี่ยวกับแม่บ้านปริศนา ติดอันดับสามเรตติ้งพุ่งพราวตลอดกาล โดยเฉพาะ
ในสุดท้าย ยอดกระโดดถึง ๔๐% ในเรตนักชมเฉพาะเขตคันโต
แซงหน้าอดีตอันดับสามตลอดกาลแห่งค่ายTBS เรือ่ง3 nen B gumi Kinpachi Sensei
ที่เคยทำไว้ที่ ๓๙.๙% ทำให้ Kaseifu no Mita เป็นรองเพียงแค่
Tsumikikuzushi Oya to Ko no 200-nichi Senso‘ (TBS ๑๙๘๓) ที่ทำไว้สูง
จนยากจะทำลาย ๔๕.๓% และ Beautiful Life‘ (TBS ๒๐๐๐) ที่ ๔๑.๓%
ถือเป็นปรากฎการณ์กว่าสิบสองปี ที่เรตติ้งพรวดเกินร้อยละ๔๐
ครั้งสุดท้ายทีทำได้ ก็มาจากเรื่องที่ป๋ายะท่านแสดงไว้ในBeautiful Life เดือนมีนาปี ๒๐๐๐
ทั้งๆที่เริ่มต้นKaseifu no Mita ก็ไต่ระดับที่สถานีน่าพอใจไว้ที่ ๑๙.๕
แต่เมื่อฉายมากตอนเข้าระดับเรตติ้งก็ค่อยเพิ่มสูงขึ้นไม่มีตก จนล่าสุดก่อนอวสาน
เรตติ้งมาชันไว้ที่ ๒๘.๖ ทำลายคำสาปที่ขาประจำปรามาสไว้ว่า
ร้อยละ ๑๕ได้ก็เรียกว่า "ฮิต" แล้ว แต่ถ้าได้สัก ๒๐ ก็ต้องต่อท้ายไว้ว่า "ฮิตมว้ากก"
("a drama with 15% or more viewership ratings is considered to a hit,
and a drama exceeding 20% is considered to be a huge hit")







เมื่อไปย้อนข้อมูลที่เว็บบอร์ด jdorama เขาเม้าท์กัน
ถึงพอได้รู้ว่าซีรีย์เรือ่งนี้ เป็นการดัดแปลงมาจากฉบับภาพยนตร์สุดอมตะในปี ๑๙๘๓
ที่ชื่อเกือบคล้ายกันNankyoku Monogatari(South Pole Story) ซึ่งกำกับโดยโคเรโยชิ คุราฮารา
(หาดูได้ในYoutubeมีสับยอ่ยเป็นตอนๆ รวมด้วยกัน๑๖ คลิปในล็อกอินของFriendroid
แต่เรื่องนี้อเมริกันร้านแผ่นเขาจะรู้กันในชื่อ Antarctica ถ้าอยากรู้ก็คลิก ที่นี้)
ปู่เขาเพิ่งล่วงลับจากไปไม่มีวันหวนกลับในเดือนธันวา เมื่อปลายปี ๒๐๐๒ ศิริอายุได้ ๗๕ ปี
(ไม่ค่อยรู้ประวัติท่านนี้เท่าไรหนังเรื่องสุดท้าย Hiroshima (๑๙๙๕) เป็นงานกำกับคู่
กับผู้กำกับชาวแคนาดาRoger Spottiswoode ชื่อนี้แฟนเจมส์บอนด์น่าจะพอจำได้จาก
ตอนที่ชื่อTomorrow Never Dies) และแสดงนำโดยเคน ทากาคุระ ผู้ผลงานที่พอขุดแล้วคุ้น
ส่วนใหญ่จะหนักไปทางบทยากูซา พอรู้อยู่บ้างเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น The Yakuza(๑๙๗๔)
ที่กำกับโดยSydney Pollackและหนังอเมริกันฟิลม์Black Rain(๑๙๘๙)ที่กำกับโดยRidley Scott





เมื่อคลิกไปดูมาแล้ว โครงเรื่องมีส่วนคล้ายกับเวอร์ชั่นซีรีย์Nankyoku Tairiku อยู่มาก
เรียกว่าเห็นความต่างกันเพียงไม่กี่จุด โดยซีรีย์หนักไปทางใส่ไข่ให้รายละเอียด และหาคนหล่อๆ
หน้าเกลี้ยงมาเรียกลูกค้า ผิดกับNankyoku Monogatariที่เกือบจะเป็นโรดมูวี่แอนด์แอดเวนเจอร์
แต่ในหนังดูจะให้ความสำคัญกับภารกิจและกิจอันเป็นภาระที่ยากลำบาก
โดยเฉพาะเจ้าทาโร่กับจิโร่ (ถึงกระทั่งขึ้นหน้าปกโปสเตอร์ประมาณว่าตรูรอดแน่!) จนไปประทับใจ
น้ำหูน้ำตาไหลกระทบสะกิดติ่งหัวกำไรของดิสนีย์ จึงมีการดัดแปลงบทเป็นภาพยนตร์ในปี ๒๐๐๖
ที่คนดูหนังน่าจะรู้จักกันดีบิ๊กซีเนม่าก็เคยเอามาฉาย Eight Below ที่กำกับโดย Frank Marshall
และได้นักแสดงหน้าหล่อ Paul Walker มาเป็นพ่อพระ(เข้า)ใจหมาสายพันธ์ Alaskan Malamutes
แน่นอนเมื่อมาเป็นฮอลิวู้ด ทาโร่กับจิโร่ย่อมไม่เสนียดลิ้นมะกันชน เลยถูกตั้งชื่อใหม่ให้เป็น
Buck กับShadowแทน เห็นว่าเปิดฉายวันแรกก็ขึ้นอันดับหนึ่ง Box Office Mojo ยอดรวมรายได้กว่า
ร้อยยี่สิบล้านเหรียญ ไม่กี่ปีต่อมา Hachi พล็อกหมาๆจากญี่ปุ่นก็ถูกเอาไปหากินโดยฮอลิวู้ดอีกครั้ง






แถมเกร็ดก่อนปิดท้ายดีกว่า
เจ้าหมาลากเลื่อนที่ทับศัพท์เท่ห์ๆในซีรีย์เรียกว่าSakhalin Husky แต่ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์
กลับใช้ทับศัพท์โบราณอีกอย่างว่า Karafuto-Ken ซึ่งต่างก็มีความหมายเดียวกัน
คือ เอาความเหนื่อยของหมาเป็นที่ตั้ง เอาความสบายของคนโดยสารเป็นสำคัญ
และไหนๆก็สปอยล์ว่ากันขนาดนี้แล้ว งั้นก็บอกถึงอนุสรณ์สถานของวีรโฮ่งๆเสียเลย
เจ้าทาโร่ท้ายสุดก็ลงกลับคืนถิ่นและตายรังตรงมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ทุกวันยังพอ
เยี่ยมชมร่างไร้วิญญาณได้ที่พิพิธภัณฑ์มหาลัย ส่วนจิโระเห็นว่ากลับไปตายที่แอนตาร์กติกา
สุดท้ายก็นำร่างมาประจำยังพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตรงอุเอะโนะพาร์ค
แล้วอย่าเผลอคิดว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่พิชิตขั้วโลกใต้เป็นผลสำเร็จหรอกนะครับ
เพราะว่าเมื่อไม่นานมานี้ เขาเพิ่งมีข่าวฉลองครบรอบร้อยปี โดยนายกฯนอร์เวย์ทำเก๋
เป็นประธานเปิดตัวสลักน้ำเเข็งครึ่งตัวของนายโรอาลด์ อมุนด์เซน นักสำรวจชาวนอร์เวย์
ที่พิชิตขั้วโลกใต้เป็นคนแรกการสำรวจขั้วโลก ก่อนหน้าคณะสำรวจของนาวาโทโรเบิร์ต สก็อต
แห่งกองทัพอังกฤษเพียง๔ สัปดาห์ แถมซวยซ้ำเมื่อคณะสำรวจจากอังกฤษไปเสียชีวิต
ระหว่างทางกลับบ้านขณะที่อยู่ห่างจากสถานที่ปลอดภัยเพียงแค่๑๗ กิโลเมตรเท่านั้น
ผู้เขียนว่า ชีวิตของนาวาโทโรเบิร์ตน่าจะเอามาสร้างเป็นซีรีย์ เรตติ้งคงพรวดดีไม่น้่อยเลย



ทำให้ผู้เขียนนึกถึงหัวโปรย หลังหน้าคำนำในหนังสือ Steve Jobs by Water Isaacson ที่ว่า


"The People who are crazy enough to think they can change
The World are one who do"

(มีคนมากมาย ที่บ้าพอโดยคิดเอาเองว่าเขาจะเปลี่ยนมันได้
แต่ในโลกนี้มีเพียงคนเดียว ที่ทำได้จริง) ........








อ้างอิงข้อมูลโดย

Dramawiki,Dramacrazy,Jdorama,kpopgossip,Youtube,Tokyohive,IMDB,Asianmediawik,Wikipedia
and warinrada@bloggang




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2554    
Last Update : 23 ธันวาคม 2554 9:42:51 น.
Counter : 4093 Pageviews.  

4 Shimai Tantei Dan สี่ดรุณีคลี่คดีฆาตกรรม


"อาคากาวา จิโระ"

ถือเป็นมือป๊อปในแวดวงฆาตวรรณกรรมซีรีย์และจิตวิญญาณเร้นลับ
ที่บรรพภพนักอ่านแฟนชาวไทยให้กับยอมรับและถูกนำมาแปลหลายยุคหลายสมัย
ในหลายผลงานจากหลายๆสำนักพิมพ์ ก็ได้เสียงตอบรับดีมาโดยตลอด อาทิ
มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ และซายากะสาวน้อยนักสืบที่แปลโดยบลิสส์ พับลิชชิง
โอนุกิ สารวัตรจอมป่วน จากสนพ.เครือสสท,เอริกะ แวมไพร์ยอดนักสืบ
ที่แปลโดยสนพ.สยามอินเตอร์บุค หรือโทเซ็ทซึ ไคดัง จิโจ วิญญาณพยาบาล
จากสนพ.NB Horror เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อทราบว่าซีรีย์เรื่องที่จะนำมาเสนอในครั้งนี้ ก็เป็นหนึ่งในผลงานของป๋าจิโระ
ซึ่งนานๆครั้ง จะมีผลงานที่แปรเปลี่ยนจากหนังสือลงมาสู่พิภพซีรีย์ทางทีวี
ยอ่มที่จะไม่รอช้าโดยทันทีทันใด แม้ผลงานยุคหลังๆของแก ดูจะตีบต้นเนือ้หา
และไม่สาแก่ใจเมื่อครั้งก่อนๆนักก็ตาม






4 Shimai Tantei Dan ซีรีย์แนวคอเมดี้นักสืบจากค่ายทีวีอาซาฮีเจ้าถนัด
อีกหนึ่งผลงานจากต้นฉบับของอาจารย์จิโระ ที่ถูกดัดแปลงให้เข้ากับความเป็นซีรีย์ทีวี
(ต้นฉบับเล่มนี้ถูกแปลไทยโดยค่ายBliss ในชื่อซีรีย์ชุด "นักสืบสามใบเถา")
เป็นเรื่องราวแบบจบในตอน ของสี่สาวพี่น้องตระกูลซาซาโมโต้
ที่ต้องมาข้องเกี่ยวกับเหตุคดีฆาตกรรม และมาเกิดในตอนไหนไม่เกิด
ดันมาเกิดในช่วงที่่พ่อของพวกเธอมักจะไม่อยู่ติดบ้านเสียดว้ย
ดังนั้นพวกเธอทั้งสี่ จำเป็นต้องคลี่คลายคดีฆาตกรรมเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องสาวคนสุดท้อง ที่ดูจะเป็นตัวเดินเรื่อง
และมีเซนท์ในการสืบหาพยาน หลักฐานและมูลเหตุจูงใจ ที่มักจะแย่งซีนจาก
เหล่าบรรดาตำรวจนักสืบที่รับทำคดี จนเป็นที่น่าหมั่นไส้กันทั้งกรมกอง
โดยที่ผู้เขียนอยากจะบอกว่า ตัวเองชอบมากกว่าในฉบับตัวต้นฉบับหนังสือเสียอีก



แต่ด้วยมีการปรับเปลี่ยนระหว่างตัวฉบับหนังสือกับสิ่งที่นำเสนอในซีรีย์อยู่พอสมควร
โดยเดิมทีในหนังสือนั่นมีเพียงแค่ "สามพี่น้อง" ก็พอขายได้แล้ว แต่ในเวอร์ชั่นของซีรีย์
ค่ายอาซาฮีทีวี ใจปล้ำกลัวขายไม่ออกจึงใหม่เพิ่มมาเป็น "สี่พี่น้องสุดสวย"
แห่งตระกูลซาซาโมโต้ ให้กล้้วน้ำลายเล่น อันประกอบไปด้วย



YUI - Namidairo from Tenjin on Vimeo.




พี่สาวคนโต มาริ (แสดงโดยนากาโกชิ โนริโกะ จาก Pride และ Trick 2)
มีอาชีพแอร์โฮสเตสวัยยี่สิบสี่ ที่ต้องดูแลพี่น้องอีกสามคนที่เหลือยามที่่พ่อไม่อยู่
เป็นคนที่พี่น้องให้ความเคารพตามหลักอาวุโสและคุณวุฒิ
มาริจึงเป็นตัวแทนของความเป็นแม่ ในเรื่องของการดูแลน้องๆ
ถึงแม้จะไม่ค่อยได้อยู่ติดบ้านเท่าไรนักและให้ความหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องดูตัวและเนื้อคู่
หลายครั้งก็เข้าข่าย เห็นเพื่อนชายนอกไส้มากกว่าน้องสาวในไส้
ระดับการพึ่งพาในทางคดี ถืออยู่ในระดับที่พอพึ่งพาแต่ทว่าหาจับไม่ค่อยจะเจอ



ในหนังสือ แม้จะมีพี่สาวคนโตอยู่ก็จริง แต่ในแง่บุคลิกตัวละคร
กลับไม่มีตัวตนตามอย่างในหนังสือ เป็นการถูกสร้างใหม่เพื่อมาเสริมอรรถรสของเรื่อง
ซึ่งก็ถือว่าเข้าท่าดี อย่างน้อยๆ ก็มีคนที่ค่อยคุมหางเสือพี่น้องมิให้เหลวไหล
ต่างกับในหนังสือ ที่อลหม่านโหวกวากไปตามอัตตาของแต่ละคน
จนเหมือนจะฆ่ากันตาย มากกว่าจะสืบหาการตายจากการฆ่าเสียนิ






พี่สาวของที่สอง อายาโกะ (แสดงโดยคาโตะ นัทสึกิ จากHana Yori Dango 2)
นักศึกษาในสถาบันมหาวิทยาลัยวัยยี่สิบเอ็ด ที่แม้จะบรรลุนิติภาวะ
แต่ก็ยังทำตัวเหมือนเด็ก ขี้แหย่ หวาดกลัวไปสักทุกเรื่องและไม่กล้าตัดสินใจ
ปล่อยเกียร์ว่างว่าแย่แล้ว แต่ชีปล่อยเบรคเข้าข่ายใส่เกียร์ถอยอย่างเดียว
จนทำให้คุณน้องต้องหันมาปลอบปนตะหวาด ในยามที่ขอความร่วมมือเพื่อสืบคดี
กระนัน้ ก็เป็นคนนิสัยดีที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นแบบไม่คิดเล็กคิดน้อย
และความบ๋ำๆเป๋อๆ ของเธอ บางทีก็เป็นโชคในการสืบเบาะแส
แต่มีไม่น้อยบางที ก็กลับเป็นการสร้างปัญหามากขึ้นไปกว่าเดิม
อายาโกะจึงมีความเป็นตัวแทนของแม่ในด้านความอ่อนโยนและทำอาหาร



ในหนังสือ จริงๆแล้วอายาโกะจะต้องเป็นพี่สาวคนโต ซึ่งตัวละครตัวนี้
จะน่ารำคาญมากสำหรับนักอ่าน เพราะเหมือนเหตุการณ์จะทำท่าว่ารุดหน้า
จำต้องมาสะดุดกับเจ๊ที่เป็นพี่ใหญ่คนนี้เสียทุกที แต่พอถูกลดโทนและตำแหน่ง
ในซีรีย์เปลี่ยนมากลายเป็นพี่คนรอง จึงพอให้อภัยเพราะไม่ได้เป็นหัวเรือใหญ่
ไปตามเวรกรรมที่ดันสะเออะเกิดมาเป็นหัว แต่นิสัยใจอย่างกับตาตุ่ม
การได้นัตสึกิมาเล่น ก็ดูโอเคในความรู้สึกเพราะชีดูแหย๋รับกับใบหน้าแงๆของเธอ






พี่สาวคนที่สาม ทามามิ (แสดงโดย อิชิกาวา ยูอิ จากH2และRESCUE)
มือบัญชีเข้าออกประจำบ้านวัยเพียงสิบเก้า ที่งกเรื่องเงินยิ่งกว่าเรื่องใดใด
หายใจเข้าก็ตังค์ หายใจออกก็เงิน ในหัวมีแต่เรื่องขาดทุนกับกำไรโดยตลอด
ไม่ให้ความสนใจในเรื่องเนือ้คู่ หรือถ้าจะมีก็ต้องดูมูลค่าของสินสอดเป็นอันดับแรก
แต่ในเแง่ทุ่มเทให้กับเพื่อนสนิทแล้ว ถึงไหนถึงกัน (ยกเว้นตอนเช็คบิล)
โดยนิสัยแล้ว จึงไม่ค่อยไปคลุกคลีข้องแวะกับใครเท่าไรนัก (และใครก็ไม่อยากยุ่งด้วย)
ถือเป็นบทแปลกๆ ที่ไม่นึกว่าหนูยูอิจะกล้าเล่นเพราะดูจะไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์
ในทางที่ดีนัก แต่จะส่งผลดีในแง่ของความฮาจากความขี้ตืดชนิดทะเลเรียกแม่
ทามามิจึงเป็นตัวแทนของความเป็นแม่ในเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่าย
ระดับของการพึ่งพาทางคดี ถือว่าช่วยได้มากในบางเคสต์ (ก็ต้องขึ้นกับ
การติดปลายนวมเป็นสำคัญ หรือไม่ก็เอาเงินของครอบครัวฉันคืนมา!)



ในหนังสือ จริงๆแล้ว ตัวละครตัวนี้ก็ยังเป็นชื่อทามามินั้นแหละ
แต่ในลำดับชั้นแล้วเธอจะเป็นน้องคนสุดท้อง (ในหนังสือมีแค่สามพี่น้อง)
ซึ่งในหนังสือถือเป็นคนที่เอาแต่ใจเป็นอย่างมาก ตามประสาน้องคนเล็ก
ทว่าในซีรีย์ ก็มีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นคนหมกมุ่นเรื่องของตัวเลข
จนเกือบจะกลายเป็นยายเพิ้งนักบัญชี ก็ยังนึกแปลกใจว่ายูอิจังมารับบทนี้ได้อย่างไร




แต่สุดท้าย ใครไหนก็ไม่เท่ากับน้องคนสุดท้อง ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง






น้องคนเล็ก ยูริโกะ (แสดงโดยอิโดยุ คาโอะ จากEngineและOtomen)
เด็กมัธยมปลายวัยสิบเจ็ด ที่มีนิสัยสอดรู้สอดเห็นและรั้นดันทุรังในการสืบหาความจริง
แม้จะต้องเผชิญกับการฆ่าปิดปาก จนอาจจะมีภัยทั้งต่อชีวิตตนเองและครอบครัว
แต่ชีก็มีความกล้า ที่จะไปชี้หน้าแล้วบอกว่าใครคือคนร้าย อย่าไม่แคร์หน้าอิฐหน้าปูน
การทำอะไรโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง จึงมักสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ที่ตามมาปกป้องและกับบรรดาพี่สาวทั้งสามในฐานะผู้ปกครองตามสายพันธ์
และถึงแม้เธอจะมีพรสรรค์ในเรื่องของการคลี่คลายคดีฆาตกรรม แต่ด้วยปัญหา
การออกหนังสือไม่แตก ก็ทำให้สาวมั่นออกอาการเป๋อยู่บ่อยครั้งในหมู่ธารกำนัล
ยูริโกะจึงไม่มีตัวแทนใดใดของความเป็นแม่ ตรงกันข้ามกับทำให้ตัวแทนของความเป็นแม่
จากพี่ๆทั้งหลาย เฉิดฉายได้ด้วยวีรกรรมห่ามๆของน้องคนสุดท้องเสียทุกคราว




ในหนังสือ ยูริโกะควรจะเป็นพี่คนกลาง ไม่ใช่น้องคนเล็ก
และสัดส่วนในการเป็นตัวดำเนินเรือ่ง ในหนังสือยังพอมีกระจายกันไป
แต่ในซีรีย์ ทางสถานีกะปั้นให้ชีได้เกิดซึ่งก็ได้ผล เพราะคาโฮะเธอเป็นแม่เหล็กของเรื่อง
จนทำให้พี่ๆทั้งสาม มีสภาพกลายเป็นตัวประกอบของเรื่องไปแบบไม่รู้ตัว
แม้แต่ผลงานการ์ตูนสุดดังที่ลงจอเป็นซีรีย์อย่าง Otomen ของค่ายฟูจิ
ก็ไม่ทำให้อัตราความน่าติดตาม เทียบเท่ากับที่ได้ยลเธอจากซีรีย์เรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ในEngine เธอก็ยังตัวหน๊อยๆไม่ค่อยได้มีบทพูดเท่าไรนัก
พอมาเรือ่งนี้ ชีนี้จ้อเป็นต่อยหอยซัดกันซะอร่อยปาก แถมคอสตูมก็จัดเจ็บไม่ซ้ำชุด
ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ในแง่ลุกส์สไตล์ เรียกว่าเปลี่ยนกันฉากต่อฉาก
จนบางทียังรู้สึกว่า ถ้ายูริโกะไม่ใช่คนบ้าแฟชั่น ก็แสดงว่าผู้อุปการะเสื้อผ้าห้องคุณ
น่าจะเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ให้กับซีรีย์ฆาตกรรม ซึ่งดูไม่เข้ากับแนวของเรื่องเอาสักเลย
หรืออาจจะเข้าก็ได้ แต่ก็ไม่เห็นเหตุผลของการทีต้องเปลี่ยน ถึงจะส่งซักก็เหอะ







lt's obvious because we're all connected.

(ม้นชัดเสียยิ่งกว่าชัดอยู่แล้ว ว่าเราเป็นพี่น้องกัน)

l'm not talking genetically,l mean.We're connect because we care for each other.

(พี่ไม่ได้พูดอย่างงี้เพียงเพราะว่าเป็นเหตุจากพันธุกรรม พี่หมายถึง
เราสื่อถึงกันได้เพราะว่าเราแคร์กันและกัน)

lt's very scary to lose someone you care about.
lt's hurts when someone you care is hurt.You're also our very precious sister.

(มันน่ากลัวนะ ที่เราจะสูญเสียใครสักคนที่กำลังแคร์เขาอยู่
มันเจ็บปวดยามที่ใครสักคนที่เราแคร์เกิดบาดเจ็บขึ้นมา
เธอเป็นน้องสาวที่มีค่ายิ่งของพวกพี่)


So from now on,Don't do something dangerous.Don't forget that someone care you.

(ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ห้ามไปทำอะไรที่อันตราย และอย่าลืมว่ามีใครบางคนที่แคร์เธออยู่)






ซีรีย์ก็พยายามเพิ่มเสริมอรรถรสของตัวละครเสริมตามโครงรสของเมอเดอะคอเมดี้
เช่น ป้าที่เป็นพี่สาวของแม่ที่อยากให้สี่สาวพี่น้องเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของทางฝ่ายตน
และให้อุปการะที่พักพิงหลังจากคดีแรก ที่ทำให้บ้านของพวกเธอถูกเผาและทางพ่อ
ของพวกเธอถูกปักปำ โดยที่ป้าเองก็มีกิ๊กที่มาเกาะแกะหลอกรับประทาน ซึ่งเล่นโดย
ป้าชิเกรุ กับ ลุงคัตสึฮิโระ ที่วันๆไม่มีบทอะไรมากไปกว่า
ลุงขอตังค์ซื้อกล้อง ส่วนป้าก็เพ้ออะไรไปเรื่อย
แม้แต่ตัวละครที่คาดหวังว่า น่าจะมีอะไรมากไปกว่านี้ อย่างบทพ่อของสี่สาว ที่รับบทโดย
"ลุงนาโอโตะ" ก็มีแต่โผล่แว้บเป็นบางตอน จนน่าจะเรียกว่าเเขกรับเชิญเสียมากกว่า
ส่วนบทรองที่ทำให้ดูอับเกรดหน้าตาขึ้น เห็นจะหนีไม่พ้นคุณตำรวจนักสืบสุดหล่อ
ที่รับบทโดย โยชิซาวา ฮิสาชิ จากBloody MondayและSmile
เออ...เล่นเรื่องอื่นๆก็ธรรมดาแบบปลาบู่ชนเขื่อน ปลากระโฮโต้คลื่น ลิงอมแฮกค์
แต่พอมาจัดทรงโชว์ออฟ มันก็ทำให้พี่่ท่านดูดีมีราคาขึ้นมาได้เฉยเลย
จะว่าไป ครั้งหนึ่งพี่เขาก็มีดีกรีเป็นพระเอกจากซีรีย์ชื่อดัง "ยุ่งชะมัดสัตว์แพทย์"
(Animal Doctor) แต่จากนั้นก็ค่อยๆเขยิบกลายเป็นดารารองๆ การได้มาเล่นเรื่องนี้
ก็เป็นการกลับมามีน้ำมีเนือ้อีกครั้ง แม้โดยวัยแล้วไม่น่าจะสนิทจี๋จ๋ากับนางเอก
วัยสิบเจ็ดของเรือ่งได้เลย
พอๆกับเพลงปิดท้าย Namidairo ที่ร้องโดย Yui ที่แม้คอนเซปต์ของนักร้องจะพอเข้าใจได้ว่า
ต้องการสะท้อนตัวตนของเด็กสาวที่กำลังเติบโต แต่ทว่าทำนองเพลงมันเศร้าเกินกว่า
ที่จะเอามาใส่ให้กับซีรีย์คอเมดี้ฆาตกรรมเรื่องนี้ อุตสาห์ฟังไปสิบตอน
ใจมันก็ไม่อาจจะกลืนรับไปได้ ถ้าเอาซิงเกิลถัดมาอย่างSummer Song ก็ว่าไปอย่าง







สารภาพเหอะว่า ในฉบับหนังสือ "นักสืบสามใบเถา" เล่มแรก
ผู้เขียนก็ตายไปตั้งแต่ครึ่งเล่มแล้ว เพราะรู้สึกมันจะรกรุงรังเสียจนไม่นึกว่า
จะเป็นหนังสือแนวคดีฆาตกรรมสอบสวน แม้แต่ในแง่ของความเป็นคดี
ก็ไม่ได้มีอะไรที่แปลกใหม่ ยังคงเป็นเรือ่งตามแบบทั่วๆไป ที่วังวนในเรื่อง
ชู้สาว ขัดผลประโยชน์ และไฟฟ้าลัดวงจร เอ้ย!ความแค้นสว่นตัว
ซึ่งจริงๆวังวนแบบนี้ ก็รับได้อยู่นะเพราะในโลกความเป็นจิรง
เวลาที่เจ้าหน้าที่สรุปสำนวน ก็มักไม่พ้นเข็มทิศประเภทนี้ซึ่งเป็นเรือ่งเข้าใจได้
จึงมีความพยายามในยุคหลังๆ ที่จะทำให้ "ตัวเดินเรือ่ง" หรือ "ตัวละคร"
กลายเป็นสิ่งที่มีสีสันแทนที่ "คดีการฆาตกรรม" และ "การอำพรางคดี"
ที่ชักจะตีบตันและหาแก๊กใหม่ๆ ที่มีความสมเหตุสมผลได้ยาก
(มันก็เลยมีการโปรยหัวโดยเอาไสยศาสตร์เป็นที่ตั้ง ตามด้วยการคลี่คลาย
ด้วยชุดคำตอบทางวิทยาศาสตร์ แบบที่มีให้เห็นใน Galileo,Puzzle
Kiina,Mr.Brain) อีกสูตรหนึ่งที่ค่ายอื่นนิยมกันมาก ก็คือ ดารารับเชิญ
แต่ความที่ฮาซาฮีทีวีเป็นค่ายเล็ก ฐานคนดูมีจำกัด
4 Shimai Tantei Dan จึงแทบจะไร้จุดขายซึ่งในเรือ่งของดารารับเชิญ
ที่เป็นตัวดึงเรตติ้งตอนต่อไป อีกทั้งในแง่การจั๋วหัวคดีที่พัวพันไม่ผลเรือ่งของบุคคล
การพยายามที่จะขายสี่พี่น้องตระกูลซาซาโมโต้ จึงต้องพยายามเค้นในทุกรูปแบบ
ไม่ว่า เสื้อผ้าหน้าผม เปิดโน้นนิดนี่้หน่อย ปรับเปลี่ยนโลเกชั่นโน้นนี้นั้น
ซึ่งมือดัดแปลงบท "ฟูกุดะ ทาคุโระ" ก็ลดความเยิ่นเย้อบางส่วนของฉบับหนังสือทิ้งไป
แล้วพยายามใส่ไข่เพิ่มรสชาติของตัวละคร แต่ก็ถือว่ามีสัดส่วนควบคู่พอๆกัน
จนไม่รู้สึกเลอะเทอะเปรอะแบบ Unubore Deka จนหาความเป็นซีรีย์ฆาตกรรมไม่เจอ
ทำให้Fugo keiji งานอีกชิ้นของมือเขียนบททาคุโระดูจะน่าติดตามตามไปด้วย มิใช่อะไรหรอก
เพราะมีหนูเคียวโกะ ฟุคุดะ ดาราคุ้นเคยมารับบทลูกคุณหนูที่ต้องสืบคดีฆาตกรรม
ซึ่งก็ยังเป็นของค่ายอาซาฮีทีวีเจ้าประจำ จนไม่รู้ว่าจะเป็นซีรีย์ฆาตกรรมเรื่องที่เท่าไรแล้ว





เหตุที่พล็อกฆาตกรรมดูจะสามัญและแลดูไม่อดรีนาลีนเปล่งปลั่ง
เพราะวรรณกรรมชิ้นที่ว่านี้ มันไม่ได้ใหม่เพื่อตอบโจทย์ต่อคนยุคนี้
อีกอย่าง 4 Shimai Tantei Dan ที่ทางค่ายอาซาฮีทีวีเอามาทำ
ก็มิใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ทางค่ายเอ็นทีวีก็ได้นำวรรณกรรมชิ้นนี้มาสร้าง
เมื่อสิบปีก่อนหน้า ในชื่อคล้ายกันต่างกันแค่ตัวหน้า San Shimai Tantei Dan
ครั้งนั้นยังอนุรักษ์นิยม จัดไว้แค่สามตัวละครพี่น้องตามแบบวรรณกรรม
โดยได้สามดาราสาวตอนนั้น อย่าง สุซุกิ รานราน (เห็นเล่นใน Osen)
โยชิกาวา ฮินาโนะ (เห็นโผล่ในGolden Bowl)และ โนมุระ ยูกะ (เห็นครั้งสุดท้ายใน
Kyumei Byoto 24 Ji 4รับเชิญตอนที่หก) หนุกไหมไม่รู้เพราะไม่เคยได้ดู
ก็ชักหวาดๆอีกเช่นกันว่า ในสิบปีตอ่ไปข้างหน้ามีการโครงการสร้างกันต่อ
น้องคาโฮะของผู้เขียนคงจะหายจากวงการอย่างเงียบ เมื่อกับป้าทั้งสามดั่งที่ได้เอ่ยมา





ตลอดเกือบทั้งชีวิตของอาคากาวะ จิโระ มีผลงานการเขียนมาไล่เลี่ยเกือบจะครึ่งพันเข้าไปแล้ว
ถ้านับเอาเฉพาะงานที่ถูกเอาทำมาเป็นซีรีย์ทีวี เท่าที่สืบหาก็น่าจะมีเพียงไม่กี่ชิ้น
Futari ในปี ๙๗ของค่ายอาซาฮีทีวี ที่เป็นเรื่องของสองสาวชิซึโกะที่เป็นพี่สุดแกร่งกับน้องสาว
มิกะที่สุดจ๋อย จากนั้นสิบปีต่อมาทางค่ายทีวีโตเกียวก็จัดรวมมิตรแนวหยดหยองจากเรื่องสั้น
ของแก ที่ชื่อShukan Akagawa Jiro แบบตอนละคนคนละตอนรวมได้สิบสามตอน
และอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้เขียนเคยรีวิวเมื่อกลางปี ซึ่งเพิ่งมารู้อีกทีว่าเป็นงานเขียนของอาคากาวะ จิโระด้วย
คือเรือ่งSailor Fuku to Kikanjuหรือ ยากุซาคอซอง ที่มีการรีเมกกันแล้วหลายครั้ง
อันเนื้อเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการฆาตกรรมแต่เป็นดราม่าแฟมิลีชั้นดี
ที่ต้องขยี้ตาซ้ำหลายครั้งเมื่อเห็นชื่อ ถึงได้รู้ว่าหมอนี้ครั้งหนึ่งก็เคยเขียนอะไรที่เป็นดราม่าได้ดี
แต่ก็เอาดีไม่เท่าขุดศพหากิน ที่ดูจะเวิร์กกว่า........








ข้อมูลอ้างอิง

Dramawiki ,Jdorama ,Wikipedia and //glorfindel.exteen.com





 

Create Date : 11 ธันวาคม 2554    
Last Update : 12 ธันวาคม 2554 21:01:06 น.
Counter : 3036 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.