A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 

Shinzanmono ยอดนักสืบโอทอปส์


ระยะนี้ดูซีรีย์ญี่ปุ่นแนวสืบสวนสอบสวน เสียเต็มหลายสวน
ที่กองไว้อยู่หน้าตัก ก็มี Conceited Detective ,Meitantei no Okite
Tantei Gakuen Q และ shinzanmono
แต่ครั้งนี้ จะขอร่ายในส่วนของซีรีย์ที่คิดว่าน่าสนใจร่าย เอาไว้ก่อน
เหตุที่มันน่าสนใจนะเหรอ ด้วยดัชนีวัดจริตส่วนตัว แบ่งความต้องการได้เป็นสี่อย่าง



ประการแรก มาจากต้นฉบับคนเดียวกันกับที่เขียนเรือ่ง Gelileo
ประการที่สอง ผ่านมือผู้กำกับอย่าง หมอจิน และมิสเตอร์เบรนด์
ประการที่สาม เราจะได้เห็นลุงอาเบะ รับบทแนวๆเหมือนครั้งหนึ่งใน Dragon Zakura
ประการที่สี่ที่สำคัญไม่แพ้กับสองประการแรก คือ ได้นางเอกหน้าคม "คุโรกิ เมอิสะ"
ทื่เพิ่งขี่ยานลงโรงบ้านเรา ใน Spaceship Battle Yamato มาแย่งซีนดารากับเขาด้วย




Shinzanmono ในความหมายของภาษาญี่ปุ่น
หมายถึง ฉายานามที่ยกให้สำหรับผู้มาใหม่ (newcomer) ในที่นี้ก็คือ
"ลุงฮิโรชิ อาเบะ" ที่รับบท ตำรวจนักสืบช่างสังเกตุสังกา "คางะ เคียวอิชิโร่"
ผู้ต้องมาสืบสวนการฆาตกรรมของหญิงสาววัยกลางคนคนหนึ่ง
ในย่านนินเกียวโช เขตพื้นที่เมืองนิฮอนบาชิ -โตเกียว
แต่เงื่อนงำบางอย่างที่ถูกปกปิดเอาไว้ ท่ามกลางเขตย่านเมืองของตัวชุมชนอันสงบ
นักสืบหน้าใหม่แต่เก๋าเกมส์อย่าง เคียวอิชิโร่
จำต้องสืบสาวราวเรือ่งถึงที่มาที่ไป ความสัมพันธ์ของผู้ตาย
ในช่วงเวลาสุดท้ายกอ่นเกิดเหตุฆาตกรรม ทั้งในฐานะตัวพยาน
และปมเหตุของแรงจูงใจในการฆาตกรรม อันนำไปสู่การหาฆาตกรตัวจริง





"People lie to escape from their sins and to live their lives
lie is a shadow of trust.

(ผู้คนต่างโกหกเพื่อจะหลุดพ้นออกจากบาปที่เขาสร้างขึ้นและกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ
การโกหกจึงไม่ต่างอะไรไปจาก การเป็นเงาของความจริง)

it's weak, yet strong , it's gentle, yet sad

(แม้อ่อนนอกแต่ก็ยังแข็งใน ดูหน้าชื่นแต่ข้างในแสนอกตรม)

there are many kinds of truth in a lie and you know it all.

(มีสรรพสิ่งของความจริงอีกมากมาย ที่ล้วนเป็นแรื่องที่หลอกหลวง และคุณจะได้รู้มันทั้งหมด)




ครับ เรือ่งราวซีรีย์มีเท่านี้จริงๆ แต่เอาเข้าจริง
Shinzanmono ทำไมถึงโดดเด่นไปกว่าซีรีย์เเนวสืบสองสวน
แล้วมานั่งล้อมรั้วหลังจากเกิดเหตุ ด้วยวิธีการเล่าเรือ่งที่ไม่ได้มุ่งเน้นตาม
แนวสืบสวนทีละเคสต์แบบจบในตอน โดยแยกชำแหละกันเป็นกรณีๆไป
เพราะส่วนใหญ่ตามที่เข้าใจ ซีรีย์ญี่ปุ่นแนวนี้
มักจะนำเสนอการคลี่คลายเหตุฆาตกรรม แบบ "ศพละตอน"
เพื่อให้พระเอกนางเอก ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ความเฉลี่ยวฉลาดแบบโชว์พาวด์
อย่างที่เคยเห็นใน Mr.Brain ,Puzzel,Galileo เป็นต้น
จึงหนีไม่พ้น ที่จะต้องมีแขกรับเชิญประเภท "เชิญมาเป็นชั่วคราว ก่อนที่จะตายนานๆ"
หรือจะติต่างเอาก็ได้ว่า เชิญมาเป็น "อาจารย์ใหญ่" ให้กับงานสืบสวนคลี่คลายปม
แต่ใน Shinzanmono กลับสร้างกรรมวิธีที่ต่างไปกว่านั้น
เพราะในตลอดทั้งสิบตอน มีแค่เพียงศพเดียว ซึ่งก็เป็นหญิงวัยกลางคนปริศนา
ซึ่งปรากฎการตายตั้งแต่นาทีแรก จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการสืบเสาะเลาะหาความจริง
ทั้งในสว่นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายในวันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม
ตลอดรวมถึงญาติสนิทมิตรครอบครัว ที่อาจจะเป็นมูลเหตุฆาตกรรมอำพรางคดี
ซึ่งทั้งหมดนี้ นักสืบเคียวอิชิโระจำต้องตีแผ่คดีโดยการรวบรวมข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติม
โดยมุ่งประเด็นที่เกี่ยวกับตัวผู้ตาย เพื่อนำไปสู่เงื่อนงำบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกัน
แนวทางการสืบสวนที่ฉีกกรอบจากแนวทางของสำนักงานตำรวจทั่วไป
ทำให้เขาเข้าถึงความจริงของผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ ซึ่งทุกคนต่างก็เก็บงำความลับ
ส่วนบุคคลที่ไม่อาจเปิดเผยให้ทราบได้ ซึ่งเป็นผลให้คดีมีความซับซ้อนยากยิ่งไปกว่าเดิม
ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้ต้องสงสัย ความเกี่ยวข้องแบบไม่เป็นทางการกับผู้ตาย
และการคลี่คลายเงือ่นปมไปทีละเปาะ โดยจะไปเกี่ยวโยงกับผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ
ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมด ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์ซึ่้งกันและกันในขอบเขตท้องที่นินเกียวโช
ย่านเล็กๆ ที่ผู้ต้องสงสัยทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องมาตะลึงงันในแนวการสืบสวนแบบแนวๆ
ของนักสืบเคียวอิชิโระ ว่าความสามารถในเชิงสอบสวน(แฝงด้วยความเจ้าเล่ห์)เช่นนี้
ไม่น่าเชือ่ที่จะมาเป็นเพียงแค่ตำรวจสอบสวนต๊อกต๋อยในเมืองเล็กๆ เช่นนี้ได้เลย





ใครที่เคยชอบการแสดงของลุงอาเบะ ในบท ครูทนายจอมเหี้ยบซากุรางิ เคนจิ
จากซีรีย์ Dragon Zukura ของค่าย TBS เมือ่สักหกปีก่อน
มาคราวนี้ลุงท่านก็งัดกระบวนท่านั้น มาตอบสนองมิตรรักแฟนลุงแบบเท่ห์แต่มีท่า
อีกทั้งบทในเรื่องก็ทำให้ลุงแกดูโชว์เหนือ แบบไม่ต้องแอ็คชั่นโชว์พาวด์อะไรมากมาย
จึงเป็นการแสดงที่เสมือนดูประหนึ่งว่า "เหนื่อยน้อย" แต่ทว่าส่งผลออกฤทธิ์ต่อความรู้สึกค่อนข้างมาก
เป็นความนิ่งที่สยบความเคลื่อนไหวภายในใจของคู่ต่อกร ที่้ร้อนรนไปด้วยความลับที่จำต้องเก็บงำ
และต้องทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นอะไร ซึ่งไอ้ความไม่รู้ไม่เห็นนี้แหละ
ที่ไม่เคยรอดสายตาที่จดจ้องตรงเขมง ของนักสืบมาใหม่เคียวอิชิโระได้เลย
และอาเบะก็มีพลังของเซ้นต์มิติพิเศษในจุดนี้ ยิ่งเสริมความนิ่งของตัวละครที่บอกอะไรไม่ชัด
เลยทำให้ตัวละครนักสืบที่ลุงอาเบะรับเล่น มีชั้นเชิงพันลึกที่คนดูอย่างเรารู้สึกได้เลยว่า
ถ้าพระเจ้าหยั่งรู้ถึงความจริงในทุกสรรพสิ่งของโลก เคียวอิชิโระก็อาจจะหน่อที่ตกหล่นในย่านการค้า
ที่บังเอิญเกิดเหตุฆาตกรรมก็เป็นได้
ส่วนที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า นางเอกได้รึเปล่าสำหรับ คุโรกิ เมอิสะ ในบท
"อาโอยามะ อามิ" ตามบทแล้ว เธอเป็นเพียงนักข่าวท้องถิ่นที่ต้องประกอบอาชีพเสริม
ซึ่งมีคนรักเป็นเด็กหนุ่มมหาลัยผู้คลั่งไคล้การละคร "คิโยเซะ โคกิ"
ที่แสดงโดย โอซามุ มุไค (จาก Osen,Futatsu no Spica,Hotaru2)
แน่นอนว่าในบท คนทั้งคู่ถ้าเทียบบารมีแล้ว คงเป็นได้แค่พระรองของลุงอาเบะเขา
จนมิวายท้ายสุด ก็ต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวเนือ่ง
ซึ่งในอัตราความเป็นพ่อรองนี้ ก็สูสีกับ "มัตซึมิยะ ชุนเป" คู่หูของพระเอกเคียวอิชิโระ
ที่คุณน้องมิซึทาบะ จุนเป ยังคงหากินได้ดี
ในบทผู้ช่วยสืบสวนแบบทีเคยเห็นในซีรีย์ Boss อย่างที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่
ผู้เขียนออกจะตื่นตา ในสว่นของนักแสดงรองสมทบและแขกรับเชิญมากกว่า
เพราะใช้อัตราจ้างรวมพลคนรุ่นเดอะมากประสบการณ์ อาทิ
ลุงคิมุระ จากซีรีย์ Nobuta wa Produce ,ปู่อิซุมิยะ จาก หมอโคโตะ
ลุงมิอุระ จาก Flowershop without Roses ลุงโคบายะชิจาก Mr.Brain
คงไม่ต้องบอกนะว่า เป็นซีรีย์เจาะตลาดคนกลุ่มใด
ดังนั้นถ้าจะหาซีรีย์หล่อสวยใสอะไรเอ่ย ไม่เน้นสาระ ซีรีย์นี้คงมาไม่ถูกทางเป็นแน่





หากให้บอกถึงความชื่นชมส่วนตัวแล้ว
ถือได้ว่าบทเรือ่งนี้แข็งและรัดกุมแบบทำการบ้านได้ดียิ่งจากวรรณกรรมเล่มล่าสุด
ที่ชื่อ "Kyoichiro Kaga" ภายใต้เจ้าของบทประพันธ์ "ฮิกาชิโนะ เคอิโกะ"
ผู้เคยสร้างวรรณกรรมฟิสิกส์สืบ Galileo อันลือเลื่อง
ถึงขั้นตีพิมพ์เป็นภาษาไทยถึงสองเล่มพร้อมกัน
ขณะที่ภาคซีรีย์ไทยพีบีเอส ก็เข็นมาฉายทั้งปกติและสเปเชียลเมื่อต้นปีใหม่มานี้
จะเสียดายก็ตรง Galileo ฉบับหนังใหญ่กับยังไม่ได้รับโอกาสฉาย แม้อาทิตย์ที่แล้ว
ช่องเจ็ดจะได้นำ Hero the Movie มากำนัลสายตาท่านผู้ชมชาวไทย
(นอกจากนี้ รวมถึงซีรีย์อย่าง Byakuyakō และต้นฉบับหนังใน Himitsu)
ชอบที่เขาเอาปริศนาฆาตกรรมของหญิงวัยกลางคนเป็นแก่นเรือ่ง ในขณะเดียวกัน
ของแต่ละตอน ก็ไปคลี่คลายปมปัญหาชีวิตส่วนตัวของผู้ต้องสงสัย
ที่ไม่กล้าเปิดเผยความลับส่วนตัว อาทิ แม่บ้านคิดตี้จัง ช่างนาฬิกาหน้ามุ้ย
นายประกันปากแข็ง สาวท้องรอคลอด เป็นต้น
เท่ากับยิ่งเป็นการส่งเสริมข้อสันนิษฐานชั้นต้นของฝ่ายตำรวจเป็นเท่าตัว
แต่พอถูกคลี่คลายอะไรเอ่ยโดยนักสืบเคียวอิชิโระเข้า
ความลับดังกล่าวก็กลายเป็นเรือ่งโอ้ละพ่อ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับมูลเหตุของคดีแต่ประการใด
แต่จะไปได้มิตรจิตมิตรใจและความประทับใจซาบซึ้งในเชิงความสัมพันธ์ของผู้ต้องสงสัยแทน
จนได้มาซึ่งกุญแจปริศนาบางเสี้ยว ที่ไล่เลาะปะติดปะต่อจนเป็นรูปเป็นร่าง
ของปริศนาฆาตกรที่แท้จริงในที่สุด





ผู้กำกับ "ยามามูระ ไดสุเกะ" ยังคงเป็นผู้กำกับมือเก๋าของค่าย TBS
ที่ถือเป็น "ไฟล์บังคับ" ในการเลือกดูซีรีย์ของผู้เขียนไปในตัว
พอที่จะเชื่อใจในคุณภาพงานเนี้ยบได้เหมือนเคย ชนิดมาตราฐานกำกับดีไม่มีตก
นับตั้งแต่ไล่ตามติดงานเฮีย อาทิ Tomorrow ,Love Suffle, Mr.Brain
และ Jin (แต่แปลกที่เพิ่งจะได้รางวัลTDAAประดับฝาบ้านจากJin เพียงเรือ่งเดียว)
ขณะเดียวกันได้ผู้กำกับลูกมือ "ฮิราโนะ ชินิชิ" ที่ชื่อชักนำเข้าสู่ภาวกึ๋ยอย่างฉับพลัน
เพราะฐานประวัติ เฮียเคยเป็นผู้กำกับ Bloody Monday ทั้งสองภาค
แต่โดยรวม โอเค! ไม่มีกลิ่นคาวเลือดวันจันทร์ให้ระแคะระคายใน shinzanmono
เพราะงานนี้ เขาไม่เน้นไฮโซไอที เอบี เอบี seclect start แต่อาศัยเครือ่งมืออย่าง
เอกลักษณ์เฉพาะของบรรดาขนมนมเนย และสินค้าโอท้อปเฉพาะเมืองนินเกียวโช
ที่ไม่ได้เน้นจะขายของออกสื่อ ตรงกันข้ามกับถูกใช้เป็นเนวิเกเตอร์คดีอย่างแยบยล
เป็นตัวเดินเรื่องและอีกทาง ก็เชื่อมโยงประสานปมเพื่อเข้าถึงผูกมัดผู้ต้องสงสัย
อย่างชาญฉลาดและต้องชังสังเกตสังการะดับคนคิดมากสักนิด เพราะอย่างที่บอก
shinzanmono เรือ่งนี้ ถือเป็นการฉีกกรอบการนำเสนอแบบเคยๆในแนว
detective Japanese television drama ที่น่าสนใจท่ามกลางความเฟ้อของแต่ละสถานี
ซึ่งคอซาดิสต์ซีรีย์ อาจจะไม่บริโภคเสพย์สุขนัก ด้วยข้อจำกัดเพียง"หนึ่งศพ"เท่านั้น






ส่วนในภาคของตอนพิเศษก็น่าสนใจ เพราะทางค่ายทีบีเอส
ขยายต่อความคิดถึงในอีกหนึ่งปีให้หลัง โดยยอ้นกลับไปตั้งต้น
ให้เห็นถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของยอดนักสืบโคอิชิโระ โดยประเด็นเน้นย้ำถึงเรื่อง
ความสัมพันธ์อันระหองระแหงของครอบครัว ถึงปมที่โคอิชิโระถูกพ่อทิ้ง
และพ่อของโคอิชิโระที่ไปได้กับแม่คนใหม่ ซึ่งก็เป็นแม่ของจุนเฮ
ที่ทำอาชีพนักสืบตำรวจในสน.เดียวกัน (ซึ่งจะมาหลอนในภาคปัจจุบัน
แต่เปลี่ยนรสชาติมาเป็นลูกฮาที่เพิ่มขึ้น) การที่หยิบยกประเด็นเรื่องของครอบครัว
ในตอนพิเศษ ก็จะไปสัมพันธ์กันกับคดีฆาตกรรมเด็กผู้หญิงรายหนึ่ง
ซึ่งซีรีย์ตอนพิเศษบ่งชี้ชัดเจนถึงการฆาตกรรมของครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่ง
ที่สามีเป็นพนักงานขยันเอางานเอาการ แต่ขาดความสามารถในการบริหารคนในบ้าน
แถมมีภาระแม่ผัวที่เป็นอัลไซเมอร์ที่ภรรยาตัวเองไม่ชอบ และมีลูกชายเป็นเด็กออติสทิกส์
กลายเป็นshinzanmonoภาคดาร์กที่ให้อารมณ์คล้าย Galileo the Movie
ที่จริงจังเข้มข้น และไม่เอนเตอร์เทนเอาใจท่านผู้ดูภาคปกติ ที่ผู้เขียนต้อง
สำรอกเสียงออกมาดังๆว่า "เคโงะมาเล่นเราอีกแล้ว"

........



อวยข้อมูลจาก

dramawiki and wikipedia





(ขอบพระคุณท่านBe Coffee สำหรับคำแนะนำเพลงเพราะๆของ Yamashita Tatsuro )




 

Create Date : 29 มกราคม 2554    
Last Update : 8 กันยายน 2555 12:07:16 น.
Counter : 5946 Pageviews.  

เห็นแย้งและคล้อยตามกับบทความ "ละครน้ำเน่ากับชนชั้นกลางเอเชีย"



เกิดซุกซนทางความคิดเล็กน้อย หลังจากที่ได้ไปอ่านคอลัมภ์
ของ "อ. นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์" ในหัวข้อ ละครน้ำเน่ากับชนชั้นกลางในเอเชีย"
ของมติชนสุดฯเล่มล่า ไม่ใช่บทความที่ประนามความเป็นน้ำเน่าเชิงประชดประชัน
แต่เป็นการตีโจทย์อย่างแยบคาย ซึ่งไร้ความหยาบคายอย่างยิ่ง
กระนั้น ก็ผุดคำถามในใจในหลายๆประเด็น
ทั้งคล้อยตาม เห็นแย้งและต่อยอดในความคิด
เพียงแต่ ไม่รู้จะชี้แจงในประเด็นอย่างไร จะพิมพ์ลอกกระทู้ในหน้ากระดาษ
ก็จะเป็นการอลังการซะ มิได้ชักชวนให้กระดื้บยอดขายของทางสำนักพิมพ์เขา
จะไปโต้ตอบ FB ของอาจารย์ซะ ก็searchรายชื่อซะไม่เห็นเจอ
ก็เลย ทำมาเป็น "อัพ" ใส่ลงในบล็อกให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะกันเล่นๆ
ส่วนใครที่จะเห็นต่าง เห็นแย้ง หรือใส่เสื้อต่างสี อันนี้ก็จะยิ่งเป็นการดีเลย
สำหรับมิตรรักซีรีย์ หรือจะเรียกเข้าใจว่าละคร ก็เชิญเลย






อ.นิธิ หยิบยกประเด็นความนิยมของละครไทยบนแผ่นดินจีน
ที่กำลังเป็นปรากฎการณ์ค่าเงินหยวนลอยตัว บินมาหาเมืองไทย
ฮิตชนิดที่เบียดความนิยมกับซีรีย์เกาหลี สร้างกลุ่มแฟนคลับดาราไทย
หรือคลั่งไคล้ใหญ่ชนิดตีตั๋วมาดูตัวเป็นๆ ก็มีไม่น้อย
ซึ่งไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก แค่เอาหัวอกนักดูละครชาวไทยมาใส่
กูรู้เช่นเห็นชาติกันอยู่ ในขณะที่ซีรีย์ฝรั่ง ดูจะลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ
ทั้งหมดนี้ มันมีนัยยะทางชนชั้นนะครับ
ส่วนหนึ่ง ว่าด้วยความผันแปรไปตามกระแส ฟังแล้วก็ไม่ใช่เรือ่งแปลก
อันนี้คิดเองได้ แต่ที่คิดไม่ถึงกล่าวนั้นตามอาจารย์
คือเรือ่ง "ชนชั้นกลาง"



แล้ว "ชนชั้นกลาง" เกี่ยวกันอย่างไร?
อย่าลืมนะครับว่า อะไรเป็นเครือ่งมือกำหนดแผนผังสถานี
ถ้าไม่ใช่ "เอเจนซี่โฆษณา" แล้วพวกเขาเหล่านี้เอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดละ
ถ้าไม่ใช่ "ฐานของผู้ชม" ครับ อาจารย์นิธิกำลังจะบอกว่า
ชนชั้นกลางมีอิทธิพลในการกำหนดการทำละคร ตลอดจนไปกว้านซื้อลิขสิทธิ์
ด้วยเหตุผล หนึ่ง-วัฒนธรรมชนชั้นกลางครอบงำ สอง-กำลังซือ้สูงสุด
คงเกิดคำถามว่า แล้ววัฒนธรรมของชนชั้นกลางคืออะไร?
อืม่ งงเต๊กเหมือนผมเลย!! อ.นิธิหยิบยกว่าแบบกว้างๆว่า
"พันธะทางสังคมที่ดิ้นไม่หลุด" เป็น dilemma ที่คาบเกี่ยวระหว่าง
"ความต้องการส่วนตัว" และ "พันธที่มีต่อกลุ่มตามจารีต"
พูดอย่างนี้อาจคลุมเครือ แต่อ.แกยกตัวอย่างแล้วก็ต้องร้องอ้อ
อย่างเช่น คุณแม่ใจดำในซีรีย์เกาหลี มรดกของอาก๋งในซีรีย์ไต้หวัน
หรือแก็งมาเฟียของซีรีย์ฮ่องกง เป็นต้น
ขณะที่ ซีรีย์มะกันจะเน้นความเป็นปัญหาของปัจเจกชน
ซึ่งตัวอย่างของอ. ฟังดูยากเพราะเป็นซีรีย์รุ่นเก่าโคตร
แต่ตัวผมเอง อาจคุ้นกว่า
ในปัญหาคุณแม่บ้านของซีรีย์แม่บ้าน desperated housewife
มิตรภาพของกลุ่มเพื่อนบ้านเดียวกัน ใน Friends
ซึ่งสุดท้าย ก็คอ่ยๆทะยอยจากไป เพราะไม่ได้ไปตอบโจทย์
ของนักชมทีวีบ้านเรา ซึ่งเป็นคนชั้นกลางโดยส่วนใหญ่
หรือจะฮิตได้ ก็ต้องมีฐานจากความเป็น "พันธะที่บุคคลมีต่อกลุ่ม"
ซึ่งอันนี้ผมขอเสริมอีกอย่างว่า "มีอะไรที่ลิงค์กันติดทางสังคม"
ดูอย่าง่ x-file หรือ CSR พหุเมือง ก็ยังถูกรนเวลาฉายเสียกลางบ่าย
สุดท้าย ก็ไม่ได้ตอบโจทย์นักชมเพราะเป็นเวลาของฐานคุณแม่บ้าน





อ.นิธิ ยังหยิบยกเรือ่งของ "ช่วงชั้นทางสังคม"
ที่เป็นโจทย์ที่ชั่วชีวิตหนึ่ง ตัวผมเองก็คิดไม่ถึง
และไม่เคยได้หยิบในงานวิชาการทางนิเทศศาสตร์สักเล่ม
(แม้ปีที่แล้ว จะได้อ่านแค่สองถึงสามเล่ม แล้วทำเป็นอ้าง!)
ส่วนนี้ ผมอธิบายย่อๆละกันว่า มันมีเรือ่งของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
เป็นตัวเกี่ยวเนือ่งและโน้มนำ โดยเฉพาะ
ประเทศกำลังพัฒนา จะซาบซึ้งได้ไม่ยากโดยเฉพาะ
ความรักระหว่างต่างชนชั้น ที่ถือเป็นสูตรบังคับที่กินใจไม่รู้หาย
(หรือสร้างต่อก็ได้สตงสตางค์ คนดูติดตรึมแม้จะรีเมกเป็นสิบครั้งก็เหอะ)
ไม่แปลกที่คนดูชาวจีน จะมาเพิ่งเสพย์ติดละครไทย
เพราะหลังจากการปรับเปลี่ยนจาก ระบบคอมมิวนิสต์มาเป็นกึ่งทุนนิยม
โครงสร้างของช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้น ถีบตัวสูงขึ้น
อันนี้อยากเสริมเป็นสูตรงานวิจัยเลยว่า
ยิ่งห่างมาก โอกาสของความน้ำเน่าแบบกินใจ น่าจะซาบซึ้งได้มาก
(โดยที่โครงสร้างทางสังคมยังต้องไม่ก้าวข้ามปท.พัฒนาแล้ว)






และประเด็นหนึ่งที่ไม่เคยคิด
คือ "การรักษาบัญญัติทางจริยธรรมที่เป็นสมบัติส่วนรวมของชนชั้นกลาง"
อันนี้มีองค์ประกอบแฝงเร้นมากมาย ทั้งลัทธิความเชื่อ หลักศาสนา
และการเพิ่งบัญญัติขึ้นใหม่ ทั้งเป็นข้อกฎหมายและประเพณีใหม่
ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้ อาจมีให้เห็นอย่างชินตา ประเภท
โกงบริษัทของตระกูลในซีรีย์ฮ่องกง หักหลังกลุ่มร่วมสาบานในซีรีย์เกาหลี
และเตะต่อยบุพการีในละครไทย
หรือรวมกระทั่งศีลธรรมคาบลูกคาบดอก (ผมนิยามความเอาเอง)
ที่แม่ไปขโมยของ เพื่อให้ลูกทานคลายหิวจนถูกทางห้างจับติด
มันมีความผันแปรด้านจริยธรรม ที่ชนชั้นกลางกำลังปรับตัวตามเงือ่นไข
ของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์ ทุนนิยมข้ามชาติ
ซึ่งจะไปกระทบธรรมเนียมเก่า ทั้งระเบียบระหว่างตระกูล
ความสัมพันธ์ในครอบครับขยาย การเคารพอาวุโส เป็นต้น
ปัญหาความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะสะท้อนยังบทละคร
ให้เห็นความเป็นปัญหาร่วมกันของชนชั้นกลาง อย่าง
นักเรียนนอกเย่อหยิ่ง ไม่ซื่อตรงกับใครแม้กับนางเอก






ความเป็นนักไต้เต้า ที่จน (แต่หล่อ)
อันนี้ ผมเห็นด้วยในความเป็นละครที่ตอบสนองในชนชั้นกลาง
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจตอบโจทย์ว่า ไม่มีในซีรีย์ของประเทศพัฒนาแล้ว
จะว่าไปเป็นหลักปรัชญาของหนึ่งของการทำละครในสากลโลก
แต่ทว่า ในแง่ของการกลบประเด็นให้เนียนตา
ยอมรับว่าตลาดของชนชั้นกลาง ต้องการการจับต้องที่เห็นได้ชัด สัมผัสได้
และเล่าได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ง่ายกว่า และเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า
ไม่ต้องรากเลือดเหมือนยังในละคร และที่สำคัญต้องมีคุณธรรมประจำใจ
เพราะการไต่เต้าของคนจน เป็นข้อยืนยันระบบเปิดให้คนที่มีคุณธรรม
สามารถฉวยโอกาสได้เท่าเทียมกัน ซึ่ง messageนี้
น่าจะเป็นแนวคิดของโลกตะวันออก เพราะอย่างในซีรีย์ญี่ปุ่น ถือว่าขาดกันไม่ได้
แต่ข้องใจว่าทำไม อ. ถึงบอกว่า ไม่เกี่ยวกับ "ประชาธิปไตย"
เมือ่พูดถึง ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรหรือทุน
จึงมองอย่างอื่นไม่ได้ นอกเสียจากระบบอุปถัมภ์
ที่ พ่อแม่รวย วงศ์ญาติเป็นผู้มากด้วยบารมี หรือเมียเป็นลูกเจ้าสัว
ซึ่งถ้าคิดอย่างงี้ ค่อยอ้อหน่อยว่า ไม่เห็นในซีรีย์ฝรั่งให้พอกระเซ็นตา





และประเด็นสุดท้าย อ.นิธิ กล่าวถึงกลุ่ม "คณาธิปไตย"
ที่โผล่มา ไม่ใช่ฐานะของตัวละคร แต่ถูกอ้างหรือแก้ปัญหาในบั้นปลาย
เช่น ตำรวจ ศาล พรรค หรือกองทัพ
อันนี้อาจารย์นิธิ เหมารวมถึงละครเอเชีย แล้วยกอ้างถึงในวงเล็บ
ที่มี จีน ไทย เกาหลี ฮ่องกง โดยไม่มีตัวสรุป อย่างเป็นต้น หรือ ฯลฯ
ที่เหมารวมแบบเบ็ดเสร็จ แต่ไม่เด็ดขาด แล้ว อ. คิดว่าเป็นเรือ่ง
ข้อห้างไม่ให้แสดงความบกพร่องของกลุ่มคณาธิปไตย
ซีรีย์ที่อ.กล่าวไว้ในวงเล็บ อาจเป็นเรือ่งไม่สันทัดของตัวผม
แต่ถ้าในฐานะซีรีย์ญี่ปุ่นแล้ว หลายเรือ่งสะท้อนความอ่อนด้อย
ช่องว่าง ปัญหา และอำนาจที่ไม่ครอบคลุม
หรือมีประสิทธิภาพไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ระดับที่เรียกว่า
กำลังเป็นกระแสของงานสร้าง อาทิ Hero ที่กระทบกระเทียบอัยการ
Jocker ที่ต้องสร้างฮีโร่นอกสน. Smile ที่ยกตัวอย่างให้เห็นของระบบอำนาจศาล
หรือ change ที่ต้องให้บุคคลผู้มีศีลธรรมงัดค้างกับระบบรัฐสภา
สุดท้ายกลายเป็นว่า จะให้ผมคิดลึก และจินตนาการเลยเทิดไปเองว่า
"ละครน้ำเน่า" เป็นเครือ่งมือเอาใจของกลุ่มคณาธิปไตย (ซึ่งใครก็ไม่รู้)
เพื่อสร้างความสบายใจหน้าจอทีวี มากว่าการต้องมาคิดเสียดายค่า "หมาแดก"
ซึ่งจ่ายไปแก่สมาชิกกลุ่มคณาธิปไตย (ซึ่งต้องนี้ ผมอ่านแล้วไม่เคลียร์
ส่วนใครเคลียร์ ช่วยปล่อยอักษรยอ่หน่อย)
ตรงจุดนี้ ผมเองถ้าให้ถอดชำแหละสิ่งที่แฝงอยู่ในละครน้ำเน่า
ว่าเป็นประโยชน์ในการสร้างสิ่งมึนเมา เพื่อข้ามประเด็นหรือกลบประเด็น
ในบางสิ่งบางอย่าง อันนี้เห็นว่า คงมีกลุ่มอื่นมีหลายที่เอื้อค่าหมาแดก
ที่อาจไม่ใช่แค่กลุ่มหรือสองกลุ่ม บางทีอาจเป็นเรื่องของระบบ
จริยธรรมของตลาด ซึ่งคงจับผิดกันเพลินมากกว่าจะหาโฆษณาแฝงว่ามีกี่ป้ายกันแน่


และผมชอบประการสุดท้าย ที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกข้อหนึ่ง
ของอ. ที่บอกว่า "ชนชั้นกลางเอเชียขาดการอบรมให้เข้าถึงศิลปะตามจารีตของสังคมตัวเอง"
หรือมีก็ถูกนำมาอ้างในละคร อย่างตื้นเขินและผิวเผิน ขาดซึ่งในรายละเอียด
เพราะไอ้ตอนแรก พยายามคิดต่างว่า
บางทีมันอาจจะถูกแฝงในรูปขนบ ธรรมเนียมประเพณี จนเป็นเนื้อเดียวกัน
จนมิตของกาละและเวลา ไม่อาจกลายเป็นเรื่องขัดขวาง
โดยเหมาเอาเองจาก ประเพณชาวจีนหรือวัฒนธรรมมุสลิมที่สืบทอดต่อกันมา
ซึ่งถ้าเชือ่ในแบบนั้น เท่ากับว่าศิลปะตามจารีตแทบไม่ได้มีส่วนเปลี่ยนแปลง
ลักษณะวิสัยของคนดูกลุ่มชนชั้นกลางแต่อย่างใด แต่คลายความสงสัยประการหนึ่ง
ที่อ.กล่าวถึง พวกตะวันตกที่ใช้อัตลักษณ์ในการเป็นเครือ่งมือต่อรองในโลกาภิวัฒน์
เพราะนั้นทำให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ทำไมละครน้ำเน่ารีเมก
ถึงได้กลับมาหลอกหลอนท่านผู้ชมลูกหลาน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยหลอกหลอนตัวผมเอง
ในหลายสิบปีก่อน ทั้งๆที่ ยุคนั้นกว่าจะขอโทรศัทพ์ใช้ทีก็แสนยาก
มีเครือ่งบินก็เป็นพาหนะอุปถัมภ์ของชนชั้นสูง และการศัลยกรรมข้ามเพศยังไม่บรรเจิด
จนกระทั่งพัฒนาการขับเคลื่อนเปลี่ยนโลกอย่างรวดเร็ว
ใยยังติดในเงือ่นไขหลงสภาพการณ์ทางละครได้อย่างน่าตกใจ
แม้ทีวีนั้ น เปลี่ยนมาใช้รีโมทแล้วก็ตามที ........








 

Create Date : 23 มกราคม 2554    
Last Update : 23 มกราคม 2554 19:39:00 น.
Counter : 1258 Pageviews.  

Spaceship Battle Yamato : ศึกมหาจักรวาลยานรบยามาโตะ


Space_Battleship_Yamato
ถือเป็นวรรณกรรมการ์ตูนสุดคลาสสิกโคตรเรือ่งหนึ่ง
ที่คนในร่วมยุคสมัยปี 70 ถึง 80 เป็นต้องรอ้งอ้อ อ๊าก อ้าว และเหรอ?
ทั้งเคยได้ยินมั้ง และไม่รู้จักมักคุ้น ตามประสาคนบ้างบ้านที่ยังไม่มีทีวี
ในฐานะที่ผู้เขียนเพิ่งจะเสียสตางค์เข้าหอเอ้ย......เข้าห้างลงโรง
จึงอยากจะเสนอ การจัดระเบียบทัศนาก่อนการรับชม
เพื่อไม่ให้เป็นการผิดใจกันไป ระหว่างตัวหนังกับท่านผู้ชมทั้งหลาย
ด้วยขออาศัยคำขวัญวันเด็กในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นกรอบการวิจัยที่ว่า

"รอบคอบ-รู้คิด-มีจิตสาธารณะ"

เพราะไหนๆ เจ้าของค่ายเขาก็อุตสาห์หาเวลาลงโรง เพื่อกะหลอกกินตังค์เด็ก
แม้เมือ่เข้าไปแล้ว จะเจอะเจอคนรุ่นราวคราวเดียวแบบอุ่นใจ
ประมาณว่า เอาเข้าจริงดันกลับกลายเป็นสื่อฝืนความหลังครั้งเยาว์วัย
ซึ่งถ้าไม่เกี่ยวไปจากนี้ ก็เลยมาเป็นคนรุ่นพ่อของผู้เขียนไปเสีย
อย่างน้อยความรู้สึกๆดี ที่หนังเรือ่งนี้ทำให้ผู้เขียน
เป็นมาตราฐานผู้ชมคนดูที่วัยแลดูน้อยที่สุดและมีสมาธิโดยไร้เสียงวอกแวก
แม้กำลังอยู่ในช่วงเทศกาลวันเด็กก็ตาม (จนหนังเลิกต้องไปอ่านเกรดผู้ชม
ว่าจริงมันเป็นหนังสำหรับคนทุกเพศทุกวัย หรือคัดสรรแต่คนรุ่นใหญ่)




รอบคอบ

Space_Battleship_Yamato ดูจะเป็นหนังที่มีจุดขาย
โดยเฉพาะตลาดเมืองไทยหลักอยู่สองส่วน ตามความรู้สึกไปเอง
ส่วนแรก คือ จุดขายจากความเป็นกระทาชายนาย คิมูระ ทาคุยะ เจ้าพ่อพระเอกซีรีย์วัยไม่อ่อน
(โดยดูจากโปสเตอร์ที่ติดหล้าหน้าโรงจะเน้นเลือกใบปิดที่ขายคน มิได้ขายพาหนะตัวยานแต่อย่างใด)
ที่มีผลงานซีรีย์ชนิด ขอมีให้ปรากฎเหอะ ทางสถานีก็พร้อมจะที่ซื้อและหาเวลาออกฉาย
เป็นอย่างนี้มานานตั้งแต่สมัยไอทีวีเก่า อย่าง Love Generation ,engine,Good luck!!,Pride
ตลอดจนถึงช่องสัญญาณเดิมแต่เปลี่ยนชื่อไปเป็น ไทยพีบีเอส
ก็ไม่แคล้วมีให้ปรากฎสังเวยแฟนคลับอย่างต่อเนื่อง อาทิ Mr.Brain และ Change เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นเกินเลยจากซีรีย์มาคาโรงอันนี้ ผู้เขียนก็ไม่กล้ารับประกันด้วยสิ ว่า
จะระดมค่าเงินบาทได้หนากว่าเงินเยน ได้รึเปล่า?
ด้วยหนังสุดท้าย ของเฮียทาคุยะไปเตะตาผู้เขียนในโรงภาพยนตร์ ก็เป็น
2046 ของผกก.หว่องกาไว่ เมื่อทศวรรษที่แล้วโน้น




ส่วนที่สอง ดูจะเป็นหนังกึ่งๆ Nogtagist ของคนร่วมสมัยปี 70
ซึ่งก็เคยมีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องหนึ่ง (ขออภัยที่ไม่อยากจำ ด้วยความบอบช้ำเพราะวัย)
ที่นำมาออกอากาศ ในชื่อติดปากว่า "เรือรบยามาโตะ"
(มักจำสับสนกับกาแล็กซี99 ว่าเป็นเรือ่งเดียวกัน่อยู่เสมอ)
จนมีเด็กระแวกบ้านติดกันงอมแงม ไปหยิบขวดพลาสติกประหนึ่งว่าเป็นยานรบ ปรืนๆ
ตามประสาการ์ตูนอะไรมาฉายฟรี ก็พร้อมที่จะติดหน้าจอกันทั้งวัน
(แต่แปลก ถ้าไปฉายในอเมริกาเหนือจะเรียกว่า Star Blazers แต่ถ้านอกเขตพื้นที่ยุโรปอื่น
จะรู้จักกันดีในชื่อ Space Cruiser Yamato) โดยผู้อำนวยการสร้าง "โยชิโนบุ นิชิซากิ"
ที่ดัดแปลงมาจากฉบับการ์ตูนของ อาจากรย์ "เลย์จิ มัตซึโมโตะ"
โดยมีการประยุกต์กันระหว่างหนังเอพิโซดอย่างสตาร์วอร์สประสานกับ
เรือรบในตำนานสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา อย่างเรือยามาโตะ
เพียงแค่การฟ้องร้อง ว่าใครเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์เรือ่งราวเจ้าเรือยานยามาโตะ
ก็รอพิจารณาตัดสินทางศาลจนปาไปต้นปี 2002
ให้ลิขสิทธิ์นั้นตกเป็นของปู่นิชิซากิ ในฐานะคนปลุกปั้นได้เด่นชัดกว่า
แต่สุดท้ายก็เป็นข่าวเศร้า เมือ่ล่าสุดปู่นิชิซากิในวัย 75ปี เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปลายปีทีแล้ว
ด้วยอุบัติเหตุพลัดตกเรือจักรกลไอน้ำ ที่เขาตั้งชื่อว่า "ยามาโต้"




เรือรบอวกาศยามาโต้ เป็นโปรเจ็คเรือรบพื้นที่สุดท้ายของหน่วยงาน Earth Defense Forces
ในการหาหนทางกำจัดกากกัมมันตรังสี ที่ถูกจู่โจมจากมนุษย์ต่างดาวภายใต้ชื่อ
พวกกลุ่ม "กามิลาส" (Gamilas) ที่มนุษย์โลกแทบไม่รู้จักที่มาและวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
ผลจากอุกกาบาตที่พุ่งดิ่งสู่โลก เป็นเหตุให้มนุษย์ต้องอพยพโยกย้ายลงสู่ชั้นใต้ดิน
ด้วยสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนปกคลุม ไปทำลายสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่บนผืนโลก
จนกระทั่งปี 2199 ได้เกิดอุบัติว่า มีเถหะวัตถุขนาดเล็กจากนอกโลกปะทะในเขตพื้นที่
ที่ซึ่งมีพนักงานเก็บซากแร่ "สุสุมุ โคได" ผู้กำลังค้นหาแร่หายากตามปกติ
อุบัติเหตุครั้งนั้น ทำให้เขาสามารถหายใจในเขตปนเปื้อนโดยไร้เครือ่งออกซิเจน
เหตุการณ์อันอัศจรรย์ครั้งนี้ มีผลให้หน่วยงานความมั่นคงได้วิเคราะห์ว่า
อาจจะเป็น "สาสน์ลับ" ของสิ่งมีชีวิตอีกนอกพิภพ ที่ประสงค์จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ
ซึ่งนอกจากรหัสพันธุกรรมแผนที่ที่แนบมาแล้ว ยังประกอบไปด้วยวิทยาการทางการรบ
เทคนิควิธีในการข้ามพื้นที่เวลา (Wrapping) และที่สำคัญที่สุด
คือ จุดพื้นที่นัดหมายในเขตหมู่ดาวแมกแกเลียนในอีกหลายล้านปีแสง
ที่ๆชนชาวอีสคานดาร์ (iscandar) อาศัยอยู่ สิ่งมีชีวิตที่เชือ่ว่า
มีพัฒนาการและอารยธรรมสูงส่งกว่ามนุษย์ การที่โคไดยังมีชีวิตอยู่
เป็นเพียงสาสน์ชั้นต้นในการรับรองว่า นี้เป็นความหวังเดียวสุดท้าย
ที่จะทำให้มนุษย์กลับมาอยู่บนผืนดินอย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อในสี่ปีกอ่นที่จะเกิดเหตุ




ขบวนการคัดลูกเรือ เพื่อบรรจุให้เป็นสมาชิกบนยานเรือยามาโตะ
"โคได" ผู้รอดตายจากเถหะวัตถุประหลาดครั้งนั้น เป็นหนึ่งในผู้ขอรับการคัดเลือก
ซึ่งเขาก็ได้รับการเข้าบรรจุอย่างง่ายดาย ส่วนหนึ่งเพราะ
เขาเคยเป็นลูกเรือในกองทัพมากอ่น อีกส่วนหนึ่งเพราะเขาเป็นน้องชาย
ของอดีตกัปตันยานเรือรบอีกลำ "มาโมรุ ไคโตะ" กัปตันยานเรือยุกิกาเซะ
หน่วยทำลายทางภาคพื้นอากาศ ผู้ที่ได้อาสานำยานเรือเข้าขวาง
เพื่อให้กับตัน "จูโซ โอกิตะ" ได้รอดชีวิต (ดูจะเหมือนในฉบับการ์ตูนมากที่สุด)
ในศึกมหาสงคราม the Reflection Satellite Gun on Pluto
ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกัปตันเรืออาวุโสประจำการบนยานเรือยามาโตะ
เป็นเหตุให้ไคโตะรู้สึกโกรธแค้นป็นอย่างมาก ตลอดการเดินทาง
แทบจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาและขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างกัปตันโอกิตะอยู่โดยตลอด
(แต่ในหนัง ทำให้สัดส่วนนี้ดูน้อยลง ทั้งๆที่ในฉบับอนิเมโคตรจะดื้อและอินดี้สุดๆ)
แต่ด้วยสภาพสังขารอันชราภาพของกัปตันโอกิตะที่ไม่เอื้ออำนวย
จึงเป็นผลให้ระหว่างการเดินทาง กัปตันโอกิตะจำต้องถ่ายโอนตำแหน่ง
รักษาการกัปตันยานเรือยามาโตะ ให้กับไอ้หนุ่มโคได
ด้วยมองเห็นในศักยภาพและภาวะผู้นำอะไรบางอย่าง ท่ามกลางความสงสัย
ของหมู่มวลสมาชิกในแต่ละแผนกบนยานเรือยามาโตะ
ส่วนรักษากัปตันยานเรือยามาโตะ จะทำได้ดีแค่ไหน
เผชิญกับอุปสรรคในฐานะเครือ่งพิสูจน์เช่นไร และจะนำลอ่งหมู่มวลรัฐนาวาได้แค่ไหน
คงต้องควักสตงค์สตางค์เงินบาท ร่วมกับมหากาพย์แห่งตำนานของการ์ตูนยานเรือนี้
ในโรงภาพยนตร์กันเอาเอง




รู้คิด

ถ้าเข้าใจเงือ่นไขทางข้อจำกัดทางภาพยนตร์ ที่ต้องใส่องค์ประกอบหลักทุกอย่าง
ลงไปใน Space_Battleship_Yamato ซึ่งกว่าฉบับอนิเมชั่นจะอวสานสมบูรณ์พูนสุขได้
ก็กินเวลาไปกว่าสิบปี (คือ 1974 ถึง1983) ซึ่งผู้กำกับและคนดัดแปลงบท
จงใจที่จะละเลยปูมหลังของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น
ศึกชิงมหาจักรวาลของจักรวรรดิ์กัลมาลกับกลุ่มสาธารณรัฐโบลาร์
ตัวราชีนีสตาร์ชาแห่งอิสคานดาร์ จักรวรรดิ์แบล็คเนบูล่า ความรักของลูกเรือเทเรซากับไดสุเกะ
ความข้ดแย้งข้ามหน่วยระหว่างโคดะกับไซโตะ ผู้เป็นหัวหน้าหน่วย space marine
นี้ยังไม่รวมถึงส่วนขยายของภาคสอง สามและสี่ ที่จะเพิ่มหน่วยพื้นที่ศัตรู ไม่ว่าจะเป็น
กลุ่ม White Comet Empire Gatlantis,Dark Star Cluster Empire,Bolar Federation
และ Great Urup United Star Systems
เรียกได้ว่า จงใจละทิ้งเพื่อสงวนท่าทีและเวลา ขนาดเดียวกันก็เปลี่ยนแปลงวิธีการจบ
ซึ่งศิษยานุศิษย์ยามาโตะโอเวอร์รีแอ็กซ์ด้วยกันเท่านั้น น่าจะจดจำกันได้อยู่
ขณะเดียวกัน จำต้องอนุรักษ์วิธีการเล่าเรื่องเชิงอวกาศแบบการ์ตูนยุคปี 70
ที่ไม่เน้นความซับซ้อนในโครงเรือ่ง มีอรรถาธิบายลักษณะเดียว
อีกทั้ง ข้อจำกัดในการแสดงอารมณ์ของลายเส้นฉบับอนิเมชั่นเดิม
ซึ่งต้องอาศัยจินตนาการประกอบกับหลักความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์
กรอบส่วนนี้ นิชิซากิเล่าว่าเขาได้รับอิทธิพลจาก starwars อยู่พอสมควร
เพราะเอาเข้าจริง ในฉบับยามาโตะลงโรง บิดเบือนให้ภาพของศัตรู
อย่าง พวกอิสคารัส เป็นมนุษย์ต่างดาวแปลกแยก ยิ่งโดยเฉพาะตอนต้นแล้ว
แทบจะไม่รู้จักที่มาที่ไปหรือลำเนาเผ่าพันธ์ ในขณะที่ฉบับอนิเมชั่น
มีความชัดเจน มีตัวมีตน และมีขั้วความขัดแย้งภายในหลายฝ่งหลายฝ่าย



ผู้กำกับเลือกใช้หนทางที่ถนัด และตอบสนองจุดขายของตลาด
โดยเลือกให้เรือรบยามาโตะ กลายเป็นหนังแอ็คชั่นกาแลคซี่ไซไฟ
(ซึ่งร้อยวันพันปี จะมีหนังแนวนี้นอกเหนือจากอนิเมชั่นวางเกลือ่นทั่วไป)
ตลอดจนถึง เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเหนือโลกผ่านCGเอื้ออำนวย
ซึ่งใครที่พอติดตามผู้กำกับ "โนโบรุ อิชิกุโระ" คงพอจะทราบว่า
นอกจากการที่เขาเป็นผู้กำกับมือรางวัล ที่เคยสร้าง Always ทั้งสองภาคจนสุโค้ยย์
ความสามารถอันโดดเด่นส่วนหนึ่งของเขาคือ การเป็นสมาชิกของ "ชิโรกุมิสตูดิโอ"
ซึ่งเป็นทีมงานสร้าง visual effects (VFX) ชื่อดังของประเทศ
โดยทางหนังสือพิมพ์เดลีสปอร์ตสรายงานว่า น่าจะมีไม่น้อยกว่าแปดสิบเปอร์เซนต์
สำหรับหนังเรือ่งดังกล่าว ที่มีคอมพิวเตอร์กราฟฟิค (CGI) เข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้วยงบลงทุนการสร้างไม่ต่ำกว่า 22 ล้านเหรียญยูเอส
โดยทาง TBS films เป็นหน้าเสื่อในสนับสนุนค่าใช้จ่ายมหาศาล
เพื่อให้เรือรบอวกาศยามาโตะในตำนาน ได้เหาะเหินเดินอากาศ
ทะยานลอยล่อง ไปทิ่มตาผู้ชมในโลกของจอภาพยนตร์
ซึ่งถ้านับในแง่ "เทคนิคพิเศษ" ที่เป็นจุดขาย Space_Battleship_Yamato
ก็เป็นจุดจำหน่ายขายหน้าตา ที่สร้างความฮือฮา
นับตั้งแต่ทีเซอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มแรก ยันไปถึงตอนจบ
โดยเฉพาะฉากยิงมหาปืนใหญ่ Wave Motion ที่ปล่อยครั้งละได้ไม่บ่อย
แต่ทุกครั้งที่ยิงไป สร้างอลังการความคุ้มค่าทางสายตาแบบชนิดที่
ฉบับอนิเมชั่นเป็นเพียงน้ำหนึ่งขันในวันสงกรานต์ไปเลย
ที่ระดับการพัฒนา แม้ว่าจะติดลูกไม่เนียนในบางซีนเมื่อเผลอไปเทียบกับ
มาตราฐานของหนังฟอร์มยักษ์ในระดับฮอลีวู้ด แต่โดยภาพรวม
ก็ถือเป็นส่วนที่คุ้มค่าและตื่นตะลึง เกินหน้าในระดับมาตราฐานเอเชีย
โดยเฉพาะ สำหรับคนดูผู้ไม่ได้มีจุดประสงค์แรกเริ่มเดิมที
จากหนังหน้าของดารา และหน้าหนังของแฟนพันธ์แท้ยามาโต้




ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมผู้กำกับโนโบรุ
ถึงยังคงเลือกที่จะเล่าเจ้าเรือรบยามาโต้ ตามแบบฉบับอนิเมชั่น
เหมือนซึ่งครั้งหนึ่งที่เขาได้กำกับ Returnner ซึ่งเป็นหนังไซไฟผสมซีจีในโลกอนาคต
ที่มีพระเอกทาเคชิโร่ รับบทเป็นนักฆ่าโลกอนาคต อรรถรสที่ได้
จึงเต็มไปด้วยโลกแห่งจินตนาการพาฝันของผู้กำกับ ในขณะที่
อารมณ์ร่วมของคนดู แทบจะเป็นทักษะพื้นฐานที่ป้อนใส่ให้แก่ผู้บริโภค
ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ละเลยหรือไม่ก็ขาดแคลนอย่างหนัก
กลับกลายเป็นว่าในงานแก้มืออย่าง always คล้ายกับว่าผู้กำกับแกจับทางติด
วางแปลนเรือ่งอย่างเข้าอกเข้าใจ โดยไม่มุ่งเน้นความบ้าพลังทางกราฟฟิก
ที่มีพรรคพวกและพรสวรรค์มาค่อยเกื้อหนุนอยู่เต็มตัก
(แต่ก็บรรจงหยอดใส่เคหะร่วมสมัยเพื่อให้บรรยากาศเข้าเนื้อพอดีคำ
ปลุกภาพความทรงจำในวันวานให้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง)
กรรมวิธีในการเล่าเรือ่งเรือ่งเดียวกัน จากสื่อความบันเทิงคนละลักษณะ
อาจจะไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ ดูอย่าง death note ของผู้กำกับ ชุนสุเกะ คาเนโกะ
ก็เล่าได้สะแด๋วแห้วไม่แพ้กับฉบับหนังสือ คิดเอาเองได้ว่า
อาจเนื่องด้วยความเป็นยุคสมัยของผู้บริโภคที่เป็นคนดูยุคปัจจุบัน คงไม่เหมาะ
หรือไม่คุ้นชินกับกระบวนทัศน์การเล่าเรือ่งตามแบบแผนหนังไซไฟ
ของผู้กำกับโนโบรุสักเท่าไร ผิดกับหนังพีเรียดย้อนยุคแบบร่วมสมัย
ที่ดูจะเป็นทางถนัดและไปได้สวยยิ่งกว่าของผู้กำกับท่านนี้





ถ้ากล่าวถึงระดับความสามารถของทีมนักแสดง
ก็ขอบอกว่า ทุกคนเล่นได้เต็มที่กับบทบาทที่ได้รับ ในฐานะที่
นานทีปีหน จะได้รับเกียรติ์ร่วมวงไพบูลย์เป็นหนึ่งสมาชิกต้นหนของมหากาพย์ยามาโตะ
โดยเฉพาะ ศุนย์กลางของการดำเนินเรือ่ง "คิมูระ ทาคุยะ"
ผู้รับบทเป็น "สาสามุ โคได" ตอนที่ได้ยินข่าวคราวครั้งแรกก็ค่อนข้างแปลกใจ
เพราะ "โคได" ในต้นฉบับอนิเมชั่น เป็นตัวละครวัยหนุ่มแบบสิงห์คะนองนา
ในขณะที่ ตัวทาคุยะเองก็มีอายุอานาม ที่ผู้เขียนเรียกสรรพนามล่วงเกินว่า "ป๋ายะ" อยู่บ่อยครั้ง
(เห็นอย่างนี้ สามสิบปลายๆแล้วละตัวเอง) แต่การแสดงกระชากวัยของป๋า
ไม่ได้สร้างความเขอะเขินในความรู้สึกแต่อย่างใด ยังคงลื่นไหลตะแหลงแกง
ที่นอ้ยคนจะทันสังเกต ป๋าแกก็ยังคงเค้นศักยภาพงานแสดงตามหน้าที่อย่างเต็มหน้าและเต็มตา
ไม่ต่างจากงานแสดงทางซีรีย์แต่ประการใด เพียงแต่ในแง่มิติของตัวละครของโคได
ดูจะผิดไปจากความตั้งใจเอาไว้ก่อนหน้าของแฟนการ์ตูนอยู่พอสมควร
แต่ก็บอกได้ไม่มากนักว่า มีความผิดเพี้ยนไปในส่วนใด
จะไปโทษป๋าแกก็ไม่ได้ สู้มาโทษผู้เขียนที่ฤทธิ์ของอัลไซเมอร์ขนาดย่อมตามมารบกวนเสียง่ายกว่า
ส่วนตัวละครสมาชิกภายในยาน ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เคยเลียบๆเคียงๆกับป๋ายะในงานซีรีย์
อาทิ "ซานาดะ" หน.แผนกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รับบทโดย ป๋าโตชิโระ
เพื่อนนายแบงค์จากซีรีย์ Karei naru Ichizoku ) "โมโมรุ โคได"
พี่ชายในสายเลือดของพระเอกโคได (รับบทโดย ป๋าชินนิจิ นายสจ๊วตจากซีรีย์ Good luck!!)
"ดร. ซาโด้" แพทย์ประจำยานเรือยามาโตะ (รับบทโดย ป้าเรอิโกะ หมอประจำตัวนายกฯ
จากซีรีย์เรือ่ง change) "โตกุกาวะ" หน.แผนกฝ่ายเครือ่งยนต์
(รับบทโดยลุงโตชิยุกิพ่อเขยพระเอกในซีรีย์ Karei naru Ichizoku)
"ซาเอโตะ" หน. หน่วยปฏิบัติจู่โจม (รับบทโดย ฮิโระยุกิ ตำรวจตัวร้าย จากซีรีย์ Mr.Brain)
เรียกได้ว่า งานนี้ทีมงานคัดนักแสดงที่เคย "เข้าขา" กับป๋ายะ
มาแบบยกกะปิ ชนิดเคยได้ปะทะฝีมือกันมาแล้วทั้งน่าน
และที่ขาดไปไม่ได้ ตัวนางเอกหน้าใหม่ "ยูกิ โมริ" ที่ผู้เขียนไม่ค่อยถนัดถนี่ทางสายตานัก
และอาจเป็นผลงานเรือ่งแรกที่ได้ร่วมงานกับพระเอกป๋ายะ
เรียกได้ว่า รังสีออตร้าไวโอเลตบนระบบสุริยะ แทบจะไม่ระคายผิวน้อง "คุโรกิ เมอิสะ"
จะเป็นเหตุให้เธอ ได้ทั้งความขาวและความใส เลยได้ใจคนหนุ่มวัยกลางคน
ตลอดไปจนถึงผู้คนวัยชรา ให้ได้ซี๊ดซาดสะท้านจักรวาล
ในเรือ่งนี้เธอต้องรับบทนักบินสาวหน่วยอากาศยานมือดี ซึ่งก็เล่นได้ดีและเป็นตัวแปรที่สำคัญ
ในการไขปริศนากอบกู้วิกฤติซากกัมมันตรังสี อ่านประวัติคร่าวๆทราบว่าเธอเคยเล่น
ใน "เรียกข้าว่าอีกา" หรือ Crow Zero ทั้งสองภาค แต่ให้ตายเหอะ
ทำไมไม่อาจสะกิดติ่งความทรงจำของผู้เขียนได้อยู่ดี



มีจิตสาธารณะ

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ทั้งหมดที่กล่าวมา
จะเป็นเครือ่งการันตีคุณภาพโดยภาพรวมของหนังตลอดทั้งเรือ่ง
(ด้วยความเป็นมหาepisode มันควรที่จะได้รับการบริหารเป็นหนังไตรภาคเสียด้วยซ้ำ)
แต่อย่างน้อย ใครที่เคยได้ติดตามซีรีย์ญี่ปุ่น อาจจะพอคุ้นกลิ่นและชินตา
กับวิธีการแสดงในภาคพื้นฐานทางละครทีวี ซึ่งนั้นอาจจะให้อารมณ์ผิดทิศผิดทาง
สำหรับคนดูหนังโรงอยู่ไม่น้อย ยิ่งเป็นแนวการแสดงแอ็กติ้งในหนังแอ็กชั่นด้วยแล้ว
กรรมวิธีการนำเสนอ แทบไม่ได้ผิดหลักการเงือ่นไขอย่างที่ควรเป็นไปแต่ประการใด
แม้จะผิดวิสัยความเข้าใจโดยพื้นฐานสำหรับตัวผู้เขียนเองว่า
Space_Battleship_Yamato ฉบับอนิเมชั่นเมื่อหลายสิบปีก่อน
ไมได้มีจุดขายหลักอยู่ตรงที่ ฉากอัศจรรย์อลังการตามวิสัยของห้วงท้องจักรวาล
(เพราะสตาร์วอร์สและสตาร์เทค แย่งซีนฉากอัศจรรย์นั้นไปเรียบร้อยแล้ว)
ตรงกันข้าม กับเป็นวิสัยของการบริหารรูปแบบองค์กรที่หลากหลาย (Muiti-Managed Organization)
บนเงื่อนไขของการลงเรือ(ยาน)ลำเดียวกัน การปะทะทางช่องว่างระหว่างเจเนเรชั่น
การประนีประนอมรอมชอมระหว่างหน่วยงาน มิตรภาพ ความเข้าอกเข้าใจ
การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อผลความอยู่รอดของคนส่วนใหญ่
ความกล้าหาญในสถานการณ์ที่หน้าสิ่วหน้าขวาน (themes of brave sacrifice)
การให้เกียรติ์ยกย่องแก่ศัตรู (honorable enemy)
และตลอดจนถึงการรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่จากไปในฐานะวีรบุรษ
(respect for heroes lost in the line of duty)
ซึ่งอุดมการณ์ที่ก้าวพ้นกลายไปเป็นอุดมคติของชนชาติชาวญีปุ่น
แทบจะถูกสะท้อนในทุกๆส่วนผสมของ Space_Battleship_Yamato
เพียงทว่าปรับเปลี่ยนรูปแบบยุทธการณ์และเสริมจินตนาการที่หลุดโลก (ซึ่งก็หลุดไปไกล)
ขณะที่การตระหนักภัยจากสิ่งแวดล้อม อาจเป็นเพียงผลกระทบจากภาวะหลังสงคราม (post war)
แต่ในฉบับหนัง ใส่ความเป็นภาวะรักษ์สิ่งแวดล้อมและตีค่ามุมมองอุดมการณ์ต่อการเปลี่ยน
แปลงโลกกันคนละชุด ในขณะที่มนุษย์เร่งหาทางรื้อฟื้นกลับคืนมาอย่างเก่า
แต่กลุ่มปรปักษ์กัลมิลาส เลือกที่จะทำลายแล้วค่อยสังคยานาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
โดยที่จะว่าไป รูปแบบทางจิตวิญญาณดั้งเดิมทางตะวันออก
ได้ถูกสอดแทรกจนปรากฎอย่างชัดเจน
ในขณะที่รูปแบบการผจญภัยบนกาแล็กซีทางช้างเผือกแทบจะเลือนลางไปตามกาลเวลา
ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากมิติของเวลา แต่ทว่าเป็นเรือ่งของเซลล์สมองที่ปรับรับการจูนให้ย้อนรำลึกได้ไม่ทันท่วงที........




อวยข้อมุล..........

wikipedia





 

Create Date : 12 มกราคม 2554    
Last Update : 28 มกราคม 2555 8:52:04 น.
Counter : 3597 Pageviews.  

สิ้นปีทีไร ก็ว่างมากเสียจนมาจัดอันดับซีรีย์สุโค้ยย์ประจำปีขาลศก


และแล้ว เมื่อเข้าสู่ต้นเดือนของปีเถาะศก
ผู้เขียนก็ไม่ลืมที่จะมาระลึกพึ่งประเมิน ต่อภาพรวมของงานเขียน
ในช่วงของขาลศกปีที่แล้วมา โดยเฉพาะหมวดหมู่ของ "ดูหนังถ้าฉันมีเวลา"
หรือในอีกความหมายนึง ก็คือ "หมวดซีรีย์ญี่ปุ่น" ที่เล่าได้เป็นคุ้งเป็นแคว
เป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องบ้างไม่เป็นราวบ้าง
ซึ่งก็นึกไม่ถึงว่า ตัวเองจะสามารถร่ายได้สัพเพเหระแบบฟื้นฝอยหาตะเข็บ
จนพอนำมาจัดหมวดให้อันดับ "ความสุโค้่ยย์เน่" ในใจ
ถ้าจะมองให้แง่ดีนัก เท่ากับเป็นการเรียบเรียงและหาข้อสรุป
ในการประกอบความมีรสนิยม (ที่พอมีอยู่บ้างในใจ) ว่ากระแสการรับชม
ในส่วนตัว มีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงไร หรือในอีกทาง
ถ้าจะมองในแง่ร้ายลงสักหน่อย ย่อมจะหมายถึง
ผู้เขียนเองเข้าข่าย ขุดของเก่าเอามาหากิน
ให้พอมีเรือ่งเล่าอัพเดทได้ตั้งหนึ่งเรื่อง ซึ่งไม่ได้ประกอบอะไรใหม่
ที่จะสร้างสรรค์และเผยข้อมูลสดใหม่แต่ประการใด เอาเป็นว่า
ก็ต้องทำใจกันนิดนะครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว
ผู้เขียนแทบไมได้ทำการบ้าน หาซีรีย์เรือ่งใหม่มากำนัลร่ายสู่กันฟัง
ด้วยวันหยุดที่พามา ทำตัวสัพเพเหระบ้านโน้นบ้านนี้ไปทั่ว
และตบท้ายด้วยฤทธิ์สาเกดีๆ ที่ทำเอามึนตึบไม่หาย ณ ปัจจุบัน




ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ปีขาลศกที่ผ่านมา
ผู้เขียนได้ร่ายซีรีย์ญี่ปุ่นเทือกๆ เบ็ดเสร็จแล้ว ๔๘ เรื่อง
นั่นหมายความว่า ถ้าหนึ่งปีมีค่าที่ ๕๒ สัปดาห์ น่าจะมีหนึ่งเดือนที่ผู้เขียน
ไปลงเหวทำหาอะไรไม่ทราบ จะไปโทษการเมืองซะ ก็เกรงว่าจะไม่งาม
จะไปโทษดินฟ้าอากาศ อันนี้ก็พึ่งโทษมาเป็นนิสัย เอาเป็นว่าช่างมันเหอะ
ก็อะไรไอ้เท่าที่มี มาจัดอันดับสุโค้ยย์กันเพลินๆ ตามประสา
คนว่างที่อยากไปเที่ยว แต่ดันไม่มีใครชวน จึงพอมีเวลามากพอ
ที่จะทำกิจบางอย่าง ตามขนบในแต่ละปี ซึ่งเช่นเคย
ครั้งนี้ ก็ขอใช้กติกาของ การนั่งจัดรางวัลซี่รีย์สุโค้ยย์แห่งปีฉลูศก
ที่ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก ออกจะมักง่ายเสียด้วยซ้ำ เหล่าๆได้ว่า



"ด้วยคณะกรรมการการตัดสิน มีด้วยกันเพียง "หนึ่งท่าน"
และท่านนั้น ก็ยังต้องทั้งคิด ไล่เรียง จัดพิมพ์ ตามเก็บ และทั้งต้องจ่ายค่าไฟตามรอบมิเตอร์
การตัดสินครั้งนี้ จึงอยู่ด้วยกรอบของ "อคติของตัว" และ "มายาคติในใจ"
โดยจะเลือกสรรเฉพาะซีรีย์ญี่ปุ่น ที่ได้ยลในรอบปีนักษัตรศกปีฉลู (ขอเปลี่ยนเป็นปีขาล)
ซึ่งไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นซีรีย์ที่เพิ่งถูกสร้างภายในปีนี้ แต่ยังหมายถึงซีรีย์ค้างเก่า
ที่เอามารีรันชมซ้ำ และไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องที่เคยรีวิวมาก่อน เพราะเรื่องที่เล่า
ยอ่มน้อยกว่าเรือ่งที่ไม่เล่าเป็นธรรมดา (เพราะต้องให้เวลาเรื่อง "เหล้า" ในวงเพื่อน
มากกว่า) โดยแต่ละสาขา จะล็อกสเป็กกลั่นใจเลือกให้เหลือเพียงหนึ่ง
จำต้องหักห้ามใจมิให้กล่าวถึง ส่วนจะมีรางวัลอะไรกันบ้างนั้น
ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถจะบอกกล่าวให้ได้ เพราะเป็นการคิดรางวัลขึ้นมาสดๆ
ไล่ไปเรือ่ยๆ จนกว่าจะจนตรอกไปต่อกันไม่ติด ...................."
(แต่ครั้งนี้ขอประกาศรางวัลสุโค้ยย์โต้งๆ ไม่ไปแงะเอาผู้ท้าชิงให้เสียเวลา
และเป็นการกระชับพื้นที่ในเนือ้หา เพราะบ่ายนี้ผู้เขียนติดงานกาลาดริ๊งเกอร์อีกเช่นเคย)

เพื่อเสริมความเร้าใจในรางวัล ก็เข้าอินโทรนี้ซ้ำ เพื่อเข้าสู่การประกาศรางวัลนะครับ


รางวัลผู้เขียนบทหรือดัดแปลงแสนสุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่

"โยริชิตะ โยชิโกะ" จากซีรีย์เรือ่ง หมอ Jin

ผู้เขียนซูฮกให้เธอในเหตุผลที่เคยให้ว่า -
"อันนี้ผ่านตาอยู่บ้าง ก็จาก Mr,Brain และ Byakuyako เจ๊คงมีของดีอยู่กับตัว
เลยสะกดภวังค์ให้คนดูลุกออกจากหน้าจอได้ลำบาก
เลยทำให้ซีรีย์ตอนที่หนึ่ง ไม่เคยเพียงพอในความต้องการของคนดู
ที่อยากชมอย่างต่อเนื่อง แม้จะรู้วาจะมีผลต่อหน้าที่การงานในรุ่งเช้าถัดไป"

(เขียนไว้เมื่อ 09 พฤษภาคม 2553)




รางวัลผู้กำกับแสนสุโค้ยย์ประจำปีขาลศก ได้แก่

"ผู้กำกับ "ทาเกอุชิ ฮิเดกิ" จาก Nodame Cantabile

ด้วยเหตุผลที่เคยร่ายว่า -
"ก่อนที่รู้ว่าจะมีการสร้างโนดาเมะ จากฉบับการ์ตูนมาสู่ฉบับซีรีย์
ในฐานะที่ได้อ่านโนดาเมะฉบับมังงะ ของผู้วาดโทโมโกะ นิโนะมิยะมาก่อน
ก็คิดพล็อกเรือ่งไว้ในประมาณหนึ่ง แต่ไม่นึกว่าผู้กำกับจะพาเตลิดและเริ่ดสแมนแตนได้ยิ่งกว่า
ทำให้ซีรีย์คอเมดี้ไก่กาบ้าบอและคอเกือบแตก กลายเป็นซีรีย์สุดคลาสสิก
ที่ไปได้ดีจนเกือบหลุดวงโคจร บนความอ่อนไหวของกวีบทเพลงออเคสตาร์คลาสสิก
ที่ไม่ใช่เพียงแค่การยัดใส่ แต่บรรจงวางเก็บไว้อย่างศึกษาทำการบ้านมาดี
อีกทั้งหยอดลูกรายละเอียดของแต่ละเพลง ทำให้ดนตรีที่ไม่มีคำร้องฟังดูมีความหมาย
ผ่านจินตนาการและแรงบันดาลใจของผู้ประพันธ์"

(เขียนไว้เมือ่ 26 ธันวาคม 2553)



รางวัลนางรองสุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่

"โอการิ มิกิ" จากซีรีย์เรือ่ง หมอ Jin รับบทเป็น "นางโลมโนวาเซะซัง"

ด้วยเหตุผลที่เคยร่ายไว้ว่า
"ในซีรีย์เรื่องจินนี้ ยังต้องแบกรับกับตัวละครสองตัว สองบุคลิก
ที่ต่างยุคต่างสมัย โดยเฉพาะในบทบาทของตัวละครเกอิชาชั้นครูโนคาเซะ
ที่ต้องเก็งหน้า เม้มปาก ร่ายท่วงท่าฉวัดเฉวี้ยงอย่างมีจริตจะก้าน
เป็นลีลาที่ปกปิดที่อุปนิสัยใจคอลึกๆของตัวเอง ทำให้ผู้เขียน
อ่านไม่ออกและมองไม่เห็น นอกจากกิริยาเปลือกนอก
ในอาภรณ์ของกิโนโมหลากสี ชนิดอยากชวนมาร่วมก๊วนเสื้อหลากสีเสียจริงๆ
".............แม้หวยรางวัลนักแสดงหญิงฤดูกาลดังกล่าว
ไปตกใส่กับเด็กน้อยหน้าใส ชิดะ มิราอิ จากซีรียเรื่อง Shokojo Seira
.แต่ก็ได้ใจมหาชนจากผู้เขียนไปปาดน้ำตาพลางๆก่อนละกัน"

(เขียนไว้เมือ่ 09 พฤษภาคม 2553)





รางวัลพระรองสุโค้ยย์แห่งปีชาลศก ได้แก่

"โอการิ ชุน" จากซีรีย์เรือ่ง Smile ในบท "รุ่นพี่เซอิจิ"

ด้วยเหตุผลที่เคยร่ายว่า -
"เล่นได้เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงสำหรับเรื่องนี้ ถึงได้รู้ว่า
บทจะเลว ไอ้หมอนี้ก็เลวได้ไม่หยอกเช่นกัน
เป็นตัวละครที่พัวพันกับแก็งค์อันตพาล เมื่อตอนที่วีโต้ถูกดำเนินคดี
แม้บทพูดจะมีให้ไม่มากนัก แต่ทุกตอนที่เข้าฉากสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจ
และสมควรที่จะหลีกเลี่ยงไปให้ไกลๆ ตามประสาผู้ก่อการร้ายฉายเดี่ยว
ถือเป็นบทเลวในการแสดงที่ดี พอมีดีกรีเป็นคนขี้คุก
ไม่ต่างจากเจ้าวีโต้เช่นเดียวกัน
ที่นานๆที จะมีตัวละคร "เลวได้ถ้วย" ปรากฎในซีรีย์สักเรื่อง
ทำให้ในบางการกระทำของวีโต้ ที่ขัดแย้งกันผู้เขียนมาโดยตลอด
อย่างน้อยๆ ก็สมประสงค์ใจตรงกันสักอย่าง"

(เขียนไว้เมือ่ 14 พฤศจิกายน 2553)



รางวัลเพลงสุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่

"เพลง l for You ของวง Luna Sea" จากซีรีย์เรือ่ง Precious Time

ด้วยเหตุผลที่เคยร่ายไว้ว่า
"ซีรีย์เรื่องนี้มันมีเพลงประเภท insert song มาแกะกระแสอยู่พรวด
อาทิ In The Sky กับ Kirara by Kudo Shizuka และ Wishes โดย S.E.N.S.
แต่ก็ไม่มีเพลงไหนโดดเด่นเท่านกับ I For You ที่เป็นเพลงเปิด ที่ดังปุบ
ก็ลิงค์ถึงซีรีย์เรื่องนี้ปับ และไปมีความสำคัญต่อมน้ำตาจี๊ดแม้ไม่เข้าใจภาษา
ถึงขั้นประกาศอุทิศให้ตอนสุดท้าย เรตติ้งเกือบสามสิบในตอนที่มีชื่อว่า
Ep 12: I FOR YOU...For love and brightness of life "

(เขียนไว้เมื่อ 05 กันยายน 2553)







ปีนี้ผู้เขียนจะขอเพิ่มเสนอในส่วนของรางวัลพิเศษเสริม
ในฐานะที่ขยันร่ายเสียจนจะมองข้ามมันไป ก็กระไรอยู่
กลัวว่าเดี๋ยวมันจะน้อยใจไป เพราะเห็นร่ำไรว่า "เทรนด์ใหม่" กำลังจะมา
และถ้าเล่นมุขเก่าเอามาหากิน เกรงจะไม่สมกับสำนวน "นานทีปีหน"

รางวัลซีรีย์ที่ถูกเอาไปหากินในช่องขายตั๋วสุโค้ยย์ประจำปีขาลศก ได้แก่
มหกรรมหนังหลายเวอร์ชั่นNodame Cantabile ทั้งภาคหนึ่ง และภาคสอง ของค่ายฟูจิทีวี

ด้วยเหตุผลที่เคยท่าน warinrata@bloggang ร่ายไว้ว่า -
"จิอากิเป็นเครื่องดนตรีที่ขึ้นสายจนตึงเปรี๊ยะ
โนดาเมะก็คือ เครื่องดนตรีที่สายหย่อนยาน ที่เล่นแทบไม่เป็นเพลง"
แต่ทั้งคู่ก็เติมเต็มกันและกัน จนกลายเป็นลำนำเพลงรักที่แสนจะสุโค้ยย์คลาสสิกไปในบัดดล"<

(เขียนไว้เมื่อ 26 ธันวาคม 2553)



รางวัลซีรีย์ย้อนยุคแห่งความทรงจำสุโค้ยย์ประจำปีขาลศก ได้แก่

ซีรีย์เรือ่ง Fireworks, Should We See It from the Side or the Bottom?
ของ ผู้กำกับและเขียนบท "ชุนจิ อิวาอิ"

โดยผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้ว่า-
"Fireworks แลดูจะแตกต่างจากงานซีรีย์ชิ้นก่อนๆของ อิวาอิ
หากเทียบกับ GhostSoup ที่เเน้นฮฮาคอมเมดี้จ๋า ผสมใช้เทคนิคตัดต่อชนิดกระโฉกโฮกฮาก
ตัวละครก็ล้วนแต่บ้าๆบอๆ ส่วนใน Fried Dragon Fish อันนี้ก็มหาอภิปรัชญา ตัวภาพดูหม่นๆมัวๆ
ที่ผู้เขียนแม้จะเตรียมตัวใจมา ซึ่งถ้าไม่ใช่อิวาอิ ก็ไม่คิดว่าจะเสี่ยงดูเพื่อความตระหนักรู้
อีกสักครั้ง แต่กลับ Fireworks ดูจะเป็นงานที่ประนีประนอมอยู่กลางๆผสมกับลูกเล่นในการถ่ายทำ"

(เขียนไว้เมื่อ 30 มกราคม 2553)



รางวัลฮาเป็นบ้าเป็นหลังอันสุโค้ยย์ประจำปีขาลศก ได้แก่

ซีรีย์เรือ่ง My Boss My Hero ของค่าย NTV


ซึ่งผู้เขียนเคยร่ายเหตุผลจนน้ำตาเล็ดไว้ว่า-
"เสียดายที่การมาพบเจอระหว่างผู้เขียนกับ My Boss My Hero
ดูจะช้าไป อันเป็นเหตุให้ลดความน่าตื่นเต้นและกระตุ้นต่อมฮีทให้ลุกพล่าน
ทั้งหมดนี้ ความที่ผู้เขียนได้ผ่านพ้นกับซีรีย์ในเครือเดียวกัน
ของค่าย NTV ที่Gokusen ไตรภาค ที่สูตรโครงสร้างหลักหลายส่วน
ถูกยกกะปิมาประทับ แล้วปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวละครนิดหน่อย......
ถึงแม้สูตรที่ว่าจะดูจำเจ แต่ทว่าก็ยังเรียกเสียงฮาได้อยู่มิวางวาย
แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ถือเป็นสูตรที่ดูดีไม่มีอาการยัดเยียด
แบบสร้างสถานการณ์ อย่างที่มีให้เห็นใน Gokusen............
แต่กับ My Boss My Hero แล้ว ดูเขาไม่แคร์กับสูตรนี้สักเท่าไร
มีลูกตลกแบบต๊อตเล็กต๊อตน้อยไปเรื่อย แบบที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น
ก็ยังมีโผล่ปุยๆให้เห็น หรือกำลังเข้มข้นอยู่ดีก็มีจุดเบรกกระชากอารมณ์
ให้กลับมาขำอีกสักแล้ว ความจริงก็ไม่น่าเเปลกใจเท่าไรหรอก
เพราะได้มือนักเขียนบทหญิงสุดฮาแห่งวงการ ที่เห็นชื่อ โอโมริ มิกะ"

(เขียนไว้เมื่อ 13 มิถุนายน 2553)




รางวัลเทคนิคพิเศษสุโค้ยย์ประจำปีขาลศก ได้แก่

ซีรีย์เรือ่ง Mr.Brain ของค่าย TBSทีวี

ซึ่งผู้เขียนเคยร่ายเอาไว้ว่า -
"แค่เห็นโปรดักชั่นตลอดทั้งเรื่อง กับ การประสานซีจีแบบไม่หวงงบ (แต่หวงตอนแทน)
ก็น่าจะเดาได้ว่า น่าจะไม่ใช่ผู้กำกับขี้ไก่ข้างทางที่ไหน
ซึ่งก็เป็นตามนั้น เพราะเป็นการอัญเชิญสามเทพผู้กำกับประจำค่าย TBS.............
แม้แต่ตัวฆาตกรเอง ก็ยังได้ใจสนบสนุนการไล่ล่าฆ่าฟันโดยรู้อยู่แก่ตัว
แต่ทำไงได้ ก็อยากเห็นการคลี่คลายอย่างเทพและไอ้เจ้าเทคโนโลยีล้ำสมัยไฮเทค
ที่แอบกลัวนิดๆว่า ถ้าดีเอสไอบ้านเรามาเห็น อาจมีการติ๊กกาจัดซื้อจากเมืองนอก
ซึ่งก็เป็นเงินภาษีของประชาชนคนรากหญ้าของเราๆท่านๆด้วยกันทั้งน่านเลย"

(เขียนไว้เมื่อ 08 สิงหาคม 2553)



รางวัลภาพยนตร์เมืองยุ่นสุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่
ภาพยนตร์เรือ่ง Goemon ของผู้กำกับ คาซูอากิ คิริยะ

ซึ่งผู้เขียนเคยร่ายเอาไว้ว่า -
"ความที่เป็นหนังดัดแปลง ทั้งในเรื่องเนื้อหาและจินตนาการ
สิ่งที่คนดูจะทำได้ คือ การเสพอรรถรสของหนัง ตามแต่ใจที่ผู้กำกับอยากจะให้เป็น
คิริยะผู้กำกับ ก็ทำให้การดำเนินเรื่องทุกอย่าง ดูเป็นจริงเป็นจัง สมเหตุสมผล
แม้คนดูอาจไม่รู้สึกแปลกใจ ถ้าหลายพล็อตที่ได้ชม จะเป็นสูตรสำเร็จตามแบบการ์ตูนนิยมศึกษา
ไม่อยากให้ใครเผลอเอาเทียบกับงานซีจีต้นทุนสูงอย่างอวตาร ของเจมส์ คาเมรอน
เพราะเนื้อหาและเจตนา ดูจะแตกต่างกันพอสมควร
ถึงแม้จะมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ต่อต้านสงครามและความปรองดองสมานฉันท์
ด้วยงานของผู้กำกับคิริยะ เขาเล่นกับอดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ชาติแบบคู่ขนาน
ขณะที่งานของผู้กำกับคาเมรอน เขาเล่นกับจินตนาการในอนาคตของมนุษยชาติ"

(เขียนไว้เมื่อ 27 ธันวาคม 2552)



รางวัลอ่านพริวิวของเขาแล้วเราอยากดูสุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่
ซีรีย์เรือ่ง Code Blue 2 โดยท่าน prysang@bloggang
อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม? เอาเป็นว่าตามอ่านได้ที่ คลิกที่นี้ ละกัน



คำคมในซีรีย์แสนสุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่
ประโยคพร่ำเพ้อแสนจะศาสตร์สมาน ทั้งความเป็น เทวบัญชา ปรัชญา สังคมศาสตร์
อนาคตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ควอตัม ดาราศาสตร์ ทฤษฎีโกลาหล และประวัติศาสตร์
ที่หมอจินเปรยตั้งแต่ต้นเรือ่ง แบบหน้าสู้ฟ้าส่วน มือคว้าดาวมาประกอบ
ในซีรีย์ หมอ Jin ในประโยคที่ว่า-

"We've forgotten the darkness of the night
But what if there was a day,l wonder if you would be able to grasp the light that was there?
By your own hands
และ God only gives us challenges ,So we can overcome them."

(เขียนไว้เมื่อ 09 พฤษภาคม 2553)



รางวัลนางเอกตัวแม่สุโค้ยย์ประจำปีขาลศก ได้แก่
"ฮารุกะ อายาเซะ" จากเรือ่ง Hotaru no Hikari ในบท"สาวปลาแห้งโอโมริยะ โฮตารุ"

ด้วยเหตุผลที่เคยร่ายว่า -
"เธอมีของและกล้าลองฝีมือในงานที่สุ่มเสี่ยงจะดับอนาคตของตัวเธอเอง
ทำให้พฤติกรรมสุดเพี้ยนของสาวปลาแห้งให้กลายเป็นน้ำปลาตรากระตัก คุณภาพคับ อย.
ที่ไม่ต้องโคลนนิ่งพฤติกรรมแอบเเป๋วแล้วทำแกมป๋อง แต่ขายในจุดที่ตัวเองเป็นอย่างไม่เสแสร้ง
ถ้าจะบอกว่าเป็นงานสร้างภาพ ก็ต้องเป็นงานสร้างภาพให้ดูต่ำลงแต่กลับมีคนดูรักมากขึ้น
จึงทำให้บท อาเมริยะ โฮตารุ ดูเป็นที่น่าจดจำในลำดับทะเบียนผลงานของ อายาเซะ เอง
ไม่แพ้ในบท สุกิมุระ อากิ ใน Crying out , ยุกิโฮะ จาก Byakuyako
และ ทาจิบาน่า ซากิ จากซีรีย์ Jin"

(เขียนไว้เมือ่ 26 กันยายน 2553 )




รางวัลนักแสดงชายตัวพ่อสุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่
"ทามามุระ ทาคาฮาซุ" จากซีรีย์เรือ่ง Concerto ในบท "สถาปานิกชั้นเทพโคซุเกะ"

ด้วยเหตุผลที่เคยร่ายไว้ว่า
"เป็นนักแสดงที่มีลูกล่อลูกชนแพรวพราว
จนไม่แปลกใจว่าทำไมน้องฮานะ จึงต้องนอกใจมารับการอุปถัมภ์จากลุงท่านนี้
ลุงแกทำให้ผู้พอเชื่อได้ว่า น่าจะเป็นนักสถาปนิกจริงได้
ไม่ได้ด้วยแบบแปลนที่ลุงวาดหรอกนะ แต่ด้วยอารมณ์ติสท์แบบสถาปนิกเขาชอบเป็น
ประเภทเอามือลูบคาง จูนหัวสมอง ขณะที่ในมือคีบบุหรี่ปุยๆ โห!มันใช่เลย
ลีลาการพูดของแก เต็มไปด้ยความเชื่อมั่น พร้อมที่จะให้คนอื่นฟังแก
ขณะเดียวกัน แกก็ไม่พร้อมที่จะยอมให้ใครพูดขึ้นสวน ในขณะที่แกกำลังคุยอยู่
ดูงานซีรีย์จากที่แกเล่นก็ไม่บ่อยนัก เพราะนานๆแกจะรับเล่นซีรีย์สักเรื่อง...........
เป็นความเท่ห์แบบคนมีกะตังค์ ที่ดับรัศมีให้ทาคุยะยังไม่พร้อมแจ้งเกิด
จึงมิแปลกใจหากแฟนทะคุงคลับ จะไม่ค่อยรู้จักมักคุ้นกับซีรีย์เรื่องนักก็ตาม"

(เขียนไว้เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2553)



และตบท้ายด้วยรางวัลสุดท้าย (เพราะก๊กเพื่อนโทรตามมาชวนแล้ว)

รางวัลซีรีย์สุโค้ยย์แห่งปีขาลศก ได้แก่

"ซีรีย์เรื่อง Dr. Koto Shinryojo โดยค่าย ฟูจิทีวี

ด้วยเหตุผลที่เคยร่ายไว้ว่า -
"โดยภาพรวม ถือเป็นงานสไตล์โคโตะที่ไม่ง่าย
เพราะโดยปกติ ผู้เขียนดูซีรีย์เรื่องหนึ่งเรือ่งใด มักจะจดจำได้เฉพาะเพียงบางตอน
และบางฉาก แต่ในซีรีย์หมอโคโตะแล้วกลับเป็นกลุ่มก้อนและความรู้สึกโดยรวม
ด้วยการดำเนินเรือ่งแบบแยกกระจาย คลี่คลายไปในช่วงเวลาเดียวกัน
กลายเป็นภาคที่แสดงยัตถาปัจจตัง อันยากจะประสานความซ่านเซ็น
ให้กลับมาเป็นกลุ่มก้อนเฉกเช่นเดิมเหมือนกันในภาคแรก
แต่ผู้กำกับก็ยังควบคุมกรรมวิธีแบบโคโตะ ที่เป็นสไตล์เอกลักษณ์เฉพาะตน
ทั้งการตัดต่อ ลำดับภาพ แสง มุมกล้อง การเล่าเรือ่ง มุขตลก
เป็นความหนักหนาที่ไม่ฟูมฟาย ยังพอเห็นประกายความหวังในช่วงเวลาที่ริบหรี่"

(เขียนไว้เมือ่ 06 ธันวาคม 2553)



และก่อนลาที่จะไม่ลืม
รางวัลซีรีย์แสน "อสุโค้ยย์" แห่งปีขาลศก
(ซึ่งจะว่าไปถือเป็นปีที่ซีรีย์ญี่ปุ่นหลายเรือ่ง ที่ชมแล้วก็หวั่นเกรงใจซะ มีทั้งประเภท
ดูตอนแรกก็ฟังธง บางเรื่องก็เป็นประเภทปกหลอกตา และมีทั้งดาราพาเตลิด
หรือประเภทเก่าเก็บกรุไม่เผาผี แต่ความที่ต้องคัดมาเพียงแค่ "หนึ่ง"
มันจึงหนีไม่พ้นสูตร "หวังไว้มาก ก็มีสิทธิ์ (ผิดหวัง) มาก" ซึ่งก็ได้แก่


ซีรีย์เรือ่ง Moon Lovers ที่มี ทาคุยะ คิมูระ เป็นดาราเอกชูโรง
ประกอบมเหสีลือชื่อทั้งสามนาง ไม่ว่าจะเป็น "คิตากาวา เคย์โกะ" "เรียวโกะ ชิโนฮารา"
และหมวยอิมพอร์ต "หลินจื้ออิง" แถมไปถึงไอ้หนุ่มวงใน "มัตซึดะ โชตะ" ทื่กำลังไต่ความดัง
บวกกับเจ้าแม่มือเขียนบทระดับตำนาน
"ทาเคโนะ อาซาโกะ" (Last Friend,Innocent Love)
สุดท้าย ค่ายฟูจิทีวีก็ทำการกระชับพื้นที่ตอนให้ ลดลงเหลือแค่แปดตอน
จากเรตติ้งที่โผล่พรวดตอนแรก ๒๒ กว่ามาเหลือต่ำสุดที่ ๑๓ กว่า
ก็อย่างที่ท่าน prysang@bloggang ว่าไว้นั่นแหละ

"โอ๊ย จะบ้าตาย ดูกี่ตอนๆ จนจะจบเรื่อง
ก็มิอาจฟันธงได้ว่าเรนสึเกะจะเลือกใครกันแน่
ของเขาทำได้ไม่ชัดจริงๆ .....จึงไม่แปลกใจ กับ ความเห็น
ทำไมเลือกอย่างนั้น ไม่ควรเลือกอย่างนี้หรอกหรือ ??
( เออสิ ..มันผิดธรรมเนียมละครไปหรือเปล่า ) และไม่แปลกใจอีกเช่นกัน
กับ ความเห็นอีกด้านที่แสดงความรู้สึก............... เรื่องราววนเวียนอยู่กับชายหนึ่งหญิงสาม
ที่บางครั้งมันก็น่าเบื่อ ถ้าไม่เป็นเพราะแรงจูงใจที่ต้องการพิสูจน์
"มันต้องเป็นอย่างที่ฉันคิดสิ!" ก็คงเลิกดูไปตั้งแต่สองสามตอนแรกแล้วล่ะ
โดยส่วนตัวแล้วเรื่องนี้ไม่ทำให้รู้สึกถึงความโรแมนติกหรือความซาบซึ้งใด
ดูจบแล้ว ต้องบอกเลยว่า Thank goshhhhh ที่สร้างมาทรมานใจกันแค่ 8 ตอนจบ"

(เขียนไว้เมื่อ 07 สิงหาคม 2553)



อันนี้ก็ถือเป็นภาพรวมโดยย่อ ที่ได้คัดสรรเเบบฉับพลันทันด่วน
ชนิดไม่ทันยั้งคิดก็ว่าได้ ซึ่งไม่อาจจะเอามาตราฐานสากลส่วนไหนมาพอชี้วัดได้
นอกจากความได้ใจ-ถึงใจ และสาแก่ใจของตัวผู้เขียนเอง
(ถึงได้บอกแต่ต้นว่ามัน "สุโค้ยย์" นี้ไง)
ก็ถือว่า เป็นการจัดลำดับเอาดูขำๆ สังหารเวลาอันมีค่าของท่านเล่นๆ
เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ เลือกชมและเลือกโหลด
ตามแต่มรรควิธีในแต่ละท่าน ซึ่งก็อะหน๊า
ระยะหลัง การจะหาอ่านพรีวิวซีรีย์ญี่ปุ่นเล็ดลอดมาสักเรื่อง
ก็ถือเป็นการหางมเข็มในมหาสมุทรที่มีคราบน้ำมันปกคลุมขึ้นอีกชั้น
ซึ่งในปีเถาะศก ผู้เขียนไม่กล้ารับปากกับตัวเองเลยว่า จะพยายามปั่นงานร่ายซีรีย์
ได้มากน้อยประมาณไหน อย่างไรและทำไม เพราะโดยปกติ
ก็เป็นคนที่ผันแปรความสนใจไปเรือ่ย ไม่คอ่ยได้จับเจ่าต่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดเท่าไรนัก
แม้แต่ทีมฟุตบอล ก็ยังปรับเปลี่ยนไปตามภูมิทรรศนะของเกจิอยู่ร่ำไป
(ยังไม่รวมกรณี ที่กำลังจะทำท่าว่าตกชั้น ซึ่งคุณก็พอรู้ว่าทีมใด)
เอาเป็นว่า ถ้ายังสนุกกับการได้นำเสนอและมีคนสนอง ก็เชือ่ว่า
คงได้กลับมารับใช้มิตรรักนักอ่านซีรีย์พี่ยุ่นตามวารดิถีปกติต่อไป
และขอบคุณทุกท่าน ที่ได้อยู่ร่วมกันมา ทั้งแบบโผล่มาและแว้บโผล่ให้ได้สะดุ้งเฮือก
ของในปีที่ผ่านมา หวังว่าคงจะสนุกหรรษากับการชมซีรีย์อย่างมากก็ไม่น้อยนะขอรับ
สวัสดีปีใหม่ทุกกัลยาณซีรีย์นะครับ...............



ป.ล. ยังไม่ลืมที่จะต้องปิดท้ายด้วยวาทกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของปีที่แล้วที่แปะไว้ว่า

"การให้คะแนนเป็นสิทธิ์ส่วนตัว ที่ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณให้จงหนัก"




 

Create Date : 02 มกราคม 2554    
Last Update : 3 มกราคม 2554 13:36:14 น.
Counter : 2300 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.