A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
Sailor Suit and Machine Gun ยากุซาคอซอง




เป็นความไม่เข้าใจพฤติกรรมการบริโภคตามรสนิยมส่วนตัวของผู้เขียนอีกเช่นเคย
ว่าทำไม? ผู้เขียนเอง ชีวิตก็สมถะสันโดษ ประกอบกิจการสัมมาอาชีพ เกลียดการใช้ความรุนแรง
แต่ลึกๆแล้ว กลับเป็นคนที่นิยมการดูซีรีย์ในแนวยากูซ่าบ้าพลัง
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก พอมีซีรีย์เกี่ยวกับกลุ่มคนพวกนี้ทางหน้าจอทีวีเมื่อใด
ก็มักหนีไม่พ้น ถูกทำให้เป็นคอเมดี้ดราม่าเกือบจะทุกสำนัก ไล่นับนิ้วที่ดูมาก็ได้
ทั้ง Gokuzen ไตรภาค ,Tiger and Dragon, My Boss My hero,Yasuko to Kenji
ทำให้ภาพยากูซาที่เป็นด้านลบ มากจะออกมาในเชิงบวก ซึ่งขัดแย้งกับโลกความเป็นจริง
จนบางครั้ง มักถูกสังคมประชดประชันว่าเป็นการสร้างเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์
โดยมีนายทุน เป็นแก็งยากูซาอุปถัมภ์อยู่เบื้องหลัง






Sailor Suit and Machine Gun จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้เขียน
ที่บางที อาจจะใช้คอเมดี้ยากูซาเป็นเครื่องบังหน้า แท้ที่จริงแล้ว
ตัวผู้เขียนเอง อาจจะประสงค์ที่จะได้ยลใบหน้าในสมัยวัยละอ่อน
ของนางเอกร่วมภพร่วมชาติ "นางาซาวา มาซามิ" ที่ส่วนใหญ่จะประทับใจ
ผ่านการแสดงในจอภาพยนตร์ จะมีก็นานๆครั้งที่พอจะทำให้ปลื้มได้บ้างทางหน้าจอทีวี
ดังนั้น หนังที่เข้าโรงเมืองไทยบ้าง ไม่เข้าโรงเมืองไทยบ้าง อย่าง Touch ,Rough
Cryin Outฯ ,Nada Sousou ,That Time Said Hi to My Boyfriend
หรือหนังที่เธอแจ้งเกิดจริง อย่าง Godzilla ไม่ว่าในภาคที่ปะทะเจ้าหนอนยักษ์Mothra
กับหุ่นก็อตซิลล่ากระป๋อง Mechagodzilla รวมถึงภาค Final War
ก็เป็นงานที่ไม่เคยพลาดด้วยประการทั้งปวง แม้พัฒนาความอวบของเธอระยะหลัง
อาจจะบดบังในแง่ของงานฝีมือ แต่ก็ถือว่ากระทบบ้างเล็กน้อย
ซึ่งถ้ารับกับภาพลักษณ์ที่เห็นในปัจจุบันไม่ได้ อย่างน้อยๆผู้เขียนก็มีทางเลือก
ที่จะย้อนเวลาไปชมงานเก่าๆของเธอ และ Sailor Suit ฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ที่ไม่ต้องมาเรื่องของตราชั่ง ให้เป็นเรื่องกังวลใจ





Sailor Suit and Machine Gun ที่ผู้เขียนได้ชมเป็นเวอร์ชั่นทางทีวี ในปี 2006
ของสถานีทีบีเอสทีวี จำนวนฉายเพียง ๗ ตอน ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า
จริงๆแล้ว Sailor Suit หาใช่พล็อกเรื่องที่ใหม่แต่ประการใด
แต่เป็นงานรีเมกทางภาพยนตร์ที่ฉายในปี ๘๐ บทประพันธ์ของ "อาคางาวะ จิโระ"
ที่มีเนือ้หาตลกเชิงเสียดสีแดกดันกลุ่มยากูซา (satirical yakuza)
ให้นักเรียนสาวมัธยมคอซอง (sailor-fuku) ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารุ่นที่แปดของแก็งค์เมดากะ กูมิ (Medaka Gumi)
ผ่านคำสั่งเสียของนายใหญ่คนก่อน ที่ปรารถนาให้คุมิโจ้ (ถ้าชายเรียกว่าโอยาบุ) รุ่นต่อไป
โดยกำหนดให้หลานชายที่หายสาปสูญ หรือถ้าไม่ได้ก็ขอให้ทายาทที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันกับตน





Please grant me just one final request.
(นี้จะเป็นคำขอครั้งสุดท้ายจากฉัน)

My Position will be passed on to my nephew.if it's not possible at least
final someone with b-blood relation to me.
(ตำแหน่งของฉันจะต้องมอบให้กับหลานของฉัน อย่างน้อยถ้าไม่อาจจะเป็นไปได้
ก็ขอให้เป็นใครก็ได้ที่มีเลือดเนื้อเดียวกันกับฉัน)





คำสั่งเสียครั้งสุดท้ายนี้ ส่งผ่านต่อหน้าลูกน้องคนสนิทซึ่งจงรักภักดีตามแบบฉบับยากูซาแพทเทรินด์
"มาโคโตะ ซากุมะ" (รับบทโดย ทซึซึมิ ชิอิชิ จาก Always และ Good Luck!!)
ซึ่งตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการของเขาคือ "รองหัวหน้า"
ท่ามกลางการไม่เห็นด้วยของสมาชิกในแก็งค์ที่อยากให้ ลูกพี่มาโคโตะเองสืบทอดต่อแทน
เนือ่งจากสืบทราบข่าวมาว่า หลานชายของนายใหญ่คนก่อน
เพิ่งเสียชีวิตไปจากอุบัติที่ทางตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการฆาตกรรม
ดังนั้นทายาทหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ ก็คือ บุตรสาวหนึ่งเดียวของหลานชาย
"โฮชิ อิซุมิ" (รับบทโดย นางาซาวะ มาซามิ) เด็กสาววัยมัธยมแว่นตากลม ที่นอกจากนิสัยจะเฟอะฟะ
ขี้หลงขี้ลืม และมองโลกในแง่ดี ผู้ซึ่งไม่เคยทราบมาก่อนว่าครอบครัวสืบสายเลือดของตระกูลยากูซา
โดยบุคลิกในภาพรวมแล้ว ไปกันไม่ได้เลยกับภารกิจนายหญิงคุมิโจ้รุ่นที่แปดของแก็งเมดากะ กูมิ
(the 8th kumicho of the Medaka Gumi)





ความที่เข้าสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ในยุคของการเปลี่ยนแปลงของแก็งเมดากะ กูมิ
ที่เจียนอยู่ เจียนไป สมาชิกทั้งแก็งก็มีกันเพียงห้าคนโดยเรียงตามลำดับความอาวุโส
(senpai-kohai) ที่ถ้าไม่นับลูกพี่มาโคโตะที่กล่าวไปแล้ว
ก็จะเหลือเพียง "คินโซ" อาวุโสสุดในแก็งที่มักหาคำคมๆจารึกลงในพัดกระดาษ
(แสดงโดย ยามาโมโตะ เรียวจิ) "ทาเคชิ" เจ้าอ้วนหัวล้านผู้เชี่ยวชาญเรือ่งคอมพิวเตอร์
(แสดงโดย ทากูชิ ฮิโรมาซะ) "ฮิเดกิ" เจ้าหนุ่มเลือดร้อน ที่ทำอะไรไม่คอ่ยคิดหน้าคิดหลัง
(แสดงโดย ฟุกุอิ ฮิโรอากิ) และ "เคนจิ" ไอ้หนุ่มผมทอง (แสดงโดย นากาโอะ อากิโยชิ)
หลานชายของคินโซ ความที่เป็นเพียงแก็งเล็กๆ ดูแลพื้นที่อันจำกัดในย่านการค้า
จึงเป็นผลให้แก็งที่ใหญ่กว่า อย่าง ฮาชิกูชิ กูมิ (Hamaguchi Gumi) พยายามที่จะซื้อตัว
ลูกพี่มาโคโตะให้มาเป็นพวก เมื่อซื้อไม่ได้และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำ
แก็งฮาชิกูชิ กูมิ จึงก่อกวนทุกวิถีทาง ทั้งลอบยิง รุกล้ำอาณาเขตปกครอง (island)
และที่สำคัญ ถ้าอิซุมิไม่ยอมรับการสืบทอดตำแหน่งนายหญิงคนต่อไป
ก็จะเป็นความรู้สึกบาปในใจของลูกพี่มาโคโตะ ที่รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะกับนายใหญ่คนก่อน
จนถึงพิจารณาโทษ ถึงขั้นเตรียมจะคว้านท้องเพื่อเป็นการรับผิดชอบที่ทำไม่สำเร็จ






l went against the boss and disbanded the clan.
(ผมถูกการต่อต้านจากเจ้านายและแก็งที่มีอยู่ก็กำลังจะถูกยุบ)

Once you enter this clarty world,You will never be able to look back.
and live in the normal world again.
(ถ้าคุณขืนเข้ามากลิ้งกลือกในโลกที่สกปรก คุณจะไม่มีทางได้กลับ
ไปใช้ชีวิตโลกปกติของคุณอีกต่อไป)






Sailor Fuku to Kikanju แม้จะเป็นซีรีย์ที่พล็อกเรื่องดูเหลวไหล และไม่มีน้ำหนัก
แต่ทว่า ผู้กำกับ Hirakawa Yuichiro และ Kato Arata กลับสามารถถ่ายทอดให้ดูจริงจัง
และมีความเป็นไปได้ แม้จังหวะการเล่าเรือ่งอาจจะดูธรรมดาทั่วไป
อีกทั้งบทตลก ดูจะขัดไปจากความเป็นจริงในแง่ความสมเหตุสมผลไปบ้าง
แต่ในแง่ความเชื่อมสายสัมพันธ์แบบอาทรณ์ ในระดับสถานภาพระหว่างนายกับบ่าว
โดยเฉพาะ นายหญิงผู้ไม่ประสีประสา "อิซุมิ" กับบ่าวผู้ภักดี "มาโคโตะ"
ถือเป็นจุดแข็งของเรื่อง ที่กลบจุดอ่อนจุดด้อยส่วนอื่นๆ ให้กลายเป็นเรือ่ง "เล็บๆ" ไป
ความที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งอิซูมิที่เพิ่งศูนย์เสียพ่อที่เป็นที่พึ่งสุดท้าย
และบรรดาสมาชิกแก็งเมดากะ กูอิ ที่ไร้นายผู้เป็นจุดศูนย์รวมหลัก
เนื้อหาเบื้องต้นจึงเน้นในจุดของการ "ยอมรับ" ในกันและกัน มี
เงื่อนไขนายหญิงวัยสิบเจ็ดที่อ่อนพรรษาในด้านมืด (ที่เเค่เห็นเลือด เจ๊ก็จะเป็นลมมม..)
การยอมรับของอิซุมิ ที่จะต้องมาคุมบังเหียนแก็ง ไหนจะการยอมรับของสมาชิกในแก็ง
ที่จะให้เด็กสาวมัธยมที่ไหนไม่รู้ เพียงเพราะมีเลือดเนื้อเชื้อเดียวกันกับนายคนก่อน
ให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า ท่ามกลางการเย้ยหยันจากแก็งคู่แข่ง
เป็นการตั้งคำถามต่อระบบ "สายวงศ์สกุล" มากกว่าที่จะยึดหลัก "ความสามารถ" ของคนนอก
อิซุมิจึงต้องพิสูจน์การยอมรับ ทั้งจากเบื้องหน้า ในการเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปกปอ้งสมาชิก
และสร้างสัมมาทิฐิที่ดีเพื่อพัฒนาจิตใจของบริวาร ดึงด้านบวกที่ดีในใจของกลุ่ม
โดยที่สิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนา อิซุมิจึงทุ่มเททุกอย่าง ไม่เว้น
แม้กระทั้งต้องวิ่งแจ้นไปยังร้านวีดีโอเพื่อคัดลอกยากูซาคาแรกเตอร์ เพื่อให้อินสมกับตำแหน่ง






นึกเสียดายอยู่เหมือนกัน ที่นานๆทีจะมีซีรีย์อดุมไปด้วยความสนุกครบรสเช่นนี้
แทนที่จะกำหนดเพียงเจ็ดตอน แค่การแสดงของ "ลุงชินนิชิ"
ในบทลูกพี่มาโคโตะ ต้องขอบอกว่าพี่ท่านเล่นได้แมนเอามากๆ
เล่นได้ไม่แพ้ในสมัยที่เล่นเป็นรุ่นพี่สจ๊วต ใน Good Luck!! ทำเอาทาคุยะยังหงอย
ทั้งรูปร่าง สัดส่วน รูปทรงและโครงหน้า
ก็สอดรับกับบทลูกพี่อุดมคติยากูซานิยมได้เป็นอย่างดี งานนี้จึงไม่พลาดที่ลุงชินนิชิ
จะได้รางวัล TDAA ครั้งที่ 51 ไปครอง แต่ที่ข้องใจอยู่บ้าง คือ มาซามิ ในบทอิซุมิ
หลานสาวเจ้าพ่อ เพราะถือเป็นการฉีกวิธีการเล่นของเธอ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะได้บทสาวหวาน
ที่คอยส่งซิกให้ท่า แต่ชายเจ้าไม่เคยรับรู้ (ตามฉบับถ้าไม่บื้อ ก็ไม่ถือว่าเป็นพระเอกญี่ปุ่น)
ฝีไม้ลายมือในการตีบทตัวละครให้แตก จะว่าไปมาซามิเธอก็ไม่ได้แพ้ลุงชินนิชิแต่ประการใด
เพราะมาซามิเธอเล่นได้ "แบ้ว" อย่างที่ตัวละครอิซุมิควรจะเป็น
และเห็นถึงพัฒนาการของตัวละคร ที่ค่อยๆเรียนรู้และเติบโตมาเป็น "คุมิโจ้"
ที่สมาชิกในแก็งเมดากะ กูมิ ทุกคนให้การยอมรับและพร้อมที่จะตายแทนได้ทุกเมื่อ
เป็นงานแจ้งเกิดในลำดับต้นๆ ของคุณน้องมาซามิในช่วงที่กำลังไต่รับงานทางซีรีย์
ขณะที่เพิ่งได้รับบทเด่นๆ น่าจะสักสี่ถึงห้าปี ถือได้ว่า เล่นไม่ได้น้อยหน้าไปกว่า
ต้นฉบับภาพยนตร์ ที่อิซุมิรุ่นแม่ "ยากูชิมารุ ฮิโระโกะ" เคยได้ฝากฝีมือเอาไว้
แต่คงไม่เสียดายเท่าไรนักที่มาซามิ จะไม่ได้รางวัลคู่ไปกับลุงชินนิชิเขา
เพราะปีนั้นกระแสซีรีย์ Nodame Cantabile นั้นแรงจริง เลยเสร็จคุณน้องอีกคน
ให้กับอุเอโน จุริ ในบทของโนดาเมะ อัฉจริยะทางเปียโนไป
(ถ้าสังเกตให้ดีในซีรีย์ บ้านเลขที่ของอิซุมิ จะมีเลข 8940 ที่ออกเสียงคล้ายกับคำว่า "ยากุชิมารุ"
เพื่อเป็นเกียรติ์ให้กับลูกพี่อิซุมิตัวแม่ ทุกวันนี้ยังสามารถพบเห็นเจ๊ฮิโรโกะ โดยเฉพาะหนังใหญ่
ใน Always ,Heaven's Door และ Hanamizuki)
ตอนแรกที่ผู้เขียนได้เห็นปก ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นนักแสดงที่หน้าตาใกล้เคียงกับเจ๊มาซามิรึไม่
ด้วยลุกส์ผมสั้นสุดๆ ไมได้เห็นกันบ่อยๆ สำหรับมาซามิจัง (ยกเว้นใน Crying Out
เพราะนั้นไม่ใช่เเค่สั้น แต่เป็นต้องล้านด้วยนางเอกเป็นโรคลูคิเมีย)
การโคจรมาเจอะกันข้ามรุ่นระหว่าง หนูมาซามิ กับ ลุงชินนิชิ ในเรื่องนี้
ถือเป็นการจับคู่ที่ถูกฝาถูกตัวเป็นที่สุด แม้ความสัมพันธ์ที่ว่าจะไม่ได้มีฤทธิ์รักพิสวาสเชิงชู้สาว
แต่อยู่ในธรรมเนียมปฏิบัติการเชิดชูระบบอุปถัมภ์ระหว่างมูลนายกับบ่าว ที่คนตะวันออกซึมซับเป็นอย่างดี







ด้วยบทของเรื่อง นักแสดงนำ และบรรยากาศที่มีเสน่ห์อยู่ภายในแล้ว แค่นั้นยังไม่พอ
แม้แต่ตัวละครรองๆ ก็มีบุคลิกที่ชัดเจนอยู่ในตัว ถึงรูปแบบการจัดวาง
จะคล้ายคลึงกับยากูซาซีรีย์เรือ่งนั้นเรื่องนี้ ที่จะต้องมีลูกกระจอกกระเจี้ยบติดลูกห่ามแต่จิตใจดี
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมียากูซาทับถิ่น ที่ติดลูกโฉด แต่สุดท้ายก็พ่ายความสามัคคีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ถือว่าทีมงานเขาคัดคนหน้าตา "โฉดๆ" ได้เหมาะสมลงตัวกับความเป็นยากูซา
ที่ไม่ใช่แค่เล่นสายโหดได้ถนัดถนี่แต่เพียงเท่านั้น ยังต้องสามารถตลกกลบเกลื่อนได้เป็นกอบเป็นกำ
ที่แม้ว่า เรื่องนี้จะไม่ใช่ประเภทฮาตลกเพ้อเจ้อ แต่ก็พอทำให้อมยิ้มได้ อันนี้เฉพาะครึ่งแรกนะครับ
พอเข้าครึ่งหลังอย่างเต็มตัว ก็ไม่ได้อะไรให้ตลกครื้นเครง กลายมาเป็นดราม่าหนักหน่วง
ทั้งๆที่ พล็อกตั้งต้นว่ากันด้วยเรื่องของเด็กสาวมัธยมผู้เป็นเสาหลักนายน้อยแห่งแก็งยากูซา
จะยกเว้นให้ ก็แต่เฉพาะเพียงลุง "ฮีโรตาโระ ฮอนตะ" เพียงท่านเดียว
(ส่วนใหญ่จะได้เจอะลุงในบทรับเชิญ อย่างใน Unubore Deka และ Smile)
ในฐานะบอสของแก็งฮามากูชิ กูอิ ที่เป็นอริกัน เพราะถ้าขืนลุงแกยังต้องเข็นบทฮาควบตามมาอีก
ก็มีหวังจบกันเอวังด้วยประการละฉะนี้ ด้วยข้อหาหน้าตาที่ถนัดสายโหดมาแต่กำเนิด
อีกทั้งความได้เปรียบของสายอิทธิพลระดับมหาองค์กร อย่างแก็งฮามากูชิ กูอิ
จึงทำให้มีเส้นส้นกลใน ทั้งในกรมตำรวจ ธุรกิจค้ายาเสพย์ติด และฐานสมาชิกองค์กร
ซึ่งแก็งฮามากูชิ กูอิ นี้ เป็นการ "ล้อชื่อ" กลุ่มยากูซาที่มีอยู่จริง ในชื่อของ
ยากูซากลุ่ม "ยามากูชิ กูมิ" องค์กรเดียว ที่ถือได้ว่าเป็นองค์กรยากูซาที่ใหญ่ที่สุดของปท.
ก็มีธุรกิจที่ต้องบริหารกว่าสองพันห้าร้อยชนิด มียากูซาสาขายิบย่อย ไม่น้อยกว่าแปดร้อยห้าสิบแห่ง
มีสมาชิกยากูซาในอัตราส่วนเกือบจะครึ่งหนึ่งของประเทศ ยามากูชิกูมิจึงถือเป็นชื่อที่ฮิตกันมาก
ที่แวดวงอุตสาหกรรมความบันเทิงแนวยากูซา ที่พึงจะหยิบฉวยมาใช้กันตลอดมา






Pinkie swear.Much better than cutting off a finger,Isn't it?
(เกี่ยวก้อยสัญญากัน ดีกว่าการไปตัดนิ้วก้อยทิ้ง
เธอว่าอย่างงั้นไหมละ?)



แต่จะหาว่า จะกระเดียดมาทางดราม่าคอเมดี้อย่างเดียวก็ไม่ใช่
Sailor Fuku ยังแอบแฝงในเรือ่งของกลวิธีการสืบสวนหาความจริง
ทั้งในเรื่องการตายของบิดาที่ถูกชี้เป้าโดยเจ้าหน้าที่ ธุรกิจการค้ายาในตลาดมืด
นักการเมืองที่พยายามสร้างผลงานด้วยการขจัดผู้มีอิทธิพล
และตัวละครหญิงลึกลับที่มีความสัมพันธ์ทางลับกับพ่อของนางเอก
แม้ทิศทางพอที่จะให้เลียบเคียงที่มาที่ไปได้ไม่ยาก แต่ประเด็นลึกลับและซับซ้อนเช่นนี้
ไม่ได้ถูกชูขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก ด้วยผู้ดัดแปลงบท "โยชิฮิโระ อิซุมิ"
ถือเป็นมือเขียนบทที่เชี่ยวชาญในการวางหมากเกี่ยวกับ
การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานองค์กรความขัดแย้งเดิม ด้วยลัทธิผู้นำใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบ
ผ่านแนวคิดอุดมคติพื้นฐานที่มุ่งเน้นศรัทธาในตัวมนุษย์ ว่าใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์
อันนี้ไม่ได้โม้ เห็นได้จากซีรีย์ใน Yankee Bokou ni Kaeru และ Rookies
(จะว่าไป ใน Sailor Fuku เน้นความกลมเกลียวของหมู่ชนเข้มเเข็งกว่า Rookies ที่ว่าเเข็งพอควรแล้ว)
เห็นว่า Sailor Fuku เปลี่่ยนไปอยู่พอสมควร เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นซีรีย์ทีวี ที่เคยฉายในปี 82
ขยายในส่วนของแบบแผนความสัมพันธ์ โดยให้น้ำหนักกับความเป็น "ครอบครัว" (Family)
ที่เป็นส่วนเติมเต็มของบรรดาตัวละครแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งถ้าเล่าได้ไม่ดีนัก
ก็มักจะออกลูกทะเลพากึ๋ยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะตระกูลคอเมดี้ยากูซานี้ ตัวดีเลย
แต่ไม่น่าเชื่อว่า อารมณ์กึ๋ยๆแบบนี้กลับไม่มีให้เห็นใน Sailor Fuku
ตรงข้าม .....ผู้เขียนกลับต้องพยายาม "ลุ้นให้มันมี" เสียด้วยซ้ำไป







ถึงเข้าใจว่าทำไม Sailor Fuku to Kikanju ถึงเป็นบทประพันธ์ที่คงความคลาสสิกนัก
และมีอิทธิพลต่อการ "เล่าเรื่อง" ในสไตล์ยากูซาคอเมดี้รุ่นหลัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
Gokusen ,My Boss My hero ,Yazuko to Kenji ไม่ว่าจะเป็นปฎิภาควิธีโดยใช้
สัมมาอาชีพหนึ่งมารับบทบาทมิจฉาอาชีพอย่างยากูซา การปิดซ่อนสถานะปัจจุบัน
การพิสูจน์ตัวตนภายในมากกว่าอัตลักษณ์ที่เป็นอยู่ภายนอก ทำให้โลกของยากูซา
ดูเป็นสิ่งที่จอมปลอมหากจะหลงยึดติดอยู่กับ อำนาจ บารมี อาวุธ ยาเสพย์ติดและค้าผู้หญิง
เพราะ Sailor Fuku หวนให้นึกถึงปรัชญาการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของชนยากูซาที่เลือนหาย
(ซึ่งนางเอก ก็มีการเอ่ยถึงตอนที่ไปเหยียบข้ามถิ่นของยากูซาคู่แข่ง)
โดยเฉพาคำว่า jingi ที่หมายถึง ความยุติธรรม(justice)และ หน้าที่ (duty) ที่ต่อมา
ถูกแปรความหมายมาเป็น ความซื่อสัตย์(loyalty) และการให้ความเคารพ(respect)
ในวิถีปฎิบัติตามครรลองจารีตการปกครอง





ประวัติความเป็นมาของยากูซา ก็ค่อนข้างยาวนานและคลุมเครือ
ประมาณกันว่า ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงคริสตวรรษที่ ๑๗ ในช่วงกลางยุคเอโดะ
โดยกลุ่มจัดตั้งที่เรียกตัวเองว่าTekiya ซึ่งมักประกอบกิจการในสิ่งที่ผิดกฎหมาย อาทิ
ค้าของผิดกม. ขโมยสินค้าชั้นต่ำ และตั้งวงการพนัน จนกลายมาเป็นองค์กรยากูซาในปัจจุบันและ
อย่าได้เอากลุ่มผู้มีอิทธิพลจากซีกโลกอื่นมาเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็น มาเฟียอิตาลี หรือเจ้าพ่อเซียงไฮ้
เพราะยากูซาเป็นองค์กรที่ไม่เหมือนใคร เปิดเผยกันให้รู้ในที่แจ้ง มีป้ายแผ่นไม้ใหญ่สลักตัวเป้ง
ประมาณกันว่า ทุกวันนี้มีสมาชิกองค์กรอยู่ประมาณแสนกว่าคน
ถึงแม้ผู้คนทั่วโลกส่วนใหญ่จะรู้จัก ในชื่อ "ยากูซา" กลุ่มผู้มีอิทธิพลในด้านมืดของปท.ญี่ปุ่น
แต่กับคนญี่ปุ่นด้วยกันแล้ว จะรู้จักกันดีในชื่อของ โกคุโดะ (gokudo) ในขณะที่
ทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและสื่อมวลชน จะหมายหัวคนกลุ่มนี้ในชื่อ "โบเรียวคุดัน" (boryokudan)
ตรงกันข้าม ในมวลชนคนยากุซาหัวอกเดียวกัน "นิเคียว ดันไต" (ninkyo dantai)
อันหมายถึง กลุ่มองค์กรบริหารจัดตั้งที่ให้เกียรติ์แก่สตรี (chivalrous organizations)
ซึ่งไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมนายน้อยของเรื่องนี้จึงเชิดชูสิทธิสตรีเป็นตัวเอกเสียเหลือเกิน.....




...............................................................................

อวยข้อมูล ผ่าน d-addict และ wikipedia


Create Date : 23 มิถุนายน 2554
Last Update : 23 มิถุนายน 2554 16:40:46 น. 3 comments
Counter : 7063 Pageviews.

 
แวะมาเยี่ยมค่ะ

ไปเยี่ยมบล็อกของน้ำชาได้ค่ะ ThaiLand Travel l สถานที่ท่องเที่ยว


โดย: nonguide วันที่: 23 มิถุนายน 2554 เวลา:17:04:32 น.  

 
เรื่องนี้ข้อมูลประกอบเพียบจริงๆ ได้รู้ประวัติความเป็นมาของยากูซ่าด้วย
เหมือนว่าเรื่องนี้แม้จะมีแค่7 ตอน แต่รู้สึกว่าจะมีครบทุกรสนะคะ
ทั้งตลก ดราม่า สืบสวนสอบสวน แต่คงไม่เครียดใช่ไหมคะ
การเกริ่นเรื่องดูเหมือนดื่นๆทั่วไปนะคะ ประเภทไม่มีตัวเลือกแล้วในการหาผู้สืบทอด
เพราะผู้สืบทอดโดยตรงให้มีเหตุต้องมีอันเป็นไป
(เหตุผลแบบนี้ชอบใช้กันจังเลยนะคะ ที่จำได้ก็มี CHANGE เรื่องหนึ่งล่ะ)
แต่เนื้อเรื่องที่บอกต่อมาก็เป็นเรื่องความผูกพันและการยอมรับ
ซึ่งเนื้อหาคงเข้มข้นและเชิญชวนให้อยากดูไม่น้อย
แถมบอกว่าเป็นแก็งค์ยากูซ่าที่มีสมาชิกแค่ 5 คน หุหุเป็นมินิยากูซ่าเลย
แล้วยังมีประเพณีต้องคว้านท้องเพื่อรับผิดชอบอีก
คือเคยสงสัยมานานแล้วว่าปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นยังมีประเพณีนี้อยู่หรือเปล่า
แล้วจากเรื่องนี้ก็ได้รู้ว่าประเพณีนี้ยังคงมีอยู่ในญี่ปุ่น
เรื่องนี้ดูหน้าตามาซามิ แล้วดูผิดลุคส์ไปเลยนะคะทั้งผมสั้นทั้งใส่แว่นตา
ดูไม่ใช่สาวสวย แต่ก็คงเหมาะสมดีกับบทที่บอกว่าต้องเด๋อๆด๋าๆ เฟอะๆฟะๆ
หน้าตาเธอดูจากรูปที่แปะดูไปด้วยกันได้กับบทดีค่ะ
อยากดูตอนที่บอกว่าเธอแสดงได้"แบ๊ว"ดี คงน่ารักนะคะ
และเรื่องนี้ยังบอกว่าแต่ละคนต่างก็แสดงได้สมบทบาทที่ได้รับ
ขนาดบางคนได้รางวัล TDAA มาครอง แสดงว่าถึง7 ตอนก็ไม่ธรรมดา
และน่าจะเชื่อได้ว่าคงสนุกไม่น้อยกว่าเรื่องMy Boss My Hero เป็นแน่แท้ใช่ไหมคะ


โดย: มะนาวเพคะ IP: 125.24.94.250 วันที่: 23 มิถุนายน 2554 เวลา:20:47:50 น.  

 
ก็ไม่เข้าใจตัวเองเช่นกันแหละ เพราะก็ชอบยากูซ่าญี่ปุ่น เจ้าพ่อเชี่ยงไฮ้ มาเฟียฮ่องกง และแก๊งสเตอร์มะกัน อะไรๆ เทือกนี้เหมือนกัน แต่ยากูซ่านี่ก็แตกต่างอย่างที่ท่านว่าจริงด้วยแหละคือ ออกจะเป็นที่เปิดเผย มีแผ่นป้ายบ่งบอก ในละครที่เห็นทุกเรื่อง ยากูซ่าจะมีสไตล์การแต่งตัวที่ชี้ชัด ท่าเดินกร่างอาดๆ มีลูกน้องขนาบซ้ายขวา ให้รู้ว่ายากูซ่ามาแล้ว และหากยังไม่แน่ใจต้องให้มีการแนะนำตัว ก็จะบอกไปเลยว่า I am Yakuza สังกัดแก๊งใด คุมถิ่นใด บอกให้เสร็จสรรพ

เพิ่งรู้ว่ามาซามิเล่นหนัง Crying out นึกว่าอายาเสะเล่นทั้งสองเวอร์ชั่นซะอีก เรื่องนี้ตัดผมสั้นใส่แว่นตาน่ารักดี

มีนาคาโอะด้วยแหละเรื่องนี้

สำหรับซีรีย์ญี่ปุ่นนั้นแม้จะเป็นแนวเฮฮาคอมเมดี้ เชื่อว่าก็ยังมีเนื้อหาสาระดีๆ ที่พยายามนำเสนออยู่เสมอ น้อย...ที่จะกลวงโบ๋ไปจริงๆ อันนี้คิดเห็นจากประสบการณ์ที่ดูน่ะนะคะ



โดย: prysang วันที่: 3 กรกฎาคม 2554 เวลา:10:22:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.