A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
เชงเม้งหน้าร้อน (คุยย้ิอนหลัง)


หายหน้าไปสี่สาห้าวัน
ถ้าเป็นเจ้าหนี้ที่ช่างสังเกตปนวิตกจริตหน่อย ก็อาจมองว่า
หายตัวไปในช่วงสิ้นเดือน และกำลังขึ้นต้นเดือนใหม่ มีแนวโน้มที่จะเกิดชักดาบหนีหนี้สูง
แต่ด้วยความสัตย์จริง ผมต้องหายตัวไปด้วยภารกิจประจำตระกูล
ว่ากันด้วยเรื่องของเทศกาลหนึ่งที่มีความสำคัญ ที่ไม่แพ้งานเทศกาลสัปดาห์หนังสือฯ
อันนั้นว่าด้วยเรื่องของความพึงพอใจส่วนตัว แต่กับอีกเทศกาลหนึ่ง อันนี้...............
ว่ากันด้วยความพึงพอใจส่วนรวม ถ้ายังอยากที่จะเข้าร่วมใช้นามสกุลประจำตระกูล
และหวังที่จะมีรายชื่ออยู่ในกองพินัยกรรมทางกองมรดก

เทศกาลที่ว่า คือ "เทศกาลเชงเม้ง"


ผมไม่รู้หรอกว่า "เทศกาลเชงเม้ง" มีต้นเค้าและเทพองค์ใดเป็นผู้สร้างสรรค์
ให้ลูกหลานและวงศ์แซ่ ต้องรับเป็นภารกิจ ที่จะไม่มาก็ขายหน้า แต่ถ้ามาแล้วก็ต้องมีรายจ่าย
ญาติหลายท่านที่ผมไม่เคยที่คิดจะแวะเวียนไปหา แต่เมื่อเจอกันพร้อมหน้าในเทศกาลเชงเม้ง
ก็จำต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี ที่ให้การต้อนรับไม่บกพร่อง ว่ากันด้วยเรื่องหน้าตาของเจ้าที่ฮวงซุ้ย
แม้จะไม่ได้ไปอยู่เอง (ในตอนนี้) แต่เมื่อมรดกทางวีรกรรมของปู่ย่าตาทวดที่ได้สร้างสมไว้
ไปมีคุณค่าทางจิตใจของอีกฝ่าย มันก็พลอยให้ลูกหลานและวงศ์แซ่ที่เหลือชีวิตรอดอยู่
ดูได้หน้าและเป็นตาในกลุ่มวงศ์สมาคม จะจีนกลาง แต้จิ๊วหรือฮกเกี้ยน
อันนี้ก็คงว่ากันเป็นรายๆไป เพราะค่าบำรุงสมาคมประจำปี ต่างก็มีรายจ่ายลดหลั่นกันออกไป
อยู่ที่ว่าสมาคมไหนใจร้อน จะส่งคนเรียกเก็บช้า-เร็ว ก่อนกัน.........

แต่อย่างน้อยๆ ผมก็ชอบในเรื่องของเทศกาล "เช้งเม้ง" มากกว่า เทศกาล "ตรุษจีน"
หากว่ากันด้วยเรื่องของหลัก "มรณานุสติ" เป็นเรื่องให้พิจารณาว่าสุดท้ายแล้ว
"คุณงามความดี" ที่เคยสร้างสมกันมา ก็เป็นอนุสรณ์แห่งนามธรรม ที่ยังหลงเหลือ
ให้แก่คนอื่น ตลอดจนลูกหลานให้ได้รับทราบและไม่ลืมเลือน
อันนั้น เป็นการตอบเพื่อเอาหน้า แต่ที่ลึกๆแล้ว คงด้วย "ต้นทุนรายจ่าย" ที่น้อยกว่า
ในหลายต่อหลายเท่าของรายการ คิดดู..การเดินทางเพื่อร่วมชุมนุมพบปะสังสรรค์
เอาแค่คิดในเรื่องของเฉพาะครอบครัวใหญ่ ที่ไม่ได้คิดเฉพาะกรอบของครอบครัวเดี่ยวในแบบ
สังคมในเมืองปัจจุบัน ขนาดอยู่บ้านจัดสรร ยังสร้างรั้วกำแพงสักสูง ข้างบ้านทำงานอะไร
ลูกเขาเข้าเรียนประถมไหน ยังแทบไม่รู้จัก
แล้วถ้ามาเจอกับครอบครัวตามแบบฉบับคนจีนด้วยแล้ว อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่
ในวันตรุษจีน ถ้าสมัยยังเด็กแบมือขอ จะเป็นวันตั้งหน้าตาคอย เปิดสมุดนับญาติกันยกใหญ่
คล้ายๆกับวันแต่งงานเจ้าบ่าว-เจ้าสาว ถ้าวันใดเกิดมีญาติทางฝ่ายเจ้าสาว ที่เราเป็นทีมเหย้า
แล้วเจ้าบ่าวเป็นทีมเยือนเข้าให้ซะ อันนี้ก็สนุกนักละ รีบวิ่งแจ้นกั้นเชือกแดงเป็นรายแรก
เพราะตามประสบการณ์การไปเป็น "ก้างขวางคอ" ชาวบ้านเขา อันนี้เราถนัด
ด่านแรก ซองที่ได้มักจะเติบกว่า พอได้แล้วไม่พอ ต้องรีบวิ่งเเจ้นเลาะไปตีทางท้ายครัว
เพื่อไปกั้นในประตูสุดท้าย อันเป็นประตูของห้องเจ้าสาว
เจ้าบ่าวกว่าจะไปถึงประตูสุดท้ายได้ ก็คงงงในปราการด้านอรหันต์ในร้อยแปดพันเชือก
จำหน้าหรือจำใครดมก็คงยาก เพราะขึ้นชื่อว่าคนเชื้อสายจีนแล้ว ก็ไปพ้นจำพวก อาตี้ๆหมวยๆ
ที่หน้ามักจะคล้ายๆกัน ประเภทขอบตาที่ไม่ค่อยมีเลาเต้ง ถึงแม้ทางเจ้าบ่าวพอจำได้
เราก็เฉไฉไปได้เรื่อยว่า เป็นพี่น้องฝาแฝดกันบ้างหรืองอแงแกมบังคับให้เจ้าสาวล็อกประตูให้เป็นอุปสรรคมากยิ่งขึ้น
และด้วยกรรมเก่าที่ไปทำกับเขาด้วยมั้ง จึงทำให้ชาตินี้ ขอไปแต่งแบบคริสต์แหวกม่านประเพณี
สักครั้งของชีวิตด้วยเถอะ............

จนเมื่อเหล่าอาตี๋-อาหมวย ในสมัยนั้น ต่างก็เติบใหญ่ บรรลุเจริญวัยมีหน้าที่การงาน
ไว้ให้มักดองกองเป็นพะเนิน
สถานะของชีวิตก็เปลี่ยนไป จาก "ผู้รับ" ย่อมมาสู่การเป็น "ผู้ให้"
ยิ่งมาเจอสภาพของอัตราเงินเฟ้อ ที่เพิ่มมากขึ้นตามอัตราเเลกเปลี่ยนของเงินตราระหว่างประเทศ
ชนิดวันต่อวัน คืนต่อคืน ไม่ได้ยึดมูลค่าอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยอ้างอิงปริวรรตทองคำ
เฉกเช่นกันสมัยก่อน ไอ้ประเภทจะมาให้แบงค์ร้อยใบเดียว เหมือนกับทีครั้งหนึ่งซึ่งวัยเด็กเรา
เคยได้รับ มีหวังลูกหลานสมัยนี้ที่มีการศึกษาไม่น้อย-เรียนกวดตั้งแต่อนุบาล
คงได้โวยวายไปฟ้องศาลเด็กและเยาวชน ว่าผู้ใหญ่อย่างผมได้ล่วงละเมิดสิทธิ์ (อันควรได้)
ของเด็กเป็นแน่
แล้วในแต่ละปี ลูกหลานที่เราคิดว่าน่าจะมีแค่นี้ มันตั้งต้นและตายตัวไปเสียทีไหน
ขึ้นวันตรุษจีนอีกที ผมอาจมีหลานเพิ่มอีกสองคน เหลนอีกหนึ่ง โหลนที่อยู่ในท้องรอกำหนด
เวลาคลอดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะไม่ให้ก็ไม่ได้ เเม้ความทรงจำของวัยเด็กแรกเกิดของช่วงนั้น
คงจะจดจะจำอะไรมากไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อสืบสกุลเพียงท่านเดียว
มันยังมีพี่ที่แก่แดด ที่รักษาสิทธิ์ของน้อง (มัน) อย่างมุ่งมั่น ไหนจะแม่ของเด็กที่ครั้งหนึ่ง
ที่เคยร่วมหัวกับเรานับญาติ-คาดเชือกเเดงร่วมกัน อันมีความ "ตืด" เป็นดีเอ็นเอที่มีมาในสายเลือด
เกิดมีปัญหา แล้วเอาเรื่องนี้ไม่ต้องถึงขั้น "ศาล" หรอกครับ แค่ขั้นเข้าหู "เตี๊ย" ก็มีหวัง
ข้าวเย็นที่มีขาหมูกับเป็ดปักกิ่ง ก็กินกันไม่ค่อยอร่อยเป็นแน่แท้นัก




ผิดกับวัน "เชงเม้ง" ต่อให้มีลูกมีหลานมากมาย หรือจะทยอยเกิดเป็นลูกแฝดสักกี่สิบคน
เราก็ยังที่จะไหว้ตามจำนวน "ฮวงซุ้ย" ที่บรรพบุรุษผู้มีพระคุณของเราได้กลับไปสู่สามัญชีวิต
โดยไม่ต้องผะวงในเรื่องฐานจำนวนของลูกหลานที่จะสร้างรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
ในทางกลับกัน ยิ่งลูกหลานที่มากขึ้นจะช่วยลดค่าโสหุ้ยในเรื่องของการไหว้เจ้า อันช่วยแบ่งเบา
ภาระให้น้อยลง
แม้แต่ไก่ตัวเดียว ตามพิธีแบบคนจีนก็สามารถไหว้บูชา ไปได้ไกล
ตั้งแต่ปู่ของปู่ของปู่ทวดของปู่ทวดอีกทีหนึ่ง จนมาถึงปู่ปัจจุบันที่เป็นป๋าของป๋าผม
ยังไม่รวมท้าวโน่นท้าวนี้ ที่น้า-ป้าของผมจะศรัทธาและเคารพ (แม้บางทีจะเคารพตามจำแนก
ลัทธิของใครของมันอีกที) ที่บ้านจึงมักสอนเสมอว่า ของไหว้เจ้าที่เป็นสิ่งมีชีวิต ขอให้จงมองมันในแง่
ที่ดี เพราะเป็นเครื่องบรรณาการแก่ทวยแทพและบรรพบุรุษที่สร้างคุณงามความดี มั่งมีศรีสุข
ให้แก่ตระกูลของเรา คิดดูละกันว่าไก่ตัวเดียวไหว้มันเกือบทุกเจ้า เอาเข้าเกือบทุกกระทรวง
ระยะเวลาการรอกินของของไหว้เจ้า ใน "วันเชงเม้ง" ก็ไม่นานเท่ากับการไหว้ใน "วันตรุษจีน"
เพราะธูปของวันเชงเม้งใช้เพียงแค่ดอกเดียว อัตราปฏิกิริยาของสารการเผาไหม้ของไอโซโทปในธูป
ก็เท่าเดิมกับการไหว้ด้วยธูปสามดอกของวันตรุษจีน แต่ขอย้ำว่า ต้องรอให้ธูปหมด
จึงจะนำมาให้ลูกหลานได้รับประทาน ดังนั้นในแง่อัตราส่วนของจำนวนธูปแล้ว โอกาสของการได้ "กินเร็ว"
จากธูปดอกเดียวย่อมมีโอกาสที่เยอะกว่าเป็นไหนๆ

เสียอย่างเดียว จำนวนลูกหลานที่มากทำให้โอกาสของการเข้าถึง ที่จะจับตะเกียบคีบได้สิ่งดีดี
ยอ่มลดน้อยลง แม้ความชำนาญในรูปเกมส์ของพวกผู้ใหญ่อย่างผมจะเก่งกว่า
แต่อย่างว่าเรื่องของ "ความอาวุโส" ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องคีบชิ้นเนื้อดีดี ให้ลูกหลานที่ยังใช้ตะเกียบได้ไม่
ชำนาญนัก เป็นหลักการปฏิบัติตามประเพณีนิยม ที่สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดแก่วงศ์ไพบูลย์
ในฐานะที่ผู้ "อาบน้ำร้อน" มาก่อน ต้องสอนสั่งให้แก่ผู้อาบน้ำร้อนในรุ่นถัดไป
ยกเว้นผมจะแก้เกมส์ด้วยการ เอาของดีที่สุดไปไว้ "กลางโต๊ะ" ในฐานะที่ได้เปรียบในเรื่องของ
สรีรวิทยากว่าพวกรุ่นหลานๆ อาจแบ่งกุศโลบายให้พวกเด็กๆได้หัดนิยมทานผักตั้งแต่เล็กแต่น้อย
ซึ่งเวรกรรมเช่นนี้พวกเด็กอย่างผมก็เคยเจอมา เพราะมักจะอยู่ริมขอบโต๊ะกลมเสมอมา
และยังคงเสมอไปอีกหลายชั่วคน

แต่ไม่ว่าอย่างไร "เชงเม้ง" ของทุกปี เป็นพิธีการรวมหมู่เหล่าญาติที่
ล้วนเป็นพิธีกรรมที่ต้องทำกลางแจ้ง แล้วภาวะโลกที่ร้อนขึ้นในแต่ละปี
ก็ถาโถมกระหน่ำใช่เล่นกันสักที่ไหน ซันบล็อกระดับพีเอฟ๑๕ ก็แทบจะกั้นกันไม่อยู่
จึงมักเป็นพิธีกรรมที่วงญาติหยอกเหย้าว่า "ผิวของใครสีแทนกว่า คนนั้นได้แสดงความกตัญญูมาก"
ซึ่งไม่รู้ทำไมผลที่ออกมา ผมกลับมาด้วยผิวที่แทบจะไม่ต่างจากตอนไป
และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พิธีกรรมและประเพณีที่ว่ามานี้
ถือเป็นกุศโลบายที่ชาญฉลาด อย่างน้อยก็หาเรื่องให้ญาติพี่น้องได้พบปะหน้าตากัน
มาคุยโขมงโฉงในเรื่องราววีรกรรมของคนที่ตายและคนที่ไม่ตาย ให้แลกเปลี่ยนกันฟัง
ขณะเดียวกันก็ได้ไตร่ถามสาระทุกข์สุกดิบของแต่ละครอบครัว หลังจากที่ได้แยกย้ายไปตั้ง
ครอบครัวของตัวเอง นินทาเรื่องสนุกๆของแม่ผัวลูกสะใภ้ของอีกฝ่าย
กำหนดรูปแบบกิจกรรมให้คนนอกครอบครัวได้ทำร่วมกัน สร้างความสามัคคีและมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
(ยกเว้นแต่ก็ตอนเล่นไพ่จีน อันนี้เล่ห์เหลี่ยมใครก็เล่ห์เหลี่ยมมัน)

เอาเข้าจริงก็แทบจะไม่ได้พิจารณามรณานุสติกันแต่อย่างใด
กลายเป็นเรื่องของคนที่เหลืออยู่ในฐานะที่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่พันผูกในเหยื่อบางๆ
ที่ชื่อว่า "แซ่ตระกูล" ที่ปัจจุบันดูว่างเปล่าและปรับเปลี่ยนกันไปใช้นามสกุล
แบบไทยๆ ที่แทบจะไม่เหลือเค้าความเป็นคนเชื้อสายกำเนิดต้นทางเดิมให้ได้รับรู้-รับทราบ
ผมไม่รู้ว่าถ้าไม่มีเทศกาลนี้ไปแล้ว หรือคนรุ่นที่ว่าตัวเองใหม่ไม่ศรัทธาต่อขนบความเชื่อเดิมๆแล้ว
บางทีเราอาจจะไม่ได้รู้จัก พูดคุยหรือจำได้ว่า เรามีสายฮีโมโกบินเดียวกันอันมาจากเทือกเขาลูกหนึ่ง
สายน้ำสายหนึ่ง ที่นำพาให้อาก๋งและอาหม๋าอพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ตอนบน
ยังพามาสู่ดินแดนในเขตแดนสยามเทวาธิราชภายใต้ชื่อสมมติความเป็นอิสรชนว่า "ประเทศไทย"
ไหลผ่านความเป็นครอบครัวเดี่ยว ไร้รากชายขอบแดนใดใด ที่วันๆได้แต่คิดว่าจะไปเที่ยวทะเล
หรือห้างสรรพสินค้า โดยไม่เคยมีโปรแกรมออกนอกพื้นที่บ้านเพื่อไป "เยี่ยมญาติ" อยู่ในสารบบ และอาจต้องพึ่งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อมาวิเคราะห์หาเม็ดเลือด
ดีเอ็นเอ จึงจะพอให้เรารู้ว่า แท้จริงแล้วเรามีสายเลือดมาจากแหล่งผู้กำเนิดในวงศ์
เครือเดียวกัน


จนวันหนึ่งลูกหลานของเราอาจตั้งคำถามกับเราว่า

"อาป๋า...ตรุษจีนนี้อาตี๋น้อย ได้อั๊งเป่าแค่อาป๊ากับอาหม่าเท่านั้นเหรอ?" ........





Create Date : 11 กรกฎาคม 2552
Last Update : 12 ตุลาคม 2552 0:27:27 น. 0 comments
Counter : 592 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.