A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
อาลัยแก่ฝรั่งคลั่งสยาม

ขอเขียนอะไรกับคนที่ไม่ใช่ญาติสักเรื่อง
ถือเป็นการกล่าวไว้อาลัยกับคนที่จากไป
ที่มีเพียงสายใยผูกพันผ่านกันเฉพาะงานเขียน
ส่วนจะมีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณสันฐานใดนั้น
ล้วนเป็นปลีกย่อยประกอบ ไม่เท่ากับสิ่งที่ได้รับ
จากการต่อยอดงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไทย
ที่สำคัญ คือ เขาไม่ใช่คนไทย
แต่จากน้ำมือของ "ฝรั่ง" คนหนึ่ง...........ที่เพิ่งเสียชีวิต
จากการคร่าของโรคมะเร็งปอดเมือ่ต้นเดือนนี้เอง

ฝรั่งคนที่หลงใหลได้ปลื้ม ต่อความเป็นไทย แทบจะทุกมิติ
ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณสถาปัตยกรรม จนกระทั่งไปถึงสุราไทย
ที่ถ้าเมากันเมื่อไร ภาษาสมัยพ่อขุนรามแบบไทยๆก็ทำเอาเด็กสงเด็กเสริฟท์หลงคิดไปว่า
เสียงที่ได้ยินดังสนั่นออกมา คือ คนไทยดีๆนี้เอง

ฝรั่งท่านนี้ ชื่อ "ไมเคิล ไรท" (Michael Wright) มีชื่อทางภาษาไทย
แบบที่อาจพอคุ้นหน้าเวทีมวยลุมพินี ว่า นายเมฆ มณีวาจา
(จนช่วงที่แกผ่าตัดต้อกระจก เกือบมีโอกาสได้รับบริจาคดวงตาอยู่แล้ว
ถ้าไม่สะเออะดันใช้ชื่อไทย เพราะโรงพยาบาลนึกว่าเป็นคนไข้คนไทยคนหนึ่ง)
ชายผู้ที่ไม่ได้จบระดับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
อ้างเหตุผลเพียงเพราะว่า ไม่ชอบการศึกษาในห้องแคบๆ
จึงออกนอกบ้านแสวงหาโลกกว้าง ตามสไตล์เด็กตะวันตก
ลัดเลาะจากเกาะผู้ดีอังกฤษ มาร่อนเร่ไปรับจ้างทำงานอยู่ศรีลังกา
จนเข้ามาเผชิญโชคในกรุงเทพฯ ท้ายที่สุดก็ได้งานเป็นเจ้าหน้าที่
ฝ่ายแปลเอกสารที่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อ พ.ศ.2513 จนปัจจุบัน
เป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ อยู่ประจำศูนย์สังคีตศิลป์
ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้าลีลาศ นั่งทำงานห้องเดียวกับ
กวีรัตนโกสินทร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ผมยังจำอารมณ์ได้ดี ในงานเขียนที่มีรูปแบบเฉพาะตน
ของนักเขียนท่านนี้ จากงานหนังสือรวมเล่มทีชื่อ ฝรั่งคลั่งสยาม และ
ฝรั่งอุษาคเนย์ เป็นบทความที่เคยลงเผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
เป็นหนังสือสองเล่มที่ผมแวะเวียนไปร้านหนังสือเจ้าประจำ
ตอนเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปีแรก จนผมยาวหัวชักเถิก
เจ้าหนังสือสองเล่มนี้ก็ยังวางจำหน่าย จนมีร่องฝุ่นปกคลุมมาหลายปี
ก็ยังไม่เห็นมีใครจะหยิบซื้อจนมาพร่องหายไปจากชั้นหนังสือล่างสุด
ว่าแล้ว ก็ควักสตางค์ตอนต้นเดือนเอามาเป็นสมบัติประจำตระกูล
บอกไว้ก่อนแต่แรกเลยว่า เป็นสำนวนงานวิเคราะห์ประวัติศาสตร์
ที่ยียวนกวนโอ๊ย เจ็บๆคันๆอยู่ไม่น้อย เพราะแต่ละประเด็นที่ตาฝรั่งท่านนี้
หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ล้วนอยู่นอกกรอบสายตานักประวัติศาสตร์ไทย
ส่วนหนึ่งคงเพราะเขาไม่ใข่คนไทย (แต่มีสำนึกของความเป็นไทยสูงฉิบ)
สอง คือ รู้จักจับเรียงและเทียบเคียงหลักฐานเอกสารและศิลปนอกพื้นที่
"อุษาคเนย์" ศัพท์บัญญัติเฉพาะ ที่แทนค่าในความหมายของคำว่า
"เอเชียอาคเนย์" หรือ "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
ที่แกว่าฟังดูแล้วไม่เข้าท่าในความคิดของแก
(แต่สุดท้ายกลับเป็น "คำฮิต" ที่นักประวัติศาสตร์ไทยนำมาใช้กัน )
ไรทได้เล่าถึงมาสนธิคำในหนังสือ ฝรั่งอุษาคเนย์ ที่ว่า
"เพราะมีมากพยางค์ ต้องเขียน "อา” ถึงสองครั้ง
หลักการทางภาษานั้นจะไม่สมาสคำข้ามภาษาคำว่า "อาเชียอาคเนย์” (ฝรั่งเศส + สันสกฤต)
หรือ “เอเชียอาคเนย์” (อังกฤษ + สันสกฤต) ต่างเป็นการสมาสข้ามภาษา
ไมค์นึกถึงคำ “อุษา” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต
คำในภาษายุโรปต่าง ๆ ที่หมายถึงตะวันออก เช่น East, Oste, Aus, Asia, Ostro, Easter ฯลฯ
ล้วนแต่มาจากรากศัพท์อินโด-ยุโรป “Awes-” หรือ "Aus-” ซึ่งตรงกับคำ "อุษา” ในภาษาสันสกฤต
สุดท้ายก็ได้คำที่สั้นกะทัดรัดกว่า เหลือเพียงสี่พยางค์


บอกตามตรงว่า ในตอนแรก นึกไปว่าเป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์
ไทยจากน้ำมือฝรั่ง แล้วมีบรรณาธิการไทยเป็นคนแปลให้
ไปๆมาๆ กลายเป็นว่า เป็นการเทียบเชิญของ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา
อย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เสนอคำนำ ในหนังสือ ฝรั่งคลั่งสยาม ว่าได้รู้จัก
และสนิทสนมจากการนัดถกกันเรื่องแคว้นสุโขทัยและศิลาจารึก
ไอ้ที่พูดคุยโฉ่งฉาวก็ไม่ใช่ตามสถานที่เสวนาหรือสถาบันการศึกษาไหน
ก็ไปจบกันที่ ร้านเหล้าริมถนนราชดำเนินเป็นประจำ
ตอนนั้นสุจิตต์มีไอเดียจะออกนิตยสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เด็กแนว
เห็นความคิดล้ำสมัยของไอ้ฝรั่งขี้นกท่านนี้ จึงได้ส่งหมายท้าชวน จนกลายเป็น
หนึ่งในผู้เขียนคอลัมน์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่ผู้อ่านนิยมชมชอบกันมาก

ตอนแรก พี่ไรทแกก็ไม่แน่ใจออกประหม่าในภาษาสำนวนดัดจริตให้
กลายเป็นภาษาไทยให้คนไทยได้อ่าน ตามประสาคนไม่เคยมีงานเขียนมาก่อน
จึงพูดคุยกับสุจิตตตามประสาเพื่อนในวงเหล้า
"ถ้ามึงคิดเห็นไม่ดีตรงไหน ปรับแก้งานของกูได้เต็มทีเลยนะโว้ย" ไรท์ทิ้งท้าย
เมื่อยื่นงานเขียนชิ้นแรก
แต่สุดท้าย สุจิตต์ เองก็ไม่ได้แก้ไขแต่ประการใดใด ด้วยสำนวนเขียนที่กระชับ
ไม่เยิ่นเย้อ มีสำนวนการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ และแฝงไว้ด้วยอารมน์ขันอันคมคาย
และแยบยลในระหว่างบรรทัดที่ไม่เหมือนใคร (และคงไม่มีใครจะเหมือนได้) ถือเป็นจุดขายพิเศษ
ที่นักอ่านแฟนประจำเพียงแค่เห็นบางประโยค ก็อาจจะร้องโอ้! ต้องเป็นฝีมือของพี่ไรท์นั่นเอง
แม้แต่ ส. ศิวรักษ์ ยังนึกกล่าวชมความสามารถเชิงภาษาของนายไรทคนนี้ว่า
"ตอนนี้เขารู้สึกว่าเขารู้ภาษาไทยดีมาก และผมคิดว่าใครที่คิดว่ารู้ภาษาไทยดีนั้นคือจุดจบ"
(แต่ในท้ายบทความที่เหลือตักเตือนความอหังการนายไรทอย่างกัลยาณมิตร)



เพียงแค่งานเขียนแรกก็ได้เฮ! เพราะเลือกเรื่องได้แหวกแนวไม่เหมือนใคร
โดยเฉพาะนำประเด็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย นอกกรอบคิดแบบ
สถาปนาสายราชวงศ์หรือคัดลอกอิทธิพลโบราณวัตถุ-สถานที่ส่วนใหญ่เขานิยมกัน
เพราะงานแรกของไมเคิล ไรท นั้น เล่นเรื่องของ ประเด็น "ส้วมในสมัยสุโขทัย"
ด้วยความเชื่อว่า "ถ้าคนยุคสุโขทัยปวดก็คงวิ่งไปตามท้องไร่นาทุ่ง
แต่มีแผ่นหินชนวน ที่มีสลักรอขชักร่องเจาะรู ปรากฎอยู่ให้เห็น
มีมากในเขตกลุ่มวัดอรัญญิกทางตะวันตกของกรุงอนุราธปุระเก่าใน
ประเทศศรีลังกา เป็นถานที่ใช้เป็นส้วมของภิกษุ เข้าใจว่ากษัตริย์สมัยอนุราธปุระ
จะสร้างถวายพระเพื่อเป็นเครื่องพระราชกุศล ดังนั้น แผ่นหินที่พบที่เชิงเขาพระบาท
น้อยเมืองสุโขทัย จึงควรเป็นส้วมสมัยสุโขทัย "
แล้วเรื่องนี้กูถูกลงใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่๑ ฉบับที่๑ ในเดือนพ.ย. ปี ๒๕๒๒
เรียกเสียฮือฮาในวงการประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร

ไมเคิล ไรท จึงเป็นชายพลัดถิ่นที่แทบจะมีความเป็นไทยจนเกินตัว
(เสียจนคนไทยแท้ๆอย่างเราๆ มักควรหันกลับมาพิจารณาแสวงหาคุณค่า
และความใส่ใจในผืนแผ่นดิน ภูมิปัญญาชาติ อีกทั้งสร้างแรงขับดันในการ
ค้นคว้า-แสวงหาจิตสำนึกใหม่ในชาติ มิให้น้อยหน้าฝรั่งตาน้ำข้าง ที่แล
จะดูเอาจริงเอาจังกับสิ่งนอกทางวัฒนธรรมอันไกลโพ้นทางฝั่งตะวันออก)
ไมเคิล ไรท์ยังอ่านศิลาจารึกได้ ถนัดศิลาจารึกด้วยซ้ำ วรรณคดีไทย แล้วก็เขียนภาษาไทยได้
ต้นฉบับลายมือก็ยังมีอยู่ แต่อาจจะสะกดผิดสะกดถูกบ้าง แต่สำนวนภาษาของแก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
สำนวนกวนๆ" บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมกล่าว
รางวัลที่การันตีคุณูปาการ ไม่ว่าคำยกย่องจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
ให้เป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการไทยคดีศึกษา
รวมถึงเกียรติแห่งผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ที่เชิดชูโดยกระทรวงวัฒนธรรม
ต่างเป็นเครื่องยืนยันในความสามารถที่สร้างผลผลิตทางวิชาการและ
มุมมองแปลกใหม่ให้สำหรับสังคมไทยได้ขบคิดและสานต่อเจตนารมณ์ที่ดี
ในอันที่เราจะได้เข้าใจสังคมภายในประเทศของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับผมสิ่งที่สะท้อนตัวตนว่านายไรทแทบจะข้ามผ่านความเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์
น่าจะเป็นงานเขียนเรื่อง "เชิญรู้จักกับแม่ผม" มาตาธิปไตยมีจริงหรือ ? Is Matriarchy Real ?
ที่ลงในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๓ (มกราคม ๒๕๔๕) ที่เล่นเอาผมน้ำตาซึมได้
...เมื่อผมอายุราว ๕-๖ขวบ และเพิ่งเรียนรู้ว่า "ตาย" หมายความว่าอย่างไร
ผมตรึกตรองเป็นนานแล้วอธิษฐานว่า
"ขอให้ผมตายก่อน แม่จะได้มีอายุยืนแทน"
หลังจากที่ตรึกตรองอีกครั้งหนึ่ง ผมเปลี่ยนคำอธิษฐานว่า
"ความทุกข์อันเร่าร้อนที่เกิดจากการพลัดพรากกัน
เป็นความเจ็บปวดที่เหลือทน ดังนั้นขอให้แม่ตายไปก่อนและขอให้ความทุกข์ทรมานทั้งหมดตกแก่ผม
ผมทนได้ทุกอย่างแต่อย่าให้เห็นแม่เป็นทุกข์..............ในปี ๑๙๘๕ แม่ (Eva) เดินทางจากประเทศ
อังกฤษมาอยู่ประเทศไทย.
"แม่มาอยู่กับผม, สุขภาพทรุดโทรมมาก อยู่ได้ 3 เดือนแล้วเข้าโรงพยาบาล"
ผมอยู่กับแม่เป็นครั้งสุดท้ายในห้องไอซียู ผมจับมือแม่ แม่ลืมตายิ้มร่าเหมือนชื่นใจ
แล้วพูดชัดถ้อยชัดคำว่า "Pull your britches up !"
("จับกางเกงไว้ให้ดี !" เป็นสำนวนที่พ่อแม่ใช้ปลอบใจลูก คล้าย "ทำใจให้ดีนะ !") แล้วหลับตา
ทันใดนั้นเส้นหัวใจบนจอทีวีราบลงเรียบเป็นบรรทัด
และผมรู้ว่าแม่จากไปแล้ว."
ต่อจากนั้นมาตลอดจนทุกวันนี้ผมเจอะกับแม่ในฝันบ่อยๆ โดยมากผมฝันจะทำอะไรดีๆ เด่นๆ ให้แม่
แต่ล้มเหลว แม่จะยิ้มเศร้าๆ, สั่นหัว แล้วปรารภว่า "เอาอีกแล้วนะลูก !
ทำไมลูกช่างไม่เอาไหน ? ทำไม ทำไม...?
ผมไม่เคยทันตอบแม่เพราะผมมักตื่นขึ้นก่อน และไม่มีคำตอบอยู่ดี...

เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ ในคำนำเสนอ "ฝรั่งคลั่งสยาม นาม ไมเคิล ไรท์"
สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุตอนหนึ่งว่า
"...แม่ของไมเคิล ไรท์เป็นชาวอังกฤษ อายุกว่า ๗๖ ปีแล้ว อยู่บ้านนอกกรุงลอนดอนเพียงคนเดียว
เพราะไมเคิล ไรท์เองก็ตัดสินใจอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร
ไม่กลับไปครองบ้านที่อังกฤษแล้ว แต่แม่ที่อายุมากท่านป่วยกระเสาะกระแสะตามประสาคนที่ชราภาพ
ปลายปีที่แล้วแม่ก็เดินทางมาหาไมเคิล ไรท์ที่กรุงเทพฯ ประหนึ่งว่าจะมาฝากผีฝากไข้บั้นปลายชีวิตไว้ที่แผ่นดินสยามนี้
ซึ่งไมเคิล ไรท์ก็ปรนนิบัติพัดวีแม่อย่างดีที่สุด
สุดท้ายแล้ว (ชักยาว...) ผมว่าเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกคู่นี้ ถ้าตัดในเรื่องของ
เชื้อชาติ ลักษณะรูปพรรณและถิ่นกำเนิดออกไป ช่างเป็นการนำเรื่องของวิถีชีวิตสัมพันธ์แบบไทยๆ
ที่เราโหยหา แต่กับถูกนำมาเล่าต่อจากแม่และลูกที่เป็น.................... "คนฝรั่ง"
บทความในวันเด็กนี้ รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ทำมาเพื่อเอาใจเด็กให้ได้อ่าน
แต่อย่างไรเสียในสายตาของพ่อและแม่ ไม่ว่าเราจะแก่ง้ำสักเพียงใด เราก็เป็นเด็กที่อ่อนเยาว์ในสายตาท่านเสมอ
"เหมือนกับคำสั่งเสียของแ"แม่ผมสั่งว่า ถ้าแกตายวันไหน ขอให้จัดงานเลี้ยงใหญ่ในวันนั้น เพราะความตายไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาทุกข์โศก"



ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือพิมพ์มติชน
หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี
วิเคราะห์ แนวคิดฝรั่ง (๒)ส. ศิวรักษ์ มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๒๔๗
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่๑ ฉบับที่๑ ในเดือนพ.ย. ปี ๒๕๒๒
ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๓ (มกราคม ๒๕๔๕)
หนังสือฝรั่งคลั่งสยามและฝรั่งอุษาคเนย์






Create Date : 10 มกราคม 2552
Last Update : 10 มกราคม 2552 14:57:10 น. 6 comments
Counter : 806 Pageviews.

 
ชักน่าอ่านนะ หนังสือพวกนี้


โดย: d_regen วันที่: 10 มกราคม 2552 เวลา:15:30:55 น.  

 
คุณไมเคิล ไรท์ เสียชีวิตแล้วเหรอคะนี่

ขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยท่าน ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ



โดย: บุปผามาลา วันที่: 10 มกราคม 2552 เวลา:16:49:23 น.  

 
โอ๊ะ โอ ....เจอแฟนไมเคิล ไรท์อีกคนแล้วเหรอเนี่ย

เราไม่ค่อยได้ติดตามผลงานอย่างต่อเนื่องหรอกนะ ...
ได้อ่านในศิลปวัฒนธรรมมาบ้าง
ยังรู้สึกว่าเค้ารู้จัก "ไทย" มากกว่าเราซะอีก....

ปล.....เพราะเป็นหนังสือตกยุคไง เลยได้รับเลือกเข้าโครงการทลายกองดองจ๊ะ


โดย: นัทธ์ วันที่: 10 มกราคม 2552 เวลา:16:50:55 น.  

 
ขอบคุณ ที่นำมาให้อ่านนะคะ


โดย: somebodyINpast วันที่: 10 มกราคม 2552 เวลา:20:41:24 น.  

 
ร่วมไว้อาลัยด้วยคนครับ


โดย: Boyne Byron วันที่: 10 มกราคม 2552 เวลา:23:31:26 น.  

 
ซึ้งมาก ๆ เลยตรงที่เป็นคำพูดว่าขอให้แม่ตายก่อนน่ะ คิดได้ไง ลึกซึ้งมาก ๆ ขนาดนี่แค่ส่วนนึงนะ ยังกินใจได้ขนาดนี้ ถ้ามีวาสนาพอคงจะหามาอ่านได้สักเล่ม บอกตามตรงว่าไม่เคยเห็นเลย เพิ่งรู้ว่ามีหนังสือน่าอ่านอีกหลายเล่มนักที่ยังรอให้เราค้นพบและอ่านอย่างไม่หมดสิ้น ยังไงก็ขอบคุณนะที่นำมาเผยแพร่ให้ได้ตาสว่างมากขึ้น


โดย: gingadeng IP: 58.8.170.141 วันที่: 25 มีนาคม 2552 เวลา:12:05:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.