Group Blog
 
All blogs
 

นกกระจอกใหญ่

นกกระจอกใหญ่ Passer domesticus (House Sparrow ) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 14-18 เซ็นติเมตร น้ำหนัก 24-39.5 กรัม ขึ้นอยู่กับเพศ ชนิดย่อย และสิ่งแวดล้อม

นกตัวผู้มีขนคลุมหลังไหล่สีน้ำตาลมีลายดำ ส่วนหลังตอนล่าง ตะโพกและหางสีน้ำตาลแกมเทา กระหม่อมสีเทาค่อนข้างเข้ม ขณะที่แก้มและขนคลุมลำตัวด้านล่างเป็นสีเทาอ่อนกว่า บริเวณระหว่างปากจนถึงตา ตา คอและขนคลุมอกส่วนบนสีดำ โดยขนกคลุมอกนี้เป็นตัวแสดงความก้าวร้าวของนก นกตัวไหนมีขนคลุมอกสีดำกว้างกว่าใครก็จะเป็นขาใหญ่ที่นั่น ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ปากหนาแข็งแรงสำหรับขบเมล็ดพืชของนกตัวผู้จะเป็นสีดำ แต่นอกฤดูผสมพันธุ์จะเป็นสีเนื้อๆและขนอกส่วนบนที่เป็นสีดำสนิทจะจางลงบริเวณปลายทำให้ดูสีอ่อนลงทั้งหมด







นกตัวเมียแตกต่างจากนกตัวผู้คือมีขนคลุมลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีหัวสีเทา ไม่มีเคราสีดำ มีคิ้วสีเนื้อ มีจุดที่ใช้จำแนกออกจากนกกระจอกตาลตัวเมียคือมีลายขีดสีน้ำตาลจางๆบนลำตัวด้านบน







นกกระจอกใหญ่มีชนิดย่อย 15-25 ชนิด ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันไหนจัด ในบรรดาชนิดย่อยเหล่านี้ นกก็ถูกจำแนกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม domesticus ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตพาลีอาร์กติก (Palearctic) และกลุ่ม indicus ในเขต Indomalayaโดยกลุ่มหลังจะมีแก้มขาวกว่า กระหม่อมสีสดใสกว่า ปากเล็กกว่า และเคราดำยาวกว่า

นกชนิดนี้มีแหล่งกำเนิดในตะวันออกกลางและกระจายออกไปพร้อมๆกับการเกษตรไปยังส่วนใหญ่ของยูเรเชีย และบางส่วนของอาฟริกาเหนือ ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 นกก็กระจายไปอยู่เกือบทั่วโลก ทั้งจากการที่มนุษย์นำเข้าไปอย่างตั้งใจ และจากการเดินทางของนกเอง นกกระจอกใหญ่ถูกนำเข้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ อาฟริกาใต้ บางส่วนของอาฟริกาตะวันตก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาะต่างๆทั่วโลก จัดเป็นนกในธรรมชาติที่มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางมากที่สุดในโลก ในบางที่นกชนิดนี้กลายเป็นสัตว์รบกวน และไปรุกรานนกเจ้าถิ่นจนแทบสูญพันธุ์







นกกระจอกใหญ่เป็นนกกินเมล็ดพืช ถ้าเลือกได้ เมล็ดพืชที่ชอบคือเมล็ดข้าวโอ๊ตและเมล็ดข้าวสาลี แต่ถ้าเลือกไม่ได้ มีอะไรให้กินก็กินได้ แม้กระทั่งไม่มีน้ำ นกกระจอกใหญ่ก็อาศัยน้ำจากพวกผลเบอร์รี่ได้ นกชนิดนี้เป็นนกสังคม มักพบหากินกันเจี๊ยวจ๊าว อาบน้ำ อาบฝุ่นและจับกลุ่มส่งเสียงร้องจากในพุ่มไม้

รังของนกกระจอกใหญ่มีหลายรูปแบบมาก ทั้งอยู่ตามซอกตึก โพรงต้นไม้ที่ผุพัง รังเก่าของนกอื่น หรือแม้กระทั่งแย่งรังนกอื่นๆเอาดื้อๆ โดยรังนกชั้นนอกวัสดุจะเป็นพวกรากไม้ กิ่งไม้ ชั้นกลางเป็นใบไม้ใบหญ้าที่ตายแล้วและชั้นในสุดจะเป็นขนหรือวัสดุอ่อนนุ่มอื่นๆ







นกตัวผู้เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างรังเสียเป็นส่วนใหญ่ นกตัวเมียเป็นเพียงผู้ช่วย โดยปรกตินกจะวางไข่ครอกละ 4-5ฟอง บางครั้งนกก็ไปไข่ใส่รังอื่นทำให้บางรังมีไข่ถึง10ฟอง แต่บรรดาไข่แปลกหน้าพวกนี้บางทีพวกแม่ๆก็จับได้และเขี่ยทิ้งไป

ไข่ของนกกระจอกใหญ่เป็นสีขาวมีจุดสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 20-25มม.*15-16มม. หนักประมาณ 2.9กรัม ในระหว่างกกไข่ แม่นกกระจอกบ้านจะพัฒนา brood patch (ผิวหนังที่ไม่มีขน)ขึ้นที่บริเวณท้องที่ใช้กกไข่เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไข่และลูกนก โดยนกตัวเมียจะนั่งกกไข่ทั้งคืนขณะที่นกตัวผู้เกาะคอนนอนใกล้รัง ไข่จะฟักเป็นตัวพร้อมกันหลังจากกไข่มาเป็นเวลา 9-16 วัน







ลูกนกกระจอกใหญ่จะผสมพันธุ์ทันทีเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ถัดไป กล่าวคือนกบางตัวอายุไม่กี่เดือน ยังโตไม่เต็มวัยก็ผสมพันธุ์แล้ว แต่โดยปรกติมักไม่สำเร็จ นกที่อายุมากกว่าจะประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์มากกว่า

สำหรับประเทศไทย เดิมมีรายงานการพบนกชนิดนี้น้อยมาก โดยพบเฉพาะในตัวอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก คาดว่านกบินข้ามแม่น้ำเมยจากประเทศพม่ามาอาศัยหากิน จากนั้นก็ทำรัง และแพร่ขยายเผ่าพันธุ์เรื่อยๆจนสามารถพบได้ทุกภาคแล้ว เว้นภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งคงอีกไม่นานเพราะนกสามารถปรับตัวได้เก่งมาก นกอาศัยตามแหล่งที่หาอาหารได้ง่าย ใกล้มนุษย์ โดยมักพบตามปั๊มน้ำมันบริเวณชานๆเมือง นาข้าวโดยอาจพบหากินร่วมกันกับนกกระจอกอีกสองชนิดคือนกกระจอกบ้านและนกกระจอกตาลหรือหากินกับพวกนกกระติ๊ด ซึ่งเป็นนักขบเมล็ดพืชเหมือนกัน







ภาพนกในบล็อกถ่ายจากจังหวัดสมุทรสาคร นกอาศัยทำรังในรังเก่าของนกกระติ๊ดขี้หมูและกระติ๊ดตะโพกขาวซึ่งทำจากหญ้าเป็นทรงกลมมีทางเข้าด้านข้างบนต้นปาล์ม พ่อแม่นกสลับกันนำแมลงจำพวกตั๊กแตน หนอนและข้าวสุกมาป้อนลูกนก แต่แม่นกดูจะแข็งขันขยันป้อนมากกว่ามาก


ข้อมูลจาก :

//en.wikipedia.org

//noktawan.multiply.com/




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2553 20:50:24 น.
Counter : 34440 Pageviews.  

นกกระจอกตาล

นกกระจอกตาล Passer flaveolus (Plain-backed Sparrow / Pegu Sparrow) เป็นหนึ่งในสามนกกระจอกประจำถิ่นของประเทศไทย หรือหนึ่งในสี่ของนกกระจอกที่พบในประเทศไทย(ชนิดหนึ่งเป็นนกอพยพ หาพบได้ยากคือนกกระจอกป่าท้องเหลือง) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 13.5-15 เซ็นติเมตร นกตัวผู้กับนกตัวเมียแตกต่างกันอย่างชัดเจน


นกตัวผู้มีจุดเด่นที่ต่างจากนกกระจอกอีกสองชนิดคือเป็นนกที่ดูเรียบๆ หลังสีน้ำตาลแดงไม่มีลาย กระหม่อมและหลังตอนบนเป็นสีเทา คอจากใต้ปากจนถึงอกตอนบนมีสีดำ แก้มและลำตัวด้านล่างสีเหลืองอ่อน







นกตัวเมียสีสันแตกต่างจากนกตัวผู้ คือหัวและลำตัวเป็นสีน้ำตาลแกมเทา มีคิ้วสีอ่อน ปีกและหลังเป็นสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน คล้ายกับตัวเมียของนกกระจอกใหญ่แต่หลังไม่มีลาย


นกทั้งสองเพศมักถูกพบหากินด้วยกันเสมอๆ ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่านกกระจอกตัวเมียที่พบเป็นนกกระจอกอะไร ก็สามารถอ้างอิงได้ง่ายๆจากตัวผู้นั่นเอง







นกขนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียในประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว เวียตนาม

นกกระจอกตาลอาศัยหากินตามพื้นที่เกษตรกรรม สวนสาธารณะ พื้นที่เปิดโล่ง และชายป่า อาหารของนกชนิดนี้ก็คือเมล็ดพืช เช่นข้าว หญ้า หรือแมลงเล็กๆ โดยอาจพบหากินเป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ หรือร่วมกับนกกระจอกชนิดอื่นและนกกระติ๊ดที่กินอาหารชนิดเดียวกัน






นกในบล็อกถ่ายมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกมากินดอกไผ่ที่บานร่วมกับนกไผ่หรือนกกระติ๊ดเขียว


ข้อมูลจาก :

หนังสือคู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย โดยคณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ปี2550


//en.wikipedia.org




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2552    
Last Update : 29 ธันวาคม 2552 20:38:22 น.
Counter : 10082 Pageviews.  

นกอีเสือลายเสือ

นกอีเสือลายเสือ Lanius tigrinus (Tiger Shrike / Thick-billed Shrike) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 17-19 เซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ 27-37 กรัม นกตัวผู้มีหัวค่อนข้างโตสีเทาตั้งแต่กระหม่อมถึงท้ายทอย หน้าผากและแถบคาดตาสีดำ ขนคลุมลำตัวด้านล่างขาว ขนคลุมหางด้านบนสีน้ำตาลอ่อน ปีกและหางสีน้ำตาลแดงไม่มีลายแถบสีขาวที่ปีก มีลายเกล็ดสีดำบนขนคลุมปีกด้านบน นกตัวเมียสีคล้ำกว่าตัวผู้ จุดเด่นคือมีลายขีดหรือเกล็ดสีดำหรือน้ำตาลเข้มที่ท้องโดยที่นกตัวผู้ไม่มี







นกตัวไม่เต็มวัยคล้ายนกตัวเมียแต่กระหม่อมและหน้าด้านข้างมีขีดหรือเกล็ดสีดำ มีแถบขาวอมเหลืองหรือสีเนื้อแคบๆบริเวณโคนปากบนลากคล้ายคิ้วผ่านตา ใต้คอมีแถบแคบๆสีขาว โคนปากบนและล่างมีสีอ่อน ดูคล้ายนกอีเสือสีน้ำตาลตัวเด็ก แต่นกอีเสือลายเสือมีปากหนากว่า หางสั้นกว่าและบริเวณที่จะกลายเป็นแถบคาดตาสีดำเมื่อโตเป็นตัวเต็มวัยจะเห็นได้ชัดกว่า







นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่นและตะวันออกไกลของประเทศรัสเซีย ฤดูหนาวจะย้ายลงมาอยู่ที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นนกอพยพผ่านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยจะพบในช่วงต้นฤดูอพยพ ช่วงปลายเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม โดยพบตามสวนสาธารณะในเมือง ป่าโกงกาง ป่าชายเลน ตามที่โล่งในที่ราบภาคกลางและทางใต้ลงไปเมื่อนกอพยพลงไปเรื่อยๆ และจะพบอีกครั้งช่วงปลายฤดูคือช่วงที่นกอพยพกลับโดยจะพบได้ทั้งภาคใต้ กลาง ตะวันตกและภาคเหนือ







อาหารหลักของนกชนิดนี้คือแมลงต่างๆ อันได้แก่ ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมลงเต่าทอง แมลงปีกแข็ง ผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืน แต่สัตว์เล็กอย่างนกเล็กๆหรือกิ้งก่าก็ไม่ได้รังเกียจ นกชนิดนี้จะเกาะคอนนิ่งๆตามชายป่าเพื่อล่าเหยื่อแต่ก็จะออกหาเหยื่อตามกิ่งไม้ใบไม้ด้วย







ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงจับคู่ผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ นกจะเริ่มจับคู่ตั้งแต่ช่วงเดินทางกลับขึ้นเหนือ หรือช่วงที่เพิ่งเดินทางกลับถึงใหม่ๆ นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรังบนกิ่งไม้บนต้นไม้ผลัดใบสูง 1.5 ถึง 5 เมตรจากพื้นดิน วางไข่ครั้งละ 3-6ฟอง ปรกติ 5 ฟอง ตัวเมียกกไข่เป็นเวลา 14-16วัน และเลี้ยงลูกในรังประมาณ 2 สัปดาห์


นกในบล็อกถ่ายมาจากสวนรถไฟ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551ที่ผ่านมา ในบริเวณเดียวกันมีนกอพยพอีกหลายชนิดได้แก่ นกจับแมลงพันธุ์จีน ตัวผู้และตัวเมีย นกเขนน้อยไซบีเรียวัยอ่อน นกจับแมลงตะโพกเหลืองตัวผู้และตัวเมีย
ขอบคุณคุณultramanที่ส่งข่าวการพบนก

ข้อมูลจาก :

//www.bird-home.com

//en.wikipedia.org/wiki/Tiger_Shrike




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2551    
Last Update : 1 ตุลาคม 2551 11:24:28 น.
Counter : 4132 Pageviews.  

นกกระจอกชวา

นกกระจอกชวา Padda oryzivora / Lonchura oryzivora (Java Sparrow / Ricebird) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 13-17 เซ็นติเมตร หัวและหางสีดำ วงรอบตาสีแดง แก้มสีขาว ลำตัวด้านบนเป็นสีเทา ลำตัวด้านล่างตั้งแต่ช่วงกลางท้องลงไปเป็นสีชมพูอ่อนๆ ปากหนาสำหรับขบเมล็ดพืชสีชมพูอมแดง นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายกัน







นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นของเกาะชวา เกาะบาหลี และเกาะใกล้เคียงอื่นๆในประเทศอินโดนีเซีย อาศัยอยู่เป็นคู่หรือเป็นฝูงตามทุ่งหญ้า แหล่งเกษตรกรรม และที่ที่มีคนอยู่อาศัย อาหารของนกกระจอกชวาได้แก่เมล็ดข้าว เมล็ดหญ้า ผลไม้และแมลงเล็กๆ เนื่องจากมีหน้าตาและสีสันสวยงามจึงถูกจับมาขังกรงเสียมาก โดยเป็นนกที่ถูกนำเข้าไปและสามารถปรับตัวอาศัยและแพร่พันธุ์ได้ในหลายประเทศเช่นตามหมู่เกาะแปซิฟิค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮาวาย เปอโตริโก้และรัฐฟลอริด้า







นกกระจอกชวาทำรังช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคมตามโพรงบนต้นไม้ ชายคาบ้าน และรอยแตกตามอาคารต่างๆ รังเป็นรูปกลมทำจากรากหญ้า ใบหญ้า ลักษณะค่อนข้างรกรุงรัง วางไข่ครั้งละ 4-6ฟอง ใช้เวลากกไข่ประมาณ 13-14 วันก็ฟักเป็นตัว







สำหรับประเทศไทย นกชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในฐานะนกกรง แต่เกิดเหตุการณ์กรงแตกขึ้นเมื่อประมาณปี 2500 ทำให้นกจำนวนมากหลุดออกสู่ธรรมชาติ อาศัยและแพร่พันธุ์ที่บริเวณดอนเมืองและกระจายมาบริเวณใกล้เคียงที่เหมาะสมเช่น ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น







ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากประชาชื่น นกอยู่เป็นฝูงไม่ใหญ่มากนักลงกินเมล็ดหญ้าอย่างขยันขันแข็ง และขอบคุณคุณตุ๋ยที่อำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก :

//www.answers.com/topic/java-sparrow
//www.bird-home.com




 

Create Date : 03 กันยายน 2551    
Last Update : 3 กันยายน 2551 16:53:53 น.
Counter : 10012 Pageviews.  

นกกะรางหัวขวาน

นกกะรางหัวขวาน Upupa epops (Common Hoopoe) ไม่ใช่นกหัวขวาน และไม่สามารถใช้ปากเล็กๆโค้งยาวบอบบางที่มีเจาะไม้ได้แน่ๆ นกชนิดนี้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว30เซ็นติเมตร รูปร่างเพรียว หัวเล็ก ปากเล็กยาวโค้งลงเล็กน้อยสีค่อนข้างดำ มีหงอนบนหัวที่สามารถกางแผ่ออกได้เหมือนพัด สีสันโดยรวมทั้งตัวรวมทั้งขนหงอนเป็นสีน้ำตาล ปลายขนหงอนมีแต้มสีดำ ปีกสีดำสลับขาว ขนหางสีดำมีแถบคาดสีขาวไล่ระดับกันลงมาในแต่ละเส้น ลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน







เราสามารถพบนกชนิดนี้หากินตัวเดียว เป็นคู่ เป็นครอบครัวและเป็นฝูง นกจะเดินหากินไปเรื่อยๆตามพื้นดิน นกจะออกหากินแต่เช้าโดยใช้ปากแหย่ลงไปในดินนิ่มๆเพื่อพิสูจน์หาอาหาร เมื่อจิ้มปากไปเจออาหารนกจะงับทันที โดยอาหารของนกกะรางหัวขวานคือแมลงต่างๆ ลูกกบและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เนื่องจากมีลิ้นเล็กมากไม่สามารถตวัดเหยื่อได้ เวลากินนกจึงต้องโยนเหยื่อขึ้นแล้วอ้าปากรับ ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่และแข็งอย่างพวกแมลงต่างๆก็ต้องฟาดให้ส่วนที่แข็งหลุดออกแล้วกินเนื้อนิ่มๆ เมื่อกินอิ่มแล้วก็จะบินไปเกาะพักบนกิ่งไม้


นกกะรางหัวขวานอาศัยและหากินตามที่โล่ง พื้นที่เกษตรกรรม ป่าละเมาะ ชายป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงที่สูง1500เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกที่ค่อนข้างจะพบง่ายใกล้ชิดกับคน เช่นพบตามสนามหญ้าในรีสอร์ตที่ชะอำ ใกล้ชายหาดที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม







ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่นกกะรางหัวขวานจับคู่ผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ โดยนกตัวผู้จะส่งเสียงร้อง “ฮูฟ ฮูฟ ฮูฟ” ประกาศอาณาเขตและเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย และนกจะพองขนรอบคอออกและก้มหัวลงด้วย ถ้านกตัวเมียสนใจก็จะบินไปหา เมื่อเป็นเช่นนั้นนกตัวผู้ก็จะย่ำเท้าถี่ๆเข้าไปหาและพยักหน้าเรื่อยๆ ทำปีกพอง สั่นและแผ่หางออกด้วย เมื่อผสมพันธุ์แล้วนกก็จะเลือกหาทำเลสำหรับเป็นที่วางไข่ โดยอาจเลือกโพรงไม้ธรรมชาติ โพรงรังเก่าของนกอื่น ซอกหรือรูแตกของกำแพง ซอกหินริมตลิ่ง ซอกในจอมปลวก โพรงโคนต้นมะพร้าว หรือแม้กระทั่งในรถไถเก่าอย่างในภาพ


ในโพรงรังอาจมีวัสดุรองรังหรือไม่ก็ได้ จากนั้นแม่นกก็จะวางไข่ครั้งละราว4-5ฟองหรืออาจมากกว่า โดยนกเริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก ลูกนกจึงออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ใช้เวลา14-16วันไข่ก็จะฟักเป็นตัว โดยในระหว่างฟักไข่ ตัวผู้จะหาอาหารมาป้อนตัวเมีย จนกระทั่งลูกนกออกจากไข่มาได้ระยะหนึ่ง แม่นกก็จะออกมาหาอาหารเองและหาอาหารมาป้อนลูกนกบ้าง เมื่อลูกนกอายุ 27-28วันก็สามารถออกมาหาอาหารและหัดบินได้







นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางครอบคลุมทวีปยุโรป อาฟริกาและเอเชีย สำหรับประเทศไทยพบได้ทั่วประเทศยกเว้นทางภาคใต้พบได้น้อย โดยในจำนวนนกกะรางหัวขวาน 10 ชนิดย่อยทั่วโลก จะพบในประเทศไทย 2 ชนิดย่อยคือชนิดย่อย U.e.longirostrisซึ่งเป็นชนิดย่อยประจำถิ่น และชนิดย่อย U.e.satueata ซึ่งพบน้อยกว่าและเป็นชนิดย่อยที่อพยพเข้ามาหากิน ชนิดย่อยนี้สังเกตได้จากปลายหงอนซึ่งมีแต้มดำจะมีจุดขาวด้วย


ภาพนกในบล็อกถ่ายมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเมื่อเดือนมีนาคม 2551ที่ผ่านมา พ่อนกหาอาหารมาให้แม่นกป้อนลูกในโพรงรังซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของรถไถเก่านั่นเอง






ข้อมูลและอ่านเพิ่มที่ :

//www.bird-home.com




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2551 21:32:46 น.
Counter : 5511 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.