Group Blog
 
All blogs
 

เหยี่ยวรุ้ง

เหยี่ยวรุ้ง Spilornis cheela (Crested Serpent-Eagle) เป็นนกที่เป็นสีน้ำตาลทั้งตัว มีแผ่นหนังสีเหลืองสดใสบริเวณโคนปากไปจนถึงดวงตาซึ่งเป็นสีเหลืองเช่นกัน ขนบริเวณท้ายทอยค่อนข้างยาว เวลาที่ตั้งขึ้นจึงดูคล้ายเป็นหงอน บริเวณหัว ปีก และท้องมีจุดสีขาวกระจายไปทั่ว ที่หางมีแถบกว้างสีขาวพาดเป็นแนวขวาง เห็นได้ชัดเจน นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน แต่นกตัวเมียจะตัวโตกว่าค่อนข้างมากคือมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 71 เซ็นติเมตร ขณะที่ตัวผู้มีขนาดเพียง 51 เซ็นติเมตรเท่านั้น







อาหารหลักของเหยี่ยวรุ้งได้แก่ งู ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ ตามชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Serpent-Eagle เกล็ดหนาๆที่ขาของนกชนิดนี้ช่วยกันอันตรายจากพิษงูที่อาจแว้งฉกกัดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม บรรดาสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเล็กๆบนพื้นดินก็มีโอกาสเป็นอาหารของเยี่ยวชนิดนี้เช่นกัน ในการล่าเหยื่อ เหยี่ยวรุ้งจะเกาะบนกิ่งไม้ใหญ่ ค่อนข้างโล่ง ไม่สูงจากพื้นดินมาก เพื่อจะได้เห็นเหยื่อง่ายๆ เมื่อเห็นก็จะโฉบลงมาจับขึ้นไปกินบนต้นไม้







เหยี่ยวรุ้งที่จับคู่แล้วจะอยู่ด้วยกันตลอดปี โดยเราอาจพบนกออกล่าเหยื่อ หรือบินร่อนในอากาศพร้อมกัน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม นกจะบินร่อนและส่งเสียงดังๆเพื่อเกี้ยวพาราสีกัน เมื่อจับคู่แล้วก็จะทำรัง นกอาจทำรังใหม่หรือมใช้รังเดิมที่เคยใช้มาแล้ว โดยมักเลือกทำบนต้นไม้สูงริมลำธารหรือแม่น้ำ และอยู่ค่อนข้างสูงคือตั้งแต่ 6-21 เมตร รังของเหยี่ยวชนิดนี้ทำจากกิ่งไม้เล็กๆนำมาขัดสานกันหยาบๆพอมีแอ่งเป็นที่วางไข่ได้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 61 เซ็นติเมตร แล้วก็รองรังด้วยใบไม้สด เหยี่ยวรุ้งวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง ขนาด 66*54 มม. เหยี่ยวตัวเมียกกไข่ เหยี่ยวตัวผู้นำอาหารมาป้อน เวลาผ่านไปราว 35-37 วันลูกนกก็จะออกมาดูโลก


เมื่อลูกนกออกจากไข่ใหม่ๆ แม่นกจะอยู่เฝ้าลูกและพ่อนกไปหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกโตขึ้นแม่นกก็จะออกไปช่วยหาอาหาร โดยเมื่อยังเล็กพ่อแม่นกจะฉีกอาหารเป็นชิ้นเล็กๆให้ เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อยพ่อแม่ก็จะกินหัวและเท้า เหลือลำตัวให้ลูกหัดกินเอง ลูกนกอายุ 10 วันจะมีขนปกคลุมทั่วตัวและยืนได้ อายุ 30 วันก็จะเดินไปมาในรังได้และเมื่ออายุ 60 วันก็จะโตพอที่จะเริ่มหัดบิน ลูกนกวัยนี้จะมีสีขนที่แตกต่างจากนกตัวเต็มวัยอย่างชัดเจน คือมีลำตัวตอนบนสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีขาวและสีดำไปทั้งตัว


เหยี่ยวรุ้งมีการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดียมาจนถึงบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ เนื่องจากพื้นที่ที่อาศัยกว้างขวางมาก จึงมีสีสันต่างกันมากจนถูกจำแนกออกเป็น 21 ชนิดย่อย สำหรับประเทศไทยมี 2 ชนิดย่อยจำแนกตามถิ่นที่อยู่อาศัยคือ เหยี่ยวรุ้งพันธุ์พม่าพบทุกภาคตั้งแต่บริเวณเหนือคอคอดกระขึ้นมา อาศัยตามป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าชั้นรอง จากที่ราบถึงความสูง 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนเหยี่ยวรุ้งพันธุ์มลายู พบในภาคใต้ ต่ำกว่าคอคอดกระลงไปจนถึงมลายู ชนิดย่อยนี้อาศัยในป่าดิบชื้น มีตัวเล็กกว่าและสีคล้ำกว่า







เหยี่ยวรุ้งตัวนี้พบที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม นกเกาะกิ่งไม้นิ่งๆอยู่เป็นเวลานานพอสมควร น่าจะกำลังเล็งหาอาหาร เพราะที่นี่มีงูตัวเล็ก ไม่ก็กิ้งก่าอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้เห็นนกจับเหยื่อ เพราะรถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งผ่านมาอย่างแรง ทำให้นกหันหลังและบินหายไปเลย


ข้อมูลจาก:

//www.bird-home.com




 

Create Date : 25 ธันวาคม 2550    
Last Update : 26 ธันวาคม 2550 9:35:56 น.
Counter : 11496 Pageviews.  

เหยี่ยวเคสเตรล

เหยี่ยวเคสเตรล Falcon tinnunculus (Common Kestrel, Eurasian Kestrel ) เป็นเหยี่ยวตัวไม่โต มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 30-34 เซ็นติเมตร มีปากงองุ้ม สั้น อวบ หนา ตัวผู้มีหัวสีเทา มีแถบสีดำลากจากใต้ตาลงมาทางข้างแก้มและมีแถบสีดำลากไปทางหางตา ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงมีลายจุดสีดำเกิดจากปลายขน ขนหางสีเทา ตะโพกและปลายหางดำปลายหางสุดสีขาว ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อนกว่าลำตัวด้านบน มีลายจุด ตัวเมียหัวไม่เป็นสีเทาแต่เป็นสีน้ำตาลแดงเหมือนลำตัวด้านล่าง มีลายขีดดำเหมือนกัน แต่บริเวณหัวชัดกว่า หางสีน้ำตาลแดง มีบั้งเล็กๆตลอดหาง ปลายหางดำและปลายสุดสีขาว







นกชนิดนี้ชอบหากินตามพื้นที่โล่งในเขตพื้นที่เกษตรกรรม ที่ลุ่มน้ำขัง เชิงเขาหรือใกล้ภูเขา ตั้งแต่ที่ราบจนถึงความสูงไม่เกิน 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล เนื่องจากมีขนาดตัวไม่โตอย่างเหยี่ยวอื่นๆ อาหารของเหยี่ยวเล็กชนิดนี้จึงมักเป็นแมลงตัวโตๆ สัตว์เล็กๆที่หากินบนพื้นดินและนกเล็กๆ


เหยี่ยวเคสเตรลมักบินเลี้ยงตัวบนอากาศเป็นเวลาสั้นๆขณะจ้องหาเหยื่อด้วยสายตาอันแหลมคม หรือเกาะซุ่มหาเหยื่อบนกิ่งไม้ที่ไม่สูงนัก เมื่อเห็นก็จะบินลงจับเหยื่อทันที โดยเราสามารถพบเหยี่ยวชนิดนี้หากินได้ตามข้างถนน เป็นเหยี่ยวที่บินเร็วโดยจะกวักปีกถี่ๆและยกปีกสูง







นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นของอาฟริกา เอเชีย และยุโรป โดยแหล่งทำรังวางไข่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์พาลีอาร์กติก ภาคเหนือของจีน ญี่ปุ่น โดยในช่วงฤดูหนาว นกจะอพยพไปหากินทางตอนใต้ของอาฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย ตอนใต้ของจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เกาะบอร์เนียว


สำหรับประเทศไทย เป็นนกอพยพที่พบค่อนข้างบ่อยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ โดยชนิดที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมีสองชนิดย่อยคือ ชนิดย่อย F.t.tinnunculus และชนิดย่อย F.t.interstinctus โดยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นชนิดย่อยที่สองที่ลงมาใต้กว่าชนิดย่อยแรก








ภาพนกในบล็อกถ่ายจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


ข้อมูล :


//www.bird-home.com




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2550 19:47:33 น.
Counter : 3424 Pageviews.  

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ Aviceda leuphotes ( Black Baza )

เป็นเหยี่ยวที่จำแนกชนิดได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง มีขนาดตัวประมาณ 33 เซ็นติเมตร หัว คาง ใต้คอ ปีก หลัง ตะโพก ขนคลุมบนโคนหางและใต้โคนหาง รวมทั้งขนหางสีดำ หน้าอกตอนบนมีแถบกว้างสีขาวและมีแถบสีดำพาดเป็นแนวขวางต่อลงไปยังอกตอนล่าง จากนั้นจากอกถึงท้องมีลายพาดขวางสีน้ำตาลอมแดงสลับสีขาวเรียงเป็นแถวลงมา ปีกสีดำมีลายจุดสีขาวและน้ำตาลแดงแต้มไว้ห่างๆ และที่หัวมีขนตั้งขึ้นไปเป็นลักษณะหงอน ซึ่งขนนี้จะตั้งอยู่เสมอ เมื่อลมพัดก็จะพลิ้วไปตามแรงลม ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกัน







เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำที่พบในประเทศไทยมีทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นที่ทำรังวางไข่ในประเทศไทย และนกที่อพยพผ่านเข้ามาในฤดูหนาว โดยชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบทางซีกตะวันตกของภาคเหนือ เรื่อยลงมายังภาคตะวันตก แต่พอถึงฤดูหนาวราวเดือนกันยายนเป็นต้นมา เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำบางส่วนที่ผสมพันธุ์และทำรังวางไข่อยู่ในประเทศจีนจะบินอพยพย้ายถิ่นเดินทางเข้ามาอาศัยและหากินอยู่ในประเทศไทยด้วย (//members.thai.net/thairaptorwatch/black_baza.html )

เราไม่อาจรู้เลยว่าเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำที่เราพบนั้นเป็นนกประจำถิ่น หรือนกที่อพยพมา ทราบแต่ว่าเมื่อถึงฤดูย้ายถิ่น เราจะพบเหยี่ยวชนิดนี้ได้แทบจะทั้งประเทศไทย เว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากเป็นทางผ่านที่เค้าจะเดินทางลงใต้ไป








โดยปรกติแล้วเราอาจพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำประมาณครั้งละ1-2 ตัว หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อนอน เค้าอาจมานอนรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่บนต้นไม้เดียวกัน ขณะเดินทางอพยพ เหยี่ยวชนิดนี้จะไม่รวมกลุ่มกับเหยี่ยวชนิดอื่น แต่จะเกาะกลุ่มเฉพาะเหยี่ยวชนิดเดียวกันเดินทางได้มากขนาดทีละเป็นร้อยๆตัวทีเดียว

อาหารของส่วนใหญ่ของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำคือ แมลงปีกแข็งขนาดใหญ่ ตั๊กแตน จักจั่น และแมลงชนิดต่างๆ







เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำตัวนี้พบที่พุทธมณฑลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547ที่ผ่านมาโดยจะพบเป็นประจำที่นี่ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ในปี 2546ได้พบเหยี่ยวชนิดนี้ 2 ตัวเกาะอยู่ด้วยกัน แต่ในปี 2547 พบเพียงตัวเดียว โดยพบเค้าที่บริเวณเดิมคือสวนมะม่วง เค้ามักจะเกาะกิ่งที่ค่อนข้างโล่ง เกือบยอดสุดของต้น


ใครสนใจที่จะดูเหยี่ยวอพยพในเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพประจำปี2548 ในวันที่22-23 ตุลาคม 2548 ที่จะถึงนี้ และเข้ารับการอบรมดูเหยี่ยวอพยพในวันที่ 9 ตุลาคม 2548 เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจำแนกและการนับเหยี่ยว เชิญคลิกที่นี่ค่ะ รายการอบรมนี้ฟรี และได้ความรู้เพียบแน่นอน


ข้อมูล :

//www.bird-home.com

//members.thai.net/thairaptorwatch/black_baza.html





 

Create Date : 30 กันยายน 2548    
Last Update : 6 สิงหาคม 2552 11:19:14 น.
Counter : 4321 Pageviews.  

เหยี่ยวแดง

เหยี่ยวแดง Haliastur indus (Brahminy Kite )

เป็นเหยี่ยวที่จำแนกชนิดได้ง่ายมากๆชนิดหนึ่ง เพราะไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครเลย ตัวเต็มวัยมีหัว คอ และ หน้าอก เป็นสีขาว แต่ก้านขนเป็นสีค่อนข้างดำจึงดูคล้ายกับว่ามีลายดำๆ ลางๆ ปนอยู่ด้วย ขนคลุมลำตัวส่วนที่เหลือ อย่างหลัง ไหล่ ท้อง ตะโพก ปีก โคนขาเป็นสีน้ำตาลปนแดง เป็นที่มาของชื่อเหยี่ยวแดง ปากสีคล้ำ ขา และนิ้วเท้าเป็นสีเหลืองหม่น ตัวผู้และตัวเมียคล้ายกันเพียงแต่ตัวเมียมีขนาดตัวที่โตกว่า คือประมาณ 51 เซ็นติเมตร ขณะที่ตัวผู้มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 43 เซ็นติเมตร






ในทางกลับกัน เหยี่ยวแดงตัวไม่เต็มวัยกลับเป็นนกที่จำแนกชนิดได้ยากกว่า โดยไปมีลักษณะคล้ายเหยี่ยวอื่นๆอย่างเหยี่ยวดำ( black kite) หรือ เหยี่ยวทุ่ง ( Eastern Marsh Harrier )






นกวัยเด็กของเหยี่ยวแดงมีส่วนบนของลำตัวสีน้ำตาลคล้ำ แต่บริเวณหัวและคอ มีสีจางเล็กน้อยและมีลายขีดสีจางๆ ยกเว้นขนคลุมหูซึ่งมีสีเข้มออกดำ คางและใต้คอมีสีน้ำตาลจางๆ ส่วนล่างของลำตัวที่เหลือมีสีน้ำตาลจางๆแต่มีลายกว้างๆสีน้ำตาลจางๆ ยกเว้นบริเวณกึ่งกลางท้องและขนคลุมใต้โคนหาง ซึ่งมีสีน้ำตาลจางๆด้านใต้ปีกมีแถบขาว บริเวณโคนขนปลายปีก (//www.bird-home.com)


ขณะบินเหยี่ยวแดงจะยกปีกออกเกือบ จะอยู่ในระดับเดียวกับลำตัว บินค่อนข้างช้า และ กระพือปีก สลับกับการร่อนไปเรื่อยๆ







เหยี่ยวแดงเป็นนกประจำถิ่น มักพบได้บ่อยในเขตการแพร่กระจายพันธุ์ และมักเห็นบินร่อนอยู่เหนือตอนล่างของแม่น้ำสายใหญ่ๆ ตามปากแม่น้ำที่ไหลลงทะเล รอบๆเกาะ และหมู่เกาะต่างๆที่ใกล้ๆชายฝั่งทะเล แต่บริเวณที่จะ พบเห็นเหยี่ยวแดงได้บ่อยๆจะต้องเป็นท่าเรือซึ่งมีเรือประมง และเรือเดินสมุทรมาเทียบท่า ทั้งนี้เพราะเหยี่ยวแดงมีนิสัยชอบโฉบเฉี่ยวกินปลาหรือซากสัตว์อื่นๆที่ลูกเรือทิ้งลงน้ำไปในเวลาที่เรือเดินสมุทรมาเทียบท่า เราจึงมักเห็นเหยี่ยวแดงบินอยู่เหนือและรอบๆเรือพอลูกเรือโยนปลา หรือซากสัตว์อื่นๆลงน้ำ เหยี่ยวแดงก็จะพุ่งตัวลงไปที่ผิวน้ำแล้วใช้กรงเล็บขยุ้มซากนั้นขึ้นมากินทันที โดยที่ตัวของมันไม่เปียกน้ำเลย แต่มันก็กินปลาเป็นๆที่มันบินทิ้งตัวลงมาที่ผิวน้ำโดยไม่ต้องชะลอหรือบินนิ่งๆก่อนเลย แล้วก็ใช้กรงเล็บจับปลาที่ผิวน้ำโดยที่ตัวของมันไม่แตะผิวน้ำเลย พอขยุ้มจับปลาได้แล้วก็รีบบินขึ้นสู่ท้องฟ้าทันทีและเอี้ยวตัวลงมาที่เท้า เพื่อใช้จงอยปากฉีกกินปลากลางอากาศจนกระทั่งหมดตัว ขณะที่มันจับปลา เหยี่ยวแดงจะจับปลาไว้แนบกับท้องและหัวปลาจะยื่นไปข้างหน้าเสมอ เช่นเดียวกับเหยี่ยวชนิดอื่นๆโดยเฉพาะเหยี่ยวออสเปรและ นกออก( White - bellied Sea - Eagle )ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยปลาเช่นกัน (//www.bird-home.com)

อย่างไรก็ตาม เหยี่ยวแดงที่อาศัยหากินในแผ่นดินก็กินอาหารอย่างอื่นเช่น กบ เขียด ลูกไก่ นกเล็ก หรือแม้กระทั่งค้างคาวด้วย โดยการบินโฉบลงมาจับอาหาร ด้วยกรงเล็บที่แหลมคมที่ทิ่มแทง เหยื่อของเหยี่ยวแดงมักได้รับบาดเจ็บหรือตายเมื่อถูกโฉบขึ้นไปในทันทีเสมอ






เหยี่ยวแดงทำรังวางไข่ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยเค้ามักทำรังบนยอดไม้สูง หากอยู่ตามชายฝั่งก็มักทำรังบนต้นโกงกาง สูงจากพื้นดินประมาณ 7-12 เมตร โดยจะนำกิ่งไม้แห้งๆมาขัดสานกันไว้หยาบๆบนง่ามไม้จนซ้อนทับกันหนาและค่อนข้างแข็งแรง กลางรังเป็นแอ่งเล็กน้อยลึกราว 10 - 15 ซม.และนำวัสดุต่างๆที่อ่อนนุ่มมารองรัง วางไข่ประมาณ 1-4 ฟอง เหยี่ยวตัวเมียมีหน้าที่ฟักไข่ซึ่งใช้เวลาเกือบเดือน โดยตัวผู้จะหาอาหารมาป้อน หรือบางทีเหยี่ยวตัวเมียออกไปหาอาหารเอง ตัวผู้ก็จะเข้ามาฟักแทน เมื่อลูกนกออกจากไข่ ตัวผู้จะหาอาหารมาให้ตัวเมียป้อนลูก เมื่อลูกโตขึ้นอีกก็จะช่วยกันหาอาหารมาป้อนทั้ง 2 ตัว เมื่อลูกโตประมาณ 30-45 วันก็พร้อมที่จะออกมาหัดบิน







เหยี่ยวแดงวัยเด็ก 3 ตัวของครอบครัวนี้บินเก่งแล้ว แต่กำลังหัดโฉบจับเหยื่ออยู่ที่บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายภาพมาในช่วงเดือนสิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสำหรับหัดโฉบมากมาย ทั้งนกยางกรอก นกตีนเทียน นกยาง และนกอพยพอื่นๆที่กำลังเดินทางหนีหนาวกันมาเรื่อยๆ








ข้อมูลจาก //www.bird-home.com




 

Create Date : 23 กันยายน 2548    
Last Update : 3 ตุลาคม 2552 12:03:32 น.
Counter : 4388 Pageviews.  

เหยี่ยวนกเขาชิครา

เหยี่ยวนกเขาชิครา Accipiter badius (shikra)

The Shikra (Accipiter badius) is a small bird of prey in the family Accipitridae which also includes many other diurnal raptors such as eagles, buzzards and harriers.

The Shikra is a widespread resident breeder throughout south Asia and sub-Saharan Africa. It nests in trees, building a new nest each year. It lays 3-7 eggs.

This bird is a small raptor (26-30cm) with short broad wings and a long tail, both adaptations to fast manoeuvring. The normal flight of this species is a characteristic "flap – flap – glide".

The adult Shikra has pale grey upperparts, and is white, finely barred reddish below. Sexes are similar except that female is larger than the male. The juvenile is brown above and white, spotted with brown below. It has a barred tail.

Shikra is a bird of open woodland including savannah and cultivation. Its hunting technique is similar to other small hawks such as Sparrowhawk, A. nisus, or Sharp-shinned Hawk, A. striatus, relying on surprise as it flies from a hidden perch or flicks over a bush to catch its prey unaware.

The prey is lizards, dragonflies, and small birds and mammals.

จาก //en.wikipedia.org/wiki/Shikra



เป็นเหยี่ยวที่มีขนาดเล็ก ถึงกลาง คือมีขนาดตัวประมาณ 30 ซม.ในตัวผู้ และประมาณ 36 ซม.ในตัวเมีย






เหยี่ยวตัวผู้มีส่วนบนของลำตัวตั้งแต่บนหัว ท้ายทอย หลัง ไหล่ รวมทั้งขนคลุมปีก จนถึงตะโพก และ ขนคลุมบนโคนหางเป็นสีเทาแกมฟ้า แต่บริเวณแก้มเป็นสีเทาเหมือนสีขี้เถ้า ขนปลายปีกสีเทาเข้มแต่ปลายขนสีดำ ขนหางคู่บนสุดสีเทาเรียบๆซึ่งอาจมีแถบสีคล้ำ ก่อนถึงปลายหาง 1 แถบ แต่ขนหางคู่อื่นๆ สีเทา มีลายบั้งสีคล้ำๆขวางอยู่ 4 แถบ และใกล้ปลายขนอีก 1 แถบ จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อขนหางของมันกางออก คางและใต้คอสีขาว แต่มีเส้นสีดำ ที่กึ่งกลางคอด้วยซึ่งแลเห็นได้ชัดเจน ด้านข้างของคอออกแดงนิดๆ หน้าอกและท้องสีขาว แต่มีลายบั้งเล็กๆ สีน้ำตาลแดงจางๆ ชิดๆ กันโดยตลอด ขนโคนขาและขนคลุมใต้โคนหางสีขาว ใต้หางสีเทาแต่มีลายบั้งสีคล้ำๆ 5 แถบและที่ปลายหางอีก 1 แถบ ม่านตาสีเหลืองหรือสีแสด หนังรอบจมูกสีเหลืองหรือสีส้ม ปากสีฟ้าคล้ำๆ ขา และ นิ้วเท้าสีเหลือง เล็บสีคล้ำ

เหยี่ยวตัวเมียมีสีสันคล้ายคลึงกับเหยี่ยวตัวผู้ แต่ถ้าหากเหยี่ยวตัวผู้และเหยี่ยวตัวเมียมาเกาะอยู่ใกล้ๆกัน เราจะเห็นว่า เหยี่ยวตัวเมียมีส่วนบนออกสีน้ำตาลและส่วนล่างของลำตัว มีลายบั้ง ออกสีน้ำตาลจางๆชัดกว่าเพราะลายบั้งหนากว่า แต่ถ้าหากเหยี่ยวตัวผู้ และ เหยี่ยวตัวเมียไม่มาเกาะอยู่ใกล้ๆกัน เรามักจะแยกไม่ค่อยออก ( //www.bird-home.com/ )







อย่างไรก็ตาม นกวัยเด็กของเหยี่ยวนกเขาชิครา ดูไม่เหมือนชิคราที่โตเต็มวัยแล้วเลย โดยนกเด็กจะมีส่วนบนของลำตัว สีเทาแกมน้ำตาลอ่อน ส่วนล่างของลำตัวสีขาวหรือสีเนื้อ แต่มีลายขีดและจุดรูปหยดน้ำสีน้ำตาลแดงอยู่ทั่วไป ด้านใต้ของหางมีลายบั้งสีเทาสลับกับสีน้ำตาล

เราจะแยกนกเด็กในกลุ่มaccipiter(เช่น เหยี่ยวนกเขาชิครา - Accipiter badius , เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน - accipiter soloensis , เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น - accipiter gularis เป็นต้น)ออกจากกันได้ยาก เพราะเค้าจะค่อนข้างคล้ายกันมาก







ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม เหยี่ยวนกเขาชิคราที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จะจับคู่ทำรัง วางไข่ นกตัวเมียเป็นฝ่ายสร้างรังโดยการหักกิ่งไม้เล็กๆมาขัดสานเป็นรังหยาบๆ บอบบางโดยทำเป็นแอ่งตื้นๆ หาใบไม้สดมารองรัง รังจะอยู่สูงระหว่าง 6 - 12 เมตร จากพื้นดิน วางไข่ประมาณ2-7ฟอง ปรกติจะเป็น 3 ฟอง นกตัวเมียกกไข่เพียงผู้เดียวเป็นเวลาประมาณ 28-35วัน โดยนกตัวผู้จะเป็นผู้หาอาหารมาให้ และเมื่อลูกฟักเป็นตัวแล้ว ตัวผู้ก็หาอาหารมาให้ทั้งแม่และลูกแต่จะไม่เข้าป้อนเองเลย

เหยี่ยวนกเขาชิคราคู่เดิมมักกลับมาทำรังวางไข่ในสถานที่เดิมทุกปี แต่จะสร้างรังใหม่ทุกปี

อาหารของเหยี่ยวนกเขาชิคราคือ นกขนาดเล็ก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเช่น หนู และ กระรอก แมลงตัวโตๆ กบ และ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า เหยื่อส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นดิน การล่าเหยื่อ เค้าจะมาแบบเงียบๆไม่ให้เหยื่อรู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็มองเห็นร่างอันไร้วิญญาณของตัวเองเสียแล้ว เพราะ เหยื่อมักจะตายด้วยกรงเล็บของเค้าในทันทีที่เค้าโฉบลงจับ จากนั้นก็จะนำซากไปฉีกกินบนกิ่งไม้โดยใช้เท้าเหยียบเหยื่อไว้







สำหรับประเทศไทย เหยี่ยวนกเขาชิคราเป็นนกประจำถิ่นที่พบจากบริเวณคอคอดกระขึ้นมา บางส่วนเป็นนกที่อพยพผ่านเข้ามาในฤดูหนาวเพื่อลงไปหากินทางแถบมลายูและสุมาตรา เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ในป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และ ป่าดิบเขาที่ค่อนข้างโปร่ง สวนป่า สวนผลไม้ ไร่ ที่โล่งที่มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจาย สวนสาธารณะใกล้เมือง จากที่ราบถึงความสูงระดับ 1500เมตร


ภาพเหยี่ยวนกเขาชิคราที่ถ่ายมา เป็นเหยี่ยวที่อพยพผ่านเนื่องจากพบที่พุทธมณฑล โดยเราจะพบเหยี่ยวชนิดนี้แวะพักที่พุทธมณฑลในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นเวลาหลายๆวันทุกๆปี โดยปรกติเค้าไม่เกาะที่กิ่งบนๆ แต่จะเลือกกิ่งกลางๆของต้นไม้ใหญ่ หรือในพุ่มของต้นไม้ เพื่อความสะดวกในการพรางตัวจากเหยื่อที่เค้าหมายตา โดยจะเกาะนิ่งๆอยู่นานทีเดียว








ข้อมูล ://www.bird-home.com/




 

Create Date : 14 กันยายน 2548    
Last Update : 3 ตุลาคม 2552 11:55:08 น.
Counter : 10301 Pageviews.  


จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.